กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1318)

เถรี 18-11-2009 10:59

เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
 
ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตนเอง ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติทั้งหมดของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า ใช้คำภาวนาตามความเคยชินของตนเอง ถนัดแบบไหนให้ใช้แบบนั้น วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๒ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันแรกในเดือนนี้ของพวกเรา

จากที่ได้กล่าวเมื่อเช้านี้แล้วว่า การปฏิบัติกรรมฐานในปัจจุบันนี้ ที่ไม่ค่อยได้ผลเพราะว่าเราไม่ทนต่อความยากลำบาก ในเมื่อเราไม่อดทนต่อความยากลำบาก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันก็ไม่มี เนื่องจากว่าการปฏิบัติของเรานั้น เราต้องอดทนอดกลั้นทั้งกาย วาจา และใจ ที่จะไม่ให้ไปคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ดังนั้นในการปฏิบัติธรรม จะว่าไปแล้วก็เหมือนการก้าวสู่สงคราม สงครามครั้งนี้ไม่มีการเสมอ มีแต่แพ้กับชนะเท่านั้น ดังนั้น..ก็ขึ้นอยู่กับกำลังใจหรือว่าบารมีของเรา ว่ามีความเข้มแข็งอดทน เอาจริงเอาจังสักเท่าไหร่

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เกี่ยวกับช้างศึกที่ออกศึกสงคราม พระองค์ท่านเปรียบไว้ว่า ช้างศึกที่ไม่อดทนต่อรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั้น ไม่สามารถจะใช้รบในการศึกได้ ไม่สามารถที่จะใช้ในการรบได้ แปลว่าถ้าขืนใช้ออกรบ ก็แพ้เสียตั้งแต่ไม่ทันจะรบแล้ว

ท่านเปรียบเอาไว้ว่า ช้างศึกที่ไม่อดทนต่อรูป ก็คือ เมื่อเห็นพลช้าง พลม้า พลรถ พลราบของกองทัพข้าศึก ก็เกิดความหวาดกลัวท้อถอยเสียแล้ว ไม่อาจจะเข้าสู่สงครามได้ นี่คือช้างศึกที่ไม่อดทนต่อรูป

ประการที่สอง การไม่อดทนต่อเสียงนั้น ท่านเปรียบเอาไว้ว่าเมื่อได้ยินเสียงช้างศึก ม้าศึก กลองศึกของกองทัพฝ่ายตรงข้าม ก็เกิดความหวาดกลัวท้อถอย ไม่สามารถที่จะเข้าสู่สงครามได้ นี่คือช้างศึกที่ไม่อดทนต่อเสียง

ประการที่สาม ช้างศึกที่ไม่อดทนต่อกลิ่นนั้น ท่านเปรียบเทียบเอาไว้ว่า เมื่อได้กลิ่นอุจจาระ ปัสสาวะ ของช้างศึก ม้าศึก ที่เจนสงครามของฝ่ายตรงข้าม ก็เกิดความท้อถอย หวาดกลัวไม่คิดจะสู้ นี่คือลักษณะของช้างศึกที่ไม่อดทนต่อกลิ่น

ประการที่สี่ ช้างศึกที่ไม่อดทนต่อรสนั้น ท่านเปรียบไว้ว่า เมื่ออดหญ้า อดน้ำเข้าสักมื้อหนึ่ง สองมื้อ สามมื้อ สี่มื้อ หรือห้ามื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วไม่อดทนไม่ยอมเข้าสู่สงคราม จึงเป็นลักษณะของช้างศึกที่ไม่อดทนต่อรส คือ อาหาร

ประการที่ห้า ท่านเปรียบเอาไว้ว่า ช้างศึกที่ไม่อดทนต่อสัมผัส อย่างเช่นว่าต้องธนูหรืออาวุธของข้าศึก หนึ่งแผล สองแผล สามแผล สี่แผล หรือห้าแผล แล้วเกิดความหวาดกลัวท้อถอยไม่ยอมเข้าสู่สงครามต่อไป นี่เป็นลักษณะของช้างศึกที่ไม่อดทนต่อสัมผัส

เถรี 18-11-2009 11:22

แล้วพระองค์ท่านเปรียบเทียบกับนักปฏิบัติของเราว่า เมื่อเห็นรูป ก็คือ เพศตรงข้าม ก็ไม่มีความอดทน ไม่มีความกล้าที่จะตัด จะละ ก็เปรียบเหมือนช้างศึกประเภทที่หนึ่งที่ไม่อดทนต่อรูป ไม่สามารถจะเข้าสงครามได้

นักปฏิบัติที่ได้ยินเสียง แล้วก็ยึดติดในเสียงนั้น ก็เปรียบเหมือนช้างศึกที่ไม่อดทนต่อเสียง ไม่สามารถเข้าสู่สงครามได้

นักปฏิบัติที่ไม่อดทนต่อกลิ่น เมื่อได้กลิ่นอันเป็นที่ชอบใจ ก็ต้องไปแสวงหามาเพื่อสนองตัณหา คือความต้องการของตนเอง เปรียบเหมือนช้างศึกที่ไม่อดทนต่อกลิ่น ไม่สามารถจะเข้าสู่สงครามได้

นักปฏิบัติที่ไม่อดทนต่อรส ติดในรส เมื่อชอบใจในรสใดก็บากบั่นไปแสวงหามา ก็เปรียบเหมือนช้างศึกที่ไม่อดทนต่อรส ไม่สามารถจะเข้าสู่สงครามได้

นักปฏิบัติที่ติดในสัมผัส ไม่สามารถที่จะละได้ ต้องการแต่สัมผัสที่นุ่มนวล ที่ชอบใจของตน ก็เปรียบเหมือนช้างศึกที่ไม่อดทนต่อสัมผัส ไม่สามารถจะเข้าสู่สงครามได้

เราจะเห็นได้ว่าการศึกการสงครามนั้น บุคคลที่ไม่มีความอดทนอย่าว่าแต่ออกรบเลย อย่าว่าแต่จะรบให้ชนะเลย แม้แต่ความคิดที่จะรบ ที่จะต่อต้าน ก็ไม่มีเสียแล้ว แล้วเราเป็นนักปฏิบัติ เรื่องของกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมต่าง ๆ ประเดประดังเข้ามารอบข้างเหมือนกับข้าศึก ประกอบด้วยอาวุธสารพัดชนิด ที่จะฟัน จะแทง ทำให้เราต้องลำบาก เดือดร้อน เจ็บปวด และท้ายสุดอาจจะถึงแก่ความตาย ในเมื่อความคิดที่จะรบก็ยังไม่มี แล้วเราจะเอาชนะข้าศึก คือ กิเลสได้อย่างไร

ฉะนั้นที่กล่าวเอาไว้ในตอนเช้าว่า เราต้องยอมทำตัวให้ลำบาก อย่าเห็นแก่ความสบาย ถ้ารู้ว่าปฏิบัติแล้วดี ก็ต้องสละเวลามาปฏิบัติให้ได้ ถ้าหากว่าเคยตื่นหกโมงเช้า ก็ต้องสละเวลาตื่นขึ้นมาตีห้า เพื่อที่จะได้ปฏิบัติได้ เป็นต้น ถ้าเรายอมอดทน ยอมลำบาก กิเลสเมื่อถูกทรมานมากเข้า ๆ มันก็หมดกำลัง ทำให้เราสามารถควบคุมมันได้ง่าย ไม่เช่นนั้นก็มีแต่จะถูกมันกลืนไป ถูกมันพาไปตามทิศทางที่มันชอบใจ ไม่สามารถที่จะยับยั้งตัวเองได้ ก็แปลว่าแพ้มันตั้งแต่แรก

ท่านทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติ จึงควรที่จะนึกถึง เปรียบเทียบ และท้ายสุดเร่งปฏิบัติตน ให้ได้ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ คือ เราต้องเป็นช้างศึกชั้นดี ที่ออกศึกสงคราม มีความอดทนต่อรูป ต่อรส ต่อกลิ่น ต่อเสียง ต่อสัมผัสทุกประการ ไม่ยินดีเมื่อมาในด้านที่ดี ไม่ยินร้ายเมื่อมาในด้านที่ร้าย สามารถวางใจให้สงบ ไม่หวั่นไหวและเป็นกลางได้ ถ้าสามารถทำได้ดังนี้กำลังของเราก็เพียงพอ ที่จะก้าวพ้นจากความทุกข์ได้

เถรี 18-11-2009 11:47

การที่จะเสริมสร้างกำลังของเรา ให้เพียงพอที่จะก้าวพ้นจากความทุกข์ได้ ก็ขึ้นอยู่กับศีล สมาธิและปัญญา ศีลนั้นเราต้องรักษาทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นเขาทำ และไม่ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นเขาทำการละเมิดศีล ต้องมีการเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างจริงใจ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ และท้ายสุด รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

ถ้าท่านทั้งหลายสามารถวางกำลังใจปักมั่นตรงนี้ได้ แล้วพยายามที่จะใช้สมาธิของเราหนุนเสริม เมื่อศีลของเราบริสุทธิ์ สมาธิของเราจะทรงตัวตั้งมั่นได้ง่าย เมื่อภาวนาจนสมาธิทรงตัวตั้งมั่นแล้ว ให้ทุกคนพยายามประคับประคอง อย่าให้สมาธินั้นหลุดหายไป แม้จะต้องไปทำหน้าที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่การภาวนา ก็ต้องแบ่งอารมณ์ความรู้สึกส่วนหนึ่งอยู่กับองค์ภาวนาไว้เสมอ เมื่อศีลและสมาธิทรงตัว จิตใจก็มีความนิ่ง มีความผ่องใส ปัญญาก็จะเกิด ถ้าหากว่ามีปัญหาในทางโลก ก็จะสามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้โดยง่าย ถ้ามีปัญหาทางธรรม ก็จะเห็นช่องทางว่า จะแก้ไขอย่างไรการปฏิบัติของเราจึงจะก้าวหน้า

ในเมื่อวันนี้เป็นวันเริ่มต้น จึงฝากขอให้พวกเราพิจารณาว่า ตัวเราเองในปัจจุบันนี้ มีความบากบั่น มีความพากเพียร มีความอดทนต่อการปฏิบัติสักเท่าไร ไม่ใช่ลำบากหน่อยหนึ่งก็ถอย ลำบากหน่อยก็ไม่เอาแล้ว ถ้าเราไม่สามารถทนทุกข์เหนือทุกข์ได้ เราก็ไม่สามารถที่จะเป็นคนเหนือคน โบราณบอกเอาไว้ว่า ลำบากก่อนแล้วสบายเมื่อปลายมือ เราต้องยอมทุ่มเทเหนื่อยยากสักระยะหนึ่งก่อน พอกำลังใจทรงตัวแล้วก็สบาย เพราะว่าเรามีต้นทุนตุนเอาไว้เพียงพอแล้ว

ดังนั้น..ลำดับจากต่อนี้ไป ก็ขอให้ทุกคนเอาใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับคำภาวนา จะจับภาพพระหรือเกาะพระนิพพาน จะพิจารณาอย่างไรก็ได้ตามอัธยาศัยของพวกเรา ให้กำลังใจทรงตัวแน่วนิ่งอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะหมดเวลาในการปฏิบัติ


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

เถรี 18-11-2009 11:57

ก่อนที่จะเลิกกรรมฐานในวันนั้น หลวงพ่อได้ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า "ในการปฏิบัติทั้งหมด ลมหายใจเข้าออกเป็นส่วนสำคัญที่สุด ไม่ว่าอยู่ในสภาพไหนก็อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออกเป็นอันขาด ไม่อย่างนั้นแล้วสมาธิจะไม่ทรงตัว กำลังที่จะสู้กิเลสก็จะไม่มี"

กายแก้ว 18-11-2009 22:02

วันนี้ พวกเราที่เชียงใหม่มีโอกาสได้ไปกราบฟังธรรมจากท่าน ท่านเน้นเรื่องการอยู่กับลมหายใจ โดยเฉพาะ การตื่นแต่เช้ามืดเพื่อทำภาวนา ท่านว่าเปรียบเสมือนใจเรามีเก้าอี้เพียงหนึ่งตัว ถ้าเช้ามืดเราทำความดีจองไว้ก่อน ความชั่วจะแทรกเข้ามาได้ยาก แต่ถ้าความชั่ว ได้แก่ความฟุ้งซ่าน รัก โลภ ฯลฯ ได้ที่นั่งก่อนซะแล้วทีนี้จะเตะออกก็ยากอีก

กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง เป็นสมบัติของร่างกาย ตราบใดที่เรายังมีร่างกาย กิเลสจะต้องเกิดเป็นธรรมดาของมัน เราเพียงแต่รับรู้แล้วไม่ไปปรุงแต่งต่อ เมื่อมีสิ่งมากระทบ อย่างเลว ให้อยู่ในกรอบของศีล อย่างกลางให้กดเอาไว้ อย่างดีที่สุดคือ หยุดคิดได้

ท่านยังเมตตาสอนอีกว่า การแผ่เมตตาให้กับคนที่เราไม่ชอบหรือโกรธ ควรทำกำลังใจ ไล่ไปตามลำดับคือ เริ่มจากผู้ที่เรารักมากก่อน ต่อมาจึงแผ่ให้ผู้ที่รักน้อยลงมา ผู้ที่เฉย ๆ ไล่ลงมาถึงคนที่เราเกลียด มิฉะนั้นอาจแผ่เมตตาไม่ออกเพราะกำลังใจไม่ไป

ขอโทษด้วยนะคะ ที่กายแก้วไม่ได้นำสมุดไปจด ได้แต่จดจำมาเท่าที่จะทำได้ :cebollita_onion-09:


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:24


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว