กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=21)
-   -   ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3286)

ลัก...ยิ้ม 27-07-2012 10:24

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน)

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีนามเดิมว่า อ้วน แสนทวีสุข มีบิดาเป็นกรมการเมือง ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ ณ บ้านแคน ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

บรรพชาและอุปสมบท เมื่ออายุ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสว่าง อำเภอวารินชำราบ ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดศรีทอง มีท่านเทวธมฺมี เป็นอุปัชฌาย์ ท่านโชติปาโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม ตำแหน่งและสมณศักดิ์ หลังจากพระอุปัชฌาย์ท่านได้มรณภาพแล้ว สมเด็จฯ ได้เข้าไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับเจ้าคุณอาจารย์ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ยังเป็นพระครูวิจิตรธรรมภาณี ณ วัดพิชยญาติการาม สำนักพระศาสนโศภณ เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๒๔๓๙ ย้ายมาเรียนต่อที่วัดเทพศิรินทราวาสกับท่านอาจารย์อื่นอีก และสอบได้เปรียญตรี

พ.ศ. ๒๔๔๒ สอบปริยัติธรรมได้เปรียญโท

พ.ศ. ๒๔๔๒ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีสาน

พ.ศ. ๒๔๔๗ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีสาน ต่อมารัชกาลที่ ๖ ได้แยกมณฑลอีสานเป็น ๒ มณฑล คือ มณฑลร้อยเอ็ด ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะว่าการทั้งสองมณฑล

พ.ศ. ๒๔๖๖ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุดรอีกตำแหน่งหนึ่ง ต้นรัชกาลที่ ๗ ทางราชการได้รวมมณฑลอุบล ร้อยเอ็ดและนครราชสีมา เป็นมณฑลนครราชสีมา ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๘๕ ดำรงตำแหน่งสังฆนายกองค์แรกแห่งประเทศไทย ตามประกาศลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๘๕

สมเด็จฯ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๔๗ พระราชาคณะที่ พระศาสนดิลก

พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงได้รับสมณศักดิ์เสมอชั้นราชในนามเดิม

พ.ศ. ๒๔๕๕ พระราชมุนี

พ.ศ. ๒๔๖๔ พระเทพมุนี

พ.ศ. ๒๔๖๘ ชั้นเทพพิเศษที่พระโพธิวงศาจารย์

พ.ศ. ๒๔๗๒ พระธรรมปาโมกข์

พ.ศ. ๒๔๗๕ ชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมมุนี

พ.ศ. ๒๔๘๒ สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

การมรณภาพของสมเด็จฯ ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๔๙๙ ณ วัดบรมนิวาส ด้วยโรคชรา สิริอายุได้ ๘๙ ปี

ลัก...ยิ้ม 30-07-2012 09:57

วิชาป้องกันตัว

“...สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) วัดบรมนิวาส.. ท่านเล่าให้ฟังขบขันจะตาย เราอดหัวเราะไม่ได้ หัวเราะต่อหน้าท่านก็ไม่ได้จะ 'ทำไง’ ท่านไปต่างจังหวัด ท่านพูดมียิ้ม ๆ เท่านั้น แต่พวกเรามันจะตาย อดหัวเราะไม่ได้ คนอื่นจะตายกันทั้งประเทศ

สมเด็จฯ ท่านก็เล่าให้ฟัง เราอยู่ใกล้ ๆ ก็อดหัวเราะไม่ได้ ท่านออกไปบิณฑบาต ออกไปชนบท ที่นี้หมาพอเห็นพระออกไปบิณฑบาต มันก็วิ่งมารุมเลย มันจะกัดองค์ที่อยู่ข้างหลัง มันวิ่งดักหน้าดักหลังอยู่อย่างนั้น พระก็หลบไปอาศัยอยู่หลังท่าน แล้วท่านก็พูดแบบขึงขังว่า
พวกนี้ไม่มีวิชาป้องกันตัว ประสาหมาก็ยังกลัว ข้าไม่กลัว ข้ามีวิชาป้องกันตัว’


ท่านว่าอย่างนั้น ว่าแล้วท่านก็ขึ้นมาที่นี่ ท่านสัก “ดอกผักแว่น” ลายดำ ๆ ดอกผักแว่น ท่านสักไว้ที่แข้ง ท่านมีวิชาป้องกันตัว ท่านว่า นี่.. วิชาของข้า ท่านก็ชี้ไปที่ดอกผักแว่น ดำ ๆ ตรงนั้น นี่มันก็แปลกจริง ๆ นะ พวกหมานี่เป็นหมาเทวดา

วันรุ่งขึ้นก็ไปบิณฑบาตใหม่ ไปตรงที่บ้านเก่านั้นแหละ หมามันก็วิ่งมาซิทีนี้ คราวนี้มันไม่ไล่กัดองค์ไหน มันมากัดองค์ที่มีวิชาป้องกันตัวนี่ละ ก็องค์สมเด็จฯ นี่แหละ ที่มีวิชาป้องกันตัวเต็มตัว 'ว่างั้น’ เถอะ หมามันปรี่เข้ามาซัดเอาตรงดอกผักแว่นนั้นเลยนะ กัดตรงวิชาป้องกันตัว .. เลือดสาดเลยนะ

ท่านเล่ายังหัวเราะ ไอ้เรามันจะตาย กลั้นหัวเราะอยู่อย่างนั้น

สมเด็จฯ ท่านว่า ‘ที่พูดมานี่เป็นการเตือนนะ พวกที่ชอบอวด พูดไม่ได้นะ ว่าข้ามีของดี ข้าไม่ได้อวดนะ ข้าเป็นคนเฉย ๆ ข้าไม่ได้ตั้งใจอวด ถึงขนาดนั้นหมามันยังฟาดเสียวิชาข้าแหลกหมดเลย’

ท่านว่าอย่างนั้นแล้วมันก็กัดตรงตรงนั้นเลยนะ ตรงวิชาดอกผักแว่นนะ มันก็แปลกอยู่ ท่านพูดท่านเฉยเลยนะ เราเองยังไม่ลืมเลย อดหัวเราะจะตาย ตอนอยู่ต่อหน้าท่าน หัวเราะไม่ได้ 'ว่างั้น’ ส่วนพวกอยู่ข้างหลังมันหัวเราะกันจะตาย ท่านสมเด็จฯ ท่านพูดขบขันดีจริง ๆ ท่านพูดไม่ค่อยหัวเราะหรอก มีแต่ยิ้ม ๆ เท่านั้น แต่คนฟังมันจะตาย เราเองยังอดหัวเราะไม่ได้ นี่คือพูดถึงสมเด็จพระมหาวีรวงศ์...”

ลัก...ยิ้ม 31-07-2012 09:38

๔. ออกธุดงคกรรมฐานตามคำสัตย์

เมื่อองค์หลวงตาเรียนจบเปรียญ ๓ ตามที่ได้ตั้งใจไว้แล้ว ก็มุ่งหน้าออกหาสถานที่อันสงบสงัด เพื่อเร่งบำเพ็ญจิตตภาวนา เช่น พระอรหันตสาวกในสมัยพุทธกาล

พรรษาที่ ๘

(พ.ศ. ๒๔๘๔) จำพรรษาที่วัดป่าจักราช อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา


......................................................................

เวทีแรก...มารรบกวนจิตใจ

เมื่อภาระการเรียนเสร็จสิ้นลงและถึงคราวออกปฏิบัติเต็มตัว องค์หลวงตาจึงออกเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา โดยพกหนังสือปาฏิโมกข์เพียงเล่มเดียวติดย่ามไปเท่านั้น ตอนแรกท่านเจ้าคุณราชกวี (พิมพ์ ธมฺมธโร ต่อมาเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์) ท่านได้เขียนจดหมายมาบอกว่า
“ให้มหาบัวกลับไปกรุงเทพฯ”


โดยสั่งไว้ด้วยว่า วันนั้นวันนี้จะมารับ แต่ท่านก็ไม่กลับตามคำสัตย์ที่ตั้งไว้ และได้เข้าจำพรรษาที่วัดป่าจักราช ในอำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา นับปีบวชได้ ๘ พรรษาพอดี ท่านว่าพอเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังขึ้น กลับเหมือนมีมารมาคอยก่อกวน สิ่งที่ไม่เคยรู้สึก ไม่เคยเป็นสมัยเรียนหนังสือ กลับปรากฏขึ้นเป็นความรุ่มร้อนฝังลึกอยู่ในใจ ท่านเล่าถึงความรู้สึกตอนนี้ว่า

“...แปลกจริง เวลาเราเอาจริงเอาจังตั้งแต่อยู่เรียนหนังสือ.. จิตก็ไม่เห็นเป็น เวลาออกปฏิบัติตอนจะเอาจริงเอาจัง มันจะมีมารหรือ 'ยังไง’ นะ ได้ยินเสียงผู้หญิงก็ไม่ได้นะ ทำไมเรื่องของราคะมันแย็บทันทีเลย จนเรางงเหมือนกัน

‘เอ้า’ เราก็ตั้งใจมาปฏิบัติธรรมไม่เคยสนใจกับผู้หญิงเลย ทำไมเพียงได้ยินเสียงผู้หญิงเท่านั้นมันก็แย็บ แต่มันแย็บอยู่ภายในจิตต่างหากนะ มันแย็บ ๆ ๆ ของมัน เอ๊ะ..ชอบกล ‘ว่ะ’ ทำไมมันเป็นอย่างนี้...”


ท่านก็ตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะไปหาภาวนาอยู่ในป่าเพื่อฆ่ากิเลส แต่กลับโดนเข้าแต่เรื่องทุกข์ร้อนจากอารมณ์ที่คอยกวนจิตใจ สงครามการต่อสู้ในระยะนั้นท่านเล่าว่า
“... ไปหาภาวนาอยู่ในป่า ทั้ง ๆ ที่จะฆ่ามันอยู่นี่นะ มันเห็นสาวมันก็ยังขยับอยู่นะ โถ.. 'ยังงี้’ ซิ มันเป็นของร้อนนี้นะ ตัวนี้มันไม่ให้ภาวนากับเรานี่นะ มันจะหาแต่เรื่องของมันอยู่นั่นละ


หือ.. ไปภาวนาอยู่ในป่า เราก็บอกตรง ๆ อยู่นี่นะ พอไปเห็นสาวสวย ๆ สวยในหัวใจมันเองนะ เขาจะสวยไม่สวยก็ตาม มันหาว่าสวย สาวคนนี้สวย ‘ว่ะ’ แต่มันสำคัญที่เราปฏิบัติอยู่แล้วนะ มันขยับมานั้น ตีกัน ‘พัวะ’ เลยเชียว

ไม่ได้นะ ทีนี้ภาวนาไม่ได้แล้วซิ มันจะเป็นเหตุแล้ว หนีเลย หนีเลยนะ แต่ส่วนมากชนะเพราะมันตั้งท่าจะฆ่ากันอยู่แล้ว แล้วมันยังมาตั้งหมัดตั้งมวยต่อหน้าต่อตา นี่มันจะไม่ให้โมโห 'ได้ไง’

นี่เรื่องกิเลส มันมีมากน้อยเพียงไร มันจะแสดงอยู่ภายในใจ มันเป็นข้าศึกของใจ มันเป็นอย่างนี้ เป็นตลอดมา เก่ง...มีมากมีน้อย มันจะเป็นของมันอยู่ในจิตนะ... เพราะเราจะฆ่ามันอยู่กับจิต...”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาท่านได้พิจารณาย้อนหลังเทียบกับสมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ กิเลส ราคะ ตัณหา ก็ไม่เห็นเป็นพิษเป็นภัยอะไรมากมาย คงสงบตัวอยู่เงียบ ๆ ครั้นพอออกปฏิบัติตั้งใจจะฆ่ากิเลสโดยตรง กลับดูเหมือนว่ามันกำเริบเสิบสานมากยิ่งขึ้น ท่านอธิบายเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ว่า
“... เวลามาพิจารณาทีหลัง ไม่ใช่อะไรนะ คือเรามีสติสตังบ้าง เวลาแย็บออกไปมันเลยรู้ รู้ได้ง่าย... ไม่ใช่เราเป็นอย่างนั้น มันกลับขึ้นมาก็ไม่ใช่ เวลาผ่านไปถึงได้รู้


อ๋อ.. แต่ก่อนจิตของเรามันมืดมันดำ มันไม่รู้เรื่องรู้ราวเหมือนหลังหมีนี่ แล้วมันจะไปทราบสีขาวสีด่างสีอะไร มันเป็นหลังหมีเสียหมด

ทีนี้พอเราผ่านไปแล้ว ค่อย ๆ รู้ เวลาจิตละเอียดเข้ามันรู้ได้เร็ว เป็นเหมือนกับว่า มันแสดงกิเลสขึ้นอย่างรวดเร็ว แย็บเท่านั้นละ พอให้รู้เลย จากนั้นจึงได้เร่งกันใหญ่...”

ลัก...ยิ้ม 01-08-2012 09:25

มาร ๕

ขันธมาร รูปขันธ์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปเรื่อยรวมไปหมดขันธมาร

อภิสังขารมาร มารในจิต คือความคิด ความปรุง สังขารเป็นมารอันหนึ่งของเรา เราจะทำอะไร ๆ นี้ เราต้องคิดเสียก่อน แล้วกิเลสมาคิดก่อน สมมุติว่า เราคิดว่าจะไปเดินจงกรม กิเลสคิด ‘ปั๊บ’ ขึ้นมาว่า พักสักเดี๋ยวเสียก่อน..เข้าใจไหม ...

เทวบุตรมาร เทวบุตรมารก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ยกไว้เป็นธรรมาธิษฐาน บุคคลาธิษฐานสิ ถ้าบุคคลาธิษฐานก็เทวบุตรมารฝ่ายดี ที่มีส่วนเป็นภัยบ้างในฝ่ายดี ดูอย่างพระพุทธเจ้านะ มีมารแทรกอยู่ได้ นี้ฝ่ายเทวบุตรมาร...

กิเลสมาร เป็นตัวสำคัญมากยิ่งกว่าขันธมาร... สิ่งที่เข้ามาเคลือบแฝงกับจิตจนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวนั้น คืออะไร ท่านให้ชื่อว่ากิเลส ตามหลักธรรมให้ชื่อว่ากิเลส ท่านแปลว่าความเศร้าหมอง ... มันหากมีแง่ มีเล่ห์มีเหลี่ยม หลายสันพันคมที่จะหลอกเราให้เชื่อตามมัน .. จากเศร้าหมองก็มืดตื้อ ผลของมันก็คือความทุกข์ตั้งแต่น้อยไปถึงความทุกข์ใหญ่ เรียกว่ามหันตทุกข์ เกิดขึ้นเพราะอำนาจของกิเลสนี้ทั้งนั้น ... ถ้าจะทำความดีแล้วไม่ว่าเล็กว่าใหญ่ จะต้องถูกกีดขวางจากมาร ซึ่งแฝงอยู่ภายในจิตดวงเดียวกันนั้นแลโดยไม่ละเว้น .. เรียกว่ามาร กิเลสมาร ... การที่จะแก้ไขถอดถอน หรือกำจัดซักฟอก สิ่งที่แทรกซึมจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับใจนี้ให้ออกได้โดยลำดับนั้น จึงต้องใช้ความพยายามเต็มที่ จะหนักเบาเพียงไรก็ตาม ...

มัจจุมาร คือความตาย ความตายทำลายทุกสิ่งในชีวิต บางทีกำลังก้าวหน้าในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ก็มาด่วนตายเสียก่อน ความตายจึงตัดโอกาสดี ๆ ในชีวิต...”

ลัก...ยิ้ม 03-08-2012 11:14

ยอมมอบกายถวายชีวิตต่อ “ธรรม”

ที่อำเภอจักราชแห่งนี้ ท่านได้พยายามเร่งทำความเพียรทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่มาถึงทีแรกจนตลอดพรรษา โดยไม่ยอมทำงานอะไรทั้งนั้น นอกจากงานสมาธิภาวนาเดินจงกรมอย่างเดียว เพราะได้ตั้งใจแล้วว่า

“...คราวนี้จะเอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มเหตุเต็มผล เอาเป็นเอาตายเข้าว่าเลย อย่างอื่นไม่หวังทั้งหมด หวังความพ้นทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น จะให้พ้นทุกข์ในชาตินี้แน่นอน


ขอแต่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดได้ชี้แจงให้เราทราบเรื่องมรรคผลนิพพานว่ามีอยู่จริงเท่านั้น เราจะยอมมอบกายถวายชีวิตต่อท่านผู้นั้น และมอบกายถวายชีวิตต่ออรรถต่อธรรม ด้วยข้อปฏิบัติอย่างไม่ให้อะไรเหลือหลอเลย

ตายก็ตายไปกับข้อปฏิบัติ ไม่ได้ตายด้วยความถอยหลัง จิตปักลงเหมือนหินหัก...”

เหตุนี้เอง หลังจากนั้นไม่นาน ท่านว่าจิตก็ได้รับความสงบ ปรากฏว่าได้ผลดีตลอดพรรษา อย่างไรก็ตามด้วยความเมตตาสงสารของพระเถระผู้ใหญ่ อยากให้ท่านกลับกรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อในชั้นสูงขึ้นอีก

ทีแรกพระเถระท่านก็ฝากผ้าห่มผืนใหญ่พร้อมแนบจดหมายมาถึงโคราช ข้อความในจดหมายมีเพียง ๒-๓ ประโยคมีใจความว่า
“ให้มหาบัวกลับกรุงเทพฯ โดยด่วน ให้กลับกรุงเทพฯ โดยด่วน”


ท่านรู้สึกซาบซึ้งในความเมตตาของพระเถระที่มีต่อท่านเป็นอย่างสูง แต่เพราะได้ตัดสินใจแน่วแน่แล้ว จึงมิได้ตอบจดหมายกลับไปแต่อย่างใด และอยู่จำพรรษาที่นี่ตลอดพรรษา ครั้นพอออกพรรษาแล้ว ท่านจึงมารับกลับคืนและบังคับให้ขึ้นรถไฟไปพร้อมกับท่านด้วย ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า

“...ทีนี้พอออกพรรษาแล้ว ท่านก็มา.. ท่านเขียนจดหมายมาบอก วันนั้น ๆ เราจะผ่านไปโคราช บอกขบวนรถมันก็มีขบวนเดียว ออกตอนเช้าถึงอุบลฯ ให้เราไปรอดักอยู่สถานี ท่านจะเอากลับกรุงเทพฯ ให้เราไปรออยู่สถานี พอไปถึงก็ว่า

‘มหาบัวต้องกลับกรุงเทพฯ’ จี้เลยนะ มีแต่ ‘ต้องกลับกรุงเทพฯ’ รถไฟมันจอดนาทีเดียวนี่นะ รถไฟก็ช่วยเราด้วย ๆ พูดกันยังไม่สักกี่คำ


‘มหาบัวต้องกลับกรุงเทพฯ โดยด่วนนะ... ต้องกลับกรุงเทพฯ’

สักเดี๋ยวรถก็เคลื่อน เราก็โดดลงรถไฟไป .. รอดตัว แปลกอยู่นะ อะไร ๆ ก็ดีรู้สึกว่ามันพร้อม ๆ นะ อุปสรรคไม่ค่อยมี ว่าจะออกทางนี้นะ รู้สึกว่าคล่องตัว ๆ

อย่างผู้ใหญ่ท่านห้ามอย่างเข้มงวดกวดขัน อย่างนี้ก็เหมือนกัน รอดไปได้ แม้แต่ขึ้นไปสถานีรถไฟ รถไฟยังช่วย สักเดี๋ยวรถไฟเคลื่อนที่ ‘ปึ๋งปั๋ง’ ก็โดดลงรถไฟได้เท่านั้น ท่านก็ไม่ทราบจะว่า ‘ยังไง’ ไม่ได้รับคำตอบจากเรา เลยตามขู่อยู่เรื่อยนะ

ท่านสงสาร ท่านเมตตามากนะกับเรา มอบให้เราหมดแหละ ในคณะนั้น ๆ เป็นคณะใหญ่ เพราะท่านเป็นเจ้าคุณนี่ ให้เราเป็นผู้ดูแลคณะ เพราะฉะนั้น ท่านถึงได้เข้มงวดกวดขันในการไปการมาของเรา ท่านไม่ให้ไปไหนเหมือนว่าผูกมัดในตัว...

เราเคารพผู้ใหญ่เราก็เคารพ แต่เราเคารพความสัตย์นี้สุดหัวใจเรา.. ยิ่งกว่าผู้ใหญ่ เราจึงหาทางออกจนได้...”

ลัก...ยิ้ม 04-08-2012 11:54

ได้พบกัลยาณมิตร

ขณะที่พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าจักราช จังหวัดนครราชสีมา ท่านมีความประทับใจในธรรมของเพื่อนพระรูปหนึ่ง ดังนี้

“... ท่านชื่อว่า “ชำนาญ” เป็นเพื่อนกัน เกิดปีเดียวกัน อายุเท่ากันกับเรา ตั้งใจออกปฏิบัติ ท่านเก่งอยู่นะ เจตนาท่านเป็นธรรมมาก ท่านพูดเป็นธรรมน่าฟัง เราไม่ลืมจนกระทั่งบัดนี้


ท่านว่า ‘บิณฑบาตได้อาหารมานี้ ที่จะจัดใส่บาตร.. อันไหนดีเจ้าของไม่เอา อันไหนดีต้องเอาไปแจกคนอื่น ๆ เจ้าของแล้วแต่บุญแต่กรรม เพื่อนฝูงจะให้อะไรก็เอา บาตรเจ้าของไม่มอง’

ท่านเป็นธรรม เราฝังใจลึกไม่ลืม... ออกปฏิบัติทีแรกท่านภาวนาดีนะ ไปจำพรรษาที่อำเภอจักราช เราก็ออกจากกรุงเทพฯ มาจำพรรษา ท่านความเพียรดี จากนั้นมาท่านคิดอะไรก็ไม่รู้นะ ท่านก็ตั้งใจภาวนาดีอยู่ เวลาจะจากกันไป ท่านบอกว่าคิดว่าจะกลับไปเรียนเสียก่อน

‘เรียนหาอะไร ผมก็เรียนมาแล้วจนเป็นมหาจึงออกปฏิบัติ ท่านไปเรียนหาอะไร’ เราว่าท่านอย่างนี้

‘ก็อยากเรียนให้มันรู้ทั้งปริยัติรู้ทั้งปฏิบัติ อันนี้ท่านก็รู้ปริยัติมาแล้ว ทางปฏิบัติกำลังปฏิบัติอยู่นี้มันก็พูดได้ละซิ คนหนึ่งยังไม่เรียนยังไม่ได้ปล่อย

แล้วท่านก็กลับไปเรียนจริง ๆ นะ พอท่านได้ “เป็นมหา” ก็กลับเข้าป่าทันที

ท่านเป็นธรรมนะ ตอนนี้ท่านเสียแล้ว ท่านองค์นี้ออกปฏิบัติคราวนี้เอาจนกระทั่งอัฐิกลายเป็นพระธาตุ ท่านจริงจังมาก ท่านกับเราสนิทกันมากจริง ๆ...”

ลัก...ยิ้ม 06-08-2012 10:14

ให้ร่มเป็นทาน

ระยะที่ท่านพักอยู่ที่วัดป่าจักราชนี้ วันหนึ่งเป็นวันที่ฝนตกฟ้าคะนอง ท่านจึงต้องหลบฝนอยู่ที่กุฏิ สายฝนที่ตกจากท้องฟ้าทำให้ท่านหวนระลึกถึงร่มคันหนึ่งซึ่งเคยได้มาจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นร่มที่มีราคาแพงและสวยงาม

ขณะที่ท่านกำลังพินิจชมร่มอยู่นั้น มีชาวศรีสะเกษสองสามีภรรยาแต่ไปทำงานอยู่ทางภาคกลาง ได้เดินโซซัดโซเซด้วยพิษไข้เข้ามาหาท่าน หวังจะขอยาแก้ไข้ เพราะเงินติดกระเป๋าแม้สตางค์หนึ่งก็ไม่มีเลย เหตุการณ์ตอนนี้ ท่านเล่าว่า

“...เราได้ร่มเชียงใหม่มาคันหนึ่ง โอ๊ย.. สวยงามมากนะ ร่มคันนั้นแต่ก่อนมัน ถ้าราคาถึงสิบสลึง สามบาทเรียกว่า แพงที่สุด ร่มเชียงใหม่ทำนี้เป็นร่มที่ดีที่สุด ได้ร่มมาคันหนึ่ง เราก็เอามาชมของเรา ถ้าภาษาอีสานเรียกว่า มาแยงเบิ่งมันสวย พอดีสองสามีภรรยามา ผัวไข้สั่นงอก ๆ แงก ๆ มา ไม่มีร่มกั้น


มาขอยา ยาก็ไม่มี สั่นงอก ๆ แงก ๆ อยู่ ‘งั้นแหละ' พอดีเราก็มีร่มคันหนึ่ง ‘จะไปทางไหนละนี่ ทั้งไปทั้งสั่นอยู่นี้ ทั้งฝนก็ตกฟ้าก็ลงอยู่นี้ จะไปได้ ‘ยังไง’..’

'โอ๊ย ก็ไป ‘ยังงั้น’ แหละ... จะกลับบ้านศรีสะเกษ โยมผู้ชายเป็นไข้ ตะเกียกตะกายมานี้ เวลาฝนตกฟ้าลงไม่มีร่มกั้น หนาวตัวสั่นตลอดมาก็เลยเป็นการเพิ่มไข้เข้าไปอีก’

เราก็เลยว่า ‘เอาซะ ร่มคันนี้ สวยงามมาก แน่นหนามั่นคงมาก เราให้’

เขาไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่ามันเป็นของใหม่ของดีก็เลยว่า ‘โอ๊ย... แล้วญาคู (คำเรียกพระทางอีสาน) จะใช้ไหนละ’

เราบอกว่า ‘ให้ด้วยความพอใจ ขอให้รับไปด้วยความพอใจเพื่อไปบรรเทาทุกข์นะ’ เขามองดูหน้าเราเลิ่กลั่ก แล้วก็มองดูร่ม เราก็ว่า ‘เอ้า เอาไป’

เขาจะไม่เอา เขาไม่เห็นแก่ได้อย่างเดียว เขายังเห็นแก่เราอีก

นี่ละธรรมต่อธรรมเข้าถึงกัน เขาไม่ใช่เป็นคนขี้โลภ ทั้ง ๆ ที่เขามาขอนะ แต่เวลาเราให้ของดี ๆ เขาไม่อยากรับ เราก็ต้องบังคับให้เขาเอาไป เขามองหน้าเราแล้ว แล้วมองร่ม

เราว่า ‘ใช้อันไหนก็ช่างเถอะ เรามีร่มใหญ่อยู่นี้ ร่มมีอยู่นี่ ก็กุฏิ ‘ยังไง’ นี่แหละร่มใหญ่ของเรา เอาร่มน้อยไปเถอะ เอาไปบรรเทาทุกข์ เรามีกุฏิแล้ว ร่มในวัดนี้ก็พอมี ถึง‘ยังไง’ก็ตามเถอะ ผู้ที่เป็นอย่างนี้มีความจำเป็นมากกว่าผู้อยู่ในวัด เอาไปเถอะ’

เราบอกให้แล้วด้วยความเต็มใจ บังคับให้เอานะ ‘ไม่งั้น’ เขาจะไม่เอา เราก็เลยไม่ลืม เรายังไม่ได้ใช้แหละร่มคันนี้ อย่างนี้ละน้ำใจ เขาคงจะไม่ลืมนะ ที่เขาได้รับจากเรา เราให้เขายังไม่ลืม เขาจะลืมได้ ‘ยังไง’ นี่ละจิตใจนี้มันไม่ลืมกันนะ จากนั้นแกให้พรด้วยนะ

(แกพูดว่า) ‘โอ๊ย เอาของดิบของดีให้ ขอให้ท่านจงเจริญรุ่งเรืองในธรรมเด้อ ! ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยมีกับเขาสักที’…”

ที่แกพูดเช่นนี้ เพราะร่มคันนี้ยังเป็นของใหม่อยู่ ท่านเองก็ยังไม่เคยได้ใช้สักครั้งเลย เมื่อได้ร่มไปแล้วทั้งคู่จึงต่างดูแล้วดูเล่า พลิกทางนั้นหันทางนี้อย่างชื่นชมในความงาม และด้วยความดีใจจนลืมทุกข์จากพิษไข้ไปได้ชั่วขณะ เพราะไม่เคยมีของดี ๆ เช่นนี้มาก่อนเลย

เมตตาจิตของท่านที่มีแต่ให้ของดี ๆ แก่ผู้อื่นเช่นนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำนิสัยของท่านมาแต่เดิมและตลอดมา

ลัก...ยิ้ม 07-08-2012 09:17

นิมิตตาปะขาวบอก ๙ ปีสำเร็จ

ที่จักราช โคราช ขณะที่ท่านกำลังนอนภาวนาอยู่นั้น จิตรู้สึกสงบและค่อยยุบยอบ ๆ เข้าไป หดตัวเข้ามา ๆ สู่ความสงบ แต่ไม่สงบมากนัก พอสงบรู้ได้ว่าสงบ ปรากฏว่าเกิดนิมิตแปลกประหลาดขึ้น เป็นนิมิตที่ท่านจำได้ถนัดชัดเจน ดังนี้

“..มีตาปะขาวคนหนึ่งเดินมายืนต่อหน้าประมาณสัก
หนึ่งวาเศษ ๆ ตาปะขาวนั้นอายุประมาณสัก ๕๐ หรืออย่างสูงก็ไม่เลย ๖๐ มีรูปลักษณะพอดี ทุกส่วนสัดพอดีทุกอย่าง แต่ผิวพรรณนั้นรู้สึกจะมีสีเนื้อค่อนข้างขาว

พอมานั้นมายืนตรงหน้าเรา เราก็ดูแกแล้ว พอมองมาทางเรา แล้วก็ก้มลงและนับข้อมือให้เราดู พอถึงข้อที่ ๙ รู้สึกว่าหนักมือตรงนี้ เขาเงยหน้าขึ้นมาดูเราแล้วบอกว่า ๙ ปีสำเร็จ

พอจากนั้นจิตของเราก็ถอยออกมา จึงพิจารณาว่า ‘นี่เราก็บวชได้ ๗ ปีแล้ว ทำไมสำเร็จง่ายนักนะ ใช่หรือภาวนา ๙ ปีสำเร็จ ?’

จากนั้นมันก็ภาวนาเอาใหญ่เลยจะให้ ๙ ปีสำเร็จ พอครบพรรษาที่ ๙ ออกพรรษาแล้ว จิตมันยังเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมอยู่อย่างนั้นจะสำเร็จได้ ‘ยังไง’ จิตคนมันเป็นบ้าอยู่อย่างนั้น เอาอะไรมาสำเร็จ
‘เอ! หรือจะเริ่มนับตั้งแต่ ๙ ปีที่เราเริ่มออกปฏิบัติ ?’ พรรษาที่ ๘ เป็นพรรษาแรกที่ออกปฏิบัติ...”


ท่านเก็บความสงสัยในนิมิตตาปะขาวนี้อยู่ภายในลึก ๆ เพียงลำพัง พร้อมกับความตั้งใจในการปฏิบัติจิตภาวนาอย่างจดจ่อต่อเนื่อง นิมิตบอกเหตุครั้งนี้จะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ผลการปฏิบัติของท่านเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์..!

ลัก...ยิ้ม 08-08-2012 09:38

แพ้ผู้หญิง

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านตั้งใจจะเร่งเดินทางไปหาหลวงปู่มั่นในทันที แต่ญาติโยมที่จักราชกลับพยายามชะลอท่านไว้ทั้งทางตรงและทางอ้อม จนต้องยอมในที่สุด ดังนี้

“...ทีแรกออกพรรษาแล้ว เราก็เคยพูดแล้วว่าเราแพ้ผู้หญิง ผู้หญิงเขาดัดสันดาน เขาเอาผ้าสังฆาฏิเราเข้าไปในบ้าน เขาจะให้เราอยู่เสียก่อนรอรับกฐิน ไอ้เราออกพรรษา เราจะเร่งมาหาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ความหมายของเราน่ะ เราบอกเราจะไม่รับ เราจะไม่อยู่ มาเถียงกันเสีย ‘โธ้’...ผู้หญิงคนนี้มันก็เก่งเหมือนกันนะ เป็นเมียนายจ่า ลูกตัวเล็ก ๆ น่ารักมาก


ตอนเย็น ๆ แม่จะเอากาแฟให้ลูกส่งมาหาเรา เพราะฉะนั้น ถึงสนิทกัน..เข้าใจไหม ผัวเขาเป็นนายจ่า จ่าสิบโทหรือจ่าสิบเอก เราลืมแล้ว ชื่อจ่าเบ้า แม่เขาชื่อแฉ่ง ลูกชายเขาตัวเล็ก ๆ ที่น่ารักชื่อเจริญ ก็มันติดพันกันขนานนั้น

ทีนี้พอออกพรรษา เราก็เตรียมจะรีบมาหาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น เขาก็รีบมาขอให้รอทอดกฐินเสียก่อน เขากำหนดกฐินวันนั้น ๆ เราก็บอกเรารอไม่ได้..ไม่ได้ แกก็เอาใหญ่เลย มาร้องไห้ต่อหน้านี่ซิ ที่มันดัดกันสุดท้ายแพ้ผู้หญิง ไปที่ไหนแพ้แต่ผู้หญิงนะเรา เป็น ‘ยังไง’ ไม่ทราบ ซัดกันอยู่นี้มันร้องไห้ต่อหน้าเรา เราก็เฉยไม่สนใจ แต่เราเผลอซิ

ผ้าสังฆาฏิเราไปบิณฑบาตช้อนผ้ามาแล้วก็มาพับวางไว้ต้นเสาข้างหลัง แกก็นั่งซัดกันกับเราอยู่นี่ พอเสร็จแล้วเราก็ไปจัดอาหารแจกกันตอนฉันจังหัน แกก็ด้อมมาข้างหลังเอาผ้าสังฆาฏินี้ไป แล้วแกก็ไปเฉยเลย พอจะลงศาลาปั๊บหันหน้ามา
‘ท่านจะไปอุดรฯ ก็ไปเสีย’


แล้วมีลักษณะยิ้ม ๆ โอ้โห..มันร้องไห้ตะกี้นี้ มันลงไปแล้วมาพูดท้าทายเรา ‘ท่านจะไปอุดรฯ ก็ไปเสียนะ’ มียิ้ม ๆ นิดหนึ่ง เราก็เฉย

ทีนี้พระเลยมาสะกิด ‘ไม่ใช่เขาเอาหมัดเด็ดใส่แล้วหรือ ?’

‘หมัดเด็ดอะไร ?’

‘ก็เห็นเขายิ้ม ๆ ไม่ใช่เขาเอาผ้าสังฆาฏิไปแล้วหรือ ?’


‘กูตาย..มันเอาไปแล้ว’

นี่ซิยอมเขา เขาเอาไปแล้ว ยังไม่แล้ว เขายังมาสืบหากับพระอีก เอาผ้าสังฆาฏิพระท่านไปนี้ผิดพระวินัยข้อไหน ๆ พระท่านก็ชี้แจงให้ทราบตามหลักพระวินัย ออกพรรษานี้ปราศจากไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ คือไม่ต้องอยู่ครบ ธรรมดาผ้าจีวรต้องมีอยู่ครบตลอดคืน ส่วนกลางวันไม่ได้กำหนดนะ แต่เวลาออกพรรษาแล้วนี้อานิสงส์พรรษาครอบไปได้ ๑ เดือน จึงปราศจากผ้าไตรจีวร เช่น สังฆาฏิ สบง จีวร ผืนใดผืนหนึ่งปราศจากได้

เขาเอาไปแล้วก็ถือว่าปราศจากแล้ว ใช่ไหม..เขาเอาไปผืนหนึ่งแล้ว เขามาสืบถามพระ ได้ความแล้วเขายิ่งมั่นใจนะ ‘ท่านจะไปเมื่อไรล่ะ อุดรฯ’ มาใส่เรานะ
‘ท่านจะไปอุดรฯ เมื่อไรล่ะ’


เราโมโหพอแล้ว แพ้เขาอย่างหลุดลุ่ย นี่ละเรื่องมันน่ะ เลยต้องรอ พอรับกฐินแล้วก็บึ่งเลยเทียวนะ บึ่งมาไม่ทัน ท่านไปได้ ๓ วันแล้ว...”

ลัก...ยิ้ม 09-08-2012 10:58

มหันตทุกข์จากจิตเสื่อม

เมื่อรับกฐินแล้ว ท่านก็ออกจากจังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าไปจังหวัดอุดรธานีทันที ตั้งใจว่าจะไปจำพรรษากับหลวงปู่มั่นที่วัดป่าโนนนิเวศน์* อุดรธานี แต่ก็ไม่ทัน หลวงปู่มั่นเพิ่งไปสกลนครได้ ๓ วัน จึงได้มาที่บ้านตาดเพื่อทำกลด ขณะที่เริ่มทำยังไม่ทันเสร็จดีกลับปรากฏว่า ในด้านสมาธิของท่านเริ่มเสื่อมลง ๆ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า

“... เราก็เดินทางมาจังหวัดอุดรธานี เพื่อตามหาท่านพระอาจารย์มั่น ใจที่มีความเจริญในทางด้านสมาธิก็ปรากฏว่า เสื่อมลงที่บ้านตาดซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน การเสื่อมทั้งนี้เนื่องจากทำกลดคันหนึ่งเท่านั้น


และการมาอยู่บ้านตาดยังไม่ถึงเดือนเต็ม จิตรู้สึกเข้าสมาธิไม่ค่อยสนิทดีเหมือนที่เคยเป็นมา บางครั้งเข้าสงบได้ แต่บางครั้งเข้าไม่ได้ พอเห็นท่าไม่ดี จะฝืนอยู่ไปก็ต้องขาดทุน จึงรีบออกจากที่นั้นทันทีไม่ยอมอยู่

ก่อนนั้นสมาธิไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะ แน่นปึ๋งเลยเทียว แน่ใจว่ามรรคผลนิพพานมีแล้ว เพราะจิตมันแน่นปึ๋งไม่สะทกสะท้านกับอะไร แม้ขนาดนั้นก็ยังเสื่อมได้ แค่ทำกลดหลังเดียวเท่านั้น...”

ภาวะจิตเสื่อมนี้เป็นทุกข์อย่างมาก ท่านเปรียบว่า เหมือนกับเคยเป็นมหาเศรษฐีมีเงินหมื่นแสนล้านมาก่อน แล้วจู่ ๆ มาล่มจมสิ้นเนื้อประดาตัวด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ผู้ที่เคยมีเงินมากมายขนาดนั้น ย่อมเดือดร้อนกว่าผู้ที่หาเช้ากินค่ำและไม่เคยมีเงินหมื่นแสนล้านนั้นมาก่อนเลย ผู้นั้นจะเอาอะไรมาเสียใจในความล่มจมของเงินก้อนนั้นได้

ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน ภาวะที่จิตเจริญด้วยสมาธิก็เปรียบเหมือนกับผู้เป็นมหาเศรษฐีมีเงินก้อนใหญ่นั่นเอง ท่านกล่าวถึงภาวะนี้ว่า

เป็นภาวะที่จิตรู้สึกเข้าสมาธิไม่ค่อยสนิทเหมือนที่เคยเป็นมา บางครั้งเข้าสงบได้ แต่บางครั้งเข้าไม่ได้ ภาวะเสื่อมนี้มันถึงขนาดจะเป็นจะตายจริง ๆ เพราะทุกข์มาก เหตุที่ทุกข์มากเพราะได้เคยเห็นคุณค่าของสมาธิที่แน่นปึ๋งมาแล้ว และก็กลับเสื่อมเอาชนิดไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวเลย มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวใจตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ทั้งยืนทั้งเดิน ทั้งนั่ง ทั้งนอน จึงเป็นทุกข์เพราะอยากได้สมาธินั้นกลับมา มันเป็นมหันตทุกข์จริง ๆ ก็มีคราวที่จิตเสื่อมนั้นแลที่ทุกข์มากที่สุด


ความเด็ดเดี่ยว ความมุ่งมั่นจริงจังของท่าน เพื่อที่จะครองชัยชนะในการต่อสู้กับกิเลสให้ได้นี้ ทำให้ไม่มีสิ่งใดจะมาเป็นอุปสรรคต่อความตั้งใจจริงของท่านได้ เพราะยอมต่อสู้ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ท่านจึงมักพูดเสมอว่า
ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตายเท่านั้น จะให้อยู่เป็นสองระหว่างกิเลสกับเราไม่ได้


===============================================

* ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นผู้อาราธนานิมนต์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไปโปรดชาวอุดรธานีเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เมื่อเดินทางมาถึงอุดรธานี หลวงปู่มั่นได้พักที่วัดโพธิสมภรณ์ระยะหนึ่ง ต่อมาจึงย้ายไปพักที่วัดป่าโนนนิเวศน์ ซึ่งเป็นป่าช้าที่สงบสงัดรกทึบ ชาวบ้านเกรงกลัวที่วัดแห่งนี้ ขุนชาญอักษรศิริ (นวล) และนางพรหม สรรพอาษา เป็นหัวหน้าชักชวนชาวบ้านสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ และก็ได้นำชาวบ้านมาถากถางสร้างกุฏิที่พักและอุปถัมภ์อุปัฏฐากถวายหลวงปู่มั่น ซึ่งท่านได้เมตตาจำพรรษาที่วัดนี้ ๒ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔

ลัก...ยิ้ม 10-08-2012 09:34

ข่าวอันเป็นมงคล

และด้วยเหตุที่หลวงปู่มั่นรับนิมนต์ไปจังหวัดสกลนครเสียก่อน ทำให้ท่านต้องออกจากบ้านตาดเลยไปพักอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง จังหวัดหนองคาย ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า

“... ตอนนี้ละ..ตอนมาจากโคราช พรรษา ๘ มาจากโคราช ว่าจะตามพ่อแม่ครูอาจารย์ให้ทัน .. มันไม่ทัน ท่านไปได้ ๒-๓ วันแล้ว เราก็เลยออกไปเที่ยวทางอำเภอกุมภวาปี (จังหวัดอุดรธานี) ทางโน้นเป็นดงเป็นป่าทั้งนั้นนะ ไปที่ไหนสะดวกสบาย บ้านเป็นบ้านเฉพาะ ๆ ดงรอบหมดเลย ... ตอนที่เรามาพักอยู่วัดมัชฌิมวงศ์ (บ้านเหล่าใหญ่ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี) นั้น เป็นดงทั้งหมด เราไปพักอยู่ทางด้านตะวันออก ไม่ได้อยู่ในเขตวัด ไปอยู่ในป่าอีก ทั้ง ๆ ที่วัดนี้ก็เป็นป่า มีพระอยู่ในวัด นอกเขตวัดไปนี้ไม่มีพระ เราไปอยู่ในป่าเหมือนกัน ... ต้นไม้นี้ โหย... สูงจรดเมฆ ไม้ยางทั้งนั้น แต่ก่อนก็มี แต่ไม่ใหญ่อย่างนี้ มันเป็นดงจริง ๆ ศาลามีก็ไม่ได้หลังใหญ่โตอะไรเลย มีศาลาหลังเดียวเล็ก ๆ กุฏิกระต๊อบ ๆ อยู่ในป่า ถึงอย่างนั้นเรายังไม่อยู่ ออกไปอยู่โน้นอีก นอกเขตนั้น อยู่ในป่าไปอีก เขาบอกว่าทางป่าช้า เราอยู่ทางป่าช้านั่นละ ไปภาวนาอยู่ที่นั่น


เป็นดงทั้งหมดรอบวัด เป็นดงทั้งหมดเลย ดงสัตว์ ดงเสือ ดงเนื้อ เต็มไปหมด จนกระทั่งถึงบ้านไชยวาน วังสามหมอ มันต่อกันไปนี้เป็นดงใหญ่ .. พรรษา ๘ ออกจากนี้ ไปหนองคายที่อำเภอท่าบ่อ ไปพักวัดอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ อยู่ในป่า เป็นดงจริง ๆ ... (ต่อมา) มาพักอยู่กับท่านอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มันเป็นทุ่งกว้างขวาง แถวนั้นมีแต่ทุ่ง ทุ่งนาล้อมรอบหมด วัดทุ่งสว่างก็เป็นเกาะท่ามกลางทุ่งนา ท่านอาจารย์กู่ท่านอยากให้เราอยู่ด้วย ไม่อยากให้ไปไหน...

ไปพักรอที่วัดทุ่งสว่างเพื่อจะไปหาท่านอาจารย์มั่น ตอนนั้นยังไม่ได้มีกำหนดแต่จะต้องไปแน่ ๆ ก็พอดีมีพระองค์หนึ่งชื่อ พระศรีนวล เพิ่งมาจากวัดบ้านโคกนามน แล้วเผอิญเข้าไปพักด้วยกันที่วัดทุ่งสว่าง .. เราถามท่านว่า ‘มาจากไหน ?’

‘มาจากบ้านนามน จากท่านอาจารย์มั่น’

‘หือ? หือ ?’ ขึ้นทันทีเลยนะ เพราะพอได้ยินชื่อว่า ท่านอาจารย์มั่น รู้สึกตื่นเต้นดีใจ จึงถามย้ำเข้าไปอีก ท่านจึงว่า

‘มาจากท่านอาจารย์มั่น’

‘เวลานี้ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่ไหน ?’

‘พักอยู่บ้านนามน’

‘แล้วมีพระเณรพักอยู่กับท่านมากน้อยเพียงไร ?’

‘๘-๙ องค์ ท่านไม่รับพระมาก อย่างมากขนาดนั้นเท่านั้นแหละ’

‘ได้ทราบว่า ท่านดุเก่งใช่ไหม ?

‘โห ... ไม่ต้องบอก พอไล่ ไล่หนีเลย’ พระองค์นั้นว่าอย่างนั้น...!”

พอท่านได้ยินดังนี้ แทนที่จะคิดเป็นผลลบกับหลวงปู่มั่น กลับรู้สึกถึงจิตถึงใจกับความเด็ดของหลวงปู่มั่น และแอบคิดอยู่แต่ผู้เดียวในใจว่า

อาจารย์องค์นี้ละ จะเป็นอาจารย์ของเรา ต้องให้เราไปเห็นเอง ท่านจะดุแบบไหน แบบไหน ๆ ครูบาอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศไทยมานานขนาดนี้ จะดุจะด่าขับไล่ไสส่งโดยหาเหตุผลไม่ได้นี้ เป็นไปไม่ได้


ท่านพักอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง ๓ เดือนกว่า จากนั้นพอถึงเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ ท่านก็ออกเดินทางจากหนองคายไปจังหวัดสกลนคร เพื่อมุ่งสู่หลวงปู่มั่นต่อไป

ลัก...ยิ้ม 14-08-2012 10:45

พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน

พระอาจารย์กู่ มีนามเดิมว่า กู่ สุวรรณรงค์ เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ ปีชวด พุทธศักราช ๒๔๔๓ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

การอุปสมบท ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ พันธสีมาวัดโพธิ์ชัย บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูสกลสมณกิจ (ท่านอาญาครูธรรม) เป็นพระอุปัชฌาย์

การจาริกเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ ตลอดเวลาที่ท่านบวชอยู่ ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบความเงียบสงัด เป็นผู้ยินดีในเสนาสนะเป็นส่วนมาก เที่ยวหลีกเร้นปฏิบัติเดินจงกรม นั่งปฏิบัติสมาธิภาวนาตามป่าชัฏ ได้มีโอกาสศึกษาธรรมเบื้องต้นกับท่านพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล (พระรัตนากรณ์วิสุทธิ์) ที่วัดบ้านม่วงไข่นี้ และต่อมาได้เดินทางไปพบกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และได้อยู่ศึกษาธรรมและปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

การขอญัตติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยมีพระครูอดิศัยคุณาธาร (คำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูวินัยธร (ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ วัดมหาชัย ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันคือ จ. หนองบัวลำภู)

การอาพาธและการมรณภาพ ท่านอาพาธด้วยโรคฝีฝักบัวที่ต้นคอ ซึ่งเป็นโรคประจำตัว เมื่อออกพรรษาปี ๒๔๙๕ แล้ว ท่านได้ลาญาติโยมขึ้นไปทำสมณกิจที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า บ้านทิดไท ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อล่วงไปได้ ๓ เดือน อาการโรคได้กำเริบมากขึ้น จนกระทั่งท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบในอิริยาบถนั่งสมาธิ ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ สิริอายุรวมได้ ๕๓ ปี รวม ๓๐ พรรษา

ลัก...ยิ้ม 15-08-2012 09:57

พรรษาที่ ๙

(พ.ศ. ๒๔๘๕) จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก วัดป่าวิสุทธิธรรม ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร

.................................................................................................

มอบกายถวายชีวิตต่อหลวงปู่มั่น


จากจังหวัดสกลนคร ท่านก็เดินทางต่อไปจนถึงวัดที่หลวงปู่มั่นพักอยู่ในระยะนั้นคือ ที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ท่านกล่าวถึงเหตุการณ์ในระยะนี้ว่า

“... พอทราบแล้ว ๓ วันเท่านั้นนะ เตรียมของไปเลย ไปก็ไปโดนเอาจริง ๆ นี่ละ.. มันมีแต่ผลบวกนะ พอไปก็ไปพักอยู่สุทธาวาส ๒ คืน พอฉันจังหันแล้ว สาย ๆ ก็ออกเดินทางไปถึงบ้านโคกมืดแล้ว บุกไปอย่างนั้นละ กลางคืนมืดถนนไม่ต้องถามละ ไม่มี ไปตามทางล้อทางเกวียนธรรมดา


พอไปถึง เราไปถามชาวบ้านเขา เขาก็บอก ไปถึงบ้านโคกมันมืดแล้ว ‘วัดป่าบ้านโคกอยู่ที่ไหน แล้วท่านอาจารย์มั่น ท่านอยู่ที่นี่ใช่ไหม ?’

‘อยู่..ท่านเพิ่งย้ายมาจากบ้านนามน ท่านจะมาพักจำพรรษาที่นี่ในปีนี้’

‘ไหน..วัดไปทางไหน ?’

เขาก็เลยพาไป ‘ไป..ผมจะพาไป เพราะทางเข้าไปวัดของท่านอาจารย์มั่นเป็นทางด่านนะ มันไม่ได้เป็นทางล้อทางเกวียนอะไร ทางเป็นด่าน พอคนเดินไปพ้นตัวไปเท่านั้นแหละ’ ชาวบ้านเขาบอก ... ออกไปนี้พอไปถึงกลางบ้าน

เขาบอกให้มานี่ เขาก็ชี้ทาง ‘นี่ละทางเส้นนี้ไปวัด ให้จับทางสายนี้นะ นี่แหละต้นทาง ให้เดินตามทางนี้ อย่าปลีกทางนี้ มันเป็นทางแคบ ๆ เพราะท่านเพิ่งมาอยู่ใหม่ ทางก็แคบ ๆ บุกไปอย่างนั้นแหละ ให้ตามทางนี้ อย่าปล่อยทางนี้แล้วจะเข้าถึงวัดเลย’

พอเขาบอกอย่างนี้แล้วเราก็ไป ไปทั้งมืด ๆ ไปพอ 'ช่วมช่าม ๆ' เข้าไปในวัด จากนั้นก็ดูนั้นดูนี่มืด ๆ จนไปเห็นศาลาหลังหนึ่ง ทำให้สงสัยนะ
‘เอ๊...นี่ ถ้าเป็นศาลามันก็ดูว่าเล็กไปสักหน่อย’ หมายถึงศาลากรรมฐานนะ...


‘ถ้าว่าเป็นกุฏิ ก็จะใหญ่ไป’ กำลังดูอยู่อย่างนั้น แล้วก็เดิน 'เซ่อซ่า ๆ' เข้าไป ท่านอาจารย์มั่นกำลังเดินจงกรมอยู่นี่นา ....มันก็ไม่เห็น เอ้อ... ท่านเดินจงกรมอยู่ข้างศาลา ท่านกั้นห้องศาลาพักอยู่นั่น พักจำวัดอยู่ที่ห้องศาลาเล็ก ๆ นั่นนะ

เราก็เดินซุ่มซ่าม ๆ มองนั้นมองนี้ไป ก็เราไม่เห็นนี่ มันกลางคืนแล้ว ท่านก็ยืนอยู่ใกล้ ๆ นี้...”

ท่านเดินไปจนพบหลวงปู่มั่น บนทางจงกรม หลวงปู่มั่นจึงถามขึ้นว่า “ใครมานี่ ?

ท่านกราบเรียนว่า “ผมครับ

ด้วยคำตอบนั้นของท่าน ทำให้หลวงปู่มั่นกล่าวขึ้นอย่างดุ ๆ พร้อมกับใส่ปัญหาให้ได้คิดในทันทีนั้นว่า
อันผม ๆ นี้ ตั้งแต่คนหัวล้าน มันก็มีผมไอ้ตรงที่มันไม่ล้าน


ถึงตรงนี้ท่านว่า รู้สึกเสียวแปล๊บในหัวใจ เพราะเข้าใจทันทีว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดด้วยการตอบเช่นนี้เลย

ขณะเดียวกันทั้ง ๆ ที่กลัวเกรงหลวงปู่มั่นมาก แต่ก็รู้สึกถึงใจอย่างที่สุดกับคำดุชนิดที่หาที่ค้านไม่ได้เลย และยอมรับทันทีในไหวพริบปฏิภาณของหลวงปู่มั่น แม้จะกลัวเพียงใดก็ตาม แต่กลับรู้สึกดีใจอยู่ลึก ๆ ว่า
“นี่แหละ..อาจารย์ของเรา”


จากนั้นท่านก็เลยรีบกราบเรียนใหม่ทันทีว่า “ผมชื่อพระมหาบัว”

“เออ!.. ก็ว่า 'อย่างงั้นซี่' มันถึงจะรู้เรื่องกัน อันนี้ว่า ผม ผม ใครมันก็มี ผมเต็มหัวทุกคน แล้วใครจะรู้... ไป..ไปพักข้างศาลานะ”

จากนั้น หลวงปู่มั่นก็ออกจากทางจงกรมขึ้นไปบนศาลา ภายในศาลาจะกั้นเป็นห้องใช้เป็นที่พักสำหรับหลวงปู่มั่น เมื่อขึ้นบนศาลาแล้ว หลวงปู่มั่นเตรียมจะจุดตะเกียงหรือโป๊ะเล็ก ๆ ตะเกียงมีแก้วเล็ก ๆ ครอบเหมือนดอกบัว พอได้ยินเสียงหลวงปู่มั่นขู่เท่านั้น พระเณรที่เดินจงกรมอยู่ในเวลานั้นก็หลั่งไหลมากัน ก็พอดีมีพระขึ้นไปจุดไฟให้ท่าน เมื่อหลวงปู่มั่นนั่งลงแล้ว ท่านจึงถือโอกาสเข้ากราบเรียนถวายตัวเป็นศิษย์ และเรียนให้ท่านทราบถึงที่มาที่ไป พอให้ท่านได้รู้จักในตอนนั้นหลวงปู่มั่นยังคงฟังอยู่นิ่ง ๆ

ด้วยความมุ่งมั่น อยากจะมาศึกษาอยู่กับท่านเต็มเปี่ยมมานานหลายปีแล้ว ประกอบกับรู้สึกประทับใจในสติปัญญาฉับไวของหลวงปู่มั่น ความที่กลัวว่าจะไม่ได้อยู่ด้วย ทำให้ท่านเกิดความวิตกกังวลและครุ่นคิดอยู่ในใจว่า
“ไม่อยากได้ยินเลยคำทีว่า ที่นี่เต็มแล้ว รับไม่ได้แล้ว กลัวว่าหัวอกจะแตก...”


สักครู่หนึ่ง หลวงปู่มั่นก็พูดขึ้นว่า “นี่พอดีนะนี่ เมื่อวานนี้ท่านเนตรไปจากนี้ แล้ววันนี้ท่านมหาก็มา ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้อยู่ กุฏิไม่ว่าง

คำพูดของหลวงปู่มั่นครั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ก็เมตตารับท่านไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านเองก็ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกใจหายใจคว่ำเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้อยู่ศึกษาด้วย คำกล่าวของหลวงปู่มั่นครั้งนั้น จึงทำให้ท่านไม่สามารถจะลืมได้แม้จนทุกวันนี้

ลัก...ยิ้ม 17-08-2012 10:42

ธรรมบทแรก
“ปริยัติให้ยกบูชาไว้ก่อน แล้วปฏิบัติจะประสานกลมกลืน”

ถึงแม้ท่านจะเคยปฏิบัติด้านจิตภาวนามาบ้าง และก็มีโอกาสศึกษาค้นคว้าด้านปริยัติถึง ๗ ปีก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่ทำให้ความสงสัยของท่านในเรื่องมรรคผลนิพพานหมดไป ยังคงเก็บความสงสัยอยู่ในใจตลอดมา และก็ดูเหมือนกับหลวงปู่มั่นจะล่วงรู้ถึงวาระจิตของท่าน จึงพูดบทธรรมครั้งแรกจี้เอาตรง ๆ ในคืนแรกนี้เลยว่า

“ท่านมาหามรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน ? ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริง ๆ มรรคผลนิพพานจริง ๆ อยู่ที่หัวใจ ขอให้ท่านกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรมของทั้งกิเลสอยู่ภายในใจ แล้วขณะเดียวกันท่านจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับลำดา


เทศนาดังกล่าวนี้ ทำให้ท่านมีความมั่นใจในเรื่องมรรคผลนิพพาน และเชื่อมั่นในความรู้ความเห็นของหลวงปู่มั่น ที่พูดไขข้อข้องใจได้ตรงจุดแห่งความสงสัย จากนั้นหลวงปู่มั่นมีเมตตาชี้แนะบทธรรมในภาคปฏิบัติให้ ด้วยทราบว่า ท่านมีความรู้ในภาคปริยัติเต็มภูมิมหาเปรียญและนักธรรมเอก และมีความสนใจใคร่ต่อการประพฤติปฏิบัติ บทธรรมบทนี้ แม้จนบัดนี้ยังคงฝังลึกอยู่ภายในใจของท่านตลอดมา ดังนี้

“...ท่านมหาฯ ก็นับว่าเรียนมาพอสมควร จนปรากฏนามเป็นมหาฯ ผมจะพูดธรรมให้ฟังเพื่อเป็นข้อคิด แต่อย่าเข้าใจว่าผมประมาทธรรมของพระพุทธเจ้านะ


เวลานี้ธรรมที่ท่านเรียนมาได้มากได้น้อย ยังไม่อำนวยประโยชน์ให้ท่านสมภูมิที่เป็นเปรียญ นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการภาวนาของท่านในเวลานี้เท่านั้น เพราะท่านจะอดเป็นกังวล และนำธรรมที่เรียนมานั้นเข้ามาเทียบเคียงไม่ได้ในขณะที่ทำใจให้สงบ

ดังนั้น เพื่อความสะดวกในเวลาจะทำความสงบให้แก่จิต ขอให้ท่านที่จะทำใจให้สงบ ยกบูชาไว้ก่อนในบรรดาธรรมที่ท่านได้เรียนมา ต่อเมื่อถึงกาลที่ธรรมซึ่งท่านเรียนมาจะเข้ามาช่วยสนันสนุน ให้ท่านได้รับประโยชน์มากขึ้นแล้ว ธรรมที่เรียนมาทั้งหมดจะวิ่งเข้ามาประสานกันกับทางด้านปฏิบัติ และกลมกลืนกันได้อย่างสนิท ทั้งเป็นธรรมแบบพิมพ์ ซึ่งเราควรจะพยายามปรับปรุงจิตใจให้เป็นไปตามนั้น

แต่เวลานี้ ผมยังไม่อยากจะให้ท่านเป็นอารมณ์กับธรรมที่ท่านเล่าเรียนมา อย่างไรจิตจะสงบลงได้หรือจะใช้ปัญญาคิดค้นในขันธ์ ก็ขอให้ท่านทำอยู่ในวงกายนี้ก่อน เพราะธรรมในตำราท่านชี้เข้ามาในขันธ์ทั้งนั้น แต่หลักฐานของจิตยังไม่มี จึงไม่สามารถนำธรรมที่เรียนมาจากตำราน้อมเข้ามาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ และยังจะกลายเป็นสัญญาอารมณ์คาดคะเนไปที่อื่น จนกลายเป็นคนไม่มีหลัก เพราะจิตติดปริยัติในลักษณะไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า

ขอให้ท่านนำธรรมที่ผมพูดให้ฟังไปคิดดู ถ้าท่านตั้งใจปฏิบัติไม่ท้อถอย วันหนึ่งข้างหน้าธรรมที่กล่าวนี้ จะประทับใจท่านแน่นอน...”

ลัก...ยิ้ม 20-08-2012 09:14

ตั้งสัจอธิษฐานจะไม่หนีจากหลวงปู่มั่น

เมื่อได้อยู่ศึกษากับหลวงปู่มั่น ท่านจะคอยเฝ้าสังเกตทั้งทางหูทางตาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าการชี้แจงแสดงเรื่องใด ท่านจะสนใจใคร่รู้ตลอดมาด้วยความอัศจรรย์ ท่านกล่าวถึงข้อปฏิบัติและคุณธรรมของหลวงปู่มั่นด้วยความเคารพบูชาว่า

“...เราก็อยู่กับท่านด้วยความพอใจจนบอกไม่ถูก แต่อยู่ด้วยความโง่เง่าอย่างบอกไม่ถูกอีกเหมือนกัน เฉพาะองค์ท่านรู้สึกมีเมตตาธรรมอนุเคราะห์ทุกครั้งที่เข้าไปหา


ท่านชี้แจงแสดงเรื่องอะไร ไม่ว่าดูท่านทางตา ฟังท่านทางหู ไม่เห็นมีสิ่งใดจะคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมหลักวินัยข้อใดเลย ปฏิปทาการดำเนินของท่านก็มีแบบมีฉบับมีตำรับตำรา หาที่ค้านที่ต้องติมิได้ การพูดอะไรตรงไปตรงมา

แม้การแสดงเรื่องมรรคผลนิพพาน ก็แสดงชนิดถอนออกมาจากใจท่านแท้ ๆ ที่ท่านรู้ท่านเห็น ท่านปฏิบัติมา ทำให้ผู้ฟัง ฟังด้วยความถึงใจ เพราะท่านแสดงเหมือนว่าท้าทายความจริงจังของท่าน และท้าทายความจริงของธรรม...

ทำให้ลงใจถึงกับออกอุทานว่า ‘โอ้โห! นี่แหละ อาจารย์ของเรา’...”

สิ่งนี้ทำให้ท่านเกิดความมั่นใจและเชื่อแน่ว่า มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง ความสงสัยในเรื่องนี้ที่เคยค้างมาแต่เดิมก็หมดสิ้นไป จากนั้นท่านจึงย้อนกลับมาถามตัวเองว่า

“...แล้วเราจะจริงไหม ?...”


ด้วยนิสัยทำอะไรทำจริง ทำให้ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่า
“ต้องจริงซี ถ้าไม่จริงให้ตาย อย่าอยู่ให้หนักศาสนาและหนักแผ่นดินต่อไป”


ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็เร่งความเพียรต่อสู้กับกิเลสอย่างเต็มเหนี่ยว และตั้งสัจอธิษฐานว่า

“หากว่าท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ตราบใดแล้ว เราจะไม่หนีจากท่าน จนกระทั่งวันท่านล่วงไปหรือเราล่วงไป แต่การไปเที่ยวเพื่อประกอบความพากเพียรตามกาลเวลานั้น ขอไปตามธรรมดา แต่ถือท่านเป็นหลัก เหมือนกับว่าบ้านเรือนอยู่กับท่าน ไปที่ไหนต้องกลับมาหาท่าน”

ลัก...ยิ้ม 21-08-2012 09:09

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่ออายุ ๑๕ ปี ท่านบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านคำบง บวช ๒ ปี ก็ลาสิกขาตามคำร้องขอของบิดา

เมื่ออายุ ๒๒ ปี มีศรัทธาอยากบวช จึงได้เข้าศึกษาในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ วัดสีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๓๖ นามมคธที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้คือ ภูริทตฺโต

เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว ก็ได้บำเพ็ญสมณธรรมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีลเถระเป็นเวลาหลายปี หลวงปู่เสาร์ได้พาท่านไปเที่ยวศึกษาธรรมปฏิบัติในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งทางฝั่งซ้ายเมืองหลวงพระบางและที่อื่น ๆ ซึ่งท่านเล่าว่าเคยพากันป่วยแทบกลับมาไม่รอด เพราะป่วยทั้งตัวท่านเองและหลวงปู่เสาร์ด้วย ท่านเลยมาระลึกถึงธรรมปฏิบัติโดยไปในที่สงัดแห่งหนึ่ง พิจารณาความตายจิตเลยลงสู่ภวังค์ขจัดโรคอาพาธไปได้ในขณะนั้น

ภายหลังท่านได้ออกไปโดยเฉพาะ แสวงหาความวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ อาศัยพุทธพจน์เป็นหลัก เร่งกระทำความเพียรบำเพ็ญสมณธรรม โดยมิได้คิดเห็นแก่อันตรายใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิต

การบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ห้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับพระคุณเจ้าพระอุบาลี (จันทร์ สิริจนฺโท) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ จังหวัดนครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงห์โต จังหวัดลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา

ท่านได้อยู่บำเพ็ญสมณธรรมไปจนได้ความรู้ความฉลาดในทางดำเนิน แล้วท่านก็มาระลึกถึงหมู่คณะที่เป็นสหธรรมิกทางภาคอีสาน ที่พอจะช่วยแนะการปฏิบัติให้ได้ ท่านจึงได้เดินจากภาคกลางไปทางอุบลราชธานี เที่ยวจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ อันเป็นสถานที่พอจะพาคณะเจริญสมณธรรมได้

ภายหลังครั้งเมื่อพระภิกษุสามเณรได้ยินว่าท่านมาทางนี้ ก็ได้เข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรม แต่ครั้งแรกมีน้อย ที่เป็นพระภิกษุสามเณรถือนิกายอื่นแต่ได้เข้ามาปฏิบัติก็มีอยู่บ้าง โดยที่ท่านมิได้เรียกร้องหรือชักชวนแต่ประการใด ต่างก็น้อมตัวเข้ามาศึกษาปฏิบัติ

เมื่อได้รับโอวาทและอบรม ก็เกิดความรู้ความฉลาดเลื่อมใสในจิตในใจ มีพระภิกษุจำนวนมากที่เปลี่ยนนิกายเดิม กลับเข้ามาเป็นนิกายเดียวกับท่าน บางท่านก็มิได้เปลี่ยนนิกาย ท่านเองก็มิได้บังคับแต่ประการใด แม้ว่าท่านพระเถระทั้งหลายนี้ เมื่ออบรมได้รับความเลื่อมใสในธรรมแล้ว ต่างก็นำไปเล่าสู่กันฟังโดยลำดับ และเพราะอาศัยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ต้องการพ้นจากกองทุกข์ ซึ่งอุปนิสัยวาสนาได้อบรมเป็นทุนดังที่ว่ามาแล้วแต่หนหลัง ก็ได้พยายามออกติดตามขอปฏิบัติด้วยเป็นจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ

ลัก...ยิ้ม 22-08-2012 10:43

ด้วยความที่ท่านหวังเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เหตุนั้นท่านจึงไม่อยู่เป็นที่เป็นทางหลักแหล่งเฉพาะแห่งเดียว เที่ยวไปเพื่อประโยชน์แก่ชนในสถานที่นั้น ๆ ดังนี้

ณ กาลสมัยนั้น หลวงปู่มั่นอยู่วัดเลียบนั้นมานาน จึงได้เข้าไปจำพรรษาที่กรุงเทพฯ และทางเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๗

หลวงปู่มั่นมาหาสหธรรมิกทางอุบลราชธานี และจำพรรษาที่วัดบูรพา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ท่านมีพรรษาได้ ๒๕ พรรษา จากนั้นหลวงปู่มั่นได้จำพรรษา ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๕๙ จำพรรษาที่ ภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร

พ.ศ. ๒๔๖๐ จำพรรษาที่ บ้านดงปอ ห้วยหลวง อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

พ.ศ. ๒๔๖๑ จำพรรษาที่ ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย

พ.ศ. ๒๔๖๒ จำพรรษาที่ บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

พ.ศ. ๒๔๖๓ จำพรรษาที่ บ้านท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. ๒๔๖๔ จำพรรษาที่ บ้านห้วยทราย อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม

พ.ศ. ๒๔๖๕ จำพรรษาที่ ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๖๖ จำพรรษาที่ วัดมหาชัย อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู

พ.ศ. ๒๔๖๗ จำพรรษาที่ บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

พ.ศ. ๒๔๖๘ จำพรรษาที่ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. ๒๔๖๙ จำพรรษาที่ บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

พ.ศ. ๒๔๗๐ จำพรรษาที่ บ้านหนองขอน อำเภอบุง (ปัจจุบันอำเภอหัวตะพาน) จังหวัดอำนาจเจริญ

พ.ศ. ๒๔๗๑ จำพรรษาที่ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๘๒ จำพรรษาที่ จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔ จำพรรษาที่ วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี

พ.ศ. ๒๔๘๕ จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบ้านโคก จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๘๖ จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบ้านนามน จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบ้านโคก จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๒ จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบ้านโคก จังหวัดสกลนคร

ท่านปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งธรรมในพระพุทธศาสนาที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนั่งสมาธิภาวนาบนพลาญหินกว้างใต้ร่มไม้ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว มีใบดกหนาร่มเย็นบริเวณชายภูเขาแห่งหนึ่ง ขณะที่จิตพลิกคว่ำวัฏจักรออกจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังมีบทบาลีขึ้นมาอีก ๓ รอบ คือ “โลโป” “วิมุตติ” และ “อนาลโย”

ลัก...ยิ้ม 23-08-2012 09:25

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ

๑) ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนให้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย

๒) ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารเป็นวัตร เพื่อบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต

๓) เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัยจึงงด

๔) เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลา แม้อาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงค์วัตรนอกนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มากก็คือ อรัญญิกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่า ห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย

เมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะป่า ห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรง ไม่รบกวน นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรงได้ออกจาริกโดดเดี่ยว แสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่น ในคราวไปอยู่ภาคเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอ ยังชาวมูเซอที่พูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้

ลัก...ยิ้ม 24-08-2012 09:59

ธรรมโอวาท คำที่เป็นคติอันหลวงปู่มั่นกล่าวอยู่บ่อย ๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ ดังนี้

ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ

ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

เมื่อท่านอธิบายตจปัญจกกรรมฐานแล้ว มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่” ดังนี้

ปัจฉิมบท

ในวัยชรา นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา หลวงปู่มั่นท่านมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถไปตามสถานที่วิเวกผาสุกวิหารหลายแห่ง คือ ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ) บ้าง ที่ใกล้ ๆ แถวนั้นบ้าง

ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายของชีวิต


หลังวันมาฆบูชา ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านเริ่มป่วย ครั้นเมื่อออกพรรษาท่านป่วยหนัก ลูกศิษย์จึงนำท่านออกมาจากหนองผือ และได้พักระหว่างทางที่วัดกลางโนนกู่ ๑๑ คืน

จนวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ตอนเช้าราว ๐๗.๐๐ น. กว่า ๆ รถแขวงการทางสกลนคร รับท่านไปวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ถึงวัดเวลา ๐๒.๐๐ น. และอาราธนาองค์ท่านลงจากรถขึ้นพักบนกุฏิ โดยที่ท่านกำลังหลับอยู่ หลับไปจนถึงเที่ยงคืนในราวตีหนึ่ง

ลมหายใจท่านปรากฏว่าค่อยอ่อนลงทุกทีและละเอียดไปตาม ๆ กัน ลมค่อยอ่อนและช้าลงทุกทีจนแทบไม่ปรากฏ วินาทีต่อไปลมก็ค่อย ๆ หายเงียบไปอย่างละเอียดสุขุม ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน จึงได้ถือเวลานั้นเป็นเวลามรณภาพของท่าน

สิริชนมายุของท่านได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖ พรรษา

ลัก...ยิ้ม 27-08-2012 11:14

หลวงปู่มั่นรู้วาระจิตหลวงปู่ฝั้น

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร ศิษย์หลวงปู่มั่นองค์สำคัญองค์หนึ่ง ได้เข้าพบหลวงปู่มั่น เมื่อครั้งที่หลวงปู่มั่นยังพักอยู่แถบจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนั้น ได้พบเหตุอัศจรรย์หลายอย่างของหลวงปู่มั่น ซึ่งองค์หลวงตาได้เมตตาเล่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นไว้ ดังนี้

“...ท่านอาจารย์ฝั้นออกจากโคราชนี้ ไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ (ราวปี ๒๔๗๙) ท่านอาจารย์มั่นอุตส่าห์ออกมาต้อนรับเลยนะ เห็นไหม เก่งไหม ที่วัดเจดีย์หลวง ท่านรู้ภายในข้างในนี้ ท่านอุตส่าห์ออกมาเมื่อท่านอาจารย์ฝั้นไปถึงนั่น


วันหนึ่งหรือ...ตอนเช้าวันที่สองตอนสาย ๆ ท่านอาจารย์ฝั้นเห็นท่านอาจารย์มั่นมาหาหน้ากุฏินั้นเลย พอมองเห็นก็คิดอยู่ในใจ
‘โอ๊ย... ท่านอาจารย์มั่นนี่’ จึงรีบโดดลงจากกุฏิเลย ท่านเดิน ‘กึ๊กกั๊ก.. กึ๊กกั๊ก’ มา


‘โอ้... ครูอาจารย์มายังไง ? ยังไง ?’

‘ก็มารับท่านนั่นแหละ’

นั่นเห็นไหม บอกว่า ‘มารับท่าน’ แล้วก็พาไปเลยเชียว นั่นท่านทราบไว้แล้ว เก่งไหม ? บอกว่า ‘ก็มารับท่านนั่นแหละ’

พอไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็พูดถึงเรื่องสถานที่นั่น ดีอย่างนั้น ที่นี่ดีอย่างนี้ ทางท่านอาจารย์ฝั้นก็เลยคิดอยากไปอยู่ที่นั่นที่นี่ แต่ในตอนนั้นท่านอาจารย์มั่นไม่เห็นอะไรสมควรยิ่งกว่าอยู่กับท่านในขณะนั้น สมกับเหตุผลที่ท่านมารับเอง

ตอนกลางคืนท่านอาจารย์ฝั้นก็คิดถึงเรื่องที่จะไปที่นั่นที่นี่ พอโผล่ออกมา ท่านอาจารย์มั่นว่า ‘ไหน..จะไปไหน ?’

ว่าอย่างนั้นเลยนะ นั่นเห็นไหมล่ะ ‘จะไปที่ไหนอีก ?’ เปิดประตูออกมาตอนเช้า ท่านอาจารย์ฝั้นจะคอยรับบริขารท่าน พอเปิดประตูออกมา ‘หา ? จะไปที่ไหน ?’ ว่าอย่างนั้นเลยนะ

‘ที่นี่ดีกว่า’ ทางอาจารย์ฝั้นนั้นก็ปิดปากเลย เงียบไป แต่ก็ไม่นานละ ก็คิดอีก ท่านอาจารย์ฝั้นเล่าเองแหละ คิดอีกว่าจะไปที่นั่น ท่านก็เอาอีก...

พอวันหนึ่ง จิตท่านลงอย่างนั้นละ จิตท่านอาจารย์ฝั้นนะ นั่งภาวนานี่ จิตลงอย่างอัศจรรย์ เลยสว่างจ้าครอบโลกธาตุ ท่านว่าอย่างนั้นนะ
‘พอมองไปหาท่านอาจารย์มั่นทีไร เห็นท่านนั่งจ้องดูเราอยู่อย่างนี้’


ท่านว่า 'อย่างงั้น’ มองไปทีไร มองจิตส่งจิตไปทีไร ท่านนั่งจ้องเราอยู่แล้ว หมอบกลับมา พอตื่นเช้าขึ้นมาก็เปิดประตูเท่านั้นแหละ ประตูกระต๊อบนะ ไม่ใช่กุฏิอะไรใหญ่โตนะ กระต๊อบ ๆ ทั้งนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นอยู่ มีแต่กระต๊อบ ๆ ทั้งนั้นนะ หรูหราที่ไหน นั่นแหละ..สถานที่อยู่ของธรรม หรูหราไหม ? สถานที่อยู่ของธรรมดวงเลิศ ผู้เลิศมักจะอยู่อย่างนั้น และอยู่อย่างนั้น

ทีนี้พอเปิดประตูออกมา ท่านอาจารย์ฝั้นก็ไปรอ เปิดประตูออกมานี่ ยืน ‘กึ๊ก’ เลยเชียวนะ ‘เป็นยังไง ? เห็นหรือยังศาสนา..ทีนี้ ?’

เอาละนะ แทนที่ท่านอาจารย์มั่นจะให้เข้าไปจับ ไปขนบริขาร (เพื่อเตรียมออกบิณฑบาต) ไม่ให้ไปนะ ท่านไปยืนกันอยู่ที่ประตูเลย ทางนั้นก็คุกเข่าหมอบนั่นอยู่
‘เป็นยังไง ? เห็นหรือยังศาสนา..ทีนี้ ? หือ ? หือ ?’ ขึ้นเลย


ศาสนาอัศจรรย์ที่ไหน ? ศาสนาอยู่ที่ไหน ? มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน ? เห็นหรือยัง ?’ ว่าอย่างนั้นนะ ยืนจ้ออัดอยู่ที่นั่นเลย เสียงเปรี้ยง เปรี้ยง
‘เจริญที่ไหน ? เห็นหรือยังทีนี้ ?’


คือกลางคืนนั้นจิตสว่างจ้านี่นา ก็ท่านอาจารย์มั่นดูอยู่แล้วนี่ พอออกมาท่านถึงใส่เปรี้ยงเลย
‘เห็นหรือยัง ? ศาสนาเจริญที่ไหน? หือ? มรรคผลนิพพานเจริญที่ไหน ? ผมดูท่านทั้งคืนนะ เมื่อคืนนี้ ผมก็ไม่ได้นอน’


มันก็ยอมรับเลย พอท่านอาจารย์ฝั้นจ่อจิตไป ส่งจิตไปทีไร ท่านจ้องดูอยู่แล้ว มันก็หมอบ ถอย ถอย ดูทีไรจ่ออยู่ ‘ผมก็ไม่ได้นอนทั้งคืน เมื่อคืนนี้ ดูท่านนี่แหละ’

ว่าอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นถึงว่า ไหน ? .. ศาสนาเจริญที่ไหน ? จ้อเข้าเลยสิ นั่นเห็นไหม ? ท่านมาเล่าให้ฟัง ท่านบอก ‘โอ๊ย..ขนลุกเลย ไม่ทราบมันเป็น 'ยังไง' ทั้งปีติยินดีในจิตอัศจรรย์ ปีติยินดีล้นพ้น และอัศจรรย์ท่านอาจารย์มั่นก็อัศจรรย์ล้นพ้น’ ท่านว่าอย่างนั้นนะ ชมความอัศจรรย์ทั้งวันทั้งคืนเลย นั่นแหละ ธรรมหาอย่างนั้นแหละ ธรรมอยู่ที่นี่แหละ ชี้เข้ามาที่ใจเท่านั้น รับธรรม ใจเท่านั้น ..รับมรรคผลนิพพาน สิ่งอื่นใดในโลก ไม่มีอะไรรับได้...”

ลัก...ยิ้ม 28-08-2012 10:27

หลวงปู่มั่น ลึกซึ้งในพระวินัย

คราวสมัยหนึ่งที่หลวงปู่มั่นยังพักอยู่ทางจังหวัดเชียงใหม่ เป็นช่วงที่ท่านพระอาจารย์เฟื่องได้เข้าไปศึกษาอยู่ด้วย มีเหตุการณ์สำคัญแสดงถึงความลึกซึ้งรอบรู้ในพระวินัยของหลวงปู่มั่น ซึ่งองค์หลวงตาได้เล่าไว้ ดังนี้

“... ทีนี้อาจารย์เฟื่องไปอยู่กับท่าน (พระอาจารย์มั่น) ใหม่ ๆ พอบิณฑบาต ท่านได้น้ำตาลมาก้อนหนึ่ง ห่อมาอย่างดี ท่านก็ยกขึ้นมาแล้วว่า ‘นี่น้ำตาลนี่ดี ไม่เปื้อนอะไร ใครจะเก็บไว้ฉันในเวลาวิกาลก็ได้


ท่านว่าอย่างนั้น ท่านไม่ได้บอก ๗ วันเพราะพระรู้เรื่องแล้ว เรื่องสัตตาหกาลิกนี่ สำหรับอันนี้เป็นสัตตาหกาลิก แต่เอาออกมาจากบาตรนะซี ที่ทำให้อาจารย์เฟื่องสงสัย

‘นี่ก็บิณฑบาตมากับข้าวแล้ว ทำไมท่านอาจารย์องค์นี้ว่าเป็นผู้ปรากฏชื่อลือนามทางด้านธรรมวินัยเคร่งครัดที่สุดแล้ว ทำไมจึงต้องเอาน้ำตาลที่เขาใส่บาตรมานี่.. เก็บไว้ฉันในเวลาวิกาล มันสมควรที่ไหน ?’


คิด..คิดแล้วไม่ลงท่านนะ

พอเช้าวันหลังนี่ ท่านว่า
พระองค์ไหนมาอยู่กับเรานี่ แบกคัมภีร์มาตีหัวเราเมื่อคืนนี้ นั่นเห็นไหม แบกคัมภีร์มาตีหัวเรา เรานี่เป็นภิกษุเฒ่า ไม่รู้คัมภีร์วินัยอะไรเลย พระองค์นั้นอยู่แถวนี้แหละ จะยกคัมภีร์มาตีหัวเรา คืนนี้จะพิจารณาให้ชัดเจน


ความจริงท่านชัดเจนแล้ว ท่านตีแต่ฉากไปฉากมาเสียก่อน เข้าใจหรือเปล่า วันนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไร เอาไว้วันพรุ่งนี้จะพิจารณาให้ชัดเจน อาจารย์เฟื่องหมอบ ต้องไปขอขมาท่าน ท่านก็เลยอธิบายพระวินัยให้ฟัง‘พระวินัยข้อนี้น่ะ เห็นไหม กาลิกระคนกัน เช่น สัตตาหกาลิก น้ำอ้อย น้ำตาล มาผสมกับข้าว นี่ฉันได้เพียงถึงอายุเที่ยงวันเท่านั้น หมดอายุ ฉันต่ออีกไม่ได้ แต่ถ้าน้ำตาลนี่ ไม่เปื้อนเปรอะอะไรเลย ห่อมาเรียบร้อย ก็ฉันได้ตามกาลของมัน แม้จะมาในบาตรก็ตาม นี่เราทำอย่างนั้นนั่น’

เวลาท่านสอน..ท่านสอนอย่างนั้น หาที่ค้านไม่ได้ พระวินัยมีอย่างนี้ แต่คนไม่เห็นกาลิกที่แยกนะซี เห็นแต่กาลิกระคนกันแล้ว..ใช่ไหม ? พระวินัยมีทั้งกาลิกระคนกัน และกาลิกแยกกัน แม้จะมาในขณะเดียวกัน เช่น เขาถวายอะไรมาพร้อมกับอาหาร ถ้าเป็นคนละประเภท เรายกตัวอย่างหมาก มันก็เป็นหมากไปเสีย ผสมกับข้าวไม่ได้ ก็จัดเป็นคนละประเภท ๆ ไป...”

ลัก...ยิ้ม 29-08-2012 14:13

หลวงปู่มั่น ทำนายฝันปฏิปทาทางดำเนิน

หลังจากที่อยู่กับหลวงปู่มั่นได้ประมาณสัก ๔ - ๕ คืนเท่านั้น ท่านก็ฝันเรื่องประหลาดอัศจรรย์เรื่องหนึ่ง ดังนี้

“...ความฝันนี้ก็เป็นความฝันเรื่องอัศจรรย์เหมือนกัน ฝันว่าได้สะพายบาตร แบกกลด ครองผ้าด้วยดี ไปตามทางอันรกชัฏ สองฟากทางแยกไปไหนไม่ได้ มีแต่ขวากแต่หนามเต็มไปหมด นอกจากจะพยายามไปตามทางที่เป็นเพียงด่าน ๆ ไปอย่างนั้นแหละ รกรุงรัง หากพอรู้เงื่อนพอเป็นแถวทางไป พอไปถึงที่แห่งหนึ่งก็มีกอไผ่หนา ๆ ล้มทับขวางทางไว้ หาทางไปไม่ได้ จะไปทางไหนก็ไปไม่ได้ มองดูสองฟากทางก็ไม่มีทางไป ‘เอ นี่เราจะไปยังไงนา ?’


เสาะที่นั่นเสาะที่นี่ไป ก็เลยเห็นช่อง ช่องที่ทางเดินไปตรงนั้นแหละ เป็นช่องนิดหน่อยพอที่จะ 'บึกบืน' ไป ให้หลวมตัวกับบาตรลูกหนึ่งพอไปได้ เมื่อไม่มีทางไปจริง ๆ ก็เปลื้องจีวรออก มันชัดขนาดนั้นนะความฝัน เหมือนเราได้ฝัน เปลื้องจีวรออกพับเก็บอย่างที่เราพับเก็บเอามาวางนี้แล เอาบาตรออกจากบ่า เจ้าของก็คืบคลานไป แล้วก็ดึงสายบาตรไปด้วย กลดก็ดึงไปไว้ที่พอเอื้อมถึง 'พอบืน' ไปได้ก็ลากบาตรไปด้วย ลากกลดไปด้วย แล้วก็ดึงจีวรไปด้วย

'บืน' ไปอยู่อย่างนั้นแหละ ยากแสนยาก พยายาม 'บึกบืน' กันอยู่นั้นเป็นเวลานาน พอดีเจ้าของก็พ้นไปได้ เดี๋ยวก็ค่อยดึงบาตรไป บาตรก็พ้นไปได้ แล้วก็ดึงกลดไป กลดก็พ้นไปได้ พยายามดึงจีวรไป จีวรก็พ้นไปได้ พอพ้นไปได้หมดแล้วก็ครองผ้า มันชัดขนาดนั้นนะ..ความฝัน ครองจีวรแล้วก็สะพายบาตร นึกในใจว่า ‘เราไปได้ละทีนี้’ ก็ไปตามด่านนั้นแหละ ทางรกมากพอไปประมาณสัก ๑ เส้นเท่านั้น สะพายบาตร แบกกลด ครองจีวรไป

ตามองไปข้างหน้าเป็นที่เวิ้งว้างหมด คือข้างหน้าเป็นมหาสมุทร มองไปฝั่งโน้นไม่มี เห็นแต่ฝั่งที่เจ้าของยืนอยู่เท่านั้น และมองเห็นเกาะหนึ่งอยู่โน้น ไกลมาก มองสุดสายตาพอมองเห็นเป็นเกาะดำ ๆ นี่แหละ นี่เราจะไปเกาะนั้น

พอเดินลงไปฝั่งโน้น เรือไม่ทราบมาจากไหน เราก็ไม่ได้กำหนดว่าเรือยนต์ เรือแจว เรือพายอะไร เรือมาเทียบฝั่ง เราก็ขึ้นนั่งเรือ คนขับเรือเขาก็ไม่พูดอะไรกับเรา พอลงไปนั่งเรือแล้วก็เอาบาตรเอาอะไรลงวางบนเรือ เรือก็บึ่งพาไปโน้นเลยนะ โดยไม่ต้องบอก มันอะไรก็ไม่ทราบ บึ่ง ๆ ๆ ไปโน้นเลย ไม่รู้สึกว่ามีภัยมีอันตรายมีคลื่นอะไรทั้งนั้นแหละ ไปแบบเงียบ ๆ ครู่เดียวเท่านั้นก็ถึงเพราะเป็นความฝันนี่

พอไปถึงเกาะนั้นแล้ว เราก็ขนของออกจากเรือแล้วขึ้นบนฝั่ง เรือก็หายไปเลย เราไม่ได้พูดกันสักคำเดียวกับคนขับเรือ เราก็สะพายบาตรขึ้นไปบนเกาะนั้น พอปีนเขาขึ้นไป ๆ ก็ไปเห็นหลวงปู่มั่นกำลังนั่งอยู่บนเขาบนเตียงเล็ก ๆ กำลังนั่งตำหมาก จ๊อก ๆ อยู่ พร้อมกับมองมาดูเราที่กำลังปีนเขาขึ้นไปหาท่าน

‘อ้าว! ท่านมหามาได้ยังไงนี่ ? ทางสายนี้ใครมาได้เมื่อไหร่ ท่านมหามาได้ยังไงกัน?’


‘กระผมนั่งเรือมา ขึ้นเรือมา’

‘โอ้โฮ ทางนี้มันมายากนา ใคร ๆ ไม่กล้าเสี่ยงตายมากันหรอก เอ้า ถ้าอย่างนั้นตำหมากให้หน่อย’

ท่านก็ยื่นตะบันหมากให้ เราก็ตำ จ๊อก ๆ ๆ ได้ ๒-๓ จ๊อกเลยรู้สึกตัวตื่น แหม...เสียใจมาก อยากจะฝันต่อไปอีกให้จบเรื่องค่อยตื่นก็ยังดี...”

พอตื่นเช้ามา ท่านเลยเอาเรื่องนี้ไปเล่าถวายให้หลวงปู่มั่นฟัง หลวงปู่มั่นก็ได้เมตตาพูดเสริมกำลังใจให้ศิษย์เพิ่มเติมอีก ให้พากเพียรดำเนินปฏิปทาตามฝันนั้น อดทนประพฤติปฏิบัติจนให้กลายเป็นจริงขึ้นมา หลวงปู่มั่นเมตตาพูดอธิบายความฝันว่า

“เอ้อ! ที่ฝันนี่เป็นมงคลอย่างยิ่งแล้วนะ นี้เป็นแบบเป็นฉบับในปฏิปทาของท่านไม่เคลื่อนคลาดนะ ให้ท่านดำเนินตามปฏิปทาที่ท่านฝันนี้ เบื้องต้นจะยากลำบากที่สุดนะ... ท่านต้องเอาให้ดี ท่านอย่าท้อถอย เบื้องต้นนี้ลำบาก ดูท่านลอดกอไผ่มาทั้งกอนั่นแหละ ลำบากมากตรงนั้น เอาให้ดี อย่าถอยหลังเป็นอันขาด


พอพ้นจากนั้นไปแล้ว ก็เวิ้งว้างไปได้สบายจนถึงเกาะ .. อันนั้นไม่ยาก ตรงนี้ตรงยากนา...พอพ้นจากนี้แล้ว ท่านจะไปด้วยความสะดวกสบายไม่มีอุปสรรคอันใดเลย มีเท่านั้นแหละ เบื้องต้นเอาให้ดีอย่าถอยนะ ... ถ้าถอยตรงนี้ ไปไม่ได้นะ

เอ้า! เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ฟาดมันให้ได้ตรงนี้น่ะ ... มันจะยากแค่ไหน มันก็ไปได้นี่ อย่าถอยนะ”

ท่านฟังอย่างถึงใจพร้อมกับเก็บความมุ่งมั่นจริงจังอยู่ภายในว่า แม้การปฏิบัติจะยากเพียงใด เราก็จะต้องสู้อย่างไม่มีถอย เป็นก็เป็น ตายก็ตาย

หมายเหตุ : บืน = ดันทุรังไป

ลัก...ยิ้ม 30-08-2012 09:34

คติเตือนใจจากฝัน “โรงเลี้ยงหมู”

ระยะที่ท่านเข้าอยู่ศึกษาใหม่ ๆ ท่านรู้สึกเกรงกลัวหลวงปู่มั่นมาก อาจเป็นเพราะเหตุนี้เอง ทำให้วันหนึ่งในตอนกลางวันหลังจากเอนกายลงพักผ่อนอิริยาบถได้ไม่นาน ก็เลยเคลิ้มหลับไป ขณะที่เคลิ้มหลับไปนั้นปรากฏว่า หลวงปู่มั่นมาดุเอาเสียยกใหญ่ว่า

ท่านมานอนเหมือนหมูอยู่ทำไมที่นี่ ? เพราะที่นี่มิใช่โรงเลี้ยงหมู ผมจึงไม่เสริมพระที่มาเรียนวิชาหมู เดี๋ยววัดนี้จะกลายเป็นโรงเลี้ยงหมูไป


เสียงของหลวงปู่ในฝันนั้น เป็นเสียงตะโกนดุด่าขู่เข็ญให้ท่านกลัวเสียด้วย จึงทำให้ท่านสะดุ้งตื่นขึ้นด้วยความตระหนกตกใจ ท่านพยายามโผล่หน้าออกมาที่ประตูเพื่อมองหาหลวงปู่มั่น แต่ก็ไม่พบ ท่านเล่าความรู้สึกของท่านในตอนนั้นว่า

ทั้งตัวสั่น ใจสั่น แทบเป็นบ้าไปในขณะนั้น เพราะปกติก็กลัวท่านแทบตั้งตัวไม่ติดอยู่แล้ว แต่บังคับตนอยู่กับท่าน ด้วยเหตุผลที่เห็นว่าชอบธรรมเท่านั้น แถมท่านยังนำยาปราบหมูมากรอกเข้าอีก นึกว่าสลบไปในเวลานั้น พอโผล่หน้าออกมา มองโน้นมองนี้ไม่เห็นท่านมายืนอยู่ตามที่ปรากฏ จึงค่อยมีลมหายใจขึ้นมาบ้าง


พอได้โอกาสท่านจึงกราบเรียนเล่าถวาย หลวงปู่มั่นก็เมตตาแก้ให้เป็นอุบายปลอบโยน โดยอธิบายความฝันนั้นให้ฟังว่า
“...เรามาหาครูอาจารย์ใหม่ ๆ ประกอบกับมีความระวังตั้งใจมาก เวลาหลับไปทำให้คิดและฝันไปอย่างนั้นเอง


ที่ท่านไปดุว่าเราเหมือนหมูนั้น เป็นอุบายของพระธรรม ท่านไปเตือนไม่ให้เรานำลัทธินิยมของหมูมาใช้ในวงของพระและพระศาสนา

โดยมาก คนเราไม่ค่อยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของตัวว่ามีคุณค่าเพียงไร เวลาอยากทำอะไรทำตามใจชอบ ไม่คำนึงถึงความผิดถูกชั่วดี จึงเป็นมนุษย์เต็มภูมิได้ยาก...

พระธรรมท่านมาสั่งสอนดังที่ท่านปรากฏนั้น เป็นอุบายที่ชอบธรรมดีแล้ว จงนำไปเป็นคติเตือนใจตัวเอง เวลาเกิดความเกียจคร้านขึ้นมา จะได้นำอุบายนั้นมาใช้เตือนสติกำจัดมันออกไป

นิมิตเช่นนี้เป็นของดีหายาก ไม่ค่อยปรากฏแก่ใครง่าย ๆ ผมชอบนิมิตทำนองนี้มาก เพราะจะพลอยได้สติเตือนตน มิให้ประมาทอยู่เนือง ๆ ความเพียรจะได้เร่งรีบ... ถ้าท่านมหานำอุบายที่พระธรรมท่านมาเทศน์ให้ฟัง ไปปฏิบัติอยู่เสมอ ๆ ใจท่านจะสงบได้เร็ว....

เรามาอยู่กับครูอาจารย์ อย่ากลัวท่านเกินไป ใจจะเดือดร้อนนั่งนอนไม่เป็นสุข ผิดถูกประการใดท่านจะสั่งสอนเราไปตามจารีตแห่งธรรม

การกลัวท่านอย่างไม่มีเหตุผลนั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย จงกลัวบาปกลัวกรรม..ที่จะนำทุกข์มาเผาลนตนให้มากกว่ากลัวอาจารย์ ผมเองมิได้เตรียมรับหมู่คณะไว้เพื่อดุด่า เฆี่ยนตี โดยไม่มีเหตุผลที่ควร...”

ลัก...ยิ้ม 31-08-2012 10:30

ฝึกฝนการฟังธรรมด้วยภาคปฏิบัติ

เมื่อเข้าพรรษา หลวงปู่มั่นพาหมู่คณะจำพรรษาที่สำนักป่าบ้านโคก จังหวัดสกลนคร ด้วยความผาสุกทั้งทางกายและจิตใจ ไม่มีการเจ็บไข้ได้ทุกข์ตลอดเวลา ท่านเล่าถึงความรู้สึกในครั้งนั้นว่า

ท่านพระอาจารย์มั่นได้เมตตารับเราไว้แบบท่อนซุงทั้งท่อน ไม่เป็นท่าเป็นทางอะไรเลย อยู่กับท่านแบบทัพพีไม่รู้รสแกง คิดแล้วน่าอับอายขายหน้า.. ที่พระซุงทั้งท่อนไปอยู่กับท่านผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องลือระบือทั่วทั้งจักรวาลเบื้องบนเบื้องล่าง


หลวงปู่มั่นประชุมธรรมเป็นประจำทั้งในและนอกพรรษา ๖ - ๗ คืนต่อครั้ง การแสดงธรรมแต่ละครั้ง มีตั้งแต่ ๒ ชั่วโมงขึ้นไปถึง ๔ ชั่วโมง ในขณะฟังธรรม ผู้ฟังนั่งทำจิตภาวนาไปพร้อมอย่างเพลิดเพลิน ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แม้องค์ท่านเองก็รู้สึกเพลิดเพลินไปด้วย

ในการแสดงธรรมแก่พระเณรแต่ละครั้ง ท่านแสดงอย่างถึงเหตุถึงผลและถึงใจผู้ฟัง ซึ่งมุ่งมั่นต่ออรรถธรรมจริง ๆ ท่านเล่าว่า
“ขณะที่ฟังท่านแสดง ทำให้จิตประหวัดถึงครั้งพุทธกาล ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุบริษัทโดยเฉพาะ เป็นที่แน่ใจว่า พระองค์ทรงหยิบยกเอาแต่ธรรมมหาสมบัติ คือมรรคผลนิพพานออกแสดงล้วน ๆ ไม่มีธรรมอื่นแอบแฝงอยู่ในขณะนั้นเลย


แม้ท่านจะได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมาไม่น้อย อีกทั้งมีความรู้ระดับจบนักธรรมเอกและมหาเปรียญ แต่ในระยะแรกการฟังธรรมภาคปฏิบัติ ขณะที่อยู่กับหลวงปู่มั่นกลับไม่เข้าใจเท่าใดนัก ดังนี้

“...ฟังท่านเทศน์เรื่องสมาธิปัญญาไม่ว่าขั้นไหน ไม่รู้เรื่องเลย เหมือนกับร้องเพลงให้ควายฟังนั่นแล แต่ดีอย่างหนึ่งที่ไม่เคยตำหนิติเตียนท่านว่า ‘ท่านเทศน์ไม่รู้เรื่องรู้ราว


แต่ย้อนกลับมาตำหนิเจ้าของว่า ‘นี่เห็นไหม ท่านอาจารย์มั่น ชื่อเสียงท่านโด่งดังกิตติศัพท์ กิตติคุณท่านลือกระฉ่อนไปทั่วโลกมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก เรามีความพอใจที่จะได้พบ ได้เห็น ได้ฟังโอวาทของท่าน บัดนี้ เราได้มาฟังแล้วไม่เข้าใจ เราอย่าได้เข้าใจว่าเราฉลาดเลย นี่...เราโง่แค่ไหนรู้หรือยังทีนี้ ?

เราเคยฟังเทศน์ทางด้านปริยัติ ฟังจนกระทั่งเทศน์ของสมเด็จฯ เราเข้าใจไปหมด แต่เวลามาฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นองค์ประเสริฐทางภาคปฏิบัติและจิตใจ แต่ไม่เข้าใจ เราเชื่อแล้วว่า ท่านเป็นพระประเสริฐที่ปรากฏชื่อเสียงมานานถึงขนาดนั้น เรายังไม่เข้าใจ นี่.. เห็นแล้วหรือยัง ความโง่ของเรา’

ครั้นพอฟังเทศน์ท่านไปนาน ๆ เราก็ปฏิบัติไปทุกวี่ทุกวันทุกเวลา ฟังเทศน์ท่านค่อยเข้าใจ จิตค่อยได้รับความสงบเย็นเข้าไป เย็นเข้าไปเป็นลำดับ ทีนี้รู้สึกว่าเริ่มค่อยซึ้งเพราะฟังธรรมเทศนาของท่านก็เข้าใจ

พูดถึงเรื่องสมาธิแล้ว ‘ใสแจ๋ว’ภายในจิตใจ จากนั้นก็เริ่มเข้าใจโดยลำดับ ๆ ซาบซึ้งโดยลำดับ ๆ เลยกลายเป็นคนหูสูงไป คนหูสูงคือ นอกจากท่านแล้ว ไม่อยากฟังเทศน์ของใครเลย เพราะเทศน์ไม่ถูกจุดที่ต้องการ เทศน์ไม่ถูกจุดของกิเลสที่ซุ่มซ่อนตัว เทศน์ไม่ถูกจุดของสติปัญญาซึ่งเป็นธรรมแก้กิเลส เทศน์ไม่ถูกจุดแห่งมรรคผลนิพพาน...

ท่านสรุปความว่า การประพฤติปฏิบัติจากการอบรมตนอยู่โดยสม่ำเสมอนี้ คือการสร้างวาสนาทำให้จิตใจมีการเปลี่ยนแปลงเจริญขึ้น ธรรมที่หลวงปู่มั่นแสดงจึงเหมือนกับเทน้ำล้างสิ่งสกปรกในจิตใจเรา ให้ค่อยสะอาดขึ้นมา ๆ ใจก็จะปรากฏเป็นของมีค่าขึ้นมาโดยลำดับไป

ลัก...ยิ้ม 04-09-2012 09:40

พระสาวก... ครั้งพุทธกาล

พระอนุรุทธะ รู้วาระจิตผู้อื่น

“...พระอนุรุทธะนี้ก็เป็นเชื้อกษัตริย์ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ เหล่านี้เป็นเชื้อกษัตริย์ในวงศ์พระศาสดานั่นแหละ เสด็จออกบวชเสียหมดเลย เป็นพระอรหันต์ล้วน ๆ ... พระอนุรุทธะเก่งในทางเจโตปริยญาณหรือปรจิตวิชชา คือวาระจิตของคนอื่นคนใดก็ตาม แม้แต่เทวบุตรเทวดา พระอนุรุทธะก็ทราบได้ละเอียดลออ...

ขณะที่พระองค์ทรงหน้าที่ปรินิพพาน เมื่อประทานพระโอวาทวาระสุดท้าย โอวาทวาระสุดท้ายนั้น เป็นภาษาไทยก็ว่า ‘ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เราเตือนเธอทั้งหลาย สังขารมีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปดับไปอยู่อย่างนี้เป็นประจำ จงพิจารณาสังขารอันนี้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด’ … เวลานั้นไม่ใช่เวลาธรรมดา เป็นวิสามัญธรรมดา ๆ เป็นวิสามัญ

๑) จะปรินิพพานอยู่แล้วในขณะนั้น

๒) พระสงฆ์ที่เฝ้าพระองค์อยู่เวลานั้นมีแต่ผู้เตรียมพร้อมแล้ว ตั้งแต่พระอรหันต์ลงมาจนกระทั่งถึงกัลยาณปุถุชน คือภิกษุเรื่อยลงมาเป็นลำดับ...

พอจากนั้นแล้วก็ปิดพระโอษฐ์ ทรงทำหน้าที่ปรินิพพาน ในขณะที่ทำหน้าที่นั้น พระสงฆ์สาวกก็ห้อมล้อมอยู่ พระอนุรุทธะก็อยู่ที่นั่นด้วย... พระอนุรุทธะตามเสด็จพระพุทธเจ้าในขณะที่จะปรินิพพาน จนกระทั่งปรินิพพานแล้วนั่นแหละ เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานเพียงเสด็จเข้าสู่ปฐมฌานเรื่อยไป ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌาน ๔ นี้เป็นรูปฌาน แล้วก็ก้าวเข้าไปถึงอากาสานัญจยตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่เป็นอรูปฌาน ๔

จิตก้าวเข้าไป ๆ ผ่านไป ๆ ผ่านไปตรงไหน พระอนุรุทธะรู้หมด ๆ จนกระทั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับสัญญาและเวทนาทั้งหมด สงบพระองค์อยู่นั้น พระทั้งหลายก็สงสัย มีพระอานนท์เป็นต้นนี้ สงสัยถามพระอนุรุทธะว่า ‘นี่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วหรือ ?’

พระอนุรุทธะก็ตอบทันทีว่า ‘ยัง’ นั่น..ฟังซิ ‘เวลานี้เข้าประทับอยู่ที่สัญญาเวทยิตนิโรธ’

เพราะผู้ดู..ดูอยู่นี่ นั่นละ พระจิตที่บริสุทธิ์นั่น ดูซิ ...สูญไหม ? ถ้าสูญ..พระอนุรุทธะเห็นได้อย่างไร ? นั่นเอายันกันตรงนี้ซิ พระอนุรุทธะก็เป็นพระอรหันต์ แต่เก่งทางปรจิตวิชชา ตามเสด็จตามพระจิตของพระพุทธเจ้า ตามเสด็จในเวลาเข้าฌานเรื่อย ๆ พอเคลื่อนไหวออกมาก็บอก เคลื่อนออกมาจากสัญญาเวทยิตนิโรธเรื่อยมา จนกระทั่งถึงพระจิตอันบริสุทธิ์ธรรมดาแล้วก้าวเข้าอีก

พอก้าวเข้าฌาน คราวนี้ก็ถึงแค่จตุตถฌานซึ่งเป็นรูปฌาน ๔ พอผ่านจากรูปฌาน ๔ แล้วก็ไม่ก้าวเข้าไปอรูปฌาน ๔ แล้ว เพราะทั้งสองอย่างนี้เป็นสมมุติด้วยกัน พระจิตที่เป็นวิมุตติก็ผ่านออกตรงกลาง เมื่อผ่านออกไปไม่มีอะไรพาดพิงแล้ว ก็พูดไม่ได้ว่าไปโน้น ไปอยู่ที่โน่นที่นี่ เพราะไม่มีที่พาดพิง รูปฌาน อรูปฌาน เป็นสมมุติ สัญญาเวทยิตนิโรธก็เป็นสมมุติ พระจิตเข้าไปเกี่ยวข้องกับสมมุติใดก็บอกได้ว่า เวลานี้อยู่ตรงนั้น ๆ

พอออกจากสมมุตินี้โดยประการทั้งปวงแล้ว..นั่นพูดไม่ได้ จิตดวงนั้นแหละ จิตดวงบริสุทธิ์นั่นแหละ เวลาไม่มีอะไรพาดพิงแล้วก็พูดไม่ได้ แล้วสูญไหมล่ะ ? ฟังซิ..แต่อยู่ในนี้มีสิ่งที่พาดพิงอยู่นี้ก็พูดได้ว่า พระจิตของพระพุทธเจ้าเวลานี้เสด็จไปตรงนั้น ๆ พระจิตที่บริสุทธิ์นั่นไปไหนก็รู้หมด เพราะมีสมมุติเป็นเครื่องพาดพิงกัน พอให้ได้พูด พอออกจากนั้นแล้วไม่มีสมมุติ ก็ทีนี้ปรินิพพานแล้วเท่านั้น นั่นชัด

ท่านผู้รู้นิพพาน พูดเรื่องนิพพาน พูดได้เต็มปากซิ ก็พระอรหันต์เป็นผู้สอุปาทิเสสนิพพาน จิตเป็นนิพพานทั้ง ๆ ที่ยังมีธาตุมีขันธ์อยู่นี้... พระองค์ทรงรับสั่งข้อไหนเป็นพุทธพจน์แล้ว โอ้โห...เด็ดมาก ๆ ทุกประโยคเชียวนะ พระไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องยุ่งเหยิงวุ่นวาย ปล่อยให้ประชาชนเขามีกษัตริย์ มัลลกษัตริย์เป็นต้น มาจัดทำ

เวลาจะทรงเคลื่อนไหวพระสรีระศพออก ทีแรกออกไปทิศใต้ เทวดาไม่เห็นด้วย พระอนุรุทธะเก่งทางปรจิตวิชชาบอกว่า ‘เทวดาไม่ยินดีด้วย เทวดาให้ไปทางทิศเหนือ’ พอหมุนปั๊ปให้ไปทางทิศนั้นก็ไปได้เลย นั่นเห็นไหม ? พระอนุรุทธะบอกเทวดาไม่ยินดี ไม่เห็นด้วย เทวดาให้ไปทางนั้น ...

พอไปถึงแล้วบรรจุไฟละ..ที่นี่นะ..เอ้า..ไม่ติดอีก ‘ทำไมจึงไม่ติด ?’
‘ยังรอพระกัสสปะ พระกัสสปะกำลังเดินทางมาจะมาเฝ้าพระศาสดาเรา’ จึงต้องรอพระกัสสปะ พอพระกัสสปะมาก็พรึบเองเลยเทียว เป็นเองขึ้นเลยเทียว พอกราบฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้ว ไฟก็ขึ้นเองพรึบเลย...

ลัก...ยิ้ม 05-09-2012 10:20



ศิษย์อาจารย์เหมือนพ่อกับลูก


กล่าวถึงหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ซึ่งติดตามอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมาจากเชียงใหม่ และอยู่จำพรรษากับหลวงปู่มั่น ๒ พรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี ต่อมาได้ติดตามไปสกลนครตามคำอาราธนานิมนต์ของคณะศรัทธาทางสกลนคร มีคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ เป็นต้น จากนั้นหลวงปู่มั่นได้มอบหมายให้หลวงปู่เจี๊ยะ ไปดูแลอุปัฏฐากอาการอาพาธของหลวงปู่เสาร์ที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

เหตุที่ทำให้หลวงปู่เสาร์ป่วยกระออดกระแอด เนื่องจากบ่ายวันหนึ่ง เหยี่ยวตัวหนึ่งบินโฉบมาหาเหยื่อ แล้วถูกรังผึ้งขาดตกลงมาด้านข้าง ขณะที่หลวงปู่กำลังนั่งสมาธิอยู่ใต้โคนต้นยางใหญ่ ผึ้งได้รุมต่อยหลวงปู่หลายตัวจนต้องหลบเข้าไปในมุ้งกลด ตอนที่หลวงปู่เจี๊ยะมาถึงวัดดอนธาตุ ก็ปรากฏว่ามีอาการหนักขึ้นโดยลำดับ ท่านจึงอยู่ปฏิบัติจนเป็นปกติดี จากนั้นหลวงปู่เสาร์จึงออกธุดงค์ไปทางหลี่ผี ประเทศลาว เพื่อทำบุญอุทิศให้ท่านแดดัง (พระครูทา โชติปาโล) ผู้เป็นอุปัชฌาย์

เดิมหลวงปู่เจี๊ยะคิดจะกลับไปหาหลวงปู่มั่น แต่ก็ให้หวนรู้สึกประหวัด ๆ อยู่ในใจว่า
“เจี๊ยะเอ้ย... ดูแลหลวงปู่เสาร์แทนผมให้ดีนะ ถึงการป่วยอาพาธของท่านจะหาย ก็อย่าได้ไว้วางใจเป็นอันขาด


หลวงปู่เจี๊ยะเชื่อในญาณความรู้พิเศษของหลวงปู่มั่นว่า ต้องทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน จึงตัดสินใจออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์แต่ก็คลาดกัน

ในกาลต่อมา มีจดหมายแจ้งให้ทราบว่า หลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก กำลังจะมาถึงนครจำปาศักดิ์ประมาณ ๕ โมงเย็น พอมาถึง หลวงปู่เจี๊ยะพร้อมพระเพ็งจึงลงไปรับในเรือ พบว่าท่านมีอาการหนักมาก จึงจัดเปลหามเข้าไปในอุโบสถวัดอำมาตย์ หลวงปู่ก็ทำกิริยาให้ประคองท่านขึ้นกราบพระ พอกราบลงครั้งที่สาม เห็นท่านกราบนานผิดปกติ เมื่อพยุงหลวงปู่เข้าสู่อิริยาบถนอน ท่านก็หายใจยาว ๆ ๓ ครั้ง แล้วก็ถึงแก่กาลกิริยาโดยสงบ เมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น. วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ (สิริอายุรวม ๘๓ ปี)

หลวงปู่เจี๊ยะจัดเรื่องงานศพทุกอย่างสุดความสามารถ เมื่อตั้งไว้สักการะระยะหนึ่งแล้ว จึงนำศพท่านลงเรือกลับมาอุบลราชธานี และรีบเดินทางกลับไปจำพรรษากับหลวงปู่มั่น เพื่อกราบเรียนเรื่องงานการให้ท่านทราบ พรรษานี้จึงเป็นพรรษาที่ ๓ ที่อยู่ร่วมกับหลวงปู่มั่นและองค์หลวงตาที่วัดป่าบ้านโคกแห่งนี้ องค์หลวงตาเพิ่งมาอยู่กับหลวงปู่มั่นใหม่ ๆ ได้สังเกตเห็นความสนิทสนมระหว่างหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เจี๊ยะ ดูเหมือนพ่อแม่กับลูก ได้แอบคิดอยู่ในใจว่า “ทำไมท่านถึงสนิทกันนักหนา

องค์หลวงตาได้เล่าถึงเหตุการณ์ในวันหนึ่ง ขณะกำลังเดินจงกรมอยู่ในป่า ได้ยินเสียงดังขึ้นมาจากภายในวัดป่าบ้านโคกแห่งนี้นี่เอง ดังนี้

“...ท่านเย็บผ้าอยู่สององค์ ท่านอาจารย์เจี๊ยะกับท่านนั่นแหละ เย็บผ้า ท่านปะท่านชุนผ้าเช็ดมือ ท่านประหยัดมาก ท่านไม่ลืมตัว ทีนี้เย็บผ้าไปเย็บผ้ามา ฟังเสียงบ๊งเบ๊ง ๆ ขึ้น


‘เอาแล้ว..ทีนี้อะไรน้า ?’ เราก็ไปอยู่ใหม่ ๆ เสียงลั่นศาลาเล็ก ๆ นี่’

แต่ว่าเสียงมันไม่เล็กละสิ เสียงลั่นกระเทือนไปหมด เรายืนฟังอยู่โน้น หากได้ยินไม่ได้ศัพท์ได้แสง ยืนไปยืนมาเลยตัวสั่นโดยไม่รู้ตัว ตัวสั่นอยู่ในป่าโน่นนะ ‘ดูสินะ มันเป็นบ้าอยู่ในป่าคนเดียว ท่านไม่ได้ดุเรา เรายังเป็นบ้าไปได้

คราวนี้พอเงียบเสียงไปสักครู่หนึ่ง เราก็ออกมา พอขึ้นไปท่านกำลังเลิก เก็บอะไรต่อมิอะไร กำลังเลิกกันประมาณ ๑๑ โมงเช้า พอเก็บของแล้วก็ลงมา

‘ท่านดุอะไร ? ตะกี้นี้ท่านดุใคร ?’ เราถาม

‘ก็ดุผมล่ะสิ’ อาจารย์เจี๊ยะตอบ

‘แล้วทำไมท่านถึงดุ ?’

‘ก็ผมเย็บผ้าผิดนี่’ ท่านพูดดีนะ อาจารย์เจี๊ยะท่านพูดตรงไปตรงมา

เราสังเกตดู เราไปอยู่ใหม่ ๆ ท่านอาจารย์เจี๊ยะอยู่ก่อนเราแล้วนี่ อะไรก็ตาม เอะอะ ๆ อะไร ๆ ท่านพระอาจารย์จะดุอาจารย์เจี๊ยะนี้ก่อน ทางนั้นก็ไม่ถอยนี่ ซัดกันเลย ซัดทีไรอาจารย์เจี๊ยะหน้าผากแตกทุกที สู้ท่านไม่ได้ ก็ท่านเป็นอาจารย์ฉลาดแหลมคม ในสมัยปัจจุบันใครจะเหมือนพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น...”

ลัก...ยิ้ม 06-09-2012 10:55



หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล


หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล เกิดเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ณ บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน (ปัจจุบัน ตำบลปะอาว) อำเภอเมือง (ปัจจุบันอำเภอเขื่องใน) จังหวัดอุบลราชธานี

อุปสมบท ท่านอุปสมบท ณ วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้ เมื่อบวชได้ ๑๐ พรรษา ได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจารย์

อุปนิสัย หลวงปู่เสาร์มีอัธยาศัย ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร ทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งหย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ เดินจงกรมภาวนาเสมอไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธขึ้งให้พระเณร อุบาสก-อุบาสิกา

มักจะวางสังฆทานอุทิศให้สงฆ์สันนิบาต แก้วิปัสสนูปกิเลสแก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉย ๆ เรื่อย ๆ ชอบดูตำราเรื่องพระพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่ สันทัด เป็นคนภูมิใหญ่กว้างขวาง ยินดีทั้งปริยัติปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณ พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ เป็นโบราณทั้งสิ้น ไม่เห่อตามลาภยศ สรรเสริญ

ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทาน นั่งอยู่ได้เป็นหลาย ๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจ

การปฏิบัติในการเดินธุดงค์กรรมฐานถือว่า หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระอาจารย์องค์แรกและเป็นผู้นำหมู่คณะลูกศิษย์ลูกหา ท่านชอบพักพิงอยู่ตามป่าตามที่วิเวก อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง พักพิงอาศัยอยู่ในราวป่าห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร ท่านจะออกแสวงหาวิเวกในราวป่าห่างไกลกันจริง ๆ บางทีไปอยู่ในป่าเขาที่ไกล ตื่นเช้าเดินจากที่พักลงมาสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว กลับไปถึงที่พักเวลา ๑๑.๐๐ น. ก็มี

ปฏิปทา ท่านจะสอนให้ลูกศิษย์หัดนอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ ในขณะที่ยังไม่ได้นอน หรือตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำกิจวัตร มีการสวดมนต์ไหว้พระ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา อันนี้เป็นการฝึกหัดดัดนิสัยให้มีระเบียบ นอนก็มีระเบียบ ตื่นก็มีระเบียบ การฉันก็ต้องมีระเบียบ คือฉันหนเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตฉันเป็นวัตร อันนี้เป็นข้อวัตรที่ท่านถือเคร่งนัก

มรณภาพ ท่านได้มรณภาพในอิริยาบถขณะกราบครั้งที่ ๓ ในอุโบสถวัดอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากร นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ แล้วเชิญสรีระมา ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทำพิธีเผาสรีระในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ สิริชนมายุ ๘๓ ปี ๓ เดือน ๑ วัน

ลัก...ยิ้ม 07-09-2012 10:55

เทพบันดาล ช่วยหลวงปู่มั่น

ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นั้นเป็นปีแรกที่ท่านจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่นที่บ้านโคก พรรษานั้นมีพระ ๙ รูป เณร ๒ รูป ช่วงนั้นเป็นระยะที่สงครามญี่ปุ่นกำลังเริ่ม ผ้าหายากมีไม่พอแจกจ่ายกัน ช่วงเวลานั้นกำลังอดอยาก พอถึงวันเข้าพรรษาฉันจังหันเสร็จแล้ว หลวงปู่มั่นแจกผ้าพระเณร แต่มีผ้าไม่ครบ ขาดอยู่ผืนเดียว หลวงปู่มั่นก็เลยไปหยิบเอาผ้าอาบน้ำ (ผ้าขาว ยังไม่ได้ย้อม) ที่พระท่านไปวางไว้ในห้องของท่านออกมาให้

แต่ท่านอาจารย์กงมา ท่านเป็นคนตรงไปตรงมา เห็นอย่างนั้นจึงพูดค้านอย่างอาจหาญว่า
“อันนั้นก็สำหรับแจกท่านอาจารย์ต่างหากนี่ เอามาทำไม ? ขาดก็ขาดไปสิจะเป็นอะไรไป ขอให้ครูบาอาจารย์ได้เถอะ” พระเณรทุกองค์เวลานั้นก็พอใจ เห็นด้วยกับท่านอาจารย์กงมา


แต่หลวงปู่มั่นท่านก็ตอบอย่างมีเหตุมีผลเช่นกันว่า “โอ๊ย! เรามันเป็นผู้ใหญ่เมื่อไรมันก็ได้ ผู้ใหญ่ได้อยู่เรื่อย ๆ อะไร ๆ ก็ได้ ใครเอามา ๆ ก็ให้แต่ผู้ใหญ่เองแหละ เอาล่ะ..หากบุญมีก็ได้เองแหละ”

ท่านเองก็อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น และคอยสังเกตดูอยู่ตลอด พอหลวงปู่มั่นพูดคำว่า หากบุญมีก็ได้เองแหละ” ขึ้นมา ‘ปุ๊บ’ ท่านก็จับคำพูดนี้เอาไว้ทันที จากนั้นก็คอยสังเกตว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ! ปรากฏว่าตอนค่ำวันนั้นพวกบริษัทแม่นุ่ม ชุวานนท์ (องค์หลวงตากล่าวว่า แม่ของคุณแม่โยมนุ่ม เป็นโยมอุปถัมภ์อุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นมาดั้งเดิม ท่านเหล่านี้เป็นคนสำคัญที่อาราธนานิมนต์ท่านมาสร้างวัดป่าสุทธาวาส) นำผ้ามาถวาย

เขาพากันคาดคะเนพระเณรว่าน่าจะมีประมาณ ๙ - ๑๐ องค์ เขาจึงหาผ้าขาวด้ายเทศ ไม่ใช่ผ้าขาวด้ายบ้านแบบที่เราทอกัน แต่เป็นด้ายดิบอย่างดี เนื้อแน่นเท่ากัน จากสกลนครจำนวน ๑๑ ผืน แล้วว่าจ้างโยมขี้ยาคนหนึ่ง (แกติดฝิ่น) ในราคาแพง ให้ไปส่งผ้าที่วัดภายในวันนั้น ระยะทางจากสกลนครมาหาบ้านโคกประมาณ ๒๒ ก.ม. เข้าไปในวัดอีก ๑ ก.ม. รวม ๒๓ ก.ม. จนกระทั่งค่ำ โยมขี้ยาคนนี้ก็ไปส่งผ้าจำนวน ๑๑ ผืนถึงวัด ซึ่งเท่ากับจำนวนพระเณรที่จำพรรษาในครั้งนั้นพอดิบพอดี

ที่ท่านต้องคอยจับคำพูดของหลวงปู่มั่นขนาดนี้นั้น ท่านให้เหตุผลว่า
“เพราะพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ทำให้เราคิดไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เหมือนว่ามีเทพคอยแทรกอยู่ตลอด คอยรับทราบความเคลื่อนไหวของท่านอยู่ตลอด เหมือนกับว่าเทวดาบันดลบันดาลนะ ! แปลกอยู่ หลายอย่างที่เราไม่เอามาพูดมาก เอาแต่ว่าเทพบันดาลเทพเนรมิต แค่นี้ก็พอแล้วแหละ”

ลัก...ยิ้ม 10-09-2012 09:44

เคร่งครัดข้อวัตรปฏิบัติ พูดคุยเป็นอรรถธรรม

ในปีแรกที่ได้อยู่ศึกษากับหลวงปู่มั่น ท่านก็ได้ยินหลวงปู่มั่นพูดถึงเรื่องธุดงควัตร ๑๓ เพราะหลวงปู่มั่นเคร่งครัดมากตามนิสัย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถือเป็นข้อปฏิบัติเสมอมา ในการสมาทานธุดงค์เมื่อถึงหน้าพรรษาอย่างไม่ลดละ เฉพาะอย่างยิ่งในธุดงค์ข้อที่ว่า ฉันอาหารเฉพาะของที่ได้มาในบาตรจากการบิณฑบาตเท่านั้น สำหรับธุดงค์ข้ออื่น ๆ ก็ถือสมาทานอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น การฉันหนเดียวในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น การถือผ้าบังสุกุล การใช้ผ้าสามผืน (สบง จีวร สังฆาฏิ) การฉันในบาตร การอยู่ป่าเขา เป็นต้น

ธุดงค์ ๑๓* และขันธวัตร ๑๔ เป็นข้อปฏิบัติประจำโดยทั่วไปของพระกรรมฐาน ยิ่งนิสัยที่เคารพรักและจริงจังในข้อวัตรปฏิบัติของท่านด้วยแล้ว ก็ยิ่งให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ท่านจึงไม่ยอมให้ข้อวัตรทำความสะอาดเช็ดถูกุฏิ ศาลา บริเวณ ตลอดข้อวัตรใด ๆ ขาดตกบกพร่องเลย ท่านพยายามรักษาทั้งความตรงต่อเวลา ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความพร้อมเพรียงกันในการทำข้อวัตรปฏิบัติ ความละเอียดถี่ถ้วน ความคล่องแคล่ว ไม่เหนื่อยหน่ายท้อแท้อ่อนแอ ทำสิ่งใดให้ทำอย่างมีสติ ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบ ไม่ทำแบบใจร้อนใจเร็ว การหยิบจับวางสิ่งใดจะพยายามมิให้มีเสียงดัง

ข้อวัตรต่าง ๆ เหล่านี้ พระเณรท่านจะช่วยกันดูแลรับผิดชอบบริเวณอย่างทั่วถึง ตั้งแต่กุฏิหลวงปู่มั่น กุฏิตนเอง ศาลา ทางเดิน ตลอดแม้ในห้องน้ำ ห้องส้วม มีการเติมน้ำใส่ตุ่มใส่ถังให้เต็ม ไม่ให้พร่อง และข้อปฏิบัติต่าง ๆ เช่นนี้ พระเณรท่านจะพยายามทำอย่างตั้งใจ สมกับที่ท่านเป็นสมณะผู้รักความสงบ สะอาด และรักธรรมรักวินัย

การปฏิบัติจิตภาวนาเป็นงานหลักอันสำคัญที่สุด ดังนั้นในแต่ละวัน ท่านจึงพยายามพูดคุยแต่น้อย หากมีความจำเป็นต้องพูดสนทนากันบ้าง ก็ให้มีเหตุผล มีอรรถธรรม ไม่พูดคะนอง เพ้อเจ้อ หยาบโลน พูดตามความจำเป็น และเป็นไปเพื่อความเจริญในธรรม การตักเตือนชี้แนะหมู่คณะภิกษุสามเณรให้เป็นไปด้วยความเมตตากรุณาต่อกัน เพื่อให้รู้ให้เข้าใจคุณและโทษจริง ๆ ดังนี้

“...ควรพูดคุยกันในเรื่องความมักน้อย สันโดษ ความวิเวกสงัด ความไม่คลุกคลีซึ่งกันและกัน พูดในเรื่องความเพียร ศีล สมาธิ ปัญญา ในการต่อสู้กิเลส ... พระในครั้งพุทธกาล ท่านไม่ได้คุยถึงการบ้านการเมือง การได้การเสีย ความรื่นเริงบันเทิง การซื้อการขายอะไร ท่านมีความระแวดระวังว่า อันใดจะเป็นภัยต่อความเจริญทางจิตใจของท่าน ท่านจะพึงละเว้นหลบหลีกเสมอ ส่วนสิ่งใดเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้จิตใจมีความหนักแน่น มั่นคง จนสามารถถอดถอนกิเลสออกได้เป็นลำดับลำดานั้น ควรส่งเสริมให้มีมากขึ้น ให้สูงขึ้น...”



================================================

* ธุดงควัตร ๑๓ หลักปฏิบัติเพื่อการปราบปรามกิเลส ประกอบด้วย

๑. บิณฑบาตเป็นวัตร (พระเณรส่วนใหญ่จะปฏิบัติข้อนี้ เพราะถ้าไม่บิณฑบาตก็จะไม่มีอาหารฉัน)

๒. บิณฑบาตตามลำดับบ้าน

๓. ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง

๔. ฉันในบาตร (นอกจากจะฉันในบาตร องค์หลวงตายังฉันด้วยมือเท่านั้น)

๕. ฉันวันละครั้งเท่านั้น (พระวัดป่าจะฉันมื้อเช้าเพียงมื้อเดียวเรียกว่า ฉันจังหัน และเมื่อลุกจากที่นั่งแล้วก็จะไม่ฉันอีก ซึ่งวัตรข้อนี้เป็นข้อที่องค์หลวงตาปฏิบัติจนถึงวันที่ท่านมรณภาพ)

๖. ถือผ้าสามผืน

๗. ถือผ้าบังสุกุล

๘. อยู่รุกขมูลร่มไม้ (อยู่โคนต้นไม้)

๙. อยู่ป่า

๑๐.อยู่ป่าช้า

๑๑.อยู่กลางแจ้ง

๑๒.อยู่ในเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ เช่น กุฏิ วิหาร ศาลา) ที่เขาจัดให้

๑๓.ถือไม่อยู่ในอิริยาบถนอน (ไม่ติดการนอน)

ลัก...ยิ้ม 12-09-2012 11:23

หลวงปู่มั่นเคารพธรรม

นอกเหนือจากความเคร่งครัดตามหลักธรรมวินัยแล้ว หลวงปู่มั่นยังแสดงความเคารพในธรรมอย่างละเอียดลออลึกซึ้ง อย่างหาได้ยากยิ่งในสมัยปัจจุบัน ดังนี้

“...ท่านอาจารย์มั่นเป็นตัวอย่างในสมัยปัจจุบัน ในห้องนอนใดที่ถูกนิมนต์ไปพัก ถ้ามีหนังสือธรรมะอยู่ต่ำกว่าท่าน ท่านจะไม่ยอมนอนในห้องนั้นเลย ท่านจะยกหนังสือนั้นไว้ให้สูงกว่าศีรษะท่านเสมอ ท่านจึงยอมนอน ท่านว่า


‘นี่ธรรมของพระพุทธเจ้า เราอยู่ด้วยธรรม กินด้วยธรรม เป็นตายเรามอบกับธรรม ปฏิบัติได้รู้ได้เห็นมากน้อยเพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น เราจะเหยียบย่ำทำลายได้อย่างไร ! เอาธรรมมาอยู่ต่ำกว่าเราได้อย่างไร !’

ท่านไม่ยอมนอน ยกตัวอย่างที่ท่านมาพักวัดสาลัน เป็นต้น ในห้องนั้นมีหนังสือธรรมอยู่ ท่านไม่ยอมนอน ให้ขนหนังสือขึ้นไว้ที่สูงหมด นี่แหละ ! ลงเคารพละต้องถึงใจทุกอย่างเพราะธรรมถึงใจ

ความเคารพ ไม่ว่าจะฝ่ายสมมุติ ไม่ว่าจะอะไร ท่านเคารพอย่างถึงใจ ถึงเรียกว่าสุดยอด กราบพระพุทธรูปก็สนิท ไม่มีใครที่กราบสวยงามแนบสนิทยิ่งกว่าท่านอาจารย์มั่นในสมัยปัจจุบันนี้ เห็นประจักษ์ด้วยตากับใจเราเอง ความเคารพในอรรถในธรรมก็เช่นกัน แม้แต่รูปพระกัจจายนะ ที่อยู่ในซองยาพระกัจจายนะ พอท่านได้มา
‘โอ้โห! พระกัจจายนะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้านี่!’


ท่านรีบเทยาออก เอารูปเหน็บไว้เหนือที่นอนท่าน ท่านกราบ “นี่องค์พระสาวก นี่รูปของท่าน มีความหมายแค่ไหน พระกัจจายนะ จะมาทำเป็นเล่นอย่างนี้ได้เหรอ?”

‘แน่ะ!’ ฟังดูซิ นี่แหละ..เมื่อถึงใจแล้ว ถึงทุก ๆ อย่าง เคารพทุกอย่าง บรรดาสิ่งที่ควรเป็นของเคารพท่านเคารพจริง นั่น ท่านไม่ได้เล่นเหมือนปุถุชนคนหนาหรอก เหยียบโน่นเหยียบนี่เหมือนอย่างพวกเราทั้งหลาย เพราะไม่รู้นี่ คอยลูบ ๆ คลำ ๆ งู ๆ ปลา ๆ ไปในลักษณะของคนตาบอดนั้นแล ถ้าคนตาดีแล้วไม่เหยียบ อันไหนจะเป็นขวากเป็นหนามไม่ยอมเหยียบ สิ่งใดที่จะเป็นโทษเป็นภัยขาดความเคารพ ท่านไม่ยอมทำ นักปราชญ์ท่านเป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนคนตาบอดเหยียบดะไปเลย โดยไม่คำนึงว่าควรหรือไม่ควร...”

ลัก...ยิ้ม 13-09-2012 10:43

พระสาวก... ครั้งพุทธกาล

พระสังกัจจายน์


“...พระสังกัจจายน์ท่านแต่ก่อนรูปหล่อ ตามตำราที่บอกไว้ มองดูคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า ... ไปที่ไหนผู้หญิงติด ผู้หญิงชอบ ผู้ชายก็ชอบ ไม่ใช่มีแต่ผู้หญิงนะ ... นี่ละ ผู้ชายที่กลับตัวเป็นผู้หญิงได้ก็เพราะไปชอบท่านนะสิ พอมองเห็นท่าน ‘พระรูปนี้ทำไมจึงรูปหล่อนักหนา ถ้าเราได้เมียอย่างนี้จะดีมาก’

จากผู้ชายแล้ว (เป็นกรรม) กลายเป็นผู้หญิงไปเลย แล้วอายใหญ่ เลยหนีไปอยู่เมืองอื่น นี่ต้นเหตุ ไปที่ไหนเป็นอย่างนั้น พระกัจจายนะ ท่านจึงไปอธิษฐานเสียใหม่ ทีนี้เลยเป็นรูปพุงหลวงอุ้มบาตรไปเลย ทีนี้ไม่ว่าใคร ผู้ชายผู้หญิงเห็นท่านแล้วไม่อยากมอง

(คนที่เคยเป็น) ผู้ชายแล้วกลายไปเป็นผู้หญิงนี้ ต่อมาก็ไปมีสามีมีลูกอีกตั้งสองคน ทีแรกเพศผู้ชาย พอไปรักชอบท่าน (กรรม) จึงพลิกเป็นเพศผู้หญิงไป ไปมีลูกอีกตั้งสองคน ... แต่ท่านก็มีนิสัย ต่อมาออกบวชก็ได้เป็นพระอรหันต์นะ ท่านมีอุปนิสัยอยู่ ไปที่ไหนอายคน ใครไปจ้อถามเรื่องราวแล้วอาย...”

ลัก...ยิ้ม 17-09-2012 11:43

หลวงปู่เจี๊ยะอุทาน “เจอแล้วองค์นี้”

หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า หลวงปู่มั่นมักเรียกท่านว่า “เฒ่าขาเป๋” หรือบางครั้งก็เรียกว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ตามแต่ท่านจะพูดเพื่อเป็นคติแก่พระเณร ท่านยังเล่าด้วยว่าในระหว่างพรรษานั้น หลวงปู่มั่นได้พูดถึงหลวงปู่ขาวขึ้นมาในวันหนึ่งว่า

“หมู่เอ๊ย! ให้รู้จักท่านขาวไว้นะ ท่านขาวนี่..เธอได้พิจารณาถึงที่สุดแล้ว


พอกล่าวชมหลวงปู่ขาวแล้วก็หันมาพูดเรื่องของหลวงปู่เจี๊ยะบ้างว่า
“เออ หมู่เอ๊ย! มีหมู่มาเล่าเรื่องการภาวนาให้เราฟังที่เชียงใหม่ เธอปฏิบัติของเธอสามสี่ปีเหมือนเราลงที่นครนายก ‘มันลงเหมือนกันเลย’...” หลวงปู่มั่นย้ำอย่างนั้น
ท่านองค์นี้ภาวนา ๓ ปีเท่ากับเราภาวนา ๒๒ ปี อันนี้เกี่ยวเนื่องกับนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน


ต่อมาเมื่อการจำพรรษาผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง หลวงปู่เจี๊ยะซึ่งได้สังเกตเห็นพระเณรที่มาเกี่ยวข้องกับหลวงปู่มั่นมาโดยตลอดเป็นเวลาถึง ๓ ปี จนกระทั่งคราวนี้ได้มาพบและร่วมจำพรรษากับท่าน (องค์หลวงตา) ในที่แห่งนี้ ได้เห็นถึงความจริงจังและลักษณะที่เหมือนดั่งนิมิตคำทำนายของหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่มาก ท่านได้เล่าเหตุการณ์และความรู้สึกในครั้งนั้นว่า

“ในที่สุด พระอาจารย์มหาบัวก็มาหาท่านพระอาจารย์มั่นที่เสนาสนะป่าบ้านโคก จังหวัดสกลนคร เราเห็นลักษณะ ถามความเป็นมาเป็นไป จึงแน่ใจเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นมาท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่พูดเรื่อง (คำทำนาย) นี้อีกเลย...


หลังจากได้อยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ ปี ๔ แล้งแล้ว ผ่านฤดูแล้ง ปี ๒๔๘๖ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านปรารภจะไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน เราเห็นว่าท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นแล้ว

ท่านมหาบัวก็เป็นที่ตายใจ ท่านเก่ง ฉลาด เป็นที่ตายใจในเรื่องเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม เรื่องข้อวัตรปฏิบัติที่เราเคยทำมาเป็นเวลานานสมควรกับท่านอาจารย์มหา เพราะท่านมีวิชาความรู้ กล้าสู้หน้าไม่อายใคร และจะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่หมู่คณะต่อไปในอนาคต เหมือนดั่งนิมิตที่ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายไว้ที่ดอยคำ บ้านแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ว่า

‘ท่านองค์นี้ มีลักษณะเหมือนท่านเจี๊ยะ แต่มิใช่ท่านเจี๊ยะ จะทำประโยชน์ให้แก่หมู่คณะกว้างขวาง และท่านนิมิตเห็นพระหนุ่ม ๒ รูป นั่งช้าง ๒ เชือก ติดตามท่านซึ่งนั่งสง่างามบนช้างตัวขาวปลอด จ่าโขลงเป็นช้างใหญ่ พระหนุ่มสองรูปนี้จะสำเร็จก่อนและหลังท่านนิพพานไม่นานนัก และจะทำประโยชน์ใหญ่ให้พระศาสนา’


เมื่อเราเห็นท่านอาจารย์มหาบัวเข้ามา ก็ตรงตามลักษณะที่ท่านทำนายไว้ก็เบาใจเป็นที่ยิ่ง ถึงได้กับอุทานภายในใจว่า ‘นี่แหละ องค์นี้แหละ ต้องเป็นองค์ที่ท่านทำนายไว้อย่างแน่นอน เจอแล้วทีนี้’

เมื่อท่านเจออาจารย์มหาบัวเข้ามา รู้สึกว่าท่านเมตตาเป็นพิเศษ ข้อวัตรปฏิบัติอะไรท่านตั้งใจปฏิบัติรักษาสุดความสามารถ สุดชีวิตเหมือนดังที่เราเคยทำ ความเพียรท่านก็แรงกล้า มีสติปัญญาไวเป็นเลิศ สมเป็นผู้มีบุญมาเกิด ประเสริฐด้วยความดี อย่างนี้อีกไม่นานต้องพบพานธรรมอันเลิศ บุญเขตอันประเสริฐจะบังเกิดในวงพุทธศาสน์ เป็นปราชญ์ทางธรรม ค้ำชูพระศาสนา เหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายเอาไว้อย่างแน่นอน

เมื่อคิดดังนี้จึงดำริว่า สมควรที่หมู่ผู้ที่ไม่เคยมาจะได้ช่องเข้าศึกษาปฏิบัติ ในขณะนั้นพระเณรที่ติดตาม และลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นมีมากขึ้นโดยลำดับ ชื่อเสียงเรื่องคุณธรรมของท่านเป็นที่เลื่องลือขจรไปทั่วทุกทิศ เราจึงเข้าไปกราบลาท่านและปลีกตัวอยู่องค์เดียว เร่งความเพียร พยายามสืบเสาะหาว่า ท่านอาจารย์ขาวอยู่ที่ไหน เพราะท่านเป็นพระที่ท่านพระอาจารย์มั่นรับรองว่า เป็นพระถึงที่สุดแห่งธรรมแล้ว ได้ทำไว้ในใจว่า ถ้าทราบข่าวว่า ท่านอาจารย์ขาวอยู่ที่ไหน เราจะดั้นด้นเข้าไปกราบให้จงได้...

ลัก...ยิ้ม 18-09-2012 11:45

กรรมฐานน้ำตาร่วง

องค์หลวงตากล่าวว่า เมื่อครั้งไปอยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น จิตของท่านเคยคิดไปว่า องค์หลวงปู่มั่นจะสามารถทราบวาระจิตของท่านได้หรือไม่หนอ จากนั้นไม่นาน ท่านได้ขึ้นไปกราบพระประธานที่ศาลา เห็นหลวงปู่มั่นกำลังเย็บผ้าอยู่ จึงได้คลานเข้าไปเพื่อจะกราบขอโอกาสช่วยเย็บให้ ขณะนั้นเอง หลวงปู่มั่นแสดงอาการแปลกกว่าทุกครั้งที่เคยเป็นมา โดยจ้องมองมาที่ท่านอย่างดุ ๆ พร้อมกับปัดมือห้าม แล้วพูดขึ้นว่า
“หืย! อย่ามายุ่ง”


ในตอนนั้นท่านคิดในใจว่า “โอ๊ย ตาย กู...ตาย...” และหลังจากเงียบไปพักหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นก็กล่าวต่อว่า
ธรรมดาการภาวนากรรมฐานก็ต้องดูหัวใจตัวเอง ดูหัวใจตัวเองมันคิดเรื่องอะไร ๆ ก็ต้องดูหัวใจตัวเองสิ..ผู้ภาวนา อันนี้จะให้คนอื่นมาดูให้ รู้ให้ กรรมฐานบ้าอะไร!


จึงเป็นอันรู้เหตุรู้ผลชัดเจนทันทีว่า ที่หลวงปู่มั่นแสดงปฏิกิริยาดังกล่าวขึ้นเช่นนี้ ก็เพราะความคิดสงสัยของท่านนั่นเอง คราวนี้ท่านถึงกับหมอบราบในใจอย่างสุดซึ้งว่า
“ยอมแล้ว ๆ คราวนี้ขออ่อน ขอยอมแล้ว”


หลังจากนั้น ท่านจึงได้กราบขอโอกาสเข้าช่วยเย็บผ้าอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้องค์ท่านก็ไม่ได้ดุหรือห้ามอะไรอีก เพราะทราบดีว่า ลูกศิษย์ผู้นี้ได้ยอมแล้วอย่างสนิทใจ

กล่าวถึงการบำเพ็ญภาวนาของท่าน โดยปกติธรรมดาท่านใช้เวลาในการนั่งสมาธิครั้งละ ๓ - ๔ ชั่วโมง ตอนกลางวันพอฉันจังหันเสร็จ ล้างบาตร เช็ดบาตรเรียบร้อยแล้ว เอาบาตรไปวางที่ร้านแล้วเข้าทางจงกรมเลย ท่านจะเดินจงกรมไปตลอดจนถึงเวลาประมาณ ๑๑ โมง เป็นอย่างน้อยหรือถึงเที่ยงวันแล้วจึงพัก เมื่อออกจากพักแล้วก็นั่งภาวนาอีกราว ๑ ชั่วโมง แล้วก็ลงเดินจงกรมอีก ท่านทำอย่างนั้นอยู่เป็นกิจวัตรประจำ

แม้ทำความเพียรเป็นประจำอยู่เช่นนี้ตลอดพรรษา แต่ภาวะจิตของท่านกลับมีแต่เจริญกับเสื่อมทางด้านสมาธิ ต่อมาเมื่อเห็นว่าอยู่กับหลวงปู่มั่นพอสมควร ท่านจึงอยากทดลองทำความเพียรโดยลำพังอย่างเต็มที่ดูบ้าง ว่าจะเกิดผลดีเพียงใด

ครั้นพอออกพรรษาแล้วจึงได้ทดลองขึ้นไปภาวนาบนหลังเขา เพื่อความสงบสงัดและทำความเพียรได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อออกวิเวกจริง ๆ แล้ว ความเพียรกลับไม่ค่อยได้ผลเลย ต้องล้มลุกคลุกคลานอย่างหนัก จนหลายครั้งทำให้ท่านรู้สึกท้ออกท้อใจ แต่ด้วยใจที่ “สู้ไม่ถอย” ทำให้ท่านสามารถผ่านภาวะเช่นนี้ไปได้ในเวลาต่อมา ดังนี้

“...เข้าไปอยู่ในป่าในเขา ตั้งใจจะไปฟัดกับกิเลสเอาให้เต็มเหนี่ยวละนะคราวนี้ หลีกจากครูบาอาจารย์ออกไปเข้าไปอยู่ในภูเขา ป่ามันสงบสงัด ป่าไม่มีเรื่องอะไร แต่หัวใจมันสร้างเรื่องขึ้นมาละซิ วุ่นอยู่กับเจ้าของคนเดียว เป็นบ้าอยู่คนเดียว


‘โอ๊ย...อย่างนี้จะอยู่คนเดียวได้ ‘ยังไง’ นี่หนีจากครูบาอาจารย์ไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว’

สู้มันไม่ได้จนน้ำตาร่วง ไม่ได้ลืมนะ ... น้ำตาร่วง โอ้โห...สู้มันไม่ได้ ตั้งสติพับล้มผล็อย ๆ ตั้งเพื่อล้ม ไม่ใช่ตั้งเพื่ออยู่ ตั้งต่อหน้าต่อตา..นี่มันล้มต่อหน้าต่อตาให้เห็น ปัดทีเดียวตก ๕ ทวีปโน่น สมมุติว่าเราต่อยเข้าไปนี่ มันปัดแขนเรานี่ตก ๕ ทวีป อำนาจแห่งความรุนแรงของกิเลสมันแรงขนาดนั้นนะ อยู่ในหัวใจนี่... ก็เราตั้งหน้าจะไปสู้ มีแต่กิเลสชัด ๆ เรามัน ‘ยังไง’ กัน ได้เคียดแค้น น้ำตาร่วง ไม่ลืมนะ

อันนั้นละเป็นสาเหตุให้เกิดความเคียดแค้น มุมานะที่จะฟัดกับกิเลสให้ได้ เราจึงกล้าพูดซิว่า ความเคียดแค้นนี่... ลงออกถึงกูถึงมึงทีเดียว ซัดกับกิเลสนี่ ฟังซิว่ากูมึง กูมึงในใจ ไม่ใช่กูมึงออกมาข้างนอก

‘มึง ‘ยังไง’ มึงต้องพัง วันหนึ่งกูจะเอาให้มึงพังแน่ ๆ มึงเอากูขนาดนี้เชียวนะ... ‘ยังไง’ กูได้ที่แล้ว กูจะเอามึงเหมือนกัน ‘ยังไง’มึงต้องพัง มึงไม่พังวันนี้ มึงต้องพังวันหนึ่ง มึงไม่พังกูต้องพัง ต้องตายกัน


มาก็เอากันแหละ ซัดกันไม่ถอย... ต้องตายกัน ต่างคนต่างสู้กัน ไม่มีถอยกัน
‘เอ้า กิเลสกับเราเป็นคู่ต่อสู้กันนี้จนกระทั่งถึงวันตายไม่ให้เป็น เอาให้ตายด้วยกัน กิเลสไม่ตายเราก็ตายเท่านั้น’...


เหตุการณ์ในตอนนี้ ท่านเคยยกเอามาสอนพระว่า ตอนที่กองทัพกิเลสมีกำลังมากกว่านั้น ยังไม่สมควรที่จะอยู่คนเดียว ต้องเข้าหาครูบาอาจารย์ เพราะการอยู่กับครูบาอาจารย์ แม้จะยังไม่ก้าวหน้าอะไรแต่ก็เป็นที่อบอุ่นใจได้

ลัก...ยิ้ม 19-09-2012 09:41

พระสาวก... ครั้งพุทธกาล

พระโคธิกะ

“...พระโคธิกะ จิตท่านเสื่อมถึงหกครั้ง เจริญแล้วเสื่อม ๆ ถึงหกครั้ง ... พอครั้งที่หก ท่านเอามีดเฉือนคอตัวเองเลย แต่ท่านมีนิสัยนะ เอามีดเฉือนคอเลือดกระฉูดออกมา มองเห็นจึงพิจารณาอยู่นั้นบรรลุธรรม 'ปึ๋ง' เดี๋ยวนั้นเลย... ก็ได้บรรลุธรรมในขณะนั้นด้วย การปฏิวัติจิตเข้าสู่ธรรม ... แล้วมาเด่นตรงนี้

ตอนพญามารค้นหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะจนควันตลบโลกธาตุ 'ว่างั้น' ในตำราฤทธิ์ของมารที่ค้นคว้าหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะ พระพุทธเจ้าเลยตวาดเอาบ้างว่า

พญามาร..อันเพียงความรู้ของเธอนั้นน่ะ จะไปสามารถรู้จิตของพระโคธิกะลูกของเราได้ 'ยังไง' เพราะพระโคธิกะเธอเป็นพระอรหันต์และนิพพานไปแล้ว เธอก็มีวิสัยแค่จะดูสัตว์ที่ยังข้องอยู่ในกิเลสนี้เท่านั้นแหละ พระโคธิกะเราไม่ได้เป็นคนประเภทนั้น เป็นผู้พ้นแล้วจากอำนาจแห่งมาร เพราะฉะนั้น เธอจะค้นหมดทั้งโลกธาตุ หรือจะไปโลกธาตุไหนก็ไปเถอะ เธอจะตายทิ้งเปล่า ๆ นั้นแล’...”

ลัก...ยิ้ม 21-09-2012 11:16

บริกรรมพุทโธแก้ “จิตเสื่อม”

เมื่ออยู่กับหลวงปู่มั่นในพรรษา การภาวนาก็มีความสงบร่มเย็นบ้างและเสื่อมบ้าง ครั้นพอออกจากท่านกลับปรากฏว่ามีแต่ความฟุ้งซ่าน ท่านเล่าถึงภาวะจิตใจในขณะนั้นว่า

“...จิตมันยังไม่ได้เรื่องได้ราว ต้องฝึกฝนอย่างหนัก กิเลสมันถอยใครเมื่อไร พอจากพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นไปได้ ๒-๓ วัน จิตมันดีดมันดิ้นหาเขียงสับยำ เพื่อเป็นอาหารกิเลสอย่างเห็นได้ชัด ถึงขนาดได้ตำหนิตนเองว่า


‘อ๋อ! เรานี่ มันกาจับภูเขาทอง เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์จิตสงบร่มเย็น พอออกจากท่านมาแล้วไม่ได้เรื่องได้ราว ทำความเพียรก็เดินไปเฉย ๆ ไม่มีอุบายอะไรที่จะแก้กิเลสได้สักตัวเดียว มีแต่ความฟุ้งซ่านภายในใจ นับวันรุนแรงขึ้นทุกวัน ๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ อยู่ห่างท่านไม่ได้ หนีจากครูบาอาจารย์ไม่ได้’

เมื่อเป็นแบบนี้ เรารีบกลับคืนไปหาท่านทันที แต่เดชะบุญเวลากลับคืนไป องค์ท่านไม่เคยตำหนิติเตียน ไม่เคยขับไล่ไสส่งเลย

บางคืนไม่ยอมหลับยอมนอนตลอดรุ่ง เพราะกลัวจิตจะเสื่อม ถึงอย่างนั้นก็ยังเสื่อมได้ เฉพาะอย่างยิ่งเวลาจิตเริ่มก้าวเข้าสู่ความสงบ ความเพียรก็ยิ่งรีบเร่ง เพราะกลัวจิตจะเสื่อมดังที่เคยเป็นมา แม้เช่นนั้น ก็ยังฝืนเสื่อมไม่ได้ ต่อมาก็เจริญขึ้นอีก แล้วก็เสื่อมลงอีก ความเจริญของจิตนั้นอยู่คงที่ได้เพียง ๓ วัน จากนั้นก็เสื่อมลงต่อหน้าต่อตา เจริญขึ้นไปถึงเต็มที่แล้วเสื่อมลง ๆ ...”

ท่านกล่าวถึงความพยายามในการต่อสู้กับความทุกข์ทรมาน และต้องทนอยู่ในภาวะจิตเสื่อมนี้นานถึง ๑ ปี ๕ เดือน ดังนี้
“...ถ้าว่าทางก็ไม่เคยเดิน จึงไม่รู้จักวิธีรักษาเข้มงวดกวดขัน แล้วงานที่จะทำให้จิตเสื่อมก็คือ มาทำกลดหลังหนึ่งเท่านั้นเอง การภาวนาไม่ค่อยติดค่อยต่อ ทีแรกมันก็แน่นปึ๋ง ๆ ของมัน ครั้นนานไปหลายวันไป รู้สึกมีลักษณะเปลี่ยนแปลง เข้าได้บ้างไม่ได้บ้าง อ้าว... แปลกแล้ว


นี่ละ..จิตเราจะเสื่อมนะนี่นะ แล้วขยับเข้าใหญ่ รีบร้อยกลดให้เสร็จเรียบร้อย ดีไม่ดีช่างหัวมัน.. ออกปฏิบัติเลย ตั้งแต่นั้นเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ จนหมดเนื้อหมดตัวเลยนะ ไม่มีอะไรเหลือติดตัว นั่นแหละ.. ที่มีแต่ไฟล้วน ๆ สุมหัวใจ เสียดายก็เสียดาย ทำความพากเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วย บางคืนไม่นอนตลอดรุ่ง

พอจิตค่อยก้าวขึ้น ๆ ก็พยายามใหญ่เลย พอไปถึงขั้นที่มันเคยเสื่อมไป..อยู่นั้นได้เพียงสามวัน สามวันเท่านั้น แล้วก็เสื่อมมาต่อหน้าต่อตาอย่างรุนแรง หักห้ามต้านทานไม่ได้ ลงถึงขีดแห่งความหมดราค่ำราคา เหลือแต่ตัวเปล่า ๆ เอ้า.. ขยับขึ้นอีก ๑๔-๑๕ วันได้ ถึงที่นั่นแล้วลงอีก.. อยู่ได้เพียงสามวัน เป็นอย่างนี้มาเป็นเวลาปีกว่า มันเริ่มเสื่อมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ส่วน พ.ศ. เท่าไรก็จำไม่ได้ จำได้แต่ว่าเดือนพฤศจิกายนจิตเริ่มเสื่อม แล้วไปฟื้นขึ้นได้เดือนเมษายนปีหน้าโน้น พฤศจิกายนแล้วก็ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน เสื่อมถึงปีหนึ่งกับห้าเดือน นี่ละ..ได้รับความทุกข์ทรมานเอาอย่างมาก...”

ลัก...ยิ้ม 25-09-2012 10:17

ความทุกข์ทรมานในครั้งนี้ ให้ท่านระลึกเทียบเคียงเข้ากับประวัติของพระโคธิกะ ซึ่งเป็นพระสาวกในครั้งพุทธกาลในสมัยที่เคยเรียนปริยัติ ดังนี้

“...ดังที่เคยพูดถึงเรื่องจิตเสื่อมมาเป็นปีกว่านั้น เสื่อมแล้วเจริญ ๆ หาบหามกองทุกข์ แบกกองทุกข์นี้ แหม...ไม่มีกองทุกข์ใด ที่จะมากยิ่งกว่าทุกข์ของจิตที่เจริญแล้วเสื่อม ๆ ซึ่งปรากฏกับหัวใจของเรา จนกระทั่งถึงความเข็ดหลาบเลย ถึงขั้นที่ว่า จิตพอได้หลักขึ้นมาเป็นสงบแล้วต้องเอาตายเข้าว่า


‘คราวนี้จิตจะเสื่อมไปไม่ได้ ถ้าจิตเสื่อมคราวนี้เราต้องตาย จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นั่นซิ มันอาจเป็นได้นะ’ สำหรับนิสัยเรานี้มันเด็ดขาดจริง ๆ

เราก็เทียบเอาพระโคธิกะนั่นมาเป็นตัวอย่าง ท่านฆ่าตัวตายเพราะจิตท่านเสื่อมในครั้งนั้น ท่านบอกว่าฌานเสื่อม ๆ ก็คือสมาธินั่นแหละเสื่อม ฌานก็แปลว่า ความเพ่งความเล็งอยู่จุดเดียว คือจุดแห่งความสงบนั้นมันเสื่อมไป ทีนี้ไม่มีจุดไหน ที่จะจับจะข้องจะแวะจะอาศัยพึ่งพิงได้ ที่นี้ก็มีแต่ความว้าเหว่ เสียดาย ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบของฌานนั้นโดยถ่ายเดียว โดยไม่มีสิ่งตอบแทนคือสมหวังว่า เป็นความสงบตามความมุ่งหวังแล้วอย่างนี้ไม่มี นั่นละ.. กองทุกข์เกิดขึ้นเวลานั้น ท่านแสดงไว้มีถึง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง พอครั้งสุดท้าย ท่านก็เอามีดโกนมาเฉือนคอเลย

ลัก...ยิ้ม 26-09-2012 10:18

อันนี้ในตำราพูดไว้ไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่เราก็เข้าใจ เวลามาปฏิบัติแล้วเข้าใจ เวลาอ่านตำราไม่ค่อยเข้าใจ ลักษณะเป็นมัว ๆ อยู่ ท่านพูดถึงเรื่องพระโคธิกะ ในภาคปฏิบัติของเรามันก็จับกันได้ทันที...”

เมื่อโอกาสอันควรมาถึง ท่านจึงเข้ากราบเรียนปรึกษาถึงภาวะจิตเสื่อม ว่าควรแก้ไขอย่างไร และด้วยกุศโลบายแยบยลของครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่นกลับแสดงเป็นเชิงเสียใจไปด้วยพร้อมกับให้กำลังใจศิษย์ว่า“...น่าเสียดาย..มันเสื่อมไปที่ไหนกันนา เอาเถอะ..ท่านอย่าเสียใจ จงพยายามทำความเพียรเข้ามาก ๆ เดี๋ยวมันจะกลับมาอีกแน่ ๆ มันไปเที่ยวเฉย ๆ พอเราเร่งความเพียรมันก็กลับมาเอง หนีจากเราไปไม่พ้น

เพราะจิตเป็นเหมือนสุนัขนั่นแล เจ้าของไปไหนมันต้องติดตามเจ้าของไปจนได้ นี่ถ้าเราเร่งความเพียรเข้าให้มาก จิตก็ต้องกลับมาเอง ไม่ต้องติดตามมันให้เสียเวลา มันหนีไปไหนไม่พ้นเราแน่ ๆ ...

จงปล่อยความคิดถึงมันเสีย แล้วให้คิดถึงพุทโธ ติด ๆ อย่าลดละ พอบริกรรมพุทโธถี่ยิบติด ๆ กันเข้า มันวิ่งกลับมาเอง คราวนี้แม้มันกลับมาก็อย่าปล่อยพุทโธ มันไม่มีอาหารกิน เดี๋ยวมันก็วิ่งกลับมาหาเรา

จงนึกพุทโธ เพื่อเป็นอาหารของมันไว้มาก ๆ เมื่อมันกินอิ่มแล้วต้องพักผ่อน เราสบาย.. ขณะที่มันพักสงบตัว ไม่วิ่งวุ่นขุ่นเคืองเที่ยวหาไฟมาเผาเรา ทำจนไล่มันไม่ยอมหนีไปจากเรา นั่นแลพอดีกับใจตัว หิวโหยอาหารไม่มีวันอิ่มวันพอ ถ้าอาหารพอกับมันแล้ว แม้ไล่หนีไปไหนมันก็ไม่ยอมไป ทำอย่างนั้นแล จิตเราจะไม่ยอมเสื่อมต่อไป...”

คำสอนดังกล่าวของหลวงปู่มั่น ทำให้ท่านตั้งคำมั่นสัญญาขึ้นว่า

“...อย่างไรจะต้องนำคำบริกรรมพุทโธมากำกับจิตทุกเวลา ไม่ว่าเข้าสมาธิ ออกสมาธิ ไม่ว่าจะที่ไหน อยู่ที่ไหน แม้ที่สุดปัดกวาดลานวัด หรือทำกิจวัตรต่าง ๆ จะไม่ยอมให้สติพลั้งเผลอจากคำบริกรรมนั้นเลย...”

ลัก...ยิ้ม 02-10-2012 14:49


หลวงปู่มั่นถ่ายรูป

เมื่ออยู่กับหลวงปู่มั่นได้ระยะหนึ่ง ทำให้พอทราบถึงอุปนิสัยของท่านที่ไม่ยุ่งกับใคร หลวงปู่มั่นจะไปไหนก็ด้วยความจำเป็นจริง ๆ เมื่อทราบว่าวันนี้จะเป็นวันเผาศพของหลวงปู่เสาร์ (เดือนเมษายน) ท่านก็กำหนดไว้แล้วว่าน่าจะออกเดินทางวันนี้ จึงไปเตรียมรอรับท่านดังนี้

“...พอเราไปถึงบ้านน้ำก่ำ แถวนี้สามแยกน้ำก่ำ ทางนี้ไปพระธาตุพนม ทางนี้ไปอุบลฯ อีกทางมาทางอำเภอนาแก เรามาพักอยู่วัดป่าสามแยกนี่ เราถามโยมเขา ทราบว่าท่านมาเมื่อวานนี้


คือเราไปรับท่าน ท่านไปเผาศพหลวงปู่เสาร์มา กะว่าเผาวันนี้ วันนี้ท่านจะออก ตามธรรมดาท่านไม่ยุ่งกับใคร ท่านไปด้วยความจำเป็น เป็นอาจารย์ของท่าน ท่านไปเผาศพให้ท่าน ให้เราเฝ้าวัดอยู่ที่วัดนาสีนวน พอเผาศพวันนั้น กะวันนั้น เราก็ออกเดินทางจากวัดนาสีนวนไปเลย พองานศพหลวงปู่เสาร์เสร็จวันนั้น วันหลังนั้นท่านก็ออกมาเลย ท่านไปพักวัดอ้อมแก้ว เดี๋ยวนี้ดูไม่เรียกวัดอ้อมแก้วที่ธาตุพนม พอเราไปถึงสามแยกน้ำก่ำมาถามข่าวเขา ชื่อท่านไปที่ไหนก็ดังละ ถามพอดีได้ความเลย ท่านมาถึงแล้ว...มาที่ธาตุพนมแล้ว

พอเราทราบ เราก็บึ่งเข้าไปที่วัดอ้อมแก้ว ไปก็ไปเห็นท่าน เราก็ไปนิมนต์ท่านมา เรากราบเรียนท่านว่า
‘สถานที่นี้ไม่สะดวกสบาย รู้สึกว่าวุ่นวาย สู้สถานที่ที่ผมพักอยู่ไม่ได้ ที่นั่นเป็นวัดป่า เหมาะสมดีเหลือเกิน ที่บ้านฝั่งแดงเวลานี้เป็นวัดร้าง กระผมมาพักอยู่องค์เดียว ที่นั่นดี สงัดมากทุกอย่าง


ท่านว่า ‘ฮือ! อย่างนั้นหรือ ? ก็ไปสิ’

เพราะท่านเป็นไข้หวัดใหญ่มาจากโน้น ท่านเป็นไข้หวัดใหญ่ดูเหมือนอยู่นั่นสองคืนเท่านั้นละมั้ง ? เดินมา ๆ ท่านเป็นไข้หวัดใหญ่มาจากอุบลฯ เดินมาจากพระธาตุพนม มานี้ก็ประมาณสัก ๗-๘ กิโลเมตร เห็นจะได้นะ จากวัดอ้อมแก้วนี่ พระธาตุพนมอยู่ทางโน้น วัดอ้อมแก้วอยู่อีกทาง เป็นวัดท่านอาจารย์เสาร์เป็นผู้สร้างนะ พอตื่นเช้าวันหลัง ท่านไปเลย พอกราบเรียนท่านแล้ว.. ท่านเดินไปนะ

ออกจากนั้นมาก็มาพักบ้านฝั่งแดง ถ่ายรูปท่านั่ง-ท่ายืนที่วัดฝั่งแดงนี่ ที่มีต้นไม้อยู่ข้างหลังท่าน ท่านยืนอยู่ใต้ร่มไม้นั่น เราอยู่ที่นั่น ท่านอนุโลมให้ลูกศิษย์ของท่าน พวกธาตุพนมทั้งลูกทั้งหลานเต็มไปหมด มาขอถ่ายรูปกับท่าน ท่านไม่ให้ใครถ่ายง่าย ๆ นี่ท่านอนุโลมเต็มที่ เพราะเป็นลูกศิษย์เก่าของท่านตั้งแต่ท่านยังหนุ่มก็เลยให้ถ่าย ท่านอนุโลมให้ทั้งท่ายืน ท่านั่ง

ถ่ายท่านั่งขัดสมาธิ ท่ายืนพาดสังฆาฏิด้วย แกก็เห็น..นี่ละรูปท่านอาจารย์มั่นเรา หลวงปู่มั่นเรา เห็นยืนพาดสังฆาฏิ นั่งขัดสมาธิอยู่ที่บ้านฝั่งแดง ท่านเต็มใจให้ถ่าย เมตตาลูกศิษย์ของท่าน ธรรมดา..โหย...ใครจะไปถ่ายท่านได้ง่าย ๆ นี่เป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของท่าน ท่านจึงให้ถ่าย จึงได้เห็นรูปของท่าน เพราะฉะนั้น เราถึงรู้ว่าท่านถ่ายรูปที่วัดสุทธาวาสหนหนึ่ง ขึ้นนั่งบนธรรมมาสน์ แล้วก็ถ่ายที่นี่อีกหนหนึ่ง นอกนั้นไม่เห็นมีเลย...”

ลัก...ยิ้ม 03-10-2012 10:25

พระสาวก... ครั้งพุทธกาล

นิสัยเดิมของพระสารีบุตร พระสันตกาย


“...อัครสาวกข้างขวาพระสารีบุตร นิสัยของท่านแต่ก่อนเคยเป็นลิง พอมาเห็นคลองเล็ก ๆ น้ำมันไหลไปมา โดดข้ามคลองนั้นแล้วโดดข้ามคลองนี้ไป พระสงฆ์ยกโทษท่านมาฟ้องพระพุทธเจ้าว่า พระสารีบุตรได้รับคำยกย่องมา ... แล้วทำไมพระสารีบุตรขนาดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นอัครสาวกข้างขวาด้วย แล้วทำไมจึงทำตัวเป็นลิง ว่าอย่างนั้นนะ.. โดดกลับไปกลับมา ไปเห็นร่องน้ำเล็ก ๆ โดดไปโดดมา...

‘พระสารีบุตรเธอเคยเป็นลิงมาตั้ง ๕๐๐ ชาติ นิสัยเดิมของเธอเป็นอย่างนั้นแหละ ใจของเธอบริสุทธิ์แล้ว’

นี่ละ กิริยาที่มันแสดงออกสู่โลกธรรม ๘ มีตำหนิติเตียนไว้อย่างนี้ ส่วนธรรมชาตินั้นหมดโดยสิ้นเชิง... พระองค์ออกมารับเลย เธอเคยเป็นลิงมาจนเป็นนิสัย เพราะฉะนั้น กิริยาอันนี้ยกให้ลิงเสีย อัครสาวกที่เรียบร้อยนั้นยกให้พระสารีบุตรของเรา ส่วนลิงนั้นยกให้ลิงไปเสีย ท่านตอบกัน..ฟังซิน่ะ

นี่พระพุทธเจ้ายืนยันรับรองไว้ นี่หมายถึงว่าผู้ที่มีนิสัยอย่างไร หนักทางไหนไปทางนั้น... นิสัยพระสันตกายก็อีกเหมือนกันนะ ท่านไปไหนนี้เรียบหมดเลย พระสงฆ์ทั้งหลายในวัดนั้นน่ะ ค่อนข้างแน่ใจ เกือบจะทั่วทั้งวัดละว่าท่านเป็นพระอรหันต์ สันตกายคือว่าท่านมีกิริยามารยาทสวยงามมาก เคลื่อนไหวไปไหนปรากฏว่ามีสติทุกแง่ทุกมุม เหมือนว่าไม่พลั้งไม่เผลออะไรเลย ถามท่าน... ท่านก็บอกว่าท่านยัง เลยเอาเรื่องนี้ไปทูลถามพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าท่านก็สอน มีเครื่องรับรองอย่างนั้นนะ ที่จิตเรียบร้อยมาตลอดนี้ สันตกายเป็นผู้มีกาย วาจา ใจ อันสงบ... พระสันตกายนี้เธอเคยเป็นราชสีห์ติดกันมาหลายภพหลายชาติ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นสัตว์อื่นเลย เป็นราชสีห์มา ธรรมดาราชสีห์มีสติสตังระมัดระวังตัวเหมือนเสือ เหมือนแมว ไม่ได้เผลอตัวง่าย ๆ นี่เธอก็มาจากสำนักราชสีห์ เพราะฉะนั้น กิริยาอาการของเธอเวลามาบวชจึงเรียบตลอด...”

ลัก...ยิ้ม 04-10-2012 10:55

พรรษาที่ ๑๐

(พ.ศ. ๒๔๘๖) จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน (วัดป่านาคนิมิตต์) ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร


กุฏิหลวงปู่มั่นที่เสนาสนะป่าบ้านนามนในปัจจุบัน


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:28


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว