![]() |
ศีล พระพุทธเจ้าทรงจำแนกศีลออกเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ตลอดถึงศีล ๒๒๗ ศีล ๕ มี ๕ ข้อ จำแนกออกเป็นข้อ ๆ ดังนี้ - ห้ามฆ่าสัตว์ - ห้ามลักทรัพย์ของคนอื่น - ห้ามประพฤติผิดมิจฉาจารในบุตร ภรรยา สามีของคนอื่น - ห้ามพูดคำเท็จ คำไม่จริง ล่อลวงผู้อื่น - ห้ามดื่มสุราของมัวเมา อันเป็นเหตุให้เสียสติ |
ศีล ๘ มี ๘ ข้อ ก็อธิบายทำนองเดียวกัน แต่มีพิสดารในข้อ ๓ ที่ห้ามไม่ให้ประพฤติเมถุนธรรม
ซึ่งข้อนี้เป็นกรรมของปุถุชนทั่วไปที่มักหลงใหลในกิจอันนั้นไม่รู้จักอิ่มจักเบื่อ แม้ที่สุดแต่สัตว์ตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ มียุงและแมลงวัน เป็นต้น ก็ประพฤติในกามกิจเช่นเดียวกันนี้ ผู้ที่งดเว้นจากเมถุนธรรมอันเป็นกรรมสิ่งเลวร้ายที่เป็นพื้นฐานของโลกนี้ได้ ท่านจึงเปรียบไว้สำหรับพรหมที่ไม่มีคู่ครอง ผู้เห็นโทษในกามคุณเมถุนธรรมดังว่านี้แล้ว ตั้งจิตคิดงดเว้นแม้เป็นครั้งคราว เช่นผู้ตั้งใจสมาทานศีล ๘ ไม่นอนกับภรรยา- สามี ชั่วคืนหนึ่งหรือสองคืน ก็ได้ชื่อว่าประพฤติดุจเดียวกับพรหม ข้อ ๖ งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลหลังพระอาทิตย์ล่วงไปแล้ว ข้อ ๗ เว้นจากการลูบไล้ทาตัวด้วยเครื่องหอม เครื่องปรุงแต่ง และการร้องรำขับร้อง ประโคมดนตรี ทั้งความยินดีในการดูแลและฟัง ข้อสุดท้ายที่ ๘ งดเว้นจากการนั่งนอนเบาะหมอนที่ยัดด้วยนุ่นหรือสำลี ข้อห้ามทั้งสามข้อเบื้องปลายนี้ล้วนเป็นเหตุสนับสนุนให้คิดถึงความสุขสบาย และเกิดความยินดีในกามคุณ ๕ ทั้งสิ้น |
ศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ดังอธิบายมาแล้วนั้นเป็นกฎที่จะเลือกสรรให้คนถือความดี ประพฤติดี
เป็นธรรมเครื่องกลั่นกรองคนผู้ต้องการจะเป็นคนดี เป็นธรรมของผู้หวังพ้นทุกข์เช่นนี้แต่ไหนแต่ไรมา พร้อมกับโลกเกิดพวกฤๅษีชีไพรที่พากันประพฤติพรหมจรรย์กันเป็นหมู่ ๆ ถึง ๑,๐๐๐ คน ๑๐,๐๐๐ คน ตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก ก็ตั้งฐานอยู่ในธรรม ๕ ประการ ๘ ประการนี้ทั้งนั้น ธรรมเหล่านี้จึงว่าเป็นเครื่องกลั่นกรองมนุษย์ออกจากโลกโดยแท้ |
ศีล ๕ ศีล ๘ นี้มีอยู่ในโลกนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาในโลกนี้หรือไม่ ธรรมทั้ง ๕ ข้อ และธรรมทั้ง ๘ ข้อนี้ก็มีอยู่เช่นเดิม พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมาเห็นธรรมเหล่านั้นแล้วปฏิบัติตาม ดังนั้นพระองค์จึงตรัสว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ธรรมทั้งหลายในโลกนี้เป็นของเก่า พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาในโลกหรือไม่ก็ตาม ธรรมเป็นของจริงของแท้ ไม่แปรผันไปตามโลก หากมีอยู่ เป็นอยู่เช่นนั้นดังกล่าวแล้ว |
ศีล ๑๐ เพิ่มสาระสำคัญขึ้นอีกหนึ่งข้อสำหรับสามเณร
ที่มีศรัทธาจะได้ปฏิบัติตามศากยบุตรพุทธชิโนรส ด้วยเห็นโทษในอาชีพของฆราวาส ที่ต้องมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนซึ่งเงินตรา จึงออกมาปฏิบัติพระธรรม ไม่หันเหไปตามจิตของฆราวาสเช่นเดิม ตั้งมั่นอยู่ในพรหมจรรย์ เป็นทางให้เกิดในสวรรค์ พระนิพพาน โดยแท้ |
ศีล ๒๒๗ พระองค์ทรงจำแนกแจกไว้เป็นหมู่เป็นหมวด
ล้วนแล้วแต่จะเป็นเครื่องมือกลั่นกรองโลกออกจากธรรมทั้งนั้น เช่น ปาราชิก ๔ ห้ามภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา กระทำเสพสมกิจกรรมอันเลวทรามของโลก ดังกล่าวไว้เบื้องต้น เป็นข้อแรก สำหรับกิจอื่นก็มี อทินนาทาน ลักของเขา ซึ่งก็จัดเข้าในหมวดปาราชิกเช่นเดียวกัน ฆ่ามนุษย์และการพูดอวดอุตตริมนุสสธรรม คือกล่าวอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตน บาปกรรมสี่ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงห้ามภิกษุในพระพุทธศาสนากระทำโดยเด็ดขาด หากภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีจิตหันเหไปทำกรรมสี่อย่างดังกล่าวมาเช่นว่านี้ พระองค์ทรงลงพระพุทธอาญาฆ่าผู้นั้นด้วยอาบัติปาราชิก ไม่ปรานีเลย |
อาบัติสังฆาทิเสสมี ๑๓ ข้อ
เริ่มด้วยภิกษุผู้มีเจตนาทำให้น้ำอสุจิของตนเคลื่อนเป็นอาบัติสังฆาทิเสสข้อที่หนึ่ง ภิกษุผู้งดเว้นจากกามคุณเมถุนสังโยคดังกล่าวมาแล้ว ยังมีจิตประหวัดคิดถึงสิ่งที่เคยทำมา แต่ไม่สามารถประกอบกิจนั้นได้ ด้วยใจที่ใคร่ในความกำหนัดต้องการสัมผัสกายหญิง เพื่อลดหย่อนผ่อนคลายความกำหนัดนั้นให้มีเพียงสัมผัส ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ ๒ อาบัติสังฆาทิเสสมี ๑๓ ข้อ อธิบายมาเพียงสองข้อย่อ ๆ พอเข้าใจในเนื้อเรื่อง ถ้าอธิบายมาทุกข้อก็จะเปลืองกระดาษ ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ แม้ข้อใดข้อหนึ่ง ต้องออกจากอาบัตินั้นด้วยกรรมวิธี มีอยู่ปริวาสกรรมเป็นต้น แล้วอยู่ประพฤติมานัตอีก ๖ วัน จึงขออัพภาน เป็นอันว่าพ้นจากข้อหาของหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ หมู่ยอมให้อยู่ร่วมกันได้ |
พระวินัยสิกขาบททุกข้อที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ว่ามีโทษอย่างนั้น ๆ
ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีจิตหันเหไปล่วงละเมิดสิกขาบทใดตั้งแต่สังฆาทิเสสเป็นต้นไป ย่อมพ้นไปจากอาบัตินั้น ๆ ได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังแสดงไว้นั้น แต่มิใช่จะหมายความว่าภิกษุนั้นจะพ้นไปจากบาปกรรมนั้น ๆ ด้วยวิธีแสดงอาบัติก็หาไม่ บาปก็คงยังเป็นบาปอยู่ตามเดิม การแสดงอาบัติเป็นเพียงพิธีกรรมของสงฆ์ เพื่อให้พ้นจากความครหาของหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ พระธรรมวินัยของพระองค์ที่ทรงจำแนกออกจากโลกนี้มีมากมายหลายอย่าง สำหรับภิกษุที่มีมากมายถึง ๒๒๗ ข้อนั้นนับว่าเป็นอักโขอยู่ แต่ถ้าภิกษุรูปใดประพฤติตามสิกขาบทนั้น ๆ ได้แล้ว ก็เชื่อได้เลยว่าพ้นจากโลกหรือธรรมพอสมควร |
สมาธิ เรื่องของสมาธิเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าศีลโดยลำดับ เพราะเรื่องสมาธิเป็นเรื่องของจิตใจโดยเฉพาะ เป็นเรื่องของการชำระบาปคือกิเลสที่เศร้าหมองในใจให้หมดไปโดยลำดับ การชำระจิตใจนี้ จำเป็นต้องละรูป คือ วัตถุของอารมณ์ ให้ยังเหลือแต่อารมณ์ของรูป วิธีอบรมสมาธินั้นท่านแสดงไว้เป็นสองนัย คือการอบรมสมาธิโดยตรง และโดยวิธีทำฌานให้เกิดขึ้น เบื้องต้นจะกล่าวถึงเรื่องของฌาน |
วิธีการทำฌานให้เกิดขึ้นนั้นจะเป็นวิธีที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ
เพราะได้ทราบว่าวิธีทำฌานนี้มีพวกฤๅษีชีไพรอบรมกันมาก แต่เข้ามาอยู่ในพระพุทธศาสนาและเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำสมาธิ ซึ่งจัดเป็นสมาธิโดยตรง จึงจะขอกล่าวถึงเรื่องของฌานก่อน ปฐมฌาน ท่านแสดงว่ามีองค์ ๕ คือ - วิตก ความตรึกในอารมณ์ของฌาน - วิจาร ความเพ่งพิจารณาอารมณ์ของฌานจนเห็นชัดแล้วเกิดปีติขึ้นและความสุขก็มีมา - ปีติ - สุข - เอกัคตา ทุติยฌาน คงเหลือเพียงองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคตา ตติยฌาน ละปีติเสียได้ ยังเหลือแต่สุขกับเอกัคตา จตุตถฌาน ละสุขเสียได้ ยังเหลือแต่อุเบกขากับเอกัคตา |
ฌานทั้งสี่ดังกล่าวมานั้น ท่านว่าเป็นฌานล้วน ๆ ไม่จัดเป็นสมาธิ
แต่ถ้าเรียกใหม่ว่า เอกัคตาในฌานทั้งสามเบื้องต้นอันเป็นที่สุดของฌานนั้น ๆ จัดเข้าเป็นอารมณ์ของสมาธิคือ ขณิกสมาธินั่นเอง หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสมาธิเป็นที่สุดของฌานทั้งสี่ก็ได้ เพราะฌานเป็นอุปสรรคของสมาธิ แต่เมื่อจิตเข้าถึงเอกัคตาแล้ว องค์ฌานทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องหายไปหมด ยังเหลือแต่เอกัคตาเพียงอย่างเดียว |
เรื่องฌานกับสมาธินั้น เท่าที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมา แต่ไม่ทราบว่าจากพระสูตรไหน
จำได้แต่ใจความว่า พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดไม่มีฌานผู้นั้นไม่มีสมาธิ ผู้ใดไม่มีสมาธิผู้นั้นไม่มีฌาน ดังนี้ แสดงว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงสมาธิกับฌานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฌานเป็นเรื่องพิจารณาอารมณ์ของจิต หรือจะเรียกว่า ส่งนอก ก็ได้ คือนอกจากจิตใจนั้นเอง ส่วนสมาธิคือ การเพ่งเอารูป ซึ่งเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ และอารมณ์ของรูปให้เห็นชัดเจนทั้งหกอย่าง แล้วละถอนอารมณ์นั้นเสีย |
ฌาน คือ เพ่งเอาแต่อาการของจิตอย่างเดียว
ให้เป็นอารมณ์อันเดียวแล้วไม่พิจารณาอะไรทั้งสิ้น เพ่งเอาแต่ความสงบนั้นเป็นพื้น แต่สมาธิหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพ่งเข้าถึงจิตผู้นึกคิดและส่งส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ให้เกิดความยินดียินร้าย โดยมีสติควบคุมจิตอยู่ตลอดเวลา จะคิดนึกอะไรส่งส่ายไปอย่างไรก็ควบคุมจิตอยู่ตลอดเวลา จิตย่อมเผลอไม่ได้ ฌานกับสมาธิมันจึงผิดแผกกันตรงนี้ |
จตุตถฌาน มีอารมณ์ ๒ คือ เอกัคตากับอุเบกขา ซึ่งจะก้าวขึ้นไปสู่อารมณ์อากาศ
เมื่อพิจารณาอุเบกขาอยู่ จิตสังขารช่างผู้สร้างโลก ก็วิ่งออกมารับอาสา สร้างอุเบกขาให้เป็นความสุขเวิ้งว้าง แล้วก็สร้างให้เกิดวิญญาณ แล้วก็ดับวิญญาณซึ่งเรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ คือสร้างจิตสร้างวิญญาณ สร้างสัญญาให้เล็กลง จนดับสัญญา ความดับสัญญาเวทนานั้นเลยถือว่าพระนิพพาน แท้ที่จริงไม่ใช่จิตตัง แต่เป็นสัญญาเวทนาหยุดทำงานเฉย ๆ ถ้าจิตดับที่ไหนจะออกจากนิโรธได้ อันนี้จิตยังมีอยู่ เป็นแต่อาการจิตหยุดทำงาน หากเราจะเรียกว่า สัญญาสังขารและสรรพกิเลสทั้งหลายหยุดทำงาน เหมือนกับข้าราชการทำงานเครียดมา ๕ วัน พอถึงวันเสาร์ วันอาทิตย์ แล้วก็หยุดทำงาน เพื่อคลายความเครียดนั้น วันที่ ๘ คือวันจันทร์จะต้องทำงานต่อจะดีไหม |
ฌานและสมาธิ จะขอพูดในเรื่องฌานและสมาธิอีก เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น แต่จะพูดเป็นภาษาตลาดพื้นบ้านนี้เอง ขอท่านผู้มีปัญญาจงอดโทษแก่ผู้เรียนน้อย ศึกษาน้อย จดจำไม่ทั่วถึง และศึกษาจากครูบาอาจารย์ อาจผิดพลาดไปก็ได้ เรื่องฌานและสมาธินั้นเป็นคู่กันมาเพราะเดินสายเดียวกัน คือ จิต นั้นเอง เหมือนเงากับตัวจริง เมื่อมีตัวจริงก็ย่อมมีเงา เงานั้นบางทีก็หายไปเพราะไม่มีไฟและแสงอาทิตย์ส่อง ส่วนตัวจริงนั้นจะมีเงาหรือไม่มีเงาตัวจริงก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม เงาของตัวจริงในที่นี้ก็หมายถึงจิต เช่น วิญญาณและสังขาร ตลอดถึงสัญญาและเวทนาเป็นต้น เมื่อจิตสังขารเข้ามารับอาสาปรุงแต่งให้เล็กลงและน้อยลงที่สุด ความสำคัญนั้นก็เป็นไปตามแท้จริง เรื่องวิญญาณและสัญญาเวทนาก็มีอยู่เท่าเดิมนั่นแหละ ไม่เล็กไม่โต แต่สังขารปรุงแต่งให้เล็กตามต้องการ จนสัญญาและเวทนาดับหายไป ก็เข้าใจว่าจิตดับ แท้จริงแล้วไม่ใช่จิตดับ แต่เป็นตัวสังขารปรุงแต่ง ถ้าจิตดับแล้วนิโรธก็จะออกมาทำงานอะไรเล่า ดังกล่าวแล้ว ฌานมีอาการเพ่งเอาแต่อาการของจิตอย่างเดียว ไม่มีการพิจารณานอก-ใน-ดี-ชั่ว-หยาบ-ละเอียด สิ่งที่ควรและไม่ควร เพ่งจนกระทั่งอารมณ์น้อยลงจนอาการของจิตดับ สมาธินั้นเพ่งเอาแต่ตัวจิตที่เดียว จิตจะคิดดี-ชั่ว-หยาบ-ละเอียด สิ่งที่ควรหรือไม่ควร สติควบคุมรู้เท่าอยู่เสมอ บางทีสติเผลอไปเป็นเหตุให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบ ประกอบด้วยการถือตนถือตัวเป็นอัตตามีมานะขึ้น ไม่เชื่อคำคน ดื้อรั้นเฉพาะตนคนเดียว เมื่อสติควบคุมจิตอยู่นั้นรู้ตัวว่าหันเหออกนอกลู่นอกทาง ตั้งสติให้มั่นเข้า พิจารณาให้ชัดเจนลงไป มิจฉาทิฏฐิก็จะหายวับไป เกิดสัมมาทิฏฐิเดินตามมรรคมีองค์ ๘ เมื่อสติมีที่จิตควบคุมใจให้มั่นคง จะปลงปัญญาเห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มิจฉาทิฏฐิก็จะหายวับไปในที่นั่นเอง |
ฌาน คือ เพ่งเอาแต่อารมณ์ของจิตดังกล่าวแล้ว
บางท่านเพ่งเอาแต่อารมณ์ของรูปเลยเข้าใจว่าเป็นรูป เช่น เพ่งเอาดวงแก้วหรือพระไว้ที่หน้าอก แล้วสังขารออกไปปรุงแต่งให้เป็นไปตามความต้องการของตน เช่น ให้รูปใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง จนเพ่งให้เป็นรูปต่าง ๆ นานา สารพัดที่จะเกิดขึ้น แล้วเอาอาการของรูปนั้นว่าเป็นมรรคเป็นผลตามความต้องการของตน แท้ที่จริงแล้วมิใช่มรรคผลหรอก มรรคผลไม่มีภาพ ภาพเป็นเรื่องของฌาน อภิญญา ๕ ก็เป็นเรื่องของฌานทั้งนั้น มรรคไม่มีภาพ และอภิญญาต่าง ๆ มีแต่พิจารณาเห็นชัดตามความเป็นจริง แล้วแสดงความจริงอันนั้นให้เกิดขึ้นในใจล้วน ๆ เช่น เห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ เห็นสมุทัยว่าเป็นสมุทัย นิโรธและมรรคเห็นเป็นนิโรธและมรรค ตามความเป็นจริง ซึ่งใคร ๆ จะคัดค้านไม่ได้ ว่าทุกข์ไม่เป็นทุกข์ สมุทัยไม่ใช่สมุทัย นิโรธมิใช่นิโรธ มรรคไม่ใช่มรรค ปราชญ์ในโลกนี้ทั้งหมดไม่มีใครจะคัดค้านเช่นว่านี้ เพราะเห็นจริงทุกสิ่งที่ตนเห็นแล้ว มรรคที่พระองค์แสดงไว้เบื้องต้น คือ โสดาบันบุคคลท่านละสักกายทิฏฐิ คือความถือตนถือตัวว่าเป็นตนเป็นตัวจนเป็นอัตตา แล้วก็ละความเห็นอันนั้นพร้อมทั้งละรูปที่ถือนั้นด้วย วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาสก็เช่นเดียวกัน มรรคคือการละสิ่งที่ตนถือ คือรูปนั้นเองและละความถือของรูปนั้นคือจิตตนเอง สมกับที่พุทธศาสนาสอนว่า เมื่อยังเป็นตนเป็นตัวอยู่ แล้วเห็นสิ่งที่ตนยึดถืออยู่นั้นว่าไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว แล้วก็ละพร้อมทั้งความถือด้วย เรียกง่าย ๆ ว่าละรูปละนามจนหมดกิเลส |
ฌานนี้ถ้าจะพูดว่าเป็นของปฏิบัติง่ายก็ง่าย คือเพ่งเอาแต่อารมณ์ของจิต อารมณ์อื่นไม่มีแล้ว
เมื่อละอารมณ์ของจิตแล้วก็หมดเรื่องไป |
ส่วนสมาธินั้นเป็นของยากยิ่งนัก คือจิตคิดค้นหาเหตุผลของจิต
นึกคิดร้อยแปดประการว่า จิตจะรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง เหมือนคนขุดโพรง แมลงเม่าเห็นแสงสว่างก็กรูกันออกมาบินว่อนทั่วไป ออกมาสลัดปีกเป็นภักษาของสัตว์ทั่วไป ก็มากมายหลายประการ เรียกว่า หมดทั้งโลกก็ว่าได้ กว่าจิตจะเห็นแจ้งแทงตลอดปรุโปร่ง ด้วยใจของตนเองแน่ชัดว่าสิ่งเหล่านั้นไร้สาระ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วละให้หมดสิ้นไปได้ ไม่ใช่ของง่ายทีเดียว แต่สำหรับจิตผู้เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เชี่ยวชาญในนโยบายต่าง ๆ ที่ผู้เขียนเรียกว่า ผู้มีแยบคายภายในนี้เอง จะต้องเห็นโทษ ละทิ้งสิ่งเหล่านั้น ด้วยแยบคายของตนเองโดยเด็ดขาด คือละที่ใจอย่างเดียวแล้วก็หมดเรื่อง กิเลสไม่ใช่ของยาก ว่าเป็นของง่ายก็ง่ายนิดเดียว คือละที่ใจอย่างเดียวแล้วก็หมดเรื่อง กิเลสไม่ใช่ของมาก มีอยู่ในใจเข้าไปยึดถือในสิ่งเหล่านั้น เมื่อละอุปาทานแล้ว กิเลสก็หมดไป ยังเหลือแต่ใจใสสะอาดอยู่ผู้เดียว |
ฌานสมาบัติและสมาธิ
เรื่องฌานสมาบัตินี้ ทุก ๆ คนย่อมปรารถนาอย่างยิ่ง แม้สมัยก่อนพุทธศาสนาไม่มีในโลก พวกฤๅษีชีไพรก็ได้ทำกันแล้วเป็นหมู่ ๆ ในสมัยเมื่อพระองค์ยังเป็นพระสิทธัตถราชกุมารแสวงหาพระโพธิญาณอยู่นั้น พระองค์ได้ทดลองวิชาทั้งหลายที่ทรงศึกษาเล่าเรียนมาจากอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงต่าง ๆ ในสมัยนั้น ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ พระองค์ได้ยินกิตติศัพท์ของท่านอาฬารดาบส ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางวิชาแขนงนี้ จึงเสด็จเข้าไปขออาศัยฝากตัวเป็นศิษย์ เรียนรู้วิชากับสองอาจารย์นั้นจนสำเร็จเรียบร้อยเป็นอย่างดี แล้วก็ได้ทดลองกระทำตามจนแน่ชัดว่าทางนี้มิใช่ทางตรัสรู้แน่แล้ว แม้ว่าท่านอาจารย์ทั้งสองจะยกย่องว่ามีความรู้ความสามารถเทียบเท่าอาจารย์ได้ แต่พระองค์ก็เสด็จลาจากท่านอาจารย์ทั้งสองเที่ยวหาวิเวก ทำความเพียรภาวนาทางจิตโดยลำพังพระองค์เอง ทรงหวนระลึกได้ว่าเมื่อครั้งทรงพระเยาว์เป็นพระราชกุมารน้อย ๆ พวกศากยราชทั้งหลายได้พาพระองค์ไปในพระราชพิธีแรกนาขวัญ แล้วทอดทิ้งพระองค์ไว้ใต้โคนต้นหว้าเพียงลำพังพระองค์เดียว ขณะนั้นพระองค์ได้ทำสมาธิจนเป็นไปภายในจิต ทรงกำหนดพิจารณาอานาปานสติ จนเห็นแจ้งชัดว่า กายนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัยแห่งลม เมื่อลมขาดสูญไป กายนี้ก็เป็นของว่างเปล่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่จิตยังคงเหลืออยู่เป็นผู้รับบาปกรรมและนำให้ไปเกิดในภพชาติต่าง ๆ เมื่อพระองค์ทอดทิ้งกายโดยแยบคายอันชอบแล้ว ยังเหลือแต่จิตอย่างเดียว จิตจึงรวมเข้าเป็นเอกัคคตา ถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ เวลานั้นตะวันบ่ายไปแล้ว แต่เงาของต้นหว้าก็ยังตั้งตรงอยู่ พวกศากยราชทั้งหลายที่พากันมานะด้วยเห็นว่าพระองค์เป็นพระกุมารน้อยอายุยังอ่อน ไม่เคยกราบไหว้พระองค์ ต่างก็พากันแห่มากราบไหว้พระองค์ทั้งสิ้น เมื่อระลึกได้ดังนั้น พระองค์จึงทรงพิจารณาว่าทางนี้จะเป็นทางตรัสรู้กระมัง ต่อนั้นไปพระองค์จึงบำเพ็ญอานาปานสติ จึงถึงพระสัมมาโพธิญาณ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง |
ฌานที่พระองค์ทรงบำเพ็ญกับฤๅษีทั้งสองนั้น เป็นโลกิยฌานก็จริง
แต่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายที่เชี่ยวชาญฉลาดในด้านจิตใจ มีพระอนาคามีเป็นต้น ท่านก็ยังทรงเล่นเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่แน่แล้ว ไม่เล่นอยู่ในโลกิยธรรม จะไปอยู่ที่ไหน โลกุตรธรรมเป็นของจริงของแท้จะเอามาเล่นอย่างไร เขาเล่นหนังตะลุง พระเอกนางเอกลิเก ละคร ก็ล้วนเอาของเทียมมาเล่นกันทั้งนั้น พระเอกนางเอกมิใช่ตัวจริง แต่สมมติเอาต่างหาก |
ตามเรื่องว่าพระพุทธเจ้าก่อนเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ชมฌานเป็นการใหญ่
เข้านิโรธสมาบัติ ออกจากนิโรธแล้วถอยออกไปจนถึงปฐมฌาน แล้วกลับเข้าสู่ปฐมฌานอีกจนถึงจตุตถฌาน ไป ๆ มา ๆ อยู่ เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้วพระองค์จึงนิพพาน ในระหว่างกามาวจร คือ จิตเที่ยวในกามาวจรกับรูปาวจร แต่อารมณ์ของกามาวจรและอารมณ์ของรูปาวจร ก็มิได้ทำให้จิตใจพระองค์หลงใหลไปตาม เพราะพระองค์รู้โลกทั้งสามแล้วแต่เมื่อครั้งตรัสรู้ใหม่ ๆ ยิ่งทำใจพระองค์ให้ทรงผ่องใสยิ่งขึ้น เพราะเห็นชัดแจ้งแทงตลอด ในเรื่องอารมณ์ของกามาวจรและรูปาวจร อันเป็นเหตุให้โลกทั้งหลายวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด สมกับที่พระอานนท์ชมเชยพระพุทธเจ้าว่า “น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ในระหว่างกองกิเลสทั้งปวง ซึ่งมีพร้อมอยู่แล้วในโลกนี้คือกามาวจรและรูปาวจรนั้นเอง” หรือจะเรียกในมนุษยโลกและเทวโลกก็ได้ |
นิโรธสมาบัติกับสมาธิมิใช่อย่างเดียวกัน
นิโรธสมาบัติเข้าไปโดยลำดับเพ่งเอาอารมณ์ของฌานอย่างเดียว ไม่พิจารณาอะไร จนดับสัญญาและเวทนาเรียกว่าเข้านิโรธ ส่วนสมาธิคือเพ่งเอาจิตผู้คิดผู้นึก รู้สึกสิ่งต่าง ๆ ว่าดี ชั่ว ว่าหยาบ ละเอียด ว่าสิ่งที่ควรละควรถอน ซึ่งมีสติเป็นผู้ควบคุมอยู่ เป็นวิสัยของผู้ยังไม่ตาย วิญญาณจะรู้สึกสัมผัสต่าง ๆ จึงจำเป็นจะพิจารณาให้รู้เหตุผลสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นจริงอย่างไร ผู้พิจารณาเห็นโทษว่าสิ่งนั้น ๆ เกิดขึ้นแล้วดับเป็นธรรมดา ของเหล่านี้เกิดดับไม่รู้แล้วรู้รอด เมื่อท่านพิจารณาเห็นชัดแจ้งในใจของตนในธรรมะที่ท่านพิจารณาอยู่ จนเกิดปราโมทย์ความเพลินในธรรมนั้น ๆ เรียกว่า สมาธิ |
มีเรื่องเล่าว่า พระพากุละ เมื่อท่านสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ท่านไปเข้าสมาบัติอยู่ในที่แจ้งแห่งหนึ่ง
สหายเก่าของท่านเมื่อครั้งเป็นฆราวาสอยู่เดินมาในที่นั้น เห็นท่านนั่งเข้าสมาบัติอยู่จึงถามท่านว่า ท่านทำอะไร พระพากุละก็ไม่ตอบ แล้วสหายเก่าคนนั้นจึงเดินเลยไป เมื่อท่านนั่งสมาธิพอสมควรแล้ว ท่านจึงออกจากสมาบัติ แล้วเดินไปพบสหายเก่าของท่าน เขาจึงถามท่านว่า เราได้ยินอยู่แต่เราไม่พูด เราเสวยธรรมะที่ควรเสวย เป็นอันว่านิโรธสมาบัติเป็นโลกีย์ ผู้ฝึกหัดแล้วย่อมเข้าใจได้เสมอ ส่วนสมาธิเป็นธรรมชั้นสูงควรแก่อริยภูมิจึงจะเข้าได้ |
มีชายคนหนึ่งชื่อบุษณะ คิดอยากจะภาวนากรรมฐานอย่างฤๅษี อยู่ดี ๆ ก็ไปอยู่ป่าคนเดียว ฝึกหัดกรรมฐานแบบพิจารณาธาตุทั้ง ๔พิจารณาแต่ละธาตุตั้งเดือนกว่า
มาวันหนึ่ง ฝนตกใหญ่น้ำหลากมาจากภูเขาท่วมตัวจนถึงคอ แกไม่รู้สึกตัวเลย จนกระทั่งน้ำแห้งแล้วเห็นฟองน้ำและขยะไหลมาที่คอ แกจึงรู้สึกว่าน้ำท่วมถึงคอ (ดีไม่ท่วมจมูก) ไม่ทราบว่าอยู่กี่วัน ผอมแห้งยังเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก แกจึงคลานออกมาถึงบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่งซึ่งติดกับชายป่า เจ้าของบ้านเห็นเข้าจึงลงไปอุ้มขึ้นมาอาบน้ำให้แล้วเอาผ้ามาเปลี่ยนให้ใหม่ บำรุงอาหารให้ราว ๓-๔ วัน แล้วเจ้าของบ้านจึงส่งไปหาพ่อแม่ ต่อมาทีหลัง แกจึงบวชในพระพุทธศาสนา ได้ตามมาจำพรรษาในวัดหินหมากเป้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ บอกเบอร์ชะมัดอย่าบอกใคร (เห็นจะเป็นบางครั้ง) เมื่อมาอยู่วัดหินหมากเป้งที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ผู้เขียนห้ามไม่ให้บอกเบอร์ (หวย) เด็ดขาดถ้าบอกจะไม่ให้อยู่วัด เขาก็เชื่อฟังโดยดี ออกพรรษาแล้วจึงกลับไปบ้านเดิม และได้ข่าวท่านไปสร้างวัดที่ท่านทำความเพียรแต่ก่อนนั้นเอง แต่มีหมู่เพื่อนไม่มากนัก |
เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยวอินโดนีเซีย ได้ไปพักที่เขาสมาลัง
เป็นภูเขาไฟควันตลบอยู่บนยอดเขา เขาเรียกว่า เขาคิชฌกูฏ ตอนเช้าและตอนบ่ายจะเห็นควันโขมงอยู่บนยอดเขา เชิงเขาจะมีลาวาเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด ไม่ทราบว่ากี่พันกี่หมื่นปีมาแล้วที่เป็นอยู่เช่นนี้ เย็นวันหนึ่งมีคนมาหาที่วัด แล้วพูดเรื่องภูเขาและเรื่องที่เขาไปภาวนา อยู่ในป่าแห่งหนึ่งข้างทางที่เขาชี้ให้ดูนั่นเอง เขาบอกว่า แบกกล้วยไปเครือหนึ่งหวังว่าจะกินวันละลูก ร้อยวันก็หมดพอดี แล้วเขาก็นั่งภาวนาอยู่แถวนั้น ทีแรกก็กลัวสัตว์ร้ายมี งู เสือ หมี เป็นต้น แต่ภาวนามาได้ ๒-๓ วัน สัตว์เหล่านั้นก็มาหายั้วเยี้ยเลยไม่กลัว เห็นเป็นมิตรสหายอันดีต่อกัน เขาไม่ได้บอกว่านะไปอยู่ป่ากี่วัน และไม่ได้บอกลูกเมียทางบ้านให้ทราบด้วย เขาภาวนาเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้กลับเข้าไปบ้าน มองเห็นบ้านและลูกเมียเป็นอะไรไม่ทราบ คิดกลัวไปหมด อยู่มาราว ๓-๔ วัน สัญญาอันนั้นก็กลับเข้ามาเห็นลูกเมียเป็นปกติ |
มีเรื่องเล่าว่า ลูกพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง รักษาศีลเคร่งครัดมาก
เมื่อเห็นประชาชนประพฤติเหลวไหลไม่ประพฤติเป็นธรรม ท่านจึงคิดเบื่อหน่ายหนีเข้าป่าคนเดียว และบอกว่าห้าร้อยปีจะกลับมาเพื่อฟื้นฟูศาสนาให้เจริญตามเดิม คนอินโดนีเซียเชื่อจนบัดนี้ เวลาก็ล่วงเลยมาห้าร้อยปีกว่าแล้ว ก็ไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นกลับมาสักที แต่คนอินโดนีเซียเชื่ออยู่อย่างนั้น และคอยวันคืนมาของพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นเพื่อฟื้นฟูศาสนาให้เจริญ |
จิต - ใจ จะขอย้อนพูดถึงเรื่อง จิต-ใจ อีกทีหนึ่ง เพราะจิต-ใจ เป็นของละเอียดมาก บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินคำสองคำนี้เลยก็ได้ เมื่อไม่เคยได้ยินได้ฟังก็จะหาว่าผู้เขียนพูดเพ้อเจ้อ แต่แท้ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องจิต-ใจ ว่าเป็นของสำคัญมาก เมื่อพูดถึงเรื่องกิเลสทั้งหลายก็จะพูดถึงแต่เรื่องจิต-ใจทั้งนั้น ว่ากิเลสเกิดจากจิต-ใจ กิเลสจะดับก็เพราะดับได้ที่จิต-ใจนี้แห่งเดียวเท่านั้น กิเลสเป็นของไม่มีตัวตน เป็นนามธรรมล้วน ๆ แต่เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแก่ใคร เมื่อใดแล้ว ผู้นั้นจะต้องแสดงอาการต่าง ๆ ออกมา เช่น โทสะ เป็นต้น เมื่อเกิดจากจิต-ใจ ผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะต้องแสดงสีหน้าพิกลต่าง ๆ เรามาพิจารณาว่าใครเป็นผู้ทำให้สีหน้าพิกลไปต่าง ๆ เมื่อจิตเป็นผู้ทำให้เป็นเช่นนั้น เราเอาสติข่มจิตผู้ทำนั้นไว้ให้ได้ ก็จะสามารถระงับโทสะนั้นได้อย่างปลิดทิ้ง อย่างนี้กิเลสคือโทสะนั้นมิใช่เป็นของมีตัวหรือ |
จิต-สติ-กิเลส
เมื่อจะพูดถึงเรื่องจิต-ใจ ก็จะต้องพูดถึงสติผู้ควบคุมจิตและผู้รักษาจิตโดยเฉพาะ ส่วนกิเลสคือความเศร้าหมองของจิต จะขอพูดถึงเรื่องสามอย่างนี้เท่านั้นแหละ นอกจากนี้จะไม่พูด ถ้าพูดไปก็จะฟั่นเฝือมากเป็นเหตุให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญได้ โดยเฉพาะผู้เขียนเป็นคนเรียนน้อยรู้น้อยไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้ง จึงจะขอพูดถึงเฉพาะแต่เรื่องที่ปฏิบัติอยู่นี้เป็นหลักใหญ่ และเป็นประธานของการปฏิบัติซึ่งก็มีอยู่เพียงสามอย่างเท่านั้นแหละ ฉะนั้นจึงอยากให้ผู้อ่าน ผู้ฟัง ได้เข้าใจถึงเรื่องสามอย่างนี้บ้างโดยเฉพาะ จึงจะเข้าใจหนังสือเล่มนี้ดี ถ้าไม่รู้เรื่องสามอย่างนี้แล้ว ก็จะหาว่าผู้เขียนพูดเพ้อเจ้อไปก็ได้ |
จิต คือ ผู้คิดผู้นึกในอารมณ์ต่าง ๆ ที่รวมเรียกว่า กิเลส อันเป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมองนั่นเอง
จึงต้องฝึกหัดให้มีสติระวังควบคุมจิต ให้รู้เท่าทันจิต ซึ่งคำนี้เป็นโวหารของพระกรรมฐานโดยเฉพาะ คำว่า รู้เท่า คือ สติรู้จิตอยู่ไม่ขาดไม่เกินยิ่งหย่อนกว่ากัน สติกับจิตเท่า ๆ กันนั่นเอง คำว่า รู้ทัน คือสติทันจิตว่าคิดนึกอะไร พอจิตคิดนึก สติก็รู้สึกทันที เรียกว่า รู้ทัน แต่ถ้าจิตคิดแล้วจึงรู้นี้เรียกว่า รู้ตาม อย่างนี้เรียกว่า ไม่ทันจิต ถ้าทันจิตแล้ว พอจิตคิดนึก สติจะรู้ทันที ไม่ก่อนไม่หลัง ความคิดของจิตก็จะสงบทันที นิ่งเฉย สติควบคุมจิตนิ่งอยู่แต่ผู้เดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนี้เป็นยอดแห่งความสุขที่วิเวก การที่จะทำสติให้ได้อย่างนี้ จะต้องพร้อมด้วยกายวิเวกและจิตวิเวกอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อสติเห็นจิตคุมจิตอยู่แล้ว ความปลอดโปร่งแห่งจิตจะหาที่สุดไม่ได้ ความรู้ต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน ย่อมเกิดจากสติควบคุมจิตนี้ทั้งนั้น ฉะนั้น สติควบคุมจิต จึงเป็นยอดแห่งความปรารถนาของผู้ปฏิบัติกรรมฐานโดยแท้ |
คราวนี้จะพูดถึงเรื่อง อารมณ์ของจิต หรือจิตส่งนอก ก็เรียก
จิตที่ส่งออกไปนอกกายมีหกสายใหญ่ ๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตส่งนอกมันออกไปจากทวารหกสายนี้ทั้งนั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีเด็ดขาด |
ส่วนคำว่า จิตส่งใน คือในของจิต หมายความว่าส่งออกจากจิตนั่นเอง
โดยที่ไม่ได้ส่งออกไปตามอายตนะทั้งหก เช่น ส่งจิตไปเห็นรูปเทวบุตร เทวดา หรือภาพภูติผีปีศาจต่าง ๆ นานา เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า ส่งใน คือ ส่งอยู่ในจิตนั่นเอง จิตที่ส่งไปตามอารมณ์ภายใน (หรือจะเรียกว่า ส่งใน ก็ใช่) การที่จิตส่งในนี้เป็นของสำคัญมากเพราะอาจจะเป็นเหตุให้เกิดวิปริตต่าง ๆ ที่เรียกว่าเสียสติก็เป็นได้ ผู้ฝึกหัดจิตต้องการจับเอาตัวจิต แต่กลับไปจับเอาอารมณ์ที่ส่งออกไปนอกจิต จึงไม่ได้จิตสักที โดยสำคัญว่าอันนั้นก็จิต อันนี้ก็จิต แท้ที่จริงแล้วเป็นอาการของจิตหรืออารมณ์ของจิตทั้งนั้น อย่างที่ท่านเรียกว่า สำคัญเปลือกเป็นแก่นจึงไม่ได้แก่นสักที เมื่อผู้รู้เช่นนั้นแล้ว ตั้งสติไว้ให้แน่วแน่ คุ้มครองจิตไว้ได้แล้ว อารมณ์ของจิตเกิดขึ้นเมื่อใดก็ทันจิตทุกเมื่อ รู้เท่าจิตทุกเวลา อารมณ์ที่ว่านี้คืออาการที่จิตเกิดขึ้นเมื่อใดก็ทันจิตทุกเมื่อ รู้เท่าจิตทุกเวลา อารมณ์ที่ว่านั้นคือการที่จิตปรุงแต่งก็หายวับไปทันที ยังเหลืออยู่แต่สติควบคุมจิต ส่วนกิเลสทั้งหลายที่มีมากมายเหลือที่จะคณานับนั้น เมื่อสติจับจิตตรงนี้ได้แล้ว กิเลสเหล่านั้นก็จะหายวับไปทันที ที่ว่ากิเลสเกิดจากจิตก็คือเกิดตรงนี้เอง กิเลสดับจากจิตก็เพราะดับตรงนี้ได้นั่นเอง เรียกอีกสำนวนหนึ่งว่า เกิดกับดับพร้อม นั้นเอง ที่พระองค์ตรัสว่ากิเลสทั้งปวงเกิดจากจิตในที่เดียว จิตคือผู้คิด ผู้นึกหรือผู้ปรุงแต่ง ถ้าไม่คิดกิเลสทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างสำนวนโวหารพระกรรมฐานท่านว่า สติรู้เท่าทันจิต นั่นเอง เมื่อสติรู้เท่าทันจิตแล้ว กิเลสทั้งหลายเหล่านั้นก็จะหายวับทันที |
ดังตัวอย่างเช่นความโกรธเกิดขึ้นแก่ผู้ใด
ความโกรธเกิดขึ้นแล้วจึงรู้ จึงเรียกว่าไม่รู้เท่ารู้ทัน ถ้ารู้เท่าทันแล้ว พอจิตคิดโกรธ สติตามรู้เท่าทัน ความโกรธนั้นก็จะหายไป |
ผู้ซึ่งจะรู้เท่าทันได้ดังว่านั้นจะต้องประกอบด้วยกายวิเวกและจิตวิเวก
กายวิเวกคือ ต้องอยู่คนเดียวจริง ๆ ไม่คิดไม่นึกถึงคนนั้นคนนี้ สงบจากสิ่งทั้งปวงหมด จึงเรียกกายวิเวก ส่วนจิตวิเวกนั้น จิตต้องเข้าถึงอัปปนาสมาธิ ที่เรียกว่า จิตเป็นเอกวิเวกอยู่คนเดียว นั้นแหละจึงจะรู้ได้ว่ากายกับจิตควบคุมซึ่งกันและกัน |
บรรดาลูกศิษย์ของพราหมณ์พาวรีทั้งสิบหกคน
ซึ่งพระอาจารย์ได้คิดค้นตั้งปัญหาอันลึกซึ้งคัมภีรภาพให้คนละปัญหา เพื่อนำไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า ลูกศิษย์ทั้งสิบหกคนของพราหมณ์พาวรีนี้ ก็ได้รับการอบรม ปฏิบัติตามหลักวิชาการของพราหมณีวงศ์จนชำนิชำนาญแคล่วคล่องมาแล้วทั้งนั้น เมื่อพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ตั้งปัญหาให้ไปทูลถามพระพุทธองค์ มาณพทั้งสิบหกคนจึงเดินทางไปยังสำนักของพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลถามปัญหานั้น ๆ พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรม วิสัชนาแก้ปัญหานั้น ๆ ของศิษย์พราหมณ์พาวรีจนครบทั้งสิบหกคน แต่ละคนล้วนตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์ ก็เกิดรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมนั้น ๆ ได้บรรลุอรหัตผลทุกท่าน ยกเว้นปิงคิยมาณพ มัวพะวงคิดถึงแต่อาจารย์พราหมณ์พาวรีว่า ไม่ได้ฟังธรรมคำสอนอันลึกซึ้งละเอียดจากพระพุทธองค์ ทั้งวาจาวาทะถ้อยคำของพระองค์ก็สละสลวยเป็นของน่าฟัง ธรรมของพระองค์นี้เป็นสิ่งสมควรแก่ผู้มีปัญญา ที่สามารถพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงได้โดยแท้ เสียดายจริง ๆ ที่อาจารย์ของเราไม่ได้มาฟัง ด้วยจิตของปิงคิยมาณพส่งไปหาอาจารย์อยู่อย่างนั้น จึงไม่ได้สำเร็จอรหันต์พร้อมเพื่อนในคราวนั้น ต่อมาภายหลังเมื่อได้ฟังธรรมโอวาทจากพระพุทธองค์อีก จึงได้สำเร็จบรรลุอรหัตผล บรรดาศิษย์ทั้งสิบหกรวมทั้งอาจารย์จึงได้ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระองค์ แล้วพระองค์ก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ความว่า ท่านจงเป็นภิกขุมาเถิด ธรรมวินัยของเราตรัสไว้ดีแล้ว |
กิเลสทั้งหลายที่ว่ามีมากมาย เวลาจะดับ ก็ดับที่ตรงนี้แห่งเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปหาดับในที่ต่าง ๆ ทั่วไป
พระพุทธศาสนาท่านสอนให้ดับที่ต้นตอบ่อเกิดของกิเลส กิเลสทั้งหลายเหล่านั้นก็จะดับหมด ถ้าจะกล่าวว่า พระพุทธศาสนาเป็นของกว้างก็กว้าง กล่าวคือท่านสอนเรื่องจิตที่ส่งส่ายไปตามอารมณ์หาที่สุดมิได้ คือหาประมาณที่สุดไม่ได้นั่นเอง ถ้าจะว่าเป็นของแคบก็แคบนิดเดียว คือเมื่อสติควบคุมจิตได้แล้ว หาต้นตอที่เกิดของกิเลสได้แล้ว กิเลสก็ดับ ณ ที่นั้นเอง |
โอ้อนิจจาน่าสงสารพระภิกษุที่บวชมาไม่ถึง ๔-๕ พรรษา
ก็อยากจะเป็นพระคณาจารย์สอนพระกรรมฐานเสียแล้ว แต่พระกรรมฐานห้าอย่างที่พระอุปัชฌาย์สอนให้ตนเบื้องต้นตอนบวชก็ยังพิจารณาไม่ได้ แล้วจะไปสอนคนอื่นได้อย่างไร ผู้ที่จะเป็นพระคณาจารย์สอนกรรมฐานได้นั้นตนเองจะต้องฝึกหัดสมาธิให้ได้ ขณิก-อุปจาร-อัปปนาสมาธิเสียก่อน ถ้าปฏิบัติไม่ได้อย่างว่านั้นแล้ว ขืนไปสอนเขาเดี๋ยวจะถูกลูกศิษย์หลอกเอา บางทีอาจารย์เรียกลูกศิษย์มาอบรมกรรมฐานแล้วถามว่าจิตเป็นอย่างไร ลูกศิษย์ก็จะบรรยายอย่างกว้างขวางว่าจิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ฝ่ายอาจารย์หลงเชื่อเพราะตนเองไม่เคยเป็นมาก่อน ขณิก-อุปจาร-อัปปนา สมาธิก็ไม่รู้จัก เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะเสริมลูกศิษย์คนนั้นว่าดีแล้ว ถูกแล้ว ลูกศิษย์คนอื่น ๆ เมื่อได้ยินได้ฟังอาจารย์พูดเช่นนั้น ส่งเสริมอย่างนั้น ต่างก็ริที่จะสรรหาคำพูดต่าง ๆ มาพรรณนาให้อาจารย์หลงเชื่อ อาจารย์ก็จะส่งเสริมลูกศิษย์คนนั้นต่อไปว่าได้สำเร็จมรรคผลชั้นนั้น ชั้นนี้ ภูมินั้น ภูมินี้ แล้วก็จะไปโฆษณาตนเองว่าฉันได้สำเร็จมรรคผล สิ่งเหล่านี้ผู้เขียนได้เคยประสบมาแล้ว |
มีผู้หญิงคนหนึ่งเคยเป็นหัวหน้าอบรมสั่งสอนกรรมฐานเขามาเป็นเวลาตั้งสิบกว่าปี
ต่อมาภายหลังได้ไปอบรมกรรมฐานแบบยุบหนอพองหนอ คือ กายปัพพะดี ๆ นี่เอง แล้วก็กลับไปโฆษณาให้เพื่อนเก่า ๆ ฟังว่ามาทำกรรมฐานกับฉันเถิด ทำแบบพุทโธไม่ได้ผลหรอก มาอบรมแบบยุบหนอ-พองหนอดีกว่า เจ็ดวันเท่านั้นจะทำให้สำเร็จมรรคผล เพื่อน ๆ ได้ยินเข้าเขาเบื่อไม่อยากฟัง แต่ก็ทนฟังแกพูดเพ้อเจ้อไปอย่างนั้นแหละ ต่อมาผู้เขียนได้เรียกตัวมาถามว่า คุณอบรมกรรมฐานอย่างไรจึงได้สำเร็จมรรคผลเร็วนัก แกกลับปฏิเสธเป็นชุลมุนว่า อบรมตามอย่างอาจารย์สอนนั่นแหละ นี้เป็นตัวอย่าง เรื่องการสำเร็จมรรคผล พูดอวดอุตตริมนุสสธรรมไปทั่วบ้านทั่วเมืองเช่นนี้ ถ้าเป็นจริงอย่างแกว่า ผู้หญิงก็จะเป็นอรหันต์กันไปหมดนะซิ ต่อจากนั้นแกจึงค่อยสงบลง |
การฝึกกรรมฐานแบบพม่า คือ ยุบหนอ พองหนอ หมายเอาลมหายใจเข้า-ออก นั่นเอง
ต่อมาสอนให้กำหนดเอาอิริยาบถ เช่น เมื่อก้าวเท้าไปข้างหน้า กำหนดว่า ก้าวหนอ-ก้าวหนอ อย่างนี้เป็นต้น ผู้เขียนรู้สึกสงสารจริง ๆ อุตส่าห์ไปเรียนกรรมฐานถึงประเทศพม่า มาสอนในเมืองไทยกลับมาก็สอนเรื่องเก่านั่นเอง แท้ที่จริงแล้วสติปัฏฐานภาวนาที่สามเณรน้อย ๆ เรียนจากนักธรรมตรี ท่องบ่นจดจำกันจนปากเปียกปากแฉะว่าสติปัฏฐานสี่ให้พิจารณา กาย เห็นสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนา เห็นสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเวทนาปัสสนาสติปัฏฐาน จิต เห็นสักแต่ว่าเป็นจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรม ไม่ใช่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน |
การพิจารณากาย-เวทนา-จิต-ธรรม ให้เห็นเป็นสักแต่ว่านั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะมันเป็นการลบสมมติบัญญัติของเดิมทั้งหมด
ที่เห็นเป็นสักแต่ว่านั้นมันเป็นบัญญัติสมมติใหม่ซึ่งเกิดจากสติปัฏฐาน ถ้าผู้ปฏิบัติพิจารณาได้อย่างนี้มันก็จะละการถือตน ถือตัว ถือเรา ถือเขา ให้หมดสิ้นไปจากใจได้นี้เป็นเบื้องต้นของสติปัฏฐานดังกล่าวแล้ว ที่พากันไปเรียนมาจากประเทศพม่านั้นได้ความเข้าใจอย่างนี้หรือไม่ ถ้าไม่ได้มันก็เป็นเพียงอนุมานกรรมฐานธรรมดา ๆ เท่านั้นเอง คือยุบหนอ-พองหนอ กำหนดลมหายใจเข้าออก กายก็เห็นเป็นเพียงอาการก้าวไปคือขาของเรานั่นเอง ก้าวไปก็คงรู้เห็นเป็นเพียงแค่นั้น มันไม่เข้าถึงสติปัฏฐานดังที่สามเณรน้อยเรียนนักธรรมท่องบ่นจดจำมาจากตำรา สติปัฏฐานทั้งสี่นี้ถ้าผู้ภาวนาไม่ถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จะพิจารณาอย่างไร ๆ ก็ไม่เป็นสติปัฏฐานอยู่นั่นเอง ถึงจะไปเรียนมาจากประเทศพม่าก็ตามเถิด เท่านั้นแหละ สติปัฏฐานภาวนาพระพุทธองค์สอนไม่ให้ไปเรียนที่อื่น ให้เราเอาที่กาย-เวทนา-จิต-ธรรม นี้เอง เมื่อจะเกิดความรู้ความเข้าใจ ก็รู้ที่กาย-เวทนา-จิต-ธรรม นี้แหละ |
พระคณาจารย์กรรมฐานทั้งหลายควรระวังหน่อย
การที่จะเป็นพระคณาจารย์เขานั้น เรามันจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติให้เป็นเสียก่อน เพียงแต่เรียนรู้ แต่ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น มีโดยส่วนมาก กรรมฐานมันมีอาการพิสดารมาก โดยมากพระกรรมฐานที่มีอายุพรรษา ๒๐๓๐ พรรษา แต่รักษาพรหมจรรย์ไม่ได้นั้น เป็นเพราะปฏิบัติกรรมฐานไม่ถึงจิต ไม่ใช่เหตุรักผู้หญิงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะปฏิบัติกรรมฐานไม่มีหลัก คงได้แต่เงาดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ในผลที่สุดแม้แต่เงาก็จับตัวไว้ไม่ได้ มันก็เลยเบื่อเท่านั้นเอง จึงรักษาพรหมจรรย์ไว้ไม่ได้ |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:08 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.