View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
KW35pzUrOak
วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๕ ก่อนหน้านี้หลายปี วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์มีความหมายมาก โดยเฉพาะกับวัยรุ่นยุคใหม่ โดยถือว่าเป็น "วันแห่งความรัก" จนกระทั่งในที่สุดก็มีคนสรุปว่าเป็น "วันแห่งการเสียตัว" แต่ว่าในปัจจุบันนี้ต้องขอบคุณเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ที่ทำให้วันแห่งความรัก ซึ่งเอามาจากธรรมเนียมฝรั่ง หมดความศักดิ์สิทธิ์ลงไป เพราะว่าคนกลัวตายมากกว่า..!
ถ้าหากว่าในด้านของพระพุทธศาสนาของเรา วันแห่งความรักควรที่จะเป็นวันมาฆบูชา เพราะว่าเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงความรักต่อมนุษยชาติอย่างชัดเจนที่สุด ก็คือทรงแสดงปฐมเทศนา ประกาศหลักธรรมที่พระองค์ท่านได้ตรัสรู้
ทำไมถึงบอกว่าเป็นการแสดงความรักอย่างชัดแจ้งที่สุด ? ก็เพราะพระองค์ท่านมั่นใจว่ามนุษย์เรานั้นสามารถที่จะสั่งสอนได้ จึงตัดสินใจยอมเหนื่อยยากในการสั่งสอนคน ซึ่งไม่ต้องไปคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นสัพพัญญู รู้รอบ รู้จริงทุกเรื่อง แค่พวกเราที่เคยสอนคนนิด ๆ หน่อย ๆ หรือว่าสอนเด็กเป็นอาชีพอย่างครูบาอาจารย์ก็ตาม จะเข้าใจทันทีว่าการสอนคนนั้นยากแค่ไหน
โดยเฉพาะการสอนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เปรียบเหมือนกับการที่พระองค์ท่านปรุงอาหารด้วยความเหนื่อยยาก แต่พอส่งไปแล้ว มีคนที่ยอมกินแค่ไม่กี่คน..!
ซึ่งเปรียบเทียบแค่ประเทศไทยของเราที่มีความภูมิใจหนักหนาว่า ประชากรไทย ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาพุทธ แล้วลองเปรียบเทียบดูว่าประชากร ๖๐ กว่าล้านคนนั้น มีคนที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ตั้งใจปฏิบัติตามแนวไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สักกี่คน ? ต้องบอกว่าเทียบกันไม่ได้เลย
จำนวนบุคคลที่ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติในหลักของ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยหวังเป้าหมายในการหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ดังนั้น...ถ้าหากว่าเป็นพวกเรา แค่นึกก็คงจะท้อจนหมดกำลังใจไปแล้ว
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ในบาลีกล่าวว่า เกิดความขวนขวายน้อย ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ ไม่มีอารมณ์ที่จะสอน เนื่องเพราะว่าหลักธรรมที่พระองค์ท่านตรัสรู้นั้นลึกซึ้งเกินกว่าที่ปุถุชนทั่วไปจะเข้าใจ จนกระทั่งท้าวสหัมบดีพรหมได้ลงมากราบทูลอาราธนาว่า ขอให้พระองค์ท่านจงแสดงธรรมเถิด บุคคลที่ธุลีในดวงตาน้อยนั้นมีอยู่ คำว่าธุลีในดวงตาในที่นี้ ก็คือกิเลสที่บดบังใจ ทำให้มองไม่เห็นธรรม พระองค์ท่านถึงได้ตัดสินใจแสดงธรรมสงเคราะห์ต่อพุทธบริษัททั้งหลาย
คราวนี้การที่พระองค์ท่านแสดงธรรมก็ไม่ได้สะดวกง่ายดายแบบสมัยนี้ อย่างที่กระผม/อาตมภาพนั่งพูดอยู่ตรงนี้แล้วคนทั้งโลกฟังได้ พระองค์ท่านต้องเสด็จไปแทบทุกแห่งในมหาชนบท ๑๖ แคว้น ถ้าเป็นในสมัยนี้คือ ๑๖ ประเทศ..! นอกจากนั้นยังออกนอก ๑๖ แคว้นไปด้วย ถ้าใครศึกษาตำนานพระเจ้าเลียบโลก จะเห็นว่าพระองค์ท่านเสด็จไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย และขณะเดียวกันก็ไปยังดวงดาวอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นว่ารับบิณฑบาตจากอุตตรกุรุทวีป อย่างนี้เป็นต้น
แต่คราวนี้ความรักในพระพุทธศาสนานั้น เป็นความรักตามหลักของพรหมวิหาร ๔ ก็คือ
เมตตา รักเขาเสมอตัวเราเอง พูดง่าย ๆ ว่าเราอยากให้คนอื่นทำดี พูดดี คิดดีกับเราอย่างไร เราก็คิดดี พูดดี ทำดีกับคนอื่นอย่างนั้น
กรุณา มีความสงสารอยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ที่เป็นอยู่ แม้ว่าพยายามสุดความสามารถแล้วช่วยไม่ได้ พระองค์ท่านก็ยังรอดูว่ามีโอกาสที่จะช่วยใหม่หรือไม่ ? ถ้ามีโอกาสใหม่ก็จะช่วยอีก
มุทิตา เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีก็ยินดีจากใจจริง ไม่ใช่สักแต่ว่าแสดงความยินดีตามมารยาททางสังคม แบบเดียวกับที่มีคนตาบอดคนหนึ่ง กล่าวกับท่านอาจารย์นันอินที่เป็นอาจารย์เซนชื่อดังของญี่ปุ่นว่า ด้วยความที่เป็นคนตาบอด ทำให้สามารถฟังในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ยิน จึงได้พบว่าบุคคลที่กล่าวแสดงความยินดีกับบุคคลอื่นทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่แล้วน้ำเสียงแฝงไปด้วยความริษยา มีแต่ท่านอาจารย์นันอินที่กล่าวว่ายินดีด้วย ก็ยินดีออกมาทางน้ำเสียงจริง ๆ
ข้อสุดท้าย อุเบกขา เมื่อพยายามจนสุดความสามารถแล้ว ไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้ ถึงได้ปล่อยวาง เป็นการปล่อยวางแบบคนมีปัญญาว่า เรื่องนั้นหรือว่าสิ่งนั้นเกินกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา กำลังคน กำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ ก็ถือว่าเป็นวาระกรรมที่บุคคลนั้น ๆ จะต้องรับ จึงปล่อยวาง แต่ว่าก็ยังมีอุเบกขาในเมตตา ก็คือถึงปล่อยวางก็รอดู ถ้ามีโอกาสก็จะช่วยเหลือใหม่
โดยเฉพาะตัวอุเบกขานั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พวกเราไว้เพื่อขจัดความเครียด เพื่อขจัดโรคซึมเศร้า เพื่อแก้โรคบ้า เนื่องเพราะว่ามีคนจำนวนมากที่เมตตาเกินประมาณ เมื่อเมตตากรุณาเกินประมาณ เกินกำลังแล้วไม่สามารถช่วยได้ ก็ยังเที่ยวโทษตนเองว่าไม่มีความสามารถที่จะช่วยเขาได้
ดังนั้น...ถ้าไม่มีหลักอุเบกขาตรงนี้ สถานเบาก็เครียด อย่างกลางก็เป็นโรคซึมเศร้า อย่างหนักก็คิดมากจนเป็นบ้าไปเลย จึงสรุปง่าย ๆ ว่าหลักอุเบกขา พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเราบ้า..!
เราจะเห็นได้ว่าหลักความรักในพระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต่างจากความรักในความเข้าใจของบุคคลทั่วไป เพราะว่าความรักของบุคคลทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่แล้วมีความเห็นแก่ตัวแฝงอยู่ ก็คือเพราะรัก จึงอยากมี อยากได้ เป็นทั้งความเห็นแก่ตัวและความโลภ และโดยเฉพาะความรักของหนุ่มสาวที่ว่านั้น เป็นสัญชาตญาณแห่งความใคร่ ต้องการที่จะสืบเผ่าพันธุ์ตามสัญชาตญาณเท่านั้น ไม่ใช่ความรัก
ดังนั้น...ถ้าหากว่าพูดถึงความรักแล้ว ผู้หญิงจะมีความรักที่มั่นคงกว่า เนื่องเพราะว่าผู้ชายนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์ตามหน้าที่ ต่อให้ไม่มีความรักก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่สำหรับผู้หญิงแล้ว ถ้าไม่รัก บางคนนี่ไม่ให้ผู้ชายเข้าใกล้เลย จนกว่าผู้ชายจะใช้สารพัดวิธีหลอกล่อจนเขาเชื่อว่าตัวเองรัก ตรงจุดนี้..ความรักของวันวาเลนไทน์จึงเป็นความรักที่เป็นความใคร่ เป็นสัญชาตญาณในการสืบพืชสืบพันธุ์ของสัตว์โลกเท่านั้น
แต่ว่าความรักในหลักธรรมของทางพระพุทธศาสนาก้าวข้ามตรงจุดนั้นไปแล้ว เพราะว่าเป็นความรักด้วยเมตตา คือรักเขาเหมือนกับตัวเรา เราปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์อย่างไร คนอื่นก็ปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์เช่นนั้น
เพียงแต่ว่าในบรรดาผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้น เมื่อปฏิบัติธรรมไปในระยะหนึ่ง ก็จะมีการทดสอบที่บางทีเราก็ไม่รู้ตัวว่าเป็นข้อสอบ ก็คือมีเพศตรงข้ามเข้ามาหา บางคนก็มาในลักษณะที่เห็นว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน ต้องการคำปรึกษาหารือว่าแนวทางการปฏิบัติธรรมนั้นถูกหรือผิดอย่างไร แต่ว่าคนเราก็มักจะเข้าข้างตนเอง เห็นเขาเข้ามาใกล้ก็ไปฟันธงว่าเขาต้องรักต้องชอบเราแน่ ถ้ารู้จักระมัดระวังตัว มีสติ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าขาดความระมัดระวังตัวเมื่อไร ก็จะกลายเป็นความใคร่เมื่อนั้น
แล้วกระแสกรรมก็จะดึงเอาความผูกพันเดิม ๆ เข้ามา บางทีก็ไปจับคู่กันเข้า จนกระทั่งหลงลืมว่าตนเองมาปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร แล้วท้ายที่สุดก็ลืม มัวแต่ไปสร้างโลก สร้างครอบครัวของตนเองแทน กลายเป็นสร้างสิ่งที่ยึดติด ทำให้หลุดพ้นได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
เนื่องเพราะว่าจาก "ตัวกูของกู" ก็เพิ่มเป็นผัวกู เมียกู ลูกกู ทรัพย์สมบัติของกู ครอบครัวของกู สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีแต่จะลากถ่วงให้เราเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ ถ้าไม่ได้บำเพ็ญบารมีมาชนิดเลิศภพจบแดน โอกาสที่จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้ก็ยากเป็นอย่างยิ่ง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นว่า วัฏสงสารที่ยาวไกลหาต้นหาปลายไม่ได้นั้น เราทั้งหลายต้องทนทุกข์เวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์นี้นานนับกัปนับกัลป์ไม่ได้ เมื่อพระองค์ท่านเห็นทางของการหลุดพ้น จึงได้แสดงเอาไว้เป็นปฐมเทศนาในวันมาฆบูชาเมื่อ ๒,๖๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา แสดงออกซึ่งความรักของพระองค์ที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า
พระองค์ท่านพ้นทุกข์แล้วก็ยังต้องการให้พวกเราพ้นจากกองทุกข์นั้นด้วย จึงเป็นความรักที่บริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ ไม่มีความรักใดที่จะยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว
และทุกวันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันตเจ้าทั้งหลายก็ตาม ก็ยังคงมองดูพวกเราอยู่ ด้วยความพร้อมที่จะช่วยเหลือ เพียงแต่ว่าเราทั้งหลายนั้นต้องพากเพียรพยายามให้เต็มที่ก่อน ไม่ใช่ทำ ๆ ทิ้ง ๆ แล้วก็อธิษฐานขอให้พระองค์ท่านช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา อยู่ในลักษณะของการงอมืองอเท้า ไม่คิดที่จะทำอะไรด้วยตนเอง
อย่าได้ลืมประโยคที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า อักขาตาโร ตถาคตา แม้แต่ตถาคตก็เป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น บอกแล้วท่านทั้งหลายจะทำตามหรือไม่ ก็แล้วแต่วาระบุญวาระกรรมที่ท่านทั้งหลายได้กระทำมาจะบันดาลให้เป็นไป
สำหรับวันนี้จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมทั้งหลายแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันจันทร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.