กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เก็บตกจากบ้านเติมบุญ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=65)
-   -   เก็บตกจากบ้านเติมบุญ ต้นเดือนมกราคม ๒๕๖๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6451)

เถรี 21-01-2019 21:27

พระอาจารย์กล่าวว่า มหาเอ (พระมหานันทวัฒน์ เขมธมฺโม) ท่านตั้งใจสร้างหลวงพ่อหายโศกขนาดนี้เพื่อเอาไว้ติดหน้ารถโดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นหลวงปู่มหาอำพันท่านก็ติดย่ามเลย

หลวงปู่มหาอำพันจะมีรูปพระแก้วมรกตองค์ประมาณนี้ใส่ย่ามอยู่ตลอด ถึงเวลาก่อนนอนก็เอามามอง หลับตานึกถึง จนกระทั่งพุทธนิมิตชัดเจนแล้วท่านถึงจะยอมนอน พระระดับนั้นยังไม่ยอมประมาทเลย”

เถรี 21-01-2019 21:27

พระอาจารย์กล่าวว่า “โยมเขามักจะสงสัยว่าคนเป็นร้อยเป็นพันอาตมาจำชื่อหมดได้อย่างไร ? ..(หัวเราะ).. บอกว่าจำคนใหม่คนเดียวเขาไม่ค่อยจะเชื่อกัน”

เถรี 21-01-2019 21:29

พระอาจารย์กล่าวถึงหลวงปู่เกลี้ยงว่า “ยังจำได้ ท่านบอกว่า “เกลี้ยงทุกข์ เกลี้ยงโศก เกลี้ยงโรค เกลี้ยงภัย” ไปกราบท่าน ท่านชี้บอกมหาโรจน์ (พระมหานัทกฤต ทีปงฺกโร) บอกว่า “ไม่ต้องตามใครเลย ให้ตามองค์นี้” ..(หัวเราะ)..

หลวงปู่เกลี้ยง วัดโนนแกด มรณภาพอายุ ๑๑๒ ปี ส่วนอีกท่านที่ไปก่อนหลวงปู่ ๓-๔ ชั่วโมงก็คือ คุณสอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ อายุ ๘๘ ปี คุณสอาดกับคุณนฤมลเพิ่งจะไปวัดท่าขนุนไม่นานนี้เอง ชอบย่องไปทำบุญที่วัดท่าขนุน ไปถึงก็ถามว่ายังลุกนั่งสะดวกไหม ? ยังสะดวก แข็งแรงมากเลย อายุ ๘๐ กว่าปี ลุกนั่งยังสะดวกดีกว่าอาตมาอีก ต้องบอกว่าทำบุญไว้ดี อายุ ๘๘ ปี ไม่เห็นมีโรคมีภัยอะไร บทจะตายก็ตายเอาเฉย ๆ เป็นนักแสดงเจ้าบทบาทรุ่นเก่า”



เถรี 21-01-2019 21:30

“จำได้ไหมว่าปีที่หลวงพ่อวัดท่าซุงมรณภาพ เขาก็เด็ดเอาพระดีไปตั้งแต่ต้นปีเลย เริ่มแรกก็ ๑๒ มกราคม หลวงปู่อ่ำ วัดโสมนัสฯ ไปก่อนเลย แล้วหลังจากนั้นก็ตามไปเป็นชุด ๆ สถานการณ์ประเทศชาติถ้าไม่ค่อยดีเมื่อไร พระที่เป็นสุปฏิปันโนก็มักจะละสังขารเพื่อตัดเคราะห์ตัดกรรมให้ประเทศ”

เถรี 21-01-2019 21:32

“ปีที่แล้วพระสุปฏิปันโนก็ทิ้งขันธ์ไปหลายรูป หลวงตาบัวเพิ่งไปไม่นาน หลวงปู่ลีลูกศิษย์ก็ตามไปถวายการรับใช้ติด ๆ เลย คู่นี้ลูกศิษย์กับอาจารย์รักกันจริง หลวงปู่ลีท่านมอบกายถวายชีวิตให้หลวงตาบัวมาตั้งแต่สมัยบวชใหม่ ๆ ยอมจริง ๆ องค์นี้ เรื่องของกิเลสในใจมีเท่าไรหลวงตาบัวถลกออกมาหมด หลวงปู่ลีมอบกายถวายชีวิตให้เลย

ครูบาอาจารย์รู้จิตรู้ใจความจริงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเราคิดชั่วอะไรท่านก็บอกได้ ส่วนใหญ่ก็ต้องถือมารยาท ไม่ใช่ลูกศิษย์ลูกหาที่ขึ้นขันขึ้นครูถวายตัวเป็นศิษย์จริง ๆ ก็ไม่ไปยุ่งกับเรื่องในใจเขาหรอก เพราะถือคติว่า ดูใจตัวเองได้ประโยชน์ ดูใจคนอื่นไม่ได้อะไร

เถรี 21-01-2019 21:33

พระอาจารย์กล่าวว่า “พฤษภาคมนี้ของเรามีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้วทำไมพระองค์ท่านไม่เอาวันที่ ๕ ไปเลย ? ไปเอาวันที่ ๔ แทน คือพวกเราชินกับการหยุดวันที่ ๕ ไปแล้ว พระองค์คงเห็นว่าเดี๋ยวจะไปทับของทูลกระหม่อมพ่อ

พระองค์ท่านต้องเรียกทูลกระหม่อมพ่อ ถ้าเรียกสมเด็จพ่อนี่ลดยศฮวบเลย เรียกสมเด็จพ่อนี่ยศเท่ากับเสด็จในกรมเท่านั้น”


เถรี 22-01-2019 20:01

พระอาจารย์กล่าวว่า "โยมคนนี้เขาชื่อไพรศาล ไม่ใช่ไพศาลนะ คือตัว ‘ไพศาล’ หรือ ‘วิสาล’ แปลว่ากว้างขวางอย่างวิเศษ แต่ชื่อของเขาไพรศาล มี ร.เรือ ด้วย ในเมื่อมี ร.เรือ สาละ ตัวนี้แปลว่าคอก เพราะฉะนั้น..ไพรศาลตัวนี้แปลว่าป่าที่เป็นคอก อย่างโคสาละ แปลว่า คอกวัว โคศาล บ้านเราอ่านว่า สาน แต่บาลีออกเสียงอะต่อท้ายเป็น สา-ละ

มักขลิโคสาล เป็นทาสในเรือนเบี้ย เป็นหนึ่งในอาจารย์ใหญ่ในสมัยนั้น จะมีคณาจารย์อยู่ ๖๒ ราย แต่ว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ที่คนเคารพนับถือทั้งประเทศอยู่ ๖ ราย มักขลิโคสาล เป็นทาสในเรือนเบี้ย เจ้านายให้แบกหม้อน้ำมันไปตลาดเพื่อเอาไปขาย ฝนตกใหม่ ๆ พื้นลื่น เจ้านายก็ต้องคอยเตือนว่า “มาขลิ มาขลิ” คือ “ระวังจะลื่น ระวังจะลื่น” คราวนี้ตานี่เกิดในคอกวัว ก็เลยมีฉายาต่อท้ายว่าโคสาละ ก็คือ ‘ไอ้ลื่นที่เกิดในคอกวัว’

ต้องบอกว่าเจ้านายปากศักดิ์สิทธิ์ ไปไหนก็ “ระวังลื่น ระวังลื่น ระวังลื่น” ท้ายสุดตามักขลิก็ลื่นหงายท้องตีนชี้ฟ้า หม้อน้ำมันตกแตก เจ้านายโมโหมาก คว้าหมับเข้าที่ผ้านุ่งลากเข้ามาจะตีด้วยไม้เท้า มักขลิตกใจดิ้นหลุดมือไป ทำไมถึงหลุด ? ผ้าหลุดติดอยู่กับเจ้านาย...ไปแต่ตัว สมัยก่อนทาสส่วนใหญ่มีแต่ผ้านุ่งไม่มีผ้าห่ม ผ้านุ่งก็ลักษณะเหมือนกับสบงพระ ผ้าห่มก็คือจีวร ประมาณนั้น ถ้าหากว่าคนที่มีฐานะก็ต้องมีทั้งผ้านุ่งผ้าห่ม แบบจูเฬกสาฎกมีแต่ผ้านุ่งไม่มีผ้าห่ม ออกจากบ้านลำบาก เขาถือว่าไร้วัฒนธรรม เหมือนกับสมัยนี้เดินไปไม่ใส่เสื้อ"

เถรี 22-01-2019 20:35

"มักขลิไปซ่อนในป่า กลัวเจ้านายตี ทนหิวไม่ไหวก็ย่องออกจากป่ามา เจอบ้านคนก็ไปขออาหารกิน คนสมัยนั้นเห็น โอ้โฮ...คนนี้มักน้อยมาก กระทั่งผ้าสักผืนก็ไม่นุ่ง จะต้องเป็นพระอรหันต์แน่เลย จึงเอาข้าวปลาอาหารมาประเคนเสียเยอะ มักขลิก็เลยกลายเป็นอาจารย์ใหญ่ มีคนเคารพนับถือ ก็บอกกันปากต่อปากไป เห็นว่าการไม่นุ่งผ้าทำให้เกิดลาภผลเงินทองขึ้นมา ก็เลยพาลแก้ผ้าเดินเทิ่ง ๆ ไปเลย แกก็เลยบัญญัติลัทธินัตถิกทิฏฐิขึ้นมา ไม่ต้องทำอะไรเลยถึงเวลามีเอง

อ่านประวัติบรรดาอาจารย์ใหญ่ของยุคนั้นแล้ว ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมพระพุทธเจ้าของเราถึงได้แหวกวงความเชื่อของเขาออกมาได้ เพราะว่าอาจารย์ใหญ่ยุคนั้นเป็นทฤษฎีเหลวไหลเสียเยอะ ประมาณว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ถึงเวลาก็ดังเอง ถึงเวลาก็รวยเอง

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าทุกอย่างเป็นไปตามกรรม กรรมดีกรรมชั่วที่เราทำ ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ บุคคลหว่านพืชเช่นไร ก็จักได้รับผลเช่นนั้น กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว คราวนี้บาลีแปลมาแล้วคนฟังต่อแปลไม่หมด ไปแปลว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เข้าใจกันอีกว่ากรรมแต่ละอย่างมีตามวาระ ตามความหนักเบา ตามหน้าที่ ฯลฯ พอถึงเวลาก็เลยกลายเป็นว่าทำดีแล้วยังไม่ทันได้ดี ก็ไปตั้งทฤษฎีใหม่ว่า ‘ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป’ นั่นเขาเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิแปลว่าความเห็น Concept ผิด แนวคิดผิด"

เถรี 22-01-2019 20:44

"ฟังคำว่ามิจฉาทิฏฐิแล้วดูน่ากลัวมาก ก็เพราะว่าเหมือนกับกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อ ๆ ไปก็ผิดหมด พระพุทธเจ้าถึงได้ว่า หนทางแห่งการหลุดพ้นต้องเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง อย่างสมัยก่อนเขาบำเพ็ญตบะ ทำตนให้ลำบาก เชื่อว่าเมื่อพระเจ้าพอใจก็จะรับไปอยู่ด้วย อันนี้ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ขันติคือความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าอดกลั้นทำความดี ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจได้ นั่นน่ะสุดยอดตบะเลย

คราวนี้คนอินเดียมีความฉลาด ต้องบอกว่าหัวหมอมาตั้งแต่เกิด จนเขาบอกว่าถ้าเจอแขกกับงูให้ตีแขกก่อน อาตมาบอกว่าถ้าเจองูกับแขกให้ตีแขกก่อน แขกสะดุ้งเหย็ง “อีนี่ตีจ๋านทำอะไรนาย แขกน่ารักนะ” คนอินเดียเป็นคนเจ้าคารม เป็นสุดยอดของแนวคิด แต่ละคนจะต้องมีหลักการคิดอะไรสักอย่างอยู่ในใจของตัวเอง แต่ดีอยู่ตรงที่ว่า ถ้าหากว่าแนวคิดของเราดีกว่า เขาจะยอมเคารพนับถือ ดีไม่ดีก็ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ไปเลย"

เถรี 22-01-2019 20:49

"ในเมื่อบ่มเพาะแนวคิดก็เกิดตรรกะวิภาษขึ้นมา ก็คือการโต้เถียงกัน ปะทะสังสรรค์กันทางแนวคิด ภาษาบาลีเรียกว่า วิวาทะ ที่คนไทยเรียกว่า วิวาท วิวาทบ้านเรานี่ความหมายผิด กลายเป็นทะเลาะเบาะแว้งกัน

แบบเดียวกับเมื่อตอนบ่ายที่กล่าวถึง บึกบึน ที่เป็นภาษาลาว ความหมายของไทยปัจจุบัน บึกบึนคือกำยำล่ำสัน แข็งแรงกว่าชาวบ้านเขา บึกบึนภาษาลาวเป็นพวกประเภทดื้อตะบันไปข้างหน้าอย่างเดียว ใครเว้าลาวได้บ้าง ? รู้จักไหม? บึนไปข้างหน้า คือ ไม่หลีกใคร มุดไปอย่างเดียวเลย จะไปให้ได้ ประเภทดื้อหัวชนฝา ความหมายเปลี่ยนกลายเป็นแข็งแรง บาลีความหมายก็เปลี่ยนได้เช่นกัน

ในเมื่อวิวาทะ วาทะคือคำพูด วิ แปลได้ ๓ ความหมาย เป็นคำอุปสรรค คือ คำที่นำหน้าหรือขวางหน้า ถ้าไม่มีคำนี้นำความหมายก็ยังเป็นความหมายหนึ่ง พอมีคำนำเข้าไปความหมายเปลี่ยน แปลว่าวิเศษก็ได้ แจ่มแจ้งก็ได้ แตกต่างก็ได้ เพราะฉะนั้น..วิวาทหรือวิวาทะตัวนี้ คือ มีคำพูดที่ต่างกัน ไม่เป็นไปในแนวเดียวกัน ในเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน การพนันก็ต้องเกิดขึ้น นั่งเถียงกันว่าใครจะชนะ"

เถรี 22-01-2019 21:47

"เพราะฉะนั้นบาลีคำหนึ่งจึงมีหลายความหมาย ต้องดูบริบทสิ่งแวดล้อมช่วงนั้นว่าควรจะหมายถึงอะไร อย่างเช่น อนุ แปลว่า น้อย ก็ได้ แปลว่า ภายหลัง ก็ได้ แปลว่า ตาม ก็ได้ อนุภรรยา...เมียน้อย อนุชน...คนรุ่นหลัง อนุจร...ผู้ตามหลัง เกิดเขาบอกว่า “หลวงพ่อเล็กเดินทางไปต่างประเทศพร้อมพระอนุจร” ก็จะได้รู้ว่าอนุตัวนี้ต้องแปลว่าติดตาม ตามหลัง คือ มีพระติดตามไป

เพราะฉะนั้น..บริบทคือสิ่งแวดล้อม จะทำให้เราตีความว่าคำนี้แปลว่าอะไร บางคำความหมายเยอะมาก "ใน ใกล้ ที่ ครั้นเมื่อ ในเพราะ เหนือ บน ณ" ๘ ความหมาย ก็ต้องรู้ว่าหมายถึงอะไร คำนี้ต้องแปลว่า นั่งใกล้ คำนี้ต้องแปลว่า นั่งใน คำนี้ต้องแปลว่า นั่งบน คำนี้แปลว่า นั่งเหนือ แปลไป ๗-๘ ความหมาย ต้องดูว่ารูปประโยคเป็นอย่างไร กล่าวถึงอะไร"

เถรี 22-01-2019 21:51

"สรุปว่าในเมื่อแขกบ่มเพาะความสามารถในการวิวาท ก็คือถกเถียงกันแบบตรรกะวิภาษ คือใช้คำพูดใช้เหตุผลในการหักล้างกัน เมื่อเจอพระพุทธเจ้าเข้า ได้ยินสิ่งที่ท่านพูด ไม่เคยได้ยินจากที่อื่นมาก่อน เกิดชอบใจ ประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาต เจอพราหมณ์กำลังไถนาอยู่ พระพุทธเจ้าก็ถามว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ? พราหมณ์ก็บอกว่าจะต้องมีวัว จะต้องมีแอก จะต้องมีเชือก จะต้องมีไถ จะต้องมีผาล ฯลฯ อธิบายแต่ละอย่างว่าทำอะไรบ้าง "แล้วท่านเล่า ประกอบอาชีพอะไร ?" พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าท่านก็ทำนาเหมือนกัน พราหมณ์ถามว่า "ไหนละเชือกของท่าน ? ไหนละไถของท่าน ? ไหนละผานของท่าน ?"

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า หิริ อีสา งอนไถ (เครื่องบังคับทิศทาง) คือความละอายชั่ว มโน โยตฺตํ ความคิดเป็นเส้นเชือกในการบังคับ สติ เม ผาลปาจนํ สติเหมือนผาลไถที่คอยพลิกดิน จะดีหรือชั่วก็อยู่ตรงนั้นแหละ ว่าจะพลิกอะไรขึ้นมา พราหมณ์ได้ยินจึงประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ไม่เคยฟังอะไรที่ชัดเจนอย่างนี้มาก่อน แต่นั่นหมายความว่าท่านต้องพูดกับชาวนา คนทำนาเขาอยู่กับเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้อยู่ พระพุทธเจ้ายกขึ้นมาเขาเข้าใจทันที

แบบเดียวกับที่ท่านยกเรื่องของราคัคคิ โทสัคคิ โมหัคคิ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ให้ชฎิลสามพี่น้องที่บูชาไฟฟัง ฟังปุ๊บเขาก็เข้าใจ เพราะว่าตรงกับสิ่งที่เขาทำอยู่

ดังนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส เป็นไปตามสภาพของบุคคลและสังคมนั้น ๆ พระองค์ท่านถึงได้ตรัสว่าบุคคลที่ประกอบด้วยความสำเร็จ จะต้องมีตั้งแต่ ธัมมัญญุตา...รู้เหตุ อัตถัญญุตา...รู้ผล ฯลฯ ไล่ไปเรื่อย จนกระทั่งถึง ปริสัญญุตา...รู้ชุมชน รู้หมู่คนว่าต้องการอะไร ปุคคลปโรปรัญญุตา...รู้ว่าบุคคลนี้เป็นอย่างไร ต้องการอย่างไร ก็จะแสดงเฉพาะกรณีไป"

เถรี 22-01-2019 22:21

พระอาจารย์กล่าวว่า “ทองผาภูมิขอให้กรมคชบาลส่งเจ้าหน้าที่ไปดูลักษณะช้างตัวหนึ่ง เพราะว่าด้วยสายตาของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ดูแล้วว่าน่าจะเป็นช้างเผือก เป็นช้างเผือกตระกูลวิษณุพงศ์ ปรากฏว่าจนป่านนี้ข่าวคราวก็ยังเงียบ ๆ อยู่ ที่พวกเราตื่นเต้นกันเพราะว่า ถ้าเป็นช้างเผือกก็จะเป็นเชือกแรกในรัชกาลที่ ๑๐”

ถาม : ช้างเผือกมีลำดับตระกูลไหมครับ ?
ตอบ : ส่วนใหญ่แล้วถ้าหากว่าพรหมพงศ์เขาจะถือว่าสูงสุด แล้วก็อิศวรพงศ์ วิษณุพงศ์

เถรี 22-01-2019 22:24

ถาม : ช่วงนี้อารมณ์เหมือนกับอากาศประเทศเราตอนนี้เลยครับ เดี๋ยวก็ขุ่นมัว เดี๋ยวก็ร้อนหนาว ?
ตอบ : พยายามรักษาใจให้นิ่งสิ อยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับปัจจุบันไว้ ก็จะไม่ไหลไปไหน ก็ไม่ขุ่นมัว

รู้ ๆ อยู่ว่าเป็นเพราะอะไรก็ต้องแก้ได้ ส่วนใหญ่แล้วเหมือนผงเข้าตาตัวเอง จะเขี่ยเองก็มองไม่เห็น รู้ว่าอารมณ์ขุ่นมัวก็รักษาอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับปัจจุบันตรงหน้า พักเดียวก็ผ่องใสแล้ว กิเลสนี่มารยาเยอะ มักจะดึงเราไปสนใจเรื่องอื่นให้ลืม ๆ ตรงหน้านี้ พอเราลืมตรงหน้าก็เจ๊งเลย

เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรมก็คือ หยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปอดีต ไม่ไปอนาคต ความทุกข์ก็น้อยแล้ว ส่วนใหญ่เราทุกข์เพราะเราคิดเอง ทุกข์เพราะความคิดตัวเอง คิดแล้วก็ฟุ้งซ่าน อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ ไม่น่าเป็นอย่างนั้น ไม่น่าเป็นอย่างนี้ สรุปแล้ว กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มาครบเลย

ไอ้ไม่อยากก็คืออยาก ไม่อยากแก่..อยากไม่แก่ ไม่อยากเจ็บ..อยากไม่เจ็บ ไม่อยากตาย..อยากไม่ตาย บอกว่าไม่อยากก็ฟังดูดี ที่ไหนได้..อยากเต็ม ๆ เลย ท่านถึงได้เรียก ‘วิภว’ คนละสภาพ ตรงกันข้ามกัน

เถรี 22-01-2019 22:42

ถาม : ที่บ้านตั้งศาลไว้ แต่เก่ามากแล้ว อยากจะเปลี่ยนศาลใหม่ต้องทำอย่างไรครับ ?
ตอบ : จุดธูปบอกกล่าวท่านแล้วก็เปลี่ยนใหม่

ถาม : ต้องบวงสรวงใหม่ไหมครับ ?
ตอบ : ไม่ต้อง

เถรี 22-01-2019 22:42

ถาม : ที่บ้านหนูศาลเก่าแล้ว ถ้ารื้อศาลออก หนูไม่ตั้งใหม่ ?
ตอบ : ถ้าเขามีอยู่ ไปเอาออกแล้วไม่ตั้งใหม่ก็หาเรื่องซวยนะสิ..!

เถรี 23-01-2019 09:19

ถาม : แต่แรกผมสนใจในเรื่องการสวดมนต์เรื่องพระคาถาต่าง ๆ ขณะเดียวกันตอนนี้ผมชอบเรื่องกรรมฐานเจริญด้วยลม มีพระคาถาบางบท เช่น พระคาถาพุทโธ เดิมทีเดียวผมได้ภาวนาในลักษณะของสมาธิ พอตอนหลังผมมาฟังเทปของพระอาจารย์ช่วงหนึ่งที่บอกว่า หลวงปู่ฤๅษีลิงดำท่านสอนให้ทำลมหายใจ ผมก็ทำ เข้าพุท-ออกโธ จะมีอาการแกว่งตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ แต่พอกลางคืนผมจะทำได้ทรงตัวขึ้น จะทำลมให้เกิดความสงบ จะทำได้อย่างไรครับ ?
ตอบ : เรื่องของการภาวนาต้องบอกว่า เขาให้หวังความสงบก่อน ถ้าหากว่าจิตใจของเราสงบผ่องใส จะรู้ว่ากิเลสหน้าตาเป็นอย่างไร ถึงจะสามารถที่จะไปตัดไปละได้ ส่วนเรื่องผลพิเศษต่าง ๆ ของคำภาวนาอย่างพวกพระคาถาต่าง ๆ เป็นแค่ของแถมเท่านั้น พระคาถาต่าง ๆ จะเกิดผลต่อเมื่อใจของเราสงบระงับได้ระดับหนึ่งถึงจะมีพลังพอ

ดังนั้น..จริง ๆ จะว่าไปแล้วปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาเดียวกัน ก็เลยสำคัญตรงที่ว่าเราทำอย่างไรให้ใจของเราสงบ ถ้าใจของเราสงบได้จะใช้คำภาวนาอะไรก็ตามก็จะเกิดผลทั้งหมด

ถาม : ลมเข้าลมออกจะไม่เท่ากัน ?
ตอบ : จะเข้าจะออกอย่างไรก็ไม่เป็นอะไร ขอเพียงระลึกรู้ตามไปได้เท่านั้น

เถรี 23-01-2019 09:20

ถาม : พอผมฟังเทปหลวงพ่อฤๅษีบ่อยทุกวัน ท่านว่าอย่าทิ้งองค์ภาวนาในการทำลมเข้าและลมออก แต่ถ้าจิตฟุ้งซ่านมากก็ให้ละองค์ภาวนา ให้รู้แต่ลมหายใจอย่างเดียวว่าสั้นหรือยาว แบบนี้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าไหมครับ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าสงสัยว่าถูกหรือไม่ถูก ชาตินี้ก็ไม่ต้องทำอะไร ครูบาอาจารย์บอกอย่างไรเขาให้ทำตามนั้น ทำแล้วเกิดผลไม่เกิดผล ตัวเราเองจะเป็นเครื่องยืนยันเอง

เถรี 23-01-2019 09:35

ถาม : เวลาที่ผมพุทโธแล้วฟุ้งซ่าน ผมจะเปลี่ยนไปนับลมหายใจเข้าออกได้ไหมครับ ?
ตอบ : อยู่ที่เราทำว่าเหมาะอย่างไร บางคนก็เปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งไปเดิน ไปจับทำงานอะไร แต่ว่าให้สติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกก็ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าถึงเวลาเราฟุ้งซ่านแล้วก็ไปนั่งสู้กับมัน ทั้ง ๆ ที่เรายังฟุ้งอยู่ แต่ความจริงแล้วถ้าเราสามารถหยุดใจอยู่กับปัจจุบัน คืออยู่กับลมหายใจเข้าออกจริง ๆ ไม่คิดเรื่องอื่น ก็จะสงบเอง

แต่ว่าส่วนมากพอถึงเวลาเราฟุ้งซ่าน กำลังสมาธิเราไม่มี ก็มักจะโดนกิเลสลากให้ฟุ้งใหญ่โตไปเรื่อย ก็อาจจะเปลี่ยนอิริยาบถไปเดิน ไปทำงานทำการ โดยเอาสติจับที่ลมหายใจเข้าออกตามไปด้วย น่าจะได้ผลง่ายกว่า


ถาม : แล้วจะกลับมานั่งใหม่ได้ ?
ตอบ : ถึงเวลาพอทรงตัวแล้วค่อยกลับมานั่งใหม่

เถรี 23-01-2019 09:44

ถาม : ผมนำใบโคคาสด ๆ จากอเมริกาใต้มา ใบโคคาที่ใช้เป็นพวกสารโคเคอีน อย่างนี้ผิดศีลข้อที่ ๕ ไหมครับ ?
ตอบ : ดูที่เจตนาของเรา ถ้าเจตนาของเราต้องการเสพเพื่อที่จะให้เคลิบเคลิ้มขาดสติก็ผิด


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:50


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว