![]() |
พาใจกลับบ้าน (๒๒)
ตัวอย่าง ตอนนี้ที่พวกเรานั่งอยู่ ถ้าบอกว่า หาจิตยังไม่เจอ หาความคิดยังไม่เจอ
ก็ให้ฝึกมาดูกายก่อน อย่างเรานั่งอยู่ เรารู้สึกดูที่แขนของเรา เรามีแขนกันอยู่ ดูที่แขนด้านขวาของเรา ไม่ต้องไปมองที่แขน (บางคนไปมองที่แขนของตัวเอง) ให้รู้สึกว่า เรามีแขนอยู่ รู้สึกตั้งแต่ที่มือไล่ขึ้นมาจนถึงหัวไหล่ รู้อยู่ด้านขวา เสร็จแล้วก็ย้ายไปแขนด้านซ้าย ไล่จากหัวไหล่ไปเรื่อย ๆ ไปจนถึงปลายนิ้วมือ แล้วก็ย้ายมาอีก ย้ายมาที่ใบหน้าของเรา รู้ว่านี่คือใบหน้าของเรา ลองรู้สึกดูว่า นี่คือหน้าผาก ไล่เข้ามาเรื่อยที่คิ้ว ตา จมูก ปาก ที่ปลายคาง มาดูที่ศีรษะของเรา ด้านบนกระหม่อมของเรา แล้วค่อยไล่มาที่ใบหู ไล่มาที่ท้ายทอยของเรา ไล่มาที่คอของเรา นี่ก็เป็นการฝึกการรู้สึกตัวให้อยู่กับปัจจุบัน หรือมาดูที่ลำตัวของเราจากหัวไหล่ลงไปที่หน้าอกของเรา ไปที่ท้องของเรา นี่ก็จะรู้สึกได้ชัดเหมือนกัน หรือที่ขา ไปสังเกตขาของเรา ที่ต้นขา หัวเข่า จนไปถึงฝ่าเท้า แล้วก็ไปที่ปลายเท้า และลองย้ายความรู้สึกจากปลายเท้า ไปที่ปลายเท้าอีกข้างหนึ่ง ปลายเท้าด้านซ้าย จากปลายเท้าด้านซ้ายก็ขึ้นมาที่หัวเข่า แล้วมาที่ต้นขาของเรา ฝึกรู้สึกตัวอย่างนี้ได้ |
พาใจกลับบ้าน (๒๓)
ตัวอย่าง บางคนขณะที่ทำงานเครียดมาก ๆ เหนื่อยมาก ๆ ใจมันวุ่นวายเหลือเกิน
หาใจไม่เจอ หาตัวเองไม่เจอเลย ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ? ก็แนะนำให้พักสักพักหนึ่ง นั่งอยู่ที่ทำงานนั่นแหละ อ้าว!!...ดูตัวเราเอง สังเกตจากแขนก็ได้ แขนขวา ไล่ลงไปจากหัวไหล่ไปถึงปลายนิ้ว แล้วย้ายมาแขนซ้าย จากหัวไหล่ไล่ลงไปที่ปลายนิ้ว ไปที่ลำตัว ตั้งแต่หัวไหล่ ไปที่หน้าอก ไปที่ท้อง ขาจากขาขวา จากต้นขา ไปหัวเข่า ไปที่ปลายเท้า แล้วย้ายมาขาซ้าย ไปที่ต้นขา ไปที่หัวเข่า และที่ปลายเท้า ลองทำอย่างนี้ดู แล้วจะเห็นเลยว่า เราพาใจกลับบ้านได้ เพราะเราหาปัจจุบันเจอ แต่ตอนนั้นวุ่นวาย เพราะกำลังพิมพ์ กำลังดูที่จอ รับโทรศัพท์ หาเอกสาร เพื่อนเรียก นายเรียก มองหาลูกน้อง วุ่นวายเหลือเกิน เหนื่อยเหลือเกิน ทำหลายอย่างเหลือเกินในเวลาเดียวกัน ไม่อยากทำแล้ว อยากจะหนีจากโต๊ะทำงานนี้ไป อย่าเพิ่งหนี ให้รู้ว่า รู้สึกหงุดหงิด ให้รู้ว่าเราเครียด ให้รู้ว่า เรานั้นกลับบ้านไม่ถูกแล้ว หาปัจจุบันไม่เจอแล้ว เมื่อหาปัจจุบันไม่เจอ ก็ทำอะไรไม่ได้ ? หาบ้านให้เจอ หาปัจจุบันให้เจอ จึงกลับบ้านได้ เราก็นั่งดูอย่างนี้กันไป |
พาใจกลับบ้าน (๒๔)
ตัวอย่าง บางคนชอบดูลมหายใจก็ได้
บางคนบอกว่า ไม่ไหวแล้ว เหนื่อยมาก ๆ เครียดมาก ๆ ก็วางมือลง หลับตา ตั้งกายให้ตรง สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ยาว ๆ แล้วค่อย ๆผ่อนลงนับ ๑ สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ยาว ๆ แล้วค่อย ๆ ผ่อนออกนับ ๒ สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ยาว ๆ แล้วค่อย ๆ ผ่อนออกนับ ๓ แล้วก็จะช่วยได้ บางคนก็ถาม แล้วต้องทำนานแค่ไหน ? (ตอบไม่ได้ว่า ต้องทำนานแค่ไหน ? ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล) ใครที่ทำสักพักหนึ่ง แล้วรู้สึกว่า เรากลับบ้านได้แล้ว เรารู้สึกดีแล้ว ก็หยุดทำ ใครที่ทำแล้วยังรู้สึกหวิว ๆ รู้สึกแน่น ๆ รู้สึกไม่สบาย ก็ให้ทำต่อไป จนเรารู้สึกว่า ไม่หวิวแล้ว รู้สึกไม่วุ่นวายแล้ว รู้สึกสบายแล้ว เอ้า!!...กลับมาเข้าสนามรบใหม่ กลับไปดูที่จอคอมพิวเตอร์ใหม่ กลับมาอ่านหนังสือที่เรากำลังอ่านใหม่ กลับมาดูที่งานที่เรากำลังทำใหม่ |
พาใจกลับบ้าน (๒๕)
เพราะฉะนั้น ใครที่ทำงานหนัก ๆ อย่างพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่กัน ก็เป็นชีวิตที่ต้องทำงานกันทั้งนั้น
ไม่ต้องไปกลัว ตื่นขึ้นมา ไม่ต้องไปกลัวว่า จะต้องไปทำงาน ตื่นขึ้นมาแล้วให้รู้สึกตัวแทน ใครที่ตื่นขึ้นมารู้สึกหงุดหงิด รู้สึกหวิว ๆ รู้สึก โอย!!..วันนี้จิตตก ไม่อยากลุกจากเตียง ให้เปลี่ยนจากความรู้สึกนั้น มารู้สึกตัวทันที ตอนนั้นเรากำลังหลงแล้ว ต้องหาปัจจุบันให้เจอ ตื่นขึ้นมาปุ๊บลืมตา พอจิตคิดกังวล ก็รู้ว่า จิตคิดกังวล ย้ายจิตทันทีเลย มาดูอะไร ? (กาย) นอนอยู่ ก็ให้รู้ว่านอน เรากำลังนอนอยู่บนเตียง เริ่มมาดูอะไร ? ดูที่แขน ก็มาเริ่มที่แขนขวา ไล่ไปเสร็จก็ย้ายไปที่แขนซ้ายของเรา ดูที่ตัวของเรา จากต้นขาขวา ย้ายไปถึงปลายเท้า ดูที่ขาซ้าย ย้ายไปที่ปลายเท้า ลองทำดู พอหาบ้านเจอ กลับบ้านได้ หาปัจจุบันได้เท่านั้น จิตที่รู้สึกหวิว ๆ รู้สึกกังวล รู้สึกขุ่นมัว มันค่อย ๆ ชัด ๆ ๆ ขึ้น ถึงจุดหนึ่ง จิตรวมกันเป็นหนึ่ง ลุกออกจากเตียงได้ อุ๊ย!!.. ได้เวลาไปทำงานแล้ว เดี๋ยวสาย เข้าห้องน้ำทันที ไปทำงานได้ |
พาใจกลับบ้าน (๒๖)
ตัวอย่าง บางคนประคองจิต ตอนเช้ายังประคองได้ดี ๆ อยู่
เห็นตึกทำงานเท่านั้นแหละ โอย!!..เดี๋ยวเข้าไปต้องไปเจอพวกหน้าเดิม ๆ อีกแล้ว เจอปัญหาอีกแล้ว ให้รู้ทันทีเลยว่า จิตของเราตก ให้มาดูให้ได้ กลับบ้านให้ได้ พาจิตกลับบ้านให้ได้ เข้าลิฟท์มา โอย!!..รู้สึกเศร้า รู้สึกเบื่อ รู้สึกกังวล ไม่ต้องกลัว กลับบ้านให้ได้ พาใจกลับบ้านให้ได้ มาดู มาหาปัจจุบันให้ได้ มานั่งโต๊ะทำงานก็เหมือนกัน ถ้าเริ่มนั่งปุ๊บ โอย!!..รู้สึกแย่ปั๊บเลยนี่นะ ให้รีบหาปัจจุบันให้เจอ ตั้งจิตตั้งกายให้ได้ แล้วเราก็จะเริ่มวันใหม่ได้อย่างมีความสุข |
พาใจกลับบ้าน (๒๗)
เพราะฉะนั้น ใครที่ฟังแล้ว ก็ลองทำดู
แล้วใครที่ลองทำแล้ว รู้สึกว่าประสบความสำเร็จ รู้สึกถูกกับจริตเรา รู้สึกว่ามีความสุข ก็อย่าลืมว่า เพื่อนร่วมงานของเรานั้น ก็จะเจอเหตุการณ์เดียวกับเรา เพื่อนร่วมงานของเรานั้น ก็มีความทุกข์เหมือนกับเรา เอาวิธีนี้ไปบอกเพื่อนร่วมงานของเรา เอาวิธีนี้ไปใช้กับเพื่อนร่วมงานของเรา แล้วเพื่อนร่วมงานของเรานั้น ก็จะสามารถพากาย พาใจของเขานั้น พ้นความทุกข์ที่เขามีได้ แล้วเรานั้นก็จะเป็นผู้ที่สร้างอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ให้ทั้งกับตัวเราเอง แล้วก็ให้กับเพื่อนร่วมงาน |
พาใจกลับบ้าน (๒๘)
วันนี้อาตมาภาพก็ใช้เวลามาพอสมควรแล้ว ตอนนี้ก็เป็นเวลาสองทุ่มพอดี
ต่อจากนี้ไปวันนี้ก็ทราบข่าวว่า ท่านเจ้าคุณวีรยุทธ ท่านเดินทางมาจากประเทศอินเดีย ท่านก็มีจิตเมตตาแวะเวียนมาเยี่ยมพวกเราถึงที่นี่ อาตมาภาพนั้นก็ขอใช้เวลาบรรยายเพียงแค่นี้ จากนี้ไปก็จะขอโอกาสมอบเวทีนี้ ให้กับพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณวีรยุทธ ท่านได้มาบรรยาย และก็มาทักทายกับพวกเรา และในตอนท้ายก็ทราบมาว่า วันนี้นั้นทางสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี โดยคุณโยมดนัย จันทร์เจ้าฉาย ก็ได้รวบรวมจตุปัจจัย แล้วก็มีสิ่งของต่าง ๆ มากมายที่จะนำไปช่วยเหลือพี่น้องของเราที่อยู่ในประเทศพม่า |
พาใจกลับบ้าน (๒๙)
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว อาตมาภาพได้มีโอกาสไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
กับท่านญาณิสสระ ซึ่งท่านญาณิสสระนั้น เป็นอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยสีตะคู ที่ประเทศพม่า รู้จักคุ้นเคยกับท่าน ก็ได้จัดประชุมร่วมกับท่านหลายครั้ง เป็นงานวิชาการหลาย ๆ งาน ท่านก็ได้บินมาแล้วบอกว่า คณะสงฆ์ทางประเทศพม่านั้นได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จากพายุไซโคลนนาร์กิส แล้วตอนนี้พระสงฆ์ของเรานั้น หลายวัดเลยไม่มีจีวรใช้ เพราะโดนพายุพัดจีวรไปหมดเลย ไม่มีแม้กระทั่งที่ที่จะอยู่ ก็มารวมกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยของท่าน ตอนนี้ท่านทำมหาวิทยาลัยเป็นบ้าน ท่านเป็นพระนักพัฒนา ทำโรงเรียน ทำโรงพยาบาล ตอนนี้โรงเรียนก็กลายเป็นบ้านเหมือนกัน โรงพยาบาลของท่านนั้น มีคนป่วยมาอยู่เป็นหมื่น ๆ คนที่มารอรับการรักษา |
พาใจกลับบ้าน (๓๐)
เพราะฉะนั้น สิ่งของและจตุปัจจัยทั้งหลายที่ได้รับถวายมานั้น ก็จะนำไปมอบให้กับท่าน
ตัวอาตมาภาพนั้นเองก็จะเดินทางไป น่าจะเป็นวันที่ ๙ เดือนหน้า ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากหลาย ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ หรือว่าบริษัทกรุงเทพการบิน ก็เพิ่งได้มาที่วัดวันนี้ คุณโยมประไพ ประสาททองโอสถ ซึ่งเป็นน้องสาวของหมอประเสริฐ ประสาททองโอสถ ก็ได้มาปวารณาจะถวายค่าเดินทาง พร้อมกับจะขนผ้าไตรจีวรไปให้ด้วย ก็ขออนุโมทนากับทุกท่านในที่นี้ วันนี้อาตมาภาพก็ใช้เวลามาพอสมควรแล้ว พระเดชพระคุณท่านก็เดินทางมาถึงแล้ว ก็ขอโอกาสกราบอาราธนานิมนต์พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณได้มาพูดคุยกับญาติโยมครับ |
ปิดท้าย "พาใจกลับบ้าน"
น้องปิดท้ายการถอดคำแสดงพระธรรมไว้
แต่ได้ปรับเปลี่ยนไปบ้างจากต้นฉบับของน้อง ดังนี้ "เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ เตสํ เหตุ ํ ตถาคโต อาห พระตถาคต ทรงแสดงเหตุแห่งธรรม เหล่านั้น เตสญฺ จ โย นิโรโธ จ และความดับของธรรมเหล่านั้น เอวํ วาที มหาสมโณติ พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้" "สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้ผ่องใส เอตํ พุทฺธานสาสนํ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" |
อ้างอิง:
พลิกอ่านดูคร่าว ๆ แล้วว่าจะนำมาลงที่กระทู้นี้ และพอมารื้อหากระทู้... เห็นข้อความนี้แล้วนึกได้ว่า เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ค่ำของวันก่อนวันแม่ที่ยายกำลังจะไปวัดท่าขนุนนั้น ยายรอรถมารับช้าหน่อยเพราะฝนตกอยู่... ได้เจอน้อง ๆ ที่ทำงานกำลังรอรถเช่นกัน ทักทายคุยกัน เพราะเห็นน้องเขาใส่เสื้อยืดทีม (มีข้อความหนึ่ง เห็นแล้วอยากหาไปฝากน้อง "เด็กดอย") น้องจะไปแม่สะเมิง ไปช่วยสร้างฝาย... ยายก็คิดว่าเป็นชมรมที่ทำงาน น้องบอกว่าไม่ใช่ชมรม แต่เป็นน้องที่ยายเล่าถึงคนนี้แหละจัดไป:onion_love: ...เที่ยวนี้ ไปกันมากหน่อย ถึง ๑๑๐ คน และยังต้องการแรงงานอีกมาก เขาว่าเป็นฝายปูน... พระอาจารย์ท่านหนึ่งเริ่มทำไว้ก่อนหลายปีมาแล้ว จึงมีการออกแบบไว้ค่อนข้างดี... พวกน้อง ๆ เขารวมตัวกันช่วยสร้างเป็นระยะ โมทนาสาธุ |
เรื่องที่จะนำมาลงนี้ มาจากหนังสือชื่อว่า "โครงสร้างของพระสัทธรรม ในพระพุทธศาสนา"
ดูแล้วเป็นการรวบรวมเรียบเรียงหมวดธรรมต่าง ๆ โดยคุณนิศา เชนะกุล เริ่มต้นจากเป็นหนังสือที่พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล) ผู้เป็นบิดาของคุณนิศา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๓๐ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีก ๒ ครั้ง รวมพิมพ์แล้ว ๔๓ ครั้ง เป็นจำนวน ๑๖๘,๐๐๐ เล่ม พิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จนถึงเล่มที่ได้รับมานี้ อ่านจากเจตนาแล้ว เป็นการเผยแพร่ ไม่มีวางจำหน่าย และไม่กล่าวถึงลิขสิทธิ์ เนื้อหาเป็นการจัดรูปแบบของพระสัทธรรมให้จดจำง่าย ดูจะเหมาะใช้ประกอบการศึกษา จึงจะเลือกนำมาลง โดยไม่คัดลอกให้เหมือนต้นฉบับตลอดทั้งเล่ม |
โครงสร้างพระสัทธรรม (๑)
คำปรารภ พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย ผู้มีบุญหนุนนำให้ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนานั้น ต่างก็คงเคยได้สดับตรับฟังพระสัทธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาจากครูบาอาจารย์มากันมากต่อมาก แต่ดูเหมือนว่าหลายท่านรวมทั้งผู้รวบรวมเองด้วยจะยังสับสนในข้ออรรถข้อธรรม แบบจับต้นชนปลายไม่ใคร่จะถูก ครั้นเมื่อผู้รวบรวมได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมด้านพระปริยัติธรรม ทั้งที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระสุตตันตนัยและพระอภิธรรมนัย รวมทั้งปกรณ์วิเศษและอรรถกถาบางเรื่องจากสำนักต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ติดต่อเรื่อยมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็เริ่มมีความเข้าใจ จึงได้ดำริจัดทำหนังสือโครงสร้างของพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนาฉบับนี้ขึ้น เพื่อใช้อ้างอิงส่วนตัว และในหมู่ผู้สนใจ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่หนึ่ง : ว่าด้วย วัฏฏจักร อันเป็นหัวข้อธรรมที่แสดงถึงกลไกของเกลียวแห่งวัฏฏะที่หมุนวน พาสัตว์ให้เวียนว่ายอยู่ในโลกสามชั่วกัปกัลป์ ตอนที่สอง : ว่าด้วย ธรรมจักร อันเป็นหัวข้อธรรมตรงกันข้าม ที่แสดงถึงกลไกของเกลียวแห่งธรรม ซึ่งส่องสัตว์ให้เห็นทางออกจากวัฏฏะ เข้าสู่ขันธวิมุตติหลุดพ้น บรรลุถึงฟากฝั่งพระนิพพาน ผู้รวบรวมใคร่ขอถือโอกาสนี้ กราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี (ไพจิตร ฐิตวณฺโณ) แห่งวัดโสมนัสวิหารอย่างสูงยิ่ง ที่ได้มีเมตตาเขียนคำอนุโมทนาสำหรับหนังสือโครงสร้างของพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนานี้ อีกทั้งบรรดาสหธรรมมิก ประกอบด้วยญาติสนิทมิตรสหาย เมื่อได้ทราบข่าวว่าจะมีการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อยังประโยชน์แก่สาธุชนผู้ใคร่ธรรมทั้งหลายให้กว้างขวางไปไกล ต่างก็เกิดมีจิตศรัทธาร่วมใจกันบริจาคสมทบ เป็นผลให้เพิ่มจำนวนพิมพ์ได้มากฉบับขึ้นกว่าเดิมที่กำหนดไว้ จึงขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งมาพร้อมนี้ กุศลใดอันพึงได้พึงมีจากการนี้ ขอน้อมถวายเพื่อบูชาพระคุณของพระบรมศาสดา อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงยังโลกสามให้สว่างไสวคลายความมืดมน ตลอดจนทรงรื้อขนสรรพสัตว์ให้พ้นจากบ่วงแห่งมารได้ในที่สุด สำหรับข้อผิดพลาดบกพร่องนั้น ผู้รวบรวมขอรับไว้แต่ผู้เดียว ขอบัณฑิตผู้รู้ได้กรุณาทักท้วงแก้ไขด้วย สุดท้ายนี้ขอทุก ๆ ท่านผู้มีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์และแสวงประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ ได้โปรดอนุโมทนาในมหากุศลครั้งนี้โดยทั่วกัน นิสา เชนะกุล ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๑ |
โครงสร้างพระสัทธรรม (๒)
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใด อันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งตถาคต
(ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร) |
โครงสร้างพระสัทธรรม (๓)
คำปรารภ ในการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาสาระ โครงสร้างของพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๑ หลังจากที่ได้รวบรวมหัวข้อธรรมและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม โครงสร้างของพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อใช้เป็นคู่มือในการบรรยายธรรม ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นต้นมา นับเวลาได้ ๙ ปีเต็ม ผู้รวบรวมเห็นสมควรได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาสารธรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระมหาสมลักษณ์ คันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งท่านก็ได้เมตตาให้คำปรึกษาแนะนำที่มีค่ายิ่ง จึงใคร่ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย ผู้รวบรวมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือโครงสร้างฉบับปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาสาระนี้ จะอำนวยประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แก่บรรดาพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธา และเคารพบูชาในพระสัพพัญญุตญาณของพระบรมศาสดา ในการที่จะหยั่งลงสู่พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และเพื่อเป็นอนุสติเตือนใจพวกเราทั้งหลาย ผู้รวบรวมใคร่ขออาราธนาน้อมบูชาอาณีสูตรจากสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุในอนาคตกาล เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึกซึ้ง มีอรรถอันลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเล่าเรียน ว่าควรศึกษา แต่เมื่อเขากล่าวพระสูตรอันนักปราชญ์รจนาไว้ อันนักปราชญ์ร้อยกรองไว้ มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิตอยู่ จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้น ที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึกซึ้ง มีอรรถอันลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม จักอันตรธานฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเขากล่าวถึงพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึกซึ้ง มีอรรถอันลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ พวกเราจักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ จักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ขอพุทธบริษัททั้งหลายได้โปรดพร้อมใจกันน้อมรับพระพุทธโอวาทไว้เหนือเกล้า ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ตลอดชาติอย่างยิ่ง และขอตั้งสัจจาธิษฐานว่า ตราบเท่าที่พระสัทธรรมยังดำรงอยู่ จักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ จักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา ๖๕ สุขุมวิท ซอย ๑ (รื่นฤดี) กทม. ๑๐๑๑๐ นิสา เชนะกุล ตุลาคม ๒๕๔๐ |
โครงสร้างพระสัทธรรม (๔)
คำปรารภ ในการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาสาระ โครงสร้างของพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๒ หลังจากที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาสาระ ในหนังสือโครงสร้างของพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ บัดนี้ เวลาได้ล่วงเลยมาเกือบ ๖ ปีเต็ม ผู้รวบรวมเห็นสมควรเพิ่มเติมผังพระปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ลงในท้ายเล่ม เพื่อประกอบการศึกษาพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อนึ่ง ท่านอาจารย์พระครูธรรมธรสุมนต์ (สุมนต์ นันทิโก) เจ้าอาวาสวัดจากแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อดีตผู้อำนวยการ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย (อ.ช.ว.) ได้เมตตามอบผังพระรัตนตรัยและปัจจัย ๒๔ ซึ่งผู้รวบรวมได้น้อมบูชานำมาเทิดทูนไว้เป็นสิริมงคลบนปกของหนังสือด้วย จึงขอน้อมกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ ๖๕ สุขุมวิท ซอย ๑ (รื่นฤดี) กทม. ๑๐๑๑๐ นิสา เชนะกุล ตุลาคม ๒๕๔๐ |
โครงสร้างพระสัทธรรม (๕)
1 Attachment(s)
|
โครงสร้างพระสัทธรรม (๖)
ยถา หิ มหโต ตฬากสฺส ปาลิยา ถิราย อุทกํ น ฐสฺสตีติ น วตฺตพฺพํ, อุทเก สติ ปทุมาทีนิ ปุปฺผานิ น ปุปฺผิสฺสนฺตีติ น วตฺตพฺพํ,เอวเมว มหาตฬากสฺส ถิรปาลิสทิเส เตปิฏเก พุทฺธวจเน สติ มหาตฬาเก อุทกสทิสา ปฏิปตฺติปูรกา กุลปุตฺตา นตฺถีติ น วตฺตพฺพา, เตสุ สติ มหาตฬาเก ปทุมาทีนิ ปุปฺผานิ วิย โสตาปนฺนาทโย อริยปุคฺคลา นตฺถีติ น วตฺตพฺพนฺติ เอวํ เอกนตฺโต ปริยตฺติเยว ปมาณํ. เมื่อทำนบของสระใหญ่ยังมั่นคงแข็งแรงอยู่ ใคร ๆ ก็ไม่สามารถจะพูดได้ว่า ไม่มีน้ำขังอยู่ เมื่อยังมีน้ำขังอยู่ ใคร ๆ ก็ไม่สามารถจะพูดได้ว่า ดอกไม้ทั้งหลาย มีดอกปทุมเป็นต้น จักไม่บานสะพรั่ง ฉันใด เมื่อพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกอันเป็นเช่นกับทำนบของสระใหญ่ที่มั่นคงแข็งแรงยังมีอยู่ กุลบุตรทั้งหลายผู้เป็นนักปฏิบัติอันเป็นเช่นกับน้ำ ใคร ๆ ก็ไม่สามารถจะพูดได้ว่า ไม่มี เมื่อกุลบุตรผู้ปฏิบัติเหล่านั้นมีอยู่ ใคร ๆ ก็ไม่สามารถพูดได้ว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ซึ่งเหมือนกับดอกปทุมเป็นต้นที่ในสระใหญ่ ไม่มี ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า พระปริยัติธรรมเท่านั้น จัดว่าเป็นรากฐานของพระศาสนาโดยแท้ (สารัตถัปปกาสินี อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย โดยพระพุทธโฆสาจารย์) |
ยายนำเรื่องนี้มาคั่นไว้ เพราะเพิ่งไปกราบฟังข้อธรรมจากหลวงพ่อวิชามา
...อันเนื่องมาจากธรรมสัญจรของน้อง ญ.ผู้หญิง เมื่อวันหยุดที่เพิ่งผ่านมานี่เอง "ร่วมบุญมหากุศลงานเข้านิโรธกรรม ครูบาวิฑูรย์ ชินวโร จ.นครสวรรค์-งานอายุวัฒนมงคล ๙๐ ปี หลวงปู่พระครูสันติธรรมาภิรม (ครูบาอ่อน รตนวณฺโณ) จ.พะเยา วันที่ ๑๗-๑๘ ก.ย." "หลวงพ่อวิชา รติยุตฺโต วัดชอนทุเรียน ซึ่งองค์นี้ไม่ธรรมดา ถือเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง และที่สำคัญท่านเป็นสหธรรมิกของพระราชพรหมยาน พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" และด้วยเหตุที่ยายไม่ได้บันทึกเสียงของหลวงพ่อไว้ ใช้เพียงสัญญาอันไม่เที่ยงและความเข้าใจส่วนตัว จึงกราบขอขมาหากประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระรัตนตรัยประการใดก็ตาม หลวงพ่อเมตตาต่อพวกเรามาก... หลังจากเราถวายสังฆทานแล้ว ท่านก็ว่า ใครจะถามอะไร ว่ามา มาแล้วก็อย่าให้ขาดทุน แล้วท่านก็เมตตาเทศน์ให้พวกเราพักใหญ่ อาทิเช่น เรื่องละโกรธ ละความไม่พอใจ... ไม่เห็นว่าใครทำผิด เห็นทุกคนเป็นเพื่อน เรื่องการทำบุญ การวางบุญ การไปนิพพาน... "การทำใจอยู่เหนือบุญเหนือบาป" เมื่อมีคนกราบเรียนถามถึงท่านกับหลวงพ่อฤๅษี... มีรูปท่านนั่งอยู่ด้วยกันที่ผนังด้วย ท่านว่ารู้จักกัน ตอนยังเป็นหนุ่ม เคยไปกิน ไปนอนอยู่ด้วยกันที่วัด... แต่ก็ไม่ได้ไปแล้วตั้งแต่หลวงพ่อฤๅษีมรณภาพ ท่านว่าตอนนั้นเหมือนว่าท่านแบ่งหน้าที่กัน ท่านเข้าป่าเพราะท่านชอบอยู่ป่า ส่วนหลวงพ่อฤๅษีเข้าเมือง มีคนกราบเรียนถามเรื่องเหตุการณ์ภัยพิบัติว่า หากอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย ควรทำตัวอย่างไร... ไม่มีเลวหรอก เป็นเรื่องของธรรมชาติ ธรรมชาติของโลกก็มีธรรมดาเป็นอย่างนั้นเอง เราอยู่ที่ไหน ก็อยู่ตรงนั้น "ให้เป็นปกติ" ที่สำคัญ คือ "อย่ากลัว"... กลัวแล้วก็ขาดทุน เพราะเราเริ่มผ่อนส่งความกลัวไปก่อนเรื่อย ๆ เมื่อจะกราบลาออกมา ก็จะกล่าวคำขอขมากัน ...ท่านว่า ไม่ต้องขอขมาหรอก ไม่มีโทษ... กราบ กราบ กราบ |
เป็นที่น่ายินดียิ่ง ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้รับเมล์จากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ซึ่งส่งต่อมาจากต้นเรื่องที่เป็นศิลปินแห่งชาติ แนบรูปภาพที่ลงข้อความดังคัดลอกมาให้ด้านล่าง พร้อมกับอักษรตัวโตว่า "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ" ...ท่านยังได้ลงข้อความเพิ่มเติมไว้ว่า "ผมอ่านแล้วรู้สึก ตื้นตันใจ ชื่นใจ และภาคภูมิใจ ที่ได้เกิดใต้บรมโพธิสมภารของในหลวงที่รักยิ่งของเราชาวไทยครับ :-))" อ้างอิง:
กรุณาอย่านำข้อความเล่าเรื่องนี้ออกนอกเว็บ แม้ว่าข้อความจากการเสวนานั้น เห็นว่ามีการเผยแพร่กันแล้วก็ตาม |
ท่านผู้บริหารระดับสูงท่านที่กล่าวถึงนี้ ท่านมีความสามารถด้านภาษาเป็นอย่างยิ่ง
ดังที่ได้มีโอกาสอ่านร้อยกรองไพเราะยิ่ง ที่ท่านแต่งอยู่เนือง ๆ แต่ไม่เป็นสาธารณะ คราวหนึ่งเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ท่านส่งข้อความประกอบข้อมูลข่าวสารในงาน มาถึงพวกเรา "ช่วงนี้ ประเทศที่รักของเรามีการพูดถึงเรื่องปรองดองอย่างแพร่หลาย มีทั้งการตั้งคณะกรรมการศึกษาและมีสถาบันชั้นนำของประเทศออกผลงานวิจัย ผมก็ขอส่งกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต่างสามารถบรรลุผลเพื่อความสมานฉันท์ของพวกเราชาวไทยสืบไป อนึ่ง ผมนึกถึงคำสอนแสนเรียบง่าย ที่บรรพบุรุษของเราสอนลูกหลานให้รู้จักรักกันนาน ๆ คือ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ Love lasts long, Only if you chop what is wrong. Love lasts short, When you prolong a scathing retort. (ผมถอดความเป็นภาษาอังกฤษเองครับ) เห็นไหมครับ บรรพบุรุษของเราสุดยอดมาก ๆ ผมภูมิใจบรรพบุรุษของชาวไทยเราจัง :-))" หมายเหตุ : กรุณาอย่านำข้อความนี้ออกนอกเว็บ (ไม่ได้ขออนุญาตนำลงเป็นทางการ) |
ตั้งแต่มีการใช้เฟซบุ๊กกันอย่างแพร่หลาย ก็ได้รับข้อธรรมจากเพื่อน ๆ แต่ละวันหลากหลาย จากต่างกลุ่ม
เลือกสรรจากที่ต่าง ๆ หรือแบ่งปันข้อคิดส่วนตัวบ้าง ทั้งที่ซ้ำ และไม่ซ้ำ อ่านทันบ้าง อ่านไม่ทันบ้าง ขอขมาข้ามไปบ้าง... ทำให้กระทู้นี้ดูจะเงียบเหงาไป ทีแรกก็ว่าจะเล่าถึงที่ทำงานจัดกิจกรรมบุญให้พนักงานได้ใส่บาตรทุกเดือน มีการสวดมนต์ และปฏิบัติพระกรรมฐานทุกสัปดาห์ ล่าสุด เช่นเดียวกับปีที่แล้ว คือจัดอุปสมบทหมู่ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ปีนี้ฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ด้วย... กลุ่มแรกบวชประมาณ ๒ สัปดาห์ แยกเป็นกลุ่มที่ ๒ ไปปฏิบัติธรรมต่ออีกประมาณ ๑ สัปดาห์ ...วันนี้ได้รับคลิปจากเพื่อนที่โรงเรียน ชอบใจมากเป็นทำนองสรภัญญะ จึงเอามาฝากไว้ให้ฟังกันที่นี่ |
1 Attachment(s)
เนื่องมาจากได้นิทานเซนน่าอ่านมา ๔ เรื่องจากกิจกรรมเจริญปัญญาของที่ทำงาน
เห็นว่ามีกระทู้นิทานเซนโดยเฉพาะ จึงนำไปลงไว้ เมื่อลงครั้งแรก กระทู้ขึ้นปกติ แต่เมื่อปรับรูปแบบเสร็จ จึงลงเป็นกระทู้ที่สองแล้วจะลบกระทู้แรกทิ้ง ปรากฏข้อความให้ติดต่อผู้ดูแล และกระทู้ก็ไม่ขึ้นมาอีก จึงขอนำมาลงไว้ที่นี้แทน... แล้วแต่ผู้ดูแลจะจัดหมวดหมู่ภายหลัง http://www.watthakhanun.com/webboard...0&d=1351151262 《神师解梦》 นิทานเซน - อาจารย์เซนทำนายฝัน ยังมีบัณฑิตผู้หนึ่ง เดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อหวังเข้าร่วมการสอบจอหงวน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว โดยในระหว่างที่รอเวลาสอบ ได้ขออาศัยอยู่ที่วัดเซนแห่งหนึ่ง ทว่าในคืนก่อนสอบ เมื่อบัณฑิตล้มตัวลงนอนหลับไป เขาได้ฝันถึงเหตุการณ์สามเหตุการณ์ดังนี้ ความฝันที่หนึ่ง คือ เขาปีนขึ้นไปปลูกผักกาดขาวอยู่บนกำแพง ความฝันที่สองคือ ในฝันฝนตก ส่วนเขาก็สวมงอบทั้งยังกางร่มอีกหนึ่งคัน ความฝันสุดท้ายเขานอนอยู่คู่กับหญิงสาวที่แอบรัก ทั้งสองเปลือยเปล่าแต่กลับนอนหันหลังชนกัน เมื่อตื่นขึ้นมา ความฝันทั้งสามเรื่องรบกวนจิตใจ จนบัณฑิตหนุ่มต้องรีบไปหาหมอดู เพื่อให้ช่วยทำนายความฝัน ไขปริศนาให้กระจ่าง เมื่อหมอดูได้ทราบเรื่องราวความฝันทั้งหมดก็กล่าวอย่างมั่นใจว่า "พ่อหนุ่มจงเดินทางกลับบ้านไปเถิด การสอบครั้งนี้คงไม่ราบรื่น เจ้าลองคิดดูว่าการปลูกผักบนกำแพงย่อมไม่เห็นผล มิใช่เสียแรงเปล่าดอกหรือ ? ส่วนการใส่งอบแล้วยังกางร่มก็เป็นการทำสิ่งที่เกินความจำเป็น และการได้นอนคู่กับหญิงสาวที่รักแต่กลับหันหลังให้กันนั่นก็หมายถึง อยากกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่กลับไร้ซึ่งความหวังนั่นเอง" เมื่อฟังคำทำนายจบ บัณฑิตหนุ่มหมดอาลัยตายอยาก คือว่าความฝันทั้งสามเรื่องคงเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าถึงผลการสอบจอหงวนของตน สุดท้ายจึงเดินทางกลับวัดเซน เพื่อเก็บข้าวของเตรียมตัวกลับบ้าน เมื่อมาถึงวัด บัณฑิตหนุ่มบังเอิญได้พบกับอาจารย์เซน จึงถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง ทั้งยังกราบลาอาจารย์เซน ทว่าอาจารย์เซนกลับกล่าวตอบอย่างแย้มยิ้มว่า "ข้าเองก็สามารถทำนายฝันได้เช่นกัน แต่กลับเห็นว่าความฝันของเจ้าต้องตีความดังนี้ ความฝันแรกการได้ปีนขึ้นไปปลูกผักบนกำแพงสูง ย่อมหมายถึงเจ้าจะสอบติดในตำแหน่งสูง (คำว่า 种 ที่แปลว่า "ปลูก" พ้องเสียงกับคำว่า 中 ที่แปลว่า "ได้สำเร็จ") ความฝันต่อมาการสวมงอบกางร่มก็หมายถึง การสอบครั้งนี้เจ้าได้เตรียมตัวมาอย่างดีไม่มีทางพลาด และ ความฝันสุดท้าย การนอนเปลื้องผ้าหันหลังชนกับหญิงที่แอบรัก มิใช่แปลว่า เพียงแค่พลิกตัวความสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อมหรอกหรือ ?" บัณฑิตหนุ่มได้ฟังก็เห็นว่าการทำนายฝันของอาจารย์เซนก็มีเหตุผล สุดท้ายจึงตัดสินใจรั้งอยู่เพื่อเข้าร่วมการสอบ และผลออกมาปรากฏว่าเขาทำสำเร็จ สอบติดในตำแหน่ง "ท่านฮวา" (ชื่อตำแหน่ง ของผู้ที่สอบเข้ารับราชการติดในลำดับที่ ๓ ของประเทศ) ปัญญาเซน : ความฝันเดียวกันแต่ตีความได้ผิดแผก สาเหตุเกิดจากสภาวะจิตใจที่แตกต่าง ความกระตือรือล้นและการมองโลกในแง่งามจะเป็นตัวผลักดันพฤติกรรม ให้เลือกกระทำในสิ่งซึ่งนำความสำเร็จมาสู่ตน |
นิทานเซน - ตรรกะในการใช้ชีวิต
1 Attachment(s)
อีกเรื่องจากกิจกรรมเจริญปัญญาของที่ทำงาน
ขอนำมาลงไว้ที่นี้... แล้วแต่ผู้ดูแลจะจัดหมวดหมู่ภายหลัง http://www.watthakhanun.com/webboard...0&d=1351248645 《勿念窃生》 นิทานเซน - ตรรกะในการใช้ชีวิต มีชายหนุ่มผู้หนึ่งสวมเสื้อผ้าเก่าขาด ท่าทางเฉื่อยชา เอาแต่นั่งทอดหุ่ยปล่อยให้แสงแดดโลมเลียร่างกาย สลับกับหาวหวอด ๆ เป็นระยะ เมื่ออาจารย์เซนเดินผ่านมาพบคนผู้นี้เข้า จึงเกิดความประหลาดใจจนต้องเอ่ยถามว่า "พ่อหนุ่ม อากาศดี ๆ ในฤดูกาลที่นาน ๆ จะเวียนมาถึงเช่นนี้ เหตุใดเอาแต่มานั่งเปล่าประโยชน์ ไยไม่ไปลงมือทำสิ่งที่ต่าง ๆ ควรทำ เจ้าไม่เสียดายช่วงเวลาดี ๆ เช่นนี้หรอกหรือ ?" ชายหนุ่มถอนใจครั้งหนึ่ง พลางตอบว่า "บนโลกใบนี้ นอกจากร่างกายแล้ว ไม่มีสิ่งใดเป็นของข้าสักอย่าง เช่นนั้นไยต้องสิ้นเปลืองแรงกายแรงใจไปกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยเล่า ?" "เจ้าไม่มีบ้านหรือ ?" อาจารย์เซนถาม "ไม่มี หากมีบ้านก็ต้องเป็นภาระคอยดูแล เช่นนั้นไม่ต้องมีเสียเลยดีกว่า" ชายหนุ่มตอบ "เจ้าไม่มีคนที่เจ้ารักหรือ ?" อาจารย์เซนถามต่อ "ไม่มี หากมีคนรัก เมื่อหมดรักก็กลายเป็นความเกลียดชัง สู้ไม่มีเสียเลยดีกว่า" ชายหนุ่มว่า "แล้วมิตรสหายเล่า มีหรือไม่ ?" อาจารย์เซนไม่ละความพยายาม "ไม่มี เมื่อมีเพื่อน สักวันก็ต้องสูญเสียเพื่อน แล้วจะมีไปทำไม" ชายหนุ่มท้วง "เจ้าไม่คิดจะทำงานหาเงินบ้างหรือ ?" อาจารย์เซนยังคงถามต่อไป "ไม่คิด ได้เงินมาสุดท้ายก็ต้องจับจ่ายออกไป เช่นนั้นไยต้องไปสิ้นเปลืองพลังงานหามาตั้งแต่ต้น" ชายหนุ่มกล่าวแย้ง "อ้อ" สุดท้ายอาจารย์เซนพยักหน้ารับรู้ แต่ยังคงกล่าวว่า "ท่าทางข้าต้องรีบไปหาเชือกมามอบให้เจ้าสักเส้นหนึ่งแล้ว" "เหตุใดต้องมอบเชือกให้ข้า ?" ชายหนุ่มถามด้วยความสงสัยใจ "ให้เจ้าผูกคอตาย" อาจารย์เซนตอบ ชายหนุ่มได้ยินก็ถามกลับไปด้วยความโมโหว่า "ท่านอยากให้ข้าตายหรืออย่างไร ?" อาจารย์เซนจึงตอบว่า "ถูกแล้ว เพราะคนเราทุกคนล้วนต้องตาย หากคิดตามตรรกกะของเจ้า ในเมื่อสุดท้ายต้องตายแล้วคนเราจะเกิดมาทำไม และหากเป็นเช่นนั้น ก็แปลว่าการมีชีวิตมีตัวตนของเจ้าในวันนี้นับเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ด้วยเช่นกัน ก็ในเมื่อเปล่าประโยชน์แล้ว ไยไม่รีบผูกคอตายไปเสียเลยเล่า ?" |
อ้างอิง:
จากวันที่ไปกราบหลวงพ่อวิชาครั้งนั้น ถึงวันนี้ประมาณ ๓ ปีแล้ว โดยที่ได้ไปกราบท่านเป็นครั้งคราวเสมอมา ไม่ถี่นัก มานึกทบทวนว่าเราได้มีความก้าวหน้าในข้อธรรมใดที่ท่านเมตตาสั่งสอนบ้างหรือไม่ ? ...ขอเก็บคำตอบของคำถามนี้ไว้กับตัวเอง จะเล่าเรื่องที่ได้กราบรับมาจากกัลยาณมิตร ดังที่พระอาจารย์เคยบอกไว้ว่าผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นกัลยาณมิตรได้นั้น เห็นจะมีก็แต่ครูบาอาจารย์เท่านั้น ทั้งนี้ ขอไม่กล่าวอ้างนามท่านทั้งหลาย แต่เพียงจะเล่าถึงเนื้อหาที่ตัวเองได้ข้อพระธรรมมา เป็นบางส่วน โดยย่อ... เรื่องเกิดขึ้นเนื่องจากที่เราพยายามจะถวายยารักษาโรคแก่ครูบาอาจารย์ที่เคารพด้วยความเป็นห่วง และได้ไปกราบเรียนหารือเรื่องยากับหลวงพ่อวิชา หลวงพ่อเมตตาให้ข้อแนะนำเรื่องการถวายยาและอุปสรรคการรักษา ท่านว่าเป็นกรรมของครูบาอาจารย์ท่านนั้น แล้วให้ข้อพระธรรม โดยเริ่มจากประโยคที่ว่า "จะทุกข์ไปทำไม ไม่เห็นจะได้บุญตรงไหนเลย !!" เมื่อกราบเรียนถามว่าจะไปกราบขอความช่วยเหลือจากครูบาอาจารย์อีกท่านหนึ่งได้หรือไม่ ท่านว่าไม่ใช่ไปขอความช่วยเหลือ แต่ให้ช่วยเหลือท่าน ท่านให้ทำอย่างไรก็ให้ทำตามท่าน แม้หลวงพ่อจะเมตตาให้รายละเอียด และบอกให้อ้างหลวงพ่อได้ว่ายามาจากท่าน อีกทั้งบอกว่าครูบาอาจารย์ท่านที่จะไปกราบหารือนี้รู้จักหลวงพ่อ... วัด... นี้ และบอกให้จดบันทึกไว้อ้างอิง เมื่อกราบเรียนถามว่า จะถวายวัตถุมงคลเพื่อกำจัดโรคกำจัดอาการป่วยได้หรือไม่ คำตอบคือ "ทุกข์เนาะ !!!" หลังจากนั้น เมื่อเรามีโอกาสได้กราบเรียนหารือครูบาอาจารย์ท่านที่ตั้งใจแล้ว ท่านเมตตาให้ใช้เวลากับเรื่องนี้นานพอสมควร ทั้งลงรายละเอียดอุปสรรคต่าง ๆ และเรามีโอกาสเล่าเรื่องที่ได้กราบรับพระธรรมมาจากหลวงพ่อดังข้างต้น ท่านว่า "ที่จริงเรื่องนี้ เป็นเรื่องความละเอียดของใจนะ" ...จึงได้แต่กราบเรียนว่า "ทราบว่าใจยังหยาบอยู่มาก จะพยายามฝึกฝนให้ละเอียดขึ้นโดยเร็วเจ้าค่ะ" |
เหตุเกิดเมื่อวานนี้ หลังจากที่เรากลับมาจากวัดท่าขนุน...
โทรศัพท์มือถือเต็มไปด้วยข้อความในไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนนักเรียนที่ตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมารวมสมาชิกทั้งรุ่นที่โรงเรียน ...เพื่อน ๆ คุยกันเป็นปกติ วันละหลายข้อความ คุยเล่นกันบ้าง นัดกันบ้าง ลงรูปที่นัดกันบ้าง ส่วนใหญ่ก็ไปกินอาหารเพื่อสังสรรค์กัน เราก็คอยเข้าไปลบ อ่านทันบ้างไม่ทันบ้าง... ล่าสุดเพื่อนกลุ่มย่อยไปกินอาหาร ดูพระอาทิตย์ตกริมทะเลกัน ถ่ายรูปพระอาทิตย์ตก นกที่กำลังบินกลับรัง รูปเพื่อน ๆ ต่างทำท่านั้นท่านี้ เป็นที่สนุกสนานประสาคนวัยกำลังเกษียณ มีเพื่อนคนหนึ่งมาร่วมคุยด้วย โดยลงข่าวชาวอินเดียที่มีเมีย ๓๙ คน ลูก ๙๔ คน และหลาน ๔๗ คน ในข่าวว่าหัวหน้าครอบครัวมีฐานะดี มีบ้านให้อยู่ด้วยกันทั้งหมด ๑๘๑ คน และเลี้ยงดูครอบครัวใหญ่นี้ได้ เพื่อนที่ลงข่าวจึงแซวเพื่อนอีกคนหนึ่งว่า '<เพื่อน๑> น่าไปสมัครเป็นเมียคนที่ ๔๐ นะจ๊ะนี่ ท่าจะรุ่ง' <เพื่อน๑> ตอบขอบคุณ แล้วว่า 'ชาติหน้าก็แล้วกัน' ทันใดนั้น มีเพื่อนแทรกแซงเข้ามาเป็นมือที่สาม พร้อมคำถามเด็ด... 'นี่หวังจะเกิดอีกหรือคะ <เพื่อน๑> ขา' ...สิ้นสุดเรื่องเล่านี้... อันเนื่องมาจากกัลยาณมิตร |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:45 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.