![]() |
คราวนี้จะเห็นได้ชัดเลยทีเดียวว่า สรรพกิเลสทั้งปวงและโทษทุกข์ทั้งหลายที่มนุษย์คนเราพากันได้เสวยอยู่นี้
ล้วนแต่จิตผู้เดียวเป็นผู้หามาใส่ถ้าจิตไม่ไปหามาใส่แล้ว จิตก็จะกลายเป็นใจ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง อยู่เป็นสุขโดยส่วนเดียว เหมือนต้นกล้วยไม่มีแก่น แกะกาบไป ๆ ผลที่สุดเลยหาแก่นไม่ได้ มีแต่กาบอย่างเดียว ผู้ภาวนาทั้งหลายล้วนแต่แกะกาบหาแก่นแท้ของธรรมทั้งนั้น ผู้หาแก่นของธรรมแต่แกะกาบไม่หมดจึงไม่เห็นธรรม |
ผู้ภาวนายังไม่ถึงจิตถึงใจพากันกลัวนักกลัวหนาว่า
เมื่อจิตเข้าถึงใจแล้วจะไม่ทำให้เกิดความรู้อะไรต่าง ๆ เมื่อไม่เกิดความรู้ ความสิ้นทุกข์มันจะมีมาแต่ไหน มันก็โง่เท่านั้นเอง แม้พระผู้ใหญ่บางท่านก็พูดกับผู้เขียนเองเช่นนี้เหมือนกัน ผู้เขียนเคยได้อธิบายแล้วว่า จิตเป็นผู้ส่งส่ายหาอารมณ์ต่าง ๆ มาครอบงำจิต เมื่อจิตเห็นโทษของอารมณ์นั้น ๆ แล้ว จิตสละอารมณ์นั้นเสีย แล้วเข้ามารวมเป็นหนึ่ง เลยกลายเป็นใจ มิใช่เข้ามาอยู่เป็นใจเลยโดยมิได้ตรึกตรองพิจารณาให้รอบคอบ เรียกว่า พิจารณาเหตุผลทุกแง่มุมจนถึงพระไตรลักษณ์ ไม่มีที่ไปแล้วจึงเข้าถึง เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าไม่มีปัญญาได้อย่างไร ก็มีปัญญาตามชั้นตามภูมิของตนนั้นเอง |
ดังได้อธิบายมาแล้วว่า
จิตเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ถ้าไม่มีจิตกิเลสมันจะมีมาแต่ไหน ทั้งเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ถ้าหาจิตไม่ได้แล้วจะไปคิดปรุงแต่ง หาปัญญามาที่ไหน เป็นเหตุให้เกิดกิเลสเพราะจิตส่งส่ายไม่เข้าถึงใจ คือความเป็นกลาง เป็นเหตุให้เกิดปัญญาเพราะจิตส่งส่ายไปในที่ต่าง ๆ แล้วรวมเข้ามาลงในพระไตรลักษณ์ แล้วหยุดนิ่งเฉย รู้ตัวอยู่ว่านิ่งเฉย เข้าถึงใจ |
เหมือนกับตัวไหม เขาเลี้ยงด้วยหม่อน โตขึ้นโดยลำดับ จนกลายมาเป็นบุ้ง
แก่แล้วชักใยหุ้มตัวมันเอง เขาเรียกว่า ดักแด้ แก่เข้าแล้วเจาะรังออกมา เขาเรียกว่าแมลงบี้ ออกไข่ตั้งเยอะแยะ นับเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ตัว ฉันใด จิตก็ฉันนั้น เมื่อมันรวมตัวเข้าเป็นใจแล้ว จะไม่มีอาการอะไรทั้งหมด เมื่อมันออกจากใจมาแล้ว มันจะมีอาการมากมายเหลือจะประมาณ (แต่ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านจะไม่ยอมให้มันออกไปเที่ยวเกิดอีก ประหารในที่เดียวเลย) สรรพกิเลสของมนุษย์ผู้ไม่ได้ทำสมาธิภาวนา จิตยังวุ่นอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ก็เหมือนกับลูกแมลงบี้ที่เกิดจากแม่ตัวเดียว มีลูกนับเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ตัวฉะนั้น |
สรุปแล้ว กิเลสทั้งหลายของมนุษย์เรานี้เกิดจากจิตแต่ผู้เดียว
เมื่อสัมปยุตไปด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ คือ ภายนอก ๖ มีรูป เสียง เป็นต้น อายตนะภายใน ๖ มีตา หู เป็นต้น กระทบกัน แล้วก็เกิดผัสสะขึ้นมา แล้วก็แผ่ออกเป็นลูกหลาน ลุกลามไปทั่วทั้งโลก ให้เกิดความยินดียินร้าย ความรัก ความชัง เกลียด โกรธ แล้วประหัตประหารฆ่าฟันซึ่งกันและกัน ทำให้โลกนี้วุ่นวายไปหมด |
เมื่อรู้เช่นนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรระวังสังวรอย่าให้จิตไปสัมปยุตด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ เหล่านั้น
ทำใจให้เป็นกลางวางเฉยอยู่คนเดียว ถึงแม้จิตจะใช้อายตนะทั้งหลายเป็นเครื่องเที่ยว ก็ให้ระวังใจไว้ อย่าให้หลงตามจิต |
เมื่อใจไม่หลงตามจิต เพราะใจรู้เท่าเข้าใจอาการของจิต
ว่าจิตเป็นผู้นำอารมณ์ให้ปรุงแต่งวุ่นวาย ใจก็จะอยู่คนเดียวตามธรรมชาติของใจ เมื่อใจเป็นธรรมชาติของมันแล้ว จิตจะปรุงจะแต่งก็เข้าไม่ถึงใจ เพราะใจไม่มีอาการไปแลอาการมา ไม่มีนอกแลใน ไม่มีความยินดีแลยินร้าย ปล่อยวางเฉยในสิ่งทั้งปวงแล้ว จิตก็จะขวยเขินไปเอง |
นักปฏิบัติเมื่อเห็นชัดเจนตามเป็นจริงดังได้อธิบายมานี้แล้ว
จะเห็นสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม แลนามธรรมทั้งหลาย เห็นเป็นแต่สักว่า สภาวธรรม เท่านั้น เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย หมดเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น ไม่มีอะไรจะเป็นจริงเป็นจังเลย แล้วแผ่นดินคือกายผืนแผ่นเล็ก ๆ อันนี้ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ก็จะบรรจุเต็มไปด้วยธรรมทั้งหมด ตามองออกไปเห็นรูป ก็จะเห็นเป็นสักแต่รูปธรรมเท่านั้น ไม่เห็นเป็นอย่างอื่น หูได้ฟังเสียง ก็จะเห็นเป็นสักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น จะไม่เป็นอย่างอื่น จมูกถูกกลิ่น ลิ้นถูกรส กายถูกสัมผัส ใจมีอารมณ์เกิดขึ้น ก็สักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น มิใช่สัตว์ ตัวตน เรา เขา หรืออะไรทั้งสิ้น |
คนไทยทั้งประเทศ เมื่อได้แผ่นดินคนละผืนเล็ก ๆ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ อันนี้แล้ว
ตั้งใจรักษาแผ่นดินอันนี้ให้เป็นธรรม เมื่อต่างคนต่างรักษาแผ่นดินของตนให้เป็นธรรมแล้ว ประเทศไทยก็จะกลายเป็นแผ่นดินธรรมไปทั้งหมด คราวนี้ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะสบายไม่ต้องลำบาก. |
สิ้นโลก เหลือธรรม (ภาคปลาย) โดย พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย โลกอันนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น อย่าถือว่าเป็นของเรา ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม |
พากันมาฟังความเสื่อมฉิบหายของโลกต่อไป
โลก คือ ความเสื่อมอันจะต้องถึงแก่ความฉิบหายในวันหนึ่งข้างหน้า เขาจึงเรียกว่าโลก ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วคำว่า โลก ก็จะไม่มี โลกเกิดจากวัตถุอันหนึ่งซึ่งเป็นก้อนเล็ก ๆ อันเกิดจากฟองมหาสมุทรที่กระทบกันแล้วกลายเป็นก้อนเล็ก ๆ ขึ้นก่อน จะเรียกว่าอะไรก็เรียกไม่ถูก เรียกว่าธาตุอันหนึ่งก็แล้วกัน คือหมายถึงวัตถุธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเอง เป็นเอง แล้วค่อยขยายกว้างใหญ่ไพศาลจรดขอบเขตแม่น้ำและมหาสมุทรทั้งสี่ โดยมีจักรวาลเป็นขอบเขต แล้วค่อยปริออกมาเป็นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ แปรสภาพเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ กัน มีอวัยวะครบบริบูรณ์ แล้วมีจิตวิญญาณซึ่งคุ้นเคยเป็นกันเองเข้ามาครอบครองทำหน้าที่บังคับบัญชาธาตุนั้น ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุของโลก ซึ่งเราเรียกกันว่า คน นั่นเอง |
แต่ละคนหรือตัวตนที่สมมติว่าคนนี้ ก็จะต้องเสื่อมสลายไปในวันหนึ่งข้างหน้าเช่นเดียวกัน
แม้ในเดี๋ยวนี้ คนหรือที่เรียกว่ามนุษย์สัตว์โลกหรือมนุษย์โลกก็กำลังเสื่อมไปอยู่ทุกวัน ๆ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จพระโพธิญาณใหม่ ๆ มนุษย์ชาวโลกนี้มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี ระยะเวลาผ่านไป ๑๐๐ ปี อายุคนจะลดน้อยถอยลงมาปีหนึ่ง ปัจจุบันนี้ พระพุทธองค์นิพพานไปได้ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีแล้ว อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงคงเหลือประมาณ ๗๕ ปี ถ้าคำนวณตามแบบนี้ อายุของมนุษย์ก็เสื่อมเร็วนักหนา อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงไปอย่างนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งเหลือ ๑๐ ปี ก็มีครอบครัว เป็นผัวเมียสืบพันธุ์กัน แม้สัตว์เดรัจฉานอื่น ๆ ก็เสื่อมลงโดยลำดับเช่นเดียวกันกับมนุษย์ ดินฟ้าอากาศก็เปลี่ยนแปลง แปรปรวนเป็นไปต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้เกิดกลียุคฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ ๆ เหล่า ๆ สัตว์ตัวใหญ่ที่มีอิทธิพลก็ทำลายสัตว์ตัวน้อย ให้ล้มตายหายสูญเป็นอันมาก มนุษย์จะกลายเป็นคนไม่มีพ่อแม่พี่น้อง หรือญาติวงศ์ซึ่งกันและกัน เมื่อเห็นหน้ากันและกันก็จับไม้ค้อนก้อนดินขึ้นมากลายเป็นศาสตราวุธประหัตประหารฆ่ากันตายเป็นหมู่ ๆ เรื่องศีลธรรมไม่ต้องพูดถึงเลย แม่น้ำลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึง ก็เหือดแห้งเป็นตอน ๆ ฝนไม่ตกเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ปี มีแต่เสียงฟ้าร้องครืน ๆ แต่ไม่มีฝนตกเลย |
เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำในทะเลอันใหญ่โตกว้างขวางและลึกจนประมาณมิได้ ก็เหือดแห้งกลายเป็นทะเลทราย
ปลาตัวหนึ่งซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า ติมังคละ ก็นอนตายอยู่บนกองทราย และโดยอำนาจของแดดเผาผลาญ ทำให้ปลาตัวนั้นมีน้ำไหลออกมาบังเกิดเป็นไฟลุกท่วมท้น ทำให้มนุษย์โลกทั้งหลายฉิบหายเป็นจุณวิจุณ เขาเรียกว่าไฟบรรลัยโลก โลกนี้ทั้งหมดก็จะกลายเป็นอัชฌัตตากาศอันว่างเปล่า สัตว์ที่มีวิญญาณก็จะขึ้นไปเกิดในภพของพรหมชั้นอาภัสสระ ซึ่งไฟนั้นไหม้ไม่ถึง |
ในหนังสือไตรโลกวิตถารท่านกล่าวว่า
โลกนี้ทั้งหมดจะต้องฉิบหายโดยอาการ ๓ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ๓ ประการนี้เป็นเหตุ สัตว์หนาไปด้วยราคะ โลกนี้จะต้องฉิบหายด้วยน้ำ สัตว์หนาไปด้วยโทสะ โลกจะต้องฉิบหายด้วยไฟ สัตว์หนาไปด้วยโมหะ โลกจะต้องฉิบหายด้วยลม โลกจะต้องฉิบหายด้วยการบรรลัยโลกกันอยู่อย่างนี้ ในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ |
ไฟบรรลัยโลกเล็ก ๆ ที่เกิดในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ นี้ มีปัญหาน่าพิจารณา
น้ำราคะอันมีอยู่ในมนุษย์ชาวโลก แต่ละคนมีอยู่น้อยนิดเดียว ทำไมท่านแสดงว่าสามารถท่วมโลกได้จนเป็นน้ำบรรลัยโลก โทสะและโมหะก็เหมือนกัน อยู่ในตัวมนุษย์โลกซึ่งมองไม่เห็น ทำไมจึงแสดงฤทธิ์ใหญ่โตจนไหม้โลก และพัดเอาโลกจนฉิบหาย ขอนักปราชญ์เจ้าจงใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ เห็นจะไม่ท่วมโลกและเผาโลกให้ฉิบหายเป็นกัปเป็นกัลป์ดังว่านั้นก็ได้ พวกเราชาวโลกผู้มีน้ำและไฟหรือลมอยู่ในตัวนิดหน่อยนี้คงจะมองเห็นฤทธิ์เดช เรื่องของทั้ง ๓ นี้ ว่ามีฤทธิ์เดชเพียงใด ราคะคือความกำหนัดยินดีในสิ่งสารพัด วัตถุทั้งปวงมีผัวเมียเป็นต้น มันท่วมท้นอยู่ในอกโดยความรักใคร่อันหาประมาณมิได้ โทสะคือไฟกองเล็ก ๆ นี้ก็เหมือนกัน มันไหม้เผาผลาญสัตว์มนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ โมหะก็เช่นเดียวกัน มันพัดเอาฝุ่นละอองกิเลสภายนอกและภายใน มาท่วมทับหัวอกของคนจนมืดมิด ให้เข้าใจว่า สิ่งที่ผิดเป็นถูก ของ ๓ อย่างนี้มีฤทธิ์เดชมหาศาล สามารถทำลายโลกให้เป็นกัปกัลป์ได้ และกัปนั้นท่านไม่ได้แสดงว่ามีอายุเวียนมาสักเท่าไร เป็นแต่แสดงว่าเป็นกัปเล็ก ๆ ในระหว่างกัปใหญ่ เห็นจะเพราะน้ำราคะ ไฟโทสะ ลมโมหะ ท่วมโลกและเผาผลาญโลกนี้ไม่หมดสิ้น ท่านถึงไม่แสดงถี่ถ้วน เพียงแต่พูดเปรย ๆ เพื่อให้นักปราชญ์ผู้มีปรีชาเอามาคิด เพื่อไม่ให้หลงผิด ๆ ถูก ๆ รู้จักชัดแจ้งโดยใจของตนเอง ชัดแจ้งด้วยใจของตน แล้วนำมาพิจารณาเฉพาะตน ๆ |
ความฉิบหายของโลกเป็นมาอย่างนี้แล้ว ๆ เล่า ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
พระบรมโพธิสัตว์ผู้ซึ่งท่านได้บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศมาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ชาวสวรรค์ทั้งปวงเล็งเห็นว่าโลกนี้วุ่นวายเดือดร้อนกันมาก จึงได้ไปทูลเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะตระกูลศากยราช เมื่อคลอดออกจากครรภ์ของพระมารดาแล้ว เสด็จย่างพระบาทได้เจ็ดก้าว ทรงแลดูทิศทั้งสี่แล้วเปล่งอาสภิวาจาว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺมึ เราจะเป็นเลิศในโลก |
เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นมาก็ได้เสวยความสุขอันเลิศ
จนกระทั่งเสด็จหนีออกบรรพชา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง ๖ พรรษา จึงได้ค้นพบพระอริยสัจธรรมสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงทรงพิจารณามองเห็นสัตว์โลกที่เดือดร้อนวุ่นวาย ด้วยไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องครอบครองหัวใจ จึงเป็นเหตุให้เกิดการอิจฉาริษยา ฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ ๆ เหล่า ๆ เป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่ตลอดกาล และด้วยอาศัยพระเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงของพระพุทธองค์ที่ทรงมีต่อมนุษย์สัตว์โลกทั้งหลาย จึงทรงเทศนาสั่งสอนสัตว์นิกรทั้งหลายให้เข้าถึงธรรมะ ให้มีศีลธรรมประจำตนของแต่ละคน ๆ เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดกาล ดั่งที่พระองค์ทรงเทศนาธรรมโลกบาล คือธรรมอันเป็นเครื่องคุ้มครองสัตว์โลก มี ๒ อย่าง คือ หิริ และ โอตตัปปะ |
แต่มนุษย์ชาวโลกทั้งหลายกลับเห็นว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาทีหลังโลก ท่านต้องคุ้มครองเราซิ
ไม่ให้มีอันตรายและเดือดร้อนวุ่นวายถึงจะถูก |
ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่สอนให้มนุษย์เป็นทาสกรรมซึ่งกันและกัน
แต่พระองค์ทรงสอนให้มนุษย์มีอิสระคุ้มครองตัวเองแต่ละคน จึงจะอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าพระองค์ทรงสอนให้เป็นทาสกรรมซึ่งกันและกัน เหมือนกับตำรวจและทหารต้องอยู่เวรเข้ายามรักษาเหตุการณ์อยู่ทุกเมื่อแล้ว โลกนี้ก็จะดูเดือดร้อนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดกาล แต่พระองค์ทรงสอนหัวใจคนทุกคนให้รักษาตนเองโดยมีหิริ-โอตตัปปะ คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ถ้าทุก ๆ คน มีธรรมสองอย่างนี้อยู่ในหัวใจแล้ว ก็จะไม่มีเวรมีภัยและการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มนุษย์คือโลกเล็ก ๆ นี้ก็จะอยู่เป็นสุขตลอดกาล แล้วโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลก็จะพลอยอยู่เย็นเป็นสุขไปด้วย |
เป็นวิสัยธรรมดาของโลกที่จะต้องมีความเห็นเข้าข้างตัวเอง คือ เห็นว่า
พระพุทธเจ้าจะต้องคุ้มครองรักษาโลกเหมือนกับตำรวจรักษาเหตุการณ์ฉะนั้น เหตุนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมแล้วจึงทรงสอนมนุษย์ชาวโลก ให้มีศีลธรรมเกิดขึ้นในใจของตนแต่ละคน มนุษย์จึงจะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้ในโลกนี้ทั้งหมด โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้เกิดขึ้นมาก่อน แล้วธรรมจึงค่อยเกิดขึ้นภายหลัง ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า โลกธรรมแปด โลกเกิดขึ้นที่ใดธรรมต้องเกิดขึ้นที่นั่น ถ้าโลกไม่เกิดธรรมก็ไม่มี ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโลกธรรมแปดนั้น หมายถึงโลกธรรม ๔ คู่ มีอาการ ๘ อย่างคือ มีลาภ-เสื่อมลาภ ๑ มียศ-เสื่อมยศ ๑ มีสรรเสริญ-นินทา ๑ มีสุข-ทุกข์ ๑ |
เมื่อโลกเกิดขึ้นแล้ว พระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงไปเหนือโลก
ตัวอย่างเช่น ความได้ในสิ่งสารพัดทั้งปวงเรียกว่า ลาภเกิดขึ้น มนุษย์ได้ลาภก็เกิดความพอใจยินดี แล้วก็ไม่อยากให้ลาภเสื่อมเสียไป และเมื่อลาภเสื่อมเสียไป ก็เกิดความเดือดร้อนตีโพยตีพาย วุ่นวายกระสับกระส่ายไม่เป็นอันจะกินจะนอน นั้นเรียกว่า โลก โดยแท้ พระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลกแท้ คือ แสดงความได้ลาภ-เสื่อมลาภ ให้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นธรรมดาของโลก แต่ไหนแต่ไรมาโลกนี้ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น เราจะถือว่าของกู ๆ ไม่ได้ ถ้ายึดถือว่าของกู ๆ อยู่ร่ำไป เมื่อลาภเสื่อมไปมันจึงเป็นทุกข์เดือดร้อนกลุ้มใจ นั่นแสดงให้เห็นชัดเลยว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของตน มันจึงเสื่อมไปหายไป ถ้ามันเป็นของเราแล้วไซร้ มันจะหายไปที่ไหนได้ ท่านจึงว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของตนของตัว มันจึงต้องเป็นไปตามอัตภาพอันแท้จริงของมัน จึงเรียกว่าพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลกให้เห็นโลกเป็นธรรมนั่นเอง |
ความได้ยศ-เสื่อมยศ ก็เช่นเดียวกัน
ได้ยศคือความยกย่องว่าเป็นใหญ่เป็นโต มีหน้ามีเกียรติ มีอำนาจหน้าที่ มีชื่อเสียง จิตก็พองตัวขึ้นไปตามคำว่า ยศ นั้น หลงยึดว่าเป็นของตัวจริง ๆ จัง ๆ ธรรมดาความยกย่องของคนทั้งหลายแต่ละจิตละใจก็ไม่เหมือนกัน เขาเห็นดีเห็นงามในความมียศศักดิ์ของตนด้วยประการต่าง ๆ เขาก็ยกยอชมเชยด้วยความจริงใจ แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาอันน่ารังเกียจของตนที่แสดงออกมาด้วยอำนาจของยศศักดิ์ เขาก็จำเป็นต้องเสแสร้งแกล้งปฏิบัติไปด้วยความเกรงกลัว ตนกลับไปยึดถือยศศักดิ์นั้นว่าเป็นของจริงของจัง เมื่อมันเสื่อมหายไป ความเกรงใจจากคนอื่นก็หมดไปด้วย ตนเองก็กลับโทมนัสน้อยใจ ไม่เป็นอันหลับอันนอน อันอยู่อันกิน แท้จริงแล้วความได้ยศ-เสื่อมยศนี้ เป็นของมีอยู่ในโลกแต่ไหนแต่ไรมาเช่นนี้ ตั้งแต่เรายังไม่เกิดมา พระพุทธองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลก ให้เห็นว่า ได้ยศ-เสื่อมยศนี้เป็นของมีอยู่ในโลก มิใช่ของใครทั้งหมด ถ้าผู้ใดยึดถือเอาของเหล่านั้นย่อมเป็นทุกข์ไม่มีสิ้นสุด ให้เห็นว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของใครทั้งหมด มันหากเป็นจริงอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา |
สรรเสริญ-นินทา ความสรรเสริญและนินทาก็เช่นเดียวกัน ในตัวคนคนเดียวนั่นแหละ
เมื่อเขาเห็นกิริยาอาการต่าง ๆ ที่น่าชมน่าชอบ เขาก็ยกยอสรรเสริญชมเชย แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาที่น่ารังเกียจ เขาก็ติเตียน คนผู้เดียวกันนั่นแหละมีทั้งสรรเสริญและนินทา มันจะมีความแน่นอนที่ไหน อันคำสรรเสริญและนินทาเป็นของไม่มีขอบเขตจำกัด แต่คนในโลกนี้โดยมากเมื่อได้รับสรรเสริญจากมนุษย์ชาวโลกทั้งหลายที่เขายกให้ ก็เข้าใจว่าเป็นของตนของตัวจริง ๆ จัง ๆ อันสรรเสริญไม่มีตัวตนหรอก มีแต่ลม ๆแล้ง ๆ หาแก่นสารไม่ได้ แต่เรากลับไปหลงว่าเป็นตัวเป็นตนจริง ๆ ไปหลงหอบเอาลม ๆ แล้ง ๆ มาใส่ตนเข้า ก็เลยพองตัวอิ่มตัวไปตามความยึดถือนั้น ไปถือเอาเงาเป็นตัวเป็นจริงเป็นจัง แต่เงาเป็นของไม่มีตัว เมื่อเงาหายไปก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ โทมนัสน้อยใจไปตามอาการต่าง ๆ ตามวิสัยของโลก แท้จริงสรรเสริญ-นินทา มันหากเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา ก่อนที่เราจะเกิดมาเสียอีก พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามนุษย์โง่เขลาหลงไปยึดถือเอาสิ่งไม่แน่นอนมาเป็นของแน่นอน จึงเดือดร้อนกันอย่างนี้ แล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมทับลงเหนือโลกอันไม่มีแก่นสารนี้ ให้เห็นชัดลงไปว่ามันไม่ใช่ของตัวของตน เป็นแต่ลม ๆ แล้ง ๆ สรรเสริญเป็นภัยอันร้ายกาจแก่มนุษย์ชาวโลกอย่างนี้ แล้วก็ทรงสอนมนุษย์ชาวโลกให้เห็นตามเป็นจริงว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นอนัตตา จะสูญหายไปเมื่อไรก็ได้ มนุษย์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่พระองค์ทรงสอนแล้ว ก็จะคลายความทุกข์เบาบางลงไปบ้าง แต่มิได้หมายความว่า โลกธรรมนั้นจะหายสูญไปจากโลกนี้เสียเมื่อไร เป็นแต่ผู้พิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่ว่ามาแล้ว ทุกข์ทั้งหลายก็จะเบาบางลงเป็นครั้งคราว เพราะโลกนี้ก็ยังคงเป็นโลกอยู่ตามเดิม ธรรมก็ยังคงเป็นธรรมอยู่ตามเดิม แต่ธรรมสามารถแก้ไขโลกได้บางครั้งบางคราว เพราะโลกนี้ยังหนาแน่นด้วยกิเลสทั้ง ๘ ประการอยู่เป็นนิจ ความเดือดร้อนเป็นโลก ความเห็นแจ้งเป็นธรรม ทั้งสองอย่างเป็นเครื่องปรับปรุงเป็นคู่กันไปอยู่อย่างนี้ เมื่อกิเลสหนาแน่นก็เป็นโลก เมื่อกิเลสเบาบางก็เป็นธรรม |
มีสุข ทุกข์ ทุกข์เป็นของอันโลกไม่ชอบ แต่ก็เป็นธรรมดาด้วยโลกที่เกิดมาในทุกข์ อันนี้ก็เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่นั่นเอง
ความสุขย่อมเป็นที่ปรารถนาของโลกโดยทั่วไป ฉะนั้นเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นจึงเดือดร้อน เมื่อความสุขหายไปจึงไม่เป็นที่ปรารถนา แต่แท้ที่จริงความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นแล้วหายไปนั้น มันหากเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เราเกิดมาทีหลังโลก เราจึงมาตื่นทุกข์ตื่นสุขว่าเป็นของตนของตัว ยึดมั่นสำคัญว่าเป็นจริง เป็นจัง เมื่อทุกข์เกิดขึ้นสุขหายไป จึงเดือดร้อนกระวนกระวาย หาที่พึ่งอะไรก็ไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่าโลกอันนี้มีแต่ทุกข์ไม่มีสุขเลย |
ฉะนั้น ทุกข์จึงเป็นเหตุให้พระองค์พิจารณาจนเห็นตามสภาพความเป็นจริง แล้วทรงเบื่อหน่ายคลายจากทุกข์นั้น
จึงทรงเห็นพระอริยสัจธรรมแล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมลงเหนือทุกข์-สุข ให้เห็นว่า โลกอันนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น อย่าถือว่าเป็นของเรา ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม ทรงรู้แจ้งแทงตลอดว่าอันนั้นเป็นธรรม โลกธรรมจึงอยู่เคียงกัน ดังนี้ |
ความเป็นอยู่ของโลกทั้งหมดเมื่อประมวลเข้ามาแล้วก็มี ๔ คู่ ๘ ประการ ดั่งอธิบายมาแล้ว
ไม่นอกเหนือไปจาก ธรรม ๔ คู่ ๘ ประการนี้ โลกเกิดมาเมื่อไร ก็ต้องเจอธรรม ๔ คู่ ๘ ประการนี้เมื่อนั้น อยู่ร่ำไป พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมาก็เพื่อมาแก้ทุกข์ ๔ คู่ ๘ ประการนี้ทั้งนั้น พระองค์จึงตรัสว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ธรรมนี้เป็นของเก่าแก่แต่ไหนแต่ไรมา พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็มาตรัสรู้ในธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าจะมีคำถามว่า พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในโลกก็เอาของเก่าที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ตรัสไว้แล้วแต่เมื่อก่อนมาตรัสรู้หรือ วิสัชนาว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นของที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน และไม่มีครูบาอาจารย์สอนเลย พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองต่างหาก ไม่เหมือนความรู้ที่เกิดจากปริยัติ ความรู้อันเกิดจากปริยัติไม่ชัดแจ้งเห็นจริงในธรรมนั้น ๆ ส่วนธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของ ปจฺจตตํ รู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครบอกเล่า และก็หายสงสัยในธรรมนั้น ๆ แต่เมื่อรู้แล้วมันไปตรงกับธรรมที่พระองค์ทรงเทศนาไว้แต่ก่อน เช่น ทุกข์เป็นของแจ้งชัดประจักษ์ในใจ สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อละสมุทัยก็ดำเนินตามมรรคและถึงนิโรธ ตรงกันเป๋งกับธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แต่ก่อน ๆ โน้น จึงเป็นเหตุให้เข้าถึงอริยสัจ ไม่เหมือนกับคนผู้เห็นตามบัญญัติที่พระองค์ตรัสไว้แล้ว และจดจำเอาตามตำรามาพูด แต่ไม่เห็นจริงตามตำราในธรรมนั้น ๆ ด้วยใจตนเอง |
เมื่อโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีการใช้จ่ายใช้สอยแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของซึ่งกันและกัน จึงจะอยู่ได้
เหตุนั้นรัฐบาลจึงคิดเอาวัตถุธาตุคือโลหะแข็ง ๆ มาทำเป็นรูปแบน ๆ กลม ๆ แล้วจารึกตัวเลขลงบนแผ่นโลหะนั้นเป็นเลขสิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง ที่เรียกว่า เหรียญสิบบาท ยี่สิบบาท ร้อยบาท เป็นต้น หรือเอากระดาษอย่างดีมาจัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วใส่ตัวเลขลงไปเป็น สิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง ตามความต้องการแล้ว เรียกว่า ธนบัตร เอาไว้ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งกันและกัน เมื่อมีเงินจะซื้อวัตถุสิ่งของอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ คนที่ต้องการเงินเขาก็เอาวัตถุสิ่งของ อีกคนหนึ่งต้องการธนบัตรที่มีราคาเท่ากัน ก็จะเป็นวัตถุหรือเงินตราก็ช่าง เรียกว่า ได้ แต่เมื่อได้วัตถุมาเงินก็หายไป เมื่อได้เงินมาวัตถุก็หายไป เรียกว่าได้ลาภเสื่อมลาภพร้อมกันทีเดียว |
โลกอันนี้เป็นอยู่อย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา คนหลงมัวเมาในวัตถุและเงินตรา ก็คิดว่าตนได้มา ตนเสียไป
ก็แสดงอาการชอบใจแลเสียใจไปตามสิ่งของนั้น ๆ พระพุทธเจ้าทรงเห็นโลกเดือดร้อนวุ่นวายด้วยประการนี้ และด้วยอาศัยความเมตตามหากรุณาอย่างยิ่ง ที่ทรงมีต่อบรรดาสัตว์ทั้งหลาย พระองค์จึงทรงชี้เหตุเหล่านั้นว่า เป็นทุกข์เดือดร้อนเมื่อของเหล่านั้นหายไป เป็นสุขสบายเมื่อได้ของเหล่านั้นมา ไม่เห็นตามเป็นจริงในสิ่งเหล่านั้น เมื่อเกิดเป็นทุกข์เดือดร้อนกระสับกระส่ายในใจของตน ก็เป็นเหตุให้แสดงอาการดิ้นรนไปภายนอกด้วยอากัปกิริยาต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้เดือดร้อนวุ่นวายทั่วไปหมดทั้งโลก เหตุนั้น พระองค์จึงทรงสอนให้เข้าถึง “ใจ” เพราะมนุษย์มีใจด้วยกันทุกคนสามารถที่จะรู้ได้ ผู้มีปัญญารู้ตามที่พระองค์ทรงสอนว่า ความได้ลาภ-เสื่อมลาภ มีพร้อม ๆ กันในขณะเดียวกัน จึงไม่มีใครได้ใครเสีย ได้ก็เพราะมัวเมา เสียก็เพราะมัวเมาในกิเลสเหล่านั้น ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งตามนัยที่พระองค์ทรงสอน จึงสร่างจากความมืดมนเหล่านั้น พอจะบรรเทาทุกข์ลงได้บ้าง แต่มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงสอนให้รู้แจ้งเห็นจริงตามเป็นจริง แล้วจะบรรเทาทุกข์ได้ทั้งหมดเป็นธรรมล้วน ๆ ก็หาไม่ เพราะโลกนี้มันมืดมนเหลือเกิน พอจะสว่างขึ้นนิดหน่อย กิเลสมันก็คุมเข้ามาอีก โลกนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา พระองค์ลงมาตรัสรู้ในโลกอันมืดมนก็ด้วยทรงเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นมันเป็นความทุกข์ของสัตว์โลก จึงได้ลงมาตรัสรู้ในหมู่ชุมชนเหล่านั้น ถ้าโลกไม่มี กิเลสไม่มีพระองค์ก็คงไม่ได้เสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกนี้ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ที่ลงมาตรัสรู้ในโลกนี้ก็ในทำนองเดียวกัน ทรงเล็งเห็นโลกอย่างเดียวกัน คือ ทรงเห็นความเดือดร้อนวุ่นวายเพราะมนุษย์ไม่มีปัญญาพิจารณาเห็นโลกตามเป็นจริงดังกล่าวมาแล้ว |
พระองค์ทรงสอนให้พวกมนุษย์ที่มัวเมาอยู่ในโลกเหล่านั้น เห็นแจ้งประจักษ์ด้วยใจของตนเองว่าเป็นทุกข์
เพราะไม่เข้าใจรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวะของโลกดังอธิบายมาแล้ว บางคนพอรู้บ้างก็สร่างจากความมัวเมา เพราะรู้แจ้งตามเป็นจริงตามปัญญาของตน ๆ แต่บางคนก็มืดมิดไม่เข้าใจของเหล่านี้ตามเป็นจริงเอาเสียเลยก็มีมากมาย ทุกข์ของโลกจึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสรู้ในโลก และก็อาศัยความเมตตากรุณาอย่างเดียวนี้ด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ที่ทรงปรารถนาจะมาตรัสรู้ในโลก ก็โดยทำนองเดียวกันนี้ หรือจะกล่าวว่าโลกเกิดขึ้นก่อนแล้ววุ่นวายกระสับกระส่ายเดือดร้อน ด้วยประการอย่างนี้ จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก เรียกว่า โลกเกิดก่อนธรรม ก็ว่าได้ |
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่จะลงมาตรัสรู้ตามยุคตามสมัยของพระองค์
เมื่อพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าในยุคนั้น สมัยนั้น อายุประมาณเท่านั้นเท่านี้ สมควรจะได้รับฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ พระองค์จึงได้อุบัติขึ้นมาเทศนาสั่งสอนนิกรสัตว์ทั่วโลก เมื่อเทศนาสั่งสอนแล้วจนเข้าพระนิพพาน บางพระองค์ก็ได้ไว้ศาสนา อย่างพระโคดมบรมครูของพวกเราทั้งหลาย พระองค์ทรงไว้ศาสนาเมื่อนิพพานแล้ว ๕,๐๐๐ ปี เพื่ออนุชนรุ่นหลังที่ยังเหลือหลอจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป บางพระองค์ก็ไม่ได้ไว้พระศาสนา อย่างพระศรีอารยเมตไตรยทรงมีพระชนมายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เป็นต้น เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงสั่งสอนมนุษย์สัตว์นิกรอยู่จนพระชนม์ได้ ๘๐,๐๐๐ ปี ก็เสด็จปรินิพพานแล้วก็ไม่ได้ทรงไว้พุทธศาสนาอีกต่อไป เพราะพระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าสัตว์ผู้จะมาศึกษาพระธรรมวินัยของพระองค์ ได้หมดไปไม่เหลือหลอแล้ว ผู้สมควรจะได้มรรคผลนิพพานสิ้นไปหมดเท่านั้น |
โลกวินาศย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวัฏจักรดังอธิยายมาแล้วแต่ต้นตลอดกัปป์ตลอดกัลป์
หาความเที่ยงถาวรไม่มีสักอย่างเดียว แต่คนผู้มีอายุสั้นหลงใหลในสิ่งที่ตนได้ตนเสีย ก็เดือดร้อนวุ่นวายอยู่ร่ำไป แท้ที่จริงสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นความเสื่อมความเสียตามนัยที่พระองค์ทรงสอน เห็นเป็นของน่าเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด แล้วละโลกนี้เขาถึงพระนิพพานจนหาประมาณมิได้ ผู้ไม่มีปัญญาก็จมอยู่ในวัฏสงสารมากมายเหลือที่จะคณานับ โลกเป็นที่คุมขังของผู้เขลาเบาปัญญา แต่ผู้มีปัญญาแล้วไม่อาจสามารถคุมขังเขาได้ โลกเป็นของเกิดดับอยู่ทุกขณะ ธรรมอุบัติขึ้นมาให้รู้แจ้งเห็นจริงในโลกนั้น ๆ แล้วตั้งอยู่มั่นคงถาวรต่อไป เรียกว่า โลกเกิด-ดับ ธรรมเกิดขึ้นตั้งอยู่ถาวรเป็นนิจจังเพราะไม่ตั้งอยู่ในสังขตธรรม ธรรมเป็นของไม่มีตัวตน แต่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้ที่หัวใจของคน คนรู้แล้วตั้งมั่นตลอดกาล ถึงคนจะไม่รู้เท่าทันแต่ธรรมนั้นก็ตั้งอยู่เป็นนิจกาล เป็นแต่ไม่มีใครรู้ใครสอนธรรมนั้นออกมาแสดงแก่คนทั้งหลาย ถึงแม้พระพุทธองค์จะนิพพานไปแล้ว แต่ธรรมนั้นก็ยังตั้งอยู่คู่ฟ้าแผ่นดิน จึงเรียกว่า อมตะ โลกเป็นของเสื่อมฉิบหายดังกล่าวมาแล้ว เพราะตั้งอยู่ในสังขตธรรม มีอันจะต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ธรรมที่พระองค์ทรงสอนให้รู้แจ้งเห็นจริงเข้าถึงหัวใจคนเป็นของไม่มีตัวตนเป็นอนิจจัง ไม่ได้ตั้งอยู่เป็นกลาง ๆ ถึงคนนั้นจะตายไป แต่ธรรมก็ยังมีอยู่เช่นนั้น จึงเรียกว่า สิ้นโลก เหลือธรรม ด้วยประการฉะนี้. |
สิ้นโลก เหลือธรรม (นัยที่สอง) โดย พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย "การพิจารณากาย-เวทนา-จิต-ธรรม ให้เห็นเป็นสักแต่ว่านั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะมันเป็นการลบสมมติบัญญัติของเดิมทั้งหมด ที่เห็นเป็นสักแต่ว่านั้น มันเป็นบัญญัติสมมติใหม่ ซึ่งเกิดจากสติปัฏฐาน ถ้าผู้ปฏิบัติพิจารณาได้อย่างนี้ มันก็จะละการถือตน ถือตัว ถือเขา ถือเรา ให้หมดสิ้นไปจากใจได้ นี้เป็นเบื้องต้นของสติปัฏฐาน" |
สิ้นโลก เหลือธรรม (นัยที่สอง) โดย พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) บทนำ บัดนี้จะได้บรรยายเรื่องความสิ้นไปแห่งโลกโดยมีธรรมเข้ามาอุดหนุน แท้ที่จริงผู้บรรยายเรื่องสิ้นโลกเหลือธรรมนัยแรกกับนัยที่สองนี้ก็เป็นคนเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่เปลี่ยนสำนวนโวหารไปอีกอย่างหนึ่ง โดยนัยแรกบรรยายสรุปธรรมทั้งหมด ส่วนนัยที่สองนี้บรรยายเรื่องโลกสิ้นไปตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ยังเหลือแต่เพียงธรรมล้วน ๆ เป็นอมตะ ไม่เกิดไม่ดับ ขอผู้อ่านโปรดพิจารณาสำนวนหลังนี้ด้วยว่าจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ จะกล่าวถึงเรื่องโลกและธรรมว่ามันผิดแผกกันอย่างไร โลกที่สิ้นไปเป็นอย่างไร ธรรมที่ยังเหลืออยู่นั้นเป็นอย่างไร |
โลก ในที่นี้คือ ดิน ฟ้า อากาศ รวมทั้งแผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ที่เกิดเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วจักรวาล
เรียกว่า โลกธาตุ มนุษย์ทั้งหลายที่พูดจาภาษาต่าง ๆ กัน ลักษณะท่าทาง ผิวพรรณ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างกัน ถือลัทธิศาสนาต่าง ๆ กัน มนุษย์ที่มีอยู่บนผิวแผ่นดินนี้ทั้งหมดเรียกว่า มนุษยโลก |
โลกมีอยู่สองอย่างที่เรียกว่า โลกธาตุหนึ่ง และมนุษย์โลกหนึ่ง ดังอธิบายมาแล้วนี้
ส่วนมนุษย์โลกได้แก่คนทั่วไปนั้น บุญกรรมตกแต่งให้มาเกิด ทั้งสองอย่างนี้เรียกว่า โลก มีอาชีพคือประกอบด้วยอาหาร *อย่างเดียวกัน ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็อย่างเดียวกัน ถ้าจะกล่าวว่าโลก คือความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสิ่งเหล่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า โลกคือการลอยอยู่ท่ามกลางความหมุนเวียนก็ได้ |
คนเราเกิดมาได้อวัยวะน้อยใหญ่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย แข้งขา มือเท้าครบครันบริบูรณ์ โดยไม่มีใครตบแต่ง
แต่กรรมนั่นแหละเป็นผู้แต่งมาสำหรับรองรับซึ่งโลกธาตุภายนอก หรืออายตนะภายนอกก็เรียก เช่น ตาคอยรับรูปภายนอก หูคอยรับเสียงภายนอก เป็นต้น ให้เกิดความยินดี พอใจ หรือความไม่ยินดีพอใจในสิ่งนั้น ๆ เรียกว่าโลกภายในเกิดมาสำหรับไว้รองรับโลกภายนอก ดังอธิบายมานั้น ผู้เขียนเป็นผู้เรียนน้อย ศึกษาน้อย พูดธรรมก็แบบพื้น ๆ ตามภาษาตลาดชาวบ้าน เพื่อประสงค์ให้อ่านแล้วเข้าใจง่าย เพราะคนส่วนมากมีโอกาสได้เรียนน้อยศึกษาน้อย ขอท่านผู้รู้นักปราชญ์ทั้งหลายจงอภัยให้แก่ผู้เขียนด้วย แต่ทางด้านประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติ ทั้งภายในและภายนอก ผู้เขียนเข้าใจว่ามีมากพอสมควร ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นได้ประสบด้วยตนเองมาแล้วทั้งนั้น หากท่านผู้อ่านต้องการรู้ ผู้เขียนจะได้อธิบายเป็นเรื่อง ๆ เพื่อความเข้าใจชัดแจ้งต่อไป |
พระพุทธเจ้าเกิดมาในยุคใดสมัยใดในโลกนี้
พระองค์ทรงมีความเมตตาเอ็นดูสงสารสัตว์โลกที่ไม่รู้จักว่าโลกหรือธรรม พระองค์จึงทรงแสดงให้มนุษย์ชาวโลกเห็นธรรมตามวิสัยวาสนาของบุคคล ไม่ให้ปะปนสับสนวุ่นวายซึ่งกันและกัน และให้ยึดเอาธรรมที่เห็นแล้วนั้นเป็นหลักที่พึ่งอาศัย กำจัดโลกที่เข้ามาแทรกในธรรมให้ออกไปจากธรรม ให้คงเหลือแต่ธรรมล้วน ๆ เรียกว่า สิ้นโลก-เหลือธรรม |
คุณพระรัตนตรัย พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องคุณของพระรัตนตรัย ดังจะอธิบายพอสังเขป พระรัตนตรัยมีคุณอเนกเหลือที่จะคณานับ ทรงสอนให้มนุษย์เอาใจไปยึดไว้ในคุณของพระรัตนตรัย ดังนี้ อรหํ สมฺมาสมฺพทโธ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบด้วยประการอย่างนี้ ๆ ทรงเป็นผู้แจกธรรมด้วยความรู้ที่เป็นพระอรหันต์และตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง คำว่าตรัสรู้เองโดยชอบนั้น หมายความว่า ชอบด้วยเหตุผลและศีลธรรม อันเป็นเหตุให้นำผู้ปฏิบัติตามที่พระองค์สอนไว้นั้นเข้าถึงสวรรค์ พระนิพพาน เหลือที่จะคณานับ จึงกล่าวว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ภควา ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแจกไว้นั้นมีมากมายหลายประการนับไม่ถ้วน แต่พอจะประมวลมาแจกแจงแสดงให้เห็นได้ตามหลักพระพุทธศาสนา |
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
คำว่า ดี ในที่นี้ หมายความว่า ดีเลิศประเสริฐสุดที่มนุษย์จะสามารถทำได้ ดีด้วยเหตุด้วยผล อันมนุษย์ปุถุชนสามารถฟังได้ เข้าใจได้ตามความเป็นจริง แล้วสามารถนำมาปฏิบัติให้สมควรแก่อัธยาศัย ซึ่งเป็นไปในทางสวรรค์และพระนิพพาน พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยอรรถและพยัญชนะครบครันบริบูรณ์ ซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลายในโลกไม่สามารถจะคัดค้านได้ว่าเป็นของไม่จริงไม่แท้ อรรถและพยัญชนะที่พระองค์ทรงแสดงสอนไว้แล้วนั้น คือธรรมที่แปลว่าของจริงของแท้ ทำ คือการกระทำกิจธุระภาระทั้งหมดที่โลกพากันกระทำอยู่นั้น ธรรมเนียม คือประเพณีอันดีงามที่โลกถือปฏิบัติมาโดยลำดับ ธรรมดา คือ คำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วนั่นเอง ธรรม แปลว่าธรรมชาติซึ่งเกิดเองแล้วก็ย่อมต้องดับไปเป็นธรรมดา |
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระองค์ที่เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ เป็นต้น มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามศีลสิกขาบทนั้น ๆ ให้สมบูรณ์บริบูรณ์ คือ ๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม กระทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ๒. อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ประกอบแต่กรรมที่เป็นกุศล งดเว้นจากกรรมไม่ดีทั้งปวง ๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติตรง ต่อความบริสุทธิ์คือพระนิพพาน ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อขัดเกลากิเลสอันเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ สิ้นภพ สิ้นชาติ สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า อุปมาเปรียบเสมือนบุคคลได้สมบัติอันล้ำค่ามาแล้ว มีสิทธิ์ที่จะปกป้องรักษาสมบัตินั้นไว้ด้วยตนเอง ใครจะมาประมาทดูหมิ่นดูถูกไม่ได้ จะต้องสกัดกั้นด้วยปัญญาและวาทะอันเฉียบแหลม เพื่อให้ผู้นั้นกลับใจมาเป็นพวกพ้องของตน |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:09 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.