กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เก็บตกจากบ้านเติมบุญ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=65)
-   -   เก็บตกจากบ้านเติมบุญ ต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5880)

เถรี 27-12-2017 22:51

สนทนากับโยม "ขอให้แข็งแรง ๆ มาได้บ่อย ๆ นะจ๊ะ ทำบุญย่อมมีอุปสรรค มีอุปสรรคเรายังอุตส่าห์ทำจนสำเร็จก็ถือว่ากำลังใจใช้ได้แล้ว

เดี๋ยวจะเหมือนในคลิป มีพระ ๒ รูปกับเณร ๑ รูปเดินบิณฑบาต พระท่านก็เดินเลย เณรก็เปิดรับบาตร รับเสร็จพระท่านหันมาเห็นวิ่งโกยเลย เณรเปิดบาตรรออะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นคนใส่ พระท่านไม่เห็นทั้งคู่ก็เดินเลย ส่วนเณรเห็นก็เลยรับบาตร ถ้าเราเจออย่างนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ?

บางทีเขามีเวรมีกรรมเนื่องกันมาก็เลยทำให้เห็นคนเดียว พระ ๒ รูปเดินเลยไป เณรก็สงสัยทำไมหลวงพ่อไม่รับบาตร ถ้าอย่างนั้นเณรรับเองก็ได้

เรื่องพวกนี้บางทีเราคิดว่าเป็นเรื่องตลกก็ตลก แต่เราลองนึกถึงว่าผีอยากใส่บาตรพระสัก ๓ รูปแล้วได้แค่รูปเดียว ได้เณรด้วย เป็นอะไรที่น่าสงสารมาก

บางอย่างดูตลกก็ตลก แต่บางอย่างดูก็ตลกไม่ออก"

เถรี 27-12-2017 22:55

"มีอีกคลิปที่เขาส่งต่อ ๆ กันมา นักศึกษาจะขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ บอกวินมอเตอร์ไซค์ว่า "ไปธรรมศาสตร์" มอเตอร์ไซค์ก็ส่งหมวกให้แล้วตัวเองก็บิดฉิวไปเลย ทางด้านนี้ก็เรียก "พี่ ๆ ๆ" อีกฝ่ายวินไปแน่บเลย มีคนเข้าไปคอมเมนท์ว่า คราวหน้าบอกวินด้วยว่า "ไปธรรมศาสตร์ กูไปด้วย"

ลักษณะอย่างนั้นเห็นชัดว่าขาดสติ ไม่ได้รอลูกค้าขึ้นรถเลย ตัวเองก็บิดไปก่อน อาตมาเจอมาด้วยตัวเองก็คือ ขึ้นรถแล้วนึกขึ้นมาได้ว่าลืมของก็เลยลงจากรถ ปิดประตูแล้วก็ไปหยิบของ หันมาอีกทีรถไปแล้ว เขาคิดว่าอาตมาขึ้นรถปิดประตูเรียบร้อยแล้ว อันนี้เจอมาเอง

การขาดสติก็เลยทำให้เกิดเรื่องที่ตลกในความรู้สึกคนอื่น แต่คนที่รีบร้อนจะไปก็คงไม่ตลกด้วย ประมาณว่ากูรีบแล้ว อุตส่าห์มานั่งมอเตอร์ไซค์ มึงดันรีบกว่ากูอีก...!"

เถรี 27-12-2017 23:43

พระอาจารย์กล่าวว่า "วันก่อนลงบัญชีทองคำ ปรากฏว่านอกจากเงินที่ถวายมาแล้ว มีญาติโยมร่วมกันถวายทองคำมา ๑๓ ราย มีหลายรายที่ถวายทุกเดือน ๆ ละเท่า ๆ กัน อย่างครอบครัวของคุณแม่สมบัติ อุตตมะ ครอบครัวของคุณมาลีรัตน์ นาคทอง ครอบครัวของคุณชิษณุพงศ์ สิทธาจารุวัฒน์ ครอบครัวของคุณแม่จันทนา อัศวชิน เป็นต้น ท่านทั้งหลายเหล่านี้ถวายเท่า ๆ กันทุกเดือน ก็คงตั้งใจถวายไปจนกว่าจะหล่อพระเสร็จนั่นแหละ เป็นกำลังใจที่สม่ำเสมอ น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง"

เถรี 27-12-2017 23:46

พระอาจารย์กล่าวว่า "ส่วนใหญ่วัตถุมงคลที่เป็นของดีแล้วราคาถูก เพราะว่าท่านออกมาให้บูชาเยอะ อย่างของหลวงพ่อเกษม สำนักสุสานไตรลักษณ์ หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นของดีมาก ๆ เลย แต่เนื่องจากว่าออกเยอะ คนก็คงจะมีกันมากแล้ว เซียนปั่นราคาไม่ขึ้น เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงเป็นของดีราคาถูกที่ยังพอหาได้กันอยู่ อีกท่านหนึ่งก็คือหลวงปู่บุดดา ใครเอาอะไรไปให้ท่านเสกให้หมด

หลวงพ่อเกษมก็เหมือนกัน ท่านยืนอยู่ตรงหน้าต่าง คนก็แบกผ่านมาทีละลัง ถ้าโบกมือให้ผ่านแปลว่าใช้ได้แล้ว จะว่าไปแล้วบรรดาตลาดพระเขาหากินกับท่านแบบไม่กลัวบาปกลัวกรรมเลย พระแก่ขนาดนั้นแล้ว เล่นแบกของไปให้ท่านเสกทีละเป็นคันรถ"

เถรี 27-12-2017 23:49

พระอาจารย์เล่าว่า "ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ศาสนาต่าง ๆ อยู่รวมกันได้โดยสันติ คนญี่ปุ่นอาจจะประเภทลูกเกิดมาก็ไปทำพิธีทางศาสนาแบบชินโต ถึงเวลาก็ปฏิบัติตนแบบเซน แต่งงานแบบคริสต์ แต่ประเทศญี่ปุ่นห้ามศาสนาอิสลาม คุณจะเป็นคนอิสลามก็ได้ แต่ห้ามประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ห้ามมีศาสนสถาน แสดงว่าญี่ปุ่นเองก็คงจะเห็นว่าหากว่าปล่อยให้มีก็คงจะมีโทษมากกว่า ก็เลยห้าม

เชื่อไหมว่าศาสนาของญี่ปุ่นมาจากเกาหลี ? ของเกาหลีรับไปจากประเทศจีน รับกันเป็นช่วง ๆ คราวนี้ญี่ปุ่นก็พัฒนามาจนกระทั่งกลายเป็นศาสนาพุทธแบบญี่ปุ่น ซึ่งไม่เหมือนที่ไหน มีหลายนิกายเหมือนกัน แต่ว่านิกายที่พวกเรามักจะจำแม่นที่สุด ก็คือนิกายชินโตที่พระภิกษุนิกายนี้มีเมียได้"

เถรี 27-12-2017 23:55

"เคยสอบถามท่านแล้ว คุยกัน ท่านคุยภาษาไทยนะ แต่อาตมาต้องหาคนแปลไทยเป็นไทยอีกที ฟังยากสุด ๆ เขาบอกว่าในสมัยสงครามเจ้านครรัฐ พวกไดเมียว โชกุนต่าง ๆ เขารบกัน พระไม่สามารถที่จะออกเผยแผ่พุทธศาสนาได้ เพราะว่าเดินทางไปเขาก็จับ ติดคุกบ้าง โดนฆ่าบ้าง เพราะกลัวว่าจะเป็นสายลับของอีกฝ่ายหนึ่ง

ท้ายสุดท่านเห็นว่าศาสนาจะอยู่ไม่ได้ เผยแผ่ไม่ได้ก็เลยใช้วิธีปักหลักมีครอบครัว ถามว่าเหตุผลคืออะไร ? เพื่อรักษาพระธรรมคำสอนให้คงอยู่ อย่างน้อย ๆ ก็สามารถสอนภรรยาและลูกตัวเองได้ ถ้าสามารถสอนต่อเลย
ไปถึงทางด้านพ่อตาแม่ยายได้ก็ยิ่งดี ก็เลยเห็นว่าที่แท้ของเขาต้องปรับเปลี่ยนเพราะความจำเป็นในสังคมยุคนั้น คราวนี้พอสังคมยุคต่อมาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ของเขากลายเป็นว่าเปลี่ยนแล้วคืนไม่ได้

เพราะฉะนั้นพระของนิกายนี้ในปัจจุบัน ถึงเวลาก็ใส่สูทมีแถบแสดงความเป็นพระอยู่ตรงขอบเสื้อหน่อยหนึ่ง เท่มากเลย ไปนึกถึงอันตรธานปริวรรต ปฐมสมโพธิกถา ที่บอกว่าเพศพระจะค่อย ๆ หมดไป ท้ายสุดเหลือเพียงผ้าเหลืองน้อยห้อยหูหรือผ้าเหลืองพันข้อมือเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นพระเท่านั้น ชินโตนี่ไปถึงระดับนั้นแล้ว

เมื่อเราเข้าใจว่าสภาพสังคมทำให้เขาเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีอะไรน่าตำหนิ เพราะท่านตั้งใจว่าจะรักษาพระธรรมคำสอนนั้นไว้ แต่ว่าศาสนาที่เข้าลึก มีความเป็นญี่ปุ่นสูงมาก ก็คือศาสนาพุทธนิกายเซน"

เถรี 28-12-2017 00:06

"เซ็น มาจากคำว่า เทียน ของภาษาจีน แล้วก็มาจากสันสกฤตว่า ธยาน หรือบาลีที่ว่า ฌาน เป็นการถ่ายทอดระหว่างใจสู่ใจ สามารถรู้แจ้งฉับพลัน ที่เรียกว่า ซาโตริ มีแม้กระทั่งนักการศาสนาญี่ปุ่นก็นั่งถกเถียงกันไม่รู้จักจบ บางคนก็บอกว่าซาโตริ คือการรู้แจ้งฉับพลันมีได้ครั้งเดียว อีกคนหนึ่งบอกว่ามีได้หลายครั้งเพราะผมเองนี่แหละผ่านมาแล้ว

เถียงกันไปเถียงกันมาโดยที่ไม่รู้ว่า การบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนามีอย่างน้อย ๘ ขั้น ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคไปยังอรหัตผล เพราะฉะนั้นถ้าคุณซาโตริไปถึงระดับสุดท้ายก็ทีเดียวจบเลย แต่ถ้าเริ่มตั้งแต่โสดาปัตติมรรคก็คงจะได้ซาโตริกันอีก ๗ - ๘ ครั้ง นักการศาสนาเขามองข้ามจุดนี้ไปก็เลยเถียงกันไม่จบ

หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า สมัยสงครามสถานทูตญี่ปุ่นนิมนต์ให้ท่านไปสวดมนต์ฉันเพลที่นั่น โดยที่ฎีกานิมนต์บอกว่า ถ้ามีภรรยาให้พาไปด้วย หลวงพ่อวัดท่าซุงบอกว่า "เสียท่า...หาไม่ทัน อุตส่าห์เปิดกว้างให้พาเมียไปด้วย ดันไม่มี"

แต่ว่าปัจจุบันนี้เรื่องข่าวคราวอะไรต่าง ๆ พวกนี้ไปถึงกันหมดแล้ว ก็เลยทำให้ประเทศอื่น ๆ เขารู้ว่าพระไทยเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หลวงพ่อพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไปมอบปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ให้เจ้าอาวาสวัดพระหยกที่เซี่ยงไฮ้ ก็ไปกับคณะพระหลายรูป และอาจารย์ มจร.หลายท่าน พอท่านกลับมา อาตมาก็สอบถามอาจารย์ที่ไปด้วยว่าตกลงได้กินข้าวเย็นไหม ? ท่านอาจารย์ก็พูดขำ ๆ ว่า การปฏิบัติของเรานี่เขารู้หมดแล้ว ก็เลยได้แค่น้ำชากาเดียว"

เถรี 28-12-2017 00:09

:cebollita_onion-09: เก็บตกเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ หมดแล้วค่ะ :cebollita_onion-09:
ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทาริกา คะน้า เถรี รัตนาวุธ และเผือกน้อย


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:47


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว