กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=21)
-   -   ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3286)

ลัก...ยิ้ม 24-12-2018 21:14

จิตตมัคโค

“... จิตตมัคโค คือ ทางเดินของจิตที่จะรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ มันเหมือนกับทางเดินด้วยเท้าของเรา เราเดินด้วยเท้า เดินไปที่ไหนที่อยู่ ๒ ฟากทางมองเห็นหมด เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทีนี้ทางเดินของจิต จิตก้าวเดินไปตามวิถีของธรรม เดินไปไหนสิ่งที่เป็นวิสัยของจิตซึ่งเป็นทางของจิตโดยแท้แล้ว มันจะเห็นบาป บุญ นรก สวรรค์ เปรต ผี อสุรกาย อะไรมันจะเห็น ๆ ของมัน...”

ลัก...ยิ้ม 05-10-2019 12:10

ต่อสู้กิเลส.. ทุกข์แสนสาหัส

ความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าในธรรมดังกล่าวนี้ ทำให้ท่านสมัครใจที่จะเผชิญกับความทุกข์จากความเพียร.. ฝึกฝนจิตอย่างหนัก ดังที่ที่ท่านเคยกล่าวไว้อย่างเด็ดว่า

“... ทุกข์ใด ๆ ที่โลกว่ากันว่าทุกข์หนักหนานั้น เราก็เคยผ่านโลกเห็นโลกมาก่อนพอสมควรถึง ๒๐ ปีเต็ม บางงานก็เหมือนกับว่าจะเหลือกำลังคือหนักมาก แต่เมื่อเทียบแล้วไม่มีงานใดที่จะหนักมากและทุกข์ยากลำบากยิ่งกว่างานต่อสู้กับกิเลส เพราะงานเหล่านั้นแม้จะหนักมากเพียงใด ก็ไม่เคยถึงขนาดสละชีวิตจิตใจกับงานนั้น แต่สำหรับงานฆ่ากิเลสนี้ ต้องยอมสละเป็นพื้นฐานเรื่อย ๆ เลย...”

ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งของท่านก็คือ การตื่นนอน ท่านก็ยังอุตส่าห์ฝึกหัดดัดนิสัยกันเสียใหม่อย่างเข้มแข็งจริงจัง ดังนี้

“... พอรู้สึกจะดีดผึงเลย ตั้งแต่เรียนหนังสือไม่เคยที่จะลุกขึ้นมาธรรมดา เพราะความตั้งใจ ความฟิตตัวเอง เป็นจริงเป็นจังกับตัวเอง พอตื่นนี้..ดีดผึง ๆ ถ้ามีเพื่อนนอนอยู่ข้างด้วยนะ หมู่เพื่อนจะตื่นเพราะความสะดุ้งเวลาลุกตื่นนอน เรียนหนังสือก็เป็นแบบนั้น ตั้งแต่เป็นนาคเข้าเรียนก็เป็นแบบนั้นเรื่อยมา ฝึกเสียจนชินเป็นนิสัย...

ทีนี้ยิ่งออกปฏิบัติด้วยแล้วยิ่งเก่ง แล้วไม่เคยนอนซ้ำอีกนะ ถ้าลงได้ดีดผึงไปแล้วเท่านั้น เว้นแต่วันถ่ายท้องไม่ได้หลับไม่ได้นอน นั่นเราก็ยกเว้นให้เฉพาะ ไม่ให้ลุกลาม... มันถ่ายท้องก็ลุกขึ้นไปถ่าย แล้วก็กลับเข้ามานอน อย่างนี้เรายกให้ เป็นกรณีอย่างนี้ นอกจากนั้นเป็นไปไม่ได้เด็ดขาดนะ..ว่างั้นเลย ทีนี้เมื่อทำตลอดตั้งแต่บวชมาจนกระทั่งออกปฏิบัติจนมันชินต่อนิสัย ไม่ต้องตั้งใจลุกอะไรนะ พอรู้สึกนั้นมันจะดีดผึงทันที

จนกระทั่งพรรษา ๑๘ เราไม่ลืมนะ ที่เราฝึกหัดนิสัยใหม่ เพราะมันเป็นนิสัยแล้วแก้ไม่ตกง่าย ๆ นะ ... เวลาภาวนาเราเคยเสียใจให้เราอยู่ นั่งไป..หลับ พอตื่นขึ้นมามันหลับอยู่กับหมอนใบหนึ่ง โอ้..ตายนี่วะ ลุกคึกคักขึ้นเลย ออกเดินจงกรมเลย ไม่ยอมนอน ตั้งแต่ตอนนั้นไม่นอนเลย เอาจนตลอดสว่าง คือดัดกัน ...

พรรษาที่ ๑๗ ล่วงไปแล้ว เราก็มาแก้นิสัยใหม่ คือการตื่นนอนแบบนั้นก็ถูกต้องแบบหนึ่ง เพราะอยู่ในเวลาเร่งความพากความเพียร... ให้ตื่นเนื้อตื่นตัวตลอดเวลา ก็ยอมรับว่าถูกต้อง

แต่เวลานี้ควรจะต้องพักผ่อนธาตุขันธ์พอประมาณ ต่อไปนี้กำหนดสอนเจ้าของ รำพึงในเจ้าของ แล้วเวลาการตื่นนอนก็ควรจะให้รู้ทิศใต้ทิศเหนือที่นั่นที่นี่ แล้วค่อยลุกขึ้นมาธรรมดาด้วยความมีสติธรรมดา ต้องการอย่างนี้ ทีนี้เราจะฝึกให้มันพอรู้สึกตัวแล้วมองรู้ทิศทางแล้ว..ลุกขึ้นธรรมดาเรียบ ๆ ไม่ให้ตื่นปึ๋งปั๋งอย่างนั้น พยายามฝึก... เราก็พยายามฝึกมาร่วมปี.. ให้รู้สึกตัวแล้วลุกขึ้นมาธรรมดา ฝึกอยู่ร่วมปีจึงเปลี่ยนได้...”

ท่านกล่าวถึงจุดนี้ ทำให้เราทราบชัดเจนว่า คนเรานี้ดีได้ด้วยการฝึก ฝึกหัดเช่นไรย่อมเป็นไปเช่นนั้น จะให้อยู่เฉย ๆ แล้วดีขึ้นมาเองย่อมเป็นไปไม่ได้

ท่านยังเล่าถึงความยากลำบากในการต่อสู้กับกิเลส ถึงขนาดต้องยอมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิตของตน เพื่อแลกกับธรรมอันสุดประเสริฐ ดังนี้

“... เมื่อถึงคลื่นที่จะฟัดกับกิเลสอย่างเต็มเหนี่ยวแล้ว ชีวิตนี้ไม่มีความหมายเลย เรียกว่าตายก็ยอมตาย เสียสละเอาชีวิตเข้าแลกเลย เพราะกิเลสถ้ามันไม่เก่งจริง ๆ แล้ว มันคงไม่สามารถครองหัวใจสัตว์โลกได้ตลอดมาทุกภพทุกชาติเช่นนี้ ครั้นพอจะต่อกรกับมัน ก็เลยต้องฟัดกันให้เต็มเหนี่ยว เรียกว่าทุกข์แสนสาหัส..

นี่ถึงกล้าพูดออกมาได้ เรากับกิเลสนี้มันผูกขึ้นมานะ เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอะไรแหละ มันเอาเรื่องที่เคยต่อสู้กันถึงพริกถึงขิง ถึงเป็นถึงตายมานั่นแหละ กิเลสกับเรานี้ไม่ทราบเป็นยังไง มันเป็นข้าศึกต่อกันอย่างยิ่ง สมมุติว่านั่งฉันจังหันอยู่นี้ว่ากองทัพกิเลสมาแล้ว.. ไหนทีเดียว บาตรนี้ทิ้งตูมเลย.. ใส่กันเปรี้ยงไม่มีคำว่ายกครู

‘เอ้า.. กิเลสตายแล้วถึงจะกลับมาฉันจังหันอีกทีหนึ่ง ถ้าเราตายแล้วก็ไม่ต้องมาฉัน ไม่ต้องมายุ่งมัน ให้กิเลสเผาศพไปเลย คำว่าถอยไม่มี’

เพราะมันเคียดแค้นถ้าพูดถึงความเคียดแค้นแบบโลก ๆ นะ นี่เรายกเอามาพูดให้เป็นข้อเปรียบเทียบกับโลกสมมุติที่มีว่าเคียดแค้น มันถึงใจถึงขนาดนั้นนะ

รอไม่ได้เลย คำข้าวยังคาปากอยู่ก็ทั้งต่อยทั้งเคี้ยว หรือมันลืมเคี้ยวก็ไม่รู้แหละ เอากันเลย ปึ๋งเลยเทียว รอไม่ได้...”

ท่านเคยเปรียบ... ความทุกข์ยากลำบากในการต่อสู้กับกิเลสกับการติดคุกติดตะรางไว้ดังนี้

“... ตั้งแต่บัดนั้น .. ขึ้นเวทีไม่มีการให้น้ำ ถ้าว่าให้น้ำก็ให้เวลาหลับ นอกนั้นไม่มี กรรมการไม่ต้อง ไม่มีกรรมการแยก มันจะตายช้าไป ใครเก่งให้อยู่บนเวที ใครไม่เก่งให้ตกเวที ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันบนหัวใจเรา เอ้า.. ใครเก่งให้อยู่บนเวที ใครไม่เก่ง เอ้า..ให้ตกเวที ... ติดคุกติดตะรางนี้ เราสมัครเลยนะ

ความทุกข์ยากลำบากในการประกอบความพากเพียร เราหนักมากขนาดนั้น เขาว่าติดคุกติดตะรางนี้เป็นความทุกข์ความลำบาก เราจะสมัครไปติดคุกติดตะราง เพราะติดคุกติดตะรางกินข้าววันละ ๓ มื้อ จักตอกเหลาตอกได้วันละ ๕ เส้น ฆ่าเวลาไปวันหนึ่ง ๆ พอได้ถึงวันออก แต่ส่วนเราถ้ากิเลสไม่พังจากหัวใจเมื่อไร.. ไม่มีวันออก ต้องเอากันจนเป็นจนตาย มันก็หนักมากละซิ...”

ลัก...ยิ้ม 29-01-2020 16:01

๘ เดือนกับนางงามจักรวาลอวิชชา ๓ เดือนกับการแก้ปัญหาธรรม

ย้อนมากล่าวถึงปัญหาธรรม “ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ” ที่เกิดขึ้นที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ท่านกอดปัญหานี้ไว้นาน ๓ เดือน หลังออกจากวัดดอยธรรมเจดีย์เพื่อไปร่วมงานทำบุญ ๑๐๐ วันหลวงปู่มั่นแล้ว ออกวิเวกไปทางรอยต่อจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย และในที่สุดก็วกกลับมาที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จึงสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยองค์ท่านเอง ดังนี้

“... เวลามันผ่านไปแล้วจึงมารู้นะ มีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ คือจุดของดวงไฟอยู่กลางตะเกียงเจ้าพายุ..เข้าใจไหม ? นี่ละ..เรียกว่าจุดความสว่างไสว นี้ก็เป็นจุด นี้ก็เป็นสมมุติ นี้คือตัวภพตัวชาติ อยู่จุดนี้นะ ความหมายว่างั้น ธรรมที่บอก แต่เรามันจับไม่ได้ ‘โอ้โหย.. ทำไมเป็นอย่างนี้’

เลยงงไปอีก จะจับเอาจุดนั้นไม่จับ พูดแล้วคิดถึงพ่อแม่ครูอาจารย์ โอ๋ย.. ถ้าหากว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ คือตอนนั้นท่านล่วงไปใหม่ ๆ เผาศพท่านเรียบร้อยแล้วก็ขึ้นวัดดอยธรรมเจดีย์ ๓ เดือน จิตของเรามันก็เป็นของมันอยู่แล้ว แต่ระยะนั้นขึ้นไปที่สงัดมันยิ่งเพิ่มเข้าไป ทุกสิ่งทุกอย่างมันจ้าไปหมด ทีนี้มันก็เกิดอันนี้ขึ้นมา

นี่ถ้าหากว่าพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นยังอยู่ เราก็จะไปกราบเรียนท่านว่า จิตของเราสว่างไสวอย่างนั้น ๆ แล้วธรรมหรืออะไรก็ไม่ทราบมาเตือนเรา จุดกับต่อมมันเป็นไวพจน์ของกันใช้แทนกันได้ จุดก็จุดความสว่างนี้ สว่างของจิตนี้เหมือนกับไส้ตะเกียงเจ้าพายุนั่นแหละ คำว่าต่อมคืออันนี้ จุดก็คืออันนี้เอง ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน คือมีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ ผู้รู้ก็คือตัวนี้แหละ คือตัวสว่างที่มันครอบผู้รู้นี้เอาไว้นะ ความสว่างนี้มันเป็นอีกอันหนึ่ง เพราะฉะนั้น..มันถึงพังลงได้ซิ ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ ผู้รู้คือใจนี้ อยู่ที่ไหนนั้นแลคือตัวภพ นี่ภพชาติอยู่จุดนี้ พอว่าอย่างนั้น.. เรางง ถ้าหากว่าเราจับได้ปุ๊บ.. ว่าจุดต่อมคืออันนี้เอง ก็จะไป (สำเร็จ) เดี๋ยวนั้นเลยนะ

ถ้าไปเล่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟังอย่างนี้ ท่านจะใส่ทันทีเลยนะว่า ‘ก็จุดนั้นแล ก็ตัวสว่างนั่นแหละ คือตัวจุดตัวต่อม ตัวภพตัวชาติ นั่นแหละตัวภัย

ใส่ทีเดียวผางเลยนะ จะสำเร็จในเวลานั้นเลย พูดให้มันตรงเลยเพราะมันจวนเต็มเหนี่ยวแล้วนี่ เราก็ไปติดตรงนั้น ถ้าท่านตีตรงนั้นออกแตกกระจายมันก็ผึงเลย อันนี้ไปงงเป็นบ้า เสียเท่าไร ๓ เดือนเราไม่ลืมนะ จากวัดดอยธรรมเจดีย์นี้ เขาก็นิมนต์ลงไปงานร้อยวันของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น เราก็ต้องได้ลงไปเพราะเคารพมาก เขานิมนต์ลงไปในงานร้อยวัน เราก็ต้องลงไปสกลนครไปงานร้อยวันท่าน

ออกจากนั้นแล้วบึ่งเลย หนีเลยไม่ขึ้นมาวัดดอยอีก ฟาดไปทางอำเภอบ้านผือ อำเภอศรีเชียงใหม่ไปนู้น ถึงกลับมาอีกเป็นเวลา ๓ เดือน จากจุดต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหนเป็นเวลา ๓ เดือน จากนี้ไปกลับมาก็มาปลงกันที่นี่อีกนะ ขึ้นมาอีกวัดดอยที่เก่านั่นแหละ ที่ว่าวันที่ ๑๕ นั่น นี่เป็นครั้งที่ ๒ ครั้งสุดท้ายของมันที่มาพังกันได้

พออันนี้พังลงไปแล้ว ‘โอ้โห.. เอาอีกนะ โอ๊ย.. ที่แสดงก็แสดงอย่างถูกต้อง ทำไมมันโง่เอานักหนานะ ทีนี้เวลามันเปิดก็เปิดจุดนั้นเอง ที่ว่ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ไหน คือจุดต่อมแห่งผู้รู้นั้นพังลงไปหมดแล้ว ผู้รู้จริง ๆ แล้วจ้าหมดเลย’

ทีนี้ความสว่างไสวที่ว่าอัศจรรย์นั้น มันกลายเป็นกองขี้ควายไป ฟังซิน่ะ กองขี้ควายมันดีอะไร ?

นี่ที่เราเห็นว่า กองขี้ควายเป็นทองคำทั้งแท่งคือจุดคือต่อมนี้เอง เราไม่รู้..ธรรมท่านเตือนขึ้นมาจะหลงอันนี้ เวลามันไปพังกันได้แล้ว ไอ้ที่ว่าความสว่างไสวนี้มันกลายเป็นกองขึ้ควายไปนะ ธรรมธาตุที่ถูกความสว่างครอบอันนี้คืออะไร ? นั่นละอันนั้น พออันนี้เปิดจ้า อันนี้พังลงไปแล้ว อันนั้นจ้าขึ้นมา โอ้โห.. ทีนี้พูดไม่ได้ จึงว่าฟ้าดินถล่มว่างั้นเถอะ ไอ้สว่างไสวมาก ๆ นี้กลายเป็นกองขี้ควายไปอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ทีเดียว โถ.. เป็นอย่างนี้นะ จึงได้ โถ.. อวิชชาขนาดนี้เทียวนา ๆ นี่อวิชชา

ลัก...ยิ้ม 30-01-2020 14:13

ใครอย่าไปคาดอวิชชาว่าเป็นเสือโคร่ง เสือดาว เป็นยักษ์ เป็นผี เวลาไปเจอเข้าแล้วเป็นอย่างนี้ละ.. อวิชชา เป็นนางงามจักรวาล ใครก็ตามถ้าไม่มีใครสอนไปแล้วติดว่างั้นเลย เราพูดอย่างมั่นใจเราติดมาแล้ว พออันนี้พังไปเท่านั้น ธรรมชาติของตัวเองโดยหลักธรรมชาติแท้คือ จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วเปิดออกหมดแล้วเต็มเหนี่ยว นี่ละที่เข้ากันไม่ได้กับกองขี้ควายอันนี้ซึ่งเป็นเครื่องหลอกของอวิชชา นี่ละ..อวิชชาแท้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อะไรเป็นอวิชชา

อย่าไปคาด อวิชชาเป็นเสือโคร่ง เสือเหลือง เสือดาว เป็นยักษ์เป็นผี คาดไม่ถูก เวลาเข้าไปเจอจริง ๆ แล้ว โอ๋ย.. นางงามจักรวาลกล่อมหลับหมด อย่างนี้ยิ่งหลับง่าย ว่าแก่นี้ไม่แก่นี้ ให้เห็นหญิงสาวลองดู.. หลง เมียเจ้าของนั่งอยู่ข้างหลังมันเห็นเมื่อไร นี่ถ้าเห็นตัวนี้แล้วลืมบ้าไปเลย เข้าใจไหม เตือนไว้อย่าเป็นบ้านะ เฒ่าแก่แล้วหัวก็ล้านด้วย เดี๋ยวจะไม่มีผมนะ มันต้องซัดกันอย่างนี้ นี่ละเข้าใจไหม อวิชชามันหลอกให้คนลืมตัว หัวล้านไม่ว่าล้าน เห็นสาวนี้วุ่นเลยนะ นี่มันหลอกเอาอวิชชา เข้าใจไหม นี่เราพูดถึงเรื่องอัศจรรย์นะ พออันนี้พังลงไปแล้วพูดไม่ได้เลยว่างั้นเถอะ จนถึงขนาดที่ว่าออกอุทานเลย.. ‘โอ้โห..ขนาดนี้เทียวเหรอ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างนี้ละเหรอ ๆ’ เห็นไหมมันซ้ำนะ ซ้ำด้วยความถึงใจนะ

ก็เราไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ยังไง เวลามันผางขึ้นมานี้ ขึ้นอุทานทันที กองขี้ควายพังลงไปแล้ว อันนี้จ้าขึ้นมานี้.. อย่างนี้เหรอ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างนี้ละเหรอ ๆ นู่นขึ้นเองนะ เราไม่ได้วัดรอยมัน มันเป็นของมันเองเข้าใจไหม กระเทือนไปหมดเลย หือ.. ธรรมแท้เป็นอย่างนี้ละเหรอ ๆ พระสงฆ์แท้เป็นอย่างนี้ละเหรอ คืออันเดียวกันนี้ ทีนี้ก็ประมวลมา เหอ.. พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นั้น กลายมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไร คือมันเป็นแล้วเข้าใจไหม นี่เรียกว่ามหาสมุทร นี่เป็นแม่น้ำมหาสมุทรแล้ว ถ้าเป็นธรรมธาตุก็เป็นธรรมธาตุเหมือนกันแล้ว ไม่มีคำว่า พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมเข้าไปเป็นอันเดียวกันแล้วเลิศอยู่ในนั้นหมด อ๋อ.. อย่างนี้เอง

นี่พูดถึงเรื่องความสว่างของจิตมันเป็นขั้นเป็นตอนนะ เราเทศน์ลำดับของจิตของความว่าง เราก็พูดให้ฟังจนกระทั่งถึงนี่ได้พูดถึงสุดยอดเลย สุดขีด เราพูดเลยนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ความสามารถเราไม่มี เราก็ไม่สนใจกับความสามารถอันใดที่จะเหนือไปอีกด้วยนะ เราไม่เคยสนใจ ..

ลัก...ยิ้ม 01-02-2020 21:49

ที่พูดถึงเรื่องความสว่างไสวของจิตจนตัวเองก็อัศจรรย์ตัวเอง ที่มันเป็นกิเลสอยู่นั่นแต่เจ้าของไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่เราจะให้พ้นจากกิเลส แต่เวลาไปเจอกิเลส.. ตัวสง่าผ่าเผย ตัวผ่องใสนี้เข้าไปแล้วติดเลยเทียว ไม่มีใครมายอก็เจ้าของยอเจ้าของเอง

‘โอ้โห..จิตเรานี้ทำไมมันถึงสว่างไสวเอานักหนานา โถ.. อัศจรรย์’

กำหนดทดลองดูสิ่งไหน ๆ ก็ไม่เหมือนมัน มองดูที่ไหนมันไม่เหมือนอันนี้ อันนี้มันสว่างจ้า ทำไมจิตใจจึงสว่างไสว อัศจรรย์ถึงขนาดนี้เชียวนา ๆ

นี่ละ..ท่านทั้งหลาย..รู้ไหมว่า เครื่องกล่อมกิเลสกษัตริย์วัฏจักรของกิเลสทั้งหลายคือ อวิชชา.. วิชชาสุดยอดของอวิชชามันกล่อมใจ ถึงขนาดผู้ปฏิบัติธรรมขั้นนี้ ไม่ใช่ขั้นธรรมดานะ อย่างน้อยสติปัญญาอัตโนมัติหมุนตัวไปด้วยความรอบคอบตลอดเวลา แล้วเชื่อมโยงกันกับมหาสติมหาปัญญา ซึบซาบไปด้วยความรอบคอบ เหตุใดจึงมาติดความสว่างอย่างนี้ซึ่งเป็นเหยื่อของอวิชชา ฟังให้ดีนะ..นี่ละเหยื่อของอวิชชาที่กล่อมสัตว์โลกดังที่เคยพูด

ใครอย่าไปวาดภาพหนา วาดภาพอวิชชาเหมือนเสือโคร่งเสือดาว อย่านะ..ผิดทั้งเพ เวลาเจออวิชชาเข้าไปก็คือตัวนี้เอง ยอตัวเอง โถ.. จิตเราทำไมสว่างไสวเอานักหนา อัศจรรย์นักหนา นี่..เห็นไหม..มันเป็นให้ยอเอง คือมันอัศจรรย์อันนี้ จิตอันนี้ก็อยู่กับเรา โหย.. จิตเราทำไมสว่างไสวนักหนานะ นี่ละ..วิชชาสุดยอดของวัฏจักรอยู่จุดนี้ กล่อมโลก.. ถึงขนาดมหาสติมหาปัญญายังติดได้ ฟังซิ..แต่ว่าติดในประเภทของมหาสติมหาปัญญา ติดด้วยความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา แต่ติดแล้วสลัดได้

โลกติดไม่มีทางสลัด สำหรับผู้บำเพ็ญธรรมถึงขั้นมหาสติมหาปัญญายังติดอันนี้อยู่ แต่ติดเพื่อจะถอน.. คือพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มหาสติมหาปัญญาไม่มีคำว่านอนใจ เรียกว่าติดด้วยความไม่นอนใจ ด้วยความสิ้นปัญญาอยู่นั่นละ.. มันยังหาช่องออกไม่ได้ มันติดแบบมหาสติมหาปัญญาติดกิเลส ติดอวิชชา นี่ละ..ที่ว่าวิชชาสุดท้าย วิชชาสุดยอดของวัฏจักร ก็คือ อวิชชาปัจจยา สังขารา ใครไปวาดว่าเป็นเหมือนเสือโคร่งเสือดาว เหมือนยักษ์เหมือนผี หรือว่าน่าหวาดน่ากลัว..ผิดทั้งเพ เวลาเข้าไปเจอจริง ๆ แล้ว.. ใครจะอ้อยอิ่งยิ่งกว่าอวิชชานี้

จึงเทียบได้ว่านางงามจักรวาล ว่างั้น..เหมาะเลย นางงามจักรวาลกับยักษ์กับผีมันเข้ากันได้ไหมล่ะ ? ที่เราวาดภาพอวิชชาเหมือนยักษ์ เหมือนผี ทีนี้เวลาไปเจออวิชชาจริง ๆ แล้วมันกลายเป็นนางงามจักรวาลไป เห็นไหมล่ะ ไม่รู้.. นี่ก็เรียกว่าอวิชชา ก็คือกิเลส จอมกิเลสจอมกษัตริย์ มันก็ไปรอตัวเองอยู่ในนั้นเสีย โห.. ทำไมจิตเราถึงอัศจรรย์ขนาดนี้ ? ทำไมสว่างไสวเอานักหนา ?์ กำหนดไปที่ไหนจ้าไปหมด ครอบไปหมดเลย อัศจรรย์ตัวเองอยู่คนเดียว ฟังซินะ..พระธรรมท่านก็เมตตาเพราะเห็นว่าติด คำว่าติดไม่ใช่ของดี แม้จะพันอยู่ชั่วระยะใกล้ ๆ ก็ตาม..ก็ไม่ใช่ของดี

ธรรมท่านก็เตือนขึ้นมาว่า ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั่นแลคือตัวภพ คือตัวนี้เอง.. ตัวสว่างกระจ่างแจ้ง นี่..จุดแห่งความสว่างกระจ่างแจ้ง หรือต่อมแห่งความสว่างกระจ่างแจ้ง หรือต่อมแห่งความอัศจรรย์ นี่แลคือตัวภพ แต่เราไม่รู้ซิ ธรรมท่านเตือนบอก เลยงงไปอีก มันงงของมันไปขนาดนั้นละ วิชชาสุดท้ายของวัฏจักรมายุติกันตรงนี้ หลงสุดขีดก็หลงตรงนี้ ถ้าแก้ตรงนี้ไปแล้วผางเลยทีนี้ ฟังซินะที่ว่า ความสว่างกระจ่างแจ้ง ความอัศจรรย์เต็มเหนี่ยว ๆ เต็มที่ในหัวใจเรานี้น่ะ พอมหาสติมหาปัญญาฟัดธรรมชาติที่สว่างกระจ่างแจ้งเต็มที่ขาดสะบั้นลงไปหมด แล้วอันนั้นจ้าขึ้นมา คราวหลังนี้เป็นยังไง ? นี่ละ..จ้าขึ้นมาคราวหลังนี้คือ.. จ้าวิมุตติหลุดพ้น

ลัก...ยิ้ม 04-02-2020 22:14

จ้าเบื้องต้นนั้นคือ จ้าวัฏจักร.. ความสว่างของวัฏจักรคืออวิชชา ความสว่างของวิวัฏจักรคือจิตที่หลุดพ้นแล้ว ได้แก่ท่านผู้ตรัสรู้ธรรม พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ตรัสรู้ธรรมผางขึ้นมาคราวนี้ ความสว่างอันนี้แลเป็นความสว่างนอกจากวัฏจักรไปเรียบร้อยแล้ว

ทีนี้เวลามาเทียบกับความสว่างของวัฏจักรของอวิชชานี้ อวิชชาจึงกลายเป็นกองขี้ควายไปได้ ฟังซิ..ธรรมชาตินั้นเหนือกันขนาดไหน จึงมาตำหนิความสว่างของอวิชชานี้ว่าเป็นเหมือนกองขี้ควาย เลิศขนาดไหนถึงจะมาตำหนิอย่างนี้ได้ลงคอ พิจารณาซิ..นั่นน่ะ..ที่พูดไม่ได้ อันนั้นเลยแล้ว พูดไม่ถูกทั้งนั้น

ถ้ามีข้อเทียบเคียง มาเทียบเคียงกับอวิชชาที่สว่างไสวนี้ นี้แลคือกองขี้ควายได้เท่านั้น ธรรมชาตินั้นคืออะไรพูดไม่ได้นะ...”

ลัก...ยิ้ม 04-02-2020 22:22

อวิชชากองขี้ควาย

การต่อสู้กับกิเลสมีความยากลำบากมาก แม้สามารถฝึกฝนสติปัญญาถึงขั้นเกรียงไกรก็ยังหลงมายาของนางงามจักรวาลอวิชชา ดังนี้

“... อวิชชาแท้นั่นละจอมกษัตริย์ของกิเลสทั้งหลาย ถ้าเป็นไม้ก็เรียกว่ารากแก้ว รากฝอยตัดเข้าไป ๆ เข้าไปถึงรากแก้ว ถ้าเป็นต้นก็เรียกว่าแก่น ถ้าเป็นรากก็เรียกว่ารากแก้ว อวิชชาจริง ๆ แม้แต่มหาสติมหาปัญญายังหลงกลมายาของมัน ว่าไง.. ละเอียดขนาดไหน ละเอียดขนาดนั้น ขนาดสติปัญญาอัตโนมัติยังหลงกลมัน เป็นองค์รักษ์รักษามันเสียด้วยซ้ำไป

‘เฮ้อ.. พูดถึงเรื่องความโง่ต่ออวิชชานี่ ก็น่าบัดซบเหมือนกันนะ มันทุเรศ..ไม่ให้อะไรมาแตะต้อง เพราะมันผ่องมันใส มันละเอียดลออ มันอ้อยอิ่ง ไม่มีอะไรเหมือนเลย’

เวลาเข้าไปถึงตัวอวิชชาจริง ๆ แทนที่จะเป็นภาพเหมือนเสือโคร่ง เสือดาว เหมือนยักษ์ เหมือนผีอย่างนั้น มันกลับเป็นนางงามจักรวาลไปซิ เจ้าสติปัญญาที่ฝึกมาอย่างเกรียงไกรนั่นก็เลยกลายเป็นองครักษ์รักษาอันนี้ ไม่ให้อะไรมาแตะต้องมัน

สลัดปั๊บ ๆ อะไรจะมาแตะไม่ได้ สัมผัสอะไร เรื่องอะไรนี้มันสลัดปั๊บ ๆ เลย.. รักษาอวิชชาไว้เสียนี่ กลายเป็นองครักษ์ของอวิชชา ในเบื้องต้นเป็นอย่างนั้น เพราะไม่มีอะไรเหลือ มีอันเดียวเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะพิจารณาแล้ว.. หมด สิ่งเหล่านี้มันรู้หมดแล้ว มันปล่อยทั้งนั้นแหละ ไม่ไปสนใจ รู้อะไรแล้วปล่อย มันจะดูรู้สึกที่สง่าผ่าเผยที่ว่าความผ่องใส องอาจกล้าหาญ

ลัก...ยิ้ม 05-02-2020 20:58

ถ้าพูดถึงว่า ‘อัศจรรย์ของอวิชชานี้ ก็อัศจรรย์จนขนาดสติปัญญาอัตโนมัติชมเชย’ พูดง่าย ๆ นะ ‘ยกย่องชมเชย ถวายตัวเป็นองค์รักษ์’ พูดง่าย ๆ

แต่เพราะขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้วจะละเอียดขนาดไหนก็ตาม มันจะแสดงอาการพิรุธให้เห็นจนได้ ด้วยสติปัญญาอัตโนมัติก็แหลมคมไม่ใช่เล่น เพราะไม่ใช่แต่เพียงรักษาอย่างเดียว ยังต้องสังเกตว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับนี่ ๆ ทีนี้มันก็มีเพราะอันนี้เป็นตัวสมมุติ ทีนี้สมมุติที่จะแทรกกันขึ้นมากับสมมุตินี้ ก็ได้แก่ความผ่องใส ความเศร้าหมอง คือความผ่องใสนั้น.. ผ่องใสตามส่วนของธรรมละเอียด เศร้าหมองก็เศร้าหมองตามส่วนของธรรมละเอียด มันหากมีจนได้ แม้จะละเอียดขนาดไหนสติปัญญานี้ก็ทันก็รู้ เมื่อแสดงขึ้นมาหลายครั้งหลายหนก็ทำให้เอะใจ

‘เอ๊ะ.. ทำไมธรรมชาติอันนี้นึกว่าจะคงเส้นคงวาแล้ว ทำไมจึงมีอาการแปลก ๆ ให้เห็น เดี๋ยวว่าผ่องใส เดี๋ยวว่าเศร้าหมอง ถึงจะละเอียดแค่ไหนก็ตามนะ

จิตละเอียดแค่ไหน... ความเศร้าหมอง ความผ่องใส ก็จะละเอียดไปตาม ๆ กันนั้นแหละ แม้เช่นนั้นมันก็ไม่ทนกับสติปัญญาที่จ่ออยู่ตลอดเวลาได้ ทั้ง ๆ ที่รักษาอยู่มันก็แสดงอาการให้เห็นพิรุธ.. ก็จับปั๊บเข้าไปซิ เลยเอาจุดนี้เป็นสนามรบละ ที่นี่ ‘เอ๊ะ.. นี่มันอะไรถึงเป็นอย่างนี้’ กว่าจะรู้นะ ว่าเป็นของดิบของดี ว่าเป็นของวิเศษวิโส

‘ทำไมจึงมามีอาการเศร้าหมองบ้าง อาการผ่องใสบ้าง มีลักษณะทุกข์บ้าง สุขบ้าง ทำไมจึงมาเป็นอย่างนี้ ?’

คือทุกข์ ก็ทุกข์ตามส่วนละเอียดของธรรม ของจิตนั่นแหละ ไม่ทุกข์มากก็พอให้รู้จนได้ เพราะสติปัญญาขั้นนี้เป็นขั้นที่แหลมคมมาก ก็จับซิ..นั่นเป็นต้นเหตุให้พิจารณา ทีนี้จุดนั้นเลยเป็นจุดพิจารณาขึ้นแล้วทีนี้ เหมือนกับสภาวธรรมทั้งหลาย เราผ่านไปได้ก็เพราะเราพิจารณาเข้าใจแล้วผ่าน ๆ ไป ทีนี้อันนี้กำลังสงสัยมันก็จ่อเข้ามานี้อีก มันพิจารณาเข้าใจปั๊บก็ขาดลอยไปเลย ไม่มีอะไรเหลือ

ทีนี้เมื่อเราเทียบถึงว่า ความอัศจรรย์ของอวิชชาอันนี้กับความอัศจรรย์ของจิตที่บริสุทธิ์นั้น.. มันเป็นคนละโลกเลย ถ้าหากว่าเราจะเทียบก็เหมือนกับกองขี้ควายกับทองคำทั้งก้อน ผิดกันยังไง ความบริสุทธิ์นั้นเหมือนทองคำทั้งแท่งทั้งก้อน อวิชชานี้เหมือนกับกองขี้ควาย มันห่างกันขนาดนั้นนะ ผิดกันขนาดนั้น เพราะฉะนั้น.. จึงใครก็ตามถ้าไปเจอนี้ได้หลงกลอันนี้แล้ว และค่อยผ่านไปทีหลัง ยังไงก็ต้องเกิดความสลดใจ เห็นความโง่ของตัวเอง

‘โอ้โห ๆ ขนาดนี้เชียวหรือ อวิชชาขนาดนี้เชียวหรือ โอ้โห ๆ เลย เรานึกว่ามันอัศจรรย์ขนาดไหน อัศจรรย์อะไร กองขี้ควาย มันมาหลงกองขี้ควายจนได้’

เพราะสติปัญญาอันนั้นแหละ เพราะทางไม่เคยเดิน สิ่งไม่เคยรู้ แต่เวลาพิจารณาเข้าไป ๆ มันก็ตะล่อมเข้าไป ๆ ก็ไปถึงจุดสุดท้ายของมัน จุดสุดท้ายคือจุดนี้

ถ้าหากว่าแก้ไม่ได้มันก็ต้องอยู่นี่แหละ ยังพาให้หลง แม้จะไม่กลับมาเกิดอีกก็ตาม ก็ยังจะต้องเกิดอีกขั้นนั้นขั้นนี้ ถึงจะต่อไปได้ถึงที่สุดก็ยังเรียกว่าเกิด.. ไปเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้นเป็นต้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ๕ ชั้นนี้เป็นชั้นที่อยู่ของพระอนาคามีซึ่งกำลังดำเนินอรหัตมรรค อรหัตมรรคกำลังจะเต็มภูมิแล้ว พอรู้ปั๊บก็เป็นอรหัตผลขึ้นมาเต็มภูมิ...”

เมื่อถึงจุดนี้ย่อมเป็นสิ่งพิสูจน์ปฏิปทาการดำเนินของท่านว่า แม้จะทุกข์ยากลำบากเพียงใด ความพากเพียรเข้มแข็งมุ่งมั่นจริงจังของท่านก็มีน้ำหนักมากกว่า

ธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนพระภิกษุในครั้งพุทธกาล ให้มีพละ ๕ หรืออินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเท่ากับเป็นการตามเสด็จพระพุทธเจ้าตลอดเวลา จึงปรากฏผลเป็นความจริง เป็นความบริสุทธิ์อยู่ภายในใจท่านตลอดไป

ลัก...ยิ้ม 07-02-2020 12:28

พระครั้งพุทธกาล บวชเพื่อพระนิพพาน

องค์หลวงตากล่าวถึงความจริงจังของพระในครั้งพุทธกาล ดังนี้

“... ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเป็นองค์ประทานพระโอวาทแก่บรรดาพระผู้ปฏิบัติ ที่เข้ามาอบรมศึกษาและศึกษาเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อมรรคผลนิพพานจริง ๆ ไม่ได้ศึกษาเพียงสักแต่ชื่อแต่นามเพราะความจดจำเพียงเท่านั้น และไม่ได้ศึกษาเพื่อเอาขั้นเอาภูมิดังปัจจุบันนี้

นอกจากท่านจะได้ยินได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์แบบทุกอย่างในเรื่องมรรคผล ท่านยังได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมในการชำระกิเลสอยู่ทุกกาลอีกด้วย โดยมักหลีกเร้นอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร ไม่ค่อยพลุกพล่านวุ่นวายด้วยฝูงชน

พระผู้มาศึกษาก็ล้วนแต่มีความมุ่งมั่นต่อมรรคผล ต่อวิมุติ ต่อความพ้นทุกข์จริง ๆ โดยมีความพากเพียรเป็นพื้นฐานเพราะเห็นภัยจากการเวียนว่ายตายเกิด งานของพระในครั้งพุทธกาลจึงมีแต่เรื่องของงานเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ซึ่งก็คืองานฆ่ากิเลสโดยตรงนั่นเอง ฉะนั้น..ผลแห่งการปฏิบัติจึงมักบรรลุสมความตั้งใจ เกิดพระอรหันตขีณาสพขึ้นอย่างมากมายในสมัยนั้น รองลงมาก็เป็นพระอนาคามี เป็นสกิทาคามี เป็นโสดาบัน เป็นกัลยาณภิกษุ และกัลยาณปุถุชน...”

ย้อนกลับมาสู่ชีวิตของท่าน แรกเริ่มเดิมทีท่านก็มิได้ตั้งใจอยากบวชแต่อย่างใด ด้วยขนบประเพณีแต่โบราณทำให้พ่อแม่ปรารถนาจะได้บุญจากการบวชของลูก ใจในทีแรกแม้จะยังไม่พร้อม แต่ด้วยน้ำตาพ่อแม่ทำให้ท่านตระหนัก.. เห็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของพ่อแม่ ที่จะขออาศัยพึ่งใบบุญบวชจากลูก เพื่อเป็นทุนอุดหนุนชีวิตหลังสิ้นอายุขัยแล้ว ความกตัญญูรู้คุณทำให้ตัดใจได้ เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ นิสัยทำอะไรทำจริงอันติดมาแต่ครั้งฆราวาส ทำให้มีความจริงจังต่อการศึกษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า จึงเริ่มเข้าใจจุดหมายแท้จริงของชีวิต

เมื่อเรียนปริยัติก็เรียนเพื่อเก็บหอมรอมริบข้อธรรมและวินัยหลายแง่หลายมุม โดยหวังเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการออกปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานอย่างแท้จริง มิใช่หวังชั้นหวังภูมิยศศักดิ์แต่อย่างใด ความรู้นั้นทำให้พอมีเกณฑ์บรรทัดฐานในการเสาะหาครูอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องมรรคผลและข้อปฏิบัติที่ตรงทาง

จากนั้นเมื่อมีโอกาสเข้าศึกษาอบรมกับหลวงปู่มั่น จึงได้เร่งความเพียรอย่างเต็มสติกำลังความสามารถด้วยจิตภาวนา จนสามารถหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสเข้าสู่แดนแห่งความพ้นทุกข์อันเกษม ชีวิตนักบวชของท่านจึงสมบูรณ์พร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

ลัก...ยิ้ม 08-02-2020 20:41

พระไตรปิฎกใน
องค์หลวงตา เปรียบเทียบความรู้จากการเรียนปริยัติกับความรู้จากการปฏิบัติไว้ ดังนี้

“...พระไตรปิฎกใน คือ ผู้สิ้นกิเลสแล้ว เป็นผู้ทรงธรรมล้วน ๆ ไว้บริสุทธิ์เต็มที่ พระไตรปิฎกนอก เป็นคนที่มีกิเลส ไปจดจารึกเอามา

แยกเข้าไปอีกว่า พระไตรปิฎกตาดี คือ ท่านผู้สว่างกระจ่างแจ้ง ทรงธรรมแท้ ทรงธรรมที่บริสุทธิ์ พุทโธเต็มที่ไว้ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอรหันต์ ท่านนี่ออกจากหัวใจของท่าน... จ้าไปหมดครอบโลกธาตุ

พระไตรปิฎกตาบอด คือ เราเรียนเท่าไหร่ก็เรียน ฟาดจนจบพระไตรปิฎกก็ได้แต่ชื่อ ได้แต่นาม ได้แต่ความจำ ได้แต่ตำรับตำรา ไม่ได้ความจริงอย่างท่านมา ก็เรียกว่าผู้ไปจดจารึก หรือถ้าเป็นประเภทนั้นก็ตาม แล้วผู้ที่เรียนตามนั้นก็เป็นคนตาบอด คำว่า “บอด” นี้ หมายความว่ากิเลสครอบงำหัวใจ ใจยังมืดมิดปิดตาอยู่ แม้จะเรียนอรรถเรียนธรรม ก็มีแต่ชื่อแต่นามของอรรถของธรรม แต่ใจยังบอดอยู่…”

เพราะเหตุนี้ ท่านจึงเน้นภาคปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้เข้าสู่ความจริง ดังนี้

“... พระพุทธศาสนาของเราตามตำรับตำรา ท่านก็มีไว้สมบูรณ์ทั้งพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ท่านบรรจุไว้เรียบร้อย เราก็เรียนมาตามนั้น เรียนตามที่ท่านจดจารึกเอาไว้ในปิฎกต่าง ๆ เข้าสู่หัวใจด้วยความจำ ในระยะนี้การเรียนทั้งหมดไม่ว่าจะเรียนปิฎกใดเข้าสู่ใจ เป็นการเข้าสู่ด้วยความจำ.. ธรรมะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้ท่องบ่นสังวัธยายทั้งหมด รวมเข้ามาสู่ใจนี้เป็นธรรมะภาคความจำ ไหลเข้าสู่ใจด้วยความจำ ยังไม่เข้าสู่ใจด้วยความจริง

เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษามากน้อยจึงไม่พ้นความสงสัยในการดำเนินว่า จะดำเนินอย่างไรดี ดำเนินอย่างไรถูก หรืออย่างไรผิด ความสงสัยนี้จะต้องเป็นพื้นอยู่โดยดีในบรรดานักปริยัติทั้งหลาย ไม่ว่าท่านว่าเรา นี่พูดตามหลักความจริง ซึ่งมีอยู่ในหัวใจของผู้ศึกษาเล่าเรียนมา

เราอยากจะพูดเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยว่าทุกดวงใจเป็นอย่างนั้น เพราะจะเป็นเรื่องที่จะเป็นอย่างนั้นโดยแท้ เนื่องจากไม่มีผู้สันทัดจัดเจนในปฏิปทาเครื่องดำเนินและรู้เห็นจากการดำเนินนั้น อันเป็นฝ่ายผลมาก่อนแล้วมาชี้แจงแสดงบอก จึงทำให้ผู้ที่ศึกษามากน้อยอดสงสัยไม่ได้ จำต้องสงสัยอยู่โดยดี นี่เป็นคตินิสัยของปุถุชนเราโดยทั่ว ๆ ไป

การพูดถึงก็พูดถึงแต่ภาคความจำ ไม่ว่าจะพูดถึงธรรมในปิฎกใด... พระวินัยปิฎก นั้นรู้แล้วว่าต้องอาศัยความจำเป็นหลัก.. สำคัญที่จะประพฤติปฏิบัติตัวอันนี้ไม่พิสดารอะไรมาก ที่พิสดารมากก็คือ พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นธรรมที่พิสดารมากจริง ๆ ...

ผู้ที่เรียนมาทั้งหลายนี้ไม่ได้มีความจริงเข้าสู่ใจ.. แล้วจะเอาอะไรไปประพฤติปฎิบัติ จึงต้องแบกความสงสัยเต็มหัวใจอยู่นั่นแล เรียนก็เรียน รู้ก็รู้ในภาคความจำ แต่วิธีปฏิบัติเมื่อไม่มีผู้ชำนิชำนาญพร้อมทั้งการทรงผลมาแล้วมาพาดำเนิน จึงเป็นเรื่องลำบากอยู่มาก ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้โดยถูกต้องดีงาม และราบรื่นไปโดยสม่ำเสมอเลย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ อย่างสมัยปัจจุบันนี้ก็คือ หลวงปู่มั่นเป็นสำคัญ...”

ลัก...ยิ้ม 10-02-2020 15:58

ผู้ปฏิบัติจริงไม่คลำช้าง

ความรู้ที่เกิดจากการเรียนธรรมกับความรู้จากการปฏิบัติธรรมจนเห็นจริง องค์หลวงตาเคยเปรียบให้มองเห็นภาพง่าย ๆ ดังนี้

“... คนมีกิเลสไปอ่านพระไตรปิฎก ไปเรียนพระไตรปิฎก ถกเถียงกันยุ่งไปหมด เห็นไหมนั่น..เพราะคนมีกิเลส ธรรมเป็นของจริงแค่ไหน หัวใจไม่ได้จริง ใจปลอม มันก็ถกเถียงกันเพราะความปลอม.. ไม่ใช่เพราะความจริง ถ้าผู้ปฏิบัติแล้วมองดูที่ไหนก็รู้หมด เหมือนช้างตัวหนึ่งนั่นละ อันไหนเป็นหางช้าง อันไหนเป็นงวงช้าง อะไรเป็นงา อะไรเป็นหู อะไรเป็นสีข้างมันก็รู้หมด คนตาดี ๆ แต่คนตาบอดไปคลำ คลำตรงไหนก็ว่าช้างเหมือนนั้นเหมือนนี้ไป ก็อย่างนั้นแหละ...

...ตาบอดคนหนึ่งว่า ‘ช้างนี้เหมือนไม้กวาด’ เพราะไปคลำถูกหางช้าง ตาบอดอีกคนหนึ่งไปคลำถูกสีข้างของมันก็ว่า ‘ไม่ใช่นะ ช้างนี้เหมือนฝาเรือน’

อีกคนหนึ่งไปคลำถูกขาของมัน.. เถียงกันอีกละ ‘ไม่ ช้างไม่ใช่ฝาเรือน ช้างไม่ใช่ไม้กวาด ช้างมันคือต้นเสา’

คนหนึ่งก็ไปคลำถูกหูมันอีกแหละ คลำช้างตัวเดียวกันนั่นแหละ คลำคนละแห่ง คนที่ไปคลำถูกหูนี้ก็มาค้านเอานี่ ‘ช้างมันไม่ใช่ต้นเสา มันเหมือนกระด้งฝัดข้าว’

คราวนี้ผู้ที่มาคลำเอางวงของมันนี้ว่า ‘ช้างคือปลิง’ ก็เถียงกันอยู่อย่างนั้นละ และเถียงกันอยู่ใต้ร่มมะกอกด้วยนะ พอดีลมพัดมา มะกอกหล่นตูมใส่หัวตาบอดคนหนึ่ง แกก็ร้องขึ้นว่า ‘เฮ้ย กูพูดแต่ปากนะ มึงถึงขนาดถึงไม้ถึงมือ ตีกูถึงขนาดนี้เชียวหรือ’

ว่าแล้วก็ซัดกันเลย ทีนี้ตาบอด ๖ คนฟัดกันนัวเลยเพราะมะกอกลูกเดียว อันนี้ก็เหมือนกัน คนนั้นว่างั้น คนนี้ว่างี้นะ เวลานี้มะกอกกำลังจะหล่นลง หรือมันหล่นลงแล้วก็ไม่รู้นะ มะกอกหล่นลงในพวกนี้นะ พวกเราเหมือนตาบอดคลำช้างนั่นละ คลำไปถูกตรงไหนก็ว่าธรรมนี้เหมือนนั้น ๆ ไปหมดเลย

คนตาดี มองดูช้างมันเห็นหมดจะไปสงสัยอะไร ช้างทั้งตัวไม่สงสัย คนตาดีดูแป๊บเดียวรู้นั่นแหละ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านดูธรรม ท่านดูเหมือนคนตาดีดูช้าง พวกเราเรียนธรรม ดูธรรม เหมือนตาบอดคลำช้างเถียงกันวันยังค่ำ ..

มะกอกหล่นไปไหนแล้วไม่รู้ มะกอกไม่ได้สนใจใครหรอก .. แต่พวกนี้เลยซัดกันนัวเลย แทนที่จะชำระคดีกันมันก็เลยไม่ได้ชำระ มะกอกมาตีหัวแล้วซัดกันนัวเลย .. ฟัดกันอยู่ในสนามตาบอด มันจะไม่เลิกนะ ทีนี้ไม่ทราบว่ามะกอกมาจากไหน มันก็หายากนะ มะกอกที่จะมาหล่นตูมใส่หน้าผากพวกนี้ มันหายากนะ

สมัยทุกวันนี้จะไม่ค่อยมีแล้วนะมะกอก คือใครไม่ได้สนใจมะกอกยิ่งกว่าคลำช้าง แล้วมาเถียงกันตีกันนั่นแหละ พวกเรามันเรียน เรียนด้วยความจำ ..

ใครเรียนที่ตรงไหนก็ไปยึดกรรมสิทธิ์.. อวดอำนาจ ความรู้ ความฉลาดของตนขึ้นจากความจำนั้น.. แฝงความจำไปอีก เป็นปลอม ๆ ไปอีก เอามาโต้กันเสียเป็นบ้าน้ำลายโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าหากปฏิบัติให้รู้ตามความจริงของธรรมที่ท่านสอนไว้ ... ก็จะไปถามใคร ไปโต้เถียงกันให้เสียเวล่ำเวลาทำไม ถ้าไม่ใช่ตาบอดคลำช้าง

ท่านให้ปฏิบัติซิ ให้รู้ซิ ใครรู้มากน้อยเท่าไร.. อาจหาญ ทำไมจะไม่อาจหาญ สัมผัสด้วยใจ รู้ด้วยใจ เพราะปฏิบัติด้วยใจนี่.. ต้องรู้ทั้งกิเลสหยาบ กลาง ละเอียด รู้ทั้งธรรมอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด และอย่างละเอียดสุด.. สิ้นพ้นความละเอียดไปจนถึงความบริสุทธิ์ ไม่รู้ที่ใจอะไรจะเป็นผู้รู้...”

ลัก...ยิ้ม 13-02-2020 16:18

ถังขยะ ๔ ประเภท

“…สามแดนโลกธาตุนี่ เป็นถังขยะทั้งนั้น .. คำว่าถังขยะคือ วัฏจักรทั้งหมดนี้เป็นถังขยะ ว่าอย่างนั้นเลย นิพพานหรือธรรมธาตุนั้นนอกพ้นไปหมดแล้ว ไม่ใช่ถังขยะ ... ทีนี้ถังขยะนี้มีหลายประเภท ดังยกออกมาว่า

ถังขยะ อุคฆฎิตัญญู นี้ประเภทเยี่ยม คือเป็นคนมีอุปนิสัยปัจจัยคอยที่จะพ้นไปแล้ว หาทางออกตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เบญจวัคคีย์ทั้งห้า ถังขยะประเภทนี้ คำว่าถังขยะคือ ท่านยังมีกิเลสอยู่ ถึงท่านจะมีนิสัยเต็มภูมิก็ตาม แต่ยังมีกิเลสอยู่ก็ยังเรียกว่าถังขยะ ..

วิปจิตัญญู ก็ลดกันลงมานิดหนึ่ง นี่ก็เป็นถังขยะเหมือนกัน เพราะจิตยังมีกิเลสอยู่ เรียกว่าถังขยะได้ทั้งนั้น ถ้าลงกิเลสยังแทรกอยู่นิดหนึ่ง.. เรียกว่าถังขยะได้หมด เป็นแต่ว่าถังขยะที่หยาบละเอียดต่างกันเท่านั้น

พอถึงขั้น เนยยะ นี้ก็กึ่งกลาง ทั้งจะลงนรก ทั้งจะไปสวรรค์ เนยยะพอลากพอเข็นกันได้ พออ่อน..กิเลสก็ลากลงนรกได้ ถ้าแข็งก็ลากขึ้นได้ นี่จึงว่าพอแนะนำสั่งสอนได้ หลายครั้งหลายหนพอเป็นไปได้ เป็นถังขยะประเภทที่สาม

ประเภทที่สี่ ปทปรมะ นี้หมดคุณค่าโดยประการทั้งปวง ไม่มีอะไรมีความหมายเลย...”

ลัก...ยิ้ม 14-02-2020 12:29

ปฏิปทา ๔ อย่าง คือ

สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา...... ทั้งปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว หนึ่ง
สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา...... ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า หนึ่ง
ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา.... ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว หนึ่ง
ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา.... ทั้งปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า หนึ่ง

นี่ละ เรียกว่าเป็นนิสัยของแต่ละราย ๆ ... ถ้านิสัยที่ควรจะเอากันอย่างหนักก็ต้องหนัก ไม่หนักไม่ได้ ถ้าควรเบาก็ต้องเบาเอง ... ที่จะฝึกที่จะดัดแปลงตัวเอง ที่จะสังหารกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของตัวเองด้วยวิธีการนั้น ๆ

ลัก...ยิ้ม 15-02-2020 20:31

พระสารีบุตร นอบน้อมต่อพระอัสสชิ

“... พระอัสสชิ ท่านกำลังบิณฑบาต ดูลักษณะท่าทางกิริยามารยาทน่าเคารพน่าเลื่อมใส พระสารีบุตรมีโอกาสออกไปก็ไปเจอท่าน ค่อยติดตามแอบตามดูไป ๆ เออ.. พระสมณะองค์นี้ทำไมมาจากที่ไหน ดูกิริยาท่าทางเหลือบสายตามองขวาเรียบไปตลอด น่าเคารพเลื่อมใส ก็ค่อยตามไป พอพ้นจากหมู่บ้านแล้วค่อยถาม พระผู้เป็นเจ้าบวชมาจากสำนักใด ดูกิริยาท่าทางน่าเคารพเลื่อมใสมาก

ท่านยังพูดถ่อมตนเอาไว้ว่า ‘อาตมานี่พึ่งบวชใหม่ ๆ ในศาสนา ถือศาสนาพุทธ พึ่งบวชใหม่ ๆ ยังไม่รู้อรรถธรรมอย่างลึกซึ้งกว้างขวางอะไรมากนัก แล้วจะแสดงธรรมย่อ ๆ ให้ฟัง ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ คือเกิดจากใจ ทั้งดีทั้งชั่วเกิดจากใจ ดับก็ดับที่ใจ ระงับดับด้วยความถูกต้องก็ระงับดับกันที่ใจ พระสมณโคดมของเราสอนอย่างนี้

การแสดงธรรมท่านย่อ ๆ แต่เป็นหัวใจของศาสนาเพียงเท่านั้น พระอัสสชิเป็นถึงขั้นพระอรหันต์แต่ท่านไม่ได้พูด ว่าท่านเป็นพระอรหันต์นะ .. ท่านไม่พูดนะ ท่านพูดถ่อมตัว ท่านพูดถึงมหาเหตุ มหาเรื่อง หมายถึงใจดวงนี้ ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดว่องไวอย่างพระสารีบุตรก็ทราบ “มหาเหตุ” ได้ทันที จับความจริงได้ในขณะนั้น พอจบลงเท่านั้นพระสารีบุตรได้สำเร็จพระโสดาบันเลย..

(เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว) ทีนี้พระสารีบุตรก็จอมปราชญ์อีก พระสารีบุตรเป็นถึงอัครสาวกข้างขวา ได้รับเอตทัคคะทางปัญญา เฉลียวฉลาดพอตัว ย่อมจะทราบเรื่องของพระอัสสชิว่าถึงขั้นใดภูมิใด เป็นพระประเภทใดโดยไม่ต้องสงสัย นั่น.. ได้ทราบว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใดแดนใด พระสารีบุตรจะน้อมเกล้ากราบไหว้ไปในทิศนั้นภูมินั้น ทิศทางโน้นทางไหนก็ตามอยู่ตลอดจนกระทั่งวันนิพพาน

นั่นเป็นยังไง ท่านรู้ภูมิกัน ท่านรู้จักความเหมาะสมของกันและกัน นั่นละ..คุณอย่างนั้น คุณซาบซึ้งมาก ท่านถือเนื้อถือตัวเมื่อไร ท่านถ่อมตนอย่างนั้นละ.. ผู้ที่สิ้นกิเลส...”

ลัก...ยิ้ม 16-02-2020 11:16

สายน้ำ มหาวิมุตติ มหานิพพาน

องค์ท่านเปรียบผลแห่งการบำเพ็ญของนักปฏิบัติแต่ละราย ๆ เพื่อเข้าสู่แดนนิพพานไว้ดังนี้

“... แม่น้ำสายต่าง ๆ ไม่ว่าสายใดก็ตาม ไหลลงมาแล้วไปรวมลงในมหาสมุทรแห่งเดียวกัน แม่น้ำสายต่าง ๆ เราจะเรียกว่าแม่น้ำสายนั้น ๆ เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำอะไรก็ตามนะ นี่เรียกว่าสายทางของน้ำไหลลง

พอเข้าถึงมหาสมุทรแล้วเป็นน้ำมหาสมุทรอันเดียวกันหมด แยกกันไม่ออก ไม่มีว่าแม่น้ำสายนั้นสายนี้ เมื่อเข้าสู่มหาสมุทรทะเลหลวงแล้วเรียกว่า แม่น้ำมหาสมุทรอย่างเดียวกันหมด ...

แม่น้ำสายต่าง ๆ เปรียบกับผู้บำเพ็ญในที่ต่าง ๆ อยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อบารมีแก่กล้า พอไหลเข้ามา ใกล้เข้ามา ๆ สร้างคุณงามความดี นี่เรียกว่าแม่น้ำสายต่าง ๆ ไหลเข้ามาอย่างนี้ พอมากเข้า จวนเข้า ๆ ก็ถึงแม่น้ำมหาสมุทรทะเล อันนี้..ก็เข้าถึงมหาวิมุตติมหานิพพาน เมื่อเต็มที่แล้วก็ต้องถึงขั้นสุดยอดแห่งธรรมทั้งหลายได้เหมือนกันหมด

ไม่ได้เลือกว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย นักบวช ฆราวาสนะ สำคัญอยู่ที่การสร้างบารมีซึ่งเป็นพื้นฐานอันสำคัญ..ที่จะยกผู้บำเพ็ญให้ถึงความหลุดพ้นได้ ที่นี้เมื่อบำเพ็ญเต็มที่ ๆ ก็เหมือนกับแม่น้ำสายต่าง ๆ ค่อยไหลเข้ามา ใกล้เข้ามา ๆ บารมีแก่กล้าก็ใกล้เข้ามา ๆ พอถึงปุ๊บก็เรียกว่า ถึงเต็มภูมิเป็นอรหัตตบุคคลขึ้นมา

นั่นละ มหาวิมุตติมหานิพพานเข้าถึงแล้วทีนี้ ผู้บรรลุธรรมนี้เข้าถึงมหาวิมุตติมหานิพพานแล้ว.. เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานเหมือนกันหมด ทีนี้แยกไม่ออกว่าผู้นี้รายนี้ รายนี้มาจากไหน มาจากไหน.. พูดไม่ออกเพราะเข้าถึงแล้ว เรียกว่าแม่น้ำสายต่าง ๆ ไม่มีความหมายละ เพราะเข้าในมหาสมุทรทะเลหลวงอันเดียวกัน

นี่ผู้บำเพ็ญในคุณงามความดีประเภทต่าง ๆ ก็เป็นดุจแม่น้ำลำคลอง แต่ละราย ๆ ไหลเข้า ๆ แล้วเข้าสู่จุดสุดยอดแห่งความพ้นทุกข์ ว่างั้นเลย เรียกว่าความพ้นทุกข์อยู่ที่จุดนั้น อยู่ที่มหาวิมุตติมหานิพพาน นี่..เข้าถึงนั้นแล้ว เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานอันเดียวกันหมด

เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าบรรดาผู้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตภูมิแล้ว นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้ายเป็นเหมือนกันหมด นั่น..ฟังซิ แยกกันไม่ออก.. ไม่มีคำว่ายิ่งว่าหย่อนต่างกัน แยกกันไม่ออก...

ลัก...ยิ้ม 18-02-2020 20:33

ขอขมาหลวงปู่มั่น ระลึกพระคุณไม่สร่างซา

องค์ท่านระลึกถึงความผิดของตนเมื่อครั้งกำลังปฏิบัติ ว่าเคยสงสัยในอาการบางลักษณะของหลวงปู่มั่นอยู่บ้างแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่เมื่อขณะนี้ผลแห่งการปฏิบัติได้ประจักษ์กับใจตัวเองแล้ว จึงเกิดความเข้าใจในทันที ดังนี้

“...เวลาดึก ๆ ท่านมีลักษณะเหมือนครวญเหมือนคราง อี๊ ๆ ๆ นิด ๆ ไม่ได้มากนะ ก็เราอยู่นั่นน่ะ มีลักษณะอี๊ ๆ แอ๊ะ ๆ เหมือนร้องเหมือนครางเบา ๆ น่ะ แล้วมันก็แย็บขึ้นมา แย็บเรา..ระวังนะ
‘เอ๊ ! เวลาท่านเป็นอย่างนี้ ท่านจะมีเผลอบ้างไหมนา ?’


เท่านั้นละ พอเราว่าเหมือนอันหนึ่งมันตีปั๊บเลย.. ไม่ให้กำเริบยิ่งกว่านี้ไป พูดง่าย ๆ ก็ระวังอยู่นี่ เพียงแย็บออกไปเท่านั้นละ เวลาท่านมีอาการอย่างนี้ ท่านมีเผลอบ้างไหมนา ? เท่านั้นละ เราก็หยุดทันทีเลย แล้วก็จำไว้ด้วยไม่ลืมนะ หากเป็นธรรมชาติของมันเอง

จนกระทั่งเรื่องผ่านไป ท่านปรินิพพานไปแล้ว เรื่องของเราจึงมาเป็นทีหลัง เราก็กราบขอขมาโทษท่านเลย

อันนี้เราแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เราหลุดไปเลยไม่มีอะไรเหลือ...

ที่เราไปคิดเกี่ยวกับเรื่องท่านว่า เอ๊.. ท่านมีลักษณะ อี๊อ ๆ อย่างนี้ท่านจะเผลอบ้างไหมนา..นี้หมด เราแน่ใจ เพราะเราระมัดระวังมาก พอแย็บเท่านั้นเราก็รีบ เหมือนกับรีบตบกันลงทันทีเลย แล้วก็ไม่ลืมขณะจิตที่คิดถึงท่านอย่างนี้ เวลาเรื่องของเราผ่านไปทีหลัง (หมายถึงสิ้นกิเลส) ถึงกลับมายอมเลยทันที

‘โอ้โห ทำไมคิดผิดเอามากมาย คาดพ่อแม่ครูอาจารย์ โห ! คนมีกิเลสไปคาดคนสิ้นกิเลส มันคาดกันได้อย่างนี้เชียวเหรอ’

มันยอม จึงเข้าไปกราบขอขมาโทษอัฐิของท่าน อันนี้ปรากฏว่าโล่งไปเลยทันที ไม่มีปรากฏว่ามีอะไรตกค้าง...”

ลัก...ยิ้ม 25-02-2020 17:31

ผลแห่งธรรมที่ปฏิบัติจนประจักษ์ใจมาได้นี้ ก็เพราะอุบายคำสอนของหลวงปู่มั่น ฉะนั้น ท่านจึงเคารพบูชาและรู้ซึ้งในพระคุณหลวงปู่มั่นอย่างสุดจิตสุดใจ ชนิดมอบกายถวายชีวิตแก่ท่านได้ ท่านกล่าวยกย่องคุณธรรมและคุณสมบัติของหลวงปู่มั่นว่า เป็นผู้พรั่งพร้อมสมบูรณ์แบบทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดตกเรี่ยเสียหายเลย ไม่ว่าจะเรื่องหลักธรรมหลักวินัย หลวงปู่มั่นสามารถเก็บหอมรอมริบได้หมด

ความเคารพบูชาอย่างสูงสุดของท่านที่มีต่อหลวงปู่มั่นนั้น ท่านเคยกล่าวไว้อย่างจับจิตจับใจผู้ฟังว่า

“... พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านเป็นทั้งพ่อเราทั้งแม่เรา ทุกอย่างรวมอยู่ในนั้นหมด ให้อรรถให้ธรรม ให้ข้อคิดเห็นที่จะเป็นสิริมงคล สิ่งใดไม่ดีปัดเป่าออกไปด้วยคำแนะนำสั่งสอนทุกแง่ทุกมุม จึงเป็นเหมือนกับพ่อกับแม่ของเรา เหมือนเรามีพ่อมีแม่นี่แหละ

เราเคารพท่านสุดขีด.. ในหัวใจของเรานี้อยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นหมดเลย เราพูดจริง ๆ ในบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เราไม่ได้ประมาทท่าน เราไม่ได้คบค้าสมาคมกับท่านสนิทติดจมจริง ๆ ฝากเป็นฝากตายเหมือนพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น นี่ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ กิ แต่ กา แต่ เอะ แต่ เอ เรื่อยไป ท่านสอนหมดในภาคปฏิบัติธรรมนะ

ส่วนภาคปริยัติเราก็เรียน เรียนไปแล้วแต่ไม่เป็นท่าเป็นทางอะไร เพียงแค่จดได้มา จำได้มาเฉย ๆ ไม่รู้วิธีภาคปฏิบัติเป็นยังไง ท่านต้องบอก อันนี้ทำอย่างนี้ เครื่องมืออันนี้เอาไปทำอย่างนั้น เครื่องมืออันนี้ไปใช้อย่างนี้ ๆ ที่เราเรียนมาเราจำได้.. แต่ปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติไม่เป็น อาศัยท่านพาปฏิบัติดำเนิน การเรียนมานั้นเราจำได้แต่ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ ท่านก็หยิบออกมา อันนี้ให้ทำประโยชน์อย่างนั้น อันนั้นให้ทำประโยชน์อย่างนั้น ๆ เราก็ยึดก็จับเอาได้จากท่านเรื่อยมาจนเป็นภาคปฏิบัติ

ภาคปฏิบัติก็เอาอีกเหมือนกัน ต้องให้ท่านเป็นแม่เหล็ก เป็นเครื่องดึงดูด เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เราอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร เหมือนกับการจับภูเขาทอง.. เหลืองอร่ามไปเลย กิเลสมันกลัวเวลามาอยู่กับท่าน กิเลสมันก็หมอบ อยู่กับท่านสบาย ๆ นี่ก็เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรอันหนึ่ง เป็นแม่เหล็กเครื่องดึงดูดเราให้มีแก่ใจประกอบความพากเพียร.. เอาเป็นเอาตายหนักเบาออกมาจากท่าน ได้รับการศึกษาจากท่าน ทุกสิ่งทุกอย่างท่านแนะนำเต็มภูมิ และพาปฏิบัติเต็มกำลังทุกด้าน... อันนี้ท่านสอนละเอียดลออมากทีเดียว...”

ความเคารพผูกพันระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่แนบแน่นฝังจิตของท่านนั้น จะทราบได้ชัดเจนจากคำเทศน์ของท่านตอนหนึ่งว่า

“ผมไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ได้กราบท่านอาจารย์มั่นแล้วนอนไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน แม้ที่สุดจะเดินจงกรมก็ต้องหันหน้าไปไหว้ท่านเสียก่อน ถ้ามีรูปท่านเป็นที่หมายของสมมุติ ก็กราบไหว้รูปของท่าน หากไม่มีอะไรเลย ก็เอาคุณธรรมของท่านประกอบเรื่องของสมมุติน้อมนมัสการไป พระคุณของท่านไม่มีวันจืดจาง ประหนึ่งว่าท่านไม่ได้ล่วงลับไป ธรรมชาติอันหนึ่งเป็นอย่างนั้น เหมือนกับดูเราอยู่ตลอดเวลา

ลัก...ยิ้ม 27-02-2020 15:53

ลูกหลานพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น

ด้วยอุบายคำแนะนำสั่งสอนจากผู้รู้จริงเห็นจริงเช่นหลวงปู่มั่นนี้เอง ทำให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาภิกษุบริษัทที่เข้ามาศึกษากับหลวงปู่มั่น มีเป็นจำนวนมากแตกกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะได้หลักได้เกณฑ์ที่ถูกต้องจากท่านมาเป็นเครื่องดำเนินจนเป็นที่อบอุ่นใจ ท่านเคยเล่าให้พระเณรฟังเกี่ยวกับปฏิปทาของหลวงปู่มั่นว่า

พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ ถือเอาธุดงควัตร ๑๓ * นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน และการประพฤติปฏิบัติ จิตใจของท่านก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือริจะทำเพื่อความเด่นความดังอะไร ออกนอกลู่นอกทางนั้นก็ไม่มี เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก นี่ละเป็นที่นอนใจ เป็นที่ตายใจ ยึดถือไว้ได้โดยไม่ต้องสงสัย ก็คือปฏิปทาเครื่องดำเนินของท่าน

นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็มีจำนวนมากพากันดำเนินมา ยึดถือหลักนั้นแหละมาปฏิบัติได้แพร่หลาย หรือกระจายออกไปแก่บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นแขนง ๆ จนกระทั่งถึงพวกเรานี้ก็มาจากสายของท่านนั่นเอง เป็นที่แน่ใจไม่สงสัย คือไม่มีคำว่าแฝง ๆ หรือแผลง ๆ อะไรออกไป ให้เป็นที่สะดุดตาไม่แน่ใจอย่างนี้ไม่มี ท่านดำเนินอะไรเป็นที่เหมาะสมทั้งนั้น คือมีแบบมีฉบับเป็นเครื่องยืนยันไม่ผิดเพี้ยนไปเลย

===============================

*องค์หลวงตากล่าวไว้ในหนังสือปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่นว่า “... ธุดงค์ ๑๓ แต่ละข้อมีความหมาย ในการปราบปรามกิเลสทุกประเภทได้อย่างอัศจรรย์ ยากที่คาดให้ทั่วถึงได้ ดังนี้ ๑. บิณฑบาตเป็นวัตร ๒. บิณฑบาตตามลำดับบ้าน ๓. ไม่รับอาหารที่ตามส่งที่หลัง ๔. ฉันในบาตร ๕. ฉันหนเดียวในวันหนึ่ง ๆ ๖. ถือผ้าสามผืน ๗. ถือผ้าบังสุกุล ๘. อยู่รุกขมูลร่มไม้ ๙. อยู่ป่า ๑๐. อยู่ป่าช้า ๑๑. อยู่กลางแจ้ง ๑๒. อยู่ในที่เขาจัดให้ ๑๓. ถือไม่อยู่อิริยาบถนอน

ลัก...ยิ้ม 28-02-2020 19:52

นี่เพราะเหตุไร เพราะเบื้องต้นท่านตะเกียกตะกายก็จริง แต่ตะเกียกตะกายตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ได้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยคือกฎของพระ ระเบียบของพระ ท่านตรงเป๋งเลย และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์ ๑๓ ข้อนี้เป็นทางดำเนิน ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลย นี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน

ต่อจากนั้น ท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยลำดับลำดา ดังที่เคยเขียนไว้แล้วในประวัติของท่าน จนกระทั่งเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลโดยสมบูรณ์ในหัวใจท่านแล้ว ก็ประกาศสั่งสอนธรรมแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย พร้อมทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีคำว่าสะทกสะท้านแม้นิดหนึ่งเลย นี่เพราะความแน่ใจในใจของท่านเองทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ท่านเป็นที่แน่ใจทั้งสองฝ่ายแล้ว

พวกบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่เข้าไปศึกษาอบรมกับท่าน จึงได้หลักได้เกณฑ์จากความถูกต้องแม่นยำที่ท่านพาดำเนินมา มาเป็นเครื่องดำเนินของตน แล้วถ่ายทอดไปโดยลำดับลำดา ไม่มีประมาณ เฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัทมีกว้างขวางอยู่มาก สำหรับลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแตกกระจายออกไป

การที่ได้ปฏิปทาเครื่องดำเนินจากท่าน.. ผู้รู้ผู้ฉลาดพาดำเนินมาแล้วเช่นนี้เป็นสิ่งที่หายากมาก นี่ละ..เป็นที่ให้ตายใจนอนใจ อุ่นใจได้ ผิดกับที่เราเรียนมาโดยลำพัง และปฏิบัติโดยลำพังเป็นไหน ๆ

ยกตัวอย่างไม่ต้องเอาที่อื่นไกลที่ไหนเลย ผมเองนี่แหละเรียน จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตาม ก็เรียนถึงมหา แต่เวลาจะหาหลักหาเกณฑ์มายึดเป็นเครื่องดำเนินด้วยความอบอุ่น แน่ใจตายใจสำหรับตัวเอง.. ไม่มี จะว่ายังไง นั่น..มันเป็นอย่างนั้น

จิตเสาะแสวงหาแต่ครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลา เฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น...”

ลัก...ยิ้ม 29-02-2020 21:47

มหานิกาย ธรรมยุต.. ศากยบุตรอันเดียวกัน

วัดหรือสำนักใดที่มีความตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม องค์หลวงตาก็ให้ความเคารพนับถือเข้ากันได้อย่างสนิทใจ โดยไม่ถือในเรื่องกลุ่มก้อนหมู่เหล่า ไม่ถือเรื่องชาติเรื่องภาษา เรื่องชั้นวรรณะ ไม่ถือเรื่องชื่อเรื่องนิกายเป็นประมาณยิ่งกว่าธรรมวินัย ดังคราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้กับพระฝ่ายมหานิกายว่า

“... พระครั้งพุทธกาล ท่านมีแต่ศากยบุตรเท่านั้น ท่านไม่มีนิกายนั้นนิกายนี้ นิกายนี้ตั้งเป็นชื่อเป็นนามไม่เห็นสำคัญอะไร ตั้งฟากจรวดดาวเทียมก็ไปตั้งชื่อนักโทษซิ มันอยู่ในเรือนจำ แต่ชื่อมันอยู่ฟากจรวดดาวเทียม ใครนับถือไหม นักโทษคนนั้น นี่เขา.. ชื่อเขาสูงนะ นักโทษคนนี้นะ เขามาติดคุกต่างหาก คนจะยอมรับนับถือเขาไหม นั่น.. ศากยบุตรของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ถ้าลงมาประพฤติปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามหลักธรรมวินัย ก็เรียกว่าลดคุณค่าของตัวลงโดยลำดับ

ชื่อนามไม่เกิดประโยชน์ ชื่อตั้งไว้อย่างงั้นล่ะ ตั้งแต่เป็ด แต่ไก่ หมู หมา เขาก็มีชื่อ พระก็ตั้งไว้อย่างนั้น หลักใหญ่คือศากยบุตร ขอให้ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย นั่นแลคือผู้จะทรงมรรคทรงผล และผู้ทรงมรรคทรงผลชื่อนามเฉย ๆ นั้น ตั้งไว้ยังงั้นแหละ ไม่ใช่ผู้ทรงมรรคทรงผล .. โลก.. ประเพณีเป็นมาอย่างนั้น.. อย่างพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นเรานี้ เป็นผู้พูดซะเองนะ..

ลัก...ยิ้ม 03-03-2020 21:20

พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่น ท่านไม่ได้สนใจกับชื่อนะ ท่านสนใจกับหลักธรรมหลักวินัยศากยบุตรต่างหาก ฉะนั้นเวลาลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านที่เป็นพระฝ่ายมหานิกายมาขอญัตติ*๑ กับท่าน ท่านอาจารย์มั่นนี่เองพูดให้เราฟังนะ เราถึงได้พูดได้อย่างอาจหาญ ท่านว่า

‘ท่านเหล่านี้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราเห็นประโยชน์แก่ส่วนรวมจำนวนมาก และท่านเหล่านี้จะมาขอญัตติกับเรา’ ท่านว่า ‘ไม่ต้องญัตติ’ ท่านพูดตรง ๆ อย่างนี้เลย .. ท่านสั่งเลยนะ

‘มัคคาวรณ์ สัคคาวรณ์*๒ ไม่มี เพศก็ตั้งขึ้นแล้ว ทางสังคมยอมรับกันทั้งธรรมยุตและมหานิกาย นี่เป็นความยอมรับทั่วหน้ากันแล้วในสังคม ส่วนธรรมวินัยก็เป็นที่เปิดทางให้แล้วสำหรับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่มีคำว่านิกายนั้นนิกายนี้ ขอให้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น เป็นศากยบุตรของพระพุทธเจ้าได้เสมอหน้ากันหมด’ นี่หลวงปู่มั่นท่านแสดง

‘ผมสงสารเพื่อนฝูงของท่านมีจำนวนมาก ถ้าท่านทั้งหลายญัตติเสียแล้ว หมู่เพื่อนก็จะเข้ากันไม่ติด ไม่ต้องญัตติแหละ’

คำว่าเพื่อนฝูงได้แก่ ธรรมยุติ มหานิกาย ที่เขาตั้งชื่อกันอย่างนั้น ... เพราะโลกเขาถือสมมุติ

‘ถ้าญัตติแล้วก็เป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ นี่คณะของท่านมีเป็นจำนวนมาก ควรจะได้รับประโยชน์จากท่านทางด้านอรรถธรรมบ้าง จึงไม่ให้ญัตติ

ท่านบอกอย่างเด็ดขาดไปเลย ทางด้านปฏิบัติ สัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์ ไม่มีต่อผู้ปฏิบัติดี แต่ผู้ปฏิบัติไม่ดีนี้ไม่มีหวัง ว่างั้นเลยนะ อยู่กับข้อปฏิบัติ ... ท่านเล็งผลประโยชน์โน่นนะ ท่านไม่ได้เล็งนิกายนั้นนิกายนี้นะ

‘พอเวลาญัตติแล้วเขาก็จะถือว่าเป็นคณะนั้นคณะนี้ไปเสีย ผู้ที่ไม่เข้าใจในอรรถในธรรมมันก็เข้าไม่ถึง ผลประโยชน์ก็ขาดไป’ ว่างั้น

‘เมื่อพวกท่านได้กระจายออกไปทางด้านธรรมะนี้แล้ว เวลาไปที่ไหน พวกท่านทั้งหลายนี้มีพวกมากเสียด้วย ก็ยิ่งกระจายมาก ผลประโยชน์ก็มาก จึงไม่ต้องญัตติ..ดี’

ท่านว่า ‘ผลประโยชน์มากกว่าญัตติ’

ท่านพูดตรง ๆ เลยนะ ท่านเล่าให้ฟังนะ พูดถึงลูกศิษย์ลูกหาของท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านไม่ได้ว่าธรรมยุติหรือมหานิกาย ใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านชมเชยทั้งนั้น นั่นละ..ผู้เป็นธรรมเป็นอย่างนั้น ...

เอาหลักธรรมหลักวินัยนั่นละ เป็นหลักของพระ อันนี้เป็นหลักที่แน่ใจ ตัวเองก็อบอุ่น ไปที่ไหนเย็นล่ะ เพราะพระมีธรรมมีวินัย มีเมตตาไปพร้อม เย็นไปหมด ไม่มีธรรมไม่มีวินัย ใจดำน้ำขุ่น ตีบตันอั้นตู้ ดูไม่ได้ พระใจดำน้ำขุ่น ตีบตันอั้นตู้ หาเมตตาไม่ได้ เป็นฟืนเป็นไฟในตัวเอง ก็ไปเผาบ้านเผาเมืองต่อไปอีกละ เนี่ย..ไม่ดี

ไปที่ไหนเย็น ดูจิตเจ้าของตลอด นี่ละ..ผู้ปฏิบัติธรรมต้องดูจิตเป็นสำคัญ ศีลก็ดี สมาธิ ปัญญาวิมุตติหลุดพ้นออกไปจากจิต สติปัญญารักษาจิต บำรุงจิตใจให้ดี ... อยู่ไหนเย็นสบายไปหมด นี่ละ..มรรคผลนิพพานอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่ที่คนนั้นคนนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ นิกายนั้นนิกายนี้นะ อันนั้นตั้งไว้โก้ ๆ ไปอย่างงั้นแหละ ...”

ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่ว่านิกายใด ท่านจึงเข้ากันได้อย่างสนิทใจ ดังนี้

“...พระผู้มุ่งธรรมมุ่งวินัยด้วยกันแล้ว ไปที่ไหนสนิทกันหมด ไม่ได้เหมือนโลกนะ ไม่มีนิยมนิกายนั้นนิกายนี้ ขอให้ปฏิบัติดีเข้ากันได้ สนิททันทีเลย ... สำหรับหลวงตาบัวเอง ใครจะว่าบ้าก็ตาม ไม่มีชื่อ ตั้งไว้อย่างนั้นโก้ ๆ ไปอย่างนั้นละ ธรรมยุตมหานิกายใครก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ดีแล้ว จะเป็นเทวดามาจากฟ้าก็ไม่เป็นประโยชน์ อะไรแหละ ...

แม้จะเป็นนิกายเดียวกัน ชื่อเดียวกันก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ดีแล้วไม่เข้าหน้านะ ไม่อยากมองดูจนกระทั่งหน้าจะว่าอะไร ธรรมวินัยเป็นเครื่องบังคับหรือเป็นเครื่องยืนยันว่า จะเข้ากันได้สนิทหรือไม่สนิทเพราะอะไร ถ้าธรรมวินัย การปฏิบัติเข้ากันได้แล้ว เป็นศากยบุตรเหมือนกันหมด...”

.....................................................................

*๑ บวชญัตติจากมหานิกายเป็นธรรมยุต

*๒ สิ่งกีดขวางสวรรค์ นิพพาน

ลัก...ยิ้ม 04-03-2020 16:40

พระธรรมเทศนาขององค์หลวงตา

ว่าด้วยความรู้ปริยัติในภาคปฏิบัติ

อนัตตลักขณสูตรภาคปฏิบัติ

“... รูปัง อนัตตา เวทนา อนัตตา สัญญา อนัตตา สังขารา อนัตตา นั่นเห็นไหม อนัตตลักขณสูตรน่ะ อันนั้นก็อนัตตา อนัตตา ปล่อย ๆ อย่ายึด ปล่อย ๆ เรื่อย ๆ อันนี้ก็ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีแต่ขวากแต่หนาม มีแต่ฟืนแต่ไฟ ปล่อย ๆ อย่าเหยียบอย่าย่าง อย่าไปแตะ อย่าไปจับ อย่าไปยึด ถ้าไม่อยากให้ถูกเผาทั้งมือนั่น พูดง่าย ๆ ว่างั้น เหมือนกับว่าตีข้อมือไว้ เอา.. ก้าวนี้ ตีขาไว้.. ก้าวไปตรงนี้อย่าก้าวไปตรงนั้น ก้าวไปเรื่อย เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นทางเดินพิจารณานี้ ปล่อยไปเรื่อย เข้าใจเรื่อย ๆ นั่น วุสิตัง พรัหมจริยัง กตัง กรณียัง นาปรัง อิตถัตตายาติ ปชานาตีติ ท่านถึงรู้ว่าจะว่าไง แต่พูดตามความจริงนี้ ผมก็พูดได้แค่นั้นละ

สำหรับ อนัตตลักขณสูตร ถ้าหากเราจะพูดตามสูตรนี้จริง ๆ สำหรับจิตผมนี้ไม่สนิทนะ แต่อาทิตตปริยายสูตร ผมลงร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่ ผมว่าถ้าจะคิดว่าท่านเทศน์มามาก แล้วท่านย่นเอามานี้ผมก็ไม่สนิทใจ มันเลยไปลงเอาผู้ที่จดจารึกเสียมากนะ ผู้จดจารึกเป็นคนประเภทใด นั่น.. ถ้าเป็นพระอรหันต์จดจารึกแล้วจะเต็มภูมิ เหมือนอย่างอาทิตตปริยายสูตร อันนั้นผมหาที่แย้งไม่ได้เลย ภาคปฏิบัติลงได้อย่างสนิทร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นี้ไม่เป็นอย่างนั้น อนัตตลักขณสูตรนี่ไม่ลงจิตนี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนัตตา พออันนี้เป็น อนัตตา แล้วเบื่อหน่ายไปเลย นิพพินทัง วิรัชชติ วิราคา วิมุจจติ ไปเลย คือเมื่อเบื่อหน่ายในอาการทั้งห้านี้แล้วย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้วย่อมหลุดพ้น

เบื่อหน่ายเพียงห้านี้หลุดพ้นได้ยังไง ถ้าภาคปฏิบัติมันไปกองอยู่ในจิตนั้นน่ะ เห็นได้ชัด ๆ ในภาคปฏิบัติ เราเป็นอย่างนี้นี่นะ คือเอาความจริงนี้ออกมายันกัน พอถึงอาทิตตปริยายสูตร แหม แจงละเอียดมากนะ จักขุสมิงปิ นิพพินทติ รูเปสุปิ นิพพินทติ คือเบื่อหน่ายทั้งทางรูป ทั้งทางตา ทั้งทางเสียง ทั้งทางหู ย้อนหน้าย้อนหลังเรื่อย ๆ ตลอดถึงสิ่งที่มาสัมผัสสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อะไรบ้าง .. เลยเบื่อหน่าย ๆ ไปหมด ทั้งสุขทั้งทุกข์เรื่อยไปจนกระทั่งถึง มนัสมิงปิ นิพพินทติ ธัมเมสุปิ นิพพินทติ แล้วก็ วิญญาเณปิ นิพพินทติ ว่าไปหมด เบื่อหน่ายในจิต เบื่อหน่ายในธรรม คือสิ่งที่มาสัมผัสกับจิต อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากจิตเบื่อหน่าย แล้วเมื่ออารมณ์เกิดขึ้นจะเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นเวทนาอะไร ๆ ขึ้นมา.. เบื่อหน่ายหมด ๆ แน่ะ ละเอียดมากนะ เข้าถึงจิตแล้วนี่ เบื่อหน่ายเข้าถึงจิตแล้วก็ถึงธรรมซิ ธรรมก็หมายถึงอวิชชาอยู่ในนั้น จะว่าไงเข้าถึงนั้นหมดเลย จนแตกกระจายไปแล้ว นิพพินทติ วิรัชชติ เรื่อยไป นี้ลงเต็มที่ผม แต่อนัตตลักขณสูตรนี้ไปถึงขันธ์ ๕ ไปนั้นหมด ...

อนัตตลักขณสูตรแจงไปถึงขันธ์ ๕ จบแล้วก็ไปเลย เบื่อหน่ายจิตนั่นยังไม่ถึง เอ๊.. ทำให้คิดไปถึงเรื่องผู้รจนานี้ ทำให้คิดไปหลายแง่เหมือนกันนะทุกวันนี้ ตั้งแต่ก่อนผมไม่ได้คิดอะไรมากนักนะ แต่เกี่ยวข้องกับผู้รจนาคัมภีร์เหล่านั้น ๆ เป็นคนประเภทใด ถ้าเป็นประเภทอรหันต์แล้วจะถึงใจ ๆ มาโดยลำดับเลย เพราะเอาความจริงออกมา อันนั้นกางมา ความจริงอันนี้อยู่ในหัวใจนี้ มันวิ่งถึงกันปั๊บ ๆ ประสานกันอย่างนี้ ทีนี้เอาแต่ความจำ ท่านว่าอะไรเอาแต่ความจำเข้าไปใส่มัน ไม่มีคุณค่า มันหลุดมันขาด มันตกไปได้นี่ ถ้าลงความจริงฝังอยู่ในหัวใจแล้ว ว่าไปตรงไหนมันสัมผัสสัมพันธ์กัน ประสานกันอย่างนี้ ๆ มันก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย

เอ้า.. เรายกตัวอย่างเช่น เราจะไปเขียนประวัติของพระอรหันต์ เอาลองดูซิ เพียงความจำเรานี้ จะเขียนประวัติของพระอรหันต์ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นไปไม่ได้ ผมว่างั้นเลย ถ้าเป็นพระอรหันต์เขียนประวัติของพระอรหันต์แล้วเต็มหมดเลย แน่ะ เพราะความจริงเป็นอันเดียวกัน ท่านผ่านไปแล้วก็ตาม ความจริงอันนี้รู้กัน อยู่นี้มันไม่ผ่าน วิ่งถึงกันได้ปุบ ๆ ๆ เลย แน่ะ..นั่นซิ..ตอนถึงขั้นธรรมละเอียดละซิ ตอนมันจะไปไม่ได้ เอาเพียงความจำเฉย ๆไปไม่ได้ ถ้าไม่มีความจริงเป็นเชื้อวิ่งถึงกัน ประสานกันกับประวัติของท่าน นั่นน่ะมันสำคัญ..”

ลัก...ยิ้ม 08-03-2020 16:12

ทุกข์ สมุทัย ประกาศท้าทายตลอดเวลา

“... สัจธรรม เฉพาะอย่างยิ่ง ๒ อย่าง ประกาศท้าทายเราอยู่ตลอดเวลา เราจะสู้หรือไม่สู้ รบหรือไม่รบ ทุกข์กับสมุทัยประกาศอยู่ในหัวใจเรา ทั้งทางร่างกาย ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา มรณัมปิทุกขา นี้ประกาศทางกาย เรื่องของทุกข์ โสกปริเทว นั่นเป็นทางใจ โสก หมายถึงใจ โสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาสาปิทุกขา อัปปิเยหิ สัมปโยโค ทุกโข นี่เกี่ยวกับทางใจ นี่ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจแสดงให้เห็นได้ชัดอยู่ภายในจิตใจ นี่ละที่ว่า เอหิปัสสิโก ท่านจงดู ท่านบอกเรานั้นเอง เอหิ ท่าน ตวัง อันว่าท่าน เอหิ จงมาดู ดูตรงที่นี่ ธรรมส่อแสดงอยู่ที่นี่ ทุกข์ก็ส่องอยู่ที่นี่

สมุทัย คืออะไร สัจธรรม ๒ อย่างนี้เด่นอยู่เวลานี้ หากสติปัญญาของเรายังไม่เด่น อันนี้ต้องเด่นอยู่เสียก่อน ดูให้ดี พิจารณาให้ดี นันทิราคสหคตา ตัตรตัตราภินันทินี เสยยถีทัง กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวตัณหา สิ่งที่สหคตไปด้วยความรื่นเริงบันเทิงนั้นเป็นไปจากอะไร เป็นไปจากกามตัณหา ภาวตัณหา วิภาวตัณหา ที่แสดงอยู่ในจิตนี้ มีแต่สัจจธรรมประเภทนี้

เอหิ จงดูที่นี่ คือ เอหิ น้อมใจเข้ามาดูที่นี่ ถ้าหากเป็นกิริยาของคน ก็ เอหิ จงมา แต่นี้เป็นเรื่องของกรรม เป็นเรื่องกระแสของจิต เอหิ จงย้อนจิตเข้ามาดูที่นี่ ...”

ลัก...ยิ้ม 09-03-2020 10:57

มัชฌิมาปฏิปทา ภาคปฏิบัติของนักบวชและฆราวาส

“... คำว่า สติปัฎฐานก็ดี อริยสัจก็ดี เป็นปัจจุบันธรรมซึ่งปรากฏอยู่กับกายกับใจของเราตลอดเวลา ในมัชฌิมาปฏิปทาทรงตรัสไว้ว่า

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คำว่าเห็นชอบทั่ว ๆ ไปก็มี เห็นชอบในวงจำกัดก็มี และเห็นชอบในธรรมส่วนละเอียดยิ่งก็มี ความเห็นชอบของผู้ถือพระพุทธศาสนาทั่ว ๆ ไปโดยมีวงจำกัด เช่น เห็นว่าบาปมีจริง บุญมีจริง ผู้ทำดีได้รับผลดี ผู้ทำชั่วได้รับผลชั่ว เป็นต้น นี่ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิชั้นหนึ่ง ความเห็นในวงจำกัดของนักปฏิบัติผู้ประกอบการพิจารณาสติปัฏฐาน หรืออริยสัจสี่ โดยกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ประจำตนทุกอาการด้วยปัญญา

ปลุกศรัทธาความเชื่อมั่นลงในพระสัจธรรม เพราะการพิจารณาไตรลักษณ์เป็นต้นเหตุ และถือไตรลักษณ์ที่มีอยู่ในสภาวธรรมนั้น ๆ เป็นทางเดินของปัญญา และพิจารณาในอริยสัจ.. เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกายและจากใจทั้งของตนและของคนอื่น สัตว์อื่น ว่าเป็นสิ่งไม่ควรประมาทนอนใจ พร้อมทั้งความเห็นโทษในสมุทัย คือแหล่งผลิตทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่สัตว์เสวยผลไม่มีประมาณตลอดกาล และเตรียมรื้อถอนสมุทัยด้วยปัญญา เพื่อก้าวขึ้นสู่นิโรธ คือ แดนสังหารทุกข์โดยสิ้นเชิง นี่ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิขั้นหนึ่ง

สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบในธรรมส่วนละเอียดนั้น ได้แก่ ความเห็นชอบในทุกข์ว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นชอบในสมุทัยว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นชอบในนิโรธว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง และความเห็นชอบในมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความเห็นชอบโดยปราศจากการตำหนิติชมในอริยสัจและสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป จัดเป็นสัมมาทิฏฐิขั้นหนึ่ง

สัมมาทิฏฐิ มีหลายขั้นตามภูมิของผู้ปฏิบัติในธรรมขั้นนั้น ๆ ถ้าสัมมาทิฏฐิมีเพียงขั้นเดียว ปัญญาจะมีหลายขั้นไปไม่ได้ เพราะกิเลสความเศร้าหมองมีหลายขั้น ปัญญาจึงต้องมีหลายขั้น เพราะเหตุนี้เอง สัมมาทิฏฐิจึงมีหลายขั้นตามที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว

ลัก...ยิ้ม 13-03-2020 12:40

ในปฏิปทาข้อ ๒ ตรัสว่า สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ มี ๓ ประการคือ ดำริในทางไม่เบียดเบียน ดำริในทางไม่พยาบาทปองร้าย ดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกพัน

ดำริในทางไม่เบียดเบียน คือ ไม่คิดเบียดเบียนคนและสัตว์ ไม่คิดเบียดเบียนตนเองด้วย ไม่คิดให้เขาได้รับความทรมานลำบากเพราะความคิดของเราเป็นต้นเหตุ และไม่คิดหาเรื่องลำบากฉิบหายใส่ตนเอง เช่น ไม่คิดจะเสพยาเสพติด มีสุรา ฝิ่น และเฮโรอีน เป็นต้น

ดำริในทางไม่พยาบาท คือ ไม่คิดปองร้ายหมายฆ่าใคร ๆ ทั้งสัตว์และมนุษย์ ไม่คิดเพื่อความชอกช้ำและฉิบหายแก่ใคร ไม่คิดให้เขาได้รับความเจ็บปวด บอบช้ำ หรือล้มตายลงไป เพราะความคิดของเราเป็นต้นเหตุ และไม่คิดปองร้ายหมายฆ่าตัวเอง เช่น คิดฆ่าตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ นี่คือผลเกิดจากความคิดผิด ตัวเองเคยมีคุณแก่ตัว และเป็นสมบัติอันล้นค่าแก่ตัวเอง เพราะความคิดผิดจึงปรากฏว่าตัวกลับเป็นข้าศึกแก่ตัวเอง เรื่องเช่นนี้เคยมีบ่อย พึงทราบว่าเป็นผลเกิดจากความดำริผิดทาง ผู้รักษาตัวและสงวนตัวแท้ เพียงแต่จิตคิดเรื่องไม่สบายขึ้นภายในใจเท่านั้น ก็รีบระงับดับความคิดผิดนั้นทันทีด้วยเนกขัมมอุบาย ไหนจะยอมปล่อยความคิดที่ผิดให้รุนแรงขึ้นถึงกับฆ่าตัวตาย เป็นตัวอย่างแห่งคนรักตัวที่ไหนมี

ความดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกมัด นี่ถ้าเป็นความดำริทั่ว ๆ ไป ตนคิดอ่านการงานเพื่อเปลื้องตนออกจากความยากจนข้นแค้น เพื่อความสมบูรณ์พูนผลในสมบัติ ไม่อดอยากขาดแคลน ก็จัดเข้าในเนกขัมมะสังกัปโปของโลกประการหนึ่ง

ผู้ดำริให้ทาน รักษาศีล ภาวนา คิดสร้างถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำ ก่อพระเจดีย์ ทะนุบำรุงปูชนียสถานที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างกุฏิ วิหาร ศาลา เรือนโรงต่าง ๆ โดยมุ่งกุศลเพื่อยกตนให้พ้นจากกองทุกข์ ก็จัดเป็นเนกขัมมสังกัปโปประการหนึ่ง

ผู้ดำริเห็นภัยในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเกิดในสัตว์และสังขารทั่ว ๆ ไปทั้งเขาทั้งเรา ไม่มีเวลาว่างเว้น เห็นเป็นโอกาสอันว่างสำหรับเพศนักบวชจะบำเพ็ญเป็นเณร นี่ก็จัดเป็นเนกขัมมสังกัปโปประการหนึ่ง

นักปฏิบัติมีความดำริพิจารณาอารมณ์แห่งกรรมฐานของตน เพื่อความปลดเปลื้องจิตออกจากนิวรณธรรมทั้งหลาย โดยอุบายต่าง ๆ จากความดำริคิดค้น ไม่มีเวลาหยุดยั้งเพื่อเปลื้องกิเลสทุกประเภท ด้วยสัมมาสังกัปโปเป็นขั้น ๆ จนกลายเป็นสัมมาสังกัปโปอัตโนมัติ กำจัดกิเลสเป็นขั้น ๆ ด้วยความดำริคิดค้นตลอดเวลา จนกิเลสทุกประเภทหมดสิ้นไปเพราะความดำรินั้น ๆ นี่ก็จัดเป็นสัมมาสังกัปโปประการสุดท้ายแห่งการอธิบายปฏิปทาข้อที่สอง

ลัก...ยิ้ม 16-03-2020 20:50

ปฏิปทาข้อที่ ๓ ตรัสไว้ว่า สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ นี่กล่าวชอบทั่ว ๆ ไปก็มี กล่าวชอบยิ่งในวงแห่งธรรมโดยจำเพาะก็มี กล่าวชอบตามสุภาษิตไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ฟัง กล่าวมีเหตุผลน่าฟัง จับใจไพเราะเสนาะโสต กล่าวสุภาพอ่อนโยน กล่าวถ่อมตนเจียมตัว กล่าวขอบบุญขอบคุณต่อผู้มีคุณทุกชั้น เหล่านี้จัดเป็นสัมมาวาจา ประการหนึ่ง

สัมมาวาจา ที่ชอบยิ่งในวงแห่งธรรมโดยจำเพาะนั้น คือกล่าวใน สัลเลขธรรม เครื่องขัดเกลากิเลสโดยถ่ายเดียว ได้แก่กล่าวเรื่องความมักน้อยในปัจจัยสี่เครื่องอาศัยของพระ กล่าวเรื่องความสันโดษ ยินดีตามมีตามได้แห่งปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรม กล่าวเรื่อง อสังสัคคณิกา ความไม่คลุกคลีมั่วสุมกับใคร ๆ ทั้งนั้น วิเวกกตา กล่าวความสงัดวิเวกทางกายและทางใจ วิริยารัมภา กล่าวเรื่องการประกอบความเพียร กล่าวเรื่องการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ กล่าวเรื่องการทำสมาธิให้เกิด กล่าวเรื่องการอบรมปัญญาให้เฉลียวฉลาด กล่าวเรื่อง วิมุตติ คือความหลุดพ้น และกล่าวเรื่อง วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น นี่จัดเป็นสัมมาวาจาส่วนละเอียด การกล่าวนั้นไม่ใช่กล่าวเฉย ๆ กล่าวรำพัน กล่าวรำพึง กล่าวด้วยความสนใจและความพออกพอใจ ใคร่ต่อการปฏิบัติในสัลเลขธรรมจริง ๆ

ลัก...ยิ้ม 26-03-2020 17:55

ในปฏิปทาข้อ ๔ ตรัสไว้ว่า สัมมากัมมันโต การงานชอบ การงานชอบทั่ว ๆ ไปประการหนึ่ง การงานชอบในธรรมประการหนึ่ง การงานทำโดยชอบธรรม ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่น การทำนา ทำสวน การซื้อขายแลกเปลี่ยน เหล่านี้จัดเป็นการงานชอบ การปลูกสร้างวัดวาอาราม และการให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ก็จัดเป็นการงานชอบ แต่ละอย่าง ๆ เป็นสัมมากัมมันโตประการหนึ่ง การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็จัดเป็นการงานชอบด้วยการเคลื่อนไหวของ กาย วาจา ใจ ทุกอาการพึงทราบว่าเป็นกรรมคือการกระทำ การทำด้วยกาย พูดด้วยวาจา และคิดด้วยใจ เรียกว่าเป็นกรรม คือการกระทำ ทำถูก พูด คิดถูก เรียกว่า สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

คำว่า การงานชอบ มีความหมายกว้างขวางมาก แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะน้อมไปใช้ในทางใด เพราะโลกกับธรรมเป็นคู่เคียงกันมา เหมือนแขนซ้ายแขนขวาของคนคนเดียว จะแยกโลกกับธรรมจากกันไปไม่ได้ และโลกก็มีงานทำ ธรรมก็มีงานทำด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากภาวะของคนและการประกอบไม่เหมือนกัน การงานจะให้ถูกรอยพิมพ์อันเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ผู้อยู่ในฆราวาสก็ขอให้ประกอบการงานถูกกับภาวะของตน ผู้อยู่ในธรรมคือนักบวช เป็นต้น ก็ขอให้ประกอบการงานถูกกับภาวะของตน อย่าให้การงานและความเห็นก้าวก่ายไขว้เขวกัน ก็จัดว่าต่างคนต่างสัมมากัมมันตะ การงานชอบด้วยกัน โลกและธรรมก็นับวันจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ เพราะต่างท่านต่างช่วยกันพยุง

ลัก...ยิ้ม 05-04-2020 17:40

ปฏิปทาข้อ ๕ ตรัสไว้ว่า สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ การเลี้ยงชีพด้วยการรับประทานธรรมดาของมนุษย์และสัตว์ทั่ว ๆ ไป ประการหนึ่ง การหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยอารมณ์อันเกิดจากเครื่องสัมผัส ประการหนึ่ง การหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยธรรมเป็นขั้น ๆ ประการหนึ่ง

การแสวงหาอาชีพโดยชอบธรรม ปราศจากการปล้นสดมภ์ฉกลักของใคร ๆ มาเลี้ยงชีพ หาได้มาอย่างไรก็บริโภคเท่าที่มี พอเลี้ยงอัตภาพไปเป็นวัน ๆ หรือจะมีมากด้วยความชอบธรรม ก็จัดเป็นสัมมาอาชีโว ประการหนึ่ง

ใจได้รับความสัมพันธ์จากสิ่งภายนอก คือ รูปหญิงชาย เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสของหญิงชาย และสิ่งของที่ถูกกับจริตชอบ เกิดเป็นอารมณ์เข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจ.. ให้มีความแช่มชื่นเบิกบาน หายความโศกเศร้ากันแสง มีแต่ความรื่นเริงบันเทิงใจ กลายเป็นอายุวัฒนะขึ้นมา แต่ถ้าแสวงผิดทางก็กลายเป็นพิษเครื่องสังหารใจ นี่ก็จัดเป็นสัมมาอาชีพ สำหรับโลกผู้มีมัตตัญญุตา รู้จักประมาณและขอบเขตที่ควรหรือไม่ควร

การบำรุงจิตใจด้วยธรรมะ คือ ไม่นำโลกที่เป็นยาพิษเข้ามารังควานใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสธรรมารมณ์ ให้พึงพิจารณาเป็นธรรมเสมอไป อย่าให้เกิดยินดียินร้ายจะกลายเป็นความฝืดเคืองขึ้นภายในใจ การพิจารณาเป็นธรรมจะนำอาหาร คือโอชารสแห่งธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงหัวใจ ให้มีความชื่นบานด้วยธรรมภายในใจ ให้มีความชุ่มชื่นด้วยความสงบแห่งใจ ให้มีความชุ่มชื่นด้วยความเฉลียวฉลาดแห่งปัญญา ไม่แสวงหาอารมณ์อันเป็นพิษเข้ามาสังหารใจของตน พยายามนำธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงเสมอ

อายตนะภายในมี ตา หู เป็นต้น กระทบกับอายตนะภายนอก มีรูป เสียง เป็นต้น ทุกขณะที่สัมผัสจงพิจารณาเป็นธรรม คือความรู้เท่าและปลดเปลื้องด้วยอุบายเสมอไป อย่าพิจารณาให้เป็นเรื่องของโลกแบบจับไฟเผาตัวเอง จะกลายเป็นความร้อนขึ้นที่ใจ จงพยายามกลั่นกรองอารมณ์ที่เป็นธรรมเข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจอยู่ตลอดเวลา อาหารคือโอชารสแห่งธรรมจะหล่อเลี้ยงและรักษาใจให้ปลอดภัยเป็นลำดับ ที่อธิบายมานี้จัดเป็นสัมมาอาชีวะประการหนึ่ง

ลัก...ยิ้ม 18-05-2020 10:49

ปฏิปทาข้อ ๖ ตรัสไว้ว่า สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ท่านว่าเพียรในที่สี่สถานคือ เพียรระวังอย่าให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน หนึ่ง เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป หนึ่ง เพียรยังกุศลให้เกิดขึ้น หนึ่ง เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วอย่าให้เสื่อมสูญไป หนึ่ง โอปนยิโก น้อมเข้าในหลักธรรมที่ตนกำลังปฏิบัติได้ทุกขั้น แต่ที่นี่จะน้อมเข้าในหลักสมาธิกับปัญญาตามโอกาสอันควร พยายามระวังรักษาจิตที่เคยฟุ้งซ่านไปตามกระแสแห่งตัณหาเพราะความโง่เขลาฉุดลากไปหนึ่ง ความดิ้นรนกวัดแกว่งของจิตที่เคยเป็นมา จงพยายามทรมานให้หายพยศด้วยอำนาจสติและปัญญาเป็นเครื่องฝึกทรมาน หนึ่ง

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมแก้กิเลสทุกประเภท จงพยายามอบรมให้เกิดขึ้นกับใจของตน ถ้าต้องการไปนิพพานดับไฟกังวลให้สิ้นซาก จงอย่าเห็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นกรวดเป็นทราย ศีล สมาธิ ปัญญา ทุก ๆ ขั้นได้ปรากฏขึ้นกับตนแล้ว อย่ายอมให้หลุดมือไปด้วยความประมาท จงพยายามบำรุงศีล สมาธิ ปัญญา ทุก ๆ ขั้นที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญเต็มที่ จนสามารถแปรรูปเป็นมรรคญาณประหารกิเลสแม้อนุสัยให้สิ้นซากลงเสียที แดนแห่งวิมุตติพระนิพพานที่เคยเห็นว่าเป็นธรรมเหลือวิสัย จะกลายเป็นธรรมประดับใจทันทีที่กิเลสสิ้นซากลงไป

ลัก...ยิ้ม 19-05-2020 10:09

ในปฏิปทาข้อ ๗ ตรัสไว้ว่า สัมมาสติ ความระลึกชอบ ได้แก่การตั้งสติ ระลึกตามประโยคความเพียรของตน ตนกำหนดธรรมบทใดเป็นอารมณ์ของใจ เช่น พุทโธ หรือ อานาปานสติ เป็นต้น ให้มีสติระลึกธรรมนั้น ๆ หรือตั้งสติกำหนดในสติปัฏฐานสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งกำหนดเพื่อสมาธิ ทั้งการพิจารณาเพื่อปัญญา ให้มีสติความระลึกในประโยคความเพียรของตนทุก ๆ ประโยค จัดเป็นสัมมาสติที่ชอบข้อหนึ่ง

ลัก...ยิ้ม 31-05-2020 12:54

ปฏิปทาข้อ ๘ ตรัสไว้ว่า สัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ชอบ ได้แก่สมาธิที่สัมปยุตปัญญา ไม่ใช่สมาธิแบบหัวตอ และไม่ใช่สมาธิที่ติดแน่นทั้งวันทั้งคืนไม่ยอมพิจารณาทางด้านปัญญาเลย โดยเห็นว่าสมาธิเป็นธรรมประเสริฐพอตัว จนเกิดความตำหนิติโทษปัญญา หาว่าเป็นของเก๊ไปเสีย สมาธิประเภทนี้เรียกว่า มิจฉาสมาธิ ไม่จัดเป็นสมาธิที่จะทำบุคคลให้พ้นจากทุกข์ไปโดยชอบธรรม ส่วนสมาธิที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องกำหนดลงไปในหลักธรรมหรือบทธรรมตามจริตชอบ ด้วยความมีสติกำกับรักษา จนจิตรวมลงเป็นสมาธิได้ และจะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตาม เมื่อรู้สึกจิตของตนสงบหรือหยุดจากการคิดปรุงต่าง ๆ รวมอยู่เป็นเอกเทศอันหนึ่งจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลายจนกว่าจะถอนขึ้นมา จัดเป็นสมาธิที่ชอบ

และไม่เหมือนสมาธิซึ่งรวมลงไปแล้วไม่ทราบกลางวันกลางคืน เป็นตายไม่ทราบทั้งนั้น เหมือนคนตายแล้ว พอถอนขึ้นมาจึงระลึกย้อนหลัง ว่าจิตรวมหรือจิตไปอยู่ที่ไหนไม่ทราบ นี่เรียกว่าสมาธิหัวตอ เพราะรวมลงแล้วเหมือนหัวตอ ไม่มีความรู้สึก สมาธิประเภทนี้จงพยายามละเว้น แม้ที่เกิดขึ้นแล้วรีบดัดแปลงเสียใหม่ สมาธิที่กล่าวนี้เคยมีในวงนักปฏิบัติด้วยกัน วิธีแก้ไขคือหักห้ามอย่าให้รวมลงตามที่เคยเป็นมาจะเคยตัวตลอดกาล จงบังคับให้ท่องเที่ยวในสกลกายโดยมีสติบังคับเข้มแข็ง บังคับให้ท่องเที่ยวกลับไปกลับมา และขึ้นลงเบื้องบนเบื้องล่างจนควรแก่ปัญญาและมรรคผลต่อไป

ส่วนสัมมาสมาธิ เมื่อจิตรวมลงไปแล้ว มีสติรู้ประจำอยู่ในองค์สมาธินั้น เมื่อถอนขึ้นมาแล้วควรจะพิจารณาทางปัญญาในสภาวธรรมส่วนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกาย ในจิต ก็พิจารณาในโอกาสอันควร สมาธิกับปัญญาให้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกันเสมอไป อย่าปล่อยให้สมาธิเดินเหินไปแบบไม่มองหน้ามองหลังโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอะไรทั้งนั้น

สรุปความแล้ว สติ สมาธิ ปัญญา ทั้งสามนี้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน โดยจะแยกจากกันให้เดินแต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ สมาธิกับปัญญาต้องผลัดเปลี่ยนกันเดิน โดยมีสติเป็นเครื่องตามรักษาทั้งสมาธิและปัญญา

นี่แลปฏิปทาทั้ง ๘ ที่ได้อธิบายมาโดยอิงหลักธรรมบ้าง โดยอัตโนมัติบ้าง ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ ถึงสัมมาสมาธิ พึงทราบว่าเป็นธรรมหลายชั้น แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะนำไปปฏิบัติตามภูมิแห่งธรรมและความสามารถของตน

ในปฏิปทาทั้ง ๘ ประการนี้ ไม่เลือกว่านักบวชหรือฆราวาส ใครสนใจปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้ ผลคือวิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของผู้นั้น เพราะศีล สมาธิ ปัญญารวมอยู่ในมรรคนี้ และเป็นเหมือนกุญแจไขวิมุตติทั้งสองให้ประจักษ์กับใจอย่างเปิดเผย

อนึ่ง ท่านนักปฏิบัติอย่าพึงเข้าใจว่า วิมุตติกับวิมุตติญาณทัสสนะทั้งสองนี้.. แยกกันไปอยู่ในที่ต่างแดนหรือแยกกันทำหน้าที่คนละขณะ ที่ถูกไม่ใช่อย่างนั้น เขาตัดไม้ให้ขาดด้วยขวาน ขณะไม้ขาดจากกัน ตาก็มองเห็น ใจก็รู้ว่าไม้ท่อนนี้ขาดแล้วด้วยขวาน เห็นด้วยตากับรู้ด้วยใจเกิดขึ้นในขณะเดียวกันฉันใด วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะก็ทำหน้าที่รู้เห็นกิเลสขาดจากใจด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ในขณะเดียวกันฉันนั้น จากนั้นแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพราะปัญหายุ่งยากก็คือปัญหากิเลสกับใจเท่านั้นที่ใหญ่ยิ่งในไตรภพ เมื่อปล่อยใจอันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดแล้ว กิเลสซึ่งเป็นสิ่งอาศัยอยู่กับใจก็หลุดลอยไปเอง ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็ปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง เรียกว่าต่างฝ่ายต่างจริงแล้วก็หมดคดีคู่ความลงเพียงเท่านี้...”

ลัก...ยิ้ม 01-06-2020 12:24

วิหารจิต วิหารธรรม

พระอรหันตขีณาสพ คือพระอรหันต์ผู้หมดอาสวะแล้ว เพราะกำจัดอาสวะคือกิเลสที่หมักหมมอยู่ในจิต.. ที่ชุบย้อมจิตให้ชุ่มอยู่เสมอได้แล้วอย่างสิ้นเชิง ไม่กลับมาทำอันตรายจิตได้อีกต่อไป เทศน์อบรมพระคราวหนึ่ง องค์หลวงตากล่าวถึงวิหารธรรมของพระอรหันต์ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนี้


“... การภาวนาในท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วมีสองประเภทดังกล่าวนี้ ประเภทที่หนึ่ง เพื่อบรรเทาธาตุขันธ์.. อิริยาบถต่าง ๆ ยืนนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เพื่อบรรเทาขันธ์ให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี ในระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองกันอยู่นี้ ... ประเภทที่สอง เพื่อพิจารณาจิตกับธรรมทั้งหลาย ... อย่างพระพุทธเจ้าก็ส่องโลกธาตุ พิจารณาเล็งญาณดูสัตว์โลกด้วยจิตที่บริสุทธิ์แล้วนั้น พิจารณาอย่างนั้น ๆ แล้วพระอรหันต์ท่านก็ทำเต็มภูมิของท่าน พิจารณาเต็มภูมิเต็มกำลังของท่านนั้นแล ... เกี่ยวกับสัตวโลกทั้งหลายมีความลึกตื้นหนาบาง หยาบละเอียด ตลอดถึงสัตวโลกเป็นยังไง ๆ จะรู้ในเวลาท่านพิจารณานี้แจ่มแจ้งขึ้นอันหนึ่ง อันหนึ่งอยู่ธรรมดาท่านก็รู้ตามธรรมดา ถ้าท่านพิจารณานั้นก็ยิ่งละเอียดลออเข้าไป รู้มากเข้าไปโดยลำดับลำดา ... เพื่ออยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม คือเวลายังครองขันธ์อยู่ ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เหมือนเรานั้นแล..

แม้แต่พระขีณาสพท่าน ท่านก็ต้องอาศัยสมาธิเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่สบายในทิฏฐธรรม จนกระทั่งวันท่านนิพพานท่านถึงจะปล่อยนี้ได้ อันนี้เป็นวิหารธรรมของท่านคือสมาธิ ปัญญาพิจารณาเหตุผลเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องธรรมในแง่ต่าง ๆ หรือพิจารณาร่างกายเป็นวิหารธรรมเหมือนกัน มันก็เป็นเครื่องรื่นเริงระหว่างกายกับจิตที่ครองตัวกันอยู่ มันก็ไปด้วยจีรังถาวรถึงอายุขัย

ลัก...ยิ้ม 02-06-2020 11:28

เดินจงกรมเห็นกระรอกกระแตก็เล่นกับมันเสีย เล่นกับมันด้วยความรักมัน สงสารมัน ไม่ได้เล่นด้วยความคะนองนะ คือความเมตตานั้นล่ะสำคัญมาก เห็นสัตว์อะไรก็เล่นกับสัตว์นั้น เล่นด้วยความสงสาร บางทีหยุดจงกรมดูนี่ นอกจากมีธรรมแง่ใดแง่หนึ่งที่เป็นปัญหาขึ้นมา ธรรมแง่นี้มีความหมายแค่ไหน มันจะมีความสัมผัสมันจะตามเลย จนกระทั่งเข้าใจแล้วก็ปล่อยเฉย ๆ เหมือนกับไม่มีสติปัญญาอะไรเลย.. เฉย

ถ้าหากว่าสัมผัสธรรมบทใดแง่ใด มีความหมายลึกตื้นหยาบละเอียดแค่ไหน พอสัมผัสนั้นมันจะตามเลย ทีนี้มันจะหมุนเลย เพราะฉะนั้นการบิณฑบาตจึงไปกับหมู่เพื่อนไม่ค่อยได้ เดินฉุบฉับ ๆ ตามหลังไม่ค่อยได้ คือเรากำลังพิจารณาของเรา เพลินไปตามเรื่องของเราอยู่ เวลาขากลับมาก็หลีกให้หมู่เพื่อนมาก่อน แล้วเราก็พิจารณาของเรามาเรื่อย

ก็ไม่ทราบว่าจะอยู่กับอะไร อาศัยธรรมพอให้อยู่สะดวกสบาย นั่งภาวนาก็ภาวนาอยู่นั้นนะทุกวันนี้ ภาวนาอยู่นั้น มันเป็นการพยุงระหว่างธาตุขันธ์กับจิตอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก

ถ้าเราใช้กิริยาของจิตมาก ๆ นั้น ธาตุขันธ์มันก็เพียบ ถ้าเพียบแล้วมันก็ไปแพ้ทางธาตุขันธ์นั่นแหละ จิตมันจะไปแพ้ได้ยังไง มันแพ้ธาตุขันธ์นี่ คือไม่ถึงอายุขัย พูดง่าย ๆ ก็เหมือนอย่างเรามีเงินร้อยบาท วันหนึ่งเราใช้ ๒๕ บาทพอดีกับครอบครัวของเรานี้ เราไปใช้เสียวันเดียวร้อยบาท มันก็หมดภายในวันเดียว แทนที่จะได้ถึง ๔ วันก็ไม่ได้ เงินร้อยบาทใช้วันละ ๒๕ บาท แทนที่จะถึง ๔ วันมันก็ไม่ถึง

ที่นี้อายุขัยของเราสมมุติว่า ๗๐ หรือ ๘๐ นี้เป็นอายุขัย ถ้าเราสมบุกสมบัน ไม่มีวิหารธรรมให้เป็นเครื่องอยู่ระหว่างขันธ์กับจิตแล้ว จะให้อยู่ถึงโน้นมันก็ไม่ถึงเสีย ถ้าเราพยายามรักษาให้พอเหมาะพอสมกับมันก็ถึงอายุขัยได้ มันรู้อยู่ภายในจิตนี่ ถ้าหากว่ามันขัดกันเมื่อไรแล้ว ฝ่ายธาตุฝ่ายขันธ์นั้นล่ะจะเป็นฝ่ายบอบช้ำ ส่วนจิตอันนี้จะบอบอะไร ถ้าหากว่าจิตเลยสมมุติทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว.. ไม่มีอะไรบอบ อยู่อย่างนั้นเป็นอกาลิโก อกาลิกจิต อกาลิกธรรม

ลัก...ยิ้ม 03-06-2020 10:29

พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวก ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านทำความพากเพียรอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันท่านนิพพานก็เพราะเหตุนั้นเอง มีความจำเป็นระหว่างขันธ์กับจิต หากไม่มีเรื่องที่จะถอดถอนกิเลสตัวใดเพราะหมดไปแล้ว ก็จะเอาอะไรมาถอน มันไม่มีอะไร มันเงียบเหมือนบ้านร้าง พูดง่าย ๆ เมื่อกิเลสหมดไปแล้วก็เงียบเท่านั้นเอง

มันไม่เงียบก็เพราะกิเลสก่อกวนยุแหย่อยู่ตลอดเวลา พอธรรมชาตินั้นหมดไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรมาก่อกวนยุแหย่อะไร ๆ ให้ลำบากลำบน ขันธ์นั้นมีแต่ขันธ์ล้วน ๆ คิดปรุงยิบแย็บ ๆ ของมัน คิดปรุงอะไรก็ดับพร้อม ๆ โดยหลักธรรมชาติของมัน

เราไม่ต้องไปเข้มงวดกวดขันหรือระมัดระวังรักษา มันจะเป็นภัยหรือมันจะนำเรื่องอะไรมาสู่เรา.. ไม่จำเป็น เป็นธรรมชาติของมัน คิดเรื่องอะไร.. มันคิดปั๊บ ๆ ผ่านไปพร้อม ๆ ดับไป พร้อม ๆ ทุกขณะที่คิด ดับไปพร้อม ๆ รู้กันอยู่อย่างนั้นเป็นหลักธรรมชาติ เราก็รู้อยู่โดยหลักธรรมชาติ ขันธ์ที่ใช้ก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติของมัน

ถ้าหากว่ามีกิเลสอยู่ภายในก็เป็นเครื่องมือของกิเลส ขันธ์นี่มันก็เป็นภัยเหมือนกัน เหมือนมีดเล่มนี้ถ้าเอาไปฟันอะไรให้เป็นโทษก็ได้ ฟันหัวคนก็ได้ ทิ่มแทงใครก็ได้ มาฟันทำผลประโยชน์ก็ได้มีดเล่มนี้ ขันธ์นี้ก็ของกลาง แต่ก่อนเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสเอาไปใช้ให้ทำลายเจ้าของ ทำลายอะไรต่ออะไรยุ่งไปหมด

ที่นี้พอกิเลสตัวสำคัญดับไปแล้ว เรียกว่าโจรหัวโจกที่เป็นเจ้าของของขันธ์นี้ดับไปแล้ว ก็มีธรรมขึ้นแทนที่แล้วเป็นเครื่องมือของธรรม

ลัก...ยิ้ม 04-06-2020 19:16

พระพุทธเจ้าประกาศธรรมสอนโลกก็อาศัยขันธ์นี้ เสด็จไปที่ไหนมาไหน ตลอดถึงปรุงภายในจิตที่จะแสดงมาเป็นอรรถเป็นธรรม พินิจพิจารณาเรื่องอะไรนี้ก็อาศัยขันธ์ ปัญญาก็เป็นกิริยาอันหนึ่ง ๆ ยึดเอามาใช้งานเพื่อทำประโยชน์ให้โลก จึงเรียกว่าขันธ์ล้วน ๆ นั่นเป็นอย่างนั้น ใช้ไปถึงอายุขัยถึงกาล

นี่ถ้าหากว่าเราจะเทียบนะ ถ้าหากว่าจิตนี้มีเครื่องมือเป็นของตน คือจิตที่บริสุทธิ์แล้วมีเครื่องมือเป็นของตน โดยไม่ต้องอาศัยสมมุติเป็นเครื่องมือ สมมุติคือขันธ์ ๕ นี้.. เป็นเครื่องมือของกิเลสมันเป็นวัฏจักรเป็นสมมุติ จิตที่เป็นวิมุตติให้มีเครื่องมือเป็นวิมุตติมาใช้

จะไม่มีอันใดที่จะสวยงาม จะน่าดู จะอัศจรรย์ยิ่งกว่าลวดลายของจิตที่บริสุทธิ์แสดงตัวออกไป สมมุติว่าแสดงการเทศนา ว่าการหรือการแนะนำสั่งสอนใครก็ตาม ให้มีเครื่องมือสำหรับจิตนั้น โดยเฉพาะจะไม่มีอะไรน่าดูยิ่งกว่าพระอรหันต์ ท่านแสดงกิริยาแห่งธรรมออกมาด้วยเครื่องมือของท่านโดยเฉพาะ

อันนี้ท่านไม่มีก็ต้องมาอาศัยขันธ์นี่เป็นเครื่องมือ ขันธ์นี้เป็นสมมุติ จิตเป็นวิมุตติ ก็ต้องมาอาศัยสมมุตินี้ใช้ เพราะฉะนั้น กิริยานี้จึงเป็นเหมือนโลก เคยช้าเคยเร็ว จริตนิสัยเป็นอย่างไร ก็ต้องคงเส้นคงวาของมันไปอย่างนั้นตามเดิม จึงเรียกว่านิสัย ควรที่จะพูดหนักเบา มากน้อย เข้มข้นถึงเรื่องธรรมทั้งหลาย ทีนี้ก็เอาเรื่องขันธ์นี้มาใช้ มันก็เป็นลักษณะเหมือนโกรธ เหมือนโมโหโทโสไปเสีย ความจริงเป็นพลังของธรรมแสดงออกมา ไม่ใช่พลังของกิเลส พลังของอารมณ์ที่เกิดจากกิเลสแสดงออกมา ผิดกันตรงนี้ ถ้าหากว่า ธรรมจิตตวิสุทธิมีเครื่องมือเป็นของคนใช้ โอโห ! จะน่าดูที่สุด ไม่มีอะไรน่าดูยิ่งกว่า...”

ลัก...ยิ้ม 05-06-2020 10:49

วิสุทธิจิต วิสุทธิธรรม

“... ขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติล้วน ๆ ธรรมชาตินั้นเป็นวิมุตติ หลุดพ้นจากสิ่งกดขี่ทั้งหลายซึ่งเป็นตัวสมมุติแล้ว แล้วจะเกิดความเดือดร้อนได้อย่างไร เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เรื่องของขันธ์สลายลงไปตามสภาพของมันที่ประชุมกันเท่านั้น

จิตดวงนี้เป็นอย่างไร ต่อไปนี้จะไปเกิดที่ไหนก็ทราบอย่างชัดเจน จะไปเกิดที่ไหนเมื่อไม่มีเชื้อ ไม่มีเงื่อนต่อทั้งเงื่อนต้นเงื่อนปลาย ทั้งอดีต อนาคต แม้แต่ปัจจุบันก็รู้เท่าทัน ไม่ได้ยึดได้ถือ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ถือมั่นแล้ว เพราะได้รู้ประจักษ์ใจแล้ว

เมื่อรู้ประจักษ์ใจและปล่อยวางหมดแล้ว มีธรรมอะไรที่ไม่ใช่อนัตตา ไม่ใช่อัตตา คือ วิสุทธิธรรม วิสุทธิจิต จะเรียกวิสุทธิจิตก็ได้ จะเรียกวิสุทธิธรรมก็ได้ จะเรียกนิพพานก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไรเมื่อถึงตัวจริง ไม่มีกิเลสสมมุติใด ๆ เข้ามาขัดขวางแล้ว เรียกไม่เรียกก็ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น เพราะจิตหลุดพ้นจากปัญหาความยุ่งเหยิงทั้งมวลไปแล้ว ...”

ลัก...ยิ้ม 05-06-2020 23:57

พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตมังสวิรัตด้วยพระญาณหยั่งทราบที่ละเอียดลออ

“... การที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระญาณหยั่งทราบในเหตุการณ์ทั้งปวง ไม่ทรงอนุญาตมังสวิรัตินั้น ต้องทรงทราบในเหตุการณ์ที่ไม่ทรงอนุญาตนี้ได้ดีกว่าสามัญชนที่มีกิเลสทั่ว ๆ ไปคาดคิดกันอยู่มาก พระองค์ต้องทรงทราบทั้งสัตว์มีชีวิตที่กำลังถูกฆ่า และจิตวิญญาณของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายไปจะพึงหวังพึ่งบุญพึ่งกรรมต่อไป เช่นเดียวกับมวลสัตว์ทั่วโลกดินแดน หากเนื้อหนังอวัยวะนั้นถูกจำแนกไปในทางที่ดี สัตว์ผู้เป็นเจ้าของก็จะพึงมีส่วนดีไปด้วย.. ไม่ตายเปล่า

เรื่องทำนองนี้ ย่อมเป็นพุทธวิสัยที่จะทรงพิจารณาทราบโดยลำพัง ไม่เป็นสิ่งที่จะนำมาประกาศแก่โลก อันเป็นการส่งเสริมปาณาติบาตให้กำเริบรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะปกติโลกก็ทำกันอยู่แล้วก่อนแต่พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ โดยไม่มีใครหักห้ามได้ ซึ่งเท่ากับกั้นน้ำมหาสมุทรด้วยฝ่ามือนั่นแล

บรรดาพระอรหันต์องค์ไหนจะไม่รู้อย่างนั้นไม่มี พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงไม่ทรงห้ามการฉันเนื้อฉันปลา เพราะเป็นสิ่งที่สุดวิสัย เราพูดได้เพียงเท่านั้น ลึกลับกว่านั้นพูดไม่ได้ รู้เต็มหัวใจพูดไม่ได้ นั่นว่าไง กิเลสก็สนุกออกลวดลายซิ ออกมาอวดตัวว่าบริสุทธิ์เพราะไม่ฉันเนื้อฉันปลา เรื่องมังสวิรัติเป็นลวดลายของกิเลส กิเลสไม่ได้ละเอียดลอออะไรพอจะไปให้อภัยในส่วนลึกลับอย่างนั้น กิเลสมันไม่รู้นี่ แต่จิตที่ประกอบด้วยธรรมแล้วปิดไม่อยู่ ความจริงมีอยู่ตรงไหนรู้ตรงนั้น ๆ เห็นตรงนั้น

พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านพูดนิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องฉันเนื้อฉันปลานี่แหละ ฉันอะไร ๆ ก็ไม่ได้คิด ฉันเหล่านี้มันได้คิด แต่มันสุดวิสัยที่จะแก้ สุดวิสัยที่จะหักห้ามไม่ให้เป็นอย่างนี้ โลกเป็นเหมือนน้ำมหาสมุทรมาดั้งเดิมอย่างนั้น ใครจะไปแยกไปแยะตักตวงเอามาใช้อะไร ๆ ก็แล้วแต่บุคคลที่จะนำมาใช้ ที่จะไปกั้นน้ำมหาสมุทรไม่ให้ไหลไม่ได้ ท่านพูดแย็บเท่านั้น

หลัง ๆ มานี้เราก็มาเข้าใจซิ พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพูดไม่ออก ท่านก็รู้เหตุรู้ผลว่าการพูดออกไปมีแง่หนักเบาได้เสียขนาดไหน ผู้ฟังจะไม่ฟังไปตามความจริงที่รู้ ๆ นั้น มันจะแหวกแนวไปดังที่แหวกแนวอยู่ทุกวันนี้ เอาออกโอ้ออกอวดเรื่องมังสวิรัติ

ใครจะไปเกินพระพุทธเจ้า เรื่องความรู้ในแง่หนักเบาทุกแง่ทุกมุม ไม่อย่างนั้นจะเป็นสัพพัญญูเหรอ พวกไหนใครเป็นสัพพัญญู พวกประกาศตนป้าง ๆ ว่าฉันมังสวิรัติจึงเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ นี่หรือพวกมังสวิรัติ พวกกิเลสเหยียบหัวไม่ว่า เอาลวดลายกิเลสมาเป็นเครื่องมือเหยียบย่ำทำลาย เพียงไม่ฉันเนื้อฉันปลาเท่านั้นแต่จิตเป็นยังไง มันอยู่ที่จิตนี้ต่างหากนี่ อันนี้เพียงเอามาอวดได้แค่กิริยาเท่านั้น ท่านผู้ฉันท่านจิตบริสุทธิ์ขนาดไหน นั่นเอามาเทียบกันซิ มันเข้ากันได้เมื่อไหร่

พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านว่า มันสุดวิสัยจะทำยังไง ส่วนที่เป็นวิสัยใครก็มองไม่เห็น นั่นฟังซิ นี่ที่สำคัญมาก คือตายไม่ให้มันตาย ไม่อยากตายไม่อยากถูกเบียดเบียน ไม่อยากให้ใครฆ่าแต่เขาก็ฆ่า นี่มันสุดวิสัยอันนี้ โลกเป็นมาอย่างนี้แต่ดั้งเดิม ส่วนที่ไม่สุดวิสัยอีกแง่มุมหนึ่ง.. ไม่มีใครรู้ ท่านว่าอย่างนี้ พูดออกมาก็ไม่เกิดประโยชน์..”

ลัก...ยิ้ม 06-06-2020 12:59

หลวงปู่มั่นฝัน

“... ในบุพพสิกขามีอยู่ว่า “พระอรหันต์นอนหลับแล้วไม่ฝัน” ว่างั้น เราก็เป็นแต่เพียงจำเอาไว้ไม่ได้พิจารณา พระอรหันต์นอนหลับแล้วไม่ฝัน นี่อันหนึ่ง เรื่องความฝันนี้ก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์นี่.. ทำไมฝันไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ แท้ ๆ ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่กระดุกกระดิกได้เหมือนทั่ว ๆ ไป ทำไมพระอรหันต์จะฝันไม่ได้ นี่ซิ เอาเหตุผลมาจับกันตรงนี้

เอ้า .. พิจารณาธาตุขันธ์ให้ชัดเจนซิ ทั้งจิตด้วย ทั้งขันธ์ ๕ นี้ด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ด้วย ท่านบรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านสังหารขันธ์ ๕ นี้ให้ฉิบหายไปแล้วเหรอ ? ขันธ์ ๕ นี้จึงดีดดิ้นไม่ได้ การดีดดิ้นได้ก็ฝันได้ล่ะซิ นั่นจะว่าไง ขันธ์เป็นขันธ์นี่.. ทำไมจะฝันไม่ได้ นี่ซิมันน่าคิดอยู่ คิดละซิที่นี่ ใครจะว่าเป็นทิฐิก็ตาม มันคิดก็บอกว่าคิด.. เรา

เรื่องความฝันนี้ก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ ทำไมพระอรหันต์จะฝันไม่ได้ ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่กระดุกกระดิกได้เหมือนทั่ว ๆ ไป ท่านบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ท่านสังหารขันธ์ ๕ นี้ให้ฉิบหายไปแล้วเหรอ ? ขันธ์ ๕ นี้จึงดีดดิ้นไม่ได้ การดีดดิ้นได้ก็ฝันได้ล่ะสิ ขันธ์เป็นขันธ์ ทำไมจะฝันไม่ได้

พูดตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ก็อย่างที่หนองผือ พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านกั้นห้องศาลาอยู่ วันนั้นท่านไม่ค่อยสบาย ท่านเป็นหวัดใหญ่ ธาตุขันธ์มันไม่ค่อยสบาย เราจึงเดินจงกรมอยู่ข้าง ๆ ศาลาตรงไปทางห้องที่ท่านพักนั่น แล้วท่านนอนหลับ ท่านละเมอไป เดินจงกรมอยู่ข้าง ๆ ได้ยินเสียงผิดปกติ เอิ๊กอ๊าก เราเลยปุ๊บปั๊บจะวิ่งขึ้นไปหาท่าน แต่ท่านก็เร็วนะ พอรองเท้าปุบปับ ๆ ท่านคงได้ยินเสียงเราเดินฉั้บฉั้บ ๆ เข้าไป ท่านก็เลยกึ๊กกั๊กขึ้นว่า ‘ใครมานั่น’

เราก็กราบเรียนท่านว่า ‘ผมมหา ได้ยินเสียงพ่อแม่ครูอาจารย์ดังผิดปกติ’

‘อ๋อ ! ฝันละซิ ฝันเมื่อกี้นี้ ฝันเรื่องเกี่ยวกับหมา ดุหมา ไล่หมา’ ท่านว่า...”

ลัก...ยิ้ม 06-06-2020 13:11

ยาเสพติด ฝิ่น กัญชา กับพระอรหันต์


“... อย่างยาเสพติดนี่นะ จะเป็นสุรายาเมา ฝิ่นกัญชา ยาเสพติดประเภทใดก็ตาม ไม่ว่าธาตุขันธ์ใด ไม่ว่าธาตุขันธ์ของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าธาตุขันธ์ของพระอรหันต์ เหมือนกับธาตุขันธ์ของพวกเรา เวลาเอาอันนี้เข้าไปกิน เมื่อมันเคยมันชินแล้วติดได้ด้วยกัน พระพุทธเจ้าไม่ติด ความเป็นพระอรหันต์บริสุทธิ์นั้นไม่ติด แต่ระหว่างขันธ์กับสิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติด้วยกันมันไม่ใช่พระพุทธเจ้า เข้าใจไหม มันไม่ใช่อรหันต์ มันเป็นสมมุติ เช่นยาเสพติดกับลิ้นเรานี้มันก็เป็นสมมุติ มันเหมาะกัน มันซัดกันได้แล้วติดได้เข้าใจไหม เอายาเสพติดไปให้พระอรหันต์กินก็เอาไปซิ ติดด้วยกัน แต่หมายถึงว่าลิ้นกับยานี้ติดเท่านั้น เรื่องจิตของท่านไม่มีทางที่จะให้ติด เข้าใจไหม ...

เวลากิเลสมีอยู่ ไม่ว่ารูปว่ากาย ว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เสริมให้กิเลสเกิดตลอด พอกิเลสสะบั้นขาดลงไปนี้.. เป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่เป็นกิเลส นี่ละธรรมเกิดอย่างนั้น... ขันธ์นี่เหมือนโลกทั่ว ๆ ไป ไม่มีอะไรผิดแปลกต่างกันนะ ขันธ์โลกเป็นยังไง ขันธ์ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ก็เป็นแบบเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่าเป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีกิเลสเจือปน การเป็นอยู่หลับนอนอะไร ๆ เหมือนกันหมด คือความรู้ที่อยู่ในขันธ์ วงขันธ์นี้เท่านั้น ที่เป็นอยู่ในขันธ์.. ความรู้ที่รับทราบตลอดเวลาในขันธ์นี้ คือความรู้ที่เกี่ยวกับขันธ์เวลามีชีวิตอยู่ สำหรับความบริสุทธิ์นั้นเรียกว่า.. ทุกอย่างขาดสะบั้นไปหมดตั้งแต่ขณะท่านตรัสรู้ธรรมหรือบรรลุธรรม

เรื่องขันธ์นี้มันเป็นเหมือนโลก ยังบอกแล้วเช่นอย่างยาเสพติด ลองดูซิน่ะ ขันธ์ใครก็ตาม เพราะขันธ์นี้เป็นสมมุติด้วยกัน ติดได้ไม่สงสัย ไม่ว่าขันธ์ปุถุชน ไม่ว่าขันธ์ของพระอรหันต์ ขันธ์ของพระพุทธเจ้า ยาเสพติดเข้าไปในขันธ์นี้มันเข้ากันได้เสมอกัน เพราะฉะนั้นพูดได้ยันเลยว่า ปุถุชนแน่ใจแล้วว่ากินยาเสพติดนั้นติด พระอรหันต์ใครว่าไม่ติด.. ติด ขันธ์ของท่านติด แต่ดวงใจของท่านอรหันต์ไม่ติด ขันธ์ของท่านติด ขันธ์ของพระพุทธเจ้าติด แต่พระพุทธเจ้าไม่ติดยาเสพติด ให้เข้าใจอย่างนั้นซิ แยกอย่างนั้นซิ เพราะเหล่านี้เป็นเรื่องของสมมุติก็ต้องเป็นแบบสมมุติไป

เพราะฉะนั้น ท่านจึงห้าม เมื่อมีความรับผิดชอบในธาตุในขันธ์ของตนจากความบริสุทธิ์ของใจแล้ว ท่านจะไม่แตะต้องสิ่งเหล่านี้ ท่านรักษาได้เข้มงวดกวดขัน ถ้ากินลงไปติดเหมือนกัน เข้าใจเหรอ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่ติด อย่าเข้าใจผิดนะ นี่ถอดออกมาจากหัวใจ ฟังให้ชัดเจนนะ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป เป็นแต่เพียงว่าจิตเป็นอันหนึ่งต่างหาก ผ่านไปหมดแล้ว รับผิดชอบอยู่นั้นแต่ไม่ใช่อันนั้น มันเป็นหลักธรรมชาติของมัน เรื่องของขันธ์ก็เป็นไปตามขันธ์ อะไรควรชอบ อะไรไม่ควรชอบ อันนั้นดี อันนี้ไม่ดี รักอันนั้น ไม่รักอันนั้น อยู่ในวงขันธ์ทั้งนั้น.. เข้าใจไหม ธรรมชาตินั้นไม่มี ให้พากันเข้าใจนะ... เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงห้ามตลอดไปเลย สิ่งที่เป็นภัยพระพุทธเจ้าทราบหมด .. พวกยาเสพติดนั้นสงเคราะห์เข้าในสุราเลยทันที ไม่ต้องไปหามาจากที่ไหน อันนี้เป็นภาคที่เป็นพิษเป็นภัย เข้าในสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ห้ามในทางพระวินัยทันทีเลย...”

ลัก...ยิ้ม 06-06-2020 23:49

จิตเดิมแท้

“... จิตแท้นี้ต้องเป็น “ความบริสุทธิ์” หรือ “สอุปาทิเสสนิพพาน” ของพระอรหันต์ท่านเท่านั้น นอกจากนี้ไม่อาจเรียก “จิตแท้” อย่างเต็มปากเต็มใจได้ สำหรับผู้แสดงกระดากใจไม่อาจเรียกได้

“จิตดั้งเดิม” หมายถึงจิตดั้งเดิมแห่ง “วัฏฏะ” ของจิตที่เป็นอยู่นี่ซึ่งหมุนไปเวียนมา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในหลักธรรมว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมแท้ผ่องใส” นั่น ! “แต่อาศัยความคละเคล้าของกิเลสหรือกิเลสจรมา จึงทำให้จิตเศร้าหมอง” ท่านว่า

“จิตเดิมแท้” นั้นหมายถึงเดิมแท้ของสมมุติต่างหาก ไม่ได้หมายถึงความเดิมแท้ของความบริสุทธิ์ เวลาท่านแยกออกมา “ปภัสสรมิหัง จิตตัง ภิกขเว” “ปภัสสร” หมายถึง ประภัสสร คือความผ่องใส ไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์ นี่หลักเกณฑ์ของท่าน.. พูดถูกต้องหาที่แย้งไม่ได้เลย ถ้าว่าจิตเดิมเป็นจิตที่บริสุทธิ์นั้นจะมีที่ค้านกันว่า “ถ้าบริสุทธิ์แล้วมาเกิดทำไม ?” นั่นแน่ะ!

ท่านผู้ชำระจิตบริสุทธิ์แล้วท่านไม่ได้มาเกิดอีก ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วชำระกันทำไม ? มันมีที่แย้งกันตรงนี้ จะชำระเพื่ออะไร ? ถ้าจิตผ่องใสก็ชำระ เพราะความผ่องใสนั้นแลคือตัว “อวิชชาแท้” ไม่ใช่อื่นใดผู้ปฏิบัติจะทราบประจักษ์ใจของตน ในขณะที่จิตได้ผ่านจากความผ่องใสนี้ไปแล้วเข้าถึง “วิมุตติจิต” ความผ่องใสนี้จะไม่ปรากฏตัวเลย นั่น ! ทราบได้ตรงนี้อย่างประจักษ์กับผู้ปฏิบัติ และค้านกันได้ก็ค้านกันตรงนี้ เพราะความจริงนั้นจะต้องจริงกับใจของบุคคล เมื่อใครทราบใครรู้ก็ต้องพูดได้เต็มปากทีเดียว

ฉะนั้น จิตของพวกเรากำลังตกอยู่ในวงล้อม ทำให้หวาดให้กลัว ให้รักให้ชัง ให้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างชื่อว่าเป็นอาการของสมมุติ เป็นอาการของกิเลสโดยสิ้นเชิง ตัวเราเองไม่ได้พลังจิตเป็นของตนเอง มีแต่พลังของกิเลสตัณหาอาสวะ มันผลักมันดันอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วเราจะหาความสุขความสบายมาจากที่ไหน เมื่อธรรมชาตินี้ซึ่งเป็นของแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา ยังมายั่วยุจิตให้เป็นไปตามอีกด้วยโดยที่เราไม่รู้สึก

โลกนี้จะหาความสุขที่ไหน หาไม่ได้ ถ้าไม่ได้ถอดถอนธรรมชาติเหล่านี้ออกจากจิตใจโดยสิ้นเชิงเสียเมื่อไร จะหาความทรงตัวอยู่อย่างสบายหายห่วงไม่ได้เลย จะต้องกระดิกพลิกแพลงหรือต้องเอนโน้นเอนนี้ ตามที่มาเกี่ยวข้องยั่วยวนมากน้อย ฉะนั้นท่านจึงสอนให้ชำระจิต ซึ่งเป็นการชำระความทุกข์ทรมานของตนนั้นแล

ไม่มีผู้ใดที่จะหยั่งถึงหลักความจริงได้อย่างแท้จริงดั่งพระพุทธเจ้า มีพระองค์เดียวที่เรียกว่า “สยัมภู” โดยไม่ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย ในการแก้กิเลสออกจากพระทัยของพระองค์ ทรงทำหน้าที่ทั้งเป็นนักศึกษาและเป็นครูไปในตัวลำพังพระองค์เดียว จนได้ตรัสรู้ถึงขั้น “ยอดธรรม ยอดคน ยอดศาสดา”

ส่วนทางสมาธิด้านความสงบนั้น ท่านคงได้ศึกษาอบรมมาบ้างเหมือนกันกับดาบสทั้งสอง ไม่ปฏิเสธ แต่นั่นไม่ใช่ทางถอดถอนจิตจนถึงความเป็น “สัพพัญญู” ได้ เวลาจะเป็น “สัพพัญญู” ก็เสด็จจากดาบสทั้งสองไปบำเพ็ญลำพังพระองค์เดียว และทรงรู้เองเห็นเองโดยไม่มีครูสั่งสอนเลย แล้วนำธรรมนั้นมาสั่งสอนโลก...


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:41


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว