กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=21)
-   -   ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3286)

ลัก...ยิ้ม 28-06-2020 13:28

หลวงตากับหนู

มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นในช่วงจำพรรษาที่ห้วยทราย ทำให้ท่านต้องได้เอ่ยเรียกแมวให้มาขู่หนู ดังนี้
“... เราจะพูดเรื่องหนู เราก็ตัวเท่าหนูตัวหนึ่ง.. มันก็ทำให้แปลกใจเหมือนกัน มันเป็นอะไร หรือว่าแมวนี้มันมีหูทิพย์ตาทิพย์ ในห้องนั้นเอาหมอนแขวนไว้ ที่แขวนก็เพราะกลัวหนูจะกัดนั่นเอง ถึงเอาเชือกมาผูกหมอนนี้แขวนเอาไว้ ก็หนูนี่แหละขึ้นไปกัดเชือกขาดตกลงมา แล้วหนูอีกนั่นแหละเป็นผู้ขยำหมอนแหลกหมด


เราไปเห็นเข้าจึงพูดว่า ‘แมวมันไปไหน ดงนี้ไม่มีแมวเหรอ ทำไมหนูถึงได้พิลึกนักหนา หนูมันมาทำลายศาสนาแหลกหมดแล้วนี่ เห็นไหมในห้องนี้น่ะ’ เราว่างั้น

พอดีตอน ๕ โมงเย็นมันแปลกอยู่นะ เณรไปบอกว่า ‘ที่ครูอาจารย์ถามหาแมว เรียกหาแมวเมื่อเช้านี้ มันมาจริง ๆ แล้วนะ’

‘มันมาอยู่ไหนล่ะ’

‘มันมาอยู่ใต้ห้องเก็บหมอนนั้นแล้ว’ เณรตอบ

เราถาม ‘เอ๊ะ ทำไม มันมาได้ยังไง ?’

‘ก็ไม่ทราบ แมวตัวใหญ่มาก’ เณรว่างั้น

‘มันอยู่ไหนล่ะ’

‘มันหมอบอยู่ใต้ห้องนั้นละ อยู่ที่พื้น’

เณรว่ามันอยู่พื้น แต่ความจริงมันอยู่ใต้ห้องที่หนูกัดหมอนนั่นแหละ ‘อยู่ตรงไหนนะ เราจะไปดูหน่อย’ เราจึงเดินไปดู ไปดูมันอยู่นั่นจริง ๆ ด่าง ๆ สีกระต่ายบ้าง สีขาวบ้าง

ส่วนพระท่านมายืนดูอยู่เต็มไปหมด แล้วแมวเหล่านั้นมันไม่เคยมีมา ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แล้วก็มีมาบันดลบันดาลเอาวันนั้น อันนี้เราก็ไม่ได้พูดว่าเราศักดิ์สิทธิ์นะ เราพูดถึงเรื่องแมว มันมีหูทิพย์ตาทิพย์ต่างหากนะ

เราจึงบอกแมว พูดกับแมวว่า ‘มึงอย่าไปหากัดหนูนะ กูเรียกพวกมึงมาเฉย ๆ’

แล้วแมวทั้งหลายเหล่านั้นก็มาแทบทุกวัน พอ ๕ โมงเย็นมาแล้ว เดินฉากโน้นฉากนี้.. ตรวจตราปราบขู่หนู ทีนี้พอตกกลางคืนนี้ เขาจะทำท่าฉลาดมากนะ เขาจะร้องเสียงดัง อ๊าว ๆ ๆ อยู่รอบวัด ตั้งแต่นั้นมาหนู... เงียบเลย นี่มันก็แปลก...”

ลัก...ยิ้ม 29-06-2020 12:22

บ้านหนองกะปาด

“... บ้านหนองกะปาด (อ. คำชะอี จ.มุกดาหาร) เขาเลี้ยงวัวฝูงไว้ วัวฝูงนั้นเมื่อพ่อค้าเขาไปติดต่อ เขาก็ไปซื้อที่เจ้าของเลี้ยงวัวฝูงไว้นั้น ทีนี้พ่อค้าเขาจะให้ตัวละ ‘๓ บาท’ แต่เจ้าของนั่นจะเอาตัวละ ‘๔ บาท’

ทางนั้นให้เขา ๓ บาท ทางนี้ก็ ๔ บาท เรื่อย ๆ ..

เจ้าของผู้ขายวัวมันนั่งชันเข่า มันปล่อยหำไว้นี่น่ะ เรื่องจริงมันเป็นอย่างนั้นว่าไง อันนี้เขาก็มาซื้อวัว เขาจะให้ตัวละ ‘๓ บาท’ ทางนี้ก็ ‘๔ บาท ๆ’ พอดีเมียมันขึ้นมา มันนั่งอยู่ชานกับลูกค้าที่เขามาซื้อวัว พอขึ้นมา มาเห็นผัวนั่งชันเข่า ปล่อยหำเข้าใจไหม ปล่อยหำ

เมียมันเห็นมันอายซิเมีย เมียขยิบตาใส่ปั๊บ เข้าใจไหมล่ะ มันเห็นหำผัวละมันอายเขา ขยิบตาใส่ผัว

ผัวนึกว่าเมียให้ขึ้นราคา พอเมียขยิบตาปั๊บทางนี้ก็ ‘๕ บาท ๆ’ เลย เมียก็เข้าไปในห้อง

‘อู๊ย ตั้งแต่ ๓ กับ ๔ บาทก็ยังไม่ลงกันได้ ทำไมอยู่ ๆ ก็ไป ๕ บาท ๖ บาทยังไงนี่ ไม่เอาแล้วเรา’

เขาก็ลงไป พอเขาลงไปแล้วเมียก็ออกมาบอกว่า ‘ที่เขาจะซื้อตัวละ ๓ บาท มันก็น่าจะขายให้เขาได้แล้วนี่นะ’

‘เอ้า ก็เธอขยิบตาใส่ฉันว่าให้ขึ้นราคา ฉันก็ขึ้นราคาละซิ’

‘ไม่ขยิบยังไง ปล่อยหำให้เขาเห็น มันอายเขาจะตายแล้ว อู๊ย.. เสียดาย เขาไปได้ห้าทวีปแล้ว’

นี่ละ หำนี้หำขาดทุน เข้าใจไหม มันปล่อยหำ หำขาดทุน ไม่ได้กำไร ๔ บาทก็เลยไม่ได้ ยังจะบืนเอา ๕ บาทอยู่ เขาก็เปิดละซี...”

ลัก...ยิ้ม 29-06-2020 12:41

ท่านพ่อลีกับสมเด็จฯ

“... สมเด็จมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ท่านพูดเรื่องอาจารย์ลี ที่วัดอโศการามนั้นแหละ ท่านนิมนต์ท่านอาจารย์ลีไปที่นั่นเสมอ ท่านมหาสมบูรณ์ด้วยนะ ที่เป็นคู่ติดกันนั้นละ

ก็มีท่านอาจารย์ลีนี่แหละที่เข้ากับท่านได้สนิท มีขู่มีอะไรได้ ขู่สมเด็จฯ ได้เชียวนะท่านอาจารย์ลีน่ะ เพราะท่านนิสัยอาจหาญด้วยนี่นะ พอมาถึงท่านใส่เอาเลย พูดอะไรก็ไม่รู้นะ พูดถึงหลักภาวนา

‘ท่าน (สมเด็จฯ) ก็ไม่ค่อยเชื่อ เรื่องสมาธินี่นะ ท่านไม่ค่อยเชื่อ’

ท่าน (อาจารย์ลี) ว่า ‘แต่ท่าน (สมเด็จฯ) ก็สนใจนะ ท่านหาเหตุผล ท่านศึกษา แต่ท่านไม่เชื่อ ท่านสอบถามเราว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องภาวนา.. เราก็สอดแทรกเข้าไปให้ท่านได้เป็นคติ แต่ท่านก็ยังไม่ยอม.. ในใจของท่านก็ยังไม่ลง

‘มันเป็นยังไงนะ จะดัดผู้เฒ่าองค์นี้ซักหน่อยนะวันนี้ คอยฟังนะ ไม่นานหรอก’ (อาจารย์ลี) กระซิบบอกพระ

สักพักเดียว (สมเด็จฯ) ก็บอกพระว่า ‘เอาท่านลีขึ้นไปเดี๋ยวนี้ เป็นไร ๆ เป็นไข้ตัวสั่นเชียว ไม่รู้เป็นอะไร อยู่ดี ๆ ก็ตัวสั่น’

‘อ๋อ.. มันไม่เป็นอะไรหรอก ถ้าเราภาวนาเดี๋ยวก็หายสั่น นี่ไม่ภาวนามันก็สั่นนะซิ’ ท่าน (อาจารย์ลี) พูดไป

สมเด็จฯ ก็มองหน้าแต่ไม่พูด

ท่านอาจารย์ลี พูดอีก ‘เดี๋ยวมันก็หาย แบบนี้มันสั่นแบบไม่มีภาวนา ถ้ามีภาวนา.. เดี๋ยวสั่นมันก็หายเอง’

ท่านว่า ท่านเพ่งจิตใส่อย่างนั้น ดัดท่านสมเด็จฯ หลายครั้งหลายหน บางทีเอาร้อน ๆ ร้อนไปทั้งตัว เป็นฟืนเป็นไฟเลยนะ

สมเด็จฯ ท่านว่า ‘ไม่รู้เป็นอะไร อยู่ดี ๆ ก็ร้อนขึ้นมาเฉย ๆ’

แล้วอาจารย์ลีก็ค่อย ๆ สอน คอยแทรกหลายครั้งหลายหน สมเด็จฯ ท่านลงกับท่านอาจารย์ลีนะ

สมเด็จฯ ท่านเล่ามาว่า ‘ท่านอาจารย์ลีมีอะไรสำคัญนะ หลายครั้งหลายหนมีลักษณะเป็นการมาดัดเรา อยู่ดี ๆ มาทำให้เป็นไข้ตัวสั่น พอท่านลีขึ้นมาก็หายเลย แล้วอยู่ดี ๆ ตัวร้อนขึ้นมาเป็นฟืนเป็นไฟ พอเรียกท่านลีขึ้นมาก็หายเลย สงสัยท่านลีคงจะทำเราแหละ’

สมเด็จฯ ท่านพูดเองนะ ครั้นพอท่านอาจารย์ลีมาพูด ก็แบบเดียวกัน ‘นี่ทำสมเด็จฯ ซะหน่อย ผู้เฒ่าทิฐิสูง’ คือท่านเป็นคนทำเอง นี่แหละ ท่านพูดไม่ยิ้ม ไม่ขบขัน แต่เราหัวเราะจะตาย

ท่านอาจารย์ลี ท่านรุนแรงด้านจิต พลังจิตอย่างที่ว่าแหละ...”

ลัก...ยิ้ม 29-06-2020 23:27

พระสาวก.. ครั้งพุทธกาล

องคุลีมาล

พระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ผู้ชำนาญ มิได้มองลักษณะคนเพียงภายนอกที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ทรงมองสัตว์โลกด้วยพระญาณหยั่งทราบ รู้รอบการเกิด การตาย และอุปนิสัยแห่งสัตว์ และยังสามารถจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ สามารถพลิกชีวิตผู้ที่กำลังดิ่งอเวจีมหานรก มาสู่การบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เช่น “องคุลีมาล” ดังองค์หลวงตาได้เทศนาไว้ ดังนี้
“... พระองคุลีมาล นั่นมีอุปนิสัยถึงขั้นจะเป็นพระอรหันต์ แต่ก็เพราะความหลงกลของความชั่วช้าลามก พระองคุลีมาลเป็นเด็กอยู่ในสำนักอาจารย์เดียวกัน.. เป็นเด็กดี เด็กทั้งหลายไม่ดี.. มันก็ขี้อิจฉากันซี รวมหัวกันยกโทษองคุลีมาลว่าไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่เด็กคนนี้ดี คืออาจารย์รักนั่นเอง อิจฉา.. เห็นว่าเด็กคนนี้ดี อาจารย์รัก เลยไปฟ้องอาจารย์ให้พลิกสติปัญญาเสียใหม่ แล้วเชื่อกลอุบายของพวกลามกนี่ล่ะ ‘เอ้อ.. เราจะจัดการทีหลัง’ จากนั้นจึงหากลอุบาย เพราะองคุลีมาลบอกนอนสอนง่ายนี่นะ คนดีมันก็ตรงไปตรงมานั่นซี อาจารย์ก็บอกว่า ‘ให้ไปฆ่าคนให้ได้ถึงพันคน ฆ่าใครตายแล้วให้เอาเล็บมาหนึ่งเล็บ พอฆ่าคนถึงพันคน.. ได้เล็บหนึ่งพันเล็บแล้วมา เราจะประสิทธิ์ประสาทวิชาให้’


ทางนี้ก็เชื่อแบบเถรตรงอย่างว่านะ ก็ไปตามฆ่าคน ฆ่าไป ๆ ทีนี้แม่.. ความกังวลก็สุดหัวใจว่างั้นเถอะ สุดท้ายก็ตัดสินใจจะไปหาลูก ลูกมันไม่ได้ว่าแม่นะ.. มันจะเอาเล็บเท่านั้น มันไม่ได้คิดว่าแม่ว่าพ่ออะไร ไม่ได้คำนึงถึงบาปถึงบุญ.. มีตั้งแต่คำนึงถึงวิชาที่จะเอาให้ได้ครบ

พระพุทธเจ้าทรงเล็งญาณเห็นไหมล่ะ ‘โอ๋ ตาย องคุลีมาลนี้ถ้าเทียบแล้ว ตัดกิ่ง ตัดก้าน ตัดดอก ตัดใบ หดเข้ามา ๆ แล้ว คราวนี้เป็นคราวสุดท้ายก็จะถอนลำต้นนี้ขึ้น.. ไม้ต้นนี้ก็จะตาย ตัดกิ่งก้านสาขา ดอกใบไม่ถึงตาย.. ยังไม่เสีย ถ้าถอนต้นโค่นต้นมันลงแล้วตาย ฆ่าใครก็ตามกี่คนก็ตาม.. เหมือนกับตัดกิ่งตัดก้านเข้าใจไหม ยังไม่สามารถที่จะทำลายอุปนิสัยของพระอรหันต์ได้.. ถ้ามาฆ่ามารดาเสียอย่างเดียวเท่านั้น.. หมดเลย

พระองค์ทรงทราบแล้ว พอตื่นเช้ามาก็เสด็จไปเลย หาองคุลีมาล ไปก็ไล่จะฟัน จะฆ่าพระพุทธเจ้าเอาเล็บ พระพุทธเจ้าก็หลบหลีก

นี่ก็วิ่งไล่ บอกว่า ‘หยุด ๆ’

ท่านก็เอาธรรมะตอบมา ‘เราหยุดแล้ว มีแต่เธอวิ่งตลอด ๆ วิ่งทำความชั่ว’ นั่นเห็นไหมล่ะ ‘เราหยุดทำความชั่วมานานแล้ว หยุดน่ะ.. หยุดทำความชั่ว’

เวลาท่านแก้นะ ทางนี้ไล่ตามท่าน ท่านวิ่ง บอกให้ท่านหยุด ท่านบอกท่านหยุดแล้ว ยังไม่หยุดแต่เธอ.. กำลังจะสร้างบาปสร้างกรรมตลอดเวลา ฟังสะดุดกึ๊กเลย นี่ละ.. อุปนิสัยมี

ทรงเล็งญาณทราบแล้วก็รีบมาสกัด ไม่งั้นหลังจากนั้น.. แม่มาแล้วก็จะฆ่าแม่ ทีนี้อุปนิสัยนี้เหมือนกับถอนต้นไม้ขึ้นทั้งรากเลย .. หมด .. พระองค์จึงมาสอน แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่ละเรียกว่าเล็งญาณดู

ภัพพา ภัพเพ วิโลกานัง ทรงเล็งญาณดูสัตวโลก ใครมาข้องแห่งตาข่ายคือพระญาณหยั่งทราบ ก็เสด็จไปโปรดคนนั้น...”

ลัก...ยิ้ม 29-06-2020 23:36

๘. วัดป่าบ้านตาด สมรภูมิฝึกทายาทธรรม

ความเจ็บป่วยของโยมมารดา ทำให้องค์หลวงตาต้องได้หวนกลับมาที่บ้านเกิด และได้สร้างวัดป่าบ้านตาดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น กลายเป็นวัดที่เรียบง่าย ไม่หรูหรา แต่มีข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งในวงกรรมฐาน

ลัก...ยิ้ม 29-06-2020 23:57

ความเป็นมาของวัดป่าบ้านตาด

พรรษาที่ ๒๓ – ๗๗

(พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๕๔)

จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี


@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

โยมมารดาป่วย หวนกลับบ้านตาด

ด้วยเหตุที่โยมมารดาล้มป่วยด้วยโรคอัมพาต องค์หลวงตาจึงพากลับมารักษาตัวที่บ้านตาด หมอที่รักษาโรคอัมพาตใช้อ้อยดำผสมในสูตรยาด้วย ท่านจึงหาอ้อยดำมาปลูกไว้ข้าง ๆ กุฏิของโยมมารดา หมอทำการรักษาอยู่ถึง ๓ ปี โรคจึงหายขาด

จากการที่ต้องอยู่พยาบาลโยมมารดาเป็นเวลานาน ทั้งโยมมารดาก็มีอายุมากแล้ว การจะหอบหิ้วไปอยู่ด้วยกันในสถานที่ทุรกันดารตามอัธยาศัยเดิมของท่าน.. ที่ชอบหลีกเร้นแต่ผู้เดียวนั้น ก็มีแต่จะสร้างความลำบากให้กับโยมมารดามาก ความคิดก่อตั้งวัดป่าบ้านตาดจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลนี้เอง

ประจวบกับเวลานั้น ชาวบ้านตาดก็ได้ยินกิตติศักดิ์ กิตติคุณของท่านมานานแล้ว มีความประสงค์อยากให้ท่านตั้งวัดขึ้นเช่นกัน จึงได้พร้อมใจกันถวายที่ดิน ทำให้วัดป่าบ้านตาด เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้นมา ท่านเล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นไว้ ดังนี้
“... ทีแรกเรามาพักอยู่นอกบ้านทางนู้น เขาจึงนิมนต์ให้มาพักที่ตรงนี่ มีสองเจ้าภาพถวายที่ดิน จึงกลายเป็นวัดขึ้นมา แล้วก็สงบ สงัดดี เป็นเอกเทศ


ประจวบกับโยมมารดาบวชชี เมื่อมีอายุครบ ๖๐ ปีพอดี ส่วนโยมบิดานั้นได้สิ้นชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้วตอนอายุ ๕๕ ปี จากนั้นเราจึงได้พาโยมมารดาไปจำพรรษาด้วยที่จังหวัดจันทบุรีเป็นเวลา ๑ พรรษา โยมมารดาได้ล้มป่วยลงด้วยโรคอัมพาต จึงหวนกลับพามารักษาตัวที่บ้านตาด

โรคของโยมมารดาถูกกับยาหมอที่อยู่บ้านจั่น ซึ่งไม่ห่างจากบ้านตาด (ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร) เรามาพักและรักษาโรคของโยมแม่พร้อม ๆ กัน ทีนี้พอนาน ๆ ไปก็เลยกลายเป็นสร้างวัดป่าบ้านตาดขึ้นมา เรื่องมันเป็นอย่างนั้น...”

ลัก...ยิ้ม 30-06-2020 15:49

สร้างวัดป่าบ้านตาด

ชาวบ้านตาดเล่าว่า ในเบื้องต้นเมื่อองค์หลวงตาพาโยมมารดากลับจากจันทบุรี ได้พาโยมมารดาและคณะมาพำนักอยู่ที่บริเวณเหล่าภูดิน ซึ่งเป็นที่ดินของโยมบิดามารดาของท่าน และอยู่ทางทิศตะวันออกของโรงเรียนอุดรธรรมานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านตาด ติดถนนสายบ้านตาด-กกสะทอน

ต่อมาคุณตาก้อน วังคำแหง*๑ และคุณตาบุดสา บัวสอน*๒ ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกัน ได้นิมนต์ไปดูที่ดินซึ่งทั้งสองจับจองไว้ โดยแปลงหนึ่งเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนาของคุณตาก้อน ซึ่งมีลักษณะเป็นที่สูงและไม่สามารถใช้ทำนาได้ คุณตาก้อนนี้มีที่น่าอยู่ด้านทิศเหนือทางเข้าวัดป่าบ้านตาด ตั้งแต่ประตูหน้าวัดจนถึงสระน้ำ ส่วนคุณตาบุดสาได้ถวายที่ดินที่ได้จับจองไว้ทำไร่ทำสวนให้แก่องค์ท่าน กว้าง ๘ เส้น ยาว ๘ เส้น ซึ่งอยู่ติดกันกับที่ดินของคุณตาก้อน และเมื่อรวมที่ดินทั้งสองแปลงสองเจ้าของเข้าด้วยกัน จึงเป็นเขตวัดป่าบ้านตาดมาแต่เริ่มแรก

ส่วนชื่อวัดป่าบ้านตาดที่มีชื่อเป็นทางการว่า วัดป่าเกษรศีลคุณ นั้น หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ แห่งวัดป่าบ้านนาคูณ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่กับองค์หลวงตามาตั้งแต่เริ่มตั้งวัดในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ อธิบายว่า เป็นนามขององค์หลวงตา คือ “บัว” ซึ่งเป็นชื่อของดอกไม้ (คำว่า “เกษร” แปลว่า ดอกไม้)

เกี่ยวกับสภาพวัด และการดำเนินการในช่วงเริ่มต้นสร้างวัดนั้น องค์หลวงตาเคยกล่าวไว้เช่นกันว่า
“... วัดป่าบ้านตาด เมื่อเริ่มสร้างวัดใหม่ ๆ มีพระเณรอยู่ด้วยกันหลายรูป ตอนที่เรามาสร้างวัดนี้นะ วัดนี้เป็นดงทั้งหมด ติดต่อจากนี้ไปถึงอำเภอหนองแสง เป็นดงใหญ่ทั้งนั้น ทะลุปรุโปร่งไปหมด มีแต่ดงแต่ป่า สัตว์นี้เต็มไปหมด มีทุกประเภทของสัตว์ ช้างเป็นโขลง ๆ เต็มดง กระทิง วัวแดง กวาง หมูเป็นฝูง ๆ ฝูงละเป็นร้อย ก็มีหมูป่าในดงนี้ พวกเก้ง พวกกวาง พวกอะไร.. ไก่ป่า ไก่ฟ้า อีเห็น เม่น เต็มดงนี้...


หมูป่าเป็นฝูง ๆ ยังพากันมาอาศัยนอน และเที่ยวหากินอยู่ตามบริเวณหน้ากุฏิพระเณรในเวลากลางคืน ห่างจากที่ท่านเดินจงกรมราว ๒-๓ วาเท่านั้น ได้ยินเสียงมันขุดดิน หาอาหารด้วยจมูกดังตุ๊บตั๊บ ๆ อยู่ในบริเวณนั้น ไม่เห็นมันกลัวท่านเลย เวลาท่านเรียกกันมาดูและฟังเสียงมันอยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่เห็นมันวิ่งหนีไป ยังพากันเที่ยวหากินตามสบายในบริเวณนั้นแทบทุกคืน ทั้งหมูและพระเณรเคยชินกันไปเอง แต่ทุกวันนี้ยังมีเหลือเล็กน้อย และนาน ๆ พากันมาเที่ยวหากินทีหนึ่ง ... ต่อไปไม่กี่ปีคงจะเรียบไปเอง

ต้นไม้เดี๋ยวนี้ใหญ่โตแล้ว (ปี ๒๕๕๐) ตอนตั้งวัดแต่ก่อนไม่มี (ชี้ไปทางกุฏิองค์หลวงตา) ถูกเขาทำลายทำสวน ป่าราบไปหมด.. ๕๐ ปีได้ขนาดนี้ต้นไม้ เรียกว่าคนละโลกไปเลย มาอยู่ที่นี่ ทีแรกเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าอะไร (ชี้ไปทางด้านหน้าศาลา) .. พอมาสร้างวัด ต้นไม้ก็ขึ้นขนาดนี้.. ๕๐ ปี ดงต่อกันนะ นานี่ไม่มี เป็นดงต่อไปเป็นดงใหญ่ พวกหมู กวาง เก้ง หมี เสือ สร้างวัดทีแรกมันผ่านเข้ามาในวัด มันเดินผ่านทางที่เข้าบ้าน เสือโคร่งใหญ่ ก็ป่าเขานี่มันผ่านไปผ่านมา .. พวกหมี พวกเสือโคร่ง ผ่านไปผ่านมา

ท่านแสวง (ดูว่าไปตายที่วัดเขาน้อยละมั้ง) ท่านกลัวหมี ทีแรกมันออกมากุฏิเรา กุฏิเราเป็นกระต๊อบ พอมาเจอกุฏิเราเข้า ตีสามมันจะข้ามไปดง ข้ามไปข้ามมา หมีใหญ่ ตัวใหญ่ตัวดำ ๆ เดือนหงาย ๆ มันออกมาหาเรา แต่ยังไม่ทันเห็นเรา เสียงมันดังโครมคราม ๆ มาเจอกุฎิเราแล้วก็เลาะไปเจอเอากุฏิพระแสวง กุฏิมีแต่กระต๊อบนะ พระแสวงยืนตัวสั่นอยู่ในกระต๊อบ มันออกมาเจอกระต๊อบ มันก็หลบอีก มันไม่ผ่าน หลบไปทางนู้น หมีใหญ่มีสองสามตัว รอยมันผ่านไปผ่านมา เดี๋ยวนี้หมด เสือไม่มี พวกสัตว์เนื้อหมด เขาตั้งอำเภอแถวนั้นแหละ ดงใหญ่...

แถวนี้ไม่มีต้นไม้ (ชี้ไปทางกุฏิองค์หลวงตา) เป็นพุ่มหมดเลย ใหญ่ขนาดนี้ต้นไม้ มันเป็นดงเก่าเขามาทำไร่ทำสวน เตียนโล่งไปหมด พอเรามาสร้างวัดที่นี่มันขึ้นใหม่นะนี่ ต้นใหญ่ ๆ ขึ้นใหม่หมดเลย ประมาณ ๕๐ ปี พระก็ดูเหมือน ๑๒ องค์ ปีแรกมาอยู่นี่ ๑๒ องค์ เขารับจำกัด ๑๘ องค์ ..

วัดป่าบ้านตาด (ระยะต่อ ๆ มา) .. มีเนื้อที่กว้างขวางก็ดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพราะวัดนี้เป็นวัดของแผ่นดิน ทำประโยชน์ก็เพื่อแผ่นดิน

ตั้งแต่สร้างวัด เราก็ทำประโยชน์เรื่อยมา ถนนหนทางทำตั้งแต่บ้านดงเค็งเข้ามาถึงบ้านตาด ให้ลูกศิษย์ลูกหาช่วยกันทำเรื่อยมา

ถนนจากหมู่บ้านเข้ามาถึงวัดนี้ก็เหมือนกัน นี่เราทำเอง ขอชาวบ้าน ขอลูกเต้าหลานเหลนทำ ทางมา แหวกทางมา ขอมาเรื่อย ๆ แล้วก็ขึ้นค่าสินน้ำใจเขา เราไม่ขอเอาเฉย ๆ เราให้ค่าสินน้ำใจตอบแทน ค่าตอบแทนเราก็ไม่ให้ต่ำ ให้สูงไว้เสมอ ๆ เพราะฉะนั้น สองฝั่งทางนี้มันจะมีหลักฝังอยู่ นี่เราก็จ่ายเงินเขาไปหมดแล้ว

สระน้ำหน้าวัดนี้ก็เหมือนกัน เราก็ทำให้เพื่อชาวบ้าน ทางสายหน้าวัดนี้แต่ก่อนมันเป็นดงนะ มันไม่มีบ้าน นี่เราขอเอาไว้ก่อนเลย

หลวงตาบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตแต่ข้าวอย่างเดียวนะ แม้กระทั่งถนนหนทางก็ขอบิณฑบาต ขอไปไหนได้หมด เขาก็ว่า ‘อู้ย ! หลวงตาขออะไรได้หมดแหละ’

และเขาก็ให้หมดจริง ๆ นะ ถนนหนทางมันจึงกว้าง ...”

........................................................................

*๑ องค์หลวงตาเรียกคุณตาก้อนว่า “ผู้เฒ่าก้อน” หรือ “พ่อออกสิน” เป็นการเรียกชื่อตามชื่อลูกคนโต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวอีสาน คุณตาก้อนมีความเกี่ยวพันเป็นญาติผู้น้องของโยมมารดาขององค์หลวงตา โยมบิดาและโยมมารดาเรียกคุณตาก้อนว่า “น้าบ่าว”

*๒ องค์หลวงตาเรียกคุณตาบุดสาว่า “พ่อออกใจดี” หรือ “เฒ่าใจดี” เพราะความสนิทสนมคุ้นเคยกันแต่ครั้งเป็นฆราวาส โดยองค์หลวงตาเป็นเพื่อนกับน้องชายคนหนึ่งของคุณยายสีกา ภริยาคุณตา วันหนึ่งได้ซ้อมมวย เตะต่อยชกกันเล่นตามประสาวัยรุ่น แล้วถูกคุณยายสีกาผู้เป็นพี่สาวดุด่า กล่าวหาว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ ไร้สาระ อันเป็นการบอกสอนปรามน้อง ๆ ด้วยเกรงจะไปในทางไม่ดี ในขณะที่คุณตาบุดสาผู้เป็นสามี แม้จะนั่งดูหรือเห็นการชกต่อยของน้อง ๆ คุณตาก็ไม่ได้ว่ากล่าวใด ๆ คงนิ่งเฉยเสีย แม้ในเวลาต่อ ๆ มา คุณตาก็จะไม่ค่อยพูด เป็นลักษณะของคนใจดี องค์หลวงตาจึงเรียกคุณตาว่า พ่อออกใจดีหรือผู้เฒ่าใจดีตลอดมา

ลัก...ยิ้ม 30-06-2020 16:11

ฝังลึกคำพูด “ผู้เฒ่าก้อน”

เมื่อถึงคราวต้องสร้างวัด การปรับที่ปรับทางก็มีความจำเป็นขึ้นมา สิ่งนี้ทำให้ท่านซึ้งในน้ำใจของคุณตาก้อน ญาติฝ่ายโยมแม่ ชนิดฝังลึกไม่มีวันลืม ดังนี้
“... ทีแรกเรามาพักอยู่นอกบ้านทางนู้น เขาจึงนิมนต์ให้มาพักตรงนี้ มี ๒ เจ้าภาพถวายที่ดินจึงกลายเป็นวัดขึ้นมา ดูแล้วก็สงบสงัดดี เป็นเอกเทศ ... ทำถนนเข้ามานี่ สร้างวัดนี้ พ.ศ. ๒๔๙๘ เดือนพฤศจิกายน เดินบุกไปตามคันนา ไม่มีถนนหนทาง พอปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ผู้เฒ่าก้อนเจ้าของนา ๒ แปลงก็ให้ที่ดินทำถนน ทำจากสะพานหน้าวัดเข้ามา ให้เงินเท่าไหร่แกก็ไม่ยอมเอา ผู้เฒ่าก้อนแกบอกว่า
เงินไม่เอา จะเอาบุญนี้ ตัดทางเข้ามาเลย


เราจะเอาอะไรให้แกก็ไม่เอา ให้เป็นล้าน ๆ ก็ไม่เอา จะเอาบุญเท่านั้น คำพูดของผู้เฒ่าเรายังไม่ลืมฝังลึกมากนะ แกบอกว่า ‘จะไต่ไปทำไมคันนา พระตกคันนา มันไม่เหมือนเด็กน้อยตกนะ รีบไปทำถนนเข้าสิ พระตกคันนามันมีบาปด้วยละ’ ...

ผู้เฒ่าก้อนถวายที่ทั้งหมดให้เป็นวัด นาก็ให้เลย นาของแก ตัดทางเข้ามาเลย ผู้เฒ่านี่เป็นคนใจบุญนะ ใจบุญถวายที่นี่ ยกที่ดินถวายทั้งหมดเลยก็เลยได้อยู่ที่นี่ ผู้เฒ่าให้นา ผู้เฒ่านะ.. ตัดเข้ามา มันมีนาสองเจ้า มีเจ้าหนึ่ง ๆ ถ้าหากว่าเขาให้ก็ตัดตรงเข้ามา ถ้าเขาให้นา แบ่งนาให้เป็นทานนะ เราก็ตรงเข้ามาเลย ติดต่อเขาก็ง่ายนิดเดียว เขาอยากให้อยู่แล้ว เขาให้เลย จากนั้นทางมันจึงตรงเข้ามานี่ ...

พอเวลาผู้เฒ่าแก่มากเข้าจริง ๆ เราก็บอกว่า ‘ให้ตายใจ หลับตาให้สบาย หายห่วงนะ หลานจะเผาศพให้เอง’

เวลาผู้เฒ่าตายก็สั่งเขาให้มาเผาที่หน้าประตูวัดได้ แกเป็นเจ้าของที่นี่ เวลาตายก็เราเป็นเจ้าของศพ เป็นเจ้าภาพเลย.. ดูแลทุกอย่าง การทำบุญให้ทาน.. ให้ทุกอย่างครบหมดเลย เผาที่หน้าประตูวัด เราทำบุญให้ทานถึงผู้เฒ่าเรียบร้อยทุกอย่างเลย ...

ผู้เฒ่านี้เป็นน้องแม่ มามีเมียอยู่ทางนี้ เพราะฉะนั้น นา ๒ แปลงนี้จึงมีคุณค่ามาก ลึกซึ้งมากภายในหัวใจและในวัดนี้ เพราะคุณธรรมเป็นของลึกซึ้งมาก เงินล้านสู้ไม่ได้ อันนี้เป็นน้ำใจ น้ำเงินกับน้ำใจต่างกัน น้ำใจนี้ลึกซึ้งมาก...”

สำหรับคุณตาก้อนและคุณตาบุดสานั้น องค์หลวงตาได้แสดงออกให้คุณตาก้อนและลูกหลานเห็นว่า องค์ท่านระลึกถึงความดีงามที่คุณตาก้อนได้ถวายที่ดิน เพื่อสร้างวัดป่าบ้านตาดอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา เช่น ในยุคแรกที่บุกเบิกวัดป่าบ้านตาด ซึ่งมีแม่ชีอยู่ ๔ ท่าน เวลาทำนาท่านจะให้แม่ชีนำกับข้าวมาแขวนไว้ที่ต้นไม้ ตรงคันนาหน้าวัดแล้วบอกว่า
“จะได้มีเวลาทำนา ไม่ต้องกังวลกับการหากับข้าว”


และเมื่อคุณตาก้อนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ขณะอายุ ๘๙ ปี ท่านก็เมตตาให้นำศพของคุณตาก้อนไปเผาที่บริเวณหน้าวัดป่าบ้านตาด นอกจากนี้ ในยุคที่เหลือแต่ลูก ๆ ของคุณตาก้อน องค์ท่านก็ปรารภว่าไม่ปรารถนาเลย.. ในการที่จะให้ผู้มีศรัทธามาซื้อเอาที่ดิน ตรงบริเวณเหนือทางเข้าวัดป่าบ้านตาดมาเป็นที่ดินของวัด เนื่องจากเป็นที่ดินของผู้มีบุญคุณต่อวัดป่าบ้านตาด แต่เมื่อลูกหลานของคุณตาก้อนกราบเรียนว่า ได้ซื้อที่ดินแปลงอื่นทดแทนแล้ว องค์หลวงตาจึงยอมให้ผู้มีศรัทธาซื้อที่ดินนั้นถวายวัด

สำหรับคุณตาบุดสานั้นถึงคราวเจ็บป่วย จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล องค์หลวงตาก็ได้เมตตารับผิดชอบเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ขณะอายุ ๘๒ ปี คุณตาบุดสาก็ถึงแก่กรรมลง องค์ท่านได้เมตตาช่วยจัดงานศพจนแล้วเสร็จ

ลัก...ยิ้ม 30-06-2020 16:20

สัญชาตญาณรับผิดชอบ

เหตุการณ์คราวหนึ่งในช่วงกำลังสร้างวัดป่าบ้านตาด องค์ท่านเข้าปกป้องเด็กให้พ้นอันตรายโดยท่านเองยอมเจ็บปวดแสนสาหัส ดังนี้
“... ต่อนี้ปวดมาก ที่รู้ได้ชัดก็คือว่าอยู่ตะวันตกกุฏิเราไป พาเด็กเข้าไปในนั้น สร้างวัดใหม่ ๆ กุฏิของเราที่อยู่ทุกวันนี้ (ตอนนั้น) ยังไม่ได้สร้าง (เพิ่ง) มาสร้างวัดใหม่ ๆ


วันนั้นพาเด็กไปเอาอะไรอยู่ข้างใน แล้วมีต่อรังใหญ่รังหนึ่ง ทีนี้เถาวัลย์กับรังต่อนี่มันเกี่ยวกันกับสายทางที่เราจะไป พอไปผ่านนี่ปั๊บ มันก็กระเทือนรังต่อ มันก็ต่อยเอาเลย

แต่ทีนี้ ไม่มีใครไปผ่านละซีก็วัดป่าด้วย เป็นทำเลของเราอยู่ด้วย ใครไม่กล้าผ่านไปแถวนั้น พอเด็กอายุ ๑๕ ขวบเดินผ่านไป ผ่านเถาวัลย์.. นี่จับเถาวัลย์ดึง รังต่อมันติดอยู่ข้าง ๆ มันเกี่ยวโยงกันกับเถาวัลย์ พอไปดึงนี้ ต่อก็แตกรังออกมาเลย ทางไปนี้

มันใส่เด็กปั๊บ เด็กก็ร้อง “แว้” เด็กร้อง “แว้” เรามองดู มันเป็นต่อ

นี่ที่เรียกว่า สัญชาตญาณรับผิดชอบ มันเป็นของมันเอง พอรู้ว่าเป็นต่อเท่านั้นละ.. ปัดเด็กหนีเลย เพราะมันเป็นช่องเล็ก ๆ

ปัดเด็กออกไปเลย เรากันไว้ให้มันซัดเรา เราก็ยืนกันอยู่นั่น มันก็ฟาดหลังเราปุ๊บเลยต่อทั้งรัง

เด็กดูเหมือนจะตอดได้ตัวเดียวหรือไง อายุ ๑๕ ปีเป็นไข้เลยนะเด็ก ส่วนเรานับไม่ได้เลย ฟังซิ ว่าสัญชาตญาณยืนกันไว้เลย มันจะตามต่อยเด็ก.. ไม่ให้ไป ปิดประตูป่าช่องแคบ ๆ เรายืนกันไว้เลย มันก็ซัดเราเสียจน .. ฟาดเรากลางหลังหมดรังเลย ปวด.. เรากันไว้ให้มันซัดเรา ทีนี้พอเสร็จแล้วให้หมู่เพื่อนมาดู มันเป็นจ้ำ ๆ ๆ แดง ๆ หมดรัง ไข้เลย เด็กถูกต่อยตัวเดียวเท่านั้นก็เป็นไข้ ไอ้เราหมดรังเป็นไข้ทันทีเลย

ตีสอง ตีสามค่อยสงบ ตั้งแต่บ่ายสี่โมงนะ นี่เรียกว่ามันยกขบวนมันทั้งรังเลยนะ ใส่ข้างหลังเรา...”

ลัก...ยิ้ม 02-07-2020 21:59

บันทึกคำนิมิตฝัน

ขอยกนิมิตที่องค์ท่านบันทึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ดังนี้
“... คืนวันที่ ๒๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ตรงกับขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ วันพุธ เวลา ๒๓.๐๐ น. ดังนี้


ขณะนั้นปรากฏว่า เราอยู่วัดแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในป่าเปลี่ยวมาก ห่างจากบ้านไม่มีประมาณ อยู่กับสามเณร ๓ องค์ ไม่รู้จักนาม คล้ายกับว่าเณรอยู่ในวัดของเราขณะนี้ เวลานั้นเป็นเวลาเที่ยงคืนตรง เราพาเณรทำธุระอยู่หน้ากุฏี (กุฏิ) ห่างจากกุฏีประมาณ ๑๐ วาหลวงพอดี เสร็จแล้วล้างมืออยู่ที่หน้ากุฏีนั้นด้วยกัน พอต่างล้างมือเสร็จแล้วเราขึ้นไปกุฏีก่อนเณรทั้งสาม

กุฏีนั้นปรากฏว่าเป็นกุฏี ๒ ชั้น พอเราขึ้นไปถึงกุฏีชั้นบน ปรากฏว่ากุฏีชั้นบนนั้น.. บานประตูเปิดอยู่ก่อนแล้ว แต่เราไม่ได้นึกสงสัยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จึงตรงเข้าไปในห้องกุฏี พอเข้าไปในห้องปรากฏในสายตาตรงประตูด้านตะวันตก ซึ่งเปิดบานอยู่แล้วเช่นกัน ก็ปรากฏเห็นรูปบุรุษคนหนึ่ง เดินผ่านหน้าประตูแวบเดียวด้วยความเร็วของเขา จึงนึกสงสัยว่าจะเป็นคนชนิดไร ขึ้นมากุฏีในกลางคืนซึ่งเป็นยามดึก ก็รีบสอดสายตาดักฟากมุมเสาตรงประตูด้านหนึ่ง ก็พอดีสายตาไปสบกับบุรุษนั้น ซึ่งลอบ ๆ มอง ๆ เข้ามาข้างในห้องที่เราอยู่

พอเราทราบว่าเป็นผู้ร้าย แน่ในใจแล้ว ทันใดนั้นเขาก็ตรงเข้ามาถึงตัวเราทันที แต่ไม่ได้จับต้องกายของเราแต่อย่างใด เป็นแต่นั่งใกล้ชิดเรามาก แม้เราเองในขณะนั้น ก็ปรากฏว่านั่งกระโหย่งเช่นเดียวกับเขา แล้วจึงถามเขาว่า ‘เข้ามาทำไมกัน’

เขาก็ตอบทันที พร้อมทั้งมือข้างขวาก็ถือปืนสั้นทำท่าขู่เราอยู่ว่า ‘มาฆ่าท่านนั่นเอง’

แล้วเราก็ถามซ้อนอีกว่า ‘จะฆ่าอาตมาทำไม อาตมามีความผิดอะไร หรือท่านต้องการสิ่งของอะไรซึ่งมีอยู่ภายในกุฏี ก็เชิญถือเอาไปตามต้องการ จะมาฆ่าอาตมาเอาประโยชน์อะไรล่า ?’

เขาก็ตอบว่า ‘เมื่อท่านยังอยู่.. จะทำประโยชน์แก่พระศาสนามาก ใคร ๆ เขาก็นับถือท่านมากจนลือกระฉ่อนไปหมดแล้วเวลานี้ เฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ “ปัญญาอบรมสมาธิ” ที่ท่านแต่งพิมพ์ไปแล้ว รู้สึกว่าคนสนใจและชอบมากจริง ๆ กำลังจะเป็นหนังสือตัวแทนของท่าน และเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว ถ้าหากว่าฝืนให้ท่านยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ศาสนาจะเจริญขึ้นมาก คล้าย ๆ กับสมัยพระพุทธเจ้ายังอยู่และทรงประกาศศาสนาเอง ฉะนั้นผมเห็นเหตุนี้เองจึงจะรีบมาฆ่าท่านเสีย ศาสนาจะได้เสื่อมโทรมไป คนจะได้มืดมนหลงอยู่ในโลกนี้เป็นเวลานาน ๆ ผมนี้คือพญามาร เคยทำลายพระศาสนาและฆ่าพระมามากแล้ว’

ดังนี้ พอพูดกันจบลงเพียงนี้ ก็ปรากฏสามเณรทั้ง ๓ ขึ้นมา บุรุษคนนั้นไม่เห็นมีอาการสนใจอะไรกับเณร นอกจากคุมเชิงกับเราอยู่เท่านั้น เณรก็ไม่อาจพูดอะไรเช่นกันเพราะกลัวเขา ต่อจากนั้น เราก็พูดกับเขาอีกว่า ‘การที่ท่านมาที่นี่ ประสงค์จะฆ่าเราคนเดียวเท่านั้น ไม่ประสงค์อย่างอื่นใช่ไหม’ เขาตอบว่า ‘ใช่’

ถ้าเช่นนั้น เราขอกราบพระ สวดมนต์ และอำลาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ก่อน เสร็จแล้วค่อยฆ่า เราไม่หนีไปไหนหรอก’ เขาก็ยอมให้ทำ

พอเสร็จแล้ว เราก็เริ่มสั่งเณรว่า ‘เราจะตาย นับแต่ขณะนี้เป็นนาทีสุดท้าย’ เณรก็ทราบอาการจะตายของเราทันที เพราะตัวเหตุผู้จะฆ่าก็นั่งรออยู่แล้ว พวกเณรเห็นถนัดทุกองค์ แต่ไม่กล้าพูดอะไรเพราะกลัวเขา จากนั้นเขาก็เริ่มเอาปืนจ่อเข้าตรงหน้าอกเรา เราเองไม่ปรากฏว่ามีความหวั่นไหวแม้แต่น้อย มีน้ำใจองอาจกล้าหาญจนวินาทีสุดท้าย ขณะที่เขายิงเรานั้นปรากฏเสียว ๆ ร้อน ๆ ที่ทรวงอกแพล็บ ๆ สองครั้ง ในขณะเดียวกันก็ปรากฏขึ้นเป็นคำว่า อรหํ – สวากฺขาโต – สุปฏิปนฺโนฯ ภายในใจอย่างแจ้งชัด โดยที่เรามิได้ว่า แต่เป็นคำปรากฏขึ้นมาเอง

พอเขาทราบว่าเราตายแล้ว เขาก็พาเณรลงจากกุฏีจะรีบหนี พอลงไปถึงหน้ากุฏี ก็มีคนจำนวนมากมารุมจับเขามัดคอไว้อย่างแน่น ตัวเราเองที่เข้าใจว่าเขาฆ่าตายแล้ว ก็มีความรู้สึกอันหนึ่งซึ่งเหมือนยังไม่ตาย แล้วเดินเข้าไปในบ้าน ผ่านบ้านออกไปทางทิศเหนือ โดยรำพึงในใจว่า
‘การนิพพานเป็นอย่างนั้น โดยไม่มีความทุกข์ร้อนอะไรเลย แม้แต่ขณะจะตาย ในเวลาเขาฆ่าก็ไม่มีอาการเจ็บปวด ตายแล้วก็ไม่ทุกข์ สบายเช่นเดียวกับยังมีชีวิตอยู่’


กำลังเดินรำพึงอยู่อย่างนี้ ก็พอดีบุรุษนั้นวิ่งตามมาทัน แล้วกระโดดเข้าสวมกอดเราทันที เราก็รีบถามเขาอีกทันทีว่า ‘มาสวมกอดเราทำไม’ ตอบว่า ‘มาอาศัยท่าน เขาจะรุมฆ่าผม ผมไม่มีที่พึ่งแล้ว ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมด้วย’

เราจึงตอบเขาว่า ‘เวลาเป็นอยู่เห็นเราเป็นข้าศึก เวลาจะตายก็วิ่งมาพึ่ง นี่สมชื่อว่ามารเอาเสียจริง ๆ มารกับอสรพิษเป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน ไม่รู้จักบุญคุณของใครทั้งนั้น รู้จักแต่ทำลายโดยถ่ายเดียว’

เขาไม่ตอบว่าอะไร นอกจากกอดรัดเราไว้ ทั้งกลัวเขาจะมาฆ่าจนตัวสั่นริก ๆ ไปเท่านั้น นิมิตมาถึงนี้ก็พอดีรู้สึกตัวตื่นขึ้น จึงทราบว่านิมิตฝันไป จึงรีบบันทึกไว้ในขณะนั้นนั่นเอง...”

ลัก...ยิ้ม 02-07-2020 22:24

นิมิตปืนจ่อยิง

เมื่อคราวมาอยู่วัดป่าบ้านตาดระยะแรก มีนิมิตเกิดขึ้นแบบถนัดชัดเจน ดังนี้
“... เรื่องนิมิตนี่แปลก ๆ มันเป็นหลายครั้งหลายหน ถ้านิมิตชนิดอย่างชัด ๆ จริง ๆ แล้วไม่ค่อยผิด หลายครั้งหลายหนที่เราเคยเป็น อย่างคราวมาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดทีแรกก็เหมือนกัน


คืนวันนั้น แหม ! นิมิตแสดงออกมานี้ จนกระทั่งเรานี้ไม่กล้าพูดอะไรให้ฟังเลย ทำไมนิมิตจึงเป็นอย่างนี้

นิมิตปรากฏว่า มีกำแพงรอบ เราไปอยู่ตรงกลาง ไม่มีทางออกเลย นายพรานมือแม่นปืนมาขอยิงเราต่อหน้า หันปากกระบอกปืนจ่อมาหาเรา ห่างกันไม่ถึงวา เราก็เปิดผ้าออก เหลือแต่เพียงผ้าอังสะแล้วพูดว่า ‘เอ้า ! ยิงเลย’

พอเขายิง ยิงยังไงก็ไม่เห็นถูก ดังเปรี้ยง ! เปรี้ยง ! อยู่เฉย ๆ จนกระทั่งลูกกระสุนดินดำหมด พอกระสุนหมดแล้วยอมเข้ามาหมอบกราบ ขอกราบท่านหน่อย หมดความสามารถแล้ว มีเท่านี้แหละความสามารถ พอกราบแล้วเขาลุกหนีไป

พวกท่านสิงห์ทอง ใครต่อใครรุมเข้ามาหาเรา
‘เป็นอย่างไร ไม่เป็นผุยผงไปหมดแล้วเหรอท่านอาจารย์’


เสียงปืนนี้ดังสนั่น เข้ามาจับผ้าอังสะของเราดูก็ไม่เห็นมีรอยขาดอะไร แล้วนี่ท่านอาจารย์ดีด้วยอะไร ‘ดีด้วยพุทโธ’ เราว่าอย่างนี้นะ ในนิมิตมันบอก

พอตื่นเช้าขึ้นมานี้ เอ ! มันเรื่องอะไรกันนาถึงได้ฝัน ? ถนัดชัดเจนจริง ๆ แต่ไม่บอบช้ำ หาทางหลีกไม่ได้.. หากไม่บอบช้ำ นี่เป็นเรื่องอะไรนา คือบอกความหมาย มันไม่มีอันหนึ่งคือ เรื่องมาแสดงนิมิตจะแสดงความหมายไปนั้นไปนี้ก็ไม่มี เราจะมาตีความหมายว่าอย่างไหน นิมิตเป็นอย่างนี้

พอตอนบ่าย ๓ โมง พวกตลาดก็มาสิ เอาจดหมายจากท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พระอุปัชฌายะ มามอบให้ แล้วมีเด็กผู้หญิงสาวคนหนึ่งมาด้วย มาขอฝากเด็กคนนี้บวชเป็นชีในสำนักนี้
‘อ๋อ ! อันนี้เอง คือไม่มีทางไปได้เลย’


จดหมายของท่านเจ้าคุณมาหาเรา แล้วก็พวกตลาดเป็นพวกเจ้าหน้าเจ้าตากันทั้งนั้นละมา มันก็เหมือนเรื่องราวในนิมิต พอมาแล้วเราก็ชี้แจงเหตุผลให้ฟังตามเรื่องตามราว ให้ไปกราบเรียนท่าน

‘เราไม่รับ’
เราหาอุบายพูดอย่างเหมาะสมกับเหตุผลที่เขาจะยอมรับ เขาก็ยินดีจะตกลง


เราบอกว่า ‘เท่าที่มีอยู่นี้ ก็ด้วยความจำเป็นเกี่ยวกับโยมแม่ เราไม่ได้สร้างวัดเพื่อจะสั่งสมแม่ชีแม่ขาวที่ไหนมากมาย มีแต่คนแก่ ๆ อยู่ด้วยกันที่ติดมาด้วยกันแล้ว ถึงเวลาจำเป็นเรารับเท่านี้ คนอื่นเราไม่รับ ขอให้ไปกราบเรียนท่านว่า เรารับด้วยความจำเป็นเกี่ยวกับโยมแม่ ให้โยมแม่มีหมู่เพื่อนอยู่ด้วยกันเฉย ๆ เราไม่ตั้งใจว่าจะสั่งสมแม่ชีแม่ขาวให้มากมายอะไร

เราก็บอกอย่างนั้น เขาก็เลยไปกราบเรียนท่านเจ้าคุณฯ วันหลังเราก็ตามไปอีก ท่านก็บอก
เออ ! บัว ข้อยรู้ความประสงค์ของเจ้าแล้ว เราก็ไม่ติดใจอะไรแล้วละบัว อุบายของเจ้าพูดก็ดี ไม่เห็นมีอะไรขัดข้อง เราไม่ขัดข้องเจ้า เมื่อมีความจำเป็นแล้วเราก็เห็นใจ


ท่านว่าอย่างนั้น นี่ก็ไม่บอบช้ำ ท่านก็ไม่บอบช้ำ พวกตลาดก็ยอมรับเหตุผลเรา ไม่มีใครโกรธ ใครเคียดอะไรให้เรา นี่ที่ว่ามันไม่บอบช้ำคือ ยิงขนาดนี้ไม่บอบช้ำ อ๋อ ! เรื่องนี้เหรอ เข้ากันปั๊บเลย ...”

ลัก...ยิ้ม 02-07-2020 23:05

ดูลายมือที่เขาวงพระจันทร์

ครั้งหนึ่ง องค์ท่านมีความจำเป็นต้องไปเขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี จึงได้ถูกชายผู้ดูแลรักษารอยพระบาทคนหนึ่ง จ้องมองดูท่านแบบผิดปกติ ดังนี้
“... เขานิมนต์แกมขอร้องเราไปที่เขาวงพระจันทร์ เจ้าของห้างขายยาเศรษฐีใหญ่ในกรุงเทพฯ เราก็ไม่เคยไปเหยียบบ้านเขาเลย เพราะเราคบคนไม่ได้คบเพื่อเงิน คบเพื่อธรรม ถ้าเป็นแบบโลก ๆ อู๊ย ! ได้โยมอุปัฏฐากใหญ่โต ห้างขายยาใหญ่ เราไม่เคยสนใจแหละ.. เรื่องอุปถัมภ์อุปัฏฐาก เราไม่เคยมีในใจนอกจากธรรม


เขาพาไป มีแต่คนแก่ ๆ ผู้หญิงอายุ ๕๐-๖๐ ผู้ชายมีแต่เพียงคนขับรถคนเดียว ฉันจังหันแล้วไปถึงนั่นตั้ง ๓ ทุ่มกว่าแล้ว จากกรุงเทพฯ ไปถึงก็มืด เขาจัดที่พักให้เราพักที่วัดชายเขาวงพระจันทร์

พอตื่นเช้าเขาก็จัดอาหารมาให้ฉัน เราก็หาอุบายถามว่าใครบ้างจะขึ้นเขาในวันนี้ คนนั้นก็ว่า ‘ฉันก็จะขึ้น’ คนนี้ก็ว่า ‘ฉันก็จะขึ้น’ มีแต่คนจะขึ้นทั้งหมด โอ๊ยตาย ! ไปกับพวกนี้ ๕ ชั่วโมงก็ไม่ถึง เขาก็ย้อนถามเรา ‘แล้วท่านล่ะ ขึ้นไหม ?’

‘โอ๊ย ! ต้องดูเหตุการณ์เสียก่อน เหตุการณ์ควรขึ้นก็ขึ้น ไม่ควรขึ้นก็ไม่ขึ้น’ เราว่าอย่างนี้

ในที่สุดพอมีโอกาสเราก็ขึ้นไปคนเดียว ๑ ชั่วโมงถึงสถานที่เลย ทหารไป ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาทีเป็นอย่างเร็ว (ส่วน) ประชาชนต้อง ๒-๓ ชั่วโมง พอไปถึง คนที่ดูแลรักษารอยพระพุทธบาทออกมาต้อนรับ จัดหาน้ำร้อนน้ำชามาถวาย แต่ตาเขาจ้องมองเราจนผิดปกติ

เราดูเขา.. เขาไม่รู้นะ แต่เขาดูเรานี่รู้ชัดเจน มารยาทการดูมันต่างกัน เรามองดูก็รู้ว่าเขาดูเรา หากว่าเป็นคนเป็นอย่างแบบโลกก็แสดงว่ามีพิรุธต่อกัน แต่เราไม่สนใจ

เขาถาม ‘อาจารย์มากับใคร ?’

‘ที่มาตรงนี้ มาคนเดียว’ เราบอก

‘แล้วมีใครมาด้วยไหม ?’

‘มี อยู่กันข้างโน้น เขาจะขึ้นกันมาทีหลัง’

เขาจ้องมองดูแต่เรา เพ่งมองอยู่อย่างนั้น เราฉันน้ำร้อนน้ำชาให้เขานิด ๆ หน่อย ๆ แล้วเขาจ้อง พอเสร็จแล้วเขาบอกว่า ‘ขอดูลายมือ’

เราก็เข้าใจ ‘อ๋อ ! ที่เขาจ้องดูเรา หมายถึงจะขอดูลายมือนี่เอง’

ที่ไม่ลืมคำพูดของเขา ก็คือว่าประโยคคำพูดที่สำคัญ ก็คือ

‘๑. ท่านอาจารย์นี้มีเท่าไรหมด ไม่มีการสั่งสม ถ้าเป็นน้ำในคลองก็ไม่มีแอ่งเก็บน้ำ ไหลเตลิดเปิดเปิงจึงไม่มี แต่ไม่จน

๒. ปากเป็นพุทธะ ตามหลักของเขาคือ วาทะคำพูดสำคัญมาก

๓. ท่านอาจารย์ไม่ใช่พระธรรมดา

เราก็แปลกใจ เราไม่เคยถามนะ มีแต่เรื่องเขาพูดเอง แล้วเราเฉย.. ไม่สนใจถาม จำได้ ๓ ประโยค...”

ลัก...ยิ้ม 03-07-2020 14:49

กุฏิ ศาลา.. พออาศัย

หากจะกล่าวว่า วัดของท่านเป็นเสมือนหนึ่งทำนบน้ำอันกว้างใหญ่.. พร้อมเสมอที่จะให้บุคคลได้อาบ ดื่ม ใช้สอย และเพื่อกิจการประโยชน์อื่นใดได้ทุกขณะก็คงไม่ผิดไป เมื่อมีจตุปัจจัยเข้ามามากน้อยเพียงใด ท่านไม่เคยหวงแหนเก็บงำไว้เพื่อตัวของท่าน หรือเพื่อวัดของท่านเลย มีแต่มุ่งทำประโยชน์ช่วยโลกเรื่อยมา

เหตุนี้เอง ภายในวัดป่าบ้านตาดจึงไม่มีสิ่งก่อสร้าง* สวยสดงดงามหรูหราแต่อย่างใด ดังนี้
“... เงินวัดนี้ เงินเพื่อโลก เราไม่ได้เก็บสำหรับวัดนี้ ใครจะมาสร้างอะไรให้ เราไม่เอา นี่ดูซิ


ศาลาของหลวงตาบัว หลังนี้ก็ ๔ หนแล้วนะ เขามาขอสร้าง.. ขอรื้อสร้างใหม่

เราไม่ให้สร้าง สร้างไปหาประโยชน์อะไร สร้างหัวใจซิ ที่ประเสริฐเลิศโลกอยู่ตรงนี้.. ไม่ได้อยู่กับอิฐ กับปูน กับหิน กับทราย ไปสร้างมันหายุ่งอะไร ถ้าไม่ใช่หมาขี้เรื้อนหาเกาในที่ไม่คัน.. ฟาดกิเลส ตัวมันดิ้นมันดีดให้เกาเอาตรงนั้นซิ ไปที่ไหนก็เลยเป็นทำเล เขาเรียกรีสอร์ทรีแสดไปหมดแล้ว เดี๋ยวนี้วัดต่าง ๆ กลายเป็นรีสอร์ทรีแสดไปละ เป็นอย่างนั้นนะ .. ศาสนธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากยิ่งกว่าวัตถุ เครื่องก่อสร้างให้ความกังวลวุ่นวาย เราคำนึงถึงเรื่องนั้นต่างหากนะ

กุฏิ .. กุฏิเรา ๘ หนมาขอปลูกใหม่ให้ ขอรื้อใหม่ปลูกใหม่ ถ้าไม่ให้รื้อก็ปลูกใหม่.. ไม่เอาทั้งนั้นเรา ถึง ๘ หน.. หนที่ ๘ ก็ขนาบกันใหญ่ซิถึงได้หยุดมา ว่าครูบาอาจารย์อยู่อย่างนี้มันไม่เหมาะสม .. หลังที่สร้างขึ้นนี้เขาส่งเงินมาก็บอกตรง ๆ เลย เขาเห็นเราอยู่กระต๊อบสูงแค่เข่า พื้นก็สับไม้ไผ่เป็นฟากปู สร้างด้วยฟาง มุงด้วยหญ้า เราอยู่นั้นพังไป ๓ หลัง หลังที่ ๔ ถึงได้ปลูกหลังนี้ขึ้นมา (กุฏิหลังปัจจุบัน) เพราะปลวกกินต้นเสาล้มลงปลูกใหม่ ช่างพอทราบว่าเป็นกุฏิของเราก็มาต่อว่าเราที่ศาลา คนก็ยังอยู่มาก ๆ นี้ เขามาต่อว่าเรา.. ยังร้องไห้อีกด้วย บอกว่า
‘ครูบาอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ มาดูกุฏิแล้วหลังเท่ากำปั้น จะอยู่ได้ยังไง’


‘เอ้า ตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่นี้เป็นยังไง ? ท้องของแม่กับกุฏิหลังนี้อะไรใหญ่กว่ากัน ? กุฏิหลังนี้.. ยืนได้ เดินได้ นั่งได้ นอนได้อย่างสะดวกสบาย ไปมาได้ ในท้องแม่ไปไหนได้ไหม ? คับแคบยิ่งกว่านี้ยังอยู่ได้ตั้ง ๙ เดือน ๑๐ เดือน อันนี้ขนาดนี้แล้วทำไมจะอยู่ไม่ได้ ถ้าต้องการกว้าง ๆ ก็ไปอยู่ทุ่งอยุธยานั่นซิ ...’

เขาไม่ยอมซิ กลับไปเขาส่งเงินตูมมา ทีนี้เราไม่ได้มีข้อสั่งเสีย หรือมีข้อแม้อะไรเอาไว้ จะส่งกลับคืนก็เหมือนประชดกันนี่ เลยได้ฝืนปลูกนะ ...

จากนั้นเราก็สั่งเลยเทียว ใครจะส่งสิ่งส่งของ เงินทองมาให้เกี่ยวกับการก่อสร้างในวัดป่าบ้านตาดนี้แล้ว ต้องให้เราทราบเสียก่อน ถ้าส่งมาสุ่มสี่สุ่มห้าก่อนหน้าอย่างนั้นไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ส่งมาเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต้องบอกอย่างนั้นเลย เราก็ถือปฏิบัติอย่างนั้นมา ใครจะมาสร้างหากไม่ได้ขออนุญาตให้เป็นที่ตกลงใจกันเสียก่อน เราไม่ให้ทำ ...

ที่อยู่พออยู่ ๆ ไป แต่ทางจงกรมให้เป็นเหวไปเป็นไร (เดินจงกรมมากกระทั่งทางเดินเป็นร่องลึก) นั่นละ ธรรมเจริญ พระพุทธเจ้า พระสาวก ท่านดำเนินอย่างนั้น ท่านไม่ได้เอาวัตถุออกหน้าออกตาอะไร นี่อยู่ที่ไหนมีแต่เรื่องก่อสร้างถือเป็นใหญ่เป็นโต เป็นหลักศาสนาใหญ่โตเชียว เห่อแข่งขันโน่น จะว่าอะไร ...

ห้องน้ำพระกรรมฐานเรานะ ในห้องน้ำเห็นแปรงถูฟัน เห็นอะไร ๆ ในห้องน้ำนี้.. บอกชัดเจนแล้วว่าไม่เอาไหน นั่นมันชี้บอกนะ มาถูฟงถูฟันกี่ชั่วโมงกว่าจะเสร็จกว่าจะสิ้น แสดงว่าไม่เอาไหน สติสตังไม่ทราบไปไหน ไม่รู้เลยเหมือนคนตายแล้ว ผู้ที่เป็นนักรบไม่ได้มีอะไรมากนะ เอาแต่จำเป็น ๆ จ่อกันอยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่านักรบ ห้องน้ำไม่มีอะไร มีแต่ที่จำเป็นเท่านั้นนอกนั้นไม่มี อันนี้ในห้องน้ำมีทุกสิ่งทุกอย่าง.. เหมือนเครื่องประดับประดาตกแต่ง .. ดูแล้วอิดหนาระอาใจนะ พึ่งมาพูดนี่ล่ะ ไม่เคยพูดนะนี่.. สำหรับพระทั่ว ๆ ไป มันปล่อยอาลัยตายอยากแล้วแหละ ที่ยังจะพอมีหวังหายใจฟอด ๆ อยู่บ้าง คือพระกรรมฐาน ..

ศาลานี่ (ศาลาใน) ศาลาหลังนี้ก็ ๔ หนแล้วนะ เขามาขอรื้อสร้างใหม่บ้าง ขอยกศาลาใหม่บ้าง ยกขึ้นเราก็ไม่ให้ยก สร้างก็ไม่ให้สร้าง ขยายใหม่เราก็ไม่ขยาย จึงอยู่อย่างนี้ ... เขาก็อยากจะมาทำใหม่ให้ เราก็ไม่เอา ตีเพดานให้เราก็ไม่ให้ตี นั่น.. นี่มันเหมาะแล้ว พอดีแล้ว โก้หรูไปอะไรเรื่องโลก ๆ ให้โก้หรูอยู่ภายในหัวใจซิ.. ใสสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ภายในใจนั่น ของอัศจรรย์อยู่ตรงนั้นต่างหาก ไม่ได้อยู่กับหิน กับทราย กับอิฐ กับปูน กับเหล็กอะไรนี่ .. ทำพออยู่ได้ พอ ...

ยกศาลา (ใน) ศาลาหลังนี้แต่ก่อนเตี้ย ๆ นะ นี่ยกขึ้นแล้ว เขามาขอสร้างใหม่เราไม่เอา สร้างอะไร ๆ ไม่เอาทั้งนั้น สุดท้ายก็เลยมาขอยกศาลาหลังนี้ขึ้นเป็นสองชั้น ชั้นบนชั้นล่างอยู่มา (เช่นปัจจุบัน) .. แล้วคนก็อยู่ข้างล่าง แล้วแขกคนมาก็ให้นอนข้างบนก็เท่านั้นล่ะ สำหรับวัดป่าบ้านตาดเวลานี้มันก็เลอะเทอะแล้ว มีความจำเป็นตั้งแต่เราช่วยบ้านช่วยเมือง แขกคน พระเณรไปมาทั้งวันทั้งคืน ทีนี้การงานเท่าไรมันก็ทำไปเรื่อย ไอ้เราไม่รู้นะ เขาทำ.. เขาทำของเขาเองเราไม่รู้ สุดท้ายก็เลยเป็นศาลาเดือนเก้าไปเลย ...

=================================================

* พระอาจารย์เส็ง เล่าเป็นข้อมูลบันทึกความจำถึงการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงในวัดจะเป็นไปด้วยความจำเป็นและมีเหตุผลเสมอ ซึ่งแต่เดิมศาลาไม้ในวัดป่าบ้านตาดนั้นมีพักชั้นเพียง ๒ ระดับ และส่วนที่เป็นพระประธาน ต่อมาราวปี ๒๕๐๓-๒๕๐๔ เพิ่มพักล่างพื้นไม้รูปตัวยู (U) อีกระดับ รวมเป็น ๓ ระดับจนถึงทุกวันนี้ จากนั้นในปี ๒๕๒๓ ปลวกเริ่มกินเสาไม้เดิมจึงเปลี่ยนเป็นเสาคอนกรีตทั้งหมด ๖๘ ต้น ใช้เวลาดำเนินการเพียง ๓ วัน หลังการปรับปรุงเสาศาลาแล้วเสร็จ ในปี ๒๕๒๔ ก็เปลี่ยนเสาไม้กุฏิองค์หลวงตากับอีก ๒ กุฏิ เป็นเสาคอนกรีตด้วยเช่นกัน ต่อมาในปี ๒๕๓๙ ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น จึงยกศาลาขึ้นเป็น ๒ ชั้น และเทพื้นคอนกรีตชั้นล่าง พระเณรจึงย้ายลงมาฉันจังหันด้านล่างศาลานับแต่นั้นมา

ลัก...ยิ้ม 03-07-2020 15:11

ศาลาใหญ่ บริเวณหน้าวัด เขามาขอไม่รู้กี่ครั้งกี่หน คราวนี้บริษัทกระทิงแดงกับเสี่ยกิมก่ายยกทัพมาขออีก เราพิจารณาเหตุผลเลยอนุญาตให้สร้างศาลาใหญ่ (สร้างต้นปี ๒๕๔๔) แต่ไม่ให้มีปูชั้นนั้นชั้นนี้ เป็นห้องเป็นหับไม่ให้มี.. ให้โล่งไปหมดเลย เขากะความยาวมา ๕๕ เมตร ความกว้าง ๑๕ เมตร เราพิจารณาเหตุผลเรียบร้อยแล้ว เราก็อนุญาตให้เลย เวลาเราอนุญาตฟาดเสีย ๖๐ เมตร กว้างเสีย ๓๐ เมตร เขายิ่งพอใจใหญ่เลยนะ ขนาดนั้นมันถึงพอคน เพราะสถานที่นั่นเป็นสถานที่จะรวมงาน งานแต่ละครั้งคนจะนั่งได้หมด .. เราเคยคิดเมื่อไรว่าเราจะสร้างอย่างนั้น แต่มันก็เป็นเพราะสิ่งเกี่ยวข้องมันเกี่ยวโยงกันมา การช่วยชาติบ้านเมือง ประชาชนมามากมาน้อยทั่วประเทศไทยก็เข้ามาที่นี่ ผู้เกี่ยวข้องกับบุญ - คุณประโยชน์แก่ชาติ แก่ตัวเองแล้ว ก็ต้องเข้ามาหาสถานที่เป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่ตายใจได้ เช่น วัด สถานที่นี้ก็คือวัดป่าบ้านตาด ครั้นเวลามาคนเต็มท้องนา ฝนตกฟ้าลงเปียกปอนงอมแงม ดูแล้วดูเล่า มันจะอดคิดได้ยังไงคนเรา เมื่อก่อนเราตัดขาดสะบั้น ๆ นะ มาสร้างไม่ได้ คิดดูซิ ศาลาหลังนี้ (ศาลาใน) เขาจะมาขอสร้างถึง ๔ หนนะ ดุกันแหลกเลย...

กุฏิในวัด ก็ไปถือกรรมสิทธิ์เหมือนอย่างทางโลก ... นี่ก็ได้ยินตามวัดต่าง ๆ ครูบาอาจารย์ท่านก็เคยพูดด้วยความอิดหนาระอาใจให้ฟัง ก็เป็นผลที่เราคิดไว้แล้วทั้งนั้น ก็ไม่ทราบจะค้านยังไง .. เกี่ยวกับเรื่องประชาชนที่เข้าไปอยู่ในวัด สร้างความไม่สงบขึ้น สร้างความทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น สร้างเรื่องสร้างราวขึ้น ยุ่งไปหมดนะ กุฏิหลังไหนไปสร้างแล้วก็ถือกรรมสิทธิ์ ๆ ใครไปแตะไม่ได้ นั่นฟังซิ .. นิสัยของโลกเอามาใช้ในวัดมันก็ขวางวัดล่ะซิ ไม่ขวางยังไง เพราะวัดไม่ได้เหมือนโลก แต่เอานิสัยโลกมาใช้.. ของใครก็ล็อคกุญแจ เวลาไป.. ติดห้ามไว้ด้วยว่า ‘ไม่ให้ใครมาอยู่ ไม่ให้ใครมาเกี่ยวข้อง’ นั่นฟังซิ มีเท่าไรก็มาเป็นของใคร.. ของเราเป็นเจ้าอำนาจอยู่นั้นหมด

ที่เราไม่ให้ทำก็เพราะคิดเรื่องเหล่านี้ แล้วนี่ทำแล้วเป็นจริง ๆ ถ้าอนุญาตก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เราจึงไม่อนุญาตให้ทำ ใครจะมาขอสร้างขนาดไหนก็ตาม เป็นคนใหญ่คนโตขนาดไหน.. ไม่สำคัญยิ่งกว่าเหตุผลคืออรรถ คือธรรม
‘เอ้า มาอยู่เลย วัดนี้คนเคยมาอยู่กันมากแล้วไม่มีอะไรแหละ ไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรแหละ มาอยู่เลย อยู่ได้ เขาคับเราคับ เขาแคบเราแคบ เขาแน่นเราก็แน่น เขาลำบากเราก็ลำบาก ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันแหละ


กำแพงวัด* นี้จะเป็นประโยชน์กั้นสัตว์พวกแมวนี้ตลอดไป แล้วสัตว์ในวัดนี้ก็จะค่อยงอกเงยขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งคือพวกกระแต ลูกกระต่ายนี้อันตรายมาก ... คลองหน้าวัดนี่ขุดลอกออกแล้ว ทีนี้ขยะมันเต็ม เราทำฝายน้ำล้นนี้.. น้ำจะขึ้นมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องขนขยะออกให้หมด เวลาน้ำมามากจะได้ใสสะอาด วัดได้อาศัยนี่ละ .. อย่าว่าแต่ในวัดเลย ทางบ้านก็มาใช้ได้ สระนั้นใช้ได้ตลอด ... คือเราเห็นความจำเป็นของสัตว์ว่าไม่มีน้ำแถวนี้ ไม่มีเลย ก็เลยให้เขามาขุดสระ สระที่มีอยู่ทุกวันนี้ .. เวลาหน้าแล้งก็ได้อาศัยนั้นกินใช้กัน เราทำไว้เพื่อควาย...”

=============================

* กำแพงรอบวัด สูง ๒.๕ เมตร ยาวตลอดอาณาเขตของวัดทั้งสิ้น ๑,๘๘๐ เมตร สร้างเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ลักษณะเป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก มีประตูเหล็กโปร่งกว้าง ๔ เมตร อยู่หน้าวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และประตูกว้าง ๒ เมตร อยู่ข้างหลังวัดด้านทิศใต้

ลัก...ยิ้ม 04-07-2020 14:12

วัดนี้ไม่มีโบสถ์ ไม่มีเมรุ

กลางปี พ.ศ. ๒๕๒๒ องค์ท่านกล่าวกับพระเณร เกี่ยวกับการสร้างโบสถ์ภายในวัดว่า
“... มีเจ้าศรัทธาท่านหนึ่ง* จะถวายเงินเพื่อสร้างโบสถ์ทั้งหลัง เรายังไม่อาจรับได้ เคยมีบ้างไหมในประเทศไทยและองค์ไหน ที่มีผู้ถวายเงินสร้างโบสถ์ทั้งหลังแล้วไม่รับ นอกจากขรัวตาวาสนาน้อยนี้เท่านั้นจึงไม่อาจรับได้


ที่ไม่อาจรับได้นั้นก็มีเหตุผลเหมือนกัน .. ความจริงหลักธรรมที่เราเล็งอยู่ ยึดถืออยู่ กราบไหว้บูชา เป็นขวัญใจและเทิดทูนสุดจิตสุดใจอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่ใหญ่โตมากยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกธาตุ

สิ่งเหล่านั้นเราไม่ได้เทิดทูนเหมือนธรรม เพราะเป็นเพียงปัจจัยเครื่องอาศัยไปเป็นวัน ๆ เท่านั้น ส่วนธรรมเป็นเรื่องใหญ่โตมากที่ต้องรักสงวน

เรื่องการสร้างโบสถ์สำหรับวัดนี้ยังไม่มีความจำเป็น สิ่งใดที่จำเป็นก็ทำสิ่งนั้น เช่น จิตภาวนาเป็นงานจำเป็นอย่างยิ่ง การทำอุโบสถสังฆกรรมทำที่ไหนก็ได้.. ตามร่มไม้ชายเขาที่ไหนก็ได้ ไม่ขัดข้องอะไร ตามหลักพระวินัยจริง ๆ แล้ว ไม่มีอะไรขัดข้อง การสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ควรให้เป็นที่เป็นฐานที่เหมาะที่ควร ไม่ใช่จะสร้างดะไปหมด

การสร้างโบสถ์หลังหนึ่งเป็นยังไง นับตั้งแต่เริ่มแรกตกลงกับช่างในการสร้างโบสถ์เป็นยังไง ถนนหนทางเข้าไปในวัดจนถึงบริเวณที่จะสร้างโบสถ์จะต้องเปิดโล่ง ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งถึงวันสร้างโบสถ์สำเร็จ.. ต้องบุกเบิกไปหมดยิ่งกว่าโรงงาน คนงานก็ต้องมีทั้งหญิงทั้งชายจำนวนมากมาย ที่จะเข้ามานอนกองกันอยู่นี้ ทั้งช่างทั้งคนงานไม่ทราบมาจากแห่งหนตำบลใด

บางรายหรือส่วนมากก็ไม่เคยรู้เลยว่าศาสนาเป็นอย่างไร พระเณรในวัดท่านปฏิบัติอย่างไร แล้วเขาจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พอเป็นความสงบ งามตา แก่พระเณรในวัดได้ยังไง มันต้องเหมือนกับเอายักษ์ เอาเปรต เอาผี เข้ามาทำลายวัดนั่นเอง

ในขณะที่เปิดโอกาสตกลงกันเรียบร้อยแล้วนั้นน่ะ ไม่ว่าผู้คนหญิงชาย รถราต่าง ๆ ต้องเข้าต้องออกกันตลอดเวลา ประตูวัดปิดไม่ได้เลย และสถานที่ที่จะสร้างโบสถ์ขึ้นมาให้เป็นของสง่างามแก่วัด แก่พระสงฆ์ในวัด แต่พระเณรกลับตายกันหมดจากจิตภาวนา จากมรรคผลนิพพาน ที่ควรจะได้จะถึงจากสมณธรรม... คือ จิตภาวนา แล้วจะเอาอะไรมาเป็นความสง่างามอร่ามตา

‘ลองพิจารณาดูซิ นี่เราคิดอย่างนั้น และพูดอย่างนี้นะ จะเป็นความคิดผิด พูดผิด หรือถูกประการใดบ้าง ?’ ...”

สิ่งก่อสร้างอีกอย่างหนึ่ง หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ องค์หลวงตาไม่ส่งเสริมให้สร้างขึ้นในวัด คือ เมรุ ซึ่งท่านให้เหตุผลไว้ ดังนี้
“... สักกาโร ปุริสัง หันติ มันฆ่าคน ใครได้มาก็นับห้านับสิบละซิ ได้มานับเท่านั้นนับเท่านี้ สุดท้ายนับแต่เงิน ไม่ได้นับธรรมละซิ ไม่ได้หาธรรม ยิ่งมีเมรุวัดไหนด้วยแล้วนั่นละ วัดนั้นล่ะ.. เป็นวัดแหลกเหลวหมดเลย ไม่มีชิ้นดีแหละ พูดได้เต็มปาก.. นับแต่เงินทั้งนั้น วันยังค่ำ.. คืนยันรุ่งจะเป็นอะไรไป นับอรรถนับธรรมที่ไหน.. พูดให้เต็มปาก โลกมันเต็มเปาจะว่าไง ไม่ให้พูดเต็มปากได้เหรอ มีใครจะมานิมนต์ให้ไปฉันที่ไหน.. เราไม่ให้ไป วัดนี้ไม่ให้ไปเราตัดไว้หมดเลย เพื่อให้พระได้บำเพ็ญภาวนา เมื่อได้คุณงามความดีแล้ว.. พระกับโยมแยกกันไม่ออก โลกกับธรรมแยกกันไม่ออก


พระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช.. ใครติดตามพระองค์ เวลาเป็นศาสดาเอกของโลก.. ใครทำประโยชน์ให้แก่โลกได้มากยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าไม่มี นั่นฟังซิ แยกกันออกไหมล่ะ ...”

===============================

* เป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ

ลัก...ยิ้ม 04-07-2020 23:06

เครื่องใช้ไม้สอยตามเหตุผล

องค์ท่านแสดงธรรมกล่าวให้เห็นถึงหลักปฏิบัติของวัด และเครื่องใช้ไม้สอยภายในวัดอันเหมาะสมแก่บรรพชิต ดังนี้
“... เก้าอี้ เราก็ไม่ให้มี .. ให้ระวังนะ มีพระพุทธรูปใหญ่อยู่ที่ไหน หามายุ่งยากนัก คนนั้นก็ถวายพระพุทธรูป คนนี้ถวายพระพุทธรูป.. เลยเกลื่อน พระก็เกรงใจจะว่าไง.. รับไว้ ๆ เลยเกลื่อนตั้งแต่เศษเหล็กเศษทอง หัวใจคนไม่ได้เป็นทอง ทำอย่างสบาย ๆ คิดอย่างง่าย ๆ คิดแล้วไปซื้อพระพุทธรูป เขาขายแล้วเอามาให้พระแบกหาม.. พระพุทธรูปเต็ม (ไปหมด) อย่าทำนะสำนักเรา.. ให้เป็นขึ้นมาที่นี่นะ พระพุทธรูปเป็นเครื่องหมายแห่งการเคารพบูชา แต่ความเอาจริงเอาจังแล้ว จะน้อมเข้ามาสู่จิตใจปฏิบัติสำรวมระวังใจเจ้าของ...


เขาจะถวายรถยนต์ เอามาทำไมรถเต็มแผ่นดิน จะขึ้นคันไหน ลูกศิษย์คนไหนเขาพร้อมเสมอ อยากให้ขึ้นรถเขา เรามีเหตุมีผลทุกอย่างที่ห้ามอะไร พระหามาอะไร หารถ..ไม่ใช่ฆราวาสนี่... อันนี้เป็นเรื่องของโลกเขาใช้กัน พระเป็นเพียงอาศัยความสะดวกไปกับเขาเท่านั้น จะมาเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นตัวของตัว เป็นเจ้าของรถของราขึ้นมา มันก็เหมือนโลกเขาน่ะซิ..

ไฟฟ้า เขาจะเอาเข้ามา.. เราก็ห้ามมานานแล้ว นี่ถ้าเอาไฟเข้ามา ลองดูซิ สิ่งที่แอบแฝงเข้ามา ที่จะตามเข้ามาให้วัดเสีย มาฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกันเต็มวัดวา เลอะ ๆ เทอะ ๆ ไปหมด ไม่ทราบว่าวิทยุ โทรทัศน์ ตู้เย็น จะแอบตามกันมา...

โทรศัพท์ ก็จะมาติดขึ้นอีก.. มาขอ ๒ ครั้งแล้วนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดมาติดต่อเรา จะขอตั้งโทรศัพท์ที่วัด เพื่อการติดต่อสะดวก.. นี่เราก็ไม่เอา เพราะผลประโยชน์ที่จะได้มีเพียงนิดเดียว ผลเสียที่ตามมานี้มากต่อมาก.. พรรณนาไม่จบไม่สิ้นเลย

สมควรแล้วเหรอ จะเอาช้างแลกแมว มันจะกริ๊งกร๊าง ๆ ทั้งวันทั้งคืน.. ไม่มีเวลาเลย ทางไหนก็โทรมา ผู้รับสายหนีไปไหนไม่ได้แหละ...

วันหนึ่ง ๆ จะเข้ามาเท่าไร แม้แต่มาจังหัน มาวัดมาวาก็โทรเข้ามา... อย่าว่าแต่ข้างนอกจะโทรเข้ามาเลย ข้างในนี้ก็เป็นบ้าไปเลยแหละ .. โทรแหลก นั่น..ฟังซิ

เราก็ให้เหตุผลกับผู้ว่าฯ ไป ก็อุดรฯ กับวัดนี้ไม่เห็นไกลกัน มีเหตุผลอะไร มีความจำเป็นอะไร รถวิ่งไปหาครู่เดียวก็ได้ ... ความมีโทรศัพท์เป็นความเสียหายมากมาย แล้วพระเณรจะคึกคะนองขึ้นอีก เราว่ายังงี้เลย จึงไม่ยอมให้ตั้ง

‘ทุกสิ่งทุกอย่าง เราคิดด้วยเหตุผลทั้งนั้น ไม่ว่าจะอนุญาต ไม่ว่าจะห้าม .. เอ้า ! ให้ค้านมา ว่างั้นเลย ถ้าเหนือนี้เรายอมรับ.. ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าไม่เหนือแล้ว เราไม่ทำนะ .. ไม่ใช่เรามีทิฐิมานะไม่ให้ทำนะ เราต้องการเหตุผลนี่ รักษาศาสนาก็ต้องรักษาด้วยเหตุด้วยผล อะไรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัดกับวา ศาสนา พระเณร ก็ต้องมีเหตุผลซิ ทำแบบสุ่มเดาได้เหรอ’...”

ลัก...ยิ้ม 05-07-2020 11:24

ข้อวัตรปฏิบัติวัดป่าบ้านตาด

วัดป่าบ้านตาด ตั้งอยู่ ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนพื้นที่กำแพงล้อมรอบ ๑๖๕ ไร่ ๑๕ ตารางวา (พื้นที่ใหม่ ๓๑๗ ไร่) ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ รอบ ๆ เป็นที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำดี ทำนาได้ผลดีกว่าที่อื่น สภาพภายในเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอันสงบเรียบง่าย

ด้วยเหตุที่มีกำแพงล้อมรอบบริเวณอย่างมิดชิด จึงรักษาต้นไม้และสัตว์ป่าให้รอดพ้นจากการทำลาย หรือการลักลอบเข้ามาฆ่าสัตว์ในบริเวณได้ บรรยากาศในเขตอภัยทานแห่งนี้ จึงร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ และเป็นที่พึ่งพิงอันอบอุ่น และปลอดภัยแก่สัตว์น้อยใหญ่หลากชนิด อาทิ ไก่ป่า กระรอก กระแต แย้ นก ฯลฯ ที่นั้นคือ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อก้าวย่างเข้าสู่บริเวณวัด จะสัมผัสกับความร่มรื่นชุ่มตาเย็นใจกับธรรมชาติของป่า ได้ยินเสียงของแมลงมีปีกหมู่ใหญ่ร้องเสียงก้องกังวานสนั่นไพรในบางฤดูกาล ปะปนด้วยเสียงขันของไก่ป่าซึ่งออกเที่ยวหากินอย่างแข็งขัน.. ชนิดไม่มีวันหยุดงานเหมือนมนุษย์เรา

ครั้นเดินต่ออีกประมาณ ๕๐ เมตร จะพบศาลาการเปรียญอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นศาลาไม้เนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังใหญ่ และมีเพียงหลังเดียวในวัดนี้ เดิมทีเป็นศาลาชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังถูกยกให้สูงขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

ด้านบนศาลานั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธานของวัด ชั้นต่างระดับที่ใช้สำหรับตั้งพระพุทธรูป บนชั้นมีรูปถ่ายของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ดังนี้

หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่ฝั้น วัดป่าอุดมสมพร ท่านพ่อลี วัดอโศการาม ด้านหลังพระพุทธรูป บนฝาผนังมีรูปถ่ายของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นอยู่ด้านขวา สำหรับด้านซ้ายของพระพุทธรูป มีพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
ตู้ด้านขวาของพระพุทธรูปนั้น เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของหลวงปู่มั่น รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ

องค์หลวงตาใช้สถานที่ชั้นบนของศาลาแห่งนี้ แสดงธรรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น ลงอุโบสถ อธิษฐานเข้าพรรษา สวดปวารณาและกรานกฐิน เป็นต้น

ด้านล่างศาลานั้นใช้เป็นที่สำหรับฉันจังหัน นอกจากนั้นองค์หลวงตายังใช้เป็นที่แสดงพระธรรมเทศนา และปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแต่ละวัน

ลัก...ยิ้ม 05-07-2020 12:55

ประกาศที่นี้เป็นวัด

ป้ายที่เขียนไว้ว่า “ที่นี้เป็นวัด เป็นสถานที่ภาวนาเพื่อความสงบใจ ไม่มีกิจจำเป็น.. ไม่ควรมาเพ่นพ่าน” เพื่อให้มาวัดแล้วมีความสำรวมระวังใจ เฉพาะอย่างยิ่งมาดูวัดป่าบ้านตาดว่าเป็นอย่างไร ท่านดำเนินอย่างไร พระมีหลักมีเกณฑ์ มีธรรมวินัย มีความพ้นทุกข์เป็นจุดหมายปลายทาง เหมือนพวกระเกะระกะไหม มาไม่มีหลักมีเกณฑ์ในใจเลย หัวใจที่สว่างจ้ากับจมอยู่ในมูตรในคูถ คือกิเลสตัณหาทั้งหลายนี้ มันดูกันไม่ได้.. ต่างกันราวฟ้ากับดิน ภาษาธรรม เราอยู่กับธรรม.. พระปฏิบัติท่านมีสติสตัง.. มันรำคาญหนักเข้าเลยติดประกาศไว้

ป้ายประกาศธรรมออกให้รู้กันเสียบ้าง ธรรมพระพุทธเจ้า ธรรมพระอรหันต์เป็นยอดธรรมทั้งนั้น

ลัก...ยิ้ม 05-07-2020 13:05

กุฏิที่พักของพระเณร

ที่พักของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูป เป็นร้านเรียบง่ายคล้ายกระต๊อบเล็ก ๆ พอแก่การบังแดดฝนหรือลม และเพื่อป้องกันการรบกวนจากสัตว์เลื้อยคลาน หรือกันความชื้นจากพื้นดินและอื่น ๆ จึงยกร้านให้สูงขึ้นจากพื้นประมาณ ๑-๑.๕๐ เมตร

ร้านมีขนาดเพียงพอสำหรับนอนคนเดียว มีหลังคาสังกะสี ผนังทั้ง ๔ ด้านใช้ผ้าแป้งดิบ หรือจีวรเก่า ๆ ซึ่งแทนฝาเพื่อกันลมกันฝน และใช้มุ้งกลดกันยุง ภายในใช้เก็บบริขารที่จำเป็นของพระภิกษุสามเณร เช่น บาตร กลด ไตรจีวร เสื่อ ผ้าห่ม ตะเกียง เทียนไข หนังสือธรรมะและของใช้ที่จำเป็นอื่น ๆ

ด้านหัวนอนจะมีพระพุทธรูปหรือรูปครูบาอาจารย์ติดไว้ เพื่อกราบไหว้บูชาเป็นอนุสติ และเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญภาวนา รอบ ๆ ร้านมีบริเวณพอเหมาะ.. ไม่กว้างจนเกินไป

ทุก ๆ ร้านมีทางเดินจงกรมอย่างน้อย ๑ สายอยู่ใกล้บริเวณ และมักทำไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่ ทางจงกรมมีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๒๕-๓๐ ก้าวเดินปกติ ในยามค่ำคืนขณะเดินจงกรมจะใช้โคมเทียนจุดสว่างพอมองเห็นทาง ร้านเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วบริเวณภายในวัดทั้งในเขตกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก แต่ละร้านจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพื่อให้มองไม่เห็นกัน

ทางที่จะเข้าไปถึงร้านเป็นทางแคบคดเคี้ยวเลี้ยวลด ซึ่งทำให้มองเห็นร้านได้ยาก พระเณรที่เข้าพักในร้าน จึงเหมือนเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่งท่ามกลางป่าลึกเพียงองค์เดียว อันเป็นโลกแห่งความสงบร่มเย็น ไกลจากเสียงรบกวนใด ๆ ทั้งปวง จึงสัปปายะ สะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม

สำหรับกุฏิที่มีฝาผนังทำด้วยไม้ถาวร มีประมาณ ๑๐ กว่าหลัง โดยมากเป็นกุฏิของพระเถระ ภิกษุสูงอายุ หรือกุฏิรวมของฆราวาสที่มาพักภาวนาชั่วคราวช่วงสั้น ๆ ซึ่งมีแนวเขตจัดแยกออกจากกัน ระหว่างพระภิกษุสามเณร ฆราวาสชายและหญิงอย่างเป็นระเบียบ

ลัก...ยิ้ม 06-07-2020 13:13

กิจวัตรประจำวันพระเณร

กิจวัตรหลักประจำวันของพระเณร ก็คือการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม เพื่อฝึกฝนสติปัญญา และชำระกิเลส..ตัวร้อนรุ่มกระวนกระวายอยู่ภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป ดังนั้น โดยปกติพระภิกษุสามเณรในวัดจึงไม่รับกิจนิมนต์ไปฉันในที่ใด ๆ นอกวัด เพื่อให้มีเวลาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนาแต่เพียงอย่างเดียว

ในยามเช้า พระภิกษุผู้มีหน้าที่จะจัดอาสนะองค์หลวงตาอย่างละเอียดประณีตด้วยความเคารพบูชายิ่ง

ช่วงเช้ามืดก่อนบิณฑบาต จะเป็นการเตรียมสถานที่สำหรับฉันจังหัน โดยทั้งพระและเณรต่างช่วยกันทำความสะอาด จัดอาสนะ กระโถน ขัดถูพื้นศาลาด้วยกาบมะพร้าว ปัดกวาดศาลา และบริเวณรอบ ๆ อย่างสามัคคีพร้อมเพรียง

งานการทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจะพยายามทำอย่างขันแข็ง มีสติ และเป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ครูบาอาจารย์สอนเน้นอยู่เสมอตลอดมา

พอได้อรุณ วันใดที่ท้องฟ้าดูเป็นปกติ ไม่มีวี่แววฝนจะตก ท่านจะครองจีวรซ้อนสังฆาฏิ แล้วออกบิณฑบาตโดยพร้อมเพรียงกัน เดินมุ่งหน้าไปทางหมู่บ้านตาด ระยะทางไปกลับประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ขากลับแวะรับบาตรจากญาติโยม ที่มาจากในเมืองและต่างจังหวัดบริเวณหน้าวัดอีกครั้งหนึ่ง

เส้นทางเดินบิณฑบาตแต่อดีตมี ๒ สาย พระสายแรก ประกอบด้วยพระหนุ่มมีกำลังขาแข็งแรง ต้องเดินออกกำลังไปไกลพอสมควรประมาณ ๒.๕ กม. ส่วนพระสายที่สอง จะออกเดินห่างจากสายที่ ๑ ประมาณ ๕-๑๐ นาที (ในช่วงที่องค์หลวงตาอายุกว่า ๗๐ ปี ท่านก็ยังคงเดินบิณฑบาตเข้าหมู่บ้าน โดยจะขึ้นไปดัดตนบนศาลาก่อนออกบิณฑบาตประมาณ ๑๕ นาที จากนั้นจะเดินตามหลังพระที่ออกบิณฑบาตไปก่อนทั้งสองสาย โดยทั้งสองสายจะไปหยุดรอที่ กม. ๑ เพื่อจัดขบวนแล้วให้องค์หลวงตานำเดินไปหมู่บ้านตาดเป็นอุตราวัฏ)

ผู้ที่มาใส่บาตรก็เรียงรายอยู่หน้าบ้านของตน ทุกคนไม่ว่าผู้ใหญ่ เด็ก พากันพนมมือนบไหว้เมื่อแถวพระผ่านมา ปัจจุบันมีสายบิณฑบาตเพิ่มอีกหนึ่งสาย ระยะทางใกล้กว่าสายที่ ๒ ไม่มากนัก

เมื่อองค์หลวงตาชราภาพมากขึ้น ท่านก็บิณฑบาตย่นเข้า ๆ ให้พอเหมาะกับกำลังธาตุขันธ์ที่อ่อนลง ระยะต่อมาก็เมตตาบิณฑบาตบริเวณหน้าวัดเท่านั้น องค์ท่านฝึกธาตุขันธ์โปรดญาติโยมเช่นนี้อยู่หลายปี.. ทั้ง ๆ ที่ต้องรับและเทบาตรสลับไปสลับมาจำนวนมากเป็นร้อย ๆ บาตรทีเดียว และในที่สุด วันหนึ่งองค์ท่านก็ล้มลงขณะบิณฑบาตนั่นเอง

ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ องค์หลวงตาออกบิณฑบาตภายในสวนแสงธรรมตามปกติ ต่อมาเนื่องจากผู้คนหลั่งไหลมาทำบุญใส่บาตรเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านต้องถ่ายบาตรเป็นร้อยถึงสองร้อยกว่าครั้งต่อวัน การก้มและเงยศีรษะบ่อย ๆ ทำให้เวียนศีรษะ (ระยะนั้นองค์ท่านอายุ ๘๔ ปีแล้ว) ในเมื่อธาตุขันธ์ไม่อำนวย องค์หลวงตาจึงงดการบิณฑบาต และให้พระอุปัฏฐากนำบาตรขององค์หลวงตาออกรับบาตรแทน โดยในช่วงเวลาเดียวกันนี้องค์ท่านจะไปเดินจงกรม ท่านกล่าวว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

เมื่อเสร็จจากบิณฑบาต พระเณรและฆราวาสต่างช่วยกันจัดอาหารหวานคาวเป็นหมวดหมู่ใส่ถาดไว้ เพื่อให้ญาติโยมทั้งที่มาพักปฏิบัติธรรม และที่มาทำบุญตอนเช้าได้รับประทานหลังพระฉันเสร็จแล้ว

เมื่อพระเณรจัดอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว องค์หลวงตาจะอนุโมทนาให้พร จากนั้นพระเณรท่านจะพิจารณาอาหารในบาตรก่อนด้วย ปฏิสังขาโย นิโสฯ เสร็จแล้วฉันในบาตรด้วยอาการสำรวม เงียบกริบ เหมือนไม่มีใครรับประทานอาหารอยู่ในบริเวณนั้น

เสร็จการฉันเช้าแล้ว ผู้มาทำบุญเช้าพร้อมใจกันฟังเทศน์จากองค์หลวงตา หลังฟังเทศน์เสร็จญาติโยมพากันกลับ

สำหรับพระเณรต่างองค์ต่างกลับร้านที่พักปฏิบัติธรรม มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาตลอดวัน อาจมีการพักผ่อนบ้างแล้วความอุตสาหะพยายามของแต่ละองค์

ช่วงเวลาบ่าย เป็นเวลาที่พระมารวมกันฉันน้ำร้อนหรือน้ำปานะ.. ที่โรงไฟหรือโรงต้มน้ำร้อนแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ สัก ๑๕-๓๐ นาที อันเป็นการพักเหนื่อยจากการภาวนา เสร็จจากนี้ก็แยกย้ายเข้าที่ภาวนาต่อ จนถึงในช่วงประมาณบ่าย ๓ โมง พระเณรพร้อมเพรียงกันออกมาทำข้อวัตร ปัดกวาดร้าน และบริเวณทางเดินตลอดถึงรอบศาลา จากนั้นขัดถูทำความสะอาดพื้นศาลา เติมน้ำล้างเท้าบริเวณรอบศาลา และในห้องน้ำ ห้องส้วมให้เต็ม

ช่วงเวลาค่ำ เป็นช่วงเวลาที่พระเณรเข้าที่เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ ตามอัธยาศัยเฉพาะตน ส่วนในระยะที่องค์หลวงตามีธาตุขันธ์แข็งแรงอยู่นั้น ท่านจะเรียกประชุมเทศนาอบรมพระสัปดาห์ละครั้งโดยประมาณ ต่อมาระยะหลังเมื่อชราภาพมากขึ้นก็เว้นการประชุมพระห่างออกไปเรื่อย จนกระทั่งงดโดยสิ้นเชิงในปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เฉพาะในวันเข้าพรรษาและวันกฐินเท่านั้น ที่ท่านยังคงเมตตาแสดงธรรมอบรมพระในช่วงเวลา ๑๕ ปีสุดท้าย..ก่อนจะละขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน

ลัก...ยิ้ม 06-07-2020 22:01

ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์ฯ

(ส่วนหนึ่งของบทบันทึกเพื่อเป็นคติแก่อนุชนรุ่นหลัง)

ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน” แห่งวัดป่าบ้านตาด หรือที่พวกเราเรียกองค์ท่านว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์” กิตติศัพท์กิตติคุณของท่านได้แผ่ขจรขจายไปแล้วอย่างกว้างขวาง และยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนในยุคปัจจุบัน คำกล่าวขานเกี่ยวกับองค์ท่านนั้นมีมากมาย ดังเช่น ท่านเป็นพระอรหันต์สำเร็จกิจในพระพุทธศาสนาแล้วบ้าง ท่านเคร่งครัดในธรรมในวินัยบ้าง ท่านดุบ้าง เหล่านี้เป็นต้น ก็จริงอย่างนั้น แม้กิตติศัพท์ของท่านจะฟังดูแล้วน่าเกรงขามจนมิกล้าเข้าใกล้ แต่กลับยิ่งทำให้ผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้บูชาคุณของท่านอย่างมากมาย แม้พระเณรก็เข้าไปศึกษาอยู่กับท่านภายในวัดป่าบ้านตาดอย่างเนืองแน่น จนแต่ละพรรษาไม่มีกุฏิเพียงพอให้พระเณรอยู่จำพรรษาได้ครบดังใจหวัง

เพราะเหตุแห่งความที่ท่านเป็น “จอมปราชญ์” นี้แล องค์ท่านจึงมีความลึกซึ้ง สุขุมคัมภีรภาพ ในอันที่จะปกป้องพระเณรให้อยู่รอดปลอดภัย เพื่อความสงบร่มเย็นในการบำเพ็ญเพียรภาวนา บรรดาคลื่นโลกธรรมที่หลั่งไหลโถมทะลักเข้ามายังวัดป่าบ้านตาด ตลอดจนมลพิษทางใจ..อันจะเป็นเหตุกระทบกระเทือนจิตใจของพระเณรให้ขัดข้องเรื่องภาวนา จะต้องมาปะทะกับองค์ท่านก่อน และหลายสิ่งหลายอย่างถูกพ่อแม่ครูอาจารย์ใช้พลังธรรมภายในอันแข็งกร้าวตีโต้ จนแตกกระจัดกระจายถอยร่นไปอย่างไม่เป็นขบวน กิจนิมนต์ไปทำบุญในที่ต่าง ๆ ไม่รับ (เว้นเฉพาะงานศพที่พระไปปลงธรรมสังเวชได้) กิจอื่นถ้าจำเป็นก็ไปตามลำพังท่านองค์เดียว (กล่าวถึงสมัยที่ท่านกำลังเคี่ยวเข็ญพระเณรอย่างเต็มที่) มีผู้จะนำไฟฟ้าเข้ามาในวัดก็ไม่ให้เข้า โทรศัพท์ก็ไม่เอา กุฏิหรู ๆ ก็ไม่ให้สร้าง โบสถ์หลังงาม ๆ ก็ไม่ให้ทำ ข้าวของเครื่องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่จำเป็นถูกกีดกันออกไปหมด เปิดโล่งไว้ทางเดียวคือ ให้พระเณรได้ทำความเพียรภาวนากันอย่างเต็มที่ ไม่ให้มีอะไรมากวนจิตกวนใจ จนกลายเป็นพิษเป็นภัยขึ้นมา

ฝ่ายพระเณรผู้เป็นศิษย์ เมื่อได้มาฝึกวิชากับครูบาอาจารย์ชั้นนี้ ซึ่งเปรียบเป็นครูมวยต่อสู้กับกิเลสชั้นเยี่ยมสุดยอดแล้ว ที่ไหนจะมายอมกิน ยอมนอนอยู่บนเขียงให้กิเลสมันสับยำแต่เพียงฝ่ายเดียว ครูมวยบอกเตะเป็นเตะ บอกต่อยเป็นต่อย แม้ไม่บอกพระเณรในวัดก็ยังอยากจะลุกออกไปต่อสู้กับมันอยู่นั่นเอง เพราะกิริยาอาการของครูมวยแสดงออกมาให้เห็น แม้ไม่พูดก็มีแต่ความเด็ดเดี่ยวจริงจังทั้งสิ้น พระเณรวัดป่าบ้านตาดจึงพลอยได้ซึมซับความจริงจังอย่างนั้นติดตัวมาบ้าง ดังปรากฏในช่วงที่มาศึกษาอยู่กับท่าน ความเพียรของพระเณรแทบทุกรูปดูช่างอาจหาญ บางองค์อดอาหารคราวหนึ่ง ๑๐ วันบ้าง ๒๐ วันบ้าง ๓๐ วันบ้าง จนร่างกายผอมโซ บางองค์อดนอนตลอดทั้งคืน หรือหลาย ๆ คืน บางองค์นั่งสมาธิตลอดรุ่ง บางองค์เดินจงกรมตลอดรุ่ง ต่างองค์ต่างก็ทำความเพียรกันอยู่อย่างเงียบ ๆ ที่กุฏิของตน ไม่ไปสุงสิงกับใคร แม้ทำกิจวัตรปัดกวาดก็มีแต่เสียงปัดกวาดเท่านั้น เสียงพูดคุยกันไม่มีเลย จนโยมที่มาวัดพากันสงสัยและไม่เข้าใจว่า ทำไมพระวัดนี้จึงไม่ยอมพูดคุยกับญาติโยม ขยับจะถามอะไรสักหน่อยท่านก็เดินเลี่ยงหนีไปเสีย แม้กับพระด้วยกันก็ไม่เห็นท่านคุยกัน แท้ที่จริงแล้วท่านพยายามใช้วิชามวยต่อสู้กับกิเลส ด้วยการรักษาสติเจริญภาวนาอยู่ภายในเงียบ ๆ หากมัวแต่พูดคุยกัน..คงโดนคู่ต่อสู้เล่นงานจนหมดรูปเป็นแน่

สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์ย้ำนักย้ำหนาก็คือ การที่ไม่ให้พระเณรคลุกคลีกัน ไม่ให้ไปมาหาสู่กันระหว่างกุฏิโดยไม่จำเป็น ให้เคร่งครัดตามหลักแห่งสัลเลขธรรม ให้ต่างองค์ต่างอยู่ด้วยความสงบ ปรารภความเพียรภาวนาอยู่ในที่ของตน แม้ในการพบปะพูดคุยกับญาติโยม ก็อนุญาตให้แต่เฉพาะพระเวรประจำศาลาเพียงหนึ่ง หรือสององค์ที่ได้รับการฝึกแล้วเท่านั้น ห้ามไม่ให้พระองค์หนึ่งองค์ใดเที่ยวเพ่นพ่านอยู่บริเวณศาลา โรงน้ำร้อน หรือตามที่ต่าง ๆ โดยไม่มีความจำเป็น หากพ่อแม่ครูอาจารย์เดินไปพบเห็น ดูเกะ ๆ กะ ๆ ขวางหูขวางตา ขวางอรรถธรรมเข้าอย่างน้อยสองหรือสามครั้ง พระเณรผู้นั้นเป็นต้องได้ถูกคาดโทษทัณฑ์เป็นแน่แท้

ลัก...ยิ้ม 06-07-2020 22:07

มีให้พระเณรเพ่นพ่านแถวศาลา

คราวหนึ่งในฤดูหนาว องค์ท่านคาดคั้นเอากับพระเวรศาลารูปหนึ่ง เมื่อเห็นพระองค์หนึ่งออกมาเที่ยวเพ่นพ่านอยู่แถวโรงน้ำร้อน นอกจากนี้ยังมีลักษณะเหมือนกับจะออกมาผิงไฟ เพื่อบรรเทาอาการหนาวอีกด้วย เพราะอยู่ใกล้บริเวณเตาเผาไฟ องค์ท่านคาดคั้นเอาอย่างหนักว่า
“เมื่อสักครู่นี้ เราเห็นพระมาเที่ยวเพ่นพ่านแถวโรงน้ำร้อน ดู ๆ จะมาผิงไฟนะ เราสั่งไว้ รู้กันแล้วไม่ใช่เหรอ ห้ามพระเณรออกมาเที่ยวเพ่นพ่านแถวศาลาโดยไม่จำเป็น และห้ามออกมาผิงไฟ เป็นพระหนุ่มเณรน้อยอยู่แท้ ๆ เพียงเท่านี้ก็ไม่มีความอดทน เหยาะ ๆ แหยะ ๆ ไม่จริงจัง หาแต่ความสะดวกสบาย.. ปรนเปรอแต่กาย แต่ภายในใจกลับไม่มีสติ ไม่มีทีท่าแห่งการต่อสู้กับกิเลสในใจตนเลย พระที่เราเห็นนี้เป็นใคร บอกมานะ บอกให้หนีนะ ให้ออกจากวัดเราเดี๋ยวนี้”


ที่องค์ท่านเอาจริงเอาจังมากถึงเพียงนี้ ก็เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้บอกเตือนไว้หลายครั้งหลายคราแล้ว เมื่อออกมาพบเห็นพระทำผิดคำสั่งด้วยองค์ท่านเองเช่นนี้ ท่านจึงกล่าวอย่างเผ็ดร้อนขึ้นในทันที หากผู้ใดพบเห็นกิริยาของท่านในเวลานั้น จะเห็นประหนึ่งว่าพระเวรศาลาผู้นั้นกำลังถูกดุว่าอย่างรุนแรง แต่เมื่อได้กราบเรียนเหตุผลความจริงต่อองค์ท่านว่า ที่เห็นพระรูปนั้นออกมาโรงน้ำร้อนท่านมิได้ออกมาผิงไฟ ท่านออกมาทำข้อวัตรช่วยงานพระเวรศาลาเป็นครั้งคราว พอกราบเรียนเช่นนั้น องค์ท่านก็คลายการคาดโทษพระรูปนั้นทันที

ลัก...ยิ้ม 06-07-2020 22:18

การพูดคุยกับโยมผู้หญิง

ในบางคราว มีพระองค์หนึ่งพูดคุยกับโยมผู้หญิงที่ใต้ถุนศาลา แม้ไม่ใช่อยู่ในที่ลับตา แต่อาจอยู่ในข่ายเป็นที่ลับหูได้ จะด้วยเหตุบังเอิญหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ทุกวันก็ไม่ปรากฏเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์ในเวลานั้น แต่ในวันนี้องค์ท่านมาพบเห็นเข้าพอดี ธรรมดาผู้หญิงย่อมถือว่าเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์อยู่แล้ว ในธรรมท่านก็สอนให้ระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ถึงขนาดว่าไม่ให้เห็นเสียเลยนั่นแหละเป็นดี ถ้าจำเป็นต้องเห็นก็อย่าพูดด้วย ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยก็ให้มีสติ.. อย่าให้ผิดธรรมผิดวินัย การที่พระคุยกับโยมผู้หญิง ธรรมวินัยท่านเปรียบเฉกเช่นการไปเล่นกับอสรพิษร้าย หากเป็นการพูดคุยที่ล่อแหลมต่อการผิดพระวินัยด้วยแล้ว คืออยู่ในบริเวณนั้นเพียงสองต่อสอง แม้จะมีพระองค์อื่นอยู่ห่างออกไปไม่ลับตา แต่หากเมื่อพูดคุยไม่มีใครได้ยินก็อาจเข้าข่ายเป็นที่ลับหูได้ เมื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ออกมาพบเห็นการกระทำลักษณะใกล้เคียงนี้ ก็เหมือนกับเป็นการอาราธนาให้เทศน์ดี ๆ นี่เอง ดังนี้
“ท่านองค์นี้ ชอบประจบประแจงญาติโยม มันมีสมบัติอะไรของท่านนักหนา อยู่ที่ใต้ถุนศาลานั่น”


ถ้าเรื่องไม่เลวร้ายนัก ท่านก็จะคาดโทษไว้ก่อน ถ้าเป็นเรื่องรุนแรงก็ถึงขั้นไล่ออกจากวัดไปเลย อุบายทรมานพระเณรของพ่อแม่ครูอาจารย์นั้น ต้องยอมรับว่าองค์ท่านเป็นจอมปราชญ์โดยแท้ การคาดโทษของท่านในครั้งนั้นทำให้พระองค์นั้นต้องรีบขอโอกาสขึ้นไปที่กุฏิองค์ท่าน เพื่อไปกราบเรียนแก้ตัวโดยให้เหตุผลว่า
“ที่ไปคุยก็เพราะว่าโยมผู้หญิงเป็นคนบ้านเดียวกัน” ท่านให้เหตุผลเช่นนี้เพราะนึกว่ามีน้ำหนักเพียงพอ.. อีกทั้งด้วยความกลัวว่าจะถูกลงโทษหนัก


ผลที่ได้รับผิดคาดหมายเลยยิ่งถูกองค์ท่านขนาบเข้าให้อีกว่า
ท่านองค์นี้ ผิดแล้วให้รู้จักผิด อย่ามาแก้ตัว แม้ในพรรษาก็กระเด็นออกจากวัดได้นะ คนในบ้านตาดก็เป็นคนบ้านเดียวกับผมทั้งนั้น ท่านเคยเห็นผมไปคุยกับใครแบบนั้นหรือ


เมื่อเจอเข้าไปแบบนี้ พระองค์นั้นก็ได้แต่นั่งก้มหน้านิ่งยอมรับผิดแต่โดยดี ที่ถูกต้องนั้นหากมีความจำเป็นต้องพูดคุยกับโยมผู้หญิงจริง ๆ ต้องมีพระเณรหรือโยมผู้ชายคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อนตลอดระยะเวลาที่สนทนา สถานที่ที่เหมาะสมก็คือบนศาลาวัดป่าบ้านตาด พูดคุยธุระการงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้นแล้วรีบเลิกลา และแม้วิธีการถูกต้องก็ไม่ควรทำเช่นนี้บ่อยครั้ง เพราะจะผิดธรรม ผิดข้อวัตรปฏิบัติของวัดอีก

อันที่จริงหากครูบาอาจารย์ตำหนิ ก็ต้องยอมรับอย่างเดียวเท่านั้น การแก้ตัวนั้นกลับเป็นการทำร้ายตัวเองหนักเข้าไปอีก เพราะนอกจากจะดูไม่เชื่อฟังคำสอนแล้ว ยังเท่ากับไปถกเถียง หรือท้าทายท่านอีกต่างหาก ซึ่งในทางกรรมฐานถือเป็นการขาดความเคารพต่อครูบาอาจารย์ของเราอย่างมาก อย่างไรก็ดี ความยอดเยี่ยมของพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่หยุดเพียงแค่นั้น พอรุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง พระองค์นี้จะเข้าไปทำข้อวัตรอยู่ใกล้ชิดองค์ท่าน เช่น การรับประเคนอาหาร หรือการจัดอาหารถวาย แต่ปรากฏว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ไล่หนี ไม่ยอมให้เข้าใกล้อีกเลย กว่าจะเร่งภาวนาทำความดี.. จนท่านผ่อนคลายโทษทัณฑ์ลงได้สำหรับพระองค์นี้ ต้องใช้เวลานานถึงสองหรือสามปีเลยทีเดียว องค์ท่านจึงยอมให้เข้ามาปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดได้อีก นี่แหละ..พ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้เป็นจอมปราชญ์แห่งกรรมฐาน

ลัก...ยิ้ม 07-07-2020 22:24

การแจกจ่ายอาหารของพระเณร

แล้ววันหนึ่ง พระอีกองค์หนึ่งซึ่งเคยไปสัพยอกพระองค์ที่ถูกคาดโทษไว้ ก็เจอธรรมเผ็ดร้อนเข้ากับตนบ้าง เรียกว่ากรรมสนองทันตาเห็น เนื่องจากปกติในเวลาแจกอาหารตอนก่อนฉันจังหัน ในสมัยนั้นยังใช้ศาลาชั้นบนเป็นที่ฉันจังหันอยู่ พระทุกองค์ก็ช่วยกันแจกอาหาร บางองค์ก็จัดใส่ถ้วยใส่ถาดไว้ แล้วจัดแยกเป็นชุด ๆ ส่งให้ญาติโยมที่มาพักปฏิบัติธรรมในโรงครัวบ้าง ตามกุฏิต่าง ๆ บ้างอย่างทั่วถึง พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านจะคอยสำรวจตรวจตราดูแลอาหารการกิน ของพวกญาติโยมที่มาพำนักปฏิบัติธรรมภายในวัดด้วย ว่ามีมากน้อยเพียงพอหรือไม่อย่างไร ผู้ที่จะจัดอาหารเข้าไปในโรงครัวนั้น จะทำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้เด็ดขาด เรียกว่า ต้องรู้จักจัดประเภทของอาหารให้พอดีและเหมาะสม เขาจะต้องรับประทานได้ด้วย เหตุการณ์คราวนี้กรรมก็มาตามสนองพระองค์ที่ไปสัพยอกเขาไว้บ้าง คือขณะที่กำลังถือหม้อแกงแจกอาหารเข้าในบาตรพระอยู่นั้น เสียงพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ดังขึ้นสั่นศาลาเลยทีเดียว ท่ามกลางผู้คนมากมาย
“ใครไปหิ้วหูพระองค์นี้หูเดียวให้ดูหน่อยซิ หิ้วหูพระองค์นี้หูเดียวดูซิ จะเป็นยังไง


พระองค์ที่ถูกว่านั้นยังยืนงง .. ทำอะไรไม่ถูก ไม่เข้าใจความหมายว่า อยู่ ๆ ทำไมจะมาหิ้วหูท่าน หูเดียวแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ที่แท้พระองค์นั้นกำลังใช้มือข้างซ้ายถือหูหม้อหูเดียว โดยใช้มือข้างขวาถือทัพพีตักแกงใส่บาตรพระ และขณะที่ท่านกำลังยืนงงอยู่นั้น พระอีกองค์ต้องเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์โดยเข้าไปถือหม้อแกงนั้นแทนท่าน แต่ใช้สองมือจับหูหม้อแกงทั้งสองหู แล้วเอาหม้อแกงวางกับพื้นจึงค่อยเอาทัพพีตักแกงใส่บาตร พอตักแล้วก็ยกหม้อแกงเดินแจกอาหารต่อไป แต่ใช้สองมือจับหูหม้อสองหู เวลาจะตักใส่บาตรก็วางหม้อแกงลงกับพื้นเสียก่อน เรื่องก็เลยยุติไปแต่พระองค์ที่โดนเทศน์ รู้สึกว่าวันนั้นทำเอาฉันข้าวแทบไม่ลงเลยทีเดียว

เป็นเรื่องแปลกแต่จริง จะว่าเป็นแรงบันดาลใจจากอะไรก็ตาม พระเณรในวัดป่าบ้านตาด.. ถ้าได้ทำอะไรต่อหน้าพ่อแม่ครูอาจารย์จิตใจรู้สึกคึกคัก บางทีก็ดูเหมือนจะกล้า แต่บางทีก็ดูเหมือนจะกลัว ยิ่งถ้าตัวเองกำลังทำอะไรที่ดี ๆ อยู่.. ยิ่งนึกอยากให้ท่านมาเห็น ท่านกลับไม่เคยเหลือบตาแลดูสักที แต่ตอนที่ทำอะไรผิด ๆ พลาด ๆ ไม่ค่อยจะดี ท่านกลับเป็นส่งสายตาแวบมาทุกครั้งไป ยิ่งถ้าแอบทำอยู่ตามกุฏิ เช่น จับกลุ่มคุยกันไม่นานก็มักจะเจอองค์ท่านมาเยี่ยมแบบไม่รู้ตัว พอพระเณรเหลือบไปเห็นองค์ท่านเข้าเท่านั้น ทุกองค์ทุกท่านจะรับรู้ในโทษความผิดของความเหลาะแหละเหลวไหลของตนโดยทันที ถึงเวลานั้นจึงไม่รู้ว่าใครเป็นใครด้วยความละอายต่อพ่อแม่ครูอาจารย์ ต่างพากันวิ่งป่าราบเลยทีเดียว ทุกองค์ทุกท่านยอมรับในความผิด ไม่คิดถกเถียง หรือโกหกพ่อแม่ครูอาจารย์แต่อย่างใด และต่างก็จดจ่อคอยฟังเทศนากัณฑ์ใหญ่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยความระทึกใจ

ลัก...ยิ้ม 07-07-2020 22:41

อุบายขู่พระเณรให้รู้ทันจิตตน

อีกคราวหนึ่ง ครูบาอีกองค์หนึ่งท่านอธิษฐานจิตว่า หากท่านทำอะไรผิด.. ขอให้พ่อแม่ครูอาจารย์อย่าด่าท่านต่อหน้าผู้คนเลย ท่านว่าท่านอายคน ท่านรับไม่ได้ ขอให้บอกกับท่านดี ๆ ก็เป็นเรื่องที่แปลกนัก ท่านทำจานใส่อาหารตกแตกในศาลาเสียงดังเพล้งเลยทีเดียว เป็นความผิดพลาดครั้งร้ายแรงนักสำหรับพระกรรมฐาน.. ผู้จักต้องมีสติระมัดระวัง สำรวมอยู่เป็นนิตย์ แต่ความผิดในครั้งนั้นพ่อแม่ครูอาจารย์เพียงแค่หันมามอง

พอท่านเห็นแล้วก็เฉย ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านว่าท่านไม่เคยถูกพ่อแม่ครูอาจารย์ดุด่าต่อหน้าญาติโยมเลย แต่ดุด่าในที่เฉพาะก็มีบ้าง

มีเณรองค์หนึ่งไม่ทราบว่าภาวนาดีอย่างไร เข้าใจว่าตัวเองสำเร็จธรรมแล้ว จึงพยายามจะขึ้นไปกราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ ครูบาที่เป็นเวรศาลา เห็นอาการของเณรก็รู้แล้วว่าแท้จริงเป็นเช่นไร คิดพยายามจะช่วยเหลือจึงกล่าวว่า
นี่เณร ลองเล่าให้ครูบาฟังหน่อยซิ มันเป็นยังไง ไม่ต้องไปกราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ได้หรอก ครูบาพอแนะนำได้อยู่น้า


เณรก็พูดขึ้นว่า “ถึงเล่าให้ครูบาฟังก็ไม่รู้เรื่องหรอก ของอย่างนี้มันเป็นปัจจัตตัง”

สุดท้ายครูบาเห็นเณรตั้งท่าจะขึ้นไปกราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ให้ได้ ก็เลยปล่อยตามความประสงค์ เณรจึงก้าวขึ้นกุฏิของพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างอาจหาญ มิหนำซ้ำยังบังอาจเคาะประตูกุฏิท่านอย่างไม่สะทกสะท้านอีกด้วย ทันใดนั้นเณรก็เห็นพ่อแม่ครูอาจารย์เปิดประตูออกมา เณรจึงรีบกราบเรียนว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์ครับ ผมสำเร็จแล้วครับ”

ว่าดังนั้นแล้วยังไม่ทันที่เณรจะกราบเรียนว่าอย่างไรต่อ เสียงพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ดังขึ้น ไม่ผิดอะไรกับอสนีบาตฟากลงที่ข้างหู
เณรนี่ มันจะเป็นบ้าแล้วหรือ ? หนีเดี๋ยวนี้นะ” เท่านั้นเอง เณรก็เหมือนมีปาฏิหาริย์.. กระโจนพรวดพราดลงจากกุฏิไวกว่าสายฟ้าแลบเสียอีก วิ่งกระหืดกระหอบออกมา ก็พอดีมาพบครูบาซึ่งคอยสังเกตการณ์อยู่ตลอด


จากนั้นครูบาก็พูดยิ้ม ๆ กับเณรว่า
“เป็นไงบ้างล่ะเณร ของอย่างนี้มันเป็นปัจจัตตัง ไม่เจอกับตัวเองก็ไม่รู้หรอกเนอะ ครูบาบอกแล้วก็ไม่เชื่อ”


ผลปรากฏว่าอาการที่สำคัญตนเช่นนั้นก็ระงับลงไป และองค์ท่านก็มิได้ไล่หนี หรือเอาเรื่องนี้มากล่าวดุด่าอะไรอีกเลย

อีกคราวหนึ่ง ครั้งนี้เป็นพระคือ ครูบาอีกองค์หนึ่งท่านภาวนาแล้วเกิดสำคัญผิดว่า ตัวเองมีหูทิพย์ขึ้นมา เพราะได้ยินเสียงลึกลับอะไรต่าง ๆ มากมาย ครั้งหนึ่งท่านได้ยินเสียงนกร้อง แล้วท่านก็เข้าใจไปว่า นกมันบอกว่าฝนกำลังจะตกแล้ว ท่านก็รีบไปเก็บถ้วยเก็บจานชามที่ตากแดดเอาไว้ พอเก็บเสร็จไม่นาน ฝนก็ตกลงมาจริง ๆ ยิ่งทำให้ท่านหลงเชื่อเสียงที่ได้ยินหนักเข้าไปอีก ครั้นปรึกษาครูบาองค์ไหนก็ไม่เป็นที่ลงใจ สุดท้ายแม้จะเกรงกลัวเพียงใดก็ต้องยอมเสี่ยงเข้าหาพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยตนเอง เพื่อให้ได้ความจริงได้เหตุผล.. ผิดถูกเอามาสอนตน พอก้าวเท้าขึ้นบันไดกุฏิ ท่านเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์อยู่ข้างบนจ้องมองดูท่านด้วยแววตาดุ ๆ ท่านก็ชักไม่ค่อยจะกล้าแล้ว จากนั้นจึงเอามือชี้มาที่หูของตัวเองแล้วพูดขึ้นว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์ครับ หูผม”

ครูบาองค์นี้กล่าวยังไม่ทันจะจบ กำลังว่าจะพูดอะไรต่อไปอีก ปรากฏว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ขนาบเข้าให้ในทันทีว่า “ท่านนี่.. ระวังจะเป็นบ้านะ

พอครูบาได้ยินดังนั้น ก็หันหลังลงจากกุฏิเปิดแน่บไปเลย ตอนหลังพ่อแม่ครูอาจารย์ก็เมตตาเทศน์สอนให้บริกรรมพุทโธถี่ ๆ และอย่าไปยุ่งกับเสียงที่ได้ยินอีก เรื่องหูทิพย์ที่วาดภาพไว้ก็เลยจืดจางหายไป

ลัก...ยิ้ม 08-07-2020 12:41

เดินบิณฑบาตทำข้อวัตรปัดกวาดให้สมเป็นพระหนุ่ม

อีกเรื่องหนึ่ง ครูบาองค์หนึ่งท่านเดินจงกรมกางร่มสู้ฝน จนทางจงกรมแฉะเป็นเลนเป็นโคลน พอฝนหยุดท่านเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์เดินผ่านมา ครูบารีบล้างเท้าหลบขึ้นกุฏิแอบดูอยู่ เพราะถ้าพ่อแม่ครูอาจารย์เห็นพระเดินจงกรม ท่านจะเดินเลี่ยงเข้าป่า นัยหนึ่งไม่ต้องการให้พระรู้ว่าท่านมาดู นัยสองไม่เป็นการรบกวนพระทำความเพียร พ่อแม่ครูอาจารย์มองเห็นทางจงกรมก็รู้ทันทีว่า มีพระเดินจงกรมในระหว่างฝนตก เย็นวันนั้นพ่อแม่ครูอาจารย์สั่งตีฆ้องเรียกประชุมเพื่อเทศน์อบรม และท่านก็เทศน์ให้กำลังใจว่า “ฝนตก ๆ ก็ยังมีพระเดินจงกรมอยู่”

ทำให้ครูบาท่านนี้ปลาบปลื้มใจมาก วันหนึ่งครูบาเกิดท้องเสียอย่างรุนแรง ตอนเช้าเดินไปบิณฑบาตเกือบไม่ไหว แต่ก็แข็งใจไปและวันนั้นก็ช่างแปลกประหลาดเสียเหลือเกิน อยู่ ๆ พ่อแม่ครูอาจารย์ก็ใช้ให้พระองค์หนึ่งเอาผลไม้ไปใส่บาตรครูบาพร้อมกับพูดว่า “ผลไม้นี้ช่วยแก้โรคถ่ายท้องได้นะ

ครูบาเพียงได้ยินเท่านี้ ยังไม่ทันได้ฉันผลไม้นั้น.. โรคมันก็ทำท่าจะหายไปเสียแล้ว นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่หยิบยกมา พระเณรที่อยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์ต่างองค์ต่างประสบพบเห็นความเมตตาขององค์ท่านในหลายลักษณะไม่ซ้ำแบบกัน

พอรุ่งเช้าครูบาก็ออกไปบิณฑบาตตามปกติเช่นที่เคยปฏิบัติมา แต่ตอนขากลับจากบิณฑบาตนั้น พระเณรต้องเดินผ่านพ่อแม่ครูอาจารย์ในช่วงใกล้ ๆ จะถึงประตูวัด อันนี้ก็เป็นอุบายอันชาญฉลาด.. ที่พ่อแม่ครูอาจารย์คอยสอดส่องพระเณรในยามบิณฑบาตไปในตัว ถ้าหากเห็นพระหนุ่มองค์ไหนเดินบิณฑบาตมาช้ากว่าหมู่พวกเป็นประจำ บางทีก็อาจจะได้ของแถมเป็นเทศน์เด็ด ๆ ตามมา ยกตัวอย่างเช่น

ครูบาท่านหนึ่งได้เดินแซงพ่อแม่ครูอาจารย์ตอนใกล้ ๆ จะถึงประตูวัด ในขณะที่กำลังจะแซงท่านไปนั้น ก็ได้ยินเสียงองค์ท่านพูดขึ้นเบา ๆ พอให้ได้ยินว่า
พระหนุ่ม ๆ หัวเท่ากำปั้น เดินบิณฑบาตยังกะคนแก่อายุ ๘๐ มันใช้ไม่ได้นะ


นอกจากนี้ องค์ท่านได้เคยเทศน์สอนเกี่ยวกับการครองผ้าออกบิณฑบาตว่า “ถ้าใครไม่ซ้อนผ้าสังฆาฏิออกไปบิณฑบาต ให้ไล่หนีออกจากวัด ถ้าไม่กล้าบอกให้มาบอกเรา เว้นไว้แต่วันที่ฝนจะตก”

ลัก...ยิ้ม 08-07-2020 13:11

การปฏิบัติครูอาจารย์ให้สังเกต รู้จักคิดอ่านให้รอบคอบ

พระเณรที่เคยอยู่กับองค์ท่านทุกรุ่นต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกัน.. ในความเป็นจอมปราชญ์ของพ่อแม่ครูอาจารย์ว่าสุดฉลาดแหลมคม ท่านรอบรู้ทั้งภายนอกและภายใน.. เต็มเปี่ยมด้วยกระแสแห่งเมตตาธรรม แม้ในการทำข้อวัตรหยาบทางภายนอก หากเกิดความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย พ่อแม่ครูอาจารย์ก็ไม่ยอมปล่อยปละละเลยให้เกิดเป็นความเสียหายแก่ศิษย์ อย่างเช่นเหตุการณ์ในคราวนี้

ครั้งหนึ่ง ขณะที่พ่อแม่ครูอาจารย์จะนั่งรถออกไปทำธุระข้างนอก องค์ท่านใช้ให้พระเวรศาลาไปเอากระโถนเล็กมาให้ พระก็ไปหยิบเอากระโถนผิด.. เป็นกระโถนใบใหญ่มา จะด้วยความรีบร้อนไม่ทันคิดให้รอบคอบว่าท่านสั่งอย่างไร หรืออาจคิดเองว่ากระโถนอะไรก็ใช้ได้เหมือนกัน หรือเพราะไม่รู้ขนาดของกระโถน จึงไม่ใส่ใจทำตามที่ท่านบอก ซึ่งโดยปกติกระโถนเล็กจะใช้เป็นกระโถนสำหรับบ้วนคำหมาก ส่วนกระโถนใหญ่จะใช้ทิ้งเศษอาหารในช่วงเวลาฉันตอนเช้า เรียกได้ว่าเป็นของใช้ในกิจที่แตกต่างกัน และพระเณรทุกองค์น่าจะรู้เป็นอย่างดีแล้ว แต่สำหรับพระองค์นี้ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงหยิบฉวยมาผิด มิหนำซ้ำ ตอนปิดประตูรถถวายท่าน ก็ยังปิด ๆ เปิด ๆ ดูโลเลโลกเลก ต้องปิด ๆ เปิด ๆ ถึงสองทีสามทีกว่าจะล็อคประตูได้ พ่อแม่ครูอาจารย์จึงต้องได้ทั้งดุทั้งปลอบ ดังนี้

“ท่านองค์นี้มันยังไงกัน บอกให้ไปเอากระโถนเล็ก ก็ไปเอากระโถนใหญ่มา ปิดประตูรถก็ปิดตั้งสองทีสามที ยังปิดไม่เข้า ทำไมจะเซ่อซ่าเอานักหนา การทำข้อวัตรปฏิบัติครูบาอาจารย์มันต้องได้ศึกษาคิดอ่านให้รอบคอบถึงหน้าที่ การงานที่เกี่ยวข้องในทุกด้านที่ตนเองต้องกระทำ เพื่อปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ ให้เหมาะสมและถูกกับอัธยาศัยของครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ทำแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่ใช้ความคิดความอ่าน อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ขาดความเอาใจใส่ในกิจการงานที่ควร ย่อมไม่สมควรแก่นักปฏิบัติผู้มุ่งหวังความหลุดพ้น

และอีกกรณีหนึ่ง ขณะที่องค์ท่านกำลังจะเดินขึ้นรถที่จอดรออยู่หน้ากุฏิ ระหว่างนั้นโยมได้นำน้ำปานะมาถวายอย่างรีบร้อนตรงประตูด้านคนขับ โดยยืนอยู่และได้ยื่นถวายพระ.. ที่นั่งอยู่บนรถด้านซ้ายของคนขับด้วยความเร่งรีบ องค์ท่านเห็นกิริยาเหล่านั้นในท่ามกลางผู้คนมากมาย พอองค์ท่านขึ้นนั่งบนรถ ก็เอ็ดขึ้นเลยว่า
“พระรับประเคนไม่มีธรรม ไม่มีวินัย เราดูไม่ได้นะ.. เอาลงไป รับประเคนใหม่


สาเหตุที่โดนดุ ก็เนื่องจากกิริยาที่โยมยื่นปานะถวายพระนั้น.. เป็นอาการขาดความเคารพ พระก็ยังไปรับเสียอีก จะกระทำด้วยความรีบร้อนหรืออย่างไรก็แล้วแต่.. โยมก็ควรน้อมเข้ามาถวาย ซึ่งก็อยู่ในองค์ประเคน ๕* ตามพระวินัยนั่นเอง หากว่าโยมประมาท ขาดความรอบคอบ .. พระก็ควรบอกกล่าว ซึ่งองค์ท่านได้พยายามพร่ำสอนพระโดยตลอด.. เกี่ยวกับการสงวนรักษาพระธรรมวินัย

อีกเหตุการณ์หนึ่ง มีหมอเส้นมาจับเส้นถวาย และได้ขอให้องค์ท่านนั่งขัดสมาธิเพื่อจะจับเส้นตะโพก องค์ท่านจึงพูดขึ้นว่า “นั่งสมาธิจับเส้น เราไม่ค่อยสนิทใจ ถ้านั่งขัดสมาธิก็นั่งภาวนาไปเลย

อีกคราวหนึ่ง องค์ท่านได้รับนิมนต์ไปรับผ้าป่าในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร ทางวัดได้จัดที่นอนจับเส้นไว้หน้าธรรมาสน์ของ หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป องค์ท่านเลยดุขึ้นว่า “พระไม่ดูธรรม ดูวินัย ไม่รู้เหรอ อาวุโสภันเต มาปูหน้าหลวงปู่จันทร์ศรีได้อย่างไร ธรรมวินัยอยู่ตรงไหน.. องค์ศาสดาอยู่ที่นั่น ย้ายออกไปที่อื่น”

=======================

องค์ประเคน ๕ ประกอบด้วย

๑. ของที่ประเคนต้องไม่ใหญ่โตและหนักเกินไป (เพราะต้องยกให้พ้นจากพื้น)

๒. ผู้ประเคนต้องอยู่ในหัตถบาส (ช่วงแขนห่างจากพระประมาณ ๑ ศอก)

๓. ผู้ประเคนน้อมสิ่งของที่จะประเคนนั้นด้วยมือก็ได้ หรือเกี่ยวเนื่องด้วยกายก็ได้ เช่น ใช้ทัพพีตักถวาย

๔. ผู้ประเคนน้อมสิ่งของที่จะประเคนนั้นเข้ามาด้วยอาการเคารพนอบน้อม

๕. สำหรับผู้ชาย พระรับประเคนด้วยมือ แต่ถ้าผู้หญิง พระจะใช้ผ้าทอดรับ ใช้บาตรหรือจานแทน

ลัก...ยิ้ม 10-07-2020 15:16

บริขารของพระป่า

เกี่ยวกับเรื่องบริขารที่จำเป็นต้องใช้นั้น ในปฏิปทาของพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็มีแบบอย่างที่ท่านพาปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงวันนี้ โดยมากท่านก็ยึดถือปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ค่อยจะมีอะไรแปลกประหลาด หรือพิสดารแหวกแนว ออกนอกลู่นอกทาง ปกติพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ค่อยจะส่งเสริมให้พระเณรในวัดป่าบ้านตาด มาหมกมุ่นเกี่ยวกับการจัดทำบริขารต่าง ๆ มากนัก เพราะองค์ท่านเองเคยทำกลดเพียงคันหนึ่ง แล้วเป็นเหตุให้จิตเสื่อมไปเป็นปี กว่าจะรื้อฟื้นจิตใจให้มีสมาธิกลับคืนมาได้ดังเดิม ก็ต้องผ่านความทุกข์ทรมานเพราะจิตเสื่อมมาอย่างสุดแสนสาหัส

เพราะเหตุนั้น องค์ท่านจึงต้องเข้มงวดกวดขัน และคอยป้องกัน ไม่ให้มีการงานใด ๆ มาเป็นภัยต่อจิตภาวนาของพระเณร อันจะเป็นเหตุทำให้จิตใจเหินห่างจาก “พุทโธ” และอีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานของสมาธิจิตมั่นคงดีแล้ว ก็ยังเป็นเหตุให้สมาธิเสื่อมได้ เพราะการทำบริขารแม้เพียงการทำกลดคันเดียว ยังไม่ทันแล้วเสร็จ.. สมาธิที่เคยเข้าได้ตลอดเวลา ก็เริ่มปรากฏเข้าได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จนถึงขั้นสมาธิอันตธานไม่หลงเหลือเลย ดังที่องค์ท่านได้เผชิญมาแล้ว และเห็นโทษของความที่จิตเสื่อมอย่างถึงใจ

แต่ถึงกระนั้น องค์ท่านก็ไม่ได้ห้ามมิให้พระเณรจัดทำบริขารเสียเลยทีเดียว เพราะความสำคัญเกี่ยวกับบริขารที่จำเป็นต้องใช้ก็ยังคงมีอยู่ และเป็นสิ่งที่พระเณรต้องพึ่งพาอาศัยไปตลอดชีวิตนักบวช ดังนั้น การศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ และฝึกหัดทำบริขารให้เป็นด้วยตนเอง ก็นับว่ามีความจำเป็น ปรารภว่า “พระเณรควรศึกษาและฝึกหัดทำบริขารให้เป็นบ้าง อย่างน้อยก็คนละอย่างสองอย่างก็ยังดี เพื่อช่วยกันรักษาแบบอย่างบริขารที่ถูกต้อง และปฏิปทาอันดีงามของครูบาอาจารย์ ให้กุลบุตรผู้มาสุดท้ายภายหลัง ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาในภายภาคหน้าต่อไป หากพระเณรพากันทอดธุระเสียแล้ว ต่อไปใครจะมาทำบริขารที่ถูกต้องให้พระเณรได้ใช้กัน

ก็จริงอย่างนั้นทีเดียว หากพระเณรทำบริขารกันเองไม่ได้แล้ว ก็คงจะต้องไปพึ่งบริขารจากร้านค้า ซึ่งก็ทำมาผิดบ้าง ถูกบ้าง ใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ เพราะคนทำก็ทำมาเพียงเพื่อขอให้ขายได้ บางเจ้าก็ทำดี บางเจ้าก็ทำไม่ดี ส่วนคนซื้อก็สักแต่ว่าซื้อ เพียงเพื่อให้มีของได้ถวายพระ เรียกว่ามีศรัทธาเต็มเปี่ยม แต่ขาดปัญญาใคร่ครวญ ส่วนผู้ใช้คือพระเณรก็ไม่ได้ซื้อหามาเอง เขาเอามาถวายก็จำต้องฉลองศรัทธากันไปตามมีตามได้.. ใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง ก็ทน ๆ กันไป เรื่องมันก็เข้าตำราว่า “คนซื้อก็ไม่ได้ใช้ คนใช้ก็ไม่ได้ซื้อ คนทำก็สนุกขายกันไปเรื่อย ๆ” นี่คือความจริงในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น การที่พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ถึงกับส่งเสริมพระเณรในเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องฝึกหัดทำบริขารให้เป็น แม้องค์ท่านเอง พวกลูกศิษย์ก็ทราบกันดีว่า องค์ท่านมีฝีมือในการตัดเย็บจีวรที่ทั้งรวดเร็วและสวยงามไม่ธรรมดาเลย ดังนั้น การที่องค์ท่านไม่ส่งเสริม แต่ก็ไม่ถึงกับห้าม และยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการจัดทำบริขารอีกด้วย จึงน่าจะเป็นอุบายที่มุ่งสอนให้พระเณรรู้จักรักษาตนเอง มิให้เรื่องบริขารอันเป็นของภายนอก มาทำลายสาระสำคัญทางด้านภายในคือจิตภาวนานั่นเอง

จะเห็นได้จากการที่วัดป่าบ้านตาดรับกฐินในแต่ละปี พ่อแม่ครูอาจารย์จะพาพระเณรกรานกฐิน และอนุโมทนากฐินทุกครั้งไป การกรานกฐินนั้น ต้องได้เอาผ้ากฐินมา กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้ได้สีและเสร็จทันในวันนั้น ให้เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง โดยมากก็ใช้เย็บเป็นสบง เพื่อให้ทันกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด และต้องได้ภิกษุผู้มีความสามารถ มีความชำนาญการ กะ ตัด เย็บ ย้อม จึงจะสำเร็จประโยชน์ ใช้ได้ทันกับเวลา

เมื่อกรานกฐินแล้ว ก็เป็นช่วงที่พระเณรจะออกเดินธุดงค์ เพื่อหาที่สงบสงัดบำเพ็ญเพียรภาวนาในป่าในเขาตามอัธยาศัย การกรานกฐินจะอยู่ในช่วงจีวรกาลสมัย สำหรับภิกษุที่ต้องการจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ก็ต้องช่วยกันตัดเย็บจีวร ในครั้งพุทธกาลนั้น ถือว่าการตัดเย็บจีวรแต่ละครั้ง เป็นงานใหญ่ที่พระเณรต้องช่วยกันทั้งวัดเลยทีเดียว ในครั้งพุทธกาล แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังได้เสด็จมาช่วยพระภิกษุสงฆ์ทำจีวรในครั้งนั้นด้วย

ส่วนที่วัดป่าบ้านตาดนั้น เมื่อรับกฐินแล้ว พ่อแม่ครูอาจารย์ก็อนุญาตให้พระเณรตัดเย็บจีวรกันได้ โดยใช้ศาลาด้านใน ชั้นบน แต่องค์ท่านก็เข้มงวดกวดขันให้ตัดเย็บเป็นเวล่ำเวลา พอถึงเวลาทำข้อวัตรปัดกวาดก็ต้องหยุดทันที และหากมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อไปนานหลายวัน ก็จะพูดเตือนสติให้พระเณรได้คิด และรู้จักความพอเหมาะพอดีในการจัดทำบริขาร เพื่อไม่ให้พระเณรเหินห่างจากจิตภาวนานานมากเกินไป

สำหรับพระป่านั้น เรื่องบริขารท่านมักจะจัดทำกันเอง เพราะจะมีพระที่เก่งในการทำบริขารแต่ละอย่างตามจริตนิสัย บางองค์ก็เก่งเย็บจีวร บางองค์ก็เก่งทำขาบาตร บางองค์ก็เก่งทำกลด เป็นต้น ซึ่งบริขารแต่ละอย่างนั้นกว่าที่จะทำได้สำเร็จ ก็ต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกหัดมาเป็นอย่างดี และต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมากมายเลยทีเดียว สำหรับผู้ที่มีฝีมือในการทำบริขาร ส่วนใหญ่ท่านมักทำถวายครูบาอาจารย์ หรือสงเคราะห์แก่หมู่คณะที่ขาดแคลนตามโอกาสอันควร และถ่ายทอดวิชาสืบต่อกันมาในวงกรรมฐานด้วยกัน

สำหรับบริขารที่พระป่านิยมทำกันเองนั้นก็มี การตัดเย็บสบง จีวร สังฆาฏิ ผ้าอังสะ ผ้าปูนั่ง ผ้าอาบน้ำ การทำถลกบาตร (สบบาตร) ขาบาตร กลด มุ้งกลด และเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น การทำไม้สีฟัน (ไม้เจีย) ทำไม้กวาดสำหรับกวาดลานวัด เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งบางอย่างจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัย และบางอย่างก็จำเป็นต้องศึกษากรรมวิธีเป็นการเฉพาะ และมีครูบาอาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอด จึงจะสามารถทำได้โดยถูกต้องและเหมาะกับการใช้งาน ดังนั้น หากพระเณรไม่ตั้งอกตั้งใจศึกษากันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็ไม่อาจจะรักษาปฏิปทาในส่วนนี้ไว้ได้

ลัก...ยิ้ม 11-07-2020 00:46

ในลำดับนี้ ก็จักแสดงบริขารต่าง ๆ ที่นิยมทำกันในสายพระป่า พอให้เป็นแนวทางปฏิบัติโดยสังเขป และเป็นแบบอย่างแก่กุลบุตรผู้มาสุดท้ายภายหลังได้เรียนรู้ และสืบทอดปฏิปทาอันดีงาม ถูกต้องตามพระวินัย ดังต่อไปนี้

การกะ ตัด เย็บ ย้อม จีวร

จีวร เป็นบริขารที่สำคัญของพระที่จำเป็นต้องมี และต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัย ด้วยสำหรับใช้นุ่งห่มปกปิดร่างกาย ประกอบด้วยผ้า ๓ ผืน เรียกว่าไตรจีวร ดังนี้

๑. สังฆาฏิ คือ ผ้าพาดหรือผ้าทาบไหล่ (สำหรับธรรมยุต ใช้ผ้า ๒ ชั้น)

๒. อุตราสงค์ คือ ผ้าสำหรับห่ม ที่เราเรียกว่า จีวร

๓. อันตรวาสก คือ ผ้านุ่ง ที่เรียกกันว่า สบง

สำหรับงานตัดเย็บจีวรนั้น ค่อนข้างเป็นงานที่สลับซับซ้อนพอสมควรทีเดียว หากมิได้ตั้งใจศึกษา ฝึกหัดกันอย่างจริง ๆ จังแล้ว.. คงทำสำเร็จได้ยากมาก

เริ่มต้นจากการกะขนาดให้นุ่งห่มได้พอดีเสียก่อน ซึ่งก็มีมาตรฐานของแต่ละบุคคลดังนี้ ให้ผู้สวมใส่งอข้อศอกตั้งฉาก แล้ววัดจากส่วนปลายข้อศอกถึงปลายนิ้วกลาง ว่ายาวเท่าไร

สมมติว่า ศอกยาว ๔๕ ซม.
ขนาดมาตรฐานของสบง คือ ยาว ๕ ศอก กับ ๑ คืบ (๑ คืบ = ๓๐ ซม.) จะได้ขนาดของสบง คือ ยาว (๔๕ x ๕) + ๓๐ = ๒๕๕ ซม. (คำว่า ศอกในที่นี้ คือความยาวศอกของผู้ใช้) ส่วนกว้างมาตรฐาน ๒ ศอก ก็จะได้ส่วนกว้าง คือ ๔๕ x ๒ = ๙๐ ซม.


ขนาดมาตรฐานของจีวร คือ ยาว ๖ ศอก กับ ๑ คืบ ก็จะได้ขนาดของจีวร คือ ยาว (๔๕ x ๖) + ๓๐ = ๓๐๐ ซม. ส่วนกว้าง (สูง) มาตรฐาน = ๔ ศอก กับ ๑/๒ คืบ (ครึ่งคืบ = ๑๕ ซม.) ก็จะได้ความกว้าง (สูง) ของจีวร = (๔๕ x ๔) + ๑๕ = ๑๙๕ ซม.

ส่วนสังฆาฏินั้น ใช้ขนาดเท่ากับจีวร โดยมากเมื่อตัดเย็บเสร็จแล้ว สังฆาฏิจะขนาดใหญ่กว่าจีวรเล็กน้อย เผื่อเวลาเดินไปบิณฑบาตต้องซ้อนจีวรเข้ากับสังฆาฏิแล้ว จีวรจะไม่เลยสังฆาฏิออกไป

ขนาดมาตรฐานคือ รูปร่างคนปกติ ไม่อ้วนใหญ่เกินไป หรือสูงเกินไป ถ้าคนอ้วนใหญ่จะต้องเพิ่มด้านยาวออกไปอีก ส่วนคนสูงก็ต้องเพิ่มด้านกว้าง (สูง) ให้มากขึ้น

เมื่อรู้จักขนาดมาตรฐานของจีวรดังนี้แล้ว จากนั้นจึงทำการคำนวณ หรือที่เรียกว่ากะขนาด โดยจีวรจะมีขนาดตั้งแต่ ๕, ๗, ๙ หรือ ๑๑ ขัณฑ์สูงสุด แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้ จีวร ๙ ขัณฑ์เป็นมาตรฐาน

ดังนั้น หากจะตัดจีวร ๙ ขัณฑ์ ก็ต้องคำนวณให้ได้ว่า แต่ละขัณฑ์จะกว้างเท่าไร และยาวเท่าไร เมื่อเย็บเข้ากันเป็นจีวรแล้ว จะต้องได้จีวรขนาดที่นุ่งห่มได้พอดี

สำหรับการคำนวณขนาดของแต่ละขัณฑ์ ก็มีหลายวิธีแล้วแต่ว่าใครจะถนัดแบบไหน ขอให้ตัดเย็บออกมาแล้ว ได้ตามขนาดที่ต้องการก็เป็นอันใช้ได้ เมื่อคำนวณได้ขนาดของขัณฑ์จีวรเท่าไรแล้ว บวกเพิ่มเข้าไปอีกขัณฑ์ละ ๒ ซม. ก็จะเป็นขนาดขัณฑ์ของสังฆาฏิ เมื่อเย็บเสร็จแล้ว ก็จะได้สังฆาฏิขนาดพอดีกับจีวร โดยมากสังฆาฎิจะใหญ่กว่าจีวรเล็กน้อย

ลัก...ยิ้ม 11-07-2020 01:18

2 Attachment(s)
โครงสร้างจีวร ขนาด ๙ ขัณฑ์

กรอบสี่เหลี่ยมโดยรอบเรียก อนุวาต โดยมาตรฐานนิยมใช้ กว้าง ๑๕ ซม. ที่เห็นเป็นเส้นคู่คั่นตามแนวตั้งของแต่ละขันธ์ เรียก กุสิ (หรือกุสิยาว) และที่เป็นเส้นคู่ คั่นขวาง ขนานกับด้านยาวของจีวรทั้งข้างบนและข้างล่างสลับกัน เรียก อัฑฒกุสิ (หรือกุสิขวาง) ทั้งกุสิ และอัฑฒกุสิ ขนาดมาตรฐานนิยมใช้ กว้าง ๖ ซม.

วิธีการคำนวณ

สมมติ ผู้ใช้จีวร ศอกยาว ๔๕ ซม. ต้องการจีวร ๙ ขัณฑ์ ความยาวจีวรมาตรฐานก็คือ ๖ ศอก กับ ๑ คืบ ดังนั้น จะได้ ความยาวจีวรที่ต้องการ = (๔๕ x ๖) + ๓๐ = ๓๐๐ ซม. (เผื่อรอยเย็บและเผื่อผ้าหดแล้ว)

เมื่อจะคำนวณขนาดของแต่ละขัณฑ์ ก็ให้เอาความยาวของจีวร หักด้วยความกว้างของอนุวาตทั้งสองด้าน ๆ ละ ๑๕ ซม. (๑๕ x ๒) = ๓๐ ซม. และหักความกว้างของ กุสิยาว ซึ่งมีทั้งหมด ๘ กุสิ ๆ ละ ๖ ซม. (๘ x ๖) = ๔๘ ซม. ออกไปก่อน ก็จะเหลือพื้นที่สุทธิสำหรับคำนวณขนาดของแต่ละขัณฑ์ คือ ๓๐๐ - ๓๐ - ๔๘ = ๒๒๒ ซม.

ฉะนั้น จีวร ๙ ขัณฑ์ จะแบ่งได้พื้นที่สุทธิไม่รวมกุสิ ไม่รวมอนุวาต ออกเป็น ๙ ชิ้น = ๒๒๒ หารด้วย ๙ ได้ชิ้นละ ๒๔.๖๗ ปัดเศษเป็น ๒๕ ซม. เพื่อให้ง่ายต่อการตัดผ้า จากนั้นก็บวกกุสิและอนุวาต กลับคืนเข้าไป ดังนี้

ขัณฑ์กลาง ๑ ขัณฑ์ มี ๒ กุสิ..... จะได้ ขัณฑ์กลาง กว้าง = ๒๕ + ๖ + ๖ = ๓๗ ซม.

ขัณฑ์ริม ๒ ขัณฑ์ ๆ ละ ๑ อนุวาต จะได้ ขัณฑ์ริม... กว้าง = ๒๕ + ๑๕ = ๔๐ ซม.

ขัณฑ์เล็ก ๖ ขัณฑ์ ๆ ละ ๑ กุสิ... จะได้ ขัณฑ์เล็ก.. กว้าง ๒๕ + ๖ = ๓๑ ซม.

ก็จะได้ขนาดกว้างของแต่ละขัณฑ์ ตามต้องการ

ลัก...ยิ้ม 11-07-2020 01:34

เมื่อคำนวณขนาดของแต่ละขัณฑ์ได้แล้ว ก็ขีดเส้นกุสิและอัฑฒกุสิ ให้ได้ตามรูปโครงสร้างจีวร การขีดอัฑฒกุสิ หรือที่เรียกว่ากุสิขวางนั้น ก็ขีดเป็นเส้นคู่ขนานห่างกัน ๖ ซม. ให้ได้แนวตรงกันทุกขัณฑ์ โดยมากจะใช้วิธีพับสามส่วน แล้วขีดอัฑฒกุสิเข้าหากึ่งกลางของแต่ละขัณฑ์ หรือขีดออกไปทางด้านริมผ้าก็ได้ หรือใช้วิธีพับครึ่ง แล้ววัดจากกึ่งกลางแต่ละขัณฑ์ แบ่งให้ได้ระยะอัฑฒกุสิ.. ด้านบน ด้านล่าง สลับให้เท่า ๆ กัน ตามรูปโครงสร้างจีวรก็ได้ จากนั้นจึงลงมือตัดผ้าออกเป็น ๙ ชิ้น โดยต้องกำหนดหมายไว้ด้วยว่า ชิ้นไหนเป็นขัณฑ์ไหน เสร็จแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเย็บ โดยเอาแต่ละขัณฑ์มาต่อกัน โดยเย็บแบบล้มตะเข็บหรือล้มดูก ซึ่งต้องมีความชำนาญไม่ใช่น้อย จึงจะเย็บได้สวยงาม

ส่วนความกว้าง (สูง) ของจีวร เมื่อตัดเย็บแต่ละขัณฑ์ต่อกันเสร็จแล้ว ก่อนเข้าอนุวาตก็ขึงเชือกตัดริมด้านบน และด้านล่าง ให้ได้ตามขนาดความกว้างมาตรฐานที่คำนวณไว้ โดยมากนิยมเว้าตรงขัณฑ์กลางเข้ามาประมาณ ๑ นิ้ว จากนั้นจึงเย็บเข้าอนุวาตก็สำเร็จเป็นจีวร ขั้นตอนสุดท้ายก็ติดรังดุมชายจีวร และติดรังดุมคอทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อให้นุ่งห่มสลับกันได้ทั้งสองด้าน ก็เป็นอันจบสิ้นขั้นตอนการเย็บที่สมบูรณ์

สำหรับการติดรังดุมคอทั้งด้านบน ด้านล่าง และห่มคลุมจีวรสลับกัน วันหนึ่งเอาด้านบนขึ้น อีกวันหนึ่งเอาด้านล่างขึ้น ก็เป็นปฏิปทาที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์มาในยุคปัจจุบัน เหตุผลก็คือ เมื่อห่มคลุมสลับกันทั้งสองด้าน ย่อมทำให้จีวรเปื่อยขาดพร้อมกันทั้งสองด้าน ไม่ใช่เปื่อยขาดอยู่เพียงด้านเดียว เป็นเหตุยืดอายุจีวรให้ใช้ได้นานยิ่งขึ้นไปอีก ก็เป็นความจริงอย่างนั้น หากท่านผู้ใดเคยใช้จีวรจนถึงขั้นเปื่อยขาด และเย็บปะไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะเห็นความจริงในข้อนี้ และเกิดความซาบซึ้งอย่างถึงใจทีเดียว

ลัก...ยิ้ม 11-07-2020 01:47

1 Attachment(s)
เมื่อผ่านขบวนการเย็บเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปสู่การย้อมแก่นขนุน โดยใช้เตาต้มแก่นขนุนขนาดใหญ่ เคี่ยวแก่นขนุนจนได้น้ำออกเป็นสีแดงคล้ำ จากนั้นจึงผสมสีย้อมผ้าโดยใช้ สีทอง สีกรัก สีแก่นขนุน สีแดง หรือใช้น้ำที่ฝนจากหินแดง ต้องผสมให้ได้สัดส่วนกันพอดี

สำหรับปริมาณการผสมนั้น ขึ้นอยู่กับผ้าที่จะย้อมว่าจะย้อมกี่ผืน ผ้าหนาหรือผ้าบาง ปริมาณการผสมก็แตกต่างกันไป ทั้งนี้ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์จึงจะสามารถผสมสี และย้อมออกมาได้สีมาตรฐานตามที่ใช้กัน หากผสมไม่เป็นก็อาจทำให้จีวรเสียสีได้ การผสมสีจึงกล่าวได้ว่า มีความสำคัญมิใช่น้อย สำหรับสีจีวรที่ใช้กันในวงพระป่านั้น จะออกเป็นสีเหลืองแกมแดง (สีเหลืองหม่น) หรือไม่ก็สีวัวโทนซึ่งเป็นสีที่ถูกต้อง และตรงตามปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์พาปฏิบัติแต่เดิม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กว่าจะทำการ กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้สำเร็จเป็นจีวรแต่ละผืนได้นั้น.. ต้องผ่านขั้นตอนมากมายและต้องใช้ฝีมือ.. บวกกับความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดเลยทีเดียว ฉะนั้น การที่พระเณรจะได้มีโอกาสนุ่งห่มจีวร ที่ผ่านการ กะ ตัด เย็บ ย้อม เช่นนี้ได้นั้นจึงไม่ใช่ของง่าย เพราะต้องอาศัยภิกษุผู้ฉลาด และมีความสามารถอย่างยิ่งจริง ๆ หากท่านผู้ใดมีโอกาสได้นุ่งห่มผ้าจีวรเช่นนี้แล้ว ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจได้เลยทีเดียว

และที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด สิ่งนี้คือการสืบทอดปฏิปทาดั้งเดิมแห่งวงพระกรรมฐาน ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ได้พาปฏิบัติมา หากยังมีภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ตราบใด ปฏิปทาเหล่านี้ย่อมไม่มีวันเสื่อมสลายไปอย่างแน่นอน ดังนั้น พระเณรจึงควรเห็นความสำคัญ และสืบทอดปฏิปทาในข้อนี้ไว้ ไม่ควรลืมตัว และมักง่าย หวังพึ่งแค่บริขารจากร้านค้าโดยถ่ายเดียว

จริงอยู่ แม้ในยุคปัจจุบัน โรงงานทอผ้าสำเร็จรูป สามารถย้อมสีผ้าจากโรงงานได้ใกล้เคียงกับสีผ้าจีวรที่พระกรรมฐานใช้อยู่ ด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่า.. ทำให้สีติดทนนานกว่า และสามารถซักได้แม้กับน้ำเย็น หรือกับเครื่องซักผ้าสมัยใหม่ โดยที่สีไม่ตก ไม่ต้องมาต้มเคี่ยวแก่นขนุน ซัก ย้อม.. ให้ยากลำบาก ซึ่งก็เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับพระเณรได้ไม่ใช่น้อย ซึ่งก็น่าที่พระเณรจะควรยินดี แต่ในขณะเดียวกัน บนความสะดวกสบายเช่นนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกับการเอาระเบิดนิวเคลียร์นิวตรอน.. มากวาดล้างทำลายปฏิปทาในฝ่ายกรรมฐาน ให้แตกทำลายอย่างพินาศย่อยยับ ไม่เหลือซากเลยทีเดียว

ลัก...ยิ้ม 12-07-2020 12:59

การบ่มบาตร*

บาตร คือ บริขารที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของภิกษุ ใช้ภิกขาจารบิณฑบาตอาหารจากชาวบ้านในชีวิตประจำวัน และหากถึงคราเดินธุดงค์สู่พงไพร พระกรรมฐานก็ใช้บาตรต่างกระเป๋าเดินทาง ใส่บริขารต่าง ๆ เช่น สังฆาฏิ ผ้าอาบน้ำ ที่กรองน้ำ เป็นต้น

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้บาตรดินและบาตรเหล็ก ปัจจุบันนิยมใช้บาตรสเตนเลส เป็นเหล็กที่ทนทานไม่เป็นสนิม และกำหนดให้ภิกษุมีบาตรได้เพียงใบเดียว โดยต้องอธิษฐานเป็นของใช้ส่วนตัว

บาตรที่สามารถอธิษฐานได้ คือผ่านการบ่มด้วยไฟเสียก่อน ซึ่งมีวิธีการดังนี้

- ทำความสะอาดบาตรให้เรียบร้อย ล้างด้วยผงซักฟอก เช็ดให้สะอาดแห้งสนิท ไม่ให้มีรอยนิ้วมือและคราบสกปรกติดอยู่

- เตรียมถังแก๊ส ปีบใหญ่ หรือถังน้ำมันที่ใส่บาตรเข้าไปได้ และไม่สูงจากบาตรเกินกว่า ๑ ฟุต

- เตรียมหาฟืน ไม้ไผ่ ไม้รวก และไม้อื่น ๆ ที่ให้ความร้อนสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีใช้ฟาง ใบไม้แห้ง กาบมะพร้าว หรือวัสดุอื่นที่หาง่ายในท้องถิ่นนั้น ๆ

- ใช้สังกะสีรองที่พื้นดินกันความชื้น และสัตว์ในดินไม่ให้ได้รับอันตรายจากไฟ

- ขนทรายใส่บนแผ่นสังกะสีเกลี่ยให้ทั่ว เอาอิฐมาวาง ๓ ก้อนเป็นสามเส้า

- วางสังกะสี ทราย อิฐ ที่เตรียมไว้ให้ถูกต้องเรียบร้อย

- นำบาตรที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วคว่ำลงบนอิฐสามเส้านั้น

- ครอบปีบหรือถังแก๊สลงตรงบาตร ระวังอย่างให้บาตรเคลื่อนที่

- ตั้งฟืนรอบ ๆ ถังแก๊ส ระวังอย่าให้กระทบถังแรง จะทำให้เคลื่อนที่ถูกบาตรล้ม

- จุดไฟเผาให้ได้ความร้อนที่สม่ำเสมอ ปล่อยให้ไฟไหม้ฟืนจนหมด

- เมื่อฟืนหมด เขี่ยถ่านและขี้เถ้าออกห่างถัง รอสักครู่ แล้วนำบาตรออกมา ขณะที่บาตรยังอุ่นอยู่.. ใช้ผ้าชุบน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว เช็ดให้ทั่ว

- เมื่อบาตรเย็นสนิทแล้ว นำบาตรมาล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง บาตรที่บ่มแล้วจะมีสีต่าง ๆ กัน เช่น สีดำ สีน้ำเงิน สีม่วง สีทอง สีปีกแมลงทับ (เขียว) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร้อนและระยะเวลาในการบ่ม

============================

* บ่มบาตร บางแห่งใช้ระบมบาตร หรือรมบาตร คือการรมบาตรให้ดำเป็นมันเพื่อกันสนิม

ลัก...ยิ้ม 12-07-2020 13:20

5 Attachment(s)
การทำขาบาตร

ขาบาตรเป็นบริขารจำเป็นที่พระเณรต้องใช้คู่กับบาตร เป็นที่รองบาตร พระวินัยไม่ได้กำหนดรูปแบบบังคับ ว่าขาบาตรจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนบาตร หรือจีวร เพราะฉะนั้น ขาบาตรจึงค่อนข้างมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นกับว่า.. ใครจะมีความสามารถในการทำอย่างไร แต่สำหรับในวงพระกรรมฐานนั้น ก็มีรูปแบบอันเป็นปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ

โดยมากนิยมใช้ไม้ไผ่ดงที่เนื้อแห้งสนิท นำมาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ ๙ นิ้ว แล้วผ่าเหลาให้เป็นเส้นกลม นำมาดึงรูดผ่านรูเหล็ก เพื่อบังคับให้ได้ขนาดที่เท่ากันตามต้องการ ขาบาตรที่นิยมทำกันโดยมาตรฐาน จะใช้ลิ่วไม้ไผ่จำนวนประมาณ ๒๗๐ – ๒๘๐ ลิ่ว แต่ในยุคหลัง ๆ มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ บางทีก็หันไปใช้ก้านลานซึ่งเหนียวกว่า หรือบางท่านก็เขยิบไปนิยมไม้เนื้อแข็งจำพวกไม้พยุง ไม้มะค่า หรือใช้แก่นมะขามกันไปเลย เนื่องจากเป็นไม้ที่มีลวดลายสวยงามตามธรรมชาติ มีความแข็งแรงทนทาน แต่ก็หาได้ยาก ทำได้ยาก และมีน้ำหนักมากกว่า

ขาบาตรจะสวยงามหรือไม่ ก็อยู่ที่การคัดไม้และเหลาไม้ การหลาบให้กิ่วตรงกลาง ลาดเอียงไปหาส่วนปลายทั้งสองด้าน โดยต้องได้ระดับความลาดเอียงเท่ากันหมดทุกลิ่ว ปัจจุบันสามารถทำบล็อกแล้วใช้ลูกหมู*ขัด ก็จะทำให้ได้ขนาดลิ่วเป็นมาตรฐานเท่ากันหมด

การร้อยถักขาบาตรด้วยเชือกให้เป็นแนวเดียวกัน และได้ระยะวงรอบที่ห่างเท่ากัน การออกแบบลายถัก และการเล่นระยะห่างลายถักรอบขาบาตรให้สวยงาม กลมกลืนกันทั้งด้านบนและด้านล่าง จะช่วยขับให้ขาบาตรดูเด่นและประณีตยิ่งขึ้น ผสานกับการพ่นสีย้อมเนื้อไม้ให้ดูภูมิฐานและสง่างาม ซึ่งต้องใช้ฝีมือและความชำนาญอย่างมากเลยทีเดียว และที่สำคัญ.. ตรงเอวขาบาตรต้องได้ขนาดพอดี ไม่ดูเล็กหรือใหญ่เกินไป

เมื่อถักร้อยขอบขาบาตร เสร็จสวยงามดีแล้ว ต้องใช้ล้อบังคับขันด้วยน็อต.. ให้ได้ส่วนสูงตามที่ต้องการ และขีดเส้นรัศมีโดยรอบเป็นวงกลม เพื่อตัดลิ่วทุกลิ่วให้ได้ขนาดวงกลมตามที่ต้องการ ปัจจุบันสามารถใช้ลูกหมูเจียช่วย ก็ทำให้งานได้มาตรฐานดีขึ้นกว่าเดิม

เมื่อตัดและเจียรอบเป็นวงกลมได้ที่แล้ว ก็จะถักเชือกตะกรุดเบ็ดรัดปลาย และเข้าขอบด้วยไม้ไผ่ที่ขดยาวเป็นวงกลมรอบขาบาตร งานขั้นตอนนี้ต้องใช้ฝีมือและประสบการณ์ความชำนาญอย่างมาก จึงจะสามารถเข้าขอบได้เรียบ และเป็นวงกลมสวยงามเท่ากันหมด ทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยที่ขาบาตรไม่เบี้ยวหรือเอียง ส่วนด้านที่ต้องวางกับพื้น ก็จะใช้หวายถักรองกันสึก หรือสมัยใหม่นี้เปลี่ยนมาใช้สายไฟถักรองกันสึกแทน ซึ่งก็ดูสวยงามดี

เมื่อเข้าขอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ขาบาตร โค้ง เว้า เป็นวงกลม ได้สัดส่วนพอเหมาะพอดี จากนั้นก็ใช้ไหมพรมเนื้อดี ถักถลกขาบาตรอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะถักลวดลายแบบใด ให้สวยงามแค่ไหน ก็อยู่ที่ผู้ใช้ต้องการแบบไหน อีกทั้งผู้ถักมีความชำนาญ และมีความเพียรมากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถศึกษาเรียนรู้และฝึกหัดทำได้ทุกอย่าง

ขาบาตรที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมด้วยความงามอันวิจิตรประณีต.. ทั้งดูภูมิฐานและดูมีสง่าเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสุขุมคัมภีรภาพ และความเพียรอันยิ่งยวดของผู้ทำเลยทีเดียว อีกทั้งเป็นการสร้างสมบุญบารมีในอีกแขนงหนึ่งด้วย แม้ผู้มีโอกาสได้ใช้ขาบาตรที่มีความงามพร้อมเช่นนี้ หากเป็นการที่ได้มาเองโดยธรรม ย่อมแสดงถึงบุญบารมีที่สั่งสมมาแล้วมากเช่นกัน แต่ต้องมิใช่การดิ้นรนแสวงหามาด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ดังนั้น ปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์พาดำเนินมาเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ก็มุ่งหวังมิให้บริขารกลายมาเป็นโทษแก่พระเณรนั่นเอง ท่านสอนให้พระเณรรู้จักทำบริขารให้ “เป็น” คือรู้จักประมาณในการทำ และใช้บริขารให้ “เป็น” คือ ไม่ให้ยึดติดจนกลายมาเป็นภัยกับตัวเอง

============================

* ลูกหมู หรือลูกหนู เป็นเครื่องเจียชนิดหนึ่ง

ลัก...ยิ้ม 13-07-2020 13:44

ครูบาอาจารย์พระกรรมฐาน ที่เกี่ยวข้องกับองค์หลวงตา*

องค์หลวงตาเทิดทูนบูชาคุณธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่นแบบสุดจิตสุดใจด้วยเหตุผลหลายประการ เฉพาะข้อวัตรปฏิปทาของหลวงปู่มั่นประจำองค์เพียงเรื่องเดียว ก็ไม่อาจพรรณนาได้หมดสิ้นและยากจะมีผู้ใดเสมอเหมือน หลวงปู่มั่นยังสามารถนำพาศิษยานุศิษย์ พระเณรให้ก้าวเดินตามรอยท่านได้อีกเป็นจำนวนมาก แต่ในระยะต่อมา.. ครูบาอาจารย์เหล่านั้นก็ค่อยล่วงลับดับขันธ์ไป ภาระการแนะนำสั่งสอน จึงตกมาสู่องค์หลวงตาหนักขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในเรื่องนี้องค์หลวงตาได้กล่าวไว้เช่นกันว่า
“... หลวงปู่มั่นบุกเบิกกรรมฐาน ท่านเป็นองค์แรกไปเลย เราเดินตามท่าน ท่านเป็นกรรมฐาน ท่านเดินหน้า.. ทุกข์ยากลำบากทุกอย่างอยู่กับท่านหมดนั่นแหละ นั่นละ.. ได้ธรรมมาสอน แล้วใครที่จะทำที่จะกระจายไปกว้างแสนกว้างเหมือนหลวงปู่มั่น


หลวงปู่มั่นจึงเป็นโรงงานใหญ่สำหรับผลิตลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย.. ทางด้านอรรถด้านธรรมให้กระจายออกไป ทุกวันนี้ก็ออกจากหลวงปู่มั่น เทศนาว่าการสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ไปประพฤติปฏิบัติ.. ได้มรรคได้ผลขึ้นมา ธรรมะกระจายออกไป เหล่านี้มีตั้งแต่ลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นทั้งนั้นนะ ที่แผ่กระจายทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกาย เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นทั้งนั้นแหละ องค์ท่านนิพพานไปแล้ว.. ชื่อเสียงนี้กระฉ่อนทั่วประเทศ ทั่วโลก

เฉพาะองค์ท่านเอง ท่านไม่ค่อยไปสอนใครละ ถ้าสอนก็สอนพระ พระอยู่กับท่านไม่กี่องค์ ในป่าในเขายิ่งแล้ว.. ท่านไม่รับใคร ตอนท่านแก่นี้ ท่านคงจะสงสารบ้างก็เลยรับพระมา แต่ก่อนไม่นะ พระไปอยู่กับท่านไม่ได้

ลูกศิษย์ของท่านองค์ไหน ๆ ที่ปรากฏชื่อลือนามเหล่านี้ มีแต่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นทั้งนั้นนะ อย่างท่านอาจารย์ขาว อาจารย์คำดี อาจารย์อะไรต่ออะไร ๆ ตลอดอาจารย์ตื้อ ที่ไหน.. ใช่หมดเลย เป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้น กระจายออกไปนี้ก็เพราะลูกศิษย์ของท่าน โรงงานใหญ่อยู่ที่นั่น.. ผลิตธรรมให้ลูกศิษย์ลูกหา แล้วก็นำธรรมนี้ออกไปกระจายทั่วโลกเวลานี้ ก็เพราะหลวงปู่มั่นองค์เดียว

ปฏิปทานี้เป็นแบบฉบับไม่เคลื่อนคลาดอะไรเลย เดี๋ยวนี้ค่อยหดย่นเข้ามา ๆ ภาคปฏิบัติก็ยังเหลือแต่เรา ที่ว้อ ๆ อยู่นี้กับพระกับเณรทั้งหลาย พระเณรจุดศูนย์กลางจะมาอยู่กับเราเวลานี้นะ ไม่บอกก็เป็นเอง อยู่กับเราคอยฟังเสียงเรา แต่ก่อนทั้งหลายก็อยู่กับหลวงปู่มั่น ทีนี้ท่านล่วงไปแล้ว ก็ถัดลงมาที่ยังเป็นคนเป็นตัวอยู่ก็คือเรา ก็ทราบแล้วว่าเราเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ทีนี้ก็มายึดมาเกาะตรงนี้ละ เรื่อยมา...

==============================

* พระภิกษุสามเณรครูบาอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับองค์หลวงตามีเป็นจำนวนมาก ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุตจากทุกภาคทั่วประเทศ รุ่นอาวุโสสูงมาจากการเรียนปริยัติหรือศึกษาภาคปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น รุ่นอาวุโสรองลงมา มาจากการพบกันระหว่างการเที่ยววิเวกในสถานที่ต่าง ๆ และสำหรับศิษยานุศิษย์ขององค์หลวงตามาจากการมีโอกาสได้อยู่จำพรรษาด้วย หรือการเป็นพระอาคันตุกะมาศึกษาในสำนักขององค์ท่านเป็นระยะ ๆ แต่มิได้จำพรรษา หรือพระเณรที่ได้เคยอุปถัมภ์อุปัฏฐากองค์ท่านในแง่มุมและในวาระต่าง ๆ ตลอดถึงพระเณรที่ได้เสียสละร่วมแรงร่วมใจกันในงานรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากมายนับเป็นหมื่นรูปขึ้นไป และอื่น ๆ

คณะกรรมการผู้จัดพิมพ์ฯ ขอมีส่วนและขออนุโมทนาสาธุการในกุศลผลบุญ ของพระภิกษุสามเณรครูบาอาจารย์ทุกรูปมา ณ โอกาสนี้ และกราบขออภัย / ขออภัยเป็นอย่างสูง หากข้อมูลที่รวบรวมมาได้นั้นต้องตกหล่น หรือขาดความสมบูรณ์ไปด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทำให้รายชื่อพระภิกษุสามเณรย่อมมีโอกาสตกหล่นไปได้ แต่ความสมบูรณ์ในคุณความดีของท่านทั้งหลายที่มีต่อองค์หลวงตานั้น.. มิได้ตกหล่นไปด้วยแม้แต่น้อย อนึ่ง การเก็บบันทึกข้อมูลบุคคลของวัดเพิ่งเริ่มจัดทำขึ้นในระยะหลังไม่กี่ปีนี้.. ตามความจำเป็นที่พระเณรเข้ามาขออยู่ศึกษามากขึ้น

ลัก...ยิ้ม 13-07-2020 13:48

ยุคบ้านห้วยทราย
(พ.ศ. ๒๔๙๔ – ๒๔๙๘)

เป็นพระกรรมฐานที่จำพรรษากับองค์หลวงตาในยุคก่อนสร้างวัดป่าบ้านตาด และเป็นระดับครูบาอาจารย์ในสมัยปัจจุบัน มีรายนามดังนี้

พระอาจารย์สม โกกนุทโท, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร, พระอาจารย์นิล ญาณวีโร, หลวงปู่บัว สิริปุณโณ, หลวงปู่หล้า เขมปัตโต, หลวงปู่ศรี มหาวีโร, หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ, หลวงปู่เพียร วิริโย, พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม, พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต, พระอาจารย์สีหา, หลวงปู่ลี กุสลธโร, พระอาจารย์สวาท, หลวงปู่คำตัน ฐิตธัมโม, หลวงพ่อชาลี โชติปาโล ฯลฯ

มีสามเณร ๔ รูปคือ สามเณรชื่อน้อย ๒ รูป, สามเณรบุญยัง และสามเณรโส

ลัก...ยิ้ม 13-07-2020 14:00

ยุควัดป่าบ้านตาด
(พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๕๔)

ตั้งแต่องค์หลวงตาสร้างวัดป่าบ้านตาด พระเณรก็เริ่มหลั่งไหลมาอยู่ศึกษากับท่านมากขึ้น ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในระยะแรก ท่านจำกัดจำนวนพระเณรจำพรรษาไว้เพียง ๑๗ – ๑๘ องค์ และคงจำนวนไว้เช่นนั้นหลายปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ มาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๐

ครั้นออกพรรษา จะมีพระเณรอาคันตุกะจำนวนมาก.. สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาพักชั่วคราว หากพระแก่ขยับขยายออกไปแล้วไม่กลับมาก่อนวันวิสาขบูชา พระเณรอาคันตุกะเหล่านี้ก็จะเข้าจำพรรษาแทนที่กันต่อไป โดยมากจะถือเกณฑ์เรียงลำดับมาก่อนหลังเป็นหลัก ระยะต่อมาเมื่อครูบาอาจารย์องค์สำคัญ ๆ ล่วงลับไป พระเณรจำนวนมากไม่มีที่เกาะที่ยึด องค์ท่านก็อนุโลมผ่อนผันรับพระเข้าจำพรรษามากขึ้น ดังนี้
“... บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายที่ไปอบรมอยู่วัดป่าบ้านตาดทั่วประเทศไทย.. ไม่ใช่น้อย ๆ ถ้าพูดตามความสัตย์ความจริงแล้ว หลวงตาบัวนี้มีลูกศิษย์ฝ่ายพระนี้มากที่สุด .. เราไม่อยากรับพระรับเณรก็ดังที่ว่านี่แหละ รับเป็นภาระแล้ว.. ดูแลแนะนำสั่งสอนตลอดเลย กลางค่ำกลางคืนต้องออกไปสังเกต ดูพระดูเณรประกอบความพากเพียรอย่างไรหรือไม่ ตั้งหน้าตั้งตามา.. มาแล้วมาอยู่ยังไง เคยไล่ออกจากวัดหลายองค์นะ ที่มารับไว้แล้ว.. มาแล้วไม่เป็นท่าซิ นอนไม่รู้จักตื่น เวลานอนยังไม่ถึง ๔ ทุ่มเลย.. นอนหลับครอก ๆ แล้ว ‘เอ๊.. มันยังไงกัน’


นั่น เอาละนะ พอเที่ยงคืนไปดูอีกแล้ว ตี ๓ – ๔ ไปดูอีก วันหลังสังเกตอีก ก่อนที่จะไล่ออกจากวัด.. ไม่ใช่ไล่เฉย ๆ นะ ทดสอบดูรู้นิสัย จริตนิสัยขี้เกียจขี้คร้าน ท้อแท้ อ่อนแอ หรือขยันหมั่นเพียร.. หมดเรียบร้อยแล้ว ที่ไล่ออกจากวัดก็ผู้ขี้เกียจ ไปดูจับเอาทุกระยะ ๆ แน่ใจแล้วบอกเลย.. ท่านให้ไป ไม่มีมาคัดค้านเรา เราจับได้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่อยากรับพระรับเณร รับมาก็เป็นภาระ

ปีแรกมาอยู่นี่ ๑๒ องค์ เรารับจำกัด ๑๘ องค์ ... อย่างวัดนี้อย่างมากที่สุด ไม่เลย ๑๘ องค์.. เรียกว่ามากที่สุด ตอนนั้นมีครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านยังมีชีวิตอยู่ พระเณรทั้งหลายก็ได้ไปอาศัยอยู่กับท่าน ๆ .. ทีนี้พอองค์นั่นล่วงไป องค์นี้ล่วงไป.. ก็ไหลเข้ามาหาเรา จาก ๑๘ รับ ๒๐ จาก ๒๐ เตลิดเลยเป็น ๕๐ กว่าตลอดมา ครูบาอาจารย์แต่ก่อนอย่างหลวงปู่ขาว.. พระเณรก็ไปเต็มอยู่นั่น หลวงปู่ฝั้น.. เต็มอยู่นั่น หลวงปู่อ่อน เหล่านี้เต็มทั้งนั้นล่ะ พอองค์นั่นล่วงไป องค์นี้ล่วงไป.. ไหลเข้ามา ๆ .. ไม่มีที่ยึดที่เกาะก็ไหลเข้ามาละซิ จึงได้รับเพิ่มขึ้น รับพระรับเณรเป็นภาระหนักมากอยู่นะ รับต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วย สังเกตสังกา แนะนำสั่งสอน จึงไม่รับง่าย ๆ ...”

เทศนาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ แสดงถึงความเมตตาศิษย์เป็นล้นพ้น แม้จะชราภาพมากอายุจวนจะ ๙๓ ปีแล้วก็ตาม ท่านยังสู้อุตส่าห์ออกเดินตรวจตรา ดูทางจงกรม ดูความพากเพียร ของพระของเณรในยามค่ำคืนดึกดื่น ดังนี้
กลางคืนผมเดินดู ไม่เห็นพระลงเดินจงกรม กลางคืนเงียบ ๆ ไม่เห็นนะ นี่พึ่งมาพูดวันนี้ ไปดูเป็นประจำนะ ท่านทั้งหลายว่าผมไม่ไปดูเหรอ มันขี้เกียจอะไรนักหนา ถ้าขี้เกียจให้หนีจากวัดนี้.. อย่าอยู่ นี่ไปเที่ยวเดินดูหมด กลางค่ำกลางคืนไม่เห็นพระออกมาเดินจงกรม.. หย็อก ๆ แหย็ก ๆ เลย ท่านทั้งหลายว่าผมไม่ดูเหรอ ผมไปดูตลอดนะ นี่ล่ะ.. วันนี้ออกพูดเสียบ้าง นาน ๆ พูดทีหนึ่ง ๆ


นี่ล่ะ .. การปกครองหมู่เพื่อน รับหมู่เพื่อน.. รับจริงรับจัง แนะนำสั่งสอน สังเกตสังกาทุกแง่ทุกมุม.. ให้พากันเอาจริงเอาจัง อย่ามาเหลาะแหละให้เห็น ตั้งแต่ดูธรรมดานี้ก็ขวางตาพอแล้ว แบบหลับหูหลับตาไปกับหมู่กับเพื่อน นี่ไม่ได้คุยนะ ความเพียรดูหมู่เพื่อนดูไม่ได้ ถ้าเราทำอย่างนี้ เราก็ตายไปนานแล้วแหละ นี่ไม่ได้ทำอย่างนี้”

ลัก...ยิ้ม 13-07-2020 14:03

บ้านตาดยุคแรก (พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๑๑)

เป็นยุคที่องค์หลวงตาเน้นการสอนพระเป็นพิเศษ ครูบาอาจารย์ที่อยู่จำพรรษาร่วมกันในเวลานั้น ก็มีทั้งที่ตามมาจากยุคห้วยทราย อาทิ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร, หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ, หลวงปู่เพียร วิริโย, พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม, หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต, หลวงปู่ลี กุสลธโร, พระสุกันต์, พระอาจารย์คำผิว สุภโณ, พระผัน, พระสมนึก และสามเณรเสริฐ

ครูบาอาจารย์ที่มาจำพรรษาด้วย หรืออยู่ศึกษาใหม่มีรายนามดังนี้ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท, หลวงปู่ผาง ปริปุณโณ, หลวงปู่สอ พันธุโล, พระอาจารย์ทอง จันทสิริ, หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม, พระอาจารย์แสวง โอภาโส, พระอาจารย์บุญกู้ อนุวัฑฒโน, พระอาจารย์น้อย ปัญญาวุโธ, หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม, หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ, พระอาจารย์ทองอินทร์ กตปุญโญ, พระอาจารย์ปีเตอร์ ปัญญาวัฑโฒ, พระอาจารย์จอร์จ (เชอรี่) อภิเจโต เป็นต้น

ลัก...ยิ้ม 13-07-2020 14:08

บ้านตาดยุคสอง (พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๒๘)

เป็นยุคที่องค์หลวงตาเกี่ยวข้องกับประชาชนและพระเณรมากขึ้น ครูบาอาจารย์ที่อยู่จำพรรษาร่วมกันมีรายนามดังนี้

พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก, พระอาจารย์ทองฮวด ฐานวโร, พระอาจารย์สุชาติ, พระอาจารย์เอียน อริเยสโก, พระอาจารย์ประยูร, พระอาจารย์จ้อน, พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม, พระอาจารย์คลาด ครุธัมโม, พระอาจารย์นิพนธ์ อภิปสันโน, พระอาจารย์บุญทัน ฐิตสีโล, พระอาจารย์เยื้อน ขันติพโล, พระอาจารย์ณรงค์ อาจาโร, พระอาจารย์สม ขันติโก, พระอาจารย์โกวิท ฐานยุตโต, พระอาจารย์มาลา ญาโณภาโส, พระอาจารย์มหาณรงค์ ฐิตญาโณ, พระอาจารย์สุดใจ ทันตมโน, พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต, พระอาจารย์บุญจันทร์ กตปุญโญ, พระอาจารย์บุญช่วย ปัญญวันโต, พระอาจารย์ฟิลลิป, พระอาจารย์แพท, พระอาจารย์บุญมี ธัมมรโต, พระอาจารย์จำรัส จันทโชโต, พระอาจารย์วงศ์สิน, พระอาจารย์ดิ๊ค สีลรตโน, พระอาจารย์วิศิษฐ์ สันติกโร, พระอาจารย์มานะ เทวธัมโม, พระอาจารย์เฉลิม ธัมมธโร, พระอาจารย์ชิต ฐิตจิตโต, พระอาจารย์มงคล, พระอาจารย์วุฒิชัย สุตาวุโธ, พระอาจารย์น้อย (สุรินทร์), พระอาจารย์วันชัย วิจิตโต, พระอาจารย์นพดล นันทโน, พระอาจารย์ภูษิต ขันติธโร, พระอาจารย์พิมพา จาคจิตโต, พระอาจารย์ทวีป กมโล, พระอาจารย์สงบ ปภาโส, พระอาจารย์แดง, พระอาจารย์สมเดช สิริจันโท, พระอาจารย์สุพัฒน์ ธัมมวโร, พระอาจารย์ศานิตย์, พระอาจารย์สมยศ, พระอาจารย์มานะ ฉันทสาโร, พระอาจารย์ชูชาติ, พระอาจารย์ธีรยุทธ ธีรยุทโธ, พระอาจารย์สุนทร ฐิติโก, พระอาจารย์ประยูร, พระอาจารย์ประสิทธิ์, หลวงพ่อณัฐ, พระฌาณ, พระอาจารย์บำรุง นวพโล, พระอาจารย์บุญเติม ฐิโตภาโส, พระอาจารย์กฤษฎา สุรวังโส, พระอาจารย์สุลาน ปภัสสโร, พระอาจารย์สมบูรณ์ ฐิตญาโน ฯลฯ


================================

หมายเหตุ

การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับกาลเวลา สถานที่และบุคคล มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงในเชิงประวัติศาสตร์แต่พอสังเขป มีรายละเอียดที่ควรทราบ ดังนี้

๐ รายนามข้างต้นนี้ ไม่รวมถึงครูบาอาจารย์ที่ไม่เคยจำพรรษากับองค์หลวงตา แม้อาจได้ช่วยเหลือหน้าที่การงาน หรือมีความเกี่ยงข้องอย่างลึกซึ้งกับองค์หลวงตา

๐ ในยุคแรก ๆ ยังไม่มีการบันทึกการจำพรรษาของภิกษุสามเณร ทำให้ข้อมูลในช่วงเวลาดังกล่าวอาจตกหล่นหรือขาดหายไป

๐ รายนามข้างต้นนี้ รวมถึงพระภิกษุผู้เคยเข้ามาศึกษากับองค์หลวงตาระยะหนึ่ง และได้ลาสิกขาแล้ว นอกจากข้อมูลที่นำมาแสดงข้างต้น ยังมีภิกษุสามเณรที่หมุนเวียนมาศึกษากับองค์หลวงตาในช่วงออกพรรษา เป็นจำนวนมากยิ่งกว่าในพรรษา จึงไม่สามารถนำมาแสดงได้ทั้งหมด

๐ มีฆราวาสในสายอาชีพต่าง ๆ รวมถึงบุคคลสำคัญ ๆ เข้ามาบวชศึกษาชั่วคราวทั้งจำพรรษา หรือบวชนอกพรรษาอีกเป็นจำนวนมากในช่วงที่องค์หลวงตาดำรงขันธ์อยู่

ลัก...ยิ้ม 13-07-2020 14:12

บ้านตาดยุคสาม (พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๔๐)

เป็นยุคที่เปิดกว้างสู่สาธารณชน องค์หลวงตาอนุโลมให้มีพระเณรในพรรษาเพิ่มมากขึ้น อ้างอิงตามข้อมูลของวัดเก็บบันทึกไว้ มีดังนี้
ปี ๒๕๓๓ จำนวน ๔๔ องค์
ปี ๒๕๓๘ จำนวน ๔๖ องค์
ปี ๒๕๓๙ จำนวน ๔๘ องค์
ปี ๒๕๔๐ จำนวน ๔๘ องค์


ครูบาอาจารย์ที่จำพรรษาร่วมกันมีรายนาม ดังนี้
พระอาจารย์สุทธิ ธัมมสาโร, พระอาจารย์พิพัฒน์ ธัมมวโร, พระอาจารย์สถาพร, พระอาจารย์สมภพ อภิวัณโณ, พระอาจารย์บัณฑิต ธีรธัมโม, พระอาจารย์นรา กตรักโข, พระอาจารย์วิทยา กิจจวิชโช, พระอาจารย์วีระศักดิ์ ติกขวีโร, พระอาจารย์ชวน ฐิติธัมโม, พระอาจารย์สุริยัน วรคุโณ, พระอาจารย์ภาสกร ภาสกโร, พระอาจารย์ไพรินทร์ ปัญญาพโล, พระอาจารย์มหาตี๋ ปิยสีโล, พระอาจารย์กองคำ เปมสีโล, พระอาจารย์สมพงษ์ ขันติโก, พระอาจารย์สมหมาย อุปติสโส, พระอาจารย์สุทธิชัย สุทธิชโย, พระอาจารย์ประภาส กตปัญโญ, พระอาจารย์ชูชาติ ชยธัมโม, พระอาจารย์ถาวร ขันติโก, พระอาจารย์มหาสำรวย สุภวิสสุโภ, พระอาจารย์ชาตรี นิสโภ, พระอาจารย์เรืองเดช ฉินนาลโย, พระอาจารย์วิเชียร อิฏฐาโน, พระอาจารย์สำรวย อารัญโญ, พระอาจารย์กนก กนโก, พระอาจารย์อมร ติกขญาโณ, พระอาจารย์อำนวย กันตธัมโม, พระอาจารย์พรหม กิตติวัณโณ, พระอาจารย์นพรัตน กันตธัมโม, พระอาจารย์ปรัชญา โอภาโส, พระอาจารย์โสภา สมโณ, พระอาจารย์สาธิต ชยสาธิโต, พระอาจารย์ทศพล กิตติวโร, พระอาจารย์โกศิล ปัญญากโร, พระอาจารย์สกริน จิตตปัญโญ, พระอาจารย์ปราโมทย์ สิรินันโท, พระอาจารย์ประสบ กุสโล, พระอาจารย์สุทธิพงษ์ สุทธิพุทโธ, พระอาจารย์ธนพิบูลย์ รตนปัญโญ, หลวงพ่อจิตติ จิตตวชิโร, พระอาจารย์สมพงษ์ ฐิตวังโส, พระอาจารย์รัฐวีร์ ฐิตวีโร, พระอาจารย์ศรณรงค์ ธีรปัญโญ, พระอาจารย์นิคม ปัญญาธโร, พระอาจารย์ประสพ วรจิตโต, พระอาจารย์สมหมาย ฐานุตตโร, พระอาจารย์จิว อภิปุญโญ, พระอาจารย์แก่น, พระอาจารย์มหาธีรนาถ อัคคธีโร, พระอาจารย์ณฤทธิ์ อิทธิโชโต, พระอาจารย์สมพร ยโสธโร, พระอาจารย์นิรุจน์ อลีโน, พระอาจารย์วิชาญ อัคคจิตโต, พระอาจารย์มหาสมควร รตนปัญโญ, พระอาจารย์มาร์ติน ปิยธัมโม, พระอาจารย์บารมี สุทธจิตโต, พระอาจารย์คณิต โชติธัมโม ฯลฯ


จำพรรษาในระหว่างเป็นสามเณร ไม่ทราบสถานภาพปัจจุบัน
สามเณรสนอง หรเพลิด, สามเณรรัศมี ก้านจักร, สามเณรนิโก ขันธรักษ์, สามเณรไพฑูรย์ นุตตะกุล, สามเณรมานะ เทียมราช, สามเณรสมชาย ทองราช, สามเณรอุทัย ทองราช


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 11:05


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว