![]() |
"ที่ไปสอนในมหาวิทยาลัย เรื่องวิชาการใคร ๆ ก็สอนได้ แต่ที่ไปนี่คือไปกระตุกจิตสำนึกของท่าน ก่อนที่จะจบคอร์สก็มักจะบอกท่านเสมอว่า “พวกท่านเป็นพระ เป็นเณร ถ้าไม่สามารถทำให้ศาสนาเจริญได้ด้วยตัวเอง ก็อย่าทำให้ศาสนาเสียหายเพราะตัวเราเลย”
ครูต้องเป็นแบบอย่างเขาได้ แล้วคราวนี้การที่จะรักษาแบบอย่างนั้นเหนื่อย หลายวัดพระเณรไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย เพราะว่าตัวครูบาอาจารย์ปล่อยปละละเลย สั่งว่าต้องทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น สั่งแล้วก็ปล่อยเขาทำกันเอง คนที่ขยันก็มา คนที่ขี้เกียจก็ไม่มา ของวัดท่าขนุนทำวัตร ๓ รอบ ทำวัตรเช้า ๑ รอบ ทำวัตรเย็น ๒ รอบ ปกติก่อนหน้านี้ก็ทำวัตรเย็นรอบเดียว คราวนี้ก่อนทำวัตรเย็นจะมีพระใหม่ไปซ้อมสวดมนต์กัน พออาตมาเป็นเจ้าอาวาสก็ไปนั่งฟังว่าท่านสวดกันถูกไหม ? ถ้าผิดจังหวะหรือว่าผิดอักขระจะได้ช่วยแก้ไข ปรากฏว่าพอเจ้าอาวาสไปนั่ง บรรดาพระเก่าก็ตูดร้อน ทนไม่ได้ก็ต้องมาด้วย ไป ๆ มา ๆ ก็มากันหมดทั้งวัด เลยกลายเป็นทำวัตรเย็น ๒ รอบ รอบแรกเป็นการซ้อม รอบหลังค่อยเอาจริง" |
"คนจะเป็นผู้นำเขาต้องประเภทตื่นก่อนนอนทีหลัง ตอนไปยุโรปก็เหมือนกัน บรรดาพระด้วยกันบอกว่า ไม่เคยทันหลวงพ่อเล็กเสียที ตี ๓ แกหายออกจากห้องไปแล้ว ก็คือไปแล้วก็ต้องไปดูให้คุ้ม ว่าบ้านเมืองของเขาเป็นอย่างไร บางทีเดินไปก็สวนกับคุณโอเล่ ต่างคนต่างถือไปกล้องคนละตัว เพราะนัดกันไว้ว่า ๗ โมงเจอกันที่ห้องอาหาร"
|
ถาม : ใครมาเขียนซองสร้างพระทองคำ ๕๐ ศอกครับ ?
ตอบ : ตั้งชาติหนึ่งแล้ว ตอนนั้นเขาเขียนส่งมาให้ก็โยนคืนไปแล้ว มีปัญญาก็ไปสร้างเองสิ พระพุทธรูปทองคำหน้าตัก ๕๐ ศอก ใครไปสร้างไหว ? ยกเว้นพระเจ้าจักรพรรดิ ถาม : ไม่แน่ใจว่าใช่ผมหรือเปล่า ? ตอบ : ไม่ต้องห่วงหรอก ตอนนั้นอาตมาอ่านเจอก็โยนคืนเจ้าของไปแล้ว ถ้าไม่ได้โยนใส่หน้าคุณก็ไม่ต้องไปคิดหรอกว่าเป็นของตัวเอง ต้องบอกว่าเป็นประเภทไม่หาข่าว จะเอาบุญแบบไม่ลืมหูลืมตาอย่างเดียว "กูจะสร้างพระพุทธรูปทองคำ ๕๐ ศอก" ก็ไปสร้างเองสิ ซองนั้นนานเป็นปีแล้ว มาขอดูซองตอนนี้ก็มีแต่ตีนให้ดู...! คนทองผาภูมิเขาว่าอาจารย์เล็กดุกว่าหมาอีก อย่ามาผิดจังหวะเท่านั้น มาผิดจังหวะเจอแน่ ถ้ายิ่งตอนกำลังฉันอยู่ มาบอก "ขอเวลา ๕ นาที" ไม่ถึง ๕ นาทีหรอก เปรี้ยงเดียวนี่ไม่ถึงวินาทีด้วย...! พระกำลังฉันอยู่ ธุระรีบขนาดไหนก็ให้รู้จักรอบ้างสิ เขาบอก "ไม่เป็นไรครับ ขอเวลา ๕ นาที" "ไม่เป็นไรของมึง..แต่กูเป็น..!" ญาติโยมเคยชินกับการเห็นพระเป็นทาส ถึงเวลาไปต้องการอย่างไรต้องได้อย่างนั้น หารู้ไม่ว่ากำลังหาบาปใส่ตัวอยู่ ถ้าไม่ด่าเขาให้หูตาสว่างก็จะไปทำกับพระอื่นอย่างนั้นอีก ก็จะสร้างกรรมใส่ตัวไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น..อาตมายอมเป็นคนปากร้าย คนประเภทนี้อย่าให้เข้ามาในวัดของเราได้ยิ่งดี |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ช่วงเข้ากรรมฐาน ๓ วันเหมือนอย่างกับโดนทดสอบอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้ว่าจะสอบไปทำไม ? หมาตัวผู้ติดตัวเมียแล้วมากัดกันรอบกุฏิทั้งวันทั้งคืน คือตัวเมียอยู่บริเวณนั้น ตัวผู้ทั้งหมดก็มาระดมกันอยู่รอบกุฏิเจ้าอาวาส เท่ากับบังคับให้ต้องเข้าสมาธิหนี เข้าไปเข้ามาก็รู้สึกแปลก ๆ เพราะโดยปกติจิตกับประสาทจะแยกออกจากกัน ไม่ได้หมายความว่าจิตแยกจากกาย แต่คราวนี้จิตกับกายเหมือนกับแบ่งเป็นคนละมิติ ไม่ได้ถอดจิตออกไป แต่กลายเป็นจิตส่วนจิต กายส่วนกาย อยากจะได้ยินก็ได้ อยากจะไม่ได้ยินก็ได้ ยังงง ๆ อยู่เหมือนกัน ขอไปคลำอีกสักพักหนึ่งว่าคืออะไรกันแน่
ปกติถ้าจิตประสาทแยกจากกัน ก็จะตัดไปเลย จนกว่าสมาธิคลายออกมารับรู้อีกที ถึงจะได้ยินใหม่ คราวนี้เป็นจิตส่วนจิต กายส่วนกาย" |
ถาม : ทำไมพวกเป็นทิพย์จึงไม่ได้ยินเสียงตอนเรากรวดน้ำ หรือเทวดาไม่ได้สนใจเสียงมนุษย์ ?
ตอบ : เปรียบเทียบกันไม่ได้ ผีไม่ได้ยินเสียงกรวดน้ำเพราะกรรมบัง ส่วนเทวดาไม่ได้สนใจในมนุษย์ เพราะเขาเพลินอยู่กับความเป็นทิพย์ เหมือนกับคนใช้โทรศัพท์ อยากจะได้ยินก็โทรไป คือเขาต้องตั้งใจกำหนดใจก่อนถึงจะรู้ได้ |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ปัญหาส่วนใหญ่ของการเรียนระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ก็คือนิสิตรับแรงกดดันไม่ได้ การเรียนระดับนี้ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ที่ปรึกษาจะไม่มีเวลาให้ เราทำงานแทบเป็นแทบตายบางทีท่านไม่ทันจะดูก็ผลักกลับมาให้ไปแก้ใหม่เลย เส้นตายก็ใกล้เข้ามา งานก็ให้แก้แล้วแก้อีกอยู่นั่นแหละ เครียดมาก ๆ จนบางคนนั่งร้องไห้
หลายท่านเขาว่าการเรียนของไทยยากกว่าเยอะ ต่างประเทศเวลากำหนดหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ ก็เข้าห้องสมุดค้นคว้า ได้งานมา วิเคราะห์ออกมาเสร็จสรรพ พอนำเสนองานได้ก็จบแล้ว ส่วนบ้านเราเรียนแล้วเรียนอีก แถมยังต้องทำวิทยานิพนธ์ และแก้กันไม่รู้จักแล้วจักเลิก" |
ท่าน Gembo Dorje พระระดับสมเด็จพระราชาคณะของภูฏานมาเยี่ยม พระอาจารย์กล่าวว่า "ทางด้านภูฏานเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ เนื่องจากว่าระบบการบริหารบ้านเมืองเน้นความสุขของชาวบ้าน แทนที่จะเน้นในเรื่องของผลผลิต ต้องบอกว่าประชาชนมีความสุขมากที่สุดในโลก เพราะเอาหลักธรรมของพุทธศาสนาไปปฏิบัติในชีวิตจริง เรียกว่าคนภูฏานเป็นคนรู้จักพอ จึงมีความสุขมาก"
|
ถาม : การที่เมตตาผู้อื่น ถือว่าเป็นกิเลสหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : การเมตตาต่อคนอื่น ต้องดูว่าเราเมตตาแล้วหวังผลหรือเปล่า ? ถ้าเมตตาแล้วหวังผล ก็เจือไปด้วยกิเลส จะเป็นรัก โลภ โกรธ หลง แทรกเข้ามา ถ้าเมตตาโดยไม่หวังผล รู้ว่าบุคคลนี้ เรารักเขาเสมอตัวเรา เราต้องการความสุขเกลียดทุกข์อย่างไร คนอื่นก็ต้องการสุขเกลียดทุกข์อย่างนั้น ดังนั้น..เราเองก็ต้องกระทำแต่สิ่งที่ดี ๆ พูดแต่สิ่งที่ดี ๆ คิดแต่สิ่งที่ดี ๆ กับเขา ถ้าในลักษณะอย่างนี้ก็จะไม่เป็นกิเลส แต่ถ้าหากว่าเมตตาโดยหวังผล เราสงเคราะห์เขา เขาจะต้องยกย่องเชิดชูเรา เป็นบริวารเรา มากราบไหว้เรา อย่างนั้นก็แทรกไปด้วยกิเลสเต็ม ๆ เลย |
ถาม : ความเมตตาที่เจือไปด้วยกิเลส จะได้อานิสงส์หรือเปล่า ?
ตอบ : ได้อยู่...แต่ว่าความหลุดพ้นจะเกิดได้ยาก คืออานิสงส์ของความเมตตาอย่างน้อย ๆ ก็จะทำให้ตนเองมีศีลโดยอัตโนมัติ ก็แปลว่าความดีขั้นต้นเราได้ แต่ก็จะไปได้ไม่เกินนี้ |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ปัจจุบันนี้วัดที่เป็นสาขาท่าขนุนจริง ๆ มี ๖ วัด กำลังจะเริ่มมีวัดที่ ๗ เขาให้หาเจ้าอาวาสให้หน่อย ชื่อวัดนพเก้าทายิการาม อยู่ทางบ้านไร่ของทองผาภูมิ ไม่ใช่บ้านไร่ของอุทัยธานี หรือบ้านไร่ของพระแท่นดงรัง กำลังถามความสมัครใจของพระอยู่ ส่วนใหญ่เขาอยู่กับอาตมาแล้วสบาย เขาไม่อยากออกไปเสี่ยง ประเภทไม่กล้า ต้องใช้คำว่าไม่มีขวัญและกำลังใจ
ตอนนี้สาขาของวัดท่าขนุนมี วัดพุทธบริษัท เกาะพระฤๅษี วัดหนองบ้านเก่า วัดห้วยน้ำขาว วัดประตูด่าน แล้วยังมีที่ออกไปด้านอีสานอีกเยอะ แต่ไม่ได้ตามไปดูแล เพราะไกลเกินไป" |
พระอาจารย์กล่าวกับท่าน Gembo ว่า "ปกติอาตมาดูแลอยู่ ๖ วัด วัดที่ ๗ กำลังจะมา ก็แปลว่าสิ่งที่รับ ๆ มาต้องกระจายออกไป
ของทางด้านประเทศไทยเรา คณะสงฆ์แบ่งการปกครองออกเป็น ๖ อย่าง อย่างที่ ๑ คือ การปกครอง เป็นไปตามลำดับชั้น สูงสุดคือสมเด็จพระสังฆราช ต่ำสุดคือเจ้าอาวาส อย่างที่ ๒ คือ การศึกษา มีศึกษาบาลี ศึกษาธรรมะ และศึกษาสายสามัญ เรียนลักษณะเดียวกับคนทั่ว ๆ ไป มีปริญญาตรี โท เอก แล้วก็มา อย่างที่ ๓ คือ ด้านการเผยแผ่ เมื่อศึกษาแล้วก็นำคำสอนไปสั่งสอนชาวบ้านเขาต่อ การเผยแผ่ของเราแบ่งเป็น ๒ สาย คือตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตามโรงเรียนต่าง ๆ ส่วนอีกสายหนึ่งเป็นสายวัดป่า ที่ฝึกปฏิบัติกรรมฐานโดยตรง เมื่อรู้จริงแล้วก็นำมาสั่งสอนชาวบ้าน อย่างที่ ๔ คือ งานด้านสาธารณูปการ เกี่ยวกับการก่อสร้างภายในวัด ดูแลของเก่า สร้างเสริมของใหม่ อย่างที่ ๕ คือ ด้านสาธารณสงเคราะห์ ไม่ว่าชาวบ้านจะลำบากยากจน เกิดอุบัติภัยอะไร ก็ไปช่วยเขา เป็น public อย่างที่เอากฐินไปทอดที่เนปาลก็คือส่วนสาธารณสงเคราะห์ ไปช่วยที่เขาเกิดภัยแผ่นดินไหว อย่างที่ ๖ คือ ศึกษาสงเคราะห์ ช่วยการเรียนทั้งของพระเณร และฆราวาสทั่วไป มีการให้ทุนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาสจะได้ทุนการศึกษาจากทุกวัด เป็นหน้าที่ซึ่งคณะสงฆ์บังคับเลยว่า เจ้าอาวาสทุกรูปต้องทำงาน ๖ อย่างนี้ งานของทางด้านคณะสงฆ์ไทย จึงแบ่งเป็น ๖ ด้านชัด ๆ อย่างนี้เลย" |
"อย่างอาตมาปัจจุบันนี้ นอกจากเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ยังเป็นเจ้าคณะตำบล ปกครองในเขตตำบลนั้นทั้งหมด เป็น sub-district governor นอกจากการก่อสร้างก็ต้องดูแลช่วยเหลือ วัดต่าง ๆ ที่เขาเดือดร้อน ที่เขามาขอความช่วยเหลือ
เรื่องทุนการศึกษา ปัจจุบันนี้ทางวัดให้ประจำอยู่ ๘ โรงเรียน ปีหนึ่งก็ใช้จ่ายหลายแสนบาท ถ้ารวมทุนการศึกษาของพระก็หลายล้านบาท ปัจจุบันนี้เฉพาะวัดท่าขนุน ส่งเรียนปริญญาตรี ๗ ปริญญาโท ๙ ปริญญาเอก ๓ ค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละแสน ถ้าค่าเทอมออกก็ประมาณ ๘ แสนกว่าบาท นี่แค่วัดเดียวนะ ญาติโยมเขาเห็นว่าอาตมาทำงานจริง ๆ ก็เลยมาช่วยสนับสนุน มาช่วยทำบุญ มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่อาตมาสอนอยู่ มีการปฏิบัติธรรมของนักศึกษาทุกปี ปีละ ๑๐-๑๕ วัน แล้วแต่ระดับ ตรี โท เอก ปฏิบัติวิปัสสนา ๑๐-๑๕ วันต่อปี ส่วนใหญ่จะปฏิบัติต่อเนื่องกันในประมาณเดือนธันวาคม อาตมาต้องไปเป็นหัวหน้าวิปัสสนาจารย์ให้เขาทุกปี ประมาณช่วงเดือนธันวาคม" |
"ด้านของธรรมทูตจะมีสายปกครองเฉพาะของเขาอยู่ แต่ยังสังกัดอยู่ในส่วนการปกครองทั่วไป จะมีศูนย์พระธรรมทูตของแต่ละจังหวัด พระธรรมทูตจะมีการสอบเป็นรุ่น ๆ ถึงเวลาต้องไปอบรม ๓ เดือน ถ้าสอบไม่ผ่านจะไม่ได้พาสปอร์ต
งานด้านธรรมทูตตอนนี้ไปเจริญทางด้านยุโรป เฉพาะในยุโรปอย่างเดียวช่วง ๓ ปีที่ผ่านมามีวัดของเถรวาทเกิดขึ้นใหม่ ๒๑ แห่ง วัชรยานแบบของท่าน (Gembo) ในประเทศไทยมีอยู่ ๒-๓ แห่ง มาตั้งศูนย์ของตนเอง ส่วนใหญ่แล้วมาจากทิเบต ทางด้านกองงานพระธรรมทูตมีแผนการจะสร้างวัดสุวรรณภูมิ ที่จะเป็นศูนย์กลางของพระธรรมทูตทั้งหมด น่าจะอยู่แถว ๆ สนามบินสุวรรณภูมิ ตอนนี้เริ่มดำเนินการซื้อที่แล้ว วัดกำลังเริ่มสร้าง ต่อไปธรรมทูตต่างประเทศมาก็เข้าพักที่นั่นได้เลย คราวนี้ธรรมทูตสายต่างประเทศที่รับผิดชอบงานตรงนั้นคือท่านเจ้าคุณวีรยุทธ ที่เป็นหัวหน้าธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ท่านเจ้าคุณวีรยุทธหรือพระเทพโพธิวิเทศ เป็นหัวหน้าโครงการสร้างวัดสุวรรณภูมิ" |
ถาม : ในการเจริญสติปัฏฐานที่บอกว่า กายเห็นกาย เวทนาเห็นเวทนา ?
ตอบ : ใครสอนว่ากายเห็นกาย เวทนาเห็นเวทนา ? เขามีแต่กายในกาย เวทนาในเวทนา ในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนทั่วไป ท่านสอนชาวแคว้นกุรุ ซึ่งอาตมาเองฟันธงว่าเป็นมนุษย์ต่างดาวที่มาอยู่ในบ้านเรา ฉะนั้น..ปัญญาท่านจะสูงมาก ก็เลยนิยมในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งแบ่งออกเป็น กาย เวทนา จิต และธรรม ทั้งหมด ๔ หมวดด้วยกัน กายในกายท่านบอกว่า คนทั่ว ๆ ไป บางทีแม้แต่ร่างกายนี้ก็ไม่รับรู้ว่ามี ยกเว้นแต่เกิดอะไรขึ้นถึงได้รู้สึกว่ามีร่างกายนี้ ก็แปลว่าจิตใจมืดบอดมาก บุคคลที่มีสติ โดยศึกษาในมหาสติ จะรู้กายในกายของตน อันดับแรกก็คือลมหายใจเข้าออก ถ้าสามารถรู้ลมหายใจเข้าออก ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกาย ที่เรียกว่ากายในกาย ก็คือเป็นกายที่มองไม่เห็น ส่วนที่ ๒ ท่านให้ดูอิริยาบถคือการเคลื่อนไหว จะเป็นการเดิน ยืน นั่ง นอน อย่างที่ ๓ ท่านบอกให้ดูในสัมปชัญญะ คืออาการรู้ตัวว่าสภาพร่างกายของเราตอนนี้เป็นอย่างไร จะยืน จะนั่ง จะเหยียดแขน คู้แขน เหลียวหน้า เหลียวหลัง ปกติคนทั่ว ๆ ไปจะไม่รู้ถึงอาการเหล่านี้ เป็นการทำไปโดยอัตโนมัติ แต่คนที่ฝึกสติปัฏฐานมา จะรับรู้อาการทั้งหลายเหล่านี้โดยครบถ้วน ก็จะไล่ไปลักษณะอย่างนี้จนกระทั่งท้ายสุด ไปดูในเรื่องว่าเมื่อถึงความตายจะมีลักษณะต่าง ๆ กัน ๙ อย่าง จะได้เห็นว่าซากศพที่ตายคือกายภายนอก แต่ผู้รู้คือจิตอยู่ภายใน ท้ายสุดท่านจะสรุปว่า เราไม่ควรจะยึดอะไร ๆ ทั้งหมดในโลกนี้ ฝึกสติไปเพื่อให้เห็นในสิ่งที่คนทั่ว ๆ ไปมองข้ามเมื่อรู้เห็นสมบูรณ์พร้อม สติตั้งอยู่เฉพาะหน้า ถ้ารัก โลภ โกรธ หลงเข้ามา จะได้รู้เท่าทันและป้องกันได้ เรื่องของเวทนาก็เหมือนกัน โดยปกติของเราแล้ว เมื่อสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้น เราจะไปยินดียินร้ายทันที โดยที่ไม่รู้ว่าการที่เรายินดีก็ทำให้ยึดติด ยินร้ายก็ทำให้ยึดติด ปล่อยวางอาจจะเป็นเพราะปล่อยวางได้ หรือเป็นเพราะความรังเกียจเลยหมางเมินไป ทำอย่างไรจิตใจของเราจึงจะไม่ยึดติดในทั้งสุขทั้งทุกข์ และความไม่สุขไม่ทุกข์เหล่านี้ ต้องค่อย ๆ ดูไปทีละอย่าง เพราะว่าในเรื่องมหาสติกล่าวถึงธรรมที่เป็นส่วนละเอียด ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องข้างในมากกว่าข้างนอก ถ้าไม่มีพื้นฐานการปฏิบัติมาในระดับหนึ่ง พอไปตอนท้าย ๆ จะไม่รู้เรื่องเลย |
ถาม : อรูปฌานมีประโยชน์อย่างไรครับ ?
ตอบ : มีประโยชน์มหาศาลเลย แค่ได้ฌาน ๔ ก็เหลือเฟือที่จะตัดกิเลสแล้ว กำลังเพียงพอที่จะตัดกิเลส แต่ที่ฝึกอรูปฌานเพิ่มเพราะว่าสมัยก่อนมีบุคคลอยู่ส่วนหนึ่งที่แสวงหาความหลุดพ้น โดยเห็นว่าความทุกข์มีขึ้นเพราะมีรูปคือร่างกายนี้ แต่ไม่รู้วิธีในการละรูปที่แท้จริง ก็เลยละด้วยการทิ้งรูป กลายเป็นอรูปไป แต่ความจริงแล้วกำลังสมาธิเท่ากับฌาน ๔ นั่นเอง ถือว่าเดินผิดทางก็ไม่ได้ เพราะว่าถ้ารู้ความจริงแล้ว อาศัยที่กำลังสูง มีการพลิกแพลง พยายามที่จะทิ้งรูปนี้มาอยู่แล้ว โอกาสที่จะหลุดพ้นก็มีมากกว่า ถาม : อรูปฌานกำลังเท่ากับฌาน ๔ ? ตอบ : กำลังเท่ากับฌาน ๔ ถ้าไม่ได้ฌาน ๔ จะทำอรูปฌานไม่ได้ คำว่าทำไม่ได้ คือทำไม่สำเร็จ อาจจะได้ในเบื้องต้นนิด ๆ หน่อย ๆ ในลักษณะน้อมจิตคิดตามไป แต่ว่ากำลังไม่ถึงพอ ถาม : (ไม่ได้ยิน) ตอบ : อย่างเช่นว่าถ้าเกิดเวทนาขึ้นกับร่างกาย คนที่ได้อรูปฌานจะทิ้งร่างกาย ไม่สนใจ ปวดก็เหมือนไม่ปวด เจ็บก็เหมือนไม่เจ็บ หมออยากรักษาก็รักษาไป หายก็หาย ไม่หายก็ช่างมัน ถาม : (ไม่ได้ยิน) ตอบ : อยู่ที่ว่าเวทนาพอไหม ? ถ้าเวทนามากพอ บีบคั้นหนักก็ตาย แต่ว่าเราสามารถที่จะทิ้งเวทนาได้ คือเบียดเบียนเราไม่ได้ เพราะเขาไม่ใส่ใจในร่างกายนี้อยู่แล้ว |
ถาม : ตอนที่เราตายแล้ว เราก็จะไปตามกำลัง ?
ตอบ : ไปตามกำลังนั้น ยกเว้นว่าเราใช้กำลังนั้นไปในทางอื่นแทน โดยเฉพาะบุคคลที่ฝึกมาด้วยความคล่องตัวแล้ว ถึงเวลาจะรู้ว่าตัวเองจะตายในระหว่างฌานไหน ถ้าบุคคลที่ไม่คล่องตัวก็ไปตามกำลังที่ตัวเองได้ เหมือนอย่างกับคนรู้ว่าทางนี้เป็นทางที่ถูก ทางแยกมีหลายทาง แต่คนเคยเดินด้านนี้เป็นประจำก็เดินไปทางด้านนี้ ซึ่งอาจจะไปถึงแค่พรหมชั้นที่ ๑ - ๒ - ๓ อีกคนชำนาญด้านนี้เดินไปทางด้านนี้อาจไปถึงพรหมชั้นที่ ๔ - ๕ - ๖ บุคคลที่รู้ทางจริง ๆ อาศัยกำลังเดินไปในทางที่ถูกก็สามารถหลุดพ้นได้ ถาม : (ไม่ชัด) ตอบ : พิจารณาให้เห็นจริงว่าคุณกลัวหรือไม่กลัวก็ตายแน่ การที่เรากลัวตาย ส่วนใหญ่ก็เกิดจากความไม่พร้อม ความไม่พร้อมในที่นี้คือไม่พร้อมทั้งหมด ในเรื่องของทาน ของศีล ของภาวนา ถ้าเรามีการเตรียมพร้อม มีการพิจารณาให้เห็นว่าธรรมดาเป็นอย่างนี้ ทุกคนเกิดมาต้องการหรือไม่ต้องการก็ตายแน่ แต่ถ้าหากว่าเราตายในลักษณะของคนที่มีปัญญา คือต้องรู้จักเตรียมพร้อม คนที่เตรียมพร้อมก็เหมือนกับคนที่เตรียมตัวฟิตซ้อมอ่านหนังสือมาเต็มที่ ถึงเวลาเข้าสอบก็ไม่มีอะไรหวั่นไหว แต่คนที่ไม่พร้อม หนังสือหนังหาไม่อ่านเลย ก่อนจะเข้าสนามสอบก็เครียดไป ๗ วัน ๘ วัน ความเครียดก็คือกลัว ดูให้เห็นจริง ๆ ว่าคุณกลัวหรือไม่กลัวก็ตายแน่ แต่จริง ๆ ความตายไม่มีอะไรน่ากลัว เป็นการเปลี่ยนรูป เปลี่ยนขันธ์ไปตามบุญตามบาปที่เราสร้างมาเท่านั้น |
ถาม : การตัดกิเลสต้องใช้กำลังของฌานสี่หรือครับ ?
ตอบ : ปฐมฌานก็ตัดกิเลสบางส่วนได้แล้ว ถาม : (ไม่ได้ยิน) ตอบ : ก็คือฌาน ๔ นั่นแหละ เพียงแต่ว่าบุคคลที่มีความคล่องตัว สามารถจะแยกตอนท้ายออกมาว่าในระหว่างอุเบกขาและเอกัคคตายังมีระดับที่แยกออกได้อยู่ ถ้าคนไม่ละเอียดก็แยกไม่ได้ เหมือนบันไดสองขั้น ถือเป็นขั้นเดียวก็ก้าวข้ามไปเลย |
ถาม : พระโพธิสัตว์เป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ใช่หรือไม่ครับ ?
ตอบ : ท่านยังติดภารกิจอยู่ ในเมื่อใจยังติดภารกิจอยู่ ยังไม่สามารถที่จะหลุดพ้นได้ ถาม : เป็นเพราะว่าพระนิพพานเป็นเป้าหมายระยะสั้นหรือเปล่าครับ ? ตอบ : ต่อให้มีพระนิพพานเป็นที่หมาย แต่ใจท่านยังห่วงงานที่ได้ตั้งใจจะมาทำ ถาม : เทียบเท่ากับพระอริยเจ้าไหมครับ ? ตอบ : ถ้าหากศึกษาอารมณ์พระอริยเจ้า จะสามารถทำได้เทียบเท่าหรือละเอียดกว่า แต่กำลังใจสุดท้ายจะไม่ตัดจริง ๆ ถาม : ถ้ากำลังใจของท่านเทียบเท่าได้กับพระอนาคามีแล้ว จะลดลงมาได้หรือเปล่าครับ ? ตอบ : กำลังใจของพระโพธิสัตว์สามารถลดได้เสมอ ขึ้น ๆ ลง ๆ พูดง่าย ๆ คือว่าต้องมีความระมัดระวังที่จะรักษาอยู่เป็นปกติ ก็คือเหนื่อยยากกว่าพระอริยเจ้า เพราะพระอริยเจ้าท่านได้แล้วได้เลย สมมติว่าพระโสดาบันท่านสร้างบ้านอยู่บนหน้าผาสูง ๑๐ เมตร พอท่านเข้าบ้านไป ท่านก็นอนสบาย ส่วนเราตะกายหน้าผาขึ้นไป ๑๐ เมตร ไม่มีที่พักเลย ถ้าไม่เพียรออกแรงเกาะเอาไว้ก็ร่วง |
ถาม : แล้วที่ว่าพระโพธิสัตว์สามารถจะทรงปัญญาได้เท่ากับพระอริยเจ้า ?
ตอบ : สามารถเข้าถึงอารมณ์ได้เหมือนพระอริยเจ้าแต่กำลังใจไม่ตัด เหมือนกับว่าเราเดินเข้าไปในบ้านหลังนี้ สำรวจจนรู้ทั่วทุกซอกทุกมุมแล้ว แต่ยังไม่อยู่บ้านหลังนี้ ถึงเวลาก็ออกจากบ้าน เดินทางของเราต่อไป เป็นการเข้าถึงเหมือนอย่างกับเห็น แต่ยังไขว่คว้ามาไม่ได้เพราะไม่มีสิทธิ์ เนื่องจากตัวเองเป็นคนจำกัดสิทธิ์ของตัวเองไว้ |
ถาม : การเป็นพระโพธิสัตว์จะต้องเป็นมนุษย์เพื่อที่จะได้สร้างบารมีได้ง่ายหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : จะเป็นมนุษย์ จะเป็นสัตว์อะไรก็ตาม ก็สามารถสร้างบารมีได้ เป็นที่สังเกตได้ง่าย ๆ ว่า พระโพธิสัตว์ไม่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ จะเป็นผู้นำเสมอ ถ้าสร้างบารมีมาน้อย ก็เป็นผู้นำในหน่วยงานเล็ก ๆ ถ้าสร้างบารมีมามากก็เป็นผู้นำในหน่วยงานที่ใหญ่ขึ้น ถ้าอยู่ระดับอุปบารมีขั้นปลายจะเป็นผู้นำประเทศไปเลย ถ้าหากว่าเป็นสัตว์ก็เป็นจ่าโขลง จ่าฝูง อะไรประมาณนั้น เขามีกติกาอยู่ว่า พระโพธิสัตว์ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์หรือสัตว์ก็ตาม จะมีอัตภาพไม่เล็กไปกว่านกกระจาบ ไม่ใหญ่ไปกว่าช้าง เล็กเกินไปช่วงอายุสั้น สร้างบารมีไม่ทันก็ตายแล้ว ใหญ่เกินไปช่วงอายุยืนนาน ก็ลำบากในการสร้างบารมีในชาติต่อไป เพราะในแต่ละชาติอาจจะได้ทำงานอย่างเดียว อย่างต้น ๆ กัปอายุเกินแสนปี สัตว์ก็น่าจะอายุยืนใกล้เคียงนั้น |
ถาม : คนที่อยากจะช่วยสรรพสัตว์ แต่ไม่ได้อยากจะเป็นพระพุทธเจ้า ?
ตอบ : กติกาใช่อยู่แล้ว จะนับหรือไม่นับก็ตาม ถ้าคุณโดดเข้าไปเรียน ถึงเวลาก็ต้องไปตามหลักสูตรเขา คุณบอกว่าคุณไม่ต้องการจะไปเชียงใหม่ แต่โดดขึ้นรถสายเชียงใหม่แล้ว อย่างไรก็ไปถึง ถาม : ต้องโดดลงระหว่างทาง ? ตอบ : ไปหาทางลงระหว่างทางเอาเองแล้วกัน พระโพธิสัตว์ท่านไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหรอก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในวัฏสงสารอันยาวไกลไม่เห็นต้นเห็นปลายนี้ ขึ้นชื่อว่าคำว่าท้อ ไม่เคยปรากฏขึ้นในพระทัยเลย เดินหน้าอย่างเดียว |
ถาม : สมมติว่ามีทางเลือกอยู่สองทาง....(ไม่ชัด) ?
ตอบ : เราตัดสินใจแทนใครไม่ได้ ต้องยืนอยู่ตรงนั้นก่อนถึงจะตัดสินใจได้ เรื่องอย่างนี้สมมติไม่ได้ ถาม : ถ้าต้องการที่จะยกน้ำหนักร่วม ๑๐๐ กิโลกรัม..? ...(ไม่ชัด)... ตอบ : ถ้าคุณจะยกครั้งละกิโลกรัม คุณก็ยก ๑๐๐ ครั้งเท่านั้นเอง ก็ต้องขยันเกิด คราวนี้รู้หรือยังว่าทำไมท่านถึงขยันเกิด เกิดมาเพื่อยกใหม่ เอาเถอะ....อยากหรือไม่อยากก็มาจนป่านนี้แล้ว ไม่มีอะไรต้องตัดพ้อต่อว่าแล้ว เดินหน้าลูกเดียว อาตมาก็ไม่ได้อยาก เห็นหัวแถวไปก็ตามท่านไปเรื่อย ตามไปตามมา กติกาเกินแล้ว ประเภทคนขับรถ เคยได้ยินไหม ? ไปส่งเจ้านายเรียนมหาวิทยาลัย ก็เลยเรียนด้วย เรียนไปเรียนมาก็จบพร้อมกัน ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นเรื่องปกติเลย ส่งเจ้านายเรียน ท้ายสุดพระจบ ลูกศิษย์ก็จบด้วย |
ถาม : ในเรื่องสมาธิเราต้องนั่งนาน ๆ ใช่ไหมครับ ?
ตอบ : สมาธิไม่จำเป็นต้องนั่งเลยก็ได้ เพียงแต่ในอิริยาบถอื่น ๆ สภาพจิตของเราต้องมั่นคงเท่ากับตอนนั่ง ถ้าคุณรอนั่งอย่างเดียว กิเลสตีตายเลย กิเลสไม่ได้มาเฉพาะตอนนั่งนี่ แต่มาตลอดเวลาทุกวินาที ส่วนใหญ่ที่เราปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เพราะว่าพอเราเลิก เราก็ทิ้งเลย ไม่ได้เอากำลังที่เรานั่งสมาธิมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง สมมติว่าเรานั่ง ๑ ชั่วโมง แล้วเราก็ทิ้งไป หลังจากนั้นอีก ๒๓ ชั่วโมงของวันนั้นเราโดนกิเลสไล่ตีอยู่ตลอด ก็ขาดทุนย่อยยับอยู่ทุกวัน ฉะนั้น..ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมไม่ก้าวหน้า การทวนกระแสกิเลสเหมือนกับการว่ายทวนน้ำ เราว่ายทวนน้ำอยู่ ๑ ชั่วโมง แล้วปล่อยลอยตามกระแสน้ำไป ๒๓ ชั่วโมง แล้วจะเอาระยะทางที่ไหนมา เมื่อรู้ว่าผิดก็ทำใหม่ ถึงเวลาเลิกจากการนั่งสมาธิแล้ว สภาพจิตสงบสงัดจากกิเลสได้เท่าไร ถึงเวลาลุกจากที่นั่งไป ต้องประคับประคองจิตให้สงบสงัดจากกิเลสให้ได้แบบนั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แรก ๆ ไม่ถึงนาทีก็พังแล้ว แต่พอรู้แล้วว่าเราต้องทำแบบนี้ ก็ระมัดระวังประคับประคองไปให้มากขึ้น เป็น ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง หกล้มหกลุกไปเรื่อย ๆ วัน ๆ หนึ่งขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นร้อยเป็นพันครั้ง จนกระทั่งสามารถทรงได้ ๒ วัน ๕ วัน อาทิตย์หนึ่ง ครึ่งเดือน หนึ่งเดือน สภาพจิตที่เคยผ่องใส มีความสุขขนาดไหน ถึงเวลาเราจะรู้สึกว่า ทำไมเราไปทิ้งความสุข ปล่อยให้ความทุกข์เล่นงานเราอยู่ฝ่ายเดียว พอปัญญาเริ่มเกิดคราวนี้ก็จะรู้จักรักษาอารมณ์ใจของตัวเอง |
ถาม : ตอนนั่งกรรมฐาน ถ้าจิตทรงตัวระดับหนึ่ง ไม่ว่าทำกิจกรรมอะไรก็จะรวมตัวเป็นหนึ่งเหมือนกัน ?
ตอบ : ถ้ามีความคล่องตัวจริง ๆ ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถไหนก็สามารถเข้าถึงอารมณ์นั้นได้ จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ เราแค่ใช้สติไปประคองไว้เท่านั้น แต่ถ้ายังไม่ได้ระดับนี้ ก็ต้องพากเพียรตะเกียกตะกายอย่างหนัก ถาม : เวลาที่ไป...(ไม่ชัด).... เป็นสติเห็นหรือสมาธิเห็น ? ตอบ : จะเป็นสติเห็นหรือสมาธิเห็นก็ตาม ถ้าปัญญาไม่ยอมรับก็สักแต่ว่าเห็น แต่ถ้าเรายอมรับว่าแม้แต่สภาพจิตของเราเองก็ไม่เที่ยงเป็นปกติ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีแต่ความไม่เที่ยง เรายังต้องการอีกไหม ? ถ้าไม่ต้องการก็ควรแสวงหาความหลุดพ้น วิธีเข้าถึงความหลุดพ้นท่านบอกไว้แล้วในทุกตอนของมหาสติ ก็คือไม่ควรยึดติดอะไร ๆ ในโลกนี้ |
ถาม : พระโพธิสัตว์...(ไม่ชัด)
ตอบ : ปัญญาท่านมีมากกว่าด้วยซ้ำไป พระโพธิสัตว์ไม่ใช่ท่านไม่มีปัญญา ท่านสามารถที่จะคิดที่จะตรองเข้าถึงได้เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทุกอย่าง เพียงแต่สภาพจิตสุดท้ายไม่ตัดเท่านั้น บุคคลที่ทำถึง เข้าถึงแล้ว ไม่มีใครเขาทิ้งหรอก เพราะรู้ว่าทิ้งแล้ว โดนกิเลสตีจะทุกข์สาหัส ถ้าเข้าถึงได้ก็มีแต่ประคับประคองรักษาอารมณ์ไว้ ถึงพลาดไปก็ไม่เสียเวลาไปคร่ำครวญอยู่ตรงนั้น แต่ว่าตั้งหน้าตั้งตาทำใหม่เพื่อให้อารมณ์ใจทรงตัวอีกครั้ง ส่วนใหญ่พวกเราได้ครึ่งเดือน ได้หนึ่งเดือน พอถึงเวลากำลังใจพังโครมลงไป จิตตก สมาธิตก เราก็ไปคร่ำครวญเสียอกเสียใจ เสียดาย ตะกายไม่ขึ้นสักที เพราะมัวแต่นั่งร้องไห้อยู่ มีประโยชน์อะไร ? อยากพังก็พังไป เป็นปกติอยู่แล้ว อนิจจังไม่เที่ยง..ใช่ไหม ? เราก็ตั้งสมาธิแล้วเริ่มใหม่ คนที่หกล้มแล้วลุกเดินต่อไปเลย กับคนที่นั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้น ใครได้ระยะทางมากกว่ากัน ? ถาม : ถ้าเราใช้การอธิษฐานช่วย ? ตอบ : อธิษฐานเป็นความตั้งใจ ถ้าสักแต่ว่าอธิษฐานแล้วไม่ทำให้ได้อย่างที่ตั้งใจก็ไม่มีวันสำเร็จได้ ถาม : การที่เราบอกว่า ใช้อธิษฐานบารมีขอให้สิ่งที่เราตั้งใจนั้นสำเร็จ ? ตอบ : ถ้าหากว่าเรามีสิทธิ์ใช้ก็ใช้ไปไม่มีใครเขาว่า แต่ว่าเราต้องดูด้วย อาตมาเคยเปรียบเทียบว่ากระบอกน้ำนี้ เราขาดน้ำอยู่แค่นิดเดียวก็จะเต็มกระบอก เราอธิษฐานไปเราก็มีสิทธิ์ที่จะได้ แต่ถ้ามีน้ำอยู่ติดก้นอยู่หน่อยเดียว อธิษฐานให้ตายก็ไม่ได้หรอก เพราะว่าไม่เพียงพอ |
ถาม : สติปัฏฐานสี่ จริง ๆ คือเริ่มต้นที่....(ไม่ชัด)...?
ตอบ : คุณแปลผิดและบรรดานักเรียนบาลีก็แปลผิดกันทั้งนั้น เอกายโน เอกะ + อยนะ เอกะคือหนึ่ง อยนะคือทาง นี่เป็นหนทางสายหนึ่งใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ บางคนไปแปลว่าทางสายเดียว สรุปแล้วอย่างอื่นที่พระพุทธเจ้าเทศน์ไปก็ไม่มีประโยชน์ ปัจจุบันคนที่ศึกษาสายนี้ เหมือนอย่างกับพยายามที่จะยกตัวเองให้เหนือจากสายอื่น โดยพยายามเน้นว่าเป็นทางสายเดียวที่จะหลุดพ้นได้ เป็นความคิดโง่ ๆ ถ้าเป็นทางสายเดียวพระพุทธเจ้าจะเทศน์ไปทำไมตั้ง ๘๔,๐๐๐ อย่าง ? แปลผิดแล้วก็มั่วไปเรื่อย ดูในพระไตรปิฎกแล้ว มีแปลผิดความหมายหลายจุดเลย ถาม : การที่พิจารณาข้อกาย เวทนา จะเริ่มต้นจากสติ หรือสมาธิก็ได้ ? ตอบ : คุณสังเกตไหมว่ามหาสติปัฏฐานสูตร เริ่มต้นด้วยอานาปานสติ คือ ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าออกเป็นพื้นฐานของกรรมฐานทั้งปวง มหาสติปัฏฐานสูตร เฉพาะในส่วนของกายในกายแบ่งออกเป็น ๖ หมวด แต่ถ้าจะเอาจริง ๆ จาก ๖ หมวด สามารถกระจายออกเป็น ๑๔ หมวดได้ เพราะนวสีแยกออกเป็น ๙ อย่าง แต่ว่าทุกหมวดท่านลงท้ายเอาไว้ว่า เราไม่ควรจะยึดติดอะไร ๆ ในโลกนี้ แปลว่าคุณทำหมวดใดหมวดหนึ่งก็สามารถหลุดพ้นไปได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องศึกษาทั้งหมด เอาแค่ข้อเดียวก็พอ |
ถาม : มหาสติปัฏฐานสูตรกับสติสูตร ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : จริง ๆ แล้วเน้นเรื่องสติเหมือนกัน เพียงแต่คำว่ามหาสติปัฏฐานสูตร คือสูตรอันเป็นที่ตั้งใหญ่ของสติ กล่าวถึงเนื้อหาที่มากกว่า ก็เลยใช้คำว่ามหาสติ ส่วนสูตรอื่น ๆ ที่กล่าวถึงสติ ไม่มีเนื้อหามากมายขนาดนั้น เลยใช้คำว่าสติสูตรทั่วไป ไม่ใช้คำว่ามหา จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรแปลกหรอก แต่พวกเราส่วนใหญ่ทำอะไรเลยหัว ผมอยู่บนหัวตัวเองแต่เอื้อมมือเลยหัว จะไปตัดผมถูกได้อย่างไร ? ศึกษาตำราให้ศึกษาแต่พอสมควร เมื่อมีเหตุปัจจัยเพียงพอต่อการปฏิบัติธรรมแล้ว ให้เร่งทำไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราศึกษาไปไม่ได้ใช้งานก็เสียเวลาเปล่า การศึกษาท่านเรียกว่า ปริยัติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามี อลคัททูปริยัติ ศึกษาตำราเหมือนกับจับงูข้างหาง ก็คือศึกษาไปแล้วไม่ได้ปฏิบัติให้เกิดผลจริงจัง แถมยังเอาไปสอนคนอื่นผิด ๆ มีแต่จะเกิดโทษกับตัวเองเหมือนกับคนที่จับงูทางหาง มีแต่จะโดนงูแว้งกัด ไม่บาดเจ็บก็ตาย อย่างที่สองท่านเรียกว่า ภัณฑาคาริกปริยัติ ก็คือศึกษาเหมือนอย่างกับตนเป็นห้องคลังพัสดุ คือศึกษาทรงจำเอาไว้เพื่อถึงเวลาจะได้ถ่ายทอดต่อผู้อื่น สุดท้าย ก็คือ นิสสรณัตถปริยัติ ศึกษาเพื่อความหลุดพ้นของตน อย่างสุดท้ายจะได้ประโยชน์มากที่สุด |
ถาม : อย่างที่คนที่สมัยนี้จำเนื้อหาในพระไตรปิฎก แต่ยังทำไม่ได้ ?
ตอบ : ตำราเหมือนแผนที่ ถ้าเราถือแผนที่เอาไว้โดยไม่ยอมปล่อยไปไหนเลย ก็ไม่สามารถที่จะก้าวไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่าเหมือนต้นเสาข้างหลัง บอกว่าจะไปเชียงใหม่ ถ้าเรายืนกอดต้นเสาอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะไปเชียงใหม่ได้ ดังนั้น..ศึกษาให้รู้พอเป็นแนวทาง แล้วเริ่มลงมือปฏิบัติก็คือ เริ่มเดินทางเลย ถึงจะเกิดประโยชน์ การศึกษาในเรื่องของตำราต่าง ๆ ปัจจุบันนี้ที่เห็น ก็คือ ยึดติดว่าเราศึกษามามาก รู้มากกว่า แล้วยกเอาวาทะไปข่มคนอื่น หรือไม่ก็งัดข้อกันโดยที่ตนเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนยกมานั้นใช่หรือเปล่า คำว่าใช่หรือเปล่าคือใช่ของตัวเอง เพราะของพระพุทธเจ้าท่านใช่แน่ ๆ อยู่แล้ว แต่ว่าคุณยกมาสามารถใช้ได้เต็มที่หรือเปล่า ? เหมือนนักวิทยาศาสตร์เขาบอกว่า ปัจจุบันนี้เราใช้สมองไม่ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๗๐ เปอร์เซ็นต์เรายังเข้าไม่ถึง แต่ของพระพุทธเจ้าท่านเกิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไปนานแล้ว แล้วเราเองก็เอา ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของตัวเองว่าเราศึกษาจบแล้ว รู้เหมือนพระพุทธเจ้าแล้ว เอาไปนั่งเถียงกับคนอื่น ก็ตายสถานเดียว ตายอย่างน่าทุเรศด้วย เพราะตายแล้วอาจจะลงข้างล่าง...! เร่ง ๆ ทำไป ไม่ว่าคุณจะมาสายพระโพธิสัตว์ หรือสายสาวกภูมิก็ตาม ปฏิบัติไปแล้วเกิดผลดีต่อตัวเองทั้งสิ้น ถ้ามาสายพระโพธิสัตว์เร่งรัดปฏิบัติ หนทางที่เราจะไปเกิดต่อก็น้อยลง โอกาสที่จะเข้าถึงพระโพธิญาณก็มีมากขึ้น ถ้ามาสายสาวกภูมิ หนทางที่จะเวียนว่ายตายเกิดก็สั้นลง โอกาสที่จะล่วงพ้นทะเลทุกข์ก็มีมากขึ้น |
พระอาจารย์กล่าวว่า "พระพุทธเจ้าตรัสว่า อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง การทำงานต้องไม่คั่งค้างถึงจะเป็นมงคล ไม่อย่างนั้นดินพอกหางหมูมาก ๆ หมูก็เดินไม่ไหว อาตมาปล่อยพอกเป็นเดือนถึงจะได้เริ่มแตะสักที ปัจจุบันนี้ใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าจริง ๆ เพราะงานเยอะมาก ทั้งงานการปกครอง งานคณะสงฆ์ งานสอนหนังสือ ไหนจะต้องมาที่นี่เพื่อเจริญศรัทธาญาติโยม ก็ใช้วิธีว่าอะไรมาก่อนทำก่อน
อย่างช่วงนี้ทางมหาวิทยาลัยทวง มกอ. รอทวงไปก่อน เดี๋ยววันจันทร์ไปสอนแล้วจะนั่งทำให้ ตอนนี้ถ้ามัวแต่ไปคิดอยู่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะทำไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนทางด้านคณะสงฆ์อำเภอทวงประวัติพระอุปัชฌาย์ย้อนหลัง ๕ ปี คนอื่นย้อนหลัง ๕ ปีทำ ๕ หน้ากระดาษ ของอาตมาย้อนหลังปีเดียว ๑๕ หน้ากระดาษยังไม่หมดเลย แล้วมาให้ย้อนหลัง ๕ ปีว่าทำงานอะไรมาบ้าง ฉะนั้น..ก็รอไปก่อน รับสังฆทานต้นเดือนเสร็จจะไปทำให้" |
พระอาจารย์กล่าวว่า "เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม จัดงานเป่ายันต์เกราะเพชร ต้องบอกว่าทิ้งร้างมาเป็นปี ญาติโยมเลยแห่ไปเยอะมากเป็นพิเศษ ขนาดศาลาใหม่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีแล้วก็ยังไม่พอนั่ง เนื่องจากว่ามีอยู่ส่วนหนึ่งค่อนข้างจะเห็นแก่ตัว บอกให้ขยับก็ไม่ขยับ กูเอาที่ว่างสบาย ๆ ของกู ข้างหลังอัดกันอย่างกับปลากระป๋อง ข้างหน้าว่างจนตั้งวงเตะตะกร้อได้ก็มี เลยทำให้เห็นชัดว่า คนเราเข้าวัดเข้าวาไม่ได้ไปละกิเลสกันทุกคน อาตมาเคยเล็ง ๆ ไว้แล้วว่าแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกัน
ประเภทที่ ๑ หลงตามเพื่อนไป เพื่อนพาไปไม่ได้รู้จักหรอก ไปถึงยังมาถามอีกว่าหลวงพ่อท่านชื่ออะไร อาตมานี่นั่งเครียด เพราะดันมาถามอาตมาเอง...! ประเภทที่ ๒ ไปเพื่อให้ได้ชื่อว่าพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงรูปนี้เราก็ไปกราบมาแล้ว ไปเซลฟี่มาอวดเพื่อนแล้ว ประการที่ ๓ ไปเพื่ออยากได้หวย พวกนี้เจอหน้าขอหวยอย่างเดียวเลย ไม่ให้นี่มองหัวถึงตีนเลย ให้หวยไม่เป็นแล้วบวชมาทำไม...!? ประการที่ ๔ ไปเพื่อเครื่องรางของขลัง ประเภทนี้ถ้ามาจากสิงคโปร์ มาเลเซีย มีเท่าไรเขาขนหมดวัดเลย เงินเขาใหญ่และศรัทธาสูง ถ้าใครมีประสบการณ์วัตถุมงคลของวัดไหน เขาขนไปกันเป็นคันรถ ๆ เลย ประการที่ ๕ ไปเพื่อปฏิบัติธรรม หวังความสงบ แต่ปรากฏที่เจอมาเกินร้อยละ ๘๐ คือยังไม่อยากสงบจริง พอส่งไปอยู่ที่เกาะพระฤๅษี ๓ วัน แทบจะผูกคอตาย บอกว่าเงียบเกินไป..อยู่ไม่ได้ เพราะที่นั่นจริง ๆ แล้วทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์หมด ยกเว้นไม่มีคลื่นโทรศัพท์ คลุ้มคลั่งไปเลย มีน้องคนหนึ่งบอกว่า "หลวงพ่อ...หนูอยู่ไม่ได้หรอก ไม่มีโทรทัศน์ให้ดู...หนูตายแน่" เห็นหรือยังว่า ผัสสาหารคืออะไร ? คือ อาหารที่มาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่กวฬิงการาหาร อาหารคือข้าว น้ำ ขนมทั่วไป อันนี้คือผัสสาหารที่คนเราต้องการ เขาขาดโทรทัศน์อย่างเดียว เขาฟันธงเลยว่าตายแน่ ก็คือขาดอาหารตรงนี้ ปัจจุบันก็กำลังนั่งเครียดอยู่รายหนึ่ง "เงียบเกินไป...เงียบเกินไป" นั่งบ่นอยู่นั่นแหละ เผอิญว่าเงียบ อาจารย์เลยได้ยิน ปล่อยให้บ่นต่อไป เดี๋ยวค่อยไปดู เขาบอกว่าอยากอยู่ที่เงียบ ๆ วัดท่าขนุนไม่เงียบ เขาไม่เอา ส่งไปที่เงียบจริง ๆ ดันประสาทกินซะได้" |
"คนที่ไปวัดเพื่อหาธรรมะ ปฏิบัติให้หลุดพ้น คนเหล่านี้มีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็นคนที่น่าสรรเสริญมาก อดทนอดกลั้นต่อสู้ทุกอย่าง เพราะรู้ว่าแรงกระทบรอบด้านเป็นการฝึกฝนตัวเองที่ดีที่สุด คนอื่นมอบโอกาสฝึกฝนในการละกิเลสแล้ว เราจะละได้จริงหรือไม่ ? คนประเภทนี้มีน้อยเหลือเกิน แต่อาตมาอยากได้มากที่สุด ต้องบอกว่าอึดกว่าควายตั้งเยอะ จะตีจะด่าอย่างไรไม่ว่า เพราะตั้งใจว่านี่เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งในการฝึกตัวเอง
ในเมื่อคนเราไปวัดด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน ถ้าไม่มีระเบียบวัดคอยควบคุมก็จะเละ..อยู่ร่วมกันไม่ได้ โดยเฉพาะว่าคนเราให้ความศรัทธาเฉพาะคน ถ้าอย่างอาตมาด่า โอ๊ย...ยิ้มหน้าบาน ดีใจที่พระอาจารย์ด่า..! แต่ถ้าพระอื่นไปด่า ลองดูสิ...ไม่ด่าคืนก็นับว่าเกรงใจแล้ว อาตมาถึงได้เตือนพระที่วัดอยู่เสมอว่า "อยู่กับผมอย่าเผลอตามผม ต้องดูด้วยว่าเขายอมรับคุณหรือเปล่า ? ถ้าเขาไม่ยอมรับแล้วไปด่าเขา จะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ แต่ถ้าอาตมาไปด่า เขาดีใจว่าพระอาจารย์ยังสนใจเขาอยู่" ซาดิสต์ชัด ๆ...!" |
พระอาจารย์กล่าวกับโยมว่า "น่ากลัวตรงนี้แหละ กำลังกลัวว่าจะหลงตัวเองสักวัน ยิ่งขึ้นสูงยิ่งต้องระวัง ต้องคอยมองตัวเองอยู่ตลอด ต้องบอกว่าเป็นความเมตตาของครูบาอาจารย์ ตลอดจนพรหม เทวดา หรือไม่ก็พระข้างบน
มีผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง พวกเราอาจจะเจอ ผิวดำ ๆ ตัวเตี้ย ๆ หน่อย ที่มาถึงก็ "พระเล็ก...พระเล็ก" ตลอดเลย แกเตือนสติอาตมาตลอด แต่คนอื่นว่า "ยายนี่บ้า" ความประพฤติของแกคนอื่นเขาว่าบ้า แต่เวลามีงานวัดแกมาทุกครั้ง มาถึงก็ "พระเล็กอย่าทิ้งพระวินัยนะ" "พระเล็กได้มาสละให้หมดนะ" แกน่ารักมากเลย แกเตือนสติอาตมาตลอดเวลา แต่คนอื่นจะเห็นว่าแกบ้า ไปวัดอื่นก็หาว่าแกบ้า ถ้าบ้าลักษณะนี้มาวัดท่าขนุนยินดีต้อนรับ ต้องบอกว่าแกสามารถรับอะไรบางอย่างที่ผ่านลงมาได้ แต่คนอื่นไม่รู้ ก็ไปหาว่าแกบ้า ถ้าพวกเรารู้จักสังเกต เวลาเห็นคุณยายคนนี้ อาตมาจะหยุดคุยด้วยเสมอ คุยแล้วอย่างน้อย ๆ เขาก็ช่วยเตือนสติได้" |
ถาม : ถ้ามีพระเครื่องแล้วเขาไม่ได้ห้อยติดตัว จะมีอานุภาพคุ้มครองตัวไหมครับ ?
ตอบ: ถ้าหากว่านึกถึงตลอดก็เหมือนกับห้อยติดตัว แต่ถ้าห้อยติดตัวแล้วไม่นึกถึงก็ตัวใครตัวมันเถอะ คุณมีโทรศัพท์เขาให้ต่อใช้งานแล้ว คุณดันไปปิดเครื่องไว้ แล้วจะได้ใช้ไหม ? |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ไปกฐินที่เนปาล คนอื่นเป็นลูกอีช่างขน มหาโรจน์บอกว่า "ของผมขนกระเป๋าใหญ่ ๒ ใบเลย อาจารย์เอากระเป๋าใบเล็กมาใบเดียว" อาตมาไปที่ไหนต่อที่ไหน เสียของเขาหมด ขนาดไปยุโรป หิมะดันตกหน้าร้อน ...(หัวเราะ)... อยากดูหิมะเขาเลยจัดให้ หิมะตกหน้าร้อน เล่นเอาฝรั่งแตกตื่นกันหมด คราวที่แล้วโดนยายนภิสราแหกตา อยากเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์เขาบอกจะจัดให้อาตมาก็นึกว่าจะให้ดูขาไป ปรากฏให้ดูขากลับ..แค้นมาก..!"
|
พระอาจารย์กล่าวกับพระวัดท่าซุงที่กำลังจะลากลับว่า "ขอให้เจริญ ๆ ทุกคน ตั้งหน้าตั้งตาทำให้จริง ๆ ไว้ ชาวบ้านเขาต้องการที่พึ่งมาก ถ้าเป็นที่พึ่งให้คนหมู่มากไม่ได้ เอาเฉพาะที่เราดูแลอยู่ก็ยังดี"
|
ถาม : ถ้าชาติก่อนเคยอธิษฐานในทาง...(ไม่ชัด)..เกินไป ชาตินี้จะอธิษฐานใหม่จะต้องใช้บุญกรรมฐานอย่างไร ?
ตอบ : สร้างบุญใหญ่แล้วเปลี่ยนคำอธิษฐานใหม่ ที่ไหนเขาสร้างพระประธาน สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์ ก็ไปร่วมเป็นเจ้าภาพกับเขา ร่วมเป็นเจ้าภาพ ๒๐ บาทก็ร่วมเป็นเจ้าภาพได้ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวหลังคาแหว่งกระเบื้องไม่ครบ ก็เท่ากับเราสร้างบุญใหญ่แล้วเปลี่ยนคำอธิษฐาน ถ้าทำได้คนเดียวทั้งหลังก็เชิญ เอากำลังบุญเข้ามาช่วย ในเมื่อสมาธิสมาบัติอะไรสักอย่างก็ไม่มี ก็ต้องเอากำลังบุญตรงนั้นมาแทน |
ถาม : ถ้าสร้างบุญอย่างเดียวกัน ระหว่างคนที่บวชเป็นพระกับคนธรรมดา ?
ตอบ : ถ้าสร้างบุญอย่างเดียวกัน พระได้บุญมากกว่าเป็นแสนเท่า เพราะกติกาในการรักษามีมากกว่า เหมือนอย่างกับคนมีหุ้นมากกว่า เรามี ๑๐๐ หุ้น เขามี ๑,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ถึงเวลาขายหุ้นพร้อมกัน ลองดูว่าใครมีเงินมากกว่ากัน |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ถ้าใครลืมต่างหู แว่นตา กุญแจรถ ไว้ที่วัดท่าขนุนไปรับคืนด้วย กุญแจรถนี่ลืมไว้สองปีแล้ว ส่วนที่ลืมไว้แปดปีแล้วก็คือพระเลี่ยมทององค์หนึ่ง อาตมาอยากได้มากแต่ไม่กล้าอม เพราะว่าตอนนี้ราคาในท้องตลาดแพงมาก ถ้าใครเป็นเจ้าของไปทวงคืนได้ทุกเวลา แต่ถ้าบอกไม่ถูกก็อด
งานเป่ายันต์ฯ ที่ผ่านมาได้ไอโฟนมาเครื่องหนึ่ง สวยมาก ประกาศหาอยู่พักใหญ่ ทุกคนมั่นใจว่าของตัวเองไม่หาย กำลังคิดว่าจะได้ของฟรีไว้ใช้อยู่แล้วเชียว ปรากฏว่ามีเด็กคนหนึ่งมาถึงก็บอกว่า “หนูทำโทรศัพท์หาย” ถามว่าสีอะไรก็ตอบถูก เลยต้องคืนให้เขาไป" |
พระอาจารย์เล่าว่า "เมื่อครู่นี้กราบพระ ก็เลยไปนึกถึงการจัดงานมงคลหรืออวมงคลต่าง ๆ ในปัจจุบัน เรามักจะตั้งโต๊ะสำหรับให้ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระกราบ กรุณาเอาโต๊ะออกด้วย อาตมาเป็นประธานงานไหนก็ดึงเอาโต๊ะออกทั้งนั้น คือ เรากราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๒ ศอก ๒ เข่า ๑ ศีรษะ ต้องแตะพื้นพร้อมกัน แล้วการกราบบนโต๊ะได้แตะอะไรบ้าง ? อย่างเก่งก็ได้แค่ ๒ เข่า หรือเอาอย่างท่าน Gembo Dorje เมื่อบ่าย ท่านกราบแบบอัษฏางคประดิษฐ์คือลงทั้งตัวเลย
ตำแหน่งของท่าน Gembo ถ้าเปรียบกับบ้านเรา สมณศักดิ์ของท่านอยู่ระดับสมเด็จพระราชาคณะ ก็คือเป็นรองเพียงพระสังฆราชเท่านั้น แต่ว่ามีรองระดับนี้อยู่ ๕ รูปด้วยกัน รับผิดชอบงานคนละส่วน ท่านรับผิดชอบเกี่ยวกับการค้นคว้าพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระไตรปิฎกโบราณแล้วก็นำมาเผยแผ่ มีคนถามว่า เผยแผ่ กับ เผยแพร่ ต่างกันตรงไหน ? แผ่ก็คือกระจายออกกว้าง ๆ เพื่อให้ทั่วถึง การเผยแผ่ธรรมะก็คือกระจายธรรมะออกให้คนรู้ทั่วถึงกัน ส่วนเผยแพร่เป็นลักษณะของการแพร่กระจายออก เหมือนกับพวกเชื้อโรคกำลังทำงาน เรื่องภาษาไทยของเราลึกซึ้ง บางอย่างถ้าใช้ผิด ก็จะผิดความหมายไปเลย" |
พระอาจารย์กล่าวว่า "วันนี้ชมรมโมทนาบุญเว็บพลังจิต นำโดย คุณชยาคมน์ ธรรมปรีชา ซื้อเครื่องเสียงชุดใหม่มาเพื่อใช้กับบ้านวิริยบารมี ตอนเปิดใช้ระบบเสียงใหม่ ๆ ฟังไม่ได้เลย ตรวจสอบแล้วพบว่าเสียที่ลำโพง ไม่ได้เสียตรงเครื่องเสียง ลำโพงเปิดเสียงก้องเอาไว้ เพราะว่าไมโครโฟนเดิมดูดเสียงได้น้อย ถึงเวลามาเจอไมโครโฟนตัวที่ดูดเสียงได้มาก ก็เลยกลายเป็นเสียงสะท้อน พอเปลี่ยนเครื่องเสียงก็เป็นอย่างที่ได้ยิน คือเสียงไม่ก้องและได้ยินค่อนข้างจะทั่วถึง ขอโมทนาบุญกับทางคณะด้วย ดูท่าจะต้องเสียใบโมทนาบัตรอีกใบแล้ว
ระยะนี้ขอใบโมทนาบัตรกันมาก โดยเฉพาะช่วงกฐิน หมดทีเป็นเล่ม ๆ เลย ถึงเวลาญาติโยมทำบุญเสร็จลากลับบ้านสบายใจเฉิบ เจ้าอาวาสก็นั่งออกโมทนาบัตร ส่วนพระลูกวัดก็นั่งเก็บของไป ยืนงงทำอะไรไม่ถูก ของเต็มศาลาไปหมด ท้ายสุดอาตมาโผล่ออกมาเห็นเข้าถามว่า “ทำไมไม่เก็บเสียที ?” “ไม่รู้ว่าจะเก็บอย่างไรครับ ?” ก็เลยแนะนำไปว่า “ให้เอาผ้าไตรออกมาก่อน จัดเรียงไว้ด้านหนึ่ง ถ้าหากว่าเอาผ้าไตรออกมา ของก็หายไปเกินครึ่งแล้ว” พอผ้าไตรเรียงครบก็หายโล่งไปเลย ค่อยรู้สึกว่าได้ผลงานขึ้นมาหน่อย คราวนี้ของสดก็ส่งเข้าโรงครัว ของแห้งก็ส่งเข้าคลังพัสดุ หนังสือก็ส่งเข้าห้องสมุด ก็เหลือวัตถุมงคลกับพระพุทธรูปไม่กี่องค์ ซึ่งเจ้าอาวาสเก็บเรียบ" |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:19 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.