![]() |
ปิฏก ๓ (คัมภีร์ที่รวบรวมคำสอนทางพระพุทธศาสนา)
๑. พระวินัยปิฎก (หมวดพระวินัย) ได้แก่ การประมวลเอาพุทธบัญญัติ ระเบียบแบบแผนที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ให้พุทธบริษัทปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในหมู่คณะ แบ่งเป็น ๒ หมวด ๕ คัมภีร์ มีพระไตรปิฎก ๘ เล่ม ๒. พระสุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร) ได้แก่ หมวดที่ประมวลเอาพระธรรมเทศนา หรือ คำบรรยายธรรมและเรื่องราวต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ เข้าเป็นหมวดหมู่ มี ๕ นิกาย มีพระไตรปิฎก ๒๕ เล่ม ๓. พระอภิธรรมปิฎก (หมวดอภิธรรม) ได้แก่ การประมวลหลักธรรมและคำอธิบายล้วน ๆ เน้นหนักในเรื่องปรมัตถธรรม อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน มี ๗ คัมภีร์ พระไตรปิฎก ๑๒ เล่ม |
พุทธจริยา ๓ (จริยาวัตรของพระพุทธเจ้า)
๑. โลกัตถจริยา (ทรงประพฤติเพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก) หมายถึง การที่พระพุทธเจ้าทรงอาศัยพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จไปโปรดชาวโลกด้วยการนำเอาคำสอนไปประกาศชี้แจงแสดง เพื่อให้เป็นประโยชน์สุขแก่มหาชนในแคว้นต่าง ๆ เป็นต้น และทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้เพื่อประโยชน์แก่มหาชนภายหลังด้วย ๒. ญาตัตถจริยา (ทรงประพฤติเพื่อเป็นประโยชน์แก่พระญาติ) ได้แก่ การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระบิดา และเสด็จไปห้ามพระญาติที่วิวาทแย่งน้ำกัน เป็นต้น ๓. พุทธัตถจริยา (ทรงประพฤติเพื่อเป็นประโยชน์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า) ได้แก่ การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้รู้ตามธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อบริหารหมู่สาวกเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมาตราบทุกวันนี้ เป็นต้น |
โลก ๓ (โลกคือหมู่สัตว์, สัตว์โลก)
๑. มนุษย์โลก (โลกที่เราอาศัยอยู่นี้) ได้แก่ โลกที่เป็นผืนแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์หรือสัตว์ ๒. เทวโลก (สวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้น) ได้แก่ ที่อยู่ของเทพยดา ๖ ชั้นซึ่งยังเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณ ๓. พรหมโลก (สวรรค์ชั้นรูปพรหม ๑๖ ชั้น) ได้แก่ ที่อยู่ของพรหม พรหมนั้นเกิดขึ้นด้วยกำลังฌาน |
สังขตลักษณะ ๓ (ลักษณะของสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง)
๑. ความเกิดขึ้นปรากฏ (อุปปา ปัญญายติ) ๒. ความดับสลายปรากฏ (วโย ปัญญายติ) ๓. เมื่อตั้งอยู่มีความแปรปรวนปรากฏ (ฐิตัสมิง อัญญัตตัง ปัญญายติ) |
สิกขา ๓ (ข้อปฏิบัติที่จะต้องศึกษา)
๑. อธิสีลสิกขา (สิกขาคือศีลอันยิ่ง) หมายถึง การปฏิบัติสำหรับฝึกไม่ให้ฝ่าฝืนในข้อบัญญัติแม้เล็กน้อยไม่ให้ด่างพร้อย ๒. อธิจิตตสิกขา (สิกขาคือจิตอันยิ่ง) หมายถึง การฝึกปรืออบรมจิตใจของตนเองด้วยระบบของสมถกรรมฐาน ทำจิตให้สงบจากกามารมณ์ ๓. อธิปัญญาสิกขา (สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง) หมายถึง การปฏิบัติสำหรับอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง คือ ให้รู้ถึงความเกิด ความดับ ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุทำให้เกิดทุกข์ นี้คือความดับทุกข์ นี้เป็นทางปฏิบัติเพื่อให้ดับทุกข์และให้รู้ว่า นี้คืออาสวะ ฯลฯ นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:50 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.