View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
LGqgtzPq0PU
วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ภายในเว็บวัดท่าขนุนและเฟซบุ๊ก ก็ยังคงเต็มไปด้วยความวุ่นวายของบุคคลที่รอพระยอดขุนพลกาญจนบุรี ว่าเมื่อไรจะส่งมาถึงมือให้ชื่นชมเสียที ซึ่งตรงนี้ต้องขออภัยต่อญาติโยมทั้งหลายว่า เจ้าหน้าที่ของเราอดตาหลับขับตานอน บรรจุกล่องวัตถุมงคลไปตามลำดับ ก็คือถ้าหากว่าใครจอง ๑ องค์ในกระทู้แรกก็บรรจุให้ก่อน แล้วตามมาด้วย ๒ องค์และ ๓ องค์ตามลำดับไป
เหตุที่ต้องทำอย่างนั้นโดยที่ไม่ได้รวมเป็นกล่องเดียว ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น กระนั้นก็ยังมีผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ เพราะว่าต่อให้เป็น AI หรือว่าปัญญาประดิษฐ์ ก็ยังมีข้อผิดพลาดได้ อย่าว่าแต่มนุษย์ด้วยกันเลย จึงต้องขอให้ท่านทั้งหลายที่จองเอาไว้เป็นจำนวนมาก โปรดรอไปสักระยะหนึ่ง เนื่องเพราะว่าภายในคืนนี้อาจจะเป็นการบรรจุสำหรับผู้ที่จองเอาไว้ ๓ องค์ขึ้นไป
ในส่วนนี้ก็ต้องบอกว่าท่านทั้งหลายโปรดอดใจรอสักนิดหนึ่ง ถือว่าเป็นการระลึกถึงพุทธานุสติเต็มรูปแบบ "หลับตาก็เห็นพระยอดขุนพลกาญจนบุรี ลืมตาก็เห็นพระยอดขุนพลกาญจนบุรี" ภาวนาคาถาอาราธนารอรับไปพลาง ๆ ก่อนก็ได้
สำหรับวันนี้ภารกิจของกระผม/อาตมภาพที่สำคัญที่สุดก็คือ การไปร่วมโครงการอบรมพระสังฆาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ รุ่นที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งนำเอาเจ้าอาวาสใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว แต่ไม่สามารถจะเข้าอบรมได้ เพราะว่าเกิดภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙
ในเมื่อถึงเวลาที่เชื้อไวรัสจางบางเบาลง ประกอบกับความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองก่อนที่จะเข้ารับการอบรม ก็ทำให้สามารถที่จัดงานได้ในช่วงนี้ แต่ว่าเจ้าอาวาสทั้ง ๒ ปี รวมกัน ๙๙ รูป ก็ยังมีบุคคลที่ไม่ผ่านการตรวจ ๒ รูป ซึ่งบัดนี้โดนส่งไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลวัดไร่ขิงเรียบร้อยแล้ว จนกว่าที่จะหายดี แล้วถ้ามีการอบรมครั้งหน้า ก็จะต้องมามีพรรคพวกเพื่อนฝูงอีกรุ่นหนึ่ง ถือว่าเป็นกำไรชีวิต ก็คือกลายเป็นบุคคลที่มีเพื่อนมาก..! เข้าอบรมรุ่นนี้ แต่ไปสำเร็จเอารุ่นโน้น เป็นต้น
คราวนี้ในส่วนของการอบรมนั้น ก็จะเน้นในเรื่องของงานการปกครองคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้าน ได้แก่ ด้านการปกครอง ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้านการศาสนศึกษา ด้านการสาธารณูปการ คือการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ด้านการศึกษาสงเคราะห์ คือช่วยเหลือเกี่ยวกับการเรียน และช่วยเหลือโรงเรียนในด้านต่าง ๆ
ตลอดจนกระทั่งด้านการสาธารณสงเคราะห์ คือการช่วยเหลือเป็นการทั่วไปเมื่อเกิดสาธารณภัย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดในที่ใดก็ตาม ถ้าอยู่ในขอบเขตที่ตนเองสามารถจัดการได้ หรือว่าอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของตน ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะต้องไปให้การช่วยเหลือทันที เพราะว่าบุคคลที่เดือดร้อนนั้น ก็คือญาติโยมที่ให้การสนับสนุนวัดวาอารามของเรานั่นเอง
อีกส่วนหนึ่งที่บรรดาเจ้าอาวาสใหม่ได้รับก็คือ ประสบการณ์ของพระสังฆาธิการเจ้าคณะปกครองชั้นสูง ตั้งแต่ระดับมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะอำเภอ เป็นต้น ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ตนเองผ่านมาแล้วในการเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งบางท่านก็เป็นเจ้าอาวาสมาถึง ๕๐ กว่าปี เป็นต้น
ในวันนี้พระเดชพระคุณพระเทพมหาเจติยาจารย์ (ชัยวัฒน์ ปญฺญาสิริ ป.ธ.๙) เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ท่านก็ได้ให้ข้อคิดว่า โบราณบอกว่า "การปกครองนั้น กรุณาต้องให้สมกับเหตุ โกรธต้องให้สมกับอำนาจ การเพิ่มพูนต้องให้สมกับการตัดรอน" ตรงนี้ถ้าหากว่าไม่ได้รับคำอธิบาย บางท่านก็อาจจะเข้าใจเพียงเลา ๆ เท่านั้น
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้เมตตาให้คำอธิบายไว้ว่า กรุณาสมควรแก่เหตุ ก็คือ เราเป็นผู้ปกครอง ก็ต้องมีความเด็ดขาด มีทั้งพระเดช มีทั้งพระคุณ กรุณานั้นจัดว่าเป็นพระคุณ แต่ถ้าหากเราใจอ่อน สงสารผู้กระทำผิดอยู่ร่ำไป ก็ไม่อาจที่จะทำให้ผู้กระทำผิดนั้นได้สำนึก จึงต้องมีการลงโทษกันบ้าง
ดังนั้น...ถ้าหากว่ามีความกรุณา ก็ต้องให้สมควรแก่เหตุ ไม่ใช่กรุณากันเรื่อยไป อย่างเช่นว่า มาถึง "หลวงพ่อโปรดเมตตาด้วย" แล้วเราก็ช่วยเขาไปทุกเรื่อง แม้กระทั่งผู้หญิงยื่นหน้าอกมาให้จับก็จับให้ด้วย..! ถ้าเช่นนี้ก็ไม่สมควร เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของการโกรธต้องให้สมกับอำนาจนั้น ท่านบอกว่าบุคคลที่เป็นเจ้าคณะปกครองนั้น มีสิ่งที่บังคับอย่างหนึ่งคือต้องโกรธเป็น คำว่าโกรธเป็นในที่นี้ก็คือ ต้องแสดงให้เห็นว่าอำนาจการปกครองอยู่ในมือของเรา เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องกดข่มบุคคลที่ควรกดข่ม ต้องยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง
ในเมื่อบุคคลทำผิด ต่อให้ไม่โกรธ ก็ต้องแสดงท่าทีให้รู้ว่าโกรธ เพื่อที่บุคคลนั้น ๆ จะได้แก้ไข ปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ถ้าหากว่าเมตตาร่ำไป ก็อาจจะเจอแต่คนพาลทั้งเมือง แล้ววัดวาอาราม หรือว่าองค์กรนั้น ๆ ก็ไม่สามารถที่จะไปต่อได้ เพราะว่าไปเจอบุคคลที่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ส่วนรวม เอารัดเอาเปรียบส่วนรวมอยู่เสมอ ถ้าหากว่าโกรธไม่เป็น ก็เป็นใหญ่ไม่ได้เหมือนกัน
ส่วนคำว่า เพิ่มพูนให้สมกับการตัดรอนนั้น เป็นการให้รางวัลและลงโทษตามสิ่งที่กระทำดีและกระทำชั่วของบุคคลใต้บังคับบัญชา ก็คือถ้าใครทำดีก็มีรางวัลให้ เหมือนอย่างกับสมัยก่อน พระมหากษัตริย์ก็มีเบี้ยหวัดผ้าปีให้แก่ข้าราชการ เป็นต้น ถ้าหากว่าใครทำความดี ก็อาจจะได้รับมอบรางวัลอื่น ๆ ตามสมควรแก่เหตุ มากบ้างน้อยบ้าง
ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าบางท่านกระทำผิด ก็อาจจะถึงขนาดโดนยึดทรัพย์ ริบราชบาตร จับตัวเองเข้าคุกเข้าตาราง หรือไม่ก็อาจจะโดนลงโทษถึงขนาดประหารชีวิตไปเลย
ดังนั้น...ในส่วนของการไปเป็นเจ้าคณะปกครอง โดยเฉพาะเจ้าอาวาส กรุณาต้องให้สมกับเหตุ โกรธต้องให้สมกับอำนาจ และเพิ่มพูนต้องให้สมกับการตัดรอน ถึงจะได้รับความเกรงใจและความเชื่อถือจากคนทั่วไป
ส่วนพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ. ๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ท่านบอกว่า การที่เราเป็นเจ้าอาวาสจะใช้อำนาจส่งเดชไม่ได้ จะต้องรู้จักดูตาม้าตาเรือ ไม่ใช่ว่าพอถึงเวลาได้รับการอบรมไปแล้ว รู้ว่าเจ้าอาวาสนั้นมีอำนาจตามกฎหมาย ตัวเองไม่พอใจบรรดากรรมการวัด หรือว่าไวยาวัจกรเก่า ๆ อยู่แล้ว กลับไปถึงก็ปลดเขาเกลี้ยงเลย..! เป็นต้น ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็เตรียมตัวไว้ ว่าจะกลายเป็นเจ้าไม่มีศาล ไม่สามารถที่จะบริหารปกครองวัดต่อไปได้ เพราะว่ามีตัวอย่างมามากต่อมากด้วยกัน
ถึงขนาดพระเดชพระคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญฺโญ ป.ธ. ๘) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของท่าน ได้สอนเอาไว้ว่า "อย่าไปยุ่งกับของเก่า จะเอาอะไรให้หาใหม่" โดยเฉพาะคำว่า "อย่าไปยุ่งกับของเก่า" ก็คือการที่ไม่ไปยุ่งกับทรัพย์สินเงินทองที่บางทีบรรดาไวยาวัจกร ตลอดจนกระทั่งกรรมการวัดเก็บเอาไว้ งำเอาไว้
ตรงจุดนี้นั้น กระผม/อาตมภาพก็เห็นมา มีวัด ๆ หนึ่ง ซึ่งครูบาอาจารย์นั้นยิ่งใหญ่ถึงระดับที่ว่า บรรดาเกจิอาจารย์ร่วมยุคร่วมสมัยในตอนนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็คือลูกศิษย์ของท่าน แต่ว่าวัดนี้ปราศจากเจ้าอาวาสมา ๔๐ กว่าปี..!
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ส่วนใหญ่เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าอาวาสไปแล้ว ก็จะทำให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นหลงคิดว่าตนเองมีอำนาจ ไปแสดงอำนาจใส่บรรดาท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ถืออำนาจที่แท้จริง โดยเฉพาะผู้ที่กุมเงิน หรือว่ากุมทรัพย์สินสิ่งของสำคัญของวัดอยู่ในมือ
ในเมื่อเขาเห็นว่าเราไว้ใจไม่ได้ ก็ยื่นฟ้องร้องต่อเจ้าคณะปกครองตามลำดับ ในที่สุดรักษาการเจ้าอาวาสก็ถูกถอด ต้องเปลี่ยนคนใหม่ไปอยู่เสมอ
จนกระทั่งมาถึงรักษาการเจ้าอาวาสเกือบจะรูปสุดท้าย ท่านนี้สามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้ถึง ๖ ปีเต็ม จนกระทั่งเจ้าคณะปกครองชื่นชมว่าสามารถเข้ากับชาวบ้านในพื้นที่ได้ดี และชาวบ้านก็รักมาก ถึงขนาดเปิดคลังพิพิธภัณฑ์ นำเอาลูกประคำปราบหงสาวดีที่หายากหาเย็นนักหนา มามอบให้เป็นของคู่ตัวแก่เจ้าอาวาสของเขา ซึ่งมีทีท่าว่าจะได้รับแต่งตั้งอย่างแน่นอน เพราะว่าชาวบ้านยอมรับกันแล้ว
แต่ปรากฏว่าท่านนั้นไปพลาดในนาทีสุดท้าย ก็คือมีบรรดา "เซียนพระ" มาขอซื้อลูกประคำปราบหงสาวดี ให้ราคาสูงถึงเม็ดละ ๑๐,๐๐๐ บาท..! ท่านเจ้าอาวาสก็นำของรักของหวงของชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากเย็นเป็นอย่างยิ่ง มอบให้แก่เซียนพระผู้นั้น แล้วรับเอาปัจจัยตอบแทนมา
เมื่อชาวบ้านรู้เข้าเท่านั้น ก็เหมือนอย่างกับเอาไฟเผาวัด เพราะว่าทุกคนล้วนแล้วแต่คิดว่า ท่านตั้งหน้าตั้งตาปั้นหน้าเป็นคนดี เพื่อหวังที่จะให้ได้เป็นเจ้าอาวาส แล้วมาล้างผลาญสมบัติของหลวงปู่นี่เอง จึงได้มีการรายการขับไล่กันอีก
จนกระทั่งมาถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเจ้าอาวาส ณ ที่นั้นได้ เพราะว่าตลอด ๔๐ ปีมาแล้วไม่มีเจ้าอาวาส มีแต่รักษาการเจ้าอาวาส แต่ในที่สุด เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันนี้สามารถชนะใจชาวบ้านทั้งหลายในบริเวณนั้นได้ เพราะว่าท่านเป็นคนที่ตรงไปตรงมา และค่อนข้างจะปากร้ายด้วย ก็คือถ้าหากว่ามาผิดท่าผิดทาง ต่อให้คุณมีอำนาจยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็โดนไล่กระเจิดกระเจิงไปหมด..!
ปรากฏว่าสิ่งที่ท่านเองกระทำนั้น เป็นความเคร่งครัดต่อหน้าที่เจ้าอาวาส ถูกอกถูกใจชาวบ้าน จึงขอร้องให้ทางคณะสงฆ์แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส..!
กระผม/อาตมภาพเองก็ยังรู้สึกดีใจกับท่านด้วย ไปถามท่านว่า "พระครูศรีฯ ทำไมพระครูถึงเป็นเจ้าอาวาสได้ ?" ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า เมื่อท่านมา ท่านไม่แตะของเก่าอะไรของทางด้านนี้เลย ตั้งหน้าตั้งตาหาของใหม่ แล้วก็ซ่อมเสริมของเก่า ทำในสิ่งที่ชาวบ้านทั้งหลายเขายอมรับในที่สุดว่า ท่านมาเพื่อสร้างความเจริญให้กับสถานที่ ไม่ได้มาเพื่อที่จะมาหาประโยชน์ใส่ตัว ดังนั้น..บริเวณนั้นจึงได้เจ้าอาวาสที่เป็นเกียรติเป็นศรีแก่ทั้งพระศาสนา และแก่ทั้งประชาชนในพื้นที่ หลังจากที่ไม่มีมานานถึง ๔๐ กว่าปี..!
ส่วนอีกท่านหนึ่งก็คือพระเดชพระคุณหลวงปู่พระครูธรรมสารรักษา (ป่วน ณฏฺฐโสภโณ) หรือที่ในสายเกจิอาจารย์เรียกท่านว่า หลวงพ่อป่วน วัดบรรหารแจ่มใส หลวงพ่อท่านเป็นตั้งแต่เจ้าอาวาส จนกระทั่งมาเป็นเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ ปัจจุบันนี้อายุ ๗๐ ปีแล้ว ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี
หลวงพ่อท่านบอกเอาไว้ว่า "การเป็นเจ้าอาวาสนั้น คือการที่เราต้องสละชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา ต้องยอมเหนื่อยยากทุกอย่างในการรักษาวัดเอาไว้ ทำของใหม่ไม่ได้ ก็ต้องรักษาของเก่าให้สะอาดเรียบร้อย ให้ดูสบายตา ถ้าหากว่าญาติโยมเข้ามาทำบุญก็ต้องต้อนรับขับสู้ ต้องอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่ ถ้าทุกคนสามารถทำอย่างนี้ได้ เราก็จะได้เป็นเจ้าอาวาสที่ญาติโยมทั้งหลายเขาไว้วางใจ เป็นต้น"
หลวงปู่ท่านเคยรับกิจนิมนต์ในการพุทธาภิเษกร่วมกับกระผม/อาตมภาพมาหลายต่อหลายครั้ง ทุกครั้งท่านก็ออกตัวว่าท่านเป็นพระหลวงตาบ้านนอก เรียนมาน้อย ไม่เหมือนท่านอาจารย์พระครูที่เรียนจนจบปริญญาเอก ผมเป็นคนคุยไม่เก่ง แต่ปรากฏว่าวันนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ป่วนของกระผม/อาตมภาพ ว่าไปคนเดียวเกือบชั่วโมง..! แล้วสิ่งที่ท่านว่ามาทั้งหลายทั้งปวงนั้น คือประสบการณ์ในการเป็นเจ้าอาวาสมาเกือบ ๕๐ ปีของท่านทั้งสิ้น
ดังนั้น...ในส่วนของบรรดาพระสังฆาธิการได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสใหม่ นอกจากต้องศึกษาหน้าที่เจ้าอาวาสว่ามีอะไรบ้าง กฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายบ้านเมือง มติมหาเถรสมาคม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ว่าเจ้าอาวาสต้องกระทำอย่างไรแล้ว ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือมาเรียนลัดเกี่ยวกับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่บรรดาเจ้าคณะปกครองชั้นสูง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาแสดงทัศนคติให้ได้ทราบในแต่ละวัน
ความจริงวันนี้นั้น มีวิทยากรออกมาแสดงทัศนคตินับ ๑๐ รูป แต่ว่าเวลาที่กระผม/อาตมภาพตั้งใจเอาไว้สำหรับบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนมีน้อย จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.