![]() |
เมื่อมันจะเกิดความรู้อะไรขึ้นมาในที่นั้น มันก็เกิดขึ้นมาอย่างฌานนั้นแหละ แม้นไม่หลงลืมตัว รู้แลเห็นอย่างคนนั่งดูปลาหรืออะไรว่ายอยู่ในตู้กระจกฉะนั้น
แลเมื่อ อย่างพระโมคคัลลานะ ท่านลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต มีปากเท่ารูเข็ม ท่านอดยิ้มไม่ได้ ท่านจึงยิ้มอยู่คนเดียว หมู่ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงถามท่าน ท่านก็ไม่บอก แล้วบอกว่าท่านทั้งหลายจะรู้เรื่องนี้ในสำนักของพระพุทธเจ้า เมื่อไปถึงสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต มีปากเท่ารูเข็ม กินอะไรเท่าไรก็ไม่อิ่ม” พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดีแล้ว ๆ โมคคัลลานะเป็นสักขีของเรา เปรตตัวนี้เราเห็นแต่เมื่อเราตรัสรู้ใหม่ ๆ วันนี้โมคคัลลานะเป็นสักขีพยานของเรา” |
สมาธิ เมื่อจะเข้าต้องมีสมาธิเป็นเครื่องวัด
เมื่อจิตฝึกหัดยังไม่ชำนาญ มักจะรวมได้เป็นครั้งเป็นคราวนิด ๆ หน่อย ๆ เรียกว่า ขณิกสมาธิ ถ้าหากฝึกหัดจิตค่อยชำนาญหน่อย จิตจะรวมเป็นสมาธิอยู่ได้นาน ๆ หน่อยเรียกว่า อุปจารสมาธิ ถ้าฝึกหัดจิตได้เต็มที่แล้ว จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิเต็มที่เลยเรียกว่า อัปปนาสมาธิ แต่จิตจะเกิดรู้แต่เฉพาะจิตที่เป็นอุปจารสมาธิเท่านั้น สมาธิจะไม่เกิดเลย แลเมื่อเกิดก็มักเกิดเป็นไปเพื่อเตือนแลสอนตนเองเป็นส่วนมาก เช่น ปรากฏเห็นเป็นอุโบสถใหญ่มีพระสงฆ์เป็นอันมากเข้าประชุมกันอยู่ อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราถูกต้องดีแล้ว หรือปรากฏเห็นว่าทางอันรกขรุขระ มีพระคลุมจีวรไม่เรียบร้อย หรือเปลือยกายเดินอยู่ อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราผิดทาง หรือไม่เรียบร้อยตามมรรคปฏิบัติดังนี้เป็นต้น |
การละกิเลสท่านก็แสดงไว้ว่า
พระโสดาบัน ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ พระสกทาคามี ละกิเลสเบื้องต้นได้ ๓ เหมือนกัน กับทำกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ให้เบาบางลงอีก พระอนาคามี ก็ละกิเลส ๓ เบื้องต้นนั้นได้ แล้วยังละกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ได้เด็ดขาดอีกด้วย พระอรหันต์ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ เบื้องต้นได้แล้ว ยังละรูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑ ได้อีกด้วย ฌาน แล สมาธิ ถึงแม้ว่าจะบริกรรมภาวนาอันเดียวกัน แต่การพิจารณามันต่างกัน แลเวลาเข้าเป็นองค์ฌาน แลสมาธิ มันก็ต่างกัน ความรู้ความเห็นก็ต่างกัน ดังได้อธิบายมานี้ |
ฌาน แล สมาธิ ทั้งสองนี้ ผู้ฝึกหัดกรรมฐานทั้งหลายจะไม่ให้เกิดไม่ได้
มันหากเกิดเป็นคู่กันอย่างนั้นเอง แล้วมันก็กลับกันได้เหมือนกัน บางทีจิตรวมเข้าเป็นฌานแล้วเห็นโทษของฌาน พิจารณากลับเป็นสมาธิไปก็มี บางทีฝึกหัดสมาธิไป ๆ สติอ่อนรวมเข้าเป็นฌานไปก็มี ฌาน แล สมาธิ มันหากเป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันแลกันอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้ใดไม่มีฌานผู้นั้นไม่มีสมาธิ ผู้ใดไม่มีสมาธิผู้นั้นก็ไม่มีฌานเหมือนกัน” เพราะฌานแลสมาธิฝึกหัดสายเดียวกัน คือเข้าถึงจิตเหมือนกัน เป็นแต่ผู้ฝึกหัดต่างกันเท่านั้น บางท่านกลัวนักกลัวหนา กลัวฌานตายแล้วจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก แต่หารู้ไม่ว่าฌานเป็นอย่างไร จิตอย่างไรมันจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก |
ผู้ต้องการจะชำระจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากกิเลสทั้งปวง จะต้องชำระจิตนี้แหละ ไม่ต้องไปชำระที่ ใจ หรอก เมื่อชำระที่ จิต แล้ว ใจ มันก็สะอาดได้เอง เพราะ จิต แส่ส่ายไปแสวงหากิเลสมาเศร้าหมองด้วยตนเอง เมื่อชำระ จิต ให้ใสสะอาดแล้วก็จะกลายมาเป็น ใจ ไปในตัว |
นักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติเข้าถึงจิตถึงใจแล้ว
ถึงไม่ได้เรียนให้รู้ชื่อของกิเลสตัวนั้นว่า ชื่ออย่างนั้น ๆ แต่รู้ด้วยตนเองว่า ทำอย่างนั้น จิต มันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน คิดอย่างนั้นจิตมันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน เมื่อเห็นโทษของมันแล้ว มันจะต้องหาอุบายชำระด้วยตนเอง มิใช่ไปรู้กิเลสทั้งหมด แล้วจึงชำระให้หมดสิ้นไป |
เมื่อครั้งปฐมกาล พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธเจ้า แลพระสาวกทั้งหลายออกประกาศพระศาสนา
ท่านที่ได้บรรลุธรรมทั้งหลายส่วนมากก็คงไม่ได้ศึกษาธรรมอะไรกัน เท่าไรนัก เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น ได้ฟังธรรมโดยย่อจากพระอัสสชิว่า ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าเทศนาให้ดับต้นเหตุ เพียงเท่านี้อุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) ก็มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าเทศนาหลายครั้งหลายหนเข้า พระสาวกทั้งหลายจดจำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้มากขึ้น จึงมีการเล่าเรียนกันสืบต่อ ๆ กันไป พระพุทธศาสนาจึงแพร่หลายกว้างขวางมาโดยลำดับ |
พระอานนท์ พระอนุชาผู้ติดตามพระพุทธเจ้า
จดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แม่นยำ จนได้ฉายาว่าเป็นพหูสูต ไม่มีใครเทียบเท่า เทศนาสั่งสอนลูกศิษย์ให้ได้สำเร็จมัคค์ผล นิพพาน มาแล้วมากต่อมาก แต่ตัวท่านเองได้เพียงแค่พระโสดาบันขั้นต้นเท่านั้น ตอนพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสงฆ์อรหันต์สาวกทั้งหลายพร้อมกันทำสังคายนา ในการนี้จะขาดพระอานนท์ไม่ได้ เพราะพระอานนท์เป็นพหูสูต แต่ยังขัดข้องอยู่ที่พระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ สงฆ์ทั้งหลายจึงเตือนพระอานนท์ว่าให้เร่งทำความเพียรเข้า พรุ่งนี้แล้วพระสงฆ์ทั้งหลายจะได้ทำสังคายนา ในคืนวันนั้น ท่านได้เร่งความเพียรตลอดคืน ธรรมที่ได้สดับมาแต่สำนักพระพุทธเจ้ามีเท่าใด นำมาพิจารณาคิดค้นจนหมดสิ้น ก็ไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ ก็แล้วเถิด แล้วล้มพระเศียรเอนกายลงนอน พระเศียรยังไม่ทันแตะพระเขนยเลย จิตก็รวมสู่มัคคสมังคี ปัญญาก็ตัดสิ้นได้เด็ดขาดว่าบรรลุพระอรหันต์แล้ว |
ผู้มีปัญญาพิจารณาคิดค้นเหตุผลในสิ่งนั้น ๆ แล้วปล่อยวาง
ทำจิตให้เป็นกลางในสิ่งทั้งปวงได้ ย่อมจะเกิดความรู้ในธรรมนั้น ๆ ได้ไม่มากก็น้อย ดังท่านพระอานนท์เป็นต้น |
กิจในพระพุทธศาสนานี้มี ๒ อย่าง ผู้บวชมาละกิจของฆราวาสแล้วจำเป็นต้องทำ คือ
สมถะ (คือ ฌาน แลสมาธิ ๑ วิปัสสนา ๑ ฌาน แลสมาธิได้อธิบายมามากแล้ว คราวนี้มาฟังเรื่องของ วิปัสสนา ต่อไป ผู้เจริญฌาน แลสมาธิจนชำนิชำนาญ จนทำจิตของตนให้อยู่ในบังคับตนได้ จะเข้าฌาน แลสมาธิเมื่อใดก็ได้ จะอยู่ได้นานเท่าใด จะพิจารณาฌานให้เป็นสมาธิก็ได้ จะพิจารณาสมาธิให้เป็นฌานก็ได้ จนกลายเป็นเครื่องเล่นของผู้ปฏิบัติไป การพิจารณาฌาน แลสมาธิให้ชำนาญนี้เป็นการฝึกหัดวิปัสสนาไปในตัว เพราะฌาน แลสมาธิก็พิจารณารูป-นาม อันเดียวกันกับวิปัสสนา พิจารณาความแตกดับ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา อย่างเดียวกัน แต่ฌาน แลสมาธิ มีความรู้ขั้นต่ำ พิจารณาไม่รอบคอบ เห็นเป็นส่วนน้อยแล้วก็รวมเสีย ไม่สามารถรู้ได้ทั่วถึงทั้งหมด ท่านจึงไม่เรียกว่าวิปัสสนา |
เปรียบเหมือนมะม่วงสุกหวาน เบื้องต้นเป็นลูกมีรสขม โตขึ้นมาหน่อยมีรสฝาด
โตขึ้นอีกมีรสเปรี้ยว โตขึ้นมาอีกมีรสมัน โตขึ้นมาจึงจะมีรสหวาน รสทั้งหมดตั้งต้นแต่รสขมจนกระทั่งรสหวาน มันจะเก็บเอามารวมไว้ในที่เดียว มะม่วงนั้นจึงจะได้ชื่อว่ามีรสดี นี้ก็ฉันนั้น เหมาะแล้วฌานพระสังคาหกาจารย์เจ้าท่านไม่เรียกว่าวิปัสสนา เพราะเป็นของเสื่อมได้ วิปัสสนานั้น ไม่ว่าจะพิจารณาคำบริกรรม หรือธรรมทั้งหลาย มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นต้น พิจารณาให้รู้แจ้งตามเป็นจริงของมันแล้วปล่อยวาง แล้วเข้าอยู่เป็นกลางวางเฉย เรียกว่า วิปัสสนา วิปัสสนา แปลว่ารู้แจ้ง เห็นจริงตามสภาพ ของมัน |
วิปัสสนานี้พิจารณาจนชำนิชำนาญแก่กล้า จนเห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แลธรรมมารมณ์ทั้งหลาย ทั้งภายนอก แลภายใน เห็นเป็น อนิจจัง ของไม่เที่ยงจีรังถาวรยั่งยืน เกิดมาแล้วก็แปรปรวน ผลที่สุดก็ดับสูญหายไปตามสภาพของมัน สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นรองรับเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นจึงต้องทน ทุกข์ ทรมานอยู่ตลอดเวลา สิ่งทั้งปวงไม่ว่ารูปธรรม แลนามธรรม เกิดขึ้นมาแล้วย่อมเป็นไปตามสภาพของมัน ใครจะห้ามปรามอย่างไร ๆ ย่อมไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งหมด มิใช่ของไม่มี ของมีอยู่ แต่ห้ามมันไม่ได้ จึงเรียกว่า อนัตตา |
ผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย เมื่ออายตนะภายในแลภายนอกมากระทบกันเข้า มีความรู้สึกเกิดขึ้น
ย่อมพิจารณาเป็น ไตรลักษณญาณ อย่างนี้ทุกขณะ ไม่ว่าอิริยาบถใด ๆ ทั้งหมด ถ้าพิจารณาจนชำนิชำนาญแล้วมันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติของมันเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ช่องว่างอันจะเกิดกิเลส มีราคะ เป็นต้น มันจะเกิดขึ้นในจิตใจได้อย่างไร ด้วยอำนาจผู้เจริญฌาน-สมาธิ แลวิปัสสนานี้แหละจนชำนิชำนาญแก่กล้าเพียงพอแล้ว จึงทำให้เกิด มัคคสมังคี |
มัคคสมังคี มิใช่จิตที่รวมเข้าเป็นภวังค์อย่างฌาน
แลมิใช่จิตที่รวมเข้าเป็นสมาธิอย่างสมาธิ แต่จะรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวเหมือนกัน ในเมื่อวิปัสสนาพิจารณาค้นคว้าเหตุผลภายนอกในเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนตามเป็นจริง ไม่เคลือบแคลงสงสัยแล้ว จิตก็รวมเอา องค์มัคค์ อันเดียว ในขณะที่จิตเดียว แล้วก็ถอนออกมาจากนั้น แล้วก็เดินไปตามกามาพจรจิตแต่มีความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หลงไปตามกามารมณ์เช่นเมื่อก่อน มัคคจิต นี้ท่านแสดงไว้ว่าแต่ละมัคค์จะเกิดหนเดียว แล้วจะไม่เกิดอีกเด็ดขาด ต่อนั้น ผู้ได้ ปฐมมัคค์ แล้วก็เจริญวิปัสสนาตามที่ตนได้เจริญมาแล้วแต่เบื้องต้น วิปัสสนาจะรู้เห็นแจ้งสักปานใดก็เห็นตามของเก่าไม่ได้ชื่อว่าเป็นมัคคสมังคี เหมือนกับความฝันตื่นจากนอนแล้วเล่าความฝันได้ถูกต้อง แต่มิใช่ฝันฉะนั้น |
หากมัคคสมังคีที่สูงขึ้นไปโดยลำดับจะเกิดขึ้น ก็ด้วยปัญญาอันแก่กล้า
เจริญมัคค์ให้คล่องแคล่วจนชำนาญแล้ว มันเกิดเองของมันต่างหาก ใครจะแต่งเอาไม่ได้ แต่ละภูมิพระอริยมรรคจะเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดว่าได้ขั้นนั้น ๆ แต่จะรู้จักด้วยตนเองเท่านั้น คนอื่นจะรู้ด้วยไม่ได้จะรู้ก็ต่อเมื่อถึงมรรคนั้น ๆ แล้วเท่านั้น การจะรู้ด้วยอภิญญา หรือผู้มีภูมิสูงกว่า หรือด้วยการสังเกตก็ได้ แต่ข้อสุดท้ายนี้ไม่แน่เหมือนกัน |
นักปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเรียนมาก หรือน้อย หรือเรียนเฉพาะกรรมฐานที่ตนจะต้องพิจารณาก็ตาม
เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว จะต้องทอดทิ้งสิ่งทั้งปวงหมด เพ่งพิจารณาแต่เฉพาะกรรมฐานที่ตนพิจารณาอยู่นั้นเฉพาะอย่างเดียว จึงจะรวมลงเป็นเอกัคคตารมณ์ได้ จะเรียนมากหรือเรียนเอาแต่เฉพาะกรรมฐานที่ตนพิจารณาอยู่นั้นก็ตาม ก็เพื่อทำจิตให้เป็นสมาธิเอกัคคตารมณ์อันเดียวดังท่านที่เจริญวิปัสสนา ถึงแม้จิตจะแส่ส่ายตามสภาพวิสัยของมันซึ่งบุคคลยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็รู้เท่าทันเห็นตามพระไตรลักษณ์ ไม่หลงใหลตามมัน |
อารมณ์ที่พบผ่านมาไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย แล ใจก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคของการทำฌาน สมาธิ ทั้งนั้น ตกลงว่า อายตนะที่เราได้มาในตัวของเรานี้เป็นภัยแก่การทำฌาน-สมาธิ ของเราเท่านั้น ผู้พิจารณาเห็นโทษดังนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในอารมณ์นั้น ๆ เห็นจิตที่สงบจากอารมณ์นั้น แล้วจิตจะรวมเข้าเป็นเอกัคคตารมณ์สงบนิ่งเฉยอยู่คนเดียว เมื่อจิตถอนออกมาแล้วก็จะวิ่งตามวิสัยของมันอีก แล้วเห็นโทษของมัน สละถอนออกจากอารมณ์นั้นอีก ทำจิตให้เข้าสู่เอกัคคตาอีก ทำอย่างนี้จนจิตคล่องแคล่วชำนิชำนาญ จนเห็นว่าอารมณ์ทั้งปวงสักแต่ว่าอารมณ์เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปตามสภาพของมัน จิตก็อยู่พอจิตต่างหาก จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต แต่อาศัยจิตเข้าไปยึดเอา อารมณ์จึงเกิด เมื่อขาดตอนกันอย่างนี้ จิตก็จะอยู่วิเวกคนเดียว กลายเป็น ใจ ขึ้นมาทันที |
ความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าพูดว่าลึกแลกว้าง ก็ลึกแลกว้าง เพราะผู้นั้นทำตนไม่ให้เข้าถึงใจ เมื่อจะพูดก็พูดแค่อาการของใจ (คือจิต)
จิต คิดนึกปรุงแต่งอย่างไร ก็พูดไปตามอาการอย่างนั้น แต่จับตัว ใจ (คือผู้เป็นกลางนิ่งเฉย) ไม่ได้ อุปมาเหมือนกับคนตามรอยโค ตามไปเถิดตามไปวันค่ำคืนรุ่ง เมื่อยังไม่เห็นตัวของมันแลจับตัวมันอย่างไรไม่ได้ ก็ตามอยู่นั่นแหละ ถ้าตามไปถึงตัวมันแลจับตัวมันได้แล้ว ไม่ต้องไปแกะรอยมันอีก |
ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ที่ว่าลึกซึ้งแลกว้างขวางนั้น
เพราะเราไม่ทำ จิต ให้เข้าถึง ใจ ตามแต่อาการของใจ (คือจิต) จึงไม่มีที่สิ้นสุดได้ ดังท่านแสดงไว้ในพระอภิธรรมว่า จิตเป็นกามาพจร จิตเป็นรูปาพจร จิตเป็นอรูปาพจร แลจิตเป็นโลกุดร เพื่อให้รู้แลเข้าใจว่าอาการของจิตมันเป็นอาการอย่างนั้น ๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติไม่หลงตามอาการของมันต่างหาก แต่ผู้ท่องบ่นจดจำได้แล้ว เลยไปติดอยู่เพียงแค่นั้น จึงไม่เข้าถึงตัว ใจ สักที มันก็เลยเป็นของลึกซึ้งแลกว้างขวาง เรียนเท่าไรก็ไม่รู้จักจบสิ้นสักที |
ดูเหมือนพระพุทธเจ้าจะสอนพวกเราว่า เราได้เคยตามรอยโคมาแล้วนับเป็นอเนกชาติ
ถึงแม้ในชาติปัจจุบันเราได้เกิดมาเป็นสิทธัตถะ เราก็ตามอยู่ถึง ๖ ปี จึงได้พบตัวโค (คือใจ) ถ้าจะพูดว่าแคบก็แคบ แคบในที่นี้มิได้หมายความว่าที่มันไม่มี แลของมันไม่มี ของกว้าง ๆ นั้นแหละ จับแต่หัวใจของมัน หรือข้อสำคัญของมัน จึงเรียกว่า แคบ เช่น จิตของคนเรา มันคือ จิต แลของตัวเราเอง ไม่รู้จักหยุดจักยั้งสักที เรียกว่ากว้าง ผู้มาเห็นโทษของจิตว้าวุ่นวายส่งส่าย มันเป็นทุกข์ แล้วมาพิจารณา เรื่องอารมณ์มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของจิตผู้คิดนึกไปตามอารมณ์ออกไปไว้ส่วนหนึ่ง เอาจิตออกไปไว้ส่วนหนึ่ง เมื่อเอาจิตแยกออกไปจากอารมณ์แล้ว จิตก็จะอยู่คนเดียวแล้วมาเป็นใจ อารมณ์ก็หายสูญไปโดยไม่รู้ตัว |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:21 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.