พระอาจารย์เคยบอกว่า "ผู้หญิงกับผู้ชายคบค้าสมาคมกันไป น้อยรายที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกันได้ โดยที่ไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง"
|
ถาม : อ่านหนังสือเรื่อง ศิวาราตรี นางเอกในเรื่องชื่อ เจ้าหญิงยามาระตี ยุพดีขวัญฟ้า นายิกาแห่งดาราพราย นายิกา แปลว่า อะไรคะ ?
ตอบ : นายิกา คือ ผู้นำที่เป็นหญิง ผู้นำที่เป็นชายเขาเรียกว่านายก นายิกาแห่งดาราพราย คือ หญิงผู้งามกว่าดวงดาวทั้งปวง ถ้าเปรียบไปแล้วคือพระจันทร์ ยุวดี (บาลี) แปลว่า หญิงสาวผู้อ่อนวัย ถ้าสันสกฤต จะเป็น ยุพดี อย่างคำว่า วิบูล เป็นบาลี ถ้าสันสกฤตจะเป็นไพบูลย์ |
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่ชอบตัดสินใจแทนใคร เพราะว่าถ้าตัดสินใจแทนเขาแล้ว เขาก็จะตัดสินใจเองไม่ได้เสียที
|
พระอาจารย์บอกว่า "ถ้าเราไล่กั้นกิเลสได้ทัน ได้รวดเร็ว อย่างอื่นก็จะช้าหมดสำหรับเรา"
|
ขณะที่เถรีกำลังอุ้มเด็กน้อยคนหนึ่ง น้องเขาก็กลัว ร้องขึ้นมา พระอาจารย์ท่านก็บอกว่า "บอกแล้วว่า ถ้ายังแก่ไม่พออย่าไปอุ้มเด็ก พ่อแม่วัยรุ่นเลี้ยงลูกแล้วลูกจะร้องตลอด เพราะร่างกายมีไฟฟ้าสถิตเยอะ ไฟธาตุยังมากอยู่ ทำให้รบกวนเด็ก ทำให้เด็กไม่สบายตัว เลยร้องออกมา
ต้องแก่พอแล้วจึงไปอุ้ม จะเห็นว่าเด็ก ๆ ติดปู่ย่าตายายมากกว่า เพราะไฟธาตุท่านใกล้จะหมดแล้ว เด็กอยู่ด้วยแล้วสบายตัวมากกว่า" |
พระอาจารย์มักเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่มารับสังฆทานที่บ้านอนุสาวรีย์ ตอนกลางคืนจะมีเสียงดังรบกวนตลอด เสียงเพลงคาราโอเกะบ้าง เสียงขุดเจาะก่อสร้างบ้าง ฯลฯ ทำให้นอนไม่หลับ ร่างกายอ่อนเพลียไม่ได้พักผ่อน
ท่านบอกว่า "งานอะไรก็ตามที่เราทำเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะในส่วนของความดี มารเขายิ่งต้องขวางให้มากเป็นพิเศษ ก็เลยกลายเป็นอะไรที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถึงทำอะไรมากไม่ได้ กวนไม่ให้นอนเขาก็ยังเอา" |
ในเรื่องการเรียนนั้น พระอาจารย์ท่านบอกว่า "ถ้าอาจารย์ผู้สอนมีอะไรที่มากกว่าของเรา เราต้องตะเกียกตะกายคว้าเอามาให้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีพื้นฐานของสมาธิ เห็นชัดเลยว่าจะเรียนดีกว่าคนที่ไม่มีสมาธิ
อย่าหนีของยาก ของยากที่สุดถ้าเราทำได้ ของอื่นก็ไม่มีอะไรยากแล้ว" |
ในเรื่องของกรรมที่ผูกพันในอดีตนั้น พระอาจารย์ท่านสอนว่า "ถ้าหากว่าเราเชื่อในผลกรรม เชื่อเฉย ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากมีการสนองตอบ คล้อยตามเขาเมื่อไร ทุกอย่างจะพังบรรลัยทันที..!
ถ้าในชาติปัจจุบันเราไปเออออห่อหมกกับเขา ว่าในอดีตเคยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยกันมาก่อน เดี๋ยวจะเป็นเรื่อง เพราะว่าแรงกรรมที่รออยู่นั้น จะฉวยโอกาสฉุด..ชัก..ดึง..ลาก ทุกอย่างจะไปตามกันหมด ฉะนั้น..เรื่องในอดีตชาติไม่ได้เกี่ยวกับเราแล้ว ในชาติปัจจุบันนี้แค่รับรู้ไว้ก็พอ" |
พระอาจารย์ท่านบอกว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วท่านแก้ไขได้ ไม่ใช่เพราะว่าท่านเก่ง แต่ท่านคิดล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ถ้าเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นจะแก้ไขอย่างไร ?
"ภาษิตจีนเขาบอกว่า รุกขึ้นหน้าหนึ่งก้าว ต้องถางทางถอยหนึ่งวา พวกเราต้องหัดมองในมุมกว้าง ไม่ใช่คิดแต่ในด้านที่จะได้อย่างเดียว ต้องคิดเผื่อถึงตอนที่เราจะเสียด้วย เพราะทุกอย่างเป็นอนิจจัง" |
พระอาจารย์เคยพูดเกี่ยวกับอารมณ์เบื่อ หรือที่เรียกว่านิพพิทาญาณไว้ว่า "ถ้าหากไม่มีกำลังของสมาธิมาช่วยหนุน อารมณ์นี้จะอยู่กับเรานานมาก หากมีกำลังสมาธิเพียงพอ จะทำให้เกิดปัญญา แล้วจะทำให้ก้าวล่วงข้ามผ่านไปได้"
|
มีคณะหนึ่งมาปรึกษาพระอาจารย์ เนื่องจากเขามีปัญหาไม่ลงรอยกับคนในกลุ่ม พระอาจารย์บอกว่า "สงบศึกไม่ได้แสดงว่ายังแบกตัวกู ของกูไว้เยอะ ยิ่งแบกนานก็ยิ่งทุกข์มาก ถ้าเลิกแบกก็ทุกข์น้อย เรากำลังแบกมานะ แบกอวิชชาไว้จนเต็มบ่า มีอยู่อย่างเดียวคือ มีอะไรก็ประนีประนอมกัน ใครวางได้ก่อนก็สบายก่อน"
|
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "พอปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เรื่องที่อยากรู้เหมือนก่อนนี้ไม่ค่อยจะมี เราจะค่อย ๆ เบื่อไปเอง แต่พอถึงเวลานั้นสารพัดเรื่องที่เคยอยากรู้กลับประดังกันเข้ามา
ที่แปลกก็คือ ตอนที่อยากได้ไม่มา มักจะมาตอนที่หมดอยากแล้ว เพราะฉะนั้นเราวางกำลังใจอย่างไรให้หมดอยากไว ๆ แล้วทุกอย่างจะไหลมาเทมาเอง" |
พระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า คนแต่งงานแล้วกับคนยังไม่แต่ง เขามองต่างกัน "โกวเล้งเคยเปรียบเอาไว้ คนหนึ่งอยู่ในป้อมปราการ มองออกมาข้างนอกเห็นชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนยอดไม้ เขาก็อิจฉา ว่าที่ตรงนั้นสบาย ลมก็เย็น มองเห็นอะไรหมดทุกอย่าง ทำอย่างไรเราจะได้ไปนั่งอยู่ตรงนั้นบ้าง?
ชายคนที่อยู่บนยอดไม้มองเข้ามาเห็นคนข้างในป้อมปราการ ก็คิดว่าคนข้างในสบาย อยู่ข้างในปลอดภัยกว่า ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับใคร มีกินมีใช้ตลอด ทำอย่างไรเราจะได้เข้าไปอยู่ข้างในนั้นบ้าง? คนแต่งงานกับคนไม่แต่งงานเขามองต่างกัน ทำนองที่เขาว่า "คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า" |
พระอาจารย์บอกว่า "ในเรื่องคุณไสยนั้น ถ้าเราภาวนาให้กำลังใจทรงตัวแค่ในระดับปฐมฌาน พวกผีหรือไสยศาสตร์ก็ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว เขาจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราเผลอ เพราะฉะนั้น..เมื่อเรายังเผลอเป็นปกติ เราก็ต้องอาราธนาบารมีพระ อาราธนาวัตถุมงคลให้คุ้มครองเราเป็นประจำทุกวัน"
|
ถาม : ลาภ กับ โลภ ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : ลาภ ได้มาเองแม้จะไม่ต้องการ ....... โลภ ถ้าต้องการแล้วไม่ได้ แม้ผิดกฎหมายและศีลธรรมก็จะเอาให้ได้ |
นักปฏิบัติที่ยังไม่ทันลงมือทำ ก็เป็นกังวลว่าตนเองจะทำอย่างนั้นได้หรือไม่ ทำแล้วจะออกมาเป็นแบบไหน หรือกลัวว่าถ้าทำแล้วจะออกมาไม่ดี วิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้ทำ
ท่านพระอาจารย์เคยเปรียบเทียบว่า "ประเภทที่ยังไม่ทันจะกินแล้วไปห่วงว่าอิ่มหรือเปล่า เมื่อไรจะได้กินกับเขาเสียที" |
พระอาจารย์เคยบอกว่า "บุคคลที่ยอมลำบากโดยที่ไม่ห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จัดว่าเป็นปรมัตถบารมี แต่บุคคลที่เป็นปรมัตถบารมีแล้วจะมีปัญญาเฉลียวฉลาดด้วย เขาจะรู้ว่าแค่ไหน ขนาดไหน จึงพอเหมาะพอควร"
|
พระอาจารย์บอกว่า "การที่เราต้องการให้คนอื่นมาสนใจเรา มาให้ความสำคัญกับเรา เป็นสักกายทิฐิมานะเต็ม ๆ เลย"
|
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า เคยหนักมากที่สุด ๖๓.๕ กิโลกรัม ตอนช่วงที่ท่านยังเป็นทหารอยู่
"เป็นคนที่น้ำหนักขึ้นยากมาก ไม่มีใครอยากชกด้วย เพราะเป็นนักมวยทหารรุ่นไลท์เวทคนเดียวที่ไม่ต้องลดน้ำหนักและไม่ต้องเพิ่มน้ำหนัก พอดีเป๊ะ แรงดีไม่มีตก ก่อนบวชสองปี ก็ตั้งใจรักษาศีลแปด จะได้เคยชินกับการอดข้าวเย็น ผลปรากฏว่าน้ำหนักหาย เหลือ ๕๔ กิโลกรัม แปลว่าหายไปทีเดียว ๙ กิโลครึ่ง จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา ๒๕ ปีแล้ว ได้คืนมาตั้ง ๒ กิโลกรัม..!" |
พระอาจารย์ท่านกล่าวในเรื่องอาหารว่า "ร่างกายเราต้องการอาหารเพื่อยังอัตภาพเท่านั้น ส่วนที่ต้องการอาหารหน้าตาสวย ๆ น่ารับประทาน รสชาติอร่อย ติดลิ้น นั่นเป็นกิเลสต้องการ
แม้กระทั่งกินเราก็ต้องระวัง" |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:33 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.