View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๕
D2jnEep9I10
วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ผ่านไปอีก ๑ เดือนแล้ว ถ้าเป็น ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณะ ก็จะถามตนเองว่า วันคืนล่วงไป ๆ เราทั้งหลายทำอะไรกันอยู่ ? เป็นการเตือนสติให้ตัวเรารู้ตัวว่าวันเวลาผ่านไปเร็วมาก ถ้าชีวิตนี้สิ้นลงไปก่อนที่จะเข้าถึงความดีในส่วนที่ต้องการ ก็นับว่าเสียชาติเกิด..!
สำหรับวันนี้ท่านที่ออกบิณฑบาตในสายตลาดก็จะเห็น เนื่องจากว่าเป็นวันไหว้ หรือวันสิ้นปีของคนจีน พวกเราก็จะเห็นว่าญาติโยมจำนวนมากด้วยกันมีการ "ไหว้รถ" ก็คือจัดเอาอาหารหวานคาว "ไหว้รถ" ซึ่งถ้าหากว่าจะบอกให้ถูกก็คือ "ไหว้แม่ย่านางรถ"
สิ่งที่ทำนั้นจะว่าไปแล้วเป็นความกตัญญูอย่างหนึ่ง เพราะว่าความกตัญญูนั้น มีทั้งกตัญญูต่อบุคคลผู้มีคุณ อย่างบุรพการีคือผู้ทำคุณก่อน เช่น พระพุทธเจ้าที่มีคุณต่อพุทธบริษัท ๔ พระมหากษัตริย์มีคุณต่อพสกนิกร ช่วยปกปักรักษาแผ่นดินเอาไว้ ให้พวกเราได้มีที่อยู่ที่อาศัยสืบต่อกันมาชั่วลูกชั่วหลาน ครูบาอาจารย์มีคุณที่สั่งสอนพวกเรามาโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก
แม้กระทั่งสัตว์ที่ช่วยเหลือในกิจการงานต่าง ๆ อย่างสมัยผมเด็ก ๆ มีคนจำนวนมากด้วยกันที่ไม่กินเนื้อวัวเนื้อควาย เพราะว่าวัวควายช่วยไถนา พอถึงวันโกนวันพระก็พัก ไม่ใช้งานวัวควาย นั่นก็คือลักษณะของการกตัญญูรู้คุณ แล้วก็มีกตเวทีคือตอบแทน
คราวนี้อีกส่วนหนึ่งก็คือความกตัญญูต่อสถานที่หรือว่าสิ่งของ เคยอยู่เคยอาศัยที่ไหนก็รู้คุณของที่นั้น หรือว่าเคยใช้วัตถุสิ่งของใด ๆ ก็กตัญญูรู้คุณต่อสิ่งของนั้น อันดับแรกเลยก็คือ ต้องรู้จักรักษา ซ่อมแซม ทำความสะอาด เพื่อให้สิ่งนั้นอยู่ให้เราใช้ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
ถ้าอยากจะได้ตัวอย่างชัด ๆ ก็ขอยกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ที่พระองค์ท่านมีสัตตมหาสถาน ตั้งแต่ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้ เส้นทางที่เดินจงกรม เป็นต้น เราจะเห็นว่าพระพุทธรูปปางถวายเนตร ที่เราเชื่อกันว่าเป็นพระประจำวันอาทิตย์ นั่นก็คือรูปพระพุทธเจ้าที่ทำตามพุทธลักษณะซึ่งเมื่อพระองค์ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ยืนเพ่งโพธิบัลลังก์ เสวยวิมุตติสุขอยู่ ๗ วัน ด้วยความกตัญญูรู้คุณต่อสถานที่นั้น ๆ
โบราณของเราก็มีตัวอย่างที่สืบ ๆ กันมา เรื่องไม้คานปิดทอง เป็นต้น เกิดจากคนจีนที่มีแค่เสื่อผืนหมอนใบ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศสยาม ปัจจุบันคือประเทศไทย ทำมาหากินด้วยหาบ ไม่ว่าจะใช้ในการหาบคอนสิ่งหนึ่งประการใดก็ตาม เมื่อมีฐานะมั่นคงร่ำรวยแล้ว ก็นำไม้คานนั้นขึ้นหิ้งปิดทอง เป็นที่ระลึกว่าตนเองร่ำรวยมาได้ก็ด้วยไม้คานอันนี้ แล้วก็เลยเถิดมาถึงการปิดทองเรือ ที่ช่วยทำมาค้าขาย เนื่องจากว่าสมัยก่อนนั้นบ้านเราเมืองเรา ส่วนใหญ่แล้วเดินทางทางน้ำกันแทบทั้งนั้น
ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็หลวงปู่เพิ่ม วัดอุทยาน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี นั่นเป็นต้นตำรับเรือทองเศรษฐี ก็คือเมื่อถึงเวลาญาติโยมที่ทำมาหากินโดยการค้าขายทางเรือ มาขอความช่วยเหลือ หลวงปู่เพิ่มท่านก็จะลงเมตตามหานิยม ปิดทองหัวเรือไปให้ เมื่อถึงเวลาญาติโยมทำมาหากินสะดวก มีฐานะมั่นคง ก็กลับมาปิดทองเรือที่หลวงปู่เพิ่มท่านพายบิณฑบาต ปิดไปปิดมาคนละไม่กี่แผ่น เรือไม้ทั้งลำก็กลายเป็นเรือปิดทองเหลืองอร่าม จนคนเขาเรียกกันว่า "เรือทองเศรษฐี"
แล้วมาภายหลัง ท่านเจ้าคุณโสภณพัฒนคุณ หรือท่านเจ้าคุณทินน์ที่กระผม/อาตมภาพเรียกเพราะสนิทสนมกัน ท่านเองไปได้ไม้ตะเคียนสำคัญมา ได้ทำเป็นรูปเรือลำไม่ใหญ่นัก แล้วขอให้แม่ตะเคียนช่วยสงเคราะห์ในเรื่องของการค้าขาย ปรากฏว่าโด่งดังมาก เพราะว่าคนเอาไปใช้แล้วมีประสบการณ์ พอถึงเวลาเขาก็ปิดทองถวายเหมือนกัน ของท่านเขาก็เลยเรียกว่าเศรษฐีเรือทอง แต่ต้นตำรับแบบหลวงปู่เพิ่มนั้นคือเรือทองเศรษฐี
คราวนี้การกตัญญูต่อสถานที่ อย่างเช่นว่าเราอยู่วัดวาอาราม ช่วยกันทำความสะอาด ช่วยกันอยู่เวรอยู่ยามป้องกันภัย ก็ถือว่าสืบทอดปฏิปทาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความกตัญญูต่อสัตตมหาสถาน
ตรงจุดนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านบอกว่า บุคคลที่กตัญญูรู้คุณคนจะตกต่ำยาก ท่านให้สังเกตคนจีนว่า ต่อให้เสื่อผืนหมอนใบมา ไม่นานก็เจริญรุ่งเรือง แล้วคนจีนรุ่นแรก ๆ พอเป็นนายห้างเป็นเจ้าสัวกัน ก็สอนลูกสอนหลานสืบ ๆ กันมา ท่านบอกว่าเหตุที่คนจีนเจริญรุ่งเรือง เพราะมีความกตัญญูเป็นปกติ
ก่อนหน้านี้คนไทยของเราก็มีความกตัญญูรู้คุณ ครอบครัวแต่เดิมเป็นครอบครัวขยาย ก็คือ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน อยู่รั้วเดียวกัน เพียงแต่ว่าถ้าหากว่าใครออกเรือน ก็คือมีครอบครัว ก็สร้างเรือนเพิ่มขึ้น ที่เขาเรียกกันว่า "เรือนหอ" แต่ก็อยู่ในรั้วเดียวกัน ซึ่งช่วยได้หลายอย่าง
อย่างแรกเลยก็คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมา ก็ร่วมแรงร่วมใจกันป้องกันสถานที่ได้ ประการต่อไปก็คือ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน อยู่ด้วยกัน สิ่งหนึ่งประการใดที่เป็นความดี ญาติผู้ใหญ่ก็จะช่วยกันสั่งสอน จ้ำจี้จ้ำไช เด็ก ๆ ก็จำฝังใจเอาไว้ แล้วนำเอาไปปฏิบัติตาม เป็นต้น
อย่างเช่น พวกเราทั้งหลายในปัจจุบัน มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่งที่ขาดความกตัญญูต่อพระมหากษัตริย์และประเทศชาติ มีการประท้วงโดยที่ลืมไปว่าตัวเองอยู่มาได้จนทุกวันนี้ เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดมีแผ่นดินไทยให้อาศัย แผ่นดินไทยมีอยู่ได้ ก็ด้วยเลือดเนื้อของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าในอดีตที่ร่วมกัน ปกป้องรักษา หรือว่าช่วงชิงแผ่นดินมาให้
ดังนั้น...ที่ท่านทั้งหลายเห็นว่ามีญาติโยมจำนวนมากในตลาด มีการเซ่นไหว้รถยนต์ หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือไหว้แม่ย่านางในรถยนต์ ก็ถือว่าเป็นการกตัญญูต่อสิ่งของที่ตนเองใช้ ที่ตนเองหากิน เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ว่า นิมิตฺตํ สาธุ รูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที คือรู้คุณท่านและทำการตอบแทน เป็นเครื่องหมายของคนดี หรือว่า ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความรู้คุณท่านและกระทำความดีตอบแทน เป็นพื้นฐานของสัตบุรุษ คือคนดี
ดังนั้น...บรรดาเทศกาลต่าง ๆ ในบ้านเราเมืองเรานั้น ส่วนใหญ่แล้วคนไทยเรารับได้ทุกเทศกาล แต่ว่าระยะหลัง ๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเทศกาลต่าง ๆ มากนัก เพราะว่าติดด้วยกระแสบริโภคนิยมที่ต้องแย่งกันทำมาหากิน ไม่มีเวลาที่จะมาแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษของเรา ทำให้ห่างเหินจากหลักธรรมต่าง ๆ ไปมาก เมื่อห่างจากความดี โอกาสที่สิ่งไม่ดีจะสอดแทรกมาก็มีมากอยู่แล้ว
เรื่องพวกนี้ต้องบอกว่าน่าเสียดายที่หลายคนซึ่งศึกษามามาก แล้วก็ไปเชื่อถือทฤษฎีตะวันตก ทิ้งเอาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นภูมิปัญญาโบร่ำโบราณของพวกเรา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณแก่ตนและคนทั่วไป ไปหยิบไปจับเอาสิ่งที่ฉาบฉวยเข้ามาแทน แล้วก็ไม่สามารถที่จะไปกับสังคมของเราได้ เพราะว่าผิดฝาผิดตัว
ส่วนในช่วงบ่ายวันนี้นั้น กระผม/อาตมภาพก็เข้าร่วมประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ปรากฏว่าวันนี้เรื่องยาว มีหลายเรื่องมาก จึงลากยาวจนกระทั่งเกือบ ๕ โมงเย็นถึงได้ปิดประชุม ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงตักเตือนเรื่องการใช้สื่อโซเชียล ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเราได้ง่ายที่สุด
ตัวอย่างก็คือมีอยู่วัดหนึ่ง ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าคิดอะไร มีศพเข้ามาจัดงานตามปกติ แต่เจ้าอาวาสไปโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่าเป็นศพของคนยากจน ขอให้ญาติโยมช่วยกันโอนเงินทำบุญเข้าบัญชีเจ้าอาวาส เพื่อที่จะได้ช่วยกันจัดการงานศพให้เหมาะสม
ปรากฏว่ามีคนโอนเงินให้ทำบุญจำนวนมากยังไม่พอ ยังมีการแชร์ต่อไปอีกด้วย จนไปเข้าตาลูกหลานของผู้ตายเข้า คราวนี้ก็เป็นเรื่อง เพราะว่าลูกหลานผู้ตายยืนยันว่า ตนเองไม่ใช่คนยากจน ค่าใช้จ่ายเท่าไรสามารถดูแลเองได้หมด แล้วทำไมเจ้าอาวาสไปทำอย่างนั้น ? จึงมีการฟ้องร้องขึ้นมาตามลำดับชั้น จนเดือดร้อนกันไปหมด
ที่ผู้บังคับบัญชาท่านตักเตือนก็เพราะว่าการที่เราโพสต์อะไรบางอย่างลงเฟซบุ๊กโดยปราศจากวิจารณญาณ อาจจะพาเรื่องเดือดร้อนให้เกิดขึ้นมากกว่าที่คิด
อย่างสมัยก่อนวัดท่าขนุนก็มีแม่ชีที่โดนขับออกจากวัดเหมือนกัน ไปถ่ายรูปตอนที่หมานอนอยู่ แล้วก็ไปโพสต์บอกว่า วัดท่าขนุนปล่อยให้หมาอด ๆ อยาก ๆ ถึงขนาดไม่มีแรงจะเดิน แล้วขอรับบริจาคช่วยหมา ทำให้เพจดังอย่างมูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ กระหน่ำเล่นงานวัดเราเสียไม่เป็นผู้เป็นคน จนกระผม/อาตมภาพต้องถ่ายรูปหมาทุกตัวไปให้ดูว่า ที่นอนเพราะว่าหมานั้นอ้วนจนลุกไม่ขึ้น..!
แล้วก็บอกให้ลูกศิษย์ช่วยกันกระหน่ำทางเพจคืนไปว่า รับข้อมูลอะไร อย่าฟังความข้างเดียว ให้ศึกษาเสียก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องโกหก
ตรงจุดนี้เราจะเห็นว่าการที่บางทีตนเองแค่อยากได้ลาภผลเล็กน้อย แต่ว่า "เอาวัดไปขาย" ทำให้วัดเสียหายมาก
แม้กระทั่งประเภทไปโพสต์ว่า "วัดสกปรก มีแต่ใบไม้มากมาย กวาดไม่ไหว มีใครจะช่วยบ้างไหม ?" ไอ้นั่นก็สิ้นคิด..! คนเขาทำกันอยู่ทุกวัน ทำไมถึงต้องไปโพสต์อย่างนั้นด้วย ? ถ้าเหนื่อยมาก ทำไม่ไหวก็ไปพัก คนที่ไหวเขามีอยู่ ก่อนที่จะมีตัวเรา เขาก็ทำกันได้อยู่ทุกวัน อย่าลืมว่าเฟซบุ๊กนั้นไปไกลขนาดไหน แล้วพอคนเข้าวัดมา แล้วไม่ได้สกปรกอย่างที่ว่า เราก็กลายเป็นคนตอหลดตอแหลไป..!
ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะคิดว่าทำอะไรแล้วครูบาอาจารย์จะไม่รู้ ซึ่งกระผม/อาตมภาพก็แปลกใจมาก ไม่ว่าจะพระภิกษุสามเณร แม่ชี ฆราวาส ส่วนใหญ่ที่มาอยู่วัดนี้ ก็เพราะเชื่อว่ากระผม/อาตมภาพรู้ทุกเรื่อง แต่พออยู่ไป ๆ แอบทำโน่น แอบทำนี่ แล้วเสือกทะลึ่งคิดว่ากระผม/อาตมภาพจะไม่รู้ ถึงได้บอกไปหลายครั้งแล้วว่า ถึงรู้แต่ต้องแกล้งทำโง่ อยากจะดูว่าจะเลวต่อไปได้สักเท่าไร ถ้าหากว่าไม่มีทางแก้ไขจะได้ซ้ำให้จบ ๆ ไปเลย..! แต่ถ้ายังพอแก้ไขปรับปรุงได้ ก็จะเปิดโอกาสให้แก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
ดังนั้น...เรื่องบางเรื่องผู้บังคับบัญชาท่านตักเตือนมา พวกเราก็ต้องระมัดระวังกันเอาไว้ด้วย เพราะว่าเมื่อโพสต์อะไรลงไปเมื่อไรก็กลายเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่สามารถที่จะแก้ไขข้อมูลได้แล้ว ถ้าเราเดือดร้อนคนเดียวก็ไม่มีปัญหา แต่กลายเป็นว่าพาให้วัดเสียหาย พาให้เจ้าอาวาสเสียหาย พาให้คณะสงฆ์เสียหาย เหมือนอย่างกับว่าพระเณรวัดนี้ กินแล้วก็นอน ไม่ทำอะไรเลย กระผม/อาตมภาพถึงได้พูดบ่อย ๆ ว่าถ้ารู้จักใช้หัวแม่ตีนคิดเสียบ้างก็จะไม่ทำอย่างนั้น..!
เรื่องพวกนี้ผู้บังคับบัญชาท่านถึงได้เตือนในที่ประชุม จนกระทั่งยืดเยื้อมาหลายชั่วโมงกว่าจะจบ เพราะว่าตัวอย่างมีมากต่อมากด้วยกัน ดังนั้น..จึงขอให้พวกเราระมัดระวังเอาไว้ด้วยว่า สื่อโซเชียลไม่ใช่เรื่องดี ถ้าหากว่าขาดสติ คิดไม่รอบคอบ ก็จะสร้างความเสียหายให้กับพระศาสนาอย่างร้ายแรง
วันนี้จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา ตลอดจนกระทั่งบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันจันทร์ที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.