PDA

View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๔


ตัวเล็ก
17-10-2021, 20:48
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๔

psLiMmLfTG0

เถรี
18-10-2021, 01:00
วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ระยะนี้ทุกวันอาทิตย์ ผมต้องเข้าระบบ Zoom ไปปฏิบัติธรรมร่วมกับสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในโครงการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม เพราะว่าโดนขอร้องแกมบังคับให้สมัครเข้าโครงการอบรมสัมมนาพระวิปัสสนาจารย์รุ่น ๑ ของสถาบันวิปัสสนาธุระ ก็เลยต้องมีการสร้างความเคยชินกันก่อน ถึงเวลาถกข้อมูลจะได้หวดกันได้เต็มที่..!

แต่ขอให้เชื่อเถอะ..เรื่องของการปฏิบัติธรรมนี่คุยกันไม่ได้หรอก กิเลสคนมีมาก..คุยกันเมื่อไรก็ "สายกูดีที่สุด" พูดง่าย ๆ ก็คือว่า โอกาสที่จะสัมมนาเกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐานให้ครบทุกสายโดยที่ไม่ "วางมวย" กันนี่น้อยมาก กระผม/อาตมภาพเองก็ยังแปลกใจว่า กรรมฐานทุกสาย ต้องบอกว่าเป็นสายของพระพุทธเจ้า ในเมื่อกรรมฐานเป็นสายของพระพุทธเจ้า แล้วทำไมถึงต้องมาเถียงกันด้วย ?

บรรดาสายการปฏิบัติธรรมต่าง ๆ อย่างในปัจจุบันของเรา ก็จะมีสายวิสุทธิมรรค ที่ใช้การภาวนาพุทโธเป็นหลัก ก็คือสายพระป่าของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สายนามรูปของวัดปราสาททอง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นหลัก สายพองยุบของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันสายนี้มีผู้ปฏิบัติมาก เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า พระนิสิตหรือว่าญาติโยมที่เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกคน โดนบังคับให้ปฏิบัติตามสายนี้

สายสัมมาอะระหัง ถ้าจะว่าไปแล้วก็คือการใช้อานาปานสติ ควบกับอาโลกกสิณและพุทธานุสติ ซึ่งปัจจุบันนี้พอหลวงป๋า (พระเทพญาณมงคล วิ. เสริมชัย ชยมงฺคโล) มรณภาพไป ก็ซา ๆ ลงนิดหนึ่ง เพราะว่าทางสายธรรมกายเองหาคนสอนให้เข้าถึงอย่างแท้จริงได้ยาก

แล้วก็มีสายเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ สายมโนมยิทธิของหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ซึ่งลูกศิษย์พาเละ..! เพราะว่าไม่มีความสามารถอย่างแท้จริง แล้วก็โม้ไปเรื่อย จนกระทั่งกลายเป็นวลีติดปากให้คนอื่นเขาตำหนิได้ว่า "อย่ามโน" แล้วก็ยังมีสายอื่น ๆ อีก ที่มานอกทุ่งนอกท่าก็มี อย่างปัจจุบันนี้ก็มีสายสันติอโศก แล้วก็มีสายวัดนาป่าพง แล้วยังมีสายพุทธอิสระ

เถรี
18-10-2021, 01:03
แต่ขอให้เข้าใจว่า ในเรื่องของสายกรรมฐานนั้น ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง ล้วนแล้วแต่มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น บรรดาเจ้าของสายต่าง ๆ ที่เป็นสายหลัก ก็เหมือนอย่างกับบุคคลที่เปิดร้านอาหาร ตนเองชำนาญในการทำอาหารแบบไหน ก็ทำอาหารแบบนั้น ถ้าหากว่าลูกค้ามากินแล้วถูกปากถูกใจ ก็กลายเป็นลูกค้าประจำกัน เมื่อลูกค้าประจำมีมาก ก็กลายเป็นสายกรรมฐานขึ้นมา

คราวนี้บรรดาต้นสายท่านไม่ได้มีปัญหา เพราะท่านรู้ว่าเรียนมาจากพระพุทธเจ้า ไปมีปัญหาตรงลูกศิษย์ที่กิเลสมาก ถึงเวลาก็ไปทะเลาะเบาะแว้ง งัดข้อกัน ปฏิบัติธรรม แทนที่จะ ลด ละ เลิก กิเลสให้น้อยลง ก็กลายเป็นพอกพูนกิเลส ว่าต้องสายของกูเท่านั้นถึงจะดีที่สุด

ถ้าใครบอกว่าอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งดีที่สุด ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะความชอบของคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบกินแกงเผ็ด บางคนเอาแค่แกงส้ม บางท่านก็ต้องต้มยำ บางคนก็ผัด บางคนก็ทอด บางคนข้าวจ้าวไม่เอา เล่นแต่ข้าวนึ่งข้าวเหนียวอย่างเดียว บางคนกินก๋วยเตี๋ยวก็อยู่ได้ หรือไม่ก็อย่างคนจีนเป็นพันล้าน ที่กินบะหมี่เป็นหลัก แล้วเราจะไปบอกว่า อาหารอย่างใดอย่างหนึ่งดีกว่านั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่ว่าบรรดานักปฏิบัติธรรมก็มักจะไม่ค่อยคิดถึงตรงจุดนี้ จึงมีการไปงัดข้อกัน "ต้องของกูเท่านั้นถึงจะดี" "ต้องของกูเท่านั้นถึงจะใช่" จำเอาไว้ว่า..ตราบใดที่ยังมีของกูอยู่ ตราบนั้นกิเลสยังท่วมหัว ต่อให้คิดว่าของกูดีกว่า ของกูเสมอเขา หรือของกูแย่กว่าเขา ก็ยังคงยึดคำว่า "ของกู" อยู่นั่นเอง

ดังนั้น...ตรงจุดนี้โอกาสที่จะสัมมนาแล้วเกิดผลดี ย่อมเป็นไปได้ยาก ก็ต้องรอก่อนว่า ตอนสัมมนาแล้วแต่ละท่านแสดงความเห็นว่าอย่างไร แล้วกระผม/อาตมภาพก็คงต้องทำหน้าที่ประนีประนอม ค่อย ๆ ประสานกันเข้าไป

เถรี
18-10-2021, 01:04
ถ้าหากว่าท่านสังเกต ๒ ครั้งที่ผ่านมา ที่ทางมหาจุฬาอาศรมนิมนต์ผมไปบรรยายธรรม ผมจะบรรยายในลักษณะที่ปฏิบัติสายไหนก็ฟังได้ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายธรรมในหัวข้อ "การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน" หรือว่าการบรรยายธรรมหัวข้อ "อาหารใจ" ที่ผ่านมา และคาดว่ายังคงจะมีอีกหลายหัวข้อตามมา

ในเมื่อของเราเองเข้าใจว่า กรรมฐานทุกสายล้วนแล้วแต่มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านแสดงไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สำหรับบุคคลที่มีจริตต่าง ๆ กันไป ความชอบต่างกันไป ความเคยชินต่างกันไป ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะมีมากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ไปทำอะไร ?

แต่กระนั้นก็ยังมี..โดยเฉพาะท่านที่ศึกษาในสายวิปัสสนาภาวนามา ไม่ว่าจะระดับปริญญาตรีที่มาทีหลัง หรือระดับปริญญาโทที่มาก่อนเพื่อน แล้วก็ระดับปริญญาเอก มักจะไปแปลมหาสติปัฏฐานสูตรเข้าข้างตัวเองแบบผิด ๆ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

เอกายโน อะยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา ดูก่อน..ภิกษุทั้งหลาย นี่เป็น "ทางสายหนึ่ง" ที่จะนำสัตว์ทั้งหลายก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์

โสกะปริเทวานัง สะมะติกกะมายะ ข้ามซึ่งความเศร้าโศกร่ำไรทั้งปวง

ทุกขะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมายะ กระทำให้ความทุกข์และโทมนัสตกล่วงไป

ญายัสสะ อะธิคะมายะ ย่อมทำให้ธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น

จัตตาโร สติปัฏฐานา นั่นคือสติปัฏฐานทั้ง ๔

กะตะมา จัตตาโร ? สี่อย่างนั้นคืออะไร ?

แล้วท่านก็ไล่ไป กายานุปัสสนาฯ เวทนานุปัสสนาฯ จิตตานุปัสสนาฯ ไปจนถึง ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เถรี
18-10-2021, 01:07
แต่คราวนี้บรรดานักศึกษามักจะแปลว่า นี่เป็นทางสายเดียว เอกะ คือ หนึ่ง อยนะ คือ ทาง แปลตรง ๆ ชัด ๆ ว่านี่เป็นทางสายหนึ่ง แต่กระผม/อาตมภาพเจอมาเยอะต่อเยอะ ที่แปลว่านี่เป็น "ทางสายเดียว" ถ้าเป็นทางสายเดียว แล้วบรรดาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติหลุดพ้นไปนับไม่ถ้วน ท่านไปกันทางไหน ?

ต้องบอกว่าแค่ใช้หัวแม่เท้าตรองดูก็รู้แล้วว่าแปลไม่ถูก แต่ด้วยความที่ภูมิใจในสายกรรมฐานของตน พยายามที่จะยกขึ้น โดยที่ไม่ดูตาม้าตาเรือ หรือไม่ลืมตาดูชาวบ้านเขา ก็จะบอกว่านี่เป็นทางสายเดียว ถ้าเป็นทางสายเดียว แล้วพระพุทธเจ้าเทศน์ไปทำไมให้เหนื่อยยากตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ? แค่เทศน์เรื่องเดียวก็จบกันไปแล้ว

โดยเฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ใช่กรรมฐานสำหรับคนทั่วไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแก่ชาวกุรุ กัมมาสธัมมะนิคม ที่มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมสูงมาก สูงขนาดไหน ? สูงขนาดที่ว่านกแขกเต้าที่นางภิกษุณีในเมืองนั้นเลี้ยงเอาไว้ โดนเหยี่ยวโฉบได้ นางภิกษุณีกระโดดปรบมือร้องเสียงดัง เหยี่ยวตกใจ ก็เลยคลายกรงเล็บให้นกแขกเต้าหลุดรอดออกมา

นางภิกษุณีถามนกแขกเต้าว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ก็คือตกใจหรือเปล่า ? นกแขกเต้าตอบว่า "รู้สึกว่าร่างกระดูกกำลังจะเอาร่างกระดูกไปกิน" ก็คือแม้แต่นกแขกเต้าก็ยังทรงในอัฏฐิกอสุภกรรมฐานอย่างเต็มที่ ก็คือไม่ได้รู้สึกหวั่นเกรงต่อมรณภัยที่มาถึงตนเอง หากแต่เห็นทุกอย่างเป็นอสุภกรรมฐาน เห็นโครงกระดูกกำลังจะเอาโครงกระดูกไปกิน ขนาดนกยังเข้าถึงธรรมสูงขนาดนี้ แล้วลองนึกถึงเจ้าของนกบ้างว่าจะเป็นอย่างไร ?

ในบาลีบอกว่าชาวเมืองกุรุ แคว้นกัมมาสธัมมะนิคม แต่ละวันไม่ว่าจะประกอบกิจการงานอะไรก็ตาม ถ้าหากว่าพบปะกับเพื่อนฝูงจำเป็นต้องพูดคุย ก็มักจะพูดคุยถึงสติปัฏฐานทั้ง ๔ บุคคลที่มีพื้นฐานการปฏิบัติธรรมสูงขนาดนั้น พระพุทธเจ้าถึงให้หลักธรรมชั้นสูงแก่พวกเขา

เถรี
18-10-2021, 01:09
เพราะฉะนั้น...ถ้าท่านทั้งหลายศึกษาในมหาสติปัฏฐานสูตร กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่ามีหลายสูตรมาก แต่เนื้อหาเหมือน ๆ กันนะครับ ก็คือมี มหาสติปัฏฐานสูตรในมัชฌิมนิกาย มหาสติปัฏฐานสูตรในทีฆนิกาย มหาสติปัฏฐานสูตรในวิสุทธิมรรค ก็คือแค่ย่อกับขยายเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง

เมื่อท่านศึกษา จะเห็นว่าในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการที่พยายามทำให้รู้แจ้งถึงกายของเรา เราจะจับติดแค่ช่วงนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอานาปานปัพพะ การจับลมหายใจเข้าออก อิริยาปถปัพพะ การจับอาการเคลื่อนไหวของอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย สัมปชัญญปัพพะ การกำหนดความรู้ตัว จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน รู้อยู่เสมอ นวสีวถิกาปัพพะ การกำหนดถึงร่างกายนี้เหมือนซากศพ หลายอย่างด้วยกัน

แต่พอเริ่มเข้าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราเริ่มไปไม่เป็นแล้ว ไม่ต้องไปพูดถึงจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เพราะว่าเรา "โหนไม่ถึง" พื้นฐานของเราไม่ดีพอเท่าชาวแคว้นกุรุ

ดังนั้น...ในการปฏิบัติสายมหาสติปัฏฐานสูตร หรือปัจจุบันนี้เขาเรียกว่าพองยุบ เป็นการปฏิบัติที่ต้องบอกว่า "ตะแบงข้างไป" ก็คือพยายามจะพูดให้ใช่ แต่ความจริงแล้วยังไม่ใช่ ตรงจุดนี้ กระผม/อาตมภาพมาบอกกล่าวความจริง ไม่ได้มานั่งเถียงกับใคร เนื่องเพราะว่ามหาสติปัฏฐานสูตรทุกบรรพ ก็คือทุกตอน ถ้าใครปฏิบัติถึง บรรลุมรรคผลได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติทั้งหมด

เถรี
18-10-2021, 01:11
ดังนั้น...ในเรื่องของการสัมมนาวิปัสสนาจารย์ที่จะมาถึงในช่วงวันที่ ๒๓-๒๔-๒๕ ตุลาคมนี้ กระผม/อาตมภาพก็ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย แต่ก็จะพยายามช่วยท่านเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมวชิรมุนี วิ. ประคองสถานการณ์ให้ดีที่สุด ถ้าหากมีการถกเถียงกัน ถ้าไม่มีก็แล้วไป

ตรงจุดนี้ท่านทั้งหลายต้องสำนึกเอาไว้ว่า การปฏิบัติธรรมนั้น เราทำเพื่อลด ละ และเลิก จากกิเลสทั้งปวง ค่อย ๆ ขัดเกลาตนเองไป ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ทีละชั้น ทีละชั้น ทีละระดับ พยายามรักษาความดีที่มีอยู่ แล้วทำให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป พยายามขับไล่ความชั่วออกไป แล้วระมัดระวังไว้อย่าให้เข้ามา ไม่เช่นนั้นแล้วเดี๋ยวเราเองก็ต้องไปงัดข้อกับคนรอบข้าง เพราะกิเลสตัวเอง

ถ้าหากว่าเห็นกิเลสตัวเองชัดเจน ให้รู้สำนึกไว้ด้วยว่าเรายังมีความชั่วหยาบอยู่มาก ต้องรู้จักละอายแก่ใจตัวเอง ระมัดระวังไม่ให้ความชั่วนั้นล้นออกทางวาจา ล้นออกทางกาย ไปกระทบกระทั่งคนอื่น ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ดี

ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ผมต้องไปเข้าระบบ Zoom เพื่อร่วมเจริญกรรมฐานกับทางด้านโน้นเขาต่อ จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)