PDA

View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔


ตัวเล็ก
04-07-2021, 20:30
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔

X9eyAMqOc3E

เถรี
04-07-2021, 21:57
วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ เมื่อสักครู่นี้ผมลงมาเกือบไม่ทันทำวัตรรอบแรก เพราะว่าทางคณะสงฆ์ภาค ๑๔ จะจัดประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองในวันพรุ่งนี้ผ่านระบบซูม วันนี้ก็เลยมีการทดสอบระบบกันก่อน ผมเองก็ยังใช้งานไม่คล่อง ตอนแรกก็สงสัย ถามไปพูดไป พรรคพวกได้ยินหมด แต่ถามว่าเห็นหน้าไหม ? เขาบอกว่าไม่เห็น จนกระทั่งท้ายสุด จิ้มไปจิ้มมา ถึงได้มีรูปตัวเองปรากฏขึ้น ในเมื่อระบบผ่านแล้ว ค่อยขออนุญาตพรรคพวกเพื่อนฝูงเขามา เพื่อทำวัตรของเราต่อไป

ในเรื่องของวัตรปฏิบัตินั้น เป็นการฝึกขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของเราที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในสิ่งที่เราทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ทุกวัน ตามหลักจิตวิทยา เขาบอกไว้ว่า ถ้าเราทำอะไรซ้ำ ๆ เกิน ๓ วัน สิ่งนั้นจะโดนบันทึกลงในจิตใต้สำนึกของเรา แล้วต่อไปเราก็จะทำสิ่งนั้นออกมาโดยไม่รู้ตัว

แบบเดียวกับการฝึกทหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฝึกท่าอาวุธ ฝึกขั้นตอนของระเบียบวินัยต่าง ๆ ก็ต้องซ้ำซากกันอยู่ทุกวัน เพียงแต่ว่าถ้าใครรู้จักสังเกต จะเห็นความแตกต่างในทุกวันนั้น ที่ผมสรุปว่า พวกเราต้องดูว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้ดีกว่าเมื่อวานหรือไม่ ? ถ้าหากว่าทำซ้ำ ๆ กันจนเกิดความชำนาญ แต่ทำแล้วไม่ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน แปลว่าเราแย่ลง เป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างความเคยชินให้กับใจของเรา ด้วยการทำทุกสิ่งทุกอย่างซ้ำ ๆ กันทุกวัน จากสิ่งที่ยากในวันแรก ๆ ก็จะเริ่มง่ายขึ้นเรื่อย เพราะว่าเคยชินแล้ว

เถรี
04-07-2021, 21:59
คำว่า เคยชิน หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า ถ้าเป็นภาษาบาลี เรียกว่า ฌาน ถ้าเราทำอะไรซ้ำ ๆ กันแล้ว ถึงเวลาไม่ได้ทำสิ่งนั้นแล้วรู้สึกว่าผิดปกติ แปลว่าเราทรงฌานในสิ่งนั้น ๆ ได้แล้ว กำลังใจเกาะสิ่งนั้นอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว มีความก้าวหน้าในการทำสิ่งที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ นั้นแล้ว

ดังนั้น...เรื่องของการสวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาต กรรมฐาน ก็คือการฝึกหัด กาย วาจา ใจ ของเราซ้ำ ๆ อยู่ทุกวัน จากที่หนักก็จะเป็นเบา จากที่เบาก็จะเกิดความเคยชิน เกิดความคล่องตัว แบบเดียวกับการสวดมนต์ บางทีเราก็ไม่ได้นึกว่าจะสวดต่อไปว่าอะไร แต่หลุดปากออกไปแล้ว

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เป็นระเบียบเป็นวินัยของวัดเรา ที่จะต้องสวดมนต์ทำวัตรวันละ ๓ รอบ ต้องออกบิณฑบาตร่วมกัน ต้องเจริญกรรมฐานร่วมกัน เป็นการขัดเกลาตนเอง และเป็นการสั่งสมบารมี ก็คือเสริมสร้างในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลใส่ตัว ถ้าเราสามารถทำได้ทุกวันโดยไม่ขาด ไม่เบื่อ ไม่หน่าย แปลว่ากำลังความดีของเราสูงกว่า มีโอกาสที่จะชนะความชั่วได้ แต่ถ้าหาข้ออ้างหลบ ๆ เลี่ยง ๆ อยู่บ่อย ๆ แบบนั้นเราเอาตัวไม่รอดแน่นอน..!

เถรี
04-07-2021, 22:01
เครื่องวัดที่ง่ายที่สุดมีอยู่แล้ว ก็คือการทำตามระเบียบวัด ถัดไปก็คือการปฏิบัติอย่าให้ละเมิดวินัยสงฆ์ หลังจากนั้นก็ดูใจของเราว่ามีนิวรณ์ ๕ กินใจของเราอยู่หรือเปล่า ?

กำลังใจน้อมไปในด้านของกามฉันทะ คือยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศหรือไม่ ?

น้อมไปทางพยาปาทะ คือโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผูกโกรธคนอื่นหรือเปล่า ?

น้อมไปในทางถีนมิทธะ ก็คือง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติหรือเปล่า ?

น้อมไปในด้านอุทธัจจะกุกกุจจะ คือความหงุดหงิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ บางทีปฏิบัติธรรมไม่ได้เลย มีหรือเปล่า ?

น้อมไปในทางวิจิกิจฉา คือลังเลสงสัยว่าผลของการปฏิบัตินี้จะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ?

ถ้าเราวัดมาถึงระดับนี้ ก็จะเห็นชัดว่าจิตใจของเรามีคุณภาพสูงหรือว่ามีคุณภาพต่ำ ถ้ายังตกอยู่ใต้อำนาจของนิวรณ์ ๕ อย่าง แปลว่าจิตใจของเราไร้คุณภาพ โดนกิเลสยึดไปแล้ว แต่ถ้าในแต่ละวันรู้เท่าทันว่านิวรณ์กำลังมา แล้วเราสามารถขับไล่ออกไป รักษาใจไม่ให้เกิดนิวรณ์ขึ้นมา ก็ถือว่าจิตของเราอยู่ในสภาพที่ดี มีคุณภาพ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะว่ายังต้องต่อสู้ ต่อต้านกันอยู่ตลอดเวลา

เถรี
04-07-2021, 22:03
ทางที่ดีที่สุดก็คือ ต้องทรงกำลังใจเป็นฌานให้ได้ ก็คือให้กำลังใจของเรา อย่างน้อยให้เคยชินอยู่กับสมาธิภาวนาระดับที่ ๑ ที่เรียกว่าปฐมฌาน ซึ่งสังเกตง่ายมากว่า เราจะรู้ลมหายใจและคำภาวนาโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับ หรือถ้าหากว่าทำได้มากกว่านั้นก็ยิ่งดี แต่ว่าต่ำสุดต้องได้เท่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วกำลังใจของเราไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับกิเลสในเบื้องต้น ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องไปพูดถึงกิเลสในท่ามกลาง และกิเลสระดับสูงที่เป็นอนุสัยฝังรากลึกอยู่ในใจของเรา

สิ่งที่เราทำซ้ำซากอยู่ทุกวันก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญ แบบเดียวกับการฝึกการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นหมัดมวย กระบี่กระบอง ครูบาอาจารย์จะสอน "แม่ไม้" ให้ พอเราฝึกหัดจนกลายเป็นความเคยชิน เมื่อถึงเวลาพบสถานการณ์จริง สามารถที่จะปิดป้องแก้ไขการโจมตีของคู่ต่อสู้ได้ และตอบโต้ได้ทันควัน จะกลายเป็น "ลูกไม้" ก็คือจากแม่ไม้หลาย ๆ ท่าผสมผสานกันออกมา เป็นท่าที่ครูไม่ได้สอน แต่เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนาก็เช่นกัน หลักใหญ่ ๆ เหมือนกับแม่ไม้ ครูบาอาจารย์บอกเราหมดแล้ว ก็เหลือแต่การซักซ้อมให้คล่องตัว แล้วก็หาวิธีการที่จะทำให้เราไม่เบื่อไม่หน่ายในการกระทำนั้น ๆ แต่ละคนก็จะมีเคล็ดลับหรือวิธีการเฉพาะตัว

โดยเฉพาะบุคคลที่มีวิสัยของอภิญญา ๖ หรือสมาบัติ ๘ ก็จะออกอาการซนมากกว่าปกติ ก็คือทำโน่นทำนี่ไปเรื่อย นอกลู่นอกทางเกินกว่าที่ครูบาอาจารย์สอนก็มี แต่ว่าความจริงแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านรู้ เพียงแต่ว่าไม่ได้บอกทั้งหมด เพราะรู้ดีอยู่ว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเราฝึกซ้อมจนชำนาญ ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นและทำเองได้ ของพวกเราในระดับนี้ การต่อสู้กับกิเลสนั้น ยังใช้ปัญญากันน้อย ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทรงสมาธิภาวนาให้ได้ ถ้าหากว่าหลุดจากสมาธิเมื่อไร กิเลสก็ตีหงายท้องเมื่อนั้น

เถรี
04-07-2021, 22:07
คราวนี้การที่เราจะทรงสมาธิภาวนาเป็นระยะเวลายาว ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีวิธีการ กลเม็ดเคล็ดลับต่าง ๆ ที่เราจะต้องเสาะหา เพื่อที่จะรักษากำลังใจของเราเอาไว้

อย่างที่ผมสอนพวกท่าน ให้กำหนดภาพพระหลายองค์พร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดความระมัดระวัง ตั้งสติอยู่เฉพาะหน้า ไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้ากำลังใจคลายตัวเมื่อไร ภาพพระหลายองค์ก็จะไม่ชัดเจน หรือว่าหายไปเลย หรือไม่ก็การส่งกำลังใจขึ้นไปกราบพระ แต่ด้วยความที่พวกเราเป็นบุคคลที่หนาด้วยกิเลส ส่วนพระพุทธเจ้าท่านอยู่ในสถานที่หมดกิเลส คือพระนิพพาน ก็ทำให้เราไม่สามารถที่จะเกาะอยู่ที่นั่นได้นาน หลายคนไม่ทันรู้ตัวก็หล่นลงมาอยู่ข้างล่างแล้ว

ผมใช้วิธีบังคับใจให้มีงานทำ ด้วยการตั้งใจขึ้นไปสวดมนต์ ถวายเป็นพุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา เมื่อมีงานทำ ใจของเราก็ยังไม่เคลื่อนไม่คลายจากเป้าหมายนั้น ก็ต้องหาบทสวดมนต์ยาว ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร มหาสมัยสูตร หรือว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น

หรือถ้าหากว่าท่านที่ภาวนาพระคาถาเงินล้านจนชิน ก็ตั้งใจไปเลยว่าถ้าไม่ครบ ๑๐๘ จบ เราจะไม่ลงมา พอกำลังใจของเราเกาะความดีมั่นคงขึ้นไปเรื่อย ๆ ท้ายสุด ไม่ต้องบังคับ ก็สามารถอยู่กับพระนิพพานได้นานตามที่ตนเองต้องการ เป็นต้น

เรื่องพวกนี้ ถ้าหากว่าเราไม่สอบถามครูบาอาจารย์ น้อยคนที่จะบอกกล่าว เราต้องไปฝึกฝนหาในแง่มุมที่เหมาะสมของแต่ละคน เพื่อที่นำส่วนที่เหมาะที่สุดมาช่วยเหลือการปฏิบัติของเราให้ก้าวหน้า

ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณร ตลอดจนกระทั่งเจริญพรให้แก่ญาติโยมทางบ้านได้ทราบว่า การที่เราทำอะไรซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ทุกวัน เป็นการสร้างความเคยชิน ดังนั้น...การปฏิบัติในการสวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาต กรรมฐาน ถ้าเราทำอยู่ทุกวันจนเกิดความเคยชิน ก็จะทำให้กำลังใจของเราค่อย ๆ ใกล้ชิดกับความดี และห่างกิเลสไปเรื่อย ท้ายที่สุดก็สามารถขัดเกลาจิตใจของตนให้ผ่องใสมากขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งท้ายที่สุดก็หลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน..ขอเจริญพร


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอาทิตย์ที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)