เข้าระบบ

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๑


เถรี
29-10-2018, 21:07
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ส่วนหนึ่งจากการที่ญาติโยมทั้งหลายมาทำบุญกันที่บ้านเติมบุญแห่งนี้ จะเห็นได้ชัดว่าในส่วนของทานบารมีนั้น พวกเราทำได้โดยที่ไม่มีอะไรบกพร่อง เราก็ควรที่จะไปเน้นในเรื่องของศีลและการภาวนา

การรักษาศีลของเรานั้น เราต้องตั้งใจรักษา เพราะว่าการที่เราตั้งใจงดเว้นจึงจะมีอานิสงส์ โดยเฉพาะคำว่า ตั้งใจ ตัวนี้ คือการเอาสติจดจ่ออยู่กับศีล ระมัดระวังศีลเป็นปกติ ขยับตัวก็รู้ว่าศีลแต่ละข้อจะขาดหรือไม่ พยายามระมัดระวังไม่ล่วงศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นล่วงศีลเช่นกัน

ถ้าหากว่าสติของเราจดจ่ออยู่ลักษณะอย่างนี้ สมาธิก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ จัดว่าเป็นสมาธิในสีลานุสติ เราก็แค่ตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนาไปด้วย สมาธิของเรายิ่งทรงตัวเท่าไร สติที่จะระมัดระวังไม่ให้ศีลบกพร่องก็ยิ่งว่องไว ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น

เมื่อสมาธิทรงตัวถึงระดับแล้ว โดยธรรมชาติเลยก็จะคลายตัวออกมา ตรงช่วงนี้ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะว่าเมื่อสมาธิคลายตัวออกมาถ้าเราไม่หาสิ่งที่ดี ๆ ให้คิด ก็จะคิดไปใน รัก โลภ โกรธ หลง เองโดยอัตโนมัติ และจะเป็นการคิดที่เรารั้งกลับได้ยาก เพราะว่าเป็นการเอากำลังในสมาธิที่เราทำได้ไปคิดฟุ้งซ่าน

ดังนั้น..เมื่อสมาธิเริ่มคลายตัวออกมาแล้ว ต้องรีบหาวิปัสสนาญาณมาพิจารณา อย่างเช่นพยายามดูให้เห็นชัดเจนว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตาลงไป เราเดิน นั่ง ยืน นอนอยู่บนกองทุกข์ตลอดเวลา และพิจารณาให้เห็นขั้นสุดท้ายว่า ร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา สักแต่ว่าเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เราอาศัยอยู่ได้ชั่วคราวเท่านั้น

เถรี
30-10-2018, 19:20
การพิจารณานั้น ต้องให้สภาพจิตเรายอมรับจริง ๆ ว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา คำว่ายอมรับในที่นี้ก็คือไม่มีการขัด ไม่มีการเถียงขึ้นมา ว่าร่างกายนี้ยังมีความเที่ยง มีความไม่ทุกข์ ยังมีจุดที่เป็นสุขอยู่ และท้ายที่สุดว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา เป็นต้น เป็นการยอมรับเพราะปัญญาเห็นแจ้งว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ คือไม่เที่ยงจริง ๆ เป็นทุกข์จริง ๆ ไม่มีอะไรให้เรายึดถือมั่นหมายจริง ๆ

เมื่อเราเห็นชัดเจนแล้ว ก็เอาจิตสุดท้ายเกาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพานเอาไว้ ให้ตั้งใจว่า ถ้าหากสภาพร่างกายนี้เสื่อมสลายตายพังลงไปตามอายุขัยก็ดี หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ มาตัดรอนจนถึงแก่ชีวิตก็ตาม เราขอไปอยู่ที่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น พยายามเอาจิตสุดท้ายจดจ่ออยู่กับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน

ถ้าหากว่าเราทบทวนพิจารณาลักษณะอย่างนี้ กำหนดกำลังใจสุดท้ายของเราเอาไว้อย่างนี้ ถ้าทำได้ทุกวัน ๆ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะมีมาก สภาพจิตก็จะจืดจางเคลื่อนคลายจากสิ่งรอบข้างที่เคยยึดเคยถืออยู่ ท้ายที่สุดก็ปลดตนเองหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพานได้ดังที่ปรารถนา



ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๑
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)