View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๖
พิชวัฒน์
02-12-2023, 20:01
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๖
rhrT9nWvUos
วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ตอนเช้าหลังจากที่ทำการบวชเนกขัมมะให้แก่ทุกคนแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ต้องเดินทางไปยังสนามสอบนักธรรมชั้นโท - ชั้นเอก (สนามหลวง) ที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (พระอารามหลวง) ซึ่งเป็นสนามสอบที่ ๑ ของคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อร่วมพิธีเปิดการสอบวันสุดท้ายของปีนี้
คราวนี้การที่ท่านทั้งหลายบางคน หวังว่ากระผม/อาตมภาพจะเป็นผู้นำในการปฏิบัติธรรมเอง ก็ต้องบอกว่าหลายท่านได้พลาดไปแล้ว เนื่องเพราะว่าเริ่มนำปฏิบัติตั้งแต่ตี ๓ ครึ่ง แต่พวกเรามาเอาตี ๔ ครึ่ง..! เป็นต้น
โดยเฉพาะในส่วนของการปฏิบัติธรรมนั้น ครูบาอาจารย์มีหน้าที่ในการแก้ปัญหาให้กับลูกศิษย์ ไม่ได้มีหน้าที่ในการแบก ในการหาม ในการฉุดกระชากลากถูพวกเราไป แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสเอาไว้ชัดเจนว่า "อักขาตาโร ตถาคตา แม้แต่ตถาคตก็เป็นได้เพียงผู้บอกเท่านั้น" ส่วนบอกแล้ว พวกเราจะทำหรือไม่ทำ ก็ต้องอยู่ในลักษณะของ "ตัวใครตัวมัน" เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเราเอาแต่หวังพึ่งพิงคนอื่นอยู่ ย่อมไม่สามารถที่จะเอาตัวรอดได้
การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การลอกข้อสอบ คนอื่นทำได้ แล้วเราลอกตามก็สอบได้ด้วย การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ใครทำใครได้ ไม่สามารถที่จะทำแทนกันได้ แต่ว่าถ้าหากว่ามีบุคคลบางประเภท ที่ผู้อื่นแค่บอกกล่าวก็สามารถที่จะทำตามได้เลย ถ้าอย่างนั้นต้องบอกว่าเป็นบุคคลที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก
ตัวกระผม/อาตมภาพเอง สมัยที่ปฏิบัติธรรมอยู่ ใครที่ทำได้มากกว่า อย่ามาเล่าให้ฟัง เล่าให้ฟังเดี๋ยวนั้นก็ตามทันเดี๋ยวนั้นเลย..! ดังนั้น..ถ้าหากว่ามีการสนทนาธรรมกันตามกาลที่เหมาะสม ซึ่งบาลีกล่าวว่า กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมํคลมุตฺตมํ ก็จะเปิดโอกาสให้บุคคลประเภทนี้แหละ ที่สามารถปรับกำลังใจ ไล่ตามบุคคลที่ทำได้มากกว่า อยู่ในลักษณะว่า น้ำขึ้นถึงไหน เรือก็ลอยสูงไปแค่นั้น
เพียงแต่อย่าลืมตรงที่ว่า "สนทนาธรรมกันตามกาล" ก็คือเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่เอาแต่พล่ามกันทั้งวัน จนกลายเป็นฟุ้งซ่านไปแทน ดังนั้น..การปฏิบัติธรรม ถ้าเรามีกัลยาณมิตรที่เป็นคู่แข่ง ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมก็จะมีมาก
สมัยที่กระผม/อาตมภาพทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรม ช่วงที่เป็นฆราวาสก็มีคู่แข่ง ซึ่งเป็นผู้หญิงด้วย เป็นคนที่เก่งมาก ถ้ากระผม/อาตมภาพทำอะไรได้ภายในวันสองวัน เขาก็จะทำแบบนั้นได้ แล้วเมื่อนำมาบอกกล่าวกัน ก็จะยันกันอยู่แค่นั้นทุกครั้ง ก็คือเขาทำได้เท่าไร เราทำได้เท่านั้น เราทำได้เท่าไร เขาก็ทำได้เท่านั้น
จนกระทั่งบางทีอีกฝ่ายก็เริ่มรู้สึกว่า กระผม/อาตมภาพกำลังหลอกอำเขาอยู่หรือเปล่า ? ก็คือน่าจะทำได้มากกว่านี้ แต่ไม่ยอมบอก เพราะว่าพอเขาทำได้มากขึ้น แล้วพูดมา ก็จะตรงกันทุกครั้ง สิ่งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นว่า เรามีคู่แข่งขันที่มุ่งเป้าหมายเดียวกัน จึงทำให้ต้องขยัน ขี้เกียจไม่ได้
เมื่อมาบวชเป็นพระ ได้รุ่นพี่ดี ก็คือท่านเจ้าคุณหลวงตาวัชรชัย (พระราชภาวนาพัชรญาณ วิ.) เจ้าอาวาสวัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) ตอนนั้นท่านเป็นพี่เลี้ยงให้ แล้วก็มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์อยู่ ๓ - ๔ รูป หลังจากกรรมฐานรอบค่ำแล้ว เมื่อไปนั่งฉันน้ำปานะกัน ก็จะมีวิเคราะห์วิจัยกันว่า สิ่งที่เราทำมาถูกหรือผิดประการใด ท่านที่มีประสบการณ์มากกว่าก็จะแนะแนวทางให้ แล้วทำให้ผู้อื่นสามารถก้าวเดินตามไปได้ง่ายมาก
บางเรื่องที่วิเคราะห์วิจัยกัน เชื่อว่าท่านทั้งหลายไม่เคยคิดเลย อย่างเช่นว่ามีอยู่วันหนึ่ง เมื่อบิณฑบาตขากลับ มาถึงประตูวัด ก็มีผู้ปฏิบัติธรรมใส่บาตรกันเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ปฏิบัติธรรมหญิงผู้หนึ่ง น่าจะไม่ทราบว่าการปฏิบัติธรรมนั้น เขาห้ามตกแต่งร่างกาย ห้ามใช้ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา ก็เลยใส่น้ำหอมมาด้วย ทันทีที่ได้กลิ่น กระผม/อาตมภาพกลั้นหายใจโดยอัตโนมัติ แล้วก็กำหนดใจดูพี่น้องที่เดินตามกันรับบาตร ปรากฏว่าพระสายใต้ทั้ง ๑๑ รูป กลั้นหายใจกันหมดเลย..!
ดังนั้น..เมื่อตอนเย็นหลังการปฏิบัติธรรมแล้ว ก็มานั่งวิเคราะห์กันว่า "การกลั้นลมหายใจแบบนี้ เป็นการใช้ปัญญาหรือเปล่า ? หรือว่าเป็นการหนีปัญหา ?" เห็นหรือยังว่าพวกท่านเคยคิดแบบนี้บ้างไหม ? ท้ายที่สุด..หลังจากที่วิเคราะห์วิจัยกันแล้วพักใหญ่ ก็สรุปได้ว่า เป็นการใช้ปัญญา เพราะรู้ว่าสู้ไม่ได้ เราต้องหลบก่อน อย่างที่หลวงปู่หล้า วัดภูจ้อก้อ ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเคยบอกไว้ว่า "นักปฏิบัติธรรมอย่าเอาแต่เป็นนักรบอย่างเดียว ต้องรู้จักเป็นนักหลบด้วย"
ถ้ารู้ว่าสู้ไม่ได้ รบไปแล้วตายเปล่า ก็ไม่มีประโยชน์อะไร หลบไปจนกำลังของเรากล้าแข็งพอ แล้วค่อยออกมารบกันใหม่ ก็ในเมื่อรู้ว่าเราไม่สามารถที่จะสู้ได้ ถ้าหากว่าหายใจต่อไป ต้องคิดฟุ้งซ่านแน่นอน ก็กลั้นหายใจไปเลย..หมดเรื่อง เพียงแต่ว่าทั้ง ๑๑ รูป กลั้นใจกันหมด ดูแล้วอยากจะหัวเราะเหมือนกัน โดยเฉพาะเจ้าคุณหลวงตาสมัยนั้น ท่านก็บ่นว่า "ไอ้ห่...Chanel no.5 ด้วย ของโปรดกูเลย..!" แล้วแบบนั้นถ้าหายใจต่อไปจะรอดไหม !?
ในเมื่อมีคู่แข่งในขณะที่เป็นฆราวาส มีพระพี่พระน้องช่วยกันหนุนเสริมการปฏิบัติในขณะที่เป็นพระ เท่านี้ยังไม่พอ ว่างเว้นจากภารกิจประจำเมื่อไร สิ่งที่กระผม/อาตมภาพทำก็คือ อยู่กับการภาวนาทุกลมหายใจเข้าออก ไม่สนใจในเรื่องของการพักผ่อนหลับนอน เดินจงกรมภาวนาไปเรื่อย หมดสภาพตรงไหนก็ "เลื้อย" ตรงนั้นแหละ นอนโดยกำหนดสติว่าเราจะตื่นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ครั้นตื่นขึ้นมาก็เริ่มต้นปฏิบัติธรรมต่อ
คอยระวังอยู่อย่างเดียวว่า งานประจำอย่างเช่นว่า การทำความสะอาดสถานที่ การดูแลโรงครัวตามวันที่ได้รับมอบหมาย การตีกลองเพล เหล่านี้ ตลอดจนกระทั่งการอยู่เวรยามที่หน้าตึกเวลาหลวงพ่อท่านพักผ่อนอยู่ จะไม่ให้พลาด เท่ากับว่าเราฝึกตัวเองด้วย ก็คือต้องกำหนดใจให้ได้ว่า ถึงเวลานั้นแล้วเราต้องรู้สึก ระลึกได้ถึงหน้าที่นั้น เท่ากับเป็นการกำหนดใจให้ทรงสมาธิตามเวลา เมื่อถึงเวลา กำลังใจคลายออกมาก็จะได้รู้ว่า ถึงเวลาที่เราต้องไปปฏิบัติหน้าที่เฉพาะของตัวเองแล้ว พ้นจากหน้าที่เมื่อไร ก็รีบกลับเข้าสู่ที่ภาวนาต่อ
กระผม/อาตมภาพทำโดยไม่เคยคิดว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านจะอยู่ได้ข้ามคืน เนื่องเพราะว่าอาการป่วยของท่านหนักมาก แถมภารกิจยังหนักหนาสาหัส อย่างพรุ่งนี้กระผม/อาตมภาพต้องไปประชุมอีก ของหลวงพ่อท่าน นอกจากงานทางโลกแล้ว งานทางธรรมก็ยังหนัก เพราะว่าพระท่านสั่งให้บันทึกเสียงเอาไว้ เพื่อที่คนรุ่นหลังจะได้มีแนวทางไว้ศึกษา แล้วขณะเดียวกัน แขกที่ไม่เห็นตัว ยังมีมากกว่าแขกที่เห็นตัวเสียอีก จึงแทบจะไม่มีเวลาให้พวกกระผม/อาตมภาพเลย ท่านใช้คำว่า "เมื่อบวชเข้ามาแล้วถือว่าเป็นผู้ใหญ่ หนังสือมี เทปมี ไปอ่านเอาไปฟังเอา แล้วปฏิบัติตาม ติดขัดตรงไหนค่อยมาสอบถาม"
ดังนั้น..ที่กล่าวมาในเบื้องต้น ก็อยากจะสรุปลงตรงที่ว่า ครูบาอาจารย์ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา ที่พึ่งที่แท้จริงของเราคือตัวเอง "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน" เพราะว่าเรื่องของการปฏิบัติธรรมไม่สามารถที่จะทำแทนกันได้ ไม่สามารถที่จะบรรลุแล้วลอกแบบกันได้ ยกเว้นอยู่อย่างเดียวคือ สามารถปรับกำลังใจจนกระทั่งตามเขาได้ทัน
ดังนั้น..ต่อให้ไม่มีกระผม/อาตมภาพอยู่ ท่านทั้งหลายก็ต้องยืนหยัดให้ได้ด้วยตัวเอง เพราะว่าถ้ามัวแต่หวังพึ่งพิงครูบาอาจารย์แบบนั้น ทุกวันนี้กระผม/อาตมภาพก็ไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้ เพราะคิดอยู่เสมอว่า ครูบาอาจารย์อยู่ได้ไม่ข้ามคืน ระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่ เราต้องกอบโกยความรู้ความสามารถให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ติดขัดตรงไหน เรายังมีครูบาอาจารย์ไว้สอบถาม ถ้าสิ้นท่านแล้ว ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะหาครูบาอาจารย์แบบนี้ได้ที่ไหนอีก
จึงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายควรที่จะสังวร และนำไปเป็นแบบอย่าง ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ที่กระผม/อาตมภาพพูดว่า "ทำเหมือนกับแก้บน" นั่นคืออะไร
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันเสาร์ที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.