View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕
hlcsWp9iBuY
วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แม้ว่ายังอยู่ในช่วงที่ลาโดยสัตตาหกรณียะ แต่กระผม/อาตมภาพก็ต้องวิ่งกลับวัดท่าขนุน เพื่อไปเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมพิธีกรและศาสนพิธีกรตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งดำเนินการโดยสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าไม่ใช่ผู้ที่มีความชำนาญหรือว่าเชี่ยวชาญจริง ๆ ก็อาจจะใช้คำพูดที่ผิดหรือว่าอาจจะกระทำผิด และก่อให้เกิดความเสียหายได้มากอย่างที่คิดไม่ถึง
อย่างเช่นว่า การใช้ธูปเทียนแพนั้น ถ้าหากว่าเป็นงานมงคล ให้หันด้านที่เป็นธูปขึ้น ถ้าหากว่าเป็นงานอวมงคล ให้หันด้านที่เป็นเทียนขึ้น เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว พวกเราเองอาจจะขาดการสังเกตเพราะไม่รู้ ก็อาจจะทำผิด อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่าไปขอขมาพระเถระ แล้วเราใช้ธูปเทียนแพ โดยหันเทียนขึ้น ซึ่งโบราณก็ถือในลักษณะที่ว่าเป็นการขอขมาศพ..!
ดังนั้น...เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องศึกษาเพื่อที่จะให้รู้จริง อย่างเช่นว่า บางทีมีการดึงสายโยงเพื่อที่จะทอดผ้าบังสุกุล พิธีกรก็ไปใช้คำว่า "ภูษาโยง" คำว่า ภูษาโยงนั้นจะใช้ได้เฉพาะงานพระบรมศพ หรือว่างานพระศพระดับตั้งแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ขึ้นไปเท่านั้น ถ้างานทั่ว ๆ ไปก็ใช้คำว่า "สายโยง" ซึ่งบางทีก็เป็นสายสิญจน์ทั่วไปนั่นเอง
แต่คราวนี้ ถ้าใช้คำว่า "สายโยง" ก็คืองานที่เกี่ยวเนื่องด้วยงานศพ ถ้าใช้คำว่า "สายสิญจน์" เมื่อไร กลับกลายเป็นงานมงคลเมื่อนั้น อย่างเช่นว่ามีการตั้งขันน้ำมนต์วงสายสิญจน์ เป็นต้น ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็คืองานมงคล อย่างเช่นว่า ขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน หรือถ้าหากว่าไม่มีการตั้งขั้นน้ำมนต์ ก็แปลว่างานนั้นเป็นงานอวมงคล ก็คืองานที่เกี่ยวเนื่องด้วยงานศพ ถ้าเราไม่รู้ ไปใช้คำพูดผิด ก็อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ตนเอง
อันดับแรกก็คือ เราเป็นผู้ที่ไม่รู้ อันดับต่อไปก็คือ ครูบาอาจารย์ก็โดนตำหนิไปด้วย ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเป็นงานที่เนื่องด้วยพระราชพิธีแล้วเราทำผิด ก็อาจจะเจอข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ง่าย ๆ..!
ดังนั้น...ในเรื่องของการฝึกฝนอบรมพิธีกรและศาสนพิธีกรตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะในส่วนที่ฆราวาสใช้คำพูดเกี่ยวกับพระ อย่างเช่นว่า สมัยที่กระผม/อาตมภาพจัดงานฉลองสัญญาบัตรพัดยศที่พระครูวิลาศกาญจนธรรม พิธีกรใช้คำว่า "ได้รับสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ซึ่งเป็นการใช้ที่ผิดพลาดเกินไปอย่างมากมายมหาศาล
เนื่องเพราะว่าคำว่า "สถาปนา" นั้น ใช้ได้ตั้งแต่พระราชาคณะระดับเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ หรือที่เราเรียกกันว่า รองสมเด็จพระราชาคณะ หรือว่าเป็นสมเด็จพระราชาคณะ (สุพรรณบัฏ) หรือว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราช ถ้าอย่างนี้ใช้คำว่าสถาปนาได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นสัญญาบัตรทั่วไป ถ้าได้รับการแต่งตั้งใหม่ให้ใช้คำว่า "ได้พระราชทานตั้ง" ถ้าหากว่าตั้งแล้วได้รับเลื่อน ให้ใช้คำว่า "ได้รับพระราชทานเลื่อน" เป็นต้น
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นความละเอียดอ่อน เราจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไปเรื่อย เพราะว่าหลายอย่างนั้น บุคคลนอกวงการไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย แม้กระทั่งบุคคลในวงการ ถ้าขาดการสังเกตก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เช่นกัน
อย่างเช่นที่อำเภอทองผาภูมิ ถ้าเป็นพิธีหลวง ต้องมีการใช้พัดยศ ซึ่งจะไม่ได้นั่งตามลำดับพรรษา แต่นั่งตามลำดับความใหญ่เล็กของพัดยศ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานตั้ง หรือพระราชทานเลื่อนให้ก็ตาม
คาดว่าบุคคลที่สามารถจัดเรียงพัศยศให้ถูกต้องตามลำดับได้ น่าจะมีกระผม/อาตมภาพอยู่เพียงรูปเดียว สำหรับท่านอื่น ๆ อย่างน้อยก็ต้องถามว่าเป็นพัดยศชั้นไหน ไม่สามารถที่จะมองหน้าพัดแล้วบอกได้เลยว่านี่เป็นพัดยศเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก นี่เป็นพัดยศรองเจ้าคณะอำเภอชั้นโท นี่เป็นพัดยศเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ นี่เป็นพัดยศเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก นี่เป็นพัดยศเจ้าคณะตำบลชั้นเอก นี่เป็นพัดยศเจ้าคณะตำบลชั้นโท เป็นต้น
พัดยศของพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ในเขตอำเภอทองผาภูมินั้น พัดยศของพระครูวิลาศกาญจนธรรม รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน เป็นพัดยศที่แยกแยะได้ง่ายที่สุด เนื่องเพราะว่าเป็นพัดยศเทียบเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ หรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า "พัดขาว"
พระครูสัญญาบัตรที่ได้รับพัดยศฝ่ายวิปัสสนาธุระของจังหวัดกาญจนบุรี เท่าที่สืบทราบได้ เพิ่งจะมีแค่ ๔ รูป และปัจจุบันนี้ที่อยู่ยงดำรงขันธ์ ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีเพียงพระครูวิลาศกาญจนธรรมรูปเดียว รูปแรกที่ได้ก็คือพระเดชพระคุณหลวงพ่ออุตตมะ ท่านได้พระครูสัญญาบัตรฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ "พระครูอุดมสิทธาจารย์ วิ."
ลำดับต่อไปก็คือหลวงพ่อจุ่น วัดเขาสะพายแร้ง สมณศักดิ์ของท่านก็คือพระครูสมณธรรมนิวิฐ วิ. เป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระเช่นกัน
กระผม/อาตมภาพนั้น แม้ว่าจะรับพร้อมกับหลวงพ่อศรี (พระครูภาวนาธรรมโชติ วิ.) เจ้าอาวาสวัดหนองขอนเทพพนมก็ตาม แต่ว่าของกระผม/อาตมภาพเป็นพัศยศเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก จึงได้รับก่อน นับเป็นรูปที่ ๓ ของจังหวัดกาญจนบุรี แล้วถัดไปจึงเป็นพัดยศเจ้าอาวาสชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อศรี วัดหนองขอนเทพพนม ซึ่งหลวงพ่อศรีเมื่อรับพัดศมาแล้วประมาณ ๑ ปีก็มรณภาพไป
ดังนั้น...ในเรื่องของพัดยศฝ่ายวิปัสสนาธุระสามารถแยกแยะได้ง่ายที่สุด เพราะว่าจะเป็นสีขาว ถ้าหากว่ามีลายปักก็จะเป็นลายปักสีทอง เราก็แค่มาแยกแยะให้ได้ว่าเป็น ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก
อย่างพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณหลวงตาวัชรชัย (พระราชภาวนาพัชรญาณ วิ.) นั้น สมัยก่อนนี้ท่านก็รับพัดยศพระครูสัญญาบัตรฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นพัดยศเจ้าอาวาสชั้นตรี ก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าหากว่านับในตำแหน่งพระครูแล้ว กระผม/อาตมภาพต้องนั่งเหนือเจ้าคุณหลวงตาในสมัยนั้น แต่ว่ามาในสมัยนี้ เจ้าคุณหลวงตานั่งเหนือห่างไปจนสุดกู่ปลายตะโกน
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในจำนวนพัดยศชั้นเดียวกัน อย่างเช่นว่าพัดยศของพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ถ้าหากว่าเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ จะนั่งเหนือพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกทั้งหมด ก็คือศักดิ์ศรีสูงกว่าฝ่ายคันถธุระ เป็นต้น
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในวงการต้องศึกษาเรียนรู้เข้าไว้ พิธีกรหรือศาสนพิธีกรก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาเรียนรู้พิธีกรรมพิธีการต่าง ๆ เพื่อที่ถึงเวลาแล้ว จะได้แนะนำให้ถูกต้อง เหมือนอย่างที่กระผม/อาตมภาพไม่ยอมให้จัดโต๊ะหมู่บูชาแล้วตั้งโต๊ะกราบ เพราะว่าคนไทยเรากราบโดยเบญจางคประดิษฐ์ ก็คือ ๑ ศีรษะ ๒ ศอก ๒ เข่าต้องสัมผัสพื้นพร้อมกัน ถ้าตั้งโต๊ะกราบก็จะทำให้ไม่ครบเบญจางคประดิษฐ์
ในช่วงแรก ๆ ก็ต้องมีการชี้แจ้งให้กับประธาน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสงฆ์หรือว่าฝ่ายฆราวาสได้รู้ว่า การตั้งโต๊ะกราบนั้นเป็นการกระทำที่ผิดวิธี กว่าจะเป็นที่ยอมรับกันได้ก็ใช้เวลาอยู่หลายปี แล้วตอนนี้คณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีส่วนหนึ่ง ก็เริ่มยกเลิกโต๊ะกราบแล้ว โดยเลียนแบบสิ่งที่วัดท่าขนุนได้ทำเป็นตัวอย่าง
หรือว่าในเรื่องของการจัดตั้งกระถางธูปเชิงเทียนนั้น เราต้องเข้าใจว่า ธูปเทียนเป็นเครื่องหมายแทน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ดังนั้น..ในส่วนของกระถางธูปเชิงเทียน อย่างไรเสียก็ต้องอยู่ในโต๊ะเดียวกัน อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่สามารถที่จะแยกตั้งเป็นคนละโต๊ะไปได้ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่าเราไปแยกพระรัตนตรัยออกจากกัน ซึ่งเรื่องพวกนี้จะกล่าวว่าเป็นการฟุ้งซ่านของคนก็ได้ แต่คราวนี้ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและโบราณนิยมกันมาอย่างไร แล้วเราสามารถเรียนรู้และจัดให้เป็นไปตามนั้นได้ เราก็จะไม่ขายหน้าคนอื่นเขา เรียกว่าสมกับที่ "เป็นศิษย์มีครู"
อีกส่วนหนึ่งที่อยากจะกล่าวในวันนี้ก็คือว่า มีญาติโยมบางท่านคัดลอกเอาเนื้อหาของเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนก็ดี ของธรรมะบรรยายต่าง ๆ ที่กระผม/อาตมภาพเคยพูดเคยเทศน์เอาไว้ก็ดี เป็นการคัดลอกไปทั้งดุ้น โดยที่เปลี่ยนแค่ชื่อเป็นของตัวเองแค่นั้น
สิ่งที่ท่านทำนั้น ต้องบอกว่าผิดมารยาทอย่างร้ายแรง เพราะว่าอันดับแรกเลยก็คือไม่มีการขออนุญาตจากต้นแหล่ง ก็คือวัดท่าขนุน อันดับที่สองก็คือ เนื้อหาทั้งหมดไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย นอกจากเปลี่ยนชื่อผู้ที่นำไปอัพลงยูทูบเท่านั้น
กระผม/อาตมภาพไม่ได้หวงความรู้ทางพระพุทธศาสนา แต่ว่าอย่างน้อยท่านก็ควรที่จะให้เครดิต ในลักษณะที่ว่าลิงค์มาจากเว็บวัดท่าขนุนก็ได้ หรือว่าอ้างอิงให้ชัดเจนก็ตาม ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับว่าท่านกำลังผิดพระราชบัญญัติเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ถ้าวันไหนบรรดาลูกศิษย์ "ของขึ้น" แล้วมีการฟ้องร้องขึ้นมา ท่านเองก็จะเดือดร้อนอย่างที่ไม่สามารถจะแก้ตัวได้เลย ดังนั้น ถ้าหากว่ารู้แล้วก็ขอให้แก้ไขให้ถูกต้องตามนี้ด้วย
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.