![]() |
ถาม : คนหนึ่งที่เกิดมาบำเพ็ญเพื่อเข้าพระนิพพาน ทำไมใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน?
ตอบ : ระยะเวลายาวสั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของตน ถ้าสามัญสำนึกรู้สึกว่าพอแล้วก็จะไปเร็ว แต่ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พอก็ไปต่ออีกเรื่อย โดยเฉพาะแต่ละอย่างที่เข้ามาในชีวิต มักจะเป็นสิ่งที่เราชอบ วันก่อนบอกว่า ถ้าเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ เราจะตั้งหน้าตั้งตาผลักไสไปตั้งแต่แรก ก็จะผ่านได้ง่ายกว่า แต่สิ่งที่เราชอบ เราไม่อยากจะผลักไส ก็กลายเป็นว่าต้องใช้ สติ สมาธิ ปัญญา ที่สูงกว่ามาก ไม่อย่างนั้นก็หลุดพ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น..แต่ละอย่างที่กิเลสเอามาเป็นตัวถ่วงเรา เป็นของที่เราชอบทั้งนั้น แต่เราชอบแค่ไหนก็ต้องตัดใจ เช่น ไม่กิน ถ้าไม่กินได้อย่างอื่นก็เลิกได้เหมือนกัน เพราะใช้กำลังใจเท่ากัน |
ถาม : (ไม่ได้ยิน)
ตอบ : การปฏิบัติไม่มีทางลัด มีแต่ทางตรงและลำบากทุกอย่าง เพียงแต่ว่าถ้าหากเราต่อสู้ ก็ไม่มีอะไรเกินความสามารถ ยกเว้นว่าเราไม่สู้เท่านั้น ในเมื่อเราเห็นว่านี่เป็นทางเดียวที่จะหลุดพ้นได้ ก็ต้องทุ่มเทจริงจัง รักษาศีลก็ต้องรักษาจริง ๆ ทำสมาธิก็ต้องทำสมาธิจริง ๆ ใช้ปัญญาพิจารณาก็ต้องพิจารณาจริง ๆ ฉะนั้น..ต้องทุ่มเทกับมัน ทำเล่น ๆ ไม่ได้ อันนี้เป็นการศึกการสงคราม ทำเล่นเมื่อไรก็ตายฟรี..! |
ถาม : ผมเคยฝึกมโนฯ ครึ่งกำลังที่ซอยสายลม ตอนนี้ปฏิบัติภาวนาพุทโธ แต่ว่าภาวนาพุทโธแล้วมีแสงสว่างอะไรมา ท่านก็ให้ทิ้ง ให้ภาวนาพุทโธแบบเร็ว ๆ
ตอบ : อยู่ที่ว่าเราจะเอาแบบไหน ถ้าพุทโธต้องเอาพุทโธ แต่ถ้านะมะพะธะแล้วเห็นแสงสว่างมาต้องไปกับแสง ขึ้นอยู่ที่เรา เราต้องเลือกให้แน่นอนสักอย่าง ถ้าทำกรรมฐานหลายอย่าง แล้วยังไม่ถึงที่สุดจริง ๆ มักจะไม่ได้ผล ต้องทำให้ได้ผลไปทีละอย่าง |
ถาม : นั่งสมาธิแล้วบังเอิญเกิดนิมิตกสิณ จะจับนิมิตนั้นต่อไปหรือว่าต้องทิ้ง ?
ตอบ : ลองไปบังเอิญใหม่อีกที ถ้าทำได้เลยเราก็จับนิมิตต่อไป แต่คราวนี้จะยากตรงที่เราไปอยากได้ ถ้าเราทำแล้วเราไม่อยากได้..เดี๋ยวก็มาอีก ถ้าเราทำแล้วไปอยากได้อย่างนั้นอีก ก็จะไม่มา ไปลองบังเอิญอีกสักทีก็แล้วกัน ถ้าได้อีกก็ให้จับนิมิตนั้นต่อไปเลย ถาม : ต้องไปอยู่วัดหรือไม่ ? ตอบ : ไม่ต้องไปที่ไหนหรอกจ้ะ เพราะไม่ว่าไปที่ไหนเราก็ต้องทำด้วยตัวเราเอง มีอย่างเดียวก็คือ ตั้งหน้าตั้งตาทำให้จริงจัง ไปที่ไหนก็ตาม ครูบาอาจารย์ก็มีหน้าที่บอกเท่านั้น แต่ที่ต้องฝึกก็คือเราเอง สำคัญที่ว่าเราจะทำจริงไหม ? ถ้าทุ่มเทให้จริง ๆ ก็ได้ผล ถ้าไม่ทุ่มเทเดี๋ยวก็สลายตัว เพราะกระแสโลกมันแรง |
ถาม : ผมภาวนาโดยดูองค์พระ คำภาวนานี่จะเป็นอะไรก็ได้ใช่ไหมครับ?
ตอบ : ถ้าหากว่าเป็นภาพพระ ใช้คำภาวนาที่เป็นพุทธานุสติก็จะตรงกว่า ใช้พุทโธก็ได้ หรือจะเป็นอิติปิโสทั้งบทก็ได้ สัมมาอะระหังก็ได้ ถาม : เคยได้ยินว่า ถ้าสนใจอภิญญาให้ภาวนาว่า สัมปะจิตฉามิ ใช่ไหมครับ ? ตอบ : สัมปะจิตฉามิก็ได้ แต่ว่าต้องทำจริง ๆ อย่างน้อย ๆ ต้องภาวนาต่อเนื่องเช้าชั่วโมงหนึ่ง..เย็นชั่วโมงหนึ่ง เรื่องของอภิญญาต้องสม่ำเสมอและจริงจัง ถ้าไม่สม่ำเสมอแล้วเกิดยาก ถาม : ถ้าเราจับองค์พระแล้ว ไม่ต้องกลับไปกสิณกองอื่นใช่ไหมครับ ? ตอบ : ถ้าจับภาพพระ สมมติว่าเป็นพระแก้วก็เป็นอาโลกสิณอยู่แล้ว ถ้าเป็นพระสีเหลืองหรือสีทองก็เป็นปีตกสิณ สีเขียวก็นีลกสิณ สีแดงก็เป็นโลหิตกสิณ ถ้าหากเป็นพระหยกหรือพระสีขาวก็เป็นโอทาตกสิณ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกสิณอยู่แล้ว แต่เป็นกสิณควบพุทธานุสติ ถ้าอยากได้หลายอย่างจำเป็นต้องทำในลักษณะนี้ |
ถาม : การปฏิบัติที่เข้มข้น ถือศีลภาวนา จะบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ได้อย่างไร ?
ตอบ : จริง ๆ แล้ว เรื่องของการภาวนาสามารถแก้กรรมได้ดีที่สุด เพียงแต่เราต้องทำจริงจังสม่ำเสมอ วิธีบรรเทาทุกข์ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ต้องหยุดคิดให้เป็น การจะหยุดคิดก็คือ ต้องให้ความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับปัจจุบัน คือ อยู่กับลมหายใจเข้าออกตรงหน้า เราจะสังเกตว่าทุกครั้งที่เราเกิดความรู้สึกทุกข์ขึ้นมา เพราะเราไปคิดถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว หรือฟุ้งซ่านในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ฉะนั้น..หยุดคิดให้เป็นแล้วจะทุกข์น้อยลง อยู่กับการภาวนาดีที่สุด |
ถาม : เด็กนักเรียนเขาบอกว่า ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ อยากจะออกจากร่างกายนี้
ตอบ : สอนเขาสิ ให้เริ่มต้นภาวนาเลย บอกเขาว่า ร่างกายนี้มีอีกร่างซ้อนกันอยู่ เหมือนกับรถและคนขับรถ เราต้องหาทางเปิดประตูลงจากรถให้ได้ วิธีการเปิดประตูลงจากรถนั้น เขาให้กำหนดความรู้สึกอยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้ตามไปจนสุด หายใจออกรู้ตามไปจนสุด ลักษณะเหมือนกับเรากำลังเซาะตัวเราที่ติดผนังอยู่ ถ้าหากเราทำไปได้เรื่อย ๆ ในระยะเวลาที่ยาวนานพอ เราอาจจะเซาะตัวหลุดออกมาแล้วก็ไปได้ คราวนี้เราจะไปไหนก็อยู่ที่เรา ไม่ได้หลอกเด็กนะ แต่พูดให้เด็กเข้าใจง่ายที่สุด แต่ต้องบอกเขาว่า จะต้องมีความอดทนที่จะทำ เพราะกิเลสเขาพยายามจับตัวเราให้แน่นที่สุดเท่าที่จะแน่นได้ เหมือนกับทากาวติดไว้ เราจึงต้องรีบเซาะไปเรื่อย ๆ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะไม่ทัน ถ้าทันได้เมื่อไร ก็หลุดได้เมื่อนั้น ถาม : เด็กเขาคงรู้ทันและทำสมาธิเป็น ตอบ : ทำเป็น แต่ก็ต้องบอกเขาว่าทำสมาธิไปเพื่ออะไร ถาม : ต้องกลับไปสอนเขาใหม่อีกรอบด้วย ว่าร่างกายเป็นคนคิดหรือจิตเป็นคนคิด ตอบ : อย่าสอนให้ยากเกิน ยากเกินเดี๋ยวเขาจะเก่งเกินอาจารย์..! ถาม : อย่างเวลาเขากิน ก็ถามว่าใครกิน เรากินหรือร่างกายกิน เขาก็จะบอกว่าร่างกายกิน เราไม่ได้กิน กระตุ้นถามบ่อย ๆ อย่างนี้ไม่ดีหรือคะ? ตอบ : ก็ดี ถ้าหากปัญญาเขาไม่ถึงระดับที่จะแยกอย่างนั้นได้ เขาก็ฟังผ่านหูไปเฉย ๆ ถาม : แล้วถ้าเขาถาม... ตอบ : อันดับแรกให้เขารักษาศีลให้ได้ก่อน เพราะศีลเป็นพื้นฐานของทุกอย่างเลย ถ้าหากรักษาศีลได้ ต่อไปก็สมาธิ โดยยืนยันกับเขาไปเลยว่า สมาธิช่วยให้เรียนเก่งแน่นอน ถาม : แล้วจะล่อหลอกเขาอย่างไร ? ตอบ : ก็บอกให้เขากลับไปทำที่บ้าน ก่อนนอนให้พุทโธสัก ๓ - ๕ นาทีก็ได้ ถ้าใครอยากเก่งมากก็เพิ่มระยะเวลาขึ้นไป แต่ควรจะต้องรู้ตัวด้วยว่า เราเองควรจะต้องพักผ่อน ทำอย่าให้เกิน ๓๐ นาที ยกตัวอย่างอาตมาก็ได้ ว่าเรียนตอนแก่ ๆ ก็ยังเก่ง เพราะได้สมาธิช่วย |
ถาม : สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคืออะไร ?
ตอบ : แต่ละคนมีเป้าหมายในชีวิตไม่เหมือนกัน สำหรับพระคือการพ้นทุกข์ แล้วสำหรับคุณคืออะไร ? แต่ละคนเหมือนกำลังเดินอยู่บนทางที่ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเป้าหมายของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ในโลกนี้มีความดีขั้นพื้นฐานซึ่งไม่ว่าชาติไหนหรือภาษาไหนก็ยอมรับ อย่างเช่นว่า ความกตัญญู ความเป็นคนมีศีลมีธรรม เป็นต้น แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็เป็นเพียงความดีขั้นต้นเท่านั้น ยังมีความดีที่สูงขึ้นไปกว่านั้นอีก ถาม : ความดีทั้งหลายเหล่านี้ก็เพื่อความสุขในเบื้องต้น ? ตอบ : ใช่..ความดีทั้งหลายเหล่านี้ก็เพื่อความสุขในเบื้องต้นเท่านั้น ถ้ายังต้องการความสุขที่มากกว่านั้นอีกก็มี แต่ต้องค่อย ๆ ศึกษาและปฏิบัติไป แล้วเราก็จะรู้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักอยู่ ๓ ประการ ขั้นแรกก็คือ ถ้าทำตามท่านจะมีประโยชน์สุขในปัจจุบัน การมีความสุขในปัจจุบันคือ คนอื่นเขาเห็นว่าเราเป็นคนดี ยินดีคบค้าสมาคมด้วย ขณะเดียวกันเราที่ปฏิบัติในศีลในธรรม เราก็ไม่ต้องไปให้เบียดเบียนคนอื่น ถ้าความดีมีมากพอ คนอื่นก็ไม่เบียดเบียนเราด้วย นี่เป็นความสุขในปัจจุบันที่จะได้รับ พระองค์ท่านยังสอนถึงความสุขในอนาคตเบื้องหน้า ก็คือ ถ้ากำลังใจทรงตัวมั่นคง เราก็ไปดี อย่างเช่นไปสวรรค์ ขณะเดียวกัน ถ้าต้องการความสุขสูงสุดก็มี คือ การหลุดพ้นไปนิพพาน เพราะฉะนั้น..จึงเป็นทั้งความสุขในปัจจุบัน ความสุขในอนาคต และความสุขสูงสุด หลักการขั้นต้นทั่ว ๆ ไป ก็คือ ไม่มีใครอยากให้เขามาฆ่าเรา ถ้าเราตั้งใจว่าเราจะไม่ฆ่าใคร ไม่เบียดเบียนใคร โลกทั้งโลกไม่มีการฆ่ากัน ไม่มีการเบียดเบียนกัน ก็จะมีความสุข ไม่มีใครต้องการให้ผู้อื่นมาลักขโมยของของเรา ถ้าเราไม่ลักขโมยของของใคร คนอื่นไม่ลักขโมยซึ่งกันและกัน โลกทั้งโลกนี้ก็จะมีความสุข ของที่เรารัก คนที่เรารัก ไม่มีใครอยากให้ใครมาแย่งไป ถ้าเราไม่คิดจะแย่งชิงคนอื่นเขา คนอื่นไม่คิดจะแย่งชิงของเรา ทุกคนก็มีความสุข เรื่องของความจริงใคร ๆ ก็ปรารถนา ถ้าทุกคนพูดจริงต่อกัน มีความปรารถนาที่จริงจังจริงใจต่อกัน ไม่มีการโกหกหลอกลวงกัน ไม่มีการฉ้อโกงกันด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากวจีกรรม ทุกคนก็จะมีแต่ความสุข และท้ายสุดถ้าไม่มีใครเบียดเบียนตัวเองด้วยสุรายาเสพติดต่าง ๆ ตัวเองตลอดจนครอบครัวและคนรอบข้างก็จะมีความสุข อันนี้เป็นความต้องการของมนุษย์ทุกรูปทุกนามเลย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราทำเพื่อตัวเราเอง แต่เมื่อทำแล้ว คนรอบข้างจะได้รับผลนั้นไปด้วย ในเมื่อพื้นฐานขั้นต้นเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องตั้งเป้าไว้เลยว่า เราต้องทำให้ได้ หมายเหตุ : เจ้าของคำถามนี้เป็นชาวต่างชาติ มีล่ามแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่งค่ะ |
พระอาจารย์กล่าวให้ฟังว่า "มีคนถามหลวงพ่อชาว่า ท่านไปสอนธรรมะให้ฝรั่งได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่พูดภาษาฝรั่งไม่ได้เลย หลวงพ่อชาท่านถามกลับสั้น ๆ ว่า "เคยไถนาไหม ? ตอนคุณสอนควายให้ไถนา คุณต้องพูดภาษาควายได้หรือเปล่า ? ท่านบอกว่า ท่านสอนเขาด้วยความจริง"
|
พระอาจารย์กล่าวให้ฟังว่า "เรื่องของคนเราเกิดมาเพื่ออะไร ? เป็นคำถามโลกแตกมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว เขาก็พยายามแสวงหาคำตอบกันตลอดมา จนกระทั่งท้ายสุดสรุปลงตรงที่ว่า ต้องมีการหลุดพ้น
แต่ว่าการหลุดพ้นของแต่ละสำนัก เขาไม่สามารถที่จะลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีหนทางของตนเอง อย่างเช่นว่า ฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ เขาก็บอกว่าไปรวมอยู่กับปรมาตมัน ปรมาตมัน คือ พลังงานอันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นที่รองรับจิตวิญญาณทั้งหมด ถ้าเป็นศาสนาคริสต์ ก็ว่าเขาจะได้ไปอยู่กับพระเจ้า แต่ท้ายสุดพระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบจริง ๆ ว่า มีสถานที่ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ว่าการจะไปซึ่งสถานที่นั้น จะต้องอยู่ในลักษณะเป็นผู้ที่ปล่อยวาง ไม่เอาอะไรไปเลย ลักษณะเหมือนกับว่าในเมื่อไม่เอาอะไร ท้ายสุดคุณก็จะได้สิ่งนั้น อย่างพราหมณ์ฮินดู เกิดก่อนศาสนาพุทธหลายพันปี แต่ก็ยังคงตะเกียกตะกายดิ้นรนอยู่ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ท่านก็สรุปรวมว่า บรรดาลัทธิต่าง ๆ ที่พวกพราหมณ์เขาสอนถึงวิธีการหลุดพ้น มีถึง ๖๒ ลัทธิด้วยกัน ที่เขาเรียกว่าเป็น ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ มีอยู่ ๑๘ ลัทธิ อปรันตกัปปิกทิฏฐิ อีก ๔๔ ลัทธิ ตอนแรกที่ศึกษาอยู่ อ่านพระไตรปิฎกมีความสงสัยว่า ในเมื่อลัทธิต่าง ๆ เหลวไหลขนาดนั้นทำไมคนจึงเชื่อ ? อย่างครูทั้ง ๖ ได้แก่ มักขลิโคสาล ปูรณะกัสสปะ อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถ์นาฏบุตร ถ้าลัทธิเหลวไหลขนาดนั้นทำไมคนจึงเชื่อ ? ปรากฏว่าพอไปศึกษาในพรหมชาลสูตรแล้ว ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล เพียงแต่ว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นรู้ไม่ครบ ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิทั้ง ๑๘ ลัทธิ เขาสามารถระลึกชาติได้ ระลึกย้อนชาติได้ตั้งแต่แสนชาติขึ้นไป จนกระทั่งถึงหลายสิบกัป ก็เลยตั้งลัทธิของตนเองขึ้นมา จะมากจะน้อยก็ตามแต่ที่ตนเองรู้เห็น แล้วสามารถยืนยันได้ เขาจึงเชื่อกัน ส่วนอปรันตกัปปิกทิฏฐิยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะเขาเห็นอนาคต ในเมื่อเขาเห็นอนาคต เขาจึงบัญญัติว่าโลกเที่ยงบ้าง ไม่เที่ยงบ้าง มีทั้งเที่ยงบ้างและไม่เที่ยงบ้างให้ยุ่งกันไปหมด เพราะแต่ละคนรู้เห็นยาวสั้นไม่เท่ากัน เราจึงเข้าใจได้ว่าแต่ละคนที่จะมาเป็นเจ้าสำนักจริง ๆ ล้วนแล้วแต่มีความสามารถทั้งนั้น เพียงแต่ว่ารู้ไม่ครบเท่าพระพุทธเจ้าเท่านั้น" |
"คราวนี้เราจะเห็นอัจฉริยภาพอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า สมมติว่าแต่ละสำนักเป็นเสือ สิงห์ กระทิง แรด ร้อยสำนักประชันขันแข่งกันอยู่ แล้วจู่ ๆ พระพุทธเจ้าก็โผล่ขึ้นมา ถ้าเป็นเรา คนอื่นเขาลงรากปักฐาน มีบริวารกันเต็มเมืองแล้ว ส่วนเราเพิ่งเกิดได้ไม่นาน จะทำอย่างไร ?
พระพุทธเจ้าจึงต้องเสาะหาว่า จะมีใครเป็นพยานการรู้เห็นของพระองค์ท่าน พยานการรู้เห็นที่น่าจะง่ายที่สุดก็คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร และ อุทุกดาบส รามบุตร เพราะทั้งสองได้สมาบัติ ๗ และสมาบัติ ๘ ซึ่งมีอารมณ์คล้ายวิปัสสนาญาณมาก สมาบัติ ๗ ก็คือ อากิญจัญญายตนะ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือเลย แต่คราวนี้ไม่ปลดในอารมณ์ ยังไปยึดเกาะอยู่ ส่วนสมาบัติ ๘ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่เอาอะไรแล้ว รู้ก็เหมือนไม่ได้รู้ เห็นก็เหมือนไม่ได้เห็น มีความรู้สึกก็เหมือนว่าไม่มี พอเล็งข่ายพระญาณไป ปรากฏว่าอาฬารดาบส กาลามโคตร ตายไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว อุทกดาบส รามบุตร เพิ่งตายเมื่อวันนี้นี่เอง ถ้าพระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาตั้งแต่วันแรกที่บรรลุ ก็จะทันพระอาจารย์ทั้งสอง แต่พระองค์ท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่ ๔๙ วัน ทำให้เลยกำหนดไป เรียกว่าท่านอาจารย์ทั้งสอง บุญมีแต่กรรมมาบัง ในเมื่ออาจารย์ทั้งสองตายไปเกิดเป็นอรูปพรหม ไม่สามารถที่จะมีอายตนะรับรู้หรือสื่อสารกับใครได้ พระองค์ท่านก็ต้องพุ่งเป้าใหม่ จะไปสอนคนทั่วไป..สมัยนั้นเขาก็ถือเนื้อถือตัวกันเต็มที่ โดยเฉพาะบุคคลที่โกนศีรษะ นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ เขาจะถือว่าเป็นจัณฑาลหรือกาลกิณี จะไม่มีใครเข้าใกล้ พระองค์ท่านก็นึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์เชื่อถือศรัทธากันมาก่อน ถ้าไปประกาศธรรม ท่านทั้งหลายเหล่านี้สามารถที่จะรู้ได้ ก็เลยเดินทางจากอุรุเวลาเสนานิคม ไปยังป่าอิสิปตนมฤคาทายวัน เป็นระยะทางปัจจุบันอยู่ที่ ๒๓๐ กิโลเมตร พอไปถึง ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เชื่อว่า การตรัสรู้ธรรมจะเกิดขึ้นได้ด้วยการทรมานกายตามแบบของพราหมณ์อย่างเดียว จึงไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าจึงต้องตรัสย้ำว่า "ตถาคตเคยกล่าวว่าตนเองบรรลุธรรมมาก่อนหรือไม่ ?" ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงนึกขึ้นมาได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่ออกมหาภิเนษกรมณ์ อยู่ร่วมกันมา ๖ ปีเต็ม ๆ ไม่เคยกล่าววาจาอะไรที่เป็นเท็จ จึงได้ยอมเชื่อและน้อมใจรับฟัง " |
"พระพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักรกัปวัตตนสูตร ทำลายความเชื่อของพราหมณ์ที่มีมาแต่อดีต เพราะท่านบอกว่าลัทธิที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนก็ดี กามสุขัลสิกานุโยค ติดสบายเกินไปก็ดี ใช้ไม่ได้ทั้งคู่
เขาอุตส่าห์ศึกษามาเป็นพัน ๆ ปี แล้วบอกว่าใช้ไม่ได้ อยู่ ๆ ก็มีวิธีที่สามขึ้นมา ถ้าไปประกาศกลางตลาด อาจโดนรุมแน่นอน แล้วถ้าเราเป็นปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ฟังแล้วจะเชื่อไหม ? นี่เกิดจากเหตุสองประการด้วยกัน ประการแรก ปัญจวัคคีย์ท่านมีบุญเดิมที่เป็นปุพเพกตปุญญตาจริง ๆ ก็เลยทำให้ตั้งใจฟังโดยไม่คัดค้านก่อน ประการที่สองก็คือ ท่านเป็นผู้มีปัญญา พอฟังแล้วสะดุดหูทันทีเลย ที่เขาทำมา ถ้าหากมีผลจริง ๆ เจ้าชายสิทธัตถะที่ท่านทรมานตนเสียยิ่งกว่าใครเคยทรมานมาก่อน ก็ต้องบรรลุไปแล้ว ในเมื่อพระองค์ประกาศว่าวิธีบรรลุเป็นวิธีอื่น ก็ต้องฟัง พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสถึงมัชฌิมาปฏิปทา ที่เป็นมรรค ๘ ย่อลงเหลือศีล สมาธิ ปัญญา ปรากฏว่าทั้งหมดที่ว่ามาตั้งแต่ต้น ก็คือ มรรค ๘ และอริยสัจ ๔ รวมกันทั้งหมดแล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะสรุปว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดแต่เหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นย่อมดับไป ประโยคนี้ไม่มีในคำสอนตั้งแต่ต้นจนถึงท้าย แต่พระอัญญาโกณฑัญญะท่านสรุปได้ บรรลุมรรคผลกันตรงนั้นเอง เป็นผลงานของตนเองขึ้นมาได้ ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ตัดแปะ..! เมื่อท่านโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จนกระทั่งบรรลุมรรคผลได้ทั้งหมดแล้ว ก็นับว่ามีพยานในการตรัสรู้ของพระองค์ท่านแล้ว เมื่อมีบุคคลรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็ทำให้พระองค์ท่านมั่นใจว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นไม่ยากเกินไป บุคคลที่ปัญญาถึงยังมีอยู่ พระองค์ท่านก็ตั้งใจเผยแผ่พระศาสนา ทีนี้การเผยแผ่พระศาสนานั้น อย่าลืมว่าการขัดแย้งกันนั้น สมัยหลัง ๆ เขาฆ่ากันตายจนนับไม่ถ้วนแล้ว ของคนอื่นเขามีอยู่แล้ว ๖๒ สำนัก ตัวเองอยู่ ๆ โผล่ขึ้นมา ก็ต้องวางแผนกันให้ดีก่อน แต่พระพุทธเจ้านั้นสัพพัญญุตญาณท่านยอดเยี่ยมอยู่แล้ว จะทำอะไรลำดับขั้นตอนได้ภายในวินาทีเดียว" |
"พระองค์ท่านก็เสด็จไปเพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารก่อน โดยถือพันธะสัญญาเดิมที่ตกลงกันไว้ว่า ถ้าพระองค์ท่านตรัสรู้แล้ว ให้มาโปรดพระเจ้าพิมพิสารด้วย
การที่จะไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จู่ ๆ ให้เดินเข้าไป เขาก็อาจจะไม่เชื่อ พระองค์ท่านก็ต้องเล็งหาว่า จะเข้าทางใครก่อนดี ท่านเล็งไปที่ชฎิลสามพี่น้อง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากบริวารที่ออกบวชเพื่อปฏิบัติตามลัทธิบูชาไฟ มีถึง ๑,๐๐๐ คน เราลองนึกว่า ถ้ามีพระนั่งห่มเหลืองอยู่ ๑,๐๐๐ รูป แสดงว่าเจ้าอาวาสต้องมีศักยภาพมาก ต้องเก่งมากแน่ ๆ เลย ในระหว่างที่เดินทางไปหาชฎิลสามพี่น้อง ก็โปรดผู้อื่นระหว่างทาง เก็บเบี้ยใต้ถุนร้านไปเรื่อย เริ่มจากยสกุลบุตรก่อน ได้พระอรหันต์เพิ่มมา ๑ รูป ได้พ่อแม่และภรรยาของพระยสะมาเป็นอุบาสกอุบาสิกาชุดแรกในพระพุทธศาสนา ได้สหายเพื่อนพระยสะอีก ๕๔ คนมาเป็นพระอรหันต์อีก ในช่วงนั้นก็มีปัญจวัคคีย์ ๕ พระยสะและสหายอีก ๕๕ รวมแล้ว ๖๐ บวกพระพุทธเจ้าอีก ๑ ก็เป็น ๖๑ รูป ท่านจึงได้เริ่มการประกาศพระศาสนาอย่างจริงจัง โดยใช้คำพูดภาษาบาลีว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเที่ยวไป พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของชนหมู่มาก เพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก โลกานุกมฺปายะ เพื่ออนุเคราะห์ต่อโลก อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสนํ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย บาลียังกล่าวต่อว่า แต่อย่าไปทางเดียวกันสองคน ให้ไปคนเดียว เพราะจำนวนคนยังมีน้อยอยู่ ถ้าไปสองคนจะไม่กว้างขวางพอ และพระองค์ท่านก็จะเสด็จไปอุรุเวลาเสนานิคมด้วย นั่นเป็นครั้งแรกในโลก ที่กองทัพธรรมได้ยาตราขบวนทัพออกไปเพื่อเผยเผ่ธรรมอย่างจริงจัง" |
"พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม ระหว่างทางก็ไปพบภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีคู่ทั้งนั้น มีเพียงหนึ่งคนที่ไม่มี จึงต้องไปเช่าหญิงโสเภณีมาควงคู่ด้วย
ปรากฏว่าตอนอาบน้ำ หญิงโสเภณีขนทรัพย์หนีไปจนเกลี้ยง..! ขโมยได้ก็หนี มาณพทั้งหลายขึ้นจากน้ำเที่ยวตามหา พบพระพุทธเจ้าจึงถามว่า "โภ ปุริสสะ ดูก่อน..บุรุษผู้เจริญ ท่านเห็นหญิงผู้หนึ่งพร้อมเครื่องประดับและผ้า ผ่านมาทางนี้หรือไม่ ?" พระพุทธเจ้าจึงถามเป็นปริศนาธรรมกลับไปว่า "เธอจะค้นหาผู้อื่น หรือว่าจะค้นหาตัวเองดี ?" นี่คือเจโตปริยญาณที่ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ คือแทงใจดำเลย เพราะรู้ว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้เหมือนบัวที่พร้อมจะบาน กระทบแสงอาทิตย์เมื่อไรก็บานทันที พอภัทวัคคีย์ได้ยินพระพุทธเจ้ากล่าวดังนั้นก็สะดุดใจ ตัดสินใจฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า จึงบรรลุอรหัตผลทั้งหมด พระองค์ท่านก็มุ่งไปยังเป้าที่ต้องการต่อไป ก็คือ ชฎิลสามพี่น้อง พระองค์ปักหลักอยู่ที่นั่นเป็นพรรษาเลย โดยเฉพาะท่านอุรุเวลกัสสปะ หัวหน้าใหญ่ พระพุทธเจ้าแสดงความสามารถขนาดไหนก็ตาม เขามั่นใจว่าทุกคนสรรเสริญว่าตัวเขาเองเป็นพระอรหันต์ อุรุเวลกัสสปะคิดว่า "พระสมณะนี้เก่ง แต่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์อย่างเรา" กี่ครั้งก็ตามที่พระพุทธเจ้าแสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการปราบพญานาคในเรือนไฟก็ดี เดินจงกรมขณะที่น้ำป่าหลากมาก็ดี ไปบิณฑบาตที่อุตรกุรุทวีปก็ดี หรือว่าซักผ้าแล้วต้นหว้าน้อมกิ่งลงมาให้ตากก็ดี ท่านคิดว่าพระพุทธเจ้าเก่ง แต่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์อย่างท่าน พระพุทธเจ้าท่านต้องการแสดงความสามารถให้เขาเห็นว่า จริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าทำได้ทุกอย่างและทำได้เหนือกว่าด้วย พระองค์สู้อุตส่าห์ยอมทนอยู่ด้วย ๑ พรรษาเพื่อให้เขายอมคลายทิฏฐิมานะ จนกระทั่งเห็นว่าท่านอุรุเวลกัสสปะ มีอุปนิสัยแก่กล้าพอที่จะบรรลุมรรคผลได้แล้ว พูดง่าย ๆ ว่าสอนไปก็ไม่เถียงแล้ว พระองค์ท่านจึงได้ตรัสจี้ใจดำว่า "ดูก่อน..กัสสปะ แม้กระทั่งความเป็นพระอรหันต์เป็นอย่างไรเธอยังไม่รู้เลย แล้วเธอจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร ?" สรุปแล้วที่คิดอยู่ในใจ โดนลากไส้ออกมาหมดเกลี้ยงเลย ท่านอุรุเวลกัสสปะพอได้ยินจึงได้ยอม ขอให้พระพุทธเจ้าช่วยสอนให้ด้วย ว่าการเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นกันอย่างไร" |
"ท่านอุรุเวลกัสสปะก็ยอมบวชพร้อมบริวารและลอยบริขารไปตามแม่น้ำ น้องชายอีกสองคนเห็นบริขาร ก็คิดว่าอันตรายเกิดแก่พี่ชาย จึงยกบริวารตามมา พากันบวชจนหมด พระพุทธเจ้าทรงเทศน์อาทิตปริยายสูตรให้ฟัง สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ๑,๐๐๓ รูป
คราวนี้เราจะเห็นลีลาของพระพุทธเจ้าชัดเจนที่สุดเลย ตอนแรกมีภิกษุอยู่ ๖๑ รูป ส่งออกประกาศพระศาสนาหมด แม้กระทั่งพระองค์เองก็ไป แต่ตอนที่มี ๑,๐๐๓ รูป พระองค์กลับไม่ส่งออกไปเผยแผ่ศาสนา เพราะอะไร ? เพราะการที่จะปราบทิฐิของคนอื่นนั้น นอกจากจะมีความสามารถแล้ว จะต้องมียศ มีทรัพย์ มีบริวาร คนในสมัยนั้นเขาจึงจะเชื่อ คนเขาดูแค่เปลือกก่อน ถ้าพระพุทธเจ้านุ่งห่มเหลือง โกนหัว สะพายบาตรในลักษณะของภิกขุ คือ ผู้ขอ อยู่ ๆ เข้าไปอาจจะไม่ได้รับการศรัทธาอะไรเลย พระองค์ก็เลยไปในลักษณะบริวารยศ คือ เป็นใหญ่ด้วยบริวาร นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ไปพร้อมกับภิกษุรวมทั้งหมด ๑,๐๐๓ รูป พอพระองค์ไปถึงก็ไม่เข้าวังนะ เพราะถ้าเข้าวังไปเจ้าถิ่นอาจจะเห็นว่าตัวเองใหญ่กว่า พระองค์จึงไปพักที่สวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิวัน) ข่าวทราบไปถึงพระเจ้าพิมพิสาร เพราะชาวบ้านเขาลือกันว่าอาจารย์ใหญ่ทั้งสามท่านออกจากที่พักมาแล้ว แต่ไม่มีใครนึกถึงพระพุทธเจ้าเลยแม้แต่คนเดียว เขาจะไปหาอาจารย์ใหญ่ของเขา ชนทั้งหลายพากันหอบดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร ข้าวของบูชาทั้งปวงแห่กันไป แต่พระเจ้าพิมพิสารท่านสมกับเป็นกษัตริย์ อาจจะเป็นเพราะว่ามีสายลับเยอะ พระเจ้าพิมพิสารจึงทราบข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะที่ออกบวชเป็นสมณะ อยู่ในกลุ่มสมณะนั้นด้วย เมื่อพระเจ้าพิมพิสารมาถึง สายตาส่วนใหญ่ก็จับอยู่ที่อาจารย์ใหญ่ที่ตนรู้จัก เพียงแต่คราวนี้แต่งตัวแปลกไปเท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าพอทราบความคิดของคนทั้งหมด เห็นว่าได้เวลาที่จะแสดงพระองค์แล้ว จึงทรงตรัสว่า "ดูก่อน..กัสสปะ ระหว่างเธอกับตถาคต ใครเป็นศิษย์ ใครเป็นอาจารย์ เธอจงแสดงให้เขาทราบ" พระอุรุเวลกัสสปะที่ถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่สุด ถวายบังคมแทบบาทพระพุทธเจ้า ประกาศว่า "พระองค์ท่านเป็นศาสดา ข้าพระองค์เป็นศิษย์" ประกาศเสร็จก็เหาะขึ้นไป ๗ ชั่วลำตาล ลงมาบังคมประกาศใหม่ถึงสามวาระด้วยกัน สายตาทั้งหมดจึงได้มองที่พระพุทธเจ้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มองเลย" |
"คราวนี้จะเห็นได้ว่า การที่พระองค์นำบริวารไปจำนวนมากนั้น นอกจากจะเป็นการปราบพยศบุคคลทั่วไปที่มากด้วยทิฐิแล้ว ยังเป็นการดึงศรัทธาด้วย เพราะพระอาจารย์ใหญ่ขนาดนั้นยังยอมเป็นลูกศิษย์ แสดงว่าสิ่งที่ท่านสอนจะต้องมีผลอย่างแน่นอน
ดังนั้น..ทุกคนในที่นั้นจึงตั้งใจฟัง พระพุทธเจ้าจึงได้เทศน์ ครั้งเดียวบรรลุมรรคผลไปถึง ๑๑๐,๐๐๐ คน เป็นพระโสดาบัน ส่วนที่เหลืออีก ๑๐,๐๐๐ นั้น ประกาศตนถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แปลว่าไม่หลุดรอดไปเลยแม้แต่คนเดียว..! หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาก็ตั้งมั่นในแคว้นมคธ ลงรากปักฐานได้มั่นกว่าลัทธิอื่นทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ประกาศพระศาสนาทีหลัง เพราะว่าผู้ครองแคว้น ผู้ครองประเทศเป็นพุทธสาวก ตรงนี้เราจะเห็นว่าของแท้เสียอย่าง อะไรก็ไม่สามารถบดบังรัศมีได้ ศาสดาอื่นใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่ลัทธิของตนเองจะมีคนถือตาม แต่พระพุทธเจ้าใช้เวลาไม่ถึงปี ลงรากปักฐานอย่างมั่นคงแน่นหนา สามารถแข่งกับลัทธิอื่นได้อย่างสบาย จะว่าไปแล้วพระพุทธศาสนาต่อยอดศาสนาพราหมณ์ได้พอดิบพอดี สมัยนั้นพระพุทธศาสนาจึงได้รุ่งเรืองมาก เพราะศาสนาพราหมณ์เขามัวแต่ถือลัทธิ ถือวรรณะกันอยู่ ก็เลยทำให้การเผยแผ่ศาสนาไม่กว้างไกลพอ ขณะเดียวกันก็สร้างความคับแค้นใจให้แก่วรรณะล่าง ๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพวกศูทรหรือจัณฑาลที่เขาแทบจะไม่เห็นเป็นคนเลย แต่ศาสนาพุทธประกาศชัดเจนเลยว่า มนุษย์ทุกรูปทุกนามมีศักยภาพในการบรรลุมรรคผลทั้งสิ้น เห็นชัดที่สุดก็คำเทศน์ของพระมหากัจจายนะ เรื่องวรรณะสี่เหล่า ท่านบอกว่า "วรรณะใดทำโจรกรรม ทำปรทาริกกรรม วรรณะนั้นต้องรับราชอาญาเหมือนกันทั้งหมด ไม่มียกเว้น" ลองไปค้นหาตรงนี้เพิ่มเติมได้จากมธุรสูตร" |
"ในเมื่อศาสนาพุทธไม่มีการกีดกั้นวรรณะ จึงทำให้บุคคลจากวรรณะต่าง ๆ พากันเข้ามาบวชและเป็นสาวกจำนวนมาก ขณะเดียวกันเมื่อบรรลุมรรคผลแล้ว หลายท่านก็มีฤทธิ์มีเดช โดยวิสัยเดิมก็แสดงให้ชาวบ้านเขาเห็น
อย่างพระสาคตะก็ไปแสดงฤทธิ์ปราบพญานาค ชาวบ้านก็เลยพร้อมใจถวายสุราให้ท่าน จนท่านเมามายขาดสติ กลายเป็นต้นบัญญัติข้อห้ามดื่มสุราไป สมัยนั้นพญานาคไปยึดท่าน้ำของชาวบ้าน พอใครเข้ามาใกล้ก็จะทำร้าย จนกระทั่งเขาไม่สามารถที่จะใช้น้ำได้ พระสาคตะท่านเก่งทางเตโชกสิณ จึงเผาพญานาคเสียกระเจิงอยู่ไม่ได้ ชาวบ้านก็มาถามลูกศิษย์ว่าพระสาคตะท่านชอบอะไร ? เขาก็บอกว่า "พระเถระท่านชอบสุรารสอ่อนสีเหมือนเท้านกพิราบ" ปรากฏว่าพอพระสาคตะบิณฑบาตบ้านไหน เขาก็ถวายแต่สุรา สุดท้ายท่านเลยเมานอนหมอบอยู่ข้างทาง พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาพอดี ถามว่า "อานันทะ ดูก่อน..อานนท์ นั่นเป็นผู้ใดหรือ ?" พระอานนท์กราบทูลว่า "พระสาคตะพระเจ้าข้า" พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า "พระสาคตะเถระที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ ว่ามีฤทธิ์มากถึงขนาดปราบพญานาคได้ใช่ไหม ? แล้วตอนนี้ปราบงูเขียวได้หรือไม่เล่า ?" พระองค์ท่านจึงบัญญัติห้ามภิกษุดื่มสุราเมรัยตั้งแต่นั้นมา หรือไม่ก็อย่างพระปิณโฑลภารทวาชะ เหาะไปเอาบาตรไม้แก่นจันทน์ของมหาเศรษฐี หรือไม่ก็อย่างพระโมคคัลลานะไปเที่ยวนรก เที่ยวสวรรค์ แล้วก็มาประกาศให้ทราบว่า ญาติพี่น้องของคนนั้นตายไปแล้วตอนนี้เป็นอย่างไร นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่ง ๆ ขึ้น เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธจึงเผยแผ่เร็วมาก แผ่กว้างออกเร็วชนิดสำนักอื่นตามไม่ทัน โดยเฉพาะบรรดาเศรษฐีที่นับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน พอมานับถือศาสนาพุทธแล้วจะทำบุญเฉพาะในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ายังต้องทรงห้ามเอาไว้ อย่างมหาเศรษฐีชื่ออุบาลี ท่านถือศาสนาพุทธแล้ว ตั้งใจจะเลี้ยงแต่พระสงฆ์ในพุทธศาสนา ไม่เลี้ยงพราหมณ์แล้วเพราะเห็นว่าเปลืองข้าวเปล่า ๆ พระพุทธเจ้าตรัสให้เลี้ยงต่อไปตามปกติ แต่อุบาลีเศรษฐีก็อดไม่ได้ สั่งคนใช้ว่า ถ้าพราหมณ์ลัทธิอื่นมาให้อยู่แค่ประตูนอก ถ้าเป็นสมณะในพระพุทธศาสนาให้นิมนต์มาข้างในเลย ทำเอาพวกลัทธิอื่นแช่งชักหักกระดูกพระพุทธเจ้าเสียไม่มี..!" |
"เราจะเห็นความใจกว้างของพระพุทธเจ้าว่าท่านไม่ได้อิจฉาใคร มั่นใจว่าคำสอนของพระองค์ท่านเป็นของแท้พิสูจน์ได้ อย่างไรเสียบุคคลที่เห็นธรรมแล้ว มีศรัทธาที่แน่นแฟ้นย่อมไม่หวั่นไหวไปไหน เพราะฉะนั้น..เขาจะทำบุญที่ไหนก็ทำเถอะ พระองค์ท่านไม่ได้ว่า
อย่าลืมว่าทำบุญกับนักบวชนอกศาสนาผู้สามารถระงับราคะได้ มีอานิสงส์มากกว่าผู้มีศีลบริสุทธิ์เป็นแสนเท่า ไปดูได้ในทักขิณาวิภังคสูตร บรรดาอเจลก (ชีเปลือย) ก่อนที่จะออกมาประกาศศาสนาของตนได้ เขาผ่านการพิสูจน์มาแล้วทุกรูปแบบ ออกมาเดินแก้ผ้า เจอสาวแล้วต้องไม่ขายหน้าเขา..! ในเมื่อเป็นดังนั้น แปลว่าเขาสามารถที่จะระงับราคะได้ แต่ไม่ใช่สิ้นราคะ ระงับได้ด้วยอำนาจของฌานสมาบัติที่กดเอาไว้ ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสว่า การทำบุญกับเขาก็มีอานิสงส์มาก เพียงแต่ว่าทำบุญแบบนั้นร้อยครั้ง ก็ไม่เท่ากับทำบุญพระโสดาบันเพียงหนึ่งครั้ง ในการเผยแผ่ศาสนาพุทธ พระองค์ท่านไม่เบียดเบียนศาสนาอื่น มีแต่สนับสนุน ส่งเสริม ต่อยอดไปเรื่อย ตัวอย่างคือ ชฎิลสามพี่น้อง ท่านบูชาไฟมาก่อน พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ตรัสว่าการบูชาไฟไม่ดี แต่ท่านบอกว่า การบูชาไฟควรจะบูชาไฟภายในดีกว่า แล้วตรัสสอนให้รู้ถึงไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ นอกจากนี้ยังบอกวิธีดับไฟเหล่านั้นอีกต่างหาก ท่านบอกว่าการดับไฟทั้งสามกองนี่แหละจึงเป็นอุดมธรรม (ธรรมสูงสุด) หรือไม่ก็สิงคาลมาณพ ฟังคำสั่งของพ่อแล้วไปไหว้ ๖ ทิศ โดยไม่รู้ว่า ๖ ทิศคืออะไร ? พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงตรัสสอนว่า ทิศเบื้องบน คือสมณชีพราหมณ์ ทิศเบื้องล่าง คือบริวาร คนรับใช้ ทิศเบื้องหน้า คือบิดามารดา ฯลฯ แต่ละคนควรปฏิบัติอย่างไร ท่านบอกไว้หมด ไปดูเพิ่มเติมได้ในสิงคาลสูตร พระองค์ท่านไม่ได้ค้านใคร แต่บอกในส่วนที่ดีกว่าให้ คนที่เขามีปัญญา พอรู้ว่ามีสิ่งที่ดีกว่าจริง ๆ เขาก็ปฏิบัติตาม" |
"เพราะฉะนั้น..ในเรื่องของพระไตรปิฎก สรุปลงตรงนี้เลยว่า อย่าอ่านเฉย ๆ อ่านแล้วคิดบ้าง จะเห็นอะไรอีกเยอะเลย ในพระไตรปิฎกมีสิ่งที่แฝงอยู่ข้างในมากมาย
โดยเฉพาะถ้าเราศึกษาพื้นฐานของชมพูทวีป คือ อินเดียโบราณมา รู้เห็นถึงสภาพบ้านเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ แล้ว จะอ่านสนุกขึ้นอีกมาก เพราะจะนึกออกว่าแต่ละอย่างที่ท่านกล่าวไว้เป็นอย่างไร ทำไมนางบุญทาสีที่เป็นทาสเป็นคนรับใช้ จึงได้ดีใจนักหนาที่พระพุทธเจ้าเสวยแป้งจี่ที่ตัวเองถวายให้ ? เพราะเขาถือวรรณะว่า พวกชั้นต่ำเป็นเสนียดจัญไร ข้าวของอะไรที่พวกวรรณะต่ำแตะต้อง เขาถือว่าไม่สามารถที่จะใช้ต่อได้เลย ท่านอาจารย์ ดร. วศิน กาญจนวณิชย์กุล ท่านไปเรียนหนังสือที่นั่น เห็นเขาเลี้ยงน้ำ ท่านรับแก้วมาถึงก็ดื่มเลย เขาด่าท่านเสียไม่มี..! พอไปเห็นคนอื่นดื่มบ้างท่านถึงได้รู้ ก็คือ เขาให้อ้าปากแล้วเทน้ำใส่ โดยที่ไม่ให้แก้วถูกริมฝีปาก เพราะกลัวติดเสนียดจัญไรจากวรรณะต่ำ..! ในเมื่อวรรณะต่ำอย่างนางบุญทาสีไปเจอวรรณะกษัตริย์อย่างพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านนอกจากจะไม่รังเกียจแล้ว ยังฉันให้เห็นซึ่ง ๆ หน้า เป็นเราก็ปีติแทบตัวลอยเหมือนกัน พอพระองค์ท่านทรงเทศน์สอน ก็เป็นพระโสดาบันเลย หรือไม่ก็นางกุมภทาสีที่หลงรักพระอานนท์ ชื่อจริงของนางคือ โกกิลา พระอานนท์เป็นวรรณะกษัตริย์ไปขอน้ำดื่ม นางก็ไม่กล้าให้ พระอานนท์จึงได้บอกว่า "วรรณะสี่เหล่าเสมอกันด้วยความดี ไม่มีหรอกที่จะต่ำกว่ากัน สูงกว่ากัน ท้ายสุดก็ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดขึ้นเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงท่ามกลาง สลายไปในที่สุด" เมื่อพระอานนท์ไม่รังเกียจ นางโกกิลาก็ถวายน้ำให้ แล้วก็ติดใจเลยตามไปบวช กลายเป็นต้นเรื่องที่ธรรมโฆษเขาเอามาเขียนเรื่อง ลีลาวดี" หมายเหตุ : นางกุมภทาสี = หญิงผู้มีหน้าที่ตักน้ำ , โกกิลา = นกดุเหว่า |
ถาม : คนเกิดสมัยนี้บุญดีกว่าหรือเปล่า เพราะมีเทคโนโลยี ?
ตอบ : คนเกิดสมัยนี้จะบอกว่าบุญดีก็ได้ เพราะทุกอย่างทันสมัย ใช้งานง่าย อำนวยความสะดวกให้ก็จริง แต่ว่าทั้งหมดก็จะทำให้คนเรายึดติดกับความสุขต่าง ๆ ที่ได้รับมาง่ายขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ให้ความสุขที่ตอบสนองทางกายเท่านั้น ทางกายได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง ทางใจก็ยังต้องเสาะแสวงหาเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น..เกิดยุคไหนสมัยไหนก็เกิดอยู่ในกองทุกข์เหมือนกัน ธรรมะเป็นอกาลิโกจริง ๆ ไม่ติดขัดด้วยยุคสมัยเลย เกิดยุคไหนสมัยไหนก็ใช้ได้ |
ถาม : จะรักษาใจให้ใสสบายไปอย่างนี้เรื่อย ๆ รู้สึกว่าตนเองไม่มีงานอะไรจะทำ
ตอบ : งานสำคัญก็คือ ระวังอย่าให้รัก โลภ โกรธ หลงเข้ามาก็แล้วกัน ถาม : มันไม่ค่อยมา มันเหงาค่ะ ตอบ : ระวังตอนที่มา แล้วเอาไม่อยู่ จะรู้ว่างานเยอะกว่าที่เราคิด..! ถาม : ระหว่างรอมันทำอย่างไรดี ? ตอบ : ทำไมต้องรอ แทนที่จะรอ..เราก็ดาหน้าบุกเข้าไปบี้มันให้ตายไปเลย..! ถาม : หามันอย่างไรคะ ? ตอบ : ก็ศีล สมาธิ ปัญญา ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างที่พระสารีบุตรท่านบอกกับพระลูกศิษย์ว่า แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังต้องพิจารณาอยู่ เพื่อความอยู่สุขของตน อย่าเผลอมั่นใจว่าความดีจะไม่เสื่อม ถาม : เป็นลักษณะที่ว่า ยิ่งว่าง..งานยิ่งเยอะ อะไร ๆ ก็จับมาพิจารณาได้ แบบนี้ใช่หรือเปล่า? ตอบ : จะเรียกว่างานเยอะก็ไม่ใช่เยอะ เพราะระวังใจตัวเอง แต่การระวังใจตัวเดียวนี่เป็นสุดยอดของความยากเลย ต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ ว่าเราอยู่ในกองทุกข์ ไฟราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เผาเราอยู่ตลอดเวลา เราต้องดิ้นรนหนีไปให้เร็วที่สุด ไม่ใช่นอนสบายใจเฉิบว่าไม่มีงาน จะนอนเฉย ๆ ก็ได้ ไฟไหม้ถึงตัวเมื่อไรก็เดือดร้อนเมื่อนั้น..! ถาม : รู้สึกว่าทุกข์อะไรที่จะเข้ามา ก็เข้ามาได้แค่ร่างกาย ไม่ได้มาถึงเรา ตอบ : แค่ระวังไม่ให้มาถึงเราก็แย่แล้ว สภาพจิตที่ละเอียดพอ แม้กระทั่งความสุขในธรรมที่เขาเห็นอยู่ เขาก็เห็นว่ามีทุกข์แฝงอยู่ เพราะว่าเราต้องคอยระมัดระวังประคับประคองไว้อยู่เสมอ ไม่อย่างนั้น..เกรงว่าอารมณ์นั้นจะสูญสลายไป ถ้าสภาพจิตไม่ละเอียดพอก็กินไปเรื่อย ต้นทุนหมดเมื่อไรก็สาหัสเมื่อนั้น..! ถาม : ทำอย่างไรเราจะไม่ต้องระมัดระวังต่อไป ? ตอบ : หลวงตาบัวท่านเคยเปรียบเทียบว่า อย่าทำตัวเป็นหมูพาดเขียง หมูเดินมาเจอเขียงอยู่ ก็หนุนนอน ใครเอามาให้เรารองหัวพอดี สบายจังเลย หารู้ไม่ว่ากำลังนอนรอความตายอยู่ชัด ๆ..! |
พระอาจารย์ถามพระว่า "ถ้าสมมติว่าคุณขึ้นธรรมาสน์เทศน์ แล้วเห็นโยมนั่งอยู่ข้างหน้าไม่กี่คน จะทำใจอย่างไร ?
จริง ๆ แล้ว ถ้าจะคิดปลอบใจตัวเองต้องคิดว่า พระพุทธเจ้าเทศน์กัณฑ์แรก ยังมีคนฟังแค่ ๕ คน ส่วนเราถ้าได้น้อยกว่าไม่ถือว่าแปลก ถ้าได้เยอะกว่าถือว่าเป็นความสามารถ ถ้า ๕ คนถือว่าเสมอตัว เพียงแต่ว่าเราจะหาบุคลากรได้มีคุณภาพเท่ากับที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ได้อย่างไร ? เพราะว่า ๕ คนที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์กลายเป็นพระอรหันต์ ๕ องค์ ของเราต่อให้ ๕๐๐ คน เทศน์แทบตายยังไม่ได้อะไรสักคน..! ในเรื่องของการปฏิบัติ พอทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่ละทิ้ง เราจะมีความคล่องตัวและพลิกแพลงไปได้เรื่อย วิธีการพลิกแพลงนั้นส่วนใหญ่เอาไว้รักษากำลังใจตนเอง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการจิตตก จนกระทั่งซมซาน นั่งทุกข์นั่งกลุ้มใจอยู่คนเดียว ทำอย่างไรที่จะไม่เป็นอย่างนั้น ก็ต้องค่อย ๆ พลิกแพลงแก้ไขไปได้เรื่อย ๆ จนกระทั่งท้ายสุดพอกำลังใจทรงตัว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำอย่างนั้นอีก" |
ถาม : เพื่อนเขาโดนตะปูฝาโลงค่ะ..!
ตอบ : ยุคนี้ยุคไหนแล้วจ๊ะ ? ทำไมไม่ทันสมัยเลย เล่นส่งแต่ตะปู เปลี่ยนเป็นส่งลูกปืนหรือขีปนาวุธบ้างก็ได้ รอเป่ายันต์เกราะเพชรนะจ๊ะ ถ้ามีงานเป่ายันต์เกราะเพชรก็พาเขาไปเข้าพิธีด้วย ของพวกนี้เป็นเรื่องประมาทไม่ได้ เพราะเราสร้างกุศลกรรมและอกุศลกรรมมาไม่ต่อเนื่องกัน ทำดีก็มี ทำชั่วก็มี แต่คราวนี้ดีก็ดีไม่ทั่ว ชั่วก็ชั่วไม่หมด ถึงเวลาที่อกุศลกรรมเข้า ของพวกนี้ก็จะแทรกเข้ามาได้ |
ถาม : ที่บ้านเลี้ยงกุมาร ไม่รู้ว่าตอนนี้เขายังอยู่หรือเปล่า ?
ตอบ : ยังเลี้ยงเขาอยู่หรือเปล่าละจ๊ะ ? ถ้ายังเลี้ยงเขาก็อยู่ แต่ถ้าเขาอด ๆ อยาก ๆ นาน ๆ เขาก็ไป |
ถาม : บางทีก็ได้รอบของมันแล้ว โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจทำ พอเต็มเรียบร้อยแล้ว เราไปย้อนทวนหาว่า ที่เกิดขึ้นมันเกิดเพราะอะไร แต่ว่าการปฏิบัติจริง ๆ ตัวที่ได้ ก็ไม่ได้เท่ากับตัวที่เกิดขึ้นในตอนนั้น เป็นเพราะอะไร ?
ตอบ : เป็นเพราะคนละวาระ คนละเหตุการณ์ คนละสถานที่กัน ถาม : อย่างนี้ต้องรอรอบตลอดเลยหรือครับ ? ตอบ : ไม่ต้องรอหรอก เพียงแต่รักษาเอาไว้ก็พอ ถ้ารักษาไม่ได้ก็จงรอต่อไป..! ถาม : แสดงว่าวาระเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ ตอบ : นั่นเขาเป็นของเขาเอง บางทีก็เหมือนกับบังเอิญ บางทีก็ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายาม แต่ว่าทั้งหมดเกิดจากบุญเก่าที่เราสั่งสมมาด้วย คือมีความพยายามทำมาตลอด ฉะนั้น..อะไรที่ได้ควรจะประคับประคองไว้ให้ดี ปล่อยหลุดมือไปที กว่าจะได้ใหม่ก็น้ำตาเล็ด..! |
ถาม : ถ้ากรรมฐานที่เหมือนว่าบังเอิญได้บ่อย ๆ จะถือว่าเป็นบุญเก่า หรือว่าเป็นเพราะวิริยะของเรากันแน่ครับ ?
ตอบ : มีบุญเก่าด้วย แล้วทำไมต้องไปบังเอิญด้วย ? ทำไมไม่เอาให้เป็นจริงเป็นจังไปเลย ? ถาม : พอจะทำไปย้อนเหตุปัจจัยตามเดิม ก็ทำไม่ขึ้นครับ ตอบ : พอไปตั้งความหวังอยากจะได้ กิเลสคือนิวรณ์ก็ขวางไว้หมด ถาม : อีกบทพอสบาย ๆ ก็ขึ้นมาได้เอง ตอบ : ถ้าอยากเราจะไม่ได้ ต้องทำใจสบาย ๆ ปฏิบัติไปเรื่อยแล้วจะได้เอง |
ถาม : ช่วงว่าง ๆ ก่อนวันงานสืบชะตาสักสองอาทิตย์ ตอนนั้นไม่มีความกังวลเลย มีอะไรให้ทำก็ทำ ใครจะด่าก็ไม่เป็นไร
ตอบ : ก็เพราะเราวางภาระแล้ว ว่านั่นไม่ใช่งานของเรา ทีนี้เราจะทำอย่างไรที่จะวางให้ได้ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราอย่างนั้นบ้าง ถาม : ตอนนั้นสบาย ใครจะว่าอะไรเราก็ช่าง มีก็ทำ ไม่มีก็ไม่ได้ว่าอะไร ตอบ : ก็เราจะไม่อยู่แล้ว เราจะตายอยู่วันนี้พรุ่งนี้อยู่แล้ว ใครจะว่าอะไรก็ช่างหัวมัน..! |
ถาม : พระธาตุนี้ควรบูชาอย่างไร ?
ตอบ : อันดับแรก บรรจุเอาไว้ในสถานที่ที่สมควร อันดับสอง ถวายเครื่องบูชา จะเป็นดอกไม้ หรือ เครื่องหอม ของหอม อันดับที่สาม หมั่นสวดมนต์ไหว้พระทุกวัน ถาม : สามารถบูชาไว้ที่บ้านได้หรือเปล่าครับ ? ตอบ : ได้ สำคัญว่าคิดถึงหรือเปล่า ? ถ้าไม่ได้คิดถึงเลย มีก็เหมือนไม่มี |
ถาม : กำลังใจของฌานสี่ โดยปกติจะดับเงียบไปเลย เราจะสามารถบังคับมันได้ไหมครับ ?
ตอบ : เอาสติจดจ่ออยู่เฉพาะหน้า ซักซ้อมบ่อย ๆ ถ้าหากสติแหลมคมมากขึ้น ก็จะติดตามรู้อาการทั้งหมดได้ พูดง่าย ๆ ว่าสมาธิจะต้องละเอียดขึ้นกว่านี้ |
ถาม : บางทีท่องคาถาเงินล้าน แล้วยังขายของไม่คล่อง
ตอบ : ยังทำไม่พอ ทำบ่อย ๆ สิ ถาม : ในกรณีที่เราใส่บาตร เวลากรวดน้ำ ต้องลงกระถางต้นไม้หรือต้นไม้ใหญ่ ? ตอบ : อุทิศปากเปล่าก็ได้ การกรวดน้ำเป็นแค่รูปแบบเท่านั้น จะกรวดลงไปที่ไหนก็กรวดไปเถอะ |
ถาม : มีเรื่องกลุ้มใจเกี่ยวกับอุปสรรคเรื่องงาน ถ้าจะบนพระวิสุทธิเทพ ?
ตอบ : จุดธูปกลางแจ้ง ๕ ดอกบนกับท่าน ถ้าเกี่ยวกับเรื่องงานท่านจะช่วยได้ แต่ว่าเราต้องรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ พร้อมกับเจริญกรรมฐาน ๗ วันเป็นการแก้บน |
ถาม : ทำไมชอบปวดหัว ?
ตอบ : ในเมื่อชอบก็เป็นต่อไป (หัวเราะ) การปวดหัวเป็นเศษกรรมจากการดื่มสุราเมรัยในชาติก่อน จำเอาไว้ ชาตินี้อย่าไปกินอีกเป็นอันขาด เดี๋ยวจะซ้ำหนัก |
ถาม : กราบขออุบายธรรมในการปฏิบัติ
ตอบ : คุณคงรู้จักเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จในกรมหลวงชุมพร จริง ๆ แล้วตำแหน่งท่านเป็นแค่กรมหลวง ยังมีเสด็จในกรมพระฯ กรมพระยาฯ อีกเยอะมาก แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นชื่อกลับไม่เป็นที่ติดหูชาวบ้าน เท่ากับเสด็จในกรมหลวงชุมพร เพราะว่าเสด็จในกรมหลวงชุมพร พระองค์ท่านเป็นคนเอาจริงเอาจัง ทำอะไรก็ทุ่มเทชนิดแลกด้วยชีวิต ท่านจึงประสบความสำเร็จ แค่เดินเรื่องวิชาการศึกษาแพทย์ พระองค์ยังสามารถเอาไปช่วยชีวิตคน จนคนเรียกท่านว่าเป็นหมอได้ ทั้งที่ไม่ใช่สิ่งที่ท่านถนัดเลย เป็นแค่ส่วนเดียวที่ท่านเรียนมา แต่ว่าพระองค์ท่านเป็นคนเอาจริง ในเมื่อจริงจัง สิ่งที่ทำก็ได้ผลจริงด้วย ตราประจำตระกูลท่านก็คือ พระอาทิตย์ทรงรถ ตราพระอาทิตย์ทรงรถมาจากชื่อของท่าน คือ อาภากร (ผู้กระทำแสงสว่าง) ท่านจะมีภาษาบาลีอยู่ที่ตราประจำตระกูลว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า ทำอะไรทำให้จริง เพราะฉะนั้น..ที่คุณขออุบายธรรม ก็มีแค่นี้ ทำอะไรทำให้จริง ถ้าทำจริงจะประสบความสำเร็จทุกเรื่อง |
ในขณะที่กำลังแต่งกลอนอยู่ พระอาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่า "พระพุทธเจ้าสมัยที่ยังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ท่านเสวยพระชาติเป็นพ่อค้ากองเกวียน เดินทางเข้าไปในทะเลทรายซึ่งแห้งแล้งขาดน้ำ อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจะหาน้ำเพิ่มได้
ท่านเป็นหัวหน้าพ่อค้า ต้องรับผิดชอบชีวิตคนจำนวนมาก จึงต้องคิดค้นหาทาง เพราะว่าถ้าไม่มีน้ำ คนในรับผิดชอบต้องตายหมดแน่นอน พอดีท่านเห็นกอหญ้าอยู่กอหนึ่ง ท่านทราบว่ากอหญ้าจะขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความชื้น จึงคิดว่าบริเวณนั้นน่าจะมีน้ำ ท่านสั่งให้บริวารช่วยกันขุด ขุดจนหมดเรี่ยวหมดแรง แต่กลับไปเจอแผ่นหิน ที่เขาเรียกว่า หินดาน ลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ขวางอยู่ พวกบริวารก็กำลังใจตก ขุดมาเหนื่อยจะแย่แทนที่จะพบน้ำ กลับพบแผ่นหินแทน คิดว่าอย่างไรคงอดน้ำตายแน่ หัวหน้าพ่อค้าพระโพธิสัตว์เอาหูแนบกับแผ่นหิน ได้ยินเสียงน้ำไหลอยู่ข้างใต้ จึงปลอบใจบริวารให้ช่วยกันทุบแผ่นหินให้แตก พอทุบแผ่นหินแตก น้ำก็ทะลักขึ้นมา ทุกคนได้อาศัยดื่มกินและใช้ทำอาหาร เอาชีวิตรอดมาได้ พระพุทธเจ้าองค์ทรงสรุปลงตรงที่ว่า ถ้าปราศจากความเพียร ย่อมไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเราอดน้ำแทบตายอยู่กลางทะเลทราย ขุดไปเจอก้อนหินแผ่นเบ้อเริ่ม ก็คงมืออ่อนตีนอ่อน ยอมอดตายไปแล้ว แต่ท่านยังพยายามทุบหินออก ลักษณะแบบเดียวกับพระมหาชนกที่เรือแตก ต้องว่ายน้ำอยู่ ๗ วัน ๗ คืน นางมณีเมขลามาพบเข้าก็แปลกใจ ถามว่า "ในเมื่อมองไม่เห็นฝั่ง ว่ายหรือไม่ว่ายก็ตาย จะว่ายไปทำไม ?" ท่านบอกว่า "ถ้าได้ทำเต็มที่แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ยังสามารถตอบต่อตัวเองได้ว่า ทำเต็มที่แล้ว แต่ถ้าหากยังไม่ได้ลงมือทำ แล้วไปท้อถอยเสียก่อน ก็ไม่สามารถจะตอบตัวเองได้ว่าใช้ความพยายามเต็มที่แล้วหรือยัง" นางเมขลาได้ยินแล้วชอบใจ จึงอุ้มไปส่ง ฉะนั้น..แต่งกลอน ๒ วันแล้วยังไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งท้อ เพราะยังไม่ถึง ๗ วัน ๗ คืน..!" |
ถาม : ไปอเมริกา กลัวระเบิดค่ะ..!
ตอบ : ตราบใดที่ยังไม่สิ้นบุญสิ้นกรรม ใครก็ทำให้เราตายไม่ได้ ที่ใช้คำว่าสิ้นบุญสิ้นกรรม เพราะว่าบางทีวาระกรรมจะต้องมาสนองเรา ถ้าเรายังไม่ได้รับการสนองตรงนั้น อย่างไรเราก็ยังตายไม่ได้ ขณะเดียวกันถ้าวาระบุญยังรักษาอยู่ อย่างไรเสียก็ไม่ตายเช่นกัน เพราะฉะนั้น..ไม่ต้องไปกลัวหรอกเรื่องตาย ไม่ได้ตายง่าย ๆ หรอก วิ่งเข้าไปหายังไม่ตายเลย หลวงพ่อฤๅษีท่านเล่าให้ฟังว่า คนจะฆ่าตัวตาย ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย เขาอุตส่าห์ขึ้นต้นไม้ เอาเชือกผูกคอ เอาน้ำมันราดตัวเอง จุดไฟกระโดดลงไป แล้วเหนี่ยวไกปืนยิงตัวเอง กะว่าต้องตายแน่ ปรากฏว่าเขากระโดดเร็วเกินไปหรืออย่างไรก็ไม่รู้ ลูกปืนไปโดนเชือกจนขาด เขาตกลงไปในน้ำ ไฟก็เลยดับ..! อย่างไรก็ไม่ตาย เพราะฉะนั้น..ไปเถอะ ไม่ต้องกลัวตายหรอก |
ถาม : ไปหาสำนักทรงบางแห่ง แล้วถูกเขาทำคุณไสยมา..!
ตอบ : เรื่องพวกนี้เราจะเห็นได้ชัดว่า พวกสำนักที่ทำคุณไสยต่าง ๆ เขาไม่ได้มีคุณธรรมเลย ถึงเวลาเขาต้องการเงิน เขาก็คุมเราเอาไว้ บางคนรู้สึกว่าตัวเองโดนคุณโดนของ ก็ไปให้เขาถอนให้ จ่ายเงินไปทีละมาก ๆ พอถึงเวลาเขาต้องการเงินอีก ก็ใส่ของกลับเข้าไปใหม่ เราก็ต้องไปหาเขาอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น..ถ้าไม่มั่นใจว่าเขามีคุณธรรมพอ ก็อย่าไปหาเขาเลย... |
มีโยมบางท่านเวลายกพระมาถวายสังฆทาน ด้วยความไม่รู้เขาก็วางพระไว้กับพื้น พระอาจารย์ท่านมักจะเตือนว่า "ของสูงอย่าเอาไว้ต่ำ ถ้าเอาไว้ต่ำเดี๋ยวตัวเราเองจะตกต่ำไปด้วย"
|
ถาม : ที่ทำงานมีคนที่หน้าตารูปร่างคล้ายตัวผมเอง ตอนเดินไปกินกาแฟ พนักงานแถวนั้นคิดว่าตาคนนี้เดินมาบ่อยจัง ?
ตอบ : นั่นเป็นประเภทที่ฝรั่งเขาเรียกว่า "แฝดเทียม" เกิดจากการสร้างบุญสร้างกรรมมาคล้ายคลึงกันในอดีต เหมือนอย่างพระมหากัจจายนะ ท่านเป็นพุทธภูมิเก่า บารมีเข้ม ท่านจึงมีมหาปุริสสลักษณะหลายอย่าง ก็แปลว่าเหมือนพระพุทธเจ้าไปโดยปริยาย คราวนี้ถ้ามีแค่ท่านก็ไม่มีปัญหา แต่ปรากฏว่ามีพระอานนท์และพระนันทะด้วย พระอานนท์ท่านเป็นลูกอา พระนันทะเป็นลูกน้าและพ่อเดียวกับพระพุทธเจ้า หน้าตาจึงเหมือนกับถอดออกมาจากพิมพ์เดียวกัน พอเวลาไปบิณฑบาต คนก็เลยตำหนิว่า "สมณะรูปนี้ทำไมมักมากแท้ บิณฑบาตหลายรอบเหลือเกิน" เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติว่า ไม่ให้พระภิกษุทำจีวรเท่ากับจีวรพระสุคต คือ อย่างน้อย ๆ พอให้มีที่สังเกตได้บ้าง พระมหากัจจายนะท่านตัดปัญหาด้วยสละตัวเอง อธิษฐานขอให้อ้วนเสียเลย |
พระอาจารย์กล่าวว่า "เรื่องทางโลกก็เป็นไปอย่างโลก เรื่องทางธรรมก็เป็นไปอย่างธรรม ความจริงเรื่องทั้งสองนี้ไปด้วยกันเสมอ
แต่ถ้าหากว่ากำลังใจเรายังไม่ถึง ก็จะเห็นว่าแยกกันโดยเด็ดขาด ขาวเป็นขาว ดำเป็นดำเลย แต่ถ้ากำลังใจเราถึง ทั้งหมดก็เหมือนกัน คือ ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ไม่มีคนดี ไม่มีคนเลว มีแต่คนกำลังเป็นไปตามกรรม" |
ตอนรับสังฆทานพอดีฝนตก พระอาจารย์จึงกล่าวให้ฟังว่า "พวกเรามักจะเข้าใจว่า หน้าที่ในการทำฝนเป็นของพระพิรุณอย่างเดียว...นั่นไม่ใช่นะ จริง ๆ แล้วมีทั้งวายุเทพบุตร วลาหกเทพบุตร สีตเทพบุตร ปชุนเทพบุตร วิรุณเทพบุตร "
ถาม : ถ้าคนทั่วไปด่าเทวดาเวลาฝนตกหนักอย่างนี้ บาปไหมครับ ? ตอบ : เขากำลังสร้างวจีกรรม ในเมื่อเป็นกรรม จะมากจะน้อยก็ต้องมีโทษ ถาม : แล้วถ้าเทวดาที่ท่านทำหน้าที่เป็นพระอริยเจ้า เท่ากับว่าเราปรามาสพระรัตนตรัย? ตอบ : เจตนาในการปรามาสไม่มี เพราะเขาตั้งใจแค่ด่าคนทำฝน ในเมื่อไม่ได้เจตนาด่า ถึงมีโทษก็ไม่หนักเท่าด่าพระอริยเจ้าโดยตรง พูดถึงตอนนี้นึกถึงยายของเจ้าแตงนวล บ้านของยายอยู่เลยโรงเรียนประถมบ้านท่าซุงไปประมาณ ๔๐๐ เมตร ยายเขาใส่บาตรทุกวัน แต่ยายใส่บาตรตอนพระท่านกลับ เราเดินสายใต้ ขากลับผ่านบ้านยาย ยายก็จะมาใส่บาตรทุกวัน ทีนี้มีหมาอยู่ตัวหนึ่ง ถึงเวลาเห็นพระก็วิ่งตาม เพราะคนแก่เวลาใส่บาตร มือสั่น ข้าวหก หมาก็จะเก็บกิน พอได้กินบ่อย ๆ มันจำว่า ถ้าพระมาได้กินแน่ มันก็ตามพระ ตามไปตามมา มันจำได้ว่าบ้านไหนบ้างที่ใส่บาตร มันก็เดินนำหน้าไปเลย เดินนำมาหลายทีก็ไม่มีปัญหาอะไร วันนั้นยายเขาอารมณ์เสียอะไรมาก็ไม่รู้ พอเดินมาจะใส่บาตร แกเห็นหมาเท่านั้นแหละ ด่าลั่นเลย "อีห่..นี่ มึงเดินนำหน้าหมาเชียวนะ..!" ด่าเสร็จเรียบร้อยยายก็ยืนงงอยู่พักหนึ่ง "อุ๊ยตาย..ขอโทษเจ้าค่ะ ดิฉันตั้งใจด่าพระ ไม่ได้ตั้งใจด่าหมาค่ะ..!" ฉะนั้น..ประเภทเดียวกันกับยาย นั่นเขาตั้งใจด่าเทวดา ไม่ได้ด่าพระอริยเจ้า ถ้าจะเอาโทษปรามาสพระอริยเจ้าก็คงจะเบาหน่อย |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:51 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.