![]() |
พระอาจารย์บอกว่า "เรื่องของสมถะกับวิปัสสนา จริง ๆ เหมือนกับคนผูกขาติดกัน ต้องผลัดกันก้าวทีละขา ถ้าก้าวขาเดียวไปแล้วไม่ก้าวอีกขา พอไปถึงแล้วก็โดนกระตุกกลับเข้ามา
สมถะคือการสร้างกำลัง วิปัสสนาเป็นอาวุธ มีกำลังและอาวุธจะตัดจะฟันอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น..เราภาวนาจนอารมณ์มันทรงตัวเต็มที่ ถ้าสังเกตแล้วจะรู้ว่าพอเต็มที่มันจะถอยของมันมาเอง ตอนที่มันถอยนี่แหละ ถ้าเราไม่หาวิปัสสนาให้มันคิด มันจะฟุ้งซ่านไปในรัก โลภ โกรธ หลงเลย แล้วจะรัก โลภ โกรธ หลงได้ชัดเจนมาก จนกระทั่งเขาบอกว่าอยากรู้ว่ามีกิเลสเท่าไหร่ให้ไปทำกรรมฐาน นั่นเรื่องจริง เพราะถ้าเราใช้ไม่เป็น ด้วยความที่จิตมันนิ่ง จิตมีกำลัง ในเมื่อมีกำลัง ถ้าเราไม่ใช้ในด้านดีก็เอากำลังไปใช้ในด้านชั่ว รัก โลภ โกรธ หลงจะเด่นชัดมาก ๆ เลย คราวนี้พอสมาธิเริ่มถอย เราก็หางานให้มันทำ ก็คือ วิปัสสนาญาณเอาให้มันคิด ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ จนยอมรับสภาพจริง ๆ ว่ามันเป็นอย่างนั้น ถ้ามันยังไม่ยอมต้องคิดใหม่ ตอนคิด เราจะคิดไปเรื่อย ๆ จิตมันจะดิ่งลึกไปเรื่อย จะเห็นชัดเจนไปเรื่อย จะกลายเป็นภาวนาอีกรอบหนึ่ง พอมันเข้าไปในการภาวนามันจะเป็นสมถะ เราก็ว่าสมถะไป ก็แปลว่าเมื่อกี้เป็นสมถะหนึ่งก้าว แล้วเรามาวิปัสสนาหนึ่งก้าว พอมันสุดแล้วมันเป็นสมถะอีกก้าวหนึ่ง ก็เลยเป็นภาวนาสลับพิจารณาไปเรื่อย ไม่ใช่ไปเริ่มต้นใหม่นะ เราทำอย่างนั้นมันจะเข้าหาสมาธิของมันเอง เพียงแต่ว่าการพิจารณาจะดิ่งลึกเข้าไปเรื่อย ทำอันใดอันหนึ่งไม่พอ สมถะอย่างเดียวมีกำลัง แต่ถ้าหากเผลอหลุดเมื่อไหร่กิเลสก็งอกงามใหม่ วิปัสสนาอย่างเดียวมันเป็นอาวุธก็จริง แต่ถ้ากำลังไม่พอมันก็ตัดอะไรไม่ได้ ต้องทำสองอย่างสลับกัน มันผูกขาติดอยู่ ทิ้งกันไม่ได้หรอก ถ้าทิ้งแล้วไปเอาอันเดียว มันหลุดได้ เพราะว่าเราต้องใช้สมาธิ ใช้ฌานสมาบัติกดรัก โลภ โกรธ หลงให้กิเลสกระดิกไม่ได้ ทับหญ้า ทับนาน ๆ หญ้ามันตาย แต่อย่าให้หลุดนะ ถ้าหลุดนี่มันงอกงามกว่าเดิมปกติหลายเท่าเลย เรื่องของวิปัสสนาก็เหมือนกัน ถ้าหากเราคิดไป ๆ ก็จะเป็นสมาธิได้ แต่ว่าสมาธิในวิปัสสนากำลังจะน้อย กว่าจะตัดกิเลสได้ต้องสั่งสมไปเรื่อย ที่เขาบอกว่าให้ใช้สมาธิจดจ่อต่อเนื่อง จดจ่อต่อเนื่อง มันจะภาวนาไปเรื่อยตามที่เขาบอก ก็คือขาดไม่ได้ ถ้าทิ้งช่วงเมื่อไหร่ก็เจ๊งเลย เราจะเห็นว่าต่อให้เป็นอาจารย์ที่มาสอนและสอบอารมณ์กับเราก็ตาม เผลอเมื่อไหร่ก็ไหลตามเรา ตอนสอบอารมณ์พอเขาหลุดจากสมาธิ ก็ไหลตามเราเหมือนกัน" |
พระอาจารย์บอกว่า "การปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นสายไหนก็ตาม ที่สุดแล้วก็เหมือนกัน แต่สำคัญตอนที่ทำต้องทำให้ต่อเนื่อง ถ้าไม่ต่อเนื่องก็เหมือนกับการที่เราฝืนกระแสว่ายทวนน้ำ
ทีนี้พอเราฝืนไป ๆ ถ้าเราปล่อยก็จะไหลตามน้ำ กลายเป็นว่าขยันทำงานแต่ผลงานไม่มี พอถึงเวลาก็ปล่อยไหลตามน้ำไป แบบนั้นว่ายน้ำเท่าไหร่ก็ได้เท่าเดิม เพราะฉะนั้น..ต้องทำให้ต่อเนื่อง" |
ถาม : เวลาที่กำลังอยู่ในอารมณ์สมาธิอยู่ ทีนี้พอไปคุยกับคนอื่นแล้วจะมีความรู้สึกว่าเหนื่อย
ตอบ : เรื่องของสมาธิ บางทีเราก็ไม่อยากคุยเลย ถ้าต้องฝืนใจมาคุย ก็ต้องฝืนในลักษณะ"ให้มันหน่อย" คนที่เคยยกข้าวสารเป็นกระสอบ อยู่ ๆ โดนตัดกำลังไป แต่ดันไปยกกระสอบเท่าเดิมก็แย่สิครับ มีอยู่อย่างเดียวว่าเรารักษาอารมณ์แล้วคลายกำลังออกมาคุยกับเขา ก็จะเป็นปกติ แต่ถ้าเราคลายออกมาไม่หมดไปคุยกับเขาก็จะเหนื่อยแบบนี้ |
ถาม : เวลานอน เมื่อตื่นขึ้นมา หนูจะรู้สึกเหนื่อย เหนื่อยในที่นี้คือเหนื่อยกายในไม่ใช่กายนอก
ตอบ : บางทีสมาธิจิตเราใช้ไปโดยไม่รู้ตัว ใช้ตอนหลับ เราอาจจะพยายามกดกิเลสบางส่วนเอาไว้ไม่ให้มันงอกงามตอนเราหลับอยู่ ตรงที่เราต้องกอดต้องปล้ำกับมันตรงนั้น จะทำให้เราเหนื่อยจนลิ้นห้อย แต่ถ้าทำให้ชำนาญ หลับกับตื่นเท่ากัน คราวนี้จะไม่เหนื่อย |
พระอาจารย์บอกว่า "ขอยืนยันว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าถ้าเราปฏิบัติเมื่อไหร่ได้ผลเมื่อนั้น อย่าเพิ่งไปท้อว่าไม่ใช่สมัยพุทธกาล ทำแล้วไม่ได้มรรคไม่ได้ผล ไม่จริงครับ อยู่ที่เราทำจริงหรือเปล่า?
เรื่องของการปฏิบัติเป็นการสั่งสม ค่อย ๆ สะสม พอถึงระดับหนึ่งแล้วจะเริ่มงอกเป็นดอกเป็นผลขึ้นมา เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ จะไปเร่งรัดให้มันโตก็ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันหน้าที่บำรุงรักษาก็ขาดไม่ได้ จึงต้องทำอยู่เรื่อย ๆ ผมนึกถึงหลวงพ่อมหาธนิต ปญฺญาปสุตฺโต ท่านอยู่วัดเทพศิรินทร์ ท่านตั้งใจไว้เลยว่า จะเรียนทางโลกให้จบประโยคเก้า แล้วหลังจากนั้นท่านจะทุ่มเทให้กับทางธรรม แล้วท่านก็ทำได้อย่างปากว่าจริง ๆ เพราะท่านเป็นคนจริงจัง พอจบประโยคเก้า ท่านขออนุญาตอาจารย์แบกกลดออกธุดงค์เลย ทั้ง ๆ ที่ อาจารย์เสียดายมาก ๆ อยากได้ตัวใช้งาน เพราะท่านเรียนเก่ง แล้วท่านก็อยู่ป่าจนกระทั่งมรณภาพในป่า เป็นพระป่าสมใจเลย ต้องเรียกว่าตายกลางสมรภูมิ กว่าคนจะรู้ศพท่านก็เน่าแล้ว ท่านนั่งสมาธิตาย อย่างท่านหลวงพ่อมหาธนิต ท่านตั้งใจเรียนเพื่อศึกษาธรรมจริง ๆ จะได้มั่นใจว่าแปลพระไตรปิฎกได้แน่นอน" |
พระอาจารย์บอกในเรื่องการปฏิบัติว่า "ต้องซ้อมแล้วซ้อมอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ถ้าจิตยอมรับจริง ๆ ก็จะไม่ดิ้นรน ถ้าจิตยอมรับจริง ๆ จะเห็นสภาพธรรมดา จะไม่เบื่อ ไม่หน่าย ไม่ได้อยากตาย แต่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะตาย"
|
ถาม : การปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเสียที
ตอบ : ทำขาด การปฏิบัติของเราขาดความต่อเนื่อง ต้องถามว่า ถ้าเราจะเอาผลภายใน ๒๔ ชั่วโมง แล้วเราให้เวลาในการปฏิบัติกี่ชั่วโมง? ถ้าจะเอาให้ได้ผลจริง ๆ ต้องทุ่มเทให้กับมัน แต่ว่าการทุ่มเทไม่ได้หมายถึง เราไม่ทำอย่างอื่นเลย หากแต่ว่าเวลาเราทำแล้วให้กำลังใจมันทรงตัว ลุกแล้วอย่าทิ้งเลย ให้รักษากำลังใจนั้นเอาไว้ให้อยู่กับเรา จะพูด นอน เดิน ยืน กิน จะทำอะไรก็ตาม ให้กำลังใจเหมือนกับตอนที่เรานั่งปฏิบัติ ถ้าสามารถทำอย่างนี้ให้ต่อเนื่องได้ ความก้าวหน้าจะมี ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็อยู่แค่นั้นแหละ |
พระอาจารย์บอกว่า "ในเรื่องการปฏิบัติต้องทำให้เกิดผล ถ้าเกิดผลแล้วเราจะเริ่มเชื่อ แต่สำคัญที่ว่า ทุกอย่างเริ่มจากศรัทธา แม้ว่าศรัทธายังไม่เต็มร้อย แต่พอปฏิบัติไปแล้วเกิดผลจะมาเอง ถ้าศรัทธาเต็มร้อยเราจะทุ่มให้กับการปฏิบัติ"
|
ถาม : กรรมบถ ๑๐
ตอบ : จริง ๆ แล้วกรรมบถ ๑๐ เป็นของละเอียดมาก การพูดเพ้อเจ้อ ก็คือ การพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ขัดขวางกับการปฏิบัติความดี อันนี้คือเป็นหลัก ๆ ฉะนั้น..ถ้าหากไม่ได้ชวนกันทำความดี ชวนไปทำความชั่ว หรือไม่ก็ไปพูดไปคุยโดยเสียเวลาการปฏิบัติความดี ตรงนี้ก็เป็นการพูดเพ้อเจ้อ |
พระอาจารย์บอกว่า "การศรัทธาในพระรัตนตรัย ถ้ายังไม่มั่นคงแน่นแฟ้นจริง การปฏิบัติก็ยังไม่จริงจัง ถ้าหากศรัทธาในพระรัตนตรัยมั่นคงแน่นแฟ้นจริง การปฏิบัติก็จะทุ่มเท"
|
ตอนไปบ้านอนุสาวรีย์ เถรีพกหนังสือเพชรพระอุมาไปอ่านด้วย พออ่านจบไปหนึ่งเล่ม พระอาจารย์ถามว่า "ได้อะไรจากมันตรัยบ้าง?
เราต้องดูไปจุดที่ว่า มันตรัยพยายามทุกอย่างที่จะรักษาคัมภีร์มายาวิน เพราะว่าคัมภีร์นั้นเป็นศูนย์รวมของทุกอย่างที่เขาเสริมสร้างเอาไว้ สูญเสียเมื่อไหร่ก็แปลว่าพังทลาย ทำอย่างไรเราจะรักษาสภาพจิตใจของเราไม่ให้สูญเสียไปเพราะรัก โลภ โกรธ หลงได้ เพราะถ้าเสียเมื่อไหร่ทุกอย่างก็พังหมด แม้ว่ามันตรัยมันจะเป็นตัวโกงในสายตาของเรา แต่เขาบอกว่าให้ดูเยี่ยงกา แต่อย่าเอาอย่างกา ดูหนังดูละครให้ย้อนดูตัว คิดให้เป็น ถ้าหากว่าปราศจากจินตนาการ คราวนี้ความดีมันเข้ายาก แต่ว่าจินตนาการให้มันพอเหมาะพอดี ถ้าจินตนาการเตลิด กู่ไม่กลับ ออกทะเลได้อย่างเดียว ไปลิบ ๆ เลย มันตรัยจะเก่งอย่างนั้นได้ เพราะผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก เราเองถ้าอยากเก่งก็ต้องแบบเดียวกัน ทุ่มเทให้กับการฝึกฝนทุกอย่าง อย่าลืมว่าเขาแยกจิตได้ใช่ไหม? รู้ว่าอันตรายจะเกิดขึ้นกับร่างนี้ก็ทิ้งมันก่อน ไปอยู่อีกร่างหนึ่ง ลักษณะสภาพจิตของเราก็เหมือนกัน รู้ว่าอันตรายจะเกิดขึ้นจากรัก โลภ โกรธ หลง ก็รีบเผ่นไปหาพระ เลียนแบบได้ แต่ไม่ใช่ทำอย่างเขา" ถาม : แล้วแหม่มมาเรียละคะ? ตอบ : ตั้งแต่เล่มแรก ๆ จนกระทั่งเล่มท้าย ๆ เราจะเห็นความมุ่งมั่นของแหม่มมาเรีย เขามุ่งมั่นว่าจะปล้ำรพินทร์ให้ได้ ตรงจุดนี้แหละ เราเอาความมุ่งมั่นของเขามาใช้ กรรมฐานกองใดที่เราจะทำ เราต้องทำให้ได้ เหมือนอย่างที่มาเรียเขาตั้งใจจะปล้ำรพินทร์ให้ได้ |
เราจะเห็นว่า จริง ๆ ตัวละครแต่ละตัวเขาจะมีความดีของเขาอยู่ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะเอาไปใช้ผิดด้าน อย่างที่เมื่อครู่ได้บอกกับท่านมหาฯ ว่า เมื่อเราฝึกภาวนาเสร็จแล้ว พอใจคลายออกมาต้องรีบมาพิจารณา ไม่เช่นนั้นจะไปในด้านรัก โลภ โกรธ หลง กลายเป็นเอากำลังในการภาวนาไปใช้ในทางด้านนั้น และกำลังมันจะรุนแรงมาก ต้องรีบดึงมาพิจารณา อย่าใช้ผิดด้าน
ในเรื่องของตัวละครต่าง ๆ หรือความประพฤติของเขา แม้ว่าจะอยู่ในด้านที่ไม่ดี แต่เรามาคิดว่า ถ้าเป็นด้านดีเราจะเอากำลังมาใช้อย่างไร เหมือนกับตอนที่ทิดหนูบวชอยู่ เขาอ่านหนังสืออยู่ เพื่อนจะทำอย่างไรเขาไม่สนใจ เพ่งอยู่กับหนังสือ ฉะนั้น..ทำอย่างไรจะเอากำลังใจที่มุ่งมั่นและเจาะจงอย่างนั้นมาใช้กับการปฏิบัติ |
พระอาจารย์ได้ยกเรื่องราวของบุคคลสมัยพุทธกาลที่เกี่ยวข้องกับตุ้มหูมาให้ฟัง ดังนี้
"ตุ้มหู บางคนก็เรียกต่างหู แต่ในพระไตรปิฎกถ้ากล่าวถึงตุ้มหูมีคนดังอยู่สองท่าน ท่านแรกเป็นตัวอย่างที่ดีก็คือ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรเป็นลูกเศรษฐี แต่พ่อขี้เหนียวอย่าบอกใครเลย ในเมื่อพ่อขี้เหนียว แม้แต่เครื่องประดับของลูกก็ไม่ใช้ทองเหมือนบ้านอื่นเขา แกไปเอาไม้มากลึงเป็นตุ้มหูแล้วขัดเสียเงาวับ ให้ลูกใส่ เขาก็เลยเรียก มัฏฐกุณฑลี แปลว่า ผู้มีต่างหูเกลี้ยง เนื่องจากมัฏฐกุณฑลีเป็นลูกเศรษฐี จึงอาละวาดตามใจชอบ ความชั่วทุกประเภทมีอะไรทำหมด ดูแล้วสมควรลงนรกเป็นอย่างยิ่งแต่กลับไม่ได้ลง ทีนี้ด้วยความที่ตัวเองเที่ยวมาก ก็เลยป่วยหนัก พ่อก็กลัวว่าถ้าญาติมาเยี่ยมแล้วเห็นทรัพย์สินเงินทองจะเอ่ยปากขอ ก็เลยเอาลูกไปวางทิ้งไว้ที่ระเบียงนอกชาน หายารักษาตามมีตามเกิด อาการก็ไม่หายมีแต่หนักขึ้น ๆ พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปพร้อมกับพระอานนท์ ไปบิณฑบาต เห็นมัฏฐกุณฑลีเข้าก็เลยรู้วิสัยของคน ๆ นี้ อย่างน้อยก็จะได้ประโยชน์จากการปรากฏของท่าน ก็เลยเปล่งฉัพพรรณรังสีไปปรากฏเฉพาะหน้า มัฏฐกุณฑลีก็แปลกใจว่าแสงอะไร ป่วยจนไม่มีแรงก็พยายามเอียงคอมอง เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปก็ทราบว่าพระสมณโคดม รู้จัก...แต่ไม่เคยทำบุญด้วย ทำแต่ความชั่วทุกชนิด ทีนี้วาระสุดท้าย มัฏฐกุณฑลีก็คิดว่า ใคร ๆ เขาว่าพระสมณโคดมเก่งมาก ถ้าหากว่าได้ท่านมารักษาเราน่าจะหาย คิดอย่างนั้น ก็เลยน้อมจิตนึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใส พอดีตายตอนนั้น ไปเป็นเทวดา คราวนี้คนเป็นพ่อ อทินนกปุพพกพราหมณ์ พอลูกตายเอาไปป่าช้า ไปร้องไห้เสียดายลูก ส่วนมัฏฐกุณฑลีเทพบุตรขึ้นไปเกิดอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองคำ ก็คิดว่าเราทำความดีอะไรนะ ถึงได้มีสมบัติขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่ตอนมีชีวิตอยู่ไม่เคยทำ ก็เลยรู้ว่าเกิดจากการระลึกถึงพระพุทธเจ้า พุทธานุสติเพียงช่วงไม่กี่วินาทีก่อนตาย มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรเห็นพ่อร้องไห้ในป่าช้าก็เลยจะไปจัดการเสียหน่อย ว่าแล้วก็แปลงร่างหน้าตาเหมือนเดิมทุกอย่าง มาถึงก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นบ้าง อทินนกปุพพกพราหมณ์คิดถึงลูก อยู่ ๆ ได้ยินเสียงร้องไห้ก็หันไปดูว่าเป็นเสียงใคร เราร้องไห้เพราะลูกตาย ก็เลยถามพ่อหนุ่มร้องไห้ทำไม พอเจ้าหนุ่มหันหน้ามา ปรากฏว่าหน้าตาเหมือนลูกชายตัวเอง แกก็เลยยิ่งคิดถึงลูกเข้าไปใหญ่ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรบอกว่า "ข้าพเจ้ามีรถอยู่คันหนึ่ง ช่างเขาประกอบได้วิจิตรสวยงามมาก แต่ว่าไม่มีล้อ ตอนนี้อยากได้ล้อรถ" อทินนกปุพพกพราหมณ์ก็เห็นว่า ชายหนุ่มอายุไล่เลี่ยกับลูกตัวเอง หน้าตาคล้ายคลึงมากก็เลยคิดว่า ถ้าหากหนุ่มนี้อยู่ก็เหมือนกับว่าเป็นลูกของเรา ก็บอกว่า "เจ้าอยากได้ล้อรถแบบไหน เราจะให้ จะเป็นล้อทองคำ ล้อแก้วมณีก็จะให้" มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรเซ็งเลย ตอนมีชีวิตอยู่พ่อขี้เหนียวไปทุกอย่าง ตอนตายใครไม่รู้โผล่มาจะให้แม้กระทั่งแก้วมณี ก็เลยบอกว่า "ล้อรถที่อยากได้ไม่ใช่แก้วมณีหรอกครับ อยากได้พระอาทิตย์กับพระจันทร์มาเป็นล้อรถ" อทินนกปุพพกพราหมณ์ได้ฟังก็ฉุนขึ้นมา บอกว่า "บ้าหรือเปล่า ของมันอยู่บนท้องฟ้า จะเอามาทำล้อรถได้อย่างไร?" มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรที่แปลงมาเป็นชายหนุ่มบอกว่า "ถ้าผมบ้าลุงก็บ้าด้วย ถึงผมจะเอาพระอาทิตย์พระจันทร์มาเป็นล้อรถ ผมก็ยังมองเห็น แต่ลูกของลุงที่ตายไปแล้ว ลุงอยากให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ ลุงเห็นหรือเปล่าว่าลูกอยู่ไหน?" |
อทินนกปุพพกพราหมณ์พอได้ยินเข้าก็ได้สติ ยกมือไหว้บอกว่า "พ่อมาณพพูดจาเป็นภาษิตแท้ บ้านช่องอยู่ที่ไหนอยากรู้จัก" มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรก็เลยแสดงให้เห็นเป็นวิมานทองคำของเทวดา แล้วบอกว่าตัวเขาก็คือมัฏฐกุณฑลีลูกชายของท่านเอง แต่ว่าตายแล้วขึ้นไปสวรรค์มีวิมานทองคำอยู่ อานิสงส์เกิดจากการที่ระลึกถึงพระสมณโคดมด้วยความเลื่อมใสก่อนตายเท่านั้นเอง
อทินนกปุพพกพราหมณ์ถามว่าได้ขนาดนั้นจริง ๆ หรือ? มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรก็บอกว่า "ใช่..ขนาดนั้น แล้วถ้าหากพ่ออยากได้อานิสงส์ยิ่งกว่านี้นะ ให้เลิกขี้เหนียว ให้ทำบุญใส่บาตรกับพระในพุทธศาสนาบ้าง" อทินนกปุพพกพราหมณ์ก็ถามว่า "จะทำได้อย่างไร?" มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรก็บอกว่า "ให้ไปนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมกับพระสงฆ์ที่เชตวันมหาวิหารมาเลี้ยงเพลที่บ้าน จัดอาหารถวายท่าน อานิสงส์ที่ได้จะมหาศาลจนประมาณมิได้" อทินนกปุพพกพราหมณ์ก็เลยตกลง เพราะเห็นกับตาแล้วว่าลูกแค่นึกถึงยังได้บุญขนาดนี้ ตัวเองอยากได้บุญ ตอนนี้หายขี้เหนียวแล้ว ก็เลยไปนิมนต์พระพุทธเจ้า แต่ก็ยังสงสัยอยู่ ไปนิมนต์พระพุทธเจ้าแล้วก็ทูลถามว่า "ข้าแต่พระสมณโคดม..บุคคลที่เพียงแค่ระลึกถึงนามพระองค์ท่าน ตายแล้วไปสู่สุคติมีหรือไม่" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "พราหมณะ..ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลที่ระลึกถึงนามของตถาคตตายไปแล้วไปสู่สุคตินั้น ไม่ได้มีเป็นร้อยเป็นพัน แต่มีนับโกฏิ เธอก็ได้เห็นตัวอย่างจากมัฏฐกุณฑลีเทพบุตรลูกชายของเธอแล้วไม่ใช่หรือ?" พระพุทธเจ้าท่านทราบ อทินนกปุพพกพราหมณ์ก็เลยเกิดเลื่อมใสนิมนต์พระพุทธเจ้าไปฉันเพล พระพุทธเจ้าก็เรียกมัฏฐกุณฑลีเทพบุตรมาพร้อมกับวิมานให้เป็นที่ประจักษ์ ตั้งแต่นั้นมาอทินนกปุพพกพราหมณ์คงต้องเปลี่ยนชื่อ เพราะชื่อ อทินนกปุพพกพราหมณ์ แปลว่า ผู้ไม่เคยให้มาในปางก่อน ก่อนหน้านี้ไม่เคยให้ใคร เพิ่งจะมาให้ตอนนี้เท่านั้น ดังนั้น..พูดถึงเรื่องต่างหู ท่านมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร คือท่านผู้มีต่างหูเกลี้ยงใช่ไหม? ทีนี้พอขึ้นไปข้างบนตุ้มหูไม่ได้เป็นไม้แล้ว แต่เป็นทอง ถ้าพระพุทธเจ้าท่านไม่มาเทศน์โปรด มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรจะมีอายุอยู่แค่ ๗ วันข้างบนเท่านั้น พอพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดท่านก็กลายเป็นพระโสดาบัน ก็เลยอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น..อย่านินทาแรง ท่านได้ยิน..!" |
"เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสในมหากัมมวิภังคสูตรว่า บุคคลผู้ตั้งใจปฏิบัติภาวนา ทรงฌานสี่ได้ ยังทิพจักขุญาณให้เกิดขึ้น สามารถรู้เห็นนรกสวรรค์ แล้วกล่าวว่าบุคคลทำความดีไปสวรรค์โดยส่วนเดียว บุคคลทำความชั่วไปนรกโดยส่วนเดียว ตถาคตขอกล่าวว่าไม่ใช่
ท่านบอกว่า บุคคลผู้ทำดีในอดีตทำชั่วในปัจจุบัน...ไม่แน่ว่าจะไปชั่ว ตัวอย่างคือมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ในอดีตเคยทำดีมาก่อน เคยสร้างพระพุทธรูป อานิสงส์มาส่งผลในชาติปัจจุบันที่ชั่วแสนชั่ว แต่มาทันในวินาทีสุดท้าย เพราะฉะนั้น ในอดีตทำดี...ในปัจจุบันทำชั่ว....ไม่แน่ว่าจะไปชั่ว ในอดีตทำชั่ว....ปัจจุบันทำชั่ว....ไปชั่วแน่นอน ในอดีตทำดี....ปัจจุบันทำดี......ไปดีแน่นอน ในอดีตทำชั่ว....ปัจจุบันทำดี......ไม่แน่นักว่าจะไปดี ตัวอย่างก็คือนางมัลลิกาเทวี ทำความดีมาตลอดชีวิต ก่อนตายจิตเศร้าหมองระลึกถึงกรรมเก่าของตนเอง จึงตกนรกเสีย ๗ วัน ท่านถึงได้บอกว่าเห็นนรกสวรรค์แล้วอย่าได้บอกว่าคนที่ทำดีแล้วไปสวรรค์ คนที่ทำชั่วแล้วไปนรก ไม่แน่ อดีตดี......ปัจจุบันดี..........ถึงจะไปดี อดีตชั่ว.....ปัจจุบันชั่ว......ถึงจะไปชั่ว อดีตดี......ปัจจุบันชั่ว......ไม่แน่ว่าจะไปชั่ว อดีตชั่ว.......ปัจจุบันดี.....ไม่แน่ว่าจะไปดี เพราะว่าแล้วแต่วาระกรรมมันจะส่งผลเมื่อไหร่" |
"เรื่องที่สองก็ตุ้มหูอีกเหมือนกัน แต่องค์นี้ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านชื่อ โสณกุฏิกัณณะ แปลว่าผู้มีต่างหูงาม ตุ้มหูนี้สวยจริง ๆ ราคาเป็นโกฏิ ท่านเป็นลูกมหาเศรษฐี เฉพาะตุ้มหูอย่างเดียวราคาแพงขนาดนั้น
ท่านโสณกุฏิกัณณะตั้งใจบวชในพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระอรหันต์ ท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าให้เป็น เอตทัคคะทางพูดแสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะ ใครได้ฟังก็ชอบใจ ดังนั้น..ถ้าหากว่ากล่าวถึงเรื่องตุ้มหู ในพระไตรปิฏกล่าวไว้ชัด ๆ คือ สองท่าน คือ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรและพระโสณกุฏิกัณณะ" ถาม : แล้วพระนางกุณฑลเกสีเถรีละคะ? ตอบ : นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ตุ้มหู แต่ผมของท่านขดเป็นวงกลมเหมือนกับแหวน ก็เลยเรียก กุณฑลเกสี แปลว่า ผมขดเหมือนวงแหวน |
พระอาจารย์บอกว่า "ในเรื่องของการทำบุญ ต้องมีปัญญาประกอบ รู้จักเลือกเนื้อนาบุญ อย่างท่านอังกุระเทพบุตร สร้างโรงทาน ๘๐ โรง เลี้ยงคนทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลาสองหมื่นปี ไปเกิดเป็นเทวดามีบุญน้อยที่สุดในดาวดึงส์ เทวดาองค์ไหนมาก็ต้องหลีกให้เขา เพราะว่าท่านเกิดในช่วงว่างจากพระพุทธศาสนา ช่วงนั้นคนไม่ได้อยู่ในศีลในธรรม
พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา อินทกะเทพบุตรและอังกุระเทพบุตร มากราบพระพุทธเจ้าพร้อมกัน ท่านนั่งอยู่ซ้ายและขวา เมื่อเทวดาที่มีศักดานุภาพใหญ่กว่ามาถึง อังกุระเทพบุตรต้องหลีกให้เขา ท่านก็ถอยไปเรื่อย..ถอยไปเรื่อย แต่อินทกะเทพบุตรนั่งอยู่ที่เดิม ท้ายสุดพอประชุมเทวดาครบถ้วน อังกุระเทพบุตรอยู่สุดขอบจักรวาลพอดี แต่อินทกะเทพบุตรยังนั่งอยู่ที่เดิม แม้แต่พระอินทร์มา อินทกะเทพบุตรยังไม่ต้องหลีกเลย พระพุทธเจ้าก็เลยถามบุรพกรรม ทั้ง ๆ ที่พระองค์รู้แต่ทรงถามให้เจ้าตัวเล่าเอง อังกุระเทพบุตรจึงได้เล่าให้ฟังว่าในอดีตชาติ ท่านเกิดมาในช่วงที่มนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ช่วงวาระสุดท้ายบั้นปลายชีวิตตั้งโรงทาน ๘๐ โรง เนื่องจากเป็นมหาเศรษฐี ท่านเลี้ยงคนทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลา ๒๐,๐๐๐ ปี แต่ก็มีบุญอยู่แค่นี้ เพราะอยู่ในช่วงโลกว่างจากศาสนา คนไม่ได้อยู่ในศีลในธรรม พอพระพุทธเจ้าถามอินทกะเทพบุตร อินทกะเทพบุตรก็เล่าว่าในชีวิตทำบุญครั้งเดียว ท่านเป็นชาวป่ามีอาชีพตัดฟืนขาย อยู่กับแม่และน้องสาว หลังคาบ้านก็รั่ว ผ้าก็ขาด วันหนึ่งมีพระธุดงค์ผ่านไป ๖ องค์ อินทกะเทพบุตรเห็นเข้าก็ดีใจ ได้ข่าวว่ามีพุทธศาสนาเกิดขึ้นมานานแล้ว มีพระสงฆ์มานานแล้ว อยากทำบุญแต่ติดด้วยเรื่องทำมาหากิน เพราะว่าท่านตัดฟืนขาย กว่าจะได้ฟืนก็หมดไปครึ่งค่อนวัน กว่าจะไปถึงตลาด กว่าจะขายฟืนหมด ไหนจะต้องซื้ออาหารกลับมาเลี้ยงแม่และน้องก็หมดวันพอดี ไม่มีโอกาสไปกราบพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม ไม่มีโอกาสไปกราบพระสงฆ์เพื่อฟังธรรม พอเห็นพระเข้าก็เลยดีใจ นิมนต์พระขอถวายอาหาร อินทกะเทพบุตรก็เอาอาหารแค่ในส่วนที่มี ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าว กับข้าวก็เป็นพวกผัก ถวายอาหารแด่พระสงฆ์ ๖ รูป ถือเป็นสังฆทานเพราะว่าครบองค์สงฆ์คือเกิน ๔ รูปขึ้นไป อินทกะเทพบุตรถวายอาหารครั้งเดียวในชีวิต เกิดเป็นเทวดามีศักดานุภาพเกินเจ้านาย (พระอินทร์) เสียอีก เพราะว่าพระทั้ง ๖ องค์นั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย ดังนั้น..ในเรื่องของการทำบุญ ถ้ารู้จักเลือกเนื้อนาบุญ อานิสงส์บุญก็จะได้มากกว่าปกติ ถ้าถามว่าทำบุญแล้วยังอยากได้บุญอยู่ ก็ถ้าไม่อยากได้แล้วทำไปทำซากอะไร ? เพียงแต่ว่าอย่าหลงในบุญ เรารู้ว่าบุญนั้นดีเราก็ทำ เรารู้ว่าบาปนั้นชั่วเราก็ละ ทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่ยึดเกาะทั้งดีทั้งชั่ว ท้ายสุดจะพ้นบุญพ้นบาปไปเอง อาจจะยากหน่อยแต่ว่าทำได้แน่" |
ถาม : ถ้าทำบุญกับพระที่ปฏิบัติไม่สมควรแก่ความเป็นพระ อย่างนี้จะได้บุญหรือไม่?
ตอบ : ได้บุญจ้ะ ถ้าตั้งใจถวายเป็นสังฆทาน ต่อให้ท่านเละเทะแค่ไหนก็ตาม อานิสงส์ก็เต็มเหมือนกับถวายแด่พระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพราะว่าสังฆะ หมายถึง หมู่สงฆ์ทั้งหมด ผู้ที่รับเป็นเพียงตัวแทนเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ในปฐมสมโพธิกถา บอกว่าท้ายสุดของพระพุทธศาสนา เพศของพระจะเหลือเพียงผ้าเหลืองพันข้อมือ ผ้าเหลืองน้อยห้อยหู พอเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น ศีล ๒๒๗ ข้อ เหลือแค่ ๔ ข้อ ก็คือยังรักษาปาราชิก ๔ ข้อเอาไว้ได้ นอกนั้นขาดเกลี้ยง ท่านบอกว่าเพศพระและศีลเหลือเพียงนั้นก็ตาม แต่บุคคลตั้งใจถวายเป็นสังฆทาน อานิสงส์เท่าเดิมเพราะว่าคนรับเป็นเพียงตัวแทน ตัวอย่างในธรรมบทอีกเรื่องก็คือ เศรษฐีเขาถวายทาน นิมนต์พระไปรับที่บ้าน เศรษฐีก็ถวายทานด้วยความเคารพ ด้วยความนอบน้อม ทีนี้ของมันเยอะท่านก็หิ้วไปส่งที่วัด ตอนที่พระท่านจะขึ้นกุฏิท่านต้องล้างเท้าก่อน ก็ขอให้เศรษฐีช่วยส่งขันล้างเท้าให้หน่อย เศรษฐีท่านก็เอาเท้าเขี่ยให้ คนเห็นก็สงสัยมาก ว่าเมื่อครู่ยังถวายด้วยความเคารพนอบน้อมสุดจิตสุดใจ แค่จากบ้านมาวัดดันเปลี่ยนเป็นคนละคน ทีนี้คนสงสัยเขาดี เขาไม่ได้สงสัยเฉย ๆ แต่เขาถามด้วย เศรษฐีก็บอกว่าโดยส่วนตัวไม่ได้เคารพท่านนี้เลย เพราะสักแต่เป็นนักบวชเท่านั้น แต่เมื่อครู่ที่ถวายสังฆทาน คำว่า สังฆะหมายถึงสงฆ์ทั้งหมด ท่านจึงต้องถวายด้วยความเคารพ แต่เมื่อโดยส่วนตัวไม่ได้เคารพ ในเมื่อท่านขอขันล้างเท้าให้ นี่เขี่ยให้ก็นับว่าเก่งแล้ว ยังดีที่ไม่ขว้างใส่ |
พระอาจารย์กล่าวถึงเรื่องการสวดถอนพัทธสีมาว่า "ส่วนใหญ่เขาจะนิมนต์พระอย่างต่ำสุด ๑๐๘ รูป พระยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะว่าจะต้องยืนให้ได้หัตถบาสตลอดพื้นที่ ฉะนั้น..ในช่วงเสมาทั้งหมด กว้างยาวเท่าไหร่ต้องยืนให้เต็ม ถ้าหากไม่เต็ม ก็ต้องกะระยะเอาว่าแถวสุดท้ายอยู่ตรงไหน
สวดเสร็จแล้วก็ขยับตั้งแต่แถวหน้าลงไป เลื่อนต่อไปอีก แถวสุดท้ายก็จะกลายเป็นแถวหน้า แล้วก็สวดซ้ำไปเรื่อยจนกว่าจะเต็มพื้นที่ เพราะฉะนั้น..วัดไหนนิมนต์พระเยอะ จ่ายเงินเยอะหน่อย งานก็จบเร็ว แต่ถ้านิมนต์พระมาน้อย ก็วนกันหลายรอบหน่อย คนสวดก็สวดจนเหนื่อย ในช่วงนั้นห้ามแม้กระทั่งพระเข้าออก เพราะถ้ามีการเข้าออกอาจเป็นการคัดค้านสังฆกรรมก็ได้ ในเขตที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาทั้งหมด แม้แต่รถก็ห้ามจอด เพราะเขากลัวในรถอาจจะมีคนเผลอนอนหลับอยู่ ในเขตที่อุปสัมบัน คือ บุคคลที่มีศีล ๒๒๗ ทำสังฆกรรมอยู่ ห้ามมีอนุปสัมบัน (ผู้ที่ศีลน้อยกว่าพระ) อยู่ ที่ขำก็คือหมา ตรงไหนที่ห้ามมันจะมีการเข้าไปยุ่งทุกที่เลย เพราะฉะนั้นต้องมีคนเฝ้าไว้ ขนาดคนทั่ว ๆ ไปเขายังไม่ให้เข้าเพราะกลัวสังฆกรรมจะเสีย แต่หมามันจ้องจะเข้าอย่างเดียว ถ้าโบสถ์ใหญ่ ๆ อย่างวัดทุ่งกระพังโหม ขนาดนิมนต์พระสามร้อยรูป ยังต้องสวดวนอยู่สามสี่รอบ" |
ถาม : เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติ
ตอบ : ให้สั่งสมศีล สมาธิ ปัญญา ค่อย ๆ ไล่ไปเรื่อย ๆ รักษาศีลทรงตัว สมาธิก็ตั้งมั่น สมาธิตั้งมั่น ปัญญาก็เกิด ปัญญาเกิดก็จะกลับไปคุมศีลอีกที ความบริสุทธิ์จะค่อย ๆ สั่งสมไปทีละเล็กทีละน้อย สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย พอถึงเวลามันจะพอของมันเอง ถ้าหากพอเมื่อไหร่ การที่เราละชั่วทำดี ก็จะเหลือสักแต่ว่าทำ อย่างที่บอกว่ารู้ว่าดีก็ทำ รู้ว่าชั่วก็ละ จะค่อยเป็นค่อยไป ยกเว้นใครบ้าดีเดือด ทุบทีเดียวเลยก็ได้ แต่ว่าถ้าหากโลกช้ำธรรมเสีย โอกาสที่จะเจริญจริง ๆ มันน้อย ต้องโลกไม่ช้ำธรรมไม่เสีย แต่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ชีวิตฆราวาสเป็นทางคับแคบ โอกาสที่กิเลสงอกงามมีมากกว่าที่ความดีจะงอกงาม |
พระอาจารย์กล่าวว่า "การทำบุญที่จะได้อานิสงส์เต็ม ก็คือ
๑) เจตนาบริสุทธิ์ ๒) ผู้ให้บริสุทธิ์ ๓) วัตถุทานบริสุทธิ์ ๔) ผู้รับบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น..เวลาจิตว่างจากรัก โลภ โกรธ หลงจริง ๆ ก็แปลว่าเป็นผู้ให้ที่บริสุทธิ์จริง ๆ ถ้าอย่างนั้นอานิสงส์ทางด้านนี้เต็ม ๒๕ เปอร์เซ็นต์แน่นอน ยิ่งถ้าบริสุทธิ์ได้ครบ ๔ อย่าง อานิสงส์ยิ่งเยอะ แต่ปัจจุบันนี้ เจตนาบริสุทธิ์ ผู้ให้บริสุทธิ์ วัตถุทานบริสุทธิ์ แต่ไปสงสัยว่าผู้รับจะบริสุทธิ์หรือเปล่า? เขาจึงต้องเลือกเนื้อนา ถ้าเลือกไม่ได้ก็ถวายเป็นสังฆทานไปเลย สังฆทานทั้งหมดมี ๗ ประเภทด้วยกัน สังฆทานประเภทที่ ๑ ถวายต่อหมู่พระภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน สังฆทานประเภทที่ ๒ ถวายต่อหมู่ภิกษุณีสงฆ์ ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน สังฆทานประเภทที่ ๓ ถวายต่อหมู่ภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน สังฆทานประเภทที่ ๔ ถวายต่อหมู่ภิกษุที่นิมนต์มา สังฆทานประเภทที่ ๕ ถวายต่อหมู่ภิกษุณีที่นิมนต์มา สังฆทานประเภทที่ ๖ ถวายต่อหมู่ภิกษุและภิกษุณีที่นิมนต์มา สังฆทานประเภทที่ ๗ ถวายโดยไม่เจาะจงบุคคล ขอให้ครบ ๔ รูปเป็นใช้ได้" |
ถาม : ผู้ที่กำลังจะหมดอายุขัยแล้วเราไปบอกให้เขานึกถึงพระนิพพานหรือพระพุทธเจ้า?
ตอบ : ถ้าไปนึกเอาตอนที่หมดอายุขัย ไม่ทันรับประทานหรอก ถ้าเป็นไปได้ต้องนึกถึงตั้งแต่ตอนดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนป่วยใกล้ตายแล้วเราไปแนะนำเขา ถ้ากำลังบุญเดิมไม่มีจริง ๆ เขานึกไม่ได้หรอก เพราะมัวแต่ไปโอดโอยอยู่กับความเจ็บความป่วย เขาถึงได้มีคำพูดว่า จะเดินเข้าวัดเองดี ๆ หรือจะรอเขาหามเข้าวัด ถ้ารอเขาหามเข้ามาโอกาสที่จะทำอะไรก็ไม่มี ยกเว้นรอเผาเท่านั้น..! ดังนั้น เรื่องของความดีจึงประมาทไม่ได้ ต้องค่อย ๆ ทำสั่งสมไปเรื่อย เพราะฉะนั้น..ใครเขาว่าบ้าหรือเปล่าเข้าวัดตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ไม่บ้าหรอก เดินไปเองดีกว่า ไปรอตอนเขาหามเข้าไปมันไม่ทันแล้ว |
ถาม : มีหรือไม่ ฆราวาสที่ปกติไม่ได้นึกถึงนิพพาน แต่พอก่อนตายนึกถึงพระนิพพานแล้วเข้าสู่พระนิพพานเลย ?
ตอบ : มีเยอะ ถ้าสิ่งที่สั่งสมมาแต่เดิมมีเพียงพอ เราต้องดูผู้ที่ไปพระนิพพานว่า เป็นผู้ที่มีจิตสะอาดปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง ไม่มีความปรารถนาที่จะเกิดอีก อย่างคนป่วยใกล้ตายจะไปรักใครไหว ถ้าไปโกรธเขา บอกเขาหามไปตีกับเขาที จะไปตีไหวไหม? ป่วยขนาดนั้นย่อมเห็นว่าร่างกายไม่ดี ก็ไม่หลงในร่างกาย ก็แปลว่าจริง ๆ แล้วรัก โลภ โกรธ หลง นั้นขาดไปโดยอัตโนมัติแล้ว เพียงแต่ว่าคิดให้เป็นว่า สภาพร่างกายที่เต็มไปด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยแบบนี้ เราไม่ต้องการอีก ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาบนโลกนี้หรือเกิดมามีร่างกาย เราไม่ต้องการอีก ถ้าจิตเราตัดออกถอนออกจริง ๆ ไปพระนิพพานได้ กลัวอยู่อย่างเดียว การที่จิตไม่เคยทำความดีมาก่อนก็จะไม่นึกถึงตรงนี้ จะไปเกาะกรรมเก่า ๆ ที่ตนเองเคยทำเอาไว้ หลวงพ่อวัดปากคลอง ท่านเล่าไว้ว่า โยมเขามีอาชีพหาปลามาทั้งชีวิต ถึงเวลาใกล้ตายก็ไปแนะนำเขา ให้ภาวนาว่า อะระหัง ๆ ปรากฏว่าเขาพูดไม่ได้ พูดได้แต่ "ไอ้โด" (ปลาชะโด) ก็บอกอีกว่าถ้าอย่างนั้นพุทโธนะพ่อ เขาก็พูดว่า "ไอ้ช่อน" เขาได้แค่นั้นจริง ๆ ถ้าสภาพอย่างนั้นรับรองว่าไม่พลาดแน่ ต้องบอกว่าเป็นนิยตบุคคล ผู้มีคติอันแน่นอน แต่ไม่ได้แน่นอนข้างบน แน่นอนข้างล่าง..! |
พระอาจารย์สอนว่า "การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการเรียนรู้ การที่เราเรียนรู้อยู่ในชั้นนี้ เราไม่รู้หรอกว่าดีจริงไหม แต่พอก้าวพ้นไปแล้วมองกลับมา จากประสบการณ์ที่เราเรียนรู้จากชั้นที่สูงกว่า จะทำให้เรารู้ข้อบกพร่อง เราก็สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขใหม่ได้ ถ้าหากจะให้รู้ครบจริง ๆ แน่ใจจริง ๆ นั่นก็ต้องจบไปเลย
แรก ๆ จะไม่มีใครดีพร้อมหมดทุกอย่างหรอก แต่จะค่อย ๆ ปรับไปเอง การปฏิบัติจะช่วยปรับเราไปเรื่อย ๆ จนรู้แจ้งเห็นจริงไปเอง" ถาม : หลายวันมานี่ หนูทรงอารมณ์ให้ต่อเนื่องติดกัน แต่พอเป็นแบบนี้ทีไรจะต้องมีเรื่องเข้ามากระทบใจทุกที ตอบ : ตั้งท่าจะดี มารก็จะตีเรา ต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเอง เขามีหน้าที่ขวาง...ก็ขวางไป เรามีหน้าที่หนี...ก็หนีไป ใครทำหน้าที่ตัวเองได้ดีกว่ากันก็ไปเห็นผลตอนท้าย |
ถาม : เวลาปฏิบัติไปจะมีความรู้สึกอยากผ่อนคลายอารมณ์ของตัวเอง ก็เลยผ่อนคลายด้วยการปล่อยให้ฟุ้ง ให้คิดไปเองแต่ว่าก็พยายามตามดูไปด้วย
ตอบ : เปลี่ยนสภาพแวดล้อมดีกว่า ถ้าหากว่าปล่อยแล้วจะพลาดได้ง่าย ไม่ต้องปล่อยแต่เปลี่ยนสภาพแวดล้อม จิตก็จะคลายลง ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับสะสมความเครียด อย่างพระก็ไปธุดงค์ พอเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เปลี่ยนสภาพจิตก็เหมือนกับว่าเปลี่ยนสิ่งที่เสพเสวยเข้าไป โดยเฉพาะทางตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ ก็จะเกิดความรู้สึกที่ว่า เออ..ไม่ซ้ำเหมือนเดิม แล้วหลังจากนั้นพอได้ผ่อนคลาย อารมณ์ปฏิบัติก็จะดีขึ้น อย่าไปปล่อย ถ้าปล่อยเดี๋ยวหงายท้อง..! |
ถาม : อารมณ์เกลียดกับอารมณ์กลัว ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร?
ตอบ : ลักษณะอารมณ์คล้ายคลึงกัน แต่ว่าจริง ๆ แล้ว อารมณ์กลัวจะเป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนาม กลัวภัยที่จะมาถึงตัว โดยเฉพาะกลัวตาย อารมณ์กลัวทุกอย่างลงท้ายสุดก็คือกลัวตาย ส่วนอารมณ์เกลียดจริง ๆ แล้วเป็นพื้นฐานมาจากโทสะ เกิดแรงกระทบแล้วเกิดความรู้สึกว่า เลือกที่จะรัก หรือไม่รัก ? ถ้าหากว่ารักก็มาทางราคะ ถ้าหากไม่รัก ไม่ชอบใจก็มาทางโทสะ แต่ว่าไม่ได้หนักเท่ากับโทสะ จะว่าไปก็เหมือนกับไฟสุมขอนอย่างหนึ่ง เห็นหน้าก็ไม่สบายใจ เห็นสิ่งนั้นเมื่อไรก็ไม่สบายใจ พูดง่าย ๆ ว่าเก็บไว้เมื่อไรก็เป็นโทษแก่ตัวเอง ให้รีบไล่ออกไปเร็ว ๆ |
ถาม : สังโยชน์ข้อไหนยากที่สุด?
ตอบ : ความยากง่ายขึ้นอยู่กับว่าใครทำ ถ้าเป็นอาตมาคือข้อต้นกับข้อท้าย สักกายทิฏฐิและอวิชชา สักกายทิฏฐิที่ว่ายากเพราะว่าฝังรากอยู่กับเรา ส่วนอวิชชานั้นเบาบางมาก แต่ว่าเป็นจุดก่อกำเนิดกิเลสตัณหาทุกอย่าง เพราะฉะนั้น..ถ้าเป็นอาตมาเองหัวกับท้ายจะยากที่สุด |
ถาม : การุณยฆาต คือ ?
ตอบ : คำว่า การุณยฆาต หมายถึง การฆ่าที่มีใจกรุณา เช่น ในกรณีที่คนป่วย อาการอยู่ในขั้นโคม่า แล้วเราไปเอาสายยางออก เพื่อให้เขาตายจะได้ไม่ต้องทรมาน อย่าไปทำเชียวนะ ถ้าคิดจะรักษาก็ให้หาทางรักษาให้หาย แต่ถ้าจะให้ตายก็ปล่อยให้เขาตายของเขาไปเองเลย เราอย่าไปร่วมมือให้เขาตาย ถาม : ถ้าทำแบบนั้น จะผิดไหม? ตอบ : ผิดแน่นอน เพราะคำว่าฆ่าสัตว์ คือทำชีวิตให้ตกล่วง แล้วเราไปทำให้เขาตาย แม้กระทั่งการพรรณนาคุณของความตายให้เขาเห็นชอบเพื่อให้เขาฆ่าตัวตาย เรายังมีโทษเลย การุณยฆาตนี่อย่างไรก็ผิดแน่นอน ถ้าเป็นพ่อเป็นแม่มีสิทธิ์อนันตริยกรรม ถาม : คนที่อยู่ในสภาพที่มีเครื่องหายใจช่วยประคองชีวิตอยู่ สภาพแบบนั้นเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ? ตอบ : บางคนเขาไปนานแล้ว แต่ว่าร่างกายยังอยู่เพราะสภาพเครื่องมือแพทย์ชะลอไว้ แต่คราวนี้เราไม่ได้รู้ชัดขนาดนั้น อย่าไปแตะ คนที่ตายในลักษณะอย่างนั้นโอกาสไปดีมีน้อยมาก เพราะว่าถ้าเขาทุกข์ทรมานจากโรคภัยถึงขนาดต้องร้องขอให้ผู้อื่นเขามอบความตายให้ แสดงว่าจิตของเขาประกอบไปด้วยความเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น..วิธีที่ดีที่สุดก็คือแนะนำเขาให้เห็นสภาพเป็นจริงของร่างกายว่ามันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเราคบหาสมาคมกับมันชาตินี้แค่ชาติเดียวเราก็ไม่ต้องไปคบกับมันอีก ชี้ทางออกให้เขา เมื่อสองปีก่อนได้ทำรายงานวิชาธรรมประยุกต์ เรื่องการุณยฆาต เขาตั้งหัวข้อเอาไว้ว่า "ในความคิดของท่านเห็นว่าสมควรหรือไม่อย่างไร?" ในการสรุปตอนท้ายบอกว่า ถ้าในสภาพของเรา ที่เป็นพระอยู่ อย่างไรก็ต้องคัดค้านสุดชีวิต เพราะว่ามันไม่ถูกต้องทั้งกฎหมายและศีลธรรม กฏหมายบ้านเรายังไม่ได้เปิดกว้างอนุญาตให้ทำอย่างนั้น ต่อให้ตัวกฎหมายเปิดกว้างให้ทำอย่างนั้นก็ตาม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้นั้นยินดีให้เราทำ ต่อให้ผู้นั้นยินดีให้เราทำอย่างนั้น ถ้าสภาพจิตที่ประกอบไปด้วยความเศร้าหมองตายไปแล้วเขาลงอบายภูมิ ก็เท่ากับว่าเราเองไปซ้ำเติมเขาอีก และโดยเฉพาะคนเรา ถ้าหากว่ากันโดยธรรมแล้ว ก็คือ คนทุกคนมีสิทธิ์ในการที่จะบรรลุธรรม พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ว่า ถ้าหากฆ่าบุคคลที่มีคุณใหญ่ โทษจะหนักกว่าบุคคลทั่วไป เพราะฉะนั้น..ถ้าบุคคลที่มีโอกาสบรรลุธรรมแล้วเราไปทำให้เขาพลาดจากโอกาสนั้น เท่ากับว่าเราสร้างกรรมใหญ่นั่นเอง โดยเฉพาะตอนท้าย ๆ ของชีวิต จะให้รักก็ไม่ไหว จะให้โลภก็ไม่ไหว จะให้หลงกับสภาพร่างกายแบบนี้ก็ไม่ไหวแล้วล่ะ ถ้ามีใครไปต่อท้ายไปได้เลย ชี้ทางให้เลย |
พระอาจารย์ได้อธิบายถึงเรื่องความตายว่า "สภาพร่างกายของเรามันไม่ใช่เราจริง ๆ ยกตัวอย่างว่ามันเหมือนรถยนต์กับคนขับรถ คุณกำลังจะเปลี่ยนรถคันใหม่ ในเมื่อรถคันเก่าของคุณจะพังก็พังไป เราก็เปิดประตูลงไปหารถคันใหม่ ถ้าหากจิตของเราตั้งมั่นอยู่ในศีล สมาธิ และปัญญา เราก็จะได้รถคันใหม่ที่ดีกว่านี้
เพราะฉะนั้น..จริง ๆ ความตายมันไม่ใช่ของน่ากลัว เพียงแต่ว่าความไม่รู้ก็เลยทำให้เรากลัว ถึงได้ชอบใจภาษาจีน คนตายเขาใช้คำว่า "เปลี่ยนร่างหรือข้ามร่าง" เขาไม่ได้บอกว่าตายอย่างบ้านเรา บาลีเขาบอกว่า กาลัง กัตตะวา วาระที่ต้องไป เหตุที่กลัวตายก็เพราะไม่รู้ ที่ไม่รู้ก็เพราะอวิชชามันบัง ขาดความรู้ ขาดความมั่นใจ ก็ย่อมเกิดความกลัว แม้กระทั่งเราขับรถ ขับอยู่ทุกวันนี่แหละ ลองไปที่ ๆ ไม่เคยรู้จัก เราก็กลัว ท้ายสุดมาลงตรงคำว่าตาย เพียงแต่ว่ามันฝังจนเราไม่รู้ ลองไล่ดูสิ ขับรถไปก็กลัวหลง ถ้าหลงก็กลัวว่าจะนาน ถ้าหากมันนานจนกระทั่งสิ่งสนับสนุนทั้งหมดไม่มีเหลือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน เงิน อาหารการกิน อะไรก็ตามเหล่านี้ ถ้ามันหมดก็คือกลัวว่าจะตาย ไม่ไปไหนหรอกลงตรงตายหมด เพียงแต่ว่ามันไปอ้อม ไกลหน่อย ตามดูอยู่เป็นปี ๆ คำเดียว ว่ากลัวอะไร? สรุปแล้วมาลงตรงคำว่าตาย |
พระอาจารย์ได้สอนว่า "ทุกอย่างเวลาประดังเข้ามา ถ้าเรามีสติ เราจะแยกแยะได้ก่อนว่าอันไหนมาก่อน อันไหนมาทีหลัง ถึงแม้ว่าจะมาห่างกันเพียงแค่วินาทีหรือครึ่งวินาที ก็ยังมีความก่อนหลัง
มาก่อนก็แก้ไขก่อน เราค่อย ๆ แก้ไขทีละอย่าง แต่ถ้าหากเราไปปล่อยให้ประดังเข้ามา แล้วขาดสติไปคิดว่ามาพร้อมกัน ก็จะกลายเป็นปัญหาเดียวกัน ซึ่งใหญ่และหนักมาก" |
ถาม : อารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าจิตทรงการภาวนาได้อัตโนมัติ พวกนี้จะกระทบไม่ได้ มีมาเหมือนกันแต่ใจไม่รับ ถึงรับก็รับในลักษณะใส่เกราะไว้ แต่ว่าจะให้ดีที่สุด ก็คือไม่มีอะไรเหลือเลย ถ้าหากว่าไม่มีอะไรเหลือเลยก็กระทบไม่ได้หรอก ให้เห็นว่าทุกอย่างปกติธรรมดา ในเมื่อปกติเป็นอย่างนั้น เราเองรับเข้ามาก็เดือดร้อนเสียเปล่า เปรียบกับบ้านว่าง ๆ ไม่มีข้างฝา ไม่มีกำแพง ใครขว้างอะไรเข้ามาก็ผ่านเลยไป เพราะเราไม่รับ แต่ว่าถ้าอยู่ในบ้านที่มีข้างฝาก็จะกระทบ ขาดสติโดยอัตโนมัติ ทำอย่างไรจะอยู่ในบ้านว่าง ไร้ข้างฝา ไร้กำแพง |
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "หลวงปู่สิงห์ตอนก้าวขึ้นบ้าน พอเห็นผู้หญิงเข้า ถึงกับเข่าอ่อนอยู่ตรงบันได ฝ่ายผู้หญิงก็เป็นลม แสดงว่าต่างคนต่างรู้กัน"
ถาม : ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ตอบ : เขาผูกพันกันมานาน บุคคลที่มีความสัมพันธ์เกิดร่วมชาติกันมามากมันจะรู้สึกแรง ถ้าเกิดร่วมกันมาน้อยก็สะกิดสะเกานิดหนึ่ง |
พระอาจารย์มีคำถามว่า "ถ้าเอ่ยถึงพราหมณ์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่ว น่าจะมีใครบ้าง?
เรื่องของวัสสการพราหมณ์ปรากฏอยู่ในหลายพระสูตรด้วยกัน แต่ว่าเนื้อหาที่พวกเรารู้จักกันดี ก็เป็นตอนที่ทำลายแคว้นวัชชี อยู่ในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งกล่าวถึงช่วงท้ายพระชนม์ชีพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริงแคว้นวัชชีกับแคว้นมคธมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่ว่ามันมีหุบเขาเป็นรอยต่อระหว่างสองแคว้น เขาบอกว่าในหุบเขานั้นมีทรัพย์มาก มีเงินทองแก้วแหวนมาก แคว้นวัชชีกับแคว้นมคธมีระบอบการปกครองต่างกัน แคว้นมคธปกครองโดยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สิทธิ์ขาดทั้งหมดอยู่ที่พระราชา แต่แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม มีตัวแทนเข้าไปอยู่ในสภา ชาวบ้านจะคัดเลือกตัวแทนของตัวเองเจ็ดพันคน ตัวแทนเจ็ดพันคนนั้นจะคัดเลือกผู้ที่มาทำหน้าที่ร่วมกับตนอีกเจ็ดร้อยคน ตัวแทนอีกเจ็ดร้อยคนจะคัดเลือกอีกเจ็ดคน รวมแล้วแคว้นวัชชีจะมีคณะปกครองที่เปรียบเหมือนกษัตริย์เจ็ดพันเจ็ดร้อยกับเจ็ดคน ฟังดูแล้วน่าปวดหัว ในเมืองรอยต่อชายแดนมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่ง บาลีเขาใช้คำว่ามีทรัพย์ตกลงจากเขามาเนือง ๆ คาดว่าน่าจะเป็นพวกเพชรพวกพลอย เวลาฝนตกหรือดินถล่ม พวกเพชรพวกพลอยก็จะโผล่มา ปรากฏว่าทางแคว้นมคธไม่เคยทันเขาเสียที แคว้นวัชชีกวาดไปหมด เพราะว่าแคว้นวัชชีเขาปฏิบัติตามอปริหานิยธรรมที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ อปริหานิยธรรม คือธรรมที่ผู้ปฏิบัติแล้วจะพบกับความเสื่อมได้ยาก หรือพบกับความไม่เสื่อม ท่านบอกว่า ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ ๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม ๔. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง ๕. คุ้มครองรักษากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ ๖. เคารพสักการะบูชาเจดีย์ของวัชชีทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป ๗. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก" |
"คราวนี้เมื่อกษัตริย์แคว้นวัชชีประชุมกันเป็นปกติ ถึงเวลามีข่าวคราวอะไรก็แจ้งกันอย่างรวดเร็ว เวลาไปเก็บกวาดทรัพย์ทั้งหลายบนหุบเขา ก็เลยได้ก่อนพวกแคว้นมคธ ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูโกรธ อยากไปทำลายแคว้นวัชชี อยากไปยึดเมืองเป็นของตัวเอง ถึงแม้แคว้นวัชชีจะเล็กกว่า แต่ผู้ปกครองนอกจากจะสมานสามัคคีกันแล้วยังเป็นสุดยอดฝีมือ เขาบอกว่ากษัตริย์แคว้นวัชชีมีฤทธิ์มาก อาจแผลงศรลอดดาลประตูได้ แสดงว่าแม่นมาก ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ยิงปืนตอกหัวตะปูได้
พระเจ้าอชาตศัตรูไม่รู้จะทำอย่างไร พอดีพระพุทธเจ้าเสด็จมายังที่นั้น พระเจ้าอชาตศัตรูก็เลยใช้วิธีส่งอำมาตย์ผู้ใหญ่ ก็คือวัสสการพราหมณ์ไปถาม ถามคนอื่นไม่ได้เรื่องแน่ ถามพระพุทธเจ้าต้องได้เรื่องแน่นอน วัสสการพราหมณ์พอรับคำสั่งก็ไปกราบพระพุทธเจ้า ปฏิสันถารตามสมควรแล้ว ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ลองทายซิว่าพระพุทธเจ้าท่านบอกหรือไม่บอก? ถ้าเราเป็นพระแล้วลูกศิษย์มาถามถึงวิธีตีเมือง เราจะบอกไหม? พระพุทธเจ้าท่านไม่บอก แต่หันไปถามพระอานนท์ว่า "เหล่าแคว้นวัชชียังปฏิบัติอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ อยู่หรือไม่?" พระอานนท์ก็บอกว่ายังปฏิบัติอยู่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานันทะ..ดูก่อนอานนท์ ตราบใดที่แคว้นวัชชียังปฏิบัติในอปริหานิยธรรมตามที่ตถาคตกล่าวไว้ ตราบนั้นแคว้นวัชชีจะไม่ประสบกับความเสื่อม" วัสสการพราหมณ์ก็สงสัย ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าอปริหานิยธรรมมีอะไรบ้าง? พระพุทธเจ้าก็แสดงให้ฟัง ๗ ประการ วัสสการพราหมณ์พอได้ยิน ก็พูดว่า "อย่าว่าแต่ ๗ ประการเลย เพียงประการเดียวก็ไม่มีใครสามารถทำลายแคว้นวัชชีได้" เพราะว่าเขาสามัคคีพร้อมเพรียงกันมาก บางข้อนี่เรานึกไม่ถึง อย่างเช่นว่าให้คุ้มครองพระอรหันต์ที่มาในแว่นแคว้น เมื่อพระอรหันต์ไปที่ไหนพรหมเทวดาจะตามไปให้การสงเคราะห์ ตราบใดที่พรหมเทวดายังให้การสงเคราะห์ สถานที่นั้นจะไม่ประสบภัยพิบัติ วัสสการพราหมณ์ก็กราบลาพระุพุทธเจ้ากลับไป แล้วไปกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูถามว่าท่านอาจารย์มีช่องทางใดบ้าง? วัสสการพราหมณ์ก็บอกว่า "มีทางเดียว ต้องทำลายความสามัคคีของแคว้นวัชชีให้ได้" เมื่อเป็นดังนั้น ก็เลยตกลงกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า ถ้าถึงเวลาพระเจ้าอชาตศัตรูเสนอขึ้นกลางที่ประชุมว่าให้ไปตีแคว้นวัชชี วัสสการพราหมณ์จะคัดค้าน พอคัดค้านแล้วให้พระเจ้าอชาตศัตรูลงโทษตนให้หนัก แล้วขับไล่ออกจากแว่นแคว้นไป เพื่อที่ตนจะได้หาทางเข้าไปยังแคว้นวัชชีแล้วจัดการ พระเจ้าอชาตศัตรูก็ตกลง เป็นอันว่ารู้กันสองคน พอถึงเวลาออกมหาสมาคมประชุมข้าราชการ พระเจ้าอชาตศัตรูก็ปรารภเรื่องนี้ ว่าแคว้นวัชชีมันเอาเปรียบเราทุกที พื้นที่ส่วนเกินเป็นของทั้งสองฝ่าย แต่ทรัพย์เกิดขึ้นเมื่อไรทางแคว้นวัชชีเอาไปหมด ต้องสั่งสอนให้มันรู้เรื่องเสียบ้าง จะยกทัพไปตีมัน วัสสการพราหมณ์ก็ค้านขึ้นกลางที่ประชุม บอกว่าไม่สมควร เพราะว่าแคว้นวัชชีมีความสามัคคีกันมาก มีฤทธิ์มาก เรายกทัพไปไม่แน่ว่าจะชนะ เสียชีวิต สูญเสียทรัพยากรเปล่า ๆ พระเจ้าอชาตศัตรูก็แกล้งทำเป็นโกรธ สั่งราชบุรุษจับวัสสการพราหมณ์โบย สมัยก่อนการโกนหัวเขาถือเป็นกาลกิณีไม่มีใครคบด้วย พระเจ้าอชาตศัตรูก็ให้จับวัสสการพราหมณ์โกนหัวและเฆี่ยนจนหลังลาย แล้วขับไล่ออกจากเมืองไป" |
"วัสสการพราหมณ์ก็ข้ามออกไปยังแคว้นวัชชี ข่าวไปถึงแคว้นวัชชีเร็วมาก แสดงว่าเขามีจารบุรุษหรือจารชนอยู่ เมื่อข่าวไปถึง เสียงส่วนใหญ่ก็บอกว่าอาจเป็นกลลวงของแคว้นมคธ แต่ว่าบรรดากษัตริย์แคว้นวัชชีมีความมั่นใจในความสามัคคีของตนเอง ต่อให้เป็นกลลวงก็ไม่น่าจะทำอะไรได้ วัสสการพราหมณ์เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ มีความรู้มาก เรารับเขาไว้ดีกว่า เสียดายความรู้เขา เอามาสอนบรรดาราชกุมารของเราจะดีกว่า
จริง ๆ เขาคิดถูก แต่เขาไม่รู้ฤทธิ์วัสสการพราหมณ์ เมื่อวัสสการพราหมณ์ไปสอนบรรดาราชกุมาร แรก ๆ เขาก็สอนตามปกติ พอผ่านไประยะหนึ่ง เขาเริ่มไว้ใจ แกก็ออกลาย เมื่อเลิกเรียนแล้วก็ปล่อยบรรดาราชกุมารกลับ วัสสการพราหมณ์ก็จะเรียกราชกุมารไว้คนหนึ่ง พาเข้าไปในห้องกันสองต่อสอง หายเงียบไปนานเลย แล้วก็ส่งกลับ เมื่อทำแบบนี้เข้า เพื่อน ๆ ราชกุมารก็ถามว่าอาจารย์เรียกไปสอนอะไร กุมารที่เข้าไปก็บอกไม่มีอะไรนี่ ก็เลยสงสัยกันว่าอาจารย์อาจให้วิชาการอะไรดี ๆ ถ่ายทอดให้อีกคน วันรุ่งขึ้นก็เรียกไปอีกคนในลักษณะเดียวกัน ท้ายสุดทุกคนก็หวาดระแวงว่าอีกฝ่ายจะได้ความรู้มากกว่า ก็เอาเรื่องไปบอกพ่อของตน บรรดากษัตริย์ทั้งหมดก็ระแวงกัน ว่าลูกคนนี้มันเก่งกว่าลูกเรา เดี๋ยวมันจะได้ครองเมืองคนเดียว ทีนี้ก็ไปกันใหญ่ เมื่อหวาดระแวงถึงที่สุด ไม่อยากจะมองหน้ากัน ก็เริ่มขาดประชุม แรก ๆ ก็ขาดไม่กี่คน หลัง ๆ ก็ขาดเยอะ วัสสการพราหมณ์ใช้เวลาปฏิบัติการนี้อยู่สามปีเต็ม ๆ ท้ายสุดก็ใช้วิธีตีกลองประชุมปรากฏว่าไม่มีกษัตริย์มาเข้าประชุมเลย วัสสการพราหมณ์ก็ส่งข่าวไปบอกพระเจ้าอชาตศัตรูให้ยกทัพมา ไม่ทราบว่าพระเจ้าอชาตศัตรูแค้นมากหรือกลัวฝีมือแคว้นวัชชี ท่านเล่นยกทัพมาทำลายแคว้นวัชชีจนไม่เหลือซากเลย เรื่องก็จบลงตรงนี้ เรารู้จักวัสสการพราหมณ์ในฐานะตัวแสบที่คอยยุแหย่ให้เขาแตกกัน เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปปลงสังขาร ที่ปาวาลเจดีย์ พระอานนท์ก็กราบทูลถามว่า "วัสสการพราหมณ์เมื่อรู้จุดแข็งจุดอ่อน ย่อมหาทางทำลายแคว้นวัชชีได้ แล้วทำไมพระองค์จึงได้ตรัสบอกไปเช่นนั้น?" พระพุทธเจ้าบอกว่า ที่ท่านตรัสเช่นนั้นด้วยความเมตตาเพราะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าหากว่าไม่กล่าวเช่นนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจะยกทัพไปตีแคว้นวัชชีภายในวันนั้นเลย เมื่อแข็งกับแข็งปะทะกันเลือดก็นองเป็นท้องธาร แต่ถ้าหากว่าบอกแบบนั้นไป วัสสการพราหมณ์จะใช้เวลาถึงสามปี จึงจะสร้างความแตกแยกในหมู่ภายในได้ อย่างน้อยแคว้นวัชชีจะดำรงอยู่ได้ถึงสามปี" |
"มันน่าแปลก การที่พระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์ไปเป็นไส้ศึกที่แคว้นวัชชี ก็เหมือนกับที่จิวยี่ส่งอุยกายไปเป็นไส้ศึก (ในเรื่องสามก๊ก) ทำในลักษณะเดียวกัน ระยะเวลาใกล้เคียงกัน
ต้องบอกว่า อัจฉริยะมักจะมีความเห็นใกล้เคียง หรือไม่ก็นักปราชญ์ความคิดหรือการกระทำใกล้เคียงกัน อยู่กันคนละประเทศ อยู่คนละวัฒนธรรม แต่กลับมีความประพฤติที่คล้าย ๆ กัน" |
"มาดูเรื่องของโทณพราหมณ์ เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๗ เมือง มาล้อมกรุงกุสินารา ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ มีคำพูดติดปลายนวมมาว่าถ้าไม่ให้...ก็รบ ยกทัพมาลักษณะนั้นไม่ต้องบอกก็รู้ ยังดีที่ว่าโทณพราหมณ์อยู่ในที่เกิดเหตุ
ชื่อเสียงของโทณพราหมณ์ก็พอเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพของบรรดากษัตริย์ทั้ง ๗ เมือง พอโทณพราหมณ์กล่าวขึ้นทุกคนก็ต้องฟัง ท่านบอกว่าการรบราฆ่าฟันกันไม่ใช่วิสัยของพุทธศาสนิกชน เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนพวกเราไม่ให้ทำปาณาติบาต พระบรมสารีริกธาตุก็มีมากพอที่จะแบ่งปันให้ได้ ทีนี้เขาก็สงสัยอย่างเดียวว่าใครจะเป็นคนแบ่ง ไม่เช่นนั้นเกรงว่าจะไม่ยุติธรรม โทณพราหมณ์ก็เลยรับอาสาเป็นคนแบ่ง ท้ายสุดพระบรมสารีริกธาตุก็กระจายไปทั้ง ๗ เมือง เมื่อแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว โทณพราหมณ์ก็ขอทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุเป็นที่ระลึก ซึ่งคณะมัลลกษัตริย์ของกรุงกุสินาราก็พระราชทานให้ โทณพราหมณ์พอรับทะนานทองไป เขากล่าวว่าเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดตัวเองแล้วก็สร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุทะนานที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเครื่องบูชา มันน่าแปลกที่ว่าประวัติศาสตร์มาอยู่ที่เมืองไทย พระประโทณเจดีย์ในเขตนครปฐม เขาเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่โทณพราหมณ์บรรจุทะนานทองเอาไว้ ถ้าถามว่ามีเค้าความจริงที่พอเป็นไปได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้อยู่ เพราะสมัยนั้นทางด้านชมพูทวีปก็ค้าขายกับทางสุวรรณภูมิเป็นปกติ ค้าขายมาก่อนสมัยพุทธกาลอีก อย่างเช่นยุคพระมหาชนก ซึ่งเป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า มีมาก่อนพระพุทธเจ้านานมาก สมัยนั้นมีการค้าขายกับสุวรรณภูมิแล้ว แสดงว่ามีการติดต่อเป็นปกติ โดยเฉพาะทางเรือ สมัยนั้นนครปฐมติดชายทะเล พอมาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระโสณะเถระและพระอุตตระเถระที่เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิก็มาขึ้นที่นครปฐมเช่นกัน" |
ถาม : ในกรณีที่เอาของ ๆ วัดมา ถ้านำไปคืนวัดจะได้หรือไม่?
ตอบ : ถ้าคืนไม่เป็นไร หยิบจากไหนให้กลับไปคืนที่ตรงนั้น หมายความว่าถ้าหยิบออกจากวัดไหนให้คืนวัดนั้น อย่าไปคืนคนละวัด แต่ถ้าหากเราชำระเป็นหนี้สงฆ์ ชำระวัดไหนก็ได้ ดังนั้นจะคืนของ ให้คืนวัดเดิม |
พระอาจารย์ให้โอวาทแก่คนเป็นพ่อแม่ว่า "เคยสังเกตไหมตั้งแต่เช้าจนค่ำ รักษาอารมณ์ไม่ให้โกรธลูกได้นานสักกี่ชั่วโมง ?
ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าดูอารมณ์ตัวเองไม่เป็น รู้อารมณ์ตัวเองไม่ได้ ก็แก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนของการปฏิบัติ ท้ายสุดก็จะเป็นมหาสติปัฏฐาน ในส่วนของจิตในจิต ธรรมในธรรม ถ้าเราดูไม่เป็น ดูไม่รู้ เราก็แก้ไขไม่ได้ ต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ใจ เมื่อสังเกตแล้วก็มีวิธีเดียว ก็คือว่าทำอย่างไรที่เราจะยืนระยะได้นาน? คราวนี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่สมาธิ ถ้าสมาธิทรงตัวดี รู้ระมัดระวัง ก็ยืนระยะได้นาน ถ้าสมาธิไม่ดี ขาดสติก็พังเร็ว เพราะฉะนั้น..ต้องพยายามซ้อมให้คล่องตัวและระวังไว้ตลอด โดยเฉพาะคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องมีความมั่นคงในอารมณ์ ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ เวลาโกรธก็อย่าอาละวาด เพราะว่าถ้าโกรธแล้วอาละวาด เด็กก็จะขาดความนับถือเรา ต่อไปเขาก็จะเหมือนกับเราเลย โกรธอย่างไรเราก็ต้องว่าด้วยเหตุผล เช่น อธิบายไปตีไป" |
พระอาจารย์กล่าวถึงเด็ก ๆ ว่า "อย่าไปตั้งความหวังกับเด็ก ว่าจะต้องนั่ง จะต้องนิ่ง จริง ๆ แล้วเป็นธรรมดาของเด็กที่จะต้องซนแบบนั้น แต่เราไปคาดหวังว่าเด็กจะต้องดี จะต้องเรียบร้อย"
"เด็กเขาก็มีสักกายทิฏฐิและมานะ เขาต้องการให้เราสนใจ นั่นแหละ..ชัดเลย แต่ว่าก็จำเป็น อย่าไปบังคับเขาทีเดียว ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่าเราจะได้ดึงเขาเข้ามาทางดีทีหลังได้ ถ้าไปบังคับแล้วมักจะเตลิดไปเลย" |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:54 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.