![]() |
๑๑.ร่างกายของเราหรือร่างกายของใครก็ไม่มีคำว่าจีรังยั่งยืน มีเกิดเมื่อไหร่ก็มีตายเมื่อนั้น อย่าไปฝืนกฎธรรมดาของร่างกาย ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็บำรุงรักษาไปตามหน้าที่ แต่จิตจักต้องไม่ลืมความจริงว่า ร่างกายนี้ต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา อารมณ์ของจิตอันเนื่องด้วยเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เช่นกัน เกิดแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดาเช่นกัน จิตเพียงแต่กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา แล้วพยายามรักษาอารมณ์วางเฉยเข้าไว้ ให้เห็นทุกอย่างไม่เที่ยงเป็นของธรรมดา
อย่าไปกังวลกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้มากนัก ให้ใช้เวลาพิจารณาจิตของตนเองจักดีกว่า ได้ประโยชน์มากกว่า พยายามรักษาอารมณ์พิจารณาขันธ์ ๕ ให้เข้มแข็งเข้าไว้.. ความเป็นพระอรหันต์เป็นของไม่ไกล ถ้าหากมีสติกำหนดรู้และทำจิตให้วางเฉยให้ได้ในเหตุการณ์ทั้งหมด จุดสำคัญคือ พยายามรักษาอารมณ์ให้เยือกเย็น จิตจักมีความเบาโปร่งสบาย ๆ พรหมวิหาร ๔ อย่าทิ้งไปจากจิต |
๑๒. ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ให้จงหนัก จิตจึงจักตัดราคะกับปฏิฆะได้ ในโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดาของโลก มีลาภ – เสื่อมลาภ มียศ - เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราได้ ก็ด้วยเรามีร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นเครื่องรองรับ จึงต้องพิจารณาละตัดให้ได้ซึ่งขันธ์ ๕ เท่านั้น (ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา) ก็จักพ้นทุกข์จากอารมณ์พอใจและไม่พอใจ เมื่อโลกธรรม ๘ ประการเข้ามากระทบจิต จงพยายามกำหนดรู้ทุกสิ่งในโลกไม่เที่ยง ยึดเมื่อไหร่เกิดทุกข์เมื่อนั้น ให้ชำระจิตปล่อยวางสภาวะโลกที่ไม่เที่ยงไปเสียดีกว่า จุดนั้นจักทำให้เข้าถึงพระนิพพานได้ง่าย
|
๑๓. อย่าห่วงใยเรื่องในอนาคต ให้รักษาอารมณ์จิตอยู่ในปัจจุบันเป็นดีที่สุด เช่น เตรียมเสบียงไว้เมื่อยามมีน้ำท่วมวัด หรือยามมีสงครามนั้น ก็พึงทำไปเป็นเพียงแต่หน้าที่ เตรียมได้ก็พึงเตรียมแต่พอดีในทางสายกลาง เพราะชีวิตจัดอยู่ถึงช่วงนั้นหรือไม่ก็อย่าไปคำนึง ทำปัจจุบันให้ดีพร้อม คือดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ พยายามสงบใจ สงบปาก สงบคำให้มาก อย่าตำหนิบุคคลอื่นว่าเลว ให้ดูกาย วาจา ใจของตนเอง อย่าให้เลวกว่าเขาเอาไว้เสมอ อย่ามองโทษ (เพ่งโทษ) บุคคลภายนอก ให้มองโทษอันเกิดขึ้นแก่กาย วาจา ใจของตนเองเป็นสำคัญ
|
๑๔.ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง หากมุ่งจักไปพระนิพพาน จักต้องรู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง รู้ว่ารูปมีลักษณะอย่างไร ให้รู้จริง ๆ มิใช่สักแต่ว่ารู้แค่สัญญา ให้รู้ด้วยการพิจารณารูปด้วยปัญญา และรู้จักการละรูปละนามนั่นแหละ จึงจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ แล้วให้หมั่นตรวจสอบจิตดูว่า บกพร่องในเรื่องบารมีหรือกำลังใจตรงไหนบ้าง ต้องให้รู้ต้องให้เห็นจุดบกพร่องจริง ๆ แล้วจึงจักแก้ไขได้ การแก้ไขก็จักต้องเอาจริง แก้ไขจริง ๆ ด้วย ความตั้งใจจริงจุดนั้นนั่นแหละ กำลังใจจึงจักเต็มได้ (วิริยะ - ขันติ – สัจจะโดยมีปัญญาคุม)
การปฏิบัติธรรมอย่าให้ได้แค่คำพูด.. นั่นไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงแค่สัญญา จักต้องสอบจิตให้ลึกลงไปโดยไม่เข้าข้างตนเอง แล้วจักเห็นความบกพร่อง คือจุดบอดของการปฏิบัติของตนเอง จุดนั้นเห็นแล้วให้รับความจริงแล้วจึงจักแก้ไขได้ |
๑๕. ข่าวใครว่าอย่างไรปล่อยให้เป็นเรื่องของข่าว อย่าไปสนใจกรรมของใครมากไปกว่าสนใจกรรมของตนเอง เพราะเวลานี้เป็นเวลาที่จักต้องเร่งรัดปฏิบัติเอาจริงกัน เพราะฉะนั้น จักต้องสำรวมกาย วาจา ใจของตนเองให้เต็มความสามารถ ใครจักนินทา – สรรเสริญใครที่ไหน หรือใครจักนินทา – สรรเสริญเรา ก็จงอย่าหวั่นไหวไปตามคำเหล่านั้น.. ปล่อยวางเสียให้หมด มามุ่งปฏิบัติเอาจริงกันเสียที ให้สอบจิตดูว่า ที่แล้ว ๆ มาเอาดีกันไม่ได้ เพราะความไม่เอาจริงคือขาดสัจจะบารมีกัน
เพราะฉะนั้น หากต้องการมรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ให้ตรวจสอบบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วน ว่าขาดตกบกพร่องตรงไหนบ้าง ? แก้ไขจุดนั้นนั่นแหละจึงจักไปได้ การสำรวจจิต สำรวจบารมี ๑๐ จงอย่าหลอกตนเอง มรรคผลอันใดได้หรือไม่ได้ให้ตอบตัวเองอย่างจริงจัง แล้วมุ่งแก้ไขอย่างจริงจัง ก็จักสำเร็จในมรรคผลนั้น อย่าทิ้งกรรมฐานแก้จริตทั้ง ๖ และอย่าทิ้งสังโยชน์ อย่าบกพร่องในบารมี ๑๐ เดินจิตอยู่ในศีล – สมาธิ – ปัญญา แล้วจักเข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย |
๑๖. ร่างกายของคนเรามีอายุขัยกันทุกรูป - นาม และต้องแตกดับทุกรูป – นาม อย่าประมาทในชีวิต อย่ามัวเมากับลาภ – ยศ – สรรเสริญ – สุขให้มากจนเกินไป หมั่นสร้างความดีในทาน – ศีล – ภาวนา ตัดโลภ – โกรธ – หลง ไปสู่พระนิพพานกันดีกว่า
อย่าไปมีอารมณ์ขุ่นมัวกับการกระทบ พยายามลงกฎธรรมดา กฎของกรรมให้มาก ๆ แล้วอย่าไปกำหนดลิขิตชีวิตของใคร เพราะแม้แต่ชีวิตร่างกายของตนเองก็ยังกำหนดไม่ได้เลย ทุกชีวิตมาตามกรรมแล้วก็ไปตามกรรม เพราะฉะนั้น อย่าไปยุ่งกับกรรมของใคร ให้มุ่งชำระกรรมของกาย วาจา ใจของตนเองให้บริสุทธิ์ ตัดกรรมให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมจิตเตรียมใจไปพระนิพพานดีกว่า |
๑๗. ให้ใช้เวลาพิจารณาร่างกาย อาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ให้มาก รวมทั้งเวทนาที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ของจิตด้วย จุดนี้จักได้ประโยชน์ของการปล่อยวางดับทุกข์ได้ และการพิจารณาจักต้องต่อเนื่อง นอกจากใช้อานาปานุสติคุมจิตแล้ว ให้ใช้สัจจานุโลมิกญาณย้อนไปย้อนมา พิจารณาธรรมภายนอกน้อมเข้ามาเป็นธรรมภายในบ้าง ทบทวนอารมณ์ตั้งแต่สมัยยังเป็นโลกียชนเข้ามาสู่อารมณ์ของพระโสดาบันบ้าง คือทบทวนสังโยชน์ไล่มา ตรวจสอบดูกาย วาจา ใจว่าบกพร่องตรงไหนบ้าง ตรวจบารมี ๑๐ ไล่มาตามลำดับบ้าง ตรวจสอบพรหมวิหาร ๔ บ้าง อย่าหยุดการพิจารณา ถามให้จิตตอบ ยังบกพร่องจุดไหนแก้ไขจุดนั้น แล้วจิตจักมีกำลังไปได้เร็ว
|
๑๘. ให้พิจารณาร่างกายนี้เป็นทุกข์ การละได้ซึ่งร่างกายนี้เป็นสุข สุขที่สุดคือ ทำให้แจ้งถึงซึ่งพระนิพพาน เหตุการณ์ภายนอกจักเป็นอย่างไร.. รู้แค่ให้รู้ไว้ แต่ให้พิจารณาธรรมภายใน คือการละซึ่งสักกายทิฏฐิ และละจากอุปาทานขันธ์ของตนเองเข้าไว้ให้ดี เห็นความสำคัญของการละได้ซึ่งกิเลสแห่งตนเป็นใหญ่ อย่าให้เหตุการณ์ภายนอกเข้ามาทำลายมรรคผลนิพพาน การเตรียมตนเพื่อความอยู่รอดแห่งภัยพิบัติ จักจากอุทกภัยก็ดี จากภัยสงครามก็ดี เตรียมได้เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต ถ้าหากยังอยู่ได้ก็เป็นการบรรเทาทุกขเวทนากันไป แต่ถ้าหากชีวิตจักสิ้น ก็ยังจิตให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน เหตุการณ์ข้างหน้าไม่เที่ยง เพราะกฎของกรรมย่อมลิขิตชีวิตของคนแต่ละคนเข้าไว้แล้วอยู่เสมอ เรื่องนี้พึงทำจิตเข้าไว้อยู่รอดก็ได้ ตายไปก็สบายดี
|
๑๙. ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ปล่อยวางขันธ์ ๕ ให้เห็นทุกอย่างเป็นของธรรมดา เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีสาระอันใดที่จักเกาะยึดเอามาเป็นสรณะได้ ให้พิจารณาจนจิตยอมรับความจริง จนจิตนิ่ง และเกิดความสุขอันเกิดขึ้นจากการยอมรับความจริงในการพิจารณานั้น ๆ ให้จำไว้เสมอว่า ร่างกายนี้มิใช่เรา เราไม่มีในร่างกาย กายนี้เป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกัน เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่กับความสกปรก ความเสื่อม แล้วในที่สุดก็ดับไป อย่าลืมทุกสิ่งทุกอย่างในไตรภพ มีเกิดขึ้นก็ต้องมีดับเป็นธรรมดา มีอยู่ที่เดียวเท่านั้นที่ไม่เกิดไม่ดับคือพระนิพพาน จงรักษากำลังใจอยู่จุดเดียวคือพระนิพพาน
|
๒๐. ไม่ต้องดิ้นรนถึงความตาย (อยากตายเร็ว อยากตายช้า) เพราะจักอย่างไรการมีร่างกายก็มีความตายไปในที่สุดอยู่แล้ว เพียงแต่กำหนดรู้ความเกิดความดับตามความเป็นจริง เตรียมพร้อมที่จักไปพระนิพพานให้ได้ทุก ๆ ขณะ แล้วสำรวมจิตอย่าให้มีความห่วงหรือกังวลในสิ่งใด ๆ ทั้งปวง พยายามตัดความกังวลออกไปให้ได้ ทุก ๆ ขณะจิตให้จำไว้ว่า ห่วงหรือกังวลด้วยเหตุใดแม้แต่นิดเดียว ก็ไปพระนิพพานไม่ได้
|
๒๑. ร่างกายเวลานี้มีทุกขเวทนา ก็ให้กำหนดทุกขเวทนานี้มิใช่ของจิต มันสักแต่ว่ามีอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้น พยายามรักษาอารมณ์ของจิตอย่าให้ปรุงแต่งไป ให้ตั้งมั่นเห็นสภาวะของขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง พิจารณาให้มากจักเกิดปัญญา หลีกเลี่ยงการคบกับคนมาก เพราะคุยกับคนมีกิเลส มักจูงจิตให้หวั่นไหวไปตามกิเลส แม้กระทั่งจักสนทนากันด้วยธรรมะ ก็ยังมีกิเลสเป็นเครื่องนำหน้า ให้ดูวาระจิตของตนเองเอาไว้ให้ดี
|
๒๒. ให้หมั่นพิจารณาร่างกายโดยเอนกปริยาย รวมไปถึงการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ โดยอาศัยร่างกายนี้เป็นต้นเหตุ ให้แยกส่วนอาการ ๓๒ ออกจักได้เห็นชัด ๆ ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา ไม่มีในใครทั้งหมด เพราะในที่สุดก็อนัตตาเหมือนกันหมด ดังนั้น จักมานั่งติดอยู่กับอารมณ์ชอบใจ ไม่ชอบใจ โดยอาศัยร่างกายเป็นต้นเหตุจักได้ประโยชน์อะไร
ให้ถามและให้จิตตนเองตอบตามความเป็นจริง แล้วในที่สุดจักละหรือตัดได้ ปล่อยวางได้ เหตุการณ์ของชีวิตประจำวันทั้งหมด ให้พิจารณาลงตรงทุกข์ตัวเดียว ยิ่งเห็นความเหนื่อยมากจากการทำงาน ก็จักเห็นความทุกข์เบียดเบียนจิตมากขึ้น จิตก็จักดิ้นรนหาทางออกมากขึ้นเท่านั้น อย่าลืม ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นอริยสัจ ผู้ใดเห็นอริยสัจ ผู้นั้นเห็นพระธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ร่างกายของตถาคตมิใช่พระพุทธเจ้า ความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม หรือจิตผู้ทรงธรรม |
๒๓. ร่างกายไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ให้พยายามพิจารณารูปขันธ์นามขันธ์ให้มาก พยายามตัดกังวลให้ได้เป็นระยะ ๆ แม้จักตัดไม่ได้เด็ดขาดก็ให้เพียรพยายาม ถามจิตตนเองดูเสมอ ถ้าละไม่ได้จักไปพระนิพพานได้อย่างไร ? การไปพระนิพพาน.. จักต้องละหมดในรูปในนามที่จิตของตนเองอาศัยอยู่นี้ และหมั่นกำหนดรู้รูปนามไม่มีในเรา เราไม่มีในรูปนาม พยายามตัดให้ได้ วางอารมณ์ให้ถูก แล้วความหนักใจในการตัดกิเลสก็จักเบาใจลงได้มาก เพราะเห็นช่องแนวทางจักพ้นทุกข์ได้อย่างชัดเจน เพียงแต่จักต้องฝึกตัวสติคือตัวรู้ให้ทรงตัวเข้าไว้ ใหม่ ๆ ก็เป็นสัญญา หนักเข้าพิจารณาให้จิตมันชิน ก็จักเกิดเป็นปัญญา.. ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้เอง
|
๒๔. ร่างกายนี้ไม่ใช่เราและไม่มีในใครด้วย ถ้าคลายห่วงร่างกายของตนเองได้ ก็จักพลอยคลายห่วงร่างกายของบุคคลอื่นได้เช่นกัน ให้พิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง บางครั้งแม้จักเผลอไปบ้าง ลืมไปบ้างก็เป็นของธรรมดา เรื่องของวจีกรรมก็เช่นกัน เผลอบ้าง ลืมบ้าง ก็ขอขมาแล้วพยายามตั้งต้นใหม่ ฝึกจิตควบคุมวาจาให้จงได้ ถ้าไม่ทิ้งความเพียร กาย วาจา ใจ ก็เรียบร้อยลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จักตัดสิ่งไหนก็จักมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางอยู่เสมอ เรื่องนี้ต้องให้เห็นเป็นของธรรมดา เพราะถ้าไม่มีข้อสอบ จักรู้ได้อย่างไรว่าสอบผ่าน จำเอาไว้ให้ดี
|
พระธรรม ในเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ สมเด็จองค์ปฐมฯ ทรงตรัสสอนปกิณกธรรม ในเดือนนี้ มีความสำคัญดังนี้ ๑. ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกันเท่านั้น อย่าไปคิดการมุ่งหวังอยู่รอดปลอดภัยของร่างกาย ให้หวังความอยู่รอดปลอดภัยของจิต กล่าวคือจิตที่ละความกังวลได้แล้วจากร่างกายนั่นแหละ.. เป็นความปลอดภัยของจิต ร่างกายที่เห็นอยู่นี้สักเพียงแต่ว่ารูปเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานรูปนี้ก็หมดไป ตายไป สลายไป หากจิตยังกำหนัด ตัดรูปไม่ได้ เมื่อร่างกายนี้มันพังแล้ว จิตก็จักแสวงหาภพหาชาติเป็นแดนเกิดต่อไป รูปเก่าดับไป.. รูปใหม่เกิดมา ก็ทุกข์เหมือนเก่า คือเกิดแล้วก็แก่ ก็เจ็บ มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความปรารถนาไม่สมหวัง แล้วก็มีความตายไปในที่สุด แล้วจิตที่ยังตัดรูปไม่ได้ การเกิดมากเท่าไหร่ก็พบกับความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น พิจารณาให้ดี ๆ รักษากำลังใจให้ตั้งมั่น อย่าท้อแท้ |
๒.ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา.. จุดนี้จักต้องย้ำและพิจารณาให้หนัก จักได้ไม่มีความหวั่นไหวเมื่อมรณภัยมาถึงร่างกาย การให้รู้การเกิดการดับของร่างกาย เห็นธาตุ เห็นสิ่งปฏิกูลของร่างกาย ก็เพื่อให้จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ที่มีร่างกายเกิดขึ้นอย่างนี้ เสื่อมอยู่อย่างนี้ แล้วในที่สุดก็ดับไปอย่างนี้
ขันธ์ ๕ อายตนะ สัมผัส เกิด เสื่อม ดับ อยู่ตลอดเวลา เห็นได้ด้วยตาปัญญาตามความเป็นจริง จิตไม่ต้องไปปรุงแต่งตามสังขาร จักเห็นได้ว่ามันเกิดแล้วมันก็ดับ ๆ อยู่ตลอดเวลา ให้จิตอยู่เฉย ๆ ตามรู้ก็จักเห็นสภาวะของขันธ์ ๕ ได้ตามความเป็นจริง กายจักทำงานอะไรก็ช่าง ให้จิตคอยดูอารมณ์ของจิตของตนเองอยู่ทุก ๆ ขณะจิต แล้วในที่สุดจิตก็จักเข้มแข็งขึ้นมาตามลำดับ คำว่าไม่เผลอก็จักเกิดขึ้นได้ที่ตรงนี้ แล้วคำว่าจบกิจในพระพุทธศาสนาก็จักเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง |
๓. เรื่องของร่างกายมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่มีใครเป็นที่พึ่งของใครในแง่ของร่างกายไปได้ตลอดกาลตลอดสมัย เพราะในที่สุดก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายกันทั้งสิ้น อย่าไปหวังพึ่งอันใดกับร่างกาย ให้พิจารณาร่างกายของตนเองให้ดี แล้วจักเข้าใจตามความเป็นจริงว่า แม้แต่ร่างกายของตัวเราเองก็ยังหวังพึ่งอันใดมิได้ พิจารณาไปเถอะ จักพบว่าร่างกายที่อาศัยอยู่นี้พังแน่นอน แม้โลกนี้ทั้งโลกก็พังหมด ไม่มีอะไรเหลือ ให้พิจารณาตามความเป็นจริง จักเห็นความยึดถืออะไรไม่ได้เลย
|
๔. คนเรียนมากรู้มาก มิใช่ว่าจักตัดกิเลสได้มากหรอกนะเจ้า เพราะการเรียนการรู้ คือการจำวิชาต่าง ๆ ด้วยสัญญา.. ยังมิใช่ปัญญา คือการคิด พิจารณาใคร่ครวญ.. เรื่องของร่างกายหรือขันธ์ ๕ ไปตามความเป็นจริง แล้วละ ปล่อยวาง ตัดได้ซึ่งกิเลส นั่นแหละจึงจักปฏิบัติได้จริง
ถ้าได้แต่ความรู้.. จำเอาไปพูด เอาไปคุย นั่นยังไม่ใช่ของจริง รู้ตามปริยัติหรือผู้เรียนพระไตรปิฎก รู้มากแต่ไม่นำไปปฏิบัติ เอาแต่ความรู้ไปพูด ก็ไม่เกิดผลประโยชน์กับจิตของตนแม้แต่นิดเดียว การรู้มากโดยไม่ปฏิบัตินี่แหละ ทำให้บุคคลผู้นั้นมีมานะกิเลสมาก การรู้นั้นเป็นของดี แต่ต้องนำการรู้นั้นไปปฏิบัติให้เกิดในกาย วาจา ใจของตนด้วย จึงจักเป็นของจริง |
๕. เรื่องสุขภาพร่างกายพึงระมัดระวังเอาไว้บ้าง เพราะชีวิตยังไม่สิ้น จิตยังจักต้องอาศัยร่างกายนี้อยู่เพื่อประกอบความดี เพื่อยังจิตให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานให้ได้ในชาติปัจจุบันนี้ ในขณะที่ยังมีร่างกายนี้อยู่ ก็พึงไม่เบียดเบียนร่างกายของตนเองด้วย และไม่มัวเมาในความสุขความทุกข์อันเกิดขึ้นแก่ร่างกายของตนเอง หรือสุข – ทุกข์ของบุคคลอื่นด้วย โจทก์จิตตนเองไว้เสมอ เตรียมพร้อมที่จักวางทุกสิ่ง ลด ละ เพื่อจุดสุดท้ายของชีวิตเข้ามาถึงร่างกาย อย่าให้จิตติดกังวลแม้แต่นิดหนึ่งในสิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตตั้งมั่นอยู่ที่เดียวคือพระนิพพาน จุดนั่นแหละเจ้าจักได้ที่พึ่งของจิตอย่างแท้จริง ไม่ต้องไปเกิดไปตายที่ไหนอีก
|
๖. ร่างกายนี้เมื่อวิญญาณไปปราศแล้ว (จิตวิญญาณออกจากร่างกายแล้ว) ก็เสมือนหนึ่งท่อนไม้ที่ถูกทับถมลงพื้นปฐพี บุคคลใดจักให้จิตเป็นสุข ก็จงพิจารณาร่างกายอันยังมีลมหายใจอยู่นี้ ให้มีความรู้สึกเสมือนซากศพอยู่ตลอดเวลา (แต่จิตไม่เศร้าหมอง) เพราะโดยนัยแล้ว ร่างกายนี้ทำการสลายตัว.. ทรุดโทรมไปสู่ความตายทุก ๆ ขณะจิต แต่ที่ยังเห็นอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยสันตติที่สืบเนื่องต่อกันไม่ขาดสาย
บุคคลใดเห็นความเกิดตายของร่างกายอยู่อย่างนี้ บุคคลนั้นย่อมจักมีความไม่ประมาทในชีวิต และพยายามทรงจิตอยู่ในความดี จงสังวรไว้ว่า การมีร่างกายอยู่นี้เป็นการอยู่กับความตายทุก ๆ ขณะจิต ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง และความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย อย่าคิดไปว่าเบื้องหน้าในอนาคตเราจึงจักตาย ให้รู้สึกไว้เสมอว่าเราอาจจักตายเดี๋ยวนี้เข้าไว้เสมอ เพราะคนที่ตายก็ตายอยู่ในขณะจิตนี้ คือในปัจจุบันธรรมเท่านั้น |
๗.การจักปฏิบัติแก้กิเลสจุดไหน ให้ระวังกิเลสจุดนั้นจักเล่นงานอย่างหนัก เรื่องนี้ต้องศึกษากันให้มาก และอย่าท้อถอยต่ออุปสรรค ให้ยกบารมี ๑๐ ขึ้นมาเป็นกำลังใจ เพียรปฏิบัติเพื่อลด ละ ตัดกิเลสเหล่านั้นไปนั่นแหละจึงจักพ้นไปได้ อดทนให้มากกับภัยจากภายนอกที่เข้ามากระทบจิตใจ หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ถือว่าเป็นกฎของกรรม จงมีความวางเฉยเข้าไว้เสมอ อย่าไปต่อกรรมให้มันยืดยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด อย่าไปแก้ปัญหาที่ผู้อื่น.. ให้แก้ที่ตนเองเสมอ แล้วจิตจักรู้หนทางให้หลุดพ้นออกจากความทุกข์ของจิตได้
|
๘.เรื่องการทำความดี อุปสรรคย่อมมีมากเป็นธรรมดา แต่จงอย่าหวั่นไหว ให้เห็นเป็นเรื่องโลกธรรม โดยเฉพาะคำนินทากับสรรเสริญ ซึ่งมิได้ช่วยให้เราเลวเราดีไปตามนั้น เราจักเลวหรือดีก็อยู่ที่ผลของการปฏิบัติธรรมของเราเอง
ให้จิตหันมาสนใจเตรียมพร้อมรับสภาวะของการตายอยู่เสมอ อย่าไปสนใจเรื่องภายนอกให้มากนัก ทุกอย่างเหมือนกับละครฉากหนึ่ง ละครของโลกมีโศก – มีทุกข์ – สุขปน ในที่สุดทุกคนต่างก็ไม่พ้นความตาย มันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ให้จิตกำหนดรู้เท่าทันเข้าไว้เสมอ เรื่องการละซึ่งกิเลส – ตัณหา – อุปาทาน – อกุศลกรรม จิตเราเท่านั้นเป็นผู้รู้ว่าละได้มากน้อยแค่ไหน ให้ระวังอย่าให้กิเลสมันหลอกเรา ตรงที่เรายังละไม่ได้จริงแต่จิตหลงคิดว่าได้แล้ว ให้ระมัดระวังจุดนี้เอาไว้ให้ดี |
๙. ไม่มีใครเอาสมบัติของโลกนี้ไปได้ก็จริงอยู่ แต่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจัย ๔ ก็เป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต คนมีที่ดินก็จงอย่าคิดขายเสียหมด ถ้าไม่จำเป็นก็จงอย่าเพิ่งขาย เพราะหลังจากนี้ไปอีก ๓ – ๔ ปี คนมีที่ดินจักเป็นเศรษฐีจากราคาที่ดิน จักมีค่ามาก
คำว่าเตรียมการอยู่ในระดับของคฤหัสถ์นั้นพึงมีได้ เป็นการไม่ประมาทในชีวิต แต่จิตพร้อมที่จักละ – วางในสมบัติของโลกได้ทันที เพราะรู้อยู่กับจิตเสมอว่า แม้ร่างกายที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราวนี้ เป็นสมบัติของโลกที่เราหวงแหนเป็นที่สุด เราก็พร้อมที่จักละ – วางได้ทันทีเมื่อความตายมาถึง ขอให้พวกเจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ทั้งยามมีชีวิตอยู่และหาไม่ในชีวิตแล้ว พิจารณาจุดนี้เข้าไว้ให้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าสะสมจนเกินความพอดีในปัจจัย ๔ ก็แล้วกัน เอาแค่มีไว้ใช้ในยามฉุกเฉินด้วยความไม่ประมาทก็พอแล้ว |
๑๐. ร่างกายมันไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงเกิดขึ้นชั่วคราว – ตั้งอยู่และดับไป ร่างกายของใครก็ตาม เกิดขึ้นมาแล้วไม่ตายไม่มี ให้ทำจิตให้ยอมรับนับถือความตายให้มั่นคง ตายนั้นตายแน่ ไม่มีใครหนีพ้น จิตจึงต้องซ้อมตายและพร้อมตายอยู่เสมอ รู้ลม – รู้ตาย – รู้นิพพาน ตายแล้วจิตเราก็ไปพระนิพพาน จึงไม่ควรกลัวความตาย จงอย่าประมาทในชีวิตก็แล้วกัน ดังนั้น..ให้พิจารณามรณานุสติควบอุปสมานุสติให้มาก กรรมฐานบทนี้ทิ้งไม่ได้ ทิ้งเมื่อไหร่ลืมตัวเมื่อนั้น ประมาทเมื่อนั้น และอารมณ์จิตจักเลวเมื่อนั้นด้วย
|
๑๑. ให้ดูร่างกายที่ไม่เป็นแก่นสารและหาความเที่ยงไม่ได้ นอกจากจักต้องหายา – หาอาหาร – หาเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัยให้แล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดกระทบอารมณ์ทั้งหลาย พอใจบ้าง – ไม่พอใจบ้าง ทำให้จิตขาดความสงบ ต้นเหตุล้วนเกิดขึ้นจากร่างกายเป็นเหตุ ดังนั้นการจักละได้ซึ่งร่างกาย ต้องมองเห็นโทษของการมีร่างกายเอาไว้ด้วย
|
๑๒. ให้พิจารณาโทษของอายตนะภายนอก ทำให้เกิดอารมณ์ติดรูป – กลิ่น – เสียง - สัมผัส – ธรรมารมณ์ แล้วให้เห็นโทษของการติดอายตนะภายใน ตา – หู – จมูก – ลิ้น – กาย – ใจ เห็นอารมณ์พอใจและไม่พอใจ ชวนให้เกิดอยู่ร่ำไป พยายามละให้ได้ ปล่อยวางให้ได้ ใช้ปัญญาหยั่งลึกลงไป แล้วจึงจักออกจากรูป – นามได้
|
๑๓.ชีวิตล่วงไป ๆ ความตายก็ใกล้เข้ามา ขอจงอย่ามีความประมาทในชีวิต คิดเอาไว้เสมอว่า ความตายจักเข้ามาถึงในขณะจิตนี้ไว้ตลอดเวลา แล้วดูความโกรธ – โลภ – หลงน้อยลงหรือไม่ ? ในเมื่อร่างกายนี้จักตายแล้ว จักไปมัวนั่งโกรธ – โลภ - หลงเพื่อประโยชน์อะไร ?
จิตนั้นรู้แสนรู้ว่า ไฟภายใน ๓ กอง หรือขี้ ๓ กองนี้มันไม่มีอะไรดี แต่จิตก็ยังหวงขี้ ๓ กองนี้อยู่ ไม่ยอมละ – ปล่อย – วาง เพราะขาดปัญญา หากไฟ ๓ กองนี้ยังมีอยู่กับจิต จิตนั้นก็โง่ทุกที มันทำปัญญาให้ถอยหลังอยู่เสมอ หรือโง่ทุกครั้งที่ไฟลุก หากยังผ่านจุดนี้ไม่ได้ ก็คงยังต้องเกิด – ตาย กันอีกต่อไปไม่รู้จบ วิธีปฏิบัติเพื่อละ ปล่อยวางอารมณ์ทั้ง ๓ นี้ ก็รู้อยู่คือ ทาน – ศีล – ภาวนา หรือ ศีล – สมาธิ – ปัญญา แต่ขาดความเพียร ที่พึ่งอันสุดท้ายอยู่ที่ตัวเราเอง หากเราไม่พยายามก็ไม่มีใครจักช่วยเราได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นเพียงผู้ชี้แนะทางปฏิบัติให้เท่านั้น เราจักต้องเพียรปฏิบัติด้วยตนเองจึงจักมีผล กรรมใครกรรมมันทั้งสิ้น |
๑๔. ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ให้เห็นความตายอยู่เป็นปกติ ทุกชีวิตเหมือนกันหมด มีเกิดเป็นเบื้องต้น มีเสื่อมเป็นท่ามกลาง มีความตายเป็นที่สุด พยายามฟอกจิต อย่าให้ยึดถือร่างกายของตนเองหรือของใคร ๆ ทั้งหมด ให้จิตมีสติตั้งมั่นเข้าไว้ ให้รู้เข้าไว้ แล้วจิตจักเป็นสุข
พิจารณาจุดนี้ให้มาก ๆ แล้วจักวางภาระที่หนักใจอยู่ในเวลานี้ลงไปได้มาก คนทำกรรมมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น ทำดีก็ตาย ทำไม่ดีก็ตาย แต่ให้มีสติระลึกไว้เสมอว่า เราจักทำเพื่อพระนิพพานเอาไว้เสมอ จักได้ไม่ตั้งจิตไปไหนอื่น ซึ่งจัดเป็นความเลวของจิต รู้แล้วให้รีบกลับมาสู่หนทางของศีล – สมาธิ – ปัญญาโดยไว รักษาอารมณ์เพื่อพระนิพพานเข้าไว้ให้ได้เสมอ |
๑๕.ให้มองเห็นกายในกายอยู่เนือง ๆ เช่น เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ปอด หัวใจ พังพืด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารเก่า อาหารใหม่ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เปลวมัน มันข้น น้ำมูก ไขข้อ เยื่อในกระดูก น้ำตา น้ำลาย ต่าง ๆ เหล่านี้มองให้คล่อง เห็นให้ชัด แล้วจักเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายของตนเองและผู้อื่น คลายความกังวลในร่างกายของตนเองและผู้อื่นลงได้ มีแต่ทางนี้สายเดียวเท่านั้นที่จักหลุดพ้นไปได้
การปฏิบัติละขันธ์ ๕ ก็จักต้องพิจารณาขันธ์ ๕ อย่างจริงจัง จักต้องรักษากำลังใจ ทำให้การพิจารณาขันธ์ ๕ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป โดยใช้บารมี ๑๐ ช่วย มีวิริยะ ขันติ สัจจะ โดยมีปัญญาบารมีเป็นตัวคุมเป็นสำคัญ |
๑๖. นอกจากพิจารณาเรื่องของร่างกายแล้ว.. ให้พิจารณาจิตใจของตนเองด้วย ร่างกายสักเพียงแต่ว่าร่างกาย จิตใจก็สักแต่เพียงว่าจิตใจ ทำงานร่วมกันแต่คนละอย่าง.. ไม่ใช่อย่างเดียวกัน พิจารณาแยกกันตรงนี้ให้ดี โดยใช้หลักของมหาสติปัฏฐาน ๔ มีสติกำหนดรู้อยู่กับกาย เวทนา จิตและธรรม
สองตัวแรกเป็นเรื่องของกายหรือกายสังขาร สองตัวหลังเป็นเรื่องของจิตหรือเจตสิก (อารมณ์ของจิต) หรือจิตสังขาร ทั้งกายและจิตต่างก็ไม่เที่ยง เกิดดับ ๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติ ผู้รู้หรือผู้ไปรู้เรื่องของกายและอารมณ์ของจิตคือตัวเรา (ใจ) เป็นผู้รู้สันตติภายนอก (กายสังขาร) กับสันตติภายใน (จิตสังขาร หรืออารมณ์ของจิต หรือเจตสิก) ผู้รู้คือใจ |
๑๗. ร่างกายไม่มีแก่นสารอันควรที่จักยึดมั่นถือมั่นตามความรู้สึกก็จริงอยู่ แต่เมื่อพวกเจ้ายังมีกิเลสอยู่ เมื่อพิจารณาไล่อารมณ์ที่ยังมีกิเลสอยู่ ไล่ไปไล่มาก็ยังไปติดอยู่กับร่างกายอยู่ดี เลยทำให้รู้สึกท้อใจเพราะขาดปัญญาบารมี จึงไม่รู้จักปลดความเกาะติดในร่างกายให้ได้ ความจริงก็คือยังอ่อนการพิจารณาร่างกาย และยังอ่อนการพิจารณาอารมณ์ ให้สอบให้ลึก ๆ จักพบต้นเหตุของการเกาะติด อย่าทิ้งอริยสัจ กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุก็แล้วกัน
การพิจารณาจงมุ่งเน้นดูร่างกายของตนเองเป็นสำคัญว่ามันมีอะไรดีบ้าง ? มันใช่เราหรือไม่ ? ตายแล้วเอามันไปได้ไหม ? เรายังปรารถนาร่างกายอย่างนี้อีกหรือไม่ ? อยากให้ร่างกายมันทรงตัวไหม ? ยังอยากจักมีร่างกายอยู่อีกไหม ? ถามให้จิตมันตอบแล้วพิจารณาอารมณ์เกาะติด จิตยังโลภอะไรอยู่หรือไม่ ? จิตยังหลงติดอันใดอยู่หรือไม่ ? จิตยังโกรธ ไม่พอใจอะไรอยู่หรือไม่ ? สอบเข้าไปให้ได้ความจริง นั่นแหละจึงจักตัด ละ วางได้ |
๑๘. ทำจิตให้เหมือนดูหนังดูละครผ่านไปแล้วก็ผ่านเลย หรือทำจิตให้เหมือนกระจกเงา อะไรผ่านเข้ามาก็เห็นหมด แต่เมื่อเลยไปแล้วกระจกเงาก็ไม่ได้ยึดภาพเหล่านั้นไว้เลย จำไว้.. จงเป็นเพียงผู้ดู ที่แล้ว ๆ มาพวกเจ้าลงไปแสดงร่วมกับเขาด้วย จึงเป็นการขาดทุนอย่างยิ่ง
อยู่ในโลกไม่มีใครพ้นจากโลกธรรม ๘ ไปได้ พระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ทุกองค์ก็ดี ยังถูกนินทาใส่ร้ายป้ายสี แล้วพวกเจ้าเป็นใคร ทำไมจักไม่ถูกใส่ร้ายป้ายสี ให้มองเห็นว่ามันเป็นธรรมดาของชาวโลก จิตก็จักปล่อยวางโลกธรรมนี้ลงได้ และให้รู้กฎของกรรม ให้ยอมรับนับถือกฎของกรรม อย่าไปตำหนิใครว่าเลวหรือชั่ว นั่นเป็นเพราะอกุศลกรรมเข้าครอบงำ จิตเขาเห็นดีอย่างนั้น จึงทำไปตามอำนาจของกรรมที่เป็นอกุศล กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ ใครทำอย่างไรย่อมได้อย่างนั้น หากพวกเจ้ามิได้เคยสร้างกรรมเหล่านี้ไว้ก่อนในอดีต วิบากกรรมนั้นจักเกิดกับพวกเจ้านั้นเป็นไปไม่ได้ ขอให้อดทน ไม่ช้ากฎของกรรมก็ย่อมจักคลายตัวไปเอง โลกเสื่อมมากเท่าไหร่ ทุกข์ก็มากขึ้นเท่านั้น แต่อย่าพึงห่วงวิตกกังวลให้มาก รักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุขอยู่ในปัจจุบันดีกว่า เตรียมพร้อมด้วยความไม่ประมาท ซ้อมตายเอาไว้เสมอ รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน พลาดท่าขึ้นมาจักได้ทิ้งร่างกายไปพระนิพพานได้ทันท่วงที |
๑๙. ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ให้จิตทำความรู้เช่นนี้เอาไว้เสมอ แล้วให้พิจารณาไปถึงสิ่งภายนอก คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็ไม่ใช่ของเราเช่นกัน มันเป็นเพียงสภาวธรรม จักยึดถืออันใดให้เที่ยงได้ โลกธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ เกิดแล้วก็ดับ เอาอะไรจีรังยั่งยืนไม่ได้ ให้ตรวจสอบจิตของตนเองดู เกาะติดข้อไหนมากที่สุด ก็จงเพียรละซึ่งข้อนั้น อนึ่ง ทุกคนในเวลานี้นั้น ล้วนแต่มีกรรมที่เป็นอกุศลเข้ามาเล่นงาน ขอให้อดทนเข้าไว้ จนกว่ากฎของกรรมจักถึงเวลาคลายตัวลงไปเอง
|
๒๐. อย่าเพ่งโทษบุคคลผู้อื่น ให้ดูแต่อารมณ์จิตของตนเอง ใครดีใครชั่วก็เรื่องของเขา ดูอารมณ์จิตของตนเอง อย่าไปดีไปชั่วกับชาวบ้านเขา จิตของเรายังเอาดีไม่ได้ จักไปให้คนอื่นเขาดีได้อย่างไร อย่าลืม ความดีที่สูงสุดคือพระนิพพาน ฆราวาสยังมีลมหายใจอยู่ยังเอาดีไม่ได้ แล้วยังไปว่าคนอื่นเขาว่าเลว นั่นแสดงว่าเราก็ไปเลวตามเขา
อย่าลืม.. คนดีเขาไม่ด่าคน ไม่เสียดสีคน ไม่นินทาคน อย่าไปห่วงใครว่าทำให้อารมณ์ใจของเรามันเลว ตัวเราจิตเรามันไม่ดีเอง ที่ไปเก็บเอาคำสรรเสริญคำนินทานั้นมายึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ลองทำให้จริง ๆ ซิ พิจารณาร่างกายไปตามความเป็นจริง ให้จิตมันมีสติระลึกได้อยู่เสมอ อะไรที่จักมาเป็นเราเป็นของเรานั้นไม่มี ที่ไปหลงยึดอยู่ก็เพราะความโง่นั้นเอง |
ปกิณกธรรม...เดือนเมษายน ๒๕๔๐ สมเด็จองค์ปฐมฯ ทรงตรัสสอนปกิณกธรรม ธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำไปสู่ความหลุดพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น มีความสำคัญดังนี้ ๑. ร่างกายที่ไม่มีแก่นสารอยู่นี้ เป็นเครื่องผูกสัตว์ให้หลงใหล ยึดเป็นอัตตาตัวตนเราเขา โดยไม่รู้ความจริงว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเป็นบ่วงล่อให้จิตของสัตว์โลกหลงติดอยู่ในรูปในนามนี้ หรือแม้กระทั่งหลงอยู่ในกายพรหม – เทวดา – นางฟ้า ก็ยังเป็นการยึดมั่นถือมั่นอยู่ดี ถ้าต้องการพ้นจากเครื่องผูกสัตว์ก็จักต้องพิจารณาร่างกายให้หนัก รูปสักแต่ว่ารูป นามอันได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็สักแต่ว่านาม อย่าลืมว่าการดูรูป เพิกรูปอย่างเดียวไม่พอ เพราะรูปเกิดดับมากี่ภพกี่ชาติแล้วก็ยังจุติอยู่ ยังมีนามพาให้ปฏิสนธิหรือจุติอยู่ร่ำไป จักต้องพิจารณานามให้หนักด้วย ทำความรู้จักรูปให้จริงจัง ทำความรู้จักนามให้จริงจัง แล้วปล่อยวางให้หมด นั่นแหละจึงจักถึงซึ่งพระนิพพานได้ และจงอย่าทิ้งอานาปานุสติ สมถะจุดนี้ทำให้จิตทรงตัว |
๒. ให้ดูอารมณ์ที่เกิดดับ จักทุกข์ก็ดี จักสุขก็ดี มันไม่มีอะไรเที่ยง จิตถ้าปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้น ไม่เกาะไม่ยึดเอาไว้ ทุกข์ – สุขก็เพียงแต่เกิดขึ้น – ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเท่านั้น หาสาระอะไรไม่ได้ พิจารณาให้เห็นเวทนา – สัญญา – สังขาร – วิญญาณให้ชัด แล้วจึงจักปล่อยวางได้ ดูได้ทั้งวัน ไม่ว่ายืน – เดิน – นั่ง – นอน ขอเพียงแต่ให้มีสติกำหนดรู้ตามดูอารมณ์ทั้งวันก็แล้วกัน เมื่อวางการพิจารณาก็อย่าลืมกำหนดรู้อานาปานุสติด้วย จุดนี้สำคัญมาก เพราะจักทำให้จิตทรงตัวและระงับเวทนาของกายได้บางขณะ
|
๓. การป่วยเจ็บของร่างกาย สาเหตุมาจากกฎของกรรม ปาณาติบาตเข้ามาแทรกอย่างหนึ่ง และเป็นธรรมดาของร่างกายที่มีธาตุ ๔ มาประชุมกันอันไม่เที่ยงอีกอย่างหนึ่ง เช่น โรคหิวเป็นต้น นี่แหละให้เห็นโทษของการมีร่างกาย อันมีเกิดเป็นเบื้องต้น มีเสื่อมไปในท่ามกลาง และที่สุดก็คืออนัตตาได้แก่ตายไปในที่สุด ร่างกายของใครหรือแม้แต่ของเราก็เป็นอย่างนี้ อย่ามุ่งหวังการอยู่รอดหรือทรงตัวของร่างกาย ให้เอาความจริงของร่างกายเตือนจิตของตนเองไว้เสมอ (เช่นวิปัสสนาญาณ ๙ ข้อที่ ๑ - ๒ – ๓ และ ๔) จิตจักได้ไม่เหลิงยึดมั่นถือมั่นในร่างกายจนเกินไป
|
๔. ให้คอยดูจิต คือตรวจดูอารมรณ์ของจิตโดยมีสติ - สัมปชัญญะควบคุม อันจะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของกิเลสได้ชัด จุดนี้แหละที่พึงจักสนใจให้มาก เพราะจิตเห็นจิตคือมรรค การเห็นหนทางพ้นทุกข์ก็อยู่ที่จิตดวงนี้ ถ้ามัวแต่ไปมองคนอื่น ไปสนใจจริยาของผู้อื่นก็เอาดีไม่ได้ แต่ถ้าหากตรวจจิตสอบจิต สอบอารมณ์ของตนเองอยู่เสมอ จุดนี้เอาดีได้ เพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ ทุกอย่างสำเร็จที่ดวงจิตนี้
อันจักทำอย่างไรให้จิตเป็นจิตผู้รู้ เห็นแจ้งตามความเป็นจริง มิใช่เป็นจิตผู้โง่เขลา หลงอยู่ในวัฏสงสารเช่นทุกวันนี้ จักต้องพิจารณาตามความเป็นจริงให้มากแล้วจักพ้นทุกข์ได้ จำไว้..โลกแก้ไม่ได้ ให้แก้ที่จิตของตนเอง เพื่อให้พ้นไปเสียจากโลกนี้จักดีเสียกว่า เพราะนั่นเป็นหนทางที่ถูกต้องและไปเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง |
๕. บัณฑิตคือผู้รู้ ย่อมรู้จักเอาตัวเองรอดก่อน จึงจักไปโปรดบุคคลอื่นให้รอด พระตถาคตเจ้าเป็นแบบฉบับทุก ๆ พุทธันดร ทรงปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ก่อน จึงค่อยออกโปรดเวไนยสัตว์ แก้จิตของตนให้หลุดออกจากบ่วงกามตัณหา - ภวตัณหา - วิภวตัณหา หลุดจากรัก - โลภ - โกรธ - หลง จึงนำผลของการปฏิบัติอันได้แล้วกับจิตของตนเอง ออกมาเผยแพร่ประกาศเป็นสัจธรรม คือคำสั่งสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น พระอริยสงฆ์สาวกอันเป็นบัณฑิต ผู้รู้ตามก็รับหน้าที่เป็นพุทธบุตรสืบทอดตลอดกันมา จนกว่าจักสิ้นวาระของอายุพระพุทธศาสนาในแต่ละพุทธันดร
บุตรของตถาคตมี ๔ เหล่า คือ ภิกษุ - ภิกษุณี - อุบาสก - อุบาสิกา เวลานี้ภิกษุณีหมดไปจากพุทธันดรนี้ แต่จักมีเหล่าเดียรถีย์อ้างขึ้นมาให้มีภิกษุณีให้ได้ คงเหลือแต่ ภิกษุ - อุบาสก - อุบาสิกา อันการเข้าถึงพระพุทธศาสนาก็สุดแล้วแต่การปฏิบัติของแต่ละคน กรรมคือการกระทำขึ้นอยู่กับบารมี คือกำลังใจของแต่ละคนนั้น ๆ ทุก ๆ พุทธันดรก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่มีใครทำแทนกันได้ ทุกคนมีกรรมคือการกระทำเป็นของตนเองทั้งสิ้น ผู้ใดหมั่นตรวจสอบศีล - สมาธิ - ปัญญา หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยจิตของตนเอง มิใช่ไปตรวจที่ผู้อื่น ผู้นั่นย่อมมีพระนิพพานเป็นที่ไป และผู้นั้นแหละเป็นลูกตถาคตอย่างแท้จริง อะไรมากระทบ... อายตนะยังมีก็ต้องรับรู้ นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ให้หมั่นเอาเหตุที่มากระทบนั้น.. พิจารณาให้เข้าสู่ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปล่อยวางให้ได้ด้วยปัญญา อย่าไปแก้โลก ให้แก้ที่จิตของตนเอง แล้วจักถึงฝั่งพระนิพพานได้ง่าย |
๖. ดูร่างกายให้ถนัด มีใครเป็นเจ้าของร่างกายได้ตลอดกาลตลอดสมัยไหม ? บุคคลผู้หลงติดอยู่กับร่างกาย ตายแล้วก็เกิดแสวงหาร่างกาย แสวงหาภพ - ชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จงพยายามมองให้เห็นชัดว่า อันที่จริงนั้นจิตติดอะไรแน่ ถ้าหากมองไม่เห็นก็แก้ไม่ได้ จักต้องพยายามสำรวจจิตของตนให้เห็นชัดอยู่เสมอ จึงจักสมบูรณ์ด้วยสมาธิ คือความตั้งใจมั่นที่จักสอบจิต และมีปัญญามองเห็นทุกอย่างที่จิตไปติดนั้นตามความเป็นจริง จุดนั้นแหละจึงจักละกิเลสได้เป็นสมุจเฉทปหาน
|
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:09 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.