กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3810)

ลัก...ยิ้ม 03-02-2014 10:42

๗. อย่าท้อถอยในงานที่ทำอยู่ ทุกอย่างให้ตั้งใจต่อสู้เพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อพระนิพพานให้เต็มที่ คือเต็มกำลังใจของเรา งานภายนอกหรืองานทางโลก ซึ่งต่างคนต่างก็มีหน้าที่ของตน ก็พยายามทำให้เต็มความสามารถของแต่ละคน แต่พร้อมที่จะละ - ปล่อย - วางได้ทันทีเมื่อความตายมาถึง และงานภายใน คืองานสมถะ - วิปัสสนาธุระ ก็ทำให้เต็มกำลังใจ งานทั้ง ๒ ประการนี้อย่าให้ขาดตกบกพร่อง จึงจักได้ชื่อว่ากำลังใจเต็ม

คนอื่นจักเป็นอย่างไรอย่าไปสนใจ อย่าไปห้ามกรรมหรือสนใจในกรรมของใคร ให้ดูการกระทำของกาย – วาจา - ใจของตนเอง พึงกำหนดรู้อยู่ในศีล - สมาธิ - ปัญญาตลอดเวลา ใครกระทำผิดศีล - สมาธิ - ปัญญา อย่าไปโกรธเขา ให้พึงมีเมตตาให้มาก ๆ ให้คิดว่าคนเราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ได้ก็แสนยาก นี่โชคดีมากที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้พบพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และได้พบพระอริยสงฆ์ หากไม่สามารถรักษาศีล - สมาธิ - ปัญญาไว้ให้ได้ ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ที่อบายภูมิ ให้รู้สึกสงสารพวกเหล่านี้ด้วยเมตตาจริง ๆ อย่าเอาความรู้สึกสมน้ำหน้าเข้าไปเจือปน ความเกลียดชัง อารมณ์ปฏิฆะก็จักเกิดขึ้นแทนเมตตา

ให้พิจารณาเรื่องเมตตาและพรหมวิหาร ๔ ให้มาก ๆ แล้วจิตจักมีอารมณ์เยือกเย็นขึ้นได้ การปฏิบัติก็จักเข้าถึงมรรคผลได้เร็ว แต่พึงระมัดระวัง คำว่าการมีพรหมวิหาร ๔ ให้แก่ตัวเองนั้น.. ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ผู้ใดเข้าใจอย่างนั้นจักแปลคำสอนของตถาคตผิด ให้พิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจักรู้ชัดว่า พรหมวิหาร ๔ เกิดขึ้นกับจิตตนเองเป็นอย่างไร ? ความเห็นแก่ตัว หรือมัจฉริยะ ความตระหนี่ขี้เหนียวเป็นอย่างไร ? ให้สังเกตว่า พรหมวิหาร ๔ เกิดขึ้นกับจิตแล้วจักเยือกเย็นมาก แต่ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นกับจิตเมื่อไหร่ก็จักเร่าร้อนเมื่อนั้น พิจารณาแยกออกมาให้ได้

ลัก...ยิ้ม 07-02-2014 14:05

๘. ให้มองทุกอย่างเป็นกรรมฐาน คุมสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้ไว้เท่านั้นว่า ทุกอย่างในโลกเข้าสู่พระไตรลักษณ์หมด โลกนี้ทั้งโลกที่สุดแล้วไม่มีอะไรเหลือ อย่าหวังความจีรังยั่งยืนในโลกนี้หรือในไตรภพ มีที่เดียวเท่านั้นที่เที่ยงคือแดนพระนิพพาน

แต่บุคคลที่จักไปดินแดนนี้ได้ จักต้องทำพระนิพพานให้เกิดแก่จิต เพราะพระนิพพานเขาเอาจิตไปกัน จิตที่ตัดกิเลสได้เป็นสมุจเฉทปหานนั่นแหละ คือผู้มีพระนิพพานเป็นที่ไป พระนิพพานเป็นสุขที่สุด เพราะไม่มีชาติภพให้ต้องกลับมาหรือเคลื่อนไปจุติอีก พิจารณาธรรมทั้งหลายที่เข้ามากระทบให้ดี ทุกเรื่องล้วนทำให้เกิดทุกข์ หากเอาเป็นกรรมฐาน จักได้ประโยชน์จากการกระทบนั้นอย่างมหาศาล เพราะถ้าหากจะละซึ่งความโกรธ ก็จักมีคนมายั่วให้โกรธด้วยวิธีการต่าง ๆ หากจิตเราหวั่นไหว โกรธตอบก็สอบตก หากกระทบแล้วปล่อยวางได้ก็สอบได้

ทำนองเดียวกัน คนจักละความโลภ ก็จักมีคนมาล้างผลาญทรัพย์สินที่เราอุตส่าห์อดออมมาให้หมดไป มารผจญตัวนี้จักแรง เผลอ ๆ อาจหมดตัวก็ได้ เป็นการทดสอบกำลังใจว่าตัดโลภได้หรือไม่ ถ้าจิตวางได้ก็จักไม่ห่วงใยในชีวิตมากเกินไป เห็นว่าการเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็พอจักยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ถ้าวางไม่ได้ จิตที่เดือดร้อนอยากจักแสวงหาทรัพย์ มาเป็นหลักประกันชีวิตให้อยู่อย่างสุขสบาย ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้

สมบัติของโลกที่เรารักที่สุด ก็คือร่างกายที่จิตเราอาศัยอยู่ชั่วคราวนี้ ก็ยังเอาไปไม่ได้ คนที่หนักอยู่ในความหลงก็จักมีเหตุทำให้ความหลงมากขึ้น เช่น หลงรูป ก็จักมีรูปสวยมามอมเมาทำให้หลง หลงเสียงไพเราะ - หลงกลิ่นหอม - หลงรสอร่อย - หลงสัมผัสที่นุ่มนวล - หลงอารมณ์ตนเอง มาทดสอบอารมณ์จิตอยู่เสมอ นี้เป็นธรรมดาของนักปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา จักต้องได้พบได้เจอ เพราะเป็นของจริง เป็นอริยสัจที่เป็นกฎของกรรมที่จักต้องยอมรับนับถือ

ทุกอย่างจักเป็นความจริง ต้องถูกกระทบก่อนแล้วหมดความหวั่นไหว ลงตัวธรรมดาหมด พิจารณาให้ได้ วางอารมณ์ให้ถูก แล้วแต่ละคนจักได้ประโยชน์ในทางจิต อันส่งผลให้ได้ผลในทางธรรมปฏิบัติมาก

ลัก...ยิ้ม 10-02-2014 08:55

๙. อย่าไปตำหนิกรรมของใคร ใครจักปฏิบัติกันอย่างไรเป็นเรื่องของเขา รู้แล้วเห็นแล้วว่าไม่ตรงพุทธพจน์หรือไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่ตรงกับสังโยชน์ ๑๐ ประการ ก็ให้ปล่อยวางเสีย หันมาดูตัวอย่างของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพียรปฏิบัติให้ได้ตามท่านนั่นแหละจักถูกต้องกว่า แต่อย่าไปวัดรอยเท้าท่านว่าจักได้เท่าท่าน

ให้ดูกำลังของศีลด้วย คำว่าศีลพระ ๒๒๗ แม้พวกเจ้าจักได้ศึกษามาบ้างแล้ว แต่ก็ยังผิวเผิน ไม่เหมือนท่านผู้รักษาศีลจนศีลรักษา แม้แต่อภิสมาจาร ท่านก็ยังรู้ครบแล้ว จิตของท่านย่อมละเอียดมากไปตามขั้นของศีลนั้น ๆ อย่าตีตนเสมอท่านเป็นอันขาด

ขอให้อดทนทำหน้าที่นี้ต่อไป เพื่อช่วยเกื้อกูลพระพุทธศาสนา อย่าท้อถอย อุปสรรคต่าง ๆ จักสลายตัวไปในไม่ช้า ขอเพียงให้พวกเจ้ามีกำลังใจตั้งมั่นในอารมณ์เพื่อพระนิพพาน ทำทุกอย่างเพื่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น ทุกคนต่างมีหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูลพระพุทธศาสนา ทำไปเถิด แม้
จักเหมือนปิดทองหลังพระ ความดีอันนี้ไม่มีสูญหาย

อย่างคุณหมอทำหน้าที่เผยแพร่ธรรมก็เช่นกัน เป็นการเกื้อกูลคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น..จงรักษาความดีให้เหมือนเกลือรักษาความเค็ม อย่าลืมการตำหนิคนเป็นความไม่ดี การนินทาคนเป็นความไม่ดี อย่าให้มีเกิดขึ้นแก่จิตของพวกเจ้า อย่าเอาแต่เพียงให้ธรรมะแก่ผู้อื่น สังโยชน์ของตนเองยังเหลือคั่งค้างอยู่แค่ไหน พึงเร่งรัดปฏิบัติให้ได้ด้วย

ลัก...ยิ้ม 13-02-2014 11:37

๑๐. ให้เห็นความเกิดความดับของสังขาร เห็นทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กายสังขารก็ดี จิตสังขารก็ดี มีแต่ความเปลี่ยนแปลง จิตยึดเมื่อไหร่ทุกข์ก็เกิดเมื่อนั้น ให้พยายามปลดอารมณ์ที่ไปเกาะติดทุกข์เหล่านี้เสีย ร่างกายไม่เที่ยง ร่างกายเป็นทุกข์ แล้วที่สุดร่างกายนี้ก็เป็นอนัตตา พิจารณาไปแล้วให้ปล่อยวาง อย่านึกท้อถอย เพราะนั่นเป็นการทำให้จิตตกลงไป เป็นเหตุให้หมดกำลังใจ จุดนี้เรียกว่าจิตยังไม่ยอมรับกฎของธรรมดา ถ้าบุคคลที่มีปัญญา พิจารณาแล้วจักยอมรับนับถือกฎของธรรมดาของร่างกาย ก็จักปล่อยวางร่างกายให้เป็นสักแต่ว่าร่างกาย ปกติอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้เป็นปกติของมัน ใจเราให้สักแต่ว่าเป็นใจของเรา อย่าให้มันไปทุกข์ด้วยกับร่างกาย

ลัก...ยิ้ม 24-02-2014 14:38

๑๑. เรื่องอะไรจักเกิดก็ย่อมเกิดตามกรรมตามวาระ พวกเจ้าอย่าไปยึดถือว่า ในโลกนี้จักมีอะไรเป็นความเที่ยงเลย ทุกอย่างเป็นอนิจจัง - ทุกขัง - อนัตตาทั้งสิ้น ถ้าหากยึดว่าเที่ยงก็จักเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที ให้ทำจิตให้สบาย ๆ เห็นทุกอย่างพังหมดเข้าไว้เสมอ แม้กระทั่งร่างกายของตนเอง

เช่นในวันนี้เป็นวันสงกรานต์ (๑๓ เมษายน ๒๕๔๐) ทางวัดมีการทำบุญและมีพิธีสะเดาะเคราะห์ ผู้มีศรัทธาต่างก็ตั้งใจมาทำบุญและร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์ แต่ก็มีเคราะห์เสียก่อน รถยางแตกทำให้เกิดอุบัติเหตุ อันเป็นเหตุที่ไม่รู้มาก่อน มีคนเสียชีวิตไป ๓ คน คนทั้งหมดที่เสียชีวิตเขาไปดี เพราะจิตอยู่ในบุญกุศลมาโดยตลอด แต่ที่ต้องตายเพราะเป็นอุปฆาตกรรมเข้ามาให้ผล

นี่ก็เป็นธรรมดาของกรรมที่เที่ยงเสมอ คนทำดีมาโดยตลอดก็หนีวาระกฎของกรรมไม่พ้น ดูแต่ในพุทธันดรนี้ ผู้เป็นพระโสดาบันก็ยังถูกฆ่าตาย หรือพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายก็ยังถูกฆ่าตาย แต่บุคคลเหล่านั้นตายแต่ร่างกาย จิตของท่านไม่ตายก็ไปตามกรรมที่ได้กระทำอยู่ พระโสดาบันไม่มีคำว่าสู่อบายภูมิ ๔ พระอรหันต์ท่านก็ไปพระนิพพาน บุคคลทั้ง ๓ ที่ได้รับอุบัติเหตุก็เช่นกัน คำว่าอบายภูมิ ๔ ไม่มีสำหรับบุคคลเหล่านี้ ให้พวกเจ้าดูไว้เป็นตัวอย่าง

ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง และการตายก็ตายแต่เพียงร่างกาย จิตนั้นไม่มีวันตาย จิตต้องไปเสวยสุขหรือเสวยทุกข์ตามกรรม คือการกระทำของตนเองไปตามวาระนั้น ๆ ทุกคนที่เข้ามาปฏิบัติมักจักกล่าวว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทุกคนมักจักทำจิตให้ยอมรับธรรมดา.. คือความตายอันจักเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้นั้นไม่ได้ กล่าวคือ จิตไม่ได้รับการซักซ้อมให้ทิ้งร่างกายอย่างเพียงพอ ยิ่งเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับร่างกายถึงแก่ความตาย จิตที่อ่อนการซักซ้อมจึงเข้าพระนิพพานไม่ได้ เพราะฉะนั้น จงอย่าประมาทในอุบัติเหตุ พึงซักซ้อมเข้าไว้ให้ได้เสมอ เพื่อให้จิตมันชิน (รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน)

ลัก...ยิ้ม 28-02-2014 14:06

๑๒. การทำบุญแล้วเกาะบุญก็มีผลตามนั้น เช่น สร้างศาลาวัดก็ดี ห้องกรรมฐานก็ดี แม้สร้างพระพุทธรูปไว้กับวัดต่าง ๆ ก็ดี หากจิตเกาะบุญในสิ่งที่ตนเองสร้าง มีอารมณ์จิตเกาะไม่วาง เมื่อกายตายไป จิตมีสิทธิ์เกิดเป็นภูมิเทวดาได้ทั้งสิ้น หากทำบุญแล้วจิตไม่เกาะบุญ จิตต้องการพระนิพพานจุดเดียว จุดนี้จัดเป็นบุญใหญ่ที่สุดในพุทธศาสนา อนึ่ง ถ้าผู้ให้บริสุทธิ์ แต่ผู้รับไม่บริสุทธิ์ ผลบุญที่ได้ก็ไม่เต็ม แต่ถ้าผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับบริสุทธิ์ด้วย ทำโดยไม่หวังผลตอบแทนด้วย หวังทำเพื่อหลุดพ้น หรือพระนิพพานจุดเดียว จัดเป็นขั้นปรมัตถบารมี จุดนั้นได้ชื่อว่าทำเพื่อมรรคผลนิพพาน

ลัก...ยิ้ม 04-03-2014 14:02

๑๓. ให้เห็นตัวธรรมดาให้มาก คนไม่มีศีลก็ไม่มีศีลเป็นปกติ อย่าไปกังวลกับใคร ให้ห่วงใจตนเองดีกว่า ให้พิจารณากฎของกรรมซึ่งเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย ดังนั้นหากไม่ใช่หน้าที่ของเรา ก็จงอย่าไปขวางกรรมของใคร เพราะจักเป็นโอกาสให้กรรมนั้นเข้าตัวเองได้ อุปมาเหมือนดั่งรถจักชนคน ๆ หนึ่ง เราเข้าไปผลักเขาให้กระเด็นออกนอกทางรถ แต่ตัวเรากลับไปอยู่ในทิศทางรถแทน กรรมก็เช่นกัน ให้ดูจิตของเราเอาไว้ให้ดีก็แล้วกัน

ลัก...ยิ้ม 05-03-2014 09:29

๑๔. ร่างกายเป็นศัตรูใหญ่ของเรา ถ้าไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว ทุกข์ของการเกิด - แก่ - เจ็บ - ตาย - พลัดพรากจากของรักของชอบใจ - มีความปรารถนาไม่สมหวังก็จักไม่มี ปกติของร่างกายก็เป็นอยู่อย่างนี้ มีเกิดเป็นเบื้องต้น มีเสื่อมเป็นท่ามกลาง และมีความสลายตัวไปในที่สุด แต่จิตของเราไปหลงยึดเกาะอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยงและสกปรกของร่างกายนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณารูป อันหมายถึงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ มีอายตนะสัมผัสและพิจารณานามทั้ง ๔ อันมีเวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดได้ก็เนื่องจากรูปเป็นเหตุทั้งสิ้น พิจารณาจุดนี้เอาไว้ให้ดี อยากจักพ้นจากร่างกาย ไม่ศึกษาร่างกายให้ถ่องแท้ก็พ้นไปไม่ได้

ลัก...ยิ้ม 06-03-2014 09:05

๑๕. ให้ดูความเสื่อมไปของร่างกาย ถอยหลังจากความเป็นเด็กขึ้นมาจนถึงวันนี้ มีอะไรมันทรงตัวบ้าง จุดนี้จักเห็นความเสื่อมชัด แล้วให้สอบดูว่าจิตยังมีความพอใจอยู่ในร่างกายตรงไหนบ้าง แล้วเอาปัญญาพิจารณาในจุดที่พอใจนั้น ถามและตอบให้จิตคลายความพอใจลง ด้วยเห็นธรรมะตามความเป็นจริง แล้วให้เห็นความเสื่อมของร่างกายนี้เป็นของธรรมดา ให้ย้อนถอยหลังไปกี่ภพกี่ชาติ ก็ต้องพบกับสภาพอย่างนี้ ให้ถอยหน้า - ถอยหลัง ให้จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดาของร่างกาย เมื่อเห็นอยู่ รู้อยู่ จิตก็จักปล่อยวางลงได้ในที่สุด

ลัก...ยิ้ม 24-03-2014 15:42

๑๖. ท่านพระ... พูดถูกตรงที่ว่า การจบกิจของท่านยังมีความละเอียดไม่พอเท่ากับที่พระสอนพวกเจ้า จุดนี้เป็นเรื่องจริง เพราะแต่ละองค์ก็มาแต่ละทาง คือ กรรมที่จักบรรลุไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ที่เท่ากันคือท่านตัดกิเลสได้หมดตามสังโยชน์ ๑๐ ประการเป็นสมุจเฉทปหานเท่านั้น

เรื่องกฎของกรรมนี้เป็นธรรมที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่บุคคลธรรมดา ๆ จักพึงเข้าใจได้ แต่หากมีความเชื่อหรือศรัทธาในพระองค์ โดยจิตไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้นั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ คือ เป็นสัมมาทิฏฐิเต็มกำลังใจ (ตัวสัมมาทิฏฐิ คือตัวปัญญาในพระพุทธศาสนา)

เรื่องนี้หลวงพ่อฤๅษีท่านเคยพูดไว้ว่า “คนผิดคนถูกไม่มี คนชั่วคนเลวคนดีไม่มี มีแต่คนที่มาตามกรรม แล้วก็ไปตามกรรม ทุกชีวิตเดินเข้าสู่ความตายเหมือนกันหมด” และที่สมเด็จองค์ปัจจุบันทรงตรัสเกี่ยวกับท่านเทวทัตว่า “เรารักเทวทัตเท่ากับพระราหุล ลูกของเรา" เหตุเพราะพระพุทธองค์และหลวงพ่อฤๅษีมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอัปมัญญา ท่านมองคนในแง่ดี จิตบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส - ตัณหา - อุปาทาน และอกุศลกรรม หมดอคติ ๔ มองทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การเจริญพระกรรมฐานตัดสังโยชน์ตั้งแต่เบื้องต้นยันเบื้องปลาย ไม่มีใครเขาทิ้งพรหมวิหาร ๔ กัน เพราะพรหมวิหาร ๔ เลี้ยงทั้งศีล - สมาธิ - ปัญญา เป็นกำลังใหญ่ทำให้เข้าถึงพระอรหัตผลได้ง่าย เพราะฉะนั้น จึงพึงทรงจิตให้อยู่ในพรหมวิหาร ๔ อยู่เสมอ อนึ่ง จักตัดกิเลสตัวไหน ให้ใช้พรหมวิหาร ๔ ควบคู่กันไป จักเป็นกำลังใหญ่ให้ตัดกิเลสได้โดยง่าย

ยกตัวอย่าง เช่น การรักษาศีล ๕ ข้อแรก ห้ามฆ่าสัตว์ หากไม่มีเมตตาความรัก ไม่มีกรุณาความสงสาร ไม่มีมุทิตาจิตอ่อนโยน ไม่มีอุเบกขาวางเฉย สมมุติว่าอยากกินไก่ หากมีอุเบกขาวางเฉยกับความอยากนั้น ก็มีจิตอ่อนโยนไม่ยอมฆ่าไก่นั้น มีความกรุณาสงสารก็ฆ่าไก่ไม่ลง มีเมตตารักแล้วก็ฆ่าไม่ลง ในขณะเดียวกันผลสะท้อนกลับมาหาตัวเรา ไม่ต้องตกนรกไปชดใช้กรรมที่ฆ่าไก่นั้น ก็เทียบเท่ากับเรามีพรหมวิหาร ๔ ให้กับตนเองด้วย นี่เป็นอุปมาอุปมัยสำหรับศีลเบื้องต้นข้อแรก ข้ออื่น ๆ ก็พิจารณาโดยอาศัยหลักของพรหมวิหาร ๔ กลับไปกลับมาเช่นกัน เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา ก็ให้พิจารณาไปเช่นนี้เหมือนกัน แล้วจักทำให้ตัดกิเลสได้ง่าย

ลัก...ยิ้ม 02-04-2014 14:41

๑๗. อย่าสนใจกับจริยาหรือปัญหาของผู้อื่น เพราะปัญหาของตนเองก็มากพอแล้ว ให้มองลงตรงกฎธรรมดา เรื่องของโลก เรื่องของคนที่ยังมีกิเลสอยู่ก็เป็นเช่นนี้แหละ แม้แต่พวกเจ้าเอง ตราบใดที่ยังเข้าไม่ถึงซึ่งพระนิพพานเพียงใด ก็ยังได้ชื่อว่ายังมีกิเลสอยู่ จงอย่าคิดว่าตนเองดีแล้ว ตนเองสามารถแก้ปัญหาให้กับบุคคลอื่นได้ นั่นจัดว่าเป็นความหลง

ความจริงจักต้องพยายามแก้จริตของตนเองให้ได้ อย่าไปคิดแก้จริตผู้อื่น หนักตัวไหนก็ฟันตัวนั้นก่อน โดยอาศัยอริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ส่วนใหญ่มักเผลอไปถนอมกิเลส กลัวกิเลสจักเศร้าหมอง มัวแต่เกาะกิเลส ประคับประคองกิเลส ไม่กล้าสังหารกิเลส ให้มองลึกลงไป ที่ยังตัดกิเลสไม่ได้ เพราะยังมีอาลัยอาวรณ์ในขันธ์ ๕ เป็นเหตุ กลัวความทุกข์ กลัวความลำบาก กลัวอดอยาก กลัวขาดเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของร่างกาย มีความห่วงในร่างกายมากว่าห่วงสภาพของจิตใจ นักปฏิบัติตัดตัวนี้ไม่ได้ก็ไม่มีทางเอาดีได้

แล้วจงจำไว้ว่า จิตของใครก็ไม่สำคัญเท่าจิตของเรา และจิตของเราถ้าไม่รักษาให้มันมีความผ่องใส ใครที่ไหนจักมาช่วยรักษาให้มันผ่องใสได้นั้นไม่มี บางครั้งคนอื่นอาจจักทำให้เราชื่นใจ มีความสุขในคำสนทนาธรรม แต่นั้นไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงความสุขชั่วคราว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สุขนั้นอยู่ไม่นาน ไม่เหมือนกับเราปฏิบัติได้ด้วยตนเอง สุขทั้งกาย-วาจา-ใจ นั่นแหละจึงจักเป็นของจริงที่เลิศประเสริฐแท้ จำไว้..ตัวรู้ไม่ใช่ตัวปฏิบัติ ตัวปฏิบัติให้มรรคผลเกิดจริงตามตัวรู้ นั่นแหละจึงจักเป็นของจริง

ลัก...ยิ้ม 04-04-2014 10:44

๑๘. อย่าไปจริงจังกับชีวิตให้มากนัก ทำใจให้สบาย ๆ เสียบ้าง เพราะไม่มีงานใดในโลกที่ทำแล้วเสร็จบริบูรณ์โดยไม่ต้องทำใหม่อีก ความจริงแล้ว อารมณ์เสียดายก็ดี อารมณ์กังวลในสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งงานที่ยังคั่งค้างอยู่ก็ดี ก็คือนิวรณ์ข้อที่ ๑ และ ๒ นั่นเอง หากระงับมันไม่ได้ ก็ทำปัญญาของเราให้ถอยหลัง คือโง่ทุกครั้งที่ยังมีอารมณ์ ๒ ตัวนี้เกิด

เมื่อพิจารณาร่างกายแล้วอย่าลืมพิจารณาอารมณ์ของจิตด้วย ๒ อย่างจักต้องทำควบคู่กันไป หมั่นถามจิตให้จิตตอบอยู่เสมอ เป็นการสอนตนเอง ไม่ไปมุ่งสอนผู้อื่น เวลาเราทุกข์ก็ทุกข์คนเดียว เวลาเราตายร่างกายมันพังเราก็ตายคนเดียว เพราะฉะนั้นตนจักต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้นในวาระของชีวิต พิจารณาถึงเรื่องนี้ให้มากจักเกิดประโยชน์ใหญ่ในภายหน้า

ลัก...ยิ้ม 08-04-2014 14:02

(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม

สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราและไม่ใช่ของใคร มันเป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกัน เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่มีร่างกายของใครที่จักจีรังยั่งยืน ทุกสภาวะของร่างกายเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรหวังการทรงตัวของร่างกาย เพราะหวังไปอย่างไร ที่สุดของร่างกายก็เป็นอนัตตา สลายตัวไปในที่สุด จึงไม่ควรหวังความเที่ยงแท้แน่นอนของร่างกายของตนหรือของใครเป็นอันขาด พิจารณาให้มากด้วย การดูร่างกายของตนเป็นที่ตั้ง ละร่างกายของตนได้ ก็ละร่างกายของคนอื่นได้หมด

ลัก...ยิ้ม 18-04-2014 12:10

๒. เรื่องอนาคตอย่าไปกังวล ให้รักษาจิตอยู่ในปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่จักดีได้ นั่นแหละจึงจักเป็นการถูกต้อง พยายามอย่าห่วงหน้าห่วงหลัง ตัดความกังวลออกไปให้ได้มากที่สุด ตัวนี้เป็นอารมณ์ถ่วงความเจริญของจิต ที่จักเจริญพระกรรมฐานให้ถึงขั้นปล่อย-ละ-วางกายสังขาร เป็นอารมณ์ที่อันตรายที่สุดตัวหนึ่ง เมื่อมีความกังวลเกิดให้รีบหาเหตุแห่งความกังวลนั้น พิจารณาไปให้ถึงที่สุดของเหตุแห่งความกังวลนั้น จิตก็จักยอมรับในกฎของความเป็นจริง อย่าลืมการเจริญพระกรรมฐานทุกจุด จักต้องหาความเป็นจริงอยู่เสมอ นี่คืออริยสัจ

ลัก...ยิ้ม 29-04-2014 13:56

๓. เมื่อได้ข่าวว่าจะมีหลวงพี่บางองค์สึกออกไปจากวัด ให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้อยู่ในเขตผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่อหมดบุญก็จักร้อนผ้าเหลือง อยู่ไม่ได้หรอก เรื่องเหล่านี้อย่าไปกังวล อย่าห่วงว่าวัดท่าซุงจักอยู่ไม่ได้ เรื่องของวัดท่าซุงอยู่ในความดูแลของพระตถาคตเจ้าทุกพระองค์ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องกฎของกรรม จุดนี้ต้องทำใจเอาไว้บ้าง อย่าวิตกกังวลให้มากเกินไป ทุกอย่างล้วนเป็นของธรรมดา เพราะสมมุติสงฆ์เหล่านี้ ยังมิใช่พระอริยเจ้า พระอริยเจ้าท่านเป็นได้ที่คุณธรรมของจิต ที่ตัดสังโยชน์ได้เป็นสมุจเฉทปหาน พระเป็นที่จิต มิได้เป็นที่ร่างกาย เป็นแล้วทรงตัว จึงไม่มีใครที่จักมาสึกความเป็นพระอริยเจ้าไปได้ ขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย

ลัก...ยิ้ม 06-05-2014 11:27

๔. ความเป็นพระอรหันต์ ท่านมีสติ - สัมปชัญญะสมบูรณ์ คือไม่เผลอในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ดังนั้น..การขาดสติไปมีอารมณ์ราคะ - โทสะ - โมหะ จึงไม่มีแล้วในท่าน เพราะตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการขาดหมดแล้ว กิเลสเหล่านั้นก็กำเริบไม่ได้อีก การรู้สภาวะธาตุ ๔ ไม่เที่ยง ธาตุที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ธาตุลม ลมเป็นอาหารของผู้มีร่างกายหรือผัสสาหาร

ดังนั้น การกำหนดรู้อานาปานุสติ จึงทำให้เห็นความเกิด - ดับได้ชัดมาก เห็นสันตติของร่างกายได้ชัดด้วยปัญญา ขาดลมเข้าหรือลมออกก็ตาย และการรู้ลมทำให้จิตสงบ เป็นสุข จิตเข้าถึงฌานสมาบัติได้โดยง่าย ส่วนการกำหนดภาพกสิณกองใดกองหนึ่งก็ดี การกำหนดคำภาวนาประการใดประการหนึ่งก็ดี เป็นเพียงนิมิตหรืออุบายโยงจิต ทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือตั้งใจมั่นอยู่ในภาพหรือคำภาวนานั้น ๆ แต่ตัวจริง ๆ ที่ทำงานอยู่คือลมหายใจเข้า - ออก ดังนั้น..การทำภาพกสิณหรือคำภาวนา ก็สามารถทำจิตให้เข้าถึงฌานสมาบัติ และสามารถทำให้จิตสงบขึ้นได้ตามลำดับของฌานที่ได้นั้น ๆ เรื่องนี้ให้จำไว้

พระอรหันต์หรือพระอริยสาวกจักทำจิตให้ไม่ว่างจากฌาน พระตถาคตเจ้าหรือพระอรหันต์สาวกเจริญฌานเพื่อความอยู่เป็นสุขของจิต เพื่อระงับกายสังขาร เพื่อระงับทุกขเวทนาจาก รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ถูกเพิกด้วยฌานในขณะที่ท่านต้องการ การเข้ารูปฌานและอรูปฌานจึงเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นสภาวธรรม ที่เกิดแล้วดับเป็นธรรมดาเท่านั้นเอง แต่จิตจักไปยึดมั่นถือมั่นในฌานสมาบัติ ติดสุขอยู่ในฌานอยู่ร่ำไปนั้นไม่มี (ท่านมีสติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ จึงไม่มีเผลอ ที่จักไปยึดสภาวะที่ไม่เที่ยง อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้มาเป็นของท่านอีก) แต่จำเป็นต้องรู้ต้องศึกษา เพราะทิ้งอานาปาฯ ก็เท่ากับทิ้งฐานความมั่นคงของจิต ไม่รู้จักความสงบของจิต เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตลอดชีวิต

ทำจริง ๆ ไม่ยากหรอก ขอจงอย่าเครียด ทำเล่น ๆ รู้ลมบ้าง รู้คำภาวนาบ้าง รู้ภาพกสิณบ้าง พิจารณาบ้าง สลับกันไปให้จิตพอสบาย ๆ ไม่นานก็เข้าถึงฌานสมาบัติได้เอง เวลาปฏิบัติไม่จำเป็นจักต้องรู้ลม แล้วต้องรู้คำภาวนา รู้ภาพกสิณ รู้สีไปในทีเดียวกัน ทำอย่างนั้นจักหนักเกินไป ให้รู้อย่างใดอย่างหนึ่งพอสบาย ๆ จิตก็เข้าถึงฌานได้ อย่างที่กล่าวมา รู้ภาพกสิณอย่างเดียว อานาปาฯ ก็ควบอยู่ในตัว รู้คำภาวนาอย่างเดียว อานาปาฯ ก็ควบอยู่ในตัว ทำไปเพลิน ๆ จิตก็เข้าถึงฌานสมาบัติได้ จิตจักมีความสงบ มีความสุข หรือแม้แต่พิจารณาอยู่ นั่นสมถะก็ควบคุมอยู่ในจิต มีสมาธิ ไม่ฟุ้งไปในอารมณ์อื่น พอจิตเป็นสุข จิตหยุดพิจารณาตรงนั้น จิตเข้าถึงฌานสมาบัติ ถ้าไม่ลืมตรงนั้น ถ้าหากรู้ลมต่อ หรือกำหนดคำภาวนา หรือภาพกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตจักสงบเป็นสุขมาก และเข้าถึงฌานสมาบัติได้โดยง่าย

ลัก...ยิ้ม 14-05-2014 17:17

๕. วันนี้ทั้งวัน ไม่ต้องไปดูอื่นไกล ให้พิจารณากายตนเอง และอารมณ์อันปรากฏแก่จิตตนเองเป็นสำคัญ ดูให้เห็นความโกรธ - โลภ - หลง อันปรากฏแก่จิต ด้วยเหตุที่ยึดขันธ์ ๕ นี้ สร้างความทุกข์มาให้นับชาติไม่ถ้วน อารมณ์เหล่านี้พาจิตให้ไปจุติด้วยทุกข์ หรือสุขอันเป็นโลกียวิสัย ตลอดกาลตลอดสมัยที่จิตถูกจองจำอยู่ในมัน (ขันธ์ ๕ หรือร่างกาย) ให้รู้ความเกิด โดยระงับจิตสังขารไม่ให้ไปปรุงแต่งกับความเกิดแห่งอารมณ์นั้น ๆ พิจารณาให้เห็นโทษ แล้วจิตจักปล่อยวางอารมณ์เหล่านี้ไปเอง ทุกอย่างต้องอาศัยตัวรู้ คือสติ - สัมปชัญญะ คอยดู คอยรู้ อารมณ์ของจิตอย่างรู้เท่าทันทุก ๆ ขณะจิต คือธรรมปัจจุบันนั่นแหละ จึงจักพ้นไปได้ อยากพ้นเกิด - พ้นตาย อย่าไปคิดว่ายาก เพราะทุกข์ย่อมล่วงพ้นได้ด้วยความเพียร แล้วจงอย่าคิดว่าง่าย เพราะจักประมาทเกินไป เวลาของทุกคนเหลือน้อยนิด อย่าไปคิดว่าทำอะไรจักต้องสมความปรารถนาอยู่เสมอ จำไว้ว่าความปรารถนาไม่สมหวังนั้นเป็นทุกข์ อย่าไปตั้งกฎเกณฑ์ด้วยกิเลส อยากจักต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะนั่นเป็นอารมณ์ของความทะยานอยากอย่างแท้จริง (เป็นตัวตัณหาแท้ ๆ )

ลัก...ยิ้ม 19-05-2014 08:54

๖. อย่าไปทุกข์กับเหตุการณ์ที่แวดล้อมอยู่นี้ ให้ถือว่าเหตุกระทบนั้นเป็นครู ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ให้เห็นเป็นแค่สภาวธรรม อย่าไปใส่ใจว่าอะไรในโลกนี้จักจีรังยั่งยืน แม้แต่ขันธ์ ๕ ของใครหรือของตนเอง เพราะนั่นเป็นอารมณ์ภวตัณหา ทุกสิ่งทุกอย่างมีอนัตตา พังหรือตายในที่สุดเหมือนกันหมด ให้เตรียมตัวเตรียมใจ พร้อมรับสถานการณ์เกิด - เสื่อม - ดับอยู่เสมอ พยายามทำจิตให้ปล่อยวางอยู่เสมอ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นกฎของธรรมดาหมด บุคคลซึ่งจักทำจิตให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน จักต้องปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ทุกเมื่อ และจงทำทุกอย่างตามหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ ให้ทำความดีด้วยความเต็มใจ แต่ไม่ติดอยู่ในความดีนั้นๆ

ลัก...ยิ้ม 26-05-2014 11:26

๗. เรื่องของอารมณ์ให้สังเกตว่า หากร่างกายเครียด คือเหน็ดเหนื่อยจากการงานแล้วพักผ่อนไม่พอเพียง เมื่อมีอะไรมากระทบ มักโกรธง่าย โมโหง่าย มีปฏิฆะง่าย เพราะฉะนั้น ให้สังเกตกายกับจิตอิงกันไป ยกเว้นพระอรหันต์เท่านั้น จิตท่านพ้นอำนาจของกิเลสแล้ว อะไรเกิดขึ้นกับกายก็เป็นเรื่องของกาย อะไรเกิดขึ้นกับจิตก็เป็นเรื่องของจิต ไม่เกี่ยวกัน ท่านรู้และแยก กาย - เวทนา - จิต - ธรรมเป็นอัตโนมัติ เพราะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ส่วนพระอริยะต่ำกว่านั้น ยังแยกได้ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จักต้องหาความพอดีให้พบระหว่างกายกับจิต ให้กายได้พักให้พอ เพราะมันสัมพันธ์เกี่ยวกับอารมณ์ของจิตด้วย การปฏิบัติจักก้าวหน้าหรือไม่.. อยู่ที่เราฉลาดรู้เท่าทันกายกับจิตนี้ด้วย

ลัก...ยิ้ม 29-05-2014 10:53

๘. ให้เห็นอารมณ์จิตดิ้นรนของคนที่มีความโกรธ - พยาบาท - อาฆาต - ริษยา - ปองร้าย เสมือนหนึ่งเห็นไฟแล้วพึงหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ หากเราหลีกเลี่ยง วางเฉยเข้าไว้ แล้วพยายามแผ่เมตตาให้มาก ๆ ทำจิตให้เยือกเย็นเหมือนกับพระพุทธรูป พวกนี้ก็จักยิ่งดิ้นรนเร่งโหมไฟภายในของตนให้มากขึ้นเป็นธรรมดา จักต้องแก้ที่ใจเรา รักษาอารมณ์จิตให้เยือกเย็น อุปมาดั่งกับไฟมาต้องมือ เราต้องรีบชักมือหนีไฟ จิตของเราก็ต้องฉันนั้น อย่าไปร้อนกับไฟของเขา ปล่อยให้ไฟเผาไหม้เขาแต่เพียงผู้เดียว และให้ยอมรับในกฎของกรรม อุปสรรคใด ๆ ที่เกิดกับเรา ล้วนเป็นเศษกรรมในอดีตที่เราเคยทำไว้ทั้งสิ้น จำไว้..กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าไม่ยอมรับเรื่องก็ไม่จบ ให้ทำใจให้ยอมรับเสีย จิตสงบเย็นลงก็จบ ใครจักแกล้ง จักทำอะไรก็เรื่องของเขา.. กรรมของเขา อย่าไปคิดราวี หรือต่อกรรมให้เสียเวลาปฏิบัติธรรม ทุกอย่างจักสงบได้ด้วยการละ - ปล่อยวางเท่านั้น ให้อดทน เพราะไม่นานกฎของกรรมจักคลายตัวไปเอง อย่าวิตกอะไรให้มาก อย่าไปคิดแก้ไขใคร ให้แก้ไขใจของตนเอง เรื่องราวทั้งหมดก็จักจบไปเอง

ลัก...ยิ้ม 09-06-2014 10:36

๙. จงอย่าประมาทในชีวิต ให้คิดถึงความตาย เพื่อให้จิตพร้อมรับความตายไว้เสมอ คนเรามักจักหลงลืมความตาย ประมาทในความตาย พอร่างกายสุขสบายสักหน่อย ก็มักจักมีความประมาทในชีวิต จึงต้องคอยเตือนจิตไว้เสมอ ให้หมั่นพิจารณารูป - เวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณ ว่าไม่ใช่เราให้ละเอียดลงไปตามลำดับ โดยพิจารณาแยกออกทีละอย่าง ๆ ให้ถึงที่สุดของรูป - เวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณ จนกระทั่งจิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา จนจิตสงบเยือกเย็น และปล่อยวางในขันธ์ ๕ นี้ จักต้องใช้ความเพียรพิจารณาเอาเอง จึงจักเกิดปัญญาตัดกิเลสได้

หมู่นี้อากาศร้อนก็จริงอยู่เพราะเป็นหน้าร้อน แต่ก็ยังร้อนน้อยกว่าความรุ่มร้อนในจิตของพวกเจ้า โดยเฉพาะตอนถูกกระทบด้วยโลกธรรม ๘ ตัวนินทาและความทุกข์.. อยู่ในโลกไม่มีใครหนีพ้นโลกธรรมไปได้ ให้เห็นเป็นธรรมดา ต้องหมั่นปลงขันธ์ ๕ ตนเองให้มาก ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อวางอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้ ขันธ์ ๕ ของบุคคลอื่น สัตว์อื่น วัตถุธาตุใด ๆ ก็ไร้ความหมาย เมื่อนั้นแหละ จิตจักถึงซึ่งพระนิพพานได้อย่างแท้จริง

ลัก...ยิ้ม 13-06-2014 08:40

๑๐. ให้ดูสังขารร่างกายที่มันเกิดขึ้นแล้ว มันก็เสื่อมไป เดินไปหาความสลายตัวอยู่ตลอดเวลา แม้แต่สังขารของจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมาก็เช่นกัน มันหาความเที่ยงไม่ได้ (หมายถึงอารมณ์จิตซึ่งไม่เที่ยง เกิด - ดับ ๆ อยู่เสมอ) ยึดถือมาเป็นเรา เป็นของเราก็ไม่ได้ จึงต้องปล่อยวางให้มันเกิดดับไปตามสภาวธรรม อย่าได้ไปฝืนกฎของความเป็นจริง (อย่าฝืนโลก อย่าฝืนธรรม) ให้เห็นกายสังขาร จิตสังขารเกิดดับเป็นธรรมดา ไม่ยึดไม่ถือ จิตก็จักมีความผ่องใส ลงตัวธรรมดาได้ อุปาทานขันธ์ ๕ ก็จักเบาบาง มองให้ถึงที่สุดด้วยปัญญา ก็จักพ้นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ พระนิพพานจึงปรากฏแก่จิตได้อย่างมั่นคง ด้วยการปล่อยวางกายสังขาร จิตสังขาร (กายสังขารคือกายกับเวทนาเกิดดับ ๆ อยู่เป็นสันตติ จิตสังขาร คืออารมณ์ของจิต และธรรมะหรือพระธรรมก็เกิด - ดับ ๆ อยู่เป็นสันตติ)

การยังมีชีวิตอยู่.. ก็ดูแลร่างกายไปเพียงหน้าที่แค่ยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น จิตที่จักยินดีในการอยู่ก็ไม่มี
เพราะเห็นเป็นเพียงสภาวธรรม แต่ในขณะเดียวกัน ความขุ่นข้องหมองใจในอันที่ขันธ์ ๕ จักพังก็ไม่มี เพราะเห็นเป็นเพียงสภาวธรรมเท่านั้น จิตพร้อมอยู่ในการหลุดพ้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อเข้าใจแล้วก็อย่าเพิ่งคิดว่าทำได้แล้ว นั่นเป็นเพียงความรู้อันเกิดจากสัญญาเท่านั้น จักต้องนำความเข้าใจหรือตัวรู้นี้ไปละให้จิตถึงที่สุดอีกที และจำไว้บุคคลใดที่เข้าถึงแล้ว ตัวโลภ - ตัวโกรธ - ตัวหลงนั้น จักไม่มีกำเริบอยู่ในจิตอีกเลย

ลัก...ยิ้ม 17-06-2014 08:53

๑๑. ก่อนเจริญพระกรรมฐาน หลวงพ่อฤๅษีท่านให้อธิษฐานจิตเป็นภาษาบาลีว่า อิมาหัง ภควา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจัชชามิ ซึ่งมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอให้สัจจะต่อพระพุทธองค์ว่า ข้าฯ ขอมอบกายถวายชีวิตกับพระองค์และศาสนาของพระองค์ตลอดชีวิต แต่มีบุคคลท่านหนึ่งอธิษฐานความว่า ข้าพเจ้าขอให้สัจจะต่อพระองค์ว่า ข้าพเจ้าจะพยายามทำความดีในพระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุดให้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งจัดว่าเป็นสัจจะบารมี โดยมีปัญญาบารมีคุมโดยแท้ ไม่อธิษฐานผูกมัดใจตนเอง โดยใช้คำว่าจะพยายาม ทำได้แค่ไหนตามกำลังใจแห่งตน ก็ได้แค่นั้น เป็นตัวปัญญาแท้ในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุกท่านต่างก็บรรลุจบกิจในพุทธศาสนาด้วยทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทาด้วยก้นทั้งสิ้น

การใช้คำว่าจะพยายามทำความดีในพระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุดนั้น เป็นทางสายกลาง คือไม่ตึงไป ไม่หย่อนไปนั่นเอง หากจะเพิ่มอธิษฐานบารมีเข้าไปอีกหน่อยจะสมบูรณ์แบบคือ ข้าพเจ้าจะพยายามทำความดีในพระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด โดยจะทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว.. ประโยคนี้จัดเป็นอธิษฐานบารมีเต็มกำลังใจทันที คือมีมรณานุสติกับอุปสมานุสติ ซึ่งเท่ากับตัดอวิชชา หรือสังโยชน์ข้อที่ ๑๐ ไปในตัวเสร็จ

จิตมีสภาพรู้กับเร็ว เป็นอกาลิโก หากจิตเป็นฌานในมรณาฯ บวกอุปสมานุสติ กายพังเมื่อไหร่ จิตก็เร็วไปตามที่จิตเกาะอยู่ชนิดแกะไม่ออกเป็นอัตโนมัติ เป็นอกาลิโกเช่นกัน จิตเกาะนิพพานซึ่งเที่ยงแล้วเกาะได้ และเป็นแดนสุดยอดของความสุขในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นเป้าหมายสุดท้ายที่ทุกท่านมุ่งหมาย อธิษฐานบารมีเต็มมีผลบุญใหญ่สุดประมาณด้วยเหตุนี้

ลัก...ยิ้ม 23-06-2014 08:42

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้

กว่าจักบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้เต็มได้ถึงจุดนี้ จักต้องผ่านการปฏิบัติในรูปฌานและอรูปฌานมาอย่างโชกโชน เพราะทุกจริตสามารถทำได้ทั้งสิ้น การไปเสวยสุขหรือติดสุขอยู่ในอรูปฌาน อันทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมนั้นจึงเป็นของธรรมดา และเป็นไปได้ เพราะในอดีตทุกคนเกิดเป็นพรหมมาก็มาก สุดแต่ว่าก่อนกายจะพัง จิตทรงอยู่ในกำลังของฌานระดับไหน จิตมันก็ชินหลุดไปอยู่จุดนั้นได้โดยไม่ตั้งใจ หรือไม่ต้องกำหนดจิตไป.. จิตมันชินแต่อดีตก็หลุดไปเอง

ตถาคตรู้จุดนี้ จึงจัดอรูปฌานและรูปฌานให้อยู่ในสังโยชน์ ๑๐ เบื้องสูง เพราะหากผู้ปฏิบัติยังเป็นโลกียฌานอยู่ จิตก็จักติดสุขอยู่ในฌานทั้ง ๒ นั้นอย่างถอนจิตไม่ขึ้น วิธีถอนการเกาะติดสุข.. ต้องพิจารณาเข้าหาไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยงของฌานทั้งสองนั้น ซึ่งเกิดจากลมหายใจหรืออานาปานุสติ อันเป็นฐานใหญ่ของฌานสมาบัติ การเกาะลมหายใจเข้า - ออก ก็เท่ากับยังเกาะร่างกายหรืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ เพราะลมหายใจคือที่อาศัยของร่างกาย เป็นอาหารของกาย ซึ่งแท้ที่จริงคือธาตุ ๔ ดิน - น้ำ - ลม - ไฟ เข้ามาประชุมกัน การเกาะลมหายใจ.. จึงยังเป็นแดนเกิดในรูปพรหมและอรูปพรหมได้ง่าย

แต่ในแง่ของวิปัสสนากรรมฐาน เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจเข้า - ออกนั่นแหละ เป็นเหตุให้ใจมีอารมณ์จิตละเอียดขึ้น มีสติ - สัมปชัญญะสมบูรณ์ขึ้น อย่างเช่น ร่างกายนี้เมื่อวิญญาณไปปราศแล้ว (ปราศจากวิญญาณแล้ว) กายก็ไม่ต้องอาศัยลมหายใจเข้า - ออกอีก ดังนั้น การรู้ความไม่เที่ยงของกองสังขารแห่งกาย อันเนื่องจากลมหายใจเข้า - ออกนี้ ทำให้ไม่มีความประมาทในชีวิต เป็นเหตุให้เข้าถึงซึ่งอรหัตผลได้โดยง่าย

ลัก...ยิ้ม 07-07-2014 09:14

๑๒. ที่เจ้าสงสัยว่า การปฏิบัติพระกรรมฐาน ในเมื่อรู้ว่ารูปฌานและอรูปฌานเป็นเหตุทำให้จิตติดสุขในฌาน มีผลทำให้ต้องเกิดเป็นพรหมและอรูปพรหมได้ แล้วข้ามการรู้เรื่องฌานทั้ง ๒ ไปเลยไม่ได้หรือ ? ทรงตรัสว่า ข้ามไปไม่ได้หรอก เพราะร่างกายอาศัยอยู่ได้ด้วยลมหายใจเข้า - ออก คนเกิดมาจนกระทั่งตายไป หากไม่รู้จักคิด ตายไปก็ยังไม่รู้จักลมหายใจเข้า - ออกก็มี และที่เจ้าพิจารณาว่าคนเรานี่อยู่กับความสกปรกตลอดเวลา ที่ต้องอาบน้ำ -แปรงฟัน - ชำระสิ่งโสโครกอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตต้องการความสะอาด คนที่ไม่รู้มองไม่เห็นความสกปรกของร่างกาย ก็ทำความสะอาดให้ร่างกายตั้งแต่วันเกิดไปจนถึงวันตาย แต่ก็ยังไม่เห็นความสกปรกของร่ายกายก็มีมาก

การบริโภคอาหารก็เช่นกัน เห็นแต่ความอร่อย ติดในรสของอาหาร กินอิ่มทุกมื้อคิดว่าเป็นสุขดี แต่ไม่เคยเห็นความสกปรก - ความเสื่อม - ความไม่เที่ยงของอาหารและของร่างกาย จนกระทั่งตายแล้วกลับมาเกิดใหม่อยู่อย่างนั้น ไม่หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ไปได้ ก็มีอยู่จำนวนมากสุดประมาณได้ ด้วยเหตุเหล่านี้แหละ จึงจำเป็นที่จักต้องรู้ รู้ถึงพ้นได้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่พ้น จักพ้นรูป - พ้นนาม - พ้นกาย - พ้นจิต ก็ต้องเรียนรู้ ศึกษาของจริงกันอย่างนี้แหละ พระพุทธศาสนาแปลว่าผู้รู้ รู้ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยมรรคผล ถึงซึ่งตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้ จึงจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล พิสูจน์ได้ทุกกาลทุกเวลา

ลัก...ยิ้ม 14-07-2014 11:48

๑๓. อย่าฝืนโลก อย่าฝืนธรรม แล้วจิตจักเป็นสุข อยู่ในโลกทุกคนต้องมีงานทำ แต่อย่าแบกงาน เพราะงานทางโลกเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีใครทำเสร็จได้จริง แม้อยู่วัดก็อย่าแบกวัด เพราะงานของวัดก็ไม่มีใครทำเสร็จได้จริง เหตุที่จิตยังเร่าร้อนอยู่ เพราะการไปหลงอยู่กับอายตนะที่เข้ามากระทบใจ อันเป็นกฎของธรรมดาซึ่งห้ามไม่ได้ (ห้ามไม่ให้อายตนะภายนอกกระทบกับอายตนะภายในไม่ได้) จึงเสมือนหนึ่งใจเราอยู่ในดงของกิเลส อยู่ในทางกลางของกิเลส มิใช่อยู่ไกลจากกิเลสแต่อย่างใด เพราะเรายังมีอายตนะทั้ง ๖ ทำงานได้ดีอยู่เป็นปกติ ทุกอย่างที่เข้ามากระทบ จึงล้วนเป็นกฎของธรรมดา - กฎของกรรมหรืออริยสัจทั้งสิ้น

ใครจักมาอย่างไร ใครจักไปอย่างไร ใครจักทำอะไร - พูดอะไร - คิดอะไร ก็นับว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น อย่าลืมกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เป็นกรรมลิขิต ซึ่งเราเองเป็นผู้กระทำไว้ก่อนในอดีตทั้งสิ้น ดังนั้น จักทำอะไร พึงพิจารณาเรื่องกฎของกรรมนี้ให้รอบคอบ จิตจักได้เลือกสรรทำแต่กรรมดี ๆ ยิ่งกรรมที่จักนำไปสู่พระนิพพานนั้น พึงทำอยู่ในขอบเขตของศีล - สมาธิ - ปัญญาเท่านั้น จุดนี้พึงหมั่นเพียรให้มาก ๆ เวลานี้อย่าไปดูเหตุภายนอก ให้รับรู้ว่าเป็นธรรมดาของการมีอายตนะ จิตจำเป็นต้องรับรู้ รับรู้แล้วก็เพียรปล่อยวางให้ออกไปจากจิตให้ได้มากที่สุด อย่าฝืนธรรมแล้วจิตจักเป็นสุข เรื่องบุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเข้ามาวุ่นวายอยู่ในเวลานี้ อย่าไปห่วงให้มาก ไม่นานเขาจักแพ้ภัยตัวเองไปเอง

ลัก...ยิ้ม 16-07-2014 08:57

๑๔. ไปงานศพ จงอย่าไปกราบศพ ให้กราบสัจธรรม กราบพระธรรม ให้พิจารณามรณานุสติให้มาก เพราะไม่ช้าไม่นาน กายผู้อื่นหรือกายเรา ก็หนีความตายไปไม่พ้น จักต้องมีสภาพอย่างเช่นรายนี้ และให้เห็นธรรมปัจจุบันว่า หากชีวิตยังอยู่ เราจักบำรุงรักษากายเพียงแต่ยังอัตภาพให้เป็นไปในทางสายกลาง ไม่เบียดเบียนกาย ไม่เบียดเบียนจิตให้เกินพอดี นั่นแหละจึงจักเรียกว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ได้ผล พิจารณาธรรมเหล่านี้ไว้ระหว่างยังมีชีวิตอยู่ อยู่ให้มีความสุขในมัชฌิมาปฏิปทา และไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าร่างกายจักต้องตายอยู่เสมอ รักษาธรรมเหล่านี้ไว้ให้ได้กับจิต และให้ทรงตัว กิเลสทุกตัวจักระงับได้หมด ปรารถนานิพพานก็จักต้องหมั่นชำระจิตเพื่อพระนิพพานด้วย

ลัก...ยิ้ม 22-07-2014 09:02

๑๕. ธรรมของตถาคตจักต้องหยุดอารมณ์จิตให้ได้ก่อน จึงจักเห็นการเคลื่อนไหวของกิเลสได้ชัดเจน การทำจิตให้สงบตั้งมั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างคนกำลังวิ่งหรือเดินเร็ว ๆ อะไรผ่านมากระทบมองไม่ใคร่เห็น ต่างกับคนที่ยืนอยู่กับที่ มีอะไรมากระทบก็มองเห็นได้ชัดกว่ามาก จิตหวั่นไหวมากยิ่งมองสภาวะกระทบไม่ชัดเจน แต่จิตหวั่นไหวน้อยหรือไม่หวั่นไหวเลย ย่อมมองอะไรได้ชัดเจน และเข้าใจได้ดี การปฏิบัติธรรมฉันใดก็ฉันนั้น

สุขภาพของตนเองก็เช่นกัน จงอย่าห่วงใยให้มากนัก เพราะหนีความจริงในสัทธรรม ๕ ไม่พ้น ให้พิจารณาอยู่อย่างนี้จึงจักนำจิตให้พ้นทุกข์ได้ ต้องพิจารณาให้ลึกลงไป ๆ จิตจึงจักเกิดปัญญาไม่ใช่เกิดแต่สัญญา ความจำที่ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ลืม ตัวปัญญาเท่านั้น จึงจักตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้ ดังนั้น..จงอย่าห่วงกายให้มากนัก ให้ห่วงจิตเป็นหลักสำคัญ อย่าไปห่วงกาย - ห่วงจิตผู้อื่น พ้นทุกข์ไม่ได้ ให้ห่วงจิต ดูอารมณ์จิตของตนเอง ไม่ให้ประมาทในชีวิต รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน จำไว้..อย่าห่วงใคร ตัดกังวลออกไปให้หมด จิตจึงจักผ่องใสขึ้นมาได้

ลัก...ยิ้ม 23-07-2014 11:53

๑๖. อยากจักละซึ่งสังขาร ก็จักต้องเพียรหาความจริงของสังขาร ให้เห็นความเสื่อมเป็นของธรรมดา และเห็นโลกทั้งโลกล้วนมีสภาพเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยงและสลายตัวไปในที่สุด จงหมั่นพิจารณาให้ถึงที่สุดของความทุกข์แล้วปล่อยวางด้วยปัญญา อย่าวางด้วยสัญญาเพราะจักวางไม่จริง ใหม่ ๆ อาจจักเป็นของยาก เพราะอารมณ์ตัดตัวนี้ยังไม่ทรงด้วย ต้องเอาจริง และคอยละ-ตัด-วางอยู่ตลอดเวลา อย่าให้จิตเผลอออกนอกทาง แต่ก็ยังจักมีเผลอเป็นธรรมดา เผลอก็ตั้งต้นใหม่ ๆ ต้องต่อสู้ให้จริง.. ทำให้จิตมันชินในการละซึ่งกิเลส ประการสำคัญจงอย่าประมาทในชีวิต ยิ่งรู้ว่าร่างกายกำลังไม่ดีก็ยิ่งจักต้องพร้อม ซ้อมตาย พร้อมตายอยู่เสมอที่จักละ - ปล่อย - วางอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ในทุกขณะจิต

ลัก...ยิ้ม 29-07-2014 09:09

๑๗. น้ำตาที่ไหลเพราะความปรารถนาไม่สมหวัง หรือเพราะพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ในการเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานนี้ มีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ (คล้ายเทศน์โปรดท่านปฏาจาราเถรี) ในทุกพุทธันดรย่อมมีคนแบบนี้เช่นกัน และผู้ที่ไม่เข้าถึงธรรมอีกมากมาย ยังต้องเสียน้ำตาเพราะเหตุทั้งสองประการนี้ จึงกล่าวได้ว่า ทุกชีวิตย่อมผ่านความรันทดเยี่ยงนี้ เหมือนกันมาแต่อเนกชาติที่จุติผ่าน ๆ กันมา และนานนักกว่าจักบำเพ็ญบารมีจนถึงขั้นจิตมีความเข้มแข็ง ยอมรับสภาพอริยสัจตามความเป็นจริง ตราบนั้นบุคคลผู้บำเพ็ญบารมีมาดีแล้วตามลำดับ จึงจักเลิกหลั่งน้ำตาด้วยเหตุทั้งสองประการนี้ลงได้ และอย่าคิดว่าเป็นของง่าย เรื่องอย่างนี้จักตัดได้โดยฉับพลันนั้นเป็นของยาก จักต้องพิจารณาอริยสัจอย่างถ่องแท้นั่นแหละ และที่สำคัญต้องอย่าทิ้งความเพียรด้วย

ลัก...ยิ้ม 30-07-2014 09:16

๑๘. เรื่องของสังขารทั้งสอง กายกับจิต หาความเที่ยงไม่ได้แม้แต่สักนาทีหนึ่ง ให้พิจารณาตามความเป็นจริง ดูให้เป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นกฎของธรรมดา แล้วในที่สุดขันธ์ ๕ ก็มีอันต้องสลายตัวไป คือเป็นอนัตตาหรือตายไปในที่สุด จึงพึงละให้ได้จากการเกาะยึดขันธ์ ๕ หรือสังขารกายกับจิตนี้ อันมีความเกิดเป็นเบื้องต้น มีความแปรปรวนในท่ามกลาง มีความสลายตัวไปในที่สุด มองให้เห็นโทษของการติดอยู่ในขันธ์ ๕ มองให้เห็นคุณของการหลุดออกจากขันธ์ ๕ และรู้ว่าขันธ์ ๕ จองจำเรามานับชาติไม่ถ้วน ไม่ต่างกับนักโทษต้องโซ่ตรวน ต้องคิดดิ้นรนให้หลุดพ้นด้วยความเพียร โดยพยายามมองดูขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงให้พบ

จุดนี้ใครที่ไหนเล่าจักช่วยให้พวกเจ้าหลุดพ้นไปได้ กิเลสมักสอนจิตให้ห่วงคนโน้น - คนนี้ ใยถึงไม่ห่วงตัวเองบ้างเล่า ? มองหาความจริงให้พบ อย่าให้ความห่วงหรือความสงสารที่เป็นกิเลสลากเอาไปกิน จงปล่อยวางเถิด ให้ดู ให้รู้สึกแต่ว่า กองสังขารมีแต่เกิด - เสื่อม - ดับเป็นของธรรมดา แม้แต่กายกับจิตสังขารของพวกเจ้าเอง ก็มีสภาพเช่นนั้นเหมือนกัน เวลาของชีวิตนั้นเหลือน้อย จักอยู่ทำความเพียรเพื่อใครดี ? สงสารตัวเองหรือสงสารคนอื่นดี ? ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วย อย่าไปห่วงใคร ดูตัวเองให้มั่นคงในศีล - สมาธิ - ปัญญา ชำระจิตของตนให้ได้ซึ่งมรรคผลนิพพานอันแท้จริงดีกว่า

ลัก...ยิ้ม 31-07-2014 08:58

๑๙. ไม่ว่ากรณีใด ๆ ถ้าหากตั้งความหวังไว้มาก ก็จักผิดหวังมาก เพราะการตั้งความหวังนั้น ทำให้จิตเร่าร้อน เร่งเร้าอยากให้เป็นเช่นที่หวัง ก็เป็นการเบียดเบียนจิตและกายตนเอง จุดนี้เป็นอารมณ์หลง หลงคิดว่าจักเอาสมบัติของโลกไปได้ โดยเฉพาะหลงติดในร่างกายตนเอง อันเป็นการเพิ่มสักกายทิฏฐิ

แต่ถ้าหากไม่ตั้งความหวังจักเอาสมบัติของโลกและขันธโลกไปด้วย เพราะรู้ชัดว่าเอาไปไม่ได้ มันหาใช่เรา หาใช่ของเราไม่ จิตก็จักเยือกเย็น - ไม่ดิ้นรน - ไม่ห่วง - ไม่กังวล ด้วยประการทั้งปวง จิตมีความไม่ประมาทในชีวิต พร้อมตายและซ้อมตาย เพื่อเอาจิตคือตัวเราไปพระนิพพานอยู่เสมอ ด้วยอารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ ยอมรับความเป็นจริงของโลก และขันธโลกว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ที่สุด เป็นอนัตตาทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นกฎของกรรม - เป็นกฎธรรมดา - เป็นอริยสัจ มันเที่ยงของมันอยู่อย่างนี้ หากเราไม่เคยทำกรรมนี้มาก่อน ก็จักไม่พบกับกรรมเหล่านี้เลย


การปฏิบัติต้องเดินสายกลาง ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ทำด้วยอารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ ได้แค่ไหนก็พอใจแค่นั้น จึงต้องพยายามรักษาอารมณ์ให้เยือกเย็นไว้เสมอ คอยดูอารมณ์ของจิตให้ดี จักเห็นอารมณ์ที่ไหวไปตามอายตนะตลอดเวลา เมื่อรู้ก็ให้ใช้กรรมฐานแก้จริต ให้ถูกต้องตามอารมณ์ตลอดเวลาเช่นกัน การทรงอานาปานุสติ จึงต้องทรงตลอดเวลา เพราะเป็นการเจริญสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ คุมจิตไม่ให้คิดชั่วไปตามอายตนะ จุดนี้ต้องมีสัจจะ ตั้งใจทำจริง ด้วยความเพียร – ความอดทน หรือมีวิริยะ - ขันติ - สัจจะ โดยมีปัญญาบารมีคุม ทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว เพราะตราบใดที่จิตยังเข้าไม่ถึงพระนิพพาน ก็จงอย่าหลงคิดว่าตัวเองดีเป็นอันขาด

ลัก...ยิ้ม 01-08-2014 13:39

(พระธรรมที่ทรงตรัสสอนในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม


สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. พิจารณากฎของกรรมให้มาก อย่าฝืนกฎของกรรม จักทำให้จิตเห็นทุกข์มากยิ่งขึ้น และจงเตือนตนไว้เสมอ กรรมเหล่าใดถ้าหากตนเองไม่เคยได้ก่อไว้ กรรมเหล่านั้นจักเข้ามาสนองตนเองไม่ได้เลย พิจารณาทุกข์อันเกิดจากผลแห่งกฎของกรรมให้ผลให้เห็นชัด ๆ ต่อไปจักได้สำรวมกาย - วาจา - ใจ ให้มากขึ้น กรรมใหม่จักได้ไม่ก่อกันอีกต่อไป กรรมเท่าที่ตามมาสนองก็ชดใช้เขาไป ทำได้อย่างนี้จิตจักคลายจากความทุกข์ ความสงบของจิตจักมีมากขึ้น เพราะการยอมรับนับถือกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ และถ้าหากสำรวมกาย - วาจา - ใจให้สงบจากการไม่สร้างกรรมชั่วใหม่แล้ว จิตก็จักมีกำลังใจมาทางด้านปฏิบัติธรรม เพื่อพระนิพานได้ดีเป็นอันมาก

ลัก...ยิ้ม 04-08-2014 09:20

๒. ให้พิจารณาเรื่องศีล ๓ ขั้นให้มาก ๆ ไม่ว่ารักษาศีลโดยไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง อันเป็นการสำรวมกายให้เรียบร้อย ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ทางวาจา ไม่ยินดีด้วยเมื่อบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว ทางด้านจิตใจ แล้วศีลที่กล่าวมาก็ให้รักษาอยู่ในกำลังใจของตน ศีล ๕ ก็ให้เป็นปกติในศีล ๕ ทั้งกาย - วาจา - ใจ ศีล ๘ ก็ให้เป็นปกติในศีล ๘ ทั้งกาย – วาจา - ใจ ศีล ๒๒๗ เป็นศีลของพระ ก็ให้ดูท่านพระ...เป็นตัวอย่าง ท่านรักษาไว้ดีแล้วทั้งทางกาย - วาจา - ใจ

การปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย จุดนี้เป็นบ่อเกิดเบื้องต้นของสัมมาทิฏฐิ อันนำไปสู่สมาธิ อันเป็นโลกุตรสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ ด้วยกำลังของศีลที่มั่นคง (อธิศีล) เมื่อสมาธิไม่เสื่อมก็นำไปสู่ปัญญา (สัมมาปัญญา) ใช้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ก็จักตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้ นักปฏิบัติทุกคนจักต้องให้ความสำคัญแก่ศีล รักษาศีลให้เป็นชีวิตจิตใจ ปฏิบัติไปจนเป็นอธิศีลเมื่อไหร่ ก็ถึงพระโสดาบัน เป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา คำว่าอบายภูมิ ๔ จักไม่เป็นที่ไปสำหรับบุคคลผู้นั้นอีก

ลัก...ยิ้ม 06-08-2014 13:59

๓. ร่างกายไม่มีสาระแก่นสารใด ๆ ที่จักยึดถือได้ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ให้พิจารณาร่างกายโดยแยกเป็นธาตุ ๔ ให้มาก แยกส่วนอาการ ๓๒ ฝึกฝนให้จิตทรงตัว ค่อย ๆ คิด ต้องฝึกฝนจิตให้คิดเหมือนกับสมัยที่ฝึกการคิดรักษาศีล ทำอย่างไรนั่นแหละ เรียกว่าพยายามทำให้จิตรู้จักใช้ปัญญา ไม่ใช่เอาแต่สัญญาความทรงจำอย่างเดียวจักไม่ได้ผล

อย่างกรณีคุณหมอก็เช่นกัน ที่บอกว่าไม่ไหวในเรื่องกายคตาและอสุภะ ให้รู้ว่านั่นเป็นสัญญา แล้วก็มีจุดหนึ่งที่มีเหตุทำให้คิดไม่ค่อยจักได้ คือกำลังใจยังไม่เต็ม คือเข้าไม่ถึงธรรมส่วนนี้นี่เอง คือจิตยังไม่มีกำลัง จุดนี้จักต้องรู้จักฝึกฝนจิตให้รักการพิจารณาร่างกาย อย่าปล่อยให้จิตไหลลงสู่เบื้องต่ำไปเรื่อย ๆ จักขาดทุน

คนเราถ้ามัวแต่ประมาท.. ไม่รีบเพียรฝึกฝนจิตให้ตัดสังโยชน์ที่คั่งค้างอยู่ คิดแต่ว่าจักรอบารมีเก่าเข้ามาถึงเอง บางครั้งก็อาจจักสายเกินไป กล่าวคือมีกรรมเข้ามาตัดรอนให้ชีวิตต้องตายไปเสียก่อน ไปเกิดเป็นพรหม เป็นเทวดาก็ไม่สิ้นทุกข์ หรือกลับมาเกิดเป็นคนก็ทุกข์ใหญ่ หรือโชคร้ายไปสู่อบายภูมิ ๔ ยิ่งทุกข์มหาศาล
การฝึกฝนจิตให้รู้จักคิด หรือธัมมวิจยะ เรื่องของร่างกายตามความเป็นจริง ตามคำสั่งสอนที่กล่าวไว้มากมายหลายวิธี เป็นการเสริมปัญญาบารมีให้เต็มอยู่ในธรรมปัจจุบัน มีความเพียร – ความอดทน - อดกลั้น ต่อคลื่นอารมณ์ที่เข้ามากระทบ มีสัจจะตั้งใจจะทำอะไรก็พยายามให้เป็นไปตามนั้นเสมอ ทำความดีทุกอย่างโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียว ทำทุกอย่างโดยมีปัญญาคุม ไม่ปล่อยให้จิตลอยไปลอยมา เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือสุดแต่คลื่นจักพาไปทางไหน เรือจักจมเมื่อไหร่ก็ได้


จิตคนเราก็เช่นกัน คนฉลาดเขาจักไม่ทิ้งบารมี ๑๐ กันด้วยเหตุนี้ อย่ามุ่งจักเอาแต่ทางลัดด้วยกำลังของ มโนมยิทธิ ให้หมั่นถามจิตตนเองดู ภาพกสิณพระนิพานทรงตัวอยู่ได้ทั้งวันหรือเปล่า ถ้ายังไม่ได้ทั้งวันแล้วคิดว่าตายแล้วไปได้แน่ ก็ประมาทเกินไป เมื่อรู้ตัวว่ายังทำไม่ได้ ก็พึงเร่งตัดสังโยชน์ให้มาก ๆ อยากพ้นขันธ์ ๕ ก็จักต้องพิจารณาขันธ์ ๕ อย่างจริงจัง ถ้าไม่รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ก็พ้นจากขันธ์ ๕ ไม่ได้

ลัก...ยิ้ม 13-08-2014 09:15

๔. ร่างกายไม่ใช่เรา จุดนี้จักต้องพิจารณาบ่อย ๆ เพื่อให้จิตทรงตัว เป็นการตัดสักกายทิฏฐิเบื้องสูง มิใช่สักเพียงแต่ว่าพิจารณาความตายให้จิตทรงตัวเท่านั้น อารมณ์ยอมรับความตายที่มีกันมาแต่พระโสดาบัน ยังเป็นอารมณ์หยาบอยู่เพราะยังยึดนั่นเกาะนี่ หากแต่การพิจารณาร่างกายเป็นธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ ประกอบด้วยปฏิกูลคือ สิ่งสกปรกที่สุดของร่างกายเป็นอสุภะ หรือนวสี ๙ จุดนี้หมั่นเจริญเพื่อการลด - ละ ในการยึดมั่นถือมั่นเป็นอารมณ์ละเอียด

ทุกคนที่ปรารถนาละขันธ์ ๕ ให้ได้อย่างจริงจัง จักต้องทำจุดนี้ให้มาก ๆ ของเหล่านี้มองเห็นกันไม่ยาก แต่การที่จักทรงจิตอยู่ให้มั่นคง.. มิใช่ของง่าย และขอให้ทุกคนจงอย่าประมาทในกรรม ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง.. ความตายเป็นของเที่ยง บางขณะเผลอไปแล้วก็ตั้งต้นใหม่ อย่าตำหนิตนว่าเลว วัดกำลังใจเข้าไว้เสมอ ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำเลยในแต่ละวัน นั่นและจัดว่าเลวแท้

ลัก...ยิ้ม 14-08-2014 08:34

๕. ให้ใจเย็น ๆ กฎของกรรมทั้งหลายจะค่อย ๆ คลายตัวไปในไม่ช้า และให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกอย่างเป็นอนัตตา สลายตัวไปหมด ถ้าหากไปยึดเข้าไว้ก็เป็นทุกข์ ให้ปล่อยวางโดยพิจารณาขันธ์ ๕ ของตัวเองเป็นหลักใหญ่ การพ้นทุกข์อยู่ที่จิตของเราเอง มิใช่ไปพ้นทุกข์ที่บุคคลอื่น ให้พิจารณาจิตของตนเอง อย่าไปแก้ไขจิตของบุคคลอื่น เรื่องของร่างกายมันก็เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ที่สุดก็เป็นอนัตตา อย่าไปยึดถือร่างกาย ถ้าหากต้องการพระนิพพานก็จงละไปให้ถึงที่สุด พิจารณาอาการ ๓๒ ให้จิตทรงตัว แล้วการตัดร่างกายจักง่ายเข้า มุ่งตัดร่างกายของตนเองเป็นสำคัญ

ถ้าหากตัดร่างกายของตนเองได้แล้ว ร่างกายของบุคคลอื่นก็จักตัดได้เอง อย่าไปห่วงใคร งานทุกอย่างทำตามหน้าที่ โดยพยายามอย่าเอาจิตไปเกาะ.. ทำเสร็จแล้วก็แล้วดับไป การทำงานของร่างกายก็เหมือนกับการมีชีวิตอยู่ นั่นเป็นหน้าที่ของมัน แล้วในที่สุดงานก็ดี ชีวิตของร่างกายก็ดี ย่อมถึงกาลอนัตตาไปในที่สุด เราทำงาน หรือมีชีวิตอยู่เพื่อรอความตายเท่านั้น ให้มีความรู้สึกเอาไว้เสมอ ความตายมาถึงเมื่อไหร่ จุดที่จิตเราต้องการคือพระนิพพานเท่านั้น ในยามปกติจึงพึงทำกาย - วาจา - ใจให้พร้อมอยู่ในศีล - สมาธิ - ปัญญา เพื่อพระนิพพานด้วย

ลัก...ยิ้ม 18-08-2014 17:18

๖. ถ้าจิตฟุ้งซ่านให้พยายามจับอานาปาฯ เข้าไว้ รวมทั้งใช้ปัญญาพิจารณากฎของกรรมตามความเป็นจริง (กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ) ถ้าหากจิตยังละสักกายทิฏฐิไม่ได้ ก็ย่อมยังมีอารมณ์ โกรธ - โลภ - หลง อยู่เป็นธรรมดา และชอบทำอะไรตามใจตนเองเป็นใหญ่อย่างนี้ทุกคน และก็เป็นธรรมดาอีกที่อยากให้ทุกคนตามใจเรา บางครั้งทำอะไรให้ใครก็ยังหวังผลตอบแทนอยู่ในใจ มิใช่ทำเพื่อพระนิพพาน ก็เป็นธรรมดาอีกนั่นแหละ ทุกอย่างล้วนอยู่ในตัวสักกายทิฏฐิ ซึ่งแปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เนื่องด้วยร่างกาย ซึ่งเมื่อรู้แล้วก็พึงละเสีย อย่าคิดว่ายาก หากตั้งใจละให้จริงก็จักละได้

ลัก...ยิ้ม 19-08-2014 08:46

๗. ติดตรงไหนให้ตัดตรงนั้น ให้มองทุกสิ่งไม่เที่ยง - เป็นทุกข์ - เป็นอนัตตา แล้วก็เห็นโลกทั้งโลกเป็นอยู่อย่างนั้น ยึดถืออันใดมิได้ จิตหวนเข้ามาพึ่งหรือยึดสิ่งที่เที่ยงแล้ว คือคุณพระรัตนตรัย ยึดพระธรรมคำสั่งสอนของพระตถาคตเจ้า เจริญจิตให้มั่นคงอยู่ในศีล - สมาธิ - ปัญญา หรือ ทาน-ศีล-ภาวนา มุ่งหวังพระนิพพานจุดเดียว เอาบารมี ๑๐ เสริมเป็นกำลังใจให้เต็มอยู่เสมอ พิจารณาดูสุขในโลกียวิสัย จุดไหนที่ยังเกาะอยู่หาต้นเหตุให้พบแล้วแก้ไขเสีย ถามจิตให้จิตตอบ เรื่องนี้มิใช่จักเตือนแต่เจ้าเท่านั้น แม้แต่คุณหมอเองก็ตาม ติดอยู่จุดไหนให้พิจารณาจุดนั้นถึงที่สุด แล้วจักพบแต่ความสุขที่มั่นคงของจิต อันเป็นผลที่ได้จากการปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ภายนอก หรือจากบุคคลอื่นเลย อย่าลืม ติดตรงไหน ให้ตัดตรงนั้น

ลัก...ยิ้ม 21-08-2014 08:35

๘. ร่างกายไม่มีแก่นสารสาระก็จริงอยู่ แต่การดำรงอัตภาพให้เป็นไปในช่วงที่มีชีวิตอยู่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้จิตที่อาศัยกายอยู่มีความสุขได้ด้วย การเดินสายกลาง.. ไม่เบียดเบียนร่างกายตนเองด้วย ไม่เบียดเบียนจิตใจของตนเองด้วย ไม่สร้างกิเลสคือ ความทะยานอยากให้เกิดขึ้นในรสอาหารมากจนเกินไปด้วย หากแต่ให้คำนึงถึงสุขภาพของร่างกายเป็นสำคัญ

เรื่องนี้เป็นความละเอียดอ่อนของจิต เพราะจิตรู้ จิตอาศัยอยู่ในเรือนคือร่างกายนี้ ยิ่งเรียนรู้ศึกษาเรื่องธาตุ ๖ (ดิน - น้ำ - ลม - ไฟ - อากาศ และวิญญาณธาตุ) ศึกษาอาการ ๓๒ พร้อมแล้ว เห็นการประชุมธาตุการทำงานของอาการ ๓๒ วิญญาณธาตุคืออายตนะทั้ง ๖ หรือประสาทสัมผัสทั้ง ๖ ของร่างกาย เพราะความหลง - โกรธ - โลภ ไม่มี วิญญาณธาตุหรือายตนะ ก็ไม่เบียดเบียนกายกับจิต เห็น - รู้การทำงานของธาตุของอาการ ๓๒ เป็นไปตามปกติหน้าที่ ร่างกายก็สบาย จิตก็สบาย จักมีการเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างก็ตามกฎของกรรม อันเป็นวิบากกรรมในอดีตชาติตามมาให้ผล ล้วนเป็นกฎธรรมดาของร่างกาย (สัทธรรม ๕) การดำรงชีวิตอยู่ของอัตภาพร่างกาย ตถาคตจึงกล่าวถึงปัจจัย ๔ หรือ ปัจจเวกขณ์ ๔ ให้ภิกษุสงฆ์ได้พิจารณาเพื่อกายเป็นสุข จิตเป็นสุขในมัชฌิมาปฏิปทา ๔ อย่างนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต เพื่อรักษาร่างกายไว้เพื่อประกอบความดี คือเพียรเพื่อมรรคผลนิพพานแห่งจิตของตนเท่านั้น เป็นประการสำคัญ


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:07


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว