View Full Version : เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ ต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์ได้เล่าเรื่องราชวงศ์อินเดียสมัยก่อนให้ฟัง ท่านได้เอ่ยถึงพระเจ้าจันทรคุปต์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์คุปตะว่า
"พระเจ้าจันทรคุปต์ตอนทำศึก แพ้เขาอยู่หลายครั้ง วันหนึ่งเลาะไปตามชายป่า ย่องไปขออาหารเขากิน เจอหญิงชาวบ้านคนหนึ่งทำขนมทอด เวลาทอดขนมขึ้นมาใหม่ ๆ มันจะร้อน เมื่อลูกเห็นขนมเข้าก็ร้องอยากกิน กินเข้าไปก็ร้องออกมาเพราะว่ามันร้อนมาก แม่ก็เลยด่าว่า "เอ็งนี่โง่เหมือนจันทรคุปต์ ใครเขาไปกินคำโต ๆ เล่า เล็มเอาทีละน้อย ๆ สิ"
จันทรคุปต์ได้ยินก็สะดุดใจ คิดว่าที่เราแพ้เพราะเราโง่อย่างนี้นี่เอง เนื่องจากตนใช้วิธีไปปะทะกับเขาตรง ๆ ก็เลยเปลี่ยนไปใช้วิธีใหม่ โดยรวบรวมกำลังพลมา ใช้ยุทธวิธีกองโจร ตอดเล็กตอดน้อยตัดกำลังเขาไปเรื่อย ตัวเองก็ค่อย ๆ สั่งสมกำลังเยอะขึ้น ๆ พออีกฝ่ายหนึ่งอ่อนแอก็ทุ่มกำลังใส่ทีเดียว คราวนี้ชนะ ได้บ้านเมืองเขามา
จันทรคุปต์ต้องไปขอบพระคุณหญิงชาวบ้านคนนั้นที่ช่วยด่าให้หายโง่
อย่างพวกเราก็ต้องมียุทธวิธีในการรบกับกิเลส ระวังจะเจอแบบนี้....โง่เหมือนจันทรคุปต์..!"
"ต้องไปท่องยุทธวิธีตามตำราพิชัยสงคราม มีฤทธี สีหจักร ลักษณ์ซ่อนเงื่อน เถื่อนกำบัง พังภูผา ม้ากินสวน พวนเรือโยง โพงน้ำบ่อ ล่อช้างป่า ฟ้างำดิน อินทร์พิมาน ผลาญศัตรู ฯลฯ
วิธีของจันทรคุปต์เป็นวิธีม้ากินสวน ก็คือ ค่อย ๆ เล็ม"
ตอนนี้พระอาจารย์ได้รับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนพระนิสิต
ท่านกล่าวว่า "การไปสอนพระนักศึกษา ไม่ได้เห็นประโยชน์เรื่องอื่น นอกจากว่าจะได้มีโอกาสนำเอาบางสิ่งที่เราเห็นว่าดีไปเพิ่มให้เขา เมื่อวานก็บอกกับเขาว่า ตอนที่พระพุทธศาสนาสูญไปจากอินเดีย เกิดจากคณะสงฆ์ติดในลาภสักการะ ละทิ้งหลักการที่แท้จริง คล้อยตามความต้องการของชาวบ้าน
บรรดาหลวงพ่อ หลวงพี่ทั้งหลาย เห็นอยู่แล้วว่าพระพุทธศาสนาสูญไปจากอินเดียเพราะอะไร ตอนนี้บ้านเราก็เริ่มมีสภาพคล้าย ๆ อย่างนั้น ก็คือเริ่มติดในชื่อเสียง ลาภ ยศ ติดในตำแหน่ง คล้อยตามเอาใจชาวบ้านเพื่อให้เขามาวัด
อาตมาบอกเขาว่า เราจะเป็นพระได้ ก็เพราะมีส่วนต่างจากชาวบ้าน ที่คนเคารพพระเพราะพระต่างจากชาวบ้าน ถ้าหลวงพ่อ หลวงพี่ทั้งหลายทิ้งหลักการโดยเฉพาะศีลพระ จะไม่มีอะไรต่างจากเขา แล้วจะไปหาความเคารพจากชาวบ้านได้อย่างไร? ถ้าเป็นอย่างนี้นานไปศาสนาพุทธก็จะล่มจมเหมือนอย่างที่อินเดีย
เพราะฉะนั้น..แม้ว่าเราจะไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการได้เต็มที่ แต่ก็ต้องมีหลักการอยู่ ต่อไปพวกลูกพระ หลานพระที่เขามารับช่วงต่อ อาจมีอัจฉริยะสักรูปเกิดขึ้นมา นำเอาหลักการนั้นนำไปปฏิบัติแล้วเกิดผล จะทำให้ศาสนารุ่งเรืองขึ้นมาได้อีกวาระหนึ่ง
ดังนั้น..แม้ว่าเราไม่สามารถทำดีได้แต่อย่าทิ้งหลักการ สอนญาติโยมก็ให้สอนตามหลักการ เผื่อญาติโยมนำไปปฏิบัติแล้วเกิดผลดีกับตัว ก็จะมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่ตั้งใจว่าจะคอยหยอดให้เขาทีละนิดทีละน้อย มันเป็นส่วนที่นอกเหนือจากบทเรียน บทเรียนเขามีกรอบบังคับว่าต้องสอนแบบนั้น เราเองไม่สามารถที่จะไปสอนเต็มที่ตามที่เราต้องการได้ มีอยู่อย่างเดียวคือหยอดไปเรื่อย ๆ ถ่ายทอดทายาทอสูรให้มาก ๆ ขึ้น ถึงแม้ว่าฟังแล้วจะผ่านหู แต่อย่างน้อยก็เคยได้ยิน พอไปถึงระยะหนึ่งกุศลมันเข้า เขาจะรู้สึกสะกิดใจและนำไปปฏิบัติ ก็จะเป็นประเภทต้นคดปลายตรงก็ยังดี"
"ตอนนี้ลูกศิษย์ ๓๗ รูปใน ๑ ห้องเรียน เท่าที่ดูมียึดหลักการอยู่ ๒ รูป ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะปกติจะเละหมดทั้งห้อง
เขาสอนกันมาเป็นรุ่นต่อรุ่น พยายามผ่อนผันเรื่องศีล อย่างเช่น กินข้าวเย็นได้ ดูหนังฟังเพลงได้ เพื่อเอาใจพวกเณรให้อยู่เรียนกับสำนักนี้ ถ้าเขาเรียนได้มากเท่าไร ตัวเองก็เบิกค่าหัวได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะว่าเงินช่วยเหลือจากส่วนกลางเขาจะมีอยู่ เป็นเงินช่วยในการศึกษา เพราะฉะนั้น..มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราจะได้ข่าวว่ามีสำนักเรียนในกรุงเทพฯ แจ้งยอดนักเรียนเกินเป็น ๗๐๐-๘๐๐ รูป แล้วก็เบิกเงินตามนั้น พอเขาไปตรวจสอบก็บอกว่าไม่มี อ้างว่าสึกไปแล้ว ถ้าเจตนาแบบนั้นมันชัดเกิน ความเป็นพระไม่น่าจะเหลือ
ฟัง ๆ แล้วน่าสลดใจ อาตมาไปสอนนี่ไม่ได้ตั้งใจอะไร ตั้งใจตักน้ำรดหัวตอ มันไม่งอกเอาแค่เปียกก็ยังดี มันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ทำอย่างไม่หวังผล ทำเพราะเป็นสิ่งที่เราต้องทำ เมื่อได้ทำเราทุ่มเทไปแล้วถือว่าเราทำหน้าที่สมบูรณ์ไปแล้ว ผลจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิด เป็นเรื่องของเขาไม่ใช่ของเรา
ค่าบรรยายที่เขาให้ก็ไม่พอค่ารถ ไปกลับเที่ยวหนึ่งก็ ๖๐๐ กว่าบาท บรรยายไปสองชั่วโมงได้มา ๔๐๐ บาท ยังดีที่ไม่ต้องจ่ายฟรี ๖๐๐..!"
ถาม : การพิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา ต้องวางกำลังใจอย่างไร?
ตอบ : ตรงนั้นมันเกินสำหรับเรา อันดับแรก ให้รู้ตัวก่อนว่าเราต้องตาย ในเมื่อเราตาย เราเอาอย่างอื่นไปได้ไหม?
ถาม : ไม่ได้ครับ
ตอบ : แล้วถ้าคนอื่นตายล่ะ?
ถาม : เอาไปไม่ได้ครับ
ตอบ : ทำไปทีละขั้น ของเรากระโดดไปเรียนด็อกเตอร์ ไม่ทันกิน ต้องตีในระดับประถมหรือมัธยม ส่วนในระดับมหาวิทยาลัยเขาเรียนแบบใช้เหตุใช้ผลกัน ค่อยไปตีเอาทีหลัง
เพราะฉะนั้น..พิจารณาให้เห็นก่อนว่าเราต้องตายแน่ ๆ ไม่ใช่แต่เรา เขาก็ด้วย ถ้าหากว่าเราตายแล้วอยากไปดี ก็อย่าทำให้ใจตัวเองเศร้าหมอง ไปซ้อมอยู่จุดเดียวพอ เอาตายท่าเดียว
ไม่ใช่แสวงหาความตายนะ แต่เห็นว่าธรรมดาต้องตาย ในเมื่อตายก็ไม่มีอะไรแบกไปได้ แม้กระทั่งตัวของเราที่รักก็ยังเอาไปไม่ได้ คนอื่นก็ไม่ต่างกัน
พระอาจารย์กล่าวว่า "กำลังใจที่เหมือนภูเขาทั้งลูกที่แบกไว้ พอวางลงได้ ตรงจุดอย่างนี้ถ้าหากว่าใครพบ พยายามจำมันให้ได้ กำลังใจที่เราปลงภาระอะไรบางอย่างลงได้ รู้สึกเบา รู้สึกสบาย มีความสุข
ถ้าหากในด้านของธรรมะ กำลังใจที่เราปลงรัก โลภ โกรธ หลงลงได้นี่ มันมีสุขมากกว่านั้นนับประมาณ อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้หรอก คนที่แบกของหนักแทบจะล้มประดาตาย วางของลงมันสบายจริง ๆ ส่วนกำลังใจที่ปลงจากรัก โลภ โกรธ หลงอันนั้นสบายกว่า สุขจนนับไม่ถูก"
มีคนนำ 'ขนมโคคนธรรพ์' มาถวายหลวงพ่อเล็ก ลักษณะของขนมโคคนธรรพ์ตามที่เห็นนั้น เหมือนกับหินเม็ดใหญ่ ๆ เป็นสีขาว กลม ๆ แต่กินไม่ได้
พระอาจารย์บอกว่า "ขนมโคคนธรรพ์นี้จะอยู่ตามลำธาร ถ้าไปเก็บออกมาจะออกจากป่าไม่ได้ ต้องบอกกล่าวขอขมาท่าน ส่วนใหญ่เขาจะเอามาทำเป็นส่วนผสมของวัตถุมงคล
นอกจากนี้ยังมีของบางอย่างที่มีลักษณะเหมือนปลัดขิก เป็นหินแต่ว่ายน้ำได้ ต้องไปตะครุบเอาเอง แดง(มงคล จอมผา) พอเขาก้มลงจะจับมัน ก็ปรากฏว่าเหมือนมีพัดลมใหญ่เป่าวูบออกมาจากถ้ำ ก็เลยไม่กล้าแตะ
นอกจากนี้ก็ยังมีของแปลกอย่างอื่นอีก ทางพม่าเขาเรียกว่า "แท่งยาพระฤๅษี" เขาบอกว่ามันอยู่ยงคงกระพัน ทหารพม่าก็เลยเอามาลองยิง ปรากฏว่าปืนที่ยิงพังกระจายเลย
สรุปว่า กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ของดีแค่ไหน ต้องดูกำลังใจ มันจะได้อย่างนั้น"
มีป้าคนหนึ่งนำซองมาถวายพระอาจารย์ บอกว่าทำบุญสร้างปราสาททองคำ
พระอาจารย์จึงบอกว่า "อาตมาไม่ได้สร้าง สร้างแต่พระชำระหนี้สงฆ์ ถ้าอาตมาต้องเริ่มต้นสร้างปราสาททองคำใหม่ ไม่เอานะจ๊ะเพราะต้องลงทุนเป็นพันล้าน เรื่องของพระ เวลาโยมเขาระบุให้ทำอะไร ต้องทำอย่างนั้น เราเปลี่ยนเจตนาเขาไม่ได้ เขาปรับโทษเท่ากับย้ายเจดีย์ ก็แปลว่าลงอเวจีมหานรกเท่านั้น
คราวนี้โยมเขาจะสร้างปราสาททองคำ อาตมาไม่เอาด้วยหรอกจ้ะ มีอยู่เที่ยวหนึ่ง ตอนนั้นไปอยู่วัดท่าขนุนปีแรก หลวงพ่อจังหวัดท่านสั่งให้ไปช่วยบูรณะวัดท่าขนุน ตรงโลงแก้วหลวงปู่สาย คนซื้อเขาซื้อตู้ปลามาบรรจุ เราก็รำคาญสายตา พอไปอยู่วัดท่าขนุนก็เลยสั่งโลงแก้วประดับมุกมาถวาย
ปรากฏว่าญาติโยมก็ไปช่วยกันเช็ด ช่วยกันถู เสร็จสรรพเรียบร้อยยกเก็บเข้าที่ แล้วก็มีคนที่มีความคิดบรรเจิดว่า โต๊ะหมู่ไม้มันไม่เข้ากับโลงแก้ว ถ้าเป็นโต๊ะหมู่ประดับมุกจะดีมาก ว่าแล้วเขาก็ควักเงิน ๑๐๐ บาท เป็นเจ้าภาพโต๊ะหมู่ อาตมาก็ต้องโทรไปสั่งโต๊ะหมู่ราคา ๘๘,๐๐๐ บาท โดยที่อาตมาจ่ายไป ๗๙,๙๐๐ บาท..! เพราะฉะนั้น..ต่อไปใครจะทำอะไร ที่ต้องจ่ายเยอะ ๆ ไม่ต้อง ยกเว้นเป็นเจ้าภาพเลย
เราเปลี่ยนเจตนาเขาไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านปรับโทษไว้ ต้องทำตามที่เขาให้ ดังนั้น..ระยะนี้ ถ้าใครมาแบบผิดท่าผิดทางอาตมาไม่เอาทั้งนั้น"
ถาม : ทุกวันนี้จับลมทั้งวันค่ะ เวลาที่จิตมันนิ่ง ๆ ตรงหน้าผากมันจะหนักค่ะ แล้วจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ บางทีแบบจะระเบิดเลยถ้าไม่หยุดค่ะ
ตอบ : อย่าไปใส่ใจ ก็ให้มันระเบิดตายไปเลย
ถาม : ไม่ผิดอะไรใช่ไหมคะ?
ตอบ : ไม่มีอะไรผิดจ้ะ สมาธิมันเริ่มทรงตัวมากขึ้น ถ้ามากเข้า ๆ จะเหมือนกลายเป็นหินไปทั้งตัว นี่ของเรานี่แค่เป็นบางส่วน
ถาม : แล้วจับลมกับรู้อิริยาบถนี่แทนกันได้เลยหรือเปล่าคะ?
ตอบ : สามารถทำควบกันได้ ถ้าหากว่าเอาแต่รู้อิริยาบถอย่างเดียว สมาธิมันเบาเกินไป จะเผลอหลุดได้ง่าย ทำเรื่องลมให้คล่องแล้วไปเอาอิริยาบถทีหลัง
ถาม : ทุกวันนี้เวลาตอนเช้ากิเลสมันจะงอกงามมากเลยค่ะ เหมือนกับตื่นเช้าแล้วก็ต้องมานับหนึ่งใหม่ทุกเช้าอย่างนี้
ตอบ : ก็เพราะว่าสติมันไม่ต่อเนื่อง มันงอกตั้งแต่ตอนหลับ พยายามทำ ทำอย่างไรให้หลับแล้วรู้ตัว จะได้ทันกิเลส
ถาม : แล้วต้องทำอย่างไรคะ?
ตอบ : เพิ่มสติขึ้นไปเรื่อย ๆ
ถาม : แล้วถ้ามีสติตลอดเวลาทั้งหลับและตื่นนี่ คนธรรมดาที่ไม่ใช่พระอริยเจ้าเขาทำได้ด้วยหรือคะ?
ตอบ : ได้ แค่ปฐมฌานละเอียดแค่นั้น
ถาม : หนูเคยภาวนาแล้วหลุดออกไปค่ะ แต่ทีนี้ภาพที่เห็นตอนหลุดออกไปกับตอนที่เป็นจริงนี่มันมีความแตกต่างกันเยอะมากเลยค่ะ แต่ก็มีบางจุดที่ทำให้รู้ว่าเป็นที่เดียวกัน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นคะ?
ตอบ : ที่หลุดไปมันละเอียดกว่า
ถาม : แสดงว่าของจริงคือตอนที่หลุดออกไปหรือคะ?
ตอบ : ไม่แน่ ขึ้นอยู่กับความหยาบละเอียดของจิตตอนนั้น ต้องบอกว่าเป็นแค่ตอนนั้น
ถาม : เมื่อนั่งสมาธิพอจิตนิ่งแล้ว ทำการวิปัสสนาแล้วเกิดอาการตัวแข็ง ๆ โดยเฉพาะหน้าจะมีอาการตึง ๆ แล้วจะมีอะไรบางอย่างหมุนวนตรงปลายจมูกติดอย่างนี้มา ๒-๓ ครั้ง ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรต่อ เพราะคำภาวนาไม่มีและไม่ได้จับลม?
ตอบ : รู้ไว้เฉย ๆ รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น อย่าอยากให้มันหายและอย่าอยากให้มันเป็น แล้วจะไปลึกกว่านั้น ตอนนั้นอาจจะตกอกตกใจว่าตัวถูกสาปกลายเป็นหินไปแล้ว
ถาม : ก็คือถ้าวิปัสสนาอยู่ ก็วิปัสสนาต่อไปไม่ต้องสนใจ?
ตอบ : พิจารณาต่อไป ไม่ต้องไปใส่ใจ
ถาม : หลัง ๆ บางครั้งได้ยินเสียงโทรศัพท์มือถือก่อนที่คนจะโทรมาจริง ๆ สัก ๕ วินาที เป็นเพราะจิตรับรู้ได้เร็วขึ้นหรือเปล่า?
ตอบ : มันดังแล้ว
ถาม : ดังแล้วหรือคะ?
ตอบ : ดังจากต้นทาง
ถาม : อ๋อ
ตอบ : มันยังมาไม่ถึงปลายทาง อันนี้ได้ยินก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
ถาม : ถ้าภาวนาคาถาเงินล้านก่อนนอน ตอนหลับไปไม่รู้ตัว แต่พอตื่นแล้วก็ภาวนาต่อเลยนี่... ?
ตอบ : พอไหว
ถาม : คาถาเงินล้านนี่สามารถฝืนวิบากกรรมได้มากน้อยแค่ไหนคะ ?
ตอบ : ได้นิดหน่อย แค่เป็นมหาเศรษฐี แค่นี้ก็น่าจะพอใจนะ..!
ถาม : ถ้าตามดวง อย่างหมอดูฟันธงว่าจนแน่ ๆ นี่ก็ทำให้ถึงกับรวยได้เลยหรือคะ ?
ตอบ : เรื่องของเขา เขาว่าจนเดี๋ยวเราจะรวยให้ดู อาตมาไม่เคยเชื่อเลยพวกหมอดู
ถาม : เป่ายันต์เกราะเพชรแล้วไปกินเหล้า กับมีวัตถุมงคลที่เป็นยันต์เกราะเพชรแล้วไปกินเหล้า อย่างไหนจะคุ้มครองดีกว่ากัน?
ตอบ : ดีต่างกันตรงที่ว่า ถ้าเป่ายันต์เกราะเพชรแล้วยันต์จะไม่หาย ถ้ารักษาได้ยันต์จะติดตัวเราตลอด แต่ถ้ากินเหล้านี่เสื่อมเลย
ส่วนวัตถุมงคลที่เป็นยันต์เกราะเพชร ถ้ากินเหล้าจะไม่คุ้มครองเฉพาะตอนนั้น ถึงเวลาหายเมาก็อาราธนาคุ้มครองใหม่ได้
แต่ถ้าเผลอหรือลืมทิ้งวัตถุมงคลไว้ก็หาย ไม่ได้ติดตัวไปตลอดเหมือนการเป่ายันต์ เพื่อความไม่ประมาทก็ทั้งวัตถุมงคลที่เป็นยันต์เกราะเพชรแล้วก็เป่ายันต์ด้วย เอาทั้งสองอย่าง
ถาม : เรื่องการบวชนาคแบบพิสดาร ที่ต้องเขย่านาคที่นั่งอยู่บนคาน
ตอบ : เขาทดสอบบารมีว่าจะได้บวชหรือตกมาคอหักตาย..!
ถาม : ต้องถึงกับเขย่าด้วยหรือคะ?
ตอบ : อย่าลืมว่าพวกที่แบกเขาเมาทั้งนั้น เขาก็เล่นสนุกสิ ก็เลยเป็นการทดสอบว่านาคจะมีบารมีพอที่จะบวชหรือตกลงมาคอหักตาย?..!
แม้กระทั่งสมัยนี้ประตูโบสถ์วัดท่าขนุน ก็ยังอุตส่าห์ให้นาคขึ้นตบคานประตู สมัยก่อนโบสถ์เขาสร้างไว้เตี้ย ถึงเวลานาคเดินเข้าจะเอามือตบคานประตู เพื่อบอกให้รู้ว่าก้มหน่อย เดี๋ยวนาคหัวแตก แล้วก็ถือเป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงเวลาก็ให้นาคขี่คอขึ้นไปตบ วันก่อนเจอนาคหนัก ๑๔๐ กิโลกรัม คนโดนนาคขี่แทบเป็นลมตาย บางอย่างเขาทำตาม ๆ กันมาโดยที่ไม่พยายามศึกษาว่าเขาทำโดยมีสาเหตุอะไร
อาตมาไปพม่า ไปเจอต้มเห็ด เขาใส่ผักบุ้ง ใส่ข้าวลงไปในต้มเห็ด กลายเป็นข้าวต้มเห็ด จึงถามเขาว่า "นี่คืออะไร?" เขาบอกว่าข้าวต้มเห็ด ถามต่อว่า "รู้ไหมว่าเขาใส่ผักบุ้งและข้าวไปทำไม?" เขาก็ตอบว่า "เพราะมันอร่อย"
นี่เขาไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ที่เขาใส่เห็ดเพราะว่าเห็ดบางอย่างที่หามาจากป่าซึ่งไม่รู้ว่ากินได้หรือไม่ เวลาต้มเมื่อเอาข้าวสุกใส่ลงไป ถ้ามันเป็นเห็ดมีพิษ ข้าวจะเป็นสีดำ ขณะเดียวกันผักบุ้งเป็นตัวยาถอนพิษชนิดที่ดีที่สุด เขาป้องกันโดยใส่ปนกันไปเลย ถ้ากินลงไปมันจะได้แก้ลงไปในตัว
ทีนี้เขาไม่รู้ถึงสาเหตุก็ใส่ลงไปเรื่อย ๆ กลายเป็นข้าวต้มผักบุ้งเห็ด เราเห็นนี่นั่งกุมขมับเลย คนที่ตอบนี่เป็นครูนะ เขาบอกว่าใส่เพราะอร่อยดี เขาไม่พยายามที่จะคิดเลยว่ามันเกิดจากอะไร เห็นเขาใส่ก็ใส่ตาม เขาเรียกว่าเถรส่องบาตร เห็นอาจารย์ส่องตัวเองก็ส่องบ้าง บาตรอาจารย์รั่วอาจารย์ก็เลยดูว่ารูมันใหญ่พอที่จะเปลี่ยนหรือไม่ ลูกศิษย์เห็นอาจารย์ตนเองส่องก็ส่องตามไปเรื่อย ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ทำตาม ๆ กัน
คนพวกนี้แปลก เรื่องที่ไม่น่าสงสัยเขาจะไปสงสัย เรื่องที่ควรสงสัยเขาไม่สงสัยหรอก"
ถาม : เรื่องการจบกิจ หมายถึง?
ตอบ : ถ้าจบตรงนั้นแปลว่าจบทุกอย่าง อายุไม่เกี่ยว จบตอน ๗ ขวบ ก็ตายตอน ๗ ขวบ
อาตมายืนยันไปหลายครั้งว่า ฆราวาสที่เก่งจริง ตายหมดแล้ว ที่อยู่นี่ยังเก่งไม่จริง แต่คนก็ไม่ค่อยฟังกัน ไป ๆ มา ๆ ก็จะมานั่งบ่นกันว่า ฆราวาสคนนี้ไม่ชอบมาพากล มาบ่นทำไม?
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "กลางเดือนมิถุนายน มีอุบัติเหตุตรงบริเวณไทรโยค ตรงแถว ๆ ทุ่งเลี้ยงสัตว์ รถที่ชนกันเป็นคนทองผาภูมิ ตายคาที่ไป ๔ ศพ อยู่โรงพยาบาล ๑ คน บาดเจ็บสาหัสอีก ๒ คน รถหมดสภาพ ที่ตายมีอยู่รายหนึ่ง เป็นพระที่อบรมเจ้าอาวาสรุ่น ๑ ตายคาที่ พอตายแล้ว เพื่อนพระก็มาสะกิดถามว่าเขามีสมเด็จนางพญา แล้วตายได้อย่างไร? สรุปก็คือว่า วันนั้นเขาไม่ได้เอาไป คนเราพอถึงวาระมันมีเหตุให้เป็นแบบนี้
นึกถึงผู้พันท่านหนึ่ง ท่านมีวัตถุมงคลของอาตมา แม้กระทั่งปืนที่เขาติดตัวอาตมาก็เสกให้ ปรากฏว่าวันนั้นไปโดนพวกกะเหรี่ยงล้อมยิง ตัวเองหลุดจากวงล้อมมาได้ เป็นห่วงลูกน้องย้อนกลับไปช่วยเขา ปรากฏว่าตาย ขาขาด อาตมาถามลูกน้อง ลูกน้องบอกว่า วันนั้นตั้งแต่ออกเดินทางผู้พันก็บ่นว่าใจคอไม่ดีเพราะลืมวัตถุมงคล พออาตมาถามถึงปืนที่เสกให้ ลูกน้องก็บอกว่าผู้พันไม่ได้พกไป
พอวาระมาถึงมันมีเหตุให้เป็นอย่างนี้จริง ๆ ตกลงว่าแหวกวงล้อมเอาตัวเองออกมาได้ แต่สุดท้ายตัวเองก็เป็นศพตามลูกน้อง"
พระอาจารย์บอกว่า "ถ้าอกุศลแรง กุศลจะเข้าไม่ได้
ความดีความชั่วเหมือนกับต้องนั่งเก้าอี้ตัวเดียว ใจเราเป็นเก้าอี้ตัวเดียวโดด ๆ ถ้าความชั่วเข้าไปนั่ง ความดีก็ไม่มีที่จะนั่ง...เพราะว่าเข้าไม่ได้ แต่ถ้าหากความดีนั่งอยู่ ความชั่วก็เข้าไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น..แต่เช้ารีบนั่งก่อน เอาตัวดี ๆ มานั่ง ไม่ใช่เอาตัวเลว ๆ มานั่ง..!"
ถาม : เรื่องลางสังหรณ์?
ตอบ : ลางสังหรณ์จัดเป็นทิพจักขุญาณอย่างหนึ่ง ในเมื่อมีทิพจักขุญาณอยู่ ก็ต้องพอรู้อะไรบ้าง
พระอาจารย์กล่าวถึงในเรื่องการปฏิบัติว่า "การปฏิบัติอย่าหวังพึ่งอาจารย์ ได้หลักมาแล้วต้องทำเอง โดยเฉพาะถ้าหวังความก้าวหน้าแล้วต้องทำให้ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่พวกเราจะทำเฉพาะตอนนั่งอยู่ พอเลิกแล้วก็ทิ้งเลย
กำลังใจที่เราปฏิบัติคือกำลังใจที่ทวนกระแสโลก เมื่อว่ายทวนน้ำพอเราทิ้ง เราก็ไหลตามน้ำ เราก็ทวนน้ำใหม่แล้วเราก็ทิ้ง ไหลตามน้ำอีก กลายเป็นว่าเราขยันเท่าไร แต่ผลงานก็ไม่มีเพิ่ม ก็เลยหาความก้าวหน้าไม่ได้ ทำอย่างไรที่เราเลิกปฏิบัติแล้วจะรักษาอารมณ์ให้ได้เท่ากับตอนที่นั่ง นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องไปประคับประคองรักษามันไว้
แรก ๆ แป๊บเดียวก็หาย แต่พอเราตั้งสติจดจ่ออยู่กับมัน มันก็จะได้นานขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราสามารถทรงกำลังใจในสภาพเหมือนนั่งสมาธิต่อกันเป็นวันเป็นเดือนได้ ความผ่องใสของจิตจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะมีมากตาม ต้องทำด้วยตนเอง ไม่ต้องหวังพึ่งอาจารย์ อาจารย์บอกแค่หลักการเท่านั้น หรือไม่ก็แนะนำตอนติดขัด แต่ทำแทนเราไม่ได้แน่นอน"
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "สมัยที่อาตมาเจออาจารย์จันทร์แรก ๆ อาจารย์จันทร์ท่านเป็นพระที่ชอบปฏิบัติ อาตมาจึงแนะนำเรื่องการปฏิบัติให้ พอแนะนำไป อาจารย์จันทร์ก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า "ที่อาจารย์บอกว่าปฏิบัติเอาแค่เสมอตัวกับกำไร ก็คือ ถ้าเราทำไปจนกำลังใจมันดีแล้วเรารักษาสภาพไว้ ถ้ารู้สึกว่ามันฟุ้งซ่านเอาไม่อยู่ ให้เราเลิก สอนตรงกันข้ามกับอาจารย์ของผม อาจารย์ผมบอกว่าตราบใดที่ยังฟุ้งซ่านอยู่ เลิกไม่ได้ ต้องทำจนกว่าจะหายฟุ้ง
อาตมาจึงบอกว่า "ขึ้นอยู่กับว่านิสัยของเราเป็นแบบไหน? เพราะหลักการปฏิบัติของพระพุทธเจ้ามี
ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติก็ยาก บรรลุก็ลำบาก
ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติยากแต่บรรลุง่าย
สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา แม้ปฏิบัติง่ายแต่กลับบรรลุยาก
และสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่ายและบรรลุเร็ว ชอบแบบไหนก็ว่ามา"
แต่จริง ๆ เขาเป็นคนมีปัญญานะ พอเห็นต่างเขาถามก่อน ว่ามันต่างกันอย่างไร อาตมาชอบแบบเสมอตัวหรือไม่ก็กำไร ถ้าทำแล้วรั้งความฟุ้งซ่านไม่ไหวก็ปล่อยเลย ประมาณว่าชั่วโมงนี้ข้ายกให้เอ็ง"
หลวงพ่อบอกว่า "สังฆทานคือการสละออกทางกาย รักษาศีลเป็นการควบคุมกาย วาจา ทำสมาธินี่ได้ทั้งกาย วาจา และใจ"
ถาม : เวลาที่ทำสมาธิ ไม่ได้รู้สึกว่าลอยหรือว่างเปล่าเหมือนอย่างที่คนอื่นเขาบอกมา ?
ตอบ : สำคัญตรงที่ว่าเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะตรงหน้าจริง ๆ หรือเปล่า หรือไปฟุ้งซ่านกับเรื่องอื่น ๆ?
ถาม : ไม่ค่ะ เหมือนเราอยู่กับตัวเอง และไม่เห็นว่าจะลอยเหมือนอย่างที่เขาพูด ?
ตอบ : นั่นเป็นแค่อาการส่วนหนึ่งเท่านั้น อาการนั้นจะเป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ แต่สำคัญว่าขณะที่จิตอยู่ตรงนี้แล้ว รัก โลภ โกรธ หลง นั้นหยุดได้ไหม ? ความฟุ้งซ่านมีไหม ? ความง่วงนอนมีไหม ? ถ้าหากไม่มีแสดงว่าอย่างน้อยจิตเราต้องทรงสมาธิได้
ถาม : ...ใจมันเลื่อนขึ้นเลื่อนลงระหว่างคำว่ารูปและอรูป บางทีมันก็มีจังหวะมาพิจารณา มันยังมีความเย็นร้อนอ่อนแข็ง ดินน้ำลมไฟ ความว่างเปล่าต่าง ๆ ในความรู้สึกในอารมณ์นี้มันมีตัวที่พยายามที่กันเราให้อยู่ แต่บางเวลาพอผ่านความเย็นร้อนอ่อนแข็งไป ความโล่งไป มันรู้สึกอีกแบบ มันสะท้านไป..
ตอบ : อย่างน้อย ๆ เห็นช่องทางแล้ว มันจะง่ายขึ้นกว่านี้
ถาม : แล้วอย่างเวลาที่เราไปยืนอยู่ท่ามกลางคนมากมาย แล้วเราเดินอยู่ หรือไปนั่งรถไฟฟ้าที่มีคนมากมาย มันเหมือนกับว่าใจเราสัมผัสกับอารมณ์ภายนอกของคนที่เขาคิดต่าง ๆ นานา บางทีเดินผ่านปุ๊บมองเห็นความคิดของเขาอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นสังขารที่ปรุงมาให้เราได้สัมผัสทางใจ แต่ว่าใจของเรานี่เหมือนกับรู้กับอารมณ์ของคนอื่น บางทีก็นึกอยู่กับอารมณ์เขา มันเป็นสิ่งที่เกิดดับตลอดเวลา
ตอบ : จริง ๆ ก็สักแต่ว่ารู้เฉย ๆ ไม่เช่นนั้นก็ตัดไปเลยอย่าไปรับรู้
ถาม : แต่ว่ามันอยู่ข้างในของเรา มันอยู่กับสมาธิที่มันเป็นความว่าง
ตอบ : ไปรู้เรื่องของเขาให้พิจารณาลงไตรลักษณ์ ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวมันเผลอพาเราไปเลย แต่ละคนที่ได้พบได้เจอ ในอดีตมันเคยมีความเกี่ยวเนื่องกันมาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมีอยู่อย่างเดียวคือ วิ่งลงไปไตรลักษณ์เลย เขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ ตอนนี้ก็ไม่พ้นทุกข์ทั้งคู่
ถาม : แล้วการที่เราเข้าไปท่ามกลางคนเยอะ ๆ เราจะตั้งอารมณ์อะไรขึ้นมา เช่น ตั้งอารมณ์ความว่าง ตั้งอารมณ์ไฟ ไฟคือธาตุร้อนใช่ไหมครับ ธาตุร้อนพอแยกออกมาแล้ว อารมณ์โกรธ อารมณ์ราคะก็มีไฟปนอยู่ด้วย แล้วก็อารมณ์หลง ความตื่นมันก็มีความสว่างของไฟอยู่ด้วย แต่มันมีภายในภายนอกที่เราเข้าไปดูได้แล้วก็ปล่อยตัวได้ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าอารมณ์ที่มันอยู่เหนือความตั้งอยู่ หรือความเข้าใจหรือความซึมภายในอารมณ์นี่
มันเหมือนเป็นวิทยุที่อยู่นอก ๆ เลย มีบางช่วงที่รู้ว่า รูปก็คือรูป อรูปก็คืออรูป แล้วมันมีความรู้สึกที่ว่าเงียบเชียบเด็ดขาด เหลือมันอยู่ภายนอก และมันเป็นสิ่งที่อยู่ตลอดเวลาด้วย เพียงแต่ว่าจิตที่ไปสัมผัสในบางครั้งนี้มันมีการภาวนา
ตอบ: ถ้ามันละเอียดไม่พอ มันไม่ได้ยิน ไม่ใช่อยู่กับการภาวนาอย่างเดียว การพิจารณาทุกอย่าง เพื่อก้าวล่วงสภาพสมมติไปให้ได้ ถ้าหากว่าก้าวไปไม่ได้มันจะไม่ชัดเจนในตรงนี้
ถาม : ตอนหลังเมื่อติดต่อกับคน ผมเกี่ยวข้องกับคนมากขึ้น ๆ มันก็มีการภาวนาของมัน เพียงแต่ว่ามันมีตัวหนึ่งผุดขึ้นมามันจะสะดุ้ง โดยที่มันจะขาดออกไป คือใจมันภาวนา มันเต็มหมดทุกอย่างเลย
ตอบ : (ตรงนี้ท่านหัวเราะชอบใจแล้วบอกว่า) แสดงว่ายังห่วงของเก่าอยู่
ถาม : มันเต็มหมดทุกอย่าง มันเหมือนเป็นอิสระ เป็นสมาธิของมันเองทุกอย่างเลย สมาธิไม่ต้องไปตั้งท่าไปทำอะไรเลย
ตอบ : มันทำงานของมันเองอัตโนมัติ
ถาม : แล้วสมาธิที่ต้องไปทรงไปตั้งอารมณ์ไว้ มันมีของมันเองโดยอัตโนมัติ มันเหมือนว่าจิตนี้มีความฉลาดอยู่ แล้วมันรู้ทุกอย่างของมันเอง แล้วมันรู้ทุกภาษา แต่ไม่ใช่ภาษาที่คนที่เข้าไปคิดกันนะครับ ไม่ใช่ภาษาคำพูด ภาษาสวีเดนอะไร แต่มันเป็นภาษาใจของมัน แล้วเวลาจะหลุด มันก็หลุดของมันเองออกไปอย่างนี้
ตอบ : ของเราถ้าไม่ติดของเก่าก็อาจจะไปแล้วก็ได้ รองานเดิมไปสักหน่อย ถ้าเบื่องานเดิมเมื่อไหร่ ตั้งใจจริง ๆ ก็จบ
ถาม : แล้วเราไปในที่นี้ มันเหมือนกับว่าติดในสิ่งที่เป็นเจตนาที่เราเคยทำเอาไว้อย่างนี้
ตอบ : ตัวอธิษฐาน เพราะสัญญาดั้งเดิม ตั้งใจจะทำมันต้องทำ เพื่อที่จะได้กล่าวว่าทั้งหมดเราเคยสืบเนื่องมันมา ในเมื่อสืบเนื่องกันมาถึงเวลาเราจะรักษามันไว้ รอลุ้นไปสักระยะหนึ่ง พอมันเกิดอารมณ์อีกทีก็ตั้งใจตัด ๆ มัน จะได้หมดเรื่องหมดราว
ถาม : ให้มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติดีกว่าครับ
ตอบ : (หัวเราะ)
ถาม : เวลาไปติดต่อคนมันจะรู้สึกในแบบที่เป็นโล่ง ๆ ของคน มันเหมือนกับเป๊ปซี่เหมือนกับแฟนต้า แสบ ๆ ร้อน ๆ ระยิบระยับ วิบ ๆ ตลอด
ตอบ : (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องปกติของมันอยู่แล้ว เพราะว่าในชีวิตของฆราวาสมันคลุกอยู่กับความทุกข์ ความทุกข์ร้อนที่เกิดจากราคะ โทสะ โมหะมันแฝงอยู่ทุกคำพูด การกระทำ และความคิดของเขา เพราะฉะนั้นหากเราเผลอไปรับเข้ามา มันก็จะเกิดความรู้สึกแสบร้อน เกิดขึ้นในกาย ในใจของเรา
ถาม : ช่วงนี้ผมมีโอกาสไปไหว้พระในที่ต่าง ๆ เวลาผมไหว้ ผมรู้สึกว่าถ้าใจเรามีศรัทธา มุ่งมั่น มันเหมือนกับมีฟองอากาศที่เป็นทางที่เชื่อมติดระหว่างธรรมะได้ มันเหมือนเป็นคลื่นน้ำตกที่มากระแทกในใจ บางทีเป็นเหมือนแสงสีขาวที่มันเจิดจ้า มากระทบใจจนพูดไม่ออก พูดไม่ออกเลยเป็นเวลา ๑๕ นาที แต่ว่ามันเข้าใจหมดเลย เป็นความสว่าง แต่อันนี้ไม่ใช่ความหลุดพ้น เป็นเหมือนสภาวะอย่างหนึ่ง
ตอบ : แค่การรับรู้เท่านั้น จริง ๆ แล้วทุกอย่างที่เราทำไปมันต้องเริ่มด้วยศรัทธา ศรัทธาจะเป็นจุดเริ่มต้นของศีล สมาธิ ปัญญา คราวนี้เรามีศรัทธาแล้วไปทำตรงนั้นเข้า มันก็เท่ากับว่าเราไปต่อวงจรจิต ในเมื่อเราต่อวงจรจิตมันจะรับกระแสทุกอย่างได้ง่าย
ไปเถอะ ทำหน้าที่ของตนเองต่อไป
สิ่งต่าง ๆ ที่รับเข้ามามันมีมาก บางทีก็เพลิดเพลินอยู่กับลักษณะอย่างนั้น เพราะว่ากระแสความดี กระแสความชั่วทุกอย่างที่เราหรือผู้อื่นทำไม่ได้ไปไหน มันยังคงดำรงตนเป็นพลังงานของมันอยู่ โดยเฉพาะในสิ่งที่คนมุ่งไปเป็นจำนวนมากเท่าไหร่ กระแสมันก็จะแรงขึ้น ถ้าหากว่าของเรามุ่งมั่นในด้านดีก็เป็นกระแสในด้านดีมันก็จะเสริมกัน ถ้ามุ่งในด้านไม่ดี ก็เป็นกระแสที่ไม่ดีมันก็จะไปอีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันมีในที่ที่เราเดินทางไปถึง บางทีสัมผัสได้
ถาม : ผมอ่านประวัติพระที่เป็นยอดพระ ที่ท่านชำนาญทั้งโลกีย์สมาธิ และโลกุตรสมาธิ ก็คือ ผมอยากทราบว่าสมาธิที่เป็นฌานหรือเป็นอะไรก็ตาม เนื่องด้วยโลกีย์หรือโลกุตรเองก็ตาม มันก็คือใจเราไปสัมผัสกับอารมณ์และมีความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้น
ตอบ : มันจัดเป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง แต่มันเป็นการปรุงแต่งที่ช่วยให้กิเลสเบาบางลงได้ในบางส่วน ท้ายสุดคือต้องปล่อยวาง
ถาม : แล้วสมมติว่าเราเกี่ยวข้องกับตรงนี้ ข้างนอกมันก็เป็นสิ่งภายนอก แต่ภายในมันก็ไม่ใช่โล่งโปร่งที่จะแก้ทุกอย่างได้ มันก็ตั้งเป็นสมาธิภายในแล้วก็เข้าไปในอีกมิติหนึ่งเลย ตัวนี้เป็นตัวหลอกหรือเปล่าครับ
ตอบ : ไม่ใช่ บางอย่างถ้าหากว่าเบื่อที่จะรับมัน มันก็ไปในด้านที่เราสุดขีดมากกว่า มันก็หมดเรื่องหมดราวกับมัน
ถาม : ยังไงครับ
ตอบ : อย่างเช่นว่า อารมณ์บางอย่างที่เราสัมผัสมา มันเป็นเรื่องที่เราต้องลดกำลังใจ คลายกำลังใจออกไปเพื่อรับรู้ บางทีมันก็สร้างความหนักความเหนื่อยให้แก่เราได้พอสมควร เราเองก็หลบไปอยู่ภายในของเราสบายกว่าเยอะ
ถาม : มันเหมือนกับว่าในจิตในใจมันมีทางเป็นของมันอยู่แล้ว แล้วทางเป็นของมัน มันมีแต่ความโล่งความโปร่ง เบา ๆ แต่เวลาพอติดต่อกับภายนอกมันซึมเข้ามาอยู่ในร่างกาย แล้วเราใช้ร่างกายไปเสพกามคุณ ๕ อย่างนี้ เสพตัณหาอะไรอย่างนี้มันไม่ดี แต่ธรรมชาติของจิต...
ตอบ : ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสภาพจิตประภัสสรมาตั้งแต่กำเนิด ที่มืดมัวไปเพราะโดนย้อมด้วยกิเลสรัก โลภ โกรธ หลง เราไปคลุกคลีกับมันแทนที่จะถอนตัวออกมาเรียกว่าแต่เนิ่น ๆ แต่กลับกลายหนักขึ้นเรื่อย ๆ สภาพจิตที่เคยผ่องใสมันก็มืดมัวไป โอกาสที่เห็นธรรมมันก็น้อยลง ๆ ทำอย่างไรเราจะค่อย ๆ ปัด ค่อย ๆ ขัด ค่อย ๆ ถู ทำความสะอาดมัน ถอนมันออกมาจากหล่มกิเลสทั้งเหล่านั้น นี่คือหน้าที่ที่เราต้องทำ
ถาม : เวลาพอมันแยก มันจะมีจุดที่แยกออกมาจากกันแบบคนละเรื่องเลย มันสอนตัวเราเองเรื่อย ๆ ตลอดเวลา
ตอบ : อย่างน้อย ๆ ก็มีสติ
ถาม : แล้วฌานควรทำไว้ตลอดหรือไม่ครับ
ตอบ : ควรที่จะทำไว้เพราะอย่างน้อยอันดับแรกก็คือว่า ประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ อย่างที่สองคือ กำลังมันทำให้กิเลสกินเราได้น้อย อย่างที่สามสำคัญที่สุด ก็คือใช้ในการตัดกิเลส กำลังฌานมีส่วนด้วยอย่างมาก
ถาม : ใช้อำนาจฌานหรือสมาธิแล้ว มันเหมือนกับอำนาจที่จะไปบังคับสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้
ตอบ : อันนั้นแหละคือตัวอภิญญา เพราะฉะนั้นเวลาทำได้ต้องมีสติ รู้ระวังตลอดเวลา เพราะว่าถ้ามันคล่องตัวมาก ๆ แค่คิดมันเป็นแล้ว ถ้าหากมันเป็นแล้วถ้าคิดในด้านดี...ก็แล้วไป คิดในด้านไม่ดีก็สร้างกรรมหนักให้แก่เรา ในขณะเดียวกันของบางอย่างวาระกรรมมันมีอยู่แล้วเราเปลี่ยนแปลง โทษก็จะเกิด
ถาม : ปัญญาที่จะใช้ได้รอบ มันเกิดจากการอบรมโดยการพิจารณาว่าดินน้ำลมไฟ ร่างกายมันไม่ใช่ของเราหรือเปล่า
ตอบ : จริง ๆ คือการยอมรับว่าทุกอย่างมันมีธรรมดาของมัน เป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคนเป็นวัตถุธาตุอะไร มันไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ หรือปราศจากเหตุปัจจัย ในเมื่อเหตุและปัจจัยมันปรุงแต่งมาอย่างนั้นโดยสภาพที่เขาเองสร้างขึ้นเราก็ไม่ควรที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ก็เหมือนกับว่าสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ถ้าบางทีอะไรที่เนื่องเข้ามาถึงจริง ๆ วาระมันเหมาะสมเข้ามาจริง ๆ ก็ช่วยเหลือได้
ถาม: ถ้าอย่างนั้นผมต้องกลับไปปฏิบัติอีกเยอะ
ตอบ : ถ้าหากว่ายอมเลี้ยวก็จบแล้ว ( หัวเราะ)
มาถึงระดับนี้แล้วเป็นประเภทยอมได้ยาก เดี๋ยวขอเดินทะลุข้างฝาให้ได้ก่อน
หลวงพ่อท่านกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งอื่นใดแล้ว แต่ว่าพอพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม บาลีท่านบอกว่า อะถะโข ภะคะวา อุทานัง อุทาเนสิ พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทาน อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ โกณฑัญญะรู้แล้ว
ตรงที่ท่านเปล่งเสียงขึ้นมามันเกิดจากสภาวะที่ว่า เรื่องที่ท่านรู้นั้นบัดนี้มีคนเข้าใจและเป็นพยานให้ท่านได้แล้วว่าท่านรู้ เรื่องของคุณเลิศ ที่ทำ ๆ มา อยู่ในลักษณะที่ว่า อย่างน้อยยืนยันได้ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมาเป็นความจริง โดยเฉพาะในเรื่องของอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ อะไรก็ตาม ทำไปแล้ว มันเป็นแค่ทางช่วงหนึ่งที่เราต้องก้าวผ่านไป ถ้าไปหลงอยู่กับมันก็จะติดอยู่แค่ทางช่วงนั้น ไม่สามารถผ่านหรือก้าวล่วงพ้นไปได้
ก็รออยู่อีกนิดเดียวเท่านั้นว่าต้องการความพ้นหรือไม่ แต่ของคุณเลิศนี่เวลาจะพ้นก็แหย่เท้ากลับดีกว่า มันก็จะชัก...ถอยไปทุกที
ตัวนี้มันเกิดจากงานเก่าที่อธิษฐานไว้ ลักษณะของการปรารถนาโพธิญาณมาก็ดีหรือว่าต้องการรู้ให้ครบ มันก็ต้องคอยรั้งตัวเองเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่กำลังมีเหลือเฟือแล้วแต่ต้องคอยรั้งเอาไว้เรื่อย รอก่อน ๆ รอให้หมดก่อน
ความตั้งใจเดิมมันคงมั่นและแรงมาก ๆ มันเท่ากับกำหนดเข็ม ในเมื่อมันกำหนดเข็มให้เราเดินทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไปข้างหน้าแล้วจะสบาย มันยังไม่ไป มันต้องคอยรั้งเอาไว้อีก ถึงเวลาก็เฮ้ย...งานเก่ายังมีอยู่ แต่ว่ามันดีตรงจุดที่ว่ามันได้เห็นชัด ๆ ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเรา หนทางแห่งความหลุดพ้นมีจริง ขณะเดียวกันเรื่องของอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์ต่าง ๆ พอก้าวไปถึงจุดเส้นทางพระอริยเจ้าคือความหลุดพ้นจริง ๆ ของพวกนี้เป็นของเด็กเล่นไปเลย จะว่าไปแล้วเป็นของที่หากว่าไม่ใช่บุคคลที่มีสติสัมปชัญญะจริง ๆ จะก่อให้เกิดโทษเสียด้วยซ้ำ"
หลวงพ่อกล่าวว่า "ในเรื่องของฤทธิ์หรืออภิญญา คราวนี้พอเราทำได้ พอทำได้มันจะกลายเป็นว่าถ้าเราเผลอไปยึดติดนิดเดียว มันไปเลย"
หลวงพ่อกล่าวว่า "เรื่องของคุณเลิศทำให้นึกถึงพระ เมื่อสองเดือนที่ผ่านมามีพระรูปหนึ่งมาขออยู่ที่ท่าขนุน เพื่อฝึกปฏิบัติ เขาบอกว่าเขาใช้เวลาตามมานานหลายปีเหลือเกิน เกี่ยวกับการปฏิบัติสายที่ออกไปทางอภิญญา ต้องบอกว่าน่าสงสารมากเลย คนที่ไม่รู้ช่องทางมันไม่รู้จริง ๆ เลย
หลังงานเป่ายันต์ ๒ วัน เขาลากลับเพราะรู้สึกว่าอิ่มตัวแล้ว พอใจแล้ว รู้ว่าเรามีพวกอยู่แน่ ๆ ไม่ใช่พวกผีบ้า เขาก็ไปปรารภกับเพื่อนพระด้วยกัน "ก่อนหน้านี้นะ ผมจะหาพระอภิญญาสักรูปหนึ่งยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน แต่พอมาอยู่ท่าขนุน คนนั้นก็ใช่คนนี้ก็เป็น มันมาตกอยู่ที่นี่หมดเลยหรือ"
ที่นึกถึงคุณเลิศ นึกถึงลักษณะเดียวกันว่าเวลาที่มันยังไม่รู้ช่องทาง มันก็ตะกายชนิดที่ต้องเอาให้ได้ แต่พอเห็นช่องทางจริง ๆ จ่อ ๆ เข้ามาหน่อย มันสบายใจที่เห็นพวก"
หลวงพ่อกล่าวว่า "เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเกิดจากกรรมเก่า ถ้าไปกังวลอยู่กับโรค ใจจะหมองเปล่า ๆ มีวิธีอยู่ว่าปฏิบัติใน ทาน ศีล ภาวนา เป็นปกติ ขณะเดียวกันก็รักษาไปตามอาการ หมอเขาสั่งยาอะไรมาก็ขยันกินไปเถอะ ถ้าจะให้ดีก็ปล่อยชีวิตสัตว์ที่เขาจะฆ่าอย่างพวกปลาในตลาด ทำประจำสักเดือนละตัวสองตัว ต่อเนื่องไปสักระยะ เจ้ากรรมนายเวรใจอ่อนเดี๋ยวอาการป่วยก็จะเบาลงไปเอง"
ถาม : วิธีที่จะทำให้อาการของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นพ่อแม่นั้นทุเลาลง ?
ตอบ : สอนให้ท่านหัดสวดมนต์ภาวนาเพื่อความสบายใจ อย่างน้อย ๆ ถ้าหากว่าความสบายใจเกิด โรคภัยไข้เจ็บก็จะน้อยลง แล้วขณะเดียวกันถ้ากำลังใจดี...ทุกอย่างก็จะดี
พอทำไป ๆ ความเคยชินจะเกิดขึ้นแล้วก็จะง่าย พอง่ายแล้ว...ใจดีเสียอย่างทุกอย่างก็จะดีหมด
ถาม : เวลาที่เราอธิษฐานให้พ่อแม่ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ การงานเรากลับไม่เดิน แต่พอเราอธิษฐานให้ตัวเองกลับมีความคล่องตัวทางโลก ตรงนี้เป็นเพราะอะไร
ตอบ : ไปยุ่งกับวาระกรรมคนอื่น
บางทีมันเป็นช่วงที่วาระกรรมสนองท่าน แต่มันไม่ใช่ช่วงของเรา เราเองโล่งสบาย ทำอะไรก็ง่าย แต่พอเราไปแตะเข้าเท่ากับไปยุ่งกับวาระของเขา คนโดนไฟดูดแล้วเอามือไปดึงเขาก็เลยพลอยโดนไปด้วย
ถาม : แล้วพอมีคำแนะนำอะไรบ้างไหมครับ
ตอบ : ไม่มีอะไร ทำต่อ อย่างน้อยเพื่อความกตัญญู ถ้าไม่มีท่านเราก็ไม่ได้เกิดมา เพราะฉะนั้นยอมลำบากเพื่อพ่อเพื่อแม่สักหน่อย ให้เราได้ทำหน้าที่ของเรา
ถาม : แล้วเรื่องสวดมนต์ภาวนานี่
ตอบ : ถ้าเราทำคนเดียวกำลังมันจะน้อย แต่ถ้าหากต่อไปพ่อแม่ทำด้วย ต่อไปทุกอย่างมันก็จะง่ายขึ้น
ถาม : พ่อผมสวดมนต์แต่เรื่องนั่งสมาธิยังไม่ได้ เหลือแต่คุณแม่นี่ยาก
ตอบ : บอกท่านว่าได้ยินพระท่านบอกว่า ถ้าหากว่าสามารถสวดมนต์ไหว้พระได้ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น
ถาม : ทะเลาะกันบ่อยมาก ไม่รู้จะแก้ยังไง
ตอบ : ก็บอกแล้วแก้ด้วยวิธีทำ เรากินแทนท่านไม่ได้ แต่เราแนะนำท่านกินได้ ท่านต้องกินด้วยตัวเอง
ถาม : แนะนำท่านด้วยวิธีสวดมนต์ภาวนา นั่งสมาธิแล้วแผ่เมตตาหรือครับ
ตอบ : อย่างของคุณพ่อนี่ให้เพิ่ม เพราะคุณพ่อขยันสวดมนต์ ถ้าสวดยาว ๆ จะเป็นสมาธิ แต่ของคุณแม่นี่เอาสั้น ๆ ก่อน ถ้าจะเอาแบบพิเศษก็แบบหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน อิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน พาหุง ๘ บท มหาการุณิโก ท่านบอกให้สวดเท่าอายุแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนจากร้ายเป็นดี แต่ถ้าอายุมาก ๆ นี่เหนื่อยแย่เลย
แต่ว่าเรื่องของบุญใหญ่ที่สุดคือ การภาวนา การให้ทาน คือให้ด้วยกาย ให้หนึ่งเท่ากับร้อย การรักษาศีล เป็นการรักษาทางกายวาจา การภาวนานี่ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจพร้อมกัน แล้วมันมีวิธีเดียว ถ้าหากว่าวาระนั้นสิ่งต่าง ๆ มันอาการหนักหนาสาหัสมากมาย มันต้องหากำลังเพื่อที่จะมาค้ำ มันก็ต้องใช้ในเรื่องของการภาวนา
ท่านให้สวดเท่าอายุจริง ๆ แล้ว คือ ต้องการสร้างสมาธิ ถ้าสมาธิเกิด ผลอย่างมหาศาลจะเกิด
ถาม : คือ ให้ภาวนา
ตอบ : จริง ๆ ก็คือภาวนา แต่บอกให้สวดมนต์
เราทำของเราตามปกติได้ เพราะเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ว่าสำหรับพ่อสำหรับแม่ต้องหาช่องทาง มันเหมือนกับหลอกพ่อหลอกแม่ จริง ๆ หลอกให้ทำดี มันจะว่าหลอกก็ไม่ใช่ เพราะทำแล้วมันดีจริง ๆ
ถาม : ผมพาแม่ไปปฏิบัติธรรมหลายรอบ ดีขึ้นมาได้ประมาณอาทิตย์หนึ่งหลังจากนั้นก็เป็นเหมือนเดิม
ตอบ : ยังดีที่ได้ตั้งอาทิตย์หนึ่ง อาตมาสมัยปฏิบัติใหม่ ๆ ไม่ทันข้ามวันก็เจ๊งแล้ว
ถาม : พาไปหาหลวงพ่อ ท่านให้พร คุณแม่ดีขึ้นได้สักพักหนึ่ง หรือไม่บางทีก็ลากท่านไปยาก
ตอบ : ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ถ้าหากพ้นจากนี้ไปไม่มีพ่อไม่มีแม่ อย่างน้อยก็จะปลื้มใจว่าอย่างน้อย ๆ เรามีโอกาสช่วยเหลือท่าน ขณะที่คนอื่นโอกาสแบบนี้มันไม่ค่อยมี สมัยอาตมาดูแลพ่อแม่ทั้งเหนื่อย ทั้งหมดเงินหมดทองไปไม่รู้เท่าไหร่ แต่ว่าพอไม่มีท่าน นึกเท่าไรก็ปลื้มใจว่าเราได้ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่มีโอกาสได้ทำ
ถาม : ก็คือ เราดูแลท่านในเรื่องของเงินทองและการภาวนา
ตอบ : ทำไปเถอะ โดยเฉพาะการพาท่านเข้ามาสู่ความดีในเรื่องของทาน ศีล ภาวนา
ถาม : ที่เราไปอธิษฐานไปช่วยท่าน นี่ทำให้เราหนักขึ้น
ตอบ : ไม่เป็นไร ทำไปเถอะ คนที่เคยเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูก อย่างน้อยวิบากกรรมมันเคยเกี่ยวเนื่องกันมาแล้ว
ถาม : ผมเป็นพวกจริตแบบไหน?
ตอบ : วิกลจริต..! (หัวเราะ)
จริตมันมีตั้ง ๖ อย่าง เราก็ดูว่าอันไหนที่มันเด่นที่สุดก็อันนั้น มันมีครบทุกอย่างแต่ว่ามันจะมีอย่างหนึ่งที่เด่นขึ้น เพียงแต่ว่าที่แยกยากนิดหนึ่งก็คือ โทสะจริตและพุทธิจริต คล้าย ๆ กัน
มันคล้าย ๆ ตรงที่ว่าทำอะไรทำไว ทำเร็ว แต่พุทธิจริตจะประกอบไปด้วยความฉลาด...พลาดยาก โทสะจริตนี่ทำไปตามอารมณ์...พลาดง่าย แยกยากนิดหนึ่ง
หลวงพ่อกล่าวว่า "วันก่อนอ่านหนังสือ เขาบอกว่าโรคเรื้อนเป็นโรคที่มีมาแต่โบราณ เพราะไปค้นเจอโครงกระดูกโครงหนึ่งที่มันมีลักษณะการเปื่อยของคนเป็นโรคเรื้อน เขาก็เลยคาดว่าโรคเรื้อนที่มันระบาดไปทั่วโลก มันเกิดจากการที่พระเจ้าอเล็กซ์ซานเดอร์มหาราชยกกองทัพมาตีอินเดีย
จะว่าไปแล้วฝรั่งเขารู้ช้ามาก ที่รู้ช้ามากเพราะอะไร พระพุทธเจ้าท่านห้ามผู้เป็นโรคเรื้อนบวชมาสองพันกว่าปีแล้ว กุฏฐัง ก็คือโรคเรื้อน ถึงเวลาพระคู่สวดเขาสอบถาม คัณโฑ ก็คือ พวกหิด กลาก
จริง ๆ แล้วท่านไม่ได้ห้าม แต่ว่าเรื่องทั้งหมดเกิดจากหมอชีวกโกมารภัจจ์ หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นสุดยอดของหมอเลย ท่านศรัทธาในพระภิกษุของพระพุทธศาสนามาก ถวายการรับใช้พระพุทธเจ้าและพระภิกษุเป็นปกติ ถ้าท่านเอื้อมมือไปรักษาแปลว่าหายทุกโรค ก็ปรากฏว่าบรรดาคนป่วยไปอ้อนวอนให้ท่านรักษา ท่านบอกว่าท่านไม่มีเวลา เพราะว่านอกจากจะเป็นแพทย์ประจำพระองค์ถวายการรักษาพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังต้องถวายการรักษาพระพุทธเจ้าและพระ
พวกคนป่วยเห็นดังนั้น คิดว่าในเมื่อรักษาพระ เราก็บวชเสียเลยแล้วก็ไปให้รักษา หมอชีวกโกมารภัจจ์ท่านก็แปลกใจว่าทำไมระยะนี้พระป่วยเยอะ ลำพังแปลกใจมันไม่เท่าไหร่ ปรากฏว่าพอพระเหล่านั้นหายจากอาการ ก็สึกเลย ก็แปลว่าเขาตั้งใจบวชมารักษา พอหายแล้วก็สึก หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็ไปเจอกลางทาง รู้ความจริงเข้าว่าท่านบวชมาเพื่อให้รักษา
หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า เพราะว่าภาระท่านมาก เรียกได้ว่ามัวแต่ถวายการรักษาพระอยู่จนบกพร่องในการถวายการรักษาพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่นั้นมาพวกโรคต่าง ๆ ที่รักษายาก ตั้งแต่พวกโรคเรื้อน โรคกลากเกลื้อน โรคฝี วัณโรค โรคลมชัก สมัยนั้นรักษายากเพราะสมุฏฐานไม่ชัดเจน ขนาดสมัยนี้บางทียังวินิจฉัยผิด ท่านก็เลยสั่งห้ามเป็นโรคร้ายแรง ถ้าหากว่าใครเป็นห้ามบวช เพราะเป็นวิบัติก็คือคุณสมบัติไม่ครบถ้วน
ถ้าหากว่าไปบวชแล้วเป็น ถือว่าไม่โกหก ไปเป็นเอาตอนบวชก็พยายามรักษาไปเถอะ"
หลวงพ่อพูดถึงเรื่องการปรับธาตุโดยใช้ของขมว่า "ยาที่มีรสขมมันเป็นเรื่องแปลก มันแปลกตรงที่ว่าถ้าหากร่างกายมันเย็น ยาที่มีรสขมมันจะไปหนุนธาตุไฟให้ความร้อน แต่ถ้าร่างกายมันมีความร้อน ยาที่มีรสขมจะไปหนุนธาตุน้ำให้เย็น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นยาโบราณแทบทุกอย่างที่เขาบอกให้แทรกยาดำ ก็เพราะยาดำมันมีรสขม มันเป็นตัวกลางแบบที่ว่าจะคอยช่วยฝ่ายไหนดี ถ้าจะเปรียบก็คือ มันเชียร์ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง"
หลวงพ่อบอกว่า "ปัณรส คือ ๑๕ เพราะฉะนั้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เรียกปัณรสี
โสฬส ๑๖ สัตตรส ๑๗ อัฏฐารส ๑๘ เพราะฉะนั้นพระอัฏฐารสที่ทางเหนือชอบสร้าง ก็คือ พระ ๑๘ ศอก อย่างของวัดสวนดอกเขามีพระอัฏฐารส"
หลวงพ่อสอนว่า "ความดีมากเท่าไหร่ ความชั่วก็น้อยลงเท่านั้น"
หลวงพ่อกล่าวถึงเรื่องลูกประคำว่า "พวกกะเหรี่ยงที่มาอยู่กับหลวงปู่ครูบาวงศ์ เขาจะนับลูกประคำเร็วมาก เร็วชนิดที่ว่าไม่มีเวลาให้คิดอย่างอื่นได้ ในเมื่อนับเร็วเขาจะครบรอบเร็วมาก พวกนี้พอนับไปเป็นปี ๆ ประคำเขาใสแจ๋วเลย
เรามัน 'เด็กเต้บ' ความพยายามไม่มี แต่ความงกเยอะ อยากได้ ก็ไปขอซื้อลูกประคำจากเขา ๑๐ บาท ปรากฏว่าเขาไม่ขายให้ เสนอ ๒๐ บาทไม่ขาย ๓๐ บาทไม่ขาย ขึ้นไปเรื่อย ๆ พอไปถึง ๘๐ บาท เขายอมตกลง เพราะเขาทำงานกับหลวงปู่ครูบาวงศ์ ขุดศิลาแลงขาย วันหนึ่งได้ค่าแรง ๒๐ บาท เราให้เขา ๘๐ บาทเท่ากับค่าแรงเขา ๔ วัน
ตั้งแต่นั้นมาหลวงพ่อวัดท่าซุงตั้งราคาลูกประคำ ๘๐ บาท (ราคากะเหรี่ยงตั้ง) ครูบาวงศ์ถวายลูกประคำมา หลวงพ่อเสกเสร็จเอาขึ้นที่ศาลานวราช ราคา ๘๐ บาท เป็นวัตถุมงคลที่ราคาแพงที่สุด เพราะปกติหลวงพ่อยืนพื้นที่ราคา ๑๐ บาทหรือ ๒๐ บาท พอกะเหรี่ยงตั้งราคา ๘๐ บาท หลวงพ่อเลยตั้ง ๘๐ บาท"
ถาม : ระหว่างนับประคำแบบเร็ว ๆ กับแบบช้า ๆ อย่างไหนจะดีกว่ากัน?
ตอบ : อยู่ที่เราถนัด ถ้าหากเราถนัดที่จะเร็วเพื่อไม่ให้เกิดชั่ว ให้มันทิ้งชั่วได้ ทำไปเถอะ ถ้าหากว่าเราภาวนาช้าจิตสงบเร็ว นิ่งเร็ว เราก็เลือกทำ
หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า "กว่าหลวงปู่ภู (วัดอินทรวิหาร) จะทำไม้ครูได้ มันยากเย็นเข็ญใจ ต้องไปหาไม้ไผ่ที่ล้มขวางทางช้างแต่ไม่โดนช้างเหยียบ ตัดแล้วเอามาปลุกเสก แล้วเอาไปจิ้มศพที่ตายวันเสาร์เผาวันอังคารให้ได้ครบ ๗ ศพ กว่าจะได้สักศพหนึ่งก็ต้องใช้เวลา พอทำจนครบแล้วจึงมาทำเป็นไม้ครู
เมื่อหลวงปู่ภูท่านทำได้สำเร็จ ท่านประกาศเลยว่า ไม่มีใครทำได้อย่างข้า ที่หลวงปู่ภูท่านทำได้เนื่องจากท่านอายุ ๑๐๒ ปี เราคงอายุไม่ยืนพอที่จะรอให้ครบ ๗ ศพ
เรื่องของพระขรรค์โสฬสเหมือนกัน โลหะธาตุแต่ละอย่างที่จะเอามาผสมมันหายาก เพราะฉะนั้นเหลืออยู่อย่างเดียวก็คือรอ รอความเมตตาจากครูบาอาจารย์ให้แหกคอกได้ ไป ๆ มา ๆ ท่านบอกเอ็งไม่ต้องแหกคอกหรอก เพราะเอ็งไม่เคยอยู่ในคอก แสดงว่าท่านรู้จริง"
หลวงพ่อท่านสอนว่า "การบริโภคอาหารต้องรู้จักประมาณ โภชเนมัตตัญญุตา ไม่ใช่โภชเนมัตตัญญุตะกละ..!
เรื่องของการห้ามปากก็คือกำลังใจในการห้ามไม่ให้ละเมิดศีล ถ้าห้ามปากอยู่ ก็มีโอกาสในการรักษาศีลได้ครบถ้วน ถ้าห้ามปากตัวเองไม่อยู่ โอกาสที่จะรักษาศีลให้สมบูรณ์ก็ยาก เพราะว่ากำลังใจยังไม่พอ เดี๋ยวมีโอกาสก็ละเมิดศีลอีก มีทางเดียวคือต้องห้ามปากให้ได้"
ถาม : สีลัพพตปรามาสคืออะไรคะ ?
ตอบ : สีลัพพตปรามาส คือรักษาศีลไม่จริง เขาแปลว่า ลูบคลำในศีลพรต
ถาม : แล้วสำหรับกรณีคนที่ถือศีลมากกว่าแล้วถือว่าตนเองนั้นดีกว่าคนที่ถือศีลน้อยกว่า
ตอบ : อันนั้นจัดเป็นมานะ
ถาม : เคยอ่านเจอท่านผู้หนึ่งเขาอธิบายความหมายของคำว่า สีลัพพตปรามาสมาแบบนี้
ตอบ : นั่นผิดไปเป็นโยชน์ ส่วนเรื่องของการตีความนั้นขึ้นอยู่กับกำลังใจของแต่ละคน เหมือนโรงมหรสพทางวิญญาณ ที่มีภาพแล้วให้เราตีความ ในเรื่องของการตีความธรรมะ กำลังใจสูงก็ตีความสูง กำลังใจต่ำก็ตีความต่ำ ถามว่าผิดหรือไม่...ไม่ผิด แต่ว่าท่านรู้แค่นั้น ถ้าหากว่าก้าวพ้นไปก็จะมีที่ถูกกว่านั้นอีก
หลวงพ่อกล่าวว่า "หลายท่านความรู้ทางพุทธศาสนาจำกัดมาก ถ้าเจอลูกศิษย์อย่างคุณเลิศนี่ตายเลย ถ้าแบบนั้นมาแล้วเขาไปคุยด้วยจะเกิดโทษอย่างมหาศาล มันเกิดโทษตรงที่ว่าเขาจะคิดว่านี่หรือพระ พระพุทธศาสนามีแค่นี้หรือ
เพราะฉะนั้นไปถึงระดับนั้นแล้ว ความเป็นเจ้าอาวาสหลักการมันต้องแม่น ทำไม่ได้ไม่ว่า...แต่ต้องบอกให้ได้ เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าดีแท้แน่นอน ทำไม่ถูกไม่เป็นไรแต่บอกให้ถูก อย่างน้อย ๆ ก็เป็นอย่างพระสุธรรมเถร ที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกใบลานเปล่า อย่างน้อย ๆ บอกถูกลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์เป็นพัน ตัวเราเองทำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่หลักการทิ้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นทำไม่ได้หลักการจะต้องแม่น อย่างน้อย ๆ ก็เอาไปคุยกับชาวบ้าน
สมัยนี้เขายัดเยียดให้จำ ยัดเยียดให้จำ เพราะอย่างน้อย ๆ ก็ได้ความรู้ แต่ว่าในขณะเดียวกันสิ่งที่จำเราสามารถเอาไปแตกกอต่อยอดได้หรือเปล่า ไม่ใช่เขาให้จำเราก็จำอย่างเดียว เดี๋ยวก็ไปกันใหญ่
สมัยผมเรียนทหารเพื่อน ๆ เรียกว่าไอ้รอบโลก เรื่องอะไรคุยได้หมด"
ถาม : เมื่อก่อนหนูว่ากิเลสตัวราคะมันแรงสำหรับหนู มาเจอตอนนี้โทสะมันก็แรงด้วย
ตอบ : มันแรงทุกตัวเพียงแต่ว่าเราจะเจอตัวไหน
ถาม : มันไม่ถึงกับโกรธ แต่มันก็รู้สึกสะกิดใจ
ตอบ : ให้มันเป็นแค่สะเก็ดไฟก็พอ
ถาม : ค่ะ
ตอบ : อย่าให้มันลุกลาม รีบตัดมันเสียตั้งแต่ต้น ข้างในจะอกแตกตายก็ช่างมัน
ถาม : ลึก ๆ เข้าไปแล้วมันจับไม่ได้ก็ปล่อยออกมา
ตอบ : อ้าว ก็บรรลัย
ถาม : ปล่อยออกมาก็คือ ดูแล้วว่ามันไม่มีอะไร มันจับไม่ได้ ก็เลยไม่ไปใส่ใจมัน
ตอบ : อ่อ มันก็ไม่มีอะไรต้องใส่ใจกับมัน แต่ทีนี้การใส่ใจของเรา บางทีความเคยชินสภาพจิตของเราที่เคยปรุงแต่งมันไปก่อน ในเมื่อมันไปก่อน กว่าเราจะรู้ตัว อ้าว มาตั้งแต่เมื่อไหร่หว่า แขกไม่ได้รับเชิญ
ต้องสร้างสติให้มันชัด สร้างสติให้รู้เท่าทันมัน ไม่ไปปรุงแต่ง มันก็เกิดไม่ได้ ถ้ารู้ไม่ทันมันก็พาเราไปหลายกิโล
ถาม : สังเกตว่ามันสลับกันมา ถ้าช่วงนี้ราคะมา โทสะก็จะเงียบ ถ้าโทสะมา ราคะก็จะเงียบ มันผลัดเวรกันมา
ตอบ : อย่าตั้งใจ ตั้งใจละตัวไหน ตัวนั้นมาทันที ปล่อยมันตามสภาพ ไม่ยินดีและก็ไม่ยินร้าย มาก็รับรู้ไว้ ไปก็ไม่ดีใจ
ถาม : มันเริ่มเห็นอะไรไปลงที่ไตรลักษณ์ตลอด
ตอบ : นาน ๆ ไปก็จะบ้า คนรอบข้างก็เริ่มมา ปฏิบัติไป ๆ แล้วเขาชมว่าบ้าจงดีใจเถิด เพราะอย่างน้อย ๆ มันได้เห็นหน้าเห็นหลัง
ถาม : มีคนหนึ่งเขาบอกว่า บางท่านที่อยู่ในระดับอนาคามีมรรค สามารถค้างอยู่ในระดับนั้นเป็นปี ๆ กว่าจะเข้าถึงระดับอนาคามีผลได้ มีด้วยหรือคะ?
ตอบ : ขอยืนยันว่ามี ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งนั้นมันเป็นความฝังใจของเขาหรือเปล่า ถ้ามันเป็นความฝังใจมา ตราบใดที่ไม่ได้รับการตอบสนอง มันก็อยู่ตรงนั้น
ถาม : ความหมายของคำว่า "เลือดตกยางออก"
ตอบ : เลือดตกยางออก จริง ๆ ก็คือเลือดนั่นแหละ ทีนี้ยางออก ส่วนใหญ่เขาหมายถึงยางไม้ ลักษณะบางคนที่เขาอยู่ยงคงกระพันแต่ก็มีบาดแผลขีดข่วนบ้าง เลือดมันซึมอยู่หน่อย เขาเรียกว่ายางออก
หลวงพ่อเล็กท่านเล่าว่า "ครูบาเหนือชัยท่านมีลักษณะหลอกคน คำว่าหลอกคน ไม่ใช่ว่าท่านเที่ยวไปหลอกลวงใคร จริง ๆ ก็คือรูปร่างท่านหลอก เราเห็นนึกว่าท่านใหญ่มาก ๆ เลย แต่จริง ๆ แล้วท่านเล็ก
ลองตั้งใจสังเกตดูหรือไปยืนเทียบกัน ถ้าผ่านตาครั้งแรกจะรู้สึกว่าท่านใหญ่มาก ๆ เลย เคยเจอแบบนี้มา ๒-๓ คน แปลกใจ"
ถาม : แล้ว ๒-๓ คนที่ท่านเจอมีใครบ้าง?
ตอบ : บอกไม่ได้ เดี๋ยวเอ็งไปค้น..!
หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า "พวกนักค้นคว้าวิจัยต่างพยายามจะยืนยันให้ได้ว่ามนุษย์แต่แรกนั้นมีวิวัฒนาการมาจากพวกลิง จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่"
ถาม : คนมาจากไหน ?
ตอบ : คนมาจากอาภัสราพรหม
ถาม : แล้วเมื่อไหร่เขาจะหาความจริงนี้เจอ?
ตอบ : จนกว่าเขาจะปฏิบัติได้ทิพจักขุญาณ หลังจากนั้นก็ดูในยถากัมมุตาญาณหรือไม่ก็ดูในจุตูปปาตญาณ ว่าคนมาจากไหน
ต้นเดือนที่ผ่านมานี้ ที่บ้านอนุสาวรีย์คนจะมาน้อยกว่าเดือนอื่น ๆ ค่ะ โดยเฉพาะช่วงวันศุกร์นี่โล่งมาก สามารถตั้งวงเตะตะกร้อหลังห้องได้เลย
หลวงพ่อท่านก็บอกว่า "อยากให้เป็นแบบนี้ทุกวัน"
ท่านบอกว่า " นี่เขาเพิ่งไปงานเป่ายันต์เกราะเพชรมาไม่กี่วัน จะไปงานโสฬสอีก เมื่อเห็นตรงจุดนี้เขาก็เว้น (บ้านอนุสาวรีย์) ได้ ก็สบายเรา
มันเป็นการใช้ปัญญาอย่างหนึ่ง ก็คือ จัดลำดับความสำคัญก่อน-หลัง เร็ว-ช้า แสดงว่าการปฏิบัติเริ่มมีผล มีสติ สมาธิ และปัญญามากขึ้น อันนั้นสำคัญกว่า ก็เลือกทำอันนั้นก่อน อันไหนเร็วกว่าเลือกทำอันนั้นก่อน"
ถาม : ผู้ที่รับยันต์เกราะเพชร ทำไมบางคนถึงเป็นไข้ บางคนถึงไม่เป็น และคนที่เป็นบางทีสามวันจึงหาย?
ตอบ : แต่ละคนนอกจากกำลังใจจะไม่เท่ากันแล้ว จริตนิสัยยังไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการแสดงออกต่าง ๆ จะไม่เหมือนกัน เราก็คิดว่าเป็นไข้เพราะอากาศก็แล้วกัน จะได้ไม่ต้องสงสัย
ถาม : ไปหาหมอแล้วตรวจไม่เจอครับ
ตอบ : จะได้ยืนยันว่าเป็นเรื่องของพุทธานุภาพ ถ้าตรวจเจอก็แสดงว่าไม่ใช่สิ
หลวงพ่อสอนพระลูกศิษย์ว่า "เปิดตัวเร็วก็เป็นเป้าเร็ว ถ้าหนังไม่หนา หน้าไม่ด้าน ทนแรงเสียดทานไม่ไหว ก็เจ๊ง"
หลวงพ่อท่านกล่าวว่า "การนำ อย่างน้อย ๆ มันนำได้ไม่กี่คน สำคัญที่สุดคือนำตัวเอง นำตัวเองให้รอดจากวัฏสงสารได้"
หลวงพ่อกล่าวถึงในเรื่องของกฐินว่า "การที่ทำหลาย ๆ วัด เราทำอานิสงส์แต่มันไปตัดโอกาสของวัด เนื่องจากหลายท่านอยากจะเป็นเจ้าภาพ แต่พอไปถึงเขาบอกว่าวัดนี้มีผู้เป็นเจ้าภาพกฐินแล้ว เขาก็ไม่รับ
กรณีที่เป็นเจ้าภาพถึง ๑๐ วัด ถ้าหาเงินได้ห้าแสนก็เฉลี่ยวัดละห้าหมื่น ห้าหมื่นสมัยนี้สร้างส้วมสักหลังยังต้องคิดเลย
ถ้าจะเอาเรื่องอานิสงส์กฐินวัดเดียวก็เหลือเฟือ อย่างมหาทุคตะทำอานิสงส์กฐินครั้งเดียวเกิดเป็นพระพุทธเจ้าเลย
ดังนั้นก็คือ เล็งวัดใดวัดหนึ่ง แล้วก็บันทึกไล่ไปว่า พ.ศ. นี้ วัดนี้ ไล่ไปเรื่อย ๆ แล้วมันจะได้น้ำได้เนื้อ"
หลวงพ่อท่านบอกว่า "ปีนี้ขอแรงพวกเราไปช่วยหลวงพ่อสิงห์ วัดถ้ำป่าไผ่ หลวงพ่อเป็นหนี้เขาอยู่เยอะ วันก่อนโทรมา ตุ๊ป้อหมดแฮงแล้ว อายุ ๗๒ แล้ว รบกวนพระน้องช่วย
กฐินของท่านวันที่ ๑ พฤศจิกายน เราก็ต้องมารับสังฆทาน ๗-๘-๙ พฤศจิกายน
คนเรามันก็หลอกลวงกันได้ลงคอ มันปลอมหนังสือของพระราชวังขอให้ช่วยบริจาคเงิน หลวงพ่อสิงห์ก็บริจาคไป แล้วก็มารู้ทีหลังว่าของปลอม เท่ากับเสียเงินไปฟรี ๆ ก็เลยกลายเป็นหนี้เขาโดยปริยาย"
เราจะสังเกตได้ว่าหลวงพ่อท่านมีเรื่องราวเยอะแยะมากมายมาเล่าให้พวกเราฟัง แล้วท่านก็เอ่ยขึ้นว่า "หลวงพ่อสมเด็จวัดสระเกศ ท่านบอกว่า บวชนาน นิทานจะมาก
เรื่องที่มันรู้มากขึ้น ๆ มันสอดแทรกเข้าไปได้ บางทีเรื่อง ๑ ข้อ อธิบายแค่สองนาทีก็หมด แต่ก็สามารถอธิบายยาวเป็นชั่วโมงได้ มันมีเรื่องแทรกไปเรื่อย ๆ "
มีโยมบางคนไม่ได้ฟังพระอาจารย์ท่านเทศน์ พอท่านอาจารย์ถามถึง เขาจึงไม่รู้ตัว ท่านจึงว่า "นึกถึงเรื่อง ๕ คน พระพุทธเจ้าเทศน์อยู่แท้ ๆ แต่ปรากฏว่าคนหนึ่งนั่งมองฟ้า คนหนึ่งกอดเสา แถมเขย่าด้วย คนหนึ่งเอามือเขี่ยดินไปเรื่อย อีกคนหนึ่งก็หลับ อีกคนหนึ่งตั้งใจฟัง ปรากฏว่ามีรายนี้รายเดียวที่ตั้งใจฟัง บรรลุมรรคผล
พระอานนท์ก็แปลกใจ กราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์แสดงธรรมประดุจดั่งมหาเมฆบันลือ ไฉนบุคคลเหล่านี้จึงไม่ให้ความสนใจ พระพุทธเจ้าท่านก็อธิบายให้ฟังว่า
รายที่แหงนมองฟ้า เป็นหมอดูยกเมฆมาตลอด ๕๐๐ ชาติ เคยชินกับการดูเมฆ ก็เลยไม่ได้สนใจฟังเทศน์ เอาแต่แหงนมองฟ้า
ส่วนรายที่กอดต้นเสาเกิดเป็นลิงต่อเนื่องกันมา ๕๐๐ ชาติ
รายที่เขี่ยดินเกิดเป็นไส้เดือนมา ๕๐๐ ชาติ
รายที่หลับเกิดเป็นงูใหญ่มาตลอด ๕๐๐ ชาติ ถนัดการพาดหัวกับขนดแล้วหลับ
ส่วนรายที่ตั้งใจฟัง เกิดเป็นพราหมณ์เรียนไตรเพทมาตลอด ๕๐๐ ชาติ เมื่อได้ฟังสิ่งที่เป็นอรรถเป็นธรรม เกิดความสนใจเงี่ยหูฟัง ในที่สุดก็บรรลุมรรคผล"
ถาม : แล้วผมล่ะครับ?
ตอบ : เกิดเป็นวรนัสมา ๕๐๐ ชาติ..!
หลวงพ่อบอกว่า "บางอย่างเราไปห้ามเขาตรง ๆ เขาจะโกรธ จะประกาศตัวเป็นศัตรู
ดังนั้น เรื่องการปกครองจึงต้องมีเทคนิค เขาถึงได้บอกว่าการดำเนินชีวิตนั้นมีทั้งศาสตร์คือความรู้ มีทั้งศิลป์ก็คือวิธีการ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิปฺปญฺจ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การมีศิลปะ จัดเป็นอุดมมงคลอย่างสูง
ศิลปะไม่ใช่แค่ความรู้ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการหากินเท่านั้น แต่ศิลปะยังหมายถึงหลักการที่จะดำรงตนอยู่ในสังคม นี่ต่างหากที่สำคัญกว่า
เพราะฉะนั้นคำว่าสิปปัญจะ การมีศิลปะ ก็คือศิลปะที่เป็นวิชาความรู้และศิลปะในการดำรงชีวิต"
หลวงพ่อท่านเล่าให้ฟังค่ะว่าท่านหุงข้าวเป็นตั้งแต่ตอน ป. ๒ ค่ะ ทั้งเตาถ่าน เตาแก๊ส ฯลฯ เป็นหมด
ท่านบอกว่า "หัดทำอะไรด้วยตนเองเสียแต่เนิ่น ๆ มันจะรู้มากกว่าชาวบ้านเขา"
หลวงพ่อบอกว่า "เรื่องแรงอธิษฐานนี่ร้ายแรงมาก เพราะฉะนั้นทำอะไรอย่าให้คนอื่นรู้ว่าเราอธิษฐานอะไร ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวเจอกรณีแบบเดียวกับขุนช้างที่อธิษฐานทับนางพิมพิลาไลย หรือกรณีแบบเดียวกับพระเจ้ากุสราช
พระเจ้ากุสราชในชาตินั้น เป็นชาวบ้านอยู่กับพี่ชายและพี่สะใภ้ พี่สะใภ้นั้นมีหน้าที่ทำอาหาร เวลาทำอาหารก็ทำไว้ ๓ ส่วน ของน้องชาย ๑ ของสามี ๑ ของตนเอง ๑
วันหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าบิณฑบาตผ่านมา พี่สะใภ้เห็นก็ดีใจเลยเอาอาหารส่วนของตนเองถวาย แต่ก็ยังไม่พอใจ ตัวเองอยากถวายให้มากกว่านี้ คิดว่าเรากับสามีก็เหมือนคน ๆ เดียวกัน เดี๋ยวเราทำให้ใหม่ก็ได้ จึงเอาอาหารส่วนของสามีถวายอีก แต่ก็ยังไม่พอ เอาอาหารส่วนของน้องสามีถวายไปด้วย
ปรากฏว่าน้องสามีกลับจากป่า ถามหาอาหารส่วนของตน พี่สะใภ้บอกว่าถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าไปแล้ว น้องสามีก็เลยด่าพี่สะใภ้ พี่สะใภ้จึงทำอาหารให้ใหม่ และทำส่วนของตนเองด้วย แล้วก็นำไปใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า พร้อมกับอธิษฐานว่าเกิดชาติหน้าชาติไหนขออย่าให้ได้เจอน้องผัวแบบนี้ ทำบุญนอกจากจะไม่ยินดีแล้ว ยังด่าอีก
น้องสามีหรือพระเจ้ากุสราชในชาตินั้น เมื่อได้ยินเข้าก็เกิดโทสะ ตัดสินใจว่าไม่กินอาหารส่วนของตนแล้ว ถวายพระดีกว่า จึงเอาอาหารไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วอธิษฐานว่า ไม่ว่าเกิดชาติใดต้องได้ผู้หญิงคนนี้เป็นเมีย ก็เลยกลายเป็นว่าแม้จะอยู่บนปราสาทเจ็ดชั้น ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน แค่เห็นหน้าเท่านั้น ก็หนีตามกัน
ดังนั้น เรื่องของอธิษฐานบารมีมันอันตรายตรงที่ว่า ถ้าคนที่อธิษฐานทีหลังบารมีเขาสูงพอนี่...เราเสร็จเลย อย่างของพระเจ้ากุสราชตอนหลังท่านก็มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ท่านบารมีพระโพธิสัตว์"
พอหลวงพ่อเล่าเรื่องการอธิษฐานจบ มีคนถามต่อว่า พี่สะใภ้ในเรื่องควรจะอธิษฐานอย่างไร?
ท่านก็บอกว่า "อธิษฐานว่าอะไรก็ตามที่ไม่เป็นที่ต้องใจของเรา ขออย่าได้เจอ
มีคนถามเกี่ยวกับเรื่องอุเบกขา
หลวงพ่ออธิบายว่า "อุเบกขา คือ การที่เราพยายามทุกวิถีทางแล้ว หมดความสามารถจริง ๆ จึงยอมรับว่าเป็นกฎแห่งกรรม
ทีนี้ก็ต้องมาดูว่าเป็นอุเบกขาอะไร อุเบกขากับสิ่งรอบข้าง หรืออุเบกขาในอารมณ์ของธรรมะ
ถ้าอุเบกขาในอารมณ์ของธรรมะ มีอยู่ ๒ ส่วน ส่วนที่เป็นของสมถกรรมฐานใช้กำลังสมาธิกดคุมไว้ ก็สามารถทำให้วางลงได้ แต่ในส่วนของวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าพิจารณาเห็นจริงแล้วยอมรับว่าธรรมดาเป็นอย่างนั้น ก็เลยไม่ไปยุ่งด้วย
เพราะฉะนั้น..ในส่วนของวิปัสสนากรรมฐานจะสบายกว่า รู้เท่าทัน และปล่อยวาง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้วย เรื่องเหล่านั้นก็สร้างความเดือดร้อนให้เราไม่ได้ แต่ว่าทั่ว ๆ ไปใช้แบบสมถะ ใช้กำลังใจข่มไว้ ข่มให้ตาย..ถ้าเผลอปล่อยเมื่อไรก็โดนยันกลับ..!"
มีคนถามถึงความหมายของคำว่า สติ และสัมปชัญญะ
หลวงพ่ออธิบายว่า "สติ คือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว สติทำให้เราไม่ลืม สัมปชัญญะรู้อยู่ว่าเราจะทำอะไร ฟังดูแล้วเหมือนไม่ต่าง แต่จริง ๆ ต่างกันมากเลยในความหมายบาลี"
หลวงพ่อกล่าวถึงภาษาบาลีว่า "คำในภาษาบาลีมีจำนวนมากที่ความหมายเพี้ยน อย่างเช่นคำว่าสังขาร สังขารนี่เรามักจะนึกถึงร่างกายของเราเลย แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ร่างกายของเราในบาลีเรียกว่า รูป
สังขารเป็นอารมณ์ใจนึกคิดปรุงแต่ง คอยแต่งไปเรื่อย ๆ ถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ไปเรื่อย
อีกคำหนึ่งก็คือวิญญาณ ตามความหมายบาลีก็คือ ประสาทรับรู้ รู้สึกทุกข์ รู้สึกสุข รู้สึกเจ็บปวด รู้สึกเฉย ๆ แต่ความหมายที่พวกเราได้ยินก็คือ ผีจะมาหลอก ความหมายมันเพี้ยนจากบาลีไปเยอะ
พระพุทธเจ้าเวลาตรัสธรรมะเป็นภาษาบาลีอย่างหนึ่ง พอพระเถระรุ่นหลังบันทึกพระพุทธวจนะเป็นภาษาบาลีอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าภาษาบาลีเป็นภาษาที่ไม่มีการพัฒนาแล้ว พัฒนาสูงสุดไปแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นความหมายกี่ปี กี่ชาติก็จะไม่เปลี่ยน แต่ว่าอย่างของเราพอใช้ไป ๆ ความหมายจะเพี้ยนไปเรื่อย แล้วมันจะทำให้ส่วนของธรรมะที่ดีนั้นเสียไป
ขณะที่บาลีไม่สามารถจะเปลี่ยนได้ แต่ว่าความหมายในภาษาระยะหลังที่เปลี่ยนไป ก็เลยทำให้มีผู้อธิบายพระไตรปิฎกเพี้ยน รุ่นแรกที่เขาอธิบายพระไตรปิฎก เรียก อรรถกถา (ขยายความจากพระไตรปิฎก) คำพูดใดที่มันไม่ตรงกับยุคสมัย หรือว่าใช้ในอีกยุคสมัยหนึ่งแล้ว ความหมายไม่ชัดเจน ท่านจะอธิบายในอรรถกถา พอยุคหลังจะมีอธิบายอรรถกถาเรียก ฎีกา พอยุคถัดไปมาอธิบายฎีกา เรียกอนุฎีกา ไล่ไปเรื่อย มาปัจจุบันเป็นเกจิอาจารย์ ก็คือ อธิบายอนุฎีกา บางอย่างเอามาประยุกต์ ความชัดเจนจะไม่ปรากฏ
อย่างที่ว่าพอมาถึงยุคของเรา สังขารก็เปลี่ยน วิญญาณก็เปลี่ยน เราก็มาอธิบายว่ามันควรจะเป็นอย่างไร"
มีท่านหนึ่งขอให้หลวงพ่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชา
หลวงพ่อก็บอกว่า "เป็นวันที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงปฐมเทศนา ก็คือ เทศน์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เนื้อหาบอกว่าคนในสมัยนั้นมีวิธีปฏิบัติอยู่ ๒ อย่าง ถ้าไม่สบายจนเกินไป ก็ลำบากจนเกินไป แล้วส่วนมากเขานิยมความลำบากเพราะเชื่อว่าทำให้บรรลุได้ เข้าถึงโมกษะ คือความหลุดพ้นได้ เข้าถึงปรมาตมัน ลักษณะเหมือนกับไปนิพพานได้ เขานิยมแบบนั้น
พระพุทธเจ้าท่านทดลองมา ๖ ปีเต็ม ๆ ท่านทำยิ่งกว่าใคร ๆ ที่เคยทำมา พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่มีใครทรมานตัวเองได้ยิ่งกว่าพระองค์ท่านอีกแล้ว....แต่ไม่บรรลุ
ถามว่าพระพุทธเจ้าท่านเสียเวลาเปล่าหรือไม่....ไม่เสีย คนที่ลองมาขนาดนั้นแล้วมีพยานหลักฐานชัดเจน คือ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ทำให้พระองค์เมื่อบรรลุมรรคผลแล้วไปเทศน์ สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าการทรมานร่างกายเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ก็ท่านทำยิ่งกว่าคนอื่นแล้วไม่บรรลุ แล้วมันจะถูกได้อย่างไร ท่านเอาตัวเองเป็นเครื่องยืนยันได้
ท่านก็บอกว่าสบายเกินไปก็ไม่ใช่ ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางพอเหมาะ พอดี ทางสายกลางของท่านมี ๘ อย่าง ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ไล่ไปจนถึงสัมมาสมาธิ"
หลวงพ่อบอกว่า "เวลาเดินทาง มีวิธีประกันความเสี่ยงอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือ ให้เราอุทิศส่วนกุศลทั้งหมดที่เราทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ ให้แก่เจ้าที่ทั้งหลายที่รักษาตลอดเส้นทางที่เราเดินทาง อากาศเทวดา รุกขเทวดา ภูมิเทวดาก็ดี หรือจะเป็นเหล่าสัมภเวสี เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ขอให้เขาอนุโมทนา
หลังจากนั้นเราก็ขอความสะดวกคล่องตัวในการเดินทางและความปลอดภัย"
หลวงพ่อกล่าวว่า "ทุกอย่างจะต้องพัฒนา มีใครเขากล่าวคำพูดว่า 'โลกหมุนไปข้างหน้าทุกวัน ถ้าเรายืนอยู่กับที่เท่ากับเราถอยหลัง'
เราอยู่กับที่เท่ากับเราถอยหลัง เพราะว่าคนอื่นเขาไปข้างหน้ากัน เราต้องมีการตาม แต่ทิ้งหลักการเดิมไม่ได้ ที่ทิ้งหลักการเดิมไม่ได้เพราะว่า ถึงโลกจะก้าวหน้าแค่ไหนก็ตาม คนเราก็ยัง รัก โลภ โกรธ หลง เหมือนเดิม"
ถาม : เรื่องอายตนะนิพพาน
ตอบ : เราเชื่อหรือไม่ว่านิพพานมีจริง ?
ถาม : เชื่อค่ะ
ตอบ : ถ้าเชื่อ อายตนะนิพพาน ก็คือพระนิพพานที่เป็นสถานที่ พูดแบบนี้จะได้ชัด ๆ
แต่ทีนี้คนเขาก็บอกว่า ถ้าเป็นสถานที่ก็เป็นอัตตาสิ....ไม่ใช่ ถามว่าเป็นอนัตตาหรือเปล่า ? ก็ไม่ใช่อีก ในเมื่อไม่เกิดแล้วจะตายได้อย่างไร แต่ว่าไม่เกิดแล้วมีได้อย่างไร นี่อัศจรรย์
ไปให้ได้แล้วจะรู้ ให้อธิบายก็ยาก อย่าไปเถียงกับใครว่ามี อย่าไปเถียงกับใครว่าเป็นตัวตน เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้
พระนิพพานเป็นสถานที่พิเศษ แยกออกไปต่างหาก เป็นส่วนของ อสังขตธรรม ธรรมะที่ไร้การปรุงแต่ง ไม่สามารถจะใช้คำพูดหรือตัวหนังสืออธิบายได้อย่างแท้จริง เป็นส่วนพิเศษนอกเหตุเหนือผล
เพราะฉะนั้นคำว่านิพพานเราจะไปใช้คำว่า คิดว่า คาดว่า เห็นว่า แสดงว่า ไม่ได้สักอย่าง คำใดที่ประกอบด้วยการปรุงแต่งยังอธิบายนิพพานไม่ได้จริง
ถาม : ฌาน ๔ ได้ตลอดเวลา กับทรงฌาน ๔ ได้ตามที่เรานึกอยากจะทำ อย่างไหนดีกว่ากัน
ตอบ : ถ้าหากว่าไม่ทรงตลอดเวลา อารมณ์มันก็ยังขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ แต่ว่าถ้าทรงได้ในเวลาที่เราต้องการนี่ ถือว่าสุดยอดแล้ว อยากได้เมื่อไหร่ก็ทำได้ แสดงว่าเก่ง ใช้ได้ ถ้ากิเลสมันกิน ทรงฌานไม่ได้หรอก
ถาม : หลวงพ่อคะ เขาทรงฌาน ๔ ตลอดเวลาได้อย่างไร มันต้องมีบ้างที่แบบว่าอารมณ์มันถอยลงมา
ตอบ : ต้องบอกว่า กำลังสมาธิ....ถ้าหากว่าเราทำถึงที่สุดของมันแล้ว ซักซ้อมจนคล่องตัว มันจะสามารถทรงกำลังอัตโนมัติของมันเอง แล้วลักษณะของอัตโนมัตินี้ มันสามารถที่จะแบ่งกำลังใจทำอย่างอื่น ขณะนั้นความนิ่งความสงบภายในมันเท่ากับฌาน ๔ แต่การเคลื่อนไหว การพูด การทำต่าง ๆ มันเท่ากับอุปจารสมาธิ เขาถึงได้เรียกว่า ฌานใช้งาน
คราวนี้เรื่องของสมาธิมันก็ขึ้นอยู่กับทุกขัง อนิจจัง อนัตตา สามารถเสื่อมไปได้ตามสภาพ แต่ถ้าทำไปถึงระดับหนึ่งแล้วกำลังใจจะทรงตัวอยู่ บางทีกำลังสมาธิลดแต่กำลังใจไม่ได้ลดตามเลย โดยเฉพาะถ้าเป็นพระอริยเจ้าแล้ว กำลังใจในการกดกิเลสมันไม่ได้ลดตาม
แบบเดียวกับที่พระอัสสชิท่านป่วย แล้วอาการเวทนามันเกิดมาก ขนาดร้องครวญครางด้วย ท่านก็เลยขอพระที่อุปัฏฐากอยู่ไปทูลถามพระพุทธเจ้า สงสัยว่าความดีที่ทำได้จะสูญเสียแล้ว เพราะว่ามันเจ็บเหลือเกิน พระพุทธเจ้าก็ถามว่า อัสสชิ เธอเห็นร่างกายนี้เป็นของเธอหรือ พระอัสสชิก็ทูลว่าไม่เคยเห็นเป็นของตัวเองเลยพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นความดีไม่ได้ลดลง ที่ลดลงคือกำลังสมาธิที่เป็นฌาน คราวนี้ร่างกายที่ป่วยมาก ๆ ฌานก็เสื่อมเป็นธรรมดา
หลวงพ่อท่านเล่าประสบการณ์การเดินป่าให้ฟังเพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกเราว่า
การก่อไฟในป่า ต่อให้ฝนกำลังตกอยู่ ให้ใช้ไม้ไผ่แห้ง ๆ ไม้ไผ่นั้นก็หาได้ในป่า เจอกระบอกไม้ไผ่ก็ให้เหยียบจนมันแตก จุดไฟใส่ลงไปข้างใต้ ท่านบอกว่า ไม้ไผ่หรือใบไผ่จะติดไฟเร็วมาก ๆ และให้ความร้อนเร็วมาก ๆ ถ้าหากอยู่ในป่าจะหุงข้าวแล้ว ใช้ไม้ไผ่จะหุงได้เร็ว แต่ต้องขยันจุดเข้าไปเยอะ ๆ
ประสบการณ์อีกเรื่องหนึ่งที่ได้มาจากพวกกะเหรี่ยง ก็คือ เขาใช้รองเท้าฟองน้ำเก่า ๆ หั่นบาง ๆ ชิ้นเดียวเท่านั้น ถึงเวลาก็ไม้ขีดไฟจุด หย่อนลงตรงไหนก็ติดตรงนั้น ประกันได้เลยว่า ก่อไฟด้วยรองเท้าฟองน้ำเก่า ไฟกองนั้นติดแน่
ในป่าฝนมันมักจะตก หน้าแล้งขนาดไหนฝนก็ตก แล้วมันตกแบบชนิดที่ว่าหนีไม่ทัน ดังนั้น เข้าป่าถุงพลาสติกจำเป็นมาก เพราะถ้าพลาดเมื่อไหร่ก็แปลว่าเปียก มีอยู่ระยะหนึ่งที่เข้าป่าแล้วท่านใช้ถุงดำเป็นประจำ ใช้ถุงดำใส่ของ ม้วนปากสามสี่รอบชนิดที่ว่าตกน้ำก็ไม่เปียก ช่วยได้เยอะมหาศาล สมัยนั้นหลวงพ่อบอกว่าไปไหนก็ชอบพกกล้องไป ก็อาศัยถุงก๊อบแก๊บ ม้วนปากใส่กระเป๋าไป ฝนจะตกเมื่อไหร่ก็ช่าง
นอกจากนี้เรื่องของการเดินป่า คนที่ไม่เคยชินกับการเดินระยะทางไกล ๆ เท้าจะพองเร็วมาก ท่านบอกว่า รองเท้าที่ดีที่สุดก็คือรองเท้าฟองน้ำธรรมดา (อีแตะคีบ) โดยเฉพาะยี่ห้อ ต.ช.ด. ตราช้างดาว ทนมาก ๆ ถึงเวลาตรงไหนไม่สะดวกก็หิ้วไปหรือไม่ก็ผูกเชือกห้อยคอไป ถ้าหากใช้รองเท้าพวกหุ้มข้อ หุ้มส้นนี่มันจะกัด บางทีเดินป่าอยู่อาทิตย์เล็บหลุดเกลี้ยงเลย
การหาน้ำกินในป่าตามลำห้วยต่าง ๆ แม้ว่ามันจะแห้งแล้ว แต่ถ้ามีความชื้นอยู่ลึกลงไปมันจะมีน้ำอยู่ข้างใต้ เมื่อขุดลงไป ๆ มันจะเปียกมากขึ้น รอสักพักน้ำจะไหลลงมารวมกันที่เราขุด เหมือนกับน้ำซึมบ่อทรายแล้วก็ค่อย ๆ ตัก โดยเฉพาะเรื่องของเท้าพอง ถ้าดื่มน้ำเยอะเกินไปเท้าจะพองง่าย ถ้าเดินทางยังไม่ถึงที่พัก รู้สึกหิวน้ำ ก็ให้ดื่มสักคำสองคำ...อย่าเยอะ พอถึงที่พักค่อยดื่มให้เต็มที่
เมื่อถึงที่พักแล้วกรุณายกเท้าให้สูงกว่าหัวไว้ก่อน เอาเท้าพาดก้อนหินหรือท่อนไม้ไว้ก็ได้ ถ้าเจอน้ำระหว่างทางรีบลงไปแช่ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะให้แช่เท้าตัวเอง เพราะมันจะทำให้เดินทนไปอีกเยอะ ถ้าไม่แช่เท้าตัวเอง แล้วมันก็แปลก มันจะเดินไปไม่ไหว พอได้แช่เท้าเข้าหน่อย จะเดินตัวปลิวเลย
ถาม : ครูบาเหนือชัยท่านใส่รองเท้าแบบมีสายรัด?
ตอบ : ท่านจำเป็น ขี่ม้าถ้าไม่มีสายรัด รองเท้าก็หล่นหาย
ถาม : แล้วไม่ผิดพระธรรมวินัยหรือครับ?
ตอบ : ไม่เป็นไรหรอก เพราะที่ท่านขี่นั่นผิดแล้ว
คราวนี้เรามาดูว่า พระพุทธเจ้าท่านมอบการตัดสินพระธรรมวินัยให้ เรียกว่า มหาปเทส ท่านบอกว่า
สิ่งที่ไม่สมควร....ถ้าพิจารณาแล้วว่าไม่สมควร....สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร
สิ่งที่ไม่สมควร....ถ้าพิจารณาแล้วว่าสมควร....สิ่งนั้นย่อมสมควร
อันนี้เราก็มาดู การขี่ม้ามันไม่สมควร เขามีการห้ามไว้สมัยก่อน ถือว่าทรมานสัตว์ แต่ว่าของครูบาเหนือชัยท่านลำบาก เดินป่าเดินเขาอาศัยฝีเท้าอย่างเดียวไม่ทันกิน ก็ต้องอาศัยการขี่ม้า ในเมื่ออาศัยการขี่ม้าแล้ว เครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่าง มันก็ต้องปรับตาม ถ้าไม่ปรับตามก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่สมควร....ถ้าพิจารณาแล้วว่าสมควร....ก็สมควร
คราวนี้ข้อที่สามท่านบอกว่า
สิ่งที่สมควร....พิจารณาแล้วว่าสมควร....สิ่งนั้นย่อมสมควร ตรงนี้ชัด
สิ่งที่สมควร.....แต่พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร.....สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร
อย่างเช่นเราไปอ้างว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ห้ามสูบฝิ่น เฮโรอีน กัญชาไว้ แล้วเราจะบอกว่าสิ่งนี้สมควรไม่ได้หรอก เพราะพิจารณาแล้วไม่สมควร
เพราะฉะนั้นวิธีการตัดสินเหล่านี้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราไว้ใช้ในการตัดสินพระธรรมวินัย ว่าจะทำอย่างไรกับพระธรรมวินัยที่บัญญัติตายตัวในสมัยนั้นแต่ว่าไม่เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน เพียงแต่ว่า บุคคลที่จะตัดสินพระวินัยตามมหาปเทส ๔ ต้องมีความรู้ในพระธรรมวินัยและต้องมีความยุติธรรมด้วย ไม่อย่างนั้นมันจะตัดสินเข้าข้างตัวเอง
หลวงพ่อบอกว่า "ดูโปรแกรมแล้ว ปีนี้เป็นปีโหดมาก ที่ว่าเป็นปีโหดมากเพราะว่ามันมีงานใหญ่ที่ต้องทำเยอะ ช่วงที่ผ่านมาก็เป่ายันต์เกราะเพชร แล้วก็พิธีเสกพระขรรค์โสฬส ตามด้วยงานวันเกิดเจ้าคณะจังหวัด ถัดไปเดือนสิงหาคม ก็ทำบุญให้พ่อให้แม่ เดือนกันยายนทำบุญถวายหลวงปู่สาย ปลายเดือนก็งานนิโรธกรรมครูบาวิฑูรย์ เดือนตุลาคมกฐินที่วัด เดือนพฤศจิกายน...ต้นเดือนก่อนจะมาบ้านอนุสาวรีย์ไปงานกฐินของหลวงพ่อสิงห์ วัดถ้ำป่าไผ่ ตกลงว่าแต่ละเดือนนี่อย่างน้อย ๆ ต้องวิ่งงานใหญ่
วันที่ ๑ พฤศจิกายน เจอกันที่ถ้ำป่าไผ่นะ ไปช่วยหลวงพ่อสิงห์ท่านหน่อย เพราะว่าท่านเป็นหนี้เขาอยู่เป็นล้านเลย โดนเขาหลอก คนมันก็หลอกคนแก่ได้ลงคอ เขาปลอมหนังสือของสำนักพระราชวังไปขอรับเงินบริจาคท่านล้านหนึ่ง ท่านก็อุตส่าห์ไปหามาให้เขา ตัวเองเป็นหนี้เขาก็ยอมเพราะคิดว่าช่วยในหลวง จริง ๆ หารู้ไม่ว่าโดนหลอก ก็เลยเป็นภาระว่าต้องใช้หนี้
หลวงพ่อสิงห์เป็นพระที่น่ารักมาก เวลาท่านมีงานจะโทรมานิมนต์ แต่เรามักจะไม่ว่าง ท่านบอกว่าถ้าพระน้องไม่ว่าง ก็มาแบบนั้น.. ตัวไม่ต้องมาก็ได้
คราวนี้ท่านโทรมาบอกให้ช่วยท่านหน่อย "ตุ๊ป้อบ่ไหวแล้ว อายุ ๗๒ ปีนี้" พี่สิงห์เป็นพระที่เย็นโดยธรรมชาติ อาจเป็นเพราะว่าท่านเกิดภาคเหนือก็ได้ คนเหนือจริตนิสัยจะเป็นคนเยือกเย็น ใจเย็น พูดช้า ทำช้า ถ้านับแล้วท่านเป็นศิษย์ท่าซุงรุ่นแรก ๆ เลยที่ออกจากวัด หลวงพี่สิงห์ท่านออกจากวัดปี ๒๕๒๓ ปีที่หลวงตาชลอบวช หลวงตาชลอบวชนี่พี่สิงห์ออกไปผจญภัยแล้ว แล้วท่านว่าอย่างไรรู้ไหม "ตุ๊ป้อบารมีน้อย...บ่เหมือนน้องดอก ทำอะไรมันยากไปหมด กว่าวัดจะเสร็จ" ท่านก็เลยบอกอายุ ๗๒ ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ช่วยไปเป็นประธานกฐินให้สักงานหนึ่ง ท่านหวังว่าก่อนตายใช้หนี้หมดก็พอ ก็เลยรับปากท่านไป
ดังนั้น ขอแรงพวกเราไปช่วยงานกฐิน วันที่ ๑ ไปช่วยปลดหนี้ให้พระ ถึงเวลาเราจะได้หมดหนี้ไปด้วย"
หลวงพ่อบอกว่า ให้พวกเราวางโปรแกรมช่วงนั้นให้ดี ๆ
"ไปช่วยท่านหน่อย ถึงแม้ช่วยได้ไม่มาก ก็ไปช่วยให้ท่านได้ปลื้มใจหน่อย ว่าลูกหลวงพ่อด้วยกันไม่ได้ทิ้งกันหรอก"
หลวงพ่อบอกว่า วันที่ ๑๒ สิงหาคม ก็นิมนต์ท่านไปเกาะพระฤๅษีด้วยค่ะ
ถาม : หลวงพ่อคะ เวลาเข้าฌานสี่ เมื่อคลายกำลังออกมา อารมณ์ยังเป็นฌานสี่อยู่หรือเปล่าคะ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าเป็นฌานใช้งาน กำลังของฌานสี่ยังคุมอยู่ก็เป็น
คราวนี้สำคัญตรงที่ว่าเราจะทรงอารมณ์ปัจจุบันตอนนั้นให้อยู่ในระดับไหน ถ้าหากเราทรงอยู่ปฐมฌาน...ความนิ่งของใจก็เท่ากับฌานสี่ แต่ถ้าไม่ใช่ฌานใช้งาน คลายออกมาเท่าไหร่ก็เหลือแค่ระดับนั้น
ถาม : แล้วเป็นไปได้ไหมว่า ถ้าเรารักษาอารมณ์ฌาน ไม่ว่าจะเป็นฌานใดก็ตาม ให้อยู่นาน ๆ แล้วจะทำให้ครั้งต่อ ๆ ไปเราเข้าฌานนั้นได้ง่ายขึ้น
ตอบ : ถ้ารักษาต่อเนื่องได้ก็จะเข้าได้ง่ายขึ้น ถ้ารักษาต่อเนื่องไม่ได้ทีนี้ก็ลำบาก สำคัญตรงที่ต้องซักซ้อมการเข้าออกฌานให้คล่องตัว ถ้าแบบนั้นจะเข้าเมื่อไร จะออกเมื่อไรก็ได้
ถาม : เวลาที่พิจารณาไปลงตรงไตรลักษณ์ อย่างอนิจจัง ซึ่งเป็นตัววิปัสสนา พอพิจารณาไปแล้วกลายเป็นอารมณ์ฌาน ตรงนี้เป็นไปได้หรือคะ ?
ตอบ : จริง ๆ แล้วกำลังฌานยังเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าสมาธิจิตของเราที่ใช้ในด้านวิปัสสนา....ถ้าเห็นแล้วยอมรับ...กำลังฌานก็จะช่วยในการตัดกิเลสได้ แล้วขณะเดียวกันถ้าหากว่าเราพิจารณาไปเรื่อย ๆ แล้ว จิตดิ่งลึกทรงตัวจริง ๆ ก็สามารถกลายเป็นฌานได้เช่นกัน
ถาม : เรื่องของกิเลส
ตอบ : อยู่ที่สติ สมาธิ และปัญญาเรา ถ้ากำลังมันพอ...มันหมุนเกลียวขาดเลย กำลังไม่พอก็ปล้ำมันไปเหอะ จนกว่ามันจะอ่อนแรง ค่อย ๆ ไปบีบคอมันตายทีหลัง
ถาม : (ไม่ได้ยิน)
ตอบ : อย่างน้อย ๆ ก็จัดเป็นอนุสติ ถ้าเราไม่มั่นใจก็นึกถึงครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ ถ้าครูบาอาจารย์ที่นึกถึงเราไม่มั่นใจว่าท่านเป็นพระอรหันต์ก็นึกถึงพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับเป็นอนุสติระลึกถึงในคุณพระรัตนตรัยเหมือนกัน
ถ้าใจเกาะอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหนเสียกิเลสก็กินไม่ได้ และท้ายสุดถ้ารู้จักน้อมเข้าหาวิปัสสนาว่าแม้แต่จอมอรหันต์อย่างพระพุทธเจ้า ก็ยังดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน แต่เราไม่ได้เก่งขนาดนั้น อย่างไรก็ต้องตาย ในเมื่อท้ายสุดเราเองก็ตายแน่นอน แล้วเราจะไปไหน เกิดใหม่ก็ทุกข์ ขึ้นชื่อว่าการเกิดไม่สมควรแล้ว เราก็หาที่ไปคือพระนิพพาน และท้ายสุดคือเอาใจเกาะนิพพาน นิพพานอยู่ที่ไหนพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่นั่น เราก็ไปนิพพานดีกว่า
ถาม : ขอความเมตตาช่วยอธิบายความต่างระหว่างบารมี ๑๐ กับสังโยชน์
ตอบ : ไม่เห็นจำเป็นต้องอธิบาย มันต่างกันแน่ ๆ สังโยชน์กับบารมี ๑๐ ไม่มีอะไรที่เหมือนกันอยู่แล้ว ทำไมต้องอธิบายความต่าง เกี่ยวเนื่องก็ไม่เกี่ยวอีก
ถาม : ทำไมเขาถึงบอกว่า บารมี ๑๐ เต็ม แล้วสังโยชน์จึงจะตัดได้?
ตอบ : มันเป็นข้าศึกต่อกัน มันไม่เกี่ยวเนื่องกันหรอก ตรงกันข้าม สังโยชน์คือเครื่องร้อยรัดให้เราติดอยู่กับวัฏฏะ ไม่สามารถจะหลุดพ้นได้ บารมีสิบเป็นเครื่องช่วยให้เราหลุดพ้นจากวัฏฏะ
ถาม : หลวงพ่อคะ ในการปฏิบัติจำเป็นไหม ที่เราต้องเข้าไปชนกับกิเลส
ตอบ : ถามว่าจำเป็นไหม เลี่ยงได้เลี่ยง หลบได้หลบ ถ้าเลี่ยงไม่พ้นจริง ๆ รู้ว่าสู้ไม่ไหว หนีเลย
ถาม : บางครั้งพอเห็นใจสงบแล้ว มันไม่ชอบ อยากทดสอบ
ตอบ : ไม่ต้อง จำที่เคยเล่าให้ฟังได้ไหม ที่พี่ ๆ เขาไปลองในอาบอบนวดแล้วเจ๊งกันหมด อย่าลืมว่าจิตใจเราเคยชินกับสิ่งที่ชั่วมาอยู่นับชาติไม่ถ้วน เราเพิ่งจะมาทำความดีไม่นานนี้เอง กำลังของเขามันจะสูงกว่ามาก ลองเมื่อไหร่ โอกาสพังก็มีสูง เลี่ยงได้เลี่ยง หลบได้หลบ ถนอมกำลังของตัวเองไว้ มีโอกาสแล้วก็ฟันคอมันเสียทีเดียว
ถาม : แบบว่าอารมณ์มันนิ่ง หนูก็เลยอยากลอง ให้มันเห็นกิเลสชัด ๆ
ตอบ : ลอง....เดี๋ยวมันชัดเกิน เล่นกับไฟเดี๋ยวไหม้ทั้งตัว เราอาจจะไม่เป็นไร แล้วอีกคนมันได้หรือเปล่า
ถาม : ไม่เป็นไรค่ะหลวงพ่อ
ตอบ : ก็ลองดู ถึงเวลามันพัง ก็มานั่งน้ำตาเล็ด
หลวงพ่อบอกว่า "อย่าคิดว่าการ์ตูนไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่มีประโยชน์ไม่อ่านให้เสียเวลาหรอก"
ถ้าใคร ๆ เขาว่าชินจัง ทะลึ่ง กล้าแสดงออกอะไรก็ตาม เราต้องรู้ว่ามันไม่ใช่ชินจัง มันเป็นคนเขียน คนเขียนมันกำลังเอากิเลสของมันออกมาให้เราดู ต้องขอบคุณเขาเสียด้วยซ้ำไป เพราะเราก็เหมือนกับเขา แต่เราไม่กล้าเอาออกมาให้คนอื่นเห็น
แบบเดียวกับคนที่รักกัน ต่างคนก็ต่างเอาแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้คนอื่นดู เพราะกลัวเขาจะไม่รักเรา พอท้ายสุดแต่งงานกันไปก็มีความรู้สึกว่า เออ ได้มาแล้ว หมดความจำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้น ทีนี้เบื้องหลังนางงามหรือชายงามก็จะค่อย ๆ โผล่ออกมา มันก็สำคัญตรงที่ว่าเขาสามารถที่จะรับกันได้ไหม ถ้าสามารถที่จะทำใจรับข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่งได้ก็เป็นธรรมดา มันก็จะอยู่กันได้นาน แต่ถ้าทำใจรับข้อบกพร่องของเขาไม่ได้ ก็ตัดลงในระยะเวลาอันรวดเร็ว แล้วก็จะมีข่าวเตียงหักกัน"
ถาม : การปฏิบัติในบารมี ๑๐ ควรทำอย่างไร?
ตอบ : เขาทบทวนอยู่ทุกวันว่าที่ผ่านมาเมื่อวาน และวันนี้ตรงจุดไหนพร่องบ้าง
มีโอกาสให้ทานแล้วเราไม่ให้มีไหม ถ้ามีไปแก้ตัวใหม่เสียดี ๆ มีโอกาสที่จะละเมิดศีลแล้วเราละเมิดไหม ถ้ามันยังละเมิดศีลอยู่ แม้ว่าไม่ได้ทำด้วยกาย ทำด้วยวาจาก็ยังผิดศีล แม้ไม่ได้ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ใจคิดจะละเมิดก็เป็นมโนกรรม พยายามปรับ จนกระทั่งแม้แต่คิด...ก็ไม่คิดที่จะทำ
แต่ละข้อไล่ไปเรื่อย อย่าลืมว่าบารมี ๑๐ จริง ๆ เป็นข้าศึกโดยตรงของรักโลภโกรธหลง รักโลภโกรธหลงเป็นต้นเค้าของกิเลสทั้งปวง ฉะนั้นสังโยชน์ทั้งหมดมันงอกมาจากรักโลภโกรธหลง ในเมื่อเราสามารถสร้างบารมี ๑๐ ได้เต็ม เราก็ตัดรักโลภโกรธหลงได้
เมื่อครู่บอกว่าไม่เกี่ยว นี่เกี่ยวแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะหาจุดเชื่อมโยงมันยังไง
ดังนั้นว่าในการปฏิบัติของเรามันต้องทบทวนอยู่ทุกวัน สมัยที่อยู่วัดท่าซุงหลวงพ่อท่านให้เขียน (บารมี ๑๐) ติดหัวที่นอนไว้เลย ก่อนนอนกราบพระสามทีจะต้องขีดไว้ก่อนเลย เราพลาดตรงไหนหว่า
ในเรื่องการสู้กับกิเลส หลวงพ่อได้สอนว่า "ตรงนั้นเราไปชนเมื่อไหร่ก็แพ้เมื่อนั้น กำลังมันไม่พอ มันต้องรู้หลบรู้หลีก อะไรหนักมาก็เลี่ยงเสีย อะไรเบามาก็ฉวยโอกาสบี้มันให้ตายเลย เหมือนกับเอาเปรียบแต่จริง ๆ มันต้องทำแบบนั้น"
ถาม : พอเราเห็นอะไร แล้วมีอารมณ์ปล่อย มันก็เป็นธรรมดา เมื่อมันเป็นธรรมดา ก็เห็นว่ามันไปลงตรงกฎแห่งกรรมตลอดค่ะหลวงพ่อ
ตอบ : จริง ๆ ท้ายสุดแล้ว เราทำไปก็ไปลงตรงจุดที่ว่า เราทำแล้วเราได้ ในเมื่อเราทำเองทำไมเราจะรับมันไม่ได้ จะว่าเป็นกฎของกรรม ก็คือกรรมของเรานั่นแหละ เราทำเอง
คำว่าธรรมดา มีอยู่ในทุกระดับ ปุถุชนมีคำว่าธรรมดาของปุถุชน กัลยาณชนมีคำว่าธรรมดาของกัลยาณชน อริยชนมีคำว่าธรรมดาของอริยชน แต่ละขั้นตอนของธรรมดามันไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแต่ละระดับกำลังใจของแต่ละคน
แต่ว่าคำว่าธรรมดานี้มันหากินได้ตั้งแต่ต้นยันปลาย เพราะท้ายสุดของธรรมดาก็คือ ไม่มีอะไรเป็นของเรา ก็ธรรมดามันเป็นอย่างนั้นเอง จะเอาให้ได้ดั่งใจมันก็ไม่ได้ ในเมื่อไม่ได้ดั่งใจก็ช่างมัน
ถาม : การคิดเป็นมโนกรรมได้อย่างไร?
ตอบ : ทันทีที่เราคิดมันสร้างเหตุแน่ ๆ แล้ว เมื่อสร้างเหตุ ผลมันจะมา มามากมาน้อยก็แล้วแต่
ถาม : เกี่ยวกับเรื่องทาน ?
ตอบ : ในส่วนของสาธารณประโยชน์ ทำแล้วเกิดประโยชน์แก่คนอื่นมากก็ใช่ แต่ขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่าเนื้อนาบุญก็สำคัญ ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนกับอังกุรเทพบุตร ตั้งโรงทานเพื่อสาธารณะ ๘๐ โรง ตลอดสองหมื่นปี ไปเกิดเป็นเทวดาที่อานุภาพน้อยที่สุด เพราะว่าไปทำบุญในช่วงที่โลกว่างจากศาสนา คนไม่มีศีลไม่มีธรรม
แต่ว่าให้ทำไปเถอะ จะมากจะน้อยก็ทำไป มีโอกาสแล้วเราทำ ไม่ละ...ไม่เว้น บุญใหญ่ก็เอา บุญเล็กก็เอา กวาดให้หมด ใครจะว่างกก็ช่าง..!
ถาม : การเลือกเนื้อนาบุญ ?
ตอบ : การเลือกนั้นมีปัญญาบารมีคุมอยู่ ก็คือในเมื่อทำแล้วก็ควรจะให้ได้ผลมากที่สุด แต่ว่าขณะเดียวกันถ้ามีโอกาสทำ แม้ทำแล้วผลน้อยกว่าปกติ ก็ยังทำอยู่ ทำเพราะรู้ว่าสิ่งนั้นดีเราจึงทำ ไม่ใช่ว่าตั้งหน้าตั้งตาจะเอาบุญอย่างเดียว ถ้าตั้งหน้าตั้งตาจะเอาบุญอย่างเดียว ในอภิธรรมเขาบอกว่า เป็นโลภเจตนา จะไปลดส่วนบุญลง
ถาม : ทำบุญให้ได้อานิสงส์เต็ม ?
ตอบ : ให้ดูว่าบริสุทธิ์โดยสี่ส่วนหรือเปล่า ถ้าบริสุทธิ์โดยสี่ส่วน เจตนาบริสุทธิ์ ทำเพื่อหวังตัดสละออกในความโลภนั้นหรือเปล่า
วัตถุทานบริสุทธิ์ ได้มาโดยถูกต้องตามศีลธรรมและกฎหมาย ไม่ได้ลักขโมยหรือช่วงชิงหลอกลวงใครมา
ผู้ให้บริสุทธิ์ มีศีลตามเพศภาวะของตน ตั้งใจให้เพื่อเป็นการตัดความโลภจริง ๆ ไม่ได้ให้เพราะอยากอวดคนอื่นเขา ไม่ได้ให้เพราะอยากให้คนอื่นเขาเห็นว่าเราเป็นคนดี
และท้ายสุดผู้รับบริสุทธิ์
ถ้าบริสุทธิ์โดยสี่ส่วนก็แปลว่าอานิสงส์เต็มสมบูรณ์ จะประกอบด้วยโลภเจตนาหรือไม่ ไปว่ากันในส่วนละเอียดเอาทีหลัง
ถาม : หลวงพ่อคะ..เวลาอยู่ของอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ตอนนี้หดสั้นกว่าเมื่อก่อนค่ะ ?
ตอบ : กิเลสเศร้าหมองเสียแล้ว..!
ถาม : เมื่อก่อนเราอยู่กับตรงนั้นได้นาน ตอนนี้จะไปต่อก็ไปไม่ได้ เพราะว่าชินกับอารมณ์ไม่เข้าไปยึด ?
ตอบ : ต่อไปจะแย่กว่านี้ คือ พยายามจะช่วยคิดก็ไม่ยอมขึ้น
ถาม : ใช่เลยค่ะ คิดแล้วไม่ขึ้น หนูก็พยายาม ?
ตอบ : เมื่อแย่ขนาดนั้นแล้ว ต่อไปจะแย่กว่านั้นอีก แค่คิดยังไม่คิดเลย ค่อย ๆ ทำไป อันนั้นแย่ในลักษณะของโลกียบุคคลทั่ว ๆ ไป แต่สำหรับนักปฏิบัติแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะว่าเราทำมาทั้งชีวิตก็หวังตรงนี้ แต่ว่าอย่าไปทดสอบเพราะว่ากิเลสอาจจะกำเริบได้ ถ้าเราทดสอบแปลว่าเราประมาท
ถาม : พยายามจะสร้างอารมณ์ ให้กลับ ๆ ๆ ไปหากิเลส ?
ตอบ : กิเลสตื่นขึ้นมา เดี๋ยวก็โดนงับตาย..!
ถาม : ทำไปเรื่อย ๆ ถ้ามาเมื่อไร เท่ากับข้อสอบมาแล้ว ?
ตอบ : ไม่ใช่ เราต้องไม่หวังว่ากิเลสจะมา พยายามหลบเลี่ยงทุกวิถีทาง เพราะว่าคนที่จะรบในการศึก จะต้องมีความรู้และแน่ใจว่าในการศึกครั้งนั้นเราจะชนะ ไม่อย่างนั้นรบไปเราก็แพ้ จะไปบอกว่าเราแพ้ศึกครั้งนี้แต่ยังไม่ได้แพ้สงคราม อย่าไปเอา วิธีนั้นปล่อยให้นักการเมืองเขาใช้กัน
แพ้ศึกแต่ไม่ได้แพ้สงคราม เข้าใจความหมายไหม แพ้เฉพาะครั้งนี้ แต่ภาพรวมทั้งหมดยังไม่ได้แพ้ แต่ในสายตาชาวบ้านเราแพ้ราบอย่างเห็น ๆ เลย
ถาม : แล้วบางครั้งเวลาที่เราเจอคนอื่น บางทีไม่ได้อยากคุย อยากอยู่กับสมาธิของตนเองมากกว่า แต่ที่ต้องคุยเพราะอยากรักษาน้ำใจเขา ?
ตอบ : อันนั้นดูตัวเราในส่วนที่ว่า เราสามารถรักษากำลังใจไม่ไหลตามสิ่งที่เป็นในปัจจุบันได้ไหม
ปกติเวลาหลวงพ่อท่านเทศน์หรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ก็จะมีคุณสุรจิตรที่คอยเวียนถวายค่ากัณฑ์เทศน์ให้หลวงพ่อตลอด เงินที่ถวายหลวงพ่อแต่ละครั้ง ก็ ๑ บาทบ้าง ๒ บาทบ้าง เห็นดังนี้แล้ว หลวงพ่อท่านก็เลยเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังว่า
"ที่เมืองจีนเขามีการเรี่ยไรเพื่อหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ พระท่านก็ไปประกาศเรี่ยไร มีผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอาชีพกวาดถนน เกิดศรัทธาอยากจะถวาย ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินอยู่อีแปะเดียว ตัดสินใจถวายร่วมด้วย พระที่เรี่ยไรนั้นอยู่ในอารมณ์ไหนไม่รู้ เห็นว่าเงินมันน้อยเหลือเกินก็เลยโยนคืนให้
'จะเอาไปทำอะไร...ก็เอาไป บริจาคมาแค่นี้ พระองค์ใหญ่ตั้งหลายวา' ผู้หญิงคนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยเก็บอีแปะนั้นไว้
เมื่อพระท่านเรี่ยไร ได้ทองแดงทองเหลืองจำนวนมากพอที่จะหล่อพระแล้ว ก็ปรากฏว่าหล่อไม่ติด ครั้งแรกพอทุบเบ้าออกมาเนื้อทองแล่นไม่ทั่ว ต้องเริ่มต้นทำแบบใหม่ ครั้งที่สองก็เป็นแบบนั้นอีก ครั้งที่สามก็เป็นแบบนั้นอีก หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านประสบการณ์สูง เรียกพวกลูกวัดและบรรดากรรมการวัดทั้งหมดมาสอบถาม ว่าในช่วงที่ออกไปเรี่ยไรขอทองแดง ทองเหลืองจากชาวบ้าน มีเหตุอะไรผิดปกติบ้างหรือเปล่า
ท่านก็ไล่สอบถามพระไปทีละสาย ๆ จนไปเจอพระสายนี้ บอกว่ามีหญิงคนหนึ่งที่เขากวาดถนนอยู่ เขาบริจาคมาหนึ่งอีแปะเห็นว่ามันน้อยไปก็เลยโยนคืนให้ ปรากฏว่าหลวงพ่อเจ้าอาวาสพาพระทั้งวัดไปขอขมาแล้วขอเหรียญอีแปะนั้นคืน
เมื่อได้เหรียญอีแปะนั้นแล้ว ก็เอาใส่ลงไปเพื่อหล่อพระ ทุบแบบออกมา ปรากฏว่าเป็นองค์พระบริบูรณ์ สมบูรณ์ทุกประการ และที่อัศจรรย์ที่สุดก็คือ อีแปะเหรียญนั้นไม่ละลาย แต่ไปติดอยู่ตรงหน้าอกพระ ตรงหัวใจพอดี
หลวงพ่อเจ้าอาวาสจึงขอรายละเอียด ปรากฏว่าผู้หญิงคนนั้นเขามีอาชีพกวาดถนน เงินเดือนแทบไม่พอยาไส้ อีแปะเหรียญนั้นเขาซื้อข้าวต้มเปล่าได้ถ้วยเดียว และเป็นอาหารประจำวันของเขา มันเป็นทานตัดชีวิตเลย เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าแค่บาทเดียวนะจ๊ะ มากพอที่พระจะปาราชิกเลย"
หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า "สมัยที่ไปอยู่เกาะพระฤๅษีใหม่ ๆ เขาก็ถวายอาหารที่ดีที่สุดกับพระ......ผัดเผ็ดคุณวรนัส (เหี้ย)..!
ถ้าหากว่าหน้าฝนใหม่ ๆ พวกนี้จะออกหากินกันเยอะ เพราะว่าหน้าแล้งแล้วส่วนใหญ่อาหารไม่ค่อยมี พวกนี้ก็จะโดนล่าประจำ
ตอนแรกอาตมาก็ตักมาดู ปลาอะไรวะ กระดูกเป็นสามเหลี่ยมสามแฉก พอนึกว่าอะไรวะ เล่นโผล่มาเลย ตัวเบ้อเร่อ ต่อหน้าต่อตา แถมทวงส่วนกุศลด้วยว่า 'กินผมต้องให้บุญผมด้วย'
ตั้งแต่นั้นมาเลยติดนิสัย ติดนิสัยตรงที่ว่าเวลาจะฉันอาหารจะอุทิศส่วนกุศล ตั้งใจว่าเธอทั้งหลายที่สละเลือดเนื้อร่างกายเพื่อเป็นอาหารอยู่ในขณะนี้ บุญตั้งแต่ต้นที่เราทำมาจนถึงบัดนี้ มีประโยชน์ความสุขแก่เราเท่าไหร่ ขอให้เธอทั้งหลายโมทนาได้รับประโยชน์ความสุขนั้นด้วยเถิด
ก็เลยชิน โดนทวง จึงให้เขาบ่อย"
หลวงพ่อท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยเขียนกลอนให้หลวงตาค่ะ ใช้เวลา ๒ นาทีเท่านั้น
วัชชีสามัคคีพร้อม เพรียงกัน
ชเยศผู้รุกราน ถ้วนหน้า
ระบือก้องสถาน ชมพูทวีปเฮย
ชัยชนะที่งามพร้อม เพียบด้วย ความดี
อินทราบ่งบอกชี้ วานวงศ์
ทะยานเยี่ยมยรรยง ยิ่งฟ้า
วังเวียงเพียงผจง ฉุดรั้งอยู่ฤๅ
โสฬสยังมิข้อง หมายมุ่งนฤพาน
สังเกตคำหน้าของแต่ละวรรคค่ะ :4672615:
ถาม : เวลาไปหล่อพระ เราต้องขออนุญาตก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการปรามาสพระรัตนตรัยหรือคะ?
ตอบ : ควรจะทำการบวงสรวงบอกกล่าว เรามานึกถึงในหลวง เราจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านต้องกราบขอบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต หรือแม้กระทั่งในหลวงยังเคารพพระพุทธเจ้าเลย บุคคลที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นเราจะทำอะไรส่งเดชได้ ถ้าหากว่าทำส่งเดชก็แปลว่ากำลังใจของเรายังไม่เคารพท่านจริง ๆ ในเมื่อไม่เคารพท่านจริง ๆ มันก็มีการปรามาสพระรัตนตรัยเป็นปกติอยู่แล้ว คือ ไม่เห็นความสำคัญ ถ้าอย่างนั้นก็เจริญยาก
เวลาบวงสรวงกราบขออนุญาต ถ้าอนุญาตก็ขอให้มีนิมิตหมายอย่างชัดเจนเลยว่าอนุญาตให้ทำ หรือได้มโนมยิทธิขึ้นไปกราบทูลขอด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง
ถาม : ถ้าหากมีนิมิตมาบอกก่อนล่ะคะ?
ตอบ : ถ้ามีนิมิตมาบอกก่อน ให้ขอซ้ำ ขออีกครั้ง ไม่อย่างนั้นไม่เชื่อ ถ้าหากว่าสองครั้งแล้ว ขออีกครั้งก็ได้ จะได้มั่นใจจริง ๆ
ถาม : ตอนนี้ยังหาที่หล่อพระไม่ได้ หาได้ยาก
ตอบ : เพราะว่าข้ามขั้นตอน ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็คือ กราบขออนุญาต
ถาม : ในกรณีที่เราทำบูชาโดยส่วนตัว อย่างทำเป็นรูปพระออกมา?
ตอบ : แม้กระทั่งจะเอารูปเพื่อนไปใส่เสื้อ ยังต้องบอกมันเลย นี่แค่ปุถุชน แล้วเรื่องของพระท่าน สมควรที่จะมีความละเอียดลออให้มากเข้าไว้
หลวงพ่อกล่าวว่า "ต้องบอกว่าคนก็คือคน ถ้าหากว่าเป็นคนแล้วมันไม่ยุ่งก็ไม่ใช่คน วันก่อนชอบใจอาจารย์บรรเจิด ท่านอาจารย์บรรเจิด เทวธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสวัดประจำไม้ เป็นญาติของพระครูปลัดปรีชา เขาไปสวดมนต์ฉลองพระใหม่ นัดแนะไว้ว่าหกโมงครึ่งอาหารต้องพร้อม
ปรากฏว่าแปดโมงแล้วอาหารยังไม่เสร็จ พระครูก็บ่นตั้งแต่หกโมงครึ่งยันแปดโมง บ่นไปบ่นมาอาจารย์บรรเจิดก็พูดประโยคหนึ่ง เราได้ยินแล้วชอบใจ 'จะเอาอะไรกับมันนักหนา ก็มันเป็นคน ถ้าหากมันพร้อมสมบูรณ์ก็เป็นเทวดาไปแล้วสิ' ท่านเข้าใจปลง
ต่อไปใครทำอะไรไม่ถูกใจ ก็แสดงว่ามันยังเป็นคน ดีพร้อมสมบูรณ์เป็นเทวดาไปแล้ว อย่างน้อยก็ช่วยได้ เราจะได้ไม่ต้องไปปรี๊ดแตก "
ถาม : ถามถึงพระโลสกะ ที่บิณฑบาตแต่กลับไม่ได้ข้าวฉันสักมื้อเลย
ตอบ : ได้ฉันก่อนตายครั้งหนึ่ง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมท่านอยู่ได้ ต้องบอกว่าอยู่ด้วยแรงกรรม เพราะท่านขาดทานบารมีอย่างแรงเลย ไม่ทราบว่าความดีอย่างไรทำให้ท่านเกิดเป็นคนและมีวาสนาได้บวชพระ
เขาบอกว่าท่านบวชพระ เป็นพระใหม่ ถึงเวลาเดินบิณฑบาตก็อยู่ท้ายแถว ชาวบ้านใส่ข้าวไม่ถึงตำแหน่งท่าน ข้าวก็หมดเสียก่อน ท่านไม่ได้ข้าวสักเม็ดเดียว
พระอุปัชฌาย์ก็เลยให้ท่านอยู่หัวแถวในวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านก็คิดว่าเมื่อวานนี้เราใส่จากหัวแถวไปท้ายแถวทำให้ตรงท้ายแถวไม่ได้ วันนี้จะใส่จากท้ายแถวมาหัวแถวบ้าง ปรากฏว่าท่านก็อดอีก
พระอุปัชฌาย์ก็บอกว่าถ้าเช่นนั้นคุณอยู่ตรงกลาง ชาวบ้านก็คิดอีกว่าเมื่อวานเราใส่จากท้ายแถว วันก่อนเราใส่จากหัวแถว แล้วท่านไม่ได้ วันนี้จะแบ่งเป็นสองพวก ใส่จากหัวแถวและท้ายแถว พอถึงตรงกลางก็หมดอีก
พระสารีบุตรเห็นดังนั้นก็เลยรู้ว่าเป็นกรรมของเขาจริง ๆ พยายามช่วยแค่ไหนก็ช่วยไม่ได้ บอกเอาอย่างนี้แล้วกัน คุณอยู่เฉย ๆ เดี๋ยวผมจะบิณฑบาตมาเลี้ยงเอง ในเมื่อเป็นเช่นนั้นท่านก็เลยได้ฉันอาหารเต็มที่ครั้งเดียวในชีวิต พอร่างกายสบายก็มาพิจารณาธรรมแล้วเห็นทุกข์ ตั้งแต่เกิดมาไม่รู้อยู่มาได้อย่างไร ไม่ได้กิน ต้องบอกว่ากรรมรักษา พอท่านสลดใจจิตก็เลยปลดออกจากร่างกาย กลายเป็นพระอรหันต์ แล้วขอนิพพานตอนนั้นเลย เห็นโทษจริง ๆ ไม่อยากอยู่อีกแล้ว"
แล้วหลวงพ่อท่านก็เล่าอีกว่า "มีสามเณรอยู่รูปหนึ่ง บุญดีเกินเหตุ เวลาบิณฑบาตท่านเกิดอารมณ์กรรมฐานขึ้นมา ก็เลยบอกพระอุปัชฌาย์ น่าจะเป็นพระสารีบุตร
สามเณรบอกว่า ท่านผู้เจริญกระผมจะเข้าปฏิบัติกรรมฐาน ถ้าหากว่าท่านออกบิณฑบาต ช่วยเหลืออาหารไว้ให้กระผมด้วย พระสารีบุตรท่านก็เมตตา แล้วถามสามเณรว่าอยากกินอะไร สามเณรบอกว่าอยากกินต้มปลาตะเพียน (สั่งได้ด้วยนะ) พระสารีบุตรก็บอกว่าไม่แน่ใจว่าจะมีหรือเปล่า สามเณรบอกว่า มั่นใจว่าถ้าไม่ได้ด้วยบุญของพระอาจารย์ก็จะได้ด้วยบุญของผมเอง มั่นใจขนาดนั้น แล้วท่านก็ไปเจริญกรรมฐานเป็นพระอรหันต์ตอนนั้น พระสารีบุตรไปบิณฑบาตได้ต้มปลาตะเพียนมาจริง ๆ
เป็นประเภทบุญดีจนเมนูสั่งได้ก็มี ประเภทบุญไม่ได้เรื่อง จนกระทั่งในชีวิตได้กินเพียงครั้งเดียวก็มี ถ้ามีโอกาสจะรวบรวมมาเป็นเนื้อหาสั้น ๆ เอาไว้ให้อ่านเล่น ไม่รู้จะมีเวลาทำหรือเปล่า เพราะว่าต้องไปค้นพระไตรปิฎก รายละเอียดบางอย่างอ่านมานานแล้วนึกไม่ออก"
ถาม : ตอนนี้พบกับวิบาก เกี่ยวกับพ่อแม่และบริวาร ตรงนี้วางกำลังใจไม่ถูกค่ะ ต้องใช้กรรมฐานกองไหนคะ ?
ตอบ : พรหมวิหาร ๔ ข้ออุเบกขา
ถาม : ตอนนี้ทะเลาะกับลูก แล้วเรางอนเขา ตรงนี้จะเป็นกรรมหรือไม่ ?
ตอบ : เป็น..เดี๋ยวลูกเขาก็งอนเราบ้าง มีโอกาสก็ไปขอโทษเขา
ถาม : แต่ตัวเราไม่ผิด ?
ตอบ : ถ้าไม่ผิดก็ยอมรับว่าผิดเสียก็หมดเรื่อง ที่ทะเลาะกันก็เพราะคิดว่าเราไม่ผิด ความจริงเราผิดตั้งแต่เกิดมาแล้ว ถ้าไม่ผิดก็คงไม่เกิดมาเจอเรื่องแบบนี้
ถาม : ตอนนี้วางกำลังอย่างไร ?
ตอบ : บอกแล้วว่าช่างมัน อุเบกขาเอาไว้
ถาม : กำลังใจตกมาก ขอคำสอนยาว ๆ ได้ไหมคะ ?
ตอบ : นี่ก็ยาวมากแล้ว
หลวงพ่อกล่าวว่า "เคยสังเกตหรือเปล่าว่าอย่าไปตั้งความหวังกับคนอื่น จนป่านนี้เราก็ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ คนอยู่ที่ไหนมันก็เป็นคนไปเรื่อย ให้มันเป็น มนุสสะ มนุสโส มนุสสภูโต หรือ มนุสสเทโว มันก็ไม่ค่อยเป็น ในเมื่อมันไม่ค่อยเป็น ทีนี้เราไปหวังว่าเขาจะเป็น ทีนี้คนผิดหวังก็เราเอง เอวัง ก็มีด้วยประการละฉะนี้"
มีคนถามเรื่องการเรี่ยไรเงินทำบุญต่าง ๆ ว่าสมควรหรือไม่อย่างไร
หลวงพ่อท่านตอบว่า "เสมอตัวกับขาดทุน ไม่มีกำไร ถ้าเขาทำบุญด้วยก็เสมอตัว ถ้าเขาไม่ทำด้วยเราจะขาดทุน ดีไม่ดีเราจะโกรธเขาด้วย แล้วถ้าเขาไม่ทำด้วยไม่พอ ยังด่าเราด้วยนี่ยิ่งไปกันใหญ่
ถ้าหากจะทำ พึงใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ ว่าบุคคลใดเป็นผู้มีศรัทธา บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีศรัทธา แล้วก็เลือกบอกบุญ บอกเขาแค่ว่าจะทำอะไร ส่วนเขาจะช่วยหรือไม่ช่วยเรื่องของเขา"
ถาม : (ไม่ได้ยิน)
ตอบ : ไม่ต้องไปหามันหรอก มันเกิดจากใจที่ปรุงแต่ง คราวนี้การปรุงแต่งของฝ่ายชั่วมันปรุงแต่งไปในด้านของรักโลภโกรธหลง เพราะฉะนั้นตัวเราเองเป็นได้ทั้งสัตว์นรกและเทวดา มันอยู่ที่ว่าเราจะปรุงแต่งใจไปทางไหน
ถ้าหากว่าเราปรุงดี ๆ ระดับเชลล์ชวนชิมก็อาจจะเป็นระดับวิสุทธิเทพไปนิพพานเลย ฉะนั้นปรุงให้ดี ๆ นะจ๊ะ อุตส่าห์ล้างไห ล้างหม้อมาตั้งนานแล้ว เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือให้ดี ๆ ตอนนี้อยู่ที่ฝีมือปรุง ส่วนผสมทุกอย่างมีครบแล้ว ครูบาอาจารย์เขามีหน้าที่บอกสูตรนี้ทำอย่างไรบ้าง คนทำคือตัวเรา คนอื่นไม่สามารถจะทำแทนเราได้
หลวงพ่อบอกว่า "พอก้าวไปอีกจุด ๆ หนึ่งมันจะมีตัวอุเบกขา คือ ความไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์กระทบต่าง ๆ เจ้าตัวนี้ก็คือ ช่างมัน เรื่องของเขา เราก็อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา"
มีคนถามว่า "ยันต์เกราะเพชรนี่กันโรคไข้หวัด ๒๐๐๙ ได้ด้วยใช่หรือไม่ครับ"
หลวงพ่อบอกว่า "ถ้าเรามั่นใจ สำคัญอยู่ตรงความมั่นใจของเรา สมัยโรคเอดส์ระบาดใหม่ ๆ อาตมาฟันธงเลย เราไม่เป็นแน่นอนเพราะเรามียันต์เกราะเพชร ไปถามหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่ากันได้ ท่านบอกว่าไสยศาสตร์ซึ่งเป็นของละเอียดยังกันได้ นับประสาอะไรกับของหยาบอย่างพวกโรคภัย ทำไมจะกันไม่ได้"
มีคนถามถึงการโหลดคลิปต่าง ๆ ในเว็บ ว่าเป็นการผิดศีลข้อ ๒ หรือไม่
หลวงพ่อบอกว่า "ถ้าเขาอนุญาตให้โหลดก็ไม่เป็นไร ถ้าเขาไม่อนุญาตแล้วยังหาวิธีไปโหลดจนได้ก็ผิด"
ถาม : การบวงสรวง ที่มีไก่หรือหัวหมูอยู่ในพิธีด้วย ตรงนั้นมีความหมายว่าอย่างไรคะ?
ตอบ : ไม่มีอะไร ท่านท้าวมหาราชท่านขอไว้เป็นสัญลักษณ์"
หลวงพ่อเล่าว่า "สมัยที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านทำมีดหมอชาตรีรุ่นแรก อาตมาเอาปืนเข้าพิธี ๕ กระบอก ที่อธิษฐานไว้ก็คือ ถ้าหากติดตัวไว้ขอให้เป็นมหาอำนาจ ถ้าหากใช้งานเมื่อไรต้องระงับเหตุให้ได้ทันที
ก็ปรากฏว่าคำอธิษฐานนี้เป็นจริงมาตลอด และสำคัญที่สุดคือ อย่าเล่นเป็นอันขาด เล่นเมื่อไรลั่นเมื่อนั้น แปลกมาก..เหนี่ยวเล่นนี่เสาเป็นรูเลย ยังดีไม่ได้หันไปหาคน..!"
หลวงพ่อบอกว่า "อานุภาพพระขรรค์โสฬสท่านสรุปง่าย ๆ ว่าทั้งกันทั้งแก้ ป้องกันคุณไสย ป้องกันอาถรรพณ์ ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้ สามารถแก้คุณไสย ถอนอาถรรพณ์ต่าง ๆ ได้
ขออย่างเดียวอย่าเอาไปซ่ากับพวกเจ้าที่เจ้าทาง เขากลัวเรา เขาเกรงใจเรา ขอยืนยัน แต่อย่าได้เผลอ เผลอเมื่อไรก็โดนเอาคืน..!"
หลวงพ่อบอกว่า "ถ้าอาตมามีเวลาว่าง จะเขียนว่าไปทำกรรมอะไรมาถึงได้ป่วยอย่างนี้ เพราะเท่าที่ผ่านมามันจะมีนิมิตบอกเหตุ ถ้าหากว่าป่วยมาก ๆ แล้วนิมิตมา สบายใจได้ว่าอีกไม่เกิน ๓ วัน หายแน่นอน
นิมิตเขาจะบอกให้รู้ว่าป่วยครั้งนี้เกิดจากสาเหตุอะไร ส่วนใหญ่ก็ไปรังแกชาวบ้านเขา
แล้วที่มหัศจรรย์มากตรงที่ว่า เรื่องของกรรมเร็วช้าไม่เท่ากันจริง ๆ มีกรรมบางชาติที่มากินอาตมาชาตินี้ เกิดจากสมัยที่อาตมายังเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่เลย เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานถ้าเป็นสัตว์นักล่าแล้วก็เท่ากับว่าสร้างกรรมอยู่ตลอดเวลา แม้กรรมจะไม่หนักเท่ากับการเป็นมนุษย์ที่รู้ภาษา รู้ศีลรู้ธรรมแล้วไปละเมิด แต่ก็จัดว่าเป็นกรรม เพราะว่าอาศัยชีวิตเลือดเนื้อของคนอื่นเป็นอาหาร ถึงเวลากรรมนั้นก็มาสนองแทบปางตาย"
ตอนต้นเดือนนั้น มีบุคคลหนึ่งโทรศัพท์มาหาหลวงพ่อ พอท่านคุยเสร็จท่านบอกว่า
"คนที่โทรมาเขาช่างถาม แต่เรื่องที่เขาถามไม่มีเรื่องของตัวเขาเองเลย ทุกครั้งที่ถามเขาจะขึ้นด้วย 'สมมติว่า' จะตั้งสมมติฐานไปทำซากอะไร ในเมื่อไม่ใช่ของจริง..!"
หลวงพ่อบอกว่า "ในเปตวัตถุมีเรื่องของเทวดาเยอะมากเลย แต่เขาจัดอยู่ในเปตวัตถุ (เรื่องของเปรต) เพราะว่าบุคคลที่ตายไปแล้วในบาลีเขาเรียก เปตชน บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว เขาก็เลยเอาไว้ที่เปตวัตถุ แต่จริง ๆ แล้วมีเรื่องของเทวดาเยอะมาก และอาตมาอ่าน ๆ ไปก็สงสัย นี่เรื่องเทวดาแต่ทำไมเอามาลงในเปตวัตถุ เพราะว่าเขาจัดตามเนื้อหา เนื้อหาของคนที่ตายไปแล้วเขาก็จัดอยู่ในเปตวัตถุ"
หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า "ตอนแรก ๆ ที่อาตมาไปอยู่ที่เกาะพระฤๅษี ชาวบ้านเอาอีเห็นมาให้ตัวหนึ่ง ตัวประมาณเท่ากล้วยหอม อาตมาจึงเอามาเลี้ยงจนตัวเท่าหมา แล้วอีเห็นนี้ก็ลืมตัว นึกว่าตัวเองเป็นหมา เวลาที่อาตมาไปไหน หมาก็จะตามไปด้วย เจ้าอีเห็นนี้ก็จะไต่บนไม้ถือบ้าง ไต่ตามตัวอาตมาบ้าง วิ่งไปวิ่งมา แล้วก็กระโดดลงไปเล่นกับหมา
ถ้าอาตมาอยู่จะห้ามหมาได้ เพราะหมาเห็นอาตมาเป็นจ่าฝูง แค่ส่งเสียงดังใส่ หมาก็จะหยุด เขาจะรู้ว่าไม่สมควร แต่ตอนที่อาตมาไปรับสังฆทานที่กรุงเทพฯ เจ้าอีเห็นตัวนี้ก็ยังไปเล่นกับหมา ก็เลยม่องเท่ง ตายไป.. เพราะหมาเวลามันเขี้ยว ก็ฟัดเอาจริง ๆ
เมื่อกลับไป พวกบรรดาเจ้าหน้าที่หน่วยต้นน้ำก็หน้าเหี่ยวเดินมา "อาจารย์ครับ อีเห็นตายแล้วครับ"
อาตมาบอกว่า "ตายแล้วหรือ แล้วเอ็งเอาไปผัดเผ็ดเปล่า ."
เขาก็รีบกุลีกุจอปฏิเสธ "เปล่าครับเปล่า ผมไม่ได้เอาผัดเผ็ด ผมเอาไปฝัง"
"ไอ้ฉิบหาย..เสียของเปล่า ๆ เขาอุตส่าห์ไปล่าเป็นวันเป็นคืนกว่าจะได้ ไอ้นี่ตายอยู่ตรงหน้าดันไม่กิน"
พวกนั้นก็เลยงงมาจนทุกวันนี้ ว่าอาจารย์รักจริงหรือเปล่า เห็นเลี้ยงอีเห็นเสียอย่างดิบดี โอ๋อย่างกับอะไร พอตายกลับจะกินเสียนี่
เราต้องแยกให้ออก ตอนเป็น..เราสงเคราะห์เขา ตอนตาย..เป็นเรื่องของเขา กรรมใครกรรมมัน ในเมื่อเอ็งตาย ข้าก็จะใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด"
หลวงพ่อบอกว่า ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร พวกพระพี่ ๆ มักจะมา (พึ่ง) ที่พระน้อง
แม้แต่หลวงตาวัชรชัยก็เหมือนกัน "เล็กโว้ย..ยืมก่อนสองแสน..!"
"ยืมก็ได้ แต่ก่อนใช้คืนผม..พี่อย่าเพิ่งตายนะ ถ้าพี่ตาย คนอื่นไม่รับรู้ด้วยผมก็เจ๊ง"
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.