กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=21)
-   -   ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3286)

ลัก...ยิ้ม 23-08-2020 12:24

กินอยู่เรียบง่าย หรูหราด้วยธรรม

“...งานของพระที่ว่าให้ทำอย่างนั้น ก็กลายเป็นงานก่อสร้างไปหมด นั่น..หรูหราฟู่ฟ่า ฟุ่มเฟือยแล้วเอามาแข่งขันกัน วัดนั้นสวย วัดนี้งาม วัตถุเครื่องก่อสร้างต่าง ๆ สวยงามเท่าไร ยิ่งเป็นที่เกรงขาม บ๊ะ..ฟังซิน่ะ กิเลสมันเอาให้เป็นที่เกรงขามไปได้นะ มันแทรกเข้าไปอยู่ในนั้นละ ยิ่งหรูหราฟู่ฟ่า.. สวยงามเท่าไรยิ่งเป็นเครื่องประดับวัดวาอาวาส นี่ละ.. กิเลสเข้าไปประดับร้านทั้งภายนอกทั้งภายใน ไม่เพียงประดับร้านเฉย ๆ ข้างนอกนี่หลอกไว้แบบหนึ่ง ข้างในก็หลอกไว้อีกแบบหนึ่ง มันเต็มวัดเต็มวา เต็มพระเต็มเณร ส่วนฆราวาสเขาไม่ต้องพูดละ เขาไม่มีแบบมีฉบับ พระเรานี้มีแบบมีฉบับ ควรจะได้แบบฉบับอันดีงามมาประดับตนและสั่งสอนประชาชน

เมื่อภายในมีหลักมีเกณฑ์ มีความสง่างามแล้ว อยู่ที่ไหนก็สง่างามหมด อดบ้างอิ่มบ้างก็ไม่เป็นทุกข์ ท่านไม่เป็นกังวล ใครจะอดอยากขาดแคลนยิ่งกว่ากรรมฐาน ผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมไม่มี ถ้าเป็นเรื่องของผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมแล้ว ต้องเป็นผู้ได้รับความทุกข์ต่าง ๆ จากปัจจัย ๔ คือที่อยู่ที่อะไร คือท่านไม่สนใจ ท่านไม่เอา เพราะไม่ใช่ทาง เพียงอยู่อาศัยวันหนึ่ง ๆ ไปเท่านั้นพอ ภายในนี้ท่านสนใจมาก...”

ลัก...ยิ้ม 24-08-2020 13:33

พูดคุยกันเป็นอรรถ เป็นธรรม

“... นี่เป็นงานของพระพุทธเจ้า งานของสาวก ที่เกี่ยวข้องกันเป็นอย่างนั้น เรื่องอรรถเรื่องธรรมล้วน ๆ ไม่มีอะไรเข้ามาเจือปนเลย ถ้าสมัยปัจจุบันก็หลวงปู่มั่น นี่ก็เหมือนกัน ตรงเป๋งเลยเชียว ไม่มีจะพูดเรื่องโลก เรื่องสงสาร.. ไม่เคย พูดอะไร ๆ ก็มีแต่พูดเรื่องอรรถเรื่องธรรม เรื่องที่ทำความพากความเพียร ท่านพูดกันอย่างนั้น คุยกันกี่ชั่วโมงก็ตาม มีแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรมล้วน ๆ ฟังแล้วรื่นเริง ๆ นั่นมันต่างกันอย่างนั้นนะ นี่ละธรรม.. ธรรมออกก้าวเดินเป็นอย่างนั้น กิเลสออกก้าวเดิน กิเลสออกตีตลาด.. คำพูดคำจาจะเป็นเรื่องของกิเลส ของการบ้านการเมือง ความได้ความเสีย การซื้อการขาย เรื่องหญิงเรื่องชายไปหมด นี่คือกิเลสออกตีตลาด...”

ลัก...ยิ้ม 24-08-2020 13:40

ไม่ก่อสร้างวัตถุ แต่สร้างหัวใจ

“... เพราะฉะนั้น เราจึงได้ขู่เข็ญวงกรรมฐานเรา ขนาดนั้นมันยังรอดออกไปได้นะ โถ.. มันเร็ว บางทีชี้หน้าเลย..ขนาดนั้น เอาอย่างหนัก เกี่ยวกับเรื่องการก่อการสร้างยุ่งเหยิงวุ่นวาย นี่เป็นการสร้างความกังวล ไม่ได้สร้างความสงบ เมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร สติปัญญา ความคิดความอ่านไตร่ตรอง ความกังวลวุ่นวาย ความก่อกวน มันจะเข้ามาพร้อม ๆ กัน นั่นคือสร้างความวุ่นวาย ปลูกกุฏิขึ้นเพียงหลังหนึ่งเท่านั้น ก็สร้างความวุ่นวายสักเท่าไร ยิ่งสร้างศาลาขึ้นหลังใหญ่ ๆ ทั้งหลัง มันจะก่อกวนมากน้อยเพียงไร ทั้งวุ่นวาย ทั้งก่อกวน เลยกลายเป็นศาสนากวนบ้านกวนเมืองไป กวนเอาห้าเอาสิบเขามาสร้างนั่นเอง เนี่ย..ที่ให้เกามันไม่ยอมเกา มันเถลไถลออกไปข้างนอก.. มันยิ่งไปใหญ่ ทีนี้เลยกลายเป็นศาสนากวนบ้านกวนเมือง แทนที่จะให้เป็นความร่มเย็นแก่โลกแก่สงสาร กลับเป็นความร้อนยิ่งกว่าโลกไปซะอีก กวนโลก กวนสงสารเขาไปอีก นี่ละกิเลสมันเข้าตีตลาด ตีอย่างนี้ ไอ้เราไม่รู้ ประดับตกแต่งอะไรมีแต่เรื่องของกิเลส...”

ลัก...ยิ้ม 24-08-2020 13:47

ไม่รับนิมนต์ไปฉันในบ้าน

“...วัดป่าบ้านตาดก็ประกาศตั้งแต่เริ่มสร้างวัดมา เราบอกตรง ๆ เลยว่า วัดนี้เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาเพื่อสั่งสมอรรถธรรม มรรคผลนิพพานล้วน ๆ เราบอกตรง ๆ เพราะฉะนั้น การเกี่ยวข้องกันไปฉันที่นั่นที่นี่ตามบ้านตามเรือน ในเมือง นอกเมืองที่ไหน เราจึงขอบิณฑบาต เราบอก.. ขออย่ามานิมนต์พระวัดนี้ไป มันจะขาดงานการของท่านที่ท่านทำด้วยความตั้งอกตั้งใจ ไปทุกวี่ทุกวันจนจะกลายเป็นความเหลวแหลกแหวกแนวไป จึงขอบิณฑบาตจากบรรดาพี่น้องทั้งหลาย.. ไม่ให้มานิมนต์วัดนี้ไปฉันในบ้าน บ้านนั้นบ้านนี้ในเมืองนอกเมืองก็ตาม เราเป็นหัวหน้า เราเป็นหัวหน้าเป็นผู้บิณฑบาตขอพี่น้องทั้งหลาย ไม่ว่าชาวอุดรชาวไหนก็ตาม ให้เสมอกันหมด แต่ถ้าหากว่ามีความจำเป็นจริง ๆ เราไม่ได้ห้ามขาดโดยถ่ายเดียว มีข้อแม้ที่จะแยกแยะ หากว่ามีความจำเป็นจริง ๆ ซึ่งควรจะเป็นไปตามนั้น พระกับโยม โลกกับธรรมแยกกกันไม่ออกก็ต้องช่วยกัน แก้ไขดัดแปลงกันไป หนุนกันไปตามความจำเป็น เอ้า.. เราจะจัดให้ แน่ะ.. จะเอาสักกี่องค์ พระเราจัดให้เลย ถ้าไม่จำเป็นจะทำแบบซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนกลายเป็นประเพณี นั่นมันเสียทางพระ.. ธรรมไม่มี จะมีแต่เรื่องของโลกล้วน ๆ ไปหมด เราจึงตัดอันนี้เอาไว้...”

ลัก...ยิ้ม 25-08-2020 13:11

เน้นเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา

“... พระเราไม่มีความสงบเลยไม่มีความหมาย ว่างั้นเลยนะ ... สมบัติทางโลกเขา คือเงินทองข้าวของ ตึกรามบ้านช่อง สมบัติของพระก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคผลนิพพาน นั่น.. สมบัติของพระเป็นอย่างนั้นนะ นี่มันมาแย่งงานของโลกมาใช้ในวัดในวา ในพระในเณร เวลานี้ธรรมจึงหมดความหมายไปทุกวัน ๆ นี่ละ ที่เรียกว่ากิเลสมันเก่ง ดูเอาสิ... ไม่มีใครคิดนะ ว่ากิเลสเข้าตีตลาด ตีแบบไหน เวลานี้มันกำลังตีแหลกหมด ไม่เลือกว่าวัดว่าวา ประชาชนญาติโยม .. ตีแหลกไปตาม ๆ กันหมดไม่ได้ยกโทษ พูดตามหลักความจริง ...

เพราะแบบแผนตำรับตำราเครื่องยืนยันกันมีอยู่ นั่น..เอาอันนั้นออกมากางซี ... งานของพระไม่มีอะไรเกินการอยู่ในป่าในเขา เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ที่อยู่ของพระผู้มุ่งต่อมรรคผลนิพพานตามทางศาสดาจริง ๆ ท่านสอนอย่างนั้นนี่นะ ... พูดตั้งแต่เรื่องการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ชำระกิเลส พอพระเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า จะรับสั่งทันทีเลย เป็นยังไงไปอยู่ที่นั่น นั่นหมายถึงว่าที่ภาวนานะ ไปอยู่ที่นั่นภาวนาเป็นยังไง จิตใจเป็นยังไง ... จากนั้นพระองค์ก็ประทานโอวาท.. ให้ประกอบความพากเพียรทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ตลอดถึงการพักผ่อนก็บอกไว้หมด

ในอปัณณกปฏิปทาสูตร ท่านแสดงไว้เป็นสูตรจริง ๆ เอามาสวดมนต์อยู่นี่ ... อปัณณกปฏิปทาสูตร คือการปฏิบัติไม่ผิด ปฏิบัติโดยความสม่ำเสมอ คือตั้งแต่ปฐมยามไปให้ประกอบความเพียร จะเดินจงกรมก็ได้ จะนั่งสมาธิภาวนาก็ได้ พอถึงมัชฌิมยามก็พักผ่อนนอนหลับ พอปัจฉิมยามก็ตื่นขึ้นเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเรื่อย ๆ ไป ตอนกลางวันก็ทำนองเดียวกัน หากจะมีการพักผ่อนบ้างในตอนกลางวันก็พักได้ แต่ต้องระมัดระวังให้ปิดประตู รักษามารยาทในการพักนอน ท่านสอนไว้โดยละเอียดลออมากที่สุด...”

ลัก...ยิ้ม 25-08-2020 13:31

อย่าติโทษพระธรรม ให้ปฏิบัติถูกธรรม

“... เราอาจจะมีความเห็นผิดไปตำหนิโทษพระศาสนาว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เป็นนิยยานิกธรรม พอที่จะนำผู้ปฏิบัติธรรมให้พ้นจากทุกข์ไปได้จริง สมกับที่พระองค์ตรัสรู้ไว้ว่าสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว แท้จริงทั้งวันทั้งคืนกระแสแห่งใจของเราเอนเอียงไปสู่โลกตลอดเวลา คำว่า โลก ทั้งโลกในทั้งโลกนอก พึงทราบว่าเป็นสภาพหนึ่งจากธรรมที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหวัง การปฏิบัติของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย มุ่งในหลักธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ เพราะเหตุนั้น ประโยคแห่งความเพียรทุก ๆ ประโยค จึงเป็นไปเพื่อความแก้ไขมลทิน จนหมดสิ้นโดยตลอดไม่มีอะไรเหลืออยู่ จากนั้นก็กลายเป็น พุทโธ ขึ้นมาให้โลกได้กราบไหว้บูชา

ที่ท่านเป็นธรรมทั้งองค์เพราะท่านปฏิบัติถูกธรรม เหตุกับผลจึงลงกันได้อย่างนี้ ส่วนเราทั้งหลายเดินจงกรม นั่งสมาธิจริง แต่กลายเป็นสมาธิหัวตอ นั่งหลับในสมาธิไม่รู้กี่ครั้งกี่หน หรือกลายเป็นเรื่องประจำ ก็อาจเป็นไปได้ในบางราย นี่ผู้เทศน์ไม่รับรองแทนได้ แต่เรื่องคงเป็นความจริงอย่างนั้น ผลจึงกลายเป็นอื่นเสมอไป ถ้าเหตุเป็นเรื่องของธรรมแล้ว.. ผลจะกลายเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะเหตุกับผลต้องสวมรอยกันไป เพราะเราทำไม่ถูกต้องตามหลักธรรม

แทนที่จะเดินจงกรม นั่งสมาธิ ให้สติสัมปยุตด้วยความเพียรติดต่อกันกับบทธรรม หรือสภาวธรรมที่เราพิจารณา แต่จิตกลายเป็นอื่นไปเสีย โดยส่งกระแสใจไปตามรูป เสียง รส เครื่องสัมผัส แม้ธรรมารมณ์ที่ปรุงขึ้นกับใจ ก็ปรุงไปเพื่อรูป เสียง รส เครื่องสัมผัส ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต ไม่ปรากฏกับจิตเป็นปัจจุบันแม้แต่ขณะเดียว อย่างนี้ผลก็ต้องเป็นโลกเสมอไป เพราะกระแสของจิตกลายเป็นโลกอยู่ตลอดเวลา ส่วนจิตก็ต้องเป็นโลกขึ้นมา ได้แก่เรื่องของสมุทัยแดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ทำหัวใจของเราให้เดือดร้อนแล้วก็มาตำหนิผลว่า ทำไมจึงเกิดความรุ่มร้อน วันนี้ไม่สบาย แต่ตนก่อเหตุความไม่สบายไว้ทั้งวันทั้งคืน เพื่อความเป็นอื่นจากธรรมโดยไม่รู้สึกตัว ไม่ได้คำนึงถึงเลย เรื่องจึงเป็นอย่างนั้น...”

ลัก...ยิ้ม 25-08-2020 13:38

ศีล สมาธิ ปัญญา

“...สีลปริภาวิโต สมาธิ มหัปผโล โหติ มหานิสังโส สมาธิที่ศีลหล่อเลี้ยงแล้ว ด้วยความระเวียงระวัง หิริโอตตัปปะ รักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์แล้ว การบำเพ็ญสมณธรรม คือสมาธิธรรม ย่อมมีความสงบร่มเย็นได้ง่าย นี่เป็นข้อแรก...

สมาธิปริภาวิตา ปัญญา มหัปผลา โหติ มหานิสังสา ปัญญาที่สมาธิเป็นเครื่องหนุนหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ ... เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วเรียกว่า จิตอิ่มอารมณ์ ไม่คิดไม่ปรุง มีแต่อารมณ์อันเดียวแน่น นั่นเรียกว่า เอกัคตารมณ์ เอกัคตาจิต ... เมื่อสมาธิมีความสงบใจ ที่เรียกว่าใจอิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ในเรื่องที่เป็นภัยต่อจิตใจ เพราะจิตใจอิ่มตัวด้วยสมาธิธรรม มีความสงบเย็น มีธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง แล้วปัญญาย่อมเดินได้สะดวกคล่องตัว ... ตั้งแต่ขั้นหยาบของปัญญา จนกระทั่งถึงขั้นละเอียดสุด วิมุติหลุดพ้นไปจากปัญญานี้ทั้งนั้น ... ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตยุ่งเหยิงวุ่นวาย จะพาพิจารณาทางด้านปัญญา มันกลายเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นฝ่ายสมุทัย เป็นฝ่ายกิเลสตัณหาไปเสียโดยไม่รู้ตัว ..

ปัญญา ปริภาวิตัง จิตตัง สัมมเทว อาสเวหิ วิมุจจติ จิตที่ปัญญาซักฟอกเรียบร้อยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ คือจิตนี้จะหลุดพ้นด้วยปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องซักฟอกจิตให้หลุดพ้น ... นี่ธรรม ๓ ประการ...”

ลัก...ยิ้ม 26-08-2020 00:31

กรรมฐาน ๔๐ ห้อง

“...จะระงับความคิดปรุงทั้งหลายเหล่านี้ด้วยบทธรรม ถ้าระงับเฉย ๆ จะระงับไม่ได้ ต้องอาศัยบทธรรมเพราะจิตทำหน้าที่อันเดียว ไม่มีงานอื่นใดเข้ามาแทรกในขณะที่ทำหน้าที่อันเดียวอยู่นั้น งานสองเข้ามาก็เรียกว่าแย่งงานกัน แล้วต้องให้มีงานอันเดียว คือเราเจริญจิตใจด้วยบทภาวนา นี่ผู้ฝึกหัดเบื้องต้นนะ ให้ฝึกหัดภาวนาอบรม มีคำบริกรรมเป็นเครื่องกำกับใจอยู่เสมอ เราอย่าปล่อยคำบริกรรม

อย่างหนึ่งเห็นว่าไม่ทันการณ์ แล้วหนักเข้าไปกว่านั้นเลยกลายเป็นว่า เห็นว่าครึไปเลย เราคิดนึกแบบเรียนลัดให้จิตสงบไปเอง ๆ อย่างนี้ดีกว่า นี่เป็นความอุตริอันหนึ่งของจิต มันเกิดมาเรื่อย ๆ เพราะมันชอบอุตริชอบทะนงตัว เมื่อธรรมแทรกเข้าไป มันจึงต้องปัด ทั้ง ๆ ที่ธรรมเป็นความถูกต้องดีงาม มันยังต้องปัดจนได้ แล้วก็เรียนลัด นึกแต่ความรู้เฉย ๆ ๆ ให้สติอยู่กับความรู้ ๆ มันก็ไม่เป็นหลักเป็นเกณฑ์อะไรเลย เพราะสติเผลอได้ง่าย เมื่อสติเผลอ.. ความรู้ก็ถูกกิเลสลากให้เถลไถลไปในที่ต่าง ๆ ตามอารมณ์ที่เคยคิดเคยปรุงนั้นแล แล้วก็กลายเป็นกิเลสล้วน ๆ ขึ้นมาแทนที่ซึ่งเราว่าเราภาวนา

เพราะฉะนั้น เพื่อกำจัดอันนี้ลงไป ให้ได้ผลในการภาวนาเท่าที่ควรในเบื้องต้น จึงขอให้ยึดคำบริกรรมไว้ให้ดี คำบริกรรมในกรรมฐาน ๔๐ ห้องนั้น ควรแก่ทั้งสมถธรรมทั้งวิปัสสนาธรรม ควรแก่กันได้ทั้งนั้น ... เวลาเราภาวนา ระงับความอยากเหล่านี้ลง จะเป็นด้วยบทธรรมใดก็ตาม เช่นเรากำหนดภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ ก็ได้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็ได้ มรณสติก็ได้ อานาปานุสติก็ได้ เหล่านี้ เป็นบทภาวนากรรมฐาน ๔๐ ห้อง เป็นบทธรรมเพื่อความสงบใจ.. แล้วให้ตั้งสติด้วยดี กำกับคำบริกรรมนี้ไว้กับจิตตนเอง อย่าถืองานอื่นใดว่าเป็นงานสำคัญยิ่งกว่างานบริกรรมที่กำกับด้วยสติอย่างเข้มงวดกวดขันนี้ นี่เรียกว่าประกอบความเพียร...”

ลัก...ยิ้ม 26-08-2020 13:31

อานาปานุสติ

“...ผู้กำหนดอานาปานุสติก็ให้รู้แต่ลมเข้าลมออก สูงต่ำก็ช่าง ไม่สำคัญ สำคัญที่ความรู้ความสัมผัสของลมเข้าลมออก.. รู้กันอยู่ทุก ๆ ระยะ จะสูงจะต่ำ หยาบละเอียด ให้กำหนดรู้ที่ลมเข้าออกนี้เท่านั้น อย่าไปคาดหมายให้เกิดความลังเลสงสัย และตั้งลมบ่อย ๆ แบบนั้นไม่ถูก ... การตั้งลมจะตั้งสูงตั้งต่ำ เราตั้งที่ตรงไหนแล้วก็ให้จับที่ตรงนั้นไว้ แล้วกำหนดให้รู้ลมเข้ารู้ลมออกอยู่ทุกระยะ ๆ .. จับลมไม่หยุดไม่ถอย .. สุดท้ายก็เหลือแต่ลม เหลือแต่ลมก็กำหนดแต่ลมจนละเอียดเข้าไป เอ้า.. ลมจะหมดจริง ๆ ก็ให้หมด อย่าไปตกใจ อย่าไปกลัวตาย เมื่อจิตครองร่างอยู่ ลมจะหมดไปก็ไม่ตาย ... ถึงลมจะหมดไปก็ตาม ให้ทราบว่าลมที่กำหนดนั้นหมดไป แต่ความรู้ที่เป็นตัวการสำคัญซึ่งเราต้องการนั้นมีอยู่กับเรา .. นี่คือหลักของการภาวนาอานาปานุสติ

ลัก...ยิ้ม 26-08-2020 13:36

ไตรลักษณ์

“... พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาไตรลักษณ์ (ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา) ก็เพื่อจะตัดสาเหตุการหลั่งน้ำตาของสัตว์ผู้ไปยึดไตรลักษณ์มาเป็นตน เป็นของตนเสียได้ กลายเป็นความรู้เท่าทันตามหลักความจริง และถอดถอนอุปาทาน ความยึดมั่นสำคัญผิด.. อันเป็นเสี้ยนหนามทิ่มแทงหัวใจให้หมดไป ... บรรดาสัตว์ บุคคล ตลอดทวยเทพที่มีรูปร่าง แง่ความคิด ภูมิที่อยู่ และนิสัยวาสนา.. จำต้องยอมรับกฎของไตรลักษณ์ อันเป็นกฎของวัฏฏะอันเดียวกัน...

ทุกขัง คือความทุกข์กายไม่สบายใจ ใครจะหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับทุกข์อันเกิดขึ้นกับตนผู้เป็นต้นเหตุของทุกข์ไปไม่ได้ ... อนิจจัง คือความแปรปรวนนั้น มีอยู่รอบตัวทั่วสรรพางค์ร่างกาย ไตร่ตรองไปตามสภาวะ ซึ่งมีอยู่ในตัวอย่างสมบูรณ์ให้เห็นชัด แม้ทุกข์.. ความบีบคั้นก็มีอยู่ทั้งวันทั้งคืน ไม่เพียงแต่ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจที่เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ต่าง ๆ ก็มีอยู่เช่นเดียวกัน จงกำหนดให้เห็นชัด คำว่า อนัตตา ก็ปฏิเสธในความเป็นสัตว์ เป็นสังขาร เป็นเรา เป็นเขาอยู่ทุกขณะ เมื่อพิจารณาจนมีความชำนาญ กายก็จะรู้สึกว่าเบา ใจก็มีความอัศจรรย์ และสว่างกระจ่างแจ้งไปโดยลำดับ ...”

ลัก...ยิ้ม 27-08-2020 15:11

สติปัฏฐานสี่

“... สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ มีสี่คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ทุกส่วนของร่างกายรวมแล้วเรียกว่า.. กาย ความสุข ความทุกข์ และเฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เป็นไปทางกายทางใจ ที่เรียกว่า.. เวทนา ใจและกระแสของใจที่เกี่ยวกับอารมณ์เรียกว่า.. จิต สิ่งที่ถูกใจและกระแสของใจเกี่ยวข้อง หรือสิ่งที่ถูกเพ่งทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด เรียกว่า.. ธรรม ทั้งสี่นี้มีสมบูรณ์อยู่กับตัวเราทุกท่าน และเป็นบ่อเกิดของสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ตลอดวิมุติความหลุดพ้น...”

ลัก...ยิ้ม 27-08-2020 15:19

อริยสัจ ๔

“...หลักความจริงอันเป็นหัวใจของพระศาสนาที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ อริยสัจธรรมทั้งสี่นี้ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ... การพิจารณาทุกข์ก็เป็นอริยสัจอันหนึ่ง เมื่อเห็นเรื่องของทุกข์แล้วเป็นเหตุให้คิดต่อไปว่าทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เช่นเราเสียใจในขณะที่ประสบสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา... เราพยายามพิจารณาหาต้นหตุแห่งความเสียใจว่า เกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด และจะมีทางแก้ไขความเสียใจด้วยวิธีใด ดังนี้ก็เรียกว่าพยายามจะถอนสมุทัยอยู่ในขณะเดียวกันนั้นแล้ว ... การไตร่ตรองหรือพิจารณาทุกข์ตั้งใจดูทุกข์ กำหนดรู้ทุกข์ ตั้งสติดูทุกข์ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญาทั้งนั้น .. คือสติกับปัญญาไปโดยทำนองนี้ ก็เป็นการทำให้แจ้งซึ่งนิโรธโดยลำดับในขณะเดียวกัน ... ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์มีอยู่ที่ตรงไหน มีอยู่ที่กาย มีอยู่ที่ใจ สมุทัยมีอยู่ที่ไหน สมุทัยมีอยู่ที่ใจ สมุทัยได้แก่อะไร ? ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา.. ทุกข์อยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นจากสมุทัยเป็นผู้ผลิตขึ้นมา นิโรธ ดับทุกข์จะดับที่ไหน ? ทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน นิโรธก็ดับที่นั่น แล้วสาเหตุที่จะทำให้นิโรธดับทุกข์ได้มาจากไหน ? ก็มาจากมรรค...

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็ดี สติปัฏฐานสี่ก็ดี และไตรลักษณ์ก็ดี โปรดทราบว่ามีอยู่กับคน ๆ เดียว มิได้มีอยู่ในที่ต่างกัน ผู้ปฏิบัติต่อธรรมทั้งสามนี้สายใดสายหนึ่งชื่อว่าปฏิบัติต่อตนเอง เพราะจุดความจริงคือตัวเราเป็นฐานรับรองของธรรมทั้งสามประเภทนี้ ถ้าพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ให้ชัดเจนด้วยปัญญาแล้ว ทุกข์กับสมุทัยไม่จำต้องบังคับขู่เข็ญด้วยวิธีอื่นใด แต่จะหมดสิ้นไปเอง ตามหน้าที่ของเหตุซึ่งดำเนินโดยถูกต้อง ถ้าพิจารณาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ให้เห็นชัดว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นไตรลักษณ์แน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่น การดำเนินสายอริยสัจก็ดี สายสติปัฏฐานก็ดี และสายไตรลักษณ์ก็ดี มันเป็นเรื่องของคน ๆ เดียวกัน และเป็นทางสายเอกที่สามารถยังผู้ดำเนินตามให้ถึงธรรมอันเอกได้เช่นเดียวกัน...”

ลัก...ยิ้ม 28-08-2020 14:19

ปัญญาอบรมสมาธิ

“... การทำจิตใจให้สงบด้วยอุบาย สมาธิอบรมปัญญา หรือด้วยอุบายปัญญาอบรมสมาธิ ทั้งสองนี้เป็นอุบายวิธีที่ถูกต้องเสมอกัน เพราะเป็นอุบายเครื่องกระตุ้นเตือนสติ ให้รู้ความเคลื่อนไหวของจิตทุกระยะในขณะทำการอบรม.. ปัญญาทำการพิจารณาหักห้ามกีดกันจิตที่กำลังฟุ้งซ่านกับอารมณ์ในเวลานั้น ให้จิตรู้สึกตัวด้วยเหตุผลโดยวิธีต่าง ๆ จนจิตยอมรับหลักเหตุผล และยอมจำนนต่อปัญญาผู้พร่ำสอนแล้วกลับตัว แล้วย้อนเข้าสู่ความสงบได้ ... การฝึกทรมานจิต ให้สงบเป็นสมาธิลงได้ ด้วยทั้งจิตกำลังฟุ้งซ่านและรำส่ำระสายด้วยอุบายที่กล่าวมา เรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” เพราะทำการหักห้ามจิตลงได้ด้วยความฉลาดรอบคอบของปัญญา...”

ลัก...ยิ้ม 28-08-2020 14:27

อารมณ์เครื่องยั่วยวน

“... ใจที่ไม่ยอมเข้าสู่ความสงบได้ตามใจหวังในเวลาบำเพ็ญนั้น โดยมากใจมีอารมณ์เครื่องยั่วยวนมาก เช่น รูปไหลเข้ามาในครองจักษุ เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็ไหลเข้ามาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วไหลผ่านเข้าไปถึงใจ กลายเป็นธรรมารมณ์ขึ้นมา ใจซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ชั่ว ดี และสุข ทุกข์ จึงมีความกระเพื่อม รับอารมณ์อยู่ตลอดเวลา หาโอกาสดำรงตนอยู่ด้วยความสงบสุขไม่ได้เลย

จำต้องรับรู้ รับเห็น รับสุข รับทุกข์ จนไม่มีเดือน ปี นาที ชั่วโมง เป็นเวลาพักผ่อนใจ แต่เป็นธรรมดาของสามัญจิต จะอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังตนเองย่อมไม่ได้ ต้องอาศัยอารมณ์เป็นผู้พาอยู่ พาไป พาให้ดี ให้ชั่ว พาให้สุข ให้ทุกข์ พาให้ดีใจและเสียใจ พาให้เพลิดเพลินและเศร้าโศกอยู่เป็นประจำ จึงไม่มีโอกาสให้เห็นความสุขอันแท้จริงของใจ ความสุขที่เกิดจากการอบรม แม้จะอาศัยธรรมเป็นอารมณ์ของใจ แต่ก็เป็นเครื่องสนับสนุนใจ ให้ได้รับความสุขเพื่อเป็นตัวของตัวขึ้นไปเป็นลำดับ จนถึงขั้นเป็นตัวของตัวได้อย่างสมบูรณ์...”

ลัก...ยิ้ม 29-08-2020 23:35

ดับ โลภ โกรธ หลง ที่ต้นตอคือใจ

“...ความโลภเกิดขึ้น ติดตามความโลภให้รู้ว่า มันเกิดขึ้นเพราะเหตุไร ที่มันไปโลภ ไปโลภอยากได้อะไร อยากได้ไปทำไม เท่าที่มีอยู่เพราะความโลภไปเที่ยวกว้านเอามาก็หนักเหลือกำลังอยู่แล้ว ยังหาที่ปลงวางไม่ได้นี่ .. ความโกรธเกิดขึ้นก็เหมือนกัน ไม่เพ่งเล็งผู้ที่ถูกเราโกรธ ต้องย้อนเข้ามาดูตัวโกรธ ซึ่งแสดงอยู่ที่ใจและออกจากใจว่า ไม่มีอันใดที่จะรุนแรง ไม่มีอันใดที่จะให้เกิดความเดือดร้อนเสียเสียหายยิ่งกว่าความโกรธที่เกิดขึ้นภายในใจเรา ทำลายเราก่อนแล้วถึงไปทำลายคนอื่น เพราะไฟเกิดที่นี่และร้อนที่นี่แล้วจึงไปทำผู้อื่นให้ร้อนไปตาม ๆ กัน เมื่อพิจารณาอย่างนี้ไม่ลดละต้นเหตุของผู้ก่อเหตุ ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี ย่อมระงับดับลง เพราะการย้อนเข้ามาพิจารณาดับที่ต้นตอของมัน ซึ่งเป็นจุดที่ถูกต้องและเป็นจุดที่สำคัญที่ควรทำลายกิเลสประเภทต่าง ๆ ได้...”

ลัก...ยิ้ม 29-08-2020 23:42

อย่ามองกันในแง่ร้าย

“... อย่ามองกันในแง่ร้าย ให้มองกันในแง่เหตุผลและเมตตาต่อกันเสมอ เพราะคนเราความรู้และอัธยาศัยใจคอไม่เหมือนกัน ผู้มีความรู้มากก็มี ความรู้น้อยก็มี ผู้โง่ผู้ฉลาดมีสับสนปนกันไป ผู้หยาบผู้ละเอียดมี ให้ต่างคนต่างระมัดระวัง สิ่งใดที่มีอยู่ในตัวเรา ยิ่งสิ่งใดที่เป็นภัยต่อหมู่เพื่อนด้วยแล้ว ให้ระมัดระวังและกำจัดให้ได้ อย่าหวงไว้เผาตัวเองและวงคณะ และอย่าแสดงออกมาเป็นอันขาด ซึ่งเป็นการขายตัวอย่างเลวร้ายที่สุด.. ให้อภัยไม่ได้เลย นี่แหละ.. คือหลักของการปกครองของการอยู่ร่วมกันเป็นอย่างนี้ จึงต้องได้ระมัดระวังเสมอ ประมาทไม่ได้ตลอดไป...”

ลัก...ยิ้ม 30-08-2020 21:50

เตือนพระเณร มหาภัย ๕ อย่าง

“...พระเราเป็นเพศที่หนึ่งที่จะสามารถครองมรรคครองผลได้ เพราะมีโอกาสอันดีงาม ทุกสิ่งทุกอย่างอำนวยหมด ให้พากันตั้งใจ เราเป็นห่วงเป็นใยพระลูกพระหลานของเรา กลัวจะเลินเล่อ.. เผลอสติ เป็นบ้ากับโลกกับสงสารเขา ทุกวันนี้เรื่องของกลมายาของกิเลสนั้นมีมากนะ วันนี้จะพูดให้บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลายของเรา ได้ทราบเสียว่าจุดใหญ่มหาภัยคืออะไร

เริ่มตั้งแต่หนังสือพิมพ์เป็นข่าวเป็นคราว พระเราไม่จำเป็นต้องหาข่าวหาคราว หลีกข่าวหลีกคราวทั้งนั้นถึงถูก อย่างพระพุทธเจ้าไล่เข้าป่า เพื่อหลีกข่าวหลีกคราวทั้งหลาย อันเป็นเรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายของกิเลสมันบีบบี้สีไฟนั่นเอง จากนั้นก็วิทยุให้ตัดออก อันนี้ก็เป็นเรื่องข่าวเรื่องคราว เรื่องยุยงก่อกวนจิตใจให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามมัน เทวทัตโทรทัศน์ วีดีโอ นี่เป็นตัวสำคัญมาก อันนี้อันหนึ่งแล้ว โทรศัพท์มือถือนี้สุดยอดได้เลย จับโทรศัพท์ขึ้นใส่หูปั๊บ.. นี้คุยกับอีสาวได้ สบายเลยนัดกันไปห้องไหนหับไหน ที่ไหน ๆ ม่านรูดม่านรีดไม่สำคัญ นัดกันได้ถึงที่สุดเลย

นี่แหละ ๕ กษัตริย์นี้เอง เป็นตัวทำลายศาสนาอยู่เวลานี้ วัดวาอาวาสเราเลยจะรกจะร้างไปหมด เพราะสิ่งเหล่านี้เข้าไปทำลาย ตามวัดตามวา.. จะไม่เหลือพระเณรอยู่ในวัดแล้ว ... นี่ละตัวมหาภัย จึงได้เผดียงให้พระลูกพระหลานทั้งหลายทราบ อย่าได้คุ้นอย่าได้ชินกับมัน อย่าเห็นว่าเป็นสิริมงคล นี้คือตัวภัยสำหรับพุทธศาสนา ... ในวัดนี้มีไม่ได้ ...

สำหรับพระเณรของเรา ให้พากันระมัดระวังให้มาก ใครกล้าหาญชาญชัย ก็คือเป็นเทวทัตต่อสู้พระพุทธเจ้านั้นแล นี่เป็นจุดสำคัญมาก ขอให้พากันระมัดระวัง ... อย่าไปสนิทสนมกับมันถ้าไม่อยากจม นี่เป็นข้าศึก แม้แต่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ จิตใจของเรายังเสาะยังแสวงหายุ่งเหยิงวุ่นวายตลอดเวลา จนหาเวลาว่างหาความสงบไม่ได้ ก็เพราะจิตหาอารมณ์ หาข่าว .. ให้เอาข่าวแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ... ข่าวภาวนาลงไปสู่จุดนี้ ระงับดับข่าวอื่นนั้นให้หมดไป ให้เหลือแต่ข่าวพุทโธ ธัมโม สังโฆ ข่าวอรรถข่าวธรรมอยู่ภายในใจ ใจของเราจะได้มีความสงบเยือกเย็น ข่าวธรรมกับข่าวโลก คือข่าวกิเลสกับข่าวธรรมนี้ต่างกันมากนะ...”

ลัก...ยิ้ม 30-08-2020 22:02

มหาปเทสและสิกขาบทเล็กน้อย

“... ของอะไร ๆ ที่ตกมาใหม่ ๆ นี้ คัมภีร์พลิกไม่ทัน ตามไม่ทัน เพราะสมัยทุกวันนี้เป็นสมัยจรวด แต่พระพุทธเจ้าท่านครอบไว้หมดเลย โดยยกมหาปเทสขึ้นเป็นข้อเทียบเคียง ทรงแยกออกมา.. ส่วนหนึ่งควร ส่วนหนึ่งไม่ควร ส่วนไหนที่ควรเป็นสิ่งของที่จะใช้สอย จะขบฉันอะไรก็แล้วแต่ที่ควร แต่นี้ไม่มีในพระวินัยแต่ก่อน ก็ให้โอนลงหลักพระวินัยที่เป็นของควร เช่น น้ำอ้อยแต่ก่อนมี แต่น้ำตาลไม่มีในพระวินัย ก็ให้โอนน้ำตาลว่าเป็นของควร และฉันได้ใน ๗ วัน เช่นเดียวกับน้ำอ้อย

เป็นของไม่ควร เช่นอย่างท่านบัญญัติสุราเอาไว้ในพระวินัย แต่นอกจากนั้นซึ่งเป็นพิษเป็นภัย เป็นความผิดเหมือนกัน หากไม่มีในพระวินัย ก็โอนเข้าไปทางสุราว่าเป็นของไม่ควร เช่น พวกฝิ่น เฮโรอีน อะไรเหล่านี้ก็โอนเข้าไปทางนั้น นี่ท่านเรียกว่ามหาปเทส คือแยกอันไหนที่ควร ให้ไปทางฝ่ายพระวินัยที่ควร นั่นพระพุทธเจ้าท่านฉลาดขนาดไหน ท่านยกมหาปเทสขึ้นเทียบเคียงเข้าไปอย่างนั้น เวลาท่านจะปรินิพพานก็ยังทรงอนุญาต ถ้าสงฆ์มีความประสงค์จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ได้ แต่ท่านไม่ได้ระบุว่า สิกขาบทเล็กน้อยคืออะไร...

คิดดู ขนาดพระอริยสงฆ์ขั้นพระอรหันต์ ท่านยังไม่มีองค์ใดลงมติได้เลยว่า สิกขาบทเล็กน้อยนั้นคือสิกขาบทเช่นไร จะรวมลงในสิกขาบทเท่าไร ฟังซี ก็เพราะท่านเคารพพระพุทธเจ้านั่นเอง ถ้าหากว่าสงฆ์มีความปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ได้ ท่านพูดกลาง ๆ ไว้อย่างนี้ ทีนี้เพราะความเคารพของพระสงฆ์ในครั้งนั้น ยกพระอรหันต์ขึ้นเลยแหละเป็นหลักใหญ่ ก็ไม่เห็นมีองค์ใดที่จะระบุออกมา ว่าสิกขาบทเล็กน้อยนั้นคืออันใด อันนั้นให้ถอนได้ ๆ หรือให้ถอนสิกขาบทนั้นได้ วินัยข้อนั้นได้.. ไม่เห็นมีองค์ใดกล้าตัดสิน ก็บอกไว้ในนั้นอีกแหละ เวลาพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระสงฆ์แม้องค์เดียวซึ่งเป็นพระอรหันต์ลงมา ไม่มีองค์ใดกล้าตัดสินลงได้ หรือจะถอนพระวินัยสิกขาบทเล็กน้อยนั้นได้ ก็เป็นอย่างนั้น...”

ลัก...ยิ้ม 30-08-2020 22:06

การทำวัตรสวดมนต์

“.. การประชุมไหว้พระสวดมนต์ จะมีเฉพาะวันอุโบสถปาฏิโมกข์เท่านั้น... ท่านประสงค์ให้พระเณรทำวัตรและสวดมนต์ตามอัธยาศัยโดยลำพัง จะสวดมากน้อยหรือถนัดในสูตรใดและเวลาใด ก็ให้เป็นความสะดวกของแต่ละรายไป ดังนั้นการทำวัตรสวดมนต์ของท่าน จึงเป็นไปโดยลำพังแต่ละรายตามเวลาที่ต้องการ และเป็นภาวนาไปในตัว เพราะความระลึกอยู่ภายในอย่างเงียบ มิได้ออกเสียงดังเช่นทำด้วยกันหลายคน ... สวดมนต์สวดอะไรก็ตาม ดูสูตรไหนดูให้ถูกต้องแม่นยำ อย่าให้คลาดเคลื่อน อย่าถือว่าไม่สำคัญ ศาสนาสำคัญทั้งพระสูตร ทั้งพระวินัย ทั้งปรมัตถ์ สำคัญหมด สูตรต่าง ๆ ออกมาจากจำพวกไหน จำพวกพระสูตรหรือพระวินัย หรือพระปรมัตถ์ ก็ให้ถูกต้องตามนั้น อย่าทำมักง่าย..ไม่ดี...”

ลัก...ยิ้ม 01-09-2020 12:08

การสวดปาฏิโมกข์

“...คิดดูซิ พระพุทธเจ้าบางองค์ ๗ ปีถึงประชุมปาฏิโมกข์กันหนหนึ่ง ๖ ปีย่นลงมา ๆ ปีหนึ่งลงอุโบสถสังฆกรรมทีหนึ่ง พระสงฆ์ก็อยู่ได้ด้วยความผาสุก มีความสามัคคีกลมกลืนกันดี ไม่แตกไม่ร้าว ส่วนศาสนาของพระพุทธเจ้าของเราได้ภายใน ๑๕ วันเท่านั้น เห็นว่าเป็นความเหมาะสม ใน ๑๕ วันประชุมสงฆ์ลงอุโบสถครั้งหนึ่ง ท่านบอกไว้อย่างนี้ นี้เป็นความแปลกต่างกัน ในบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ นอกนั้นเหมือนกันหมด ..

สวดปาฏิโมกข์นี่ก็ทำไมเลวลงอีกแล้วนะ ฟังแล้วไม่น่าฟังเลย มันเลวลงอีกอย่างละนะ ก่อนที่จะสวดทำไมไม่ฝึกไม่ซ้อมตัวเองให้เรียบร้อย นี่เป็นสังฆมณฑลเป็นสันนิบาตของสงฆ์ ไม่ใช่สันนิบาตของเด็กนี่ มาทำเล่น ๆ เหมือนเด็กได้เหรอ สวดให้ถูกตามบทตามบาทดังที่เคยสวดมานั้นมันดีอยู่แล้ว..เราก็ไม่ว่า นี่มันเลวลงจะไม่ให้ว่ายังไง ก็ไม่ได้สอนเพื่อให้เลวลง สอนเพื่อให้ดีขึ้น เพียงสวดปาฏิโมกข์ที่เคยสวดอยู่แล้วยังเลวลงได้ หยาบ ๆ นี้ก็เห็นอยู่แล้ว ละเอียดจะเอาความดีมาจากไหน ความละเอียด จะละเอียดยิ่งกว่านั้นได้ยังไง

เพราะขาดความเอาใจใส่ จิตใจไม่ได้อยู่กับธรรมกับวินัย.. พอให้มีความหนักแน่นในจิตที่จะให้เกิดความสนใจจดจ่อ ก็ดูเหมือนสวดพอเป็นพิธีไปอย่างนั้น แต่เราไม่ได้ยกโทษ เราพูดตามความจริง เราได้ยินด้วยหูของเรา เรานั่งฟังปาฏิโมกข์อยู่ด้วย.. ทำไมเราจะไม่รู้ ก็เราสวดปาฏิโมกข์ได้ด้วยนี่.. ไม่ใช่สวดไม่ได้ สวดดีไม่ดีก็ต้องรู้ มีแต่มหาเปรียญทั้งนั้นสวด.. เวลาสวดไปไม่เป็นท่า ไม่สมเป็นวัดใหญ่และอยู่ในกรุงเทพฯ เอาแต่ความเร็วเข้าว่า เลยเหมือนนกขุนทอง.. ไม่ได้ศัพท์ได้แสง ไม่ทราบทีฆะ รัสสะ อย่างไร ฟาดกันไปอย่างนี้ก็มี แล้วผมเกี่ยวข้องอยู่หลายวัดนี่ในกรุงเทพฯ ไปพักวัดไหนก็ต้องได้ฟังปาฏิโมกข์วัดนั้น ๆ เช่น วัดเทพศิรินทร์ฯ สวดดี วัด... นี้เป็นรองลงไป รองอยู่มาก นี่เราพูดถึงวัดใหญ่ ๆ

เราไปอยู่ที่ไหนเราสังเกตทั้งนั้น มันอดไม่ได้ที่ไม่สังเกต มันหากสังเกตอยู่อย่างงั้นแหละ ตามความรู้สึกของเจ้าของเอง มันชอบสังเกต สังเกตหาเหตุหาผลเพื่อเป็นอรรถเป็นธรรมนั่นเอง ไม่ใช่สังเกตเพื่อจะยกโทษยกกรณ์มองใคร ๆ ในแง่ร้ายอย่างนั้นเราไม่มี มองเพื่อหาความสัตย์ความจริง มันเป็นแต่ความจริงทั้งนั้น เช่น การสวดปาฏิโมกข์ก็เป็นความจริงเหมือนกัน อะเป็นอะ อิเป็นอิ อีเป็นอี ครุ ลหุ หนักเบา อักษรนั้น ๆ สระตัวนั้นออกมาจากฐานกรณ์ใด

พวกมหาเปรียญรู้ได้ดีนี่ เพราะอันนี้เป็นหลักของบาลีที่จะสอบเป็นเปรียญด้วยต้องรู้ สิถิล ธนิต โฆสะ อโฆสะ ครุ ลหุ ทีฆะ รัสสะ พวกมหาเปรียญรู้ดี ฉะนั้น..เมื่อผ่านประโยคนี้ไปแล้ว แม้จะไม่ฝึกกับใครก็รู้ เพราะครูได้สอนอักขระฐานกรณ์ตั้งแต่เรียนบาลีอยู่แล้ว นอกจากไม่สนใจเท่านั้นเอง จะว่าไม่รู้พูดไม่ได้ ลงเป็นมหาเปรียญไม่รู้สิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้..ว่างั้นเลย เพราะนี้เป็นหลักสูตรของความเป็นมหาเปรียญ เป็นหลักสูตรฝ่ายบาลี ก่อนจะไปแปลธรรมบทต้องผ่านบาลีเหล่านี้เสียก่อน สนธิ สมาส เหล่านี้ต้องคล่องตัว ศัพท์ไหนเป็นสนธิ ศัพท์ไหนเป็นสมาส เป็นตัตธิต อาขยาต นามกิตต์ รู้หมด ดีไม่ดียังรู้ไปจนกระทั่งธาตุ วิภัตติ ปัจจัย จะมาว่าอะไรแต่อักขระฐานกรณ์ที่เรียนเพื่อสวดปาฏิโมกข์เท่านั้น...

เกี่ยวกับการสวดปาฏิโมกข์อันเป็นกิจสงฆ์อย่างเต็มที่ไม่ดี นี่เป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่ง กิจสงฆ์ทั้งหมดที่จะเป็นความเรียบร้อยลงได้ในสังฆกรรมประเภทนี้ ต้องผู้สวดเป็นสำคัญ สวดปาฏิโมกข์ สวดไม่ถูกก็ไม่สมบูรณ์ สงฆ์ไว้วางใจให้ผู้นั้นทำหน้าที่เพื่อสงฆ์ทั้งวัด จึงต้องทำหน้าที่ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องเตือนเสมอ ก่อนที่ใครจะสวดต้องได้ฝึกซ้อมให้เป็นที่แน่ใจก่อน

ในระยะขั้นแรกเริ่มแห่งการสวดนี้ถึงจะไม่รวดเร็วอะไรก็ตาม เราไม่ถือเป็นสำคัญยิ่งกว่าการสวดให้ถูกต้องตามอักขระฐานกรณ์ เมื่อจำได้แม่นยำ สวดได้ถูกต้อง ในเบื้องต้น แม้จะสวดช้าไปบ้าง แต่เมื่อความเคยชินมีแล้วก็รวดเร็วไปเอง ไม่ใช่เร็วแบบไม่ได้ถ้อยได้ความ เร็วตกตามบทตามบาท ที่ไหนที่มีรัสสะมาก ๆ ก็เร็ว ที่มีทีฆะมาก ๆ ก็ช้าไปเอง ตามจังหวะของการสวดที่มีเสียงสั้นเสียงยาว เคยชินแล้วเป็นไปเอง ความเร็วก็เร็วไปเอง เร็วไปตามหลักแห่งความถูกต้อง ไม่ใช่รวดเร็วไปด้วยสักแต่ว่าอย่างนั้น.. ไม่นับเข้าในกฎเกณฑ์นี้...”

ลัก...ยิ้ม 01-09-2020 12:14

การขอนิสัย

“... ขอนิสัย พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นให้ขอรวมกันหมดทีเดียว ท่านก็ชี้แจงเหตุผลให้ทราบ ขอในเวลาบวชเป็นอย่างหนึ่ง ขอในเวลาที่บวชเสร็จเรียบร้อยแล้วมารวมกันนี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง ไม่ขัดต่ออาวุโสภันเต เพราะในขณะนั้นเป็นนามลูกศิษย์ขอนิสัยจากอาจารย์ด้วยกันทั้งนั้น ท่านว่าก็ถูกของท่าน แต่มีแปลกอยู่เราไม่เคยเห็น เณรท่านให้ขอนิสัยเหมือนกันนะ คือความพึ่งพิงสำหรับเณร องค์ไหนหนอ.. ท่านให้ขอนิสัยผมลืมเสียแล้ว พอได้เป็นแบบฉบับอันหนึ่งให้เป็นข้อคิดสำคัญ..."

ลัก...ยิ้ม 01-09-2020 12:18

หลักธรรมหลักวินัยเหนืออาวุโสภันเต

“... ไอ้เราจะว่าขวานผ่าซากก็ตาม หรือจะว่าตรงไปตรงมาก็ตาม เหตุผลมียังไง ธรรมมียังไง เราพูดตามนั้นเลย ไม่น่าเลื่อมใสเราบอกว่าไม่น่าเลื่อมใส ผิดเราว่าผิดเลย เรื่องครูเรื่องอาจารย์ว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่สำคัญยิ่งกว่าธรรมกว่าวินัย เรื่องหลักธรรมหลักวินัยเป็นหลักสำคัญมากทีเดียว เราเคารพตรงนี้ ถึงเคารพอาวุโสภันเตก็ตาม ก็ต้องเป็นผู้มีหลักธรรมหลักวินัยเป็นเครื่องยืนยันพอที่จะเป็นอาวุโสภันเตได้โดยสมบูรณ์ แล้วควรกราบไหว้บูชาซึ่งกันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน ก็ถือในหลักเกณฑ์ของธรรมวินัยเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่จะว่าบวชมาหลาย ๆ พรรษาแล้วก็ว่าเป็นอาวุโส จะให้กราบให้ไหว้เลยอย่างนั้นไม่ได้ ในหลักพระวินัยมี อายุ ๖๐ พรรษายังต้องมาขอนิสัยต่อพระผู้มีพรรษาน้อยกว่า นั่นคือไม่สามารถที่จะรักษาตนได้ อายุพรรษาจึงไม่สำคัญ...”

ลัก...ยิ้ม 01-09-2020 12:31

การอดอาหาร อดนอน

“...ดังที่ท่านอดอาหาร ในวัดป่าบ้านตาดนี้เรียกว่าเด่นมาตลอด ใครจะว่าบ้าก็ให้ว่ามา หลวงตาบัวเป็นสมภารวัดป่าบ้านตาด พาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายดำเนินมา ผิดถูกประการใดให้พิจารณา เราเรียนมาก็เรียนมาเพื่อมรรคเพื่อผล เพื่ออรรถเพื่อธรรมอย่างสูงทีเดียวตั้งแต่ต้นเลย การมาปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผลเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเหล่านี้จึงแน่ใจว่าไม่ผิด เช่น อดอาหาร ผ่อนอาหาร อาหารนี่เป็นสำคัญ พยุงทางธาตุขันธ์ แต่เป็นภัยต่อจิตใจได้ถ้าผู้ไม่พินิจพิจารณา เพราะฉะนั้น จึงให้แบ่งสันปันส่วนกันให้พอดี ธาตุขันธ์ก็ให้พอเป็นไปอย่าให้เหลือเฟือจนเกินไป จะกลายเป็นหมูขึ้นเขียงแล้วไม่ยอมลง ต้องมีการฝึกการทรมาน

พระเราถ้าฉันมาก ๆ สติไม่ดี ดีไม่ดีล้มเหลว จำให้ดีนะข้อนี้ พระพอผ่อนอาหารลงไปสติจะเริ่มดีขึ้น ผ่อนลงไปหรือตัดอาหารเป็นวัน ๆ ไป.. สติดี ดีขึ้น ปัญญาจะสอดแทรกไปตาม ๆ กัน ส่วนมากอดอาหารผ่อนอาหารนี้ถูกจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติมากทีเดียว มากกว่าข้อปฏิบัติอย่างอื่น ๆ อย่างท่านว่าธุดงค์ ๑๓ นั่นก็เพื่อกำจัดกิเลส คำว่าธุดงค์ ก็แปลว่าเครื่องกำจัดกำเลสนั้นแหละ อะไรที่ถูกกับจริตนิสัยของตนให้ยึดมาปฏิบัติ เช่นท่านบอกว่าเนสัชชิก ไม่นอน จะกำหนดสักกี่วันกี่คืนก็แล้วแต่ แล้วปฏิบัติตามนั้น ผลเป็นยังไงบ้าง เราสังเกตดูผล ถ้าไม่ได้ผลทั้งที่เราก็พยายามทำเต็มกำลังตามธุดงค์ข้อนั้น ๆ เราก็แยกเสีย เห็นว่าไม่ถูกก็พลิกไปข้ออื่น

สำหรับอดอาหารนี้ไม่มีในธุดงค์ ๑๓ แต่มีในธรรมข้ออื่น เช่น บุพพสิกขา ไม่มีธุดงค์ ๑๓ แต่ก็มีอยู่ในธรรมเช่นเดียวกัน เช่นบุพพสิขาเป็นต้น ในบุพพสิกขาท่านแสดงไว้ว่า ถ้าพระอดอาหารเพื่อโอ้เพื่ออวดแล้ว.. ปรับอาบัติทุกความเคลื่อนไหวเลย ไม่ว่าจะอยู่อาการใดปรับอาบัติเป็นโทษทั้งนั้น ๆ ห้ามอด พูดง่าย ๆ ถ้าฝืนอดไปก็ปรับโทษตลอด อดอาหารเพื่อกิเลสตัณหา คืออดเพื่อโอ้เพื่ออวด เพื่อให้เขายกยอตนว่าเป็นผู้รู้ผู้ฉลาดเพราะอดอาหารอย่างนี้ ปรับอาบัติตลอดเวลา นี่คือข้อธรรม มีในคัมภีร์ เรายกมาแสดงให้ฟัง แต่ถ้าอดเพื่ออรรถเพื่อธรรมแล้วอดเถิด เราตถาคตอนุญาต นี่ธรรมเหมือนกัน คืออดเพื่ออรรถเพื่อธรรม.. อดเถิด เราตถาคตอนุญาต

การอดนี้ก็ต้องสังเกตดูจริตนิสัยของตน เหมาะสมกับการอดอาหารหรือไม่เหมาะ ส่วนมากเหมาะ.. เพราะอาหารกับธาตุขันธ์มันเข้ากันได้ ธาตุขันธ์นี้มีกำลังทับจิตใจ การภาวนาไม่ค่อยสะดวก จึงต้องได้ผ่อนสั้นผ่อนยาวอยู่เสมอ ผู้ปฏิบัติอย่าทำสุ่มสี่สุ่มห้า ด้น ๆ เดา ๆ สักแต่ว่าทำไม่เกิดประโยชน์...”

ลัก...ยิ้ม 02-09-2020 14:15

ถือธุดงค์เข้าพรรษา

“...นี่เข้าพรรษาแล้วตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไปนั่น ก็จะบิณฑบาตดังธุดงค์ที่เคยปฏิบัติมาทุกปี ประชาชนทั้งหลายมีศรัทธาก็มาใส่บาตรตามเขตที่ปักไว้แล้ว ถือเอากำแพงเก่านี้เป็นบาทฐาน เรียกว่ารับมาถึงนั้นแล้วก็หยุด เราเอาอันนี้เป็นบาทฐานไปเลย ... พระท่านรับบิณฑบาตมาแล้วก็เป็นเรื่องของท่านเอง ข้อวัตรปฏิบัติประจำพระก็คือไม่รับบิณฑบาต ไม่รับอาหารเมื่อเข้าในวัดแล้ว ... ถ้าท่านรับก็ขาดธุดงค์ข้อนี้ ท่านไม่ใช่เย่อหยิ่งจองหองนะ ธุดงค์บังคับไว้ให้เป็นผู้มีความมักน้อย ได้มากได้เท่าไรก็ตามเอาเพียงเท่านี้ ๆ เพื่อจะตัดกิเลสตัวโลภมาก กินไม่พอนั่นเอง ตีลงมาธรรมะจะได้ค่อยเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเป็นลำดับ นี่การปฏิบัติตน...”

ลัก...ยิ้ม 02-09-2020 14:31

การเข้าพรรษา

“...ประเพณีการเข้าพรรษานี้ ถือเป็นกิจสำคัญสำหรับพระนับแต่ครั้งพุทธกาลมา เริ่มแรกจริง ๆ ก็ไม่มีการจำพรรษา เห็นมีความจำเป็นเกี่ยวกับการเที่ยวของพระไม่มีเวล่ำเวลา ทำคนอื่นให้ได้รับความเสียหายบ้าง หรือมากน้อยตามแต่พระเณร.. มีจำนวนมากเที่ยวไม่มีเวลาหยุดทั้งหน้าแล้งหน้าฝน เมื่อเขากราบทูลพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องการสัญจรไปมาของพระ พระองค์จึงทรงบัญญัติให้มีการจำพรรษา การอยู่จำพรรษานั้นต้องอยู่ให้ครบไตรมาสคือ ๓ เดือน มีวันนี้เป็นวันเริ่มแรก เพราะเป็นฤดูฝนสมกับการเข้าพรรษา จะอยู่ในสถานที่ใดก็ถือบริเวณนั้นเป็นขอบเขตของตน ซึ่งจะต้องจำพรรษาอยู่ที่นั้นตลอดไตรมาสคือ ๓ เดือน นี่เป็นประเพณีของพระ.. เราต้องมีการจำพรรษา จะไปเร่ ๆ ร่อน ๆ ไม่มีการจำพรรษาอย่างนั้นไม่ได้ ผิดพระวินัย ..

เขตในวัดเรานี้เป็นเขตที่กำหนดได้ง่ายที่สุด มีกำแพง นี่ในบริเวณวัดนี้เป็นเขตที่พระอยู่จำพรรษา กำหนดไตรมาส ๓ เดือน ไม่ได้ไปที่ไหนถ้าหากไม่มีความจำเป็น เมื่อมีความจำเป็นสัตตาหกรณียกิจไปได้ ๗ วันตามหลักพระวินัยแล้วกลับมา อย่างน้อยต้องมาค้างที่วัด ๑ คืนแล้วไปได้อีก ๗ วัน และกลับมาค้างที่วัดอีก ๑ คืน นี่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องไปด้วยสัตตาหะฯ ติดต่อกัน ท่านอธิบายไว้ตามพระวินัยละเอียดมากทีเดียว แต่ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นก็ห้ามไปค้างคืนที่อื่น ...”

ลัก...ยิ้ม 04-09-2020 14:25

สัตตาหกรณียกิจ

“... สัตตาหกรณียกิจ กิจที่ควรจะไปได้มี ๗ วันท่านบอก บิดามารดาป่วย เพื่อนฝูงสหธรรมิก หรือครู หรืออาจารย์ป่วย ท่านก็บอกไว้ตามหลักพระวินัย วัดวาอาวาสชำรุดมากจนจะหาที่หลบที่ซ่อนที่อยู่ไม่ได้ เช่น ศาลาโรงฉัน เป็นต้น ให้ไปหาไม้มาทำมาซ่อมแซม สัตตาหะไปได้ แล้วก็มาค้างวัดคืนหนึ่งแล้วออกไป ภายใน ๗ วันกลับมา หรือพวกศรัทธาญาติโยมที่เป็นศรัทธาใหม่ เช่น พระมหากษัตริย์ นี่ก็ไปได้ ๗ วัน สิ่งที่ควรจะอนุโลมในสิ่งนั้นท่านก็บอกว่ามี ก็พึงอนุโลมตามนี้

อย่าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้หน้าได้หลัง นั่นดูไม่ได้นะ อยากไปไหนก็สัตตาหะฯ ไปเรื่อย ๆ สัตตาหะฯ ไปโน่น สัตตาหะฯ ไปนี่ เลยไม่ทราบว่าสัตตาหะฯ อะไร เก่งกว่าครูกว่าอาจารย์ไปอย่างนั้น มีแล้วนะ ทุกวันนี้ปรากฏแล้วทั้ง ๆ ที่เป็นครูเป็นอาจารย์นั่นแหละ ให้เห็นได้อย่างชัดเจน...”

ลัก...ยิ้ม 04-09-2020 14:26

ประเคนหรือเทน้ำล้างบาตรก่อนบิณฑบาต

“...ตามพระวินัย พระจะออกบิณฑบาต หรือใช้บาตร ต้องให้เณรหรือญาติโยมประเคนบาตรให้ก่อน ถ้าไม่มีใครประเคน.. เทน้ำล้างบาตรเขย่าไปมา แล้วเททิ้งเสียก็พอ แต่ถ้าเอาผ้าไปเช็ด ฝุ่นละอองจากผ้าก็จะไปติดเปื้อนบาตร เป็นอามิส.. บาตรใช้ไม่ได้ ตามสายตาของโลกเอาผ้าเช็ดแห้งก็สะอาดดีแล้ว แต่จริง ๆ ในผ้าย่อมมีฝุ่นละอองอยู่โดยตามองไม่เห็น...”

ลัก...ยิ้ม 04-09-2020 14:31

ไม่บิณฑบาตไม่ฉัน อานิสงส์บิณฑบาต

“...การบิณฑบาต ถือเป็นกิจวัตรสำคัญประจำพระธุดงค์ ในสายตาของท่านไม่ให้ขาดได้เว้น แต่ไม่ฉันก็ไม่จำเป็นต้องไป ขณะไปก็สอนให้มีความเพียรทางภายใน ไม่ลดละทิ้งไปและกลับจนมาถึงที่พัก ตลอดการจัดอาหารใส่บาตรและลงมือฉัน

การบิณฑบาตเป็นกิจวัตรข้อหนึ่ง ที่อำนวยผลแก่ผู้บำเพ็ญให้ได้รับความสงบสุขทางใจ คือ เวลาเดินไปในละแวกบ้าน ก็เป็นการบำเพ็ญเพียรไปในตัวตลอดทั้งไปและกลับ เช่นเดียวกับเดินจงกรมอยู่ในสถานที่พัก หนึ่ง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถในเวลานั้น หนึ่ง ผู้บำเพ็ญทางปัญญาโดยสม่ำเสมอแล้ว เวลาเดินบิณฑบาตขณะที่ได้เห็นหรือได้ยินสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสทางทวาร ย่อมเป็นเครื่องเสริมปัญญาและถือเอาประโยชน์จากสิ่งนั้น ๆ ได้โดยลำดับ หนึ่ง เพื่อดัดความเกียจคร้านประจำนิสัยมนุษย์ที่ชอบแต่ผลอย่างเดียว แต่ขี้เกียจทำเหตุซึ่งเป็นคู่ควรแก่กัน หนึ่ง เพื่อตัดทิฐิมานะ ที่เข้าใจว่าตนเป็นคนชั้นสูง ออกจากตระกูลสูงและมั่งคั่งสมบูรณ์ทุกอย่าง แล้วรังเกียจต่อการโคจรบิณฑบาตอันเป็นลักษณะคนเที่ยวขอทานท่าเดียว...”

ลัก...ยิ้ม 04-09-2020 14:35

บิณฑบาตซ้อนผ้าสังฆาฏิ

“...การบิณฑบาต ประเพณีหรือหลักวินัยพระพุทธเจ้ายืนตัวอยู่แล้ว การไปบิณฑบาตในหมู่บ้านให้ครองผ้าซ้อนกัน สังฆาฏิ จีวร เว้นแต่บิณฑบาตตามทุ่งนาหรือในครัว ไม่ได้เข้าบ้าน นี่เป็นประเภทหนึ่ง ใช้ผืนเดียวก็ได้ไม่ขัดข้อง แต่เข้าไปในหมู่บ้านแล้วต้องซ้อนผ้า ฟังให้ดีนะ ... ถ้าลงได้เห็นแล้วเอาจริง ๆ นะ ไม่เหมือนใคร เพราะพระวินัยมีชัดเจนมากทีเดียวประจำองค์พระ ให้ซ้อนผ้า เว้นแต่ฟ้าลงฝนตก อากาศมืดครึ้มฝนจะตก นี่ที่มีข้อยกเว้นในพระวินัย ถ้าอากาศแจ่มใสและเข้าไปในหมู่บ้านด้วย ให้ซ้อนผ้าเข้าไปบิณฑบาต

ให้ยึดหลักพระวินัยคือองค์ศาสดา ให้เกาะติดนะ.. ถ้าพลาดจากพระวินัยคือพลาดจากศาสดา เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปพร้อมเลยนะ พระวินัยและธรรมนี้แล คือศาสดาของเธอทั้งหลาย.. แทนเราตถาคตเมื่อเราตายไปแล้ว..”

ลัก...ยิ้ม 05-09-2020 22:34

การขบฉัน

“...การขบการฉันให้สำรวม ตาสำรวมในบาตร และเวลาฉันจังหันนี้.. ตาเหม่อมองไปที่ไหน ๆ นั่นเป็นความไม่มีสติ และเสียศักดิ์ศรีของผู้ฉันในบาตรเป็นอันมากทีเดียว นี่เราเคยเตือน มองดูแพล็บ ๆ มันขวางตานะ เพราะเราไม่เคยปฏิบัติอย่างนั้นมา ปตฺตสญฺญี ปิณฺฑปาตํ มันก็มีทั้งสองภาคไม่ใช่รึ ปตฺตสญฺญี ปิณฺฑปาตํ อันหนึ่งเป็นภาครับบิณฑบาตไม่ใช่รึ ปฏิคฺคเหสุสามีติ สิกฺขา กรณียา คือรับบาตร ทำความสัญญาอยู่ในบาตร ในขณะที่รับบาตรนั่น ปตฺตสญฺญี ปิณฺฑปาตํ ภุญฺชิสฺสามีติ สิกฺขา กรณียา เวลาฉันจังหันก็ให้ทำความสำคัญอยู่ในบาตร ตาก็มองอยู่นี้ อย่าไปเถ่อไปทางเน้น เถ่อไปทางนี้ มองโน้นมองนี้ มองดูเห็นหมู่เพื่อนทำให้ขวางตาอยู่ นี่..ดูไม่ได้นะ ผมเห็นอยู่นี่ เราเคยทำความเข้าใจกับเจ้าของตั้งแต่วันฉันในบาตรมาแล้ว เราทำเอาจริงเอาจังนี่นะ ทำความเข้าใจกับเจ้าของ.. จะไปฉันเหม่อ ๆ มอง ๆ ดูนั่นดูนี่ ทั้งเคี้ยวทั้งกลืน.. หาสติสตังไม่ได้ โอ้.. เสียศักดิ์ศรีของกรรมฐาน อย่างน้อยเป็นอย่างนั้น อย่างมากก็เหลว ความเลื่อนลอย ดูในนั้นในบาตร ปตฺตสญฺญี ทำความเข้าใจ ทำความสำคัญอยู่ในบาตร สำรวมอยู่ในบาตรนั้น

ฉันก็อย่าให้ได้ยินเสียงจุ๊บ ๆ จิ๊บ ๆ ให้ระมัดระวังกิริยาอาการของการขบการฉัน ใน ๒๖ ข้อเสขิยวัตรท่านก็บอกไว้แล้ว ท่านสอนหมด..การขบการฉัน การขับการถ่าย โอ้โห.. สอนละเอียดลออมาก พระวินัยละเอียดมากทีเดียว ถ้าหากเราดำเนินตามพระวินัยแล้วจะมีที่ต้องติที่ไหน พระเรามีแต่ความสวยงามทั้งนั้นแหละ ที่โลกเขาต้องติหรือเพื่อนฝูงได้ต้องติ แสลงหูแสลงตา เพราะความไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยนั่นเอง มันเลยไม่น่าดู อย่ามาทำให้เห็นนะ...”

ลัก...ยิ้ม 05-09-2020 22:40

พิจารณาอาหาร ฉันสำรวม

“...ถ้ามีญาติโยมตามออกมาแม้แต่คนหนึ่งขึ้นไป ท่านอนุโมทนา ยถา สัพพีฯ ก่อน แล้วค่อยลงมือฉัน .. ท่านเริ่มทำความสงบ อารมณ์พิจารณาปัจจเวกขณะ ปฏิสังขาโยนิโส ฯลฯ ในอาหารชนิดต่าง ๆ ที่รวมในบาตร โดยทาง อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา บ้าง ทางปฏิกูลสัญญาบ้าง ทางธาตุบ้าง ตามแต่ความถนัดของแต่ละท่าน.. จะพิจารณาแยบคายในทางใด อย่างน้อยประมาณหนึ่งนาทีขึ้นไป แล้วค่อยเริ่มลงมือฉันด้วยท่าสำรวมและมีสติประจำตัวในการขบฉัน..

มีสติระวังการบดเคี้ยวอาหารไปทุกระยะ ไม่ให้มีเสียงดังกรอบแกรบ มูมมาม ซึ่งเสียมารยาทในการฉัน และเป็นลักษณะของความเผลอเรอและตะกละตะกราม ตามองลงในบาตร.. ทำความสำคัญอยู่ในบาตรด้วยความมีสติ ไม่เหม่อมองสิ่งนั้นสิ่งนี้ในเวลาฉัน อันเป็นลักษณะของความลืมตัวขาดสติ... โดยสังเกตระหว่างจิตกับอาหารที่เข้าไปสัมผัสกับชิวหาประสาท และธาตุขันธ์ในเวลากำลังเคี้ยวกลืน ไม่ให้จิตกำเริบลำพองไปตามรสอาหารชนิดต่าง ๆ ...”

ลัก...ยิ้ม 05-09-2020 22:44

ฉันพอประมาณ เลือกอาหารสัปปายะ

“...ได้อะไรมาจากบิณฑบาตก็ฉันพอยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่พอกพูนส่งเสริมกำลังทางกายให้มาก อันเป็นข้าศึกต่อความเพียรทางใจให้ก้าวไปได้ยาก การฉันหนเดียวก็ควรฉันพอประมาณ ไม่มากเกินจนท้องอืดเฟ้อย่อยไม่ทัน เพราะเหลือกำลังของไฟในกองธาตุจะย่อยได้ ความอดความหิวถือเป็นเรื่องธรรมดาของผู้พิจารณาธรรมทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยไม่เหลือ นอกจากฉันหนเดียวแล้วยังสังเกตอาหารอีกด้วยว่า อาหารชนิดใดเป็นคุณแก่ร่างกาย ไม่ทำให้ท้องเสีย และเป็นคุณแก่จิต ภาวนาสะดวก จิตไม่มัวหมองเพราะพิษอาหารเข้าไปทำลาย

เช่น เผ็ดมากเกินไป เค็มมากเกินไป ซึ่งทำให้ออกร้อนภายในท้อง ก่อความกังวลแก่จิตใจ ไม่เป็นอันทำความเพียรได้สะดวก เพราะกายกับใจเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องกัน และกระเทือนถึงกันได้เร็ว ท่านจึงสอนให้เลือกอาหารที่เป็นสัปปายะ ซึ่งเป็นคุณแก่ร่างกายและจิตใจถ้าพอเลือกได้ ถ้าเลือกไม่ได้แต่ทราบอยู่ว่าอาหารนี้ไม่เป็นสัปปายะก็งดเสียดีกว่า ฝืนฉันลงไปแล้วเกิดโทษแก่ร่างกาย ทำความทุกข์กังวลแก่จิตใจ ผู้ฉันหนเดียวมักทำความรู้สึกตัวได้ดี ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมในรสอาหารชนิดต่าง ๆ ...”

ลัก...ยิ้ม 05-09-2020 22:52

ห้ามฉันเนื้อ ๑๐ อย่าง และเนื้อเจาะจงอีก ๓

“...เราเป็นผู้ปฏิบัติศีลธรรม.. ไม่ปฏิบัติผิดจะเป็นอะไรไป เราเป็นผู้ขอทาน เขาให้อะไรมาก็กินไปตามเรื่องตามราวเท่านั้นเอง ไม่เป็นการรบกวนเขาให้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย อันนี้เป็นเรื่องของโลกเขาเป็นมาตั้งแต่ดั้งเดิม ห้ามอะไรเขาไม่ได้ เรื่องเนื้อ ๑๐ อย่างที่ไม่ให้ฉัน พระองค์ก็ทรงบัญญัติไว้แล้ว นับตั้งแต่เนื้อมนุษย์ แน่ะ..ฟังซิ พระองค์ก็ไม่ให้ฉัน เนื้อหมา เนื้อม้า เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เสือเหลือง เสือดาว เนื้องู เนื้อหมี เนื้อช้าง นี่..เนื้อเหล่านี้ห้ามหมดแล้ว

ที่ห้ามก็ห้ามแล้วนี่ แล้วก็ยังมีอุทิสสมังสะ คือเนื้อที่เขาเจาะจงอีก ๓ อย่าง เนื้อเจาะจงเป็นยังไง เขาไปฆ่ามาเพื่อถวายพระ พระเห็นอยู่ไม่ควรฉัน เห็นเขาเอาอาวุธชนิดนี้ไป แล้วได้สัตว์ชนิดนั้นมาตรงกับอาวุธชนิดนี้ เช่น ได้แหเอาไปทอดปลานี้ แล้ววันหลังเขาเอาปลานี้มาถวาย คงเป็นเหมือนกับว่าเขาไปทอดแหเอาปลานี้เพื่อมาให้พระฉัน เมื่อสงสัยอยู่ก็ไม่ควรรับ เมื่อสงสัยอยู่ได้ยินเขาว่างั้นก็ไม่ฉัน หรือเนื้อสด ๆ ร้อน องค์ใดสงสัยอย่าฉัน แน่ะ..ท่านก็บอกอยู่แล้ว องค์ไหนไม่สงสัยก็ฉันได้ บอกชัดเจนอยู่แล้วนี่ ท่านก็บอกไว้แล้วที่ห้ามฉัน ฉันนั้นเป็นอาบัตินั้น ๆ ฉันเนื้อมนุษย์เป็นอาบัติถุลลัจจัย ก็บอกไว้หมด จากนั้นก็ห้ามเนื้ออุทิสสมังสะ ที่เขาเจาะจงบอกไว้แล้ว แม้เช่นนั้นองค์ไหนไม่รู้ไม่เห็นก็ฉันได้..บอกไว้อีก...”

ลัก...ยิ้ม 05-09-2020 23:00

กาลิกระคนกัน

“...ไปบิณฑบาตกับท่าน (หลวงปู่มั่น) เขาเอาน้ำตาลงบใส่มาให้ น้ำตาลงบ.. หลักพระวินัยมีนี่ กาลิกระคนกัน ไม่ระคนกัน บอก..เช่นน้ำตาล ถ้านำมาผสมกับข้าว อายุได้แค่ข้าวเท่านั้น จากเช้ายันเที่ยง.. น้ำตาลที่นี่จะหมดอายุถ้าเปื้อนข้าวนะ ถ้าไม่เปื้อนข้าว.. น้ำตาลนี่จะเก็บไว้ได้ตามกาล คือ ๗ วัน คือฉันได้ในเวลาวิกาลตลอดอายุ ๗ วันของมัน ถ้าผสมกับข้าวแล้วจะได้เพียงถึงเที่ยงเท่านั้น เรายกตัวอย่างเฉพาะอันเดียวนะ กาลิกนี่มีถึงสี่กาลิก ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก

ยาวกาลิก คือประเภทอาหาร รับประเคนแล้ว.. พอถึงเที่ยงหมดอายุแล้ว เอามาฉันอีกไม่ได้ ฉะนั้น..ถ้าเลยหลังฉันแล้ว อาหารมาจริง ๆ พระจึงไม่รับประเคน มีข้อพระวินัยอยู่ ส่วนยามกาลิก ได้ชั่ว ๒๔ ชั่วโมงเป็นอย่างมาก คือพวกน้ำอัฏฐบาน ส่วนสัตตาหกาลิก พวกน้ำอ้อย น้ำตาล เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง อันนี้เมื่อไม่ประเคนกับอาหารประเภทที่อายุสั้น ก็ฉันได้ตามกาลของมัน คือ ๗ วันจึงหมดอายุ เมื่อหมดอายุแล้วต้องเสียสละไปเลยนะ มายุ่งอีกไม่ได้ ส่วนยาวชีวิกนั้นเป็นพวกยา ฉันได้ตลอดกาลของมัน คือจนกระทั่งหมด ยาวชีวิกคือตลอดชีวิตของยานั้น...”

ลัก...ยิ้ม 05-09-2020 23:04

ฉันชามน้อย..ผ้าหลุด รสอาหารเหยียบธรรม

“...มองไป โห..ซดกันเป็นแถวในชามน้อย ๆ ในวัด...แล้วกัน มันเป็นหลักปฏิบัติอันหนึ่งแล้วนี่ นึกในใจ จนกระทั่งไปถึงเณรน้อย เราไปดู..ไม่เห็นเวลาเราไปดู มัวแต่รสเหยียบหัวใจอยู่นั่น รสอะไร ? รสอาหารเหยียบเอา รสธรรมเลยขึ้นไม่ได้ซิ ตาย..พินาศฉิบหายหมด รสอาหารมันเหยียบ รสลิ้นมันไปเหยียบ รสอาหารเข้าไปเหยียบลิ้น รสลิ้นก็เหยียบธรรม แหลกกระจัดกระจายไม่มีเหลือ จึงได้เตือน จะแก้ไข ไม่แก้ไขยังไง ก็บอกทุกคนแล้วนี่ ...

แล้วเวลาฉันจังหันก็ผ้าหลุดลุ่ยลงมานี่ มัวแต่เพลินกับรสเท่านั้น ผ้าหลุดลงไปก็ไม่เห็น ไม่สนใจ ดูไป ๆ กลัวจะบกพร่อง กลัวจะเผลอเนื้อเผลอตัวอะไร จึงได้ไปดู ๆ แล้วเป็นยังไง นาน ๆ ดูทีหนึ่ง ...”

ลัก...ยิ้ม 06-09-2020 22:19

ขนาดบาตรเพื่อการธุดงค์

“...บาตรพระกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่น รู้สึกว่าจะมีขนาดกลางและขนาดใหญ่เป็นส่วนมาก ทั้งนี้เนื่องจากท่านชอบเที่ยวธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ ตามป่าตามภูเขาประจำนิสัย.. บริขารจำเป็นที่ควรนำติดตัวไปด้วยในเวลาออกเที่ยวธุดงค์นั้นไม่มีมาก มีเพียงบาตร สังฆาฏิ จีวร สบง ผ้าอาบน้ำ กลด มุ้ง กาน้ำ เครื่องกรองน้ำ มีดโกน รองเท้า เทียนไขบ้างเล็กน้อย และโคมไฟที่เย็บหุ้มด้วยผ้าขาวสำหรับจุดเทียนเดินจงกรมทำความเพียร ...

บริขารบางอย่าง เช่น ผ้าสังฆาฏิ มุ้ง มีดโกน เทียนไข และโคมไฟ ท่านชอบใส่ลงในบาตร ดังนั้น บาตรพระธุดงค์ จึงมักใหญ่ผิดธรรมดาบาตรทั้งหลายที่ใช้กัน เพราะว่าจำต้องใส่บริขารเพื่อความสะดวกในเวลาเดินทาง พอบาตรเต็มบริขารก็หมดพอดี .. บาตรที่มีขนาดใหญ่ เวลาฉันจังหันก็สะดวก เพราะว่าท่านฉันสำรวมในบาตรใบเดียว มีคาวมีหวานท่านรวมลงในบาตรทั้งสิ้น...”

ลัก...ยิ้ม 06-09-2020 22:23

การรักษาบาตร

“...การปฏิบัติต่อบาตร วิธีวางบาตร วิธีล้างบาตร วิธีเช็ดบาตร และวิธีรักษาบาตร... พอฉันเสร็จก็ล้างและเช็ดบาตรให้สะอาดปราศจากลิ่นอาย การล้างบาตรอย่างน้อยต้องล้างถึงสามน้ำ เมื่อเช็ดแห้งแล้วถ้ามีแดดก็ผึ่งครู่หนึ่ง แล้วเก็บไว้ในที่ควร ถ้าอากาศแจ่มใสฝนไม่ตก ก็เปิดฝาไว้เพื่อให้หายกลิ่นที่อาจค้างอยู่ภายใน

การรักษาบาตร ท่านรักษาอย่างเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ คนไม่เคยล้าง ไม่เคยเช็ด และไม่เคยรักษาบาตร ท่านไม่อาจมอบบาตรให้อย่างง่ายดาย เพราะกลัวว่าบาตรจะขึ้นสนิม กลัวว่าจะวางไว้ในที่ไม่ปลอดภัย กลัวว่าบาตรจะกระทบของแข็งและกลัวตกลงถูกอะไร ๆ แตกหรือบุบแล้วเกิดสนิมในวาระต่อไป เมื่อเกิดสนิมแล้วต้องขัดใหม่หมดทั้งลูกทั้งข้างนอกข้างใน แล้วระบมด้วยไฟอีกถึงห้าไฟตามพระวินัยจึงจะใช้ได้ต่อไป ซึ่งเป็นความลำบากมากมาย ท่านจึงรักสงวนบาตรมากกว่าบริขารอื่น ๆ ไม่ยอมปล่อยมือให้ใครง่าย ๆ ...”

ลัก...ยิ้ม 06-09-2020 22:30

กัปปิยภัณฑ์

“...บางทีเขาเอาปล้าร้าห่อใส่บาตรให้.. กลับพอไปถึงถ้ำ ปลาร้าเป็นปลาร้าดิบและไม่มีญาติโยมสักคน ก็ต้องเอาออก ไม่ได้กิน ภาษาทางภาคนี้เขาเรียกหมากแงว (หมากไฟ) นี่ หมากแงวอย่างอยู่หน้าศาลานี่ เขาเอามาให้กินจะกินได้ยังไง อม ๆ แล้วก็คายทิ้ง เพราะไม่ได้กัปปิยะ มะไฟก็อม ๆ สักลูกสองลูกบ้าง แล้วก็ได้ทิ้งพอรำคาญนี่นะ อมเดี๋ยวมันจะลงคอไป ไม่ได้กัปปิยะก่อน ...

กัปปิยภัณฑ์ คือสิ่งจำเป็นที่จะซื้อจะหามาสำหรับพระ แต่พระตถาคตไม่อนุญาตให้พระรับเองหรือเขารับไว้ก็ดี ถ้ามีความยินดีต่อการรับเงินรับทองนั้นปรับอาบัติอีก คือไม่ให้ยินดีในเงินในทอง ให้ยินดีในกัปปิยภัณฑ์ต่างหาก กัปปิยภัณฑ์ที่เงินทองจะแลกเปลี่ยนมา.. ให้ยินดีทางโน้นต่างหาก ไม่ให้มายินดีในเงินทอง นี่เป็นข้อผ่อนผัน ...

เพียงปัจจัยเครื่องอาศัยเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ท่านให้ระมัดระวังรักษาเอาอย่างมากมาย ดังเราทั้งหลายได้เห็นแล้วในพระวินัยของพระเป็นอย่างไร ในธรรมชาติอันนี้ท่านเข้มงวดกวดขันอย่างไรบ้าง ถึงขนาดที่ต้องสละในท่ามกลางสงฆ์ เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อไร พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตไว้โดยความมีข้อแม้ ให้ถือเป็นความจำเป็นเพียงกัปปิยภัณฑ์ ไม่จำเป็นในเงินในทอง อย่ายินดีในเงินในทอง ถ้ายินดีอย่างนี้แล้วปรับโทษปรับอาบัติอีก...”

ลัก...ยิ้ม 07-09-2020 11:05

เงินทองตกหล่นในวัด

“...ความละเอียดลออของธรรมวินัยพระพุทธเจ้า ตามธรรมดาท่านห้ามจับเงินและทอง ห้าม.. ห้ามเด็ดขาด แต่ทีนี้เมื่อเวลามีสมบัติเงินทองของมีค่ามาตกอยู่ในวัดต้องจับต้องเก็บ ไม่เก็บไม่ได้.. ปรับโทษพระ ตามธรรมดาจับต้องไม่ได้ เมื่อเห็นของมีค่าของผู้ใดก็ตามมาตกอยู่ในสถานที่รับผิดชอบของพระ พระต้องเก็บและโฆษณาหาเจ้าของ ถ้าโฆษณาหาเจ้าของไม่ได้.. หมด เรียกว่าหมดความสามารถแล้ว เอาปัจจัยเอาสมบัติอันนี้ไปแลกเปลี่ยนกัน เอามาทำประโยชน์ส่วนรวมไว้ในวัด

เวลาเขามาถามมันสุดวิสัยแล้วก็ชี้บอก นี่..ทำไว้แล้วศาลาหลังนี้ นั่นพระวินัย ถ้าธรรมดาจับไม่ได้ ถ้าตกอยู่ในวัดหรือในบริเวณรับผิดชอบของพระต้องเก็บ ไม่เก็บไม่ได้ ปรับโทษพระ แน่ะ..เป็นอย่างนั้นละ จับแล้วโฆษณาหาเจ้าของไม่มีแล้ว ก็เอาของนี้ที่เป็นของมีค่าไปซื้ออะไรแลกเปลี่ยน.. มาสร้างสาธารณประโยชน์ขึ้นในสถานที่นั่น เป็นอย่างนั้น..พระวินัยของพระท่านสอนอย่างนั้น...”

ลัก...ยิ้ม 07-09-2020 11:09

ออกพรรษาแล้วเที่ยวธุดงค์

“...พอออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นจึงชอบออกเที่ยวธุดงค์ทุก ๆ ปี โดยเที่ยวไปตามป่าตามภูเขาที่มีหมู่บ้านพอได้อาศัยโคจรบิณฑบาต ... นำพระเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านด้วยบทธรรมหมวดต่าง ๆ คือสอนวิธีครองผ้าและท่าสำรวมในเวลาเข้าบิณฑบาต ไม่ให้มองโน่นมองนี่อันเป็นกิริยาของคนไม่มีสติอยู่กับตัว แต่ให้มองในท่าสำรวมและสงบเสงี่ยม มีสติทุกระยะที่ก้าวไปและถอยกลับ ใจรำพึงในธรรมที่เคยบำเพ็ญมาประจำนิสัย

ที่โคจรบิณฑบาตถ้ามีหมู่บ้านราว ๔ – ๕ หลังคาเรือน หรือ ๘ – ๙ หลังคา ก็พอเป็นไปสำหรับพระธุดงค์เพียงองค์เดียว ไม่ลำบากอะไรเลย ตามปกติพระธุดงค์กรรมฐานไม่ค่อยกังวลกับอาหารคาวหวานอะไรนัก บิณฑบาตได้อะไรมาท่านก็สะดวกไปเลย แม้ได้เฉพาะข้าวเปล่า ๆ ไม่มีกับเลย ท่านยังสะดวกไปเป็นวัน ๆ เพราะเคยอดเคยอิ่มมาแล้วจนเคยชิน...”


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 04:33


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว