PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒


เถรี
20-07-2009, 07:31
วันนี้มีคนหนึ่งมาถามว่า ทำกรรมฐานมาสิบกว่าปีแล้วไม่ได้อะไรเลย เป็นเพราะอะไร ? ก็บอกว่าเป็นเพราะไม่สามารถกำหนดใจให้อยู่กับคำภาวนาของตัวเอง ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกได้

โยมอีกท่านก็ถามว่า ถ้าจะเป็นพระอริยเจ้า ต้องได้ฌานสี่หรือไม่ ? ถ้าเป็นพระอริยเจ้าขั้นต้นไม่ต้อง กำลังปฐมฌานเพียงพอที่จะตัดกิเลสในความเป็นพระโสดาบันและพระสกิทาคามีแล้ว แต่ถ้าต้องการจะเป็นพระอนาคามีขึ้นไป จำเป็นต้องได้ฌานสี่ เพราะถ้าไม่ได้กำลังในการตัดกิเลสก็จะไม่มี

ถามต่อไปว่าทำอย่างไรฌานสี่จึงจะคล่องตัว ? วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือใช้มโนมยิทธิ ซ้อมบ่อย ๆ การใช้มโนมยิทธิของเราถ้ากำหนดรู้ได้จะเป็นอุปจารสมาธิ แต่ถ้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ จะเป็นกำลังของฌานสี่ ใช้ให้เคยชินและซักซ้อมความคล่องตัว เราจะได้มีกำลังเพียงพอในการตัดกิเลสได้

ดังนั้น..ลมหายใจเข้าออกของเราถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติ ถ้าเราปล่อยอารมณ์ให้เป็นปกติ มันไม่ฟุ้งซ่านไปในอดีต มันก็จะฟุ้งซ่านไปในอนาคต ฟุ้งซ่านไปในอดีตก็อาจจะเสียดาย ห่วงหาอาลัยอยู่กับมัน ฟุ้งซ่านไปในอนาคตส่วนใหญ่ก็อยากเป็นนั่น อยากได้นี่ ถ้าเราสามารถหยุดกำลังใจอยู่กับลมหายใจเข้าออก เท่ากับว่าเราหยุดอยู่กับปัจจุบัน ถ้าเราหยุดอยู่กับปัจจุบันความฟุ้งต่าง ๆ จะน้อยลงอย่างมาก เหลือเพียงความทุกข์ที่เกิดจากขันธ์ ๕ เท่านั้น

ดังนั้น..ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องรักษาลมหายใจเข้าออกของเราให้ทรงตัวอยู่เสมอ เมื่อลมหายใจเข้าออกทรงตัวแล้วจงอย่าลืมแผ่เมตตา โดยกำหนดใจ ให้มีความรัก ความเมตตา ความหวังดีต่อสรรพสัตว์ถ้วนหน้า ขอให้เขาพ้นจากความทุกข์ ขอให้เขามีแต่ความสุข เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องกระทำเป็นประจำอยู่แล้ว

ถามว่าต้องแผ่เมตตาวันละกี่รอบ ? ก็จะเอาคำตอบของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ ครูบาอาจารย์ใหญ่ของพระป่าสายอีสาน หลวงปู่มั่นกล่าวว่าสำหรับองค์ท่านเองแล้ว แผ่เมตตาใหญ่วันละสามครั้ง แล้วแผ่เมตตาอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ นับครั้งไม่ถ้วน บุคคลที่มีจิตเมตตาย่อมรัก ย่อมสงสารในสรรพสัตว์ทั้งปวง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ละเมิดศีล เพราะว่าการละเมิดศีลเป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เมื่อเรามีความรักความเมตตาสงสารต่อคนอื่น ต่อสัตว์ เราก็จะกลายเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์โดยอัตโนมัติ

การปฏิบัติโดยนึกถึงลมหายใจเข้าออกของเรานั้น ถ้าหากว่าใช้คำภาวนาควบไปด้วยก็จะดี เพื่อเป็นการเพิ่มงานให้กับจิต หรือกำหนดรู้ภาพพระเพิ่มเข้าไปด้วย เมื่อจิตมีงานหลายอย่างที่ต้องระมัดระวัง ที่ต้องกระทำ ก็จะทำให้จิตไปสู่อารมณ์อื่นได้ยาก ดังนั้น..สำหรับพวกเราทั้งหมด ขอให้คิดว่าการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก การแผ่เมตตา เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เป็นปกติ เพื่ออันดับแรก ความอยู่สุขอยู่เย็นของเราเอง อันดับต่อไป บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่เห็นตัวและไม่เห็นตัว เมื่อได้รับกระแสใจอันสุขเย็นของเรา ก็จะเกิดความหวังดี ปรารถนาดีกับเราโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะบรรดาเทวดาต่าง ๆ จะตามคุ้มครองรักษา ตามสภาพจิตของเรา สภาพจิตยิ่งมีความผ่องใสมากเท่าไหร่ ก็จะมีเทวดารักษามากขึ้นไปเรื่อย ๆ

เถรี
20-07-2009, 07:42
ดังนั้น..การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เมื่อทรงตัวแล้วก็ให้แผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย จากนั้นก็ก้าวไปสู่ห้วงของการทำงานต่าง ๆ อย่างเช่นการกำหนดรู้สภาพร่างกายของเรา ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา หรือว่ากำหนดเห็นความเกิดดับของสภาพร่างกายนี้ให้เป็นปกติ หรือจะกำหนดว่าร่างกายนี้มีความเป็นทุกข์ เป็นโทษอยู่ตลอดเวลา เปรียบเสมือนกับเลี้ยงเสือร้ายไว้ให้อ้วน แล้วก็มาขบกัดทำร้ายเรา ผู้เป็นเจ้าของ

ดังนั้น..ถ้าจิตใจของท่านตัด ละออกได้จริง ๆ ก็จะทำให้ตัวของเราเองเบาทั้งกาย เบาทั้งใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นการที่เราพิจารณาธรรมต่าง ๆ จะง่าย เมื่อจิตยอมรับสภาพแล้วว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ความห่วงหาอาลัยต่าง ๆ ก็จะลดน้อยถอยลง จนกระทั่งหมดไปเอง

ท่านทั้งหลายจึงมีหน้าที่ที่ต้องทำเป็นประจำก็คือ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก แผ่เมตตา พิจารณาในวิปัสสนาญาณข้อต่าง ๆ แล้วแต่ว่าช่วงนั้นมีเวลามากน้อยสักเท่าไร ถ้าหากท่านใดไม่ถนัดในการพิจารณาเห็นความเกิดดับ เห็นความเป็นทุกข์เป็นภัย เห็นความเป็นของน่ากลัว จะพิจารณาในความไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุดก็ได้ หรือพิจารณาให้เห็นในความเป็นทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบใจ เศร้าโศกเสียใจ ความปรารถนาไม่สมหวัง กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ หรือว่ากระทั่งท้ายสุดก็ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา

จากเมื่อประมาณสองอาทิตย์เศษที่ผ่านมา เจ้าอาวาสวัดหินแหลมที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นอบรมเจ้าอาวาสมาด้วยกัน ก็ถึงแก่ความตายลงด้วยอุบัติเหตุ ท้ายสุดวัดวาอารามที่พยายามเสริมสร้างจนใหญ่โตก็ดี ทรัพย์สินสิ่งของต่าง ๆ ก็ดี ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นำติดตัวไปได้ มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่ติดตัวเราไปแล้วเป็นผลแก่ตัว ก็คือบุญกุศลต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากศีล เกิดจากสมาธิ เกิดจากปัญญา

ดังนั้น..ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องปฏิบัติงานที่สำคัญ เป็นงานที่ชำระจิตชำระใจของตนให้ขาวสะอาด ให้บริสุทธิ์อยู่ในทุกวัน เมื่อปฏิบัติรักษาจิตได้แล้วก็ให้ประคับประคองอารมณ์นั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุด เท่าที่พึงนานได้ เพื่อเป็นการรักษากำลังใจเอาไว้ไม่ให้รัก โลภ โกรธ หลง กินได้มากนัก แล้วหลังจากนั้นค่อยไปคิด ไปตัด ไปละ ไปถอนความยินดีในร่างกายนี้เสีย ถ้าเราไม่ยินดีในร่างกายของเรา ก็ไม่ยินดีในร่างกายของคนอื่นด้วย ก็แปลว่าในเมื่อตัวเรายังไม่ต้องการ แล้วจะไปต้องการร่างกายคนอื่นไปทำไม

ท่านทั้งหลายจงกำหนดการภาวนา การแผ่เมตตาและการพิจารณาต่าง ๆ ดังนี้ ถ้าหากว่าครบรอบแล้วก็เริ่มต้นใหม่ ถ้ายังไม่ครบรอบก็ภาวนาไปเรื่อย ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ให้กำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ให้กำหนดรู้คำภาวนา ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออกหรือไม่มีคำภาวนาให้กำหนดใจรู้ไว้ว่าสภาพมันเป็นเช่นนั้นเอง อย่าอยากให้มันเป็น และอย่ากลัวที่มันเป็น ทำใจเฉย ๆ ถ้าสามารถทำได้ดังนี้ก็จะก้าวขึ้นสู่สมาธิเบื้องสูงไปเรื่อย ๆ ได้ ยิ่งสมาธิสูงทรงตัวมากเท่าไหร่ปัญญาก็ยิ่งเกิดง่ายขึ้น

สำหรับตอนนี้ให้ทุกคนอยู่กับคำภาวนา อยู่กับการพิจารณา อยู่กับการกำหนดรู้ตามสภาพความเป็นจริงของร่างกาย ปฏิบัติไปจนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกให้เลิกได้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ที่บ้านอนุสาวรีย์ช่วงทำกรรมฐาน
วันศุกร์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒