View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๖
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๖
Dld46FhAuUA
วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพยังคงรับสังฆทานและตอบปัญหาธรรมอยู่ที่บ้านของคุณสหัสชัย - คุณวนิดา ทศกาญจน์ ที่บ้านเลขที่ ๙๑ ถนนเยาวราช ๑ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต หรือที่คนทั่วไปเรียกแถวนี้ว่า "บ้านสามกอง"
ญาติโยมที่มาถามปัญหานั้น หลายปัญหาก็น่าสนใจ แต่บางทีตอบไปแล้วก็อยากจะ "เหวี่ยง" ให้สักทีหนึ่ง อย่างเช่นญาติโยมมาถามว่า "จับภาพพระพร้อมกับภาวนามานาน แต่ว่าภาพพระมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอิริยาบถอื่น ๆ สามารถที่จะจับต่อไปได้ หรือว่าจะต้องกลับไปใช้ของเดิม ?"
กระผม/อาตมภาพก็ตอบไปอย่างชัดเจนแล้วว่า "ถ้าหากว่าเราภาวนาเป็นอนุสติ แล้วเกิดนิมิตเป็นภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา แม้ว่าภาพนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ อย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเป็นพุทธานุสติเหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าโยมจับภาพพระนั้นเป็นกสิณ ถ้าภาพนั้นเปลี่ยนแปลงเป็นพระพุทธรูปลักษณะหรืออิริยาบถอื่น ต้องทิ้งภาพนั้นเสีย กลับมาจับภาพเดิมที่เราเริ่มต้นไว้"
เหตุที่บอกว่าน่า "เหวี่ยง" ก็เพราะโยมถามต่อว่า "การจับภาพพระแบบอนุสติกับการจับแบบภาพพระแบบกสิณต่างกันอย่างไร ?" ทั้ง ๆ ที่บอกไปอย่างชัดเจนแล้วว่า "การจับภาพพระแบบอนุสตินั้น เราอาจจะแค่นึกถึงพร้อมกับภาวนา แต่พอจิตของเราเริ่มสงบ ภาพพระนั้นก็จะชัดเจนแจ่มใสขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นว่า จากภาพพระปางสมาธิ ก็เปลี่ยนเป็นภาพพระพุทธลีลาบ้าง เป็นภาพพระไสยาสน์บ้าง เป็นต้น ถ้าลักษณะอย่างนั้น เราจะกำหนดอย่างไรก็ได้ ก็คือต่อให้เปลี่ยนแปลงขนาดไหน ก็ยังนับเป็นพุทธานุสติอยู่
แต่ถ้าหากว่าจับภาพพระเป็นกสิณ อย่างเช่นว่าใช้ภาพพระแก้ว นับเป็นอาโลกกสิณ ถ้าหากว่าท่านภาวนาไป ภาพพระนั้นเปลี่ยนแปลงเป็นอิริยาบถอื่น หรือว่าเป็นสีสันอื่น ท่านต้องทิ้งภาพเหล่านั้นทันที แล้วกลับมาลืมตามองภาพพระแก้วของเรา พร้อมกับจดจำและภาวนาใหม่ ไม่เช่นนั้นถ้าท่านปล่อยให้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงที่สุดของกองกสิณตามที่ตนเองต้องการได้"
แสดงว่าญาติโยมคนถามนั้นทำมั่วมาโดยตลอด ไม่รู้แม้กระทั่งว่าอนุสติกับกสิณนั้นต่างกันอย่างไร..!? แต่ก็ถือว่ายังดีที่สามารถทำได้ เมื่อรู้แล้วว่าต่างกันอย่างไร ก็จะได้กำหนดจดจำเอาไว้ และประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้องต่อไป
อีกท่านหนึ่งก็ถามว่า "ได้พิจารณาจนกระทั่งเห็นชัดเจนว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ ก็เลยกลับเข้าไปอยู่กับความสงบของใจ ไม่สนใจกับความทุกข์ทางร่างกายนั้นอีก ถือว่าทำถูกต้องแล้วใช่หรือไม่ ?"
กระผม/อาตมภาพก็ตอบไปอย่างชัดเจนว่า "ถ้าในเบื้องต้นถือว่าถูกต้อง" แต่น่าเสียดายมากที่ญาติโยมทำมานานแล้ว แต่ไม่รู้จักวิธีการที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นป่านนี้ญาติโยมที่ทำแบบนี้ ก็อาจจะเห็นหน้าเห็นหลัง เห็นมรรคเห็นผลกันไปแล้ว..!
การพิจารณาทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำเรามา เพราะว่าทุกข์นั้น ทุกคนไม่ปรารถนา ไม่ต้องการ เมื่อถึงเวลาเห็นทุกข์ก็จะผลักไสออกไปโดยเร็ว ทำให้สามารถที่จะหลุดพ้นได้ง่าย แต่ถ้าเรามาพิจารณาในเรื่องของความสุข คนเราแทนที่จะผลักไส กลับกอบโกยเข้าหาตัว โอกาสที่จะปัญญาจะมองเห็นว่า ความสุขนั้นคือความทุกข์น้อยก็เป็นเรื่องที่ยากมาก
แต่คราวนี้ญาติโยมใช้วิธีหนีปัญหา ก็คือเหมือนกับว่าเราเองต้องการที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จ แต่พอเห็นว่างานยาก เราก็หลบไปนอนเสีย ถ้าลักษณะอย่างนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่งานนั้นจะสำเร็จลง สิ่งที่โยมทำได้นั้นเรียกว่าแค่เห็นทุกข์เท่านั้น ยังไม่สามารถเข้าใจถึงความจริงของทุกข์ และยังไม่สามารถที่จะปล่อยวางทุกข์ลงได้อย่างแท้จริง
ลักษณะของการหนีปัญหาแบบนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกับญาติโยมที่ปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ กำลังของ สติ สมาธิ ปัญญา ยังมีน้อย ไม่สามารถที่จะตัด ละ หรือว่าก้าวล่วงกองทุกข์นั้นไปได้ ส่วนหนึ่งก็เลยใช้วิธีแบบ "นกกระจอกเทศเอาหัวซุกทราย" ก็คือคิดว่าถ้ามองไม่เห็นทุกข์ เราก็ไม่ทุกข์แล้ว โดยที่ลืมไปว่า ไม่ว่าเราจะทำด้วยวิธีใด จะหนีด้วยวิธีใดก็ตาม ความทุกข์ก็ยังคงอยู่กับเราตลอดเวลา เพราะว่าทุกข์นี้อยู่กับร่างกายที่เราอาศัยอยู่นี้เอง..!
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ต้องมองให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์อย่างแท้จริง จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย คลายความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของตนเอง เห็นว่าธรรมดาของร่างกายต้องมีความทุกข์เช่นนี้ ถึงจะมีความทุกข์ก็จงมีไปเถิด ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาแล้วมีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้ เราไม่ต้องการอีกแล้ว ชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้ายของเรา ตายเมื่อไร เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว
ถ้าท่านทั้งหลายสามารถทำกำลังใจอย่างนี้ได้ เท่ากับว่าท่านเป็บุคคลที่เห็นความเป็นธรรมดา ถึงความทุกข์เกิดขึ้น ท่านก็ไม่ไปดิ้นรน ส่งส่ายวุ่นวายกับความทุกข์นั้น ๆ ก็จะเป็นเหมือนดั่งกับคนที่ไม่ทุกข์นั่นเอง
จึงเป็นเรื่องที่ฟังแล้วก็เสียดายว่า ญาติโยมเห็นทุกข์มานานปีแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะจัดการทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นให้จบสิ้นลงไปได้ เนื่องเพราะไม่เข้าใจ คิดว่าการกลับเข้าไปอยู่กับความสงบของใจคือสมาธินั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่ความจริงแล้ว สิ่งนั้นเป็นการหนีปัญหาเท่านั้น เพราะว่าความทุกข์ก็ยังคงอยู่กับเราต่อไป
อีกส่วนหนึ่งก็คือญาติโยมทั้งหลายที่มาถึงก็ดีอกดีใจ ว่าได้เจอกระผม/อาตมภาพ หลังจากที่ไม่ได้เจอมาสามปีกว่า เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถึงโยมจะดีใจ แต่กระผม/อาตมภาพไม่ได้ดีใจด้วยเลย แสดงว่ากำลังใจของญาติโยมยังยึดตัวบุคคลอยู่เป็นปกติ
อย่าลืมว่าแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเสด็จดับขันธปรินิพพาน ครูบาอาจารย์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่เนียม วัดน้อย หลวงปูป่าน วัดบางนมโค หรือว่าหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง แม้กระทั่งท่านเจ้าคุณอนันต์ ก็ล่วงลับดับขันธ์ไปหมดแล้ว ตัวกระผม/อาตมภาพเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะหมดวาระลงไปเมื่อไร
การที่ญาติโยมมีกำลังใจยึดติดในตัวบุคคล จึงเป็นการยึดในทางที่ผิด และส่วนใหญ่แล้วพุทธศาสนิกชนในประเทศของเราร้อยละ ๙๐ ก็เป็นเช่นนี้ ก็คือยึดติดในตัวบุคคล ยึดติดในครูบาอาจารย์ พอขาดครูบาอาจารย์หรือว่าครูบาอาจารย์สิ้นไป ก็เกิดอาการเคว้งคว้าง หาหลักไม่เจอ เนื่องเพราะว่าไม่ได้ยึดธรรมเป็นใหญ่
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้พระธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา ก็คือถ้าเราน้อมนำมาปฏิบัติ จะเกิดหลักยึดที่มั่นคงในใจ เป็นคุณของพระรัตนตรัยที่แท้จริง กราบพระพุทธรูป เราก็จะไม่ติดอยู่ที่ทองคำ กราบพระธรรม เราก็ไม่ติดอยู่ที่คัมภีร์ กราบพระสงฆ์ เราก็ไม่ได้ติดอยู่กับมนุษย์ธรรมดา หากแต่ว่าเรากราบในคุณพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง
ท่านทั้งหลายเหล่านี้ยังต้องเพียรพยายาม ใช้ สติ สมาธิ ปัญญา ของตนให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะสมาธิภาวนา ถ้าหากว่าท่านยินดีอยู่แค่การทำบุญให้ทาน แปลว่ากำลังใจของท่านยังห่างจากความจริงที่ต้องการมากเหลือเกิน เนื่องเพราะว่าเหนือจากทานก็ยังมีศีล เหนือจากศีล ก็ยังมีการภาวนา เหนือจากการภาวนายังมีการใช้ปัญญา พิจารณาให้เห็นวิปัสสนาญาณอย่างแท้จริง
เมื่อเห็นอย่างชัดเจนแล้ว สภาพจิตยอมรับความเป็นจริงตามนั้น ปล่อยวางการยึดมั่นถือมั่นลงไปได้ เราจึงมีโอกาสที่จะหลุดพ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว ทางเดินในวัฏสงสารของญาติโยมทั้งหลาย ยังคงยาวไกลเหลือเกิน เพราะว่าทำได้แต่เบื้องต้น คือทานเท่านั้น ในเบื้องกลาง ไม่ว่าจะเป็นสมาธิหรือว่าปัญญา ญาติโยมก็ได้แค่ผิว ๆ ก็คือในส่วนของสมาธิก็ทำบ้างฟุ้งซ่านบ้าง
ในส่วนของปัญญา แทนที่จะพินิจพิจารณาว่า ครูบาอาจารย์กับเรา ไม่ช้าต่างคนก็ต่างตาย ต่างคนก็ต่างไป ญาติโยมกลับยึดมั่นถือมั่นเหมือนกับครูบาอาจารย์ไม่มีวันตาย ถ้าเป็นอย่างนี้ สิ่งที่ท่านทั้งหลายทำมา ย่อมไม่เพียงพอที่จะใช้ในการตัดละกิเลสต่าง ๆ โอกาสที่ท่านทั้งหลายจะเข้าถึงความพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานตามที่ได้ตั้งใจไว้ ก็ยังยาวนานและห่างไกลมา
จึงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลาย เมื่อรู้ตัวแล้ว ต้องเร่งรัดตนเองให้มากขึ้น ไม่ใช่ยินดีอยู่เพียงแค่นี้ ถ้ายินดีอยู่เพียงแค่นี้ แปลว่าเรายินดีที่จะเกิดอีก เมื่อยินดีที่จะเกิดอีก ก็แปลว่าเรายินดีที่จะทุกข์แบบนี้อีก ถ้าอย่างนั้นกระผม/อาตมภาพก็หมดปัญญาที่จะบอกกล่าวท่านทั้งหลายได้ เนื่องเพราะว่าบอกไปก็คงจะไม่เข้าหู บอกไปท่านทั้งหลายก็ไม่ได้ทำตาม หากแต่ว่ายินดีและพอใจอยู่แค่ปัจจุบันนี้เท่านั้น
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.