![]() |
พระอนาคามีสอบขึ้นขั้น
“... ผู้สำเร็จพระอนาคามีขั้นต้น ถ้าสอบก็เรียกว่าสอบได้ ๕๐% แล้วเป็นอันว่าสอบได้ สอบได้เพียงขั้นแรก ๕๐% นี้เมื่อตายลงไปแล้วก็ควรแก่อวิหาอนาคามีชั้นแรก ส่วนใหญ่คือว่าสอบได้แล้วนั้น เรียกว่าส่วนใหญ่นั้นตายแล้ว กามราคะหมด แต่ส่วนที่ปลีกย่อยที่เป็นกระแสของราคะตัณหานี้.. ยังมีเป็นชั้น ๆ ตอน ๆ ไป เพราะฉะนั้นผู้สำเร็จพระอนาคามีแล้ว เว้นผู้ที่เป็นขิปปาภิญญา คือบรรลุธรรมอย่างรวดเร็วเสีย ผู้บรรลุธรรมเป็นไปตามธรรมดากลาง ๆ นี้ จะต้องได้ก้าวเป็นลำดับลำดาไป พอสอบได้เป็นพระอนาคามี.. กามกิเลสได้สิ้นไปจากใจแล้วซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปลีกย่อยที่มีเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่ถึงกับจะทำให้เกิดกามกิเลสได้อีกต่อไปนั้นยังมีอยู่ ท่านจึงชำระกามกิเลสประเภทนี้ นี่ละ ท่านเรียกว่าสติปัญญาเป็นอัตโนมัติ คือเป็นตั้งแต่ชั้นนี้ขึ้นไป ชั้นที่จะฆ่าฟันแหลกกับกามกิเลสชั้นแรกนั้น เป็นชั้นชุลมุนวุ่นวาย ถ้าเป็นนักมวยก็คลุกวงในกันตลอดเวลา จนกระทั่งกิเลสตัวสำคัญนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว จากนั้นก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ท่านฝึกซ้อมกามราคะที่ส่วนใหญ่สิ้นไปแล้ว ส่วนที่ยังบริษัทบริวารนี้ เป็นเหมือนกับว่าเป็นผุยเป็นผงยังมีอยู่ ท่านก็ฝึกซ้อมอันนี้แหละเป็นลำดับลำดา |
เมื่อละเอียดเข้าไป ก็ก้าวเข้าไปสู่... จากอวิหาแล้วก็ไป อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี นี่ฝึกขึ้นไปเรื่อย ๆ จิตจะค่อยเลื่อนชั้นขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงอกนิฏฐา นี่เต็มภูมิ เรียกว่าราคะไปสิ้นสุดโดยสิ้นเชิงในขั้นอกนิฏฐานี้ จากนั้นก็ก้าวเข้าสู่นิพพาน สิ้นโดยลำดับถึงขั้นนิพพานทีเดียว นี่พูดถึงการปฏิบัติธรรม คำว่ากามกิเลสส่วนใหญ่ขาดไป เพราะฉะนั้น ในสุทธาวาส ๕ ชั้น จึงต้องมีเป็นลำดับลำดาไป ให้เหมาะให้ควรแก่ผู้ที่ชำระกามกิเลสนี้ได้ยังไม่หมดโดยสิ้นเชิงทีเดียว ยังเหลืออยู่เป็นผุยเป็นผง ก็จะได้ชำระซักฟอกกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงชั้นสุดยอด คืออกนิฏฐาแล้วก็ก้าวเข้าสู่นิพพาน เรียกว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
ที่กล่าวถึงเรื่องจิตไม่ตาย นี่เป็นอย่างนี้เอง ผู้ที่สำเร็จเฉพาะอย่างยิ่ง คือผู้สำเร็จพระอนาคามีนี้ ตายเวลาไหน.. ท่านจะทราบของท่านทันที ว่าท่านจะไปเกิดในภูมิใด.. อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา คำว่าเกิดนั้น ท่านเรียกในที่ทั่ว ๆ ไป แต่คำว่าค่อยเลื่อนชั้นไปตามลำดับของจิตนี้.. สนิทดีสำหรับผู้ปฏิบัติ จะว่าเกิดชาตินี้ ตายจากอวิหาแล้วไปอตัปปาอย่างนั้น ไม่ค่อยสนิทในภาคปฏิบัติ ถ้าว่าเลื่อนชั้นไปเรื่อย ๆ สมกับนามของใจว่าเป็นนามธรรมแล้ว ไม่มีรูปร่าง อย่างอื่นพอให้เกิดให้ตายต่อไปอีก ก็รูปร่างเป็นนามธรรม จึงเรียกว่าเกิดก็ได้ตายก็ได้ ให้สนิทจริง ๆ ก็คือเลื่อนชั้นไปเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งถึงอกนิฏฐาแล้วก็ก้าวเข้าสู่นิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี้สนิทใจ...” |
พระโสณะฝ่าเท้าแตก พระจักขุบาลจักษุแตก “...พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้เรียบร้อยแล้ว ก็มาเห็นประจักษ์ เอามาเป็นพยานกัน ท่านว่าพระโสณะเลิศเลอทางความพากเพียรมาก ... พระโสณะนี่ ท่านประกอบความเพียรจนกระทั่งเดินจงกรมฝ่าเท้าแตก .. พระจักขุบาลตาแตก นี่แหละ..ตั้งสัจอธิษฐานจะไม่นอน รักษาตา หมอเขาว่า ‘ให้นอนหยอดตา หยอดยาใส่ตา’ ท่านบอกว่า ‘ไม่นอน..เพราะตั้งความสัตย์แล้ว’ ‘ถ้าท่านไม่นอน ท่านก็ตาบอด’ เขาก็บอก ‘บอดก็บอด’ ท่านว่าอย่างนั้นนะ นั่น..เห็นไหม ท่านไม่ได้เชื่อหมอ ท่านเชื่อธรรมต่างหาก ‘เอ้า.. บอดก็บอด คำสัตย์คำจริง เราประกาศออกมาแล้วว่าเราจะไม่นอน เราจะนอนไปไม่ได้’ ไม่นอน สุดท้ายตาแตก ตาแตกข้างนอก ใจจ้าเข้ามาข้างใน เห็นไหม .. กิเลสแตกข้างใน นี่พระจักขุบาลถึงขนาดตาแตก ท่านก็ไม่ยอมถอย พระโสณะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก ท่านก็ไม่ถอย.. กิเลสแตก เห็นไหม ท่านเอาขนาดนั้นนะ ท่านถึงได้สิ่งเลิศเลอ...” |
อุปัฏฐากพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่น อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อหลวงปู่มั่นนั้น องค์หลวงตาพยายามใช้ความสามารถอย่างเต็มกำลังสติปัญญาทุกสิ่งทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่งในระยะ ๕ พรรษาสุดท้ายที่อยู่กับหลวงปู่มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลวงปู่หล้าได้เล่าถึงความเอาใจใส่ และความเคารพบูชาขององค์หลวงตาที่มีต่อหลวงปู่มั่นว่า “... ด้านบิณฑบาต หลวงปู่มั่นพาลูกศิษย์ปฏิบัติยินดีภัตที่ตกลงในบาตร ไม่ค่อยส่งเสริมในการตามส่งทีหลังอันเป็นปัจฉาภัต ยินดีฉันรวมในบาตรทั้งหวานทั้งคาว ไม่ซดช้อน เอามือเป็นช้อน ด้านจีวรยินดีบังสุกุลวางไว้ที่กุฏิบ้าง บันไดใกล้ที่ขึ้นลงบ้าง ทางไปส้วมและใกล้ทางจงกรม และทางไปบิณฑบาตบ้าง และในศาลาที่ประชุมฉันบ้าง แต่หลวงปู่มีภาพพจน์ลงไปอีก มีข้อสังเกตของพระอาจารย์มหาบัว เล่าให้ผู้เขียนฟังเป็นพิเศษจึงสังเกตได้ พระอาจารย์มหาบัวเล่าให้ฟังว่า ‘หล้าเอ๋ย ผมสังเกตหลวงปู่มั่นได้คือ ผ้าบังสุกุลอันใดที่เจ้าศรัทธา เขาทำกองบังสุกุลไว้เป็นส่วนรวม เช่น ที่หนทางบิณฑบาตและศาลา และที่ร่มไม่ไกลจากกุฏิองค์ท่าน แม้ท่านจะขาดเขินสักเพียงใดก็ดี องค์ท่านไม่ค่อยจะใช้ให้เขา หรือไม่ใช้เลยก็ว่าได้ องค์ท่านให้แต่เฉพาะที่เขาเอามาบังสุกุลไว้ที่กุฏิ ใกล้บันได ใกล้ส้วม ใกล้บริเวณทางจงกรมขององค์ท่านเท่านั้น สังเกตดูถ้าไม่เชื่อ’ เมื่อสังเกตดูก็เป็นจริงแท้ ๆ เพราะองค์ท่านลึกซึ้ง.. ใช้ของไม่มีราศีแก่ท่านผู้ใด และของที่เขาเอามาบังสุกุลใกล้บริเวณที่องค์ท่านอยู่และพักนั้นก็ดี องค์ท่านไม่ได้หวงไว้ใช้องค์เดียว เมื่อลูกศิษย์ขาดเขินก็ให้ทั้งนั้น |
ในยุคบ้านหนองผือ พระอาจารย์มหาลึกซึ้งมากทุกวิถีทาง หลวงปู่มั่นไว้ใจกว่าองค์อื่น ๆ ในกรณีทุก ๆ ด้าน ควรจะเปลี่ยนไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ดี หรือครบทั้งไตรก็ดี หรือสิ่งใดที่ควรเก็บไว้เป็นพิเศษเฉพาะองค์หลวงปู่ก็ดี ในด้านจีวรและของใช้เป็นบางอย่าง ตลอดทั้งเภสัช เป็นหน้าที่ของท่านพระอาจารย์มหาทั้งนั้น เป็นผู้แนะนำให้คณะสงฆ์รู้ความหมายลับหลังหลวงปู่มั่นทั้งนั้น และหลวงปู่มั่นก็มิได้นัดหมาย ให้พระอาจารย์มหาบัวทำประโยชน์เพื่อองค์ท่านเองอย่างนั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ลึกหรือตื้นด้วยประการใด ๆ เลย พระอาจารย์มหาเคารพลึกซึ้งเป็นเอง...”
เรื่องความละเอียดลออเกี่ยวกับการเฝ้าสังเกตการขบฉันของหลวงปู่มั่นนั้น หลวงปู่หล้าก็ยังเคยกล่าวชื่นชมท่านไว้ว่า “... พระอาจารย์มหา เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่นคงจะนึกอยากจะเว้นอาหารอยู่ แต่มีเหตุผลในใจว่าเราเป็นพระผู้ใหญ่อยู่กับองค์ท่าน เราจะได้สังเกตองค์ท่าน ว่าวันหนึ่ง ๆ องค์ท่านฉันได้เท่าไร ข้าวหมดขนาดไหน กับอะไรหมดขนาดไหน เราจะได้สังเกตประจำวัน เพื่อจะจัดถวายได้ถูก เท่าที่มีมาโดยเป็นธรรม แม้องค์ท่านหยิบใส่บาตรเองก็ดี เราจะสงวนรู้ว่าหยิบอะไรบ้าง เพราะเราเป็นห่วงองค์ท่านมาก เมื่อองค์ท่านฉันได้บ้าง เราก็พลอยเบาใจ...” และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อมีโอกาสจำเป็นต้องลาองค์หลวงปู่มั่นเพื่อไปธุระที่จังหวัดอุดรธานีชั่วคราว หลังจากเสร็จธุระแล้วขากลับท่านจะพยายามจัดหาเอาของใช้ของฉันที่อุดรธานี ที่ถูกกับธาตุกับขันธ์ขององค์ท่าน เพราะท่านคอยสังเกตอยู่ตลอด จนรู้ว่าอันใดองค์ท่านฉันได้สะดวกธาตุขันธ์ ท่านก็จะเอาใส่เข่งเต็มเอี๊ยด แล้วให้เณรแกงหม้อเล็ก ๆ ถวายองค์ท่านวันละหม้อเป็นประจำโดยมิให้หลวงปู่มั่นทราบ แต่ต่อมาหลวงปู่มั่นก็ล่วงรู้ได้และได้ห้ามปราบไว้ แม้อย่างนั้นด้วยความเคารพรักและเป็นห่วงในธาตุขันธ์ของครูบาอาจารย์ซึ่งล่วงเลยเข้าวัยชรามากแล้ว ท่านก็หาอุบายทำของฉันถวายหลวงปู่มั่นอีกจนได้ ดังนี้ “... บางเวลาจึงหาอุบายลาท่านมาอุดรฯ ไม่มีอุบายไม่ได้ ต้องมีอุบายเต็มตัว ข้อแก้ตัวมาเต็มตัวเลย หาอุบายมาจังหวัดอุดรฯ แต่ละครั้งนี่ ความจริงตั้งใจมาหาเอาของไปถวายท่าน จึงต้องหาอุบายที่จะทำให้ท่านยอมอนุญาต พอท่านอนุญาตแล้วเวลาจะไปก็ต้องมีอุบาย พยายามจะไม่ให้ท่านจับได้ ทำทีไปหาแก่นขนุนมาย้อมผ้าบ้าง อะไรที่จำเป็นจะได้ไม่ถูกท่านตีแสกหน้าเอา |
ถึงอุดรฯ แล้วสั่งโยมให้เขาไปหากว้านของในตลาด อันไหนที่เห็นท่านชอบ สั่งเลย..จัดใส่เข่งจนเต็มที่แล้ว แล้วจึงหาเอาแก่นขนุนใส่ไปด้วยเพื่อเป็นข้อแก้ตัว ‘แก่นขนุนนี่หละคือแก่นแก้ตัวเวลาจำเป็น ท่านซักถามจะเอานี้เป็นข้อแก้ตัว’
สิ่งของพร้อมมูลแล้วจึงขึ้นรถกลับ พอขากลับมาถึงอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครแล้ว ทางรถไปต่อไม่ได้ก็เอาเกวียนเขามาบรรทุกของที่เตรียมเอาไปถวายท่าน เต็มล้อ*เทียวนะ พอกลับถึงวัดบ้านหนองผือ ต้องทำแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ลุกลี้ลุกลนตลอด ให้เณรมาขนทันที เก็บเข้าไปซ่อนไว้หมด ไม่ให้มีพิรุธ ไม่ให้ท่านเห็น ไม่ให้ล้อเกวียนเข้าไปลึกนะ กลัวท่านจะมองเห็น ต้องจอดไว้ข้างนอกแล้วก็ขนออกไปเก็บไว้ในกระต๊อบ เก็บไว้ที่ไหนดี ? ‘เณรเพ็งนี่แหละ (พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล) เป็นผู้ที่คอยปฏิบัติกับเรา แล้วก็คอยดูท่าน’ พอเรียบร้อยแล้วจึงไปหาท่าน พอท่านทราบว่าเรามาแล้ว ตอนเช้าท่านเดินบิณฑบาตออกมานี้.. ตาท่านส่าย ๆ รอยล้อรอยเกวียน เราเอาไม้กวาดไปกวาดไว้หมดนะ ไม่ให้เห็น เราก็ว่าเรารอบคอบดี แต่ไม่พ้นตาท่าน จับจนได้.. ไปเห็นรอยล้ออยู่นั้น กวาดไม่หมดจึงถามว่า ‘นี่รอยเกวียนมาจากไหน ?’ ท่านจี้เข้าไปเลย เอาอีกละ กูตายที่นี้ ‘อ๋อ ! มาจากทางอำเภอพรรณาฯ เห็นแก่นขนุนดี ๆ ก็เลยเอาแก่นขนุนมา’ กราบเรียนท่าน ท่านก็เลยนิ่งเลยนะ นี่เห็นไหม ท่านจับได้แล้วนั่น อยู่ ๆ ต่อมาสักพัก ท่านปัดกวาด มองโน้นมองนี้ กวาดนั้นกวาดนี้ เดินไป.. ตรงดิ่งเปิดกุฏิที่เราเก็บของที่ขนมาจนได้ โถ ! ‘อะไรเต็มอยู่ในนี่’ ท่านจี้ถาม ‘อู๊ย ! เราจะตาย เราหาข้อแก้ตัว’ เรื่องอาหารการฉันนี้ อะไรที่ถูกกับธาตุกับขันธ์ของท่าน ก็เราเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ตลอด ท่านชอบฉันอะไรบ้าง เราสังเกตอยู่ตลอด อันไหนที่ท่านเมตตาฉัน เห็นว่าถูกกับธาตุกับขันธ์ท่าน เราจะไปหาสิ่งนั้นมาเป็นเข่ง ๆ ต้องเอามาอย่างเต็มเหนี่ยว ถ้าได้โอกาสลาท่านไปเที่ยวกรรมฐานทางไหน ในป่าในเขามีอะไรที่ถูกกับธาตุกับขันธ์ท่านก็ไปหาเอามาอีก ก็ไม่ได้นึกว่าท่านจะรู้ บทเวลาท่านใส่นี้ ‘โอ๋ย..ใส่นี้หงายหมาเลย ไม่ได้หงายธรรมดา ไม่มีท่าต่อสู้ สู้ท่านไม่ได้ว่างั้นเถอะ เปรี้ยงทีเดียวหงายเลย’…” เรื่องการขบการฉัน หยูกยา ผ้านุ่งผ้าห่ม บริขาร และเครื่องใช้ไม้สอยทุกสิ่งทุกอย่างของหลวงปู่มั่น ท่านจะคอยสังเกตพินิจพิจารณา และกระทำอย่างตั้งใจจดจ่อ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ธาตุขันธ์ร่างกายของหลวงปู่มั่นมากที่สุด ความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย หรือทุกข์ยากลำบากส่วนตนนั้นไม่ถือเป็นประมาณ หรือเป็นปัญหาอุปสรรคยิ่งกว่าการให้ครูบาอาจารย์ได้รับความสะดวก เรียกได้ว่ายามใดที่ท่านอยู่.. ยามนั้นครูบาอาจารย์ก็เบาใจ |
หลวงปู่มั่นเอาผ้าห่มมาให้ หลวงปู่มั่นให้ความไว้วางใจ โดยมอบให้ท่านเป็นผู้จัดสรรจตุปัจจัยไทยทานตามความจำเป็นแก่พระเณรภายในวัด ในเรื่องนี้เคยเล่าไว้ว่า “อย่างของที่ตกมานี่ ท่านอาจารย์มั่นมอบเลยนะ ‘ท่านมหาฯ จัดการดูแลพระเณรนะ’ หลวงปู่มั่นพูดเท่านั้น แล้วปล่อยเลยนะ เขามาทอดผ้าป่ากองพะเนินเทินทึก เราเป็นผู้ดูแลทั้งหมดเลย องค์ไหนบกพร่องตรงไหน องค์ไหนบกพร่องอะไร ๆ จัดให้ จัดให้ สำหรับเราไม่เอา ครั้นเวลาเราไม่อยู่บ้าง ท่านสืบถามพระนี่ ‘ท่านมหาฯ ท่านได้เอาอะไรไหม ? ของที่เอามามอบให้ท่านจัดให้พระเณร ท่านเอาอะไรไหม ?’ พระตอบ ‘ท่านไม่เอาอะไรเลย’ ท่านนิ่งนะ.. เฉย ท่านจับได้หมด พิจารณาแล้ว เราทำทั้งหมดด้วยความเป็นธรรม ท่านรู้... เราไม่เอาอะไรนี่ ขนาดท่านเอาผ้าห่มของท่านไปบังสุกุลให้เรา มีที่ไหน ไม่เคยมีนะ เพราะท่านเห็นเราไม่ใช้ผ้าห่ม หนาวขนาดไหน.. เราก็ไม่เอา เราเด็ดของเราอยู่อย่างนั้นตลอด... เราก็ไม่ได้บอกว่าเราไม่มีผ้าห่ม เพราะเราไม่เอา ผ้ามีเท่าไหร่เราก็ไม่สนใจ นอกจากการปฏิบัติตนเองให้เคร่งครัด และสุดท้ายท่านก็เอาผ้าห่มท่านมาให้เรา ถ้าเอาผ้าห่มผืนใหม่ ๆ มาให้เราก็กลัวเราไม่ห่ม ถ้าเอาผ้าห่มใหม่ให้ ท่านก็กลัวเราจะไม่ใช้ นั่นเห็นไหมอุบายของท่าน ต้องเอาผ้าของท่านที่ท่านห่มอยู่นั่น พับเรียบร้อยแล้วไปบังสุกุลให้เรา เอาดอกไม้ เอาเทียนไป โอ๊ย.. ทุก ๆ อย่าง ท่านเป็นอาจารย์ ปรมาจารย์ชั้นเอกทุกอย่าง ไปก็ขึ้นไปวางที่นอนของเราเลย กุฏิหลังเตี้ย ๆ ท่านขึ้นไปเอง เอาไปวางไว้ วางไว้กลางที่นอน มีดอกไม้ มีเทียนวาง ผ้าห่มเป็นผ้าที่ท่านห่มอยู่แล้ว ผ้าใหม่ท่านกลัวเราจะไม่ใช้ นั่นแหละ.. ท่านหาอุบายต้องเอาผ้าท่านเอง ว่างั้นเถอะ เราขึ้นไปแล้วไปดู ‘อู๊ย ! มันผ้าพ่อแม่ครูอาจารย์ ผ้าที่ท่านครองอยู่ทุกวัน ท่านห่มอยู่ทุกวัน’ เรารู้ทันทีเลย เราปฏิบัติอยู่ทุกวันกับผ้าท่าน ทำไม่จะไม่รู้ นี่แสดงว่าให้ใช้ ให้ใช้หน่อยเถอะ ก็ดูรอยเท้าท่านมาจากทางกุฏิ ด้อม ๆ ขึ้นมานี้ก็กลับไป ตามดูรอยรองเท้าท่าน ท่านคงสงสารเรามาก เห็นว่าเราไม่ใช้ผ้าห่ม ก็คือความเด็ดขาดของเราเอง ไม่ใช่อะไรนะ ผ้าห่มมีแต่เราไม่เอา ท่านก็รู้ ท่านเอามาบังสุกุลเราก็ห่มใช้ ว่างั้น เพราะท่านเห็นนิสัยอย่างนั้น เอาจริงเอาจังทุกอย่าง...” |
เณรเป็นเนื้อ เราเป็นเขียง ถูกหลวงปู่มั่นสับยำ เหตุการณ์ช่วงหนึ่งเกิดขึ้นที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านสั่งให้เณรเพ็ง (หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต) ทำอาหารเล็ก ๆ ที่สังเกตว่าถูกธาตุขันธ์หลวงปู่มั่นเป็นประจำทุกวัน ซึ่งหลวงปู่มั่นก็ไม่อยากเสริม จึงหาวิธีขนาบลูกศิษย์ทั้งสอง ดังนี้ “... ของอะไรที่ถูกกับธาตุขันธ์ท่าน เราจะพยายามหามา ๆ ๆ ไม่ให้ท่านรู้นะ รู้ไม่ได้ เณรเพ็ง.. เณรเพ็งละเป็นเขียงรอง ให้เณรเพ็งมาทำ ท่านสับเณรเพ็ง เณรเพ็งเป็นเนื้อบนเขียง เราเป็นเขียง ท่านเป็นมีด.. ยำลง เณรเพ็งก็ไม่ทราบจะปฏิบัติต่อใครอย่างไร ท่านว่า..มาทำหาอะไร นี่นะ.. บิณฑบาตมาล้นบาตร ๆ กินให้ตาย มันก็ตายนี่นะ ท่านไปอย่างนั้นนะ มายุ่งทำไม’ ท่านว่างั้น อันนี้เป็นเรื่องของท่าน เราก็ไปกระซิบกับเณรเพ็งให้ทำอย่างนั้น ๆ แก้ตัว..เข้าใจไหม หาอุบายแก้ตัว เณรเพ็งก็ทำตามเราทุกอย่าง เพราะเณรก็เคารพเรา ทีนี้เวลาบิณฑบาตนั่นละ..ที่มันขบขันมาก เณรก็ทำอาหารเล็ก ๆ อยู่ในครัว ตามธรรมดาบิณฑบาตท่านออกหน้า แล้วพระเณรจะหลั่งไหลไปตามท่าน ๆ ลงจากศาลาหอฉันนั่นน่ะ พอท่านออกไปแล้ว พระเณรก็ตามหลังท่านเป็นสายยาวเหยียดไป แต่วันนั้นเผอิญอะไรไม่รู้ พระเณรออกไปหมดแล้ว ท่านยังไม่ไป.. ท่านยังอยู่นั้น ทีนี้เณรเพ็งก็ว่า ‘กูตาย..พระเณรไปกันหมดแล้ว’ แสดงว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ไปแล้วก็เลยวิ่งจากครัว มาพบท่าน ‘เหอ..มาไงม้าแข่งนี่ จะขับไล่ท่านเพ็งออกจากวัดนะ ม้าแข่งมาจากไหนต้องออกจากวัด เณรนี้มันยังไงกัน เณรม้าแข่งนี่’ โอ๊ะ..กูตายวันนี้ ทำไงท่านจะเอาเณรออกจากวัด ก็เรานั่นแหละจะเป็นคนแก้ไม่ใช่ใคร ไม่สบายเลยวันนั้น บิณฑบาตท่านพูดอะไรกับเรา เราก็นิ่งเฉยไม่พูดเลย ทุกวันมีตอบบ้างอะไรบ้าง วันนั้นนิ่ง ท่านคงจะทราบว่ามหาฯ องค์นี้มันจะตาย วันนี้กูจะไล่เณรเพ็งออกไป มันจะไปแบกเณรเพ็งเอาไว้นี่ กูพูดอะไรมันก็ไม่พูด ท่านรู้นะ เรื่องเหล่านี้รู้หมด พอฉันเสร็จแล้วเพราะเราเคยปฏิบัติ ฉันเสร็จแล้วไปเช็ดไปกวาดถูที่บริเวณท่านฉัน ให้พระเณรเอานั้นลงไป มีอะไรก็คุยกับท่านเรื่องนั้นเรื่องนี้ไป คุยไปคุยมาดึงเข้ามา ๆ ๆ ใกล้เข้ามาหาเณรเพ็งนี่นะ พอถึงนั้นเฉียดตรงนั้นแล้ว เอ้อ.. ขึ้นเลย ‘ไหน..เณรเพ็งว่าไง ท่านมหาฯ’ ขึ้นเลย เข้าจุดแล้วนี่ จึงกราบเรียนท่าน เรากราบเรียนท่านอย่างมีเหตุมีผลนะ ท่านก็ฟัง พอสุดท้ายท่านยังไว้ลวดลายนะ เราขอเมตตาจากท่าน เพราะมันลุกลี้ลุกลน มันรีบ มันกลัวจะไม่ทัน มันก็เป็นบ้าง อะไร ๆ นี้ ขอเมตตาเอาไว้เสียก่อน ‘เออ..คราวหลังเป็นอย่างนี้ไม่ได้นะเพ็ง’ ท่านรู้เราแล้วตั้งแต่บิณฑบาต เราไม่พูดอะไรเลย มหานี้มันจะอกแตกละวันนี้ กูจะไล่เณรเพ็งหนีคงว่างั้นนะ แต่กับเราท่านก็ไม่ว่าอะไรนะ เรื่องเณรเพ็งนี้ก็มีภาคทัณฑ์เอาไว้ ‘เพ็งทำอย่างนี้อีกไม่ได้นะ’ ท่านว่า นั่นท่านให้อภัยแล้ว แต่มีลวดลายเอาไว้นั้นอีก ท่านเพ็งจึงเป็นเนื้อบนเขียง ข้างบน ก็เป็นท่านนั่นละ สับลงไป เราเป็นเขียงรองเอาไว้ ท่านเพ็งเป็นลาบพอดี เป็นอย่างนั้นละ อยู่กับพ่อแม่ครูนี่เป็นของง่ายเมื่อไร พ่อแม่ - ครูอาจารย์จอมปราชญ์สมัยปัจจุบัน พ่อแม่ – ครูอาจารย์มั่นเป็นจอมปราชญ์ในสมัยปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นไม่ทัน ความคิดความอ่านมันก็เกิดขึ้นเอง ปัญญาเมื่อคิดมันเกิดเองให้ทันกับเหตุการณ์ ที่ท่านคล่องแคล่วว่องไว เฉลียวฉลาดแหลมคม เราก็ฟิตของเราว่าตัวโง่ ว่าอย่างนั้นเถอะนะ เป็นตัวจอมโง่เข้ารับกันไม่อย่างนั้นไม่ทันกาล...” |
แม้จะเสี่ยงต่อการถูกดุด่าว่ากล่าว เพราะหลวงปู่มั่นไม่เสริมในสิ่งที่ขัดปฏิปทาที่เคยดำเนินมา แต่ด้วยความห่วงใยในธาตุขันธ์พ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณสูงสุดซึ่งชราภาพมากแล้ว อยากให้มีกำลัง มีอายุยืนยาว อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่หมู่ศิษย์อีกนานแสนนาน ท่านก็ยอมเสี่ยงได้ ดังนี้
“... นี่ก็ขอร้องท่านนะ เวลาท่านจวนตัวเข้ามาเต็มที่แล้ว ขอให้ท่านซดช้อนเพราะบิณฑบาตก็ไม่ได้แล้ว ท่านก็ยังไม่ยอม ก็เรียนท่านว่า ‘แต่มันจำเป็น พ่อแม่ครูอาจารย์พาลูกศิษย์ลูกหาบึกบืนมาก็พอแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะปฏิบัติต่อธาตุต่อขันธ์พอจะเป็นไปได้ ได้วันหนึ่ง สองวันก็เป็นที่ภาคภูมิใจแก่สัตว์โลกทั้งหลายแล้ว ขอให้พ่อแม่ครูอาจารย์ได้ทำตามธาตุตามขันธ์ ไม่มีใครมายึดแหละ ไม่ใช่พระเทวทัตมาอยู่ที่นี่ ถ้าเป็นพระลูกศิษย์มีครูแล้วไม่มีใครยึด’ เราละเป็นตัวสำคัญกับพ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้อื่นไม่กล้าพูด เรามันกล้า.. กล้าด้วยเหตุด้วยผล ใครจะมายึดพ่อแม่ครูอาจารย์ในเวลานี้ ใครยึดก็เป็นเทวทัต เราว่างั้น ถ้าลูกศิษย์มีครูแล้วไม่ยึด เพราะธาตุขันธ์ของพ่อแม่ครูอาจารย์เป็นยังไง เวลานี้ไม่มีใครรู้ พ่อแม่ครูอาจารย์มีความสะดวกสบายด้วยการขบการฉัน ด้วยวิธีใดก็ขอนิมนต์เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก อยู่ไปกี่วันก็เป็นประโยชน์แก่โลกไม่ใช่น้อย ๆ ฉันไม่สะดวก อะไรไม่สะดวก ธาตุขันธ์ก็ยิ่งทรุดลงไป ๆ แล้วก็ยิ่งมีแต่ทางเสื่อมทางเสียโดยถ่ายเดียว ท่านก็ฉันให้บ้าง สักเดี๋ยวท่านก็พลิกอีกแหละ เราก็เอาอีก เพราะนิสัยของท่าน นิสัยปัญญานี่ พลิกพับ ๆ ๆ...” สำหรับการดูแลเรื่องหมากพลู บุหรี่ ที่ชาวบ้านทำมาถวายหลวงปู่มั่นนั้น ท่านเคยพูดไว้เช่นกันว่า “ท่านตำหมากวันหนึ่งไม่มากนะ ตอนเช้า ตอนบ่าย และตอนเย็น ๆ บุหรี่ก็ไม่มาก ตอนเช้า ตอนบ่าย แล้วตอนค่ำ บุหรี่นี้จะมีถึง ๓ ครั้ง แต่หมากก็น่าจะเหมือนในระยะเดียวกัน เวลาลูกศิษย์ลูกหาขึ้นไปหาท่าน ท่านคุยแล้วก็ตำหมากถวายท่าน” |
หลวงปู่มั่นยกเรื่องหมูเป็นคติ
“.. บางทีพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านพูดมีตลกขบขัน อยู่กับท่านมันหากหัวเราะไม่ได้.. เราจะตาย บางทีกลั้นหัวเราะไม่อยู่ มันอดหัวเราะไม่ได้นะ มันทำไมเป็นอย่างนั้น ท่านพูดแปลก ๆ หากเป็นคติด้วยขบขันด้วยอยู่ในตัวนี่แหละ วันหนึ่งเรามันดื้อสิ หมูตัวขนาดกระโถน แต่มันอ้วน ๆ มันเดินไปขุดดินขึ้นมาริมถนน จนเป็นร่อง มันก็เอาจมูกมันขุดหญ้าแห้วหมูกินเพลิน ท่านก็เดินบิณฑบาตไปทางนั้น พูดไปพลาง.. มองหางตาแย็บมาหาเรา ‘นี่เห็นไหม หมูเขาไม่มีจอบมีเสียบ เขายังขุดได้ เห็นไหม เขาไม่ยอมตาย เขาขุดกินหญ้าแห้วหมูเห็นไหม พระเราจะไปโง่อะไรนักหนา ปัญญามี ขุดลงไปสิ!’ ท่านว่าอย่างนั้น อุบายของท่านออกอย่างนั้น อันนี้พอผ่านไปแล้ว เราก็ไปเจอหมูตัวถัดกันไป มันกำลังเอาจมูกขุดดินกินหญ้าแห้วหมู เราไม่ได้ตั้งเจตนาอะไรนะ เราเดินไปนั่น เวลามันขุดอยู่นี่มันจะทำยังไง เราจึงสอดเท้าเข้าไปใต้ท้อง มันตื่นกระโดดหนีตกลงร่อง ตกไปแล้วมันไม่แล้วยังหงายท้องขาชี้ฟ้า ท่านมองมา “มันเป็นอะไร มันเป็นอะไร ๆ” เราไม่ทราบว่าจะพูดยังไง มันขบขันนี่สิ เรื่องมันขบขันนะ “ว่าแต่พระไม่มีปัญญา บทเวลาหมูตัวมีปัญญาตกไปงี้ หงายท้อง” มันอดหัวเราะไม่ได้ ทีนี้ถึงเวลาให้พร ท่านเป็นองค์ ยถาฯ สัพพีฯ ส่วนเราเป็นคนรับสัพพีฯ พอถึงคำว่า สัพพีฯ เรารับไม่ได้เราก็นิ่ง กลั้นหัวเราะ จะรับได้อย่างไรมันคอยจะพุ่งออกมาอยู่นี่ (หัวเราะ) เราก็เลยรับไม่ได้นี่นะ ท่านก็สัพพีคนเดียว หมู่เพื่อนก็เลยรับทางโน้น เราก็เลยสัพพีไม่ได้เลยนะ ทีนี้พอพ้นหมู่บ้านแล้ว ท่านก็ว่า “ทำไมขึ้น ยถาฯ ให้ สัพพีฯ ไม่เห็นรับ” “ผมอยากหัวเราะ มันขำจะตาย” “หึ! เท่านั้นก็อยากหัว (หัวเราะ)” ท่านว่า มันขบขันนะ เพราะท่านพูดท่านไม่มีอะไรนี่ ไอ้เรามันเป็นบ้านี่ อดหัวเราะไม่ได้ ที่เราทำหมูไม่ใช่อะไรนะ เราทำด้วยความรักหมูต่างหาก เราไม่ได้ทำความแกล้งท่านอะไร แม้นเม็ดทรายหนึ่งก็ไม่มี แต่นี่เราพูดสนุกเฉย ๆ ทำไมมันถึงฉลาดนัก หมูเรานี่นะ เหมือนลักษณะอย่างนั้น แต่ความจริง เราไม่มีเจตนาอย่างนั้น คือมันอ้วนมันน่ารักนี่ นั่นล่ะ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ขบขันจะตาย ท่านมีอุบายแปลก ๆ ที่เราไม่เคยคิดเคยคาดนะ ไปเจออะไรนี่.. จะออกมาปุ๊บ ๆ เป็นคติทั้งนั้น นี่เป็นนิสัยของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น สมกับท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ คำที่ว่า “ศาสดา” ไม่ใช่ขึ้นบนธรรมมาสน์นั่งเทศน์แล้วถึงจะว่าศาสดานะ บทอากัปกิริยาทุกอย่าง ความเคลื่อนไหวไปมาขององค์ศาสดานั่นแหละ คือครูเอกนะ เป็นคติ จับมาเป็นคติได้หมดเลย ไม่จำเป็นจะต้องตั้งหน้าตั้งตาเทศน์ ให้การอบรมสั่งสอนถึงจะว่าเป็นศาสดา ความเคลื่อนไหวไปมาขององค์ศาสดานั่นล่ะ คือครูของโลกตลอด ยึดได้หมด เป็นคติ อันนี้พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นก็เหมือนกัน เคลื่อนไหวอะไรออกไปมีแต่เป็นคติ พูดออกมาแย็บ ๆ หนึ่งก็มีคติเตือนใจ บางทีเวลาท่านเปิดเต็มที่ ท่านบอกว่า “ถ้าจะสมมติ เอาบริเวณที่เขาล้อมรั้วของวัดนี้ มันกว้างขนาดไหน คนเต็มทั่วโลกนี้ สู้จิตวิญญาณในบริเวณวัดนี้เท่านั้น.. ไม่ได้ คือท่านยกเอาคน เฉพาะคนทั้งหมดทั้งโลกนี้ ไม่รวมสัตว์นะ ก็ยังสู้จิตวิญญาณในวงวัดนี้ไม่ได้ ท่านว่าอย่างนี้ นั่นลึกลับมาแต่ไหน ลึกลับสำหรับสายตาคน แต่ไม่ลึกลับสำหรับความจริงต่อความจริง ความจริงต่อความจริงคืออะไร ? คือธรรมชาติที่รู้ ก็รู้ตามความจริง...” |
ตัดคอรองแทนหมู่เพื่อน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระแก่หลวงปู่มั่น ท่านจะคอยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลพระเณร คอยสังเกตอัธยาศัยใจคอพระเณรที่อยู่รวมกัน ทราบกันว่า ในยามที่พระเณรมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นคราใด ท่านมักจะออกรับผิดกับหลวงปู่มั่นแทนหมู่เพื่อน ชนิดยอมตัดคอออกรองเลยก็ว่าได้ ดังนี้ “... ตอนจะฉัน ท่านเอาตอนที่ปิดประตูตีหมา เพื่อมันจะได้ขี้ทะลักออก เรานั่งอยู่นี้ ก็ท่านนั่งอยู่นั้น กำลังจะฉันท่านพูดเปรย ๆ ขึ้นว่า ‘พระเรานี้ แต่ละองค์ ๆ นิสัยไม่เหมือนกัน องค์หนึ่งเด่นทางหนึ่ง ๆ ท่านกงมาก็เด่นทางผ้า มาทีไรต้องได้ผ้ามาเป็นไม้ ๆ ทั้ง ๆ ที่ผ้าหายากนะ สมัยนั้นสงครามโลก ผ้าหายาก ท่านหามาแต่ไหนก็ไม่รู้แหละ อาจารย์สีลา บ้านวา อากาศอำนวย นี้เก่งทางมีดโกนทอง มาทีไรเป็นกำ ๆ เป็นมัด ๆ มาเลย แจกพระเณรได้ทั่วทั้งวัด องค์นั้นเก่งทางนั้น ๆ เราก็ฟังไปอย่างนั้นแหละ องค์นั้นเด่นทางนั้น ๆ เราก็มีแต่เพลิน ฟังทั้งอ้าปากค้าง... พอท่านชมองค์นั้นองค์นี้หมดแล้ว ก็หันมาหาเราชี้นิ้วเลยว่า ‘นี่ ! ตัวยุ่งที่สุดคือตัวนี้ นี่ยุ่งที่สุด ไปที่ไหนอะไรแหลกไปเลย อะไร ๆ ที่ไหน มันไปยุ่งเอาหมด อะไรอยู่ที่ไหนมันไปเห็นหมด ไปยุ่งหมด’ ‘กูตาย’ เราอุทานในใจ เอาแล้วที่นี้จะสู้ท่านได้ยังไง เรามัวแต่ฟังท่านเพลิน เวลาท่านจะฟาดเรานี้ เราไม่ได้ดู ท่านใส่เอาอย่างถนัด เราก็หมอบ ก็มันเป็นความจริง นึกว่าท่านจะไม่รู้ เห็นไหมล่ะอย่างนั้นแล้วเวลาท่านตี เรื่องพระเณรก็เหมือนกัน เรานี้เรียกว่ารับแทนหมู่เพื่อนในวัด เด็ดดุก็อยู่กับเรา แต่เวลาจำเป็นนี้.. เราตัดคอเข้ารอง ใครผิดที่ไหนเราก็หาอุบายสอดเข้าไป หาอุบายเข้าไม่ได้ ไม่ได้แต่งขึ้นนะ มันหากมีเงื่อนพอเข้าถึงได้เราก็ไป อันนั้นผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ เราก็บอกว่า ‘เรื่องราวมันเกี่ยวกับเรื่องกระผม เราสั่งให้หมู่เพื่อนทำอย่างนั้น ๆ’ เราก็ว่าไป พอมาถึงเรา เราเป็นคนผิดแล้วท่านก็นิ่งเสีย นิ่งหนหนึ่ง นิ่งสองหน นิ่งหลายหนต่อหลายหน พระเณรไม่ใช่น้อยองค์นี่ เดี๋ยวองค์นั้นผิดอย่างนั้น องค์นี้ผิดอย่างนี้ มีแต่เราเป็นผู้ไปตัดคอรอง ครั้นนาน ๆ เข้าก็เอาตอนฉันจังหันนั่นละ ตอนเงียบ ๆ บทเวลาจะขึ้น ท่านกล่าวว่า.. ‘พระเณรผิดท้ายวัดหัววัดก็มหาบัวผิด พระเณรหูหนวกตาบอดผิดก็มหาบัวผิด เป็นใบ้เป็นบอก็มหาบัวผิด มหาบัวผิดทั่วทั้งวัด พระเณรหูหนวกตาบอดเป็นบ้าเป็นบอมาจากไหน เข้ามาในเขตวัดนี้มีแต่ผู้ถูกทั้งหมด มหาบัวผิดคนเดียว เหอ...! มหาองค์นี้มันโง่ถึงขนาดนั้นเชียวเหรอ’ ท่านรู้แล้วว่าเราตัดคอรองหมู่เพื่อน เราก็หมอบเสียอย่างนั้นละ..เห็นไหม ? ท่านจับได้หมด เวลาพระเณรจะเป็นจะตาย.. เราก็ตัดคอรอง แต่เวลาออกมาแล้วก็สอน อย่างน้อยก็สอน มากกว่านั้นจับบิดเอาเลย ‘ทำไมทำอย่างนั้น ๆ’ จี้เอาเลย ก็เราเป็นคนรองออกมาแล้ว นั่นละ..ไม่ได้นึกว่าท่านจะรู้จะจับได้ เห็นไหมล่ะ จับได้หมดเลย อย่างนี้สิเราถึงได้เทิดทูน |
พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นนี้ท่านตามดูจริง ๆ จับทั้งส่วนหยาบ ส่วนละเอียด จับหมดเลย เพราะฉะนั้น เราถึงเทิดทูนสุดยอด อะไรก็ตามท่านเห็นหมด เราพยายามทำแบบไหน ท่านเห็นหมด แต่ท่านก็พอที่จะคิดบ้างว่า
‘นี่มันก็ต้องใช้ปัญญาเต็มภูมิมันนั่นแหละ แต่ปัญญานี้มันเป็นปัญญาหางอึ่ง’ เพราะฉะนั้น เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับพ่อแม่ – ครูอาจารย์มั่นนี้ลงใจทันที เราสุดกำลังความสามารถของเราที่จะพินิจพิจารณาสังเกตสังกาท่าน ไม่ว่าหลักธรรมหลักวินัยไม่มีเคลื่อนคลาดเลย ที่เราเทิดทูนสุดยอดก็คือ เรื่องความฉลาดแหลมคมของท่าน การปฏิบัตินี้ตรงแน่วตามตำรับตำรา พระวินัยข้อไหน ๆ ตรงไหนท่านเก็บหอมรอมริบเรียบหมด ไม่มีเรี่ยราดสาดกระจาย พรรณนาไม่หมด เรื่องเรดาร์ท่านจับเรานี่ท่านจับจริง ๆ ไม่ใช่ธรรมดา...” มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านไม่สบาย ป่วยหนักจนลุกไม่ขึ้น ทั้งลมก็แรงตลอด ฝนก็ตกทั้งคืน ใบไม้จึงร่วงหล่นมากมาย พอเช้ามาหลวงปู่มั่นไม่ได้ยินเสียงปัดกวาดใบไม้เหมือนทุก ๆ วัน รู้สึกผิดจากปกติมาก หลวงปู่มั่นจึงถามขึ้นทันทีว่า “หือ..พระเณรไปไหนหมด..หือ ? ท่านมหาไปไหน ?” พระเณรตอบว่า “ท่านอาจารย์มหาป่วย” หลวงปู่มั่นพูดแบบดุ ๆ ขึ้นทันทีว่า “หือ..ท่านมหาป่วยเพียงองค์เดียว วัดร้างหมดเลยเชียวหรือ ?” ที่กล่าวเช่นนี้ เป็นเพราะโดยปกติประจำวันท่านจะคอยใส่ใจ เป็นธุระนำหน้าหมู่คณะออกทำข้อวัตรต่าง ๆ ทุกชิ้นทุกอันอยู่เสมอ เมื่อมาเจ็บป่วยจนลุกไม่ขึ้น พระเณรจึงยังไม่ทันทราบ เลยไม่มีใครพาเริ่มต้นทำข้อวัตร ทำให้เช้าวันนั้นดูเงียบผิดปกติ |
ยาดีของหลวงปู่มั่น
และในบางครั้งที่ท่านป่วยไข้อย่างหนัก มีอยู่เหมือนกันที่หลวงปู่มั่นเมตตาเอายาไปให้ฉันด้วยตนเองเลยทีเดียว ท่านเล่าให้ฟังอย่างไม่มีวันลืมเหตุการณ์นี้ไปได้เลย ดังนี้ “... เรามีนิสัยวาสนาอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือไม่ค่อยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ไป ยิ่งเวลาออกปฏิบัติอยู่นั้นยิ่งไม่สนใจกับหมอเลย ยาไม่เคยติดย่ามแม้เม็ดเดียว อยู่แบบหมูแบบกวาง เวลามันจะป่วยมันไปหาโรคมาจากไหน ? ทำไมเป็นได้ ? ธรรมแก้ตัวเอง แก้อย่างนั้น เวลามันจะหายมันไปหาโอสถมาจากไหน ? เกิดที่ไหนมันก็ตายที่นั่นแหละ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยใครเอายามาให้ เราบอก ‘อย่ามายุ่ง’ ทีนี้หลายครั้งหลายหน ท่านเห็น ท่านก็มาเองล่ะสิ คึกคักเข้าไปถึงตัวเราเลยนะ เรานอนไข้อยู่นะ ‘นี่ ! นี่ ! ได้ยามาแล้วนะ ท่านมหานะ นี่ ! ได้ยาดีวิเศษมาให้ พอฉันปุ๊บจะหายทันที เอ้า ! เอ้า ! ฉัน’ ท่านว่าอย่างนั้นเลย มือยื่นให้พร้อมเลย ตกลงเราก็ต้องฉัน ถ้าเป็นเรื่องพ่อแม่ – ครูอาจารย์มั่นนี้ เราไม่เคยปฏิเสธเลย ท่านพูดเลยว่า ‘ยานี้สำคัญมาก ยาดีนะ ฉันแล้วหาย หาย หาย จะหายก่อนฉันด้วยซ้ำนะ’ ท่านเสกสรรยาของท่าน แล้วท่านก็ยื่นเข้ามาให้เลย ‘เอา... เอา... เอาให้มันหายเดี๋ยวนี้เลย’ นี่ถ้าว่าเด็ดจริง ๆ ท่านก็เป็นอย่างนั้นนะ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น เพราะท่านทราบว่านิสัยเราเป็นอย่างนั้น เวลาเด็ดเราก็ยอมรับ เพราะเรามันจริงจังท่านจึงเอามาเอง ฉันแล้วก็ไม่หาย เราก็ไม่สนใจว่าหายหรือไม่หาย ... นี่พูดถึงพ่อแม่ – ครูอาจารย์มั่น ท่านปฏิบัติต่อเรา ท่านเอาอย่างนั้น กับองค์อื่น ๆ ก็ไม่เห็นท่านทำ...” |
ฟันหลวงปู่มั่นหลุด
วันหนึ่งท่านเนตร (พระอาจารย์เนตร กนฺตสีโล) นั่งอยู่ติดทางบันได ส่วนเราก็นั่งอยู่นี่ติดกับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น สนทนากันสักประเดี๋ยวพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพูดขึ้นว่า "โอ้! ฟันเราหลุด ฟันหลุดหายตอนอาบน้ำ” “หลุดหายที่ห้องน้ำเหรอ ?” “เออ ! ก็ที่ห้องน้ำนั่นแหละ” ท่านว่าอย่างนั้น พอว่าอย่างนั้น เราก็ลุกปุ๊บ ท่านเนตรก็ลุกปั๊บเลย ท่านอยู่ใกล้ห้องน้ำกว่าเรา ท่านจึงลงได้เร็วกว่าเรา เราอยู่ด้านข้างใน กว่าจะออกมา ท่านเนตรไปก่อนแล้ว พอไปถึงห้องน้ำ เราก็จับหลังท่านไสล้มลง ตาก็ล่อกแล่กสาดส่องมองหา แต่ท่านเนตรก็พบฟันก่อนเรานะ พอดูดี ๆ กลายเป็นฟันลอง (ปลอม) อู้ย !.. นึกว่าฟันจริง หมดท่าเลย ...(หัวเราะ)... เออ ! บาปมันสู้บุญไม่ได้นะ เรามันไม่ซื่อสัตย์สุจริตนี่ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านก็ดูอยู่ คงคิดว่า “พวกบ้าสองตัวนี้มันทำอะไรกัน ?” |
ถวายเปลือกน่อง
ในการปฏิบัติต่อที่พักหลับนอนของหลวงปู่มั่นนั้น ท่านก็ทำอย่างละเอียดลออที่สุด แม้อย่างนั้น หลวงปู่มั่นก็มีอุบายที่จะเตือนมิให้นิ่งนอนใจ ดังนี้ “... จัดที่หลับที่นอนให้เราก็พยายามเต็มที่เต็มฐาน เราจัดที่นอนให้ท่านปูเสื่อปูอะไร ที่นอนท่านบอกอย่างดีนะ บอกอย่างนี้ ๆ โอ๊ย.. จดจำเก่งยิ่งกว่าอะไรนะ เราก็พยายามทำแต่ไม่นานก็พลิกปุ๊บ แต่ก่อนได้ยินแต่เพื่อนฝูงเล่าให้ฟัง ครูบาอาจารย์ ผู้ท่านปฏิบัติมาก่อนเล่าให้ฟัง ‘เรื่องทำกับพ่อแม่ครูอาจารย์นี้มันไม่ถูกแหละ เพราะมันไม่ถูกอยู่ที่หัวใจเรา เดี๋ยวท่านก็พลิก เดี๋ยวท่านก็ดุ เราก็จำเอาไว้ก็จริง ทำเหมือนกับว่าจะเอาดินสอขีดไว้โน่นละ แม้แต่วางกาก็เหมือนกับจะเอาดินสอขีดเอาไว้ กำหนดไว้ให้ดี สุดท้ายก็เอาปั๊บอีกแหละ ทำไมทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ ๆ ซี’ ท่านก็พลิกไปนิดหน่อยเท่านั้นละ ไม่มาก ความจริงคือ จิตของเราพอเห็นว่าถูกแล้วมันนอนใจนะ ไม่ระเวียงระวัง มันนอนใจ ท่านพลิกปั๊บ ตรงนั้นไม่ให้นอนใจ ให้ได้ใช้ความคิดความหมาย เรารู้ตามหลังนั่นน่ะ ‘อ๋อ... เป็นอย่างนี้เอง’ ท่านให้ใช้ความคิด ไม่ใช่ทำแบบเซ่อ ๆ ถูกอยู่กับคำว่าถูก นอนอยู่นั้นเสีย ไม่ได้ใช้ความคิดเลยไม่เกิดปัญญา นี่.. สอนให้เกิดปัญญาจะว่าไง ท่านสอนเพื่อความฉลาดทุกระยะแล้วท่านก็พลิกเรื่อย ๆ แต่ก่อนเราก็ไม่เข้าใจอะไรนัก ทีนี้ต่อมา ๆ เข้าใจ อ๋อ.. เป็นอย่างนั้น ๆ เพราะท่านไม่ได้คุ้นกับอะไร.. จิตท่าน แล้วอุบายวิธีที่ไม่คุ้นกับอะไรนั้นน่ะ มันเป็นอุบายที่ถูกต้องสำหรับผู้มีกิเลสที่จะถอดถอนกิเลส ความนอนใจไม่ใช่เป็นสิ่งถูกต้อง นี่.. ยอมรับท่าน...” |
อีกเรื่องหนึ่งที่องค์หลวงตาว่า เป็นสิ่งที่สลักลึกอยู่ภายในใจของท่านตลอดมา คือเรื่องเปลือกน่อง เมื่อนำมาทุบตีและแผ่ออกแล้ว ใช้ทำเป็นอาสนะนั่งได้เป็นอย่างดี ดังนี้
“.. ท่านอาจารย์มั่นท่านว่า ‘แต่ก่อนเคยใช้เปลือกน่อง ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้ใช้ ไม่มีต้นน่อง” ชื่อต้นไม้ ชื่อ “น่อง” เป็นต้นไม้เปลือกหนา ๆ เวลาเราต้องการจะเอามาปูนี้ เราไปตีย่น ๆ ๆ เข้ารอบต้นทุก ๆ ด้าน แล้วแผ่ออกมา มันก็อ่อนนุ่ม ๆ อยู่ในตัวของมันเอง เอามาตากแห้งเรียบร้อย แล้วก็เอามานั่งทำเป็นอาสนะ พอท่านพูดถึงเรื่องเปลือกน่องว่า ‘แต่ก่อนใช้เปลือกน่องอยู่เป็นประจำ แถวถิ่นนี้ไม่มีเปลือกน่องเลย ไม่ได้ใช้เปลือกน่อง’ เราก็กราบเรียนท่านทันทีว่า ‘มี’ ท่านถามว่า ‘จะมีอยู่ที่ไหน ?’ ‘อยู่ทางโน้นมี กระผมไปเที่ยวถ้ำนั้น ๆ จังหวัดสกลนคร มี..มีเยอะ’ กราบเรียนท่านอย่างนั้น ‘กระผมจะไปหามาถวายให้’ ท่านนิ่ง ๆ แล้วจากนั้นมาอีก ๒ – ๓ วัน ก็กราบเรียนท่านถึงเรื่องที่จะไปเอาเปลือกน่องว่า ‘จะต้องค้างคืน จากหนองผือเดินทางไปไม่มีรถยนต์ ต้องเดินไป’ พอตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ตอนค่ำนั้นก็กราบเรียนท่านว่า ‘วันพรุ่งนี้กระผมจะได้ออกเดินทางแต่เช้า ไปฉันจังหันที่อำเภอพรรณาฯ จะไม่ได้มาเกี่ยวข้องเรื่องต่าง ๆ กับพระ กับเณร กับข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ’ ทีนี้ก่อนที่จะออกเดินทางหนูมันชุม ถ้าสิ่งของไม่เก็บให้ดี ๆ ไม่ได้ หนูมันเข้าไปกัดฉีกไปทำลายหมด บริขารเราก็ไม่มีมากนี่นะ มีเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็จัดเอาของเล็ก ๆ น้อย ๆ มาใส่ถุงย่ามเอาไว้ เสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็วางพิงหมอนไว้ที่นั่นแหละ แล้วก็สั่งกับพระเอาไว้ว่า ‘เวลาผมออกไปแล้วนั้น ให้พากันไปเอาย่ามที่ผมเอาของใส่ไว้ข้างในนั้น ให้เอาไปเก็บไว้ดี ๆ นะ ไม่งั้นหนูมันจะกัด’ เราสั่งพระไว้เรียบร้อย พระก็ทราบแล้ว ทีนี้เราก็ออกเดินทางแต่เช้า พอท่าน (หลวงปู่มั่น) ฉันจังหันเสร็จแล้ววันนั้น ท่านก็ถามพระ ‘ฮึ ! ท่านมหาไปแล้วหรือ ?’ ‘ไปแต่เช้าแล้วขอรับ’ พระตอบ นึกว่าองค์ท่านจะไม่มีอะไรนะ พอฉันเสร็จแล้วลุกจากที่นั่งไปกุฏิเรา ตรงขึ้นข้างบนเลย ขึ้นไปคว้าเอาย่ามที่เราเอาวางไว้ข้างหมอน สะพายย่ามเราลงมานะ พระก็รุมไปหาท่าน ท่านกำลังเอาย่ามเราไปกุฏิท่านนะ แปลกมากอยู่ รู้สึกท่านเมตตามาก เราพิจารณาเพราะไม่เห็นท่านทำกับองค์ใด ๆ อย่างนี้ ทีนี้พอท่านเดินลงมาจากกุฏิเรา พระก็รุมเพื่อจะไปรับย่ามกับท่าน ‘อย่ามายุ่ง’ ท่านว่าอย่างนี้นะ ท่านก็เดินเรื่อย ๆ พระก็เดินตามไป พอไปถึงกุฏิท่านแล้ว ท่านก็เอาย่ามของเราวางข้าง ๆ ท่าน แล้วพระก็รุมตามไปกราบท่าน จากนั้นก็เอาแล้วนะ ทีนี้นะ ‘นี่..ท่านมหาไปทำประโยชน์รู้กันไหมนี่ แล้วของที่ท่านวางไว้นั้น ทำไมทิ้งไว้อย่างนั้น ไม่เห็นใครไปดูแลเก็บสิ่งของ ๆ ท่าน มันยังไงกัน ?’ ท่านว่าอย่างนั้น พระก็เลยกราบเรียนท่านว่า ‘ก่อนที่ท่านจะไป ท่านได้สั่งพวกกระผมเรียบร้อยแล้ว ว่าท่านได้จัดย่ามวางไว้ข้างหมอน ให้ไปเก็บด้วย หนูมันจะกัด พวกกระผมฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยจึงจะไปเอามาเก็บ แต่พ่อแม่ครูอาจารย์ไปเอามาเสียก่อน’ ท่านก็เลยนิ่งนะ พอคุยกันพอสมควรแล้ว พระก็คลานขึ้นมาเอาย่าม ท่านก็ไม่ว่าอะไร รู้สึกว่าท่านจ้องมากนะ สำหรับเรา..เหมือนเรดาร์ จับตลอดเลยความเคลื่อนไหวของเรา ไปไหนมาไหนจับตลอด...” ================================ *เปลือกน่อง* ชื่อพื้นเมือง จ้อยนาง ยาค่าง ย่าน่อง (เชียงใหม่) ชะแวะ ยางน่องขาว (นครราชสีมา) เทียนขโมย (เพชรบูรณ์) ย่านาง (ภาคกลาง ภาคเหนือ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Antiaris toxicaria Lesch. sbsp. toxicaria ลักษณะไม้ต้น น้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวเรียบสลับ มีขนปกคลุมหนาแน่น ดอกช่อ ออกที่ง่ามใบ ผลรูปรี สีแดงเข้ม เมื่อสุกสีดำ สรรพคุณ เปลือกและใบ แก้ไข้ น้ำคั้นจากใบใช้ในปริมาณน้อย เป็นยากระตุ้นหัวใจ น้ำยาง ใช้เป็นยาพิษ ทาลูกหน้าไม้ยิงสัตว์ เมล็ด แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้บิด |
แรงกรรม.. อุจจาระราดทางหลวงปู่มั่น
มีเรื่องหนึ่งที่องค์หลวงตาเล่าไว้ แต่ไม่ได้บอกไว้ว่าเกิดขึ้นหมู่บ้านใด เรื่องเกิดขึ้นในตอนเช้า ขณะหลวงปู่มั่นเดินบิณฑบาตผ่านทุ่งนาของเขา แต่เจ้าของไม่ต้องการให้ท่านเหยียบผ่านคันนาของเขาไป ดังนี้ “... เขาว่าทำคันนาเขาเสียหาย เขาก็เอาขี้ไปราดตามคันนาไว้ ไม่ให้ท่านเดินผ่านมาบิณฑบาตที่นั่น เขาโกรธเคียดให้ท่าน สำหรับท่านเฉยอยู่ ท่านไม่สนใจล่ะ แล้วสุดท้ายในที่สุด คนพวกนี้ก็เลยกลายเป็นคนบ้ากันทั้งครอบครัว มันช่างเป็นไปต่าง ๆ นานา ไม่เป็นบ้าก็เป็นใบ้ ที่เป็นหมดทั้งครอบครัวเพราะพวกนี้ก็พลอยยินดีในเรื่องนี้ไปด้วย แต่คนที่ลงมือทำเป็นพ่อ พอพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นออกมาบิณฑบาต ท่านจึงเหยียบขี้ที่เขาเทราดไว้ เปรอะเปื้อนเท้าไปหมด เมื่อเป็นดังนั้น พวกคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันคงจะดีใจ พลอยยินดีไปด้วย คือสมรู้ร่วมคิดเป็นใจแล้วกรรมส่งผลให้เป็นบ้า ผู้เฒ่าหัวหน้าครอบครัวก็เป็นบ้า แล้วลูกเต้าเกิดมาเป็นบ้าก็มี เป็นใบ้ก็มี คนดี ๆ หาไม่ค่อยได้ในบ้านนั้น เป็นกันอยู่อย่างนั้น จนชาวบ้านเขาลือกันว่าเป็นเพราะทำกับท่าน ตั้งแต่นั้นมาไม่มีจะกิน ยากจน คนเขาชี้หน้าด่าทอกันหมดทั้งหมู่บ้าน เพราะใคร ๆ เขาก็รู้กันทั้งหมู่บ้าน ว่าทำกรรมอันน่าทุเรศกับท่านอย่างนั้น เวลากรรมบันดลบันดาลมันให้ผล มันเป็นให้โลกเขาเห็นทั้งบ้านทั้งเมืองเหมือนกัน นี่แหละที่เรียกว่า กรรมตามทัน...” |
ไม้กวาดสอนศิษย์ แม้หลวงปู่มั่นจะให้ความเมตตาเป็นพิเศษหลายอย่าง แต่ก็มีเหมือนกันที่ทำให้ท่านต้องถูกหลวงปู่มั่นดัดนิสัยเอาบ้าง ดังนี้ “... ท่านดัดนิสัยเราหนหนึ่ง เราไม่ลืมเลย เรื่อง “ไม้กวาดด้ามหนึ่ง” ที่เราคิดว่าใช้ไม่ได้แล้ว จึงทิ้งเข้าไปในป่า วันต่อมา เราไปเดินจงกรมอยู่ในป่า ถึงเวลาปัดกวาด เราออกมาแล้วเอื้อมมือไปหยิบไม้กวาดที่สอดไว้ใต้ถุนกุฏิ แล้วไปเห็นไม้กวาดด้ามที่เราทิ้งในป่ามาเหน็บอยู่ที่นั่น ‘อ้าว ! ไม้กวาดนี้มันมาได้ยังไง !’ เราจับเอาไม้กวาดออกมาดู ‘อ้อ ! ไม้กวาดนี้เป็นไม้กวาดที่เราทิ้งไปเมื่อวันก่อน ใครหนอเอามาเหน็บไว้ที่นี้ ? คงเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์นั่นแหละ ท่านสอนเรา’ เห็นดังนั้น เราก็หมอบเลย ตั้งแต่นั้นมา “ไม้กวาดด้ามนั้น” ก็เป็นอาจารย์เอกทีเดียว ถ้าพอซ่อมได้ยังไง เราจะซ่อมเต็มเหนี่ยวเลยนะ นี่แสดงว่ามันพอใช้ได้อยู่.. เอาไปทิ้งทำไม ! ท่านเทศน์สอนเรา ไม้กวาดนี้ต้องซ่อมให้เรียบร้อย จนใช้ไม่ได้แล้วถึงจะทิ้ง ถ้าทิ้งครั้งที่สองนี้ ท่านน่าจะเอามาตีหน้าผากเรา ครั้งนี้ยังไม่ตี อย่างนั้นล่ะ...ท่านสอนเรา อุบายท่าน เราก็ปฏิบัติตามนั้นเลย...” |
คุณยายกั้ง ผู้มีญาณหยั่งรู้ ในหมู่บ้านหนองผือมีบ้านอยู่ ๗๐ หลังคาเรือน มีคุณยายนุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งชื่อ “กั้ง” อายุราว ๘๐ ปี เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่ง ที่หลวงปู่มั่นเมตตาเป็นพิเศษเสมอมา คุณยายอุตส่าห์ตะเกียกตะกายไปศึกษาธรรมกับท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือเสมอ ดังนี้ “... แกใช้ไม้เท้าเป็นเครื่องพยุงออกไปหาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น กว่าจะถึงวัดต้องพักเหนื่อยระหว่างทางถึง ๓ - ๔ ครั้ง ทั้งเหนื่อยทั้งหอบ น่าสงสารมาก บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำท่าดุเอาบ้างว่า ‘โยมจะออกมาทำไม มันเหนื่อยไม่รู้หรือ แม้แต่เด็กเขายังรู้จักเหนื่อย แต่โยมแก่จนอายุ ๘๐ – ๙๐ ปีแล้ว ทำไมไม่รู้จักเหนื่อยเมื่อยล้า มาให้ลำบากทำไม ?’ แกเรียนตอบท่านอย่างอาจหาญ ตามนิสัยที่ตรงไปตรงมาของแกว่า ‘ก็มันอยากมา มันก็มาซิ’...” คุณยายแกมีหลานชายคนหนึ่ง เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น คอยส่งบาตรทุกวัน พอองค์ท่านรับบาตรเสร็จแล้ว ก็จะสะพายบาตรไปส่งที่วัดทุกวันไม่เคยขาด องค์หลวงตากล่าวถึงการภาวนาของคุณยายว่า “คุณยายแกภาวนาดี มีหลักเกณฑ์ทางจิตแล้ว แกยังมีปรจิตวิชชา คือสามารถรู้พื้นเพดีชั่วแห่งจิตคนอื่นได้ด้วย และมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลก ๆ ภายนอกด้วย เวลาแกมารับการอบรมกับท่านอาจารย์มั่น แกเล่าความรู้แปลก ๆ ถวายท่านด้วยความอาจหาญมาก ท่านทั้งขบขันทั้งหัวเราะ ทั้งเมตตาว่ายายแก่นี้อาจหาญจริง ๆ ไม่กลัวใคร” คุณยายสามารถรู้เรื่องความคิดจิตใจของใครต่อใครได้ จนบางครั้งหลวงปู่มั่นยังได้ถามคุณยายแบบขบขันว่า “รู้เรื่องนั้นไหม ?” คุณยายก็ว่า “รู้” “แล้วเรื่องนี้รู้ไหม ?” ก็ว่า “ก็รู้อีก” หลวงปู่มั่นเลยลองถามว่า “แล้วรู้ไหม ? จิตของพระในวัดหนองผือนี้” คุณยายว่า “ทำไมจะไม่รู้” แถมพูดแบบขู่เลยว่า “รู้หมดแหละ” คุณยายเคยเล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่มั่นฟังอย่างอาจหาญว่า “มองมาวัดหนองผือแห่งนี้สว่างไสวทั่วหมดเลย มีแต่พระภาวนา ดวงเล็ก ดวงใหญ่ เหมือนดาวอยู่เต็มวัด” เวลาเล่าถวายหลวงปู่มั่น คุณยายจะพูดแบบอาจหาญมากไม่กลัวใคร แม้พระเณรจำนวนร่วมครึ่งร้อยซึ่งมีท่าน (องค์หลวงตามหาบัว) รวมอยู่ด้วย จะนั่งฟังอยู่เวลานั้นด้วยก็ตาม คุณยายก็จะพูดได้อย่างสบาย ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร พวกพระทั้งหลายพากันรีบล้างบาตร แล้วค่อยมาแอบฟังคำพูดของแก อยู่ทางด้านหลังหอฉัน แกพูดอาจหาญตามหลักความจริงไม่สะทกสะท้าน ดังนี้ “...เวลาพวกทวยเทพทั้งหลายมากราบพ่อแม่ครูอาจารย์ที่หนองผือ หลั่งไหลมา เขามาทิศทางพระไม่อยู่นะ พวกทวยเทพทั้งหลาย เขาเคารพพระมาก คือเขาจะมาทางด้านไม่มีพระ ถ้าพระมากทางด้านไหน เขาจะไม่มาทางนั้น เขาไม่มาสุ่มสี่สุ่มห้านะ” พ่อแม่ครูอาจารย์บอกกับโยมยายกั้งพูดเข้ากันได้ ท่านบอกว่า ‘ทางด้านนี้พวกเทพมา ใครอย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าแถวนั้นนะ นอนก็เหมือนกัน.. หลับครอก ๆ แครก ๆ ให้พวกเทพเขามาปลงธรรมสังเวชไม่ได้นะ ให้รักษามารยาท’ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านพูดก่อนแล้ว โยมยายกั้งนี้แกมาพูดแบบเดียวกัน แกรู้จิตคนอื่น แกเห็นจริง ๆ รู้จริง ๆ ใครสะอาดผ่องใสขนาดไหนแกเห็น เวลาแกมาเล่านี้ คือแกนิสัยตรงไปตรงมา พูดไม่กลัวใครเหมือนขวานผ่าซาก รู้อย่างไร.. พูดอย่างนั้น แกเป็นคนตรงไปตรงมา พวกพระก็สนุกฟัง.. |
ยายกั้งมาเล่าถวาย ถึงการล่วงรู้จิตของท่านและพระเณรในวัด รู้สึกน่าฟังมาก พระเณรทั้งแสดงอาการหวาด ๆ บ้าง แสดงอาการอยากฟังแกเล่าบ้าง แกเล่าว่า
‘นับแต่จิตท่านอาจารย์ลงมาถึงจิตเณร ความสว่างไสวลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับลำดา เหมือนดาวใหญ่กับหมู่ดาวเล็ก ๆ ที่อยู่ด้วยกัน ฉะนั้น รู้สึกน่าดูและน่าชมเชยมาก ที่มองดูจิตพระเณรมีความสว่างไสวและสง่าผ่าเผย ไม่เป็นจิตที่อับเฉาเฝ้าทุกข์ที่กลุ้มรุมดวงใจ แม้เป็นจิตพระหนุ่มและสามเณรน้อย ๆ ก็ยังน่าปีติยินดี และน่าเคารพนับถือตามภูมิของแต่ละองค์ ที่อุตส่าห์พยายามชำระขัดเกลาได้ตามฐานะของตน’ บางครั้งแกมาเล่าถวายท่าน เรื่องแกขึ้นไปพรหมโลกว่า ‘เห็นพระจำนวนมากมายในพรหมโลก ไม่เห็นมีฆราวาสสลับสับปนกันอยู่บ้างเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?’ แกหัวเราะแล้วเรียนท่านว่า ‘ลืมเรียนถามพระท่าน เวลาลงมาแล้วจึงระลึกได้ก็มาเรียนถามท่าน ต่อไปถ้าไม่ลืม เวลาขึ้นไปอีกจึงจะเรียนถามพระท่าน’ แล้วแกจึงเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า ‘เมื่อคืนนี้ใครกัน มองตรงไหนมีแต่หน้าเต็มไปหมด ?’ ท่านตอบให้ด้วยความเมตตาว่า ‘อ๋อ ! นั่นมันท้าวมหาพรหม เขามานมัสการเรา’ ท่านอาจารย์ตอบปัญหายายกั้งมีความหมายเป็นสองนัย นัยหนึ่งตอบตามความจริง นัยสองตอบเป็นเชิงแก้ความสงสัยของยายกั้งที่ถาม ต่อมาท่านห้ามไม่ให้แกออกรู้สิ่งภายนอกมากไป เสียเวลาพิจารณาธรรมภายในซึ่งเป็นทางมรรคทางผลโดยตรง ยายกั้งก็ปฏิบัติตามท่าน..” ความรู้ที่พิเศษอีกตอนหนึ่งก็คือ ที่คุณยายทายใจหลวงปู่มั่นอย่างอาจหาญมาก และไม่กลัวว่าท่านจะดุจะว่าอะไรบ้างเลย คุณยายทายว่า “จิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว ฉันทราบจิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใครเสมอทั้งในวัดนี้หรือที่อื่น ๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐเลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไร ?” หลวงปู่มั่นจึงตอบทั้งหัวเราะ และเป็นอุบายสอนคุณยายไปพร้อมว่า “ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้นมิใช่ศิษย์ตถาคต” คุณยายเรียนท่านว่า “ถ้าไปได้ก็พอไป แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว มีแต่ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิตอยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า ฉันดูจิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด ไม่มีอะไรปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย แต่จิตฉัน มันยังไม่ประเสริฐอย่างจิตหลวงพ่อ จึงต้องออกมาเรียนถาม เพื่อหลวงพ่อได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่างหลวงพ่อด้วยนี้” ทุกครั้งที่คุณยายมา จะได้รับคำชี้แจงจากหลวงปู่มั่นทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี ขณะเดียวกัน พระเณรต่างองค์ต่างก็มาแอบอยู่แถวบริเวณข้าง ๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่คุณยายสนทนากับท่าน เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตภาวนา ซึ่งโดยมากเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพพวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายในและภายนอกเมื่อคุณยายเล่าถวายจบลง ถ้าท่านเห็นด้วย ท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วยก็อธิบายวิธีแก้ไข และสั่งสอนให้ละวิธีนั้น.. ไม่ให้ทำต่อไป หลวงปู่มั่นเคยชมเชยคุณยายท่านนี้ให้พระฟังว่า “แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรามีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนคุณยาย” |
ผีจะเอาลูกไปเป็นเมีย “ที่บ้านกุดละโฮง กุดนี้.. กุดใหญ่นี้มันแรงอยู่นะ นี่ที่ว่าโยมผู้หญิงคนนั้น แกอยู่บ้านหนองบัว บ้านนี้ละบ้านเรา ไปบิณฑบาตนี่ละ ชื่อบ้านหนองบัว เวลานี้เขาทำเขื่อนน้ำอูนท่วมหมดแล้ว ยกหนีไปหมด อันนี้ก็สำคัญมากนะ เพราะแกรู้ภายในดี แกเล่าเรื่องภาวนาให้พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นฟังที่หนองผือ ผัวของแกชื่อบุญมา แต่เมียนั้นจำชื่อไม่ได้ แต่เมียนั่นละภาวนาเก่ง ไปหาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่าน แก้ถึงเรื่องแกรู้นิมิตต่าง ๆ พวกเปรต พวกผีอะไร แกอยู่บ้านหนองบัว ลูกของแกนั่นป่วยกะออดกะแอดอยู่อย่างนั้น เอายาอะไรมากินมาใส่ก็ไม่หาย ๆ ทีนี้เวลาแกภาวนาล่ะซี แกไปเล่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นฟังเป็นตุเป็นตะจริง ๆ พูดอย่างอาจหาญด้วย พูดถึงเรื่องลูกสาวแกน่ะ.. ป่วยกะออดกะแอดอยู่อย่างนั้น ไม่มีทางหาย ทำยังไงก็ไม่หาย แกเลยนั่งภาวนากลางคืน แกว่า ‘พวกผีอยู่กุดละโฮง เขาเตรียมจะกินเลี้ยงกัน มันมีบ้านใหญ่โต.. บ้านผี เขาเตรียมจะกินเลี้ยงกัน คือจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ ผีคนนั้น.. ผีที่อยู่ในกุดละโฮงนั้น เขาจะมาเอาเด็กคนนี้ไปเป็นเมีย เขากำลังเตรียมจะแต่งงานกัน’ ทางนี้ภาวนาไปก็ไปเจอละซิ แกก็เลยไปไล่เบี้ยกันเลยกับเขา ซัดกันเสียจน โถ.. เกิดเรื่องกับผี ไม่ใช่เล่นแกว่า เขาบอกว่าจะเอาเด็กคนนี้ ‘เอาไปได้ยังไงลูกของฉัน ฉันมีสิทธิ์เต็มตัว ดีไม่ดีฉันจะมาฟาดบ้านนี่ให้แตก เอ้า.. ถ้าฝืนไปเอาลูกของฉันมาแต่งงานนี้ ฉันก็จะไปเอาพวกนี้มาแต่งงานอีกเหมือนกัน ฉันจะเอากี่คนก็ไม่ทราบแหละ’ แกว่างั้นนะ นี่หมายถึงความรู้ของแกที่ฟัดกับผี แกก็เก่งนะ โวหารของแกคือ ถ้าพวกแกเอาลูกของฉันไปแต่งงานเป็นลูกสะใภ้แล้ว ฉันจะเอาลูกหลานของแกมาให้ลูกของฉันแต่งงานบ้าง เอามันทั้งผู้หญิงผู้ชายในนี้แหละ ‘จะยอมให้ฉันไหม’ ‘ไม่ยอม’ ‘ถ้าไม่ยอม ลูกของฉันก็ต้องไม่ยอมเหมือนกันซี’ ตกลงเลยยกเลิก คือถ้าทางนี้จะเอาลูกของแกนี้ไปแต่งงาน พอแต่งก็ตายใช่ไหมล่ะ ? คนนี้ต้องตาย ทางนี้ไปถกกันกับผีกุดละโฮง ... แกก็ไปถกกับตาคนนี้ที่เขาจะแต่ง โอ๊ย.. ยกกันมาชุมนุมกันทั้งบ้านเลยแกว่าอย่างนั้นะ แกบอกว่า ‘เอ้า.. เหตุผลเป็นอย่างนี้ ถ้าเอาลูกสาวของฉันมาแต่งงานนี้ ฉันก็จะเอาลูกสาวลูกชายของผีไปแต่งงานกับลูกของฉัน หลานของฉันมีเท่าไร ฉันจะมากว้านเอาพวกนี้ไปแต่งงานให้หมด จะยอมไหม ?’ ‘โอ๊ย.. ยอมไม่ได้ คนหนึ่งเป็นผี คนหนึ่งเป็นคน’ ‘อันนี้ลูกของฉันก็เป็นคน อันนี้เป็นผีนี่ ถ้ายอมฉันก็จะให้ เสียดายฉันก็จะให้ แต่ฉันจะเอามากกว่า ทางนี้จะเอามากกว่า ดีไม่ดีบ้านผีแตก’ แกว่างั้นนะ ทางนั้นไม่ยอม ‘ถ้าไม่ยอมก็ต้องเลิกกันซี’ ตกลงเขายอมรับ.. เลิก |
พอจิตถอนออกมาแล้ว เอ้า.. ทีนี้ลูกของเรานี้ไม่ต้องไปหายามาใส่มันเลย แกยันกับผัวเลย ลูกของเราคนนี้ป่วยเพราะอะไร ! เพราะผีเขาจะเอาไปแต่งงานจนจะตายแล้วนี่ ทีนี้ได้ตัดสินกันแล้ว ฟัดกันกับทางผีเสียจนแหลกเมื่อคืนนี้ เราจะเอาลูกผีมาแต่งงาน ผีก็จะเอาลูกเราไปแต่งงาน ต่างคนต่างไม่ตกลงกันก็ต้องเลิกกัน ไม่ยุ่งกัน ที่นี้ผียอมเลิกแล้ว แล้วเด็กของเรานี้ก็ไม่ต้องหายาแล้ว มันหายเอง หายจริง ๆ นะ หายวันหายคืนไปเลย ไม่ต้องหายา เรื่องของผีก็เลิกกันไป นี่เก่งไหม.. แกภาวนา เห็นไหม
ไปเล่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟัง แต่อันนี้เราไม่เคยเล่าใช่ไหม เราไม่เคยเล่าให้ฟัง พูดอย่างเป็นตุเป็นตะ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นไม่ได้คัดค้านสักคำเดียว เห็นไหม ท่านยิ้ม ๆ เก่งไหมแก อาจหาญมากนะ อย่างนี้ละ ความรู้ถ้าเป็นในจิตแล้ว ไปพูดให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟังแบบเป็นตุเป็นตะเลยเทียว ท่านไม่ค้าน มีแต่ยิ้ม ๆ นั่นเห็นไหม ความจริงท่านรู้แล้ว.. ท่านจะไปค้านยังไง ความรู้ของผู้หญิงคนนี้ โอ๋ย.. แปลกประหลาดมากนะ พิสดารมาก เวลาแกไปเล่าให้ฟัง ให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟัง เรานั่งฟังตลอดนี่นะ เวลาเราอยู่ที่นั่น นี่ละที่เราไปอยู่ที่นั่น มันก็มีของมันเหมือนกัน เป็นยังไง ผีมีหรือไม่มี นี่ละ.. เอาตัวจริง ๆ ของนักภาวนามาพูด เขาพูดมีเหตุมีผล ฟังซิ เวลาเขาไปถกกันกับบ้านผี โถ.. ผีไม่ใช่น้อย ๆ กุดละโฮงนี้ บ้านผีทั้งนั้น เขาว่างั้นนะ อยู่นี่เต็มหมดเลย เวลาไปฟัดกับเขา เขาสู้เราไม่ได้ .. เก่งไหมล่ะ แกภาวนาฟัดกับผี แล้วไปพูดให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟังนี้ โอ๊ย.. อย่างอาจหาญเสียด้วยนะ นี่ละความรู้ในจิตจริง ๆ มันไม่ได้สะทกสะท้านนะ ผึง ๆ เลย มันแน่นในหัวใจนี่ ภาวนาดี ท่านก็บอกให้ตีตะล่อมจิตเข้าไปสู่ภายใน แล้วให้พิจารณาร่างกายส่วนต่าง ๆ นี่เป็นทางแก้กิเลสตัณหา สิ่งเหล่านั้นเป็นตามอุปนิสัยไปธรรมดา เป็นสิ่งที่รู้ที่เห็น เหมือนเราเดินไปไหน ไปเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นเปรตเห็นผี เห็นเทวบุตรเทวดา ก็เหมือนเราเห็นผู้เห็นคน เห็นสัตว์ต่าง ๆ ในสองฟากทางไปนั่นแหละ ไม่ใช่เรื่องแก้กิเลส แน่ะ..ท่านสอน เรื่องแก้กิเลสต้องหมุนสติปัญญาเข้ามาสู่ภายใน กิเลสอยู่ภายใน พิจารณาร่างกายท่านก็สอน สิ่งเหล่านั้นมันก็มีอย่างนั้นแหละ มีตาเราก็เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีตาใจเราก็เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ซึ่งเป็นอุปนิสัยของกันและกัน ท่านก็บอกแต่ไม่ใช่เรื่องแก้กิเลส ถ้าหลงตามมันแล้วผิดแน่ ท่านสอนเข้ามาภายใน เราฟังละเอียดลออ... |
ตายแล้วจะเกิดในท้องหลาน “...คุณยายกั้งคนนี้แหละ แกจะไปเกิดในท้องหลานสาว พอพิจารณาลงไป จิตละเอียดแน่วลงไปแล้ว กำหนดดูแล้วเป็นสายเหมือนใยบัวนี่ เป็นสายยาวเหยียด ตามสายไป.. ตามไป ๆ เข้าท้องหลาน จากนั้นก็ปุ๊บปั๊บขึ้นมา โอ๋.. กระวนกระวาย ทีนี้พอออกจากนั้นแล้ว ก็วิ่งมาหาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรานี่ มาเล่านี่ ใครก็ฟังกันทั้งวัด.. ปฏิเสธได้เหรอ ‘โห.. หลวงพ่อ ทำไมเป็นอย่างนั้น’ โยมภาวนาเมื่อคืนนี้เป็นอย่างนั้น ๆ นะ ก็เลยเล่าให้ฟัง พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแทนที่จะปฏิเสธว่าไม่จริง ไม่นะ พอทางนั้นเล่าให้ฟังท่านนั่งนิ่งสักนาทีกว่า ๆ ท่านไม่พูดอะไรละ ทางโน้นเล่าพอจบลงแล้วทางนั้นก็นิ่งทางนี้ก็นิ่ง สักเดี๋ยวแพล็บออกมาเลย ‘ให้กำหนดตัดนะ เวลานี้ยังไม่ได้ไปถือกรรมสิทธิ์... ให้กำหนดตัด เพียงไปจับจองไว้เท่านั้นแหละ นั่นละโยม นี่ตายแล้วจะไปเกิดท้องหลานรู้ไหมล่ะ เวลานี้กำลังไปจับจอง แต่เจ้าตัวยังไม่ไป ให้รีบกำหนดตัดนะ ให้ตัดสายใยนั้นนะ’ โอย.. ใครก็ฟัง ตานี้ไม่หลับแหละ จนตาแห้ง ลืมตาจ้อง ปากก็อ้าด้วย ปากหลวงตาบัวก็อ้าด้วย มันอ้าด้วยกันหมด ก็พบสิ่งไม่เคยได้ยินใช่ไหมล่ะ ? ท่านบอกกำหนดให้ตัดนะ ไม่ได้นะ โยมนี้ตายพอออกจากนี่ปั๊บ ตายแล้วจะไปอยู่ท้องหลานคนนี้นะ เวลานี้กำลังไปจับจองที่ไว้อยู่แล้ว แต่เจ้าตัวยังไม่ไป นั่นฟังสิ ให้กำหนดตัดคือตัดทางโน้น มันก็ขาดจากกรรมสิทธิ์ที่จับจองนั้นก็แล้วไป นี่ละ.. ที่ว่าสภาหนูขึ้น พวกหนึ่งไปจับจองว่าจะเกิดแล้ว ทำไมจึงต้องไปตัดอย่างนั้น มันไม่เป็นการฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์เหรอ..ว่างั้น ถึงได้แก้กันว่าไม่ได้เป็นการฆ่า เพราะอันนี้เป็นเพียงไปจับจองเฉย ๆ ยังไม่ได้โยกย้ายตัวไป เพียงไปจับจองที่นี้เท่านั้น เหมือนเราไปจับจองบ้านใหม่ ไปจองไว้แล้วก็กลับมาอยู่บ้านเก่า ออกจากนี้เราก็ไปอยู่บ้านใหม่ ยังไม่ได้ไป..ถูกทำลายเสียก่อน นั่นละ..เรื่องราวมันเป็นอย่างนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของพิสดารมากจริง ๆ สำคัญก็คือปรับใจเจ้าของ.. ให้ภาวนาให้จิตสงบเย็น แล้วจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยรู้เคยเห็น จะเห็นที่ในใจ ๆ แปลกประหลาดอัศจรรย์มีอยู่ในนี้หมดเลย อยู่ในใจที่เป็นเวทีของธรรมนี่ ธรรมเข้าในเวที ธรรมอยู่ในภาชนะนี้ แล้วจะแสดงลวดลายออกทุกแง่ทุกมุมเลย แต่ก่อนธรรมไม่มีที่สถิต แล้วก็เหมือนไม่มีธรรมอยู่อย่างนั้นนะ พอมีที่สถิต มีที่ยับยั้ง มีที่อยู่อาศัยแล้ว ทีนี้ก็แสดงลวดลาย แสดงได้หมด ..’ ‘นี่ได้ทราบว่า อัฐิของแกเป็นพระธาตุ เราเชื่อว่าอย่างนั้นเลย ยายกั้งนี้เราเชื่อแล้วแหละ เพราะตอนนั้นแกเดินจงกรมนี้ เอาไม้เท้าเดินอยู่บนกุฏิ หมายถึงความเพียรหมุนอยู่ภายใน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ให้แกนั่งอยู่นานไม่ไหว ต้องเดิน เพราะอันนี้หมุนอยู่ตลอด เราไม่ลืม |
พระนางพิมพา คุณยายกั้งเป็นตัวอย่างสตรีผู้หนึ่งที่บรรลุธรรมในสมัยหลวงปู่มั่น ซึ่งในสมัยพุทธกาลมีสตรีที่บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก ขอยกตัวอย่างพระธรรมเทศนาขององค์หลวงตาเกี่ยวกับพระนางพิมพา ซึ่งเป็นสตรีผู้รู้ธรรมเห็นธรรมผู้หนึ่งในสมัยพุทธกาล ดังนี้ “...พระพุทธเจ้ากับพระนางพิมพาที่สร้างบารมีด้วยกัน นั่นละ...เป็นอันเดียวกันมาตลอด ตั้งแต่สร้างพระบารมีเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ไปเกิดในภพใดชาติใด ก็ต้องไปเกิดพบกัน ๆ เป็นคู่บารมีกันมาจนได้ตลอดเลย นี่ละ..ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน เวลาพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาแล้ว พระนางพิมพาก็ตามเสด็จ เห็นไหม .. เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวชนั้น ก็ทรงเล็งเห็นถึงเรื่องโลกมีคุณค่าขนาดไหน พระชายามีคุณค่าขนาดไหนก็คิด เมื่อเทียบกับประโยชน์ของโลกแล้ว พระชายานี้ก็เท่ากับเม็ดหินเม็ดทราย ฟังซิ...กว้างขวางขนาดไหน.. ประโยชน์ของโลก โลกสามแดนโลกธาตุ เทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม เปรต ผี ประเภทต่าง ๆ ทั่วแดนโลกธาตุ.. จึงต้องยอมเสียสละ จะลาพระชายาก็ไม่ลา ลูกก็ติดอยู่กับอกแม่ ถ้าไปชมลูก แม่มันตื่นขึ้นมากอดคอก็เสร็จเลย จะไปไหน..สิทธัตถะ ? มัดคอเข้าเรื่อย พูดคำไหนมัดเข้าเรื่อย ๆ ... จึงต้องเสียสละออกไป ไปบำเพ็ญอยู่ ๖ ปีนั้น .. พระราชบิดาทรงทูลอาราธนาไปเสวยพระกระยาหารที่พระตำหนัก ดูว่าพระติดตามไปตั้ง ๒ หมื่นนะ ฟังซิ...พอฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็รับสั่ง พระสงฆ์ ๒ หมื่นนั่นก็กลับกันไปหมดแล้ว ส่วนพระองค์กับพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร ยังอยู่ ๓ พระองค์จะไปเยี่ยมพิมพา แล้วพอดีก็ได้รับคำเผดียงจากพระราชบิดาอีก ‘โอ๊ย.. พระนางพิมพาเป็นคนที่ดีมาก หาไม่ได้แล้ว’ นี่ปู่ชมลูกสะใภ้เข้าใจไหม ‘พระนางพิมพานี้หายากแล้ว ไม่มีใครเหมือน นี่มาถึงระยะนี้แล้วจะไม่ไปโปรดไปเยี่ยมพิมพาบ้างเหรอ ? ถึงขนาดที่มาฉันนี่แล้ว พระตำหนักพระนางพิมพาก็อยู่ข้าง ๆ นั่น’ ทางนั้นไม่กล้าออกมา พระนางพิมพานะ คนจะมากขนาดไหนไม่กล้าออกมา พอทูลเผดียงอย่างนั้น พระองค์ก็รับสั่งกับพระว่า ‘สารีบุตรกับโมคคัลลาน์ไปด้วย เราจะไปเยี่ยมพิมพา’ ครั้นเข้าไปแล้วกำชับ เพราะสายเกี่ยวโยงกันมีความแน่นหนามั่นคงมามากน้อยเพียงไร นานแสนนานขนาดไหน... ‘หากว่าพิมพาจะมาทำอะไรกับเราก็ตาม สารีบุตร โมคคัลลาน์นี้ ให้เฉยเป็นแบบหูหนวกตาบอดไปเลย นางพิมพาจะมาทำอะไร ๆ ก็ตาม ไม่ให้สนใจ ให้ทำตามพระอัธยาศัยของพิมพา ซึ่งมีความสนิทสนม ความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวมาตั้งแต่กัปตั้งกัลป์แล้ว วาระนี้เป็นวาระที่จะแสดงทุกสิ่งทุกอย่างให้เห็นชัดเจน ความหมายว่าอย่างนั้น แล้วเธอจะทำอะไรก็ช่าง อย่าไปสนใจ’ พอพระองค์เสด็จเข้าไปที่รับแขก ทางนี้ก็ไปทูลพระนางพิมพาว่า พระลูกเจ้าเสด็จมาถึงแล้ว เวลานี้ประทับอยู่ที่นั้น พอเสด็จออกมาปรี่เข้าเลย...เห็นไหมล่ะ ? กอดพันเลยทีเดียว เห็นไหมล่ะ ? รู้เรื่องอะไรไหม ? สนใจอะไรไหม ? อำนาจแห่งบุพเพนิวาสชาติปางก่อน เคยเกี่ยวโยงกันมาแน่นหนาขนาดไหน เกินกว่าที่จะมาอ้ำมาอาย มาอะไรกับกิริยาท่าทางของโลกสมมุตินี้เพียงเท่านั้น สิ่งที่หนักหน่วงถ่วงจิตใจมากี่กัปกี่กัลป์ คราวนี้เข้าด้ายเข้าเข็มแล้วก็ประจักษ์อยู่ในหัวใจ พอมาก็เข้าสวมกอดเลย พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ พระองค์ก็เฉยไม่ได้สนใจ มากอดทางนี้เฉย ก็พระจิตของพระพุทธเจ้าเล็งญาณดูตลอดเวลา ถึงวาระไหนควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรบ้าง พระพุทธเจ้าทรงทราบตลอดเวลา แล้วปล่อยให้นางพิมพาทำให้สมใจที่รัก พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น แล้วก็ทรงแสดงย่อ ๆ ว่า ‘นี่เป็นวาระของเราที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ไปด้วยกันแล้ว ก็แสดงย่อ ๆ ออกมา เราอุตส่าห์พยายามตะเกียกตะกายออกบวชมาแล้ว ก็ได้สำเร็จมรรคผลขึ้นมาเต็มกำลัง’ ทีนี้ก็จะมาถึงนางละนะ คือความหมายว่านางนั้นคืออะไรของเรา ความหมายก็พูดย่อ ๆ แสดง ทีนี้จะเอากันไปให้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง.. ก็สอนทางนั้นก็ค่อยได้สติ ที่กอดรัดอยู่นั้นเป็นไปเองนะ ค่อยถอยตัวออกเอง นั่นละ...ธรรมเข้า ค่อยถอยตัวออกเอง จนกลายเป็นประทับนั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามมาก ทางนี้ก็แสดงธรรมให้ฟัง เกิดความเชื่อความเลื่อมใสถึงใจเลย นั่นเป็นปฐมฤกษ์ จากนั้นก็สำเร็จโสดาฯ สกิทาฯ เรื่อยไป เราไม่พูดไปมากละ นี่คือความผูกพันเป็นอย่างนั้นแหละ เป็นมาตั้งแต่ก่อน พระองค์ทรงทราบหมด พวกเราไม่ทราบจะว่ายังไง ความเป็นคนดี ความเป็นผู้ที่จะทำประโยชน์ให้โลกมากมาย จึงต้องชั่งต้องตวง ประโยชน์กับพระนางพิมพาไม่มากเท่ากับประโยชน์แก่สัตว์โลกทั่ว ๆ ไป จึงต้องสละพระนางพิมพา แต่สละออกไปเพื่อจะเอา ไม่ได้สละเพื่อจะปัดทิ้ง สละไปเสียก่อน ได้แล้วก็มาเอากันไป...เห็นไหมล่ะ ? ก็อย่างนี้ละ..นี่..ความดี..พี่น้องทั้งหลาย เมื่อเคยสืบต่อเกี่ยวเนื่องกันด้วยคุณงามความดี เป็นอวัยวะเดียวกัน เป็นจิตใจดวงเดียวกันแล้ว เกิดในภพใดชาติใดไม่ต้องบอก ปุพเพ สันนิวาเสนะ ปัจจุปันนะ หิเตนะ วา เอวันตัง ชายะเต เปมัง อุปะลังวะ ยะโถทะเก บุพเพนิวาสชาติปางก่อน เป็นสิ่งที่สนิทสนมกลมกลืนกันมา ไม่มีใครแยกได้เลย พอพบกันปั๊บมันเป็นของมันเอง นี่คือความเคยชิน เป็นมาอย่างนี้ จากนั้นมาอยู่ด้วยกันก็บำรุงกันในปัจจุบัน ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ยิ่งมีความแน่นหนามีความอบอุ่นมากขึ้น ๆ ท่านจึงเทียบเหมือนกับว่าดอกบัว กอบัวที่ได้รับเปือกตมเปือกโคลนที่หล่อเลี้ยงแล้ว มันก็มีความชื่นบานขึ้นไปโดยลำดับ อันนี้การมาอยู่ด้วยกัน ได้รับความซื่อสัตย์สุจริต ความฝากเป็นฝากตายต่อกัน ก็ต่างฝ่ายต่างเป็นเครื่องบำรุงน้ำใจซึ่งกันและกัน สนิทสนมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไป แปลในธรรม นี่ละ...ที่ว่าดอกบัวที่เกิดในโคลนตม โคลนตมแลหล่อเลี้ยงดอกบัวให้ชุ่มเย็น ใครที่มาเกิดด้วยกันในวงวัฏวนนี้ ก็เหมือนเกิดในเปือกตมแล้วต่างคนต่างทำความดี ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน แล้วก็เป็นอันเดียวกันไปเลย สุดท้ายก็ยกกันขึ้น อย่างพระนางพิมพากับพระพุทธเจ้า..เห็นไหมล่ะ..?” |
หลวงปู่มั่นอาพาธ ไปพักวัดร้างบ้านนาใน เหตุการณ์ในคราวหนึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ หลวงปู่มั่นนึกอยากไปพักที่วัดร้างบ้านนาในสักระยะหนึ่ง หลวงปู่หล้าได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ ดังนี้ “...หันมาปรารภ ปี ๒๔๙๑ ในฤดูแล้ง หลวงปู่มั่นก็เริ่มป่วย มีไข้สลับมีไอด้วย องค์ท่านป่วยแต่ยังไปบิณฑบาตได้อยู่ อีกประมาณ ๖ – ๗ วัน องค์ท่านนึกอยากจะไปพักบ้านนาในสักวาระ องค์ท่านก็สั่งเสียหลวงตาทองอยู่ว่า ‘อยู่เอ๋ย จะไปพักวัดร้างบ้านนาในสักวาระก่อน เพราะไกลกันจากวัดป่าบ้านหนองผือประมาณหนึ่งกิโล’ แล้วก็บอกหลวงปู่มหาให้ดูแลหมู่ องค์ท่านจะไปกับองค์นั้นองค์นี้ ก็ไม่ลั่นวาจาออกชื่อ ... แล้วพระอาจารย์มหาพิจารณาว่าควรให้องค์หนึ่งไปกับองค์ท่าน แล้วตกลงลับหลังหลวงปู่ว่าควรให้ท่านทองคำไปด้วย แล้วก็จัดแจงบริขารรวดเร็วพลันทันกาลแล้ว องค์ท่านไปพักได้สองคืน พระเณรยังไม่กล้าเข้าไปเยี่ยม เพราะเกรงองค์ท่านดุ ว่าเรามาวิเวก พากันมายุ่งทำไม ? พระเณรผู้อยู่ข้างหลังเงียบเหงาไปทั้งวัด ว้าเหว่มาก ปรากฏแก่ตาแก่ใจว่า ต้นไม้ต่าง ๆ ในวัดและบรรยากาศเงียบเหงา ลมก็ไม่พัดมา คล้ายกับว่าว้าเหว่ไปตามกันหมด... |
พอตกพลบค่ำ ๕ โมงเย็น ก็ไปกราบพระอาจารย์มหาแล้วปรารภว่า
‘กระผมอยู่ไม่เป็นสุข อยากจะไปเยือนหลวงปู่ที่อยู่กับครูบาทองคำ ๒ องค์ ทั้งกลัวองค์ท่านจะดุ จิตใจกระผมว้าเหว่มากขอรับ กระผมนึกว่าจะไปองค์เดียว แม้จะกลับตอนกลางคืนองค์เดียว จะเป็นประการใดหนอ ?’ องค์พระอาจารย์มหาตอบว่า ‘เออ..ผมก็ว้าเหว่เหมือนกัน ท่านลองไปดูซิ ผมไม่ว่าดอก’ กราบลาองค์ท่านแล้วก็รีบไป พอไปถึงก็ค่ำมืดพอดี ขณะนั้นองค์หลวงปู่และครูบาทองคำนั่งอยู่พื้นดิน พอเรายังไม่ทันนั่งลงกราบ องค์หลวงปู่พูดขึ้นเย็น ๆ ว่า ‘เออ..คุณหล้ามา ไปเอาฟืนนั้นมาใส่ไฟให้กัน ดุ้นไหนไม่เรียบร้อยก็เก็บเสียเน้อ’ การจับไข้ขององค์หลวงปู่ก็เบาลงแล้ว ชะรอยจะเป็นด้วยอากาศโปร่งกว่ากันบ้างหรือยังไงไม่ทราบได้ ครั้นตอนดึกประมาณ ๔ ทุ่มเศษก็กราบลากลับวัด แล้วพระอาจารย์มหายังมิทันได้หลับ ขึ้นจากทางจงกรมใหม่ ๆ ไฟตะเกียงจุดริบหรี่อยู่ ขึ้นไปกราบองค์ท่าน (พระอาจารย์มหาฯ) เล่าถวายทุกประการ องค์ท่านคำนึงพิจารณาแบบบรรจง องค์ท่านกล่าวว่า ‘เออ.. พรุ่งนี้ฉันเช้าเสร็จผมจะพาหมู่เราทั้งหมด และชาวบ้านหนองผือทั้งหมดไปอาราธนากราบเท้า นิมนต์วิงวอนให้องค์หลวงปู่คืนมาวัดเราตามเดิม เพราะชาววัดชาวบ้านก็ว้าเหว่เงียบเหงา กินมิได้นอนไม่หลับ แม้ตัวของผมก็สลดใจและว้าเหว่มาก คราวนี้องค์ท่านจะไปวิเวกจริงหรืออะไร ๆ ผมก็พิจารณายากอยู่สักหน่อย ไม่ว่าแต่สักหน่อยละ.. พิจารณายากกันดี ๆ นี้เอง หล้าเอ๋ยหล้า’ |
ครั้นตื่นเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จ โยมก็หลั่งไหลเข้ามารวมกันที่วัดป่า องค์พระอาจารย์มหาฯ ก็ประกาศ พระในวัดเตรียมตัวห่มผ้าจีวร และโยมก็เอาแคร่สำหรับจะหามองค์หลวงปู่ไปพร้อมด้วย ทั้งชาวบ้านชาววัดประมาณร้อยคน พอไปถึงก็เงียบสงัด ไม่มีใครกรอบแกรบและไอจาม กราบพร้อมกันหมดแล้ว โยมผู้ฉลาดขอโอกาสกราบเรียนว่า
‘เวลาที่องค์หลวงปู่มาพักวิเวก เพียงสองสามวันนี้เท่ากับว่านานถึงร้อยพันปี ทั้งชาวบ้านและชาววัดไม่เป็นอันกินอันนอน ว้าเหว่มาก ขอกราบเท้าเรียนถวายองค์หลวงปู่ ได้โปรดกรุณากลับตามเคยเทอญ โทษของเกล้าอันใดมี ขอได้โปรดประทานอภัยให้เกล้าและทุกถ้วนหน้าเทอญ การปฏิบัติทุก ๆ ประการ หลวงปู่เห็นสมควรประการใด ทั้งชาวบ้านและชาววัดจะยอมทำตาม ไม่มีขัดหฤทัยของธรรมแห่งองค์หลวงปู่ตามสติกำลังอยู่ทุกเมื่อเทอญ' ครั้นแล้วก็ค่อยจัดแจงแต่งบริขารขององค์หลวงปู่ นิมนต์หลวงปู่ขึ้นบนแคร่หามเดินช้า ๆ เงียบ ๆ โยมหามออกก่อน พระตามหลัง ที่นั่งขององค์ท่านปูอาสนะด้วยเบาะยัดใบกล้าแห้ง องค์ท่านนั่งขัดสมาธิไม่ขึงขังและไม่อ่อนแอ แลดูถึงใจไม่มีจะเทียบได้ .. จนถึงวัด ครั้นองค์หลวงปู่ขึ้นถึงกุฏิเรียบร้อยแล้ว บรรดาลูกศิษย์ที่ถือนิสัยก็มีรีบห่มผ้าเฉวียงบ่า มาขอโอกาสต่อนิสัยตามเคย ต่อแต่นั้น ข้อวัตรในระหว่างลูกศิษย์กับหลวงปู่ก็ของใครของมันตามเคยที่ทำมา ขอให้เข้าใจว่า มีพระอาจารย์มหาและหลวงตาทองอยู่เท่านั้นที่ไม่ได้ขอนิสัย เพราะองค์ท่านทั้งสองนี้มีพรรษาสูงพอควรแล้ว แต่พระอาจารย์มหานั้นขอหรือไม่ขอ ก็มีข้อวัตรประจำหลวงปู่แบบลึกซึ้งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะสงสัยจะเอามากล่าววิจัยเลย เพราะองค์ท่านเป็นมือขวาช่วยหลวงปู่รองรับอยู่...” |
หลวงปู่ฝั้น.. กราบเยี่ยมหลวงปู่มั่น องค์หลวงตากล่าวถึงเหตุการณ์อัศจรรย์ในวันหนึ่ง ที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ลูกศิษย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของหลวงปู่มั่น ได้เข้ามากราบเยี่ยมหลวงปู่มั่น ดังนี้ “... ตามธรรมดาครูบาอาจารย์องค์ไหนก็ตาม ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านมากราบเยี่ยม เราจะไม่ละสายตาว่าท่านปฏิสันถารต้อนรับทั้งภายนอกภายในกันอย่างไรบ้าง เราจะจับให้ได้ทุกองค์ทีเดียว เพราะลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านมีเยอะ อย่างท่านอาจารย์ฝั้นลงมาเป็นลำดับลำดา ท่านอาจารย์อ่อน ใครต่อใครที่มา ท่านอาจารย์ฝั้น ท่านมีความรู้แปลก ๆ ต่าง ๆ พอท่านขึ้นไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านทั้งพูดทั้งยิ้ม พอกราบลงท่านก็กล่าวว่า ‘เออ! หอมอะไรแปลก ๆ แต่ไม่ใช่ธูป’ ท่านพูดแล้วก็อมยิ้ม ‘เออ! ใช่แล้ว’ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านตอบสั้น ๆ เท่านั้น เราก็จับเอาคำพูดนั้นไว้ ‘ที่ว่าใช่แล้ว มันใช่อะไรหนอ ?’ เราก็สงสัยอยู่นานวัน วันหลังพอได้โอกาสดี ๆ เราจึงไปกราบเรียนถามท่านว่า ‘ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพูดกับท่านอาจารย์ฝั้น ตอนที่ท่านอาจารย์ฝั้นขึ้นมากราบแล้วยิ้ม ๆ แล้วบอกว่ามันหอมอะไรน้า แปลก ๆ แต่ไม่ใช่ธูป แล้วพ่อแม่ครูอาจารย์ตอบว่า เออ!.. ใช่แล้ว นั่นมันหมายความว่าอย่างไร ?’ ‘โห.. พวกรุกขเทพมาฟังเทศน์เต็มหมดเลย คำที่ว่าหอมอะไรที่ไม่ใช่ธูปนั้น ท่านฝั้นท่านพูดถึงรุกขเทพต่างหาก’ ความหมายของท่านก็คือว่า ท่านอาจารย์ฝั้นมาที่นี่ พวกรุกขเทพทั้งหลายมารอเป็นทิวแถวเต็มไปหมด เวลาท่านทั้งสองสนทนาธรรมกัน พวกรุกขเทพทั้งหลายก็ได้โอกาสฟังธรรมไปพร้อมด้วย...” |
ดูแลพระเณรทำข้อวัตรหลวงปู่มั่น โดยปกติองค์หลวงตาจะเป็นผู้ดูแลให้คำแนะนำเรื่องต่าง ๆ ว่าอันใดต้องทำ อันใดควรทำ อันใดต้องเว้นหรืออันใดควรเว้น เพื่อไม่ให้เป็นที่ขวางหูขวางตา ขวางอรรถขวางธรรมของหลวงปู่มั่น ท่านจะวางระเบียบหน้าที่การงานตามธรรมให้เหมาะสมและเข้าอกเข้าใจกัน ให้ความเคารพตามอายุพรรษา ผู้ใดเคยดูแลบริขารชิ้นใดของหลวงปู่มั่นก็ให้เอามาตามนั้น ไม่มีการก้าวก่ายกัน ท่านกล่าวถึงการดูแลอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นในช่วงอยู่วัดป่าบ้านหนองผือในระยะท้าย ๆ ไว้ ดังนี้ “... ตอนเช้าพอออกมาจากห้อง แต่ก่อนเรานั่นแหละจะเข้าถึงท่านก่อนเพื่อน เข้าไปในห้องท่าน พอท่านเปิดประตู บริขารอะไร ๆ เรานั่นแหละจะเป็นผู้ขนออกมาให้พระให้เณร ครั้นพอนาน ๆ มาท่านก็ปรารภว่า ‘เออ ! พระที่มีอายุพรรษามาแล้ว ไม่ควรที่จะมาเกี่ยวข้องกับข้อวัตรปฏิบัติสำหรับเรามากนัก เพียงมาอยู่ห่าง ๆ ปล่อยให้พระเณรเหล่านี้มาทำข้อวัตรปฏิบัติต่อไป จะไม่มีนิสัยติดตัวมันล่ะ ถ้าไม่ให้มันทำบ้าง’ เมื่อปรารภเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมาเราก็อยู่ห่าง ๆ เป็นแต่เพียงบอกกับพระว่า องค์ไหนเอาบริขารชิ้นใด ๆ ของท่านลงมา ไม่ให้ก้าวก่ายกัน เราเป็นเพียงอยู่ห่าง ๆ บางทีก็นั่งอยู่ข้างนอกห้องในกุฏิ คอยดูแลพระเณรเอาบริขารท่านลงไป บางทีก็ไม่ขึ้น แต่จะมายืนอยู่ใต้ถุนกุฏิคอยดูพระเณรเอาของลงมา...” เมื่อหลวงปู่มั่นไม่เห็นท่านสักสองวันสามวันผ่านไป หลวงปู่มั่นก็มักจะถามกับพระว่า “นี่ ! ท่านมหามามั้ย ? ตอนเช้าท่านมหามามั้ย ?” พระเณรก็ตอบว่า “มาครับ ท่านอยู่ข้างล่าง” หลวงปู่มั่นก็นิ่งไปเสีย ท่านว่าเหมือนกับเรดาร์จับอยู่ตลอด พอเว้นห่างสองสามวันผ่านไปไม่เห็นอีก ท่านก็ถามขึ้นมาลักษณะเดิมอีก พระเณรก็ตอบแบบเดิม ท่านก็นิ่งอีก แม้ในช่วงที่หลวงปู่มั่นเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็ถามกับพระเณรว่า “ท่านมหาพิจารณายังไงละ ? เราเจ็บไข้ได้ป่วยเอามากแล้วนะ ท่านมหาได้พิจารณาอย่างไร ?” พระเณรก็ตอบว่า “ท่านจัดเวรดูแลเรียบร้อยแล้ว” คือให้มีพระอยู่ข้างบนสององค์ นั่งภาวนาเงียบ ๆ อยู่ข้างล่างสององค์เดินจงกรมเงียบ ๆ สำหรับท่านเป็นผู้คอยควบคุมเวรอีกต่อหนึ่ง |
ท่านพ่อลีมากราบหลวงปู่มั่น ในระหว่างที่หลวงปู่มั่นพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ มีลูกศิษย์รุ่นเก่า ๆ มาคารวะท่านเสมอ ท่านพ่อลีก็เป็นลูกศิษย์รุ่นใหญ่ ๆ ผู้หนึ่งมาตั้งแต่เริ่มแรก และได้เข้ามากราบท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือเช่นกัน ดังนี้ “... ทั้งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นและท่านพ่อลีเองก็เคยไปมาหาสู่กันอยู่เสมอเท่าที่ได้สังเกต ในเวลาท่านไปกราบนมัสการพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นที่วัดป่าหนองผือนั้น รู้สึกว่าพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านแสดงอากัปกิริยาเต็มไปด้วยความเมตตาอย่างมากมายเห็นได้อย่างเด่นชัด คราวที่ท่านพ่อลีมากราบเยี่ยมท่าน ท่านเป็นผู้สั่งสอนเราเองว่า ‘ให้ไปจัดที่พักในป่าลึก ๆ นอกบริเวณรั้ววัด ให้ท่านได้พักสบาย ๆ เพราะสงัดดีกว่าที่อื่น ๆ’ หลังจากนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นยังตามไปดูสถานที่พักนั้นอีกด้วย นี่ก็เป็นเหตุให้ประทับใจไม่ลืม และการให้โอวาทสั่งสอนใน ๒ – ๓ คืนที่ท่านพ่อลีพักอยู่นั้น รู้สึกว่าประทับใจอย่างมากมายทีเดียว เพราะท่านพ่อลีเป็นศิษย์ที่ท่านเมตตาไว้วางใจ นาน ๆ จะได้มากราบนมัสการท่านครั้งหนึ่งและได้สนทนาธรรมกัน ท่านจึงได้สนทนาธรรมกันอย่าเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มอรรถ เต็มธรรมทุกขั้นตอน ซึ่งยากที่จะหาฟังได้ในเวลาอื่น ‘เราได้พบท่านพ่อลีครั้งแรกมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ท่านมีนิสัยเด็ดเดี่ยว อาจหาญชาญชัยมากในการประพฤติปฏิบัติ’…” |
พลาด... เทศน์ครั้งสุดท้าย หลวงปู่มั่นพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ ๕ พรรษา เฉพาะองค์ท่านเองพักอยู่กับที่ ไม่ค่อยได้ไปเที่ยววิเวกทางไหนเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากตอนมาอยู่ทีแรกอายุท่านราว ๗๕ ปีเข้าไปแล้ว สุขภาพก็นับวันทรุดลง เพียงพักอยู่เป็นร่มเงาของบรรดาศิษย์ที่กำลังแสวงหาธรรม ได้อาศัยความร่มเย็นก็เป็นที่ภาคภูมิใจแล้ว และเนื่องจากวัดป่าบ้านหนองผือเป็นศูนย์กลางของคณะปฏิบัติทั้งหลาย ทั้งที่เที่ยวอยู่ในที่ต่าง ๆ แถบนั้น ทั้งที่พักอยู่ตามสำนักต่าง ๆ ที่ไปมาหาสู่หลวงปู่มั่นได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งทำเลบำเพ็ญสมณธรรมมีมาก หาเลือกได้ตามชอบใจ มีทั้งป่าธรรมดา มีทั้งภูเขา มีทั้งถ้ำ ซึ่งเหมาะแก่ผู้แสวงหาที่บำเพ็ญ ท่านว่าคงเป็นด้วยเหตุผลเหล่านี้ ที่ทำให้หลวงปู่มั่นพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนานกว่าที่อื่น ๆ นับว่าท่านทำประโยชน์แก่พระเณรและประชาชนได้มากกว่าที่อื่น ๆ ในเขตจังหวัดสกลนคร ส่วนประโยชน์กับภูตผีเทวดาไม่ค่อยมีมาก มาหาท่านเป็นบางสมัย ไม่บ่อยเหมือนเมื่ออยู่เชียงใหม่ ท่านกล่าวว่าเมื่อครั้งหลวงปู่มั่นเทศน์แบบฟ้าดินถล่ม คือเอาอย่างเต็มเหนี่ยวถึง ๓ ชั่วโมงที่วัดเจดีย์หลวงนั้น เป็นครั้งสุดท้ายที่เชียงใหม่ซึ่งท่านมีโอกาสได้ร่วมฟังด้วย แต่ในคราวที่บ้านหนองผือนี้ ท่านกลับพลาดโอกาสฟังเทศน์ของหลวงปู่มั่น เทศน์ครั้งนี้เป็นประเภทฟ้าดินถล่มเช่นกัน นานถึง ๔ ชั่วโมงเต็ม ที่สำคัญก็คือเป็นเทศน์ครั้งสุดท้าย ดังนี้ “...พูดง่าย ๆ ว่าเป็นครั้งสุดท้าย เทศน์ที่หนองผือเหมือนกัน เราก็พูดกับท่านอย่างชัดเจนก่อนที่จะลาท่านไปเที่ยว มาทางวาริชภูมิ (อ. วาริชภูมิ จ. สกลนคร) ... จากอำเภอวาริชภูมิไปหาหนองผือทางตั้งพันกว่าเส้น… ที่นี้เวลาเราจะกราบลาท่านไปที่ไหน รู้สึกว่าท่านจะไม่อยากให้ไป แต่ท่านก็เห็นใจในเรื่องความพากเพียรของเรา ท่านคิดถึงเรื่องพระเรื่องเณร ส่วนมากท่านคิดถึงเรื่องนี้ เพราะเวลาเราอยู่พระเณรเรียบหมด เวลาเราออกไปแล้วพระเณรอาจจะระเกะระกะ ขวางหูขวางตาให้ท่านหนักใจได้ |
ที่นี้พอถึงเวลาจะไปแล้ว เช่นปรึกษากันอย่างวันนี้ เว้นอีกวันสองวัน ทีนี้เวลาจะไปลาจริง ๆ ครองผ้าขึ้นไปแหละ พอขึ้นไปท่านมองเห็น... ท่านก็ถามว่า ‘จะไปทางไหน ?’
‘ว่าจะไปทางถ้ำพระโน้น ทางบ้านตาดภูวง’ ท่านพูดของท่านไปเรื่อย ๆ ก่อนจนนานพอสมควรแล้วก็เปิดโอกาสให้อย่างนี้ละ เราก็กราบเรียนถามถึงเรื่องการงานภายในวัด ‘ถ้ามีอะไรที่จะจัดจะทำ กระผมก็จะได้ช่วยหมู่เพื่อนทำให้เสร็จเรียบร้อยทุกอย่าง หากว่าไม่มีอะไรก็อยากจะกราบนมัสการปรึกษาพ่อแม่ครูอาจารย์ไปภาวนาสักชั่วระยะหนึ่ง’ ท่านถาม ‘จะไปทางไหนล่ะ ?’ ‘คราวนี้คิดว่าจะไปไกลสักหน่อย’ คือตามธรรมดาเราไม่ค่อยไปไกล ไปประมาณสัก ๒๐ – ๓๐ กิโลเท่านั้นล่ะ... ๔๕ กิโล คราวนี้จะไปไกลหน่อย ไปทางอำเภอวาริชภูมิ’ ‘เอ้อ...ดี ทางโน้นก็ดี’ ท่านว่า ‘สงบสงัดดี มีแต่ป่าแต่เขาทั้งนั้นแหละ’ ท่านว่า ‘แล้วไปกี่องค์ล่ะ ?’ ‘ผมคิดว่าจะไปองค์เดียว’ ‘เออ...ดีละ ไปองค์เดียว’ ท่านก็ชี้ไป ‘ใครอย่าไปยุ่งท่านนะ ท่านมหาจะไปองค์เดียว’ (เมื่อถึงวันจะไป) ท่านก็ให้ปัญหาถึง ๔ ข้อ เราไม่ลืมนะ เพราะตามธรรมดาเราขึ้นไปหาท่านไม่ค่อยครองผ้าแหละ เพราะไม่มีผู้คนก็มีแต่พระแต่เณรในวัด ไม่มีใครไปยุ่งกวน สงบสงัด ตอนเช้าจะไปหาท่าน ฉันจังหันเสร็จแล้วก็ขึ้นไป มีแต่ผ้าอังสะเพราะท่านก็ไม่ได้ถืออะไรนี่ มีแต่พวกกันเอง แต่วันนั้นเราครองผ้าไป พอขึ้นไป ‘หึ ! ท่านมหาจะไปไหนนี่ ? จะไม่ไปละมั้ง จะอยู่ด้วยกันนี้ละมั้ง’ เราก็เฉยไม่รู้จะว่าไง สะเทือนใจแล้วนะทีนี้ ทั้ง ๆ ที่ท่านรู้แล้วว่าเราจะลา ก็ตกลงกันแล้วเรียบร้อยแล้ว ท่านยังใส่ปัญหานะ เราก็กึกเลยเชียว นี่ถ้าหากว่าท่านไม่มีเงื่อนไข ครองผ้าขึ้นมาแล้วก็ตามเราจะไม่ลาท่าน เรากลับเลย ทีนี้ท่านสงสารอยู่ ท่านมีเงื่อนไข พอขึ้นไปกราบแล้วท่านก็คุยไป ไม่ได้ปรารภถึงว่าเราจะไปไหนมาไหนเลย พอนั่งคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ‘หึ ! อยากจะไปเที่ยวเหรอ’ ท่านว่า ‘ก็คิดว่าอยากจะไปวิเวกภาวนาชั่วระยะกาล’ เราเรียนท่านว่าอย่างนั้น ท่านนิ่งแล้วให้เหตุผลนะ นิ่งอยู่สักครู่หนึ่งแล้วท่านก็ปรารภมาว่า ‘ถ้าอยู่ก็ได้กำลังใจ ไปก็ได้กำลังใจ อยู่ดีกว่า ถ้าอยู่ก็ได้กำลังใจ ไปไม่ได้กำลังใจ อยู่ดีกว่า ถ้าอยู่ไม่ได้กำลังใจ ไปได้กำลังใจ ไปดีกว่า ถ้าทั้งไปทั้งอยู่ ไม่ได้กำลังใจ ให้อยู่ดีกว่า’ คำพูดของท่านแยกออกมาละเอียดมาก ‘เออ ! ไป’ ท่านว่า ที่นี้เวลาจะไป ก็จำได้ว่า เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ เราไม่ลืมนะ ก่อนจะไปก็ ‘กระผมไปคราวนี้ คงจะไม่ได้กลับมาร่วมทำมาฆบูชาคราวนี้’ เราก็ว่าอย่างงั้น ไป ๙ วัน ๑๐ วันกลับมา ทางมันไกลนี่ เดินด้วยเท้าทั้งนั้นแหละ ‘เอ้อ บูชาคนเดียวนะ มาฆบูชาคนเดียวจริง ๆ นี่’ ท่านว่าอย่างนั้นแล้ว ชี้เข้าตรงนี้นะ ‘พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เป็นมาฆบูชาทั้งนั้นแหละ เอาตรงนี้นะ’ จากนั้นก็ไป ... พอเราไปสัก ๖ – ๗ วันมั้ง ‘เออ ! ท่านมหาไปอยู่ยังไงนา’ ถามถึงเรื่อยนะ คือท่านพูดเรื่องอะไรเกี่ยวกับเรา พระเณรจะเป็นผู้เล่าเรื่องให้เราฟังหมดนั่นแหละ สำหรับท่านเองเฉยนะ เราก็จับไว้ลึก ๆ ท่านถามถึงเรายังไง เราทราบแล้วเราก็เงียบ คือเป็นอย่างงั้นตลอดมาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เราก็ไม่อยากไปจากท่าน เพราะรู้สึกว่าท่านเมตตามากทั้งที่อนุญาตให้ไป แต่ต้องถามถึงเรื่อยว่า ‘หึ ! ท่านมหาไม่เห็นมานะ หลายวันแล้ว’ |
บางทีธรรมะท่านขึ้นภายในใจ ‘เออ ! วันนี้บาลีผุดขึ้นแล้ว ท่านมหามาจะให้ท่านมหาแปลให้ฟังนะ’ ท่านว่าอย่างนั้น
รอท่านมหามาก่อนแล้วค่อยพูด พอเรามาท่านก็ว่า ‘นี้บาลีขึ้นแล้วนะ ยกบาลีขึ้น ปึ๋ง ปึ๋ง เอ้า ! แปล ใครเป็นมหา’ เราก็ขอนิมนต์พ่อแม่ครูอาจารย์โปรดเมตตาไปเลย ท่านก็ผางทันทีเลยก็ท่านรู้หมดแล้วนี่ ท่านหาอุบายที่จะก้าวเดินธรรมของท่านโดยเอาเราเป็นพื้นฐานต่างหาก เพราะธรรมะภายในใจท่านมักจะเกิดเป็นบาลี บาลีเป็นภาษามคธ ความเข้าใจขึ้นพร้อมกันเลย บาลีขึ้นยังไง ความเข้าใจไม่ต้องแปลคือขึ้นพร้อมกัน.. ความเข้าใจปรากฏขึ้นพร้อมกัน นี่เราพูดเรื่องพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเมตตา ท่านเมตตาเราสุดขีด เราปฏิบัติต่อท่านมันเข้ากันได้ เรียกว่าทุกกระเบียดก็ไม่ผิด เราเป็นปุถุชนก็ตาม แต่ความเทิดทูนเคารพเลื่อมใสที่มีต่อท่านนั้นมันเต็มหัวใจ ทีนี้พอถึงวันมาฆบูชา สาย ๆ หน่อยประมาณสัก ๑๑ โมง ท่านถามพระ “ท่านมหาไม่มารึ ? เห็นท่านมหาไหม ?” พระว่า “ไม่เห็นครับกระผม” “ไปไหนกันนา ?” พอบ่าย ๒ โมง ๓ โมง เอาอีกถามอีก ตกเย็นเข้ามาอีกถามอีก ‘เอ๊ ! มันยังไง ท่านมหาไปยังไงนา ?’ เหมือนกับว่า ท่านมีความหมายของท่านอยู่ในนั้น เหมือนกับว่าท่านจะเทศน์ให้เต็มที่เพราะท่านจะป่วย ก่อนนั้นท่านไม่ได้ป่วยนี่นะ แต่ท่านทราบของท่านไว้แล้วเรื่องเหล่านี้ ตอนที่เราจะลาท่านไป ท่านก็ดี ๆ อยู่นี่ พอถึงเวลาท่านลงมาศาลา หันหน้ามาปุ๊บ ‘หือ ? ท่านมหาไม่ได้มารึ ?’ ‘ไม่เห็นครับ’ ใครก็ว่า ‘อย่างงั้น’ ‘เอ๊ ! มันยังไงนา ? ท่านมหานี่ยังไงนา ?’ ว่าอย่างนี้แปลก ๆ อยู่ ทั้ง ๆ ที่ได้ตกลงเรียบร้อยแล้ว ท่านมีอะไรของท่านอยู่ แล้วท่านก็เทศน์ตั้งแต่นั้นจนกระทั่งถึง ๖ ทุ่มฟาดวันมาฆบูชานี้ โอ๋ย.. เอาอย่างหนักเทียวนะ ๔ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๒ ทุ่มถึง ๖ ทุ่มเป๋ง เทศน์จบลงแล้ว ‘โอ๊ย.. เสียดายท่านมหาไม่ได้มาฟังด้วยนะ’ ว่าอีกนะ ซ้ำอีก ก็เหมือนอย่างว่าเทศน์ครั้งสุดท้าย จากนั้นมาท่านไม่ได้เทศน์อีกเลยนะ |
พอเดือน ๔ แรมค่ำหนึ่ง ผมก็มาถึง ผมไปเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ถึงเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ก็เป็น ๑ เดือนพอดี เดือน ๔ แรม ๑ ค่ำ ผมกลับมา ผมจำได้แต่ข้างขึ้นข้างแรม.. จำวันที่ไม่ได้ เหตุที่จำได้ก็เพราะว่า ผมขึ้นไปกราบท่านตอนบ่าย พอท่านออกจากที่แล้วผมก็ขึ้นไปกราบ
‘มันยังไงกันท่านมหานี่’ ท่านว่าอย่างนี้ ‘เทศน์เสียจนฟ้าดินถล่มก็ไม่มาฟังกัน’ นี่เราถึงได้ย้อนพิจารณากัน อ๋อ.. ที่พระท่านเล่าให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเพราะเหตุนี้เอง ‘เทศน์เสียจนฟ้าดินถล่ม นี่ผมเริ่มป่วยแล้วนะ เริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้’ นั่นท่านว่า...” |
หลวงปู่มั่นเตือนล่วงหน้า การอบรมพระเณรของหลวงปู่มั่น มีเป็นการเฉพาะภายในวัดป่าบ้านหนองผือ และประชุมอบรมพระที่มาจากสถานที่ต่าง ๆโดยรอบ ดังนี้ “.. วงกรรมฐานนี้การอบรมถือเป็นอันดับหนึ่ง พอถึงกาลเวลาแล้วเหมือนเด็กหิวนม จะได้มาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์.. จิตใจยิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตาผ่องใสมาจากที่ต่าง ๆ ที่ท่านไปภาวนาอยู่ไม่ไกลนัก สถานที่ ๔ กิโลบ้าง ๕ – ๖ กิโลบ้าง พอถึงวันประชุมท่านอบรมนี่ พระมาจากที่ต่าง ๆ บางแห่งถึง ๙ กิโล ๑๐ กิโลก็มา ท่านอบรมตอน ๒ โมงคือกลางคืนจะมีเฉพาะภายในวัด แต่สำหรับข้างนอกท่านมีการประชุมอบรมกันตามวัน ท่านถือเอาวันลงปาฏิโมกข์รวม ตามหลักธรรมหลักวินัยคือ ปาฏิโมกข์นั้นสวดหลักเกณฑ์ของพระวินัยสำหรับพระผู้ปฏิบัติ ตามพระวินัยวัน ๑๕ ค่ำมีผู้สวดปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์เป็นข้อยืนยันของพระ ผู้รักษาพระวินัยมายืนยันสวดปาฏิโมกข์สำหรับวงกรรมฐาน ถึงวันเช่นนั้นพระอยู่ในที่ต่าง ๆ หลั่งไหลมาด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนเด็กหิวนมแม่นั่นแหละ ไม่ผิดอะไรกัน ด้วยความพออกพอใจ วันนี้จะได้ยินได้ฟังการอบรมจากท่าน เพราะที่อยู่ห่าง ๆ จะได้มาเป็นบางเวลา ไม่เหมือนที่อยู่ในวัดกับท่าน อยู่ในวัดก็เรียกว่าเป็นกรณีพิเศษอยู่โดยดี แต่อยู่นอก ๆ จะได้มาในวันอุโบสถ.. |
วันอุโบสถปาฏิโมกข์ส่วนมากท่านจะเทศน์เวลาบ่าย ๒ โมง บ่ายโมงก็เริ่มลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ พอบ่าย ๒ โมงท่านก็ให้โอวาทพระสงฆ์..
โอวาทนั้นจะเด็ดมากอยู่นะ เพราะมีแต่พระล้วน ๆ โอวาทท่านจะเด็ดเฉียบขาด ๆ แม่นยำ ๆ ...” เมื่อหลวงปู่มั่นชราภาพมากแล้ว ท่านจะพูดเตือนพระเณรอยู่เสมอให้ตั้งอกตั้งใจ เพราะการอยู่ด้วยกันมิใช่เป็นของจีรังถาวร มีแต่ธรรมเท่านั้นเป็นสิ่งที่ควรยึดอย่างมั่นใจตายใจ ครูอาจารย์เป็นของไม่แน่นอน อย่านอนใจว่า ได้มาอยู่กับครูกับอาจารย์แล้วท่านจะอยู่กับเราตลอดไป เมื่อนานเข้า ๆ หลวงปู่มั่นก็เปิดออกมาอีกว่า “... ใครจะเข้มแข็ง ความพากเพียรอะไรก็ให้เข้มแข็ง มีความรู้ความเป็นอะไรภายในจิตใจ เอ้า.. ให้มาถามมาเล่าให้ฟัง ภิกษุเฒ่าจะแก้ให้.. นี่เวลาภิกษุเฒ่าตายแล้วยากนะ ใครจะแก้เรื่องจิตใจทางด้านจิตภาวนา นี่ไม่นานนะ” ท่านย้ำลง “ไม่เลย ๘๐ นะ... ๘๐ ก็นี่มันนานอะไร พากันมานอนใจอยู่ได้เหรอ...” |
เมื่อหลวงปู่มั่นพูดเตือนดังกล่าว พระเณรทั้งหลายต่างสลดสังเวชใจ.. รีบตั้งหน้าตั้งตาเร่งปฏิบัติกัน สำหรับตัวท่านเอง ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ตอนสำคัญนี้ให้พระเณรฟังว่า
“... เหมือนกับว่าจิตนี่มันสั่นริก ๆ อยู่ พอได้ยินอย่างนั้นแล้วความเพียรก็หนัก เวลาครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ได้พึ่งพาอาศัยร่มเงาท่านแก้ข้ออรรถข้อธรรมที่สงสัย ก็เร่งความเพียรเข้าเต็มที่ ๆ พอท่านย่างเข้า ๘๐ พับ ท่านก็เริ่มป่วยแหละ พอป่วยแล้วท่านบอกไว้เลยเชียว...แน่ะฟังซิ ซึ่งท่านเคยป่วยเคยไข้มาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เป็นไข้มาลาเรียเป็นไข้อะไรท่านไม่เคยพูดถึงเรื่องเป็นเรื่องตาย แต่พอเป็นคราวนี้เพียงเริ่มเป็นเท่านั้น ไม่ได้มากอะไรเลยท่านบอกว่า ‘ผมเริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้นะ’ เพราะเราเพิ่งกลับมาจากไปเที่ยวภาวนาอยู่ที่อำเภอวาริชภูมิ มาถึงท่านตอนค่ำ เราไปถึงวันค่ำหนึ่ง.. ท่านก็ป่วย ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ผมจำได้ขนาดนั้นนะ วันค่ำหนึ่งเราก็กลับมาถึงท่าน ‘ผมเริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้นะ’ วานซืนก็หมายถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ‘นี่ป่วยครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายนะ ไม่หาย ยาจากเทวดาชั้นพรหมไหน ๆ ก็มาเถอะ ไม่มียาขนาดใดในโลกนี้จะมาแก้ให้หาย.. ไข้นี้จึงเป็นไข้สุดท้าย แต่ไม่ตายง่ายนะ เป็นโรคทรมาน เขาเรียกว่าโรคคนแก่ อย่าไปหาหยูกหายามาใส่มารักษา มันเป็นไปตามสภาพของขันธ์นี้แหละ เอามารักษาก็เหมือนกับใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำไม้ที่ยืนต้นตายแล้วนั่นแหละ จะให้มันผลิดอก ออกใบ ออกผล เป็นไปไม่ได้ ยังแต่เวลาของมันเหลืออยู่ที่จะล้มลงจมแผ่นดินเท่านั้น นี่ก็อยู่.. แต่มันยังไม่ล้มเท่านั้นเอง จะให้หายด้วยยาไม่หายนะ นี่เพียงเริ่มเป็นเท่านั้น’ ท่านว่าอย่างนั้น แน่ไหม ? ฟังซิ ... ท่านอาจารย์มั่นแม่นยำมาก ท่านเคยบอกกับพระอยู่เรื่อย ๆ เวลาลงอุโบสถเสร็จเรียบร้อย.. ผมถึงได้กราบสุดหัวใจผม ท่านเปิดออกมาอย่างนั้นไม่มีอะไรผิด ‘ย่างเข้า ๘๐ ไม่เลย ๘๐ นา โรคนี้เป็นไข้วาระสุดท้าย จะไม่หายจนกระทั่งตาย จะตายด้วยป่วยคราวนี้แหละ แต่ไม่ตายง่าย เป็นโรคทรมาน’ ก็เป็นจริงทุกอย่างที่ท่านพูด ตั้งแต่เดือน ๔ ถึงเดือน ๑๒ ฟังซิ ๗ – ๘ เดือน ท่านเริ่มป่วยไปเรื่อย ๆ เหมือนกับค่อยสุมเข้าไป ๆ สุดท้ายก็เป็นอย่างว่านั้น...” |
หมู่คณะฟังหลวงปู่มั่นเทศน์ คราวหนึ่งในช่วงต้นปี ๒๔๙๒ ขณะที่องค์หลวงตากำลังธุดงค์อยู่บ้านคำบิด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครนั้น หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล และหมู่คณะก็ได้ธุดงค์ไปพบ และขอพักอยู่กับท่านระยะหนึ่ง และเมื่อใกล้วันวิสาขบูชาก็ได้พบกันอีกครั้งที่วัดป่าบ้านหนองผือ ในประวัติหลวงปู่บุญจันทร์ได้กล่าวถึง วิธีปฏิบัติขององค์หลวงตาต่อพระอาคันตุกะที่เข้ากราบหลวงปู่มั่นในครั้งนั้นไว้ ดังนี้ “... หลวงปู่ (บุญจันทร์) พร้อมด้วยลูกศิษย์ .. เที่ยววิเวกขึ้นไปบนภูอ่างสอ ซึ่งเป็นภูเขาสูงลูกหนึ่งที่ใหญ่ในเทือกเขาภูพาน ที่ภูอ่างสอนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ๆ เขียวชอุ่ม และมีสัตว์ป่าที่เที่ยวหากินกลางคืน ส่งเสียงร้องประกอบกับความวิเวกวังเวงในเวลาดึกสงัด ทำให้จิตใจตื่นอยู่ตลอดเวลาและตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อพักวิเวกอยู่บนภูอ่างสอพอสมควรแล้ว ... จึงลงจากภูอ่างสอมุ่งหน้าสู่บ้านคำบิด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร.. พอมาถึงบ้านคำบิดได้ทราบว่า ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน พักวิเวกอยู่ที่เสนาสนะป่าหนองน่อง บ้านคำบิด จึงได้พาลูกศิษย์เข้ากราบนมัสการและพักอยู่กับท่าน ๗ คืน ตอนเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านคำบิด เวลากลับออกจากบ้าน หลวงปู่จะรับบาตรท่านพระอาจารย์มหาบัว แต่ท่านไม่ยอมให้รับง่าย ๆ อาศัยความพยายามทำด้วยความเคารพ ทำด้วยความจริงใจ ในที่สุดท่านจึงยอมให้รับบาตรท่าน พอกลับถึงที่พัก จัดแจงฉันภัตตาหารตามมีตามได้ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มหาบัวเดินทาง (ต่อไป) ... (ต่อมา) ในระยะนั้นเป็นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ใกล้จะถึงวันวิสาขบูชา ในขณะนั้น หลวงปู่ท่านมีความสงสัยในอุบายธรรมที่ได้ปฏิบัติอยู่ ... มองไม่เห็นใครที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ มีแต่ท่านพระอาจารย์มั่นเท่านั้นที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์คอยอยู่ที่สำนักป่าหนองเม้า บ้านจำปา.. (และ) เดินทางไปที่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน .. บ้านต้อง .. บ้านหนองโดก (ต่อมาได้) เดินทางด้วยเท้าเข้าไปบ้านหนองผือนาในพร้อมกันกับท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย ... พอเดินทางถึงวัดป่าหนองผือเป็นเวลาใกล้ค่ำ ได้พบท่านพระอาจารย์มหาบัวที่วัดหนองผืออีก จึงได้กราบเรียนถามท่านถึงเวลาที่จะเข้ากราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น.. พระอาคันตุกะที่ไปถึงใหม่จะต้องรอคอยก่อน ท่านพระอาจารย์มหาบัวจะเป็นผู้เข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นก่อนว่า ‘ท่านให้พักในวัดหนองผือด้วยหรือไม่อย่างไร ? หรือท่านจะให้พักกุฏิหลังไหน ?’ เมื่อท่านสั่งอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำตามอำเภอใจของตนเอง พอท่านพระอาจารย์มหาบัวเข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็บอกเสนาสนะให้ และบอกให้สรงน้ำเสร็จแล้ว จึงขึ้นไปกราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นบนกุฏิท่าน เมื่อหลวงปู่สรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนุ่มห่มครองจีวรให้เรียบร้อย สำรวมใจให้อยู่ในความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อย่างอื่น มีสติอยู่กับใจตัวเอง หลวงปู่เล่าว่า การสำรวมนั้นได้สำรวมระมัดระวังมาโดยตลอด พอคิดว่าจะไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ พอขึ้นไปบนกุฏิท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ต้องระมัดระวังไม่ให้มีเสียงอะไรรบกวนท่าน ในขณะนั้น ได้มีพระเถระและพระภิกษุรูปอื่นขึ้นไปนั่งฟังธรรมอยู่ก่อนแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นกำลังแสดงธรรมอยู่ พอหลวงปู่ขึ้นไปแล้วก็กราบเบา ๆ เสร็จแล้วก็นั่งกำหนดจิตฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นต่อไป...” |
ภายหลังหลวงปู่มั่นได้แสดงธรรมและถามถึงที่มาแล้ว ท่านก็พูดว่า
“จะพิจารณาอะไร ? ผมปฏิบัติมานี้ ๔๐ ปีแล้ว ผมไม่หนีจากกายกับใจ.. พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจจนหายสงสัย” แล้วท่านก็แสดงธรรมต่อไป พอหลวงปู่บุญจันทร์ได้รับโอวาทคำตอบจากหลวงปู่มั่นทั้งที่ยังไม่ได้ถามอะไร หลวงปู่ก็หมดความสงสัยลงในขณะนั้น สำหรับหลวงปู่เพียร วิริโย เป็นพระอีกรูปหนึ่งที่ได้ฟังเทศน์หลวงปู่มั่นอยู่ในขณะนั้นด้วย ในประวัติของท่านกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า “…ออกมาพักภาวนาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองโดกอีก ช่วงนี้มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ท่านอาจารย์บุญมี ปริปุณฺโณ แล้วผมก็ได้พักอยู่ด้วยกันที่นี่ พอดีใกล้วันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านอาจารย์บุญจันทร์ กมโล ท่านก็จะเข้าไปกราบหลวงปู่ใหญ่มั่น และท่านก็ได้เข้ามาพักที่นี่ ๑ คืน พอวันรุ่งขึ้นฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านก็จะเข้าไปกราบหลวงปู่ใหญ่มั่น ผมเลยได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับท่าน นับว่าเป็นการเข้าไปกราบหลวงปู่ใหญ่มั่นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ของผม พอไปถึงคืนนั้นก็ขึ้นไปกราบหลวงปู่ใหญ่มั่น ได้ฟังเทศน์ท่าน ท่านได้เมตตาถามขึ้นว่า ‘ท่านองค์ไหนมาจากท่านสิงห์ทอง ?’ ผมได้ตอบกราบเรียนท่านไปว่า ‘เกล้ากระผมครับ’ แล้วก็นั่งฟังเสียงนาฬิกาอยู่ที่กุฏิของท่านนั่นเอง...” หลวงปู่เพียรเล่าความรู้สึกในการฟังเทศน์หลวงปู่มั่นครั้งแรกว่า “หลวงปู่มั่นเมตตาเทศน์ให้ฟัง แต่ผมฟังไม่รู้เรื่องว่าท่านเทศน์อะไรบ้าง ผมเองตอนนั้นก็เหมือนลิงเหมือนควายตัวหนึ่ง” สำหรับการฟังเทศน์หลวงปู่มั่นในครั้งที่สอง หลวงปู่เพียรบอกว่า “หลวงปู่ใหญ่มั่น ท่านเอาธรรมะข้างในมาเทศน์ให้ฟัง ผมก็เลยฟังไม่รู้เรื่องที่ท่านเทศน์” การพบกันเวลาออกวิเวกและการต้อนรับพระอาคันตุกะขององค์หลวงตาในครั้งนั้น ทำให้ท่านมีความคุ้นเคยสนิทใจในธรรมต่อกัน จนต้องได้เกี่ยวข้องช่วยเหลือกันอีกในกาลข้างหน้า |
หมู่เพื่อนแก้นิมิต ๙ ปีสำเร็จ เมื่อครั้งองค์ท่านจะออกปฏิบัติ มีนิมิตตาปะขาวมาหาแล้วนับข้อมือให้ดู นับถึง ๙ ก็หันมามองดูหน้า ท่านก็รับรู้ความหมายกันว่าปฏิบัติ ๙ ปีสำเร็จ แต่ครั้นมาถึงวันออกพรรษาที่ ๑๖ ยังไม่เป็นไปตามนั้น จึงทำให้รู้สึกเสียกำลังใจจนต้องได้ปรารภปัญหากับหมู่เพื่อน ดังนี้ “...ภาวนาเก็บไว้ ๙ ปี มาขายโง่ให้หมู่เพื่อนฟัง เพื่อนฝูงก็เป็น ภาวนาด้วยกัน วันนี้ผมจะขายโง่ให้ท่านฟังว่า ‘ผมเก็บความรู้สึกนี้ เวลาภาวนาปรากฏว่าตาปะขาวเข้ามาหา นั่งภาวนาอยู่พอจิตสงบเข้าไปปั๊บ.. ตาปะขาวเดินเข้ามา เดินเข้ามาก็มานับข้อมือให้เห็น นับเป็นข้อ ๆ ถึง ๙ ข้อ พอถึง ๙ ข้อแล้วก็เงยหน้ามาดูเรา ทางนี้ก็รู้รับกันว่า ๙ ปีสำเร็จ’ คิดว่าตั้งแต่วันบวชมาถึง ๙ ปีสำเร็จ พอถึง ๙ ปี ปีที่ ๙ แล้ว แหม.. ไฟนรกเผาหัวอกจะตาย โอ๊ย.. มันจะ ๙ ปียังไงยังงี้มีแต่ไฟนรก แล้วคิดไปอีกว่าหรือตั้งแต่วันปฏิบัติออกไป ๙ ปีสำเร็จนะ ทีนี้เลยแยกไปนั้น ทีแรก ๙ ปี ๙ พรรษาสำเร็จ แต่ที่ไหนได้ ๙ พรรษาจิตนี้เป็นไฟมันจะสำเร็จได้ยังไง.. เอา..! ถ้างั้นแยกไป เอาตั้งแต่ปฏิบัตินี้ ๙ ปีว่างั้นนะ ก็เลยแยกไป ๙ ปี ... แต่ไม่ได้บอกว่าบวชมา ๙ ปีหรือปฏิบัติ ๙ ปีสำเร็จนะ เราก็จับอันนั้นเอาไว้เลย... ๙ ปีนี้ไม่ได้เรื่องแล้ว เป็นไฟ ๙ ปีที่บวชมานี้ คงเป็น ๙ ปีในการปฏิบัติมากกว่า ๙ ปีเราหมายถึงวันออกพรรษา เรานับเป็น ๙ ปีแล้วนะ พอออกพรรษาปุ๊บ.. จิตนี้หมุนพอแล้ว หมุนติ้ว ๆ แล้วแต่ก็ยังไม่สำเร็จ มาออกพรรษาเสียวันนั้น ‘แล้วกันทำไมว่า ๙ ปีสำเร็จ นี่ออกพรรษาวันนี้แล้ว ทำไมยังไม่สำเร็จ แต่จิตที่ละเอียดลออยอมรับ รับกันหากยังไม่สำเร็จ’ จึงไปเล่าให้เพื่อนฝูงฟัง ‘โอ้.. ผมจะมาขายโง่ให้ท่านฟัง นี่ผมภาวนา ปรากฏทางภาวนาว่ามีตาปะขาวมาบอกว่า ๙ ปีสำเร็จ ผมก็บวชมาถึง ๙ ปี ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร เลยแยกออกมาปฏิบัติ ๙ ปีสำเร็จ นี่ก็ออกพรรษาวันนี้ เป็น ๙ ปีแล้วยังไม่สำเร็จเลย แต่ความละเอียดของจิตยอมรับว่าละเอียด หากยังไม่สำเร็จ’ ท่านก็แก้ดีนะ เป็นคติได้ดี ผู้ปฏิบัติภาวนาด้วยกัน ‘โห.. ไม่ใช่คำว่า ๙ ปีนี้ ต้องหมายถึงตั้งแต่ออกพรรษาถึงเข้าพรรษาหน้านู้น ๙ ปีถึงจะครบถ้วน อันนี้มันพึ่งออกพรรษามา นี้ยังอีกเท่าไรถึงวันเข้าพรรษายังอีกนานอยู่นะ ยังไม่ใช่ ๙ ปีวันออกพรรษา ๙ ปีนี้จนกระทั่งถึงพรรษาหน้า ๙ ปีเต็มนั่นละ สำเร็จไม่สำเร็จก็รู้กันตรงนั้นละ เดี๋ยวนี้ยังไม่ใช่ ๙ ปี’ พระท่านแก้ดีนะ ‘หือ.. อย่างนั้นเหรอ !’ คึกคักตั้งใหม่ คราวนี้จิตก็ละเอียดอยู่นะ ฟาดกันเสียตั้งแต่นั้นละ มาเป็นเครื่องปลอบใจดี เราก็คิดเพื่อนฝูงภาวนาด้วยกัน องค์นี้ท่านก็เด็ดเดี่ยว เก่งเหมือนกัน พูดเป็นคติเครื่องเตือนใจได้ จึงฟาดกันอีกตั้งแต่วันออกพรรษา.. อันนี้เราก็ระลึกถึงคุณของท่านอยู่นะ ท่านแก้ดีอยู่ .. นี่เราก็ไม่ลืมนะ คือเก็บไว้ตลอดไม่พูดให้ใครฟังเลย ... เพื่อนฝูงนักภาวนาด้วยกันนี้ปรึกษาหารือกันได้กำลังใจนะ นี่เราก็ไม่ลืม เพื่อนฝูงเตือนเรา ไม่ให้หมดหวังว่างั้นเถอะ เรานี้รู้สึกจะหมดหวังตั้งแต่วันออกพรรษาปั๊บ.. มันยังไม่สิ้นนี่ ท่านก็มาแก้ให้อีก .. องค์ที่ว่านี่เพื่อนฝูงด้วยกัน เป็นคู่ปรึกษาหารือกันได้ว่าอะไรเป็นยังงั้น จิตใจเด็ดเดี่ยวเหมือนกัน.. ท่านพูดเป็นคติดี ไอ้เรานึกว่าหมดหวังแล้วตั้งแต่วันออกพรรษาปึ๋ง.. นั่นละหมดหวัง เราก็ไม่ลืมนะ นี่เพื่อนฝูงด้วยกันนะ ปรึกษาหารือกันทางจิตภาวนา .. มีแก่ใจขยับเข้าอีก แต่ก่อนก็ขยับอยู่แล้ว ทีนี้เพื่อนมาเพิ่มกำลังใจให้...” |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:43 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.