ถาม : การมีวัตถุมงคลไว้มาก ๆ เราควรเก็บไว้ให้ลูกหลานเรา หรือควรนำไปถวายพระหรือร่วมบุญอื่น ๆ ?
ตอบ : สำคัญตรงที่ว่าเห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นของเรา ถ้าเห็นตรงนี้ได้ อะไรก็ดีทั้งนั้น ถาม : (ไม่ได้ยิน) ตอบ : ก็แล้วแต่เรา ถ้าเห็นว่าเป็นของดีจริง ๆ ก็เหลือให้ลูกหลานสักส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็เอาเข้ากองบุญการกุศลไป ถาม : จะบอกลูกอย่างไรว่าวัตถุมงคลนี้เป็นของดี ให้เขาเห็นคุณค่า ? ตอบ : ใช้วิธีถ่ายทอดส่งต่อ อธิบายให้ลูกเข้าใจ ให้เขาเห็นความสำคัญ อาจจะยกอิทธิปาฏิหาริย์อะไรบางอย่างมาประกอบบ้างก็ได้ หรือไม่ก็รอจนเขามีประสบการณ์เอง แต่การรอจนเขามีประสบการณ์เองนี่เด็กรุ่นใหม่คงจะยาก เด็กรุ่นใหม่นิยมรอยสักมากเลย แต่ไม่แขวนพระ อาตมาเห็นแล้วก็ เออ..เข้าท่าดี แบบนั้นถ้าชอบแล้วถือขึ้นนี่ใช้ได้เลยนะ ถ้าใครอยากรู้ว่าสักแล้วของขึ้นเป็นอย่างไรให้ไปงานไหว้ครูหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระที่นครปฐม ที่นั่นเวลาไหว้ครู ต้องเอาทหารเป็นกองร้อยมาช่วยกันจับคน ไม่อย่างนั้นเวลาของขึ้นแล้วจะเอาไม่อยู่ หลวงพ่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงครามท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปเดียวที่มีรอยสักติดตัวอยู่ มีพระเถระฝ่ายปกครองบางรูปไปตำหนิพระที่ท่านสักอักขระเต็มตัว ท่านบอกว่าคนเห็นแล้วน่ากลัวมากกว่าน่าเลื่อมใส ไปขอหลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านออกเป็นคำสั่งห้ามพระสักได้ไหม ? หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านบอกว่า “บ้านเราเมืองเราคงความเป็นชาติไทยมาได้ก็เพราะของพวกนี้ ลูกผู้ชายควรที่จะมีอักขระเลขยันต์ติดตัวไว้เป็นที่พึ่งทางใจบ้าง เขาชอบของเขาอย่างนั้นเราจะไปสั่งห้ามได้อย่างไร ?" |
ถาม : แล้วพระอาจารย์ได้ไปสักบ้างไหมครับ ?
ตอบ : อาตมาเองไม่ได้ใส่ใจตรงจุดนั้น เพราะว่าใครชอบอะไรก็ตามขอให้ทำจริง ๆ จะเกิดผล ตอนที่เรียนทหารอยู่มีเพื่อนคนหนึ่ง ทุกวันนี้ยังเป็นจ่าอาวุโสอยู่เลย ยังไม่ได้เป็นนายร้อย เรียนนักเรียนนายสิบมาด้วยกัน วันก่อนก็โทรมา คุยซะหูชาเลย ตอนนั้นอาตมาตื่นขึ้นมาภาวนาตอนตี ๓ สุรสิทธิ์ก็ตื่นขึ้นมาภาวนาตอนตี ๓ เห็นเขาเสกเป่าคาถาบทนั้นแล้วก็เสกลูบยันต์ตรงนั้น คาถาบทนี้ลูบรอยสักตรงนี้ ปลุกทั้งตัวที่สักไว้ แล้วของขึ้นจริง ๆ ปกติทหารจะเล่นแผลง ๆ มีอะไรสนุกสนานเฮฮาอยู่ทุกวัน มีอยู่อย่างหนึ่งก็คือประเภทกระโดดข้ามเพื่อน เวลากระโดดข้ามไปแล้วต้องไปยืนโก้งโค้งให้เขากระโดดข้ามบ้าง สลับกันไปทั้งกองร้อย เป็นการออกกำลังด้วย เป็นการเล่นด้วย สุรสิทธิ์เจออย่างนั้นทีไร รุ่งขึ้นจะไข้จับลุกไม่ขึ้นทุกที เพราะว่าไปข้ามของที่เขาถือ เห็นชัด ๆ เลยว่าคนที่เชื่อมั่นศรัทธาจะถือของขึ้น ตอนที่เขาโทรมา เขาบอกว่าไม่รู้หรอกว่าเป็นอาตมา เขาค้นหาชื่อตัวเองในกูเกิ้ล ปรากฏว่าไปติดหนังสือกระโถนข้างธรรมมาสน์ เขียนถึงสิบตรีสุรสิทธิ์ ด่านบางภูมิ ก็สงสัยว่าใครเอ่ยถึง ไปดูชื่อผู้เขียนเป็นพระเล็ก เขาก็สงสัยว่าเพื่อนของเราก็มีไอ้เล็กอยู่คนเดียว เขาก็พยายามเสาะหาจนได้เบอร์โทรวัดท่าขนุนแล้วโทรมาถามว่าใช่ไหม ? อาตมาต้องบอกว่าใช่ ถามเขาว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง คุยกันไปเรื่อย เขาก็บอกว่าเขามีลูกชายคนหนึ่ง ลูกสาวคนหนึ่ง ตอนนี้ลูกชายเรียนปริญญาโท ลูกสาวกำลังจะจบปริญญาตรี ตัวเองก็ใกล้เกษียณแล้ว ไปอยู่ค่ายพระเจ้าตาก จังหวัดตาก บอกว่าผ่านมาให้แวะบ้าง ผ่านไป ๒ - ๓ ครั้งยังไม่ได้แวะสักที |
ถาม : (ไม่ได้ยิน)
ตอบ :ถ้าเป็นสมัยนี้หลวงปู่มหาอำพันต้องได้เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ แต่หลวงปู่นอกจากจะไม่ดิ้นรนอะไรแล้ว ท่านยังอยู่จนเกือบ ๓๐ พรรษา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ถึงได้ตั้งให้เป็นอาจารย์คู่สวด พูดง่าย ๆ ก็คือท่านก็สวดมนต์ไหว้พระ ปฏิบัติของท่านไปเรื่อย จนกระทั่งความดีปรากฏบังไม่อยู่แล้ว บรรดานาคไปสมัครบวชท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็บอกว่า “ให้ไปหามหาอำพันเขานะ เขาสอนนาคได้ดี” พ่อนาคเขาก็ไปหาหลวงปู่ อาตมาเคยเห็นหลวงปู่สอนนาคแล้ว...ท่านเน้นอักขระทีละคำเลย ออกเสียงผิดไม่ได้ “พ่อเราเป็นพญาหงส์ทอง ถึงเวลาต้องร้องแบบหงส์ จะร้องแบบกาไม่ได้” เพราะฉะนั้น..อักขระทุกคำต้องชัดถ้อยชัดคำ อัชชะตัคเคทานิ เถโร, มัยหัง ภาโร, อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร อย่าออกเสียงเป็นพาโลเป็นอันขาด มัยหัง ภาโร ภาระ คือตัวข้าพเจ้านั้น อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร ถือว่าเป็นภาระของพระเถระ คือไปมอบตัวให้ท่านสั่งสอน แต่ถ้า มัยหัง พาโล ข้าพเจ้าเป็นไอ้โง่ อะหัมปิ เถรัสสะ พาโล พระเถระท่านก็เป็นไอ้โง่ด้วย ออกเสียงผิดนี่ความหมายไปคนละโลกเลย ไปเจอหลวงปู่มหาอำพันสอนนาคก็เรียบร้อย กว่าจะหลุดออกมาได้แต่ละคนนี่แทบจะเลิกบวชไปเลย |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ในระดับสมเด็จพระราชาคณะหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ถ้าจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง อย่าให้มีเรื่องมัวหมองเป็นอันขาด มีเมื่อไรเท่ากับเปิดโอกาสให้คนอื่นเลื่อยขาเก้าอี้ได้ เดี๋ยวพอถึงเวลาถ้ามีคนมีคุณสมบัติตีคู่กันมา เรื่องนี้จะกลายเป็นตัวถ่วงเลย คราวนี้ไล่เพื่อนไม่ทันแล้ว กลายเป็นคุณสมบัติของเพื่อนดีกว่า เพราะไม่เคยมัวหมองตรงนี้
รับประกันว่าพวกเราคงไม่ใช่คุณบุญชัย เบญจรงคกุล เขารับคนที่เคยบริหารบริษัทเจ๊งมาแล้ว อีกคนหนึ่งบริหารประสบความสำเร็จมาตลอดกลับไม่เอา เอาคนทำบริษัทเจ๊งมาแล้ว อีกคนเขาก็รับไม่ได้นะสิ คุณสมบัติเหนือกว่ากันตั้งเยอะทำไมเขาไม่เอา ได้รับคำอธิบายมาว่า “คนที่เคยทำบริษัทเจ๊งมาแล้วเขามีประสบการณ์ ต่อไปเขาจะรู้วิธีแก้ไข แต่คนยังไม่มีประสบการณ์แล้วมาทำให้ผมเจ๊ง ผมก็แย่นะสิ” สรุปว่าควรจะเลือกหาคนที่มัวหมองที่สุดขึ้นไปใช่ไหม ? ...(หัวเราะ)... อ้าว..อย่าลืมนะ ออกญาพระกลาโหมก่อนจะขึ้นครองราชย์สมบัตินี่โดนต่อต้านสุดชีวิตเลย เขาถือว่าเป็นขบถต่อแผ่นดิน ออกหลวงนายฤทธิ์อย่างไรก็ไม่ยอม ออกญาพระกลาโหมบอกว่า “ออกหลวง ต้องคนอย่างข้าพเจ้าจึงขึ้นไปเป็นเจ้าชีวิตได้ เพราะข้าพเจ้าเป็นคนชั่ว ย่อมรู้ว่าคนชั่วคิดอย่างไร อย่างท่านขึ้นไปไม่ได้หรอก ไม่ทันคนชั่วมัน” ออกหลวงนายฤทธิ์จนด้วยเหตุผลก็ต้องยอมเขา บอกว่าจะฆ่าก็ฆ่า ออกญาพระกลาโหมบอกว่า “ไม่ฆ่าหรอก จะปล่อยไป ขออย่างเดียว ถ้ามีศึกเสือเหนือใต้มาประชิดบ้านเมือง ขอให้มาช่วยกัน” |
ถาม : แล้วออกญาพระกลาโหมนี่ตอนหลังท่านเป็นใครคะ ?
ตอบ : ชื่อพระเจ้าปราสาททอง ออกหลวงนายฤทธิ์ก็เป็นประเภทนักเลงแท้ เขาบอกว่า “ถ้าเรื่องส่วนตัวชองท่านผมไม่ช่วย แต่ถ้าเรื่องของชาติบ้านเมืองบอกมาได้” เขาแยกส่วนตัวกับส่วนรวมออก ประเภทว่า "ไม่ชอบขี้หน้าเอ็ง แต่ถ้าชาติอื่นมาตีบอกได้ เดี๋ยวจะไปช่วยกันตี” สมัยก่อนคำสั่ง ความเห็น ความต้องการของพระเจ้าแผ่นดินคือกฎหมาย แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ยังตรัสกับพระภิกษุไว้ ภิกขเว..อนุชานามิ ราชานัง อะนุวัตติตุนติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุโลมให้คล้อยตามพระราชา คือคล้อยตามกฎหมายบ้านเมือง แปลว่าพระพุทธเจ้าสั่งให้พระอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมืองแต่แรกแล้ว เราต้องไปนึกว่าคนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สมัยก่อนไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ต้องระงับรัก โลภ โกรธ หลงของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่อย่างนั้นแล้วอยู่ไม่ได้ เพราะถ้าปกครองแล้วไพร่ฟ้าประชากรเดือดร้อน ท้ายสุดจะลุกฮือขึ้นก่อกบฏ ฉะนั้น..บุคคลที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสว่า อย่างน้อยต้องเคยปฏิบัติเนกขัมมะบารมีอย่างอ่อนมา ไม่อย่างนั้นห้ามใจตัวเองจากความต้องการเต็มที่ไม่ได้หรอก เพราะขนาดชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ บอกแล้วว่าความคิด ความต้องการ ความเห็นคือกฎหมาย ก็ต้องพยายามห้ามตัวเองเอาไว้ให้อยู่ในกรอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นถ้าชาวบ้านไม่สนับสนุนก็อยู่ไม่ได้ |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:36 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.