![]() |
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ทบทวน.. เก็บเล็กผสมน้อย ๑. การพอใจในกาม ก็คือการพอใจในซากศพ ฆ่ากันตาย เพราะศึกชิงนางหรือศึกชิงนาย แย่งซากผีมาเป็นคู่ครอง เพราะคิดว่าร่างกายนี้ เป็นเราเป็นของเรา ศีลทั้ง ๕ ข้อขาดได้ จากโทษของกามเป็นเหตุ |
๒. เรื่องการเบียดเบียน จัดเป็นธรรมขั้นสูงในพรหมวิหาร ๔ เพราะปุถุชนหลงคิดว่า กายนี้เป็นเราเป็นของเรา จึงเอาใจกายซึ่งเป็นผู้อื่นมากกว่า จิตซึ่งคือตัวเรา ซึ่งมาอาศัยกายอยู่ชั่วคราว จึงเป็นธรรมดาของปุถุชน ที่เบียดเบียนผู้อื่นเห็นง่าย เบียดเบียนตนเองเห็นยาก ตรงข้ามกับการรู้ของอริยชน ที่เห็นการเบียดเบียนตนเอง เพราะรู้ว่า กายนี้หาใช่เรา ใช่ของเราไม่ ตัวเราคือจิต รู้เรื่องกฎของกรรม รู้อารมณ์จิตของตนเองอยู่เสมอ |
๓. ใครจักมีความเห็นในการปฏิบัติเป็นอย่างไร ก็เรื่องของเขา จงอย่าไปขัดคอใคร เพราะบารมีธรรมของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน คิดได้เท่านี้ ก็จักวางอารมณ์ให้ลงตัวธรรมดาได้ |
๔. รูปปั้น-รูปถ่าย-ภาพเขียนต่าง ๆ มิใช่ตถาคต ขันธ์ ๕ หรือร่างกายก็มิใช่ตถาคต มิใช่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือพระธรรม หรือจิตผู้ทรงธรรม |
๕. จงอย่าคิดว่า ตนดีแล้วเป็นอันขาด หากตัดสังโยชน์ยังไม่ได้ครบ ๑๐ ข้อ จะเป็นการประมาทเกินไป ประเดี๋ยว..โดนท่านผู้มีฤทธิ์เหนือกว่าเราทดลองเอา เช่น เทวดา เป็นต้น |
๖. บุคคลส่วนใหญ่มักชอบอารมณ์เดือดร้อนใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ทุกข์ แต่ไม่รู้อารมณ์ของตนเอง จึงเกาะทุกข์ เกาะความเดือดร้อนใจอยู่ร่ำไป แต่ผู้รู้ก็จักพยายามละ และปล่อยวางอารมณ์นั้นอยู่ตลอดเวลา ขอจงพยายามปฏิบัติให้ได้ตามนี้ |
๗. ภาราหะเว ปัญจักขันธา ทุกข์อันใด จักมาเกินกว่าภาระที่มีต่อขันธ์ ๕ นั้นไม่มี อยู่คนเดียวก็ทุกข์คนเดียว ยิ่งอยู่หลายคน ยิ่งเพิ่มทุกข์มากขึ้นเท่านั้น |
๘. โทษของกาม มิใช่กาเมเพียงสถานเดียว ตถาคตหมายถึงการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ตัวสุดท้ายต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอารมณ์ของจิตเป็นภัยร้ายแรงที่สุด ที่คอยทำร้ายจิตตนเองอยู่เสมอ การกำหนดรู้อารมณ์ของตนเอง จึงต้องมีอยู่ตลอดเวลา การพลั้งเผลอย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา หากแก้ไขจุดนี้ไม่ได้ ก็ตัดสังโยชน์ข้อ ๔-๕ ไม่ได้ |
๙. ตราบใดที่ยังมีร่างกาย คำว่าปราศจากโรคนั้นย่อมไม่มี ผู้มีปัญญาย่อมรู้ จักเห็นโรคอันเกิดจากธาตุ ๔ เสื่อมได้ตลอดเวลา แม้ความหิวก็นับว่าเป็นโรค ร่างกายจึงเป็นรังของโรค |
๑๐. อโรคยา ปรมา ลาภา มีโรคก็เป็นทุกข์ ไม่มีโรคก็เป็นสุข แต่จริง ๆ แล้ว สำหรับนักปฏิบัติคำว่าไม่มีโรคนั้น ไม่มี การมีขันธ์ ๕ จึงมีทุกข์อย่างยิ่ง ภารา หเว ปัญจักขันธา ความโง่ ทำให้ไม่เห็นทุกข์ คิดว่าการมีขันธ์ ๕ เป็นสุข เห็นกามตัณหาเป็นของดี ทั้ง ๆ ที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของทุกข์ทั้งปวง |
๑๑. ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก หนีไม่พ้นกฎธรรมดาไปได้ (กฎของกรรมอันเดียวกัน) ต้องแยกให้ออกระหว่างโลกียธรรมกับโลกุตรธรรม เลือกให้เป็น จิตจักได้รับความสุขจากการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๑๒. อย่าอยู่คนเดียว อย่าไปไหนคนเดียว ให้อยู่กับพระ ให้ไปกับพระ เพราะคุณของพระทั้ง ๓ คือพระรัตนตรัยนั้น หาประมาณมิได้ |
๑๓. ทำงานรอความตาย แต่อย่าตายเปล่า ขอตายเป็นครั้งสุดท้าย มีมรณาและอุปสมานุสติอยู่เสมอ |
๑๔. พวกปุถุชนจักมีความประมาทในชีวิตมาก ในเรื่องการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ซึ่งก็เป็นของธรรมดา ถ้าหากจักถึงตายก็ตายเปล่า เพราะมิได้พร้อมตาย ซ้อมตายไว้เป็นปกติธรรม รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพานอยู่เสมอ |
๑๕. ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ พยายามตรวจดูศีล-สมาธิ-ปัญญา อย่าให้พร่องไปจากจิต เผลอก็เริ่มต้นใหม่ จิตจักชินอยู่กับความดีของหลักธรรมปฏิบัตินี้ จนอารมณ์ศีล-สมาธิ-ปัญญาทรงตัว คำว่าคิดชั่วก็จักไม่ยอมคิดเลย |
๑๖. ไม่ต้องไปห้ามใคร ให้ห้ามใจตนเอง เพราะธรรมภายนอก แก้ไขไม่ได้หรือได้ยาก ให้แก้ธรรมภายใน คือที่ใจตนเอง ทุกอย่างหนีไม่พ้นกฎธรรมดา หรือกฎของกรรมไปได้ |
๑๗. จงอย่าฝืนกฎธรรมดา ไม่ต้องไปห้ามใคร ให้ห้ามใจตนเองดีกว่า นั่นแหละ เป็นของจริงของแท้ |
๑๘. ให้ดูอารมณ์จิตตัวเดียว ดูแต่ความเลวของตนเอง เพราะจะละความชั่วได้ ต้องเห็นความชั่วที่ตัวเราเองก่อนเสมอ |
๑๙. พระตถาคตเจ้าทุก ๆ พระองค์ อนุญาตให้บริโภคเภสัชทั้ง ๕ ได้ในยามวิกาล รวมทั้งน้ำปานะด้วย (มีนมสด-นมเปรี้ยว-เนยแข็ง-เนยเหลวคือ พวกน้ำมันจากพืชและสัตว์-น้ำผึ้ง-น้ำอ้อย- น้ำผลไม้จากผลไม้ที่ลูกเล็กกว่ากำปั้นมือคนโบราณ) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๒๐. อย่าฝืนโรค จนเกิดภัยเบียดเบียนตนเอง ในขณะที่กายยังมีชีวิตอยู่ ให้รักษาชีวิตไว้เพื่อการปฏิบัติธรรม ตัดสังโยชน์ ๑๐ ให้หมดก่อนตาย ทุกอย่างให้เดินสายกลาง |
๒๑. พวกเจ้ายังมีอารมณ์ขี้เก็บ ชอบเก็บทุกข์เอาไว้ไม่ยอมวาง จิตคนช่างจดจำอยู่แต่ความชั่ว คำด่า คำนินทา ต่างกับคำสอนของตถาคตเจ้า พวกเจ้าฟังแล้วไม่ใคร่จักทำ |
๒๒. จงหมั่นเรียนรู้ประโยชน์ของอานาปานุสติให้มาก และจงหมั่นทำหาความชำนาญ เพราะจักทำให้จิตมีกำลัง เมื่อถอนออกจากฌานแล้ว ใช้กำลังมาทำวิปัสสนาญาณ จักมีปัญญาคมกล้ามาก |
๒๓. ติดรูปให้แก้ที่รูป ติดนามให้แก้ที่นาม ติดกามสัญญา ให้แก้ที่กามสัญญา นี่เป็นอริยสัจ |
๒๔. พระธรรมไม่เกิด ไม่ตาย (ไม่มีเก่า ไม่มีใหม่ เพราะเป็นสัทธรรม) ส่วนสังขารหรือร่างกาย มันมีเกิดมีดับ หรือสังขารตาย (ดับ) ได้ แต่พระธรรมไม่ตาย หรือธรรมะไม่ตาย ในเมื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นธรรมะ ดังนั้น พระรัตนตรัยทั้ง ๓ จึงไม่ตาย พระพุทธเจ้าจึงพ้นจากความเป็นผี เพราะท่านไม่เกิดไม่ตายอีก พระธรรมและพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงพ้นจากความเป็นผีเช่นกัน (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๒๕. คนตาย ใครร้องไห้... คนนั้นโง่ เพราะสังขารมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา คนโง่ร้องไห้ แต่คนฉลาดไม่ร้องไห้ ตัวเราคือธรรมะ เป็นอมตะไม่ตาย หรือจิตเราไม่เคยตาย ผู้ตายคือสังขารหรือร่างกาย ซึ่งมีเกิดมีตายเป็นปกติธรรมดา (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) |
๒๖. เข้าป่าให้เอาปัญญาไปด้วยเป็นธุดงค์ หากเข้าป่าไม่มีปัญญาไปด้วย ไปแบบโง่ ๆ ก็เป็นถูดง เข้าป่าต้องไม่กลัวตาย กลัวเจ็บป่วย กลัวผี กลัวทุกข์ ต้องไปแบบพระพุทธเจ้า ใครให้กินก็กิน ไม่ให้ก็ไม่กิน (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) |
๒๗. ให้เอาใจ และกายอยู่กับธรรมะ ซึ่งไม่เกิดไม่ตาย แล้วใจก็สบาย มนุษยธรรมก็เป็นธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกุตรธรรม ล้วนเป็นธรรม จึงต้องอยู่กับธรรมะตลอดเวลา จึงจะไม่เกิดไม่ตาย ธรรมะนี้ คนเรียนเป็นวันเดียวจบ คนเรียนไม่เป็น... ๘๐,๐๐๐ ปีก็เรียนไม่จบ (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) |
๒๘. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ อุทาน (๔ ครั้งตามลำดับ หลังออกจากสุขวิหาร) ว่า ๑. สุขเพราะความสงัด ๒. สุขเพราะไม่เบียดเบียน ๓. สุขเพราะปราศจากราคะ (ก้าวล่วงกามเสียได้) ๔. สุขอย่างยอดคือการหมดความถือตัว เท่ากับหมดมานะแล้ว เท่ากับกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๒๙. "ท่านไม่เหนื่อย เพราะธรรมะเหนื่อยไม่เป็น (เพราะธรรมะเป็นนามธรรม เป็นคุณธรรม ไม่ต้องขี้ เยี่ยว และหิวเหมือนกาย แสดงว่าตัวท่านคือธรรมะ ไม่ใช่กายเนื้อ ซึ่งต้องเหนื่อยเป็นธรรมดา) ท่านใช้ธรรมะเป็นอาหาร จึงไม่เหนื่อย" (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๓๐. "การพูด-สนทนากันนี้ เป็นกิเลสก็ได้ เป็นธรรมะก็ได้ อยู่ที่เจตนา เจตนาเป็นเหตุเป็นผล.. สุดแต่จะใช้ ใช้ให้โง่ก็ได้ ให้ฉลาดก็ได้ เป็นบุญได้ เป็นบาปได้ (ทุกอย่างอยู่ที่เจตนา หรือจะว่าบุญ บาป สุข ทุกข์ อยู่ที่ความคิด หรือเจตนาของใจ)" (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๓๑. "คนโง่ไปถูดง คนฉลาดไปธุดงค์ ซึ่งมีทั้งภายนอก ภายใน อยู่วัด อยู่บ้าน อยู่ป่าก็ทำได้ ในกายก็ทำได้ นอกกายก็ทำได้ คนฉลาดเขาทำได้ ธุดงค์ในกาย เวทนา จิต ธรรมก็ทำได้" (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) |
๓๒. "ผู้ถามอยากตามหลวงปู่ไว ๆ ...ตอบว่า อยากตามไว ๆ ก็ตามปัจจุบันสิ คนโง่ชอบตามอดีต อนาคต ก็โค้งไปโค้งมา" (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) |
๓๓. ฆ่าเปรต อสุรกาย สัตว์นรกนี่เป็นอาบัติทุกกฎ ฆ่าสัตว์เดรัจฉาน.. ยุงตัวเดียว เป็นอาบัติปาจิตตีย์ คนจะบวชจึงต้องตัดขาดในศีล ๕ ให้ได้ก่อน จึงจะเข้ามนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกุตรธรรมได้ มีสุขก็เพราะศีล มีโภคทรัพย์ก็เพราะศีล ถึงนิพพานสมบัติก็เพราะศีล หากไม่เชื่อศีลแล้วจะเชื่อใคร (เพราะศีลเป็นแม่ของพระธรรม) พอเข้าถึงธรรมะ เกาะธรรม (พระธรรม) มันก็ไม่เกิด ไม่ตาย เพราะทั้งหมดสำเร็จเพราะศีล เป็นสุข มีโภคทรัพย์ ถึงนิพพานสมบัติ ล้วนจากศีลทั้งสิ้น มีศีลเป็นหลัก พระปาติโมกข์ทั้ง ๓ (พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) ล้วนเอาศีลเป็นหลักทั้งสิ้น เอาศีลขึ้นต้นทั้งสิ้น ธรรมะไม่เกิด ไม่ดับ (ถ้าศีลไม่ตาย สมาธิและปัญญาก็ไม่ตาย) สำเร็จเพราะศีล (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๓๔. วิธีปฏิบัติให้เห็นตัวไม่ตาย คือให้มีสติรู้ปัจจุบันที่กายกับจิต หรือรู้ปัจจุบันที่รูปกับนาม ใช้โทรศัพท์เบอร์เดียวกัน ระหว่างกายกับจิต หากอันหนึ่งตายก็พูดกันไม่รู้เรื่อง (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) |
๓๕. บวชพระต้องตอนก่อน (ตอนจิตให้ไม่เป็นหญิงเป็นชาย) เหมือนช้างม้าตัวผู้ เขาตอนกาย มิฉะนั้น มันหนีไปหาตัวเมียหมด ส่วนพระ.. ใช้ตอนจิต มิฉะนั้น มันก็วิ่งไปหาสาว ๆ หมด (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๓๖. ทุกอย่างอยู่ที่ปัจจุบัน เวลาปัจจุบัน อดีต อนาคต มันไม่ใช่ปัจจุบัน เท่ากับยังไม่ถึงเวลา ทุกอย่างจึงสู้วันนี้ไม่ได้ การเทศน์ ก็เทศน์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตนิโรธคู่กับสักกายะนิโรธ จิตสมุทัยคู่กับสักกายะสมุทัย หรือกายสมุทัย จิตก็สมุทัย (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) |
๓๗. "กิน อยู่ หลับนอน ทุกอิริยาบถให้อยู่กับธรรม เท่ากับธรรมปฏิบัติได้ตลอดเวลา ถ้าเข้าใจหรือถ้ามีปัญญา" (ผู้ใดที่ใคร่ครวญธรรมะอยู่เสมอ ผู้นั้นไม่เสื่อมจากสัทธรรม) (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๓๘. "ตัณหา อวิชชา ดับได้ที่ต้นเหตุ คือแก้หลงตัวเดียว เช่น ขี้ออกไปแล้วยังว่า ขี้ของกูอีก กายไม่ได้กินขี้ กินเยี่ยว แต่ผู้ยังกินอยู่คือ จิตที่มันหลง" (โดยเฉพาะขี้ที่ห่วงมากคือ ขี้ ๓ กอง.. ขี้โกรธ ขี้โลภ(รัก) ขี้หลง) (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๓๙. "เชื่อธรรม อย่าเชื่อคน เพราะคนแปลว่ายุ่ง ส่วนพระธรรมนั้น แม้พระพุทธเจ้ายังเคารพในพระธรรม พระธรรมไม่เกิด ไม่ตาย คนยังเกิด-ตายอยู่ พระธรรมเป็นสุดยอดของความดีในโลก" (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) |
๔๐. "เข้าหากาย หาจิต แล้วไม่ยุ่ง เท่ากับอย่าส่งจิตออกนอกกาย และรู้อารมณ์จิตของตนเองตลอด อย่าให้มันคิดชั่ว เท่ากับอยู่แต่ในห้องที่มีแต่วันนี้ เท่ากับอยู่กับมหาสติปัฏฐาน เท่ากับอยู่ในสังขาร ๓ เท่ากับเอาสติคุมจิตไว้ อย่าให้มันคิดชั่ว" (ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:25 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.