View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐานเช้า วันจันทร์ที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
เทศน์ช่วงทำกรรมฐานเช้า
วันจันทร์ที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
x4koum_91-U
เชิญรับฟังได้ที่ https://youtu.be/x4koum_91-U
ให้ทุกคนกำหนดความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจ
หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป
หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา
จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม คำภาวนา..อย่าเปลี่ยนบ่อย เพราะว่าจิตมีสภาพจำ ถึงเวลาจะจำของเก่า ถ้าเราไปบังคับให้เปลี่ยนใหม่ก็จะเกิดการยื้อแย่งกัน ของเก่าก็ยังไม่ได้ ของใหม่ก็ทำไม่ดี การภาวนาของเราก็จะเสียเวลาโดยใช่เหตุ
หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป
หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา
การกำหนดฐานลมอยู่ที่ความถนัดแต่เดิมของทุกคน จะกระทบ ๓ ฐาน, ๗ ฐาน, ฐานเดียว หรือรู้ตลอดกองลมก็ได้
หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลเข้าไปพร้อมกับคำภาวนา
หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลออกมาพร้อมกับคำภาวนา
อย่าบังคับลมหายใจ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ร่างกายต้องการหายใจแรง หายใจเบา หายใจยาว หายใจสั้น เราแค่รับรู้ตามเข้าไปเท่านั้น เอาคำภาวนาไหลตามเข้าไป ไหลตามออกมา
บางคนถ้าภาวนามานาน จิตมีความชำนาญแล้ว ทันทีที่ตั้งใจนึกถึงลมหายใจเข้า-ออก สมาธิก็จะทรงตัวอยู่ในระดับที่ตนเองถนัด จึงจะมีการเปลี่ยนแปลงของลมหายใจโดยอัตโนมัติ
บางคนคิดว่าตนเองบังคับลมหายใจ แต่ความจริงไม่ใช่ นั่นเป็นสมาธิที่ทรงอยู่ในระดับที่เราชำนาญ ถ้าอย่างนั้นเราก็มีหน้าที่กำหนดรู้ตามไปเท่านั้นว่าตอนนี้สภาพลมหายใจเราเป็นเช่นนี้
หายใจเข้า..พร้อมกับคำภาวนา
หายใจออก..พร้อมกับคำภาวนา
ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา
เมื่อลมหายใจเข้า-ออกและคำภาวนาสามารถกำหนดได้ชัดเจน ไม่หลุดไปที่ไหน ก็ให้กำหนดภาพพระที่เรารักเราชอบมาหนึ่งองค์ จะเป็นภาพสมเด็จองค์ปฐม เป็นพระวิสุทธิเทพ หรือเป็นพระพุทธรูปสำคัญใด ๆ ก็ได้ หรือจะเป็นภาพพระเครื่องที่มีรูปพระพุทธเจ้าก็ได้
หายใจเข้า..ให้ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้าไป
หายใจออก..ภาพพระไหลตามลมหายใจออกมา
อย่าเอาสายตาเพ่งภาพพระ อย่าเอาความชัดเจน แค่รู้สึกว่ามีภาพพระอยู่กับเราก็พอ
หายใจเข้า..ภาพพระไหลลงไปอยู่ในท้อง
หายใจออก..ภาพพระเลื่อนขึ้นไปบนศีรษะ
หายใจเข้า..ภาพพระไหลลงไปอยู่ในท้อง
หายใจออก..ภาพพระเลื่อนขึ้นไปบนศีรษะ
การกำหนดภาพพระไม่ใช่สาระสำคัญ
จะหายใจเข้า..ให้ภาพพระเล็กลง ๆ ไปอยู่ในท้อง
หายใจออก..ให้ภาพพระใหญ่ขึ้น ๆ ไปอยู่บนศีรษะก็ได้
หรือจะหายใจเข้า..ให้ภาพพระใหญ่ขึ้น ๆ จนครอบตัวเราเอาไว้
หายใจออก..ให้ภาพพระเล็กลง ๆ ไปอยู่บนศีรษะก็ได้
สาระสำคัญอยู่ตรงที่กำหนดภาพพระได้ ไม่ได้อยู่ที่วิธีการว่ากำหนดอย่างไร
หายใจเข้า..ภาพพระไหลลงไปอยู่ในท้อง
หายใจออก..ภาพพระเลื่อนขึ้นไปบนศีรษะ
เมื่อรู้สึกว่าสามารถกำหนดภาพพระ พร้อมกับคำภาวนาได้พร้อมกันมั่นคงดีแล้ว ก็กำหนดให้ภาพพระนั้นนิ่งอยู่บนศีรษะของเรา
หายใจเข้า..ให้ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจออก..ให้ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น
อย่าใช้สายตาเพ่งภาพพระ อย่าเอาความสว่างเป็นประมาณ อย่าเอารายละเอียด แค่รู้สึกว่ามีภาพพระอยู่บนศีรษะของเรา
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น เท่านี้ก็พอแล้ว
รายละเอียด ความชัดเจน ความสว่าง จะมีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าสมาธิเราทรงตัวมากขึ้น
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น
อย่ากำหนดตามคำพูด เราจะกำหนดตามได้ก็ต่อเมื่อสมาธิเท่ากัน กำหนดตามความสบายของแต่ละคน
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น
กำหนดให้ความสว่างนั้นค่อย ๆ คลุมตัวเราลงมาด้วย จากศีรษะลงมาถึงหน้าผาก ถึงดวงตา ถึงจมูก ถึงปาก ถึงคาง ถึงคอ ถึงหัวไหล่ ถึงหน้าอก ถึงลิ้นปี่ ถึงท้อง ถึงสะโพก ถึงต้นขา ถึงหัวเข่า ถึงหน้าแข้ง ถึงข้อเท้า ถึงฝ่าเท้า ถึงนิ้วเท้า
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
เมื่อรู้สึกว่าภาพพระและตัวเราสว่างไสวกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ก็กำหนดให้ความสว่างนั้นแผ่กว้างออกไปรอบตัวเรา
หายใจเข้า..ความสว่างไสวแผ่กว้างออกไป ๆ
หายใจออก..ความสว่างไสวแผ่กว้างออกไป ๆ
จะรู้สึกเหมือนกับเราโยนหินลงไปในน้ำแล้วกระเพื่อมเป็นวง ๆ ออกไปก็ได้ หรือรู้สึกว่าเหมือนกับมีลูกบอลใส ๆ ที่มีตัวเราเป็นศูนย์กลางค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น ๆ ก็ได้ หรือจะรู้สึกว่าตัวเราที่สว่างไสวค่อย ๆ โตขึ้น สว่างขึ้น โตขึ้น สว่างขึ้นก็ได้
หายใจเข้า..ความสว่างไสวแผ่กว้างออกไปรอบกายของเรา กว้างออกไปทั้งศาลาหลังนี้ กว้างออกไปทั้งวัด กว้างออกไปทั้งหมู่บ้าน กว้างออกไปทั้งตำบล กว้างออกไปทั้งอำเภอ กว้างออกไปทั้งจังหวัด
บางท่านรู้สึกเหมือนกับตัวเราลอยสูงขึ้น ๆ ขอบเขตการมองเห็นกว้างออกไป ๆ บางคนก็รู้สึกว่าตัวเองใหญ่ขึ้น ๆ จนกระทั่งสามารถครอบคลุมพื้นที่กว้างออกไป ๆ
ให้ตั้งใจกำหนดว่า..สิ่งที่สว่างไสวหรือใหญ่ขึ้น นั่นคือ บารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แผ่ปกไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพ ทุกภูมิ ทุกหมู่ ทุกเหล่า ท่านที่มีความทุกข์ ขอให้พ้นจากกองทุกข์ ท่านที่มีความสุข ขอให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ให้กำหนดใจว่า..มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นตกล่วงไปแล้วในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงไปเสวยสุขในสุคติภพโดยถ้วนหน้ากันเถิด
กำหนดความสว่างไสวแผ่กว้างออกไปทั้งประเทศ กว้างออกไปทั้งทวีป กว้างออกไปทั้งโลก รู้สึกเหมือนตัวเราใหญ่โตเต็มแผ่นดินแผ่นฟ้า โลกนี้เป็นวัตถุเล็ก ๆ อยู่ภายใต้ร่างกายของเรา สามารถกำหนดจิตครอบคลุมได้ทั่วถึงในฉับพลันทันที
ให้ตั้งใจว่า..มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นตกอยู่ในความทุกข์ยากเศร้าหมอง เดือดร้อนลำเค็ญ ทุกข์กายทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใด ๆ ก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเถิด
กำหนดให้ความสว่างไสวแผ่กว้างออกไปครอบคลุมทั้งโลก กว้างไปสู่ดวงดาวอื่น ๆ ในสุริยจักรวาล กว้างออกไปทั่วดาราจักรทางช้างเผือก กว้างออกไปทั่วทั้งเอกภพ เบื้องบนจรดพรหมชั้นที่ ๑๖ เบื้องล่างถึงอเวจีมหานรก
ให้ตั้งใจว่า..มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเถิด
มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว พึงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน เสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากยิ่งกว่าตนให้พ้นทุกข์ เพื่อยังโลกทั้งหลายไปสู่สันติสุขอันสมบูรณ์ด้วยเถิด
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น..
สว่างไสวครอบคลุมไปทั้งแสนโกฏิจักรวาล สว่างไสวไปทั่วทุกภพ ทุกภูมิ ทุกหมู่ ทุกเหล่า
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
อย่าใช้สายตาเพ่งภาพพระ ไปกำหนดเพ่งมองแบบนั้นถ้าเลิกแล้วเดี๋ยวจะปวดหัว นึกถึงภาพพระเหมือนเรานึกถึงบ้าน นึกถึงคนอื่น ภาพที่ปรากฏชัดเจนไม่ใช่ตาเห็น เป็นการเห็นด้วยใจ
หลังจากนั้นกำหนดให้ภาพพระสว่างไสวบนศีรษะของเรา
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น
เมื่อรู้สึกว่าภาพพระสว่างไสวชัดเจนดีอยู่แล้ว ก็ดึงภาพพระนั้นเข้ามาอยู่ในศีรษะของเรา รู้สึกเหมือนกับภายในศีรษะนั้นว่างเปล่า ในศีรษะของเราว่าง ๆ โล่ง ๆ มีภาพพระสว่างไสวอยู่ตรงกลาง น้อมจิตน้อมใจกราบลงตรงภาพพระนั้น ว่านั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาโปรดมาสงเคราะห์เรา
อาการทางกายเป็นอย่างไร..ไม่ต้องไปสนใจ จะขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง หรือรู้สึกพองไปทั้งตัว..ก็ช่างมัน
น้อมใจกราบลงตรงภาพพระนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า "ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้หาความเที่ยงแท้ไม่ได้ ประกอบไปด้วยความทุกข์" เรามาดูว่าเป็นอย่างที่พระองค์ท่านบอกไว้จริงหรือไม่
ให้กำหนดใจย้อนกลับไปเมื่อครู่นี้..ที่เราเดินมาที่ศาลาปฏิบัติธรรม ย้อนกลับไปถึงที่พัก ย้อนกลับไปตอนเข้าห้องน้ำห้องส้วม ย้อนกลับไปถึงตอนนอน ย้อนกลับไปถึงก่อนนอน..
ย้อนกลับไปเมื่อวาน เมื่อ ๒ วัน เมื่อ ๓ วัน เมื่อ ๔ วัน เมื่อ ๕ วัน เมื่อ ๖ วัน..
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ๒ อาทิตย์ที่แล้ว ๓ อาทิตย์ที่แล้ว..เดือนที่แล้ว..
ปีที่แล้ว ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี..
ย้อนไปเรื่อย ๆ..จนไปถึงตอนที่เราเป็นจุดปฏิสนธิ์เล็ก ๆ อยู่ในท้องแม่ โดนไฟธาตุของแม่เคี่ยวเข้าก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขยายตัวขึ้นมา
จากจุดปฏิสนธิ์เล็ก ๆ ก็เป็น ๒, เป็น ๔, เป็น ๘, เป็น ๑๖, เป็น ๓๒, เป็น ๖๔, เป็น ๑๒๘, เป็น ๒๕๖.. กลายเป็นก้อนเลือดเหมือนอย่างกับกำปั้นเด็ก ค่อย ๆ มีดวงตาปรากฏขึ้น มีหน้าผาก มีกะโหลกศีรษะ ลำตัวค่อย ๆ ยืดออกตามกระดูกสันหลัง มีแขน มีขา มีอวัยวะภายในภายนอก หัวหูหน้าตา
ถ้าหากว่าเที่ยงแท้แน่นอนจริงจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง แต่นี่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาถึงขนาดนี้แล้ว
เมื่อครบ ๙ เดือนก็คลอดก็เคลื่อนจากท้องแม่ออกมา ถ้าเที่ยงแท้จริง ๆ ต้องอยู่แต่ข้างใน นี่ออกมาอยู่ข้างนอกแล้ว..!
เป็นเด็กเล็ก นอนหงายตะกายอากาศ ค่อย ๆ หัดคว่ำ หัดคืบ หัดคลาน ไม่มีฟันก็มีฟัน เดินไม่ได้ก็หัดตั้งไข่ หกล้มหกลุก ยืนได้ เดินได้ วิ่งได้ จากเด็กเล็กเป็นเด็กโต เป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว เป็นหนุ่มสาวเต็มตัว ก้าวสู่วัยกลางคน เป็นคนแก่ แล้วก็ตาย
บางคนก็ตายตั้งแต่เล็ก ๆ บางคนเป็นเด็กโตแล้วค่อยตาย เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วค่อยตาย เป็นวัยกลางคนแล้วค่อยตาย บางคนแก่หงำเหงือกแล้วก็ยังไม่ยอมตาย
สภาพร่างกายไม่เที่ยงเช่นนี้ พยายามกำหนดดูกำหนดรู้ให้ชัดเจน ถ้ารู้สึกว่าการกำหนดไม่ชัดเจน เลือนลางหายไป ก็นึกถึงภาพพระและลมหายใจเข้าออกใหม่
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
เมื่อภาพพระสว่างไหวชัดเจนแล้ว ก็ยกข้อธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพิจารณาต่อ..พระองค์ท่านตรัสว่า "ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์"
เราก็ย้อนคืนกลับไปยังที่ทำเมื่อครู่นี้..ไปเมื่อวาน ไปอาทิตย์ที่แล้ว ไปเดือนที่แล้ว..ปีที่แล้ว, ๒ ปี, ๓ ปี, ๔ ปี, ๕ ปี, ๑๐ ปี, ๒๐ ปี..
ย้อนกลับไป..จนเป็นจุดปฏิสนธิ์ในท้องแม่ โดนไฟธาตุของแม่เคี่ยวเผาอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหมือนกับอยู่ในหม้อนึ่ง ร้อนจนบอกไม่ถูก
เมื่อค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงใหญ่โตขึ้น ก็คับแคบ อึดอัด ขยับกายก็ไม่ได้ พยายามดิ้นรนไปมาเพื่อให้หายปวดหายเมื่อย เรานั่งแค่พักเดียวก็ปวดเมื่อยแทบตาย นั่นต้องอยู่ในท้องตั้ง ๙ เดือน - ๑๐ เดือน อยู่ในที่แคบ ๆ จะปวดจะเมื่อยขนาดไหน..ลองนึกดู..!
เมื่อคลอดเคลื่อนผ่านออกมากระทบความหนักของอากาศ แสบร้อนไปทั้งกาย ร้องไห้จ้า.. หิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ต้องอึต้องฉี่ สกปรกโสโครกต้องชำระร่างกายตนเอง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความทุกข์ เป็นปกติของร่างกาย
พยายามเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อเอาชีวิตรอด หัดพลิกคว่ำ กว่าจะคว่ำได้เหนื่อยแทบตาย หัดคลาน หัดยืน หกล้มหกลุก หัดเดิน หัดวิ่ง กว่าจะได้แต่ละอย่างล้วนแล้วแต่ยากลำบากเหลือเกิน
ระหว่างนั้นก็หิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ต้องเข้าห้องน้ำห้องส้วม สกปรกโสโครกต้องชำระร่างกาย เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาล
ต้องเล่าเรียนวิชาความรู้ ตะเกียกตะกายไปโรงเรียนแต่เช้า ยังไม่ทันจะหายง่วงก็ต้องตื่นแล้ว ระหว่างที่เรียนอยู่ก็โดนเพื่อนฝูงกลั่นแกล้งบ้าง โดนครูบาอาจารย์ดุด่าบ้าง มีแต่การบ้านท่วมหัวบ้าง เครียดไปหมด เราอาจจะโชคดีเรียนจบมาได้
ระหว่างนั้น..เมื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่ม เป็นสาว ก็รักก็ชอบเพศตรงข้าม ทันทีที่รักที่ชอบเขาก็ทุกข์ใจอย่างบอกไม่ถูก กลัวเขาจะไม่รักเรา กลัวคนอื่นจะมาแย่งไป..
แล้วยังหิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ต้องเข้าห้องน้ำห้องส้วม สกปรกโสโครกต้องชำระร่างกาย เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาล
สมมติว่าเราเก่งมาก เรียนจบ โชคดีมาก ๆ ที่เพศตรงข้ามยินดีเป็นคู่ครองด้วย แต่งงานแต่งการกันไป ก็จะมีไอ้ตัวเล็กปรากฏขึ้นมา..
จากความทุกข์ดั้งเดิมของเราแค่ขันธ์ ๕ หิวขึ้นมา ยังไม่มีกินจะไม่กินก็ได้ ไม่อาบน้ำอาบท่าสัก ๒ วัน ๓ วันก็ไม่เป็นไร แต่พอมีคู่ขึ้นมา เขาหิวก็เหมือนกับเราหิวด้วย เขาป่วยก็เหมือนเราป่วยด้วย ต้องคอยเอาใจใส่ ต้องดูแล
เมื่อมามีเจ้าตัวเล็ก เป็นเทวดาจ้อยนางฟ้าจิ๋วขึ้นมา ก็ยิ่งหนักหนาสาหัส ร้องเรียกความสนใจอยู่ตลอดเวลา หิวต้องหาให้กิน กระหายต้องหาให้ดื่ม สกปรกต้องช่วยทำความสะอาดชำระล้าง ง่วงแค่ไหนก็ต้องตื่นขึ้นมาดู มีความสุขหรือมีความทุกข์กันแน่..?
ร่างกายก็ค่อย ๆ แก่ชราลงไป ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ..
แล้วยังคงหิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ต้องอึต้องฉี่ เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาล
ความทุกข์มีอยู่เท่าเดิม แต่ร่างกายเข้าสู่วัยชราเลยดูทุกข์มากยิ่งกว่าเดิม หูดับ ตาฟาง ฟันหลุด ผิวหนังเหี่ยวย่น ร่างกายโค้งงอ เจ็บโน่น ปวดนี่ เมื่อยนั่น จนกระทั่งทุกขเวทนาบีบคั้นจนถึงที่สุด สภาพจิตทนไม่ได้ แตกสลายตายพังไป
ร่างกายมีความทุกข์เช่นนี้เอง ตัวเราก็ทุกข์เช่นนี้ คนอื่นก็ทุกข์เช่นนี้ สัตว์อื่นก็ทุกข์เช่นนี้ ขึ้นชื่อว่าเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ตายเมื่อไร..เราขอไปที่เดียว คือ "พระนิพพาน"
หายใจเข้า..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
หายใจออก..ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น
ลมหายใจเบาลง..ก็ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง
ลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป..ก็กำหนดรู้ว่าลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป
เอาใจจดจ่ออยู่ที่ภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสว่างไสวครอบคลุมเราอยู่ กำหนดใจว่า..ถ้าวันนี้หมดอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตก็ตาม เราขอมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานนี้แห่งเดียวเท่านั้น..!
ให้รักษากำลังใจจดจ่ออยู่กับภาพพระเช่นนี้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
(สัญญาณบอกว่าหมดเวลา)
พุทโธ พุทโธ พุทโธ..
ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ..
ค่อย ๆ คลายสมาธิออกช้า ๆ กำหนดใจให้นิ่งอยู่ที่ภาพพระ หรืออยู่ที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเราก่อน แล้วค่อยขยับเขยื้อนเคลื่อนกาย ไม่อย่างนั้นแล้วสมาธิจะหลุดหายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ขยับให้หายปวดหายเมื่อย แล้วจะได้ทำวัตรเช้ากันต่อไป
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐานเช้า
วันจันทร์ที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.