![]() |
พระอาจารย์กล่าวว่า "เรื่องรูปร่างคนเรานี่แปลก ส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยน แต่ละชาติมักจะเหมือนเดิม เปลี่ยนแต่หน้าตา ฐานะ สถานภาพอะไรพวกนี้ รูปร่างไม่เปลี่ยน บางคนมองข้างหลัง เอ..คุ้นจังเลย แต่อาตมาไม่รู้จักเขาหรอก..ข้ามชาติมา..หุ่นอย่างนั้นจำได้ นิสัย ความชอบเฉพาะตัว ลักษณะรูปร่าง ไม่ค่อยเปลี่ยน เพราะติดข้ามชาติข้ามภพมา ยิ่งเรื่องอาหารการกินนี่ข้ามชาติจริง ๆ เลย กินบางอย่างเข้าไปรู้สึกว่าคุ้นจัง
นี่กำลังรอว่าถ้าไปทิเบตจะคุ้นขนาดไหน เพราะเกิดที่นั่นบ่อยเหลือเกิน แต่ทิเบตนี่ต้องเสริมสุขภาพให้ดี ๆ ก่อนแล้วค่อยไป ไม่อย่างนั้นแย่แน่ อากาศบาง ต้องเดินแบบยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ เดินเร็วหน่อยก็หมดสภาพเลย ใครเป็นวัยรุ่นใจร้อนไปทิเบตก็เสร็จหมด ต้องถึงมือหมอแทบทุกราย ถ้าเรากลับไปแบบมีสติ ก็จะรู้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดนี่ไม่รู้จักจบจักสิ้นจริง ๆ เปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมา ท้ายสุดก็หมุนกลับไป แล้วแต่ละชาติก็ทุกข์ไม่เลิก แต่ถ้าเราไม่มีสติก็จะไหลตามเขาไปเลย เพราะว่าเหตุการณ์เก่า ๆ สิ่งแวดล้อมเก่า ๆ บุญกรรมเก่า ๆ จะดึงยาวไปเลย ไปเดิน ๆ ดูอาจจะเจอตัวเองโดนปิดทองอยู่ก็ได้" |
ถาม : ดูสิ่งที่ตัวเองเจอชาตินี้แล้วมาคิดว่านิสัยเก่าเราคงแย่สุด ๆ
ตอบ : บางทีตอนช่วงนั้นสติปัญญาไม่ค่อยจะมี จะเป็นไปตามภาวะและอารมณ์ตอนนั้น คราวนี้พอเราก้าวมาถึงช่วงนี้ ผ่านการฝึกจิตมาระยะหนึ่ง รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่ดี พอมองย้อนกลับไป ถ้ากลับไปใหม่น่าจะแก้ตัวได้ |
พระอาจารย์เล่าว่า "อาตมากำลังนึกย้อนหลังว่าตัวเองจำความได้ตั้งแต่ตอนไหน ครูพนมเทียนท่านจำความได้ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ ท่านมักจะเห็นพวกโลกลี้ลับอะไรต่าง ๆ กลัวแล้วร้องไห้ พอผู้ใหญ่มาก็จะเงียบเพราะพวกนั้นหนีไป เวลาผู้ใหญ่ไปแล้วพวกนั้นก็กลับมาใหม่ ท่านเล่าให้ฟังเอง มิน่าว่าสมาธิดีขนาดนั้น ส่วนอาตมาจำความได้ก็ตั้ง ๒ ขวบกว่า"
ถาม : จำได้ว่าก้าวแรกที่ตัวเองเดินได้ว่าเดินได้ มีความรู้สึกภูมิใจตัวเองมาก พอไปเล่าให้คนอื่นฟัง เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่เด็กขนาดนั้นจะจำความได้ ตอบ : นั่นเป็นทฤษฎีที่เขาเชื่อ ถ้าอย่างที่ครูเล่านี่ท่านจำความได้ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ นอนกลิ้งอยู่แล้วก็ร้องไห้เพราะพวกนั้นไต่มุ้งลงมา ท่านจำได้ว่าหน้าตาพวกนั้นเป็นอย่างไรก็มาเล่าให้ฟัง แล้วพ่อแม่พูดเรื่องอะไรกัน ผู้ใหญ่พูดเรื่องอะไรกันท่านจำได้หมด มาเล่าอีกตอนโตแล้ว พวกผู้ใหญ่ยังตกใจกันว่าจำเรื่องตั้งแต่สมัยนั้นได้อย่างไร ถาม : แต่จริง ๆ ตอนแบเบาะเราก็จำได้นะคะ ? ตอบ : แต่ไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง ที่ชัดเจนและต่อเนื่องสำหรับตัวอาตมาเองต้องประมาณ ๒ ขวบครึ่งมาแล้ว ถึงจะจำได้ว่าสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร พ่อแม่ปฏิบัติกับเราอย่างไร พี่น้องเป็นอย่างไรจำได้หมด แต่ก่อนหน้านั้นจำได้แค่เป็นบางส่วน ในเมื่อเป็นบางส่วนก็ไม่นับว่าจำได้ |
พระอาจารย์กล่าวว่า "การทำอะไรประเภทตรงไปตรงมา เสมือนว่าทุกคนราคาเดียวกัน บางคนเขาไม่ชิน อย่างสมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถระ) วัดสระเกศ อาแปะมานิมนต์บอกว่า "อั๊วไม่มีรถนะ" พระองค์ท่านบอกว่า "ไม่มีรถก็ไม่เป็นไร..ไปได้" "แล้วจะไปอย่างไร ?" ท่านก็บอกว่า "ขี่หลังลื้อไป" อาแปะแกให้ขี่หลังไปจริง ๆ ไปแล้วร้านแกข้าวของเต็มไปหมด ท้ายสุดต้องปูเสื่อนั่งสวดอยู่บนทางเท้า พระองค์ท่านก็นั่งสวดให้ตรงนั้นแหละ พวกสังฆการีที่มีหน้าที่ดูแลพระสังฆราชทำท่าจะตายเอา ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำใจไม่ได้
พระองค์ท่านบอกว่าเขามีศรัทธามานิมนต์ เขาไม่เคยชินกับความเป็นพระของไทยเรา แต่เขามีศรัทธาก็ต้องไปสงเคราะห์ พวกคุณจะเอาอะไรตามระเบียบทุกอย่าง คนยากคนจนที่ไหนจะทำได้ สมัยก่อนเวลาไปกราบหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสามพระยา ก็เหมือนกัน หลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสามพระยา ด้วยความที่ท่านเป็นคนตรงไปตรงมาคนเลยเกรงบารมีท่านมาก ก็เลยทำให้ท่านกลายเป็นผู้มีอิทธิพล พูดง่าย ๆ ว่าถ้าประชุมมหาเถรสมาคม ถ้าท่านบอกว่าเอาแบบไหนจะไม่มีใครค้าน แล้วก็ลักษณะเดียวกัน เราก็เด็กกะโปโลเข้าไปทำบุญ ๒๐ บาท เจ้าพวกนั้นวิ่งเอาพานมารับ ตูละเบื่อ ตูใส่ย่ามหลวงปู่ตูเว้ย ไม่ได้ใส่ให้สมเด็จ นิสัยของเราก็กลัวคนไม่เป็น ตอนนั้นสนุกสนานมากเลย หลวงพ่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชผาติการาม ท่านเป็นเส้นเลือดอุดตันขาแข็งไปข้างหนึ่ง เพราะกล้ามเนื้อไม่มีเลือดไปเลี้ยง ท่านก็นั่งไม่ถนัด เข้าไปชวนท่านคุยท่านก็คุยไปเรื่อย เจ้าพวกนั้นมาสะกิดหลังให้ออก หลวงพ่อสมเด็จท่านบอก “ไม่ต้องไปหรอก เห็นข้าไม่มีปากหรืออย่างไร ให้นั่งเฉย ๆ อย่างเดียว” ท่านเองก็อยากจะคุยบ้าง เขาจะให้นั่งเงียบ ๆ อย่างเดียว ลองนึกดูว่าเด็กคนหนึ่งแล้วไปเฝ้าหลวงพ่อสมเด็จสักองค์หนึ่งแล้วท่านชวนคุยเอา ๆ คนอื่นจะมองอย่างไร เด็กนี่มาจากไหนมากวนผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ ท่านอยากคุย สมเด็จพระสังฆราชที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ก็เหมือนกัน ถ้าท่านรับนิมนต์ใครไว้ ต่อให้คนที่มานิมนต์ซ้อนฐานะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ท่านไม่ไปทั้งนั้น ท่านบอกอย่างเดียวว่ารับเขาไว้แล้ว ต้องไปสงเคราะห์เขา" |
พระอาจารย์กล่าวถึงหนังสือเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ "หนังสือพวกนี้ จะว่าไปแล้วสิ่งที่เขาศึกษามาดีก็จริง แต่เราต้องยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา ไม่อย่างนั้นแล้วอะไรที่มากเกินก็พาเสียทั้งนั้นแหละ"
|
ถาม : ถ้าเราจะเบรกมโนกรรมโดยกดมันเอาไว้ ?
ตอบ : หยุดคิดเพราะเห็นโทษ ในเมื่อเห็นโทษก็เลยไม่ทำ พอ ๆ กับคนที่เลิกบุหรี่ ถ้ายังไม่เห็นโทษก็ไม่เลิกจริง ๆ หรอก ถาม : พอภาวนาเสร็จก็เหมือนกับมีความคิดอยู่หน่อย พอเรากดอีกตัวหนึ่งเหมือนกับมีความคิดแทรกขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ค่ะ ตอบ : ก็บอกแล้วว่าใจเราสามารถที่จะแบ่งเป็นเท่าไรก็ได้ คราวนี้เราไปถนัดแบ่งแล้วไม่ถนัดที่จะหยุด ต้องรวมความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจจริง ๆ จัง ๆ เลย พอเผลอหน่อยก็จะแลบไปทางอื่น เราสร้างขึ้นมาซ้อน ๆ กัน ไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร พระอินทร์ท่านสามารถคิดทีเป็นพันเรื่องพร้อม ๆ กันได้ เราเองไม่เก่งขนาดท่านก็ยังไปได้เยอะแยะ ถาม : เห็นแล้วว่าขึ้นมาเองค่ะ แต่เอาไม่อยู่ ตอบ : ให้เห็นไว้ก่อน ถ้าเห็นแล้วเดี๋ยวก็รู้วิธีจัดการเอง |
ถาม : การปฏิบัติจนเข้าไปถึงดวงปฐมมรรค นี่คือปฐมฌานหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : แค่อุปจารสมาธิเท่านั้น |
ถาม : ที่กล่าวไว้ในหนังสือว่า ถ้าต้องการให้บุญเก่ารวมตัวกันเร็ว ๆ ต้องยอมรับกฎของกรรมไว ๆ นี่หมายความว่าอย่างไรครับ ?
ตอบ : ใช้ปัญญาดูว่าทุกอย่างมีความเป็นจริงอย่างไร มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าไปฝืนก็กลายเป็นทุกข์ ท้ายสุดก็ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา คราวนี้พอมาท้ายสุดไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา ก็จะหมดอยาก พอคนหมดอยากอะไร ๆ ก็มา แปลกมากเลย..ตอนอยากอยู่ไม่มาหรอก ถาม : (ไม่ได้ยิน) ตอบ : ถ้าเราพิจารณาเห็น เราก็จะทุกข์น้อย ถ้าเราไม่พิจารณา เราก็จะแบกทุกข์อยู่คนเดียว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไร แต่เราไปปล่อยให้มี เราก็เดือดร้อนเอง ถาม : คืออุเบกขาหรือครับ ? ตอบ : จริง ๆ ก็คืออุเบกขา แต่ต้องเบรกให้ถูก |
ถาม : (เข็มกลัดมงกุฎเพชร)
ตอบ : พวกเราไม่ค่อยได้สังเกตกันเอง จะมีอยู่ ๔ รุ่น รุ่นพระสุธรรมยานเถระแบบตัวหนังสือใหญ่กับตัวหนังสือเล็ก กับพระราชพรหมยานรุ่นตัวหนังสือใหญ่กับตัวหนังสือเล็ก รุ่นตัวหนังสือใหญ่เป็นรุ่นกันเอดส์ ตอนนี้หลวงพ่อมรณภาพไปแล้ว ๒๑ ปี เหลืออีก ๙ ปี หลวงพ่อท่านบอกไว้ว่า ๓๐ ปีวัตถุมงคลท่านจะแพงมาก ปัจจุบันนี้เขาไปเน้นแพงที่สมเด็จองค์ปฐม รอให้สมเด็จคำข้าว สมเด็จหางหมากแพงเมื่อไร พวกที่ตุนไว้ก็สบาย เพราะว่ายุคนั้นขนไว้เยอะ ของอาตมาคนเดียวต้องบอกว่าหลายพันองค์ แต่ไม่เคยเหลือ โดนเขาปล้นหมด ตอนที่ไปถวายเงินหลวงพ่อ รับมาทีละ ๓๐๐ องค์ ๕๐๐ องค์ ๗๐๐ องค์ เพื่อน ๆ เขาถามว่า “เก็บไปทำไมเยอะแยะ ?” พอสิ้นหลวงพ่อคนถามมาเอาจากอาตมาจนหมด แล้วไม่ได้ขึ้นราคาให้ด้วยนะ ให้องค์ละ ๑๐ บาทเท่าเดิม เดี๋ยวนี้เว็บวัตถุมงคลของหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านมีไม่ต่ำกว่า ๒๐ กระทู้ มีแต่ขนของท่านมาขายทั้งนั้น ของอาตมาก็มีเป็น ๑๐ กระทู้เหมือนกัน แล้วหลายอย่างเขาบรรยายสรรพคุณจนรู้มากกว่าอาตมาอีก เออ..ดีเหมือนกัน คนทำยังไม่รู้เลย คนเอาไปจำหน่ายบรรยายจนคนทำยังงง ต้องบอกว่าใครรู้จักทำมาหากินก็ว่าไปเถอะ แต่ว่าเรื่องของพระนี่ต้องแสดงออกด้วยความเคารพ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะกลายเป็นปรามาสพระรัตนตรัย มีนักเลงพระอยู่ท่านหนึ่ง ถึงเวลาจะส่องพระต้องล้างมือก่อน เช็ดสะอาดเรียบร้อยแล้วใส่ถุงมือ ปูผ้าขาว ขอขมาพระแล้วค่อยนิมนต์พระมานั่งส่อง ถ้าลักษณะอย่างนั้นเขาเคารพจริง ๆ ดูแล้วยังทึ่งว่ากำลังใจเขาละเอียดขนาดนั้น หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า “พวกเล่นพระเครื่องนี้ดูถูกเขาไม่ได้ เขาส่องพระอยู่ทุกวัน ติดตาเป็นอนุสติ ถ้าทำด้วยความเคารพนี่ไปดีง่าย ๆ เลย แต่ถ้าพวกที่ไม่ให้ความเคารพก็อาการหนักว่าคนอื่นหน่อย” อาตมาเองพอได้สมเด็จองค์ปฐมมา ก็เอาองค์ท่านเป็นกสิณแทนภาพที่เคยจับแต่เดิม สามารถกำหนดได้ชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ ถ้าวันไหนกำลังใจไม่ดีก็มัว ๆ บ้าง ถ้าบูชาพระเครื่อง ต้องเอาเป็นอนุสติอย่างนี้ |
ถาม : (เด็กใช้มโนมยิทธิได้คล่องตัว)
ตอบ : เขาไปลิบแล้ว เดี๋ยวนี้เขาไม่คิดถึงหลวงตาแล้ว เขานัดเจอกันข้างบน แสบจริง ๆ บอกเด็กว่ามีอะไรที่สามารถพูดคุยกันต่อหน้าได้ก็พูดคุยกันต่อหน้าสิ แหม..นัดไปคุยกันข้างบน เด็ก ๆ เขาจะคล่องตัวกว่าเพราะเขาไม่คิดมาก ไม่ฟุ้งซ่าน ขณะเดียวกันก็ไม่กลัวหน้าแตก พวกเรามักจะไปกลัวผิด พอผิดแล้วจะต้องอายเขา ตรงจุดนี้แหละทำให้เราพลาด ต้องคิดว่าผิดเป็นครู เราจะได้รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร คราวนี้พอเราไปกลัวผิด กลัวอายคนอื่นเขา ก็เลยเละเทะไม่เป็นท่าอย่างทุกวันนี้ เวลาอาตมาถามพระในวัดท่าขนุนก็ลักษณะเดียวกันแหละ พอถามแล้วเขาจะอึ้ง บอกว่าอย่าอึ้ง อารมณ์แรกนั่นแหละใช้ได้เลย เขาไม่ค่อยมั่นใจกัน บางทีฉันข้าวอยู่ก็เหมือนกัน พระเขาหยิบขนมปังขึ้นมา อาตมาก็ถามว่าไส้ข้างในสีอะไร เขาก็ตอบสีเขียวกระมัง ? บอกกระมังไม่ได้หรอก คุณต้องมั่นใจ อันนี้สีขาว คุณแกะดูได้เลย |
ถาม : การเอาเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ไปวางไว้ใต้ทะเล ที่ต่ำกว่าพื้นดิน คนที่ผ่านไปผ่านมาจะมีโทษอะไรไหมครับ ?
ตอบ : มี...อาตมาขึ้นเครื่องบิน ตั้งใจขอขมาตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง เพราะไม่รู้ว่าเขาบินผ่านอะไรบ้าง เหมาไว้ก่อน แบบเดียวกับหลวงปู่โหน่ง วัดคลองมะดัน สมัยที่ท่านบวชแล้วเจริญกรรมฐานอยู่ในป่าช้า จะมีอยู่ที่หนึ่ง ท่านบอกว่าเตียนสะอาดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นหน้าแล้งหน้าฝนจะมีน้ำชุ่มอยู่เสมอ พอท่านเจริญกรรมฐานแถวนั้น เทวดามาบอกว่า ข้างใต้มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ ก่อนหน้านั้นเป็นเจดีย์โบราณซึ่งพังหมดแล้ว ไม่มีซากเหลือแล้ว ให้หลวงปู่โหน่งสร้างเจดีย์ครอบไว้ให้ที คนจะได้ไม่เดินข้ามไปข้ามมาแล้วกลายเป็นโทษ |
ถาม : ช่วงนี้ควรจะขายหุ้นไหมครับ ?
ตอบ : ขายได้รีบขายเลย คุณคิดว่าสภาพเหตุการณ์บ้านเมืองเราตอนนี้ ชวนให้ตลาดหุ้นเจริญรุ่งเรืองมากเลยใช่ไหม ? ทะเลาะกันไม่เว้นวัน บ้านเราเมืองเราก็ทะเลาะกันไปเรื่อยเปื่อย ถึงขนาดเสียพระดีไปติด ๆ กันแล้วยังไม่รู้ตัวกันอีก ยังมีความมันในชีวิตอีก ยังจะเป็นกรรมการฟุตบอลเป่านกหวีดกันอีก คนเราบางอย่างไม่สามารถที่จะลืมกันได้ บ้านเราถ้าลืมของเก่าไม่ได้ ปรองดองกันไม่ได้หรอก แต่จริง ๆ แล้วต้องบอกว่า งวดนี้บรรดาที่ปรึกษารัฐบาลทำผิด เขาเห็นว่าโอกาสชนะมีสูง แล้วจะนิรโทษกรรมยกเข่ง ความจริงต้องคนสั่งการโดนลงโทษ ไม่อย่างนั้นคนตายตั้งเยอะตั้งแยะ จะให้นิรโทษเดี๋ยวก็ไปทำกันอีก ถ้าเป็นลักษณะคนสั่งโดนลงโทษ เขาจะเข้าตาจนไปเอง แต่นี่กลายเป็นไปเปิดทางให้เขาเดินได้ เขาก็จะมีข้ออ้างแล้วก็ระดมคนออกมาใหม่ เพราะไม่อย่างนั้นก่อนหน้านี้ไม่มี ระดมคนออกมาเมื่อไร กลายเป็นทำเพื่อตัวเอง ตอบสังคมไม่ได้ แต่คราวนี้กลายเป็นทำเพื่อประเทศชาติ เพราะว่าเขาจะนิรโทษกรรมให้คนผิด ตัวเองเป็นผู้เสียสละไม่ยอมรับนิรโทษกรรม เปิดทางให้เขาเดินได้เขาก็ไป |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ใครอยากฝึกวิชาอาจารย์ตั๊กม้อบ้าง ? ของแบบนี้ต้องอดทนนะ ๒ - ๓ ปีไปแล้วถึงจะค่อยเห็นผล สมัยก่อนอาตมาเคยฝึกอยู่ระยะหนึ่ง พอเริ่มมาฝึกสมาธิจะมีปัญหาตรงที่ว่าใจไม่นิ่ง ความเคยชินก็คือจะเดินลมปราณไปทั่วตัว ใจก็เลยไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ จนกระทั่งได้มาฝึกมโนมยิทธิก็เพิ่งจะรู้ว่า การเดินลมปราณก็เป็นหลักเดียวกับมโนมยิทธิ เป็นหลักเดียวกันตรงที่ว่า เราส่งลมปราณไปอยู่ที่จุดไหนของร่างกาย ก็คือเราส่งจิตไปที่จุดนั้น"
ถาม : แล้ววิชา ๑๘ กาย ? ตอบ : นั่นเป็นอานาปานสติบวกกับพุทธานุสติ และอาโลกกสิณ อานาปานสติคือลมหายใจเข้าออก ดูลมภาวนาสัมมาอะระหัง พุทธานุสติก็คือกำหนดภาพพระ อาโลกกสิณก็คือกำหนดดวงปฐมมรรค |
ถาม : เราย้อนอดีตแบบไปทั้งตัว สามารถอธิษฐานให้อยู่ได้นานไหมครับ ?
ตอบ : ถ้าไปทั้งตัวไปได้แค่ปัจจุบันอย่างเดียว ส่วนอดีตหรืออนาคตไปด้วยใจ ถ้าปัจจุบันใช้อภิญญา ๕ สามารถไปได้ทั้งตัว หลวงพ่อฤๅษีฯ ก่อนหน้านี้ท่านก็ใช้วิธีไปทั้งตัว พอแก่แล้วท่านก็เบื่อ เพราะว่าร่างที่ไปก็คือร่างแก่ ๆ ทำอะไรก็งุ่มง่ามลำบากไปหมด ท้ายที่สุดท่านก็เลยมาเน้นมโนมยิทธิ อย่างที่เคยยกตัวอย่างเรื่องขุนช้างขุนแผน เขาส่งลูกไปฝึกอภิญญาแท้ ๆ แต่เขามั่นใจว่าลูกทำได้ เหมือนกับสมัยนี้ที่เรียนหนังสือแล้วต้องจบ ในเมื่อสมัยก่อนสภาพสังคมเป็นอย่างนั้น ทุกคนก็เลยมีความรู้เหมือน ๆ กัน หรือว่าใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าเรียนมาแล้วใครจะเก่งกว่าเพื่อน เรียนจบเหมือนกันนั่นแหละ เพียงแต่ว่าใครจบมาแล้วคล่องตัวมากกว่า ใช้ได้ผลมากกว่าเท่านั้นเอง ฆราวาสที่เฮี้ยน ๆ ก็มีอาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง อาจารย์เฮง ไพรวัลย์ อาจารย์ชุม ไชยคีรี มารุ่นหลัง ๆ ก็อย่างพ่อปู่ขุนพันธ์ เพราะเขาทำกันจนกระทั่งได้ผล อย่างสมัยอาตมาเด็ก ๆ ลุงหมอที่รักษาโรค ก็มีเสือขาวก็ท้ามาปล้น สมัยก่อนนี่เขานักเลงจริง จะมาปล้นบ้านต้องส่งจดหมายมาล่วงหน้า ฝากหนังสือมาล่วงหน้า วันนั้นเวลานั้นจะมาปล้น ถ้ารักลูก รักเมีย รักชีวิต ก็เก็บข้าวของเงินทองใส่กำปั่นเอาไว้ จะเอาไปแค่ที่ให้ แต่ถ้าสู้ก็ให้เตรียมตัวไว้ ถึงเวลาแล้วเขาจะมา เขาไม่ได้กลัวนะ..ว่าคุณจะไปชวนใครมาช่วย |
สมัยก่อนเวลาบวช เขาถึงใช้คำว่า "บวชเรียน" เพื่อเข้าไปศึกษาวิชาการต่าง ๆ ทั้งรักษาตัวเอง ทั้งรักษาครอบครัว อย่างรักษาตัวเองก็ต้องพวกวิชาการต่อสู้ พวกอยู่ยงคงกระพันอะไรพวกนั้น ถ้ารักษาครอบครัวก็เกี่ยวกับพวกสมุนไพร คาถาอาคมในการรักษาโรค โดยเฉพาะประเภทช่วยให้เมียคลอดง่าย ๆ
เสือขาวหนังเหนียว แต่ตอนหลังตายเหมือนกัน เจอมีดหมอหลวงพ่อเดิมเข้าไป ไปแลกกับผู้ใหญ่แสวงคนละที ผู้ใหญ่แสวงโดนแทงก่อนแต่ไม่เข้า แกสวนกลับ เสือขาวที่ปกติเหนียวแสนเหนียวนี่ยุ่ยเป็นหยวกเลย แล้วเขามารู้ทีหลังว่า ผู้ใหญ่แสวงใช้มีดหมอหลวงพ่อเดิม ตอนคุณไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม ยังอยู่ในบางขวาง เวลานักโทษหนังเหนียวอาละวาดขึ้นมา ผู้คุมเอาไม่อยู่ เอาปืนยิงก็ไม่รู้สึกรู้สา คุณไพฑูรย์ก็ต้องไปขอเบิกมีดหมอหลวงพ่อเดิมมา ถึงเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องเอาไปคืนผู้คุม ถ้าคุณพ้นโทษถึงจะเอาติดตัวไปได้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอาวุธ นั่นขนาดของตัวเองยังต้องไปขอเบิก ถาม : ในหนังสือพิมพ์เขียนข่าว เสือไว เสือเหลือง พวกนี้มีวิชา ? ตอบ : ส่วนใหญ่แล้วต้องมี ไม่อย่างนั้นก็รักษาตัวไม่รอด โดยเฉพาะพวกที่มีครูบาอาจารย์ดี ๆ หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านถึงได้บอกว่า ที่พระห้ามท่านทำเกี่ยวกับด้านมหาอุด เพราะว่าส่วนใหญ่พวกเรากำลังใจไปข้างเดียว ขืนทำออกมาก็กลายเป็นโจรหมด ถาม : แต่กำลังใจไปข้างเดียวก็ดีนี่คะ ? ตอบ : อยู่ในลักษณะว่า ทนเห็นคนอื่นลำบาก หรือทนเห็นความอยุติธรรมไม่ได้ แม้แต่หลวงพ่อเองท่านก็บอก ถ้าท่านไม่ลาพุทธภูมิ ท่านต้องไปยิงกบาลเขาแน่เลย เพราะเป็นถึงพระผู้ใหญ่ขนาดนั้นแล้วไปรังแกผู้น้อย ท่านก็เลยต้องตัดสินใจลา ลองคิดดูแล้วกันว่ากำลังใจขนาดนั้น ผู้นำไปทางนั้น แล้วลูกศิษย์จะไปทางไหน ก็ต้องไปใกล้เคียงกัน |
พระอาจารย์กล่าวว่า "เดือนนี้พวกเราคงต้องนั่งฟังเสียงสวดพระอภิธรรมกันทุกคืน แต่ความจริงถ้าเราไม่ไปเอาใจต่อต้าน เสียงสวดมนต์จะเป็นเครื่องโยงใจให้เป็นสมาธิได้ดี แต่ถ้าเราต่อต้านก็จะหงุดหงิดไปเลย จะสังเกตเห็นว่าเวลาพระทำวัตร มีหลายรูปนั่งเงียบไปเฉย ๆ เพราะว่าพอใจเป็นสมาธิก็บังคับร่างกายไม่ค่อยได้แล้ว ไม่สามารถจะสวดมนต์ได้ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นอาตมาถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะเข้าเป็นแต่ออกไม่เป็น..!
เรื่องความคล่องตัวของสมาธิ ต้องมีความคล่องตัวในการเข้า คล่องตัวในการออก คล่องตัวในการเข้าตามลำดับฌาน คล่องตัวในการเข้าฌานย้อนกลับ คล่องตัวในการสลับฌาน ไม่อย่างนั้นแล้วก็ต้องบอกว่า ใช้งานไม่ได้ดั่งใจ" |
พระอาจารย์กล่าวว่า "วันนี้รถติดมากไหมจ๊ะ ? เขาเป่านกหวีดระดมพลกัน ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะตั้งแต่งานสวดพระคาถาเงินล้านถวายในหลวง อาตมาขอไว้ว่า ถ้าใครทำเพื่อประโยชน์ตน ไม่ได้หวังดีต่อประเทศชาติจริง ๆ ขอให้แป้กเงียบทุกครั้งไป เพราะฉะนั้น..ปล่อยเขาเป่านกหวีดไปเถอะ เสียงแห้งเปล่า ๆ บ้านเราเมืองเราควรจะพัฒนาให้ก้าวหน้าไปกว่านี้ มัวแต่เล่นเกมการเมืองกันอยู่ก็เลยไปไม่ถึงไหนสักที"
|
พระอาจารย์เล่าว่า "ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แต่เดิมก็คือสมเด็จพระอริยวงศญาณ สมเด็จพระสังฆราช ตอนหลังรัชกาลที่ ๔ ทรงปรับเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก นี่สำหรับสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นสามัญชนทั่วไป ถ้าสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ก็ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ถ้าผ่านพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ก็จะถวายพระนามเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญารวโรรส เป็นต้น
สำหรับท่านที่ไม่ผ่านพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก อย่างเช่น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ก็จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เพราะว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ ถ้าสามัญชนโดยทั่วไป ปัจจุบันจะเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก สำหรับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เป็นราชทินนามพิเศษ เพราะว่าต่างจากพระองค์อื่น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ต้องบอกว่ามีความพิเศษต่างจากสมเด็จพระสังฆราชอื่น ๆ ที่เป็นได้ยาก อย่างเช่นว่า ทรงเจริญพระชันษาถึง ๑๐๐ ปี ทรงเป็นพระพี่เลี้ยงอภิบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวช เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์ นานถึง ๒๔ ปี ท่านอื่นบางทีก็ ๑ - ๒ ปีหรือไม่ถึงปี เพราะส่วนใหญ่กว่าจะถึงระดับนั้นก็อายุกาลพรรษามาก ๆ แล้วทั้งนั้น เป็นที่น่าเสียดายที่พระองค์สิ้นไป เพราะว่าทำสถิติที่พระองค์อื่นทำได้ยากเอาไว้มากต่อมากด้วยกัน เคยได้ยินพระดำรัสสมเด็จพระสังฆราชเป็นภาษาอังกฤษบ้างไหม ? ไม่รู้เหมือนกันว่าในอินเตอร์เน็ตจะมีให้โหลดหรือเปล่า ? พระองค์ท่านเทศน์เป็นภาษาอังกฤษทั้งกัณฑ์เลย ลองดูเผื่อเขาจะเอาลง ถ้ามีให้รีบโหลดเอาไว้ หายากมาก พระองค์ท่านศึกษาภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง จนสามารถพูดภาษาอังกฤษ เทศน์เป็นภาษาอังกฤษได้" |
"เรื่องของพระกับภาษาอังกฤษ เริ่มจากสมัยสมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถระ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมัยนั้นถ้าพระเรียนอย่างอื่นนอกบาลีนี่ จะโดนพระองค์ท่านดุ ตอนหลังบรรดาพระหัวก้าวหน้าเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ พระองค์ท่านก็ดุเอา ปรากฏว่าพอถึงเวลาจริง ๆ มีแขกบ้านแขกเมืองต่างประเทศมาถวายสักการะ จะตรัสกับเขาแล้วก็ต้องมีล่ามแปล คราวนี้พอฝรั่งเขาตอบมา บางทีก็อยู่ในลักษณะติดตลก คนอื่นเขาหัวเราะกันจนหมดแล้ว กว่าพระองค์ท่านจะรู้คำแปลก็ต้องหัวเราะทีหลังทุกครั้ง
จึงทรงปรารภว่า ดูท่าการศึกษาอย่างอื่นนอกเหนือจากบาลีเป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่าพระองค์ท่านเจอมาด้วยพระองค์เองว่า หัวเราะทีหลังเขานั้นขายหน้า พอมีพระดำรัสอย่างนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ก็เลยศึกษาภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองตั้งแต่สมัยนั้น ในที่สุดก็สามารถที่จะตรัสได้ เขียนภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว พวกเราจริง ๆ ถ้าไม่กลัวฝรั่งเสียอย่างก็ไม่มีปัญหา ส่วนใหญ่แล้วไปกลัว ต้องเอาแบบที่อาตมาว่า ฟังไม่รู้เรื่องถือเป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา พูดไปเถอะ..ไปยุโรปมานี่อาตมาภูมิใจมากเลย พวกเราเก่งภาษาอังกฤษกว่า เพราะพวกยุโรปส่วนใหญ่หยิ่งมาก พูดแต่ภาษาของตัวเอง ฝรั่งเศส อิตาลี สวิส ฯลฯ สวิส ยังดีเพราะใช้ ๓ - ๔ ภาษา ทั้งภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ พอเขาไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษ ไปพูดบางทีพวกเราเก่งกว่า ถึงบอกว่าใครอยากเก่งภาษาอังกฤษให้ไปยุโรป เก่งกว่าเขาแน่ ๆ เลย ตอนนี้ทางด้านฝรั่งเศสเขากำลังจะเปลี่ยนให้มาใช้ภาษาอังกฤษ ยังมีพวกนักวิชาการบางกลุ่มประท้วงอยู่ ว่าจะทำให้รากเหง้าของภาษาเสียหมด แต่คิดว่าคงต้านไม่อยู่หรอก เพราะว่าเดี๋ยวนี้ทางอินเตอร์เน็ตเขาก็ใช้ภาษาอังกฤษกันทั้งนั้น ถ้าคุณจะใช้ภาษาฝรั่งเศส คุณก็ใช้อยู่คนเดียว คนอื่นเขาไม่ใช้ด้วยหรอก มีรูปสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกอยู่รูปหนึ่ง ที่ด้านหลังพระองค์ท่านเป็นเสื่อลำแพน รูปนั้นจะเป็นรูปฝีพระหัตถ์ของในหลวง พระองค์ท่านก็อยู่กุฏิมุงแฝกมุงจากมุงเสื่อลำแพนเหมือนกัน เพราะว่าเสด็จลงไปคลุกคลีตีโมงกับพระสายวัดป่าเป็นปกติ" |
ถาม : อ่านในปฏิปทาท่านผู้เฒ่า ที่ท่านว่าเห็นรูปหรือได้ยินเสียง มีก็เหมือนไม่มี เพราะที่สุดก็สลายไปหมด แล้วจิตที่อยู่ในรูปนี่ต้องมองว่ามีหรือไม่มีคะ ?
ตอบ : ไม่ต้องไปสนใจ เขาให้มองสิ่งที่สัมผัส ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ท้ายสุดก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่จริง ๆ แสดงว่าเรามองผิด ไปมองว่าจิตมีอยู่จริงหรือไม่จริง ไม่ใช่เรื่องที่จะไปคิด ถาม : มีความรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกันค่ะ ? ตอบ : เกี่ยวกัน แต่เลยหัวไปเยอะ ต้องพอดี ๆ ของเราเกินไปหน่อย |
ถาม : การเห็นรูปเห็นนามเป็นอะไร เป็นภาวนามยปัญญาหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : การเห็นรูปเห็นนามเป็นทั้งจินตามยปัญญา ก็คือการนึกคิดแล้วเห็นแจ้งเข้าใจ และภาวนามยปัญญาก็คือการเห็นด้วยปัญญา ยอมรับว่าสภาพจริง ๆ เป็นอย่างนั้น อย่างแรกเหมือนกับเห็นตามตำรา อย่างที่สองเห็นเพราะเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ถาม : อย่างในฌานต้องเห็นเป็นนิมิต เป็นรูป แต่ในวิปัสสนาต้องเห็นว่าไม่มี ? ตอบ : ต้องดูด้วย เรื่องของรูปนาม ถ้าอยู่ในฌานส่วนใหญ่เหลือแต่นาม ไม่มีรูป เพราะสมาธิของเราดิ่งอยู่ข้างใน เหลือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณให้เรารับรู้อยู่ เพราะว่าจิตกับกายแยกออกจากกัน แล้วเรื่องของรูปก็กลายเป็นหุ่นอยู่เฉย ๆ เราไปรู้ในเรื่องของนามเสียมากกว่า แต่ถ้าวิปัสสนา วิ แปลว่าวิเศษ แจ้ง ต่าง ปัสสนา คือ เห็น ก็คือเห็นอย่างวิเศษ เห็นตามสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร นั่นเป็นการเห็นด้วยปัญญาจริง ๆ |
ถาม : ที่เขาบอกว่าญาณทัสนะ ?
ตอบ : ญาณทัสนะก็คือการที่รู้เห็น คราวนี้การรู้เห็น ตราบใดที่ยังไม่เป็นวิมุตติญาณทัสนะ ยังไม่ใช่การรู้เห็นเพื่อการหลุดพ้น สักแต่ว่ารู้เห็นตามสภาพเท่านั้น แต่ถ้าจิตใจรู้เห็นแล้วยอมรับปล่อยวางได้ จึงจะเป็นวิมุตติญาณทัสนะ |
ถาม : บางท่านบอกว่า ทรงสมาธิแล้วร่างกายนี่หายไป ?
ตอบ : ถ้าเป็นในส่วนของการปฏิบัติ ก็แปลว่าเริ่มทรงฌานระดับสูงได้ ถือว่าสภาพของจิตกับประสาทเริ่มแยกออกจากกัน ไม่รับรู้อาการทางร่างกาย เหมือนกับร่างกายนี่หายไป ถ้าเป็นส่วนของวิปัสสนาญาณ ก็จัดว่าเป็นภังคานุปัสสนาญาณ คือเห็นการดับสลายของร่างกาย ว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่ ถ้ารู้เห็นละเอียดจริง ๆ แล้วอาศัยยกรูปขึ้นพิจารณาแล้วเพิกรูปทิ้งเสีย จะเป็นอากิญจัญญายตนฌานด้วย ถาม : แล้วทำไมทิ้งต้องทิ้งรูป ? ตอบ : แล้วจะเก็บไปทำไม ? ถาม : ก็อยู่ ๆ หายไปเลย ? ตอบ : แค่รับรู้ว่าเป็นอย่างไร แล้วไม่ไปปรุงแต่งก็พอ ถาม : บางทีเราก็สงสัย ? ตอบ : แค่ไม่รับรู้เฉย ๆ บางทีเราสนใจทำอะไรอยู่ตรงหน้า คนนั่งรอบข้างเยอะแยะไปหมด เราไม่รับรู้เขาเลย แล้วเขาหายไปไหน ? เขาก็อยู่ตรงนั้นนั่นแหละ ถาม : ปฏิภาคนิมิต ? ตอบ : ถ้าทำในเรื่องของกสิณ ก็พิจารณาองค์กสิณ จัดว่าเป็นรูป แต่ก็เป็นเพียงรูปในนามเท่านั้น เพราะว่าไม่ได้สัมผัสจับต้องจริง ๆ กำหนดขึ้นมาเป็นรูปในความรู้สึกของเรา แต่คนอื่นสัมผัสจับต้องไม่ได้ จัดเป็นเพียงรูปในนามเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการทรงฌานธรรมดา ๆ ลักษณะของรูปในนามที่ชัดที่สุด ก็คือลมหายใจเข้าออก ไม่ใช่รูปที่แท้จริง เป็นรูปในส่วนที่เป็นนามธรรม คือสามารถกำหนดได้ รู้ได้ แต่จับต้องไม่ได้ |
ถาม : ทำสมาธิให้ทรงตัวแล้วก็ค่อยพิจารณารูป แต่ไม่ได้ตั้งพิจารณาไว้ก่อน ?
ตอบ : นั่นก็คือวิปัสสนาธรรมชาติ เห็นแล้วมีความเข้าใจว่า สภาพความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ถ้าดูจากวิปัสสนาญาณก็คือ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ เห็นการเกิดและการดับของสรรพสิ่งทั้งหลาย คราวนี้ในเรื่องของปัญญาที่รู้เห็น ไม่ใช่ว่าไปตามขั้นตอน หากแต่ว่าไปตามกำลังของสมาธิของเรา สมาธิของเรายิ่งสูงมากเท่าไร ก็ส่งให้ปัญญามีกำลังรู้เห็นได้มากเท่านั้น ดังนั้น..ท่านเองพอท่านมองเห็น ท่านก็รู้ว่าขนาดทองคำแท้ ๆ ยังเสื่อมสลายได้ แล้วสภาพร่างกายของเรา ไม่ใช่โลหะ ไม่ได้แข็งแกร่งขนาดนั้น ก็ไม่เหลือเหมือนกัน ของคนอื่นก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ท่านก็ถอนความปรารถนาในร่างกายออก ก็จบ เรื่องของคนที่ทำ ต้องบอกว่าพอเขาทำได้แล้วดูง่าย แต่ตอนที่ตะเกียกตะกายทำนี่แทบตายเลย |
ถาม : ในธัมมจักรฯ ที่ว่าพระอัญญาโกณฑัญญะเห็นแจ้ง ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา ?
ตอบ : ในส่วนที่ท่านเห็นก็คือ เป็นการสรุปในสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนมาตั้งแต่ต้น ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ เราจะดูว่าตั้งแต่ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสมาในเบื้องต้น ตั้งแต่บอกว่า ๒ ส่วนที่ภิกษุไม่ควรไปเสวนาด้วย ก็คือการทรมานตน และการทำตนสบายจนเกินไป แล้วท้ายที่สุดก็ต้องเลี้ยวเข้ามาหาอริยสัจ ๔ ก็คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ท่านก็สรุปได้ว่า สิ่งใดที่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่ไปยุ่งด้วย สิ่งนั้นก็ดับไป นั่นก็คือการที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะท่านสรุปมา เพราะฉะนั้น..ในส่วนที่ว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมัง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุ ถ้าเหตุดับสิ่งนั้นก็ดับ เป็นการสรุปผลของท่านอัญญาโกณฑัญญะ ท่านสรุปจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสมาทั้งหมด ว่าที่แท้เป็นอย่างนี้ ในเมื่อท่านเข้าใจ ก็คือท่านเห็นหลักธรรมในตรงนั้นว่า ความเป็นจริงของธรรมชาติเป็นอย่างนี้นี่เอง เพราะฉะนั้น..สิ่งที่ท่านเห็นก็คือเห็นสัจธรรมแท้ ๆ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถาม : การเห็นนี่คือ ? ตอบ : การเข้าใจ เป็นการเห็นด้วยปัญญา เรียกปัญญาจักษุ เข้าใจ เห็นแจ้ง แล้วก็ยอมรับว่าความจริงเป็นเช่นนั้น |
ถาม : อย่างรู้ว่ารูปกระทบภาวะแข็ง ภาวะเย็น ภาวะร้อน อย่างนี้ถือว่าเห็นรูปแล้วใช่ไหมครับ ?
ตอบ : เป็นการกำหนดรูปนามเฉย ๆ กำหนดรู้สึกในส่วนของความรู้สึกทั้งหมด เป็นเวทนาก็จัดเป็นนาม แต่ถ้าสัมผัสในส่วนที่เรารู้สึกได้ก็จัดเป็นรูป ความรู้สึกที่สัมผัสก็เป็นนาม แค่นั้นเอง ส่วนทั้งหลายเหล่านี้ ถ้ากำลังใจของเราจดจ่อต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ก็แค่เราไม่ปรุงแต่งให้เกิด รัก โลภโกรธ หลง เท่านั้น ยังไม่สามารถที่จะเอาไปใช้งานจริงได้ เผลอสติเมื่อไรกิเลสจะตีกลับคืน แต่ถ้าเราไม่เผลอสติ สามารถดำเนินจดจ่อต่อเนื่องได้โดยตลอด กิเลสไม่มีโอกาสเกิด ถ้าทำได้ยาวนานพอ การที่กิเลสเกิดไม่ได้ กิเลสก็จะดับไปเอง แต่ถ้าทำลักษณะอย่างนั้นต้องบอกว่าเดินทางไกล คำว่าเดินทางไกลก็คือถึงได้ยาก เพราะว่าคนที่จะเอาสติจดจ่อต่อเนื่องตามกัน ทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งหลับทั้งตื่นนั้น หาได้ยากมาก |
ถาม : อุทยัพพยญาณ ท่านจะเห็นลักษณะไหน ?
ตอบ : สมมติที่เขายก..ย่าง..เหยียบ ยกหนอ...ทันทีที่ยก พอหนอก็คือสิ้นสุดลง ก็คือเกิดขึ้น ดับไป ย่างหนอ...ระหว่างย่างก็คือเกิดขึ้น หนอสุดลงก็คือดับไป เหยียบหนอ..เหยียบก็คือเกิดขึ้น หนอก็คือดับไป ก็คือลักษณะของการเกิดดับ ๆ เป็นระยะ ๆ เขาเรียกว่าสันตติ สืบเนื่องไป แต่ความละเอียดของจิตที่แยกแยะออก ทำให้เห็นชัดว่าความเกิดดับเป็นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ไล่กันไปเรื่อย ๆ จึงดูเหมือนตั้งอยู่ แต่ความจริงดับอยู่ตลอดเวลา |
ถาม : บางท่านบอกว่า แม้แต่ความตั้งใจทำ ก็มีกิเลสแฝงอยู่ ?
ตอบ : ทุกอย่างมีกิเลสแฝงอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในส่วนของกิเลสตัวนี้ เป็นสิ่งที่เกิดกับปัญญา ก็คือเรามีปัญญาเห็นว่าควรจะทำอย่างนั้น ถึงจะเป็นทางของการหลุดพ้น ท่านก็เลยไม่ได้เรียกเป็นกิเลสตัณหา แต่เรียกเป็นธรรมฉันทะ เพราะถ้าไม่อยากเราจะไม่ทำ ถาม : ท่านกล่าวถึงเพราะมีความปรารถนาให้สติตามรู้ทัน ท่านละเอียดลึกซึ้งมากเลยครับ ตอบ : จะว่าไปแล้วก็คือทำให้ได้ก่อน อย่าเพิ่งไปคิดเรียกว่าอะไร หรือว่าเป็นอย่างไร ถ้าทำได้จริง ๆ สภาพสติจะตามทัน ก็จะอ๋อ...ที่แท้เป็นอย่างนี้เอง จะได้ระมัดระวังตัวเอง ไม่เช่นนั้นจะมัวแต่กลัวกิเลสแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย |
ถาม : บางท่านสอนรู้อิริยาบถ ให้ปล่อยตามธรรมชาติ ?
ตอบ : จริง ๆ แล้วควรจะให้รับรู้ตามธรรมชาติ เพราะว่าคนเราเองไม่มีเวลาที่จะไปยกย่างเหยียบอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น..สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะเดิน กิน นั่ง นอน คิด พูด ทำ หรืออะไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องเอาสติไปใส่ไว้ตลอด เพื่อที่จะได้ไม่เผลอไปปรุงแต่ง ไปรักหรือไม่รัก ชอบหรือไม่ชอบ ฯลฯ |
ถาม : อย่างกายคตาสติ ที่บอกว่าเราดูเส้นผมขณะปัจจุบัน ?
ตอบ : ดูทั้งในอดีต ก็คือระลึกรู้อยู่ว่า ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ดูอยู่ในปัจจุบัน คือตอนนี้เป็นอย่างไร ดูไปในอนาคต สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันท่านบอกว่า ให้พิจารณาในส่วนของปฏิกูลสัญญาร่วมกันไปด้วย ก็คืออย่างเช่นว่า ปฏิกูลโดยสภาพ ต่อให้เราสระผมใหม่ ๆ สะอาดเอี่ยมเลย ถ้าเส้นผมตกไปในอาหาร เราก็ไม่กินเพราะเรารังเกียจ นี่คือปฏิกูลโดยสภาพ ปฏิกูลโดยการสัมผัส คืออยู่กับร่างกายของเรา โดนเหงื่อไคลจับต้องเข้า ก็เกิดกลิ่นสาบกลิ่นสางขึ้นมา ท่านให้เอาปฏิกูลสัญญาประกอบเข้าไปด้วย ถาม : ไม่ใช่อารมณ์นึกหรือครับ ? ตอบ : ตอนแรกเหมือนกับนึก คือว่าจำว่าเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าพิจารณาไปจนกระทั่งสภาพจิตยอมรับ จะเป็นปัญญา มองเห็นจริง ๆ ว่าเป็นอย่างนั้น ถาม : อย่างอดีตเราเจอสภาพศพอย่างนั้น แต่ปัจจุบันซากศพที่เน่าเปื่อยแบบนั้นเราไม่ได้เจอ ? ตอบ : เจออันไหนก็ทำเหมือนกัน อย่างเจอเขียงหมู เป็นต้น ถาม : แล้วน้อมมาใส่ตัว ? ตอบ : เหมือนกัน เรากับหมูโดนหั่นเป็นชิ้น ๆ ก็มีลักษณะเหมือนกัน มีเลือดมีเนื้อ มีอวัยวะภายในเหมือนกัน ถาม : ถ้าเราไปเจอแล้วน้อมเข้ามาสู่ภาพนั้นก็เป็นอดีต ? ตอบ : เป็น..แต่ในขณะเดียวกันอารมณ์ของเราดึงมาอยู่ในปัจจุบัน ก็คือเปรียบเทียบกับตัวของเราเอง ท่านใช้คำว่าโอปนยิโก ต้องน้อมนำเข้ามาในตัวเราเสมอ ว่าสภาพร่างกายแบบนั้น ตัวเราก็เป็นแบบนั้น ในเมื่อน้อมนำมาเข้าแล้วก็กระจายออกว่า ตัวเราก็เป็นแบบนี้ คนอื่นก็เป็นเช่นนี้ ในเมื่อสภาพความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ แล้วตัวเราจะยังมีความปรารถนาในสภาพร่างกาย ที่เต็มไปด้วยความสกปรกเหมือนอย่างกับซากศพเหล่านี้ไปทำไม แล้วในเมื่อร่างกายของเรา เรายังไม่ต้องการ แล้วของคนอื่นเราจะต้องการไหม ? กระจายออกแล้วรวมเข้า รวมเข้าแล้วกระจายออก ดังนั้น..แม้ว่าจะเป็นส่วนของอดีต แต่ถ้าเราดึงขึ้นมาพิจารณา ก็กลายเป็นปัจจุบัน ถาม : ร่างกายคนอื่นก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ก็เป็นอนุมานไม่ได้เห็นจริง ? ตอบ : ถ้าปัญญาถึงจะเห็นจริง ๆ ก็คือในเมื่อตัวเราเป็นอย่างนั้น คนอื่นก็เป็นอย่างนั้น สภาพทุกอย่างเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรต่างกัน ลักษณะเหมือนกับเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนกัน ประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ เหมือนกัน ถ้าลักษณะทางโลกทั่ว ๆ ไปจะเป็นการอนุมาน แต่ถ้าสภาพจิตของเรายอมรับ มีปัญญาเห็นจริง จะรู้แจ้งแทงตลอดไปหมดเลย จะไม่โดนสิ่งที่มาบดบัง เคลือบแคลง หรือว่าสงสัยอยู่ เพราะว่าในส่วนของดวงปัญญา สว่างเหมือนกับแสงที่สว่างมาก เมื่อฉายไปในที่มืด ย่อมเห็นภาพทุกอย่างได้อย่างชัดเจน |
ถาม : จิตตานุปัสสนากับธัมมานุปัสสนา ในส่วนที่ว่าจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ และในธัมมานุปัสสนา รู้ว่ามีกามฉันทะก็รู้ว่ามีกามฉันทะ อันนี้แตกต่างกันอย่างไรครับ ?
ตอบ : จริง ๆ ก็คือรู้อยู่ในปัจจุบันขณะว่าจิตเสวยอารมณ์อย่างไร ? ส่วนในเรื่องของธัมมานุปัสสนานั้น ท่านยกขึ้นมาในเรื่องการพิจารณาว่าอารมณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ? ในเมื่ออารมณ์ใจที่ประกอบไปด้วยราคะอย่างนี้ ตอนนี้ทำให้เราเกิดความร้อนรุ่มกระวนกระวายอย่างไร ? เกิดความทุกข์อย่างไร ? แล้วเราเองยังปรารถนาความทุกข์เช่นนั้นอีกหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ปรารถนา เราวางลงได้ไหม ? ถ้าวางได้ก็จะจบ แต่ถ้าเราไม่วางลง เอาไปปรุงแต่งต่อ ก็จะเกิดปัญหาต่อไป ในส่วนของธัมมานุปัสสนาส่วนใหญ่จะเป็นการพิจารณาแล้ว ในส่วนของจิตตานุปัสสนาเป็นการรู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ ถาม : ธัมมานุปัสสนานี่คือเข้าใจที่ปรากฏ ? ตอบ : เข้าใจในสิ่งที่มาปรากฏตามสภาพความเป็นจริง อย่างเช่น นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย ที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็รู้อยู่ แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่เรา ในเมื่อสร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่เรา ถ้าเราไม่ไปนึกคิดปรุงแต่งต่อ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะสร้างทุกข์สร้างโทษแก่เราได้ ก็เท่ากับว่าดับไป ส่วนหนึ่งอยู่ในลักษณะแค่รู้เท่าทัน อีกส่วนหนึ่งประเภทรู้แล้วปล่อยวาง ถาม : ถ้ามีสติรู้ทันจะดับไปเอง ? ตอบ : จะดับไปเอง แต่ว่าในส่วนของสติรู้เท่าทันนั้น จะอยู่ในลักษณะว่าดับโดยการไม่ปรุงแต่งต่อ ในเมื่อดับโดยไม่ปรุงแต่งต่อ ก็จะอยู่ในลักษณะของ ตทังควิมุตติ การหลุดพ้นด้วยองค์ของวิปัสสนาญาณนั้น ๆ แต่ถ้าเราเองรู้เหตุจริง ๆ ว่าเกิดอย่างไร แล้วเราไม่ไปแตะต้องสาเหตุนั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าอย่างนั้นจะเป็นสมุจเฉทวิมุตติ ก็คือตัดขาดได้อย่างสิ้นเชิง ถาม : จะกินข้าวให้อร่อย ? ตอบ : เขาไม่ได้ต้องการให้อร่อย ถาม : ถ้าไม่อร่อยก็ไม่กินนี่คะ ? ตอบ : อร่อยกว่าปกติด้วย เพียงแต่ว่ารู้เท่าทันแล้วไม่ไปคิดเท่านั้น ที่อร่อยกว่าปกติ เพราะพอสภาพจิตยิ่งละเอียด การรู้รสยิ่งละเอียดขึ้น ขออภัยโยมบางคนที่ฟังไม่รู้เรื่องนะจ๊ะ เพราะว่าบางอย่างที่โยมเขาถาม ต้องยกศัพท์บาลีขึ้นมาประกอบด้วย ถ้าเราไม่มีพื้นฐานเรื่องทั้งหลายเหล่านั้นมาก่อนก็จะไม่เข้าใจ |
ถาม : เวลากิเลสเกิดขึ้น ไม่รู้ทันขณะเกิด มารู้ทีหลัง ต้องมาตั้งรู้ใหม่
ตอบ : วิ่งตามหลังกิเลส แต่ยังดีที่รู้ทันว่ากิเลสเกิด ถาม : (ไม่ชัด) ตอบ : สองอย่างจริง ๆ ต้องทำคู่กันไป เรื่องของสมถะเหมือนกับเราสร้างกำลังให้เกิด แล้วก็ใส่เกราะป้องกันตัวเอง ไม่อย่างนั้นถึงเวลากิเลสตีเรา ถ้าไม่มีกำลังของสมาธิซึ่งเป็นสมถกรรมฐานมาช่วย เราจะทนทุกข์ทรมานมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตอนที่จะทำอย่างไรให้ระงับยับยั้งอยู่ จะทำอย่างไรจะรู้เท่าทัน แต่ถ้าเรามีตัวสมาธิเหมือนกับเราใส่เกราะอยู่ กิเลสมีปัญญาแค่ไหนก็กระทบไป ฉันไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่หวั่นไหว ในเมื่อไม่สะดุ้งสะเทือนไม่หวั่นไหว เดี๋ยวก็มองเห็นเองว่าตัวไหนกวนเรา เราจะได้ตีหัวกิเลสได้ถูก แต่ในเรื่องของวิปัสสนาก็คือการที่เรามีอาวุธคมกล้าอยู่ในมือ ฝ่ายหนึ่งมีกำลัง ฝ่ายหนึ่งมีอาวุธ ก็สามารถที่จะตัดอะไรให้ขาดได้ง่าย แต่ถ้าเราไปพิจารณาอย่างเดียว เหมือนกับเราไม่มีกำลัง พยายามไปยกอาวุธหนัก ๆ ยกเท่าไรก็ไม่ขึ้น ใช้งานไม่ได้ ดังนั้น ๒ อย่างต้องทำด้วยกัน แต่ว่ามีบางสายเขาให้ทำอย่างเดียว ก็เป็นการทรมานบันเทิงมาก เพราะว่าถึงเวลาก็โดนกิเลสตีกระหน่ำเสียจนไม่เป็นผู้เป็นคน |
ถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหมาะกับสายไหน ?
ตอบ : อยู่ที่เราว่าชอบแบบไหน และอยู่ที่เราว่าสร้างบุญมาดีพอไหม ถ้าเราชอบแบบนี้ เราทำของเราแบบนี้ ถ้าสร้างบุญมาดีพอ ได้สายกรรมฐานที่เหมาะสมแก่ตัวเอง ก็ได้มรรคได้ผลได้ง่าย แต่ถ้าเราไม่ชอบแบบนี้ ต่อให้เขาสอนให้ตายก็เหมือนกับไม่เข้าหู ต้องแล้วแต่เวรแต่กรรมว่าไปสร้างบุญร่วมกับใครมา เดี๋ยวพอฟังของเขาเข้าหูก็ปฏิบัติตามได้เอง |
ถาม : คำว่ามีวิปัสสนานำหน้าและสมถะตามหลัง แปลว่าอย่างไรครับ ?
ตอบ : พิจารณาไปเรื่อย ๆ สภาพจิตจะน้อมดิ่งเข้าไป จนกระทั่งกลายเป็นสมาธิไปเอง ขณะที่พิจารณาสมาธิจะค่อย ๆ เกิดขึ้น เพราะถ้าสมาธิไม่เกิด กำลังจะไม่พอตัดกิเลส ก็เลยกลายเป็นการเอาวิปัสสนานำหน้า แล้วในที่สุดสมถะก็จะตามมา แต่ถ้าลักษณะอย่างนี้ต้องปัญญาเยอะจริง ๆ ไม่อย่างนั้นแล้วกิเลสตีหงายท้องไปเสียก่อน แต่ถ้าจะใช้สมถะในการหยุดยั้งกิเลสไว้ก่อน แล้วค่อยใช้กำลังพิจารณาทีหลังจะปลอดภัยกว่า แต่ก็จะมีโอกาสเผลอสติ ติดสุขอยู่ในสมาธินั้นจนลืมพิจารณา ต่างคนต่างก็มีข้อบกพร่องของตัวเอง จึงควรที่จะทำคู่กันไป สลับกันเดิน พิจารณาไปจนกระทั่งสมาธิเกิด แล้วก็หันมาภาวนา ภาวนาเสร็จไปต่อไม่ได้ ก็คลายออกมาพิจารณา จะผลัดกันเดินอย่างนี้จึงจะก้าวหน้า ถาม : ไปพร้อมกันไม่ได้ ตอบ : เป็นไปไม่ได้ ลองเดิน ๒ ขาพร้อมกันดูสิ ก็กลายเป็นนกกระจอกเท่านั้น คือกระโดดไปอย่างเดียว นกกระจอกก้าวเดินไม่เป็น ถาม : พอทำสมาธิถึงระดับหนึ่งแล้วผ่อนลงมาคิด ? ตอบ : ความเคยชินทำให้เราคลายลงมาคิดเอง บางทีเราก็ไม่รู้ แต่เป็นการคิดโดยที่มีสมาธิระดับสูงคุมอยู่ สมาธิระดับสูงที่คุมอยู่ เป็นการประกันความปลอดภัยให้แก่เรา ว่าจะไม่พลาดหลุดออกไป ถาม : ถ้าอยู่ในสมถะเข้าฌานเท่าไรก็เป็นตามกำลังที่ถอยออกมา ? ตอบ : ตอนที่เราถอยมานั่นกำลังของฌานยังคุมอยู่ ถาม : การเข้ามรรคนี่อยู่ในอัปปนาสมาธิ ? ตอบ : อย่าลืมว่าสมาธิที่เราเข้าต้องเป็นอัปปนาสมาธิ เพราะถ้ากำลังไม่ถึงอัปปนาสมาธิขึ้นไปก็ไม่พอตัดกิเลส ในเมื่อพอตัดกิเลสก็แสดงว่าอยู่ในอัปปนาสมาธิแล้ว ก็คืออยู่ในส่วนของมรรคที่เราจะก้าวไปหาผล |
ถาม : การเข้าถึงมรรคต้องเป็นฌานสี่หรือเปล่า ?
ตอบ : จะมรรคไหนก็ตาม อย่างน้อยต้องปฐมฌานขึ้นไป ไม่อย่างนั้นตัดกิเลสไม่ไหวหรอก แต่ถ้าตั้งแต่อนาคามีมรรคขึ้นไปก็ต้องฌาน ๔ ไม่อย่างนั้นกำลังไม่พอ กิเลสจะแรงกว่า ถ้าโยมไม่เข้าใจก็เอาที่ง่าย ๆ นะจ๊ะ ตอนนี้เขาว่าของยากเพราะว่ากันตามตำรา ในเมื่อว่ากันตามตำรา ถ้าเราไม่ได้อ่านตำรามานี่ตายเลย โยมบางคนฟังไม่รู้เรื่อง |
ถาม : อนิมิตตเจโตสมาธิ ?
ตอบ : ก็อยู่ในลักษณะของอรูปฌาน ไม่ต้องการนิมิต ยกนิมิตทิ้งเสีย ในเมื่อยกนิมิตทิ้ง เราก็พิจารณาจนอารมณ์ใจทรงตัวเต็มที่ ก็คือกำลังของฌาน ๔ ธรรมดานั่นแหละ ตั้งรูปขึ้นมาก่อน แล้วทิ้งรูปนั้นเสีย เป็นอรูปฌาน เพราะฉะนั้นอรูปฌานก็คืออนิมิตตเจโตสมาธิ ถาม : ไม่ใช่วิปัสสนาใช่ไหมครับ ? ตอบ : ไม่ใช่..อย่าลืมว่าเจโตฯ ยังเป็นกำลังสมาธิอยู่ เจโตวิมุตติไม่ใช่ปัญญาวิมุติ ถาม : ลักษณะเหมือนกับเป็นวิปัสสนา ? ตอบ : กำลังคล้ายคลึงกัน เพราะอย่าลืมว่าอากิญจัญญายตนฌาน ก็คือพิจารณาว่าทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือเลย แม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มี ก็เป็นวิปัสสนาญาณดี ๆ นี่เอง แต่ยังไม่ใช่ เพราะว่าเกาะฌานอยู่เต็มที่เลย ถาม : ผมอ่านในมหาสุญญตสูตร ท่านพูดถึงฌานนิมิตกับอนิมิตตเจโตสมาธิ ท่านได้เข้ารูปฌาน และอรูปฌาน แล้วเข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ ? ตอบ : บุคคลที่ทำได้จริง ๆ ถ้ามาถึงส่วนท้ายของอรูปฌานแล้ว ต้องใช้คำว่ายังมีส่วนของการยึดเกาะอยู่ ก็คือน้อย ๆ เกาะความดี เกาะกำลังสมาธินั้น ในเมื่อคุณไม่ต้องการที่จะเกาะตรงจุดนั้น ทำอย่างไรที่คุณจะปล่อย จะมีช่องว่างอยู่ตรงกลางส่วนหนึ่ง ซึ่งอธิบายได้ยาก เพราะว่าเป็นกำลังคล้าย ๆ กับระหว่างสมถะกับวิปัสสนาพอดี ๆ ที่เขาจะผ่ากลางเข้าไปได้ ตรงจุดของส่วนนั้น จัดว่าเป็นอนิมิตตเจโตสมาธิก็ได้ แต่อยู่ในลักษณะเห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ตาม ก็ยังทำให้ยึดติดอยู่ เพราะฉะนั้น..ในส่วนที่ไม่ต้องการจริง ๆ ก็จะต้องปล่อยวาง จะอยู่ในลักษณะเหมือนกับว่า ซ้ายก็ไม่แตะ ขวาก็ไม่แตะ แต่ไม่ใช่เหยียบเรือสองแคม หากแต่ไปตรงกลางซอยพอดี ในส่วนของสมถะ เราเกาะด้านนี้ก็ติดสมาธิ ในส่วนของวิปัสสนา ถ้าเห็นแล้วจิตยังปล่อยวางไม่ได้ ก็จะยังติดที่การรู้เห็นนั้น จุดนี้จะผ่ากลางไปพอดี |
ถาม : ทำไมวิปัสสนาแล้วขี้โกรธ ?
ตอบ : คนเขาพูดไปเอง ก็คือคนที่ไปปฏิบัติธรรมระยะแรก ๆ จะอยู่ในลักษณะของการเก็บกด ในเมื่อเก็บกด โดนสะกิดมาก ๆ กดไม่อยู่ ก็ไประเบิดใส่เขา เขาก็เลยไปบอกว่าวิปัสสนาขี้โกรธ ก็หมายถึงพวกนักปฏิบัติ ถ้าไม่รู้จักระวังตัวเอง กิเลสจะตีกลับ..โดนฟัดตาย นั่นชาวบ้านพูดกันไป ถาม : เกิดขึ้นได้เพราะอะไรครับ ? ตอบ : สติขาด สมาธิหลุด กดกิเลสไม่อยู่ กิเลสเจริญงอกงามใหม่ เพราะฉะนั้น..บางสำนักที่เขาบอกว่า ไม่ให้ใช้สมาธิลึก ให้ใช้แค่ขณิกสมาธิ พวกนั้นจะโดนบ่อยเลย เพราะกำลังไม่พอ ถาม : บางทีเราก็ปลอบใจว่าไม่เป็นไร คนอื่นก็ล้ม ? ตอบ : ปลอบใจตัวเองดีเหมือนกัน เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งว่าเราพลาดตรงจุดไหน แล้วเราจะได้ระมัดระวังไว้ พอถึงจุดนั้นเราจะไม่พลาดอีก แต่ก็ยังมีโอกาสพลาดในจุดต่อไป ก็จะหกล้มหกลุกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ว่าจะก้าวหน้าไปทีละน้อย ๆ ถาม : แสดงว่าจะต้องไม่ปลอดภัยจนกว่าจะถึงเส้นชัย ? ตอบ : ตราบใดที่ยังไม่ไปอยู่บนพระนิพพาน ยังหาความปลอดภัยไม่ได้หรอก |
ถาม : ผมอ่านในตำราว่า เรายิ้ม เรานึกถึงความว่าง ๆ ก็เป็นความสุขได้เหมือนกัน เราก็คิดว่าทำแบบนี้ไม่ผิดหรอก ?
ตอบ : อยู่ที่เราว่าตั้งใจทำเพื่ออะไร ถ้าต้องการความสุขเฉพาะหน้าแค่ชั่วครั้งชั่วคราว คุณทำอารมณ์อย่างไรก็ได้ ให้เกาะอยู่ในข้างสุขมากกว่าทุกข์ แต่เป็นกามาวจรล้วน ๆ ก็คือตายไปเต็มที่ก็ไม่เกินเทวดา แต่ถ้าตั้งใจที่จะปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจริง ๆ เขาให้เน้นกองกรรมฐานกองใดกองหนึ่งที่เราชอบมากที่สุด แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำจนได้ผลไปเลย พอถึงเวลาถ้าได้ผลสักกองหนึ่งแล้ว กองอื่นก็ใช้กำลังเท่ากัน เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการหรือนิมิตนิดหน่อยเท่านั้น แต่ต่อให้เปลี่ยนไปทำกองอื่น เขาก็ให้ทวนกองเก่าให้เต็มที่ก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนไป จะเป็นการขึ้นหน้าถอยหลัง ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเกิดความชำนาญจริง ๆ อย่างที่คุณว่ามาเป็นแค่ผิวเผินในการรักษาอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้าทำตามลักษณะที่ว่ามาตามกองกรรมฐานตั้งแต่ต้นจนจบ คือสามารถใช้ผลได้ ต่ำ ๆ คุณก็ไปเป็นพรหม แต่ถ้าปัญญามีมากพอ ตัดกิเลสได้ตามลำดับ แล้วสภาพจิตก็หลุดพ้นไปตามกำลังปัญญาของตนเองในช่วงนั้น ๆ |
ถาม : ในที่ทำงานหนูทำสมาธิอยู่ แล้วมีพี่เขามาบ่นเรื่องโปรแกรม ซึ่งเครื่องก็ยังใช้ได้อยู่ บ่นข้าง ๆ หนูเลย หนูเลยคิดในใจไปเลยว่าให้เครื่องพังไปเลย จะได้หยุดบ่นเสียที ปรากฏว่าเครื่องพัง ?
ตอบ : ถ้าเป็นพระอาจจะปาราชิกไปแล้ว เพราะทำลายทรัพย์สินชาวบ้าน ถาม : หนูแค่คิดแรง ๆ เท่านั้นเอง ? ตอบ : ต่อไปไปคิดที่บ้าน ให้ที่พังเป็นของเรา ถ้าทำงานหลวงเดี๋ยวของหลวงเจ๊ง ทำงานเกี่ยวกับหน่วยงานก็ของกลางเจ๊ง เอาของที่บ้านเราให้เจ๊งไปเลย จะได้เสียเงินซื้อเอง กำลังสมาธิของเราจริง ๆ แรงพอที่จะทำอะไร ๆ หลายอย่างแล้ว เราไปทำส่งเดชจะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี เราจะสังเกตว่า บุคคลที่มาทางสายอภิญญาสมาบัติ ถ้าสภาพจิตยังไม่ยอมรับกฎของกรรมจริง ๆ จะใช้กำลังได้ไม่เต็มที่สักราย เพราะถ้าใช้เต็มที่เดี๋ยวบรรลัยหมด จนกว่าเราจะยอมรับกฎของกรรมจริง ๆ ว่าสภาพทุกอย่างปกติธรรมดาเป็นอย่างนั้น คนมากวนเราให้โกรธ คนที่ไม่รู้ว่ากาย วาจา ใจ ของตัวเองเป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่นอย่างไร ก็มีสภาพน่าสงสารอย่างนั้นเอง ช่างเขาเถอะ ถ้าตราบใดสภาพจิตยังไม่เห็นธรรมดา ยังช่างเขาไม่ได้ เดี๋ยวก็ไปเล่นคนอื่นเขา ต่อไปจะไม่พังแต่เครื่อง คนจะพังด้วย ต่อไปก็จะกลายเป็นกรรมที่จะมาตัดรอนตัวเอง |
ถาม : อานิสงส์การบวชต้องบอกพ่อแม่ไหมครับ ?
ตอบ : ยกเว้นพ่อแม่แล้วคนอื่นต้องบอก อานิสงส์การบวชยกให้พ่อแม่เท่านั้น ไม่ต้องบอกท่านก็ได้บุญ เพราะว่าเราเกิดมาเนื่องด้วยท่าน ถ้าไม่มีท่านเราก็ไม่ได้เกิดมาจนได้บวช เขายกให้พ่อกับแม่เท่านั้น คนอื่นก็ต้องโมทนาหรือไม่ก็ต้องไปร่วมงานด้วย ถาม : มีบุญอะไรที่นอกจากการบวชแล้ว ไม่ต้องบอกด้วยปากให้เขาโมทนา เขาก็ได้บุญ ? ตอบ : ยังไม่มี มีอยู่อย่างเดียว บอกท่านว่าฝากเงินฉันไว้แล้วกัน ถึงเวลาฉันทำอะไรจะได้มีส่วนของเธอด้วย ฝากไว้เดือนละร้อยครึ่งร้อยบาท ถึงเวลาทำให้เขา ๕ บาท ๑๐ บาทไปเรื่อย บุญจะได้เป็นของเขาไปเลย |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:14 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.