กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   กระทู้ธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=2)
-   -   "มิลินทปัญหา" ที่น่าอ่าน (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=63)

สายท่าขนุน 29-04-2009 12:49

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ suthamma (โพสต์ 4855)
:4672615: ไม่ใช่คำแก้ตัวนะครับ แต่อยากบอกว่า บางคำแม้ไม่มีในพจนานุกรม(อ้างแบบเถรตรงมาก) ก็น่าจะใช้ได้ เพราะเน้นความต้องการได้ชัดเจน เช่น กินซะ ทำซะ แต่ถ้าเป็น กินเสีย ทำเสีย มันจะได้อีกความหมายนะครับ

กราบขออภัยเป็นอย่างสูง
ขอเรียนสอบถามว่า "ซะ" เข้าข่ายภาษาพูดหรือไม่คะ:5c745924:
เนื่องด้วยการทักท้วงครั้งนี้ ได้เลียนแบบน้องแถวตามอ้างอิงด้านล่าง
ซึ่งได้มีการแก้ไขจากคำว่า "ซะอีก" เป็น "เสียอีก" ตามคำทักท้วงของน้องแถวไปแล้วค่ะ
เป็นเหตุให้กราบขออนุญาตแจกเป็นใบแดงไป
อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ เด็กท้ายแถว (โพสต์ 4771)
ท่านพี่คะ
คำ ซะ ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่
อ้างอิงจาก : http://rirs3.royin.go.th
ควรเขียนว่า "เสีย" ถูกต้องหรือไม่คะ เพราะคำว่า "ซะ" น้องแถวคิดว่าเป็นภาษาพูดนะคะ
:6f428754:.....:onion_love:.....:msn_smilies-15:

:msn_smilies-04::cebollita_onion-08:

สายท่าขนุน 29-04-2009 20:48

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ suthamma (โพสต์ 4899)
:4672615: ตรงนั้นรับผิดเพื่อให้กำลังใจคนทักท้วงครับ ที่จริง "ซะ" เป็นภาษาพูด ถ้าไม่วิบัติมากนักก็ใช้ได้ แต่ควรจะใช้สระและวรรณยุกต์ให้ตรงตามเสียงด้วยครับ

กราบขอบพระคุณค่ะ
ทั้งนี้ กราบขอกำลังใจในการทักท้วง โดยไม่เพียงลอกเลียนแบบใครด้วยค่ะ
ขอคืนใบแดงค่ะ:9bbc76d5: ทั้งนี้เพื่อ
๑۩۞۩๑ ขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่าน ๑۩۞۩๑
ช่วยกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และโปรดหลีกเลี่ยงการนำภาษาพูดไปใช้เป็นภาษาเขียนด้วย

การที่ได้ล่วงเกินอันมิควรใด ๆ กราบขอขมามา ณ ที่นี้:875328cc:

นางมารร้าย 30-04-2009 11:05

:d16c4689:
เห็นด้วยกับท่านพี่ suthamma ค่ะ "กระดานสนทนา" ถ้าห้ามใช้ภาษาในการสนทนาอย่างเด็ดขาดไปเลย บรรยากาศจะเหมือนบอร์ดนิทรรศการ มันจะสนทนาไม่ค่อยออกค่ะ ขอแค่หลีกเลี่ยงภาษาพูดที่เป็นพวกภาษาวิบัติก็พอค่ะ

สายท่าขนุน 30-04-2009 19:27

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ นางมารร้าย (โพสต์ 4970)
:d16c4689:
เห็นด้วยกับท่านพี่ suthamma ค่ะ "กระดานสนทนา" ถ้าห้ามใช้ภาษาในการสนทนาอย่างเด็ดขาดไปเลย บรรยากาศจะเหมือนบอร์ดนิทรรศการ มันจะสนทนาไม่ค่อยออกค่ะ ขอแค่หลีกเลี่ยงภาษาพูดที่เป็นพวกภาษาวิบัติก็พอค่ะ

มีผู้ออกความเห็นแม้เป็นภาคเสธ แสดงว่ามีผู้ยอมรับการทักท้วง:onion_love: ให้เป็นกำลังใจ
กราบขอบพระคุณท่านพี่อีกครั้ง
และจะพยายามรณรงค์รักษาภาษาไทยเช่นนี้ต่อไปค่ะ:6e45ec9e:

คนเก่า 01-05-2009 16:10

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ suthamma (โพสต์ 4855)
:4672615: ไม่ใช่คำแก้ตัวนะครับ แต่อยากบอกว่า บางคำแม้ไม่มีในพจนานุกรม(อ้างแบบเถรตรงมาก) ก็น่าจะใช้ได้ เพราะเน้นความต้องการได้ชัดเจน เช่น กินซะ ทำซะ แต่ถ้าเป็น กินเสีย ทำเสีย มันจะได้อีกความหมายนะครับ

เชียร์ครับ เชียร์

ภาษาที่ไม่ตายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยม

สิ่งใดควร แม้มิได้มีผู้บอก บัณฑิตย่อมแจ้งในความควรนั้น
สิ่งใดไม่ควร แม้มิได้มีผู้บอก บัณฑิตย่อมแจ้งในความไม่ควรนั้น

ทาริกา 04-05-2009 10:06

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ นางมารร้าย (โพสต์ 4970)
:d16c4689:
เห็นด้วยกับท่านพี่ suthamma ค่ะ "กระดานสนทนา" ถ้าห้ามใช้ภาษาในการสนทนาอย่างเด็ดขาดไปเลย บรรยากาศจะเหมือนบอร์ดนิทรรศการ มันจะสนทนาไม่ค่อยออกค่ะ ขอแค่หลีกเลี่ยงภาษาพูดที่เป็นพวกภาษาวิบัติก็พอค่ะ

บรรยากาศจะเหมือนละครไทยย้อนยุคมากกว่าค่ะ ซึ่งหนูก็ชอบนะคะ

เพราะหากมีการยกเว้นในบางคำ คนจะสับสนว่าตกลงใช้ภาษาพูดได้มากน้อยแค่ไหน ใช้อะไรวัดว่าคำนี้ใช้ได้หรือไม่ได้
ขนาดไม่ยกเว้นยังมึนงงกันอยู่เลย :onion_no:

ป้านุช 04-05-2009 12:52

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าไม่มีใครดีเท่าเทียมจริงหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ถูกแล้ว

ม. ก็พระคุณเจ้าไม่ได้เห็น ทำไมจึงรู้เล่า
น. ขอถวายพระพร คนที่ยังไม่เคยเห็นทะเล แต่เมื่อพูดถึงทะเล เขาจะรู้สึกหรือไม่ว่าทะเลกว้างใหญ่

ม. รู้สิพระคุณเจ้า
น. ฉันใดก็ฉันนั้น แม้อาตมภาพมิได้เห็นพระพุทธเจ้าเลยก็จริง แต่เมื่อมาได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือได้เห็นพระพุทธสาวกปฏิบัติดีปฏิบัติงาม แล้วได้รับความสุขกายเย็นใจ ก็หยั่งรู้ว่า พระพุทธเจ้าดียิ่งจริง (พุทธนุตตรภาวปัญหา)

ม. ส่วนผู้อื่นเล่า เขาอาจจะรู้ได้หรือว่าพระพุทธเจ้าดียิ่งจริง
น. ขอถวายพระพร ผู้ที่ใคร่ครวญธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ค้นหาเหตุผลแล้ว ก็ย่อมชอบใจเช่นเดียวกัน เมื่อนั้นเขาจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าดีจริง (พุทธานุตตรชานนปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ ถูกใจข้าพเจ้า

ป้านุช 04-05-2009 12:55

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร มีจริง

ม. ถ้าเช่นนั้น เวลานี้เสด็จไปประทับอยู่ที่ไหน
น. ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว
อาตมภาพไม่สามารถชี้ที่ซึ่งเสด็จประทับอยู่ถวายได้


ม. ถ้าเช่นนั้น จงเปรียบให้ฟัง
น. เหมือนกองไฟซึ่งเคยลุกโพลงอยู่ แต่เปลวดับลงเรื่อย ๆ
จนสิ้นกองเปลวไฟที่หายไปไปนั้น พระองค์จะชี้ได้หรือไม่ว่าไปอยู่เสียที่ไหน


ม. ชี้ไม่ได้ เปลวไฟดับแล้วก็เป็นอันดับสิ้นไป
น. นั่นแลฉันใด พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น พระองค์มีอยู่จริง แต่เพราะพระองค์ได้เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ความดับจนสิ้นเชื้อ) จึงชี้ถวายไม่ได้ว่าพระองค์ไปอยู่เสียที่ใด สิ่งที่อาตมภาพพอจะชี้ถวายได้คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ (พุทธนิทัสสทนปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าช่างสามารถจริง

คนเก่า 04-05-2009 13:04

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ อ่องอ๋า (โพสต์ 5219)
บรรยากาศจะเหมือนละครไทยย้อนยุคมากกว่าค่ะ ซึ่งหนูก็ชอบนะคะ

เพราะหากมีการยกเว้นในบางคำ คนจะสับสนว่าตกลงใช้ภาษาพูดได้มากน้อยแค่ไหน ใช้อะไรวัดว่าคำนี้ใช้ได้หรือไม่ได้
ขนาดไม่ยกเว้นยังมึนงงกันอยู่เลย :onion_no:

แทนที่จะเอาแต่ของง่าย ได้รู้แค่เท่าที่มีกฎเกณฑ์ระบุชัดเจน
อย่างใครก็สามารถซื้อตำรามาอ่านได้

มาเรียนรู้ว่าบัณฑิตท่านคิดอย่างไร พิจารณาอย่างไร ก่อนที่จะ
กลายเป็นตำรา ไม่ดีกว่าหรือ

weesamrandee 05-05-2009 20:44

"กินซะ" ,"ทำซะ"

ผู้เขียนต้องการจะสื่ออารมณ์,ความรู้สึก ของตนเอง
เพราะได้ยินมาอย่างนี้ อยากให้ผู้อ่านรู้สึกอย่างนั้นตาม
จึงจำเป็นต้องใช้ภาษาพูด แต่น่าจะอยู่ในเครื่องหมาย " "
ครั้นหากจะเปลี่ยนเป็น "กินเสีย" ,"ทำเสีย" ความหมาย,วัตถุประสงค์ ก็ผิดเพี้ยนไปด้วย

บางกรณี มีเหตุจำเป็นต้องยกคำพูดหรือบทสนทนา ของบุคคลอื่น มากล่าวอ้าง
ก็สามารถใช้ภาษาพูดได้เช่นกัน เพราะหากจะเปลี่ยนเป็นภาษาเขียน
คำ,ความหมาย,ความรู้สึก จะไม่ตรงตามความเป็นจริง ณ เหตุการณ์ตอนนั้นนั่นเอง

แต่ก็มีข้อยกเว้น ในกรณีอื่น ๆ อีก ใคร่ครวญพิจารณาเอาเถิด...สาธุ

ป้านุช 11-05-2009 13:40

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าทรงผนวชจริงหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร จริง

ม. ถ้าเช่นนั้นใครเล่าเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์
น. ขอถวายพระพร การผนวชของพระพุทธเจ้าไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ เพราะว่าการผนวชนั้นมีมาพร้อมกับการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าของพระองค์
อุปมาดังการบริโภคอาหาร แม้ไม่มีอาจารย์ก็บริโภคเป็น
การผนวชของพระพุทธเจ้านั้น ก็เช่นเดียวกับการบริโภคอาหารนี้
กล่าวคือ พระองค์ทรงรู้เอง เห็นเองซึ่งความจริงทั้งหลาย รวมทั้งเหตุผลและวิธีการแห่งการบวช
เพราะฉะนั้นจึงหามีใครเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของพระองค์ไม่ (อุปสัมปันนปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 11-05-2009 13:44

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูรู้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจริงหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร จริง แต่ความรู้นั้น ๆ หาได้มีแนบพระหฤทัยอยู่ทุกขณะไม่ จะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงนึกเสียก่อน

ม. ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่สัพพัญญู เพราะถ้าเป็นสัพพัญญูจริง พระองค์ก็ไม่ต้องนึกไว้ก่อน
น. อาตมาขอเปรียบถวาย หากต้นไม้ต้นหนึ่งมีผลเต็มต้น แต่ผลนั้นยังไม่ร่วงเลยสักผลเดียว จะว่าไม้ต้นนั้นมีผลน้อยหรือไม่มีผลได้หรือไม่

ม. ไม่ได้สิพระคุณเจ้า
น. หรือเปรียบเหมือนเจ้าของบ้านผู้มีทรัพย์ สมบัติบริบูรณ์ เมื่อแขกมาถึงบ้านหลังเวลาอาหาร ย่อมจัดหาอาหารมาเลี้ยงแขกไม่ได้ในทันที
เมื่อเป็นเช่นนี้จะว่าผู้นั้นไม่มีสมบัติบริบูรณ์จริงได้หรือไม่


ม. ไม่ได้ อย่าว่าแต่ผู้มีฐานะเลย แม้แต่ในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ยังต้องเป็นเช่นนั้น
น. ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
คือ พระองค์ย่อมมีความรู้บริบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ว่าความรู้นั้น ๆ หาได้ประจำอยู่กับพระหฤทัยทุกขณะไม่
ต่อเมื่อพระองค์ได้ทรงหยั่งพระหฤทัยส่องลงไปยังเรื่องใด จึงจะทรงรู้เห็นเรื่องนั้นได้ตลอด
ที่พระองค์ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ก็เพราะเมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาศิลปวิทยามามากอย่าง
และได้ทรงศึกษาเรื่อยมาจนจับหลักความจริงของสภาพทั้งหลายได้ ความรู้หลักความจริงนั้นทำให้พระหฤทัยของพระองค์มีความผ่องใสเป็นปกติอยู่ทุกขณะ
เพราะฉะนั้น เมื่อทรงฉายพระหฤทัยส่องไปยังเรื่องใด จึงทรงรู้ทรงเห็นเรื่องนั้นได้ชัดเจนพร้อมทั้งเหตุผล
ด้วยเหตุดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงเป็นสัพพัญญูรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง (สัพพัญญูปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าฉลาดว่า

ป้านุช 11-05-2009 13:49

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน มีกิจใดซึ่งยากสำหรับอริยบุคคลอื่น แต่พระพุทธเจ้าสามารถกระทำได้
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร
พระพุทธองค์ทรงสามารถกำหนดแยกสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในพระหฤทัยขณะหนึ่ง ๆ ได้ว่าประกอบด้วยผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ


ม. พระคุณเจ้าจงเปรียบให้ฟัง
น. เหมือนวักน้ำขึ้นมา แล้วแยกว่าส่วนไหนของน้ำมาจากแม่น้ำสายไหน นี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ทั่วไปหรือ

ม. นั่นเป็นสิ่งที่ยากจะกระทำได้
น. ขอถวายพระพร เป็นเช่นนั้น
แต่เหตุที่พระพุทธองค์ทรงสามารถกำหนดแยกองค์ประกอบของจิตที่ดำเนินอยู่ในขณะหนึ่ง ๆ ได้เช่นนั้น
ก็เพราะพระองค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ทรงรู้สึกพระองค์อยู่ทุกขณะจิต
เพราะฉะนั้นเมื่อมีอะไรผ่านมาพระองค์จึงทรงกำหนดได้ว่า
นี่เป็นผัสสะ นี่เป็นเวทนา นี่เป็นสัญญา นี่เป็นเจตนา นี่เป็นวิญญาณ (อรูปววัตตภาวทุกกรปัญหา)


ม. ช่างละเอียดแท้

ป้านุช 13-05-2009 13:28

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระคุณเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ไม่ได้เห็น

ม. อาจารย์ของพระคุณเจ้าเล่า ได้เห็นหรือไม่
น. อาจารย์ของข้าพเจ้าก็ไม่ได้เห็นเช่นเดียวกัน

ม. ถ้าเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่มี
น. อาตมภาพขอทูลถามว่า พระองค์เคยทอดพระเนตรเห็นปฐมกษัตริย์ของพระองค์หรือไม่

ม. ไม่เคยเห็น
น. บรรดาข้าราชบริพารของพระองค์ เคยเห็นหรือไม่

ม. ไม่เคยเห็นเหมือนกัน
น. ถ้าอย่างนั้น ปฐมกษัตริย์ของพระองค์ก็ไม่มี

ม. มีสิพระคุณเจ้า เพราะมีเครื่องราชูปโภค คือ เศวตฉัตร พระมหามงกุฎ ฉลองพระบาท วาลวิชนี พระขรรค์แก้ว ปรากฏเป็นพยานอยู่ในปัจจุบัน
น. ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธเจ้ามีจริงเพราะยังมีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นพยานปรากฏอยู่
ขอถวายพระพร ธรรมอันวิเศษ ๓๗ ประการ (ได้แก่ ปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, สติปัฏฐาน ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕,โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘)
ทำให้อนุมานได้ว่า พระพุทธเจ้ามีจริงและเป็นผู้ทรงปัญญาหาที่เปรียบมิได้


ม. พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างมาเปรียบให้ฟัง
น. เหมือนนายช่างก่อสร้างผู้ชำนาญย่อมวางผังพระนครให้มีถนนหนทาง ร้านรวงและโรงมหรสพ
ตลอดจนที่อยู่อาศัยให้ชาวพระนครได้รับความสะดวกสบายและสันติสุขฉันใด
พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น ด้วยทรงสร้างธรรมนครนี้มีศีลเป็นกำแพง มีหิริเป็นคู มีญาณเป็นซุ้มประตู
มีวิริยะเป็นหอรบ มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด มีสติเป็นนายทวาร มีปัญญาเป็นปราสาท มีพระสุตตันตปิฎกเป็นท้องสนาม
มีพระอภิธรรมปิฎกเป็นถนนสามแพร่ง มีพระวินัยปิฎกเป็นศาล มีสติปัฏฐานเป็นถนน ๔ สาย

ขอถวายพระพร บนถนน ๔ สายนั้น พระพุทธเจ้าเปิดร้านขายของต่าง ๆ
โดยมีสัญญา ๑๐ เป็นร้านดอกไม้
มีศีลเป็นร้านของหอม
มีพระอริยผลทั้งหลาย (ได้แก่ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล) เป็นร้านผลไม้
มีพระอริยสัจ ๔ เป็นร้านยาถอนพิษ
มีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นร้านยาแก้โรค
มีกายคตาสติเป็นร้านขายน้ำอมฤต
มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ปฏิสัมภิทา และโพชฌงค์ประกอบขึ้นเป็นร้านเครื่องแก้ว
และมีนวังคสัตถุสาสน์ (พุทธพจน์ซึ่งมีองค์ประกอบ ๙ ประการ) เป็นร้านขายของชำ

ขอถวายพระพร ผู้ปรารถนาสมบัติในร้านขายของเหล่านี้ ต้องซื้อเอาด้วยความเพียรในการรักษาศีล เจริญสมาธิ อบรมให้เกิดปัญญา
โดยชาวธรรมนครนั้น ได้แก่ บรรดาผู้ทรงพระไตรปิฎก ผู้อบรมศีล สมาธิ ปัญญา ผู้สมาทานธุดงค์ และผู้บรรลุมรรคผลนิพพาน

ขอถวายพระพร ในธรรมนครนี้
มีเสนาบดีคือผู้ทรงไว้ซึ่งญาณอันประเสริฐ
มีปุโรหิตคือผู้ทรงฤทธิ์ซึ่งบรรลุปฏิสัมภิทา
มีผู้พิพากษาคือผู้ปรารถนาน้อย วางอารมณ์ในธุดงคคุณ
มีผู้จุดพระนครให้สว่างไสวคือผู้ได้ทิพยจักษุ
มีผู้รักษาพระนครคือพหูสูตรซึ่งทรงนวังคสัตถุสาสน์
มีผู้จัดระเบียบพระนครคือผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย
มีผู้ดูแลพระนครคือผู้ทรงความเพียรขวนขวายแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุข
มีเศรษฐีคือผู้มั่งคั่งด้วยพระธรรม
มีราชบัณฑิตคือผู้รู้แจ้งแทงตลอดในอรรถธรรม
มีนักดื่มคือผู้ลิ้มรสแห่งพระสัทธรรม

ขอถวายพระพร เมื่อธรรมนครวิจิตรโอฬารเช่นนี้ ก็อนุมานได้ว่า นอกจากพระพุทธเจ้าแล้วจะเป็นบุคคลอื่นใดสร้างไว้ไม่ได้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้สร้างธรรมนครจึงมีอยู่จริง (อนุมานปัญหา)



ม.พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 15-05-2009 18:38

ทางไปสู่อริยมรรค

๑. นักบวชและการบวช

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน การบวชของพระคุณเจ้ามีประโยชน์อย่างไร และมีอะไรเป็นคุณซึ่งพระคุณเจ้าต้องประสงค์อย่างยิ่ง
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร การบวชมีประโยชน์ที่จะได้รู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะดับความทุกข์ที่มีอยู่ได้ และจะไม่ให้ความทุกข์อย่างอื่นเกิดขึ้นอีก
ส่วนคุณซึ่งอาตมภาพต้องประสงค์อย่างยิ่ง ได้แก่ อนุปาทิเสสนิพพาน (การดับจนสิ้นเชื้อ)


ม. บรรดานักบวชมุ่งประโยชน์อย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้นหรือ
น. หามิได้ บางพวกบวชเพื่อจะหนีพระเจ้าแผ่นดินหรือหนีโจร บางพวกบวชตามพระราชานุมัติ บางพวกบวชแก้บน บางพวกบวชหวังผลคือลาภยศ
บางพวกบวชเพราะกลัวภัย แต่บางพวกที่บวชด้วยมุ่งประโยชน์ที่อาตมภาพกล่าวเบื้องต้น ถือเป็นพวกที่บวชดี


ม. ตัวพระคุณเจ้าบวชด้วยมุ่งประโยชน์เช่นว่ามาแต่ต้นหรือ
น. ขอถวายพระพร อาตมภาพบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ไม่ทราบว่าการบวชเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างนั้น
เป็นแต่คิดจะศึกษาตามพระสมณศากยบุตรผู้ทรงปัญญา แต่เมื่อได้เล่าเรียนศึกษาตามท่านต่อมา
จึงทราบว่าการบวชนี้มีประโยชน์อย่างนั้น (ปัพพชาปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ฉลาดจริง

ป้านุช 15-05-2009 18:48

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์มีอยู่ว่า ฆราวาสก็ดี บรรพชิตก็ดี เมื่อหมั่นปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วย่อมบรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน ใช่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังที่พระองค์ตรัสนั้น

ม. ถ้าอย่างนั้นพวกพระคุณเจ้าจะต้องบวชทำไม ลำบากเปล่า ๆ ต้องโกนผมโกนหนวด ต้องสำรวมกายวาจาใจ เป็นฆราวาสมีความสะดวกสบายหลายประการ
ครั้นเมื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็สามารถบรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ถือเพศฆราวาสจะมิดีกว่าหรือ

น. ขอถวายพระพร เพศบรรพชิตนั้นเป็นหนทางจะให้บรรลุมรรคผลได้เร็วกว่า เพราะบรรพชิตไม่มีสิ่งบำเรอความสุขมาหน่วงเหนี่ยวให้อาลัย
จึงมักน้อยสันโดษยินดีในที่สงบเงียบ สามารถตัดความกังวลทั้งหลายเสียได้ มีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม อบรมกายวาจาใจของตน
หาโอกาสกระทำศีล สมาธิ ปัญญาให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ เพศบรรพชิตจึงทรงคุณวิเศษกว่าเพศฆราวาสทุกประการ (คิหิปัพพชิตปฏิปันนวัณณนปัญหา)


ม. เอาเถอะ ถ้าเพศบรรพชิตมีประโยชน์เช่นนั้น จะต้องรีบบวชไปทำไม เพราะพระคุณเจ้าเองเคยบอกว่า การบวชมีประโยชน์ที่จะได้รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ที่มีอยู่ได้
และทำอย่างไรจะมิให้ทุกข์อื่นเกิดขึ้น ดังนั้นจะรอเวลาให้เกิดทุกข์แล้วจึงบวชมิได้หรือ

น. ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์กระหายน้ำขึ้นเมื่อใด จึงดำรัสให้ขุดสระเมื่อนั้นหรือ หรือว่าสงครามเกิดขึ้นเมื่อใด พระองค์จึงตรัสให้สร้างป้อมปราการและให้ทหารหัดเพลงอาวุธในเวลานั้นหรือ

ม. ต้องจัดทำไว้ก่อนสิพระคุณเจ้า รอไว้จนเวลาจำเป็นเช่นนั้นแล้วจะทำให้ทันความประสงค์ได้อย่างไร
น. เช่นกันหากรอเวลาให้ทุกข์เกิดย่อมหาโอกาสดับทุกข์ได้ยาก หรือหากทำได้ก็ไม่ได้รับผลเท่าที่ปรารถนา
แต่ถ้าจัดเตรียมไว้ก่อนถึงคราวเกิดทุกข์ก็สามารถกำจัดทุกข์ลงได้สมความมุ่งหมาย อาตมภาพเองต้องพยายามฝึกหัดกายวาจาใจไว้ให้มีกำลังพอ
เมื่อถึงคราวเจ็บไข้ได้ทุกข์ จะได้ใช้สิ่งที่เตรียมไว้ออกผจญ ถ้ามิได้เตรียมไว้ก่อนความทุกข์ก็จะได้เปรียบจนสามารถครอบงำจิตได้เรื่อย ๆ ไป
ดังพระพุทธดำรัสความว่า เมื่อรู้ว่ากิจใดจะทำให้พ้นจากทุกข์ได้ ก็พึงรีบพยายามทำกิจนั้นเสียให้สำเร็จ เพราะรู้ไม่ได้ว่าเราจะตายลงเมื่อใด (ปฏิกัจเจววายามกรณปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 22-05-2009 23:38

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน นักบวชอย่างพวกพระคุณเจ้ามีความรักใคร่ร่างกายอยู่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ไม่มีแล้ว

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดเหล่านักบวชจึงยังทำนุบำรุงร่างกายอยู่อีกเล่า
น. อาตมภาพขอทูลถามพระองค์บ้างว่า เมื่อพระองค์เสด็จไปงานพระราชสงคราม เคยถูกอาวุธของข้าศึกบ้างหรือไม่

ม. ก็เคยถูกอยู่บ้าง
น. บาดแผลที่ต้องอาวุธนั้น ทรงพอกยา ทรงทาน้ำมัน ทรงพันด้วยผ้าเนื้อละเอียดไว้มิใช่หรือ

ม. ก็ต้องทำอย่างนั้นสิพระคุณเจ้า
น. บาดแผลนั้นเป็นที่รักของพระองค์นักหรือ จึงได้ทรงประคบประหงมถึงเช่นนั้น

ม. หามิได้แต่ที่ต้องทำเช่นนั้น ก็เพื่อรักษาแผลและเรียกเนื้อให้เต็มเท่านั้น
น. ขอถวายพระพร เหล่านักบวชก็มิได้อาลัยบาดแผล แต่ที่ยังทำนุบำรุงร่างกายอยู่นั้น
ก็เพื่อจะเอาไว้อาศัยบำเพ็ญกิจที่เป็นประโยชน์สุขของตนและของผู้อื่นให้บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเท่านั้น (กายอัปปิยปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 22-05-2009 23:40

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พุทธดำรัสมีไว้ว่า เมื่อเห็นพระธรรมย่อมเห็นพระพุทธเจ้า
ก็ตัวพระคุณเจ้าเล่า เห็นพระธรรมแล้วหรือยัง

พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร อันสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมประพฤติปฏิบัติตามแนวคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นลำดับ ๆ ไป(ธัมมทิฏฐปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าฉลาดว่า

ป้านุช 22-05-2009 23:47

๒. โพชฌงค์ ๗

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้พระอริยมรรคอริยผลมีเท่าไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร มี ๗ องคคุณ ได้แก่
๑) สติ ๒) ธัมมวิจัย
๓) วิริยะ ๔) ปีติ
๕) ปัสสัททิ ๖) สมาธิ
๗) อุเบกขา หรือที่รวมเรียกว่า โพชฌงค์ ๗


ม. พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ได้ด้วยองคคุณทั้ง ๗ นั้น หรือว่าเฉพาะแต่องค์ใดองค์หนึ่ง
น. ถ้าว่าเฉพาะองค์ที่สำคัญก็เพียงองค์เดียว ได้แก่ธัมมวิจัยหรือความสอดส่องธรรม

ม. ถ้าเป็นเช่นนั้น ไฉนทีแรกพระคุณเจ้าจึงว่ามีถึง ๗ เล่า
น. ขอถวายพระพร ดาบเมื่อยังไม่ถอนออกจากฝักฟันไม้จะขาดหรือไม่

ม. ฟันไม่ขาด
น. ฉันใดก็ฉันนั้น ธัมมวิจัยเหมือนตัวดาบ องคคุณอีก ๖ นั้นเปรียบเหมือนฝักดาบ
การจะได้อริยมรรคอริยผลต้องอาศัยธรรมวิจัยเป็นเครื่องตัดทอนกิเลสที่ขวางอยู่ระหว่างทางให้ขาดออกไปเป็นชั้น ๆ
ส่วนองคคุณอีก ๖ นั้น หาได้มีไว้สำหรับตัดกิเลสโดยตรงไม่ หากเป็นแต่คอยส่งเสริมธัมมวิจัยให้คมยิ่งขึ้นเท่านั้น
ขอถวายพระพร เพราะเหตุนี้โพชฌงค์จึงมีองค์ ๗ (สัตตโพชฌงคปัญหา)


ม.เข้าใจละพระคุณเจ้า

ป้านุช 23-05-2009 23:26

๓. โยนิโสมนสิการและปัญญา

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ที่จักไม่กลับมาเกิดอีกเป็นเพราะโยนิโสมนสิการใช่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นเพราะโยนิโสมนสิการด้วย เพราะปัญญาด้วย และเพราะกุศลกรรมเหล่าอื่นด้วย

ม.โยนิโสมนสิการก็คือปัญญามิใช่หรือ
น. มิใช่อย่างนั้น ในที่นี้โยนิโสมนสิการได้แก่ความนึกชอบปัญญา ได้แก่ความรู้ ความต่างกันนี้พึงเห็นได้จากสัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายย่อมนึกถึงสิ่งที่ดีชอบได้
แต่หารอบรู้เหตุผลแห่งความดีชอบนั้น ๆ ไม่(มนสิการปัญหา)


ม. ลักษณะแห่งโยนิโสมนสิการมีอย่างไร ลักษณะแห่งปัญญามีอย่างไร
น. โยนิโสมนสิการมีลักษณะยกขึ้น ปัญญามีลักษณะตัด อุปมาดั่งชาวนาเกี่ยวข้าวโดยเอามือขวาจับเคียวตะล่อมข้าว
เอามือซ้ายจับกำข้าวขึ้น แล้วก็ตัดกำข้าวด้วยเคียวนั้น(มนสิการลักขณปัญหา)
อย่างไรก็ตาม ธรรมทั้งหลายก็มีละเอียดยิ่งและหย่อนกว่าก็ตัดด้วยปัญญาที่เพลาลงมา (สุขุมัจเฉทนปัญหา)
นอกจากปัญญาจะลักษณะตัดดังที่อาตมภาพได้ถวายวิสัชนาแล้ว ปัญญายังมีลักษณะส่องให้สว่างด้วย


ม. ส่องให้สว่างนั้นอย่างไร พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบ
น.เหมือนคนถือโคมไฟไปในที่มืด ทันทีนั้นความมืดย่อมหายไปเกิดความสว่างขึ้นแทน
ปัญญาก็ฉันนั้นเมื่อเกิดขึ้นย่อมกำจัดความโง่เขลาซึ่งเปรียบเหมือนความมืด ทำความสว่างคือความรู้ให้เกิด
ส่องแสงสว่างคือ ทำความฉลาดให้ปรากฏ(ปัญญาลักขณปัญหา)


ม. เข้าใจล่ะ แต่สงสัยว่าปัญญามีที่อยู่แห่งไหน
น.ขอถวายพระพร ที่อยู่ของปัญญาไม่ปรากฏ

ม. ถ้าเช่นนั้นปัญญาก็ไม่มีสิพระคุณเจ้า
น. ลมมีหรือไม่มี และถ้ามีที่อยู่ของลมคือแห่งไหน


ม. ลมมีแน่ แต่ที่อยู่ของลมไม่ปรากฏ
น. ขอถวายพระพร ปัญญาก็เช่นนั้นแม้มีอยู่แต่ไม่ปรากฏที่อยู่ใด ๆ(ปัญญปติฏฐานปัญหา)

พระคุณเจ้าว่านี้แจ่มแจ้ง

ป้านุช 25-05-2009 14:23

๔. ศีล ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ที่พระคุณเจ้าว่าผู้ที่จักไม่กลับมาเกิดอีกเป็นเพราะกุศลกรรมเหล่าอื่นด้วยนั้น คือกุศลกรรมเหล่าไหน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร กุศลกรรมเหล่านั้น ได้แก่ ศีล ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

ม. ศีลมีลักษณะเช่นใด
น. ศีลเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งคุณธรรม เป็นที่เพาะปลูกคุณงามความดีอื่น ๆ อุปมาดังแผ่นดินที่ชาวสวนอาศัยปลูกดอกไม้ต้นไม้นานาพันธุ์
ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้จะอบรมคุณงามความดีอย่างอื่น จำป็นต้องรักษาศีลให้เป็นพื้น เพื่อคุณธรรมต่าง ๆ เหล่านั้นจะงอกงามและประทับอยู่มั่นคงได้


ม. ศรัทธาเล่ามีลักษณะอย่างไร
น. ศรัทธามีลักษณะทำให้จิตผ่องใส เนื่องจากเมื่อเกิดขึ้นย่อมขจัดนิวรณ์ เมื่อนิวรณ์หมดไปจากจิต จิตก็ย่อมผ่องใส

ม. พระคุณเจ้าจงเปรียบให้ฟัง
น. อุปมาดังแก้วมณีวิเศษ เมื่อแช่ในน้ำขุ่นก็ทำให้ใสลงได้ เมื่อแช่ในแม่น้ำก็ทำให้จอกแหนหลีกออกไปได้
ศรัทธาเหมือนแก้วมณีนั้น นิวรณ์เหมือนจอกแหนและตมในน้ำ ขอถวายพระพร นอกจากนั้น ศรัทธายังมีลักษณะจูงใจ


ม. ลักษณะจูงใจนั้นเป็นอย่างไรจงเปรียบให้ฟัง
น. อุปมาดังคนที่ไม่กล้าข้ามแม่น้ำ เพราะไม่รู้ว่าแม่น้ำนั้นตื้นลึกเพียงใด ต่อเมื่อเห็นผู้หาญกล้าข้ามไปก่อน
จึงกล้าข้ามตามไป ขอถวายพระพร ศรัทธาคือการนำเอาปฏิปทาของผู้อื่นมาเป็นทางดำเนินของตน
แม้จะยากลำบากเพียงไหน ก็ยังจูงใจให้วิริยะพยายาม(ศรัทธาลักขณปัญหา)


ม. ก็วิริยะเล่ามีลักษณะอย่างไร
น. ขอถวายพระพร มีลักษณะค้ำจุนไว้

ม. ค้ำจุนอะไร
น. ค้ำจุนความดีงามทั้งหลายมิให้เสื่อมทราม อุปมาดังเรือนที่ซวนเซจะล้ม เมื่อเอาไม้ค้ำไว้ก็ล้มไม่ได้ ( วิริยลักขณปัญหา)

ม. สติเล่ามีลักษณะอย่างไร
น. มีลักษณะให้นึกได้และถือไว้

ม. ให้นึกได้อย่างไรพระคุณเจ้า จงหาตัวอย่างมาเปรียบ
น. เมื่อสติเกิดขึ้นย่อมทำให้นึกได้ถึงกุศลและอกุศลธรรม ตลอดจนลักษณะและผลของธรรมเหล่านี้
เหมือนเจ้าพนักงานคลังทำบัญชีพระราชทรัพย์ถวายพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นเหตุให้พระองค์ระลึกได้ถึงพระราชสมบัติเหล่านั้น ตลอดจนบุญบารมีที่สั่งสมมา


ม. ที่ว่าสติมีลักษณะถือไว้นั้นเป็นอย่างไร
น. สติเมื่อเกิด ย่อมให้เลือกถือเอาไว้ว่านี่มีคุณควรประพฤติ นี่มีโทษควรละ อุปมาดังนายทวารซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราคนเข้าออก
ถ้าเห็นพิรุธก็ห้ามมิให้เข้า ถ้าเห็นสมควรก็อนุญาตให้เข้า ฉันใดก็ฉันนั้น สติย่อมกีดกันอกุศลธรรมมิให้เข้ามาประจำใจ
และเลือกเฟ้นแต่กุศลธรรมให้กระทำไว้ในใจ (สติลักขณปัญญา)


ม. ส่วนสมาธิเล่ามีลักษณะอย่างไร
น. มีลักษณะเป็นประธานให้กุศลธรรมทั้งหลายประจำอยู่และพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปได้
อุปมาดังพระมหากษัตริย์ เป็นประธานบัญชาการให้เหล่าเสนาบดีประกอบกิจการต่าง ๆ ให้ลุล่วงลง (สมาธิลักขณปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าช่างสามารถจริง

ป้านุช 31-05-2009 00:04

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน อะไรเป็นผู้นึก ผู้จำกิจการที่ได้ทำ หรือคำที่ได้พูดไว้ให้อยู่คงนานได้
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร สติ

ม. มิใช่จิตหรือพระคุณเจ้า
น. หากยังสงสัย ขอพระองค์ตั้งพระราชหฤทัยนึกถึงพระราชกรณียกิจ ซึ่งได้ทรงไว้นานมาจนจำไม่ได้แล้ว เพื่อทดลองดูว่าจะทรงนึกขึ้นได้หรือไม่

ม. เมื่อนานจนจำไม่ได้แล้ว จะนึกขึ้นได้อย่างไรเล่าพระคุณเจ้า
น. ก็ในขณะทดลองนี้ พระองค์ไม่มีพระหฤทัยซึ่งเป็นจิตใจหรือ

ม. มีสิพระคุณเจ้า
น. ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้ อาตมภาพจึงทูลว่าสติเป็นผู้นึก ผู้จำ ผู้สาวเอากิจการที่ล่วงมาแล้วให้ปรากฏขึ้นได้ (จิรกตสรณปัญหา)

ม. สตินั้นเกิดขึ้นเองหรือเกิดขึ้นต่อเมื่อมีคนเตือน
น. เกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง (สติอิชานนปัญหา) หรือหากแจกแจงโดยพิสดาร สติเกิดขึ้นได้โดยอาการ ๑๗ ได้แก่
๑. เกิดจากความรู้
๒. เกิดจากการทำเครื่องหมายไว้
๓. เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสถานะ ซึ่งทำให้ระลึกถึงสถานะเดิม
๔. เกิดจากการได้รับความสุข ซึ่งทำให้นึกไต่สวนเหตุที่มา
๕. เกิดจากการได้รับความทุกข์ ซึ่งทำให้นึกไต่สวนเหตุที่มา
๖. เกิดจากการเห็นสิ่งที่คล้ายแล้วเตือนให้จำ หรือระลึกถึงอีกสิ่งหนึ่งได้
๗. เกิดจากการรู้เห็นสิ่งตรงข้าม
๘. เกิดจากการได้รับคำตักเตือน
๙. เกิดจากตำหนิในลักษณะ
๑๐.เกิดจากการนึกขึ้นได้โดยธรรมดา
๑๑.เกิดจากการกำหนดจำธรรมดา
๑๒.เกิดจากการพินิจพิเคราะห์
๑๓.เกิดจากการนับจำนวนไว้
๑๔.เกิดจากการอบรมสติ
๑๕.เกิดจากการบันทึก
๑๖.เกิดจากการเก็บไว้
๑๗.เกิดจากการได้ประสบสิ่งที่เคยประสบพบเห็น(สติอาการปัญหา)


ม. ช่างมากอย่างพิสดาร

ป้านุช 31-05-2009 00:11

๕. อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท)

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระคุณเจ้าพยายามฝึกฝนตนด้วยประสงค์จะละทุกข์ที่ล่วงมาแล้ว หรือทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง หรือทุกข์ที่มีอยู่ในบัดนี้
พระนาคเสนตอบว่า ขอถวายพระพร หามิได้ อาตมภาพพยายามฝึกฝนตนเพื่อดับทุกข์ที่มีอยู่และเพื่อมิให้ทุกข์ซึ่งยังมาไม่ถึงเกิดขึ้น

ม. พระคุณเจ้าจะพยายามมิให้ทุกข์ซึ่งยังมาไม่ถึงเกิดขึ้นได้ทำไม
น. ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์ถูกราชศัตรูยกพลมาเพื่อจะชิงเอาพระนคร พระองค์จึงตรัสสั่งให้ลงมือขุดคู สร้างป้อมปราการ และฝึกทหารซ้อมเพลงอาวุธอย่างนั้นหรือ

ม. หามิได้ กิจการเหล่านี้ต้องเตรียมไว้ก่อน หากรอทำเมื่อศึกสงครามมาถึงตัว ไม่เพียงจะทำได้ยากเพราะฉุกละหุก หากเมื่อได้ทำก็ยังมีโอกาสสูงที่จะเพลี่ยงพล้ำแก่ข้าศึกเพราะการเตรียมการณ์ไม่ดีพอ ดังนั้น การจัดเตรียมกำลังไว้ก่อนในยามปกติ ย่อมกระทำได้ดีกว่า อีกทั้งยังเป็นที่เกรงขามของข้าศึกซึ่งยังมาไม่ถึงด้วย
น. ฉันใดก็ฉันนั้น การที่อาตมภาพเพียรฝึกฝนกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในความควบคุมของจิตที่อบรมดีแล้ว ก็เพื่อปราบทุกข์ที่มีอยู่ในบัดนี้ เพื่อไว้ต่อสู้หรือป้องกันทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง
ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ใจก็จะมีแต่ความอ่อนแอเป็นปกติ ถึงคราวเกิดทุกข์ก็จะเตรียมตัวไม่ทัน มีกำลังไม่พอจะต้านทาน ต้องยอมเป็นเชลยแห่งความทุกข์เรื่อยไป
ด้วยเหตุนี้อาตมภาพจึงต้องพยายามฝึกฝนตนไว้ก่อน(อนาคตปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 02-06-2009 11:57

แก้ข้อสงสัยที่อาจมีต่อพุทธประวัติและพระธรรมวินัย

๑.พระวินัยและพุทธบัญญัติ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าย่อมทรงรู้เห็นสิ่งทั้งปวงจนหมดสิ้นมิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ถูกแล้ว

ม. ถ้าเป็นเช่นนั้น เหตุไฉนพระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภายหลังเหตุการณ์ที่สาวกทำให้เกิดขึ้นเล่า
น. อาตมภาพขอทูลถามพระองค์ว่า ธรรมดาแพทย์ผู้ชำนาญย่อมรู้สรรพคุณแห่งตัวยาจนหมดสิ้นมิใช่หรือ

ม. ใช่สิพระคุณเจ้า
น. ขอถวายพระพร แพทย์ผู้นั้นวางยาก็ต่อเมื่อมีโรคหรืออาการของโรคขึ้น หรือว่าวางยาตามปกติ ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีโรคภัยอะไรเกิดขึ้น

ม. ยามปกติ แพทย์จะวางยาไปทำไมเล่า เพราะการวางยาในเวลานั้นอาจให้โทษแก่ร่างกายได้ แต่ถ้าถึงคราวเจ็บไข้ การวางยาเป็นสิ่งจำเป็น
เพราะถ้าทอดทิ้งโรคนั้นจะกำเริบขึ้นทุกทีจนยากจะรักษาให้หายได้

น. ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าผู้ทรงทราบเหตุการณ์ทั้งปวง ก็เป็นเช่นเดียวกับแพทย์ผู้ชำนาญ การที่พระองค์ไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทล่วงหน้าไว้ให้ครบถ้วนเสียคราวเดียวนั้น
ก็เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า ถ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ครบถ้วนทั้งหมด ก็อาจเป็นข้อหยุมหยิมของผู้แรกเข้ามาบวชจนอาจให้เกิดความระอาใจได้
เนื่องด้วยทรงมีพระหฤทัยอนุเคราะห์อยู่เช่นนี้ จึงทรงรอไว้ต่อเมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นก่อน แล้วจึงบัญญัติสิกขาบทห้ามมิให้สาวกล่วงละเมิดต่อไปเป็นข้อ ๆ
ในเรื่องที่ทรงเห็นว่า หากไม่ห้ามจะนำความเสื่อมเสียมายังหมู่คณะ(สัมปัตตกาลปัญหาและสิกขาปทอปัญญาปนปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 08-06-2009 14:25

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน การกล่าวเท็จพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เป็นอาบัติ เบาก็มี หนักก็มี นั่นเป็นเพราะอะไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจตนา ความพยายาม และวัตถุที่ล่วงละเมิดมากน้อยต่างกัน
ถ้าเหตุทั้ง ๓ มาก ก็อาบัติหนัก ถ้าน้อย ก็อาบัติเบา (มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา)


ม. ส่วนผู้ที่ต้องอาบัติปราชิกโดยไม่รู้สึก แต่ภายหลังมาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะได้บรรลุมรรคผลหรือไม่
น. ขอถวายพระพร ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะผู้นั้นได้เพิกถอนเหตุที่จะบรรลุมรรคผลแล้ว

ม. พระคุณเจ้าเคยว่า ผู้รู้ว่าตนผิดย่อมมีจิตฟุ้งซ่าน ทำให้ไม่สามารถตั้งใจมั่นได้ ส่วนผู้ไม่รู้ก็ไม่น่าจะฟุ้งซ่าน
ดังนั้น ถ้าเขาผู้นั้นตั้งใจมั่นกับการปฏิบัติชอบ ก็น่าจะบรรลุมรรคผลได้ในที่สุด

น. ขอถวายพระพร พืชพันธุ์ที่บุคคลหว่านลงพื้นดินอันอุดมย่อมงอกงามขึ้นดีอยู่ แต่ถ้าหว่านพืชพันธุ์นั้นลงบนพื้นหิน พืชนั้นจะขึ้นหรือไม่

ม. จะขึ้นได้อย่างไรเล่า ก็หินไม่มีอาหารสำหรับเลี้ยงพืชพันธุ์นั้นให้งอกงามได้
น. ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ต้องอาบัติปราชิกก็เท่ากับสิ้นอาหารที่จะเลี้ยงมรรคผลให้เกิดขึ้น

ม. ไม่น่าจะใช่เช่นนั้น หากบุคคลผู้ต้องอาบัติปราชิกไม่สิ้นความพยายาม
น. ขอถวายพระพร ผู้ที่กลืนยาพิษโดยไม่รู้ จะตายหรือไม่

ม. ย่อมตายสิพระคุณเจ้า
น. การต้องอาบัติปราชิกก็เช่นกัน แม้ไม่รู้ตัว แต่โทษนั้นสาหัสถึงขั้นทำให้มิได้มรรคผล (อภิสมยันตรายกราชปัญหา)

ม. เข้าใจละ

ป้านุช 08-06-2009 14:29

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสห้ามมิให้พระภิกษุกระทำอัตวินิบาต (การฆ่าตัวตาย) มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ตรัสดังนั้นจริง

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดจึงทรงแสดงธรรมเพื่อตัดความเกิด ความแก่ ความตายเล่า
น. ขอถวายพระพร เพราะมีเหตุผลต่างกัน คือที่บัญญัติห้ามพระภิกษุกระทำอัตวินิบาตกรรมนั้น ก็ด้วยทรงประสงค์จะอนุเคราะห์หมู่ชนมิให้ขาดแคลนพระสงฆ์อันเป็นเนื้อนาบุญของสัตว์โลก ส่วนที่ทรงแสดงธรรมเพื่อตัดความเกิด ความแก่ ความตาย ก็เพราะทรงเห็นว่าความเกิดเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ ความโศก ความรำพันร่ำไร เมื่อตัดความเกิดอันเป็นต้นเหตุเสียได้แล้ว ก็ชื่อว่าได้กำจัดความทุกข์ทั้งหลายเสียสิ้น จะประสบก็แต่ความสุขยิ่งเท่านั้น
ขอถวายพระพร เพราะมีเหตุมีผลต่างกันอยู่เช่นนี้ (อัตตวินิปาตนปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 08-06-2009 14:35

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน คนบวชแล้วสึกไม่น่าให้บวชในพระศาสนา ด้วยทำให้คนทั้งหลายกล่าวหาได้ว่า พระศาสนาหาสาระไม่ได้ คนที่ได้บวชจึงสึก
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร สระมีน้ำอยู่เต็มเปี่ยม เมื่อผู้เปรอะเปื้อนไปถึงสระนั้นแล้ว ไม่ลงอาบน้ำชำระกายเอง คนทั้งหลายควรติเตียนสระหรือติเตียนคนผู้นั้น
ม. จะติเตียนสระได้หรือพระคุณเจ้า ต้องติเตียนคนผู้ไม่ลงอาบชำระร่างกายนั้นสิ
น. ฉันใดก็ฉันนั้น สระเปรียบเหมือนพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงขุดไว้ให้ผู้เปื้อนด้วยกิเลสได้ลงชำระ
ผู้ไปถึงสระแต่มิได้ชำระล้างร่างกายคือผู้ที่บวชแต่มิได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ได้ขัดเกลานิสัยและความประพฤติให้สะอาด
อนึ่ง ยังเป็นการดีเสียอีกที่คนบวชแล้วแต่เกียจคร้านต่อการศึกษาและอบรมขัดเกลากาย วาจา ใจ จะได้สึกออกไป
ทั้งนี้ เพื่อให้คนทั้งหลายได้เห็นว่าพระศาสนาดำรงอยู่ได้ด้วยคนที่เป็นผู้มั่นคง หนักแน่นและเพียรชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดอยู่เสมอ (หินยานวัตตปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 11-06-2009 10:31

๒. พุทธดำรัส

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราตถาคตไม่มีใครเป็นครูอาจารย์”มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระพุทธองค์ตรัสดังนั้น

ม. ถ้าอย่างนั้น ไฉนพระองค์จึงตรัสว่า “อาฬารดาบสผู้เป็นอาจารย์ตั้งเราผู้เป็นศิษย์ไว้เสมอด้วยตน”เล่า
น. เพราะอาฬารดาบสเป็นอาจารย์ของพระองค์ เมื่อยังมิได้ตรัสรู้และศึกษาอยู่ ณ สำนักของดาบสนั้น
และหากจะว่าถึงพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็มีอยู่มากรายเช่น พราหมณ์สัพพมิต ผู้ซึ่งพระชนกทรงฝากให้ศึกษาวิชาเบื้องต้น
อุทกดาบสผู้เป็นอาจารย์พระพุทธองค์ก่อนอาฬารดาบส เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาจารย์เหล่านี้เป็นแต่สอนวิชาทางโลก
หรือหากเป็นวิชาทางธรรมก็เป็นแต่ชั้นโลกียะเท่านั้น หาได้สอนถึงธรรมส่วนโลกุตตระด้วยไม่
ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้โลกุตตระธรรม จึงดำรัสว่า “เราตถาคตไม่มีใครเป็นครูอาจารย์” (พุทธอาจริยานาจริยปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 11-06-2009 10:35

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราตถาคตเป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น” มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นเช่นนั้น

ม. ถ้าเช่นนั้นจะมิแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ว่า “เราตถาคตได้เห็นมรรคของเก่า ทางของเก่าอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนเสด็จดำเนินมาแล้ว” หรือ
น. ขอถวายพระพร ไม่แย้ง เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนปรินิพพานไปแล้ว ศาสนาก็เสื่อมสูญไป ไม่มีใครสั่งสอนหรือปฏิบัติอีก
จนกระทั่งพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงอุบัติขึ้น อุปมาดังเช่นหนทางที่เคยกรุยและปราบเรียบแต่ต่อมากลับรกเรื้อเดินไม่ได้
ภายหลังมีผู้มาทำให้เตียน ให้เดินได้อีก ฉะนั้น


ม. พระคุณเจ้าฉลาดว่า

ป้านุช 11-06-2009 10:38

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราตถาคตไม่มีความโกรธ เป็นผู้ปราศจากโทสะแล้ว”มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ตรัสดังนั้นจริง

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดจึงขับไล่พระภิกษุที่ส่งเสียงอึกทึกซึ่งอยู่ในความดูแลของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเสียเล่า (ดูรายละเอียดใน จาตุมสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก)
น. ที่ทรงทำเช่นนั้น มิใช่จากอำนาจความโกรธ แต่ทรงกระทำตามความผิดของพระภิกษุเหล่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะว่าเป็นความผิดของพระพุทธองค์ได้อย่างไร เหมือนคนเดินพลาดล้มลงกับพื้น จะโทษว่าแผ่นดินโกรธเคืองตนจึงทำให้ล้มได้หรือ


ม. หามิได้ หากเป็นความผิดของคนที่เดินพลาดนั้นเอง
น. ฉันใดก็ฉันนั้น พระองค์มิได้ทรงยินร้ายกับพระภิกษุเหล่านั้น การที่ทรงขับไล่ก็เพราะมีความผิดของท่านเหล่านั้นเป็นเหตุ
และทรงเห็นว่าจะเป็นอุบายให้พระภิกษุเหล่านั้นได้คิด (ภิกขุปณามปัญหา)


ม. ฟังได้ความ

ป้านุช 12-06-2009 15:31

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “อิทธิบาท ๔ ประการ(คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ตถาคตได้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
และด้วยอานุภาพแห่งการเจริญอิทธิบาทนั้น ถ้าตถาคตประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปตลอดกัปหนึ่ง หรือเกินกว่ากัปขึ้นไป ก็อาจอยู่ต่อได้สมประสงค์”
แต่ไฉนต่อมาพระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ อีกสามเดือนตถาคตจักปรินิพพาน” ความสองตอนนี้ฟังดูไม่สมกัน


พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์ตอนหลังนั้น พระพุทธองค์ตรัสเพื่อทรงกำหนดพระชนมายุซึ่งจะสิ้นสุดลงในขอบเขตที่ทรงทราบ
ส่วนพระพุทธพจน์ตอนต้นนั้น พระองค์ตรัสเพื่อแสดงอานุภาพแห่งการเจริญอิทธิบาท ๔ ว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ


ม. หากอานุภาพแห่งการเจริญอิทธิบาทอาจต่ออายุให้ยืนยาวได้ เหตุใดพระพุทธองค์ไม่เสด็จดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป มาด่วนนิพพานทำไม

น. หากพระพุทธองค์ประสงค์จะดำรงพระชนม์ให้ยืดยาว ก็อาจกระทำได้ด้วยอานุภาพแห่งการเจริญอิทธิบาท ๔
แต่พระพุทธองค์หามีประสงค์เช่นนั้นไม่ การมีชีวิตยืนยาวมิได้เป็นความปรารถนาของพระองค์ แต่ก็ไม่ถึงกับทรงรังเกียจการมีพระชมน์อยู่ต่อไป
พระหฤทัยมิได้ฝักใฝ่กับการมีพระชนม์อันยืดยาว คติธรรมดาแห่งสังขารมีอยู่อย่างไร ก็ทรงปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น (อิทธิบาทพลสนปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 12-06-2009 15:34

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ต้นไม้ไม่มีเจตนาจึงเจรจาไม่ได้
แต่เหตุใดจึงตรัส ณ ที่หนึ่งว่าต้นสะคร้อพูดกับพราหมณ์ ฟังดูไม่สมกันเลย


พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ที่ตรัสว่าต้นไม้เจรจาไม่ได้นั้น พระองค์ตรัสตามความเป็นจริง คือต้นไม้ไม่มีจิตใจจึงพูดไม่ได้
ส่วนที่ตรัสถึงต้นสะคร้อพูดกับพราหมณ์นั้น พระองค์ทรงหมายถึงเทวดาผู้ซึ่งสิงอยู่ที่ต้นไม้นั้นเป็นผู้เจรจา แต่ที่ตรัสว่าต้นสะคร้อพูดนั้นก็เพราะตรัสตาม “โลกบัญญัติ”
เหมือนคำที่เรียกว่า เกวียนข้าวเปลือกนั้น ที่จริงเป็นเกวียนบรรทุกข้าวเปลือก หาใช่เกวียนที่ทำจากข้าวเปลือกไม่ (รุกขเจตนาเจตนปัญหา)


ม. เข้าใจล่ะ

ป้านุช 14-06-2009 23:51

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตว์ทุกจำพวกย่อมต้องสะดุ้งต่ออาชญา ย่อมกลัวต่อความตาย
แต่ไฉนจึงตรัสอีกที่ว่า พระอรหันต์ย่อมไม่กลัวต่อภัยอันตรายอะไร ถ้าตรัสไว้จริงทั้งสองประการ จะมิค้านกันหรือ


พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะพระอรหันต์ท่านตัดรากแห่งความสะดุ้ง ความหวาดกลัวได้เด็ดขาดแล้ว
อุปมาเช่นเวลาที่พระมหากษัตริย์ตรัสให้ประชาชนทั้งหลายกระทำพลี ทรงมิได้หมายรวมถึงอำมาตย์และขุนนางที่ทรงแต่งตั้งให้ควบคุมพลีกรรมนั้น


ม. ข้อนี้พอเข้าใจละ แต่มานึกสงสัยว่า สัตว์นรกซึ่งทนทุกขเวทนาอยู่ทุกขณะ จะอยากตายให้พ้นทุกข์หรือว่าจะกลัวความตายเหมือนกับสัตว์จำพวกอื่นหรือ

น. ขอถวายพระพร แม้สัตว์นรกจะระอาต่อความทรมานก็จริง แต่ก็ยังกลัวความตายอยู่นั่นเอง เพราะยังไม่สามารถถอนเหตุปัจจัยแห่งความกลัวได้

ม. พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างให้ฟัง

น. คนเป็นฝีเดินโขยกเขยกเพราะเจ็บ เกิดความระอาใจจึงเรียกหมอมารักษา ครั้นเห็นหมอถือมีดและเหล็กนาบสุมไฟจนแดงมา เขาจะหวาดกลัวต่อการกระทำของหมอหรือไม่

ม. ย่อมหวาดกลัว แม้จะรู้ว่าหมอจะบำบัดโรคนั้นให้หายลง

น. ฉันใดก็ฉันนั้น แม้จะมีความปรารถนาจะไปให้พ้นจากนรก แต่สัตว์นรกก็ยังคงหวาดกลัวต่อความตาย
ดังเช่นคำพระพุทธองค์ว่าสัตว์ทุกจำพวกย่อมสะดุ้งต่ออาชญาและย่อมกลัวต่อความตาย (มัจจุภายนปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 17-06-2009 01:17

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระอรหันต์ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดกลัวอะไร ใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ตรัสเช่นนั้นจริง

ม.ถ้าเช่นนั้น เมื่อพระเทวทัตมอมเหล้าช้างนาคีรีแล้วปล่อยให้วิ่งเข้าหาพระพุทธเจ้า
เหตุใดพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปจึงพากันทอดทิ้งพระพุทธองค์ไปเสียหมด ปล่อยให้พระอานนท์ออกไปยืนเบื้องพระพักตร์ยอมสละชีวิตถวายแทนเช่นนั้น

น. ขอถวายพระพร พระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ท่านทรงตัดเหตุปัจจัยแห่งความสะดุ้งความหวาดกลัวได้เด็ดขาดแล้ว
อุปมาดังแผ่นดิน แม้ใครจะขุดทำลายก็มิได้สะดุ้งหรือหวาดกลัวต่อการกระทำนั้น ด้วยเหตุนี้ ที่พระอรหันต์ทั้งหลายหลีกไปเสียจากช้างนาฬาคีรีนั้น
มิได้เกิดจากความหวาดกลัว แต่เพราะท่านเหล่านั้นเห็นว่าพระอานนท์จักมีโอกาสแสดงความภักดีในพระพุทธเจ้าให้ปรากฏแก่หมู่ชนในที่นั้น
แล้วหมู่ชนจะได้ฟังพระธรรมเทศนาจนได้บรรลุมรรคผลตามอุปนิสัยสามารถของแต่ละคน (ขีณาสพภายนปัญหา)


ม.พระคุณเจ้าฉลาดว่า

(หมายเหตุ เมื่อช้างนาฬาคีรีวิ่งเข้าหาพระพุทธเจ้านั้น พระอริยสาวกมีพระสารีบุตรเป็นต้น ได้กราบขออนุญาตพระพุทธองค์สกัดช้างนาฬาคีรี แต่พระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสีย
แม้พระอานนท์นั้น พระพุทธองค์ก็ทรงบัญชาให้ถอยหลังหลบมาในที่สุด)

ป้านุช 17-06-2009 17:28

๓ พุทธประวัติ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าทรงพยายามสร้างสมบารมีมาตลอดกาลเวลาอันยาวนาน
ก็ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะทรงนำหมู่ชนให้พ้นจากสังสารวัฏมิใช่หรือ

พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังเช่นที่พระองค์ตรัส

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดเมื่อทรงตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธองค์จึงทรงน้อมพระหฤทัยไปในความขวนขวายน้อย
กล่าวคือท้อพระหฤทัยที่จะสั่งสอนธรรมที่ตรัสรู้ให้กับชนโดยทั่วไป เสมือนผู้พยายามเรียนธนูเพื่อต่อสู้กับข้าศึก แต่ครั้นเกิดศึกขึ้นจริงใจกลับคิดไม่สู้

น. เป็นเพราะพระพุทธองค์ทรงดำริถึงธรรมที่ได้ตรัสรู้ว่าเป็นของลึกละเอียด
สวนทางกับกิเลสอันเคลือบคลุมบุคคลโดยทั่วไป พระหฤทัยจึงน้อมไปในความขวนขวายน้อย


ม. พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
น. ธรรมดาหมอเมื่อตรวจดูอาการคนไข้ป่วยหนักย่อมรำพึงว่า คนไข้นั้นยากต่อการรักษามิใช่หรือ

ม. เหตุการณ์มักเป็นเช่นนั้น
น. ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธองค์ก็เช่นนายแพทย์ ผู้คนโดยทั่วไปซึ่งหมักหมมด้วยกิเลสเปรียบเหมือนคนไข้อาการสาหัส
เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาธรรมที่ตรัสรู้ว่าเป็นของลึกสุขุม ยากที่ผู้หนาด้วยกิเลสจะเห็นตามรู้ตามได้
ทรงท้อพระหฤทัยในการรักษาผู้คนเหล่านั้นให้หายจากกิเลสได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยทรงมีพรหมวิหารธรรม โดยเฉพาะพระกรุณาธิคุณเป็นที่ตั้ง
จึงทรงกลับพระหฤทัยเพียรสอนผู้คนให้เห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมในการปลดเปลื้องตนออกจากกิเลสต่าง ๆ (ภควโตธัมมเทสนายอัปโปสุกตภาวปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 17-06-2009 17:36

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ที่พระคุณเจ้าว่าพระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปทางใด แผ่นดินที่ลุ่มก็ฟูขึ้น ที่ดอนก็ยุบลงเรียบราบเสมอกัน ใช่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังที่พระองค์ตรัสนั้น

ม. แต่เหตุไฉนจึงมีเล่าไว้อีกที่ว่า พระบาทของพระพุทธเจ้าถูกสะเก็ดหินกระทบ
น. เป็นเพราะสะเก็ดหินนั้นมิได้ตกลงมาตามธรรมดาของตน หากตกลงมาด้วยความเพียรของพระเทวทัต อย่างไรก็ตาม
หินที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาด้วยความอาฆาตมีขนาดเท่าเรือนยอด โดยหวังจะให้ทับพระพุทธเจ้า แต่แล้วกลับมีภูเขาสองลูกผุดขึ้นรับไว้
ด้วยแรงปะทะของหินกับภูเขาจึงบังเกิดสะเก็ดหินที่กระเด็นไปต้องพระบาทของพระพุทธเจ้าเข้า


ม. ก็เมื่อมีภูเขาสองลูกผุดขึ้นมารับแล้ว ทำไมยังมีสะเก็ดกระเด็นไปถูกได้เล่า
น. แม้เมื่อมีของรองรับ แต่ก็ยังรั่วได้ เหมือนเทน้ำลงฝ่ามือ น้ำย่อมรั่วไหลออกตามนิ้วมือได้ฉะนั้น

ม. เอาเถิด ข้อนี้ข้าพเจ้าเข้าใจ แต่ยังข้องใจว่า เหตุใดสะเก็ดหินจึงไม่ทำความเคารพยำเกรงพระพุทธองค์เหมือนผืนแผ่นดินที่พระคุณเจ้ากล่าวไว้เบื้องต้น
น. ขอถวายพระพร เหตุปัจจัยที่กระทำให้ไม่เกิดความเคารพยำเกรง ได้แก่
๑. อำนาจราคะ
๒. อำนาจโทสะ
๓. อำนาจโมหะ
๔. อำนาจโลภะ
๕. อำนาจพยาบาท
๖. อำนาจมานะ
๗. อำนาจอติมานะ
๘. ความไม่นิยมนับถือ
๙. ความเป็นคนเลวในสันดาน
๑๐.ความไม่มีอิสระแก่ตน
๑๑.ความตระหนี่ตน
๑๒.ความสาละวนแต่การงาน

ขอถวายพระพร สะเก็ดหินชิ้นนั้นกลิ้งลงมาด้วยอำนาจแห่งความพยาบาทของพระเทวทัต
แม้จะแตกออกเพราะกระทบกับภูเขา แต่แรงส่งนั้นยังคงมีอยู่ จึงกระเด็นไปถูกพระบาทพระพุทธเจ้าเข้า
เหมือนละอองฝุ่นอันลมหอบย่อมกระจายไปทั่วทิศฉะนั้น (ภควโตปาทปัปปฏิกปติตปัญหา)

ป้านุช 21-06-2009 00:10

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน คำที่พระคุณเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าทรงนำมาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่หมู่ชน”นั้น จริงเสมอไปหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร จริงเสมอ

ม. ถ้าเช่นนั้น ทำไมพระองค์จึงทรงแสดงอัคคิขันโธปมสูตร ซึ่งเกิดผลร้ายทำให้พระภิกษุ ๖๐ รูป
(ซึ่งเป็นผู้ล่วงปฐมปาราชิกสิกขาบท ตามความในพระสูตร สัตตกนิบาตอังคุตตรนิกาย) กระอักเลือดเล่า

น. ขอถวายพระพร การที่พระภิกษุ ๖๐ รูป กระอักเลือดนั้น เป็นเพราะความชั่วที่ตัวทำไว้ตามมาให้ผลต่างหาก

ม. ถึงเช่นนั้น ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงพระสูตรนั้น ภิกษุเหล่านั้นก็คงไม่กระอักเลือด
น. ก็ถ้าการกระอักเลือดนั้นเป็นเพราะการแสดงพระสูตรของพระพุทธองค์ เหตุใดพระภิกษุอื่นไม่กระอักเลือดไปด้วยเล่า
ขอถวายพระพร นี่เป็นด้วยผลของความชั่วที่ตัวกระทำไว้เป็นเหตุ จึงเกิดผลร้ายเฉพาะแต่ผู้กระทำชั่วนั้น


ม. แต่ข้าพเจ้ายังคิดว่า ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงพระสูตรนั้นเสียเลย ผลร้ายนั้นก็คงไม่เกิดขึ้นเป็นแน่
น. อาตมภาพขอเปรียบถวาย ธรรมดาช่างไม้ถ้ามัวเสียดายเนื้อไม้อยู่ จะกระทำไม้ที่คดงอให้ตรงได้หรือไม่

ม. ไม่ได้สิพระคุณเจ้า ตรงไหนคดงอมีแง่มีงอน ก็ต้องถากทิ้งเสีย ไม้นั้นจึงจะตรงได้ตามความประสงค์
น. ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกับช่างไม้นั้น กล่าวคือ พุทธบริษัทเหล่าใดคดงอจนทรงกระทำให้ตรงด้วยอาการปกติไม่ได้
พระองค์ก็ต้องถากทิ้งเสียโดยทรงแสดงโทษของความชั่วอย่างหนัก ให้เกิดความเกรงกลัว และให้ได้รับโทษเพื่อจะได้หลาบจำไม่กระทำต่อไปอีก
การแสดงพระธรรมเทศนานี้ จึงเป็นการดัดนิสัยของผู้ฝ่าฝืนพระพุทธบัญญัติให้ละความประพฤติผิด หันมาดำเนินทางที่ถูกที่ควร
แล้วได้บรรลุมรรคผลตามอุปนิสัยความสามารถของแต่ละคน
อนึ่ง ถ้าพระองค์มัวคำนึงถึงความทุกข์เฉพาะของพระภิกษุ ๖๐ รูปนั้น แล้วไม่แสดงพระสูตรนี้
พระภิกษุอีกจำนวนมากก็จะไม่ได้บรรลุมรรคผลตามโอกาสอันควรของตน
ขอถวายพระพร เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องจัดว่า พระพุทธองค์ทรงนำมาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่หมู่ชนทั้งนั้น(สัพพสัตตหิตจรณปัญหา)


ม. จริงอย่างพระคุณเจ้าว่า

ป้านุช 21-06-2009 00:14

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระอานนท์ว่า ความรู้ทุกอย่างที่พระองค์มีอยู่
พระองค์หาได้ทรงปิดบังไม่ และได้ทรงเปิดเผยให้แจ่มแจ้งแล้วทุกอย่างนั้น จริงหรือ

พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร จริง

ม. ถ้าเช่นนั้น เมื่อพระมาลุงกยะทูลถามปัญหาเรื่องโลกเป็นต้น เหตุใดจึงไม่ตอบพระมาลุงกยะเสียเล่า
น. ขอถวายพระพร อันลักษณะปัญหานั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ
๑. ปัญหาที่ต้องอธิบายให้เด็ดขาดเป็นอย่างเดียว เช่น อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง
๒. ปัญหาที่ต้องตอบแบบแยกแยะ
๓. ปัญหาที่ต้องย้อนถามแล้วจึงจะอธิบายต่อไป และ
๔. ปัญหาซึ่งไม่ควรตอบเพราะตอบไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับผู้ฟัง

ขอถวายพระพรปัญหาที่พระมาลุงกยะทูลถามนั้น มีลักษณะเป็นปัญหาแบบที่ ๔ และการที่พระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงคำตอบนั้น
ก็ด้วยทรงเห็นว่าแม้จะแสดงไป พระมาลุงกยะก็ไม่ได้รับผลคือสันติสุขอะไร กลับจะทำให้ความคิดความเห็นของพระมาลุงกยะห่างออกจากพระอริยมรรคอริยผลไปเสีย
เนื่องจากปัญหาที่ถามเป็นปัญหาที่เดินออกนอกเขตแห่งมรรคผล (ฐปนีพยากรณปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าฉลาดว่า

ป้านุช 21-06-2009 00:19

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารที่นายจุนท์ถวายแล้วก็ประชวรเสด็จเข้าสู่นิพพานใช่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังที่พระองค์ตรัสนั้น

ม. ถ้าเช่นนั้น หมายความว่า การถวายอาหารของนายจุนท์เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องปรินิพพานหรือ
น. มิใช่อย่างนั้น เพราะก่อนที่นายจุนท์จะถวายอาหาร พระพุทธองค์ก็ทรงทราบอยู่แล้วว่าจักต้องนิพพานในวันนั้นแน่นอน

ม. ถ้าเช่นนั้น เป็นเพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงตรัสยกย่องทานของนายจุนท์ว่ามีอานิสงส์ล้ำเลิศเทียบเท่ากับผลทานของนางสุชาดาที่ถวายอาหารท่านก่อนตรัสรู้
น. ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยอาหารของนายจุนท์แล้ว ตอนปัจฉิมยามก็เสด็จเข้าสู่อนุปุพพวิหารสมบัติ ๙ ประการ
(ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑) โดยอนุโลมและปฏิโลม ครั้นแล้วก็เสด็จปรินิพพาน (เทวปิณฑปาตมหัปผลภาวปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช 22-06-2009 13:16

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าทรงกระทำกิจเสร็จสิ้นแล้วทุกอย่าง กิจอื่นที่จะต้องกระทำไม่มีอีกแล้วมิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังที่พระองค์ตรัส

ม. ถ้าอย่างนั้น ไฉนพระพุทธองค์ยังทรงเข้าฌานอยู่เป็นนิจเล่า
น. การที่พระพุทธองค์ยังทรงเข้าฌานอยู่ก็เพราะฌานเป็นคุณธรรมที่ให้ประโยชน์แก่พระองค์มามาก ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ทรงเข้าฌานเป็นพื้นฐานก่อนการตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งนั้น ขอถวายพระพร เนื่องด้วยฌานมีคุณเช่นนี้ พระพุทธองค์จึงยังทรงฝักใฝ่ในการเข้าฌานอยู่

ม. พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบ
น. เหมือนบุคคลผู้หมั่นเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์และพยายามทำความดีความชอบเป็นเหตุให้ได้รับพระราชทานทรัพย์จนสามารถตั้งตัวได้ แต่ถึงจะมั่งคั่งเลี้ยงตัวได้แล้ว บุคคลนั้นก็ยังหมั่นเข้าเฝ้าอยู่เนือง ๆ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์นั้น
ฉันใดก็ฉันนั้น การเข้าฌานเป็นพื้นฐานประการหนึ่งให้พระองค์ตรัสรู้ แม้เมื่อเสร็จกิจนี้แล้ว พระองค์ก็ไม่ทรงทอดทิ้งการเข้าฌาน ขอถวายพระพร อันการเข้าฌานนั้นมีคุณมากประการ เช่น กำจัดความรัก ความโกรธ ความหลง ความถือตัว และความวิตก มีใจเป็นอารมณ์หนึ่งเดียว พิจารณาเห็นความจริงทั้งหลายได้ง่าย ทำให้เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ
ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าทรงเข้าฌานด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ


๑. ฌานเป็นวิหารธรรมอันสำราญ
๒. ฌานเกื้อหนุนคุณธรรมที่มีอยู่
๓. ฌานเป็นวิถีแห่งพระอริยะทั้งหลาย
๔. ฌานเป็นคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญ (ตถาคตอุตตริกรณียาภาวปัญหา)


ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:44


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว