กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=7479)

เถรี 06-03-2021 19:58

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔
 
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ เรามาเจริญกรรมฐานผ่านเว็บไซต์วัดท่าขนุน หลังจากที่ห่างหายกันไปประมาณสองเดือนเศษ

ในระหว่างที่ห่างหายไปนั้น ญาติโยมก็อาจจะไม่ได้พบ ไม่ได้เจอกับอาตมา แต่ส่วนที่ดีกลับกลายเป็นพระภิกษุสามเณรวัดท่าขนุน เนื่องจากว่ามีเวลาที่จะคอยอบรมขัดเกลาอย่างจริงจัง และตอนนี้ในส่วนที่อาตมาแนะนำถวายแก่พระภิกษุสามเณรก็คือ ให้ทรงฌานขณะที่สวดมนต์ทำวัตรไปด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้ว การทรงฌานขณะสวดมนต์ทำวัตร ในความรู้สึกของอาตมานั้น ต้องบอกว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เพราะว่าจัดอยู่ในระดับที่สามเท่านั้น

เนื่องจากการสวดมนต์ทำวัตรนั้น อาตมภาพกำหนดเอาไว้ว่า ระดับที่หนึ่ง ก็คือ การมีสมาธิ
อยู่กับการสวดมนต์ตรงหน้า สวดได้ถูกต้องตามอักขระฐานกรณ์ต่าง ๆ พอที่จะสังเกตได้ว่า ถ้าเราขาดสมาธิก็จะสวดมนต์ผิด

ระดับที่สอง ก็คือ ใช้คำสวดมนต์เป็นคำภาวนา ไม่ว่าบทสวดมนต์นั้นจะยาวจะสั้นแค่ไหนก็ตาม ให้ใช้ทุกคำควบไปกับลมหายใจเข้าออก

ระดับที่สาม ก็คือ ในขณะที่สวดมนต์อยู่ สามารถที่จะทรงฌานไปพร้อมกันได้ ซึ่งระดับนี้แล้วต้องเป็นสภาพที่เรียกว่า ฌานใช้งาน คือสามารถที่จะปรับระดับสมาธิขึ้นลงได้ดังใจของตนเอง ซึ่งขณะนี้พระภิกษุสามเณรของท่าขนุนนั้นกำลังซักซ้อมกันอยู่ในระดับนี้ บางท่านก็ทำได้ บางท่านก็ยังขาดตกบกพร่องอยู่มาก

ถ้าในระดับที่สี่ ก็คือ ฝึกทิพจักขุญาณในขณะที่สวดมนต์ทำวัตรไปด้วย โดยนึกถึงอักขระคำสวดมนต์ขึ้นมาเป็นคำ ๆ อยู่ตรงหน้า ถ้าเราสามารถเห็นตัวหนังสือได้ชัดเจนเท่าไร เราก็สามารถที่จะเห็นผีเห็นเทวดาได้ชัดเจนเท่านั้น

เถรี 06-03-2021 20:27

ในระดับที่ห้า ก็คือ ยกจิตขึ้นไปสวดมนต์ถวายพระบนพระนิพพาน จะเป็นการใช้กำลังของสมาธิ กำลังของมโนมยิทธิ ตลอดจนสมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน ควบคู่กันไป เพราะว่าถ้าวิปัสสนากรรมฐานของเราไม่ดีพอ กำลังสมาธิไม่สูงพอ เราจะทรงกำลังใจอยู่ต่อหน้าพระบนพระนิพพานได้น้อยมาก

ระดับที่หก ก็คือ การที่เราสวดมนต์ไปด้วย กำหนดวิปัสสนาญาณไปด้วย ก็คือ เห็นความไม่เที่ยง อย่างเช่นว่า สวดมนต์บทนี้ผ่านไปแล้ว เริ่มต้นสวดมนต์บทนี้ใหม่ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นปกติ วันนี้ทำจบสิ้นลงไปแล้ว พรุ่งนี้ก็เริ่มต้นใหม่อีก ในระหว่างที่เราสวดมนต์ก็มีความเหนื่อย ต้องคอยระมัดระวังรักษากำลังใจให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ก็เป็นความทุกข์ และท้ายที่สุด แม้กระทั่งตัวเราก็ดี เพื่อนพระภิกษุสามเณรที่สวดมนต์อยู่ก็ดี ก็เสื่อมสลายตายพังไปด้วยกันทั้งหมด ถ้าสามารถทำกำลังใจระดับนี้ได้ จัดอยู่ในระดับที่หกเท่านั้น

ส่วนระดับที่เจ็ด ระดับสุดท้ายที่อาตมภาพกำหนดเอาไว้ ก็คือ สวดมนต์เผื่อแผ่ไปถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ท่านใดที่ประกอบอยู่ในกองทุกข์ก็ขอให้พ้นจากกองทุกข์ ท่านใดที่มีความสุขก็ขอให้มีความสุขเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็คือการกำหนดใจของเราแผ่กว้างออกไปรอบด้าน จนกระทั่งสามารถครอบคลุมทั้งโลกนี้ ทั้งจักรวาลนี้ ทั้งจักรวาลอื่น ตลอดจนอนันตจักรวาล และไปสู่ภพภูมิอื่น ๆ

ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉานที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในส่วนของทุคติ ก็คือ อสุรกาย เปรต สัตว์นรก ในส่วนของสุคติ ก็คือบรรดาภุมมเทวดา รุกขเทวดา อากาสเทวดา พรหม ตลอดจนกระทั่งท้ายสุดคือพระบนพระนิพพาน

ถ้าสามารถรักษากำลังใจที่ประกอบไปด้วยเจตนา ต้องการให้ความ
ดีความงามทุกประการ พึงมีพึงเกิดแก่เขาทั้งหลายเหล่านั้น โดยยกตัวตนของเราออกมา เหลือแต่เพียงสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นที่ตั้ง เขารักสุขเกลียดทุกข์อย่างไร เราก็รักสุขเกลียดทุกข์เช่นนั้น จึงตั้งใจขอให้เขาทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ มีแต่ความสุขความเจริญ

เถรี 06-03-2021 20:37

จะว่าไปแล้วกำลังใจระดับนี้ ความจริงกำลังใจต่ำกว่าระดับที่ยกกำลังใจขึ้นไปกราบพระบนนิพพาน และระดับที่พิจารณาวิปัสสนาญาณในขณะที่สวดมนต์ไปด้วย แต่เป็นกำลังใจที่กำหนดได้ยากกว่ามาก ดังนั้น...อาตมภาพจึงจัดเป็นระดับที่เจ็ด ระดับสุดท้าย

ญาติโยมทั้งหลายเมื่อได้ฟังแล้ว ถ้าหากว่าตั้งใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามในลักษณะเดียวกัน ก็ขอให้ลงมือทำเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซักซ้อมความพร้อมเอาไว้ทุกครั้ง อาตมาไม่ได้ต้องการมาก ต้องการให้ทุกคนมีความคล่องตัวแค่ในระดับสาม ก็เรียกว่าเพียงพอที่จะอาศัยกินไปได้ตลอดชาตินี้และชาติหน้าแล้ว

เนื่องจากว่าการที่เราสามารถสวดมนต์ไปด้วย ทรงฌานในระดับต่าง ๆ ที่เราต้องการไปได้ด้วย ทำให้มีความคล่องตัวในการเข้าออกสมาธิ ที่เรียกว่า ความคล่องตัวในการเข้าสมาธิ คือ สมาปัชชนวสี หรือ ความคล่องตัวในการออกจากสมาธิ คือ วุฏฐานวสี แล้วเรายังสามารถปรับเป็นการทรงฌานตั้งเวลา สามารถกำหนดจะเข้าสู่ฌานไหนก็พิจารณาเข้าได้ตามใจนึก เป็นต้น ก็จะช่วยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานั้น มีความมั่นคง สามารถที่จะต่อสู้กับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม,ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันเสาร์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เถรี)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:18


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว