อย่าไปแก้ไขภายนอก
อย่าไปแก้ไขภายนอก
ให้แก้ไขภายใน คือใจของเราเองเป็นสำคัญ สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนธรรมะเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้หลายเรื่อง มีความสำคัญดังนี้ ๑. “เรื่องอย่าไปแก้ไขภายนอก ให้แก้ไขภายในมีความสำคัญว่า... ก) อย่าไปสนใจในจริยาของผู้อื่น ให้มองอารมณ์ที่ตั้งใจละจากอารมณ์พอใจ ไม่พอใจ ที่เกิดขึ้นในใจตนเองเป็นสำคัญ อย่าไปแก้ไขภายนอก ให้แก้ไขภายในจิตของตนเองเป็นสำคัญ และพยายามให้จิตเย็นถึงที่สุด อดทนให้มาก เวลานี้ถือว่าทุกอย่างเป็นกรรมฐาน ใครจักแสดงกิริยาอย่างไรก็เรื่องของเขา พยายามอย่าโต้ตอบ เฉยได้เท่าไหร่ดีขึ้นเท่านั้น ข) เดือนนี้น้ำท่วมวัดท่าซุงอีก ปัญหาเรื่องขนของหนีน้ำล้วนเป็นความทุกข์ หากพิจารณาเข้าหาอริยสัจย่อมจักเกิดประโยชน์กับจิตตนเองมาก ให้ศึกษาคำสอนในปี ๒๕๓๘ แล้วปฏิบัติตามนั้น อารมณ์ที่จักละปล่อยวางนั้นสำคัญมาก อย่าทำจิตให้เดือดร้อน ทำจิตให้สบายเยือกเย็น ไม่พลุ่งพล่านไปด้วยอารมณ์ที่พอใจ และไม่พอใจ อย่าไปหวั่นไหวกับการกระทบของคนภายนอก ให้วางเฉยเข้าไว้ สำหรับงานโบสถ์ วิหาร อย่าเพิ่งไปห่วง ปล่อยวางไปบ้าง ไปดูบ้างเป็นระยะ ๆ จิตนี้ต่างหากที่น่าห่วง อย่าให้ความวิตกกังวลใด ๆ มาครอบงำจิตให้เศร้าหมอง จักต้องปล่อยวางไว้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องขันธ์ ๕ ของตนเอง และขันธ์ ๕ ผู้อื่นที่เราเคารพรัก |
๒. “เรื่องหน้าที่เป็นธรรมภายนอก การปฏิบัติเป็นธรรมภายใน มีความสำคัญดังนี้...
ก) ใครจักว่าอย่างไรก็จงอย่าสนใจ ให้ตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อพระพุทธศาสนา หรือพระนิพพาน ชีวิตไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตจักหมดความหมายถ้าไม่เจริญพระกรรมฐานให้จิตปล่อยวาง ไม่มีใครช่วยใครได้ในเรื่องละกิเลสออกจากจิต นอกจากตัวเราเองเท่านั้น ที่จักเป็นผู้ปฏิบัติให้กับจิตของตัวเอง ข) หน้าที่เป็นธรรมภายนอก การปฏิบัติเป็นธรรมภายใน อย่าคิดว่าเวลาของชีวิตจักมีมาก ชีวิตที่มีอยู่เหลือน้อยเต็มที ขอให้ตั้งใจละตั้งใจเว้นจากความโลภ โกรธ หลง เพื่อถึงซึ่งการดับไม่มีเชื้อ และไม่มีความหวังอื่นใด นอกเหนือจากพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น ค) อย่ากังวลใจในเรื่องใด ๆ ทั้งปวง ให้พิจารณาถึงทุกข์ของการเกาะติดข้องอยู่ในความกังวลทั้งปวง และให้คิดถึงมรณานุสติให้มาก ไม่ช้าไม่นานร่างกายนี้จักมีวิญญาณไปปราศแล้ว ถ้ามัวแต่ข้องติดอยู่ในอารมณ์ จักไปพระนิพพานไม่ได้ จึงต้องระลึกนึกถึงความตาย อันจักเกิดแก่ตนเองให้มาก จักได้ไม่ประมาทในชีวิต อย่าคิดไปห่วงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง อย่าคิดไปผูกพันกับอดีตที่ผ่านมา ธรรมภายนอกละเสียให้หมด ให้มาอยู่กับธรรมภายในอันเป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้เห็นสังขารทั้งหลายที่ไม่เที่ยงอยู่นี้ ยึดถืออันใดไม่ได้ ให้จิตละ ปล่อยวางลงในปัจจุบันให้ได้ ส่วนสติ-สัมปชัญญะนั้นสำคัญมาก ให้กำหนดเอาไว้เสมอ แต่อย่าทำจนเครียด ให้พยุงจิตเอาไว้ รู้แต่เบา ๆ ไม่เครียด และพยายามพิจารณาขันธ์ ๕ เข้าไว้ อย่าเผลอ หรือเผลอให้น้อยที่สุดเท่าที่จักน้อยได้ ง) อย่าสนใจในจริยาของบุคคลอื่น หยุดจิตให้อยู่กับธรรมภายใน เช่น พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการ ๓๒ ไปโดยเอนกปริยาย ธรรมภายนอกไม่สำคัญเท่าธรรมภายใน ผู้ใดที่ต้องการจักไปพระนิพพาน ให้ดูธรรมภายในทั้งหลายเหล่านี้ไว้ให้สม่ำเสมอไม่ขาดสาย เช่น ดูความสกปรก ไม่เที่ยง น่ารังเกียจ เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของมัน ให้ดูภาระและพันธะที่จิตเราถูกบังคับให้ต้องดูแลมัน (หมายถึงร่างกาย) ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย หากจิตเราปลดภาระที่ผูกพันเกาะติดมันไม่ได้ ก็ต้องมาเกิดกับมันอีกต่อไป ให้พิจารณาถาม-ตอบด้วยจิตของตนเอง จนให้จิตมันยอมรับนับถือตามความเป็นจริงอย่างนี้ ถามจนจิตมันเลิกดิ้นรนไปกับธรรมภายนอก จนจิตสงบยอมรับ นับถือสภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง จิตไม่เดือดร้อน ไม่ปรุงแต่งธรรม จิตมีความสุข มีความสงบ นั่นแหละจึงจักคลายความเกาะติดในทุกข์ลงได้” จ) นำความจริงของร่างกายมาพิจารณา ให้จิตมันยอมรับสภาวะของร่างกายตามความเป็นจริง จิตจักได้ไม่ทุกข์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ว่า เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง จิตปุถุชนยังยึดมั่นถือมั่นในร่างกายว่า เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง ทั้ง ๆ ที่มันแก่ มันเสื่อม มันจะพังอยู่ก็ยังยึดมั่นถือมั่น (ว่าเป็นตัวกูของกูอยู่) ไม่ยอมรับความแก่ ความเสื่อม ความพัง ให้พิจารณาและวัดสภาวะจิตของตนเข้าไว้ว่า จักมีอารมณ์ปลดร่างกายนี้ได้มากน้อยสักแค่ไหน หากพิจารณาให้ดีจักเห็นว่า ชีวิตกับความตายเป็นของใกล้กันนิดเดียว จิตปลดร่างกายได้มากแค่ไหน ก็เท่ากับไม่ประมาทในความตายได้มากขึ้นแค่นั้น" |
๓. “เรื่องคาถาภาวนาไม่จำกัด (ป้องกันคุณไสย) มีความสำคัญดังนี้
๓.๑ จักใช้บังสุกุลตายก็ได้ ตวาดป่าหิมพานต์ก็ได้ (ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ) สัมปจิตฉามิ สัมปติจฉามิ ก็ได้ แต่อย่าพึงให้คาถาหลุดไปจากจิต ๓.๒ พร้อมกันนั้นให้จับภาพนิมิตกสิณ เป็นภาพตถาคตหรือสมเด็จองค์ปัจจุบัน หรือองค์สมเด็จพระพุทธเรวัตตะก็ได้ หรือแม้แต่ภาพนิมิตท่านท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ได้ จักมีผลใหญ่ ๓.๓ แต่จงจำไว้ว่า อย่าทำด้วยจิตร้อนรน ให้ใจเย็นทำไปเรื่อย ๆ ทำเพื่อป้องกัน มิใช่ทำเพื่อความโกรธ หรือจองเวรจองกรรม ต้องพยายามรักษาจิตให้เย็นที่สุดเท่าที่จักทำได้ ๓.๔ คาถาปิดหัว ปิดท้าย ของสมเด็จองค์ปัจจุบันก็ได้คือ อิติ ติอิ สัมปะจิตฉามิ สัมปะติจฉามิ ก็ได้ |
๔. “เรื่องจงอย่าห่วงใยขันธ์ ๕ ตนเอง และท่านพระ... จนเกินพอดี มีความสำคัญดังนี้
๔.๑ อย่าเป็นกังวลกับงานทางโลก เพราะงานทางโลกทำเท่าไหร่ก็ไม่จบอยู่แล้ว ให้มุ่งพิจารณากรรมฐานอันเป็นงานทางธรรม ซึ่งหากทำได้แค่ไหนก็ทรงตัวแค่นั้น ไม่ต้องหวนกลับมาทำใหม่ ให้วางโลกที่วุ่นวายไปเสียทางหนึ่ง ให้ดูตัวอย่างอารมณ์ของท่านพระ.... ท่านเห็นว่า ความวุ่นวายในโลกมีเหตุมาจากจิตที่ยังไปยึดเกาะติดในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ ว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ความกังวลก็ดี ทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ดี จึงเป็นเรื่องห่วงอาลัยอยู่กับขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น ถ้าหากจักมีกรรมอันจักต้องเป็นไป ก็ให้มันเป็นไปตามกรรม ความอาลัยห่วงใยในขันธ์ ๕ ของท่านจึงลดน้อยลงไปจากจิตของท่านได้ตามลำดับ ๔.๒ พวกเจ้าจงพิจารณาให้เห็นว่า อารมณ์เหล่านี้เป็นอารมณ์ห่วงใยในขันธ์ ๕ ของตนเอง และขันธ์ ๕ ของท่านพระ... มันเป็นอารมณ์ของความทุกข์ อันซึ่งจิตไม่พึงจักยึดถือเอามาเป็นอารมณ์ เรื่องความวุ่นวายภายนอก เขาจักทำกรรมอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ที่ให้ระวังก็เพื่อความไม่ประมาทในชีวิตเท่านั้น มิใช่ให้ไปเกาะในกรรมของเขา อย่าเอาจิตไปกังวลให้เสียเวลาของการปฏิบัติธรรม ให้ดูจริยาของท่านพระ... เป็นตัวอย่าง ท่านมีขันติอดทน จักมีอุปสรรคหรือปัญหาใดเกิดขึ้น ท่านก็ไม่แสดงออกมา ไม่ว่าทางกายและทางวาจา พยายามสงบสติอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เช่น ในตอนเช้า ขณะฟังเทปพระธรรมที่ท่านเปิด มีบุคคลอื่นพูดคุยกันตลอดเวลา ท่านได้ยินอยู่ในอารมณ์สักเพียงแต่ว่าได้ยิน เสียงคุยที่มากระทบ สักเพียงแต่ว่ากระทบ จิตท่านไม่ใส่ใจ แต่หูที่ฟังธรรมเทศนาก็ฟังธรรมเทศนาไป พร้อมกับใคร่ครวญธรรมนั้นไปด้วย จุดนี้แหละเป็นการฝึกแยกกาย เวทนา จิต ธรรมไปในตัว ธรรมทางโลกจักมาในรูปแบบใด ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา จิตมีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้อยู่อย่างนี้ แล้วปล่อยวางธรรมของโลกให้สลายไป จิตอยู่กับโลกุตรธรรมตลอดเวลา นั่นแหละเป็นของจริง ซึ่งจุดนี้ท่านพระ... ได้ทำมานานแล้ว เวลานี้ (๑๘ ต.ค. ๓๙) จิตท่านเริ่มทรงตัวมีสติตั้งมั่นขึ้นมาตามลำดับไป ให้ยึดท่านเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ๔.๓ ให้พิจารณาร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป สลายไปในที่สุด อย่ายึดเอาร่างกายของตนเองหรือร่างกายของบุคคลอื่นมาเป็นสาระ เพราะจักทำให้เกิดความทุกข์ในความพอใจและไม่พอใจ อย่างคนที่เราชอบใจก็มีความพอใจ อยากให้ร่างกายของเขาอยู่นาน ๆ ให้ดูอารมณ์ที่เกาะอยู่ในร่างกายของตนเอง และร่างกายของบุคคลอื่นให้ดี ๆ แล้วพิจารณาเข้าหาความเป็นจริงของร่างกาย จงอย่าทิ้งความเพียรในการพิจารณานี้ แล้วจิตจักเบื่อหน่ายในร่างกาย ไม่อยากได้ร่างกายอย่างนี้อีก ให้ถามตนเอง ตอบตนเองว่า ร่างกายนี้มันไม่ดีตรงไหน เป็นเราเป็นของเราที่ตรงไหน ดูเข้าไป สอบจิตเข้าไปให้บ่อย ๆ ครั้ง จนจิตยอมรับสภาพตามความเป็นจริงของร่างกาย นั่นแหละ จิตจึงจักปล่อยวางไม่เกาะติดร่างกายได้ (มีผู้อื่นมาบอกให้เรารู้เรื่องของร่างกายตามความเป็นจริง ว่าเป็นอย่างไรร้อยครั้ง พันครั้ง ก็สู้จิตเรารู้ด้วยจิตตัวเองครั้งเดียวไม่ได้ เพราะผู้อื่นมาบอกให้รู้ ล้วนเป็นสัญญาหรือความจำ ซึ่งยังไม่เที่ยง เป็นอนิจจาอยู่เสมอ ส่วนการรู้ด้วยตนเอง เป็นการรู้ด้วยปัญญา ซึ่งเกิดจากการพิจารณาใคร่ครวญในธรรมอยู่เสมอ คือถามตอบกับจิตของตนเอง ตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำและชี้ทางไว้ให้แล้ว อยู่ที่ความเพียรของเราเท่านั้น หากเพียรมากพักน้อยก็จบเร็ว หากเพียรน้อยพักมากก็จบช้า ทุกอย่างอยู่ที่ความเพียรของเราเองทั้งสิ้น) ๔.๔ จำไว้ มีเรื่องไม่ดี ไม่มีเรื่องนั่นแหละ เป็นการดี พยายามรักษาอารมณ์ อย่าไปขุ่นข้องหมองใจเข้าไว้เป็นดี อย่าไปต่อล้อต่อเถียง หรือพูดโต้ตอบกับใคร ใครจักพูดอย่างไรก็เป็นกรรมของเขา พยายามปล่อยวางให้ได้ เป็นการตัดกรรมไปในตัว โลกธรรมทั้ง ๘ ครองโลกอยู่ ไม่มีใครหนีพ้น ก็จงอย่าพยายามคิดหนี ให้เห็นเป็นของธรรมดา อดทนข่มใจ (มีขันติ อย่าขันแตก) ให้มาก พยายามสร้างอภัยทานให้เกิดขึ้นในจิต อุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลที่ชอบสร้างปัญหาให้เกิดอยู่เสมอเหล่านี้ด้วย เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นกฎของกรรม หากเราไม่เคยสร้างกรรม ก่อกรรมเหล่านี้ไว้ก่อน วิบากกรรมเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นกับเรานั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย ๔.๕ เรื่องมรณาฯ กับอุปสมานุสติ ยิ่งพิจารณาถี่ขึ้นเท่าไหร่ ความประมาทในชีวิตก็จักน้อยลงเท่านั้น จิตจักยอมรับนับถืออย่างจริงใจ จิตโปร่งเบา จิตเกาะพระนิพพานมากขึ้น ไม่ประมาทในชีวิตมากขึ้น ความไม่เผลอในขันธ์ ๕ มีมากขึ้น ความยึดถือในร่างกายน้อยลง และอารมณ์ชอบใจ ไม่ชอบใจก็น้อยลง ให้รักษากำลังใจไว้ให้ดีและต่อเนื่อง อย่าขาดสาย และอย่าลืมจิตจักล่วงทุกข์ (พ้นทุกข์) ได้ด้วยความเพียร ๔.๖ ในการกราบพระ กราบความดีของพระรัตนตรัย อย่ากราบความว่างเปล่า ให้กำหนดจิตให้เห็นองค์พระอย่างมั่นคงเสียก่อน จึงค่อยกราบ การกราบพระธรรม ก็ให้จิตเห็นดอกมะลิแก้วชัดเจนก่อนจึงค่อยกราบ การกราบพระอริยสงฆ์ ก็ให้เห็นองค์พระก่อนจึงค่อยกราบ ทุกอย่างพึงกำหนดจิตให้เห็นภาพอย่างมั่นคงเสียก่อน จึงทำให้มโนมยิทธิชัดเจนแจ่มใสด้วย ธรรมจุดนี้ต้องการจักเน้นให้เห็นว่า นอกจากจักต้องมีศีลมั่นคงแล้ว ภาพนิมิตจากการกำหนดจิตอันเป็นกสิณ เวลากราบพระรัตนตรัยก็มีความสำคัญเช่นกัน” ๔.๗ มีอะไรปรากฏให้เป็นเหตุเข้ามากระทบจิต ก็พึงที่จักวางเฉยเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งนำไปปรุงแต่งให้เป็นที่เดือดร้อนใจไปล่วงหน้า ให้รักษาอารมณ์ของจิตให้สงบเข้าไว้เท่านั้น จึงจักระงับได้ เช่น เรื่องของสงฆ์ในวัด พึงระมัดระวังให้มาก อย่าคิดว่า จักยักย้ายถ่ายเทไปให้ใครก็ได้ นั่นมันเป็นความประมาทของจิตที่ไม่ละเอียดพอ อย่าไปโยนนรกให้ใครเป็นอันขาด ทุกอย่างต้องใช้ให้ถูกประเภท อย่าใช้เงินผิดประเภท จักได้เป็นบุญล้วน ๆ ไม่ต้องเป็นบุญผสมบาป |
๕. เรื่องการสอบได้ สอบตก เป็นของธรรมดา มีความสำคัญดังนี้
๕.๑ การสอบตกเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังไม่เข้าถึงพระอรหันต์ ดังนั้น จงอย่าท้อใจเมื่อสอบตก ให้สังเกตว่า หลักสูตรในพระพุทธศาสนาจักมีข้อสอบเข้ามาทดสอบอยู่เสมอ ไม่ว่าจักปฏิบัติในขั้นไหน ก็จักต้องมีข้อสอบมาทดสอบอยู่เสมอ ๕.๒ เบื้องต้นรักษาศีล ก็จักมีข้อสอบมายั่วยุให้คอยละเมิดศีลอยู่เรื่อย ๆ การทรงสมาธิจิตก็เช่นกัน ก็จักมีเหตุเข้ามากระทบจิตให้เสียสมาธิอยู่เสมอ ๆ นี่จึงไม่ใช่ของแปลก ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะจิตของพวกเจ้ายังห่วงขันธ์ ๕ ของตนเอง และของผู้อื่นซึ่งพวกเจ้ารักและพอใจอยู่ แม้จักไม่ห่วงในแง่โลกีย์วิสัย ห่วงเพื่อให้ขันธ์ ๕ ของท่านดำรงอยู่เพื่อพระพุทธศาสนา ก็จัดว่าเป็นห่วงอยู่ดี (ห่วงลูกผูกคอ ห่วงทรัพย์สมบัติเหมือนติดโซ่ตรวน เป็นต้น) ๕.๓ อารมณ์นี้พึงปล่อยวาง อย่าเอากรรมของท่าน (ผู้ที่เรารักและเคารพ) มาเป็นกรรมของตนเอง จักเพิ่มทุกข์เพิ่มความกังวลให้กับจิตตนเองเปล่า ๆ จุดนี้ก็เป็นข้อสอบทดสอบอารมณ์จิตได้เป็นอย่างดี ปัญหาทุกอย่างที่เข้ามากระทบ จึงต้องอดทนให้มาก ๆ (ใช้วิริยะ ขันติ สัจจะบารมี โดยมีปัญญาบารมีคอยควบคุม อย่าให้สอบตก) คิดเอาไว้เสมอว่า ทุกอย่างเราทำเพื่อพระนิพพาน เป็นอธิษฐานบารมีไปในตัว ทุกอย่างเราทำไปตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ด้วยความไม่ประมาทเท่านั้น อย่าคิดว่าทำเพื่อส่วนตัว หรือเพื่อขันธ์ ๕ ของท่านนั้นท่านนี้ที่เราเคารพ อย่าเอาจิตไปเกาะหรือห่วงขันธ์ ๕ ของผู้อื่นที่กำลังป่วย เพราะเป็นกฎของกรรม กรรมใครกรรมมันทั้งสิ้น ยิ่งเป็นขันธ์ ๕ ของพระอริยเจ้าด้วย ยิ่งต้องระวังให้มาก เพราะเป็นการกระทำที่เป็นโทษ โดยคิดว่าไม่เป็นโทษ (เพราะมีเจตนาดี มีความปรารถนาดี) ก็ยังเป็นโทษอยู่ดี อย่าไปยุ่งให้มาเป็นบาปและกรรมในใจของตนเอง พระอริยเจ้าทุกองค์ท่านหมดหลงที่คิดว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นของท่านแล้ว ให้หันมามีสติกำหนดรู้อารมณ์จิตของเราเองว่า ยังมีอารมณ์เกาะติดในขันธ์ ๕ ตนเองอยู่หรือเปล่า จักมีประโยชน์มากกว่าเป็นไหน ๆ ๕.๔ หลวงพ่อฤๅษีท่านว่า ไอ้พวกนี้มันชอบห่วงขยะของท่าน สมบัติที่มีอยู่ก็คือขยะ แม้แต่ร่างกายหรือขันธ์ ๕ ท่านก็ถือว่าเป็นขยะ จุดนี้หากคิดถึงคำตรัสของสมเด็จองค์ปฐมที่ว่า ร่างกาย (ขันธ์ ๕) ที่เราเห็นอยู่นี้ เป็นของใครก็ไม่รู้ มันเป็นสมบัติของโลก ไม่มีใครสามารถเอาไปได้ ปัญญาก็จักเกิดขึ้น อารมณ์ห่วงขยะก็จักลดน้อยลงได้ตามลำดับ |
หลวงปู่วัยท่านว่า คนนำของมาถวายท่านก็เหมือนกับมาเพิ่มขยะให้กับท่าน เป็นภาระที่ท่านต้องขนขยะไปที่อื่น (ไปแจกพวกชาวเขา) เพื่อขยะจะได้ลดลงหรือหมดไป
(พระธรรมเรื่องขยะ หากจะให้เกิดปัญญาทางพุทธ เมื่อเห็นธรรมภายนอกแล้วต้องน้อมเข้ามาเป็นธรรมภายใน ว่าขยะในบ้านเรามีมากแค่ไหน อะไร ๆ ก็ของกูหมด จนไม่มีที่จะวางของแล้ว ก็ยังพอใจที่จะเก็บขยะไว้ แล้วยังขยันหาขยะมาเพิ่มขึ้นอีก ความหลงตัวเดียวที่ไม่เห็นทุกข์จากการที่จะต้องคอยดูแลรักษาขยะ ซึ่งไม่สามารถจะเอาไปได้เลยแม้แต่ชิ้นเดียวเมื่อร่างกายตาย ขยะที่เรารักมากที่สุดในโลกคือตัวเราหรือร่างกาย หรือขันธ์ ๕ ที่จิตเรามาอาศัยอยู่ชั่วคราวนี่แหละ หวงเป็นที่สุด หลงรักมันเป็นที่สุด ตายแล้วเราก็เอาไปไม่ได้ จุดนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ก่อนผู้อื่นทั้งหมดในโลกว่า หากวางอารมณ์หลงขยะ ที่เรารักที่สุดได้จุดเดียว คือขันธ์ ๕ หรือร่างกายนี้ได้ ว่ามันเป็นขยะ หาใช่เรา หาใช่ของเรา ความหลงเล็ก ๆ ในขยะอื่น ๆ ก็จะหลุดหมด คนฉลาดมีพุทธจริต พระองค์จึงทรงตรัสสอนให้ตัดขันธ์ ๕ ตัวเดียว หรือตัดสักกายทิฏฐิข้อเดียว ก็สามารถจบกิจในพระพุทธศาสนาได้ ผมก็ขอเขียนแนวทางในการพิจารณาทิ้งขยะไว้หยาบ ๆ เพียงแค่นี้) ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๙ รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:51 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.