"...ประธานศาลฎีกาก็ได้กล่าวถึงว่า ในโอกาส ๑๐๐ วันของการสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชชนนี ได้นำเด็ก ๆ เยาวชนเข้าไปกราบถวายบังคมที่พระบรมศพ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พึงทำ เพราะว่าสมเด็จพระบรมราชชนนีท่านเป็นครอบครัวคนเดียว...พูดธรรมดาเท่ากับเป็นคนเดียวที่ข้าพเจ้ามี และท่านได้อบรม ท่านได้สั่งสอนด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ยังจำได้ แม้จะเมื่ออายุตั้งแต่ ๕ ขวบ ก็จำได้ว่าท่านทรงสั่งสอนด้วยการพูดและด้วยการกระทำ
เรื่องแรก ตอนนั้นอายุก็คงประมาณ ๕ ขวบ ที่ท่านปฏิบัติ ท่านได้แสดงว่าต้องมีกฎเกณฑ์ หรือต้องมีระเบียบการ และระเบียบการนั้นจะต้องเสมอกัน ต้องมีความเสมอภาค ทุกคนต้องอยู่ในระเบียบ ที่จำได้ ท่านอาจเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือจะเป็นเรื่องที่น่าขัน แต่ว่าจะขอเล่าให้ฟัง เป็นการแสดงถึงความเคร่งครัดในระเบียบของท่าน เมื่อเด็ก ๆ ท่านก็เลี้ยงเราดี โดยที่มีระเบียบในโภชนาการที่เหมาะสม ท่านก็หาอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ไม่แสลง แต่ก็ต้องมีความเอร็ดอร่อย ฉะนั้นบางครั้งบางคราว ท่านก็ได้หาข้าวหลามซึ่งเป็นอาหารธรรมดา แต่ว่าเป็นอาหารที่อร่อยมาก เอามาให้ มาแจกเด็ก ๆ ก็ปอกไม้ไผ่ที่เป็นที่หุ้มข้าวหลามนั้น แล้วก็ตัด แต่ละคนก็ถือ ๑ แท่ง แล้วท่านมาบอกว่า ขอแม่กินหน่อย โดยที่เป็นเด็กที่หวงที่เสียดายก็รีบกัดข้าวหลามนั้น เมื่อกัดข้าวหลามแล้ว ท่านมีระเบียบอยู่ว่า เพื่อสุขภาพและความสะอาดใครกัดอะไร เคี้ยวไปแล้ว คนอื่นไม่สมควรที่จะไปกัดซ้ำเพราะว่าไม่สะอาด ท่านก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น ท่านก็ไม่กัด ท่านก็เห็นกัดไปแล้ว ท่านไม่จนปัญญา แม่ไม่มีจนปัญญา ท่านบิเอาตรงปลายที่กัดถือไว้ แล้วบิต่อไปแล้วก็เสวย ส่วนที่ท่านบิไปแล้วท่านก็มาวางตรงปลายของข้าวหลามของเดิม ท่านไม่ได้ทำผิดกฎ ท่านไม่ได้ทำให้ผิดกฎที่ท่านตั้งเอาไว้ ท่านไม่ได้บอก แต่ว่าเท่ากับสอนว่าผู้มีพระคุณนั้น ถ้าท่านขออะไรไม่น่าจะปฏิเสธท่าน เพราะว่าท่านให้ ไม่ใช่ของเราเป็นของท่านแต่ท่านให้ ให้เรากินของอร่อย ถ้าท่านอยากบ้าง ของเราเราก็ต้องให้ ตอนนั้นจำได้ว่าไม่ได้โกรธ แต่งง งงจริง ๆ ในที่สุดทำให้นึกถึงว่า นี่เราต้องมีความกตัญญูต่อมารดา เพราะว่าท่านได้เลี้ยงเรา ถ้าไม่มีท่าน เราก็ไม่มีชีวิต..." พระราชดำรัส ในโอกาสที่ท่านประธานศาลฎีกา นำคณะข้าราชการตุลาการ และคณะผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศ เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงิน โดยเด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ณ ศาลาดุสิดาลัย วันพฤหัสบดี ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ |
๘ ไม่เป็นหนี้ "...กลับมาท่านเห็นว่าซื้อของมา ท่านถามว่าเอาเงินอะไรไปใช้ บอกขอยืมเขามา ท่านดุใหญ่ ท่านบอกว่า บอกแล้วว่าถ้าไม่มีเงิน อย่าไปซื้อของ เป็นหนี้ใครไม่สมควร..." |
"...เมื่อโตขึ้นหน่อย อายุประมาณ ๗ ขวบ ไปอยู่เมืองนอกแล้ว ไปในเมือง ไปที่ร้านของเล่นแล้วอยากซื้อของเล่น ตามปกติท่านให้เงินสำหรับไปซื้อของ คือหมายความว่าเป็นเงินประจำ เป็นเงินสำหรับค่าขนมหรือค่าของเล่นที่จะไปซื้อเอง
ทุกอาทิตย์ท่านจะให้จำนวนไม่มาก ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันนี้ ดูแล้วมันเป็นจำนวนที่เรียกว่าน่าสงสารเหมือนกัน ที่ว่าได้เพียงแค่นี้ ถ้าเปรียบเทียบเป็นเงินบาทในขณะนั้นกับเดี๋ยวนี้ ก็อาทิตย์ละ ๑๐ บาทอย่างมาก คือค่าของเงินมันตก แต่ว่าสมัยโน้นอาทิตย์หนึ่งได้สัก ๒๕ สตางค์ ไปในเมืองไปที่ร้านของเล่น อยากได้จริงอยากได้ของ แล้วก็ไม่มีเงิน ไม่ได้เอาเงินไปเลยขอยืมเงินผู้ใหญ่เป็นญาติ ขอยืมเงินเขาเล็กน้อยคือราคาตอนนั้นอาจบาทหนึ่งหรือสองบาท ซื้อของเล่น กลับมาท่านเห็นว่าซื้อของมา ท่านถามว่าเอาเงินอะไรไปใช้ บอกขอยืมเขามา ท่านดุใหญ่ ท่านบอกว่า บอกแล้วว่าถ้าไม่มีเงินอย่าไปซื้อของ เป็นหนี้ใครไม่สมควร ท่านก็ถือว่าเป็นระเบียบสำคัญ ไปเป็นหนี้เป็นสินนั้นไม่ดี ซึ่งก็จำเอาไว้ตลอด ไม่ยอมที่จะไปเป็นหนี้ ไม่ยอมที่จะขอยืมเงินใครเพราะว่าไม่ดี เข้าใจซาบซึ้งว่าถ้าเราไม่มีเงินแล้วไปใช้เงิน ถ้าไม่มีเงินสำหรับใช้หนี้ ต่อไปก็เดือดร้อน เดือดร้อนต้องหาเงินมาให้ แล้วโดยปกติเป็นหนี้เขาก็ต้องเสียดอกเบี้ย ลงท้ายล่มจม เคยประสบมาคนที่เคยมาขอยืมเงิน เสร็จแล้วเขาไม่สามารถที่จะใช้หนี้ ในกิจการที่เขาจะทำนั้นนะ เขาต้องไปซื้อแล้วต้องไปขอยืมเงินจากที่อื่น ไม่เหมือนของเรา ของเราไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ไปที่อื่นต้องเสียดอกเบี้ย จนกระทั่งเงินที่เขาขอยืมเขาบอกว่าใช้หนี้ไม่ได้ ก็เลยบอกก็แล้วไป แต่เขาบอกมันไม่แล้วไป ยังเป็นหนี้ที่อื่นอีกเป็นหมื่น แล้วมันเพิ่มมากขึ้นทุกที เขาคิดจะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ อันนี้การเป็นหนี้ไม่ดี แม้จะเล็กน้อยมันก็พอกเข้าไป นี่ก็ได้รับการสั่งสอนจากแม่ว่าไม่ให้เป็นหนี้..." |
๙ พระอาจารย์วัน "...ถ้าเกี่ยวข้องกับโลก เมตตาตัวเดียวไม่พอ ถ้าพูดถึงพรหมวิหาร ๔ ท่านก็บอกว่าต้องปฏิบัติจนถึงมีอุเบกขา ก็เป็นความจริง เพราะว่าในโลก ถ้าหากว่าเราเมตตาและทำแบบโลกนี่ เมตตาไม่ใช่เมตตา มันประกอบด้วยราคะ..." |
"...โครงการสำหรับทำให้มีน้ำใช้น้ำบริโภคในบริเวณอำเภอส่องดาวนี้ เป็นการริเริ่มของพระอาจารย์วัน ซึ่งท่านอยู่ที่ส่องดาว ท่านได้จัดโครงการขึ้นมาและท่านก็เคยบอกว่าท่านอยากให้โครงการเหล่านี้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว
เพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้รับความสะดวกความสุข โดยเล็งเห็นว่าการช่วยให้ชาวบ้านมีอยู่กินสบายนั้นย่อมทำให้เกิดความสงบสุข และคนที่มีความสงบสุขแล้วก็ไม่ประกอบความวุ่นวาย ทำให้บ้านเมืองมีความมั่นคง ท่านมองในแง่นี้อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ท่านก็มองในแง่ความเมตตา ว่าการแผ่ความเมตตานี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน ผู้ใดแผ่เมตตาเป็นหรือสามารถที่จะแผ่เมตตา โดยไม่นึกถึงว่าเมตตานั้นจะได้รับผลตอบแทนอย่างไร ซึ่งท่านก็ไม่ได้เรียกว่าเมตตา ถ้าเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นแต่ต้องการผลตอบแทนนั้นก็อาจจะเป็นความรักความห่วงใยก็เป็นได้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นการเห็นแก่ตัวก็เป็นได้ แต่ว่าการแผ่เมตตานี้ ในความหมายของท่านอาจารย์ ท่านหมายถึงว่าเป็นการทำให้จิตใจเราผ่องใส เคยไปถามท่านว่าเมตตานี้มีประโยชน์ไหม แล้วก็เมตตาจะต้องประกอบด้วยอะไร ท่านบอกว่าเมตตาตัวเดียวนั้นพอ ถ้าเราอยากที่จะปฏิบัติให้จิตใจเราผ่องใส ก็หมายถึงที่สุดก็หลุดพ้น ปฏิบัติเมตตาตัวเดียวนี้พอ หมายความว่าคำว่าเมตตานี้เป็นธรรมะที่สูง เป็นธรรมะที่สำคัญอย่างหนึ่ง และเป็นทางอย่างหนึ่งสำหรับให้ไปถึงที่สุด ในความหมายของพระก็หมายความว่าถึงนิพพาน..." |
"...การที่ผู้ใดประกอบกิจการด้วยเมตตานั้น ก็หมายความว่าไปในทางที่ถูกแล้ว ถ้าเราปฏิบัติเมตตาโดยจริงใจนั้น ย่อมขัดเกลาจิตใจของเราให้ผ่องใส แต่อันนี้ถ้าพูดอย่างธรรมดาแล้วก็อาจจะมากเกินไป เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติเมตตาแล้วไปถึงที่สุดไปถึงหลุดพ้นนั้น ย่อมต้องประกอบด้วยอื่น ๆ อย่างครบถ้วน
แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติเมตตาเลยเพราะว่าเราบอกว่าเราเป็นปุถุชน เรายังต้องมีการทำมาหาเลี้ยงชีพ ตัวเองยังอยู่ในโลก ไม่เป็นพระ ก็จะไปถึงที่สุดอย่างนั้นเหมือนท่านก็ออกจะยาก จริง ยาก แล้วก็อาจจะใช้เมตตาตัวเดียวไม่พอ ทำไม ทำไมใช้เมตตาตัวเดียวไม่พอ ก็เพราะว่าเมตตานั้นผู้ที่ปฏิบัติเมตตาแล้วถึงที่สุดถึงหลุดพ้น เพราะท่านได้ปฏิบัติเมตตาพร้อมด้วยเครื่องประกอบของเมตตา คือถ้าเราปฏิบัติเมตตาก็เท่ากับปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างอื่น ๆ ด้วยพร้อม แต่ถ้าเราบอกว่าเราเป็นปุถุชน เราอยู่ในโลก เราเป็นฆราวาส เราต้องทำมาหากิน จึงป่วยการที่จะปฏิบัติเมตตา ก็ดูจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าถามท่านว่า เมตตานี่ถ้าขาดอย่างอื่นก็ปฏิบัติไม่ได้ใช่หรือเปล่า ท่านก็บอกว่าถ้าเกี่ยวข้องกับโลกเมตตาตัวเดียวไม่พอ ถ้าพูดถึงพรหมวิหาร ๔ ท่านก็บอกว่าต้องปฏิบัติจนถึงมีอุเบกขา ก็เป็นความจริง เพราะว่าในโลกถ้าหากว่าเราเมตตาและทำแบบโลกนี่ เมตตาไม่ใช่เมตตา มันเป็นประกอบด้วยราคะ ประกอบด้วยสิ่งที่เรายังไม่ได้ขัดเกลา หรือประกอบด้วยโทสะก็มี..." |
...เพราะว่าเล่าให้ท่านฟังว่า เราเมตตาเอาผ้าห่มไปแจกชาวบ้าน แล้วก็ไปแจกให้ชาวบ้านอย่างนั้นมันเกิดโทสะ มันเกิดโทสะเพราะว่าเวลาเราแจกกับคนหนึ่งเสร็จแล้ว เขานั่งทับแล้วเขาก็ขอแจกอีก อีกคนหนึ่งคนนั้นทำตัวสั่นหนาวสั่น ก็แจกอีก ในที่สุดให้ไป ๆ เขานั่งทับ ๓-๔ ผืน หรือบางทีก็ได้แล้ว ส่งไปให้ข้างหลังให้แอบ ให้ซ่อน จนกระทั่งคนนั้นนะได้รับถึง ๒-๔ ผืน หรือ ๕ ผืนก็ได้
เมื่อเห็นอย่างนั้นก็เกิดโทสะ เกิดความไม่ดีในใจของเรา ก็บอกท่านว่าถ้าเมตตาอย่างนี้นะเมตตาไปเมตตามาก็เกิดโทสะ มิทำให้เป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือ ท่านก็บอกใช่ถูกต้อง ท่านบอกใช่อยู่แบบภาษาของท่าน ท่านก็ได้สอนว่าเมตตากรุณานี้ต้องประกอบด้วยมุทิตากับอุเบกขาด้วย และต้องพิจารณาด้วย สมมติว่าเราให้ไป เขานั่งทับหรือเขาส่งไปข้างหลัง เขาขออีก ทำให้เราเกิดโทสะ เราก็ต้องระงับโทสะ ระงับโทสะด้วยการคิดว่ามุทิตา เขาได้รับไปแล้วเขาได้อีกผืนหนึ่งก็เป็นความโชคดีของเขา เพราะว่าที่บ้านของเขาอาจจะมีลูกหลานพี่น้องอีกเยอะแยะที่ต้องการเหมือนกัน จะได้ไปเผื่อแผ่ได้ อย่างนั้นเราก็สบายหายโกรธ..." |
"...หรือถ้าเรารู้สึกว่าเป็นธรรมดา เรานึกว่าธรรมดา เราไม่นึกว่าเขาเป็นคนเลว เขาอาจจะเป็นคนที่โลภมาก รู้ว่าเขาโลภ เราก็สบายใจ เราก็วางเฉยได้ วางเฉยอุเบกขาแต่ไม่ใช่วางเฉยเฉื่อยแฉะ เฉยโดยที่รู้แท้นั่นแหละอุเบกขา เรารู้เขาเป็นอย่างนั้น เรารู้ ความไม่ดีอยู่ที่เขา เขาก็จะเดือดร้อนเอง แต่ว่าก็ช่วยไม่ได้ แล้วก็อุเบกขา
ฉะนั้น การที่ท่านทั้งหลายเมตตา ต้องประกอบด้วยธรรมะอื่น ๆ แล้วก็จะเป็นประโยชน์ได้แน่นอน ถ้าท่านทำด้วยความเมตตา แล้วไปนึกถึงเมตตาตัวเดียวถึงที่สุด อันนี้ก็คิดผิดเหมือนกัน เพราะว่าเราลืมว่าธรรมะอื่น ๆ เรายังไม่ได้ปฏิบัติ หรือถ้าเราทำเมตตา แล้วก็ทำแค่นั้นไม่ไปไหน อันนี้ก็คิดผิด ขอให้ทุกคนปฏิบัติเมตตาและธรรมะอื่น ๆ ด้วยพร้อม ยังไม่ถึงนิพพาน แต่ก็ทำให้ขยับขึ้นไปให้รู้จักความดียิ่ง ๆ ขึ้น อย่างน้อยที่สุดในปัจจุบันนี้เราก็มีความสบายใจ..." |
๑๐ คำว่า"สามัคคี" "...ที่ว่าพ่อแม่ตีลูกรู้สึกว่าดุร้าย ที่จริงการตีลูกนั้นก็เป็นความเมตตากรุณา เพราะว่าเป็นการตักเตือน ถ้าหากว่าพ่อแม่ตีลูกด้วยโทสะ ด้วยความโกรธเคืองนั้นไม่ดี แต่ถ้าตีลูกเพราะอยากให้เข้าใจ นั้นเป็นเมตตา..." |
"...คำว่าสามัคคีนี้ฟังแล้วก็เบื่อ ทุกคนฟัง เวลาไปที่ไหน ท่านผู้ใหญ่ไปที่ไหน บอกว่าจงอยู่ในสามัคคีธรรม ขอให้ตั้งอยู่ในสามัคคีธรรม คนไทยตั้งอยู่ในสามัคคีธรรมจึงจะรอดพ้น ฟังแล้วอาจจะเบื่อก็ได้คำว่าสามัคคี
แต่ว่าถ้ามาคิดอย่างสามัคคีคืออะไร สามัคคีคือการร่วมแรงกันทำงานอย่างหนึ่งก็เป็นสามัคคี สามัคคีคือความครบถ้วนก็เป็นสามัคคี ดังที่เรียกว่าสมังคีหรือสามัคคีก็เหมือนกัน สมังคีก็ฟังได้ชัดขึ้นหน่อยว่า แปลว่าให้พร้อม ให้ไปด้วยกันหรือให้มาอยู่ด้วยกัน..." |
"...ถ้าหากว่าพูดถึงเรื่องอื่นที่กว้างขวางออกไป จะเป็นการปฏิบัติกิจใด ทำอะไรก็ตาม มันต้องหลายส่วน ไม่ใช่ส่วนเดียว ทุกอย่างต้องไปพร้อมกัน คือในการปฏิบัติตนในอาชีพการงานของแต่ละคน ๆ คนหนึ่งคนใดนั้น ไม่ได้ทำอย่างเดียว ทำทุกอย่างทำหลายอย่าง แต่ว่าก็อาจจะหนักไปในทางหนึ่งทางใด เพราะมีหน้าที่ต่างกัน แต่ว่าถ้าไม่สอดคล้องกัน มันก็เป็นการเบียดเบียนกัน ก็ไม่สมังคี งานการนั้น ๆ ก็ไม่ก้าวหน้า ยิ่งขยายออกไปเป็นเรื่องของส่วนรวม จะเป็นส่วนรวมของคณะ หรือส่วนรวมของสมาคม หรือส่วนรวมของสถาบัน จนถึงส่วนรวมของประเทศชาติ ถ้าไม่สามัคคีกัน ถ้าไม่สมังคี ถ้าไม่พร้อมเพรียงกัน เป็นการขัดขากัน ไม่ไปไหน แล้วทั้งหมดก็เสีย..."
|
"...สามัคคีอีกอย่างก็คือสามัคคีในจิตใจ คือปรองดองกัน โดยเมตตากรุณากัน คนเราถ้าทำงานแล้ว ไม่เมตตากัน ไม่กรุณากัน มันแห้งแล้ง แห้งแล้งแล้วไม่รู้ว่าทำงานทำไม มีชีวิตทำไม แล้วก็ลงท้าย คนที่มีชีวิตมาแล้ว ก็ย่อมจะมีชีวิต คนที่เกิดมาแล้ว ถึงเวลาตาย เขาก็ตาย แต่ว่าคนที่เกิดมาต้องมีชีวิต เมื่อมีชีวิตแล้วก็แห้งแล้ง มันก็อยากตาย ถ้าอยากตายมันก็ไม่มีประโยชน์
ฉะนั้น..ถ้าจะมีชีวิตอยู่ ก็ต้องมีชีวิตทำงานทำการและมีความคิด ถ้ามีความเมตตากรุณาซึ่งกันและกัน ชีวิตก็ไปได้ เมื่อชีวิตไปได้แล้ว ส่วนรวมก็ไปได้ ถ้าหากว่าสามัคคีในทางเมตตากรุณา ก็หมายความว่า ถ้าเห็นคนอื่นเขาทำอะไรก็ช่วยเขา ถ้าเขาทำดีก็ชื่นชม ถ้าเขาทำไม่ดีก็ตักเตือน การตักเตือนก็ไม่ใช่ไปตักเตือนเขาอย่างที่ทำให้เขาเจ็บใจเปล่า ๆ ให้ตักเตือนเขาอย่างทำให้เขามีกำลังใจ เห็นว่าตรงไหนบกพร่อง ก็เตือนให้เขาเข้าใจ ถ้าเขาเข้าใจแล้ว เขาก็อาจจะเห็นว่า เขาบกพร่องตรงนั้น ๆ แล้วต้องแก้ไขอย่างไร นั่นเป็นเมตตา..." |
"...ที่ว่าพ่อแม่ตีลูกรู้สึกว่าดุร้าย ที่จริงการตีลูกนั้นก็เป็นความเมตตากรุณา เพราะว่าเป็นการตักเตือน ถ้าหากว่าพ่อแม่ตีลูกด้วยโทสะ ด้วยความโกรธเคืองนั้นไม่ดี แต่ถ้าตีลูกเพราะอยากให้เข้าใจนั่นเป็นเมตตา เมตตากรุณานั้นไม่ได้หมายความว่าให้มานั่งยอกัน ชมกัน เมตตากรุณานี้บางทีก็เป็นการตักเตือนกัน ช่วยกันแต่อย่างนุ่มนวล ไม่ใช่ตักเตือนอย่างรุนแรงที่จะเป็นการที่เรียกว่าด่ากัน
ความจริงเวลามีใครมาตักเตือนเรา แล้วเราก็รู้สึกว่าไม่ค่อยพอใจอยู่เสมอ รู้สึกขุ่นเคือง แล้วก็หาว่าเขาด่า แต่ว่าบางทีถ้าพิจารณาแล้วเขามาตักเตือนอย่างนิ่มนวล แล้วเรารู้สึกว่าเขาหวังดีจริง ๆ ก็ไม่โกรธ และเป็นประโยชน์ ไม่เป็นการด่า ฉะนั้น การตักเตือนก็เป็นการเมตตากรุณาอย่างหนึ่งเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของสามัคคีด้านจิตใจ ถ้าแต่ละคนเข้าใจถึงคำว่าสามัคคีก็เป็นบทเรียนที่ ๑ ที่ทำให้บ้านเมืองนี้มีความเจริญ จะมีความมั่นคงปลอดภัยได้ส่วนหนึ่งอย่างแน่นอน..." |
๑๑ รากฐานของความดี "...มีหมอฝรั่งคนหนึ่งมาเมื่อคืนนี้ คุยไปคุยมาเขาก็พูดว่า ...เอ้อ กรุงเทพฯนี่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่านิวยอร์ค รถมันแน่นจริง นี่หรือฝืดเคือง เขาก็ฉงนเหมือนกัน..." |
"...ท่านทั้งหลายมาจากหลายคณะจำนวนมากนี้ มาอวยพรในโอกาสที่เป็นวันครบรอบวันเกิดในวันพรุ่งนี้ และได้มอบฉันทะให้อาจารย์ประภาศน์ อวยชัยเป็นผู้กล่าวให้พรในนามของท่านทุกคน ก็นับว่าได้ประโยชน์ได้ผลดี
ข้อหนึ่งก็ทำให้มีความปลื้มใจที่ได้เห็นท่านทั้งหลายได้มา ที่สำคัญที่สุดก็ได้แสดงถึงการมีความสามัคคีปรองดองกัน และให้สำนึกในความสามัคคีปรองดองว่า เป็นพลังอันใหญ่สำหรับให้ส่วนรวมอยู่ดี และส่วนตัวแต่ละคนก็อยู่ดี คำว่าอยู่ดี ที่จริงตั้งใจจะจบแล้วตอนนี้ แต่ขอต่อท้ายนิดหนึ่งว่า ความอยู่ดีนี้ต้องเปรียบเทียบ เดี๋ยวนี้โดยมากก็พูดกันว่าแร้นแค้น ฝืดเคือง เมื่อกี้ก็ไปเจอพ่อค้าคนหนึ่ง ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ เขาไม่ได้บอกว่าแย่แท้ เขาบอกว่าฝืด เพราะว่าเศรษฐกิจมันฝืดเขาก็เลยขายไม่ค่อยได้ ความจริงขายไม่ค่อยได้ไม่ใช่เพราะว่าน้ำมันแพง เพราะว่าน้ำมันมันน้อยลงในโลก เพราะทั่วโลกมีความฝืดเคือง แต่ว่ามีหมอฝรั่งมาคนหนึ่งเมื่อคืนนี้ คุยไปคุยมาเขาก็พูดว่า เอ้อ กรุงเทพ ฯ นี่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่านิวยอร์ค รถมันแน่นจริง นี่หรือฝืดเคือง เขาก็ฉงนเหมือนกัน ก็แปลกทำไมเมืองไทยฝืดเคือง ที่จริงก็ฝืด ราคาสินค้าอะไรต่าง ๆ มันก็แพงขึ้นเป็นของธรรมดา ถ้าเงินเดือนขึ้นราคาสินค้าก็ขึ้น ราคาสินค้าขึ้นก็ต้องเรียกร้องเงินเดือนขึ้น เป็นของธรรมดา..." |
"...พูดถึงเรื่องความฝืดเคือง ความแร้นแค้น ความจริงเมืองไทยนี่ยังดี ไม่ใช่อวดว่าเราร่ำรวย ไม่ใช่อวดว่าเราเป็นมหาอำนาจนะ ไม่ใช่ว่าเราเป็นประเทศที่หรูหรา แต่ว่าเราพออยู่ได้ และด้วยอำนาจแห่งความสามัคคีนั่นเองที่ทำให้เราอยู่ได้
ใครมาบอกว่าเมืองไทยล่มจมแล้ว ก็มาพิจารณาดูจะเห็นว่าเราก็ไม่ได้ล่มจม อาจจะคลอนแคลนบางส่วน แต่ว่าก็ยังอยู่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แม้จะเป็นประเทศที่เรียกว่าประเทศที่รวย ของเราอยู่ดี ในด้านเศรษฐกิจนี่อยู่ดีพอสมควร ก็คลอนแคลนไปตามเรื่องตามราวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังเรียกว่าเหนือศูนย์สูตรกลาง ยังดีกว่า แต่ว่าที่จะดีที่จะได้กำไรที่สุด คือว่าไม่แร้นแค้นในทางจิตใจ ก็สามัคคีทั้ง ๒ อย่าง ในทางวิชาการและในทางจิตใจ ความแร้นแค้นก็มี ๒ อย่าง แร้นแค้นในทางกาย ในทางเศรษฐกิจ ในทางวัตถุ กับแร้นแค้นในทางใจ ถ้าแร้นแค้นในทางใจเมื่อไรเมืองไทยล่ม อันนี้เป็นของแน่ ล่มแน่ เพราะว่าเมืองไทยนี้อยู่มาด้วยความเมตตากรุณากัน เช่น ในป่าในภูเขาสมัยก่อนนี้ ตามเส้นทางเดินมีเป็นพลับพลาเล็ก ๆ มีศาลาเล็ก ๆ และก็ในศาลานั่นนะ มีข้าว มีหม้อ มีไห มีฟืน มีสิ่งของที่เป็นอาหาร มียา เขาทิ้งไว้ คนไหนผ่านมา หิวก็หุงข้าว คนไหนที่มีข้าวติดตัวมาแล้วต้องการสิ่งใดที่มีอยู่ที่นั่น ก็เหมือนว่าแลกเปลี่ยนกัน อย่างหลวม ๆ อย่างกว้างขวาง เขาทำกันอย่างนั้น เดี่ยวนี้ก็ไม่ค่อยมีนัก มีแต่ศาลาไลออนส์ แต่ว่าศาลาไลออนส์นั่นก็เป็นสิ่งที่ค้างอยู่จากประเพณีเดิม..." |
"...ศาลาไลออนส์นั่นเขามีไว้สำหรับพักร้อนข้างทางใหญ่ ๆ มีหลายแห่ง เขาทำก็ดีมีประโยชน์ แต่ว่ามันก็ชักจะแห้งแล้ง เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ คือพวกตามบ้านที่อยู่ข้างถนนเขาก็ตั้งขวดน้ำ น้ำบริโภควางเอาไว้ ใครหิวน้ำก็มา เดี๋ยวนี้ก็ยังมีทางภาคอีสาน ทางภาคเหนือ มันไม่แห้งแล้ง แม้กรุงเทพ ฯ ที่ว่าเป็นเมืองหลวง เป็นเมืองที่เขาบอกว่าส่วนที่เป็นเมืองใหญ่อย่างฝรั่ง เขาก็รู้สึกว่าเมืองใหญ่นี่มันแร้นแค้น มันดุร้าย แต่ความจริงดู ๆ แล้วกรุงเทพ ฯ นี้เองก็ยังไม่แห้งแล้ง คือคนก็มีไมตรีจิตกัน มีไมตรีต่อกัน อันนี้เป็นคุณสมบัติของคนไทยที่ทิ้งไม่ได้ ถ้าทิ้งแล้วก็ล่ม เพราะว่าความแร้นแค้น ความขาดสามัคคีทางจิตใจนี้ไม่ดี แต่วัดไม่ได้ ทำสถิติไม่ได้ ถึงดูยากและเข้าใจยาก
แต่คิดว่าท่านทั้งหลายทุกคนที่มาก็คงเข้าใจ จะมีอาชีพอะไร จะมีอายุเท่าใด เพศใด วัยใด จะทำงานอะไรก็ตามเชื่อว่าเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็คงไม่มา จะมีประโยชน์อะไรมาเมื่อยเปล่า ๆ มาฟังเขาพูดอะไรก็ไม่รู้ แต่นี่เรามาแล้ว พูดอะไรก็ไม่รู้อย่างนี้ นี่ก็เชื่อว่าท่านทั้งหลายก็เมตตา คือถ้าฟังไม่รู้เรื่องก็ช่างเถอะ อยากพูดก็พูดนี่แหละไม่แร้นแค้น อันนี้เป็นข้อสำคัญ ถ้าคนที่เขาแร้นแค้นนั้นมาพูด มานี่ต้องเสียเงินเท่านั้น ๆ ต้องเสียเวลาเท่านั้น ๆ เป็นเงินทองหมด แล้วก็มาฟังฟังพูดอะไรไม่รู้ ขาดทุน แต่ตอนนี้ก็ขาดทุน ขาดทุนก็ไม่เป็นไร..." |
"...อันนี้ก็อยากให้เข้าใจ ความแร้นแค้นคืออะไร แล้วก็แร้นแค้นทั้งสองอย่าง บำบัดด้วยความสามัคคีทั้งสองอย่าง แล้วก็จะทำให้บ้านเมืองไม่ล่มจม บ้านเมืองไปได้ แล้วถ้าบ้านเมืองไปได้ประเทศอื่นเขาจะเป็นอย่างไรก็ไม่ใช่ช่างเขา เราก็เมตตาเขาและก็สงสารเขา เราก็ต้องช่วย อย่างที่ผู้ที่ลี้ภัยมาก็ต้องช่วยเขา เราไม่ได้สมน้ำหน้าเขาหรืออะไรหรอก เราก็ช่วยเขา
ประเทศไทยนี้ประชาชนคนไทยนี้ใจไม่แห้งแล้ง และก็เมื่อต่างประเทศเขาเห็นแล้วว่าคนไทยใจไม่แห้งแล้ง เขานับถือนะ เขานับถือทีเดียว เขาไม่ได้มาหัวเราะเยาะว่าเราเป็นคนเฮฮา เป็นคนที่มีไมตรีจิตกันอะไรอย่างนั้น มาพบกันก็เฮฮากัน เขาเข้าใจแล้วว่าทำไมเราเฮฮากัน เพราะมีไมตรีจิตต่อกัน และเราก็มีไมตรีจิตต่อคนอื่น มีความเมตตากรุณาตลอดเวลา อันนี้เป็นรากฐานของความดี และเป็นรากฐานของความมั่นคงของประเทศชาติ..." |
๑๒ บำบัดอย่างพุทธ "...ถ้าไม่ได้สั่งสอนหรือบอกว่ายังเด็กเกินไปแล้วก็น่ารัก ปล่อยมันตามเรื่องตามราวหรือตามใจของพ่อแม่หรือตามใจของผู้ใหญ่ เด็กนั้นจะเสีย ซึ่งปรากฏมาแล้วว่าเด็กเสียเพราะว่าตามใจ..." |
"...เคยพูดมาหลายครั้งนานมาแล้วว่า พุทธศาสนานี่ใช้ได้ทุกปี ทั้งผู้เยาว์ผู้แก่ โดยเฉพาะสำหรับผู้เยาว์ ถ้าสามารถที่จะอธิบายให้เขาแน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ใช้การได้จริง ๆ ไม่ต้องใช้คำที่หรูหรา ไม่ต้องใช้คำในทางวิชาการของพุทธศาสนาเลยก็ได้ เขาจะสนใจไม่ใช่น้อย และเขาจะใช้เป็นประโยชน์แก่ตน แก่การศึกษาของตน
เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำด้วยเหตุผล ซึ่งเป็นหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนา สิ่งที่มีคือ มีเหตุใดก็ต้องมีผลนั้น ผลนั้นก็ต้องเป็นเพราะเหตุ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนา ไม่มีลืม การใช้คำที่หรูหราต่าง ๆ เป็นเพียงเทคนิค เป็นเพียงวิชาการเพื่อที่จะบอกเหตุผลให้พิสูจน์ แม้จะทำดีได้ดีก็อยากจะอธิบายให้ใคร ๆ ฟังนัก ก็เป็นหลักของเหตุและผล ดีคืออะไรก็ยังไม่ทราบ แต่ว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วมีผลอย่างไร ดีนี่คืออะไร ก็อย่างที่บอกว่าไม่ทราบ เพราะว่าถ้ามีสตางค์มากดีไหม เรายังไม่รู้ คนไหนที่มีบ้านช่องหรูหราดีไหม ก็ไม่ดี ก็เป็นห่วงเดี๋ยวไฟไหม้ เป็นห่วงเดี๋ยวมีขโมยมา เป็นห่วงเดี๋ยวสร้างแล้วมันไม่แข็งแรงทลายลงมา หรือแม้เครื่องเรือนต่าง ๆ หรือบ้านช่องที่ได้ประดับประดาอย่างดีเดี๋ยวมันจะเสียไป มันก็มีทุกข์ ฉะนั้นดีในที่นี้ก็ต้องให้รู้ว่าอะไร เวลาบอกทำดีได้ดีอย่างนี้ ที่คนไม่เข้าใจก็เพราะไม่ทราบว่าดีคืออะไร แต่ว่าถ้าแพร่ความรู้ในทางหลักมีเหตุแล้วก็มีผล แต่ละคนนึกถึงว่าผลดีหรือไม่ดีนี้ก็แล้วแต่ตัว แล้วจะพิจารณาได้ จึงจะทำให้ผู้ที่รับคำสั่งสอนได้เป็นผลดีจริง อันนี้ได้เห็นได้พิสูจน์แล้วว่าผู้ที่ใช้เหตุผลและได้รับอบรม คือได้รับฟังและฝึกฝนสมองของตนตั้งแต่เยาว์ ที่ว่าตั้งแต่เยาว์นี่ไม่ได้ขีดขั้นว่าเยาว์แค่ไหน ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ ถ้าสั่งสอนได้เราก็สั่งสอนได้ตั้งแต่ยังพูดไม่ชัด คือยังเกือบไม่รู้เรื่องอะไร เราสั่งสอนให้มีเหตุผลตลอดขึ้นมาก็จะมีเหตุผล..." |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:02 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.