![]() |
๑๐๑. จงมองหาชั่วหาเลวที่เรา.. แล้วรีบแก้ไข อย่าไปหาชั่วหาเลวที่ผู้อื่น.. ซึ่งแก้ไขไม่ได้ |
๑๐๒. ธรรมใดที่ยังมาไม่ถึง ก็จงละปล่อยวาง มาสงสัยศึกษาในธรรมปัจจุบัน หาเหตุหาผลที่ทำให้เกิดอารมณ์จริตต่าง ๆ ให้พบ แล้วแก้ที่ต้นเหตุ ด้วยกรรมฐานแก้จริต ๖ |
๑๐๓ เรื่องที่ควรสนใจที่สุดในพระพุทธศาสนา คือความดับทุกข์อย่างแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร |
๑๐๔. พระธรรมมีพุทธบัญญัติอยู่ ๘๔,๐๐๐ บท ล้วนเป็นทางนำไปสู่ความพ้นทุกข์ทั้งสิ้น นอกเหนือจากนี้ มิใช่คำสอนของตถาคต และจงจำหลักไว้ … ทุกอย่างในไตรภพไม่มีอะไรเที่ยง ยึดเมื่อไรทุกข์เมื่อนั้น |
๑๐๕. ใครไปหาธรรมภายนอก นอกจิตของตนเอง ถือว่ายังไม่เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เพราะ ๘๔,๐๐๐ บท ล้วนเป็นอุบายทางธรรม เพื่อให้รู้ความจริงที่กายและจิตของตนเองทั้งสิ้น |
๑๐๖. ฝึกจิตให้หมั่นดูกายไว้เสมอ เพราะจิตถูกกิเลสมารมันหลอกมานานจนชิน จงใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นทุกข์ โทษ ภัย จากการเกิดมีร่างกาย |
๑๐๗. อย่าฝืนธรรม อย่าฝืนโลก แล้วจิตจักเป็นสุข โดยการยอมรับนับถือกฎของกรรม กฎของธรรมดาของขันธ์ ๕ ทุกอย่างล้วนเป็นธรรมดาทั้งสิ้น |
๑๐๘. อย่าให้อารมณ์มันหลอกเรา คนอื่นหลอกเรา ไม่ร้ายแรงเท่ากับอารมณ์จิตของเรา.. หลอกเราเอง |
๑๐๙. บุคคลผู้ยังเกาะติดร่างกาย ต่างก็เป็นผู้น่าสงสาร เพราะมีอารมณ์หลง.. วนอยู่ในความทุกข์ |
๑๑๐. อย่าติดอดีต และอนาคตธรรม จิตจักไม่เป็นสุข พยายามอยู่ในธรรมปัจจุบันให้มาก |
๑๑๑. อย่ามองใครว่าผิดหรือถูก อย่ามองใครว่าชั่วหรือดี จงมองให้ทะลุถึงกฎของกรรมทั้ง ๓ กรรมใดใครก่อ.. ผลแห่งกรรมนั้นย่อมตกอยู่แก่บุคคลนั้น |
๑๑๒. โลกทั้งโลก ไม่มีอะไรสุข มีแต่ทุกข์ นี่คืออริยสัจ |
๑๑๓. หากอยากเป็นคนฉลาด ก็จงอย่าทิ้งอริยสัจ หรือกฎของกรรม |
๑๑๔. ตำหนิกรรมเข้าเมื่อใด อุปาทานจักเกิดขึ้นเมื่อนั้น อคติ ๔ เกิด.. เป็นการไม่เคารพกฎของกรรม ไม่เคารพอริยสัจ |
๑๑๕. เมื่อเข้าใจกฎของกรรม ก็จักเมตตา-กรุณา รักและสงสารจิตของเราที่โง่มานาน ที่ชอบทำร้ายจิตตนเอง |
๑๑๖. อย่าเข้าใกล้ หรือข้องแวะกับความชั่วความเลวของใคร ซึ่งไม่ต่างกับเอาใบตองไปห่อสุนัขเน่า ขึ้นชื่อว่าสุนัขเน่า ใคร ๆ เขาก็ไม่อยากเข้าใกล้ |
๑๑๗. อารมณ์ฟุ้งซ่านคือ อารมณ์ลิงติดตัง ยิ่งดิ้น ยิ่งรัดตัวเอง ยิ่งเพิ่มทุกข์ให้ตนเอง |
๑๑๘. พระจะสงเคราะห์เราได้ ต่อเมื่อเราระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านได้ก่อน ด้วยอานาปาฯ , คำภาวนา , จิตจับภาพพระ |
๑๑๙. ใช้ทุกข์ให้เป็นประโยชน์ จักได้เข้าถึงอริยสัจกันจริง ๆ คนโง่เท่านั้น ที่เห็นทุกข์แล้วกอดทุกข์ คนฉลาดตามกำหนดรู้ทุกข์ เพื่อเข้าถึงอริยสัจ แล้วปล่อยวางทุกข์.. ก็ช่วยให้พ้นทุกข์ได้ |
๑๒๐. ในทุกข์ตัวเดียวกันนี้แหละ จักพ้นทุกข์ก็ได้ จักจมทุกข์ก็ได้ คนไม่รู้จักตัณหา ก็พ้นตัณหาไม่ได้ คนไม่รู้จักทุกข์ ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:49 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.