กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนมกราคม ๒๕๖๗ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=144)
-   -   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=10016)

พิชวัฒน์ 31-01-2024 20:12

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗
 
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗



เถรี 01-02-2024 00:39

วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ สิ้นเดือนอีกแล้ว ปีใหม่ก็กลายเป็นปีเก่าไปตามระเบียบ หลายท่านก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า "เวลาและวารี ไม่มีวันจะคอยใคร เรือเมล์และรถไฟ ก็ย่อมไปตามเวลา โอ้เอ้และอืดอาด มักจะพลาดปรารถนา พลาดแล้วจะโศกา อนิจจาเราช้าเอง"

ส่วนใหญ่แล้วบุคคลถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น ก็มักจะเป็นคนที่ทำอะไรรวดเร็ว เพราะว่าสิ่งรุงรังรอบข้างไม่เอาแล้ว ตั้งหน้าตั้งตามุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ในเมื่อไม่แวะชมดอกไม้ริมทาง ก็มักจะทำอะไรได้เร็วกว่าคนอื่น จึงเป็นเรื่องที่พวกเราพึงจะสังวรเอาไว้ โดยเฉพาะในปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณะ ที่ว่า "วันคืนล่วงไป ๆ เราทั้งหลายทำอะไรกันอยู่ ?"

ภาระหน้าที่การงานต่าง ๆ นั้น เป็นแค่องค์ประกอบเดียวของเราเท่านั้น หน้าที่หลักก็คือต้องปฏิบัติธรรม เพื่อเอาตัวเองหลุดพ้นจากกองทุกข์ให้ได้ แต่ว่าหลายท่านก็ทำตัวเหมือนคนมีเวลามาก ก็คือมักจะผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย จนกระทั่งโดนกิเลสหลอก ไม่มีโอกาสแม้แต่จะทำความดี ครั้นเมื่อกำลังใจไม่เข้มแข็งพอ ท้ายสุดก็ต้องสึกหาลาเพศไปอย่างน่าเสียดาย..!

แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้จะว่ากันก็ไม่ได้ เนื่องเพราะว่าถ้าบารมีของเรายังอ่อนอยู่ ย่อมทำสิ่งต่าง ๆ ให้เหมือนกับบุคคลที่บารมีเข้มแข็งไม่ได้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเรายังกลัวตายอยู่ การทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมของเรานั้น มีแต่ความยากลำบาก

ถ้าท่านทั้งหลายศึกษาประวัติครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น จะเห็นว่าบางทีท่านปฏิบัติธรรมกัน ๗ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วัน ไม่เสียเวลาไปออกบิณฑบาต นอกจากจะเป็นการทรมานตนเองเพื่อให้กิเลสสงบลงแล้ว ยังไม่เสียเวลาไปห่วงใยกับการกินข้าวปลาอาหาร เนื่องเพราะว่าให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมมากกว่า ก็คือกล้าเอาชีวิตเข้าแลก ถึงขนาดมีคำพูดติดปากกันว่า "ธรรมะอยู่ฟากตาย" ก็คือต้องพร้อมที่จะสละชีวิต เพื่อที่จะให้เข้าถึงธรรมทั้งหลายเหล่านั้น แล้วพวกเราลองเปรียบเทียบกับตัวเองดูว่า กำลังใจของเราได้สักเศษเสี้ยวหนึ่งของครูบาอาจารย์หรือไม่ ?

เถรี 01-02-2024 00:43

ที่กระผม/อาตมภาพเคยบอกเอาไว้ว่า การศึกษาวิชาการต่าง ๆ นั้น ลูกศิษย์ได้ไปเต็มที่ก็ไม่เกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของครูบาอาจารย์ เมื่อถ่ายทอดต่อไป ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน ก็คือถ้า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของเรา นับว่าเป็น ๑๐๐ ลูกศิษย์ที่รับช่วงต่อจากเราไป ก็ได้ไปประมาณ ๘๐ เท่านั้น มีวิธีเดียวที่จะให้ได้เต็มร้อย ก็คือเราต้องใช้ความเพียรพยายามเกิน ๑๐๐ อาจจะต้องถึง ๑๒๐ , ๑๕๐ หรือว่า ๒๐๐ ไปเลย จึงจะได้ความรู้ความสามารถเท่ากับครูบาอาจารย์

แต่คราวนี้พวกเราขาดความเพียรอย่างหนักมาก เหนื่อยหน่อยก็เลิก ลำบากหน่อยก็หยุด เชื่อกิเลสมากกว่าเชื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านให้สละชีวิตเพื่อธรรม แต่กิเลสบอกว่าไม่ได้ เราต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป แล้วเราก็เชื่อกิเลส ไม่ได้เชื่อพระพุทธเจ้า จึงไม่มีการทุ่มเทกับการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่เต็มทาง โอกาสที่พวกเราจะเข้าถึงมรรคถึงผลจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

กระผม/อาตมภาพขอยืนยันว่าเรื่องของมรรคผล ยังไม่พ้นยุคพ้นสมัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงยืนยันเอาไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎกว่า ตราบใดที่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ ตราบนั้น พระอริยเจ้าที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ยังคงมีอยู่เป็นปกติ แต่ในเมื่อพวกเราทำเหมือนอย่างกับแก้บน ก็คือไม่จริงไม่จัง ทำตัวเหมือนกับคนมีเวลามาก ซึ่งนั่นไม่ใช่วิสัยของบุคคลที่ปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์

ถ้าหากว่าเราไปนึกถึงอรรถกถาจารย์ที่ท่านเปรียบเทียบเอาไว้ว่า "บุคคลที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม ถ้ามีจำนวนเท่ากับขนของวัวตัวหนึ่ง บุคคลที่สามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์ได้ ก็มีจำนวนเท่ากับเขาวัวเท่านั้น" วัวตัวหนึ่งมีขนเป็นหมื่นเป็นแสนเส้น แต่มีเขาแค่สองข้าง จำนวนจึงต่างกันอย่างมหาศาล ก็แปลว่านอกจากที่เราจะต้องใช้ความเพียรอย่างเต็มที่แล้ว ยังต้องทำอย่างไรเพื่อเป็นเขาวัวให้ได้..!

โอกาสที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลของแต่ละท่าน แต่ละรูป มีมากน้อยตามจังหวะของกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่เข้ามาสนอง ถ้าในช่วงที่กุศลกรรมเข้ามาสนอง เราไม่รีบกอบโกยเอาไว้ให้มากที่สุด ถ้าอกุศลกรรมเข้ามาสนองเมื่อไร ก็มีแต่จะชักนำเราให้ถอยห่างจากความดีไปเท่านั้น ก็แปลว่าเราทิ้งโอกาสอันดีงามไปด้วยตนเอง แล้วทุกครั้งก็เป็นเช่นนี้..!

ถ้าพวกท่านรู้จักสังเกตจะเห็นว่า บางขณะที่กำลังใจของเราทรงตัว กำลังสมาธิตั้งมั่น สติปัญญาแจ่มใสแหลมคม เราจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ใจเหมือนจะเหาะจะบินได้เสียเดี๋ยวนั้นเลย แต่พริบตาต่อมาก็หกคะเมนเกนเก้ จากเทวดากลายเป็นหมาอีกแล้ว..! แต่ไม่เคยพิจารณาว่าทำไมอยู่ ๆ จากเทวดาจึงกลายเป็นหมา..?! เราพลาดที่ตรงไหน จะได้ระมัดระวังไว้ ไม่ให้พลาดตรงจุดนั้นอีก

เถรี 01-02-2024 00:50

หลักการทั้งหลายเหล่านี้ ถ้ายกเอาสัมมัปปธาน ๔ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา ก็จะเห็นว่าประกอบไปด้วย ความเพียรในการละความชั่ว ความเพียรในการระมัดระวังไม่ให้ความชั่วเข้ามาในใจของเราอีก ความเพียรในการสร้างความดี ความเพียรในการรักษาความดีนั้นให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป

คราวนี้เราท่านทั้งหลายที่มาทำความดี เราสามารถรักษาความดีของเราให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นไป หรือว่าพลาดท่าเสียทีหลุดจากความดีไปทุกครั้ง ? เรื่องพวกนี้เราต้องรู้จักพินิจพิจารณา ถือคติที่ว่า "ทำถูกได้กำไร ทำผิดได้บทเรียน" ไม่เสียเวลาไปอยู่กับอารมณ์เสียดายในความดีที่เคยทำ หากแต่ว่าลงมือทำใหม่ทันทีที่พลาดไป ถ้าสามารถวางกำลังใจลักษณะนี้ได้ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของเราก็จะปรากฏขึ้น

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ บางทีท่านยังมีประสบการณ์น้อยอยู่ ตัวกระผม/อาตมภาพเองเคยรักษาอารมณ์ภาวนาไว้ ทั้งหลับทั้งตื่น ทั้งยืนทั้งนั่ง มีสติรู้ตัวอยู่ตลอด ๒ เดือนกว่า เกือบ ๓ เดือน กำลังคิดว่าถ้าเราสามารถรักษากำลังใจแบบนี้ไว้ได้ ขึ้นชื่อว่ามรรคผลก็ไม่น่าจะเกินความสามารถของตน พอคิดได้ไม่นาน กำลังใจพลาดตอนไหนก็ไม่รู้ ? มารู้ตัวตอน รัก โลภ โกรธ หลง มาแบบฟ้าถล่มดินทลาย กว่าที่จะค้ำ กว่าที่จะยัน กว่าที่จะแก้ไขให้เข้าที่ได้ ก็เสียเวลาไปเป็นเดือน..!

พอรักษากำลังใจได้ ไปกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านบอกว่า "ข้าก็เคยเป็น ทั้งที่เคยทรงสมาบัติ ๘ คล่องตัวเต็มที่แล้วนั่นแหละ มารู้ตัวอีกทีเหลือแค่อุปจารสมาธิเท่านั้น..!" ท่านบอกว่า "สิ่งที่แกพบก็เหมือนกับสิ่งที่ข้าพบ ก็คือบ้าน ซึ่งมีเสา ๘ ต้นช่วยกันค้ำ อยู่ ๆ เหลือเสาแค่ครึ่งต้น บ้านทั้งหลังจะถล่มลงมาทับตาย..!" เพราะฉะนั้น..
ครูบาอาจารย์ท่านก็เคยพลาดแบบที่พวกเราพลาด แต่พลาดแล้วท่านเพียรพยายามแก้ไข โดยเฉพาะไม่ละทิ้งในความเพียรทั้งหลายเหล่านั้น ขณะที่พวกเราเอ้อระเหยลอยชาย แบบถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง..!

เราท่านทั้งหลายได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรมและน้อมนำมาปฏิบัติ เป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่งนัก จงอย่าใช้โอกาสเปลือง..! เพราะว่าถ้าเราพลาดไปในชาตินี้ ก็เท่ากับว่าเสียชาติเกิด..! ก็คือต้องไปเวียนว่ายตายเกิด ทุกข์ทนอีกนานเท่าไรก็ไม่รู้ ? กว่าที่จะมีโอกาสได้มาปฏิบัติธรรมอย่างนี้อีก จึงต้องรู้จักกลัวการเกิดใหม่เสียบ้าง ถ้าเราไม่รู้จักเข็ด ไม่รู้จักกลัว ก็ไม่พยายามที่จะหลบหนี ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ ก็แปลว่าเรายังต้องทุกข์กันไปอีกนาน..!

สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันพุธที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:56


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว