![]() |
ถาม : ......ธรรมภายในคือโพชฌงค์ ?
ตอบ : เป็นสติที่ดำเนินไปภายในหรือดำเนินไปภายนอก แบบเดียวกัน ก็เราจะดูว่าเราจะดูที่ไหน ดูที่ยึดโยงกับร่างกาย การที่ร่างกายไปกระทำ อย่างเช่น การเคลื่อนไหวอิริยาบถอะไรต่าง ๆ หรือว่าเราจะดูสภาพจิตที่ดำเนินไปภายใน จะว่าไปแล้วที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เป็นสิ่งที่ละเอียดเกินไปเสียด้วยซ้ำ เพราะย้ำแล้วย้ำอีก กว่าอาตมาจะเขียนมหาสติปัฏฐานสูตรเสร็จนี่เป็นเล่ม ๆ เลย เพราะว่าเป็นสูตรเดียวที่อ่านไม่จบ อ่านแล้วอยากวางมือไปปฏิบัติ อ่านกี่ครั้งก็อ่านไม่จบ คราวนี้จะทำอย่างไร พอดีว่าสอบนักธรรมเอก ตอนนั้นมาลาเรียกำเริบอาตมาก็ไม่รู้ เพราะหมอบอกว่าเป็นไวรัสลงตับ เรี่ยวแรงจะนั่งยังไม่มี จะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านหนังสือ จะสอบอยู่วันสองวันแล้ว ท้ายสุดก็เลยบนพระท่าน ว่าถ้าสอบได้จะเขียนมหาสติปัฏฐานสูตรด้วยลายมือตัวเอง เป็นการบังคับว่าต้องอ่านให้จบ คราวนี้เวลาเขียนจะเขียนย่อไม่ได้ ต้องเขียนเต็ม ที่ท่านย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในบาลีที่เขาแปลมา เขาจะตัด ๆ ลงไปยาลน้อยเอาไว้เป็นตัวย่อ อาตมาต้องไปเขียนเต็มทั้งหมด มันในชีวิตมากเลยช่วงนั้น นี่เฉพาะแค่บาลี ถ้าแปลไทยด้วยตายแน่ ท่านบอกว่า อิติ อัชฌัตตังวา พะหิทธาวา เห็นภายในบ้าง เห็นภายนอกบ้าง บอกชัดเลย แต่ท้ายที่สุดก็สรุปตรงที่ว่า นะ จะ กิญจิ โลเก อุปาทิยะติ เราไม่ควรยึดอะไร ๆ ในโลกนี้ |
ถาม : สมาธิที่ไม่มีนิมิต คือ ?
ตอบ : ไม่อาศัยสิ่งอื่นเป็นเครื่องยึดโยง เอาแค่ความสงบภายในเท่านั้น เขาเรียกสมาธิที่ไม่มีนิมิต |
ถาม : ทำบุญกับสมเด็จองค์ปฐมส่งผลเร็วมากเลยค่ะ ตอนสุดท้ายเจอกับตัวเอง มีงานเรียกให้ทำทั้งเดือน ก็เป็นเรื่องแปลก ?
ตอบ : พุทธานุภาพไม่มีประมาณอยู่แล้ว สำคัญตรงที่ว่าเรามีศรัทธาเลื่อมใสขนาดไหน |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ความเข้าใจตอนแรก ก็คือ ทองผาภูมิมีคนต่างด้าวเยอะมาก น่าจะเป็นมอญ เป็นพม่า เป็นทวาย เป็นกะเหรี่ยง ปรากฏว่าวันตรุษจีนมีแต่เสียงประทัดรอบวัดเลย เดินบิณฑบาตก็ได้ยินแต่เสียงประทัด แล้วญาติโยมเปิดบ้านใส่บาตรกันมากผิดปกติ ส่วนใหญ่รอกันตั้งแต่ฟ้าไม่ทันสว่าง แต่ปีหนึ่งใส่ครั้งเดียว ใส่เฉพาะวันตรุษจีน..!
หลายบ้านมีการเซ่นไหว้แม่ย่านางรถ มีการจัดโต๊ะข้าวปลาอาหาร บางบ้านใช้วิธีติดเครื่อง เปิดไฟด้วย ในความรู้สึกของอาตมาสรุปว่าพระสงฆ์กับรถราคาเท่ากัน เขาไหว้พระแล้วก็ใส่บาตร และเขาไหว้รถแล้วก็เซ่นโต๊ะใหญ่กว่าที่ใส่บาตรพระอีก นั่นทั้งโต๊ะเลยนะ..ส่วนพระเขาใส่ถุงเดียว..! เดินไปก็นึกขำ ๆ ว่า บ้านเราเป็นเมืองพุทธศาสนา แต่บุคคลกลับเหมือนกับฮินดู คือถือเทวดาเป็นใหญ่ ไหว้เจ้า ไหว้แม่ย่านางรถ ลองสังเกตดูในระยะหลัง ๆ วัดวาอารามหลายแห่งมีเทพเจ้าของฮินดูไปสถิตอยู่อย่างสง่างาม อย่างเช่น มีศาลพระพรหม มีตรีมูรติ มีพระพิฆเณศวร์ ในเรื่องของเทวดาเราจะเคารพกราบไหว้ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเป็นเทวตานุสติ แต่ถ้าไม่ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนจะกลายเป็นศาสนาอื่นปนเข้ามาก โดยเฉพาะในปัจจุบัน พระผู้ใหญ่บางรูปถึงกับสร้างอุทยานพระพิฆเณศวร์ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นบันไดให้ศาสนาอื่นเหยียบขึ้นไปโต ผู้ที่ลงทุนก็คือพุทธศาสนา แต่พอถึงวันเกิดพระพิฆเณศวร์ บรรดาชาวฮินดูก็แห่เข้าไปทำบุญที่วัด กลายเป็นศูนย์รวมใจของชาวฮินดูแต่อยู่ในวัดพุทธ" |
"มาคิดว่าในยุคของเรามีการปะปนของศาสนามากจนสับสนไปหมด ถ้าเนิ่นนานไปกว่านี้ สัจธรรมแท้ ๆ ของพระพุทธเจ้าจะเหลือสักเท่าไร ? แม้ตอนนี้บางสำนักก็ใช้อัตโนมติ คือความเห็นของอาจารย์เป็นใหญ่ สอนตามที่คิดว่าใช่ ไม่ได้สอนตามพระไตรปิฎก ในเมื่อสอนตามที่คิดว่าใช่ โอกาสที่จะหลุดออกนอกทางไปก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
วัดพุทธในสิงคโปร์ ทั้ง ๆ ที่เป็นวัดเถรวาทหรือวัดไทย ไม่ว่าจะเป็นสิงค์โปร์ มาเลเซีย หรืออินโดนิเซีย จะต้องมีศาลพระพรหม จะต้องมีเจ้าแม่กวนอิม ไม่อย่างนั้นแล้วโยมไม่เข้าวัด เมื่อมีศาลพระพรหม เราก็เป็นส่วนของฮินดู เจ้าแม่กวนอิมก็มหายาน แต่เป็นวัดเถรวาทเต็ม ๆ เพราะว่าคนพุทธส่วนใหญ่ในมาเลเซีย สิงค์โปร์ หรืออินโดนิเซีย เป็นคนจีนแทบทั้งนั้น ถ้าเข้าไปแล้วไม่มีเจ้าแม่กวนอิม ก็จะรู้สึกว่าไม่ใช่วัดของเขา แล้วท่านทั้งหลายเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเคารพพระพรหมที่เอราวัณ วัดทั้งหลายเหล่านั้นก็ต้องสร้างศาลพระพรหมไว้ด้วย เพื่อที่จะไม่ต้องเดินทางไกลมาประเทศไทย พุทธศาสนาของเราเพิ่ง ๒,๕๕๖ ปี ถ้าจะนับตั้งแต่วันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ ๒,๖๐๐ ปี ก็แปลว่ายังเหลืออีก ๒,๔๐๐ ปี ก็เกือบ ๆ ครึ่ง แต่ศาสนาของเราโดนแปลกปลอม ปลอมปน ปะปน แม้กระทั่งคำสอนก็มีในส่วนอัตโนมติเยอะมาก ถ้านานไปสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ย่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเรื่องที่น่าหนักใจว่า ต่อไปจะเหลือนักปฏิบัติที่เข้าถึงธรรมของพระพุทธเจ้าจริง ๆ สักเท่าไร ? แล้วในช่วงนั้นท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็คงต้องรับภาระหนักมากเป็นพิเศษ ที่จะยกเอาหลักธรรมแท้ในพระพุทธศาสนามาให้ญาติโยมได้ปฏิบัติกัน" |
"ศาสนาฮินดูมีรากฐานมาตั้งแต่โบราณ จะว่าไปแล้วศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่น่ายกย่อง เพราะเป็นศาสนาที่เข้าถึงระดับยอดของเรามาตั้งแต่แรกเลย แม้กระทั่งพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นพระราชพิธี เท่าที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา จนมาถึงปัจจุบัน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพิธีพราหมณ์ทั้งนั้น แต่เมื่อเข้าถึงระดับยอดแล้วศาสนาฮินดูไม่ได้ครอบงำ ถ้าฮินดูฉวยโอกาสใช้พระราชอำนาจในการครอบงำประชาชน คิดว่าศาสนาฮินดูจะมีศาสนิกมากมายมหาศาลทีเดียว
ที่เห็นชัดเจนที่สุดในปัจจุบันคือพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์แท้ ๆ เลย ถ้าเราอ่านพุทธประวัติ พระเจ้าสุโทธนะก็ทำพิธีแรกนาขวัญ ที่พระพุทธเจ้าถูกพี่เลี้ยงทิ้งใต้ต้นหว้า แล้วพระองค์ท่านก็เลยเจริญพระกรรมฐาน จนกระทั่งบ่ายคล้อยไปแล้วเงาต้นหว้ายังตั้งตรงเหมือนเดิม เทวดาท่านช่วยสงเคราะห์ไม่ให้ร้อน คราวนี้พอศาสนาฮินดูอยู่กับสังคมไทยมานานแสนนาน ทำให้คนไทยของเราติดพิธีกรรมของฮินดูมาโดยไม่รู้ตัว แม้กระทั่งพิธีการบวงสรวงต่าง ๆ ก็เป็นของฮินดู แต่คราวนี้หลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ท่านเอามาปรับเป็นการไหว้พระแทน แต่พวกเราก็ยังติดรูปแบบของฮินดูอยู่โดยไม่รู้ตัว อย่างเช่น การสร้างรูปหลวงปู่ หลวงพ่อใหญ่ ๆ ลักษณะนั้นเป็นการยกบุคคลขึ้นเป็นเทพเจ้าให้คนได้สักการบูชา เมื่อคนไปสักการบูชา เดี๋ยวก็อดไม่ได้หรอก ไปงุบงิบบนบานศาลกล่าวตรงนั้น สรุปว่าเจตนาแรกเริ่มตั้งใจให้เป็นพุทธานุสติหรือสังฆานุสติ แต่พวกเราทำเสียหมด พอถึงเวลาไปไหว้ ไปบน ไปร้องขอกัน" |
"เรื่องของการบนบานศาลกล่าวหรือการร้องขอเป็นของฮินดู แต่พระพุทธเจ้าท่านเห็นว่า การยึดในเทวตานุสติจริง ๆ แล้วเป็นของดี พระองค์ท่านจึงไม่ได้ห้ามตรงจุดนี้ แต่พระองค์ท่านใช้วิธีปรับ ว่าเราจะบูชาในเทวตานุสติอย่างไร ก็ให้ปรับให้เข้ากับคุณสมบัติของเทวดาระดับนั้น ๆ อย่างเช่น จะบูชาเทวดา เราต้องมีศีล ๕ ต้องมีหิริโอตัปปะ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ แม้กระทั่งตัวเราเองก็เป็นเทวดาได้
ถ้าเราจะบูชาพระพรหม เราก็ต้องมีศีล ๕ มีพรหมวิหาร ๔ มีฌานสมาบัติ ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็เป็นพระพรหมเองได้ หรือเราจะบูชาเทวดาผู้บริสุทธิ์ก็คือพระวิสุทธิเทพ ก็คือพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านก็มอบศีล สมาธิ ปัญญา ให้พวกเราใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ก็คือ มรรค ๘ นั่นเอง ถ้าหากพวกเราทำได้ดังนั้น ก็เป็นการบูชาที่ถูกต้อง สามารถก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้" |
"เมื่อพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการปรับอย่างนี้ พวกเราแทนที่ยึดหลักธรรมในการปฏิบัติ เพื่อให้ตนเองได้เป็นเทวดา ได้เป็นพระพรหม ได้เป็นพระวิสุทธิเทพ เรากลับไปใช้วิธีการของศาสนาฮินดู ก็คือบนบานศาลกล่าวร้องขอ เพราะศาสนาฮินดูเชื่อว่า ถ้าทำอย่างนั้นจะทำให้เทวดาโปรดปราน แล้วก็จะประทานพรให้ ก็เลยทำให้พระธรรมบริสุทธิ์ที่พระพุทธเจ้าท่านมอบให้แก่พวกเรา กลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป ก็คือโดนปลอมปนกับหลักการปฏิบัติของศาสนาอื่น ด้วยการกระทำที่เราก็ไม่รู้ว่า เราทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมลงไปเอง
ไปนึกถึงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ว่า บุคคลต้องการแก่นไม้ แต่ไม่รู้จักแก่นไม้ เมื่อไปถึงก็ตัดเอากิ่งและใบไป คิดว่านั่นเป็นแก่นไม้ แต่ไม่รู้จักแก่นไม้ ไปถึงก็ถากเอาเปลือกไปแล้วถือว่านั่นเป็นแก่นไม้ บุคคลอีกผู้หนึ่งต้องการแก่นไม้ ไม่รู้จักแก่นไม้ ก็ถากเอากระพี้ไปคิดว่าเป็นแก่นไม้ จนกระทั่งท้ายสุด บุคคลผู้รู้จักแก่นไม้ ถึงเวลาก็ถากเอาไปแต่แก่นไม้ สรุปก็คือว่าจะติดอยู่ในระดับของศีล สมาธิ ต่าง ๆ ลงไป ตราบใดที่ยังเข้าไม่ถึงวิมุติญาณทัศนะ พระพุทธเจ้ายังไม่ถือว่าเข้าถึงแก่นของพุทธศาสนา ก็แปลว่าบุคคลที่เข้าถึงแก่นของพุทธศาสนา ต่ำสุดต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไป เพราะวิมุติญานทัศนะเป็นเครื่องรู้เห็นเพื่อความหลุดพ้น ถ้ายังไม่ใช่พระโสดาบันขึ้นไป ถือว่ายังคลุกอยู่กับโลกเต็มที่ โอกาสหลุดพ้นมีน้อยมาก ดังนั้นหาแก่นไม้กันไว้ ถ้าผิดก็เอามาตีหัวกันเอง ถ้าหาถูกจะได้เอาไปใช้งาน" |
ถาม : หลักการอธิษฐานในศาสนาพุทธ จะต้องมีข้อยึดอย่างไรจึงจะเป็นอธิษฐานบารมี ?
ตอบ : อธิษฐานบารมี..อันดับแรกสร้างบุญใหญ่ให้เกิดก่อน เมื่อเกิดแล้วตั้งใจว่าจะให้ผลบุญนั้นเป็นอย่างไร |
ถาม : ถ้าเพื่อนเขาแต่งงานวันผิด เราไปบอกเขาให้เปลี่ยน แล้วเขาไม่เชื่อ ?
ตอบ : ก็เรื่องของเขา อย่าไปยุ่งกับเขาสิ ถาม : ถ้าจะแก้ ? ตอบ : ไม่ต้องไปช่วยเขาแก้ เขาแก้กันเองได้..! ถาม : ไม่มีทางแก้เลยหรือครับ ? ตอบ : ไม่ใช่ไม่มีทางแก้ อย่าเสือกไปยุ่งกับเรื่องของเขา..! ปล่อยวางบ้าง อะไรที่แก้ไขไม่ได้ รู้แล้วไม่พูด เขายังได้กำลังใจ ถ้ารู้แล้วไปพูด เขาเสียกำลังใจ จะพังเร็วกว่านั้น พวกเราส่วนใหญ่ความพอดีไม่มี ในเมื่อความพอดีไม่มี ก็มักจะดิ้นรนในสิ่งที่เกินกำลัง แล้วก็ทำให้ทุกข์มาก ในเมื่อหมดทางแก้ไข เราอย่าไปยุ่งก็หมดเรื่อง เรียกว่าหัดปล่อยวางเสียบ้าง อย่างไรเสียเขาก็ไม่ยอมเปลี่ยนวันแต่งงานแน่ แล้วจะไปยุ่งกับเขาทำไม ? |
พระอาจารย์กล่าวว่า "มีข้อธรรมอีกหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้ทั่ว ๆ ไป คือพระอภิธรรม ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านสอนพรหมเทวดา พรหมเทวดาถือว่าเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล เขามีความเป็นทิพย์อยู่ ฟังเพียงหัวข้อธรรมก็สามารถรู้โดยตลอด ว่าในหัวข้อธรรมนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง
ในปฐมสมโพธิกถาได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเมื่อเสวยวิมุตติสุข ๔๙ วัน ทรงใช้เวลาในการพิจารณาทบทวนพระอภิธรรมถึง ๗ วัน ด้วยระดับความรู้รอบเกินกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์อย่างพระพุทธเจ้า ยังใช้เวลาสรุปประมวลผล ๗ วัน แล้วลองคิดดูว่ามนุษย์ทั่วไปอย่างเราจะไหวไหม ? แค่เราฟังธรรม ๗ วันก็อดข้าวตายแล้ว นั่นขนาดท่านสอนพรหมเทวดายังว่าเสีย ๓ เดือน แล้วจะมีใครจะสามารถฟังอภิธรรมตั้งแต่ต้นยันปลายได้บ้าง แล้วรับประกันได้ไหมว่าฟังแล้วจะรู้เรื่อง เข้าใจ แล้วเอาไปปฏิบัติให้ได้ผล ดังนั้น..ในปัจจุบันนี้มีบางแห่งบางสำนัก สอนในเรื่องของพระอภิธรรม แล้วมีประกาศนียบัตรให้ด้วย อาตมาก็ว่าเข้าท่าดีเหมือนกันนะ ไปนึกถึงปู่สัจจะ ปู่สัจจะชื่อเล่นว่าไล หลวงปู่อุตตมะบอกว่า “โยมไล..เรียนอภิธรรมเดี๋ยวหาพระไหว้ไม่ได้นะ” เขารู้มากกว่าพระ แล้วปู่สัจจะเขาเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นะ คือมักจะคิดว่าตัวเองรู้มากกว่าพระ มีอยู่ครั้งหนึ่งในงานหลวงพ่อสาย ปู่สัจจะอาราธนาให้สวดธัมมนิยาม ส่วนใหญ่พระท่านสวดไม่ได้ แกก็เลยเอาหนังสือมนต์พิธีไปไล่แจก เป็นที่อับอายขายหน้ามาก เพราะพระระดับเจ้าคณะตำบลและเป็นเจ้าอาวาสทั้งนั้น สงสัยว่าถ้าปู่สัจจะตายคงเหลือแต่พระวัดท่าขนุนไปสวดให้ วัดอื่นเขาคงไม่รับหรอก" |
ถาม : การทำใจให้ผ่องใสในกรณีที่มีทุกข์เข้ามารอบด้าน ควรจะปล่อยวางอย่างไร คิดอย่างไรไม่ให้ทุกข์ และไม่ให้ใจเศร้าหมอง ?
ตอบ : เขาให้เลิกคิด ไม่ใช่คิดอย่างไรไม่ให้ใจเศร้าหมอง คิดเมื่อไรก็เจ๊งเมื่อนั้นแหละ..! หยุดคิดเป็นไหม ? คนเราทุกวันที่ทุกข์อยู่ ส่วนใหญ่แล้วทุกข์เพราะความคิดตัวเอง เพราะความคิดของเราที่มักจะเอาไปเปรียบเทียบกับอดีตที่ผ่านมาแล้ว ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเลย น่าจะเป็นอย่างนี้ แล้วก็ไปฟุ้งซ่านถึงอนาคต ว่าควรจะเป็นเช่นนั้น ควรจะเป็นเช่นนี้ เป็นการส่งกำลังใจออกนอก ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นสาเหตุของความทุกข์ เพราะฉะนั้น..ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องหยุดคิด การที่จะหยุดคิดได้ ต้องหยุดความรู้สึกของเราเอาไว้แค่ลมหายใจเข้าออก ซักซ้อมกำลังใจเราให้เกาะลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ ถ้ากำลังใจทรงตัวถึงสมาธิ รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไฟเผาเราอยู่ จะโดนกำลังของสมาธิกดดับลงชั่วคราว ความทุกข์จะไม่ปรากฏ กำลังใจก็จะผ่องใส เพราะฉะนั้น..อย่าถามว่าคิดอย่างไร เพราะตอนที่กิเลสรุมตีนี่คิดไม่ทันหรอก เราต้องหยุดคิด ควรจะซักซ้อมบ่อย ๆ ทุกเวลาที่มีโอกาส ไม่อย่างนั้นแล้วถ้าเราไปรอ เวลาเจอข้าศึกแล้วค่อยไปซ้อม ไม่ทันรับประทานหรอก อย่างเช่นคนที่กลัวตาย ต้องซักซ้อมถึงความตายอยู่บ่อย ๆ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุใช้คำว่า "ตายก่อนตาย" ในเมื่อซักซ้อมนึกถึงความตายอยู่บ่อย ๆ พยายามทำใจของตนให้ชิน ว่าความตายต้องมาถึงเราอย่างแน่นอน เพราะปกติธรรมดาเป็นเช่นนั้น ถ้าซักซ้อมจนชิน จะไม่เห็นว่าความตายน่ากลัว บางทีลืมกลัวไปตอนไหนก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราไม่ซ้อม ปุบปับจะให้คิดอย่างนั้นได้เลย รอไปก่อนเถิด เพราะฉะนั้น..หยุดคิดให้เป็นนะจ๊ะ หยุดไม่เป็น เย็นไม่ได้ ไม่ได้เล่นสำนวนนะ..นี่เป็นเรื่องจริง |
ถาม : ตอนปฏิบัติธรรมที่วัด หนูภาวนาไป จิตหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้ แล้วก็มีเสียงท่านเคาะหัว ?
ตอบ : หลายต่อหลายคนที่ไปปฏิบัติธรรม โดนเคาะหัวแล้วชอบใจ ตอนที่เดินอยู่อาตมาจะดูไปเรื่อย ถ้าเห็นว่าสติเริ่มขาดก็จะเคาะสักโป๊กหนึ่ง ถ้ายังไปตามองค์ฌานหรือไปตามการภาวนาได้จะไม่ไปยุ่งด้วย เพราะฉะนั้น..คนไหนที่โดนให้รู้ไว้ด้วยว่าสติขาดแล้ว ไม่รู้เรื่องแล้ว คราวนี้คนที่จะทำอย่างนั้นควรที่จะรู้จริงสักนิดหนึ่ง ไม่อย่างนั้นถ้าเขาทรงฌานตามปกติ แล้วเราไปเคาะให้เขาหลุดออกมานี่..กรรมสาหัสเลยนะ ถาม : คุยกับพี่อีกคนหนึ่ง เขาก็บอกว่าเกือบโดนเขกเหมือนกัน ? ตอบ : เพราะเราขาดการฝึกซ้อมให้ชำนาญ เมื่อเราขาดความชำนาญ ถึงเวลาสภาพจิตไม่สามารถจะก้าวล่วงนิวรณ์ไปสู่ความผ่องใสได้เลย หรือไม่ก็พอเข้าสมาธิไปได้หน่อยหนึ่ง เผลอสติขาด..ก็หลุดอีก บางคนก็ตกใจ อยู่ ๆ หลุดก็สะดุ้งขึ้นมา อันนั้นแหละไม่ค่อยดี ถ้าสมาธิมั่นคงหน่อย พอโดนแตะรู้สึกตัว ก็เริ่มภาวนาต่อไปตามปกติ เอาเป็นว่าช่วยเท่าที่ช่วยได้ก็แล้วกัน มากกว่านั้นก็ช่วยไม่ได้หรอก ยกเว้นต้องใช้ไม้หน้าสาม..! |
ถาม : ตอนตั้งท่าทำสมาธิมักจะไม่ค่อยได้ มักจะได้ตอนเผลอ ?
ตอบ : เพราะตั้งใจมากเกินไป เหมือนอย่างหลวงพ่อวัดท่าซุงเวลาสอนมโนมยิทธิ ท่านบอกว่าอย่าตั้งใจมากเกินไป คนตั้งกำลังใจมากเกินไปเหมือนกับคนที่ยืดคอเลยช่อง ประเภทตั้งใจน้อยเกินไปก็ต่ำกว่าช่อง ไม่สามารถจะไปตรงนั้นได้ ต้องพอดีช่องถึงไปได้ แต่คำว่าพอดีต้องเจอด้วยตัวเอง ถึงจะรู้ว่าแค่ไหนคือพอดี เพราะพอดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน มัชฌิมาปฏิปทาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต และสิ่งที่เราขวนขวายในปัจจุบัน พอรวมกันขึ้นมาก็จะมีจุดพอดี ซึ่งไม่เท่ากับคนอื่น ถ้าใครทำมาใกล้เคียงกัน ถึงเวลาก็มักจะได้อะไรเหมือน ๆ กัน คล้าย ๆ กัน ในเวลาใกล้ ๆ กัน ถ้าทำมาไม่ใกล้เคียงกันก็ต่างคนต่างไป บางคนก็หลายปี บางคนก็ไม่นาน เวลาเราอ่านพระไตรปิฎกจะเห็นว่า บางท่านพระพุทธเจ้าเทศน์จบก็บรรลุมรรคผลเลย แต่บางท่านต้องผ่านไปอีก ๗ วัน ๑๕ วัน หรือไม่อย่างท่านพระอนุรุทธก็ใช้เวลา ๗ ปี หรือไม่ก็พระอานนท์ตั้งหลายปี พระอานนท์นี่น่าเห็นใจ เพราะว่าท่านทำหน้าที่พุทธอุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้า แค่จัดคิวให้คนเข้าพบพระพุทธเจ้าก็ไม่มีเวลาเหลือแล้ว ไหนจะต้องเรื่องส่วนตัวอีก จนท่านไม่มีเวลาปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ทรงความเป็นพระโสดาบันอยู่นานมาก พระอานนท์ท่านบวชหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วหลายปีเหมือนกัน ต้องบอกว่าอธิษฐานมาเพื่อความเป็นพุทธอุปัฏฐาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ต่อให้พุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าในอดีตก็ดี ในอนาคตก็ดี แม้ว่าพึงมีก็ไม่เกินอานนท์นี้” พูดง่าย ๆ ว่าท่านทำหน้าที่ของท่านได้เต็มที่แล้ว ในอดีตเคยทำได้แค่ไหนพระอานนท์ก็ทำได้แค่นั้น ในอนาคตจะทำได้แค่ไหนก็ไม่เกินที่พระอานนท์ได้ทำไว้แล้ว พระอานนท์อายุยืนมาก ปรินิพพานตอนอายุ ๑๒๐ ปี แปลว่าอยู่มาหลังพุทธปรินิพพานอีก ๔๐ ปีได้ ตอนช่วงนั้นจะมีการสืบสายธรรมะมา มีสายของพระมหากัสปปะ สายของพระมหากัจจายนะ สายของพระโมคคัลลานะ สายของพระสารีบุตร สายของพระอานนท์ แต่พอมาระยะหลัง ๆ ลูกศิษย์สายของพระมหากัจจายนะกับสายของพระอานนท์ มีการบันทึกหลักธรรมเป็นตัวอักษร ก็เลยมีการตกทอดมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะทางสายพระมหากัจจายนะ ตกทอดมาเป็นตำรามูลกัจจายน์ นักเรียนบาลีเจอเข้า..อ้วกทุกราย เมื่อเช้าได้คุยกับมหาเบิร์ธ ถึงกับบอกว่า เราเรียนกันแค่ผิว ๆ เท่านั้น ถ้าเจอบาลีไวยากรณ์ชั้นสูงกับพระสูตรนี่ ต้องท่องกันหูดับตับไหม้กว่านี้อีก..! |
ถาม : หนูสงสัยว่าปฏิบัติจริงจัง หมายความว่า ให้เราพยายามรู้ลมหายใจเข้าได้ตลอดเวลา หรือแค่ตั้งหน้าตั้งตาทำจริงจัง ไม่ต้องทำอะไร นั่งแต่ในกรรมฐาน ?
ตอบ : ทำอะไรก็ได้ แต่ให้สติรู้อยู่กับคำภาวนาและลมหายใจเข้าออก คนที่จะทำอย่างนี้ได้อย่างน้อยต้องทรงปฐมฌานละเอียดได้คล่องตัว สภาพจิตจะรู้และภาวนาเองโดยอัตโนมัติ เรามีหน้าที่กำหนดสติประคับประคองไว้ตลอดเวลาก็พอ ถาม : อย่างนี้ก็เป็นพระโสดาบันเลยสิครับ ? ตอบ : ถึงได้บอกว่ากำลังของพระโสดาบัน แค่ปฐมฌานก็พอแล้ว ความอยากจะเป็นพระโสดาบัน ทำเอาอาตมาปล้ำปฐมฌานอยู่หัวไม่วางหางไม่เว้น ๓ ปีเต็ม ๆ พอได้เข้าจริง ๆ ก็ไม่เห็นจะเป็นพระโสดาบันเลย เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเรื่องของสมาธิ กับเรื่องของกำลังใจเข้าถึงธรรมเป็นคนละเรื่องกัน แต่กำลังใจที่เข้าถึงธรรมต้องอาศัยกำลังสมาธิช่วยในการตัดกิเลส เสียเวลาไปสู้อยู่ ๓ ปีเต็ม ๆ ใครจะอึดขนาดนั้น ทำเท่าไรไม่ได้สักที แต่จะต้องการจะเอาให้ได้ ไม่ยอมถอย ถ้าความบ้าไม่พอนี่ก็เลิกกันไปนานแล้ว |
ส่วนใหญ่แล้วพวกเราจะเป็นอย่างนั้น ก็คือสภาพของสังคม กระแสบริโภคนิยมทำให้คนใจร้อนใจเร็ว ไม่สามารถจะค่อย ๆ สั่งสมอะไรได้ ถึงเวลาปฏิบัติธรรมก็อยากจะบรรลุตอนนั้นเลย การไปหาพระหาเจ้าในความหมายของพวกเขา โดยเฉพาะพวกที่มาจากมาเลเซีย สิงคโปร์ อาตมาเบื่อที่สุด มาลักษณะจะให้เราเสกเพี้ยงเดียวให้เขาเป็นพระอริยเจ้าไปเลย ถ้าทำอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าพาเราไปหมดแล้ว ท่านเสกทีเดียวก็ไปหมดแล้ว คงไม่เหลือพืชเหลือพันธุ์มาถึงเราหรอก ไปพระนิพพานกันเกลี้ยงแล้ว..!
แต่เขาเข้าใจอย่างนั้นจริง ๆ ก็เลยกลายเป็นคนรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน แล้วถ้าความอดทนไม่พอ การที่จะเข้าถึงธรรมจะน้อย เราต้องดูว่าโอวาทปาฏิโมกข์ ก็คือคำสั่งสอนที่ประกาศอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านขึ้นมาประโยคแรกก็ ขันตี ปรมัง ตะโป ตีติกขา ขันตี คือ ความอดทน ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่งของนักปราชญ์ ก็คือใช้ความอดทนอดกลั้นในการเผาผลาญกิเลส ถามว่าต้องทำถึงขนาดไหน ต้องถึงขนาดเผาเหล็กละลาย ไม่อย่างนั้นเผากิเลสไม่ตายหรอก คราวนี้พอเผาไปชั่วนาตาปี ความร้อนที่เผากิเลส ก็ทำให้กิเลสดิ้นรน จะตายแล้วนี่ แต่คราวนี้พอกิเลสโวยวายว่าจะตาย กิเลสรัก โลภ โกรธ หลง อาศัยตัวเราอยู่ เราก็ไปหลงประเด็นว่าเราเองจะตาย เราก็เลยเลิกปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเราจะตาย แต่ความจริงเราโดนกิเลสหลอก ดังนั้น..ต่อไปอย่าไปเชื่อกิเลสนะ ถ้ากิเลสบอกว่าจะตาย เออ..! ให้ตายไปเลย แล้วก็ลุยต่อไป หลวงปู่หลวงพ่อสายวัดป่าท่านถึงได้บอกอยู่เสมอว่า ธรรมะอยู่ฟากตาย ถ้าข้ามความตายไม่ได้เข้าไม่ถึงธรรมหรอก |
พระอาจารย์พูดถึงพระนาคปรก ๙ เศียรทองคำว่า "ชนวนเก่ามีตะกรุดมหาสะท้อน เนื้อทองคำอยู่ ๒ ดอก และมีตะกรุดโสฬส เนื้อทองคำของหลวงปู่เอี่ยม ๑ ดอก อาตมาลอกเอาผงตะกรุดโสฬสของหลวงปู่เอี่ยมที่พอกไว้ข้างนอก ไปผสมเป็นพระปิดตามหาเศรษฐีเงินล้าน รุ่น ๑ แต่ทองคำเอามาหลอมเป็นพระปิดตามหาเศรษฐีเงินล้าน รุ่น ๒ คราวนี้พอเอาชนวนมาหล่อพระนาคปรกลอยองค์ ก็เลยกลายเป็นติดไปด้วย
มีเพื่อนพระที่เล่นเครื่องรางของขลังท่านหนึ่งบอกว่า ตะกรุดโสฬสเนื้อทองคำของหลวงปู่เอี่ยมท่านไม่น่าจะทำ อาตมาถามว่า “แล้วที่ของผมคืออะไร ? ” ท่านบอกว่า “พระอาจารย์ลองคิดให้ดี ๆ นะครับ พระพุทธเจ้าห้ามพระจับเงินจับทอง แล้วพระสมัยก่อนท่านเคร่งครัดกว่าเราเยอะ จะเห็นว่าท่านทำตะกรุดจะใช้ฝาบาตรหรือใช้ตะกั่วถ้ำชา เพราะฉะนั้น..ผมว่าตะกรุดทองคำไม่น่าจะใช่ของหลวงปู่เอี่ยม” “แต่ผมเคยเห็นตะกรุดทองคำที่หลวงปู่มั่นจารให้โยมว่ะ..!” อาตมาเชื่อว่าถ้าเรื่องเคร่งครัด หลวงปู่มั่นท่านเคร่งเป็นที่เลื่องลือแน่ แต่ท่านก็ทำให้โยมเพราะโยมเป็นคนหาแผ่นทองคำมา ก็เลยขึ้นอยู่กับการพิจารณา ถ้าท่านใดมั่นใจก็ใช้ไปเถอะ เพราะวัตถุมงคลสำคัญตรงความมั่นใจ ของดีแค่ไหนถ้ากำลังใจไม่เปิดรับก็เท่านั้นแหละ แต่ว่าสิ่งที่ท่านท้วงติงมานี่มีเหตุผลเลยนะ แต่อาตมาก็คิดในแง่ที่ว่า ถ้าดังระเบิดไปทั้งประเทศอย่างหลวงปู่เอี่ยม พวกลูกศิษย์ที่เป็นเจ้าใหญ่นายโต พ่อค้า คหบดี ต้องมี แล้วท่านที่ฐานะรวย ๆ ก็อยากจะได้ของที่สมกับฐานะตัวเอง อย่างหลวงปู่ศุขท่านก็ทำตะกรุดสามกษัตริย์ทอง นาก เงิน ด้วยซ้ำไป ที่ทำถวายบรรดาเจ้าใหญ่นายโตตามวังต่าง ๆ โดยเฉพาะเสด็จในกรมหลวงชุมพร พวกเครื่องข้าราชศาสตราสมัยก่อนเป็นโลหะมีค่าทั้งนั้น แม้กระทั่งลูกสะกดยังเป็นสามกษัตริย์เลย" |
ถาม : การที่พระใช้เงิน นาก ทอง จริง ๆ นี่อยู่ที่เจตนาว่าดีหรือไม่ดีหรือครับ ?
ตอบ : พระพุทธเจ้าทรงทราบว่ากำลังใจของคนรุ่นหลังใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องไหลตามไปแน่ พระองค์ท่านก็เลยห้ามไว้เลย แต่หลวงพ่อวัดท่าซุงบอกว่า รับมาก็อย่าคิดว่าเป็นของเราสิ แล้วจะมีสักกี่คนที่คิดแบบนี้ ? ท่านถึงได้สอนพระสายวัดท่าซุงว่า "เงินปีนี้อย่าใช้ถึงปีหน้า ก่อนที่จะถึงปีหน้าถ้ามีเงินเหลือ ให้คิดทำงานที่ใหญ่กว่าเงินเอาไว้ พอเงินมาเราจะได้ไม่คิดว่าเงินเป็นของเรา" เป็นสุดยอดของคำสอนเลย ใครกลัวเงินทับตาย พระสายวัดท่าซุงไม่กลัวหรอก มีเท่าไรก็เทลงการก่อสร้างไปหมด เดือนนี้อาตมาติดลบไปเกือบสองล้านบาทเอง ใครบอกว่าถวายเป็นเงินส่วนตัว อาตมามักขู่เขาไว้ว่าจะเก็บไว้แต่งเมีย แต่ไม่พอแต่งเสียที เทลงเงินสงฆ์หมด แยกบัญชีเอาไว้ไปอย่างนั้นเอง ถึงเวลาก็จ่ายรวมกันไป |
พระอาจารย์กล่าวว่า "พวกที่เดินเท้าอย่างเช่นอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เดินจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุย โดยตั้งใจว่าจะไม่ใช้เงินแม้แต่บาทเดียว มีคนช่วยไปตลอดทางจนไปถึงเกาะสมุย หรือไม่ก็พวกขี่จักรยานรอบโลก ไปตรงไหนก็มีคนสงเคราะห์ เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เกิดจากเรื่องของบุญของกรรมที่เนื่องกันมาตั้งแต่อดีต พอถึงเวลาก็ต้องมาสงเคราะห์ต่อกัน
อาตมาเองสมัยเรียนชั้น ป. ๑ - ป. ๔ มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งไม่รู้เป็นอย่างไรจะคอยช่วยเหลืออยู่ตลอด ที่บ้านอาตมามีฐานะค่อนข้างจะยากจน ปีทั้งปีแทบจะไม่มีสตางค์ไปโรงเรียนเลย มีแต่ข้าวห่อไป เพื่อนคนนี้จะคอยซื้อขนมมาให้ตลอด ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ดีเหมือนกัน ไม่ได้เรียกร้อง ไม่ได้รู้จักมักจี่สนิทสนมกันมาก่อน รู้อยู่อย่างเดียวว่าพอถึงเวลาเขาจะต้องมาช่วยเรา เขาเองก็คงงง ๆ อยู่เหมือนกัน ดังนั้น..ของพวกนี้ เราเกิดมานับชาติไม่ถ้วน พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสว่า “บุคคลที่เกิดมาพบกันในชาติปัจจุบันนี้ ในอดีตไม่เคยมีความสัมพันธ์กันมาเลยนั้นไม่มี” อย่างน้อย ๆ ต้องเคยเป็นอะไรกันมาก่อน เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นหลาน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นสามีภรรยา เป็นครูบาอาจารย์ เป็นศิษย์ เป็นเพื่อน แล้วมาเจอกันชาติใหม่ ก็มาเกื้อกูลกันต่อไป มาเข็นกันหรือมาถ่วงกัน มาเข็นกันนี่ยังพอไหว อย่างน้อย ๆ ก็ยังพยายามขึ้นหน้า แต่ประเภทมาถ่วงกันนี่เล่นเอาเราไปไหนไม่ได้เลย" |
ถาม : ถ้าพระธรรมยุติจับเงินไม่ได้ เราถวายเป็นเช็กได้ไหมครับ ?
ตอบ : พุทธเจ้าท่านใช้คำว่า "เงินทอง" หรือ "วัตถุที่ใช้แทนเงินทอง" ตกลงใช้เช็กได้ไหมเล่า ? แต่ก็เห็นเขารับเช็กกันเป็นว่าเล่น สมัยอาตมาบวชใหม่ ๆ เจอพระธรรมยุติพกตั๋วแลกเงิน ๓ เล่ม ใบละร้อยล้วน ๆ อาตมาก็คิดว่าท่านไม่จับเงิน แต่ท่านมีเยอะกว่าอีก ๓ เล่มก็ ๓๐,๐๐๐ บาทแล้ว สมัยนั้นอาตมามีเงินติดตัว ๒๐๐ บาทก็ดีใจแย่แล้ว ออกกิจนิมนต์ครั้งหนึ่งเต็มที่ได้ ๒๐ บาท กว่าจะได้ ๒๐๐ บาทนี่รอกิจนิมนต์ตั้ง ๑๐ ครั้ง แล้ว ๑๐ ครั้งนี่บางทีก็ครึ่งค่อนปี สมัยบวชใหม่ ๆ ภาระยังไม่มาก พอถึงเวลามีโอกาสก็ลาไปอยู่กับหลวงปู่มหาอำพันที่วัดเทพศิรินทราวาส ถึงได้เห็นว่าวัดเทพศิรินทราวาสเป็นวัดธรรมยุติแต่เงินสะพัดมากเป็นพิเศษ นั่งคุยกับหลวงพี่ที่นั่น สักพักท่านขอตัว “หลวงพี่ครับ..ผมขอตัวแป๊บหนึ่ง” “ไปไหนวะ ?” “ไปบังสุกุลอัฐิให้โยม” เดินไปไม่ถึง ๑๐ นาที กลับมาเอาซองวางแปะไว้ อาตมาก็เปิด ดึงใบปวารณาออกมาดู ๔๐๐ บาท ไม่ถึง ๑๐ นาทีได้ ๔๐๐ บาท..! อาตมาอยู่วัดท่าซุงสวดเป็นชั่วโมงเขาถวาย ๒๐ บาท..! |
ตอนก่อนบวชก็ศึกษาเกี่ยวกับวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะวัดที่อยู่ใกล้บ้าน ตอนนั้นบ้านอยู่ที่ท้ายซอยอ่อนนุช วัด....เป็นวัดธรรมยุติ อาตมาก็ว่าพระธรรมยุติท่านเคร่งครัดดี จึงไปสอบถามว่าจะบวชที่นี่ต้องทำอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าต้องไปรอคิวเซ้งกุฏิให้ได้ก่อน ถามว่า "เซ้งกุฏิเขาคิดกันอย่างไรครับ ?" เขาบอกว่า “แสนหก..รับประกัน ๒ ปีมีกำไร” นั่นคือเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้น่าจะเป็นล้านแล้วกระมัง ?
แต่จะว่าท่านก็ไม่ได้ เพราะว่ากุฏิเต็มจริง ๆ ต้องไปเข้าคิวลงชื่อไว้ก่อน คืนหนึ่ง ๆ พระบางรูปต้องวิ่งรอกกัน ๓ - ๔ ศาลา แต่ละศาลาก็ถวายกันไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ บาท ตีเสียว่าวิ่งแค่ ๒ รอบก็ ๑,๐๐๐ บาทต่อคืน เดือนหนึ่ง ๓๐,๐๐๐ บาท ปีหนึ่งปาไป ๓๖๐,๐๐๐ บาท คืนทุนแน่ ๆ อยู่แล้ว สรุปแล้วอาตมาหนีไปบวชที่วัดท่าซุง พี่ชายบ่นอย่าบอกใครเลย เพราะว่าทางบ้านเข้าสมาคมตระกูลแซ่ เวลามีงานเขามีกติกาเป็นที่รู้กันว่า ถ้าเขามางานเราช่วยเงินไว้เท่าไร ถึงเวลาเราไปงานเขาก็ต้องให้มากกว่านั้น ถึงเวลาที่อื่นส่งบัตรเชิญมาให้ ทางเรามีหน้าที่จ่ายอย่างเดียว เพราะว่าที่บ้านแต่งงานกันช้ามาก ก็เลยไม่มีงาน พอมาถึงคิวอาตมาบวช แทนที่จะได้จัดงาน กลับหนีไปบวชที่วัดท่าซุง พี่ชายบ่นว่า..คิดว่าจะได้ถอนทุนคืนบ้าง ดันหนีไปบวชกับหลวงพ่อเสียนี่ |
พระอาจารย์เล่าว่า "สมัยที่หลวงพ่อวัดท่าซุงหล่อรูปยืนองค์ใหญ่ในวิหารร้อยเมตร ปรากฏว่าเจอทั้งลมทั้งฝน ลักษณะนั้นช่างจะกลัวที่สุดเพราะแบบไม่ร้อน โลหะที่เทลงไปเย็นตัวเร็วเกิน ก็จะไปกั้นเอาไว้ไม่ให้โลหะอื่นไหลลงไปข้างล่าง ตรงที่โดนกั้นไว้ก็จะเป็นช่องโบ๋ แต่ปรากฏว่ารูปหล่อของท่านส่วนบนสมบูรณ์มาก แต่งองค์บริเวณจีวรเพิ่มหน่อย เพราะว่าพอเย็นมากแล้วโลหะแล่นไม่ถึง ต้องมาโปะเพิ่มกันทีหลัง
ส่วนที่ช่างกลัวที่สุดก็คือใบหน้า ปรากฏว่าออกมาสมบูรณ์แบบ เลยโล่งใจไป เพราะแต่งองค์แต่งเท่าไรก็แต่งได้ แต่ใบหน้านี่ถ้าแต่งแล้วเสียรูปขึ้นมา ก็ต้องหล่อใหม่ทั้งองค์ ที่เราเห็นองค์ยืนองค์ใหญ่มหึมาในวิหารร้อยเมตร ช่างเขาหล่อด้วยความอกสั่นขวัญแขวนมาก เพราะดินฟ้าอากาศไม่ให้เลย สมัยที่หลวงพ่อท่านอยู่วัดบางนมโค หล่อพระพุทธชินราชองค์หนึ่ง ก็เจอลักษณะอย่างนั้น ก็คือทั้งลมทั้งฝนกระหน่ำ เททองเสร็จ เอาทรายทับแล้วช่างไม่กล้าทุบแบบ ต้องนั่งซึม หลวงพ่อบอกว่า “ทุบแบบออกมาดูสิ” ช่างบอกว่า “เสียแน่ ๆ ครับท่าน” หลวงพ่อบอกว่า “ทุบมาเถอะ เสียก็ทำใหม่..ไม่ว่ากัน” ปรากฏว่าทุบออกมาแล้วงามจนแทบจะไม่ต้องขัดแต่งเลย คราวนี้ช่างดีใจจนน้ำตาไหล หลังจากนั้นพระพุทธรูปองค์นั้น ถึงเวลาใครต้องการฝน อาราธนาไปเป็นได้ฝนทุกที่ ปัจจุบันนี้ไม่รู้ทางวัดบางนมโคเอาไปซุกไว้ที่ไหน ?" |
ถาม : คุณพิเศษที่เป็นปฏิสัมภิทา เกิดขึ้นตั้งแต่เป็นพระโสดาบันหรือครับ ?
ตอบ : ปฏิสัมภิทาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเป็นพระอนาคามีแล้ว เพราะถ้าต่ำกว่านั้นเดี๋ยวรัก โลภ โกรธ หลงชักลากไปได้ อำนาจคลุมอภิญญา ๖ ได้นี่น่ากลัวมาก ต้องเป็นพระอนาคามีขึ้นไป ถ้าไม่ได้ตัดรักตัดโกรธได้จริง ๆ เดี๋ยวก็ได้เผาชาวบ้านเขาเล่น อย่างวันก่อนมีข่าวฝรั่งโดนไฟเผาตาย หาต้นเหตุไม่ได้ ฝรั่งเขามีสถิติเก็บไว้เยอะต่อเยอะด้วยกัน ที่อยู่ ๆ โดนไฟไหม้ชนิดที่เหลือแต่ขี้เถ้า ซึ่งเขาบอกว่าต้องเป็นความร้อนที่สูงมหาศาล แต่ทำไมสิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ข้างไม่ไหม้เลย ลักษณะนั้นขอยืนยันว่าเป็นเตโชกสิณ อาจเป็นไปได้ว่าเขาเคยเป็นมาแต่อดีต ได้มาแต่อดีต แต่ตอนที่ของเก่ากลับมา ไปขยายนิมิตแล้วลืมควบคุม เพราะไม่รู้วิธีควบคุม ก็เลยเผาตัวเองไปเลย แล้ววันก่อนหมอไทยก็มาแสดงความเห็นว่า โดยหลักวิทยาศาสตร์แล้วเป็นไปไม่ได้ ที่ร่างคนอยู่ ๆ จะลุกเป็นไฟ ก็ไฟไหม้อยู่เห็น ๆ แล้วคุณจะมาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เห็น ๆ อยู่ว่าเหลือแต่ขี้เถ้าต่อหน้าต่อตา ท่านที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้มาก็จะเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ท่านที่ศึกษามาก็เห็นเป็นเรื่องปกติ อาตมาก็เพิ่งจะออกข้อสอบให้พระนิสิตเขาทำเก็บคะแนน ถามว่า “เมื่อเจริญเตโชกสิณจนคล่องตัวแล้ว สามารถกระทำอะไรได้บ้าง ?” เขาก็ตอบกันใหญ่ สามารถเข้าฌาน ๔ อธิษฐานบังหวนควันให้เกิดขึ้น ทำให้ถ่านเพลิงตกลง เกิดเปลวไฟขึ้นในบริเวณที่กำหนดได้ เขียนมาเยอะแยะเลย ไม่ต้องสงสัย...ลอกมาจากอินเตอร์เน็ตทั้งนั้น อาตมาสอนเขาไม่ค่อยได้จำหรอก ถึงเวลาตอบไม่ได้ก็เปิดอินเตอร์เน็ตลอกเอา..! |
พระอาจารย์กล่าวว่า "นักปฏิบัติธรรมควรจะลดความอยากลงไหม ? คราวนี้ภาษาไทยของเราจำกัด ความอยากในการทำความดี บาลีเขาเรียกว่าธรรมฉันทะ ถ้าความอยากในการกอบโกยในสิ่งอื่น ๆ เข้าหาตัว ก็คือรัก โลภ โกรธ หลง เขาเรียกว่าตัณหา ต่างกันชัดมาก แต่ภาษาไทยเราใช้คำว่าอยากเหมือนกันหมด
แบบท่านที่ไปฝึกปฏิบัติที่วัด เวลาเราปฏิบัติไป ถ้าเป็นสายพองหนอยุบหนอ การเคลื่อนไหวทุกอย่างท่านจะให้กำหนดต้นจิต คือตัวระลึกก่อนว่า "อยาก" อย่างเช่นว่า อยากเดินหนอ อยากนั่งหนอ เราอาจจะไปเถียงว่าไม่อยากก็ได้อยู่ แต่คราวนี้ถ้าไม่อยากแล้วคุณจะทำอย่างนั้นทำไม ? เพียงแต่เป็นความอยากที่ฝังลึกอยู่ แล้วเรามองไม่เห็น ในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยกลายเป็นว่า ภาษาไทยเรามีความจำกัดมากไปหน่อย เราใช้คำว่าอยากเหมือนกัน แต่อยากดีกับอยากชั่ว เป็นคนละอย่างกัน แล้วบาลีเขาแสดงชัด อยากทำดี พอใจที่จะทำความดีเป็นฉันทะ แต่อยากชั่วเป็นตัณหา เป็นความอยากที่ทำให้ตนเกิดความทุกข์มากกว่า ดังนั้น..ในเรื่องของฉันทะ ส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อความดี ความงาม ความเจริญ ในเรื่องของตัณหา ส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อที่จะทำให้ตนเองยึด เกาะ ติด อยู่กับสิ่งต่าง ๆ แล้วหลุดพ้นไม่ได้" |
ถาม : สัมมาอาชีวะในมรรค ๘ คือ ?
ตอบ : สัมมาอาชีวะคือการประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม คราวนี้อาชีพที่มีศีลธรรมนั้น พระพุทธเจ้าท่านเน้นว่าให้เว้นมิจฉาวณิชชา ๕ อย่าง คือละเว้นจากการขายสุรา ขายยาพิษ ขายอาวุธ ขายมนุษย์ และขายสัตว์ที่มีชีวิต เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่ายว่าสนับสนุนให้คนทำความชั่ว ในเรื่องของสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ อยู่ในส่วนของศีล สัมมาวาจาก็คือไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดจนเขาแตกร้าวกัน และไม่พูดวาจาไร้ประโยชน์ สัมมากัมมันตะที่ท่านบอกว่ากระทำการชอบ ก็คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการดื่มสุราเมรัย คราวนี้สัมมาอาชีวะก็เว้นจากมิจฉาวณิชชาทั้ง ๕ ตั้งใจประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรม ในส่วนของศีล ความดีที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ศีลเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดสมาธิ ด้วยความที่เราต้องตั้งสติระมัดระวังรักษาศีล ช่วยทำให้เกิดสมาธิขึ้น ในเมื่อสมาธิเกิดขึ้น ทำให้ระมัดระวังศีลได้ดียิ่งกว่าเดิม ก็เหมือนกับเราหมุนน็อตตัวหนึ่ง ยิ่งไขก็ยิ่งสั้นเข้า ๆ พอท้ายที่สุดก็สุดไปเอง คราวนี้ทั้งศีลทั้งสมาธิก็จะสนับสนุนให้เกิดปัญญา เราจะเห็นการทำงานเป็นวงจรครบ พอปัญญาเกิดก็จะไปควบคุมศีลและสมาธิอีกที ยิ่งควบคุมศีลสมาธิได้ทรงตัวเท่าไร ปัญญาก็ยิ่งผ่องใส ยิ่งแหลมคม |
ถาม : การตรึกในสัมมาอาชีวะ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
ตอบ : ไม่ตรึกในการค้าขายหรือการกระทำหน้าที่การงานที่เบียดเบียนผู้อื่น ถ้าจะนับจริง ๆ นอกจากศีลแล้วยังมีเรื่องของพรหมวิหารด้วย เพราะว่าพรหมวิหารจะคุมศีลเป็นปกติ ในเมื่อเป็นอย่างนั้นก็คือ ตรึกอยู่ว่าเราจะไม่ประกอบอาชีพที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ถึงเวลาก็กระทำตามให้เป็นไปตามที่ตนเองคิด เมื่อกระทำให้เป็นไปตามที่ตนเองคิดได้ ก็จะเป็นผล ถาม : ในขณะที่เรานั่งภาวนาอยู่ การที่เราจะไปล่วงละเมิดทุจริตกาย ทุจริตวาจา ก็ไม่มี ? ตอบ : ถ้าเรานั่งภาวนาอยู่ ศีลทุกสิกขาบทไม่ผิดอยู่แล้ว จะมีได้ก็ความฟุ้งซ่านที่จัดเป็นส่วนของมโนกรรม ศีลส่วนใหญ่แล้วจะควบคุมกายกับวาจา ดังนั้น..ถ้าเรานั่งลงภาวนาก็แปลว่าเรามีศีลโดยอัตโนมัติ ถ้าจิตประกอบด้วยการงดเว้นด้วย ก็แปลว่าตอนนั้นศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์เลย ในเมื่อเป็นดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลได้ เพราะว่ามีความบริบูรณ์ในศีลในสมาธิ ก็เหลือแต่ปัญญาที่จะพิจารณาอย่างเดียวเท่านั้น ถาม : อย่างเราอยู่ในสมาธิฌาน ไม่มีการละเว้นจิตกุศล จริงหรือเปล่าครับ ? ตอบ : เป็นการละเว้นโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว คุณนั่งอยู่ตรงนี้แล้วจะไปผิดศีลได้อย่างไร ? ดังนั้น..ในส่วนของบารมีต้นจะเกี่ยวกับเรื่องของทาน ถ้าบารมีกลางก็ขึ้นมาก็จะเป็นทานกับศีล ถ้าบารมีปลายก็เป็นเรื่องของสมาธิกับปัญญา ถ้าเราก้าวล่วงมาถึงสมาธิ แสดงว่าคุมศีลได้แล้ว ถ้ายังคุมศีลไม่ได้ สมาธิก็ไม่ทรงตัว กำลังไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น..ศีลจึงเป็นพื้นฐานของสมาธิ ก่อให้เกิดสมาธิ แล้วศีลกับสมาธิก่อให้เกิดปัญญา เมื่อมีปัญญาก็กลับไปควบคุมศีล ควบคุมสมาธิอีกที ถาม : ได้ยินจากข้างนอกว่าในขณะอยู่ในสมาธิ ไม่มีการละเว้น ไม่มีการสร้างบุญกุศล ก็เลยไม่มีจิตกุศล ? ตอบ : ถ้าอย่างนั้นต้องไปถามเขาว่าทำไมถึงว่าอย่างนั้น ? อย่าลืมว่าบุคคลเมื่อตั้งใจประกอบกรรมความดี กามาวจรจิตมหากุศลเกิดขึ้นแต่แรกแล้ว ในเมื่อกามาวจรจิตมหากุศลเกิดขึ้น สิ่งที่ตัวเองกระทำในการระงับกาย ระงับวาจา และกำลังระงับใจอยู่ ก็ยิ่งก่อเกิดมหากุศลนั้นให้ยิ่งมากขึ้นไปอีก ต้องบอกว่าเขาทำตั้งแต่เริ่มนั่งแล้ว |
พระอาจารย์กล่าวว่า "เรื่องของภาษาไทย ถ้าเป็นไปได้ช่วยกันรักษาไว้หน่อย อย่าปล่อยให้ยับเยินลงไปมากมายนัก พวกคำแสลงต่าง ๆ ที่เป็นไปตามยุคสมัยจะใช้ก็ใช้ไปเถอะ แต่เวลาเขียนอย่าเขียนให้ผิด เวลาเขียนพยายามรักษารูปแบบไว้นิดหนึ่ง ถ้าเขียนถูก บรรดาลูก ๆ หลาน ๆ เห็นจะได้จำได้ว่าตัวนี้ถูก
แต่ปัจจุบันนี้พวกเว็บไซต์ต่าง ๆ ตลอดจนกระทั่งเฟซบุ๊กมักจะใช้ศัพท์เฉพาะของตัวเอง เหมือนกับว่ายิ่งเขียนให้อุบาทว์เท่าไรก็ยิ่งเท่เท่านั้น ถึงเวลาเข้าไปก็จะเจอภาษาไทยที่เหมือนภาษาต่างดาว อ่านแล้วบางทีก็ไม่รู้เรื่องว่าแปลว่าอะไร" |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ส่วนใหญ่พอถึงเวลาโยมก็ทำบุญ เห็นตั้งหน้าตั้งตาทำบุญกันจัง แต่พอถามโยมจริง ๆ ว่าบุญคืออะไร จะมีสักกี่คนที่ตอบได้
บุญอธิบายโดยนัยของอรรถกถา ท่านบอกว่า บุญเป็นชื่อของความดี ความงาม ความสบายใจ เพราะฉะนั้น..สิ่งไหนที่ทำแล้วเป็นความดี เป็นความงาม เป็นความสบายใจ สิ่งนั้นชื่อว่าบุญ แต่คราวนี้ความดีความงามของสมัยโบราณนั้นชัดเจน แต่สมัยปัจจุบันนี้ไม่ชัดเจน อย่างเช่นเราบอกว่าบุญเป็นชื่อของความงาม พวกที่ไปทำศัลยกรรมมาก็เป็นบุญสิ..ภาษาเปลี่ยนไป ในเมื่อความหมายของภาษาเปลี่ยน ก็เลยทำให้ความหมายของคำว่าบุญในปัจจุบันเปลี่ยนไปด้วย อย่างที่อาตมาพูดไปต้องบอกว่าแกล้งโง่ เจตนาหาเรื่องมาค้าน" ถาม : แล้วกุศลล่ะครับ ? ตอบ : กุศล ตามรากศัพท์โดยตรงแปลว่าความฉลาด ก็คือฉลาดเลือกในสิ่งที่ดีที่งาม ดังนั้น..กุศโลบาย คืออุบายอย่างชาญฉลาด กุศล กับ โกศล เป็นคำเดียวกัน |
ถาม : เวลาทำบุญ แล้วอุทิศไปให้คนที่ไม่ตาย เขาจะได้รับหรือไม่ครับ ?
ตอบ : บุคคลที่ไม่ตายต้องบอกให้เขาโมทนา เพราะถ้าไม่ใช่บุคคลที่ได้ทิพจักขุญาณจริง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ แต่บรรดาท่านผู้ที่ตายไปแล้ว ลักษณะของโอปปาติกะ เขามีความเป็นทิพย์ของเขาอยู่ เขาจะรู้ได้ ในช่วงวันที่ ๒๓ - ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ทางวัดจัดปฏิบัติธรรมเนื่องในสัปดาห์วันมาฆบูชา มีบวชพระด้วย มีเวียนเทียน และตามประทีปถวายเป็นพุทธบูชาด้วย ในช่วงวันที่ ๒๔ - ๒๖ เป็นช่วงที่ภาษาชาวบ้านทั่ว ๆ ไปเขาใช้คำว่า "ปล่อยผี" ก็คือพระยายมหยุดการตัดสิน ปล่อยให้ผู้ตายไปโมทนาบุญได้ ปรากฏว่าวันที่ ๒๔ พวกเขาแห่กันมา ๘,๐๐๐ กว่าราย ถึงเวลาญาติโยมปฏิบัติธรรมแล้วอุทิศส่วนกุศล พวกเขาก็นั่งยิ้มแป้นสบายไปตาม ๆ กัน ไม่ต้องเสียเวลาผ่านสำนักพระยายม คราวนี้วันที่ ๒๕ พวกเราทำบุญเยอะกว่า ปรากฏว่าพวกที่มาโมทนากลับน้อยกว่า เพราะเขาไปกันเสียเยอะแล้ว ใจร้อนรีบรับเลยได้น้อยไปหน่อย แต่สำหรับพวกเขาแล้วรับประกันความเสี่ยงก็คือเอารอดก่อน ในเมื่อเอารอดก่อนคุณมีโอกาสก็โมทนาต่อได้ ตอนขึ้นไปใหม่ ๆ มัวแต่เพลิน ตื่นเต้น ตื่นเต้นในความเป็นทิพย์ ตื่นเต้นในความสุขที่ได้รับ ลืมไปว่าคนเขายังคงทำบุญอยู่เรื่อย ๆ |
ถาม : ถ้าไม่โมทนาก็ไม่ได้ ?
ตอบ : เพราะสภาพจิตไม่ได้เปิดรับ ในเมื่อไม่เกิดความยินดีด้วย ก็เหมือนส่งของให้แล้วเราไม่รับ แล้วจะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของของชิ้นนั้นได้อย่างไร เมื่อเราส่งของไป ถ้าเขายินดีก็เอื้อมมือรับมา เขาก็จะได้ของชิ้นนั้นไป เพราะฉะนั้น..การโมทนาบุญคือการเปิดใจตัวเองให้รับความดีของคนอื่น ปกติแล้วคนเราจะยินดีในความดีคนอื่นยากนะ อย่างที่หลวงวิจิตรวาทการท่านบอก "อันที่จริงคนเขาอยากเห็นเราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน" ในเมื่อเป็นอย่างนั้น สภาพจิตที่จะยินดีกับความดีของคนอื่น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นได้ยาก ในเมื่อเขาสามารถยังสภาพจิตตนเองให้ยินดีในผลบุญ คือความดีของคนอื่นได้ ความเพียรพยายามในการยังจิตตนเองให้เข้าถึงและยอมรับความดีของคนอื่นนั่นแหละ เป็นบุญใหญ่ที่เขาจะได้ ก็เลยทำให้เขามีส่วนได้ความดีที่คนอื่นเขาทำไปด้วย เป็นเรื่องที่ทำยากมาก ไม่ใช่แค่ยกมือสาธุแล้วจะได้ อย่างที่อาตมาเคยสรุปว่า การยินดีในผลบุญคนอื่น กับการสาธุของเราในปัจจุบันนั้นคนละอารมณ์กัน การยินดีในผลบุญของคนอื่น ก็คือเขามีโอกาสทำ ในขณะที่เราไม่ได้ทำ เราดีใจที่เขาได้ทำ แต่ปัจจุบันที่ยกมือสาธุแบบของเราก็คือ กูจะเอาของมึง เป็นคนละอารมณ์กัน แล้วจะไปได้อย่างไร ? |
ถาม : คำว่า ตกภวังค์ คือ ?
ตอบ : ตกภวังค์เป็นภาษาไทย ความจริงภวังค์คืออารมณ์ปกติ ถ้าตกภวังค์ก็คือสภาพจิตคลายออกมาสู่ภาวะปกติ แต่คำว่าตกภวังค์ในปัจจุบันของเรานี้ ความหมายคืออาการที่พลัดจากฌาน การที่สมาธิจิตเริ่มเข้าสู่อัปปนาสมาธิอย่างหยาบ สติตามไม่ทัน ในเมื่อสติตามไม่ทันก็เลยหลุดออกมาจากสมาธิขั้นนั้น ความรู้สึกเหมือนกับตกวูบลงมาจากที่สูง บางทีก็เสียวสะดุ้งเฮือกเลย แล้วเราก็ไปเรียกว่าตกภวังค์ ความจริงตีความหมายผิด ภาษาปัจจุบันความหมายผิดไปเยอะ อย่างวิญญาณก็คือความรู้สึกหรือประสาทร่างกายของเรา นี่ตามความหมายของบาลี แต่วิญญาณในปัจจุบันของเราก็คือผีที่จะมาหลอก ความหมายห่างไปหลายโยชน์เลย..! |
ภาษาพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย การที่เราใช้ภาษาบาลีในการจารึกพระไตรปิฎก ก็เพราะว่าบาลีเป็นภาษาที่ไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว เขาใช้คำว่าเป็น "ภาษาที่ตายแล้ว" อย่างเช่น ภุญฺชติ กี่ปี ๆ ก็แปลว่ากิน แปลความหมายอื่นไม่ได้ แต่ภาษาไทยของเรา ถ้าบอกว่ากิน เดี๋ยวก็เป็นรับประทาน ยัดห่า สวาปามอะไรไปเรื่อย ความหมายก็เปลี่ยนไป
ในเมื่อบาลีเป็นภาษาที่ตายแล้ว ก็เลยรักษาพระไตรปิฎกได้ดี คำว่าบาลี มาจากปาลธาตุ แปลว่า ในความรักษา ความหมายก็คือรักษาพระไตรปิฎกเอาไว้ |
ถาม : ทำไมปรทัตตูปชีวีเปรตไม่สามารถอนุโมทนาบุญได้ เป็นเพราะอะไรครับ ?
ตอบ : จริง ๆ แล้วพวกเปรตอยู่ในส่วนของบุคคลที่ยังหนาด้วยบาปกรรมอยู่ ไม่สามารถที่จะโมทนาบุญคนอื่นได้ ต้องรอกรรมเบาบางลงจนถึงระดับที่โมทนาบุญได้ จึงจะเรียกว่าปรทัตตูปชีวีเปรต ก็แปลว่าเปรตทุกจำพวกสามารถที่จะเป็นปรทัตตูปชีวีเปรตได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยต้องรอจนกว่ากรรมของตนจะเบาบางและได้โมทนาบุญ ซึ่งส่วนใหญ่บุญที่โมทนาก็จำกัดว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มีกรรมเนื่องกันมา หรือเป็นญาติเป็นโยมกันมา ถ้าเป็นคนอื่นก็ยังโมทนากับเขาไม่ได้ หรือไม่เขาก็อาจจะไม่นึกถึงเลย เพราะส่วนใหญ่เขาจะให้แต่ญาติของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องรอจนกระทั่ง ๙๑ กัปล่วงไป กรรมของตัวเองเบาบางลง ขณะเดียวกันญาติก็มาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ถึงได้ทำบุญอุทิศไปให้โมทนาได้ ดังนั้น..ไม่ว่าจะว่ากล่าวกันตามลักษณะของพระวินัย หรือว่าในเรื่องของคัมภีร์บาลีต่าง ๆ บางทีก็กล่าวถึงเปรต ๑๒ จำพวกบ้าง ๒๑ จำพวกบ้าง จริง ๆ แล้วก็คือแตกรายละเอียดออกไปอีก อย่างเช่นเขากล่าวถึงเปรตที่มีขนเป็นอาวุธ ทางด้านโน้นก็ไปแตกออกว่ามีขนเป็นหอก มีขนเป็นดาบ มีขนเป็นพระขรรค์ ปาเข้าไป ๓ อย่างแล้ว ในเมื่อเป็นอย่างนั้นก็เลยกลายเป็นว่า จำนวนเปรตมีไม่เท่ากัน แต่ความจริงก็แค่ให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง แต่ว่าเปรตทุกจำพวกต้องรอจนผลกรรมเบาบางลง จึงสามารถโมทนาบุญได้ เขาเรียกว่าปรทัตตูปชีวีเปรต ก็คือเป็นผู้ตายไปแล้วซึ่งยังชีพด้วยการอาศัยผู้อื่น ปร (ปะระ) แปลว่าอื่น ใครเคยท่องบาลีก็จะเจอคำนี้ ถาม : ต้องเนื่องด้วยญาติของตัวเองด้วยจึงจะโมทนาได้ ? ตอบ : เป็นญาติหรือเป็นบุคคลที่มีกรรมเนื่องกันมา ไม่อย่างนั้นแล้วต่อไม่ติด เพราะเป็นโทรศัพท์คนละเบอร์ เราอาจจะคิดว่าทำไมโหดร้ายขนาดนั้น ก็ต้องบอกว่า ตนเองทำไม่ดีไว้มาก พอถึงเวลากรรมก็ต้องส่งผลให้เป็นอย่างนั้นเอง ไม่มีใครไปบังคับเขาหรอก แต่ว่าในส่วนกรรมไม่ดีที่ตนเองได้ทำไว้ ทำให้เป็นเช่นนั้นเอง |
ถาม : ภพชาติยาวไกลนานขนาดนั้น เขาจะไม่เจอญาติอุทิศให้สักคนเลยหรือครับ ?
ตอบ : ลองไปนึกถึงทุสะนะโส ที่อยู่ในโลหะกุมภีนรกที่เขาว่า สัฏฐีสะตะสหัสสานิ เป็นคำต้นของคำว่า สะ คือ ๖ แสนปีผ่านไปได้เจอหน้าพวกกันในนรกแวบเดียว เราลองคิดว่า ๙๑ กัปไม่ได้เจอหน้าญาติตัวเองเลยนี่ถือเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราเห็นตรงจุดนี้ก็จะเห็นว่า วัฏสงสารเป็นเรื่องที่ยาวไกลและน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น..บุคคลที่เห็นภัยในวัฏสงสาร จะพยายามขวนขวายหาทางหลีก หาทางหนีไปให้พ้น ถ้าเห็นเป็นของน่ากลัวเรียกว่า ภยตูปัฏฐานญาณ ถ้ากลัวแล้วเกิดความเบื่อหน่าย เรียกว่า อาทีนวานุปัสสนาญาณ เบื่อหน่ายแล้วแสวงหาทางหลุดพ้น เรียกว่า มุญจิตุกัมยตาญาณ ก็คือจะเป็นความรู้เป็นขั้น ๆ ไป บางทีก็เกิดรวดเดียวเลย แต่ท่านที่เข้าถึงรายละเอียดตรงนี้จะแยกได้ว่าอันนี้เป็นอย่างนี้ |
ถาม : พระมาลัยใช่องค์เดียวกับของมหายานหรือไม่ครับ ?
ตอบ : ใช่...มหายานเขาเรียกยูไลฮุดโจ้ว ก็คือพระมาลัย ถาม : ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ? ตอบ : พระยูไลไม่ใช่พระพุทธเจ้า ถาม : ตีจั่งอ๊วง ? ตอบ : ตีจั่งอ๊วงเป็นพระกษิติครรภโพธิสัตว์ ไม่ใช่พระอรหันต์ พระมาลัยนี่เป็นพระอรหันต์ ภาษาจีนเขาพยายามจะเลียนแบบบาลีแล้ว แต่ออกเสียงตรงไม่ได้ อย่างพระศากยมุนี เขาเรียก เซ็กเกียมอนี้ อย่างพระอานนท์ ก็เป็นอานันท้อ บาลีเรียกอานันทะ พระราหุลก็เป็นเล่าหู่ล้อ พระปิณโฑลภารทวาช ก็เรียกปินโทล่อ เขาก็เรียกของเขารู้เรื่อง พระตีจั๊งอ๊วงปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายก็ไม่ใช่ แต่ท่านตั้งความปรารถนาไว้ว่า ถ้าตราบใดในวัฏสงสารยังมีสัตว์ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์นั้น ท่านจะยังไม่ไปพระนิพพาน ดังนั้น..ถึงจะไม่ใช่องค์สุดท้ายก็คงใกล้เคียง |
ถาม : คำสอนในมหายานกับเถรวาทนี่ต่างกันมาก ?
ตอบ : พระพุทธเจ้าพยายามละเว้นธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า แต่ท่านทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อไปรู้เห็นแล้วถูกจริตตัวเอง ก็เลยนำมาสั่งสอนกัน จึงกลายเป็นสายมหายานขึ้นมา คำว่า "ธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า" ก็คือพระพุทธเจ้าพยายามให้พวกเราไปพระนิพพานให้เร็วที่สุด แต่สายพระโพธิสัตว์ต้องอยู่สร้างบารมีจนกว่าจะบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งมองไม่เห็นต้นเห็นปลายเลย แต่ท่านที่มาสายเดียวกันเห็นเข้าถูกใจ ก็เลยไปเอามาแนะนำสั่งสอนกันต่อ เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระนาคารชุน พระนาคารชุนทำให้มหายานปรากฏชัดเจนมาก เพราะว่าท่านนี้มีลักษณะคล้าย ๆ พระมาลัย ขึ้นฟ้าลงบาดาลเป็นปกติเลย ถาม : พระนาคารชุนเป็นพระอรหันต์หรือพระโพธิสัตว์ครับ ? ตอบ : น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์เต็ม ๆ ขนาดเขามาฆ่าตัวเอง ยังช่วยบอกวิธีฆ่าให้เขาเสร็จสรรพ |
ถาม : การที่เขานิยมปั้นพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม เป็นเพราะว่าเพศหญิง เป็นเพศที่มีความอ่อนโยนมากกว่า ?
ตอบ : จะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าจริง ๆ แล้วการสร้างบารมี เราต้องเกิดเป็นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ชาติที่ท่านสร้างบารมีแล้วคนรู้จักมาก อาจจะเป็นเพราะไปเกิดในแผ่นดินใหญ่แล้วประชากรมาก ก็คือชาติที่ท่านเกิดเป็นเจ้าแม่กวนอิม ก็คือองค์หญิงเมี่ยวซ่าน ก็เลยทำให้คนเขาติดว่า รูปแบบของความเป็นท่านก็คือองค์หญิงเท่านั้น แล้วก็ปั้นเป็นผู้หญิงมาตลอด เพราะฉะนั้น..เราจะพิจารณาตามแบบของเขาก็ได้ เพราะถือว่าเป็นพัฒนาการทางศิลปะอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเรามาถือในเรื่องของการสร้างบารมีก็คือ ชาติที่เป็นผู้หญิงเขารู้จักมากกว่า แต่ถ้ามาดูจริง ๆ เจ้าแม่กวนอิมท่านมี ๘๐ กว่าปาง ในเมื่อมี ๘๐ กว่าปาง เขาก็เลยว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นผู้ชาย แล้วมีอยู่ปีหนึ่งประมาณปี ๒๕๔๔-๒๕๔๕ มีโยมคนหนึ่งเขาทำรูปเจ้าแม่กวนอิม ๘๐ กว่าปางไปให้วัดท่าขนุน เป็นลักษณะเสี่ยงเซียมซี เขาทำลักษณะเป็นเหมือนอัลบั้มเลย ให้อธิษฐานแล้วเปิด พอเจอรูปไหนก็พลิกดูข้างหลังรูปจะมีคำทำนาย เข้าท่าดีเหมือนกัน ต้องอธิษฐานด้วยใจที่เคารพมั่นคงจริง ๆ แล้วก็เสี่ยงเปิดขึ้นมา เขาก็จะบอกว่าเป็นพระโพธิสัตว์ปางนี้ เป็นบารมีอะไร แล้วก็ทำนายในลักษณะที่ว่า เราจะต้องเจออะไรในสภาพใกล้เคียงกัน ถาม : ถ้าเป็นนิตยโพธิสัตว์ต้องเป็นผู้ชายหรือครับ ? ตอบ : ไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอก แค่ในอุปบารมีขั้นปลายก็เริ่มเป็นผู้ชายแล้ว ถาม : แล้วทำไมเจ้าแม่กวนอิมไม่เกิดเป็นผู้ชาย ? ตอบ : ในส่วนของอุปบารมีเบื้องต้น เบื้องกลางก็ยังต้องเกิดเป็นผู้หญิง มักจะเป็นส่วนที่ต้องสร้างบารมีหนักหนาสาหัสมาก พวกบรรดาปัญจมหาบริจาคส่วนใหญ่ก็จะเล่นกันในสมัยนี้แหละ พอมาถึงสมัยของปรมัตถบารมี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา หรือการเข้าถึงหลักธรรมไปแล้ว |
ถาม : ในบารมีทั้ง ๑๐ การให้ทานต้องเริ่มก่อน ?
ตอบ : การบำเพ็ญบารมีจะเริ่มบารมีไหนก็ได้ แต่เมื่อเริ่มในบารมีนั้น บารมีตัวอื่น ๆ จะตามมาเอง เราจะเห็นว่า ถึงแม้จะเป็นพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ก็ตาม บารมีท่านยังต่างกันไป ยิ่งถ้าพระอรหันต์จะเห็นชัดเลยว่า เอตทัคคะทั้ง ๔๑ องค์ ความสามารถจะต่างกับท่านอื่นอย่างชัดเจน เกิดจากการเริ่มต้นสร้างบารมีมา อย่างเช่นถ้าเริ่มต้นด้วยปัญญาบารมีมา ก็จะเด่นในทางปัญญาอย่างพระสารีบุตร ถ้าเริ่มต้นด้วยทานบารมีก็จะเด่นทางลาภอย่างพระสีวลี เป็นต้น แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็เช่นกัน หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า พระพุทธเจ้ามีนามว่าพระพุทธกัสสปและพระพุทธทีปังกร ๒ พระองค์นี้ท่านเริ่มด้วยทานบารมี เพราะฉะนั้น..ลาภผลของท่านจะมากเป็นพิเศษ เมื่อเป็นอย่างนั้น เรื่องของการสร้างบารมี เราจะเริ่มต้นด้วยบารมีไหนก็ได้ แต่เมื่อเริ่มต้นแล้วบารมีอื่นก็ต้องตามมาเอง อย่างเช่นเราเริ่มต้นด้วยปัญญาบารมี คนมีปัญญาบารมีก็ต้องเห็นว่าทานบารมีเป็นเรื่องดี เราควรทำไว้ บุคคลที่จะมีทานบารมีได้ ก็ต้องมีเมตตาสงเคราะห์ผู้อื่นเขาถึงจะให้ได้ บุคคลที่จะมีเมตตาได้ ก็ต้องมีศีลเป็นปกติ ศีลบารมีก็ต้องมี ไล่ไปเรื่อย สรุปก็คือเริ่มต้นด้วยบารมีไหน อีก ๙ อย่างก็จะตามมาเอง เพียงแต่ว่าจังหวะการเริ่ม ทำให้ความเด่นด้านบารมีนั้นติดข้ามชาติข้ามภพไปด้วย ถึงเวลาก็ไปได้ดีปรากฏชัดเอาในช่วงสุดท้าย อย่างพระสีวลี อ่านในพระธรรมบทแล้วตลก เทวดาเขาแห่มาทำบุญกับพระสีวลี ไม่สนใจพระพุทธเจ้าเลย เขาใช้คำว่า "พระผู้เป็นเจ้าของเรามาแล้ว" เอาของมาถวายพระสีวลี พระสีวลีก็น้อมของนั้นถวายพระพุทธเจ้ากับคณะสงฆ์ ถ้าเป็นเราจะเป็นอย่างไร ? ถ้าใช้กำลังใจปุถุชนก็คงโกรธเทวดาไปเลย..ใช่ไหม ? ทำไมมองไม่เห็นหัวเรา แต่พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ที่ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว ความยินดียินร้ายไม่ได้มีอยู่ในใจพระองค์ท่าน ดังนั้น..การที่จะไปอิจฉาลูกศิษย์ก็ไม่ปรากฏ ไม่ใช่อาจารย์ขององคุลีมาลเถระ นั่นท่านอิจฉาลูกศิษย์ โดนเป่าหูเข้าก็เลยเชื่อเอาง่าย ๆ |
ถาม : ทำอย่างไรจิตจึงจะละเอียดครับ ?
ตอบ : พยายามทำ...คุณไม่ได้ใช้ความพยายาม วัน ๆ เอาแต่ฟุ้งซ่านอย่างเดียว แล้วเมื่อไรจะดีขึ้น..?! |
ถาม : พระองค์นี้ควรบูชาหรือไม่ครับ ?
ตอบ : คำว่าพระแปลว่าผู้ประเสริฐ ควรบูชาหรือไม่ให้ตัดสินใจเอาเอง..! |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:18 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.