![]() |
ต้องบอกว่าเจ้าที่ท่านจัดโปรแกรมไว้สุดยอดมาก ทำให้เรามีอะไรตื่นตาตื่นใจกันตลอดเวลา ส่วนวันสุดท้ายที่ต้องตะบึงกลับมา ๓๐๐ - ๔๐๐ กิโลเมตรนั่น ไม่มีอะไรให้จอดดู เขาก็ให้ฝนเทเสียเต็มที่เลย เพราะว่าถ้าฝนตกวันอื่นเราจะเซ็งมาก อยากดูหิมะเขาก็ให้ตกตอนดึก ๆ ตอนเช้าสามารถวิ่งรถได้ ถนนไม่ลื่นแล้ว ถึงเวลาก็ลงไปเล่นหิมะกัน
|
ปกติอาตมาเองนี่ไม่มีความคิดที่จะไปอินเดียเลย เกิดจาก ๒ สาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกก็คือเกิดที่นั่นจนเบื่อแล้ว สาเหตุที่สองก็คือร่างกายไม่ค่อยดี อากาศของอินเดียเหลือรับประทาน แต่คราวนี้ในเมื่อมีคนจ่ายสตางค์ให้ไป เรามีหน้าที่ไปอย่างเดียว ก็เลยไปให้เขาสักหน่อย
|
ถาม : น้องชายบวชมาได้ไม่กี่วัน วันที่สี่เขาก็เลยพาไปงานศพ ไปสวดงานศพ เหมือนท่านสติแตกจากในงานตรงนั้น เขาก็เลยให้ส่งโรงพยาบาล ภรรยาเขาบอกว่า ก่อนที่จะมารับตัว พระท่านร้องไห้ หลังค่อมเหมือนคนแก่ พอสักพักก็หาย ท่านก็พูดว่า “คุณยาย..อย่ามาใกล้ผม ๆ เดี๋ยวผมจะพาขึ้นสวรรค์” ตอนนี้ก็เลยพาไปโรงพยาบาล ปกติท่านไม่เคยเป็นแบบนี้เลยค่ะ เราจะทำอย่างไรให้สติท่านรวมและดีขึ้นได้บ้างคะ ?
ตอบ : โน่นเลย...ธงมหาพิชัยสงครามของวัดท่าซุง ให้เขาติดตัวไว้เลย บอกให้อาราธนาติดตัวไว้ จะได้กันของพวกนี้ได้ บางคนสภาพจิตเขาสื่อกับพวกนี้ได้ง่าย แล้วก็มีกรรมเนื่องกันมา เขาก็จะยืมร่างกายไปใช้ อาจจะอยากบอกลูกบอกหลานของตัวเองว่าต้องการอะไรบ้าง แล้วคราวนี้เจ้าของร่างกายเขาต่อต้าน ก็เลยกลายเป็นอย่างที่เห็นนั่นแหละ |
ถาม : พี่เขาสอนให้หนูทำสมาธิ ตอนนี้หนูเริ่มทำสมาธิแล้ว จะมีข้อไหนที่ทำให้ดีขึ้นคะ ?
ตอบ : การทำสมาธิเขาทำเพื่อให้ใจสงบ ถ้าหากว่าใจสงบ รัก โลภ โกรธ หลง ไม่เกิด บุญใหญ่ก็เกิดขึ้นกับตัวเรา คราวนี้ถ้าบุญใหญ่เกิดกับตัวเรา ก็อยู่ที่เราว่าจะสั่งสมไปขนาดไหนจึงจะเพียงพอในการใช้งาน ถ้าหากว่าพอใช้งาน ต้องการอะไรก็เป็นอย่างนั้น จึงต้องทำกันไประยะหนึ่ง ทำแล้วจะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ |
ถาม : ลักษณะที่เรียกว่าท่าที ถือเป็นอากัปกิริยาของกายแท้ ๆ หรือใจของเรา อย่างเช่นทำตาน่าสงสารหรือร้องขอ อะไรทำนองนี้ ?
ตอบ : ถ้าใจไม่สั่ง กายก็ทำไม่ได้ ถาม : อย่างนี้ทำไมในภาพถ่าย.....? ตอบ : ภาพถ่ายเป็นการถอดแบบ ถ้าเครื่องมือในการถอดแบบดีก็ถอดได้ใกล้เคียง ถาม : ที่เรียกว่ากระแส เช่น พอไปถึง เอ๊ะ...ทำไมคนนี้อยู่ใกล้ ๆ แล้วรู้สึกได้ว่าใจดี ? ตอบ : อันนั้นเป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้ คราวนี้ว่าพอนานไปมีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง |
ถาม : กระแสในคนแบบที่ถามเมื่อครู่นี้ เป็นพลังงานเดียวกับที่อยู่ในวัตถุมงคลไหมคะ ?
ตอบ : คล้ายกัน เพียงแต่ว่าถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิตสำหรับพวกเราจะสัมผัสได้ง่ายกว่า ถ้าหากสิ่งไม่มีชีวิตบางทีเราก็สัมผัสได้ยากกว่า ถาม : ในวัตถุมงคล พลังงานที่ว่ามีทั้งเกี่ยวกับพระและไม่เกี่ยวกับพระ ? ตอบ : ใช่..ขึ้นอยู่กับว่าเขาทำมาจากอะไร มีทั้งคุณพระ มีทั้งไสยศาสตร์ |
ถาม : พวกลมเพลมพัดก็แค่เอาธรรมชาติดึงมา ทำให้ธาตุเกินหรือขาด ธาตุที่ไม่สมดุลก็มีผลแล้วใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ตัวลมเพลมพัด ถ้าเข้าไปก็ทำให้เกิน คราวนี้พอเกินก็เดือดร้อน ถาม : พวกโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากท่านที่มีหน้าที่ส่งผล ก็ปน ๆ อยู่กับพวกลมเพลมพัด ? ตอบ : คล้ายกัน เพียงแต่ว่าขึ้นอยู่กับวาระ ถ้าหากว่ากรรมเก่าเปิด ก็ทำอันตรายเราได้ ถ้ากรรมเก่าไม่เปิด ก็ทำอันตรายเราไม่ได้ เรื่องของลมเพลมพัดก็คล้ายคลึงกัน ถ้าไม่มีวาระกรรมมาบวกด้วย เขาก็ทำอะไรไม่ได้หรอก โบราณอาบน้ำเขาให้หันหลังให้ต้นน้ำ ถ้าหันหน้าเดี๋ยวจะเจอลมเพลมพัด โดยเฉพาะทางพวกพราหมณ์เขาถืออะไรแปลก ๆ อย่างเช่นว่า ถ้าอาบน้ำต้องอยู่ตอนเหนือของท่าน้ำ ให้พวกผู้หญิงอยู่ทางตอนใต้ จะได้ไม่ต้องมลทิน ไม่โดนกาลกิณี แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าทางเหนือท่าน้ำของเรา จะไม่ใช่ทางใต้ของท่าอื่น ? ถาม : เคยอ่านเจอ มีข้อกำหนดว่าพระราชาจะต้องไม่อาบน้ำโดยหันหน้าไปทางต้นน้ำเหมือนกัน ? ตอบ : อันนั้นเป็นเรื่องที่เขาเชื่อกัน เพราะว่าของพวกนี้ก็อาศัยเรื่องของกระแสน้ำกระแสลมช่วยพาไปเหมือนกัน |
พระอาจารย์เล่าว่า "งวดนี้ด้วยความที่รีบร้อนไปเมืองจีน กลับมาค่อยมาทำงานที่ค้างอยู่ เมื่อวานน้องเล็กเพิ่งจะนับเงินใส่บาตรเทโวฯ เสร็จ ค้างมาตั้งแต่ตอนตักบาตรเทโวฯ เพราะว่าส่วนที่ต้องรีบเลยก็คืองานกฐิน ยอดเงินกฐินทางคณะสงฆ์บังคับว่า ต้องรายงานทันทีที่ทอดกฐินเสร็จ แล้วจำนวนเงินตามหลักที่ปฏิบัติก็คือ ฝากเข้าธนาคารเป็นยอดจำนวนเต็ม จะใช้อย่างอื่นจึงค่อยเบิกมาทีหลัง แต่ยอดแรกต้องเต็มเท่ากับที่เรารายงาน ก็เลยมัวแต่ไปเร่งนับเงินกฐินกัน
แล้วก็มีประเภทที่เรียกว่าตัดสินใจยากมากันมากด้วย อย่างเช่นว่า ‘ถวายทองคำร่วมงานกฐินเพื่อหล่อพระ’ อาตมาก็ได้แต่นั่งกุมหัวว่า ตกลงเขาจะเอาอย่างไรวะ ? ‘ถวายเงินออกกรรมฐานร่วมสร้างวิทยาลัยสงฆ์’ ตูจะบ้า..! จะมีรายการตัดสินใจยาก ๆ มาอยู่เรื่อย ต้องมานั่งแกะซองอีกบานตะเกียง ถ้าเป็นคนอื่นพอถึงเวลาตัดสินใจยาก กลัวผิดพลาด ก็จะรวม ๆ พวกที่กำกวมไว้ ถึงเวลาก็ยกให้หลวงพ่อไปนั่งแกะซองเอาเองว่าจะแยกใส่กองไหน" |
"เขาระบุมาแล้วว่าหล่อพระก็คือหล่อพระ เพียงแต่เขาถวายช่วงกฐิน ระบุว่าสร้างวิทยาลัยสงฆ์ก็คือสร้างวิทยาลัยสงฆ์ แล้วเขาเล่นเอามาถวายร่วมกับกฐิน แล้วก็มีเงินใส่บาตรเทโวฯ มีคนหนึ่งใส่มาหนึ่งแสนบาท เขียนว่า ‘เงินตักบาตรเทโวร่วมทอดกฐิน’ ต้องแบ่งลงบัญชีละครึ่ง ก็เลยทำให้งานยากขึ้นอีกเยอะ"
ถาม : ถือว่าเขาถวายเป็นบริวารกฐินได้ไหมคะ ? ตอบ : ก็ประมาณนั้นแหละ เพียงแต่ว่าต้องมาแยกบัญชีต่างหาก เงินที่ญาติโยมทำมาส่วนใหญ่ต้องทำตามเจตนาของเขา ถ้าผิดเจตนาท่านปรับโทษเท่ากับย้ายเจดีย์เลย คือย้ายสิ่งที่เขามีความเคารพ มีความนับถือ ทำให้กำลังใจเขาเสีย ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่พระเราต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง ถึงได้เห็นว่าบางวัดรับกฐินมาแล้วเอาเงินไปซื้อรถ บางวัดรับกฐินมาเอาเงินไปเที่ยวต่างประเทศ อาตมาเองบ่นมาเสียจนไม่รู้จะบ่นอย่างไรแล้ว แต่เขาก็ยังทำกันอยู่...เขาไม่กลัว คนกลัวอย่างอาตมาก็ทนต่อไป อาตมาถึงได้บอกว่า "ถ้าจะให้ไปเที่ยวต่างประเทศต้องคนอื่นจ่าย ถ้าให้จ่ายเองอาตมาไม่ไป" |
พระอาจารย์เล่าว่า "ไปเมืองจีนเจอแต่ร้านขายของที่เอาของปลอมมาขาย แม้กระทั่งประคำทำจากเขาจามรีก็เป็นเรซิ่น แม้แต่พวกเทอร์คอยส์ พวกปะการังก็เป็นของเทียม พวกอำพันก็เป็นของเทียม ไปเจอวัดหนึ่งคือวัดชงกู่ เป็นของแท้ทุกชิ้น แต่ขอโทษ...ไปผิดจังหวะ ไปถึงพระท่านเพิ่งตีกลองทำวัตร กว่าจะเสร็จก็อีก ๒ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย กะว่าขากลับพวกเราค่อยแวะมาดูใหม่ ปรากฏว่าขากลับมัคคุเทศก์พาเดินออกมาอีกทางหนึ่ง ต้องบอกว่าดวงจะไม่ต้องเสียเงิน
พวกหินทิเบต พวกปะการัง พวกเทอร์คอยส์ พวกอำพัน ฯลฯ เทคโนโลยีสมัยปัจจุบันนี้ทำได้ใกล้เคียงมาก ทำได้แม้กระทั่งงาช้าง งาช้างนี่ลายเริ่มใกล้เคียงแล้ว สีก็ได้แล้ว แต่น้ำหนักยังไม่ได้ กลายเป็นว่าไปเจอของดีเข้า ยืนน้ำลายหกกัน แต่ว่าพระท่านไม่อยู่สักรูปหนึ่ง ไปทำวัตรกันหมด มัคคุเทศก์บอกว่าเป็นวัดที่ค่อนข้างจะเข้มงวด ไม่อย่างนั้นก็ต้องมีพระคอยอยู่ต้อนรับสักรูปหนึ่ง นี่ไปกันหมด พระจีนเวลาสวดมนต์ท่านมีตีกลอง มีเคาะมู่อวี๋ มีตีระฆังให้จังหวะด้วย เวลาเดินไปได้ยินเสียงกลองตึงแรก อ้าว...เวรกรรมแล้วกู ท่านทิ้งวัดให้พวกเราดูเลย แล้วสถานที่ห้ามถ่ายรูป...อยากถ่ายก็ถ่ายไป ท่านปล่อยเลย ไปทำวัตรกันหมด" |
"ไปเจอของดีเข้าแต่ซื้อไม่ได้ ส่วนที่เขาตั้งใจจะขายให้ก็กลายเป็นของปลอมเสียทั้งนั้น แบบเดียวกับที่ไปปากีสถาน โยมมาถามอาตมาว่าชิ้นไหนแท้ ? ก็ชี้ให้เขาดู พอไปถามราคาของแท้ก็แพง โยมก็เลยแกล้งชี้ของเทียม ไอ้เจ้านั่นรู้แกวแล้ว แสดงว่าเราต้องดูเป็น เพราะว่าชี้แต่ของแท้มาแต่ต้น เขาบอกเลยว่าอันนี้ “แมนเมด” เขาพยายามสื่อว่า เป็นของที่คนทำขึ้นมา ซึ่งก็คือของเทียม
แต่ตอนนี้พวกเราเริ่มรู้แล้วว่า ถ้าซื้อหลายชิ้นสามารถต่อได้ เพราะฉะนั้น..ใครจะเอาอะไรต่างคนต่างก็บอกกัน แล้วก็รวมซื้อเป็นเจ้าเดียว จะต่อราคาได้เยอะ แต่ว่าบางแห่งก็ขายแพงเกินเหตุ อย่างหวีที่ทำจากเขาจามรี ร้านค้าที่ขายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวประมาณ ๕๘-๖๘ หยวน พอไปซื้อในห้างกลายเป็น ๑๒๘ หยวน คนจีนขายของเขาลงด้วย ๘ คนไทยขายของลงด้วย ๙ แม้กระทั่งค่าห้องพักก็ ๒๘๘ หยวน ๑๘๘ หยวน แต่ต้องยอมรับว่าทางคณะของคุณตั้วเขาใจใหญ่ ช่วง ๓ วันหลังนี่พักระดับ ๔ ดาว ๕ ดาวตลอดเลย พวกเราก็ไม่ได้ต้องการนอนหรูขนาดนั้น แต่เขาก็คงเกรงว่าพวกเราจะลำบาก เพราะว่าโรงแรมพวกนี้มีฮีตเตอร์ มีพวกเครื่องอุ่นเตียงให้ ทำให้อยู่สบาย แต่อาตมาไม่ใช้เลย เข้าไปถึงปิดไฟหมด แล้วก็เปิดหน้าต่าง ให้อุณหภูมิข้างในกับข้างนอกเท่ากัน ถึงเวลาตื่นแล้วจะไปไหนก็ไปได้ คนอื่นออกไปก็ต้องไปสั่นกันอยู่พักใหญ่" |
"ไปเพื่อทดสอบสมรรถภาพว่าอายุ ๖๐ แล้วยังไหวไหม ? แต่ประเภทที่เรียกว่าอึด ๆ อย่างน้องเล็กยังแย่เลย เดิน ๓ ก้าว ๔ ก้าวต้องพัก เพราะว่าอากาศไม่พอหายใจ ตอนที่ไปทิเบตนั่นแค่เดินยาว ๆ ๓ ก้าวแล้วไปยืนหอบข้างถนน ก็ยังแปลกใจตัวเอง แต่อันนั้นเดินแค่ระยะสั้น ๆ ที่เหลือพวกเราขึ้นรถตลอด งวดนี้เดินกันได้สะใจจริง ๆ เดินกันทีหนึ่งครึ่งค่อนวัน ก็เลยทำให้รู้ว่าถ้าอากาศไม่พอหายใจ เรายิ่งเดินทางไกลก็ยิ่งแย่ กล้ามเนื้อร่างกายส่วนไหนสะสมคาร์บอนไดออกไซด์มาก ก็จะปวดเมื่อยไปหมด
ถึงเวลากลับที่พักแล้วต้องใช้วิธีหายใจแบบพวกโยคะ หรือไม่ก็พวกคนฝึกปราณ หายใจลึก ๆ ไล่คาร์บอนไดออกไซด์ออกให้หมด ไม่อย่างนั้นแล้วรุ่งขึ้นระบมตาย กลับเมืองไทยมาแล้วตั้ง ๓-๔ วันยังติดหายใจยาว ๆ อยู่เลย มีอยู่ ๒-๓ รายที่เจอตอนเดิน เอาหมอนไปด้วยใบเบ้อเร่อเลย ตอนแรกอาตมาก็สงสัย กะว่าไปไม่ไหวก็จะนอนเลยใช่ไหม ? มารู้ที่หลังว่าเป็นหมอนออกซิเจน เขามีสายต่อสะพาย ถึงเวลาก็ยัดจมูก บรรจุออกซิเจนเป็นหมอนลมเอาไว้ ช่วยกันกระแทกตอนล้มก็ได้" |
พระอาจารย์เล่าว่า "ไปอยู่จีน ๑๐ วัน พอกลับมาท่านเจ้าคุณปัญญา (พระเทพปริยัติโสภณ) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีถามว่า “อาจารย์เล็ก..กลับมาตอนไหน ?” กราบเรียนท่านว่า “กลับมาหลายวันแล้วครับ แต่ไปทอดกฐินปลดหนี้มาก่อน” “โอ้โฮ...ไหวหรือ ?” “ไหวครับ..ลงเครื่องมาแล้วได้นอนพัก ๑ คืน รุ่งขึ้นก็ไปสกลนครต่อเลยครับ”
ที่ไหวเพราะว่าคืนสุดท้ายซึ่งมานอนที่เฉิงตู สองทุ่มกำลังนอนอยู่ เห็นหลวงพ่อโตเขาเล่อซานท่านมา องค์ใหญ่มาก มีรัศมี ๒ สีคือสีเขียวกับสีเหลือง สวยจริง ๆ เลย มาเต็มที่เลย แล้วกลับเป็นพระสงฆ์ พอกราบท่านเสร็จท่านก็บอกว่า จริง ๆ แล้วท่านก็คือหลวงปู่ไห่ทงผู้แกะสลักองค์หลวงพ่อโต ท่านบอกว่าบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ เพิ่งได้ฉัพพรรณรังสีแค่ ๒ สี ได้สีเขียวกับสีเหลือง เห็นลูกหลานมาถึงก็เลยแวะมาเยี่ยม จึงกราบขอท่านว่ากลับไปขอให้ทำงานได้ ไม่อย่างนั้นกลับไปแล้วร่างกายโทรม ทำงานไม่ได้ก็ลำบาก" |
"ต้องบอกว่าหลวงปู่ท่านมีวิริยอุตสาหะมาก แกะสลักหลวงพ่อโตเขาเล่อซาน ๗๑ ปี ไม่ใช่อายุ ๗๑ นะ ใช้เวลาตั้งแต่สร้างจนท่านมรณภาพ ๗๑ ปี ก็แสดงว่าท่านอายุเกือบร้อย แต่ยังไม่ทันจะเสร็จดีท่านก็มรณภาพเสียก่อน แล้วมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันตกแต่งจนเรียบร้อยสวยงาม รวมเวลาในการสร้างถึง ๙๐ ปี อาตมาชอบมากเลย รัศมีท่านสวยมาก เขียวกับเหลืองผสมกลมกลืนกัน เหมือนกับแสงแดดที่ส่องผ่านใบไม้อ่อน งามจริง ๆ
ถามท่านว่าทำไมรัศมีสีนี้ ? ท่านบอกว่าท่านเพิ่งบำเพ็ญบารมีมาได้แค่ ๒ สี ก็คือได้สีนีละ (สีเขียว)กับปีตกะ (สีเหลือง) แค่ ๒ สี หลวงพ่อวัดท่าซุงมีตั้ง ๕ สี...อีกนิดเดียวเอง ของหลวงพ่อวัดท่าซุงถ้าจำเป็นขอพระท่านสงเคราะห์ก็ครบ ๖ สี แต่ปกติแล้วถ้าท่านใช้กำลังของท่านเอง ก็จะมีอยู่ ๕ สี" |
ถาม : ไม่กล้าถามต่อเลยค่ะ ?
ตอบ : ไม่ต้องถาม ไปดูเอาเอง ของอย่างนี้ถ้าครูบาอาจารย์อยู่ก็พูดไม่ได้ ถ้าท่านไม่อยู่แล้วพูดได้ เพราะว่าพูดไปแล้วพวกเราก็ไปทำอะไรไม่ได้ ถ้าท่านมีชีวิตอยู่แล้วเราไปเปิดเผย บางคนจะไปกวนไม่เลิก อย่างหลวงปู่หลวงพ่อหลายท่านเจอหน้าก็บอกเลย “ห้ามพูดตลอดชีวิต” ท่านเองท่านไม่ได้ต้องการคนไปรบกวนมากมาย ท่านอยากอยู่เงียบ ๆ สบาย ๆ อย่างของทางสายอีสาน สมัยหลวงปู่ศรี วัดป่ากุง ท่านมีวาสนาบารมีมาทางด้านบริวารเยอะ แม้แต่หลวงตามหาบัวยังยอมรับ คิดดูสิว่าคนไปหาท่านขนาดไหน ปัจจุบันนี้มีอยู่องค์หนึ่ง ก็คล้าย ๆ หลวงปู่ศรี แต่ว่าอยู่ทางจันทบุรี ไปหากันเอาเอง เป็นหลวงปู่แล้วเหมือนกัน |
พระสายวัดป่าท่านไม่พูดเรื่องนี้ ท่านกลัวคนติด แบบเดียวกับท่านอาจารย์สมปองที่สิ้นแล้ว ก็ยังต้องสั่งให้เก็บสังขารเอาไว้ เพราะว่าลูกศิษย์ไปยึดผิด ไปยึดกายสังขารของท่านมากกว่าหลักธรรม แทนที่จะยึดในส่วนของสังฆคุณที่เป็นสุปฏิปันโนก็ไม่ยึด ไปยึดร่างกายท่าน ถ้าไม่เก็บเอาไว้ก็ย้ายแยกแตกกระจายกันไป หาหลักไม่ได้ ก็เลยต้องให้เก็บเอาไว้
ก็แปลว่าอาตมาเองเหนื่อยแทนท่านอาจารย์สมปอง สอนลูกศิษย์มาตลอดชีวิตแล้วลูกศิษย์ยึดอยู่แค่นั้น ตอนสมัยที่ตัวท่านอยู่ก็บ่นอยู่บ่อย ๆ เวลาไปไหนท่านเองก็พยายามผลักภาระ ถึงเวลาก็หลวงพี่โน่นนิด หลวงพี่นี่หน่อย...ไปเรื่อย บางทีเดินทางครึ่งค่อนวันอาตมาถือไมค์ฯ อยู่คนเดียว แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าท่านที่สร้างบุญร่วมกันมากับท่านก็ต้องไปตามกัน พอท่านมรณภาพอาตมาอุตส่าห์ทิ้งงานวิ่งไปเป็นร้อยกิโลเมตร โทรไปเขาบอกว่ายังไม่มีกำหนดการอะไรทั้งสิ้น อ้าว...แล้วกัน ตอนนี้ขอปิดบ้านก่อน เราก็บรรลัยแล้วกู วิ่งไปถ้าเขาไม่เปิดบ้านไม่เสียงานแย่หรือ ? นี่ก็อุตส่าห์ทิ้งงานมา ก็เลยวิ่งกลับไปทำงานเดิม วิ่งกลับไปจะถึงวัดอยู่แล้ว เขาก็โทรมาแจ้งว่าจะสรงน้ำตอนเย็น ก็เลยบอกว่าไม่ไปแล้ว ใครอยู่ช่วยสรงแทนที ไม่ใช่ไปครึ่งทางแล้วบอกว่าปิดบ้านอีก ตูก็บรรลัยเท่านั้น |
การยึดมั่นถือมั่น แม้ว่าจะเป็นการยึดในเรื่องของความดี แต่ก็ไม่สามารถทำให้หลุดพ้นได้ ก็คือยังติดดีอยู่ เหมือนกับที่เคยเปรียบว่า เราบอกว่าเราจะไปเชียงใหม่ แต่เรายืนกอดเสาอยู่ตรงนี้แล้วจะไปอย่างไร ? แต่คราวนี้คนเราถ้าทำยังไม่ถึง แม้ว่าจะพยายามเตือนเขาเท่าไร เขาก็ฟังผ่านหูไปเฉย ๆ
ญาติโยมหลายคนก็มีอาการแบบนั้น ก็คือยึดตัว ไม่ได้ยึดหลักธรรม อาตมาเองก็เลยต้องใช้วิธีว่า ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็ไม่ยึดติดแทน โยมจะเห็นว่าพอนอกเวลางาน อาตมาไม่รับใครเลย ใครมาหาไล่เตลิดเปิดเปิงหมด ก็ในเมื่อเขาไม่ยอมเลิกยึด...เราก็ต้องเลิกเสียเอง |
จะเห็นน้ำใจหลวงปู่ถมยาเลย (หลวงปู่พระธรรมสิทธิเวที วัดสังเวชวิศยาราม) ๙๐ ปีแล้วยังอุตส่าห์ไปงาน แต่ว่าท่านอาจารย์สมปองก็เป็นพระครูปลัดฐานานุกรมของท่านนั่นแหละ
หลวงปู่ท่านยึดหลวงพ่อวัดท่าซุงเป็นหลักมาตั้งแต่สมัยโน้น มีอะไรก็หลวงพ่อวัดท่าซุงไว้ก่อน โดยเฉพาะลูกศิษย์สายวัดท่าซุง ถ้าไปหาท่านพยายามที่จะสนับสนุนทุกอย่าง เพราะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วกำลังใหญ่ สามารถช่วยงานได้มาก อย่างท่านอาจารย์สมปอง แม้ท่านรู้ว่าให้ฐานานุกรมไปก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก...แต่ท่านก็ให้ ปกติตำแหน่งฐานานุกรมชั้นธรรมนี่เขาประเภทแย่งกันซื้อ นี่ท่านถวายให้เฉย ๆ |
ตอนนั้นหลวงพ่อพระพรหมสิทธิ น่าจะยังเป็นพระธรรมสิทธิเวที ท่านก็บอกว่าท่านจะถวายพระครูปลัดให้อาตมา อาตมาก็ทำหูทวนลม จนกระทั่งท้ายสุดไม่ไปรับ ท่านต้องให้คนอื่นไปแทน หลวงพ่ออดีตพระธรรมดิลกด่าซะ “ผู้ใหญ่ให้แล้วยังหยิ่งอีก ไม่ยอมไปรับ” แล้วท่านก็สรุปเองว่า “เออ...ก็ดี..จะได้ไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณใคร”
พวกเราจะมียศมีตำแหน่งหรือไม่...เราก็ทำงาน คนอื่นเขาต้องการกำลังใจด้านนี้ ก็ให้เขาไปเถอะ แต่ว่าเดือนนี้วันที่ ๑๙ ต้องไปรับที่วัดไร่ขิง เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้รับในถิ่นตัวเอง คือรับใกล้ ๆ ไม่อย่างนั้นแล้วต้องไปรับที่วัดพนัญเชิงบ้าง วัดพระพุทธบาทบ้าง วัดโสธรบ้าง หนกลางส่วนใหญ่เขารับวน ๆ กันอยู่ไม่กี่วัดนี้ เพิ่งจะมีปีนี้ที่วนกลับมาจังหวะของอาตมาพอดี มาลงที่วัดไร่ขิง ตอนแรกก็คิดว่าอย่างเก่งเขาก็ขยับให้เป็นเจ้าคณะตำบลชั้นเอก เพราะว่าแต่เดิมเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นโท แล้วปัจจุบันนี้เป็นรองเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ถ้าให้เป็นตำบลเอกอาตมาก็ขาดทุน เพราะว่าปัจจุบันวิ่งเลยไปแล้ว แต่ปรากฏว่าให้เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระด้วย เลื่อนไปที ๒๐ ที่นั่ง |
เดี๋ยวไว้เจอหน้าหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี จะเรียนถามท่านว่า พัดฝ่ายวิปัสสนาธุระของเมืองกาญจน์ฯ เคยมีไหม ? ทองผาภูมิไม่เคยมีแน่นอน พัดขาวได้ยากมาก ถ้าในระดับชั้นเดียวกันพัดขาวจะนั่งหน้าเขาทั้งหมด
อย่างเช่นว่าถ้าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกมา จะกี่คนก็ตาม อาตมาต้องนั่งเหนือเขา เพราะว่าของเราเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ แสดงว่าโบราณพระมหากษัตริย์ท่านก็ให้ความสำคัญกับงานวิปัสสนาธุระมาก แบบเดียวกับหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านเป็นพระสุธรรมยานเถระ พระราชาคณะสามัญเปรียญ ก็เป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ พอมาเป็นหลวงพ่อพระราชพรหมยานก็เป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ ถึงเวลาเจ้าคุณชั้นราชด้วยกันท่านก็ต้องนั่งหน้าเขาหมด ตอนหลวงพ่อเจ้าคุณอนันต์ท่านเป็นพระราชภาวนาโกศล ก็ฝ่ายวิปัสสนาธุระเหมือนกัน อาตมาบ่นว่า “ไม่ได้ดีใจหรอก เพราะว่าพัดไม่สวย ไม่มีสีไม่มีสันเหมือนคนอื่นเขา” ปรากฏว่าพวกบ่นกันพึม “ไอ้ห่...ได้สูงแล้วยังบ่นอีกว่าไม่สวย” |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:55 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.