![]() |
เรื่องการบำเพ็ญสมาธินั้น พระองค์แสดงเข้าถึงจิตใจโดยตรง เมื่อแสดงให้แก่พระสาวกองค์ใดองค์หนึ่ง ทรงพิจารณาถึงนิสัยวาสนาของบุคคลนั้น ๆ ว่าเคยบำเพ็ญมาอย่างไร พระองค์ก็แสดงถึงจุดนั้นเลย ท่านผู้ฟังก็พิจารณาตามถึงเหตุผล จนรู้ด้วยตนเองชัดแจ้งประจักษ์ในใจของตนเอง จึงถึงมรรคผลเป็นองค์ ๆ ไป
ดังพระจูฬปันถกะ ผู้เรียนหนังสือยาก พี่ชายให้เรียน ๔ บาทพระคาถา จน ๓ เดือนล่วงไปแล้วก็ไม่ได้อะไร จึงขับหนีออกจากสำนักของตน เมื่อหนีไปพบพระพุทธเจ้าจึงรับสั่งว่า “ทำไมจึงหนีมา” ก็เล่าเหตุการณ์ให้พระพุทธเจ้าฟัง พระพุทธเจ้าจึงว่า “ มา ณ ที่นี้ เราจะสอนกรรมฐานให้ง่าย ๆ” แล้วยื่นผ้าขาวให้ท่อนหนึ่งและให้ท่องว่า “รโชหรณํ ๆ” เมื่อขยี้ผ้าไปโดยพิจารณาเห็นผ้านั้นค่อย ๆ สกปรกขึ้น ๆ โดยลำดับ จิตใจของท่านเกิดสลดสังเวช ท่านจึงได้บรรลุอรหัตผลและมีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขึ้น หมอชีวกโกมารภัจนิมนต์พระองค์พร้อมด้วยพระสาวกไปรับบิณฑบาตที่บ้าน พระองค์มองไปไม่เห็นพระจุฬปันถกะ จึงว่าพระสงฆ์ยังมาไม่หมด จึงให้ไปตามที่วัด คนไปตามจึงเรียกพระจุฬปันถกะ พระทั้งวัดก็ขานเป็นคำเดียวกันขึ้น คนไปนิมนต์จึงกลับมากราบทูลพระพุทธเจ้าว่าพระมีมากมายหลากหลาย ข้าพระพุทธเจ้าเรียกพระจุฬปันถกะก็ขานรับกันหมด พระพุทธเจ้าจึงแนะนำว่า องค์ใดขานก่อนจงจับชายจีวรองค์นั้นให้มา ณ ที่นี้ เมื่อคนใช้ทำดังกล่าวก็ได้พระจูฬปันถกะเข้าไปในที่สมาคมดังนี้เป็นต้น ถึงองค์อื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพระองค์พิจารณาถึงนิสัยวาสนาที่เขาเคยทำมาแต่เมื่อก่อนแล้ว พระองค์ก็สอนธรรมะ บทบาทคาถาแก่ท่านองค์นั้นเป็นเรื่อง ๆ ไป ท่านเหล่านั้นเมื่อพิจารณาตามคำสอนของพระองค์ ก็รู้ชัดแจ้งในธรรมนั้น ๆ ด้วยใจของตนเอง จึงสำเร็จมรรคผลนิพพานมากมาย แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็มิได้วิวาทซึ่งกันและกันด้วยทิฐิมานะ มีสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ด้วยวิหารธรรมเป็นสุขตลอดกาล หมายเหตุ : ทดลองแก้ไขรูปแบบของข้อความ อันอาจจะทำให้อ่านได้สะดวกขึ้น |
มีภาษิตโบราณภาคอีสานสอนไว้ว่า
คนสามบ้านกินน้ำบ่อเดียว เทียวทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน |
อ้างอิง:
เนื้อความยังมีอีกไม่กี่หน้า แต่ขึ้นหัวข้อใหม่พอดี จึงจะลองจัดข้อความตามรูปแบบตามที่ท่านพี่แนะนำมาค่ะ โดยอาจจัดตามความเหมาะสม เช่นเป็นเรื่องเล่า เป็นต้น |
ปัญญาวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นยอดเยี่ยมของปัญญาในพระพุทธศาสนา เป็นคู่กับสมถะคือสมาธินั่นเอง ท่านผู้รู้บางท่านถือว่าสมถะเป็นเรื่องหนึ่ง วิปัสสนาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้เจริญสมถะไม่ต้องเจริญวิปัสสนา เมื่อเจริญสมถะแก่กล้าแล้ว จึงค่อยเจริญวิปัสสนา ความข้อนั้นไม่จริง ตามความเป็นมา ผู้เจริญสมถะมักต้องเจริญวิปัสสนาเป็นคู่กันไป เช่น เจริญสมถะต้องพิจารณาธาตุ ๔ อินทรีย์ ๖ เป็นต้น ในขณะที่เจริญสมถะมันต้องมีอารมณ์กระทบกระเทือน จำเป็นต้องใช้วิปัสสนาคือพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงจะละอารมณ์นั้นได้ เจริญสมถะมันต้องมีอารมณ์ขัดข้องบางอย่างบางประการเหลือวิสัยสมถะที่จะแก้ได้ จำเป็นที่จะต้องใช้วิปัสสนาหรืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฟาดฟันอารมณ์ให้ขาดกระจุยไป สมถะจึงจะตั้งอยู่ได้ ถ้าใช้แต่สมถะเพียงอย่างเดียว กว่าจะเจริญวิปัสสนา สมถะก็เสื่อมหมดแล้ว |
ท่านอุปมาอุปไมยไว้น่าฟังว่า นักรบสมัยก่อนเป็นผู้เชี่ยวชาญอาจหาญในกลวิธีออกรบข้าศึกแล้วก็กลับเข้าสู่พระนคร ปิดประตูค่ายคูหอรบให้มั่นคง บำรุงกำลังทหารและอาหารให้สมบูรณ์เพียงพอแล้วจึงออกต่อสู้รบอีก นี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด
|
วิปัสสนาปัญญาในพระพุทธศาสนาเป็นวิชาอันสูงสุดใช้คู่กับสมถะตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด
ถ้าไม่มีสมถะ ปัญญาวิปัสสนาก็ไม่เจริญ แต่ถ้ามีปัญญาวิปัสสนาไม่มีสมถะ ปัญญาก็ทู่ ขอให้ผู้ทำความเพียรพิจารณาดูขณะใดที่เจริญสมถะให้แก่กล้า วิปัสสนาเป็นไปเอง โดยพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเวลาใดสมถะอ่อน ปัญญาวิปัสสนาก็ทื่อ ตั้งแต่ต้นเจริญสมถะ มีสมถะเข้มแข็ง ปัญญาวิปัสสนาจึงจะก้าวหน้า สมถะและวิปัสสนาจะคู่กันไปจนตลอดถึงที่สุดของพรหมจรรย์ |
วิปัสสนาเป็นปัญญาขั้นเด็ดขาด จึงอาจก้าวล่วงพ้นโลกีย์วิสัยไปได้
ดังเห็นในเรื่องจิตติดขัดในอารมณ์เล็กน้อยจะปล่อยวางก็ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิปัสสนาอย่างเด็ดขาด คือให้มีวิปัสสนาและความสละชีวิตเป็นที่สุด จึงละอารมณ์นั้น ๆ ได้ วิปัสสนาเป็นปัญญาอันยอดเยี่ยมในพระพุทธศาสนา ผู้เจริญวิปัสสนาจะต้องละชีวิตพร้อมด้วย วิปัสสนาอันเด็ดเดี่ยวเรียกว่า ทำจิตให้กล้าหาญ ละทิ้งสละโลกไม่อาลัยอาวรณ์ เป็นคำสอนอันเด็ดเดี่ยวที่เหนือโลก |
ขอสรุปใจความย่อ ๆ ในหนังสือเล่มนี้ว่า พระคณาจารย์ทั้งหลายที่ได้ศึกษาเรื่องจิต-ใจ ยังไม่เข้าใจแจ้งชัด ขอได้โปรดอย่าไปสอนสานุศิษย์ทั้งหลาย เพราะอาจเป็นบ้าเป็นบอไปก็ได้ ขายขี้หน้าพาหิรกะภายนอกศาสนา เพราะศาสนาพุทธสอนให้เข้าถึงจิต-ใจ แต่ผู้สอนไม่เข้าถึงจิต-ใจ จึงทำให้ลูกศิษย์เห็นผิด เกิดวิปลาสเป็นบ้าไปต่าง ๆ นานา แล้วก็ทอดทิ้งให้ระเกะระกะอยู่ทั่วไป ผู้เขียนได้ประสบเรื่องนี้มามากแล้ว ถ้าผู้นั้นยังพอมีสติอยู่ ก็พอพูดกันรู้เรื่องบ้าง ถ้าเป็นมาก ก็พูดไม่รู้เรื่องกัน แล้วก็เลยพากันทอดทิ้งกันหมด น่าสงสารจริง ๆ
พุทธศาสนาสอนให้เข้าถึงจิต-ใจ ให้มีสติควบคุมจิตของตนให้เป็นคนดีเรียบร้อย แต่ว่าผู้สอนกลับสอนตรงกันข้าม จึงเป็นหนทางให้เสื่อมพุทธศาสนา คนภายนอกก็เลยพากันเห็นว่าพุทธศาสนาสอนให้คนเป็นบ้า |
พุทธศาสนาแท้สอนให้เข้าถึงจิต-ใจ จิตคือผู้คิด ผู้นึก ผู้ส่งส่ายไปในสิ่งต่าง ๆ เรียกว่า จิต ใจคือผู้อยู่เฉย ๆ ตั้งอยู่ในท่ามกลางสิ่งทั้งปวงไม่มีดี-ชั่ว ไม่คิดหยาบ-ละเอียด ให้นึกก็ได้ให้คิดก็ได้ แต่เรื่องเหล่านั้นเป็นของวุ่นวาย จึงให้อยู่เฉย ๆ ไม่คิดนึกอะไรเลย เรียกว่า ใจ |
อาการของจิตได้แก่ ความคิดส่งส่ายวุ่นวายไปในที่ทั้งปวงจนไม่มีขอบเขต
อาการของจิตนี้จะเรียกว่า ปัญญาก็ได้ หรือเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิก็ได้ ถ้าสติควบคุมให้อยู่ในขอบเขตของสติก็เรียกว่า ปัญญา ตามภาษาของพระกัมมัฏฐาน เรียกว่า รู้ทัน คือจิตจะคิดอย่างไรในสิ่งใด สติก็ตามทัน หรือจะเรียกว่า รู้เท่า ก็ได้ คือจิตคิดเรื่องอะไร สติก็รู้ทัน ไม่เกินไม่ยิ่งไม่หย่อน เมื่อสติรู้เท่า รู้ทัน เรื่องเหล่านั้นก็ระงับหายไป |
ถ้าสติรู้ไม่เท่า ไม่ทันจิต จิตคิดส่งส่ายมากกว่าสติ สติตามไม่ทันจึงเป็นเหตุให้วุ่นวายในอารมณ์ทั้งปวง
ถ้าสติรู้ทัน รู้เท่าแล้ว จิตก็หยุดเพียงแค่นั้น เมื่อทิฏฐิจะเกิดขึ้น ก็เพราะสติไม่รู้เท่า รู้เท่าแล้ว จิตก็หยุดเพียงแค่นั้น เมื่อทิฏฐิจะเกิดขึ้น ก็เพราะสติไม่รู้เท่า รู้ทันจิตนี้เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดมานะทิฏฐิ ถือตน ถือตัว อวดดี ถือรั้น เอาแต่จิตของตนข้างเดียว อย่างนี้เรียกว่าทิฏฐิจะเกิดก็เกิดที่นั่นดังกล่าวแล้ว |
เมื่อรู้ว่าพระพุทธศาสนาสอนให้เข้าถึงจิต ถึงใจ
ผู้มีสติควบคุมทันจิต เห็นเรื่องวุ่นวายทั้งหลายดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงยอมสละทิ้งสิ่งเหล่านั้นเสีย ให้เหลือแต่จิตกับสติสองอันเท่านั้น จิตก็จะเป็นเอกัคคตามีอารมณ์อันเดียว เมื่อจิตมีอารมณ์อันเดียวแล้ว ก็จะรวมเข้าเป็นใจ ดังกล่าวมาแล้ว |
ใจมีอารมณ์อันเดียวดังว่ามานี้ ยากที่ผู้ศึกษามากจะเข้าใจได้
เพราะจิตอันเดียวจะไปรู้เรื่องต่าง ๆ ได้อย่างไร (ที่เรียกว่าปัญญานั่นเอง) เหตุนั้น ผู้ศึกษามากจึงไม่สามารถทำจิตให้เป็นอารมณ์อันเดียวได้ เพราะความไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ แต่ผู้ฝึกหัดจิตจนเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ได้แล้วย่อมชอบใจ ทำให้ถึงสมาธิเป็นเอกัคคตารมณ์บ่อย ๆ |
บทสรุป คำว่า สิ้นโลก เหลือธรรม เป็นสำนวนในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ขอยืมมาพูดชั่วคราว แท้ที่จริงโลกก็ไม่ไปไหน ธรรมก็คงมีอยู่อย่างนั้นตามเดิม ถ้าไม่มีโลกเป็นพื้นฐาน ธรรมก็ไม่เกิดขึ้นได้ |
พระพุทธเจ้าทรงอุบัติมาตรัสรู้ในโลก โลกก็มีอยู่แล้ว แต่มันปะปนอยู่กับธรรม
คนทั่วไปแยกออกจากกันไม่ได้ จึงได้ใช้ปะปนกันไป พระพุทธองค์จึงทรงแยกจำแนกออกให้รู้ว่า โลกเป็นอย่างไร ธรรมเป็นอย่างไร |
พระพุทธองค์ทรงรู้ดีว่าโลกเขาอยู่กันอย่างไร
ซึ่งโลกนี้จะอยู่ได้ก็ต้องมีคู่ครอง เป็นภรรยาสามีซึ่งกันและกัน สมรักสมรู้เป็นคู่กันเหมือนกับมีจิตใจดวงเดียวกัน โลกคู่นี้แหละ เมื่อต่างใช้หน้าที่ของตนไม่ถูกเมื่อไร ก็จะต้องทะเลาะกันวิวาทซึ่งกันและกัน เช่น สามีก็ว่ากิจการงานของฉันมากมายในการหาเลี้ยงครอบครัว ฝ่ายภรรยาก็ว่างานของฉันก็มากเหมือนกัน บ้านทั้งบ้านเป็นภาระของฉันเพียงคนเดียว เลยใช้สิทธิ์ยุ่งกันไปหมด จนเป็นเรื่องทะเลาะกัน แตกแยกกันไปคนละทาง |
พระองค์จึงทรงสอนให้รู้จักหน้าที่ของตน
เช่น สอนสามีให้รู้จักหน้าที่ของสามีที่ดีแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ภรรยาก็เช่นเดียวกัน บุตรธิดาก็เหมือนกัน แม้ที่สุดกับพวกข้าทาสบริวารก็ให้รู้จักหน้าที่ของตน ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามสมควรแก่ฐานะตน แล้วโลกก็จะอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป |
สรุปความว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติมาในโลกนี้แล้ว
ทรงพัฒนาทั้งโลกและธรรมเป็นของคู่กันไป แต่ทางโลกมีกิเลสตัณหาหุ้มห่ออยู่มากจนไม่สามารถที่จะเปลื้องออกได้ โลกจึงเจริญไม่ทันธรรม ส่วนธรรมนั้นถึงจะมีกิเลสตัณหาปะปนอยู่บ้าง แต่คนส่วนมากพากันพยายามแก้ไขให้น้อยลง ธรรมจึงเจริญรุดหน้า ผู้มีธรรมอยู่ในใจแล้ว โลกย่อมค่อยจางหายไปจากจิตใจคนนั้น ธรรมจึงเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นในจิตใจคนนั้น เรื่องนี้จะยกตัวอย่างให้ดู |
มีเถ้าแก่คนหนึ่ง เป็นคหบดีที่นับหน้าถือตาของบุคคลทั่วไปในอำเภอหนึ่ง
เพราะแกเป็นผู้นำคนทั้งอำเภอ พอชรามากขึ้นก็มีศรัทธาออกบวช แล้วยกที่สวนที่แกรักษาอยู่นั้นให้เป็นที่วัด ภรรยาก็ไปบวชชีอยู่ด้วยแล้วก็ตามปฏิบัติพระผู้เป็นสามีของแก นอกจากนั้นยังทำอาหารตักบาตรพระทั่วไปที่เดินผ่านมาหน้าวัดทุกวัน ฝ่ายลูกสาวก็เป็นคนดีมีศรัทธามากเช่นกัน พอถึงวันขึ้นปีใหม่จะมานิมนต์พระทุกวัดที่มีอยู่ในเขตอำเภอนั้น ทำบุญบังสุกุลเป็นให้หลวงเตี่ย ผู้เขียนก็เป็นรูปหนึ่งที่ถูกนิมนต์ไปในงานนั้นด้วย แต่ผู้เขียนโชคดีที่ได้ขึ้นไปบนกุฏิแก แกกำลังป่วยเป็นอัมพาตนอนอยู่กับที่ลุกไม่ได้ |
ผู้เขียนได้ไปเห็นแล้วเกิดความเอ็นดูเมตตาสงสารแกมาก รู้จักแกในนามที่เคยเป็นอุบาสกคนสำคัญของอำเภอนั้น ผู้เขียนจึงถามว่า หลวงเตี่ยนอนเป็นอัมพาตอยู่อย่างนี้ หลวงเตี่ยคิดอย่างไร ปรารถนาอะไร
แกบวชมาได้มากกว่าผู้เขียน ๕ พรรษา แกตอบว่า ผมสละหมดแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง เงินทองทรัพย์สมบัติแบ่งแจกลูกหลานหมดแล้ว ผมตั้งหน้าแต่จะบำเพ็ญภาวนา ปรารถนาเอาพระนิพพานอย่างเดียว |
ผู้เขียนตอบว่า พระนิพพานไม่ได้อยู่ในเรื่องสิ่งเหล่านั้น พระนิพพานแท้คืออยู่ที่ใจอันเดียว ผู้เห็นโทษในใจ-จิตที่คิดเกี่ยวข้องพัวพันในสิ่งต่าง ๆ แล้วละทิ้งสิ่งเหล่านั้นเสีย จึงจะเห็นพระนิพพาน ถ้าไม่ละสิ่งเหล่านั้นจะไม่เห็นพระนิพพานเด็ดขาด
|
แกถามผู้เขียนอีกว่า ทำอย่างไรจึงจะสละได้ ให้ยังเหลือแต่ใจอันเดียว
ผู้เขียนตอบว่า ต้องทำสมาธิภาวนา สละทุกสิ่งทุกอย่างจนเหลือแต่ใจอันเดียวนั่นแหละ จึงจะเห็นพระนิพพานแน่ชัดในใจของตน แล้วจะยินดีพอใจในการเห็นนั้นอยู่ จิตเป็นเอกวิเวกอยู่คนเดียวอย่างนั้น นั่นเรียกว่าผู้เห็นทางพระนิพพานแล้ว |
พอดีหลังจากนั้นเป็นพิธีบังสุกุลเป็นให้แกแล้ว ผู้เขียนก็เดินทางกลับวัด
แกก็ได้ลองปฏิบัติตามที่ผู้เขียนแนะนำจนเกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถพูดธรรมได้เป็นเรื่องราว ลูกสาวของแกคนหนึ่งก็ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน พอได้ยินหลวงเตี่ยพูดเรื่องธรรมก็ชอบใจ นั่งฟังจนมืดค่ำจึงกลับบ้าน |
คืนวันต่อมาจิตของหลวงเตี่ยเป็นสมาธิอย่างไรก็ไม่ทราบ
รุ่งเช้าขึ้นมา มีคนไปตามผู้เขียนที่วัดบอกว่า อาจารย์ไปหาหลวงเตี่ยเร็ว ๆ หลวงเตี่ยแกเดือดร้อน จะลาสึกวันนี้แหละ ผู้เขียนบอกว่า บอกแกด้วยว่าอย่าเพิ่งสึก ให้รอก่อน |
ผู้เขียนฉันจังหันแล้วจึงรีบเดินทางไปเยี่ยม
กุฏิที่แกอยู่มีสองชั้น ลูกกรงก็สองชั้น เมื่อไปถึงชั้นนอก ผู้เขียนจึงเรียก หลวงเตี่ยเป็นอย่างไร |
พอได้ยินเสียงผู้เขียนเท่านั้นแหละ ความเดือดร้อนของแกก็หายไปจากใจหมด
พอเข้าไปนั่งใกล้ ๆ แกจึงบอกว่า ผมหายแล้ว ที่ผมคิดไปต่าง ๆ นานา เดี๋ยวนี้ผมหายสบายดีแล้ว |
แกจึงเล่าความละเอียดให้ฟังว่า
ผมนอนกลางคืนนอนไม่หลับ ได้ยินเสียงไก่ขัน เมื่อก่อนมันว่า 'เอ้กอี๊เอ้ก-เอ้ก' แต่เมื่อคืนมันไม่เป็นอย่างนั้น มันว่า 'จิตเจ้าเป็นเอกแล้ว ๆ' ตุ๊กแกเมื่อก่อนมันร้องว่า 'ตุ๊กแก ๆ' แต่เมื่อคืนมันร้องว่า 'ตัวเจ้าแก่แล้ว ๆ' ผมเอาเรื่องนี้ไปพูดให้ลูกสาวฟัง เลยเดือดร้อนขึ้นมาว่า เราเอาธรรมไปพูดให้เขาฟัง ผมเป็นอาบัติแล้วกระมัง จึงคิดว่าจะสึก พอได้ยินเสียงอาจารย์มาพูดอยู่ข้างนอก ความวิตกนั้นจึงหายวับไปหมดแล้ว ผมสบายดีแล้ว |
ผู้เขียนจึงอธิบายให้แกฟังว่า เรื่องธรรม มันต้องพูดไปอย่างนั้นแหละจึงจะรู้เรื่องกัน
มันไม่เป็นอาบัติหรอก เราไม่ได้ตั้งใจจะพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมเพื่อหวังลาภผลใด ๆ ทั้งหมด แต่เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน |
คืนต่อมาแกนอนไม่หลับอีก
ปรากฏเห็นพระพุทธเจ้า พระกัสสปะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เสด็จมาเทศน์โปรดไพเราะเหลือเกิน องค์นั้นเสด็จไปแล้ว องค์นี้เสด็จมาแทน แล้วก็ได้เอาไปพูดให้ลูกสาวฟังอีก ลูกสาวชอบใจใหญ่นั่งฟังจนค่ำ พอลูกสาวกลับไปแล้ว ความวิตกเดือดร้อนเกิดขึ้นอีกอย่างคราวก่อน ว่าตายแล้ว กูตาย บวชมาหวังจะรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ กลับมาพูดอย่างนี้เป็นอาบัติอีกแล้ว จึงคิดจะสึกวันนี้แหละ |
พอผู้เขียนไปถึงได้พูดความจริงให้ฟังว่า
การปฏิบัติมันต้องเอาความจริงมาเล่าสู่กันฟัง จึงจะรู้เรื่อง พูดให้ฟังหลายเรื่องหลายอย่างจนแกหายสงสัย แล้วผู้เขียนก็มีกิจธุระที่จะต้องจากไปในวันนั้นเอง ไปจำพรรษาคนละจังหวัดกัน |
ออกพรรษาแล้ว ได้ทราบข่าวแกมรณภาพแล้ว
ระหว่างที่ป่วยอยู่นั้น ลูก ๆ ได้ไปนิมนต์พระคณาจารย์หลายองค์มาเทศน์ให้ฟัง ก็ไม่ถึงใจแก แต่แกฟังไปอย่างนั้นแหละ แกพูดถึงผู้เขียนจนกระทั่งวันตาย นิสัยแกเป็นคนเชื่อตนเอง คิดนึกอย่างไรมักจะเป็นผลสำเร็จ แกชอบทำตามใจของแกจนได้สำเร็จประโยชน์จริง ๆ น่าเสียดายที่ผู้เขียนได้อบรมแกเพียงสามครั้งเท่านั้น แต่ไม่ได้อบรมวิปัสสนาต่อ เลยไม่ทราบว่าจิตของแกเป็นอย่างไรเมื่อตายไปแล้ว |
นี่แหละ คำว่า “สิ้นโลก เหลือธรรม” คือเมื่อธรรมเกิดขึ้นที่ใจแล้ว เรื่องโลกเลยกลายเป็นธรรมไปหมด ดังเช่นเสียงตุ๊กแกร้อง หรือไก่ขันเป็นต้น ก็เป็นธรรมไปหมด สิ่งอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อธรรมเกิดขึ้นที่ใจแล้ว เรื่องโลกก็ค่อย ๆ หายไป ๆ เรื่องสิ้นโลก เหลือธรรม ดังบรรยายมาเป็นอย่างนี้ แต่ความเป็นจริงโลกก็ยังเป็นโลก ธรรมก็ยังเป็นธรรมอยู่ตามเดิมนั่นเอง เรื่องธรรมเป็นอย่างนี้แหละ ถ้าปฏิบัติไม่เป็นไปด้วยกันแล้วจะไม่เชื่อเลย คนที่ปฏิบัติเป็นไปด้วยกันแล้วจะนั่งชนเข่าคุยกันได้เลย วันยันค่ำก็อยู่ได้ แต่ถ้าคนหนึ่งไม่มีธรรมอีกคนหนึ่งมีธรรม พูดกันประเดี๋ยวเดียวก็แตกแยกไปคนละฝ่าย ไม่สนุกเลย นักปฏิบัติทั้งหลายต้องปฏิบัติให้เข้าถึงอุปจาร-อัปปนาสมาธิ แล้วพูดคุยกันจึงจะรู้เรื่องกันดี ธรรมเป็นของเกิดจากใจแต่ละคน เมื่อพูดธรรมออกมาก็จะพูดออกจากใจแท้ของตน จึงเป็นเรื่องสนุกมาก… |
-จบ- |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:21 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.