![]() |
"เหตุที่ต้องหมั่นภาวนาทบทวนอยู่ทุกวัน ก็เพื่อความคล่องตัวในการใช้งานในพระคาถาต่าง ๆ เหมือนกับเราลับมีดบ่อย ๆ ถึงเวลาจะใช้งานก็มีความคล่องตัว เพราะว่ามีดไม่ขึ้นสนิม ถ้าไม่หมั่นภาวนาเอาไว้ ถึงเวลาอาจจะหลงลืมได้ว่า พระคาถาแต่ละบทสำหรับใช้งานใดบ้าง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า อสชฺฌาย มลา มนฺตา อนุฏฺฐาย มลา ฆรา มนต์ไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน ผู้ครองเรือนไม่ขยันเป็นมลทิน ดังที่โบราณาจารย์แต่งไว้เป็นโคลงว่า เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม.......ดนตรี ห้าวันอักขระหนี...........เนิ่นช้า สามวันจากนารี............เป็นอื่น หนึ่งวันเว้นล้างหน้า.......หม่นไหม้ หมองศรี เมื่อเราหมั่นภาวนาเอาไว้เสมอ เป็นการสะสมกำลังและความคล่องตัว ถึงเวลาก็สามารถใช้งานได้ทันที สมาธิที่ทรงตัวอยู่เสมอจะทำให้มีกำลังมาก ทำให้ใช้พระคาถาต่าง ๆ ได้ผลมากกว่าคนอื่น สภาพจิตที่ยึดเกาะการภาวนาจนเคยชิน ยังให้เกิดอัปปนาสมาธิหรือที่เรียกว่า ทรงฌาน เป็นหลักประกันได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าเราตายลงไปตอนนั้นก็จะไปสู่สุคติ ถ้าทรงฌานได้มั่นคงก็ไปเกิดเป็นพรหม ถ้าพลัดจากฌานอย่างน้อยก็ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา" |
"การภาวนาจึงมีแต่กำไร ไม่มีขาดทุน เมื่อทำเองจนชินก็ไม่ต้องรอให้ผู้อื่นช่วยบอกทางเวลาใกล้ตาย ถ้าสามารถทรงสมาธิได้คล่องตัว ยังช่วยระงับทุกขเวทนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ เมื่อจิตใจไม่ไปกังวลกับความทุกข์ทางร่างกาย ก็ช่วยให้คติของเราในเบื้องหน้ามั่นคงยิ่งขึ้น
ยิ่งถ้าท่านสามารถพิจารณาเห็นว่า การเกิดมามีร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีแต่ความทุกข์เช่นนี้เราไม่ต้องการอีกแล้ว สภาพจิตก็จะปล่อยวางจากการยึดเกาะในร่างกายนี้ ถ้าปล่อยวางได้ถึงที่สุดจริง ๆ ท่านก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์ไปสู่พระนิพพาน ทุกท่านจึงควรที่จะภาวนาไว้ทุกวันจนคล่องตัว ซึ่งจะบังเกิดคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อท่านทั้งในโลกนี้และโลกหน้าด้วยประการฉะนี้" |
"อยู่ที่ไหน ?" หลังจากหาจนหมดความอดทน ก็ทุ่นแรงด้วยการถาม "ท่านอารักษ์" ทั้งสอง "โน่นเลยครับ" ชี้ไปยังที่นอนของน้องเล็ก ที่สำคัญคือเจ้าตัวยังนอนอยู่..! "Are you sure ?" "Of course." |
สืบเนื่องมาจาก "ไอ้ตัวเล็ก" แจ้งไปว่า อาตมายังไม่ได้ส่งปั้นเหน่งกะโหลกเสือ หลวงพ่อไฉน วัดสังโฆปรีดี ไปให้ ทั้งที่อาตมาจำได้แน่นอนว่าส่งไปแล้ว แต่เรื่องแบบนี้ก็ปรากฏขึ้นบ่อย ๆ คือวัตถุมงคลบางชิ้นไม่อยากไปอยู่กับเจ้าของใหม่ มีการหนีกลับมาเสมอ
วันก่อนอาตมาจึงต้องไปค้นหาในกล่องวัตถุมงคล ซึ่งกองพะเนินอยู่ในห้อง กว่าจะหาเจอก็แทบหมดอารมณ์ เมื่อได้มาแล้วก็จัดการห่ออย่างดี แต่ยังส่งไปรษณีย์ไม่ได้ เพราะว่าปิดเนื่องในวันจักรี มาวันนี้เมื่อบิณฑบาตและฉันเช้าเสร็จแล้ว ก็ชวนน้องเล็กออกไปไปรษณีย์ แต่..ไอ้ตัวดีหายหัวไปแล้ว..!" อาตมาต้องไปเริ่มต้นค้นใหม่ ส่วนน้องเล็กที่ว่างงานก็นอนให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ ค้นดูในกล่องบรรจุวัตถุมงคลทีละกล่อง พบแต่ปั้นเหน่งชิ้นอื่น ส่วนชิ้นที่ต้องการหาไม่เจอ เมื่อครบทุกกล่องก็เริ่มต้นค้นใหม่ ครบ ๒ รอบแล้วก็ยังไม่เจอ จึงต้องถามแมลงภู่คำแทน |
บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่ถามตั้งแต่แรก ? จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เรื่องของการถามพระ ถามพรหมเทวดา หรือว่าถามผีเจ้าที่ เราต้องใช้ความพยายามจนหมดความสามารถเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอย่าหวังเลยว่าท่านจะตอบให้
ดังนั้น..ถ้าใครคิดว่าตัวเองได้มโนมยิทธิ ได้ทิพจักขุญาณแล้ว จะถามอะไรใครก็ได้ อาตมาขอบอกว่าคิดผิด ต้องระดับสิ้นทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา กำลังคน กำลังทรัพย์ แล้วนั่นแหละ ถึงพอที่จะสงเคราะห์ให้บ้าง..! "แล้วแบบนี้จะฝึกทิพจักขุญาณไปทำอะไรวะ ?" อ๋อ..ปัญหานี้อาตมาสงสัยมาก่อนท่านเสียอีก ตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่นก็ฝึกเรื่องของกสิณเรื่องของอภิญญา เพราะว่าอยากมีฤทธิ์มีเดช จะได้ใช้งานให้สะใจสบายตัว ที่ไหนได้...จะใช้อะไรแต่ละอย่างต้องขอแล้วขออีก อ้อนแล้วอ้อนอีก กว่าจะได้โควต้ามาสักครั้งก็แสนยาก ใครที่กำลังฝึกเรื่องแบบนี้อยู่ ถ้าคิดว่าฝึกแล้วจะใช้ได้ทุกเรื่อง ท่านกำลังคิดผิดแล้วครับ..!" |
"ลุกขึ้นหน่อย" เมื่อได้ยินแบบนี้น้องเล็กก็ทำหน้างง ๆ "ทำไมคะ ?"
"กำลังหาของอยู่" พออีกฝ่ายพลิกตัวลุกขึ้นนั่ง ก็เห็น "ไอ้แสบ" ซุกอยู่ใต้ที่นอนจริง ๆ หลบได้สุดยอดมาก ไม่มีใครคิดหรอกว่าจะอยู่ตรงนี้ ต้องจัดการใส่ซองจ่าหน้าถึง "ไอ้ตัวเล็ก" พร้อมกับข่มขู่ไปว่า ถ้าไม่อยากเจอสองรุมหนึ่งก็อย่าได้คิดหนีอีก..! น่าสงสารน้องเล็กที่นั่งปากอ้าตาค้างด้วยความงงจัด ยังดีที่พอมีประสบการณ์เรื่องอย่างนี้มาบ้าง ไม่อย่างนั้นแล้วคงได้ช็อกไปอีกนาน ปั้นเหน่งกะโหลกเสือชิ้นนี้ เป็นแบบไม่มีเชือกล่าม ถึงได้ออกฤทธิ์ออกเดชมากกว่าชิ้นอื่นเขา ผู้ที่จองบูชาไปโปรดระมัดระวังด้วย ถ้าเผ่นหนีไปอีกก็ตัวใครตัวมัน ตามกันเอาเองนะครับ..!" |
พระอาจารย์กล่าวว่า "กิจกรรมอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องกักกันตัวเองในช่วงไวรัส covid-๑๙ ระบาด คือการออกกำลังกาย สำหรับบุคคลที่มีวินัยและรู้จักดูแลตัวเองแล้ว นี่เป็นโอกาสทองที่เรามีเวลาในการออกกำลังกายต่อเนื่องกันอย่างยาวนาน
การออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง จะได้มีภูมิคุ้มกันโรค แต่การออกกำลังกายด้วยจุดมุ่งหมายอื่นก็ยังมีอยู่ เช่น เพื่อให้รูปร่าง "ฟิตแอนด์เฟิร์ม" หรือว่าเพื่อให้มีร่างกายที่แข็งแรง จะได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่" |
"ในสมัยที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของพวกเรานั้น ทรงออกกำลังพระวรกายเป็นปกติ
บรรดานายทหารและนายตำรวจติดตาม ในฐานะราชองครักษ์ ก็ต้องออกกำลังกายไปด้วย เพราะว่าต้องคอยตามอารักขา ไม่ว่าพระองค์ทรงวิ่งเป็นระยะทางไกลเท่าไร ก็ต้องวิ่งด้วยระยะทางที่ไกลเท่านั้น ผลปรากฏว่าบรรดาราชองครักษ์เป็นลมไปตาม ๆ กัน ขณะที่องค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังทรงวิ่งตามสำนวนวัยรุ่นสมัยนี้ที่ว่า "ชิลด์มาก" อาตมามั่นใจว่าสาเหตุเป็นเพราะองค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ วิ่งพร้อมกับทรงอานาปานสติ คือจับลมหายใจเข้าออกไปด้วย" |
"สมัยที่อยู่กองโรงเรียน อาตมาก็ซ้อมวิ่งพร้อมกับจับลมหายใจเข้าออกไปด้วย ผลก็คือเหนื่อยช้ามาก ไม่ว่าจะ ๗ กิโลเมตร หรือว่า ๑๒ กิโลเมตร ก็ไม่ได้สะทกสะท้านอะไร ขนาดที่เพื่อนฝูงบางคนทำท่าเหมือนปลาติดบก อ้าปากพะงาบ ๆ ทำท่าจะตายเสียให้ได้..!
การฝึกซ้อมในลักษณะนั้น ทำให้สามารถทรงสมาธิระดับสูงได้ในขณะที่วิ่ง หรือตามที่หลวงพ่อวัดท่าซุงเรียกว่า ทรงฌานใช้งาน เมื่อได้ซักซ้อมต่อเนื่องกันเป็นปี ๆ จึงทำให้มีความคล่องตัวมากเป็นพิเศษ และยังมีผลพลอยได้อื่น ๆ ตามมาอีกด้วย" |
"การลงโทษทางทหารบางอย่างไม่ได้หนักหนาสาหัส แต่ทุกคนกลัวกันมาก อย่างเช่นการ "ปั่นจิ้งหรีด" หรือบางคนเรียกว่า "กินเหล้า ทบ." โดยผู้ถูกลงโทษต้องก้มเอานิ้วชี้มือขวาจิ้มพื้น ไขว้มือซ้ายข้ามแขนขวาจับหูขวาตัวเองไว้ เสร็จแล้วก็หมุนรอบตัวเองไปตามแต่ครูฝึกจะสั่งว่ากี่รอบ ปกติที่เคยโดนมาก็อยู่ที่ ๑๐๐ รอบขึ้นไป..!
ผลก็คือบางคนก็ทำได้ครบ บางคนก็ทำได้ไม่ครบ แต่ส่วนที่เหมือนกันไม่ว่าจะทำได้ครบหรือทำได้ไม่ครบก็คือ ผู้ทำเมาจนอ้วกแตก..! เข็ดหลาบไปตาม ๆ กัน แต่ไม่ใช่อาตมา..!" |
"อาตมาเองไม่เคยโดนลงโทษด้วยความผิดเฉพาะตัว ส่วนมากก็โดนลงโทษร่วมกับเพื่อนฝูงที่ทำผิด ตามระเบียบของร้อยฝึกที่ว่า "มีอะไรรับผิดชอบร่วมกัน" ส่วนนี้เป็นการดีคือว่า ทุกคนจะพยายามตักเตือนกันไม่ให้ทำผิด เมื่อผิดไปแล้วต้องรับผิดชอบร่วมกัน ก็ทำให้ "ได้ใจ" กันมาก ดังนั้น..ทหารในแต่ละรุ่นจึงรักกันมาก ขนาดให้เพื่อนยืมนาฬิการาคาแพง ๆ ทีหนึ่งยี่สิบกว่าเรือนก็ยังได้..!
เมื่อจะมาโดนลงโทษด้วยการปั่นจิ้งหรีดพร้อมกับเพื่อนฝูง อาตมาก็จะกำหนดจิตนิ่งเอาไว้ในกึ่งกลางศีรษะ แล้วหมุนไปเถอะ ๑๐๐ รอบก็แล้ว ๒๐๐ รอบก็แล้ว ไม่รู้สึกเมาเสียที จนเพื่อนฝูงบางคนทนไม่ได้ ถ้าไม่ใช่นักเรียนนายสิบสุรินทร์ จันทร์ท่าจีน ก็เป็นนักเรียนนายสิบศุภชัย บานเย็น ซึ่งอยู่ใกล้เคียงที่สุด เพราะว่าความสูงไล่เลี่ยกัน ต้องจับขากระชากให้ล้ม พร้อมกับคำรามใส่หูว่า "แม่งงเอ๊ยย.. ล้มสักทีสิวะ เพื่อนฝูงจะตายห่ากันหมดแล้ว..!" จะเห็นได้ว่าการที่เราฝึกภาวนามาก่อน ช่วยให้การกระทำอะไรก็ตามเหนื่อยน้อยลง สามารถแสดงสมรรถภาพทางร่างกายออกมาได้มาก สมัยยังอยู่ที่วัดท่าซุง อาตมาออกกำลังกายด้วยการถูศาลา ถ้ามีเวลาเหลือก็เดินจงกรมทั้งวัน เมื่อไปอยู่ที่เกาะพระฤๅษี ระยะแรกต้องอยู่คนเดียว ก็ใช้เวลาช่วงเช้ากวาดใบไม้ครึ่งเกาะ ช่วงบ่ายกวาดใบไม้ที่เหลืออีกครึ่งเกาะ" |
"พอมาเป็นเจ้าอาวาสวัดทองผาภูมิ และวัดท่าขนุน จะเก็บจะกวาดอะไรก็มีแต่พระและเณรแย่งทำ จึงเหลือแค่การเดินบิณฑบาตช่วงเช้าเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นป้าติ๋ม (สุภาวดี ขันธิกุล) จึงถวายจักรยานออกกำลังกายมา ๑ เครื่อง ซึ่งได้ใช้งานอย่างคุ้มค่ามาก เพราะว่าถ้าอยู่วัดอาตมาก็ปั่นจักรยานทุกวัน ผ่านไปหลายปีปั่นจนสายพานขาด พระที่วัดท่านต้องไปหาซื้อของใหม่มาใส่ให้แทนของเก่าที่ขาดไป
เมื่ออาการมาลาเรียเรื้อรังกำเริบมากขึ้น การออกกำลังกายทำให้ไม่มีกำลังไปต่อต้านอาการป่วยของโรค ก็พอดีมีโยมถวาย "กระดานมหัศจรรย์" มา ซึ่งเหมาะกับพระภิกษุสามเณรมาก เพราะว่าขึ้นไปยืนเฉย ๆ ก็สามารถยืดเส้นยืดสายได้แล้ว ทุกวันนี้ช่วงเย็น ถ้าอยู่วัดหรืออยู่ที่บ้านเติมบุญ อาตมาก็จะยืนบนกระดานมหัศจรรย์นี้ โดยตั้งให้สูงชันที่สุด แล้วพยายามก้มลงเพื่อแตะพื้นให้ได้ ใหม่ ๆ แค่ขึ้นไปยืนก็แย่แล้ว กว่าจะแตะพื้นได้ก็ต้องพยายามยืดเส้นอยู่หลายเดือน" |
1 Attachment(s)
"มาถึงปัจจุบันอายุได้ ๖๑ ปีแล้ว ที่ต้องพยายามยืดเส้นยืดสายออกกำลังอยู่ ก็เพื่อให้สภาพร่างกายสามารถใช้งานได้เต็มที่ เท่าที่คนแก่คนหนึ่งจะทำได้ แต่ความแก่ก็ไม่ปรานีใคร ทำให้แตะไม่ค่อยจะถึงพื้นเสียแล้ว แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งการออกกำลังกาย โดยทำใจว่าได้แค่ไหนเอาแค่นั้น เป็นการวางอุเบกขาตามหลักในการปฏิบัติธรรม ยอมรับสภาพความแก่แต่โดยดี จิตใจจึงไม่ไปกังวลกับร่างกายจนต้องทุกข์เหมือนกับคนอื่นอีกหลายคน"
หมดสมรรถภาพ เหลืออยู่แค่ที่เห็น (๕ เมษายน ๒๕๖๓) |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ภาระหนักเป็นอย่างยิ่งในช่วงนี้ของเจ้าหน้าที่เว็บวัดท่าขนุน ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ภาษา ไม่เข้าใจ ไม่อ่านกฎเกณฑ์กติกา ทำตาม "กฎกู" เท่านั้น จึงทำให้งานยืนยันตัวตนของสมาชิกใหม่ช้าลงไปมาก พอที่จะรวบรวมสาเหตุได้ดังนี้
๑. ตั้งชื่อผิดกฎ แล้วโดนลบทิ้ง โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ชื่นชมในนามสกุลตัวเองอย่างสุด ๆ จนเจ้าหน้าที่รับผิดชอบอยากถามว่า "มึงจะใส่นามสกุลมาให้ผิดทำไมวะ ?" ๒. ไม่ได้สมัคร แต่ส่งเอกสารและตั้งชื่อมาพร้อม บางคนถึงกับแจ้งโอนเงินมาเลย ซึ่งการกระทำแบบนี้ทางเว็บประกาศไว้ชัดแล้วว่า จะบันทึกไปเป็นการทำบุญตามศรัทธาให้ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูง ๓. ใส่ชื่อยูสเซอร์มาผิดมั่วไปหมด ต้องเอาอีเมล์ไปค้นหาถึงจะพบ โดยไม่ได้คิดว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องช้าลงไปอีกเท่าไร" |
1 Attachment(s)
"๔. หลายท่านยกชื่อคนในครอบครัวทั้งบ้านมาลงสมัครเพื่อจะเอาสิทธิ์ เช่น พ่อ แม่ ลูก พี่สาว น้องสาว พี่ชาย น้องชาย กระทั่งแม่ที่แก่มากจนไม่น่าจะเล่นอีเมล์เป็นก็มา ดังรูปข้างบน แม่นอนหลับอยู่ยังอุตส่าห์ถ่ายรูปมายืนยัน เหมือนกับว่าศพนี้ใช่แน่..! ๕. แจ้งข้อมูลเท็จโดยไม่กลัวผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ เช่น ชื่อยูสเซอร์เก่า รูปเด็กหญิงคอซอง แต่ใช้คำนำหน้าว่า "นาย" เป็นต้น ๖. คนไม่รู้จักรอ ส่งอีเมล์ซ้ำมาเรื่อย ๆ คนละอย่างน้อย ๔ - ๕ อีเมล์ บางคนส่งมาในวันเดียวกันหลายครั้งด้วยเอกสารชุดเดิม ทำให้กล่องข้อความเต็ม พอเจ้าหน้าที่เห็นอีเมล์เยอะ ๆ ก็เกิดนิพพิทาญาณอย่างแรงกล้า แล้วบรรลุสังขารุเปกขาญาณ ปล่อยวางทุกอย่าง..! คือ ขอไปทำอย่างอื่นที่น่าเบื่อน้อยกว่านี้ก่อน ทำให้เพื่อนเสียโอกาส และยิ่งช้าเข้าไปอีก" |
"๗. บางคนส่งอีเมล์มาทวงแล้วทวงอีก ว่าเกิน ๗ วันแล้ว ทำไมไม่อนุมัติหรือยืนยันตัวตนเสียที ? โดยไม่ตามอ่านประกาศใด ๆ เลย ก็ยิ่งทำให้อีเมล์ประดังเข้ามาจนล้นกล่อง จนเจ้าหน้าที่บังเกิดนิพพิทาญาณที่มั่นคงขึ้นไปทุกขณะ...!
๘. มีพวกที่สมัครทิ้งเอาไว้ ไม่ได้เข้าเว็บนานหลายชาติ แจ้งมาว่าลืมยูสเซอร์เนมบ้าง ลืมพาสเวิร์ดบ้าง ต้องเสียเวลาไปค้นหา แล้วเอามาสนองกิเลสของท่าน ก็ยิ่งทำให้งานอื่นล่าช้าลงไปอีก ๙. มีพวกสมัครหลายรอบเพื่อใช้สิทธิ์โดยใช้ชื่อต่าง ๆ กันไป เช่น nufu noofu fufu @.... แต่ดันใช้ชื่อ display name เหมือนกัน เลยจับได้ว่าเป็นคนเดียวกัน แต่บัตรประชาชนที่ส่งมาคนละชื่อกัน น่าจะขอเพื่อนที่สำนักงานมาลง แสดงให้เห็นว่าเพื่อนน่ารักมาก ยอมให้ใช้บัตรประชาชนโดยไม่ได้หวาดระแวงว่าจะเอาไปทำความผิด แต่ตัวคนสมัครทำได้ทุเรศมาก..!" |
๑๐. รายชื่อที่สมัครจัดเข้ามาเป็น "นอมินี" มาเยอะมาก บางบ้านก็มาทั้งครอบครัว ลูกสาวลูกชายแต่ละคนช่างเป็นอัจฉริยะเหลือเกิน ๓ ขวบ ๕ ขวบ ก็ใช้คอมพิวเตอร์เป็นแล้ว ทำเอาเจ้าหน้าที่แก่ ๆ รู้สึกอับอายขายหน้ามาก..!
๑๑. ที่ไม่รู้ว่าควรจะประทับใจหรือว่ารู้สึกทุเรศดีก็คือ สมาชิกเลขไอดีหลักร้อย เพิ่งจะส่งเอกสารมาขอยืนยันตัวตน ทั้งที่เราประกาศแจ้งไปหลายครั้งและหลายปีแล้ว ขณะนี้เรามีสมาชิกอยู่ที่ ๑๓,๕๑๗ รายนะพ่อคุณแม่คุณทั้งหลาย เพิ่งจะออกมาจากเมืองลับแลใช่ไหม ? ๑๒. มีพวกที่สติไม่ดีกว่านั้น ส่งอีเมล์ยืนยันตัวตนไปที่อีเมล์แจ้งโอนเงิน จึงละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าส่งผิด เจ้าหน้าที่ไม่ทำรายการช่องทางนั้นให้ จนกว่าท่านจะส่งไปถูกที่ ๑๓. พวกที่ไม่อ่านประกาศ กฎเกณฑ์ กติกามีเยอะมาก สมแล้วที่หลวงพ่อท่านว่า คนสมัยนี้มักง่าย แค่คนรอบข้างที่เข้าไปช่วยตอบคำถามแทนยังเกิดนิพพิทาญาณ จนท้อแทนเจ้าหน้าที่ ถึงกับออกอาการ "น้ำตาจิไหล" |
"เจ้าหน้าที่ของเราประกาศว่า ในเมื่อตั้งใจแล้วว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ก็ขอตายเพื่อชาติ..! อีเมล์ที่ยังเหลืออยู่ ๒,๕๙๖ ฉบับ จะพยายามอ่านและจัดการให้ตรงความประสงค์ของท่านโดยเร็วที่สุด
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาทุกท่านที่ไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่สนใจกฎเกณฑ์กติกาใด ๆ ทั้งสิ้น จนทำให้เจ้าหน้าที่บรรลุซึ่งนิพพิทาญาณและสังขารุเปกขาญาณ จนมั่นใจว่าสามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ในชาตินี้อย่างแน่นอน สาธุ..อนุโมทามิ..!" |
"คำขอร้องครั้งสุดท้ายจากเจ้าหน้าที่ก่อนจะไปพระนิพพานว่า ถึงท่านจะเรียนสูงขนาดไหนก็ตาม เก่งภาษาอังกฤษระดับสอบโทเฟลได้คะแนนเต็มก็ตาม กรุณาอย่าตั้งยูสเซอร์เนมเป็นภาษาอังกฤษ ต่อให้ตั้งเป็นภาษาไทยทับศัพท์อังกฤษก็ใช้ไม่ได้
ส่วนชื่อภาษาไทยกรุณาเอาที่เจ้าหน้าที่อ่านออกและแปลได้ นึกเสียว่ากราบเท้าขอร้องท่านก็แล้วกัน..!" |
พระอาจารย์กล่าวว่า "การเก็บตัวอยู่กับบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส covid-๑๙ หลังจากจมอยู่ในโลกโซเชียลจนกระทั่งเบื่อแล้ว ก็จะมีส่วนหนึ่งหันกลับมาหาเพื่อนเก่า คือ หนังสือ ซึ่งโดนหลงลืมไปนานแล้ว
จากผลงานวิจัยระบุไว้ว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแล้วคนละ ๘ บรรทัดต่อวัน แสดงว่าเอาของอาตมาไปเฉลี่ยให้กับคนที่ไม่อ่านหนังสือเยอะมาก เนื่องจากว่าอาตมาเฉลี่ยแล้วอ่านหนังสือที่มีความหนา ๓๐๐ หน้าประมาณวันละ ๑ เล่ม ช่วงสมัครเข้าเรียนปริญญาเอก ท่านอาจารย์ผู้สอนให้คำแนะนำว่า ถ้ายังอ่านหนังสือมาไม่ถึง ๓,๐๐๐ เล่ม ยังไม่ควรที่จะมาเรียนปริญญาเอก เพราะว่าแนวความคิดยังไม่กว้างขวางครอบคลุมพอ อาตมาเรียนถามท่านอาจารย์ว่า "ถ้าอ่านเกิน ๓,๐๐๐ เล่มไปหลายเท่าตัว สามารถรับปริญญาเอกโดยไม่ต้องเรียนได้ไหมครับ ?" ท่านอาจารย์ก็ยังคิดว่าอาตมาพูดเล่น โดยไม่รู้ว่าอาตมาอ่านหนังสือหมดห้องสมุดตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้น ป.๒..!" |
"แม้ว่าจะเป็นห้องสมุดโรงเรียนประถมต่างจังหวัด ก็ต้องมีหนังสือนับพันเล่มอยู่แล้ว พอมาเรียนชั้นมัธยมก็อ่านหนังสือหมดไปอีก ๑ ห้องสมุด ถ้านับแค่ช่วงจบมัธยมก็น่าจะอ่านไปเกิน ๓,๐๐๐ เล่มแล้ว
ช่วงที่เรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.๒ อาตมาอ่านหนังสือทุกเล่มที่พบ เพราะต้องการที่จะ "อ่านหนังสือให้แตก" คำโบราณนี้มาจากคำว่า "อ่านหนังสือให้แตกฉาน" ก็คือสามารถอ่านหนังสือได้ทุกเรื่อง ทุกเล่ม ทุกประเภท โดยเฉพาะคืออ่านออกทุกคำ..! เมื่อเป็นเช่นนั้น อาตมาจึงอ่านหนังสือที่คนเห็นว่ายากมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเรื่องแปลจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์ วัทเธอริ่งไฮม์ เดอะเรดโพนี่ ดิโอลด์แมน แอนด์ เดอะซี เป็นต้น" |
"ที่ครูทุกท่านเห็นแล้วขำกลิ้งก็คือ อ่านตำราเพศศึกษาของด็อกเตอร์คินซีย์ ซึ่งมีคำแปลทับศัพท์ภาษาอังกฤษมากที่สุด ต้องไปถามครูมากที่สุดว่าแต่ละคำอ่านว่าอะไร ?
เด็กชั้นประถมปีที่ ๒ ถือหนังสือตำราเพศศึกษา ไปเที่ยวไล่ถามครูทุกท่านที่พบว่า "คำนี้อ่านว่าอย่างไรครับ ?" จนครูหลายท่านถามกลับมาว่า "เธอจะอ่านหนังสือแบบนี้ไปทำอะไร ?" เมื่อได้รับคำตอบว่า "ผมต้องการอ่านหนังสือให้แตกครับ" คุณครูก็เปลี่ยนจากท่าทีขบขัน กลายเป็นเอาจริงเอาจัง พยายามสอนให้ว่า คำนี้อ่านว่า ซิ - ฟิ - ลิด คำนี้อ่านว่า ออ - แก๊ด - ซ่ำ เป็นต้น ส่วนหนังสือหลายเล่มที่หนามาก ไม่มีใครยืมอ่านเลย อย่างเช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน รามเกียรติ์ พระราชพิธีสิบสองเดือน หรือที่อ่านยาก เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย สามัคคีเภทคำฉันท์ ก็จะมีชื่อของ "เด็กชายเล็ก" ลงในช่องยืมและส่งคืนอยู่คนเดียว" |
"เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ (ม.ศ.๓) อาตมาไม่สามารถที่จะเรียนต่อได้ เพราะว่าสู้ค่าเทอมประมาณ ๓๐๐ บาทไม่ไหว อ่านมาถึงตรงนี้แล้วโปรดอย่าได้หัวเราะ ตอนช่วงเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ค่าเทอม ๒๒๐ บาท ยังต้องรอจนเกือบจะถึงวันสุดท้ายของเทอมสุดท้ายทุกครั้ง จึงจะสามารถหามาจ่ายได้
เพราะว่าโยมแม่มีลูก ๑๓ คน และมีนโยบายส่งลูกทุกคนให้เรียนหนังสือ โดยมีแนวคิดที่ว่า "แม่ไม่รู้หนังสือ ทำอะไรก็เสียเปรียบเขา เพราะฉะนั้น..ลูกต้องเรียน" เมื่อเป็นเช่นนั้น พอเรียนไปได้ถึงระดับหนึ่ง ที่พออ่านออกเขียนได้ พี่ ๆ ก็ต้องออกจากโรงเรียน เพื่อให้น้องได้มีโอกาสเรียนบ้าง ส่วนมากก็เรียนจบแค่ชั้น ป.๔ บ้าง ป.๗ บ้าง มีอาตมาซึ่งอยากเรียนหนังสือมาก ทำงานรับจ้างหลังเลิกเรียน และวันเสาร์-วันอาทิตย์ เก็บเงินเพื่อเรียนหนังสือ ซึ่งทั้งงานและรายได้ก็ไม่ได้มีมากพอ จึงต้องเลิกเรียนเมื่อจบแค่ชั้น ม.ศ. ๓ เท่านั้น" |
"เมื่อออกมาทำงานเป็นลูกจ้างฝึกหัด อาศัยอยู่กินกับเถ้าแก่ กว่าจะเรียนรู้จนมีฝีมือพอที่จะเป็นช่างได้ ก็ต้องทำงานให้เขาฟรีอยู่ถึง ๓ ปี
เมื่อทำงานเป็นช่างรับค่าแรงครั้งแรก เงินเดือนออกเป็นรายอาทิตย์ ที่เรียกกันว่า "เงินวีค" แต่มักจะออกเสียงเป็น "เงินวิก" กันหมด ค่าแรงที่ได้รับเป็นรายวัน วันละ ๒๕ บาท ทำงาน ๖ วันหยุด ๑ วัน เซ็นรับเงิน ๑๕๐ บาทครั้งแรก มือไม้สั่นเพราะความดีใจ เอาเงินไปให้แม่ ๑๐๐ บาท เก็บไว้ใช้เอง ๕๐ บาท" |
"อาศัยว่ามื้อเช้าและมื้อเย็นกินอยู่กับที่บ้าน ที่ทำงานห่างไปแค่ ๕ - ๖ กิโลเมตร ก็ใช้วิธีเดินไปทำงาน จึงมีรายจ่ายเฉพาะค่าอาหารกลางวัน ถ้าจะกินหรูอยู่สบายหน่อยก็ข้าวผัดไข่เจียว จานละ ๕ บาท
ถ้าช่วงประหยัด ก็ซื้อซาลาเปา ๒ ลูก ราคาลูกละ ๖ สลึง แต่ละลูกใหญ่ประมาณฝ่ามือกาง ๆ เจอเข้าไป ๒ ลูกก็จุกแล้ว..! หรือถ้าช่วงไหนประหยัดมากขึ้นไปอีก ก็ซื้อกล้วยหอม ๒ ลูก กินแทนอาหารกลางวัน ราคาลูกละ ๕๐ สตางค์เท่านั้น ถ้าซื้อยกทั้งหวีก็ ๖ บาท แต่เก็บไว้ไม่ได้นาน มักจะดำเสียก่อนที่จะกินหมด ถ้าท่านถามว่าจะประหยัดไปถึงไหน ? ก็แค่ประหยัดเพื่อให้มีเงินไปซื้อหนังสืออ่าน ช่วงนั้นเรื่องเพชรพระอุมา ออกเป็นหนังสือปกแข็ง ๑๘ เล่ม ราคาปกเล่มละ ๓๕ บาท ลดครึ่งราคาเหลือเล่มละ ๑๗ บาท ๕๐ สตางค์ ไปเจอเจ้าของร้านใจดี เห็นว่าอาตมาต้องการหนังสือจริง ๆ จึงจัดแยกออกมาให้ชุดหนึ่ง ๑๘ เล่ม โดยมีสัญญาสุภาพบุรุษว่า ชุดนี้จะไม่ขายให้ใคร เมื่อหาเงินได้ครบ ๑๗ บาท ๕๐ สตางค์ ก็ไปรับมาเป็นของตนได้ ๑ เล่ม" |
"ส่วนนิยายยุทธจักรกำลังภายใน ช่วงนั้นมีนักแปลหลายท่าน เช่น เทียร จันทรา แปลเรื่อง นางพญางูขาว สุรพล นิติวัฒนา แปลเรื่อง ฝ่ามือพิชิต ว. ณ เมืองลุง แปลเรื่อง กระบี่ล้างแค้น จำลอง พิศนาคะ แปลเรื่อง มังกรหยก
ที่อ่านแล้วอยากได้เป็นเจ้าของก็คือ มังกรหยก จึงต้องเก็บเงินซื้อทีละเล่มต่อไป จากนั้นก็เก็บเงินซื้อชุด บ้านเล็กในป่าใหญ่ ของ ลอรา อิงกัลลส์ ไวเดอร์ แปลโดย สุคนธรส กว่าจะเก็บหนังสือได้แต่ละชุดก็เสียเวลาไปเป็นปี เรื่องหนังสือนี้เล่าเท่าไรก็ไม่รู้จักหมด ก่อนที่จะบวชอาตมาบริจาคหนังสือทั้งหมด ให้กับห้องสมุดโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา ส่วนสำคัญที่ได้รับจากหนังสือเหล่านี้ก็คือ ประสบการณ์ต่าง ๆ ของผู้เขียน หนังสือแต่ละเล่มผู้เขียนใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิตเขียนขึ้นมา ถ้าเขาอายุ ๕๐ ปี ก็คือเราจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ทั้ง ๕๐ ปีนั้นไปด้วย เป็นการเรียนรู้โดยวิธีลัด ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง" |
"ส่วนหนึ่งก็คือการชอบอ่านหนังสือ ทำให้ไม่มีเวลาไปหัวหกก้นขวิดแบบวัยรุ่นคนอื่น และที่สำคัญเมื่อโยมพ่อตายในปี ๒๕๑๘ พี่ก้องเกียรติส่งหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ ชื่อ คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน เขียนโดย ฤๅษีลิงดำ
เมื่ออ่านดูแล้วรู้สึกเหมือนกับได้เปิดโลกทรรศน์ใหม่ ทำให้รู้จักวิธีการฝึกสมาธิ รู้วิธีการฝึกกสิณอภิญญา จึงหันมาทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมแบบที่คนอื่นว่า "บ้า" นี่เป็นผลพลอยได้จากการชอบอ่านหนังสือที่ชัดเจนที่สุด ก็คือนำอาตมาเข้ามาสู่สายการปฏิบัติธรรม จนสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ที่อาตมาเป็นอาตมาได้ในทุกวันนี้ สาเหตุหลักก็เพราะการอ่านหนังสือนั่นเอง ดังนั้น..ในช่วงที่ต้องเก็บตัว เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-๑๙ หลายท่านก็คงมีโอกาสขุดกรุหนังสือขึ้นมาอ่าน ได้แต่หวังว่าจะช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าทำดีทำถูกจนกลายเป็นพระอริยเจ้าไป ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ประเสริฐอย่างที่สุดแล้ว" |
"เมื่อมาบวชแล้ว ในช่วงแรกอ่านหนังสือน้อยลง เพราะว่าต้องทุ่มเทเวลาให้กับการปฏิบัติธรรม จนกระทั่งสามารถฝึกให้อ่านหนังสือไปพร้อมกับภาวนาไปด้วยกันได้ จึงกลับมาอ่านหนังสือใหม่อย่างเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง
ตอนแรกก็พยายามใช้งบประมาณในการซื้อหนังสือแต่ละเดือน จำกัดอยู่ในวงเงิน ๓,๐๐๐ บาท แต่ก็ไม่ค่อยจะพอ ยิ่งถ้าช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ บางทีก็จ่ายค่าหนังสือเกินงบประมาณไปเป็นเท่าตัว" |
"ญาติโยมหลายท่านเห็นอาตมาชอบอ่านหนังสือมาก พยายามซื้อหนังสือมาถวาย ซื้อมาทีไรก็เป็นหนังสือที่อาตมาอ่านแล้วทุกที ไม่ว่าจะเป็นเล่มไหนแนวไหน ก็อ่านแล้วไปแทบทั้งนั้น จนหลายคนออกปากว่า "หลวงพ่ออ่านหนังสือแนวไหนกันแน่ ?"
อาตมาอ่านหนังสือทุกเล่มที่มี ไม่ต้องเสียเวลาหาแนวในการอ่าน ถ้าขืนเลือกอ่านก็จะมีหนังสือไม่พอให้อ่าน ปัจจุบันนี้มอบความไว้วางใจให้ "ไอ้ตัวเล็ก" ซื้อหนังสือส่วนหนึ่งให้ เพราะว่าอ่านหนังสือประเภทนั้นในแนวเดียวกัน ได้แต่หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะอ่านหนังสือเกิน ๘ บรรทัดต่อปี จะได้มาช่วยกันเฉลี่ยจำนวนการอ่านหนังสือของคนไทยให้มากขึ้นไปอีกสักหน่อย ภาษิตจีนกล่าวว่า "เดินทางหมื่นลี้ดีกว่าอ่านหนังสือหมื่นเล่ม" แต่ถ้าท่านไม่อ่านหนังสือสักเล่ม ขาดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต อาจจะตายตั้งแต่กิโลเมตรแรกของการเดินทางก็เป็นได้..!" |
พระอาจารย์กล่าวว่า "วันพฤหัสบดีที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ เป็นวันเริ่มโครงการแห่งทานบารมี ของชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน ซึ่งประกอบด้วย ๓ ชุมชนคุณธรรมย่อย ได้แก่ ชุมชนคุณธรรมวังท่าขนุน ชุมชนคุณธรรมริมฝั่งแควน้อย และ ชุมชนคุณธรรมพัฒนาทองผาภูมิ
แล้วยังมีหน่วยงานคุณธรรมสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ สภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ และกลุ่มรักษ์ทองผาภูมิ ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่า หลังจากที่ทำหน้ากากอนามัยพอเพียงแก่บุคคลในชุมชนใช้งานแล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-๑๙ ยังไม่บรรเทาลง ก็ควรที่จะทำโครงการอื่นเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไป" |
"เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ในเบื้องต้นอาตมาให้ทุนสำหรับดำเนินการ ๓๐,๐๐๐ บาท ท่านผู้กำกับจิรายุส (พ.ต.อ.จิรายุส วาณิชกูล ผกก.สภ.ทองผาภูมิ) พร้อมกำลังพลรวบรวมมาให้ ๑๔,๓๐๐ บาท พร้อมทั้งให้ใช้สถานที่ศูนย์ลดอุบัติเหตุทางการจราจร สภ.ทองผาภูมิ เป็นที่ดำเนินโครงการ
รองฯ ปาล์ม (นายศราวุธ ศรีทันดร รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลทองผาภูมิ) ในนามชุมชนคุณธรรมวังท่าขนุน มอบเนื้อไก่สด ๑๐๐ กิโลกรัม และพร้อมที่จะให้เพิ่มอีกถ้าทางโครงการต้องการ สภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ และชุมชนคุณธรรมในสังกัดวัดท่าขนุนทั้ง ๓ แห่ง จัดหาแม่ครัวมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในการประกอบอาหาร หน่วยงานคุณธรรมสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ จัดหากำลังพลมาช่วยจัดระเบียบในการเข้าซื้ออาหาร" |
"หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่แจกฟรี ? ขอบอกว่าที่ไม่แจกฟรีเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน
๑. ถ้าแจกฟรีแล้วควบคุมได้ยาก ทำมาเท่าไรก็ไม่พอ ทุนหายกำไรหด เหนื่อยฟรีโดยที่ไม่มีอะไรกลับคืนมาเลย ถ้าเป็นโครงการระยะยาวจะทำกันไม่ไหว ๒. คนเรามีศักดิ์ศรี ที่ไม่ชอบของฟรีนั้นมีมาก หลายท่านถ้าหากให้ฟรีจะไม่มารับเลย จึงทำเป็นโครงการจำหน่ายอาหารกล่องราคาถูก ราคากล่องละ ๑๐ บาท โดยพยายามให้มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน คนที่เดือดร้อนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัส covid - ๑๙ สามารถซื้อกินได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ๓. เมื่อมีเงินทุนหมุนเวียน ก็สามารถทำโครงการระยะยาวได้ ในเบื้องต้นตั้งเป้าไว้ที่ ๑ เดือน คือตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบมากนักกับผู้ที่มีอาชีพขายอาหารประจำ ข้อกังวลที่เกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อผู้ที่มีอาชีพขายอาหารประจำนั้น เมื่อคณะกรรมการที่มาช่วยประกอบอาหารแสดงตัวขึ้น ทุกหน่วยงานก็โล่งใจ เพราะว่าเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพในการขายอาหารเป็นประจำแทบทั้งนั้น ในเมื่อมีคนเข้าร้านน้อย ทำไปก็ขายไม่หมดหรือขายไม่ได้ อาจจะทำให้ขาดทุนอีกด้วย จึงสละแรงกายแรงใจมาช่วยเหลือส่วนรวมดีกว่า" |
"อาตมาในฐานะเจ้าภาพหลัก และเป็นหลักใจของทุกชุมชน จึงเดินทางไปร่วมงานตั้งแต่สิบโมงเช้า ท่านผู้กำกับจิรายุส ในฐานะเจ้าของสถานที่ ต้องโดดประชุมเป็นระยะเพื่อมาต้อนรับพระอาจารย์ จนบรรดาแม่ครัวหัวป่าก์เตรียมอาหารเสร็จ ก็เป็นพิธีมอบเงินช่วยเหลือโครงการ
เมื่ออาตมาและท่านผู้กำกับจิรายุส มอบเงินช่วยเหลือเสร็จแล้ว ทางคณะกรรมการก็ถวายอาหารที่ทำขายมา ๒ กล่อง จนมีเสียงแซวจากท่านรองผู้กำกับ (พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ วิเศษสิงห์ รอง ผกก.สภ.ทองผาภูมิ) ว่า "ไหนว่ากล่องละ ๑๐ บาท นี่เล่นหลวงพ่อซะกล่องละ ๑๕,๐๐๐ บาท..!" ทำเอาได้หัวเราะกันอย่างครื้นเครง" |
"ประมาณบ่ายสามโมง รองฯ พนอ รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ ประธานชุมชนคุณธรรมริมฝั่งแควน้อย เดินทางมารับข้าวสาร ๑๕๐ กิโลกรัม และบะหมี่สำเร็จรูป ๕๐๐ ซอง เพื่อนำไปเข้าโครงการในวันต่อไป
รองฯ พนอ แจ้งว่า วันนี้มีบุคคลมาใช้บริการข้าวกล่องราคาถูก ๑๗๐ คน มีรายรับเข้าโครงการ ๒,๐๑๐ บาท ทำให้อาตมาโล่งใจ เนื่องจากว่าการดำเนินการวันแรก ยังมีคนรู้น้อย ก็มีผู้มาใช้บริการขนาดนี้แล้ว วันต่อ ๆ ไปมีแต่จะมากขึ้นไปเรื่อยอย่างแน่นอน ผอ.โม้ย (นางสาวสุภาภรณ์ เจริญศิริโสภาคย์) ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเห็นรายงานประจำวันที่อาตมาส่งไปให้ บอกว่า "อายมากเจ้าค่ะหลวงพ่อ ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เงินชุมชนละ ๓๐๐ บาท แล้วจะเอางานโน่นนี่นั่นจากชุมชนทุกวัน แต่หลวงพ่อและพี่ ๆ บริจาคเงินกันทีเป็นหมื่น ๆ ออกทั้งเงินออกทั้งแรง โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ เลย" |
"อาตมาบอกไปว่า ทางราชการติดด้วยระเบียบและขั้นตอนการใช้เงิน ส่วนทางชุมชนเราไม่มีระเบียบตรงนี้ ของสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมินั้น เราก็ทำเอกสารใช้เงินย้อนหลังได้ และทุกคนก็พร้อมใจกันช่วยงานส่วนรวม เป็นการปฏิบัติตามแนวทาง "บวร" ซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีของรัฐบาล ที่กำหนดให้ บ้าน วัด โรงเรียน และหน่วยราชการ เป็นหลักในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
สิ่งที่พวกเราทำจากใจนั้น พอดีสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ถึงจะมีหรือไม่มียุทธศาสตร์นี้ เราก็ยังคงทำต่อไป เพราะว่าเป็นการทำดีด้วยความอยากทำ ไม่ได้ทำดีเพราะอยากได้ดี พวกเราจึงทำได้ทน ทำได้นาน แต่ถ้าทำเพราะอยากได้ดี เมื่อไม่มีความดีตอบแทน ก็จะท้อถอยและหมดกำลังใจไปเอง ได้แต่หวังว่าโครงการนี้คงไม่ต้องเริ่มโครงการระยะที่ ๒ รัฐบาลสามารถจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-๑๙ และยกเลิกประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในยามค่ำคืน ให้ทุกภาคส่วนสามารถประกอบอาชีพต่อได้ตามปกติโดยเร็ว" |
"การได้เป็นผู้ให้นั้น ก่อให้เกิดความปีติขึ้นในจิตใจ สามารถสละออกเป็นการตัดความโลภ ที่เป็น ๑ ใน ๔ กิเลสใหญ่ ซึ่งร้อยรัดเราให้ติดอยู่ในวัฏสงสาร เหมือนกับโต๊ะที่มี ๔ ขา เมื่อเราสามารถตัดขาโต๊ะทิ้งไปได้ข้างหนึ่ง ที่เหลือก็ไม่ใช่ของยากแล้ว เพราะว่าใช้กำลังในการตัดเท่ากัน เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการเล็กน้อยเท่านั้นเอง
หวังว่าโครงการแบ่งปันในฐานะผู้ให้ครั้งนี้ จะก่อเกิดแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ร่วมมือกันกระทำตามมากยิ่งขึ้น สร้างความรักใคร่สามัคคีขึ้นในท้องถิ่น ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชาติของเรา ทั้งยังทำให้กิเลสในจิตในใจของเรานั้นเบาบางลง หนทางแห่งการก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานก็สั้นลงไปด้วย ขออนุโมทนากับทุกหน่วยงานที่มาร่วมมือกันทำความดีครั้งนี้ และขออนุโมทนากับทุกท่านที่ร่วมกันมาใช้บริการจากโครงการนี้ เงินจำนวน ๑๐ บาทที่ท่านนำมาร่วมโครงการ จะช่วยให้สามารถดำเนินงานได้ต่อไปในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ขอให้ทุกท่านมีส่วนในบุญกุศลครั้งนี้โดยทั่วหน้ากันเทอญ" |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง สังคมก็แข็งแกร่งไปด้วย ถ้าช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็ต้องช่วยเหลือคนในครอบครัวด้วย ถึงจะเรียกว่าทำหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์"
|
"ปกติแล้ววัดท่าขนุนมีกิจนิมนต์ค่อนข้างมาก เกิดจากสาเหตุที่ว่าวัดมีพระภิกษุสงฆ์มากประการหนึ่ง เกิดจากศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อหลวงปู่สาย อดีตเจ้าอาวาสอีกประการหนึ่ง แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-๑๙ กิจนิมนต์ทั้งหมดก็โดนยกเลิกทั้งหมด
ในเมื่อเป็นเช่นนี้ พระภิกษุสามเณรจึงไม่มีรายได้เลย มีหลายท่านที่ค่อนข้างเคร่งครัดต่อพระวินัย อาจจะมีคำถามว่า "พระเณรจำเป็นต้องมีรายได้ด้วยหรือ ?" เรื่องนี้ต้องคุยกันยาวครับท่านสารวัตร..!" |
"ถ้าเป็นสมัยที่อาตมายังเด็กอยู่ พระภิกษุสามเณรไม่จำเป็นต้องมีรายได้ก็อยู่ได้ เพราะว่าเดินทางด้วยยานพาหนะอะไรก็ฟรี แวะฉันอาหารที่ร้านไหนเจ้าของก็ถวายฟรี ยกเว้นว่าซื้อข้าวของจำเป็นบางอย่าง ซึ่งส่วนมากเจ้าของร้านก็คิดแค่ราคาทุน ไม่เอากำไรกับพระภิกษุสามเณร
แต่ยุคสมัยปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ว่าพระภิกษุสามเณรจะกระทำสิ่งหนึ่งประการใดก็ตาม ต้องอาศัยเงินทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ ปัจจุบันนี้ถ้าพระภิกษุสามเณรไม่มีรายได้ ก็ไม่สามารถที่อยู่ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้ อาตมาจึงต้องเยียวยาพระภิกษุสามเณรภายในวัด ตลอดถึงแม่ชีทั้งหมด ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-๑๙ ในครั้งนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าเจ้าอาวาสอยู่ได้แล้ว พระภิกษุ สามเณร แม่ชี จะเป็นอย่างไรก็ช่าง ? ถ้าอย่างนั้นท่านมีสิทธิ์ที่จะได้อยู่คนเดียว เพราะว่าเมื่อคนอื่นทนความเห็นแก่ตัวของท่านไม่ไหว เขาก็จะจากไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเหมาะสมกว่าที่จะอยู่กับท่าน" |
"สมัยที่อาตมายังเป็นรองเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน เห็นความลำบากของสามเณรและแม่ชี ซึ่งไม่มีเงินจะใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ก็คิดเอาไว้แล้วว่า ถ้าต้องเป็นเจ้าอาวาสเมื่อไร สิ่งหนึ่งที่จะทำก็คือ ตั้งเงินเดือนให้กับสามเณรและแม่ชี เพราะว่าสามเณรและแม่ชีไม่มีกิจนิมนต์เหมือนกับพระ
เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสแล้วก็ได้ทำตามความตั้งใจของตน แล้วยังเพิ่มเติมเข้าไปอีกหลายอย่าง เช่น กิจนิมนต์ทุกครั้งแต่เดิมเจ้าอาวาสต้องเป็นหัวแถว ในการเจริญพระพุทธมนต์หรือสวดพระพุทธมนต์ ตามแต่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืออวมงคล เมื่ออาตมาเป็นเจ้าอาวาส ก็บอกกับพระภัตตุเทศก์ผู้จัดกิจนิมนต์ว่า ให้เห็นเจ้าอาวาสเป็นพระธรรมดารูปหนึ่ง จัดกิจนิมนต์ไปตามคิว ถ้าไม่ถึงคิวก็ไม่ต้องไป เป็นการฝึกฝนพระภายในวัด ให้รู้จักรับผิดชอบในฐานะหัวแถวด้วย" |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:21 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.