เข้าระบบ

View Full Version : "มิลินทปัญหา" ที่น่าอ่าน


เถรี
20-01-2009, 22:05
ไม่รู้ว่าท่านใดในที่นี้เคยได้อ่านมิลินทปัญหามาบ้างคะ คาดว่า คงได้ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้ว
เถรีก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน เรียกได้ว่า ชอบมาก ๆ :6f428754: ยิ่งอ่าน ยิ่งมัน สนุกตั้งแต่เริ่มเรื่องยันท้ายเรื่อง ท้าทายยิ่งกว่านิทานเวตาล มหัศจรรย์ใจยิ่งกว่าแฮร์รี่พอตเตอร์เสียอีก

เถรีชื่นชอบสไตล์ลีลาการซักถามของพระเจ้ามิลินท์ที่ช่างสรรหาคำถามมาถาม (ประมาณว่า คิดได้อย่างไรนี่ ยิ่งกว่าปัญหาโลกแตกอีก เป็นเราไม่กล้าถามหรอก ) และชื่นชอบสไตล์การตอบของพระนาคเสน ที่อุปมาคำตอบให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป (มีอะไรบนโลกนี้บ้างหรือไม่ที่พระคุณเจ้ายกเอามาตอบไม่ได้ ) เป็นการซักถามที่ยิ่งใหญ่ และไม่มีใครเสมอเหมือน แถมยังได้ความรู้เรื่องราวในพระไตรปิฎกอีกมากมาย สุดจะพรรณนาได้

ที่มาโพสต์นี่ก็จะมายวนยั่วให้ไปหาอ่านแหละค่ะ สำหรับกรณีคนที่ยังไม่เคยได้ลิ้มลองอ่านนะคะ แล้วจะพบกับ "ความรื่นเริงในธรรม" จากหนังสือเล่มนี้ :96f0b971:


ปล. ฉบับที่เถรีอ่านเป็น มิลินทปัญหา ที่ธัมมวิโมกข์รวบรวมนะคะ ไม่รู้ว่าฉบับอื่นจะมีเนื้อหาสาระปลีกย่อยที่แตกต่างไปจากนี้หรือเปล่า

เถรี
20-01-2009, 22:16
ยกตัวอย่างตอนหนึ่งที่เถรีชอบใจ เป็นตอนที่พระเจ้ามิลินท์ปราศรัยกับพระนาคเสนเป็นครั้งแรก

ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสถามปัญหาข้อแรกต่อพระนาคเสนขึ้นว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมประสงค์จะสนทนาด้วย"
พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า "เชิญสนทนาเถิด มหาบพิตร อาตมภาพใคร่จะฟัง"
"โยมสนทนาแล้ว ขอผู้เป็นเจ้าจงฟังเถิด"
"อาตมภาพฟังอยู่แล้ว มหาบพิตรเชิญเจรจาเถิด"
"พระผู้เป็นเจ้าได้ฟังว่าอย่างไร ?"
"ก็มหาบพิตรเจรจาว่าอย่างไร ?"
"โยมจะถามพระผู้เป็นเจ้า"
"จงถามเถิด มหาบพิตร"
"โยมถามแล้ว"
"อาตมาก็แก้แล้ว"
"พระผู้เป็นเจ้าแก้ว่าอย่างไร ?"
"ก็มหาบพิตรถามว่าอย่างไร ?"
เมื่อพระเถระตอบอย่างนี้แล้ว พวกโยนกเสนาทั้ง ๕๐๐ ก็เปล่งเสียงสาธุการถวายพระนาคเสน


อันนี้เป็นตอนสตาร์ทเริ่มต้นการสนทนากันนะคะ ลีลาไม่แพ้กันทั้งคู่ ส่วนหลัง ๆ ไม่ต้องพูดถึงค่ะ สนุกอย่าบอกใคร หาอ่านกันเอาเอง :55318906:

ป้านุช
07-04-2009, 23:02
โธ่เอ๋ย น้องเรา มาแกล้งยั่วแล้วก็หนีไปนะ เรื่องนี้พี่นุชมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง สนุกมากจริง ๆ ค่ะ
ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งธรรม น่าจะเลือกตอนที่สนุก ๆ มาโพสต์ให้ทุกท่านที่ไม่มีหนังสือได้อ่านกันนะคะ
แต่หนังสือเล่มนี้ ก็สนุกทุกตอนเลยค่ะ ข้อความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ คัดลอกจากหนังสือ มิลินทปัญหา เท่าที่อ่านมา
มีคำเฉพาะหลายคำที่ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกต้องหรือไม่ ผิดพลาดประการใด ขออภัยล่วงหน้าค่ะ

พระเจ้ามิลินท์หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ กษัตริย์เชื้อสายกรีกแห่งเมืองสาคละ ปกครองแคว้นแบกเตรีย (Bactria)
ปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน
พระเจ้ามิลินท์ เป็นผู้มีปัญญา มีพระทัยใฝ่หาความรู้
และพอพระทัยในการสนทนาโต้เถียงปัญหากับปราชญ์ลัทธิต่าง ๆ ในยุคนั้น

พระนาคเสน เกิดที่กชังคลคาม ริมเขาหิมพานต์ ในตระกูลพราหมณ์
เรียนรู้ศิลปวิทยารวมทั้งคัมภีร์สำคัญ ๆ ของศาสนาพราหมณ์จนหมดสิ้น
เมื่อพบกับพระโรหณะ ภิกษุในพระพุทธศาสนา จึงได้ซักถามสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ
จนเกิดความเลื่อมใสขอบวชเป็นสามเณร ครั้นอายุ ๒๐ ปีจึงบวชเป็นภิกษุ
ผู้ซึ่งชาวบ้านโจษจันทั่วไปว่า รอบรู้ในพระธรรมวินัยและมีปัญญาอันเฉียบคม

ในอดีตชาติ เมื่อครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์ชีพ พระเจ้ามิลินท์บวชเป็นสามเณร ในสำนักของพระภิกษุ ซึ่งในชาตินี้ได้แก่ พระนาคเสน
วันหนึ่งพระภิกษุเรียกให้สามเณรมาขนหยากไย่ที่ตนกวาดรวมไว้ สามเณรแกล้งไม่ได้ยิน พระภิกษุจึงหยิบไม้กวาดตีสามเณร สามเณรจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า
ด้วยบุญของการขนหยากไย่นี้ ชาติต่อไป ขอให้ตนมีปัญญาเฉียบแหลมกว่าคนทั้งปวง ฝ่ายภิกษุล่วงรู้ความปรารถนาของสามเณร จึงตั้งอธิษฐานว่า
ด้วยบุญกุศลของการกวาดหยากไย่นี้ ขอให้ชาติต่อไป มีปฏิภาณว่องไว สามารถโต้ตอบปัญหาแม้ของสามเณรนี้ได้

แม้ความสืบเนื่องจากอดีตชาติ จะทำให้พระเจ้ามิลินท์หวั่นพระราชหฤทัย แต่ด้วยประสงค์จะไต่ถามข้อธรรม จึงเสด็จไปยังที่อยู่ของพระนาคเสน พร้อมด้วยปวงอำมาตย์และฝูงชน....

ป้านุช
07-04-2009, 23:05
เรามาดู(อ่าน) พระเจ้ามิลินท์ ( ม )และ พระนาคเสน (น ) สนทนาธรรมกัน

สังสารวัฏและการเวียนว่ายตายเกิด

ม.ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน สังสารวัฏได้แก่อะไร
น.ขอถวายพระพร ได้แก่การเวียนเกิดเวียนตาย

ม.พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบ
น.เหมือนชาวสวนปลูกมะม่วงไว้ ครั้นมะม่วงออกผลก็เก็บมารับประทาน เสร็จแล้วก็เอาเมล็ดนั้นเพาะปลูกใหม่ ถึงคราวเกิดผล ก็นำมารับประทาน
แล้วปลูกใหม่ต่อ ๆ ไปอีก สังสารวัฏก็มีอาการหมุนเวียนเช่นนั้น คือนับแต่เราเกิดมาเป็นนามรูป เราก็ตั้งต้นเพาะความดีความชั่ว เป็นตัวบุญ ตัวบาปขึ้นเป็นเหตุ
แล้วเราก็ต้องรับผลของความดีความชั่วนั้น ซึ่งจะช้าหรือเร็วขึ้นกับอำนาจบาปบุญ
ทั้งนี้ ผลที่เราได้รับอาจจูงใจให้เราเพาะเหตุต่อไปอีก เหมือนคนรับประทานผลมะม่วง แล้วก็นำเมล็ดไปเพาะเป็นต้น หมุนเวียนต่อไปไม่รู้จบสิ้น

ม.อะไรเป็นเหตุให้นามรูปต้องเกิดต่อไปอีกนาน
น.เหตุที่ทำให้นามรูปเกิดต่อไปอีกนานก็คือ ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ กล่าวคือ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์
อะไรเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ แม้จะรู้สิ่งเหล่านี้โดย พิจารณาเห็นในชั่วขณะหนึ่ง ๆ ก็ยังเรียกว่าไม่รู้จริง เพราะความรู้นั้นมิได้ประจำจิตอยู่ตลอดเวลา

เมื่อไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คนสัตว์ทั้งหลายจึงทำบุญและบาป เป็นเหตุให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ ซึ่งเปรียบเหมือนรากแก้วของต้นไม้ ทำให้เกิดนามรูป
ซึ่งแตกกิ่งก้านเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่เป็นประตูเปิดรับอารมณ์ ๖

นอกจากนี้ เมื่อไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ก็ให้ยึดสิ่งต่างๆเอาว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา เมื่อประสบสิ่งชอบใจ รู้สึกยินดี ก็เกิดความติดใจ เมื่อประสบสิ่งแสลงใจ รู้สึกทุกข์
ก็เกิดความปรารถนาจะหลีกหนีไปให้พ้น จึงเป็นเหตุให้เกิดการดิ้นรนแสวงหา รวมทั้งยึดถือในอุบายที่จะช่วยให้ตนสมประสงค์ในการได้มาหรือหลีกหนีไป
ก่อเป็นกุศลและอกุศลหนุนเนื่องให้เกิดเป็นนามรูปต่อไปอีก

ขอถวายพระพร ตราบเท่าที่ยังไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ตราบนั้นนามรูปก็ยังคงปรากฏมีอยู่เช่นนี้ โดยการเกิดดับ ๆ ของนามรูปที่ล่วง ๆ มาแล้วนั้น นานจนเบื้องต้นไม่ปรากฏ

ม.ความยาวนานของการเวียนเกิดเวียนตายเท่ากันหมด ในหมู่คนและสัตว์ทั้งหลายหรือ
น.บางพวกก็นาน บางพวกก็ไม่นาน

ม.พวกไหนนาน พวกไหนไม่นาน
น.ผู้มีกิเลสคือเครื่องทำให้ใจหมองอยู่ ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกนาน ส่วนท่านที่บั่นทอนกิเลสซึ่งเป็นเหตุทำให้ยืดยาวนั้นลงได้บ้าง
ก็ย่นเวลาเกิดเวลาตายข้างหน้าให้สั้นเข้าได้

ม.ช่างลึกล้ำจริง

ป้านุช
07-04-2009, 23:08
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน นามรูปเดิมนี้หรือจักกลับมาเกิดอีก
พระนาคเสนทูลตอบว่า มิใช่นามรูปนี้ หากเป็นนามรูปอีกอันหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะบุญบาป กุศล อกุศลที่นามรูปนี้ได้กระทำไว้

ม.ถ้ามิใช่นามรูปนี้ไปเกิดแล้ว ก็เป็นอันว่าหนีบาปกรรมที่ทำไว้ในชาตินี้พ้นสิพระคุณเจ้า
น.ถ้าไม่บังเกิดต่อไปอีก ก็เป็นอันหนีพ้น แต่ถ้ายังต้องมาเกิดอีก ก็หนีไม่พ้น

ม.พระคุณเจ้าจงเปรียบให้ฟัง
น.เหมือนคนก่อไฟผิงในฤดูหนาว แล้วลืมดับไฟ ไฟนั้นก็ลุกลามไปไหม้ไร่นาของผู้อื่น
เมื่อคดีถึงโรงศาล จำเลยแก้ตัวว่า ไฟที่เขาก่อขึ้นเป็นคนละกองกับที่ลามไปไหม้ไร่นาของโจทก์
ขอถวายพระพร เมื่อจำเลยแก้ตัวต่อศาลเช่นนี้ ศาลจะระงับไม่ลงโทษจำเลยหรือไม่

ม.จะให้งดได้อย่างไรเล่า เพราะไฟที่จำเลยก่อไว้นั้นเป็นต้นไฟ ตนเลินเล่อปล่อยไว้จึงลุกลามต่อไป ศาลจึงควรตัดสินลงโทษจำเลยได้
น.ฉันใดก็ฉันนั้น แม้นามรูปนี้จะแปรไปเป็นนามรูปอื่น บาปกรรมก็ตามลงโทษนามรูปหน้าเช่นกัน
ทั้งนี้ เพราะนามรูปนี้กระทำบาปบุญซึ่งเป็นเหตุให้มีนามรูปอื่นขึ้นแทน นามรูปอื่นจึงหนีบาปกรรมไม่พ้น

ม.นามรูปนี้ และนามรูปอื่น เชื่อมโยงกันได้อย่างไร พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
น.เหมือนเมล็ดต้นไม้ แรกปลูกไม่มีดอก ต่อมามีลำต้น เกิดมีใบ มีดอก ในที่สุดใบดอกก็ร่วงหล่นไป
เกิดใบดอกใหม่ขึ้นแทน นามรูปก็เช่นเดียวกับใบไม้ดอกไม้ เดิมไม่ปรากฏ แต่เพราะมีบุญบาป ซึ่งตนกระทำไว้ก่อนเป็นเหตุอยู่
จึงทำให้เกิดลำต้น ซึ่งแตกใบผลิดอกออกมารุ่นแล้วรุ่นเล่า
ฉันใดก็ฉันนั้น นามรูปนี้และนามรูปอื่นก็เชื่อมต่อกันได้ผ่านลำต้น คือบุญบาป ฉะนี้

ป้านุช
07-04-2009, 23:09
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ที่ตายไปแล้วกลับไปเกิดอีก เขาจะยังคงเป็นผู้นั้น หรือว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่ง
น.จะว่าเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอีกคนก็ไม่ใช่

ม.ขอพระคุณเจ้าจงเปรียบให้ฟัง
น.โคมไฟที่จุดแต่หัวค่ำแล้วตามไว้จนถึงรุ่งเช้า เปลวไฟในยามที่ ๑ กับในยามที่ ๒ เป็นอันเดียวกันหรือมิใช่

ม.ไม่ใช่
น.หรือเปลวไฟในยามทั้งสองเป็นเปลวไฟคนละชนิด

ม.หามิได้
น.ความสืบเนื่องแห่งรูปธรรมนามธรรมก็ฉันนั้น อันหนึ่งดับ อีกอันหนึ่งก็เกิดขึ้นแทน สืบเนื่องกันเรื่อยไป
เพราะฉะนั้นผู้ที่ตายแล้วกลับไปเกิดอีก จะว่าเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอีกคนหนึ่งก็ไม่ใช่

ม.พระคุณเจ้าเปรียบได้น่าฟัง

ป้านุช
07-04-2009, 23:12
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน บุญบาปอันเป็นเหตุให้นามรูปเกิด ซึ่งกำลังเกิดขึ้นขณะนี้มีหรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า มี กล่าวคือ เมื่อตาได้เห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส
กายได้แตะต้อง ใจได้รับอารมณ์ ย่อมเกิดความรู้(วิญญาณ)ขึ้น
ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดี ก็รู้สึกชอบ พอใจ พยายามดิ้นรนหาต่อไป
ถ้าเป็นอารมณ์ไม่ดี ก็ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ พยายามดิ้นรนหนี
เมื่อต้องดิ้นรนอยู่ ก็จำต้องยึดถือวิธีการหนึ่งใด ซึ่งตนเห็นว่า จะช่วยให้การดิ้นหาหรือดิ้นหนีนั้นสมประสงค์
เป็นเหตุให้การกระทำ คำพูด ความคิดดีบ้างชั่วบ้าง เกิดเป็นบุญบาป กุศลอกุศลขึ้นในทันที
ขอถวายพระพร เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงว่าบุญบาปซึ่งเกิดอยู่ในขณะนี้มี
ม.พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน บุญก็ตาม บาปก็ตาม เมื่อยังไม่ให้ผล ไปรออยู่ที่ไหน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ก็ติดตามผู้ทำไปดุจเงาตามตัว ถ้าได้โอกาสเมื่อใด ก็ให้ผลเมื่อนั้น

ม.พระคุณเจ้าสามารถชี้ได้หรือไม่ว่า อยู่ที่นั่น อยู่ที่นี่
น.อาตมภาพไม่สามารถจะชี้ถวายได้ เหมือนต้นไม้ยังไม่ออกผล พระองค์จะสามารถชี้ได้หรือไม่ว่า ผลอยู่ที่นั่น ที่นี่

ม.ชี้ไม่ได้
น.ขอถวายพระพร บุญบาปก็เช่นเดียวกับผลไม้นั้น คือเมื่อกำลังติดตามไป ก็รู้ไม่ได้ว่า เวลานี้อยู่ที่ไหน
ม.เข้าใจล่ะ

ป้านุช
07-04-2009, 23:15
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน สัตว์ทุกจำพวก ต่อเมื่อถึงวาระจึงตาย หรือว่าไม่ถึงวาระก็ตายเหมือนกัน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ย่อมมีทั้ง ๒ ประการ อุปมาดังผลไม้ซึ่งหล่นจากต้น ย่อมมีทั้งสุกและดิบ
ผลที่สุกแล้วไม่มีปัญหา แต่ผลที่ยังดิบอยู่เป็นเพราะเหตุใดจึงหล่น

ม.เป็นเพราะถูกหนอนไชบ้าง นกจิกกินเล่นบ้าง ถูกลมแรงพัดหล่นบ้าง
น.ขอถวายพระพร ผลไม้ที่สุกหล่น ก็เหมือนคนที่ตายโดยถึงอายุขัย ส่วนผลไม้ดิบที่หล่นเปรียบเหมือนคนที่ตายโดยยังไม่ถึงวาระ

ม.แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า จะตายเมื่อใด หรือเพราะประการใด ก็เรียกว่าตายโดยวาระทั้งนั้น
น.หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเหตุแห่งความตายอาจจำแนกได้ป็น ๘ ประการคือ

๑.โรคมีที่มาจากลม
๒.โรคมีที่มาจากช่องท้อง
๓.โรคมีที่มาจากเสมหะ
๔.โรคมีที่มาจากประสาท
๕.ความเปลี่ยนแปลงของฤดู
๖.บริหารอิริยาบถไม่สม่ำเสมอ
๗.ความเพียรของผู้อื่น
๘.ผลของบุพกรรม เว้นแต่ผลของบุพกรรม ความตายด้วยเหตุอื่น ๆ ถือเป็นการตายที่ยังไม่ถึงวาระ

ม.แต่ความตายจากเหตุอื่นทั้ง ๗ ก็อาจถือเป็นผลจากบุพกรรมได้มิใช่หรือ ดังนั้น จะตายอย่างไร ก็ถือเป็นการตายตามวาระทั้งนั้น
น.อาตมภาพขอยกตัวอย่างมาเปรียบถวาย ไฟที่ดับเพราะสิ้นเชื้อ ถือเป็นการดับไปตามวาระใช่หรือไม่

ม.ใช่
น.ถ้าไฟยังลุกโชนอยู่ แต่เผอิญมีฝนตกลงมาจนไฟดับ จะถือว่าไฟดับตามวาระได้หรือไม่

ม.ไม่ได้เพราะไฟยังมีเชื้ออยู่ จึงควรลุกต่อไปได้ตามปกติ แต่เหตุที่ดับเพราะมีฝนตกรดลงมา
น.ขอถวายพระพร ผู้ที่ตายด้วยเหตุ ๗ ประการเบื้องต้น ก็เช่นเดียวกับไฟที่ดับลงทั้งๆที่ยังมีเชื้ออยู่
เพราะหากไม่มีเหตุมาตัดรอน ชีวิตก็ย่อมยืนยาวต่อไปจนถึงอายุขัย ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าผู้ที่ตายด้วยเหตุหนึ่งใน ๗ อย่างข้างต้น
มิได้ตายตามวาระ ส่วนผู้ที่ตายเพราะเหตุแห่งอายุขัย ดังไฟสิ้นเชื้อ ถือเป็นการตายตามวาระ

ม.พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
07-04-2009, 23:17
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน สัตว์เมื่อจะเข้าถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา เข้าทางไหน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร หาเป็นเช่นที่พระองค์ตรัสถามไม่

ม.ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
น.ขอพระองค์จงส่งพระหฤทัยเข้าไปนึกถึงแก้วแหวนเงินทองในหีบนั่น

ม.ส่งเข้าไปแล้ว
น.ขอถวายพระพร พระองค์ทรงส่งพระหฤทัยเข้าไปทางไหน

ม.หามีช่องทางให้ส่งจิตเข้าไปไม่ แต่ที่ส่งจิตเข้าไปจนเห็นแก้วแหวนเงินทองในหีบนั้นได้ ก็เพราะจิตหมายรู้ ตามที่ได้ประจักษ์มาก่อนแล้ว
น.ฉันใดก็ฉันนั้น สัตว์และบุคคล เมื่อจะเกิดในท้องมารดา ก็มีแต่จิต ที่เรียกว่าปฏิสนธิจิต หรือปฏิสนธิวิญญาณ
ที่พร้อมจะเข้าไปปฏิสนธิ ในขณะที่เข้าไปในครรภ์มารดานั้น ก็เข้าไปในอาการที่พระองค์ทรงส่งพระหฤทัยเข้าไปในหีบนั่น
หาได้มีช่องทางหนึ่งใด สำหรับให้จิตเข้าไปถือปฏิสนธิไม่

ม.เข้าใจล่ะ

ป้านุช
07-04-2009, 23:19
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน บุญกับบาป สิ่งไหนจะดูดดื่มกว่ากัน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร บุญดูดดื่มมากกว่า

ม.ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
น.ขอถวายพระพร บาปย่อมมีผลเป็นทุกข์ ผู้กระทำบาปจึงถูกความทุกข์เผาผลาญ ให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ ใจย่อมระอาต่อการกระทำบาปนั้นต่อไป
ส่วนบุญย่อมมีผลเป็นความสุขกายเย็นใจ จึงเป็นเหตุชวนให้ผู้ที่ได้รับผลพยายามสั่งสมต่อไป เพราะบุญมีผลเป็นที่จับใจของผู้กระทำเช่นนี้ จึงดูดดื่มกว่า

ม.บุญกับบาป สิ่งไหนจะมีกำลังมากกว่า
น.บุญมีกำลังมากกว่า

ม.เกรงจะมิใช่เช่นนั้นสิพระคุณเจ้า เพราะตามที่ได้ยินมา คนทำบาป ย่อมได้รับผลเผ็ดร้อนต่างๆ และโดยมากได้รับผลในปัจจุบัน ไม่ค่อยได้ยินว่าคนทำบุญได้รับผลทันตา
น.ตัวอย่างผู้ทำบุญที่ได้รับผลทันทีมีอยู่ แต่จะขอทูลชี้แจงว่า เหตุที่บุญมีผลมากกว่า จึงให้ผลช้า ส่วนบาปมีผลน้อยกว่าเบากว่า จึงให้ผลเร็ว อุปมาดังข้าวหนักปลูกแล้วให้ผลช้า
แต่ให้ผลมาก ส่วนข้าวเบาให้ผลเร็ว แต่ให้ผลน้อย

ม.ข้าพเจ้ายังคงเห็นแย้งด้วยตัวอย่างทางโลกมีอยู่มากมาย ที่คนทำผิดกฎหมายย่อมถูกลงโทษโดยเร็ว
น.แม้โทษนั้นจะเป็นผลของบาปก็จริงอยู่ แต่ตัวอย่างที่ยกมา ไม่สามารถจะแสดงได้ว่า บาปมีกำลังมากกว่าบุญ เพราะกฎหมายส่วนมากมิได้ระบุผลที่คนทำบุญจะพึงได้รับ
ฉะนั้น ในทางกฎหมาย จึงไม่มีตัวอย่างของคนทำบุญจะพึงได้รับผลทันทีเหมือนคนทำบาป ขอถวายพระพร ถ้าพูดถึงผลข้างหน้าแล้ว บุญให้ผลแรงกว่าบาป
ดังตัวอย่างของพระองคุลีมาล ซึ่งแม้ท่านจะเคยฆ่าคนนับร้อย ครั้นบรรลุพระอรหัตตผลบาปก็ตามท่านไม่ทัน

ม.เข้าใจล่ะ

ป้านุช
07-04-2009, 23:29
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน การทำบุญให้ทาน แล้วแผ่ส่วนบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติมิตรที่ตายไปแล้วนั้น
ญาติมิตรจะได้รับผลแห่งบุญกุศลนั้นทุกคนหรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ไม่ทุกคน ได้รับเฉพาะญาติมิตร ที่ไปเกิดเป็นเปรตบางจำพวกเท่านั้น

ม.ถ้าญาติมิตรมิได้รับ ผลแห่งบุญนั้นจะมิสูญหรือ
น.ไม่สูญ

ม.ถ้าไม่สูญใครจะได้รับ
น.ก็ผู้อุทิศส่วนบุญกุศลนั้นย่อมได้รับ อุปมาดังเจ้าของบ้าน เตรียมอาหารไว้ให้แขก ถ้าแขกไม่บริโภค อาหารนั้นจะพึงเป็นของใคร

ม.ก็เป็นของเจ้าบ้านสิพระคุณเจ้า
น.ฉันใดก็ฉันนั้น แม้ญาติมิตรที่ตาย จะไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะรับส่วนบุญ ผู้ทำบุญอุทิศส่วนกุศล ก็ย่อมได้รับผลบุญนั้น
การแผ่ส่วนบุญอุทิศส่วนกุศล จึงเป็นการเพิ่มพูนบุญกุศลของผู้อุทิศอีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะบุญกุศลที่อุทิศนั้น ไม่มีวันหายสูญ

ม.บุญกุศลอุทิศให้กันได้ ถ้าอย่างนั้น บาปจะอุทิศให้กันได้หรือไม่
น.ไม่ได้ เพราะบาปมีผลบีบคั้นหัวใจ ทำให้ใจหดหู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ บาปก็มีวงอันแคบ มีผลอันจำกัด แบ่งให้ผู้อื่นทั่วๆไปไม่ได้ ผู้ใดทำ ก็ได้เฉพาะแต่ผู้นั้น

ม.พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างมาให้ฟัง
น.หยดน้ำอันน้อย หยดลงที่พื้นดิน ขอถวายพระพร หยดน้ำนั้นจะทำให้พื้นดินซึมซาบได้ทั่วหรือไม่

ม.ย่อมไม่ได้ หยดที่ไหน ก็ซึมซาบเฉพาะที่นั่น เพราะหยดน้ำนั้นมีน้ำอยู่น้อย
น.ฉันใดก็ฉันนั้น บาปมีลักษณะไม่ซึมซาบ เหมือนหยาดน้ำอันน้อย จึงอุทิศให้ผู้อื่นไม่ได้
ส่วนบุญมีลักษณะเหมือนน้ำฝน คือมีผลเอิบอาบซาบซึม หล่อเลี้ยงใจให้ชุ่มชื่นอยู่ทุกเวลา จึงอุทิศให้กันได้

ม.เพราะเหตุใด บาปกับบุญจึงต่างกันเช่นนี้
น.เพราะบาปมีผลเป็นความทุกข์ระทมใจ ไม่ชวนให้กระทำต่อไปอีก ทำให้มีผลอันจำกัดขยายตัวออกได้น้อย
ส่วนบุญมีผลเป็นความสุขเย็น ผู้กระทำเกิดความเอิบอิ่มใจอยู่ทุกขณะจิต คือขณะจะทำใจก็สบาย ขณะทำอยู่ ใจก็เพลิดเพลิน
เมื่อได้ทำแล้ว ใจก็เบิกบาน ทุกขณะที่นึกถึงบุญที่ได้ทำ ความปราโมทย์ก็บังเกิดขึ้น บุญจึงมีผลที่ขยายออกได้เสมอ
ขอถวายพระพร เนื่องด้วยมีเหตุมีผลเช่นนี้ บุญกับบาปจึงอุทิศได้หรือไม่ได้ ต่างกัน

ม.พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
08-04-2009, 15:58
แก้ไขเรื่องการใช้ "ไม้ยมก" ด้วยค่ะ

พี่นุชพิมพ์ "ม ม้า" ของคำว่า "สามเณร" ตกหล่นไปค่ะ

หยากไย่ น. ใยแมงมุมที่ติดค้างอยู่ในที่ต่าง ๆ .

ขอบคุณน้องแถวมากค่ะ ลอกตามหนังสือมาค่ะ:4672615:

ชื่อหนังสือ แนะนำมิลินทปัญหา : ปัญญาพระนาคเสน

ผู้เรียบเรียง วิชชุ เวชชาชีวะ ผู้จัดพิมพ์ ศิษย์วัดเวฬุวัน อ.ทองผาภูมิ กาญจนบุรี:4672615:

ตอนพิมพ์ก็สองจิตสองใจจะแก้ไขดีหรือไม่ ตอนนี้ตัดสินใจได้แล้วค่ะ ควรแก้ไขให้ถูกต้องดีที่สุดค่ะ:4672615:

ป้านุช
08-04-2009, 16:52
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน คนหนึ่งรู้ว่าอย่างไรเป็นบาป และบาปนั้นมีโทษอย่างไร อีกคนหนึ่งไม่รู้เลย ๒ คนนี้ทำบาป ใครจะบาปกว่ากัน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร คนไม่รู้บาปมากกว่า

ม.เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นเล่า ก็ในทางบ้านเมือง ผู้ที่ไม่รู้กฏหมายกระทำผิดบางอย่าง ย่อมได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษเบากว่าผู้รู้กฏหมาย
น.ขอถวายพระพร ก้อนเหล็กซึ่งเผาจนแดงโชน คนหนึ่งรู้ว่าเป็นเหล็กแดง อีกคนหนึ่งไม่รู้ สองคนนี้หยิบก้อนเหล็กแดงนั้น คนไหนจะหยิบได้เต็มมือและถูกความร้อนเผามือมากกว่ากัน

ม.คนรู้จะหยิบได้สนิทหรือ คนไม่รู้ต่างหากควรจะหยิบเต็มมือ จึงควรถูกความร้อนเผามากกว่าคนที่รู้
น.ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่มีความรู้เหตุรู้ผลแห่งบาปกรรมประจำใจ ในขณะที่ทำบาปย่อมเกิดความละอาย ความกลัว จึงทำบาปได้ไม่เต็มที่
ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักบาป ย่อมไม่มีความตะขิดตะขวงใจ ในการประกอบอกุศล จึงกระทำบาปได้เต็มที่กว่า และย่อมได้รับผลแรงกว่าคนที่รู้

ม.พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
08-04-2009, 16:54
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน คำที่พระคุณเจ้าว่า คนไม่รู้จักบาป ทำบาป บาปมากนั้น จะมิแย้งกับพุทธบัญญัติที่ว่า อาบัติย่อมไม่มีแก่พระภิกษุผู้ไม่รู้หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ไม่แย้ง คนไม่รู้จักบาป ทำบาป บาปมาก เพราะคนที่ไม่รู้จักบาปนั้น ย่อมไม่มีความละอายในการทำชั่ว และไม่กลัวผลของความชั่วนั้น ๆ
เมื่อกระทำความชั่วมาก ก็ต้องรับผลของความชั่วมาก ส่วนพระพุทธบัญญัตินั้น มีบางสิกขาบทซึ่งพระภิกษุผู้รู้บาปบุญคุณโทษละเมิดโดยไม่เจตนา เช่น กล่าวเท็จโดยสำคัญผิด ท่านก็ไม่ปรับอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น

ม.พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
08-04-2009, 16:59
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน คำที่พระพุทธเจ้าว่า ผู้ที่ทำบาปกรรมเรื่อยมา แม้ตั้ง ๑๐๐ ปี แต่ถ้าเวลาตายมีสติระลึกถึงคุณของพระพระพุทธเจ้าได้ ก็ย่อมไปสู่สุคติ
ส่วนผู้ที่ก่อนตายเผลอคิดถึงบาปที่ตนกระทำแม้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ก็ย่อมไปเกิดในนรกนั้น ดูไม่สมเหตุสมผล ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ศิลาแม้ก้อนเล็กโดยลำพังจะลอยน้ำได้หรือไม่

ม.ไม่ได้
น.ถ้าศิลา ๑๐๐ เล่มเกวียนแต่อยู่ในเรือ ศิลานั้นจะลอยน้ำได้หรือไม่

ม.ย่อมได้สิ
น.ขอถวายพระพร เปรียบบุญกุศลเหมือนเรือ บาปกรรมเหมือนศิลา อันคนที่กระทำบาปอยู่เสมอมาตลอดชีวิต
เมื่อเวลาจะตาย มิได้ปล่อยจิตใจให้ตามระทมถึงบาปที่ตัวทำ แต่สามารถประคองใจไว้ในแนวแห่งกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น ทำใจให้แน่วแน่อยู่เฉพาะแต่ในคุณของพระพุทธเจ้า ถ้าตายลงในขณะจิตดวงนั้น ก็เป็นอันหวังสุคติได้
เปรียบเหมือนศิลาซึ่งมีเรือทานน้ำหนักไว้มิให้จม ส่วนผู้ที่กระทำบาปที่สุดแม้แต่ครั้งเดียว ถ้าเวลาใกล้จะดับจิต
เพียงแต่จิตหวนไปพัวพันถึงบาปกรรมนั้น จิตดวงนั้นก็หนักพอที่จะถ่วงตัวให้ไปเกิดในนรกได้ เหมือนศิลาที่โยนลงน้ำ แม้ก้อนเล็กก็ต้องจมลงเช่นเดียวกัน

ม.ฟังสมเหตุสมผล

สายท่าขนุน
08-04-2009, 20:42
ชอบมาก มีน้ำใจจริง ขอบคุณและโมทนา:8f337f1c:



:cebollita_onion-21: :msn_smilies-20:..:1894c7a1: แหะ แหะ...น้องแถวยังต้องฝึกฝนอีกนานเลยค่ะ กว่าจะลอกเลียนแบบความสามารถของท่านพี่ Suthamma ที่ทำอยู่เป็นประจำได้ค่ะ :l438412717dh8:..:a471739513as2:
อื้อฮือ สำหรับน้องเราคนนี้ ต้องโมทนากำลังใจ:msn_smileys-15: สุดยอด ต้องพยายามบ้าง:d33561e9:
หมายเหตุ : อื้อฮือ อ. คำที่เปล่งออกมาแสดงความแปลกใจเป็นต้น.

ป้านุช
09-04-2009, 23:24
เริ่มแรกก็คิดว่าจะเลือก เฉพาะตอนที่น่าสนใจนำมาให้อ่านกัน แต่พออ่านจากหนังสือแล้วก็คิดว่าน่าจะนำมาโพสต์ให้ได้อ่านกันแบบเต็มเล่มน่าจะดี

จึงขอเริ่มตั้งแต่พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปยังที่อยู่ของพระนาคเสน พร้อมด้วยปวงอำมาตย์และฝูงชน

เปิดประเด็นสนทนา:ปัญหาพระนาคเสน

เมื่อพระเจ้ามิลินท์เสด็จไปถึง ทรงปราศรัยกับพระนาคเสนแล้ว จึงมีพระราชดำรัสว่า ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะสนทนากับพระคุณเจ้า
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงตรัสมาเถิด อาตมภาพก็ใคร่จะฟังอยู่

ม. ข้าพเจ้าพูดแล้ว พระคุณเจ้าฟังเอาเถิด
น. อาตมภาพฟังแล้ว พระองค์ตรัสมาเถิด

ม. พระคุณเจ้าฟังได้ยินว่ากระไร
น. พระองค์ตรัสมาว่ากระไร

ม. ก็ข้าพเจ้าได้ถามพระคุณเจ้าแล้ว
น. อาตมภาพก็ได้ถวายวิสัชนาแล้ว

ม. พระคุณเจ้าวิสัชนามาว่ากระไร
น. พระองค์ตรัสถามว่ากระไร

เมื่อได้ฟังทั้งสองฝ่ายชิงไหวชิงพริบกันเช่นนั้น ประชาชนได้แซ่ซ้องสาธุการ พร้อมกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงตรัสถามปัญหาในทันทีนี้เถิด

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสถามว่า ดูก่อนพระคุณเจ้า ธรรมดาผู้จะสนทนากันควรรู้จักชื่อสกุลกันก่อน เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอทราบว่าพระคุณเจ้า ชื่ออะไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า อันชื่อของข้าพเจ้านั้น เพื่อนบรรพชิต เรียกว่านาคเสน แต่โยมทั้ง ๒ เรียกนาคเสนบ้าง วีรเสนบ้าง สุรเสนบ้าง สีหเสนบ้าง
ขอถวายพระพร อันชื่อเหล่านี้เป็นคำที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้เรียกกันเท่านั้น ตัวบุคคลอันพึงจะค้นได้ในชื่อหามีไม่

ทันใดนั้น พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสประกาศให้ประชาชนได้ยินทั่วกันว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นพยานจำคำพระนาคเสนไว้ ครั้นแล้วจึงหันมาตรัสกับพระนาคเสนต่อไปว่า
ดูก่อนพระคุณเจ้า ถ้าคนเราไม่มีตัวตนจริงอย่างพระคุณเจ้าว่า ใครเล่าถวายบาตรจีวรแก่พระคุณเจ้า ใครเป็นผู้ใช้สอยบาตรจีวรนั้น และหากใครฆ่าพระคุณเจ้าก็คงจะไม่บาป

ครั้นแล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงได้ซักไซร้ไถ่ถามต่อไปว่า ที่พระคุณเจ้าแสดงชื่อว่านาคเสนนั้น อะไรเล่าเป็นนาคเสน
ผมหรือเป็นนาคเสน ซึ่งพระนาคเสนตอบว่า มิใช่ พระเจ้ามิลินท์จึงได้ตรัสถาม ไล่เลียงต่อไปถึง ขน เล็บ ฟัน หนังฯลฯ จนครบอวัยวะ ๓๒ แล้วไล่ต่อด้วยขันธ์ ๕ ตลอดจนสิ่งที่มิใช่ขันธ์ ๕
ซึ่งพระนาคเสนตอบปฏิเสธโดยตลอด

พระเจ้ามิลินท์ได้ที จึงตรัสเย้ยว่า ข้าพเจ้าถามไล่เลียงพระคุณเจ้าก็ไม่พบว่าอะไรเป็นนาคเสน พระคุณเจ้าคงพูดเหลวไหลเสียแล้ว

ก่อนที่พระนาคเสนจะถวายวิสัชนา ได้กล่าวปราศรัยว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ เสด็จออกจากพระนครเวลาเที่ยง กรวดทรายตามทางกำลังร้อนจัด
ขอถวายพระพร พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระบาทหรือด้วยราชพาหนะ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า ข้าพเจ้ามาด้วยราชรถ

พระนาคเสนจึงทูลถามว่า ถ้าพระองค์เสด็จมาด้วยราชรถ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่อาตมาว่า อะไรเป็นรถ งอนหรือเป็นรถ
ซึ่งพระเจ้ามิลินท์ตอบว่า มิใช่ พระนาคเสนจึงได้ถามไล่เลียงต่อไปถึงเพลา แอก และองค์ประกอบอย่างอื่น ตลอดจนสิ่งที่นอกเหนือจากองค์ประกอบเหล่านั้น
ซึ่งพระเจ้ามิลินท์ก็ตอบปฏิเสธโดยตลอด

พระนาคเสนจึงทูลว่า อาตมภาพทูลถามพระองค์ก็ไม่พบว่าอะไรเป็นรถ พระองค์ตรัสไม่สมกับพระดำรัสเบื้องต้น

ขณะนั้น ประชาชนต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการถวายพระนาคเสน แล้วกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงตรัสแก้เสียบัดนี้เถิด

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า ดูก่อนพระนาคเสน คำว่ารถซึ่งข้าพเจ้าตอบพระคุณเจ้าในเบื้องแรกนั้น อาศัยทั้งงอนทั้งเพลา เป็นต้น รวมกันเข้า จึงมีชื่อเรียกเช่นนั้น
พระนาคเสนจึงทูลว่า ขอถวายพระพร พระองค์ตรัสถูกแล้ว หากแม้คำว่านาคเสนซึ่งเป็นชื่อของอาตมภาพก็เช่นกัน
อาศัยทั้งรูปและนามประชุมกันเข้า จึงมีชื่อเรียกเช่นนั้น แต่ว่าเมื่อพูดให้ถึงที่สุดหรือพูดโดยปรมัตถ์แล้ว ก็หามีตัวบุคคลให้พึงค้นในชื่อนั้นไม่

เมื่อพระนาคเสนได้แก้ปัญหาเช่นนี้แล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสชมเชยว่า น่าฟัง ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังดังนี้เลย พระคุณเจ้าวิสัชนาปัญหาได้ไพเราะจริง
หากว่าพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ก็คงจะประทานสาธุการเป็นแน่

ป้านุช
09-04-2009, 23:30
จากนั้นพระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามขึ้นใหม่ว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระคุณเจ้าบวชได้กี่ปีมาแล้ว
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพบวชมาได้ ๗ ปีแล้ว

ม. อะไร เป็นจำนวน ๗ ปี ตัวพระคุณเจ้าหรือว่าการนับจำนวน

ขณะนั้น เงาของพระเจ้ามิลินท์ฉายอยู่ที่พื้นดินและในหม้อน้ำ

พระนาคเสนจึงทูลว่า นั่นเงาของพระองค์ปรากฏอยู่ที่พื้นดินและในหม้อน้ำ อาตมภาพขอทูลถามว่า พระองค์เป็นพระราชาหรือเงานั่นเป็นพระราชา

ม. ข้าพเจ้าสิเป็นพระราชา เงามิใช่พระราชา ด้วยว่าเงานั้นอาศัยข้าพเจ้าจึงปรากฏขึ้น
น. ขอถวายพระพร ฉันใดก็ฉันนั้น จำนวน ๗ ปีมีขึ้นก็เพราะนับแต่อาตมภาพบวชมาจนบัดนี้ วันคืนได้ล่วงไปเป็นจำนวนเท่านั้นปี

ม.พระคุณเจ้าช่างฉลาดจริงๆ

ป้านุช
10-04-2009, 22:16
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระคุณเจ้าบวชด้วยประสงค์อะไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ประสงค์จะดับทุกข์และประสงค์จะให้เป็นประโยชน์สุขแก่คนทั่วไป

ม. ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าจะยอมสละเวลาพูดกับข้าพเจ้าได้หรือไม่
น. ถ้าพระองค์ตรัสอย่างบัณฑิต อาตมภาพก็จักพูดด้วยได้ ถ้าตรัสอย่างพระเจ้าแผ่นดิน อาตมภาพก็พูดด้วยไม่ได้

ม. บัณฑิตพูดกันอย่างไรเล่าพระคุณเจ้า
น. บัณฑิตเมื่อพูดกัน ย่อมผูกเป็นปัญหาถามกันบ้าง แก้ปัญหากันบ้าง พูดขู่กันบ้าง พูดแข่งกันบ้าง ยอมรับกันบ้าง แต่บัณฑิตย่อมไม่โกรธกันเพราะการโต้เถียงนั้น

ม. แล้วพระเจ้าแผ่นดินเล่า พูดอย่างไร
น. ขอถวายพระพร พระเจ้าแผ่นดินเมื่อทรงออกความเห็นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ผู้ใดทูลคัดค้าน ก็ลงพระราชอาญาแก่ผู้นั้น พระเจ้าแผ่นดินส่วนมากตรัสอย่างนี้

ม. เอาเถิด ข้าพเจ้าจักพูดอย่างบัณฑิต จะไม่พูดอย่างพระเจ้าแผ่นดิน ขอพระคุณเจ้าจงพูดตามสบายเหมือนพูดกับสามเณรหรือคนรักษาวัด อย่าได้มีความเกรงกลัวข้าพเจ้าเลย
น. ขอถวายพระพร เป็นพระมหากรุณายิ่ง

ม. ข้าพเจ้าขออนุญาตซักถามพระคุณเจ้าจะได้หรือไม่
น. ขอพระองค์ตรัสถามมาเถิด

ม. ข้าพเจ้าได้ถามพระคุณเจ้าแล้ว
น. อาตมภาพก็ได้ถวายวิสัชนาแล้ว

ม. พระคุณเจ้าวิสัชนามาว่าอย่างไร
น. พระองค์ตรัสถามมาว่าอย่างไร

ม.พระคุณเจ้านี่ช่างสามารถจริง

ป้านุช
10-04-2009, 22:21
เมื่อได้โต้ตอบกันไปครู่ใหญ่ พระเจ้ามิลินท์ทรงพระราชดำริว่า พระภิกษุรูปนี้ปรีชายิ่ง หากเวลาหมดลงเสียแล้ว เราเองยังมีคำถามอยู่อีกมาก
หากสมควรเก็บไว้สนทนาในวันต่อไป จึงตรัสลาพระเถระเจ้า พร้อมสั่งให้อำมาตย์อาราธนาพระนาคเสนเข้าไปในพระราชวังในวันรุ่งขึ้น

เมื่อพระนาคเสนไปถึงพระราชวัง พระเจ้ามิลินท์ทรงประเคนอาหารเลี้ยงและพระราชทานผ้าไตร
จากนั้นได้ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน เราทั้งสองจะพูดเรื่องอะไรกันดี

พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร การพูดกันนี้ก็มีความประสงค์อยู่แต่เนื้อความ เพราะฉะนั้น ขอทรงตรัสแต่เนื้อความเถิด

ในวันนั้นและวันต่อ ๆ ไป พระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนจึงกระทำการสนทนาในข้อธรรมต่าง ๆ ดังนี้

ป้านุช
10-04-2009, 22:24
๑.นามรูป

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน “นามรูป” นั้น อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป
พระนาคเสนทูลตอบว่า ธรรมชาติที่ละเอียดไม่มีตัว เช่น จิต (หรือวิญญาณ) เจตสิก (ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร) นี้เป็นนาม
ส่วนธรรมชาติที่หยาบกว่าและอาจรับทราบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูป

ม. เพราะเหตุไรนามอย่างเดียวหรือรูปอย่างเดียวจึงเกิดขึ้นไม่ได้
น. เพราะต่างอิงอาศัยซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้น

ม. พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
น. ขอถวายพระพร เหมือนไก่ก่อนเกิดเป็นลูกไก่ ต้องเป็นตัวอ่อนมาก่อนหนึ่ง ต้องเป็นไข่มาก่อนหนึ่ง
ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็ฟักออกเป็นลูกไก่ไม่ได้ฉันใด “นามรูป” ก็ฉันนั้น คือต้องอิงอาศัยกันทั้งนามและรูปจึงจะเกิดขึ้นเป็น “นามรูป” ได้ (นามรูปปัญหา)

ม. ที่พระคุณเจ้าว่านี้ ชอบแล้ว

ป้านุช
11-04-2009, 20:32
๒. กิจของนามรูป

ม. การได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รับสัมผัส เหล่านี้เกิดแต่ใจอย่างเดียวหรือเกิดจากที่มาต่างกัน
น. มิได้เกิดแต่ใจอย่างเดียว ที่ได้เห็นรูปเพราะรูปกระทบตา ที่ได้ยินเสียงเพราะเสียงกระทบหู ที่ได้กลิ่นเพราะกลิ่นกระทบจมูก ที่ได้ลิ้มรสเพราะรสกระทบลิ้น
ที่ได้รับสัมผัสเพราะวัตถุภายนอกถูกต้องกาย ขอถวายพระพร เมื่อกิจเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว จึงมีรายงานไปยังใจให้กระทำกิจของตน
ได้แก่ การเทียบเคียงรายงานใหม่กับรายงานเก่า แล้วพิจารณาจัดการกับการรับรู้ที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ (ปัญจายตนกัมมนิพพัตตปัญหา)

ม. การรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดขึ้นที่ใด การรับรู้ทางใจ ก็เกิดขึ้นที่นั้นหรือ
น. ขอถวายพระพร ย่อมเป็นเช่นนั้น

ม. อย่างไหนเกิดก่อน อย่างไหนเกิดหลัง
น. วิญญาณ ๕ (การรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ) เกิดก่อนมโนวิญญาณ (การรับรู้ทางใจ)

ม. วิญญาณ ๕ สั่งมโนวิญญาณไว้หรือว่าให้ตามไปเกิดด้วยกัน
น. หามิได้ หากมโนวิญญาณมีลักษณะเหมือนที่ลุ่ม

ม. มีลักษณะเหมือนที่ลุ่มเป็นอย่างไร
น. ขอถวายพระพร ฝนตกน้ำจะไหลไปทางไหน

ม. ที่ลุ่มอยู่ทางใด น้ำก็ไหลไปทางนั้น
น. ฝนตกครั้งที่สองอีก น้ำจะไหลไปทางไหน

ม. น้ำคราวก่อนไหลไปทางไหน คราวหลังก็ไหลไปทางนั้น
น. ขอถวายพระพร น้ำคราวก่อนสั่งน้ำคราวหลังไว้หรือว่าให้ไหลตามไป หรือว่าน้ำคราวหลังนัดน้ำคราวก่อนว่าจะไหลไปตาม

ม. หามิได้ การที่น้ำสองคราวไหลไปรวมกันเพราะทางนั้นเป็นที่ลุ่ม
น. ฉันใดก็ฉันนั้น วิญญาณ ๕ เหมือนดังน้ำ คือเกิดขึ้นแล้วก็ไหลไปหามโนวิญญาณ
ทั้งนี้ก็เพราะมโนทวารมีหน้าที่รับรู้พิจารณาอารมณ์ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย น้อมเหนี่ยวไว้ เพื่อกระทำให้แจ้งอีกชั้นหนึ่ง (จักขุวิญญาณ มโนวิญญาณปัญหา)

ขอถวายพระพร อาศัยรูปกระทบตา เกิดการรับรู้ขึ้นเรียกจักขุวิญญาณ, อาศัยเสียงกระทบหู เกิดการรับรู้ขึ้นเรียกโสตวิญญาณ,
อาศัยกลิ่นกระทบจมูก เกิดการรับรู้ขึ้นเรียกฆานวิญญาณ, อาศัยรสกระทบลิ้น เกิดการรับรู้ขึ้นเรียกชิวหาวิญญาณ, อาศัยสิ่ง (โผฏฐัพพะ) กระทบกาย เกิดการรับรู้ขึ้นเรียกกายวิญญาณ,
อาศัยนามธรรมต่าง ๆ เกิดกับใจ เกิดการรับรู้ขึ้นเรียกมโนวิญญาณ ในขณะที่วิญญาณเกิดขึ้นนั้น ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิตก วิจาร ก็เกิดร่วมขึ้นด้วยเช่นกัน (เวทคูปัญหา)

ป้านุช
11-04-2009, 20:39
ม. วิญญาณมีลักษณะอย่างไร
น. วิญญาณมีลักษณะรู้แจ้ง เหมือนคนยืนอยู่ที่สี่แยกย่อมรู้ย่อมเห็นคนที่เดินผ่านไปมา
ฉะนั้น เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงเป็นต้น ก็ย่อมเกิดอาการรู้ทันทีว่านั่นรูป นั่นเสียง (วิญญาณลักขณปัญหา)

ม. ผัสสะมีลักษณะอย่างไร
น. ผัสสะมีลักษณะประจวบ เช่นตาเห็นรูปเกิดความรู้สึกทางตา ขณะที่ทั้ง ๓ ประจวบกันเข้า ขณะนั้นเป็นผัสสะ

ม. พระคุณเจ้าจงเปรียบเทียบให้ฟัง
น. เหมือนแกะสองตัวชนกัน ตัวหนึ่งเหมือนตา อีกตัวหนึ่งเหมือนรูป อาการชนเทียบได้กับผัสสะ หรือเหมือนมือ ๒ ข้างประกบกัน
มือข้างหนึ่งเหมือนตา มืออีกข้างเหมือนรูป อาการประกบเทียบได้กับผัสสะ (ผัสสลักขณปัญหา)

ม. เวทนาเล่ามีลักษณะอย่างไร
น. เวทนามีลักษณะรู้สึกและเสพเสวย เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง หรือเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง

ม. พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างมาเปรียบให้ฟัง
น. เหมือนข้าราชการทำความดีจนได้รับบำเหน็จต่าง ๆ เมื่อข้าราชการผู้นั้นรำพึงถึงการกระทำดีและบำเหน็จที่ตนได้รับจนรู้สึกอิ่มใจ
ความรู้สึกนั้นเป็นสุขเวทนา (เวทนาลักขณปัญหา)

ม. สัญญาเล่า ลักษณะอย่างไร
น. มีลักษณะกำหนดรู้และจำได้

ม. กำหนดรู้และจดจำอะไรได้
น. กำหนดจำลักษณะรูปพรรณสัณฐานและบัญญัติของสิ่งต่าง ๆ ได้ อุปมาดังเจ้าพนักงานเข้าไปในพระคลังหลวง เห็นเครื่องราชูปโภค
ก็หมายจำไว้เป็นอย่าง ๆ แม้ภายหลังจะไม่ได้เข้าไปดู ก็จำได้ นึกได้ถึงรูปร่างสีสันของเครื่องราชูปโภคเหล่านั้น (สัญญาลักขณปัญหา)

ม. เจตนาเล่า มีลักษณะอย่างไร
น. มีลักษณะจงใจและปรุงแต่งขึ้น

ม. พระคุณเจ้าจงเปรียบให้ฟัง
น. เหมือนบุคคลปรุงยาพิษแล้วดื่มเองด้วย ให้คนอื่นดื่มด้วย ตัวเขาเองจึงเป็นทุกข์ ผู้อื่นก็เป็นทุกข์ หรือเหมือนบุคคลปรุงอาหารด้วยน้ำผึ้ง น้ำอ้อยและนมเนย
ให้ตนเองบริโภค แล้วให้คนอื่นบริโภคด้วย ตัวเขาเองก็เป็นสุข ผู้อื่นก็เป็นสุข
หรือเหมือนแพทย์ตรวจอาการของโรคทราบตลอดแล้ว จึงหยิบเอาตัวยาต่าง ๆ มาปรุงขึ้นรักษาโรคฉันใด
เจตนาย่อมคิดอารมณ์ที่ข้องอยู่ในใจ แล้วปรุงขึ้นเป็นโครงการฉันนั้น (เจตนาลักขณปัญหา)

(หมายเหตุ ความย่อหน้านี้ ปรากฏเฉพาะใน “ปัญหาพระยามิลินท์” น.๕๑ เท่านั้น แต่ไม่ปรากฏใน “มิลินท์ปัญหา” สำนวนแปลอื่น ๆ )

ม. วิตกมีลักษณะอย่างไร
น. มีลักษณะติดไปกับจิต คือนึกจับหรือตริในสิ่งที่เจตนาปรุงขึ้น อุปมาดังช่างไม้ที่เข้าหน้าไม้ได้สนิท (วิตักกลักขณปัญหา)

ม. วิจารเล่า มีลักษณะอย่างไร
น. มีลักษณะตามเคล้าอารมณ์ คือตรองเรื่องที่วิตกยกขึ้นหรือจับอยู่ อุปมาวิตกดังอาการเคาะระฆัง
อุปมาวิจารดังเสียงครางของระฆังภายหลังที่ถูกเคาะแล้ว (วิจารลักขณปัญหา)

ป้านุช
13-04-2009, 23:08
ม. นามธรรมต่าง ๆ ที่เกิดประชุมกันเข้าในขณะหนึ่ง จะแจงออกมาให้เห็นชัด ๆ ว่า ขณะนี้เป็นวิญญาณ นี้เป็นผัสสะ นี้เป็นเวทนา สัญญา เจตนา วิตก วิจารได้หรือไม่
น. ขอถวายพระพร ยากที่จะแจงเช่นนั้นได้ อุปมาดังของเสวยที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จะให้เจ้าพนักงานครัวแยกของที่มีรสเค็ม รสเปรี้ยว รสหวานออกมาถวายอีกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม
แม้นามธรรมเหล่านี้จะประชุมกันเข้าอย่างรวดเร็วประหนึ่งว่าเกิดพร้อมกันจนยากจะแยกให้เห็นชัด แต่ยังคงปรากฏลักษณะของตนที่พอให้กำหนดได้(เอกภาวคตปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

๓.ไตรลักษณ์

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน สิ่งที่ไม่มีในโลกนี้เลย ได้แก่อะไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร สิ่งนั้นคือนามรูปและรูปไม่ประกอบนามซึ่งเกิดจากส่วนย่อย ๆ รวมกันขึ้น
คงที่เที่ยง ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นชิ้นเป็นอันอยู่เช่นนั้น ไม่ตกอยู่ใต้ความบีบคั้นขัดแย้ง เป็นตัวเป็นตน ขอถวายพระพร สิ่งซึ่งมีลักษณะเช่นนี้ไม่มีในโลก (โลเกนัตถิภาวปัญหา)
ม. เข้าใจละ

ป้านุช
15-04-2009, 23:11
สังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิด บุญกับบาป

๑.สังสารวัฏและการเวียนว่ายตายเกิด
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน สังสารวัฏได้แก่อะไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ได้แก่การเวียนเกิดเวียนตาย

ม. พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
น. เหมือนชาวสวนปลูกมะม่วงไว้ ครั้นมะม่วงออกผลก็เก็บมารับประทาน
เสร็จแล้วก็เอาเมล็ดนั้นเพาะปลูกใหม่ ถึงคราวเกิดผล ก็นำมารับประทานแล้วปลูกใหม่ต่อ ๆ ไปอีก
สังสารวัฏก็มีอาการหมุนเวียนเช่นนั้น คือนับแต่เราเกิดมาเป็นนามรูป เราก็ตั้งต้นเพาะความดีความชั่ว
เป็นตัวบุญ ตัวบาปขึ้นเป็นเหตุ แล้วเราก็ต้องรับผลของความดีความชั่วนั้น
ซึ่งจะช้าหรือเร็วขึ้นกับอำนาจบาปบุญ ทั้งนี้ ผลที่เราได้รับอาจจูงใจให้เราเพาะเหตุต่อไปอีก
เหมือนคนรับประทานผลมะม่วงแล้วก็นำเมล็ดไปเพาะเป็นต้นหมุนเวียนต่อไปไม่รู้จบสิ้น (สังสารวัฏปัญหา)

ม. อะไรเป็นเหตุให้นามรูปต้องเกิดต่อไปอีกนาน
น. เหตุที่ทำให้นามรูปต้องเกิดต่อไปอีกนานก็คือ ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ กล่าวคือ
ไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์
แม้จะรู้สิ่งเหล่านี้โดยพิจารณาเห็นในชั่วขณะหนึ่ง ๆ ก็ยังเรียกว่าไม่รู้จริง เพราะความรู้นั้นมิได้ประจำจิตอยู่ตลอดเวลา
เมื่อไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คนและสัตว์ทั้งหลายจึงทำบุญและบาป เป็นเหตุให้กิดปฏิสนธิวิญญาณ ซึ่งเปรียบเหมือนรากแก้วของต้นไม้
ทำให้เกิดนามรูปซึ่งแตกกิ่งก้านเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำหน้าที่เป็นประตูรับอารมณ์ ๖

นอกจากนี้ เมื่อไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ก็ให้ยึดสิ่งต่าง ๆ เอาว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา
เมื่อประสบสิ่งชอบใจ รู้สึกยินดีก็เกิดความติดใจ เมื่อประสบสิ่งแสลงใจ รู้สึกทุกข์ ก็เกิดความปรารถนาจะหลีกหนีไปให้พ้น
จึงเป็นเหตุให้เกิดการดิ้นรนแสวงหารวมทั้งยึดถือในอุบายที่จะช่วยให้ตนสมประสงค์ในการได้มาหรือหลีกหนีไป ก่อเป็นกุศลและอกุศลหนุนเนื่องให้เกิดเป็นนามรูปต่อไปอีก
ขอถวายพระพร ตราบเท่าที่ยังไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ตราบนั้นนามรูปก็ยังคงปรากฏมีอยู่เช่นนี้
โดยการเกิดดับ ๆ ของนามรูปที่ล่วง ๆ มาแล้วนั้น นานจนเบื้องต้นไม่ปรากฏ (อัทธานปัญหาและปุริมโกฏิปัญหา)

ม. ความยาวนานของการเวียนเกิดเวียนตายเท่ากันหมดในหมู่คนและสัตว์ทั้งหลายหรือ
น. บางพวกก็นาน บางพวกก็ไม่นาน

ม. พวกไหนนาน พวกไหนไม่นาน
น. ผู้มีกิเลสคือเครื่องทำใจให้หมองอยู่ จะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกนาน ส่วนท่านที่บั่นทอนกิเลสซึ่งเป็นเหตุทำให้ยืดยาวนั้นลงได้บ้าง
ก็ย่นเวลาเกิดเวลาตายข้างหน้าให้สั้นเข้าได้ (ทีฆมัทธานปัญหา)

ม.ช่างล้ำลึกจริง

ป้านุช
15-04-2009, 23:16
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน นามรูปเดิมนี้หรือ จักกลับมาเกิดอีก
พระนาคเสนทูลตอบว่า มิใช่นามรูปนี้ หากเป็นนามรูปอีกอันหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะบุญบาป กุศล อกุศลที่นามรูปนี้ได้กระทำไว้

ม. ถ้ามิใช่นามรูปนี้ไปเกิดแล้ว ก็เป็นอันว่าหนีบาปกรรมที่ทำไว้ในชาตินี้พ้นสิพระคุณเจ้า
น. ถ้าไม่บังเกิดต่อไปอีก ก็เป็นอันหนีพ้น แต่ถ้ายังต้องมาเกิดอีก ก็หนีไม่พ้น

ม. พระคุณเจ้าจงเปรียบให้ฟัง
น. เหมือนคนก่อไฟผิงในฤดูหนาว แล้วลืมดับไฟ ไฟนั้นก็ลุกลามไปไหม้ไร่นาของผู้อื่น
เมื่อคดีถึงโรงศาล จำเลยแก้ตัวว่า ไฟที่เขาก่อขึ้นเป็นคนละกองกับที่ลามไปไปไหม้ไร่นาของโจทก์
ขอถวายพระพร เมื่อจำเลยแก้ตัวต่อศาลเช่นนี้ ศาลจะระงับไม่ลงโทษจำเลยหรือไม่

ม. จะให้งดได้อย่างไรเล่า เพราะไฟที่จำเลยก่อไว้นั้นเป็นต้นไฟ ตนเลินเล่อปล่อยไว้ จึงลุกลามต่อไป ศาลจึงควรตัดสินลงโทษจำเลยได้
น. ฉันใดก็ฉันนั้น แม้นามรูปนี้จะแปรไปเป็นนามรูปอื่น บาปกรรมก็ตามลงโทษนามรูปหน้าเช่นกัน
ทั้งนี้ เพราะนามรูปนี้กระทำบาปบุญซึ่งเป็นเหตุให้มีนามรูปอื่นขึ้นแทน นามรูปอื่นจึงหนีบาปกรรมไม่พ้น (นามรูปปฏิสนธิคหณปัญหา)

ม. นามรูปนี้และนามรูปอื่นเชื่อมโยงกันได้อย่างไร พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
น. เหมือนเมล็ดต้นไม้ แรกปลูกไม่มีดอก ต่อมามีลำต้น เกิดมีใบมีดอก ในที่สุดใบดอกก็ร่วงหล่นไป เกิดใบดอกใหม่ขึ้นแทน
นามรูปก็เช่นเดียวกับใบไม้ดอกไม้ เดิมไม่ปรากฏ แต่เพราะมีบุญบาปซึ่งตนได้กระทำไว้ก่อนเป็นเหตุอยู่ จึงทำให้เกิดลำต้นซึ่งแตกใบผลิดอกออกมารุ่นแล้วรุ่นเล่า
ฉันใดก็ฉันนั้น นามรูปนี้และนามรูปอื่นก็เชื่อมต่อกันได้ผ่านลำต้นคือบุญบาป ฉะนี้ (ปุริมโกฏิปัญหา)

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ที่ตายไปแล้วกลับไปเกิดอีก เขาจะยังคงเป็นผู้นั้น หรือว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่ง
น. จะว่าเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอีกคนก็ไม่ใช่

ม. ขอพระคุณเจ้าจงเปรียบให้ฟัง
น. โคมไฟที่จุดแต่หัวค่ำแล้วตามไว้จนถึงรุ่งเช้า เปลวไฟในยามที่ ๑ กับในยามที่ ๒ เป็นอันเดียวกันหรือมิใช่

ม. ไม่ใช่
น. หรือเปลวไฟในยามทั้งสองเป็นเปลวไฟคนละชนิด

ม. หามิได้
น. ความสืบเนื่องแห่งรูปธรรมนามธรรมก็ฉันนั้น อันหนึ่งเกิดดับ อีกอันหนึ่งก็เกิดขึ้นแทน สืบเนื่องกันเรื่อย ๆ ไป
เพราะฉะนั้นผู้ที่ตายแล้วกลับไปเกิดอีก จะว่าเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอีกคนหนึ่งก็ไม่ใช่ (ธัมมสันตติปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าเปรียบได้น่าฟัง

ป้านุช
15-04-2009, 23:35
๒. การเกิด-การตาย
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน สัตว์ทุกจำพวกต่อเมื่อถึงวาระจึงตาย หรือว่าไม่ถึงวาระก็ตายเหมือนกัน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ย่อมมีทั้งสองประการ อุปมาดังผลไม้ซึ่งหล่นจากต้นย่อมมีทั้งสุกและดิบ
ผลที่สุกแล้วไม่มีปัญหา แต่ผลที่ยังดิบอยู่เป็นเพราะเหตุใดจึงหล่น

ม. เป็นเพราะถูกหนอนไชบ้าง นกจิกกินเล่นบ้าง ถูกลมแรงพัดหล่นบ้าง
น. ขอถวายพระพร ผลไม้สุกที่หล่นก็เหมือนคนที่ตายโดยถึงอายุขัย ส่วนผลไม้ดิบที่หล่นเปรียบเหมือนคนที่ตายโดยยังไม่ถึงวาระ

ม. แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า จะตายเมื่อใดหรือเพราะประการใด ก็เรียกว่าตายโดยวาระทั้งนั้น
น. หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราเหตุแห่งความตายอาจจำแนกได้เป็น ๘ ประการ คือ
๑. โรคมีที่มาจากลม
๒. โรคมีที่มาจากช่องท้อง
๓. โรคมีที่มาจากเสมหะ
๔. โรคมีที่มาจากประสาท
๕. ความเปลี่ยนแปลงของฤดู
๖. บริหารอิริยาบถไม่สม่ำเสมอ
๗. ความเพียรของผู้อื่น และ
๘. ผลของบุพกรรม เว้นแต่ผลของบุพกรรม ความตายด้วยเหตุอื่น ๆ ถือเป็นการตายที่ยังไม่ถึงวาระ

ม. แต่ความตายจากเหตุอื่นทั้ง ๗ ก็อาจถือเป็นผลจากบุพกรรมได้มิใช่หรือ ดังนั้น จะตายอย่างไรก็ถือเป็นการตายตามวาระทั้งนั้น
น. อาตมภาพขอยกตัวอย่างมาเปรียบถวาย ไฟที่ดับเพราะสิ้นเชื้อถือเป็นการดับไปตามวาระใช่หรือไม่

ม. ใช่
น. ถ้าไฟยังลุกโชนอยู่ แต่เผอิญมีฝนตกลงมาจนไฟดับ จะถือว่าไฟดับตามวาระได้หรือไม่

ม.ไม่ได้ เพราะไฟยังมีเชื้ออยู่ จึงควรลุกต่อไปได้ตามปกติ แต่เหตุที่ดับเพราะมีฝนตกรดลงมา
น. ขอถวายพระพร ผู้ที่ตายด้วยเหตุ ๗ ประการเบื้องต้น ก็เช่นเดียวกับไฟที่ดับลงทั้ง ๆ ที่ยังมีเชื้ออยู่
เพราะหากไม่มีเหตุมาตัดรอน ชีวิตก็ย่อมยืนยาวต่อไปจนถึงอายุขัย ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าผู้ที่ตายด้วยเหตุหนึ่งใน ๗ อย่างข้างต้น มิได้ตายตามวาระ
ส่วนผู้ที่ตายเพราะเหตุแห่งอายุขัยดังไฟสิ้นเชื้อ ถือเป็นการตายตามวาระ (กาลากาลมรณปัญหา)

ป้านุช
15-04-2009, 23:38
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน สัตว์เมื่อจะเข้าถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา เข้าทางไหน
พระนาคเสน ทูลตอบว่า ขอถวายพระพร หาเป็นเช่นที่พระองค์ตรัสถามไม่

ม. ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
น. ขอพระองค์ทรงส่งพระหฤทัยเข้าไปนึกถึงแก้วแหวนเงินทองในหีบนั่น

ม. ส่งเข้าไปแล้ว
น. ขอถวายพระพร พระองค์ทรงส่งพระหฤทัยเข้าไปทางไหน

ม. หามีช่องทางให้จิตส่งเข้าไปไม่ แต่ที่ส่งจิตเข้าไปจนเห็นแก้วแหวนเงินทองในหีบนั้นได้ก็เพราะจิตหมายรู้ตามที่ได้ประจักษ์มาก่อนแล้ว
น. ฉันใดก็ฉันนั้น สัตว์และบุคคลเมื่อจะเกิดในท้องมารดาก็มีแต่จิตที่เรียกว่า “ปฏิสนธิจิต” หรือ “ปฏิสนธิวิญญาณ” ที่พร้อมจะเข้าไปปฏิสนธิ
ในขณะที่เข้าไปในครรภ์มารดานั้น ก็เข้าไปในอาการที่พระองค์ทรงส่งพระหฤทัยเข้าไปในหีบนั่น หาได้มีช่องทางหนึ่งใดสำหรับให้จิตเข้าไปถือปฏิสนธิไม่ (มาตุกุจฉิปัญหา)

ม. เข้าใจละ

ป้านุช
15-04-2009, 23:42
๓. บุญกับบาป

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน บุญกับบาปสิ่งไหนจะดูดดื่มกว่ากัน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร บุญดูดดื่มกว่ากัน
ม. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
น. ขอถวายพระพร บาปย่อมมีผลเป็นทุกข์ ผู้กระทำบาปจึงถูกความทุกข์เผาผลาญให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ ใจย่อมระอาต่อการกระทำบาปนั้นต่อไป
ส่วนบุญย่อมมีผลเป็นความสุขกายเย็นใจ จึงเป็นเหตุชวนให้ผู้ที่ได้รับผลพยายามสั่งสมต่อไป เพราะบุญมีผลเป็นที่จับใจของผู้กระทำเช่นนี้ จึงดูดดื่มกว่า (บาปปุญญพหุการปัญหา)

ม. บุญกับบาป สิ่งไหนจะมีกำลังมากกว่า
น. บุญมีกำลังมากกว่า

ม. เกรงจะมิใช่เช่นนั้นสิพระคุณเจ้า เพราะตามที่ได้ยินมา คนทำบาปย่อมได้รับผลเผ็ดร้อนต่าง ๆ
และโดยมากได้รับผลในปัจจุบัน ไม่ค่อยได้ยินว่าคนทำบุญได้รับผลทันตา
น. ตัวอย่างผู้ทำบุญที่ได้รับผลทันทีมีอยู่ แต่จะขอทูลชี้แจงว่าเหตุที่บุญมีผลมากกว่า จึงให้ผลช้า
ส่วนบาปมีผลน้อยกว่าเบากว่าจึงให้ผลเร็ว อุปมาดังข้าวหนักปลูกแล้วให้ผลช้าแต่ให้ผลมาก ส่วนข้าวเบาให้ผลเร็วแต่ให้ผลน้อย

ม. ข้าพเจ้ายังคงเห็นแย้ง ด้วยตัวอย่างทางโลกมีอยู่มากมายที่คนทำผิดกฎหมายย่อมถูกลงโทษโดยเร็ว
น. แม้โทษนั้นจะเป็นผลของบาปก็จริงอยู่ แต่ตัวอย่างที่ยกมาไม่สามารถจะแสดงได้ว่าบาปมีกำลังมากกว่าบุญ
เพราะกฎหมายส่วนมากมิได้ระบุผลที่คนทำบุญจะพึงได้รับ

ป้านุช
16-04-2009, 22:49
นิพพาน พระอริยบุคคล และพระพุทธเจ้า

๑.นิพพาน

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน สิ่งที่เกิดแต่กรรม แต่เหตุ แต่ฤดู มีให้เห็นให้คิดเข้าใจได้
แต่สิ่งที่ไม่เกิดแต่กรรม แต่เหตุ แต่ฤดู อย่างหนึ่งอย่างใดมีบ้างหรือไม่
พระนาคเสนตอบว่า ขอถวายพระพร มี ได้แก่ อากาศ ๑ พระนิพพาน ๑

ม. กล่าวถึงอากาศ ข้าพเจ้าเห็นด้วย แต่พระนิพพานนั้น ไม่น่าเป็นอย่างพระคุณเจ้าว่า เพราะพุทธพจน์มีอยู่ชัดเจนว่า
พระนิพพานย่อมมีมรรคเป็นเหตุให้เกิด หรือมรรคเป็นเหตุกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หรือ พระคุณเจ้ากำลังกล่าวตู่พระพุทธพจน์ เมื่อไม่รู้ก็จงบอกว่าไม่รู้

น. ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์มีอยู่เช่นนั้นจริง แต่หาได้หมายความว่า พระนิพพานเกิดแต่เหตุคือมรรคไม่
มรรคนั้นทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่ไม่อาจแสดงเหตุที่อาศัยให้เกิดพระนิพพานได้ เพราะพระนิพพานเป็นอสังขตธรรม
ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง รู้ไม่ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย จะพึงรู้พึงเห็นได้ก็เฉพาะแต่พระอรหันต์ผู้มีจิตบริสุทธิ์สงบและละเอียดเท่านั้น (นิพพานอัตถิภาวปัญหา)

ม. ธรรมดาสิ่งต่าง ๆ ย่อมมีที่ตั้ง เช่น นาเป็นที่ตั้งแห่งข้าวเปลือก ดอกไม้เป็นที่ตั้งแห่งกลิ่น
หากพระนิพพานไม่มีที่ตั้ง พระนิพพานก็เป็นอันไม่มี ผู้ที่พยายามกระทำพระนิพพานให้แจ้งก็ไร้ประโยชน์เปล่า
น. ขอถวายพระพร พระนิพพานมีอยู่จริง แต่ที่ตั้งแห่งพระนิพพานไม่มี อุปมาดังไฟที่ปกติไม่ปรากกฎที่ตั้ง
แต่เมื่อบุคคลเอาไม้มาสีกัน ไฟก็เกิดขึ้นได้ พระนิพพานก็เช่นเดียวกันคือไม่ปรากฏที่ตั้ง แต่เมื่อบุคคลพยายามบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ให้แก่กล้าแล้ว พระนิพพานก็เกิดมีขึ้นได้เช่นไฟนั้น (นิพพานปัฏฐานปัญหา)

ม .พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
16-04-2009, 22:55
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระนิพพานมีความสุขอย่างเดียวหรือมีความทุกข์ปนอยู่ด้วย
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระนิพพานมีแต่ความสุขล้วน ไม่มีความทุกข์เจือปนเลย


ม. คิดว่ามิใช่เช่นนั้น เพราะสังเกตดูคนที่มุ่งหวังพระนิพพานต้องลำบากกาย ต้องสำรวมอิริยาบถ
ต้องระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใส เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอาการแห่งความทุกข์ ลำบากทั้งนั้น
น. ขอถวายพระพร อาตมาภาพขอทูลถามพระองค์บ้างว่า การเสวยราชสมบัติได้รับแต่ความสุขอย่างเดียวหรืออย่างไร

ม. ก็เป็นสุขดี ไม่เห็นทุกข์ยากลำบากอะไร
น. เมื่อชนบทกำเริบ มีการสงคราม พระองค์ต้องกรีฑาทัพไปประทับแรมตามป่าดง ถูกเหลือบยุงและลมแดดเบียดเบียน เป็นต้น นั้นเป็นทุกข์มิใช่หรือ

ม. ก็เป็นความทุกข์สิพระคุณเจ้า แต่จะเอามาปะปนกับความสุขในราชสมบัติไม่ได้
เพราะการกระทำนั้น ๆ ทำเพื่อความมั่นคงในการหาความสุขในราชสมบัติต่างหาก
น.ฉันใดก็ฉันนั้น การที่ต้องสำรวมอิริยาบถ ต้องระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใสนั้น ก็เพื่อความมั่นคงในการแสวงหาความสุขคือพระนิพพาน
เมื่อผู้มุ่งหวังพระนิพพานชำระสันดานของตนให้ปราศจากอกุศลอันทำให้จิตหม่นหมอง เมื่อนั้นเป็นอันได้ประสบสุขคือพระนิพพาน
เนื่องด้วยพระนิพพานเป็นธรรมชาติหมดจดจากบาปธรรมอันเป็นเหตุแห่งตัวทุกข์และความเศร้าหมอง
จึงมีแต่ความสุขล้วนไม่มีความทุกข์เจือปนเลย (นิพพานอทุกขมิสสภาวปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
23-04-2009, 23:47
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ความดับกองทุกข์ได้ทั้งหมดคือพระนิพพาน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ถูกแล้ว

ม. ดับอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าพระนิพพาน
น. ดับจนหาเชื้อที่จะก่อให้ลุกลามอีกไม่ได้ จึงจะชื่อว่าพระนิพพาน
ขอถวายพระพร อันผู้ที่ปล่อยใจไปตามอารมณ์ที่ผ่านมาย่อมถูกความทุกข์เผาผลาญให้หม่นไหม้
ส่วนบุคคลที่มีใจหนักแน่น แม้จะมีอารมณ์ที่ร้อนรนมากระทบ ก็ไม่ปล่อยใจให้หมกไหม้อยู่ในกองทุกข์เช่นนั้น
ย่อมดับเสียได้ด้วยคิดเห็นว่า คติของธรรมดามีอยู่อย่างนั้น จนอารมณ์ร้อนมอดลงไปเอง (นิโรธนิพพานปัญหา)

ม. ถ้าเช่นนั้น บุคคลที่มีใจหนักแน่นย่อมได้พระนิพพานด้วยกันทุกคนหรือ
น.ได้เฉพาะผู้ที่เดินถูกทางเท่านั้น

ม. การเดินถูกทางนั้นกระทำอย่างไร
น. การเดินถูกทางนั้น เบื้องต้นต้องทำความเห็นให้ตรงเสียก่อน คือให้เห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางเดินไปดับทุกข์ ว่า มีอยู่อย่างไร
จากนั้น จึงใช้ความเห็นชอบนี้นำความคิด คำพูดและการกระทำให้เดินตรงไป ขณะเดินก็ต้องพยายามนึกมุ่งต่อที่ ๆ หมายไว้ให้แน่วแน่อยู่ที่เดียว
ขอถวายพระพรผู้ที่เดินถูกทางเช่นนี้ ย่อมได้พระนิพพาน (นิพพานนลภนปัญหา)

ม. ฐานะที่บุคคลซึ่งประสงค์จะเดินถูกทางต้องตั้งอยู่นั้น มีหรือไม่ และถ้ามีเป็นอย่างไร
น. มี ฐานะนั้นได้แก่ ศีล เมื่อบุคคลตั้งมั่นอยู่ในศีลแล้ว กระทำใจโดยอุบายอันแยบคาย แม้ว่าจะอยู่ในที่ใด ๆ
ก็ย่อมจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ (นิพพานปัฏฐานปัญหา)

ม.จะกระทำพระนิพพานให้แจ้งนั้น กระทำด้วยอาการอย่างไร
น. ขอถวายพระพร พระนิพพานเป็นธรรมสงบระงับ มีความสุขอย่างประณีต ผู้ปฏิบัติชอบพึงพิจารณาสังขารตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
โดยย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ด้วยปัญญา

การที่จะกระทำพระนิพพานให้แจ้งนั้น ต้องพิจารณาความเป็นไปของสังขารทั้งหลาย คือความเกิดและความดับ จนเห็นว่าไม่มีสิ่งใดจะยึดถือเป็นตัวเป็นตนได้ในสังขารเหล่านั้น
ครั้นแล้วย่อมบังเกิดความหน่ายในภพทั้ง ๓ (คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ)
เมื่อบุคคลกระทำการพิจารณาเช่นนี้อยู่เนือง ๆ จิตย่อมหมดความยินดีที่จะเวียนว่ายตายเกิดต่อไป รวมทั้งย่อมเลื่อมใสในความระงับดับสังขารตลอดจนความระงับในเหตุคือ กิเลสตัณหาทั้งหลาย เมื่อประคองจิตเช่นนี้ให้มั่นด้วยสติและวิริยะจนพระอริยมรรคบังเกิด เมื่อนั้นย่อมเรียกได้ว่า บุคคลกรทำพระนิพพานให้แจ้ง (นิพพานสัจฉิกรณปัญหา)

ม.เข้าใจละ

เถรี
24-04-2009, 00:13
ซื้อมา ๑ เล่ม จากวัดท่าซุงเมื่อนานมาแล้ว
ยังไม่สามารถอ่านจนจบได้เลย
เรานี่ช่างด้อยปัญญานักหนอ อ่านแล้วไม่เข้าใจเลย

ค่อย ๆ อ่านจ้ะพี่หยก แล้วจะสนุกและได้อรรถรสมาก
ฉบับของวัดท่าซุงนั้น เขารวบรวมมาจากหนังสือธัมมวิโมกข์ อ่านได้ง่ายกว่าของที่อื่นแล้ว เพราะมีการอธิบายความต่อท้ายในแต่ละปัญหาด้วย นอกจากนี้ยังมีประวัติของบุคคลต่าง ๆ เพิ่มเติมมา โดยที่เราไม่ต้องไปควานหาเองเลยค่ะ :4672615:

ป้านุช
26-04-2009, 22:40
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ก็ผู้ที่ยังไม่ได้พระนิพพาน จะรู้หรือไม่ว่าพระนิพพานเป็นสุข
พระนาคเสนทูลตอบว่า รู้

ม. รู้ได้อย่างไร
น. อาตมภาพขอทูลถามบ้างว่า คนที่มีร่างกายบริบูรณ์ จะรู้หรือไม่ว่าการตัดมือตัดเท้าเป็นความเจ็บปวด

ม. รู้สิพระคุณเจ้า
น. รู้ได้ด้วยอะไร

ม. รู้ได้ด้วยฟังเสียงครวญครางหรือเห็นอาการดิ้นรนของคนที่ถูกตัดมือตัดเท้า
น. ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่ยังมิได้พระนิพพานเมื่อได้เห็นกิริยามารยาท หรือได้ยินได้ฟังถ้อยคำของท่านที่ได้พระนิพพานแล้ว ก็หยั่งรู้ได้ว่าพระนิพพานเป็นสุข (นิพพานสุขภาวชานนปัญหา)

ม. ชอบแล้ว

ป้านุช
26-04-2009, 22:48
๒.พระอริยบุคลและพระอรหันต์

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน อันผู้ที่ตายไปแล้วมีบ้างหรือไม่ที่จักไม่กลับมาเกิดอีก
พระนาคเสนทูลตอบว่า มี ผู้ที่จักกลับมาเกิดอีกก็มี ผู้ที่จักไม่กลับมาอีกก็มี

ม. ใครที่จักกลับมาเกิดอีก ใครจักไม่กลับมาเกิดอีก
น. ผู้ที่มีกิเลสจักกลับมาเกิดอีก ผู้ที่สิ้นกิเลสแล้วจักไม่กลับมาเกิดอีก

ม. ตัวท่านเล่า จักกลับมาเกิดอีกหรือไม่
น. หากอาตมภาพยังมีอุปาทาน (ความถือมั่นด้วยกิเลส)อยู่ ก็จักกลับมาเกิดอีก หากไม่มีอุปาทาน ก็จักไม่กลับมา (ปฏิสนธิคหณปัญหา)

ม. ผู้ที่ไม่ต้องมาเกิดอีกนั้น เขาจะรู้ตัวหรือไม่ว่าเขาจักไม่มาเกิดอีก
น. รู้ เพราะรู้ตัวอยู่ว่า ตนได้ทำให้สิ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดหมดสิ้นแล้ว อุปมาเหมือนชาวนาที่เก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งเพื่อบริโภคโดยไม่ทำนาเพิ่มอีก
ยุ้งฉางของเขาจักไม่เต็มขึ้นเพราะตัวเขาหยุดทำนาแล้ว (นัปปฏิสนธิคหณชานนปัญหา)

ม. ผู้ที่จักต้องบังเกิดต่อไป เขารู้ตัวหรือไม่ว่าจักต้องไปเกิดอีก
น. รู้ อุปมาเหมือนชาวนาเมื่อหว่านข้าวลงในพื้นนาแล้ว ฝนโปรยปรายมา ก็ย่อมรู้ว่าข้าวปลูกจักงอกงาม ผู้ที่บังเกิดต่อไป ก็รู้ตัวเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะว่าบุญบาปซึ่งเป็นเหตุให้เกิด ตนยังเพาะยังทำอยู่ (อุปปัชชนชานนปัญหา)

ม. ผู้ที่จักไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ระหว่างมีชีวิตอยู่ จะรู้สึกต่อความลำบากหรือไม่
น. บางส่วนก็รู้สึก บางส่วนก็ไม่รู้สึก

ม. ส่วนไหนรู้สึก ส่วนไหนไม่รู้สึก
น. ร่างกายของท่านรู้สึกต่อความลำบาก แต่ใจของท่านไม่รับรู้ความลำบาก กล่าวคือ ความลำบากกาย เช่น เมื่อยขบ หิว กระหาย
หรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ยังคงเกิดแก่ท่าน เสียดแทงร่างกายท่านอยู่ตามธรรมดา แต่ท่านไม่มีความลำบากใจ ทุกข์ใจ
เนื่องจากท่านได้ทำเหตุแห่งความลำบากใจให้สิ้นเชื้อแล้ว ดังพระพุทธเจ้าตรัสไว้ใจความว่า
ผู้ที่สิ้นกิเลสคือเหตุให้ใจเศร้า ยังคงมีแต่กายิกทุกข์ คือทุกข์ประจำร่างกายเท่านั้น ส่วนเจตสิกทุกข์หรือความทุกข์ใจเป็นอันไม่มีแล้ว

ม. เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนท่านจึงไม่รีบนิพพานหนีความลำบากเสียเล่า
น. เพราะเหตุว่า ใจของท่านเหล่านั้น มิได้เกาะเกี่ยวอยู่ที่ความลำบาก
โดยพิจารณาเห็นว่า ความลำบากเหล่านั้นเป็นอาการประจำของร่างกาย
เมื่อมีเกิดมีแก่แล้ว ก็ต้องมีความไข้ ความเจ็บ เมื่อยขบ หิว กระหาย เป็นธรรมดา

อนึ่ง ท่านเหล่านั้นไม่เร่งกาลเวลา ด้วยทำใจอยู่เสมอว่า จะทำประโยชน์สุขให้แก่ตนและผู้อื่นทุก ๆ ขณะไป
ดังพระสารีบุตรได้กล่าวไว้ว่า จะยังมีชีวิตอยู่ก็ดี จะตายเสียก็ดี ไม่เป็นเหตุให้ดีใจหรือเสียใจ แต่ว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็จะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นต่อไป (ปรินิพพานปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้จับใจ

ป้านุช
27-04-2009, 21:36
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน หากเป็นดังที่พระคุณเจ้าว่าไว้คือพระอรหันต์ไม่มีความทุกข์ใจ
มีแต่ความทุกข์ประจำร่างกายเท่านั้น ก็หมายความว่าท่านบังคับร่างกายไม่ได้สิ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ก็เป็นอย่างนั้น
กล่าวคือ ความรู้สึกหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ หาวนอน แก่ เจ็บ ตาย
อาการเหล่านี้ ท่านบังคับไม่ได้เพราะว่าเป็นอาการประจำของร่างกาย เมื่อร่างกายยังมีอยู่
อาการเหล่านี้ก็ยังต้องมีอยู่ด้วย

ม. ถ้าอย่างนั้น ไฉนท่านจึงสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้เล่า
น. ขอถวายพระพร แม้ความเป็นไปแห่งร่างกายตามธรรมดา จะมิได้ตกอยู่ในอำนาจของอะไรทั้งหมด
แต่อาการเคลื่อนไหวทุก ๆ ส่วนของร่างกายย่อมอยู่ในความรับผิดชอบแห่งใจชอบของท่าน
ท่านจึงกระทำให้อยู่ในอาการปกติเรียบร้อยได้

ม. เข้าใจละ แต่สงสัยว่าเหตุใดความทุกข์ใจจึงมีแก่ปุถุชน
น. เพราะปุถุชนปล่อยใจไปรับรู้สึกต่ออาการผันแปรของร่างกาย
เมื่อเป็นเช่นนั้น อาการหนาว ร้อน หิว กระหาย ฯลฯ ก็ตามบีบหัวใจมากน้อยสุดแต่ความไหวรับรู้สึก
และนอกจากอาการประจำร่างกายเหล่านี้แล้ว
จิตของปุถุชนยังปรุงแต่งอารมณ์ต่าง ๆ ที่คอยกระทบใจให้รู้สึกบอบช้ำลงไปอีก

ขอถวายพระพร เหตุที่เป็นดังนี้ก็เพราะปุถุชนมิได้ฝึกหัดใจ
มิได้หัดพิจารณาให้เห็นแจ้งในความผันแปร ซึ่งเป็นธรรมดาแห่งร่างกายและสังขารอื่น ๆ
ปุถุชนจึงคุมใจไว้ไม่อยู่ ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ใจนอกเหนือจากทุกข์กาย (อรหโตกายิกเจตสิกเวทนาปัญหา)

ม. เป็นเพราะเหตุใด พระอรหันต์จึงไม่มีความทุกข์ใจเช่นปุถุชน
น. เป็นเพราะท่านมีสติสัมปชัญญะกำกับใจอยู่เสมอ สามารถกำหนดรู้อารมณ์ที่ผ่านมายังใจว่ามีเหตุมีผลเป็นอย่างไร
ถ้าเป็นอารมณ์ที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ท่านก็ไม่ปล่อยใจให้นอนอยู่ในอารมณ์เช่นนั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ อารมณ์ที่เป็นแดนเกิดแห่งความทุกข์ก็ไม่อาจบีบใจท่านได้
ขอถวายพระพร เหตุดังนี้ที่ทำให้พระอรหันต์ไม่มีความทุกข์ใจ(กายิกเจตสิกเวทนายนานากรณปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
27-04-2009, 21:41
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระอรหันต์ท่านเผลอสติบ้างหรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระอรหันต์ท่านไม่เผลอสติ เพราะท่านมีสติกำกับใจอยู่เสมอ(อรหันตสัมโมหปัญหา)

ม. ถ้าเช่นนั้นพระอริยบุคคลต่าง ๆ (พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี และพระโสดาบัน) ซึ่งทรงญาณและปัญญา (ความหยั่งรู้ ) นั้น จะหลงหรือไม่
น. หลงในบางที่ ไม่หลงในบางที่

ม. ที่ใดหลง ที่ใดไม่หลง
น. ขอถวายพระพร หลงในวิชาที่ยังไม่เคยเรียน ในทิศที่ยังไม่เคยไป ในชื่อหรือบัญญัติที่ไม่เคยรู้ และในภาษาที่ไม่เคยฟัง

ม. ก็ในที่เช่นใดเล่า ที่ท่านไม่หลง
น. ที่ใดมีอาการไม่เที่ยง แปรผัน เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ในที่เช่นนั้น ท่านไม่หลง

ม. ความหลงของท่านผู้นั้นไปอยู่เสียที่ไหน
น. ขอถวายพระพร เมื่อญาณหรือปัญญาเกิดขึ้น ความหลง (โมหะ) ก็หายไป อุ
ปมาดังคนส่องไฟไปในที่มืด ทันใดนั้นความมืดก็หาย ปรากฏเป็นความสว่างขึ้นแทน
ญาณก็เช่นเดียวกับแสงไฟ เกิดขึ้นเมื่อใด ความหลงความไม่รู้ก็หายไปเมื่อนั้น

ม. ส่วนปัญญาเล่าไปอยู่เสียแห่งใด
น. ขอถวายพระพร ปัญญาเมื่อกระทำกิจของตนแล้วก็หายไปในที่นั้น
คงยังปรากฏอยู่แต่วิชชา คือความรู้ชัดในความแปรปรวน ความเป็นทุกข์ และความมิใช่ตัวตน
อุปมาดังคนเขียนหนังสือในเวลากลางคืน ครั้นเขียนเสร็จก็ดับไฟนอน ไฟเป็นอันดับหายไป
แต่ตัวอักษรที่ได้เขียนไว้ยังปรากฏอยู่ ปัญญาก็ฉันนั้น เมื่อทำกิจของตนเสร็จก็หายไป
เหลือไว้แต่วิชชา คือความรู้แจ้งประจักษ์ในอาการที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเท่านั้น (ปัญญา ณิรุชณปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ทิดตู่
29-04-2009, 01:05
ทำให้นึกถึงที่พระนาคเสน ตอบกลับพระเจ้ามิลินท์ว่า

ม. ถ้าเช่นนั้นพระอริยบุคคลต่าง ๆ (พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี และพระโสดาบัน) ซึ่งทรงญาณและปัญญา (ความหยั่งรู้ ) นั้น จะหลงหรือไม่
น. หลงในบางที่ ไม่หลงในบางที่

ม. ที่ใดหลง ที่ใดไม่หลง
น. ขอถวายพระพร หลงในวิชาที่ยังไม่เคยเรียน ในทิศที่ยังไม่เคยไป ในชื่อหรือบัญญัติที่ไม่เคยรู้ และในภาษาที่ไม่เคยฟัง

ม. ก็ในที่เช่นใดเล่า ที่ท่านไม่หลง
น. ที่ใดมีอาการไม่เที่ยง แปรผัน เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ในที่เช่นนั้น ท่านไม่หลง
:d16c4689:

ป้านุช
29-04-2009, 12:13
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน มีคำกล่าวว่า เมื่อฆราวาสได้เป็นพระอรหันต์
ย่อมมีทางเลือกให้เพียงสอง คือหากไม่บวชในวันนั้น ก็จะนิพพานในวันนั้น
ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว หากฆราวาสนั้นหาอุปัชฌาย์หรือเครื่องบริขารไม่ทัน ก็มิต้องนิพพานเสียหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ก็นิพพาน

ม. ถ้าเป็นเช่นนั้น จะมิใช่ว่า พระอรหัตตผลได้บั่นทอนชีวิตของท่านเหล่านั้นหรอกหรือ
น. การที่เป็นดังนั้น หาใช่พระอรหัตตผลบั่นทอนไม่ แต่เป็นเพราะเพศฆราวาสไม่มีกำลังจะทรงคุณธรรมอันสูงสุดนั้นได้
อุปมาดังผู้บริโภคอาหารบริสุทธิ์ แต่บริโภคมากเกินส่วน ไฟธาตุย่อยไม่ไหว
การบริโภคนั้นก็ย่อมให้โทษแก่ร่างกาย ขอถวายพระพร นี่จะจัดว่าเป็นโทษของอาหารจะได้หรือไม่

ม. จัดเป็นโทษของอาหารไม่ได้เพราะอาหารนั้นบริสุทธิ์ แต่ต้องจัดว่าเป็นโทษของการบริโภค เพราะมากเกินไปจนไฟธาตุย่อยไม่ไหว
น. ฉันใดก็ฉันนั้น การที่ฆราวาสต้องนิพพาน ก็เพราะเพศฆราวาสไม่มีกำลังจะสามารถทรงพระอรหัตตผล ซึ่งเป็นคุณธรรมอันบริสุทธิ์ไว้ได้
ดังนั้น จะว่าพระอรหัตตผลบั่นทอนชีวิตฆราวาสผู้บรรลุแล้วหาได้ไม่ (คิหิอรหัตตปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
29-04-2009, 12:18
๓.พระพุทธเจ้า

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระคุณเจ้าเคยเห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่เคยเห็น

ม. อาจารย์ของพระคุณเจ้าเล่า ได้เห็นพระองค์หรือไม่
น. อาจารย์ของอาตมภาพก็ไม่ได้เห็น

ม. ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่มี
น. ขอถวายพระพร พระองค์เคยเสด็จไปทอดพระเนตรสะดือทะเลที่กลางทะเลหรือไม่

ม. ข้าพเจ้าไม่เคยไปดู
น. พระชนกของพระองค์เล่า ได้เสด็จไปทอดพระเนตรบ้างหรือไม่

ม. พระชนกของข้าพเจ้าก็ไม่เคยเสด็จไปทอดพระเนตร
น. ถ้าอย่างนั้น สะดือทะเลก็ไม่มีมิใช่หรือ

ม. มีสิพระคุณเจ้า เป็นแต่พระชนกและข้าพเจ้าไม่เคยไปดูไปเห็นมา
น. ฉันใดก็ฉันนั้น อาจารย์และอาตมภาพไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า เพราะเกิดไม่ทัน แต่ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง
เหตุที่พึงจะนำมาพิสูจน์ในข้อนี้ คือโลกุตรธรรมที่พระองค์สั่งสอน ซึ่งพ้นวิสัยที่คนสามัญจะพึงคิดเห็นได้เอง
ต้องเฉพาะแต่ผู้ที่ได้อบรมความดีจนสติปัญญาแก่กล้าเท่านั้น จึงจะเป็นผู้รู้เห็นซึ่งธรรมอันประณีตเหล่านี้
ขอถวายพระพร เหตุว่ามีโลกุตรธรรมเป็นพยาน จึงได้รู้ว่าผู้ตรัสรู้ซึ่งได้พระนามว่าพระพุทธเจ้านั้นมีจริง (พุทธอัตถินัตถิภาวปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

สายท่าขนุน
29-04-2009, 12:49
:4672615: ไม่ใช่คำแก้ตัวนะครับ แต่อยากบอกว่า บางคำแม้ไม่มีในพจนานุกรม(อ้างแบบเถรตรงมาก) ก็น่าจะใช้ได้ เพราะเน้นความต้องการได้ชัดเจน เช่น กินซะ ทำซะ แต่ถ้าเป็น กินเสีย ทำเสีย มันจะได้อีกความหมายนะครับ
กราบขออภัยเป็นอย่างสูง
ขอเรียนสอบถามว่า "ซะ" เข้าข่ายภาษาพูดหรือไม่คะ:5c745924:
เนื่องด้วยการทักท้วงครั้งนี้ ได้เลียนแบบน้องแถวตามอ้างอิงด้านล่าง
ซึ่งได้มีการแก้ไขจากคำว่า "ซะอีก" เป็น "เสียอีก" ตามคำทักท้วงของน้องแถวไปแล้วค่ะ
เป็นเหตุให้กราบขออนุญาตแจกเป็นใบแดงไป
ท่านพี่คะ
คำ ซะ ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่
อ้างอิงจาก : http://rirs3.royin.go.th
ควรเขียนว่า "เสีย" ถูกต้องหรือไม่คะ เพราะคำว่า "ซะ" น้องแถวคิดว่าเป็นภาษาพูดนะคะ
:6f428754:.....:onion_love:.....:msn_smilies-15:
:msn_smilies-04::cebollita_onion-08:

สายท่าขนุน
29-04-2009, 20:48
:4672615: ตรงนั้นรับผิดเพื่อให้กำลังใจคนทักท้วงครับ ที่จริง "ซะ" เป็นภาษาพูด ถ้าไม่วิบัติมากนักก็ใช้ได้ แต่ควรจะใช้สระและวรรณยุกต์ให้ตรงตามเสียงด้วยครับ
กราบขอบพระคุณค่ะ
ทั้งนี้ กราบขอกำลังใจในการทักท้วง โดยไม่เพียงลอกเลียนแบบใครด้วยค่ะ
ขอคืนใบแดงค่ะ:9bbc76d5: ทั้งนี้เพื่อ
๑۩۞۩๑ ขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่าน ๑۩۞۩๑
ช่วยกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และโปรดหลีกเลี่ยงการนำภาษาพูดไปใช้เป็นภาษาเขียนด้วย
การที่ได้ล่วงเกินอันมิควรใด ๆ กราบขอขมามา ณ ที่นี้:875328cc:

นางมารร้าย
30-04-2009, 11:05
:d16c4689:
เห็นด้วยกับท่านพี่ suthamma ค่ะ "กระดานสนทนา" ถ้าห้ามใช้ภาษาในการสนทนาอย่างเด็ดขาดไปเลย บรรยากาศจะเหมือนบอร์ดนิทรรศการ มันจะสนทนาไม่ค่อยออกค่ะ ขอแค่หลีกเลี่ยงภาษาพูดที่เป็นพวกภาษาวิบัติก็พอค่ะ

สายท่าขนุน
30-04-2009, 19:27
:d16c4689:
เห็นด้วยกับท่านพี่ suthamma ค่ะ "กระดานสนทนา" ถ้าห้ามใช้ภาษาในการสนทนาอย่างเด็ดขาดไปเลย บรรยากาศจะเหมือนบอร์ดนิทรรศการ มันจะสนทนาไม่ค่อยออกค่ะ ขอแค่หลีกเลี่ยงภาษาพูดที่เป็นพวกภาษาวิบัติก็พอค่ะ
มีผู้ออกความเห็นแม้เป็นภาคเสธ แสดงว่ามีผู้ยอมรับการทักท้วง:onion_love: ให้เป็นกำลังใจ
กราบขอบพระคุณท่านพี่อีกครั้ง
และจะพยายามรณรงค์รักษาภาษาไทยเช่นนี้ต่อไปค่ะ:6e45ec9e:

คนเก่า
01-05-2009, 16:10
:4672615: ไม่ใช่คำแก้ตัวนะครับ แต่อยากบอกว่า บางคำแม้ไม่มีในพจนานุกรม(อ้างแบบเถรตรงมาก) ก็น่าจะใช้ได้ เพราะเน้นความต้องการได้ชัดเจน เช่น กินซะ ทำซะ แต่ถ้าเป็น กินเสีย ทำเสีย มันจะได้อีกความหมายนะครับ

เชียร์ครับ เชียร์

ภาษาที่ไม่ตายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยม

สิ่งใดควร แม้มิได้มีผู้บอก บัณฑิตย่อมแจ้งในความควรนั้น
สิ่งใดไม่ควร แม้มิได้มีผู้บอก บัณฑิตย่อมแจ้งในความไม่ควรนั้น

ทาริกา
04-05-2009, 10:06
:d16c4689:
เห็นด้วยกับท่านพี่ suthamma ค่ะ "กระดานสนทนา" ถ้าห้ามใช้ภาษาในการสนทนาอย่างเด็ดขาดไปเลย บรรยากาศจะเหมือนบอร์ดนิทรรศการ มันจะสนทนาไม่ค่อยออกค่ะ ขอแค่หลีกเลี่ยงภาษาพูดที่เป็นพวกภาษาวิบัติก็พอค่ะบรรยากาศจะเหมือนละครไทยย้อนยุคมากกว่าค่ะ ซึ่งหนูก็ชอบนะคะ

เพราะหากมีการยกเว้นในบางคำ คนจะสับสนว่าตกลงใช้ภาษาพูดได้มากน้อยแค่ไหน ใช้อะไรวัดว่าคำนี้ใช้ได้หรือไม่ได้
ขนาดไม่ยกเว้นยังมึนงงกันอยู่เลย :onion_no:

ป้านุช
04-05-2009, 12:52
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าไม่มีใครดีเท่าเทียมจริงหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ถูกแล้ว

ม. ก็พระคุณเจ้าไม่ได้เห็น ทำไมจึงรู้เล่า
น. ขอถวายพระพร คนที่ยังไม่เคยเห็นทะเล แต่เมื่อพูดถึงทะเล เขาจะรู้สึกหรือไม่ว่าทะเลกว้างใหญ่

ม. รู้สิพระคุณเจ้า
น. ฉันใดก็ฉันนั้น แม้อาตมภาพมิได้เห็นพระพุทธเจ้าเลยก็จริง แต่เมื่อมาได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือได้เห็นพระพุทธสาวกปฏิบัติดีปฏิบัติงาม แล้วได้รับความสุขกายเย็นใจ ก็หยั่งรู้ว่า พระพุทธเจ้าดียิ่งจริง (พุทธนุตตรภาวปัญหา)

ม. ส่วนผู้อื่นเล่า เขาอาจจะรู้ได้หรือว่าพระพุทธเจ้าดียิ่งจริง
น. ขอถวายพระพร ผู้ที่ใคร่ครวญธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ค้นหาเหตุผลแล้ว ก็ย่อมชอบใจเช่นเดียวกัน เมื่อนั้นเขาจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าดีจริง (พุทธานุตตรชานนปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ ถูกใจข้าพเจ้า

ป้านุช
04-05-2009, 12:55
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร มีจริง

ม. ถ้าเช่นนั้น เวลานี้เสด็จไปประทับอยู่ที่ไหน
น. ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว
อาตมภาพไม่สามารถชี้ที่ซึ่งเสด็จประทับอยู่ถวายได้

ม. ถ้าเช่นนั้น จงเปรียบให้ฟัง
น. เหมือนกองไฟซึ่งเคยลุกโพลงอยู่ แต่เปลวดับลงเรื่อย ๆ
จนสิ้นกองเปลวไฟที่หายไปไปนั้น พระองค์จะชี้ได้หรือไม่ว่าไปอยู่เสียที่ไหน

ม. ชี้ไม่ได้ เปลวไฟดับแล้วก็เป็นอันดับสิ้นไป
น. นั่นแลฉันใด พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น พระองค์มีอยู่จริง แต่เพราะพระองค์ได้เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ความดับจนสิ้นเชื้อ) จึงชี้ถวายไม่ได้ว่าพระองค์ไปอยู่เสียที่ใด สิ่งที่อาตมภาพพอจะชี้ถวายได้คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ (พุทธนิทัสสทนปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าช่างสามารถจริง

คนเก่า
04-05-2009, 13:04
บรรยากาศจะเหมือนละครไทยย้อนยุคมากกว่าค่ะ ซึ่งหนูก็ชอบนะคะ

เพราะหากมีการยกเว้นในบางคำ คนจะสับสนว่าตกลงใช้ภาษาพูดได้มากน้อยแค่ไหน ใช้อะไรวัดว่าคำนี้ใช้ได้หรือไม่ได้
ขนาดไม่ยกเว้นยังมึนงงกันอยู่เลย :onion_no:

แทนที่จะเอาแต่ของง่าย ได้รู้แค่เท่าที่มีกฎเกณฑ์ระบุชัดเจน
อย่างใครก็สามารถซื้อตำรามาอ่านได้

มาเรียนรู้ว่าบัณฑิตท่านคิดอย่างไร พิจารณาอย่างไร ก่อนที่จะ
กลายเป็นตำรา ไม่ดีกว่าหรือ

weesamrandee
05-05-2009, 20:44
"กินซะ" ,"ทำซะ"

ผู้เขียนต้องการจะสื่ออารมณ์,ความรู้สึก ของตนเอง
เพราะได้ยินมาอย่างนี้ อยากให้ผู้อ่านรู้สึกอย่างนั้นตาม
จึงจำเป็นต้องใช้ภาษาพูด แต่น่าจะอยู่ในเครื่องหมาย " "
ครั้นหากจะเปลี่ยนเป็น "กินเสีย" ,"ทำเสีย" ความหมาย,วัตถุประสงค์ ก็ผิดเพี้ยนไปด้วย

บางกรณี มีเหตุจำเป็นต้องยกคำพูดหรือบทสนทนา ของบุคคลอื่น มากล่าวอ้าง
ก็สามารถใช้ภาษาพูดได้เช่นกัน เพราะหากจะเปลี่ยนเป็นภาษาเขียน
คำ,ความหมาย,ความรู้สึก จะไม่ตรงตามความเป็นจริง ณ เหตุการณ์ตอนนั้นนั่นเอง

แต่ก็มีข้อยกเว้น ในกรณีอื่น ๆ อีก ใคร่ครวญพิจารณาเอาเถิด...สาธุ

ป้านุช
11-05-2009, 13:40
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าทรงผนวชจริงหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร จริง

ม. ถ้าเช่นนั้นใครเล่าเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์
น. ขอถวายพระพร การผนวชของพระพุทธเจ้าไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ เพราะว่าการผนวชนั้นมีมาพร้อมกับการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าของพระองค์
อุปมาดังการบริโภคอาหาร แม้ไม่มีอาจารย์ก็บริโภคเป็น
การผนวชของพระพุทธเจ้านั้น ก็เช่นเดียวกับการบริโภคอาหารนี้
กล่าวคือ พระองค์ทรงรู้เอง เห็นเองซึ่งความจริงทั้งหลาย รวมทั้งเหตุผลและวิธีการแห่งการบวช
เพราะฉะนั้นจึงหามีใครเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของพระองค์ไม่ (อุปสัมปันนปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
11-05-2009, 13:44
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูรู้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจริงหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร จริง แต่ความรู้นั้น ๆ หาได้มีแนบพระหฤทัยอยู่ทุกขณะไม่ จะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงนึกเสียก่อน

ม. ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่สัพพัญญู เพราะถ้าเป็นสัพพัญญูจริง พระองค์ก็ไม่ต้องนึกไว้ก่อน
น. อาตมาขอเปรียบถวาย หากต้นไม้ต้นหนึ่งมีผลเต็มต้น แต่ผลนั้นยังไม่ร่วงเลยสักผลเดียว จะว่าไม้ต้นนั้นมีผลน้อยหรือไม่มีผลได้หรือไม่

ม. ไม่ได้สิพระคุณเจ้า
น. หรือเปรียบเหมือนเจ้าของบ้านผู้มีทรัพย์ สมบัติบริบูรณ์ เมื่อแขกมาถึงบ้านหลังเวลาอาหาร ย่อมจัดหาอาหารมาเลี้ยงแขกไม่ได้ในทันที
เมื่อเป็นเช่นนี้จะว่าผู้นั้นไม่มีสมบัติบริบูรณ์จริงได้หรือไม่

ม. ไม่ได้ อย่าว่าแต่ผู้มีฐานะเลย แม้แต่ในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ยังต้องเป็นเช่นนั้น
น. ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
คือ พระองค์ย่อมมีความรู้บริบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ว่าความรู้นั้น ๆ หาได้ประจำอยู่กับพระหฤทัยทุกขณะไม่
ต่อเมื่อพระองค์ได้ทรงหยั่งพระหฤทัยส่องลงไปยังเรื่องใด จึงจะทรงรู้เห็นเรื่องนั้นได้ตลอด
ที่พระองค์ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ก็เพราะเมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาศิลปวิทยามามากอย่าง
และได้ทรงศึกษาเรื่อยมาจนจับหลักความจริงของสภาพทั้งหลายได้ ความรู้หลักความจริงนั้นทำให้พระหฤทัยของพระองค์มีความผ่องใสเป็นปกติอยู่ทุกขณะ
เพราะฉะนั้น เมื่อทรงฉายพระหฤทัยส่องไปยังเรื่องใด จึงทรงรู้ทรงเห็นเรื่องนั้นได้ชัดเจนพร้อมทั้งเหตุผล
ด้วยเหตุดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงเป็นสัพพัญญูรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง (สัพพัญญูปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าฉลาดว่า

ป้านุช
11-05-2009, 13:49
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน มีกิจใดซึ่งยากสำหรับอริยบุคคลอื่น แต่พระพุทธเจ้าสามารถกระทำได้
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร
พระพุทธองค์ทรงสามารถกำหนดแยกสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในพระหฤทัยขณะหนึ่ง ๆ ได้ว่าประกอบด้วยผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ

ม. พระคุณเจ้าจงเปรียบให้ฟัง
น. เหมือนวักน้ำขึ้นมา แล้วแยกว่าส่วนไหนของน้ำมาจากแม่น้ำสายไหน นี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ทั่วไปหรือ

ม. นั่นเป็นสิ่งที่ยากจะกระทำได้
น. ขอถวายพระพร เป็นเช่นนั้น
แต่เหตุที่พระพุทธองค์ทรงสามารถกำหนดแยกองค์ประกอบของจิตที่ดำเนินอยู่ในขณะหนึ่ง ๆ ได้เช่นนั้น
ก็เพราะพระองค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ทรงรู้สึกพระองค์อยู่ทุกขณะจิต
เพราะฉะนั้นเมื่อมีอะไรผ่านมาพระองค์จึงทรงกำหนดได้ว่า
นี่เป็นผัสสะ นี่เป็นเวทนา นี่เป็นสัญญา นี่เป็นเจตนา นี่เป็นวิญญาณ (อรูปววัตตภาวทุกกรปัญหา)

ม. ช่างละเอียดแท้

ป้านุช
13-05-2009, 13:28
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระคุณเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ไม่ได้เห็น

ม. อาจารย์ของพระคุณเจ้าเล่า ได้เห็นหรือไม่
น. อาจารย์ของข้าพเจ้าก็ไม่ได้เห็นเช่นเดียวกัน

ม. ถ้าเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่มี
น. อาตมภาพขอทูลถามว่า พระองค์เคยทอดพระเนตรเห็นปฐมกษัตริย์ของพระองค์หรือไม่

ม. ไม่เคยเห็น
น. บรรดาข้าราชบริพารของพระองค์ เคยเห็นหรือไม่

ม. ไม่เคยเห็นเหมือนกัน
น. ถ้าอย่างนั้น ปฐมกษัตริย์ของพระองค์ก็ไม่มี

ม. มีสิพระคุณเจ้า เพราะมีเครื่องราชูปโภค คือ เศวตฉัตร พระมหามงกุฎ ฉลองพระบาท วาลวิชนี พระขรรค์แก้ว ปรากฏเป็นพยานอยู่ในปัจจุบัน
น. ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธเจ้ามีจริงเพราะยังมีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นพยานปรากฏอยู่
ขอถวายพระพร ธรรมอันวิเศษ ๓๗ ประการ (ได้แก่ ปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, สติปัฏฐาน ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕,โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘)
ทำให้อนุมานได้ว่า พระพุทธเจ้ามีจริงและเป็นผู้ทรงปัญญาหาที่เปรียบมิได้

ม. พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างมาเปรียบให้ฟัง
น. เหมือนนายช่างก่อสร้างผู้ชำนาญย่อมวางผังพระนครให้มีถนนหนทาง ร้านรวงและโรงมหรสพ
ตลอดจนที่อยู่อาศัยให้ชาวพระนครได้รับความสะดวกสบายและสันติสุขฉันใด
พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น ด้วยทรงสร้างธรรมนครนี้มีศีลเป็นกำแพง มีหิริเป็นคู มีญาณเป็นซุ้มประตู
มีวิริยะเป็นหอรบ มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด มีสติเป็นนายทวาร มีปัญญาเป็นปราสาท มีพระสุตตันตปิฎกเป็นท้องสนาม
มีพระอภิธรรมปิฎกเป็นถนนสามแพร่ง มีพระวินัยปิฎกเป็นศาล มีสติปัฏฐานเป็นถนน ๔ สาย

ขอถวายพระพร บนถนน ๔ สายนั้น พระพุทธเจ้าเปิดร้านขายของต่าง ๆ
โดยมีสัญญา ๑๐ เป็นร้านดอกไม้
มีศีลเป็นร้านของหอม
มีพระอริยผลทั้งหลาย (ได้แก่ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล) เป็นร้านผลไม้
มีพระอริยสัจ ๔ เป็นร้านยาถอนพิษ
มีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นร้านยาแก้โรค
มีกายคตาสติเป็นร้านขายน้ำอมฤต
มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ปฏิสัมภิทา และโพชฌงค์ประกอบขึ้นเป็นร้านเครื่องแก้ว
และมีนวังคสัตถุสาสน์ (พุทธพจน์ซึ่งมีองค์ประกอบ ๙ ประการ) เป็นร้านขายของชำ

ขอถวายพระพร ผู้ปรารถนาสมบัติในร้านขายของเหล่านี้ ต้องซื้อเอาด้วยความเพียรในการรักษาศีล เจริญสมาธิ อบรมให้เกิดปัญญา
โดยชาวธรรมนครนั้น ได้แก่ บรรดาผู้ทรงพระไตรปิฎก ผู้อบรมศีล สมาธิ ปัญญา ผู้สมาทานธุดงค์ และผู้บรรลุมรรคผลนิพพาน

ขอถวายพระพร ในธรรมนครนี้
มีเสนาบดีคือผู้ทรงไว้ซึ่งญาณอันประเสริฐ
มีปุโรหิตคือผู้ทรงฤทธิ์ซึ่งบรรลุปฏิสัมภิทา
มีผู้พิพากษาคือผู้ปรารถนาน้อย วางอารมณ์ในธุดงคคุณ
มีผู้จุดพระนครให้สว่างไสวคือผู้ได้ทิพยจักษุ
มีผู้รักษาพระนครคือพหูสูตรซึ่งทรงนวังคสัตถุสาสน์
มีผู้จัดระเบียบพระนครคือผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย
มีผู้ดูแลพระนครคือผู้ทรงความเพียรขวนขวายแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุข
มีเศรษฐีคือผู้มั่งคั่งด้วยพระธรรม
มีราชบัณฑิตคือผู้รู้แจ้งแทงตลอดในอรรถธรรม
มีนักดื่มคือผู้ลิ้มรสแห่งพระสัทธรรม

ขอถวายพระพร เมื่อธรรมนครวิจิตรโอฬารเช่นนี้ ก็อนุมานได้ว่า นอกจากพระพุทธเจ้าแล้วจะเป็นบุคคลอื่นใดสร้างไว้ไม่ได้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้สร้างธรรมนครจึงมีอยู่จริง (อนุมานปัญหา)


ม.พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
15-05-2009, 18:38
ทางไปสู่อริยมรรค

๑. นักบวชและการบวช

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน การบวชของพระคุณเจ้ามีประโยชน์อย่างไร และมีอะไรเป็นคุณซึ่งพระคุณเจ้าต้องประสงค์อย่างยิ่ง
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร การบวชมีประโยชน์ที่จะได้รู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะดับความทุกข์ที่มีอยู่ได้ และจะไม่ให้ความทุกข์อย่างอื่นเกิดขึ้นอีก
ส่วนคุณซึ่งอาตมภาพต้องประสงค์อย่างยิ่ง ได้แก่ อนุปาทิเสสนิพพาน (การดับจนสิ้นเชื้อ)

ม. บรรดานักบวชมุ่งประโยชน์อย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้นหรือ
น. หามิได้ บางพวกบวชเพื่อจะหนีพระเจ้าแผ่นดินหรือหนีโจร บางพวกบวชตามพระราชานุมัติ บางพวกบวชแก้บน บางพวกบวชหวังผลคือลาภยศ
บางพวกบวชเพราะกลัวภัย แต่บางพวกที่บวชด้วยมุ่งประโยชน์ที่อาตมภาพกล่าวเบื้องต้น ถือเป็นพวกที่บวชดี

ม. ตัวพระคุณเจ้าบวชด้วยมุ่งประโยชน์เช่นว่ามาแต่ต้นหรือ
น. ขอถวายพระพร อาตมภาพบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ไม่ทราบว่าการบวชเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างนั้น
เป็นแต่คิดจะศึกษาตามพระสมณศากยบุตรผู้ทรงปัญญา แต่เมื่อได้เล่าเรียนศึกษาตามท่านต่อมา
จึงทราบว่าการบวชนี้มีประโยชน์อย่างนั้น (ปัพพชาปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ฉลาดจริง

ป้านุช
15-05-2009, 18:48
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์มีอยู่ว่า ฆราวาสก็ดี บรรพชิตก็ดี เมื่อหมั่นปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วย่อมบรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน ใช่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังที่พระองค์ตรัสนั้น

ม. ถ้าอย่างนั้นพวกพระคุณเจ้าจะต้องบวชทำไม ลำบากเปล่า ๆ ต้องโกนผมโกนหนวด ต้องสำรวมกายวาจาใจ เป็นฆราวาสมีความสะดวกสบายหลายประการ
ครั้นเมื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็สามารถบรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ถือเพศฆราวาสจะมิดีกว่าหรือ
น. ขอถวายพระพร เพศบรรพชิตนั้นเป็นหนทางจะให้บรรลุมรรคผลได้เร็วกว่า เพราะบรรพชิตไม่มีสิ่งบำเรอความสุขมาหน่วงเหนี่ยวให้อาลัย
จึงมักน้อยสันโดษยินดีในที่สงบเงียบ สามารถตัดความกังวลทั้งหลายเสียได้ มีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม อบรมกายวาจาใจของตน
หาโอกาสกระทำศีล สมาธิ ปัญญาให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ เพศบรรพชิตจึงทรงคุณวิเศษกว่าเพศฆราวาสทุกประการ (คิหิปัพพชิตปฏิปันนวัณณนปัญหา)

ม. เอาเถอะ ถ้าเพศบรรพชิตมีประโยชน์เช่นนั้น จะต้องรีบบวชไปทำไม เพราะพระคุณเจ้าเองเคยบอกว่า การบวชมีประโยชน์ที่จะได้รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ที่มีอยู่ได้
และทำอย่างไรจะมิให้ทุกข์อื่นเกิดขึ้น ดังนั้นจะรอเวลาให้เกิดทุกข์แล้วจึงบวชมิได้หรือ
น. ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์กระหายน้ำขึ้นเมื่อใด จึงดำรัสให้ขุดสระเมื่อนั้นหรือ หรือว่าสงครามเกิดขึ้นเมื่อใด พระองค์จึงตรัสให้สร้างป้อมปราการและให้ทหารหัดเพลงอาวุธในเวลานั้นหรือ

ม. ต้องจัดทำไว้ก่อนสิพระคุณเจ้า รอไว้จนเวลาจำเป็นเช่นนั้นแล้วจะทำให้ทันความประสงค์ได้อย่างไร
น. เช่นกันหากรอเวลาให้ทุกข์เกิดย่อมหาโอกาสดับทุกข์ได้ยาก หรือหากทำได้ก็ไม่ได้รับผลเท่าที่ปรารถนา
แต่ถ้าจัดเตรียมไว้ก่อนถึงคราวเกิดทุกข์ก็สามารถกำจัดทุกข์ลงได้สมความมุ่งหมาย อาตมภาพเองต้องพยายามฝึกหัดกายวาจาใจไว้ให้มีกำลังพอ
เมื่อถึงคราวเจ็บไข้ได้ทุกข์ จะได้ใช้สิ่งที่เตรียมไว้ออกผจญ ถ้ามิได้เตรียมไว้ก่อนความทุกข์ก็จะได้เปรียบจนสามารถครอบงำจิตได้เรื่อย ๆ ไป
ดังพระพุทธดำรัสความว่า เมื่อรู้ว่ากิจใดจะทำให้พ้นจากทุกข์ได้ ก็พึงรีบพยายามทำกิจนั้นเสียให้สำเร็จ เพราะรู้ไม่ได้ว่าเราจะตายลงเมื่อใด (ปฏิกัจเจววายามกรณปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
22-05-2009, 23:38
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน นักบวชอย่างพวกพระคุณเจ้ามีความรักใคร่ร่างกายอยู่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ไม่มีแล้ว

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดเหล่านักบวชจึงยังทำนุบำรุงร่างกายอยู่อีกเล่า
น. อาตมภาพขอทูลถามพระองค์บ้างว่า เมื่อพระองค์เสด็จไปงานพระราชสงคราม เคยถูกอาวุธของข้าศึกบ้างหรือไม่

ม. ก็เคยถูกอยู่บ้าง
น. บาดแผลที่ต้องอาวุธนั้น ทรงพอกยา ทรงทาน้ำมัน ทรงพันด้วยผ้าเนื้อละเอียดไว้มิใช่หรือ

ม. ก็ต้องทำอย่างนั้นสิพระคุณเจ้า
น. บาดแผลนั้นเป็นที่รักของพระองค์นักหรือ จึงได้ทรงประคบประหงมถึงเช่นนั้น

ม. หามิได้แต่ที่ต้องทำเช่นนั้น ก็เพื่อรักษาแผลและเรียกเนื้อให้เต็มเท่านั้น
น. ขอถวายพระพร เหล่านักบวชก็มิได้อาลัยบาดแผล แต่ที่ยังทำนุบำรุงร่างกายอยู่นั้น
ก็เพื่อจะเอาไว้อาศัยบำเพ็ญกิจที่เป็นประโยชน์สุขของตนและของผู้อื่นให้บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเท่านั้น (กายอัปปิยปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
22-05-2009, 23:40
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พุทธดำรัสมีไว้ว่า เมื่อเห็นพระธรรมย่อมเห็นพระพุทธเจ้า
ก็ตัวพระคุณเจ้าเล่า เห็นพระธรรมแล้วหรือยัง
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร อันสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมประพฤติปฏิบัติตามแนวคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นลำดับ ๆ ไป(ธัมมทิฏฐปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าฉลาดว่า

ป้านุช
22-05-2009, 23:47
๒. โพชฌงค์ ๗

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้พระอริยมรรคอริยผลมีเท่าไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร มี ๗ องคคุณ ได้แก่
๑) สติ ๒) ธัมมวิจัย
๓) วิริยะ ๔) ปีติ
๕) ปัสสัททิ ๖) สมาธิ
๗) อุเบกขา หรือที่รวมเรียกว่า โพชฌงค์ ๗

ม. พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ได้ด้วยองคคุณทั้ง ๗ นั้น หรือว่าเฉพาะแต่องค์ใดองค์หนึ่ง
น. ถ้าว่าเฉพาะองค์ที่สำคัญก็เพียงองค์เดียว ได้แก่ธัมมวิจัยหรือความสอดส่องธรรม

ม. ถ้าเป็นเช่นนั้น ไฉนทีแรกพระคุณเจ้าจึงว่ามีถึง ๗ เล่า
น. ขอถวายพระพร ดาบเมื่อยังไม่ถอนออกจากฝักฟันไม้จะขาดหรือไม่

ม. ฟันไม่ขาด
น. ฉันใดก็ฉันนั้น ธัมมวิจัยเหมือนตัวดาบ องคคุณอีก ๖ นั้นเปรียบเหมือนฝักดาบ
การจะได้อริยมรรคอริยผลต้องอาศัยธรรมวิจัยเป็นเครื่องตัดทอนกิเลสที่ขวางอยู่ระหว่างทางให้ขาดออกไปเป็นชั้น ๆ
ส่วนองคคุณอีก ๖ นั้น หาได้มีไว้สำหรับตัดกิเลสโดยตรงไม่ หากเป็นแต่คอยส่งเสริมธัมมวิจัยให้คมยิ่งขึ้นเท่านั้น
ขอถวายพระพร เพราะเหตุนี้โพชฌงค์จึงมีองค์ ๗ (สัตตโพชฌงคปัญหา)

ม.เข้าใจละพระคุณเจ้า

ป้านุช
23-05-2009, 23:26
๓. โยนิโสมนสิการและปัญญา

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ที่จักไม่กลับมาเกิดอีกเป็นเพราะโยนิโสมนสิการใช่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นเพราะโยนิโสมนสิการด้วย เพราะปัญญาด้วย และเพราะกุศลกรรมเหล่าอื่นด้วย

ม.โยนิโสมนสิการก็คือปัญญามิใช่หรือ
น. มิใช่อย่างนั้น ในที่นี้โยนิโสมนสิการได้แก่ความนึกชอบปัญญา ได้แก่ความรู้ ความต่างกันนี้พึงเห็นได้จากสัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายย่อมนึกถึงสิ่งที่ดีชอบได้
แต่หารอบรู้เหตุผลแห่งความดีชอบนั้น ๆ ไม่(มนสิการปัญหา)

ม. ลักษณะแห่งโยนิโสมนสิการมีอย่างไร ลักษณะแห่งปัญญามีอย่างไร
น. โยนิโสมนสิการมีลักษณะยกขึ้น ปัญญามีลักษณะตัด อุปมาดั่งชาวนาเกี่ยวข้าวโดยเอามือขวาจับเคียวตะล่อมข้าว
เอามือซ้ายจับกำข้าวขึ้น แล้วก็ตัดกำข้าวด้วยเคียวนั้น(มนสิการลักขณปัญหา)
อย่างไรก็ตาม ธรรมทั้งหลายก็มีละเอียดยิ่งและหย่อนกว่าก็ตัดด้วยปัญญาที่เพลาลงมา (สุขุมัจเฉทนปัญหา)
นอกจากปัญญาจะลักษณะตัดดังที่อาตมภาพได้ถวายวิสัชนาแล้ว ปัญญายังมีลักษณะส่องให้สว่างด้วย

ม. ส่องให้สว่างนั้นอย่างไร พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบ
น.เหมือนคนถือโคมไฟไปในที่มืด ทันทีนั้นความมืดย่อมหายไปเกิดความสว่างขึ้นแทน
ปัญญาก็ฉันนั้นเมื่อเกิดขึ้นย่อมกำจัดความโง่เขลาซึ่งเปรียบเหมือนความมืด ทำความสว่างคือความรู้ให้เกิด
ส่องแสงสว่างคือ ทำความฉลาดให้ปรากฏ(ปัญญาลักขณปัญหา)

ม. เข้าใจล่ะ แต่สงสัยว่าปัญญามีที่อยู่แห่งไหน
น.ขอถวายพระพร ที่อยู่ของปัญญาไม่ปรากฏ

ม. ถ้าเช่นนั้นปัญญาก็ไม่มีสิพระคุณเจ้า
น. ลมมีหรือไม่มี และถ้ามีที่อยู่ของลมคือแห่งไหน

ม. ลมมีแน่ แต่ที่อยู่ของลมไม่ปรากฏ
น. ขอถวายพระพร ปัญญาก็เช่นนั้นแม้มีอยู่แต่ไม่ปรากฏที่อยู่ใด ๆ(ปัญญปติฏฐานปัญหา)

พระคุณเจ้าว่านี้แจ่มแจ้ง

ป้านุช
25-05-2009, 14:23
๔. ศีล ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ที่พระคุณเจ้าว่าผู้ที่จักไม่กลับมาเกิดอีกเป็นเพราะกุศลกรรมเหล่าอื่นด้วยนั้น คือกุศลกรรมเหล่าไหน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร กุศลกรรมเหล่านั้น ได้แก่ ศีล ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

ม. ศีลมีลักษณะเช่นใด
น. ศีลเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งคุณธรรม เป็นที่เพาะปลูกคุณงามความดีอื่น ๆ อุปมาดังแผ่นดินที่ชาวสวนอาศัยปลูกดอกไม้ต้นไม้นานาพันธุ์
ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้จะอบรมคุณงามความดีอย่างอื่น จำป็นต้องรักษาศีลให้เป็นพื้น เพื่อคุณธรรมต่าง ๆ เหล่านั้นจะงอกงามและประทับอยู่มั่นคงได้

ม. ศรัทธาเล่ามีลักษณะอย่างไร
น. ศรัทธามีลักษณะทำให้จิตผ่องใส เนื่องจากเมื่อเกิดขึ้นย่อมขจัดนิวรณ์ เมื่อนิวรณ์หมดไปจากจิต จิตก็ย่อมผ่องใส

ม. พระคุณเจ้าจงเปรียบให้ฟัง
น. อุปมาดังแก้วมณีวิเศษ เมื่อแช่ในน้ำขุ่นก็ทำให้ใสลงได้ เมื่อแช่ในแม่น้ำก็ทำให้จอกแหนหลีกออกไปได้
ศรัทธาเหมือนแก้วมณีนั้น นิวรณ์เหมือนจอกแหนและตมในน้ำ ขอถวายพระพร นอกจากนั้น ศรัทธายังมีลักษณะจูงใจ

ม. ลักษณะจูงใจนั้นเป็นอย่างไรจงเปรียบให้ฟัง
น. อุปมาดังคนที่ไม่กล้าข้ามแม่น้ำ เพราะไม่รู้ว่าแม่น้ำนั้นตื้นลึกเพียงใด ต่อเมื่อเห็นผู้หาญกล้าข้ามไปก่อน
จึงกล้าข้ามตามไป ขอถวายพระพร ศรัทธาคือการนำเอาปฏิปทาของผู้อื่นมาเป็นทางดำเนินของตน
แม้จะยากลำบากเพียงไหน ก็ยังจูงใจให้วิริยะพยายาม(ศรัทธาลักขณปัญหา)

ม. ก็วิริยะเล่ามีลักษณะอย่างไร
น. ขอถวายพระพร มีลักษณะค้ำจุนไว้

ม. ค้ำจุนอะไร
น. ค้ำจุนความดีงามทั้งหลายมิให้เสื่อมทราม อุปมาดังเรือนที่ซวนเซจะล้ม เมื่อเอาไม้ค้ำไว้ก็ล้มไม่ได้ ( วิริยลักขณปัญหา)

ม. สติเล่ามีลักษณะอย่างไร
น. มีลักษณะให้นึกได้และถือไว้

ม. ให้นึกได้อย่างไรพระคุณเจ้า จงหาตัวอย่างมาเปรียบ
น. เมื่อสติเกิดขึ้นย่อมทำให้นึกได้ถึงกุศลและอกุศลธรรม ตลอดจนลักษณะและผลของธรรมเหล่านี้
เหมือนเจ้าพนักงานคลังทำบัญชีพระราชทรัพย์ถวายพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นเหตุให้พระองค์ระลึกได้ถึงพระราชสมบัติเหล่านั้น ตลอดจนบุญบารมีที่สั่งสมมา

ม. ที่ว่าสติมีลักษณะถือไว้นั้นเป็นอย่างไร
น. สติเมื่อเกิด ย่อมให้เลือกถือเอาไว้ว่านี่มีคุณควรประพฤติ นี่มีโทษควรละ อุปมาดังนายทวารซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราคนเข้าออก
ถ้าเห็นพิรุธก็ห้ามมิให้เข้า ถ้าเห็นสมควรก็อนุญาตให้เข้า ฉันใดก็ฉันนั้น สติย่อมกีดกันอกุศลธรรมมิให้เข้ามาประจำใจ
และเลือกเฟ้นแต่กุศลธรรมให้กระทำไว้ในใจ (สติลักขณปัญญา)

ม. ส่วนสมาธิเล่ามีลักษณะอย่างไร
น. มีลักษณะเป็นประธานให้กุศลธรรมทั้งหลายประจำอยู่และพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปได้
อุปมาดังพระมหากษัตริย์ เป็นประธานบัญชาการให้เหล่าเสนาบดีประกอบกิจการต่าง ๆ ให้ลุล่วงลง (สมาธิลักขณปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าช่างสามารถจริง

ป้านุช
31-05-2009, 00:04
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน อะไรเป็นผู้นึก ผู้จำกิจการที่ได้ทำ หรือคำที่ได้พูดไว้ให้อยู่คงนานได้
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร สติ

ม. มิใช่จิตหรือพระคุณเจ้า
น. หากยังสงสัย ขอพระองค์ตั้งพระราชหฤทัยนึกถึงพระราชกรณียกิจ ซึ่งได้ทรงไว้นานมาจนจำไม่ได้แล้ว เพื่อทดลองดูว่าจะทรงนึกขึ้นได้หรือไม่

ม. เมื่อนานจนจำไม่ได้แล้ว จะนึกขึ้นได้อย่างไรเล่าพระคุณเจ้า
น. ก็ในขณะทดลองนี้ พระองค์ไม่มีพระหฤทัยซึ่งเป็นจิตใจหรือ

ม. มีสิพระคุณเจ้า
น. ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้ อาตมภาพจึงทูลว่าสติเป็นผู้นึก ผู้จำ ผู้สาวเอากิจการที่ล่วงมาแล้วให้ปรากฏขึ้นได้ (จิรกตสรณปัญหา)

ม. สตินั้นเกิดขึ้นเองหรือเกิดขึ้นต่อเมื่อมีคนเตือน
น. เกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง (สติอิชานนปัญหา) หรือหากแจกแจงโดยพิสดาร สติเกิดขึ้นได้โดยอาการ ๑๗ ได้แก่
๑. เกิดจากความรู้
๒. เกิดจากการทำเครื่องหมายไว้
๓. เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสถานะ ซึ่งทำให้ระลึกถึงสถานะเดิม
๔. เกิดจากการได้รับความสุข ซึ่งทำให้นึกไต่สวนเหตุที่มา
๕. เกิดจากการได้รับความทุกข์ ซึ่งทำให้นึกไต่สวนเหตุที่มา
๖. เกิดจากการเห็นสิ่งที่คล้ายแล้วเตือนให้จำ หรือระลึกถึงอีกสิ่งหนึ่งได้
๗. เกิดจากการรู้เห็นสิ่งตรงข้าม
๘. เกิดจากการได้รับคำตักเตือน
๙. เกิดจากตำหนิในลักษณะ
๑๐.เกิดจากการนึกขึ้นได้โดยธรรมดา
๑๑.เกิดจากการกำหนดจำธรรมดา
๑๒.เกิดจากการพินิจพิเคราะห์
๑๓.เกิดจากการนับจำนวนไว้
๑๔.เกิดจากการอบรมสติ
๑๕.เกิดจากการบันทึก
๑๖.เกิดจากการเก็บไว้
๑๗.เกิดจากการได้ประสบสิ่งที่เคยประสบพบเห็น(สติอาการปัญหา)

ม. ช่างมากอย่างพิสดาร

ป้านุช
31-05-2009, 00:11
๕. อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท)

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระคุณเจ้าพยายามฝึกฝนตนด้วยประสงค์จะละทุกข์ที่ล่วงมาแล้ว หรือทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง หรือทุกข์ที่มีอยู่ในบัดนี้
พระนาคเสนตอบว่า ขอถวายพระพร หามิได้ อาตมภาพพยายามฝึกฝนตนเพื่อดับทุกข์ที่มีอยู่และเพื่อมิให้ทุกข์ซึ่งยังมาไม่ถึงเกิดขึ้น

ม. พระคุณเจ้าจะพยายามมิให้ทุกข์ซึ่งยังมาไม่ถึงเกิดขึ้นได้ทำไม
น. ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์ถูกราชศัตรูยกพลมาเพื่อจะชิงเอาพระนคร พระองค์จึงตรัสสั่งให้ลงมือขุดคู สร้างป้อมปราการ และฝึกทหารซ้อมเพลงอาวุธอย่างนั้นหรือ

ม. หามิได้ กิจการเหล่านี้ต้องเตรียมไว้ก่อน หากรอทำเมื่อศึกสงครามมาถึงตัว ไม่เพียงจะทำได้ยากเพราะฉุกละหุก หากเมื่อได้ทำก็ยังมีโอกาสสูงที่จะเพลี่ยงพล้ำแก่ข้าศึกเพราะการเตรียมการณ์ไม่ดีพอ ดังนั้น การจัดเตรียมกำลังไว้ก่อนในยามปกติ ย่อมกระทำได้ดีกว่า อีกทั้งยังเป็นที่เกรงขามของข้าศึกซึ่งยังมาไม่ถึงด้วย
น. ฉันใดก็ฉันนั้น การที่อาตมภาพเพียรฝึกฝนกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในความควบคุมของจิตที่อบรมดีแล้ว ก็เพื่อปราบทุกข์ที่มีอยู่ในบัดนี้ เพื่อไว้ต่อสู้หรือป้องกันทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง
ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ใจก็จะมีแต่ความอ่อนแอเป็นปกติ ถึงคราวเกิดทุกข์ก็จะเตรียมตัวไม่ทัน มีกำลังไม่พอจะต้านทาน ต้องยอมเป็นเชลยแห่งความทุกข์เรื่อยไป
ด้วยเหตุนี้อาตมภาพจึงต้องพยายามฝึกฝนตนไว้ก่อน(อนาคตปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
02-06-2009, 11:57
แก้ข้อสงสัยที่อาจมีต่อพุทธประวัติและพระธรรมวินัย

๑.พระวินัยและพุทธบัญญัติ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าย่อมทรงรู้เห็นสิ่งทั้งปวงจนหมดสิ้นมิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ถูกแล้ว

ม. ถ้าเป็นเช่นนั้น เหตุไฉนพระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภายหลังเหตุการณ์ที่สาวกทำให้เกิดขึ้นเล่า
น. อาตมภาพขอทูลถามพระองค์ว่า ธรรมดาแพทย์ผู้ชำนาญย่อมรู้สรรพคุณแห่งตัวยาจนหมดสิ้นมิใช่หรือ

ม. ใช่สิพระคุณเจ้า
น. ขอถวายพระพร แพทย์ผู้นั้นวางยาก็ต่อเมื่อมีโรคหรืออาการของโรคขึ้น หรือว่าวางยาตามปกติ ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีโรคภัยอะไรเกิดขึ้น

ม. ยามปกติ แพทย์จะวางยาไปทำไมเล่า เพราะการวางยาในเวลานั้นอาจให้โทษแก่ร่างกายได้ แต่ถ้าถึงคราวเจ็บไข้ การวางยาเป็นสิ่งจำเป็น
เพราะถ้าทอดทิ้งโรคนั้นจะกำเริบขึ้นทุกทีจนยากจะรักษาให้หายได้
น. ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าผู้ทรงทราบเหตุการณ์ทั้งปวง ก็เป็นเช่นเดียวกับแพทย์ผู้ชำนาญ การที่พระองค์ไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทล่วงหน้าไว้ให้ครบถ้วนเสียคราวเดียวนั้น
ก็เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า ถ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ครบถ้วนทั้งหมด ก็อาจเป็นข้อหยุมหยิมของผู้แรกเข้ามาบวชจนอาจให้เกิดความระอาใจได้
เนื่องด้วยทรงมีพระหฤทัยอนุเคราะห์อยู่เช่นนี้ จึงทรงรอไว้ต่อเมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นก่อน แล้วจึงบัญญัติสิกขาบทห้ามมิให้สาวกล่วงละเมิดต่อไปเป็นข้อ ๆ
ในเรื่องที่ทรงเห็นว่า หากไม่ห้ามจะนำความเสื่อมเสียมายังหมู่คณะ(สัมปัตตกาลปัญหาและสิกขาปทอปัญญาปนปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
08-06-2009, 14:25
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน การกล่าวเท็จพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เป็นอาบัติ เบาก็มี หนักก็มี นั่นเป็นเพราะอะไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจตนา ความพยายาม และวัตถุที่ล่วงละเมิดมากน้อยต่างกัน
ถ้าเหตุทั้ง ๓ มาก ก็อาบัติหนัก ถ้าน้อย ก็อาบัติเบา (มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา)

ม. ส่วนผู้ที่ต้องอาบัติปราชิกโดยไม่รู้สึก แต่ภายหลังมาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะได้บรรลุมรรคผลหรือไม่
น. ขอถวายพระพร ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะผู้นั้นได้เพิกถอนเหตุที่จะบรรลุมรรคผลแล้ว

ม. พระคุณเจ้าเคยว่า ผู้รู้ว่าตนผิดย่อมมีจิตฟุ้งซ่าน ทำให้ไม่สามารถตั้งใจมั่นได้ ส่วนผู้ไม่รู้ก็ไม่น่าจะฟุ้งซ่าน
ดังนั้น ถ้าเขาผู้นั้นตั้งใจมั่นกับการปฏิบัติชอบ ก็น่าจะบรรลุมรรคผลได้ในที่สุด
น. ขอถวายพระพร พืชพันธุ์ที่บุคคลหว่านลงพื้นดินอันอุดมย่อมงอกงามขึ้นดีอยู่ แต่ถ้าหว่านพืชพันธุ์นั้นลงบนพื้นหิน พืชนั้นจะขึ้นหรือไม่

ม. จะขึ้นได้อย่างไรเล่า ก็หินไม่มีอาหารสำหรับเลี้ยงพืชพันธุ์นั้นให้งอกงามได้
น. ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ต้องอาบัติปราชิกก็เท่ากับสิ้นอาหารที่จะเลี้ยงมรรคผลให้เกิดขึ้น

ม. ไม่น่าจะใช่เช่นนั้น หากบุคคลผู้ต้องอาบัติปราชิกไม่สิ้นความพยายาม
น. ขอถวายพระพร ผู้ที่กลืนยาพิษโดยไม่รู้ จะตายหรือไม่

ม. ย่อมตายสิพระคุณเจ้า
น. การต้องอาบัติปราชิกก็เช่นกัน แม้ไม่รู้ตัว แต่โทษนั้นสาหัสถึงขั้นทำให้มิได้มรรคผล (อภิสมยันตรายกราชปัญหา)

ม. เข้าใจละ

ป้านุช
08-06-2009, 14:29
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสห้ามมิให้พระภิกษุกระทำอัตวินิบาต (การฆ่าตัวตาย) มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ตรัสดังนั้นจริง

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดจึงทรงแสดงธรรมเพื่อตัดความเกิด ความแก่ ความตายเล่า
น. ขอถวายพระพร เพราะมีเหตุผลต่างกัน คือที่บัญญัติห้ามพระภิกษุกระทำอัตวินิบาตกรรมนั้น ก็ด้วยทรงประสงค์จะอนุเคราะห์หมู่ชนมิให้ขาดแคลนพระสงฆ์อันเป็นเนื้อนาบุญของสัตว์โลก ส่วนที่ทรงแสดงธรรมเพื่อตัดความเกิด ความแก่ ความตาย ก็เพราะทรงเห็นว่าความเกิดเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ ความโศก ความรำพันร่ำไร เมื่อตัดความเกิดอันเป็นต้นเหตุเสียได้แล้ว ก็ชื่อว่าได้กำจัดความทุกข์ทั้งหลายเสียสิ้น จะประสบก็แต่ความสุขยิ่งเท่านั้น
ขอถวายพระพร เพราะมีเหตุมีผลต่างกันอยู่เช่นนี้ (อัตตวินิปาตนปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
08-06-2009, 14:35
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน คนบวชแล้วสึกไม่น่าให้บวชในพระศาสนา ด้วยทำให้คนทั้งหลายกล่าวหาได้ว่า พระศาสนาหาสาระไม่ได้ คนที่ได้บวชจึงสึก
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร สระมีน้ำอยู่เต็มเปี่ยม เมื่อผู้เปรอะเปื้อนไปถึงสระนั้นแล้ว ไม่ลงอาบน้ำชำระกายเอง คนทั้งหลายควรติเตียนสระหรือติเตียนคนผู้นั้น
ม. จะติเตียนสระได้หรือพระคุณเจ้า ต้องติเตียนคนผู้ไม่ลงอาบชำระร่างกายนั้นสิ
น. ฉันใดก็ฉันนั้น สระเปรียบเหมือนพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงขุดไว้ให้ผู้เปื้อนด้วยกิเลสได้ลงชำระ
ผู้ไปถึงสระแต่มิได้ชำระล้างร่างกายคือผู้ที่บวชแต่มิได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ได้ขัดเกลานิสัยและความประพฤติให้สะอาด
อนึ่ง ยังเป็นการดีเสียอีกที่คนบวชแล้วแต่เกียจคร้านต่อการศึกษาและอบรมขัดเกลากาย วาจา ใจ จะได้สึกออกไป
ทั้งนี้ เพื่อให้คนทั้งหลายได้เห็นว่าพระศาสนาดำรงอยู่ได้ด้วยคนที่เป็นผู้มั่นคง หนักแน่นและเพียรชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดอยู่เสมอ (หินยานวัตตปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
11-06-2009, 10:31
๒. พุทธดำรัส

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราตถาคตไม่มีใครเป็นครูอาจารย์”มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระพุทธองค์ตรัสดังนั้น

ม. ถ้าอย่างนั้น ไฉนพระองค์จึงตรัสว่า “อาฬารดาบสผู้เป็นอาจารย์ตั้งเราผู้เป็นศิษย์ไว้เสมอด้วยตน”เล่า
น. เพราะอาฬารดาบสเป็นอาจารย์ของพระองค์ เมื่อยังมิได้ตรัสรู้และศึกษาอยู่ ณ สำนักของดาบสนั้น
และหากจะว่าถึงพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็มีอยู่มากรายเช่น พราหมณ์สัพพมิต ผู้ซึ่งพระชนกทรงฝากให้ศึกษาวิชาเบื้องต้น
อุทกดาบสผู้เป็นอาจารย์พระพุทธองค์ก่อนอาฬารดาบส เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาจารย์เหล่านี้เป็นแต่สอนวิชาทางโลก
หรือหากเป็นวิชาทางธรรมก็เป็นแต่ชั้นโลกียะเท่านั้น หาได้สอนถึงธรรมส่วนโลกุตตระด้วยไม่
ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้โลกุตตระธรรม จึงดำรัสว่า “เราตถาคตไม่มีใครเป็นครูอาจารย์” (พุทธอาจริยานาจริยปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
11-06-2009, 10:35
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราตถาคตเป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น” มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นเช่นนั้น

ม. ถ้าเช่นนั้นจะมิแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ว่า “เราตถาคตได้เห็นมรรคของเก่า ทางของเก่าอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนเสด็จดำเนินมาแล้ว” หรือ
น. ขอถวายพระพร ไม่แย้ง เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนปรินิพพานไปแล้ว ศาสนาก็เสื่อมสูญไป ไม่มีใครสั่งสอนหรือปฏิบัติอีก
จนกระทั่งพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงอุบัติขึ้น อุปมาดังเช่นหนทางที่เคยกรุยและปราบเรียบแต่ต่อมากลับรกเรื้อเดินไม่ได้
ภายหลังมีผู้มาทำให้เตียน ให้เดินได้อีก ฉะนั้น

ม. พระคุณเจ้าฉลาดว่า

ป้านุช
11-06-2009, 10:38
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราตถาคตไม่มีความโกรธ เป็นผู้ปราศจากโทสะแล้ว”มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ตรัสดังนั้นจริง

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดจึงขับไล่พระภิกษุที่ส่งเสียงอึกทึกซึ่งอยู่ในความดูแลของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเสียเล่า (ดูรายละเอียดใน จาตุมสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก)
น. ที่ทรงทำเช่นนั้น มิใช่จากอำนาจความโกรธ แต่ทรงกระทำตามความผิดของพระภิกษุเหล่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะว่าเป็นความผิดของพระพุทธองค์ได้อย่างไร เหมือนคนเดินพลาดล้มลงกับพื้น จะโทษว่าแผ่นดินโกรธเคืองตนจึงทำให้ล้มได้หรือ

ม. หามิได้ หากเป็นความผิดของคนที่เดินพลาดนั้นเอง
น. ฉันใดก็ฉันนั้น พระองค์มิได้ทรงยินร้ายกับพระภิกษุเหล่านั้น การที่ทรงขับไล่ก็เพราะมีความผิดของท่านเหล่านั้นเป็นเหตุ
และทรงเห็นว่าจะเป็นอุบายให้พระภิกษุเหล่านั้นได้คิด (ภิกขุปณามปัญหา)

ม. ฟังได้ความ

ป้านุช
12-06-2009, 15:31
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “อิทธิบาท ๔ ประการ(คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ตถาคตได้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
และด้วยอานุภาพแห่งการเจริญอิทธิบาทนั้น ถ้าตถาคตประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปตลอดกัปหนึ่ง หรือเกินกว่ากัปขึ้นไป ก็อาจอยู่ต่อได้สมประสงค์”
แต่ไฉนต่อมาพระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ อีกสามเดือนตถาคตจักปรินิพพาน” ความสองตอนนี้ฟังดูไม่สมกัน

พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์ตอนหลังนั้น พระพุทธองค์ตรัสเพื่อทรงกำหนดพระชนมายุซึ่งจะสิ้นสุดลงในขอบเขตที่ทรงทราบ
ส่วนพระพุทธพจน์ตอนต้นนั้น พระองค์ตรัสเพื่อแสดงอานุภาพแห่งการเจริญอิทธิบาท ๔ ว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ม. หากอานุภาพแห่งการเจริญอิทธิบาทอาจต่ออายุให้ยืนยาวได้ เหตุใดพระพุทธองค์ไม่เสด็จดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป มาด่วนนิพพานทำไม

น. หากพระพุทธองค์ประสงค์จะดำรงพระชนม์ให้ยืดยาว ก็อาจกระทำได้ด้วยอานุภาพแห่งการเจริญอิทธิบาท ๔
แต่พระพุทธองค์หามีประสงค์เช่นนั้นไม่ การมีชีวิตยืนยาวมิได้เป็นความปรารถนาของพระองค์ แต่ก็ไม่ถึงกับทรงรังเกียจการมีพระชมน์อยู่ต่อไป
พระหฤทัยมิได้ฝักใฝ่กับการมีพระชนม์อันยืดยาว คติธรรมดาแห่งสังขารมีอยู่อย่างไร ก็ทรงปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น (อิทธิบาทพลสนปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
12-06-2009, 15:34
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ต้นไม้ไม่มีเจตนาจึงเจรจาไม่ได้
แต่เหตุใดจึงตรัส ณ ที่หนึ่งว่าต้นสะคร้อพูดกับพราหมณ์ ฟังดูไม่สมกันเลย

พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ที่ตรัสว่าต้นไม้เจรจาไม่ได้นั้น พระองค์ตรัสตามความเป็นจริง คือต้นไม้ไม่มีจิตใจจึงพูดไม่ได้
ส่วนที่ตรัสถึงต้นสะคร้อพูดกับพราหมณ์นั้น พระองค์ทรงหมายถึงเทวดาผู้ซึ่งสิงอยู่ที่ต้นไม้นั้นเป็นผู้เจรจา แต่ที่ตรัสว่าต้นสะคร้อพูดนั้นก็เพราะตรัสตาม “โลกบัญญัติ”
เหมือนคำที่เรียกว่า เกวียนข้าวเปลือกนั้น ที่จริงเป็นเกวียนบรรทุกข้าวเปลือก หาใช่เกวียนที่ทำจากข้าวเปลือกไม่ (รุกขเจตนาเจตนปัญหา)

ม. เข้าใจล่ะ

ป้านุช
14-06-2009, 23:51
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตว์ทุกจำพวกย่อมต้องสะดุ้งต่ออาชญา ย่อมกลัวต่อความตาย
แต่ไฉนจึงตรัสอีกที่ว่า พระอรหันต์ย่อมไม่กลัวต่อภัยอันตรายอะไร ถ้าตรัสไว้จริงทั้งสองประการ จะมิค้านกันหรือ

พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะพระอรหันต์ท่านตัดรากแห่งความสะดุ้ง ความหวาดกลัวได้เด็ดขาดแล้ว
อุปมาเช่นเวลาที่พระมหากษัตริย์ตรัสให้ประชาชนทั้งหลายกระทำพลี ทรงมิได้หมายรวมถึงอำมาตย์และขุนนางที่ทรงแต่งตั้งให้ควบคุมพลีกรรมนั้น

ม. ข้อนี้พอเข้าใจละ แต่มานึกสงสัยว่า สัตว์นรกซึ่งทนทุกขเวทนาอยู่ทุกขณะ จะอยากตายให้พ้นทุกข์หรือว่าจะกลัวความตายเหมือนกับสัตว์จำพวกอื่นหรือ

น. ขอถวายพระพร แม้สัตว์นรกจะระอาต่อความทรมานก็จริง แต่ก็ยังกลัวความตายอยู่นั่นเอง เพราะยังไม่สามารถถอนเหตุปัจจัยแห่งความกลัวได้

ม. พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างให้ฟัง

น. คนเป็นฝีเดินโขยกเขยกเพราะเจ็บ เกิดความระอาใจจึงเรียกหมอมารักษา ครั้นเห็นหมอถือมีดและเหล็กนาบสุมไฟจนแดงมา เขาจะหวาดกลัวต่อการกระทำของหมอหรือไม่

ม. ย่อมหวาดกลัว แม้จะรู้ว่าหมอจะบำบัดโรคนั้นให้หายลง

น. ฉันใดก็ฉันนั้น แม้จะมีความปรารถนาจะไปให้พ้นจากนรก แต่สัตว์นรกก็ยังคงหวาดกลัวต่อความตาย
ดังเช่นคำพระพุทธองค์ว่าสัตว์ทุกจำพวกย่อมสะดุ้งต่ออาชญาและย่อมกลัวต่อความตาย (มัจจุภายนปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
17-06-2009, 01:17
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระอรหันต์ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดกลัวอะไร ใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ตรัสเช่นนั้นจริง

ม.ถ้าเช่นนั้น เมื่อพระเทวทัตมอมเหล้าช้างนาคีรีแล้วปล่อยให้วิ่งเข้าหาพระพุทธเจ้า
เหตุใดพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปจึงพากันทอดทิ้งพระพุทธองค์ไปเสียหมด ปล่อยให้พระอานนท์ออกไปยืนเบื้องพระพักตร์ยอมสละชีวิตถวายแทนเช่นนั้น
น. ขอถวายพระพร พระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ท่านทรงตัดเหตุปัจจัยแห่งความสะดุ้งความหวาดกลัวได้เด็ดขาดแล้ว
อุปมาดังแผ่นดิน แม้ใครจะขุดทำลายก็มิได้สะดุ้งหรือหวาดกลัวต่อการกระทำนั้น ด้วยเหตุนี้ ที่พระอรหันต์ทั้งหลายหลีกไปเสียจากช้างนาฬาคีรีนั้น
มิได้เกิดจากความหวาดกลัว แต่เพราะท่านเหล่านั้นเห็นว่าพระอานนท์จักมีโอกาสแสดงความภักดีในพระพุทธเจ้าให้ปรากฏแก่หมู่ชนในที่นั้น
แล้วหมู่ชนจะได้ฟังพระธรรมเทศนาจนได้บรรลุมรรคผลตามอุปนิสัยสามารถของแต่ละคน (ขีณาสพภายนปัญหา)

ม.พระคุณเจ้าฉลาดว่า

(หมายเหตุ เมื่อช้างนาฬาคีรีวิ่งเข้าหาพระพุทธเจ้านั้น พระอริยสาวกมีพระสารีบุตรเป็นต้น ได้กราบขออนุญาตพระพุทธองค์สกัดช้างนาฬาคีรี แต่พระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสีย
แม้พระอานนท์นั้น พระพุทธองค์ก็ทรงบัญชาให้ถอยหลังหลบมาในที่สุด)

ป้านุช
17-06-2009, 17:28
๓ พุทธประวัติ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าทรงพยายามสร้างสมบารมีมาตลอดกาลเวลาอันยาวนาน
ก็ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะทรงนำหมู่ชนให้พ้นจากสังสารวัฏมิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังเช่นที่พระองค์ตรัส

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดเมื่อทรงตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธองค์จึงทรงน้อมพระหฤทัยไปในความขวนขวายน้อย
กล่าวคือท้อพระหฤทัยที่จะสั่งสอนธรรมที่ตรัสรู้ให้กับชนโดยทั่วไป เสมือนผู้พยายามเรียนธนูเพื่อต่อสู้กับข้าศึก แต่ครั้นเกิดศึกขึ้นจริงใจกลับคิดไม่สู้
น. เป็นเพราะพระพุทธองค์ทรงดำริถึงธรรมที่ได้ตรัสรู้ว่าเป็นของลึกละเอียด
สวนทางกับกิเลสอันเคลือบคลุมบุคคลโดยทั่วไป พระหฤทัยจึงน้อมไปในความขวนขวายน้อย

ม. พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
น. ธรรมดาหมอเมื่อตรวจดูอาการคนไข้ป่วยหนักย่อมรำพึงว่า คนไข้นั้นยากต่อการรักษามิใช่หรือ

ม. เหตุการณ์มักเป็นเช่นนั้น
น. ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธองค์ก็เช่นนายแพทย์ ผู้คนโดยทั่วไปซึ่งหมักหมมด้วยกิเลสเปรียบเหมือนคนไข้อาการสาหัส
เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาธรรมที่ตรัสรู้ว่าเป็นของลึกสุขุม ยากที่ผู้หนาด้วยกิเลสจะเห็นตามรู้ตามได้
ทรงท้อพระหฤทัยในการรักษาผู้คนเหล่านั้นให้หายจากกิเลสได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยทรงมีพรหมวิหารธรรม โดยเฉพาะพระกรุณาธิคุณเป็นที่ตั้ง
จึงทรงกลับพระหฤทัยเพียรสอนผู้คนให้เห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมในการปลดเปลื้องตนออกจากกิเลสต่าง ๆ (ภควโตธัมมเทสนายอัปโปสุกตภาวปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
17-06-2009, 17:36
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ที่พระคุณเจ้าว่าพระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปทางใด แผ่นดินที่ลุ่มก็ฟูขึ้น ที่ดอนก็ยุบลงเรียบราบเสมอกัน ใช่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังที่พระองค์ตรัสนั้น

ม. แต่เหตุไฉนจึงมีเล่าไว้อีกที่ว่า พระบาทของพระพุทธเจ้าถูกสะเก็ดหินกระทบ
น. เป็นเพราะสะเก็ดหินนั้นมิได้ตกลงมาตามธรรมดาของตน หากตกลงมาด้วยความเพียรของพระเทวทัต อย่างไรก็ตาม
หินที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาด้วยความอาฆาตมีขนาดเท่าเรือนยอด โดยหวังจะให้ทับพระพุทธเจ้า แต่แล้วกลับมีภูเขาสองลูกผุดขึ้นรับไว้
ด้วยแรงปะทะของหินกับภูเขาจึงบังเกิดสะเก็ดหินที่กระเด็นไปต้องพระบาทของพระพุทธเจ้าเข้า

ม. ก็เมื่อมีภูเขาสองลูกผุดขึ้นมารับแล้ว ทำไมยังมีสะเก็ดกระเด็นไปถูกได้เล่า
น. แม้เมื่อมีของรองรับ แต่ก็ยังรั่วได้ เหมือนเทน้ำลงฝ่ามือ น้ำย่อมรั่วไหลออกตามนิ้วมือได้ฉะนั้น

ม. เอาเถิด ข้อนี้ข้าพเจ้าเข้าใจ แต่ยังข้องใจว่า เหตุใดสะเก็ดหินจึงไม่ทำความเคารพยำเกรงพระพุทธองค์เหมือนผืนแผ่นดินที่พระคุณเจ้ากล่าวไว้เบื้องต้น
น. ขอถวายพระพร เหตุปัจจัยที่กระทำให้ไม่เกิดความเคารพยำเกรง ได้แก่
๑. อำนาจราคะ
๒. อำนาจโทสะ
๓. อำนาจโมหะ
๔. อำนาจโลภะ
๕. อำนาจพยาบาท
๖. อำนาจมานะ
๗. อำนาจอติมานะ
๘. ความไม่นิยมนับถือ
๙. ความเป็นคนเลวในสันดาน
๑๐.ความไม่มีอิสระแก่ตน
๑๑.ความตระหนี่ตน
๑๒.ความสาละวนแต่การงาน

ขอถวายพระพร สะเก็ดหินชิ้นนั้นกลิ้งลงมาด้วยอำนาจแห่งความพยาบาทของพระเทวทัต
แม้จะแตกออกเพราะกระทบกับภูเขา แต่แรงส่งนั้นยังคงมีอยู่ จึงกระเด็นไปถูกพระบาทพระพุทธเจ้าเข้า
เหมือนละอองฝุ่นอันลมหอบย่อมกระจายไปทั่วทิศฉะนั้น (ภควโตปาทปัปปฏิกปติตปัญหา)

ป้านุช
21-06-2009, 00:10
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน คำที่พระคุณเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าทรงนำมาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่หมู่ชน”นั้น จริงเสมอไปหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร จริงเสมอ

ม. ถ้าเช่นนั้น ทำไมพระองค์จึงทรงแสดงอัคคิขันโธปมสูตร ซึ่งเกิดผลร้ายทำให้พระภิกษุ ๖๐ รูป
(ซึ่งเป็นผู้ล่วงปฐมปาราชิกสิกขาบท ตามความในพระสูตร สัตตกนิบาตอังคุตตรนิกาย) กระอักเลือดเล่า
น. ขอถวายพระพร การที่พระภิกษุ ๖๐ รูป กระอักเลือดนั้น เป็นเพราะความชั่วที่ตัวทำไว้ตามมาให้ผลต่างหาก

ม. ถึงเช่นนั้น ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงพระสูตรนั้น ภิกษุเหล่านั้นก็คงไม่กระอักเลือด
น. ก็ถ้าการกระอักเลือดนั้นเป็นเพราะการแสดงพระสูตรของพระพุทธองค์ เหตุใดพระภิกษุอื่นไม่กระอักเลือดไปด้วยเล่า
ขอถวายพระพร นี่เป็นด้วยผลของความชั่วที่ตัวกระทำไว้เป็นเหตุ จึงเกิดผลร้ายเฉพาะแต่ผู้กระทำชั่วนั้น

ม. แต่ข้าพเจ้ายังคิดว่า ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงพระสูตรนั้นเสียเลย ผลร้ายนั้นก็คงไม่เกิดขึ้นเป็นแน่
น. อาตมภาพขอเปรียบถวาย ธรรมดาช่างไม้ถ้ามัวเสียดายเนื้อไม้อยู่ จะกระทำไม้ที่คดงอให้ตรงได้หรือไม่

ม. ไม่ได้สิพระคุณเจ้า ตรงไหนคดงอมีแง่มีงอน ก็ต้องถากทิ้งเสีย ไม้นั้นจึงจะตรงได้ตามความประสงค์
น. ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกับช่างไม้นั้น กล่าวคือ พุทธบริษัทเหล่าใดคดงอจนทรงกระทำให้ตรงด้วยอาการปกติไม่ได้
พระองค์ก็ต้องถากทิ้งเสียโดยทรงแสดงโทษของความชั่วอย่างหนัก ให้เกิดความเกรงกลัว และให้ได้รับโทษเพื่อจะได้หลาบจำไม่กระทำต่อไปอีก
การแสดงพระธรรมเทศนานี้ จึงเป็นการดัดนิสัยของผู้ฝ่าฝืนพระพุทธบัญญัติให้ละความประพฤติผิด หันมาดำเนินทางที่ถูกที่ควร
แล้วได้บรรลุมรรคผลตามอุปนิสัยความสามารถของแต่ละคน
อนึ่ง ถ้าพระองค์มัวคำนึงถึงความทุกข์เฉพาะของพระภิกษุ ๖๐ รูปนั้น แล้วไม่แสดงพระสูตรนี้
พระภิกษุอีกจำนวนมากก็จะไม่ได้บรรลุมรรคผลตามโอกาสอันควรของตน
ขอถวายพระพร เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องจัดว่า พระพุทธองค์ทรงนำมาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่หมู่ชนทั้งนั้น(สัพพสัตตหิตจรณปัญหา)

ม. จริงอย่างพระคุณเจ้าว่า

ป้านุช
21-06-2009, 00:14
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระอานนท์ว่า ความรู้ทุกอย่างที่พระองค์มีอยู่
พระองค์หาได้ทรงปิดบังไม่ และได้ทรงเปิดเผยให้แจ่มแจ้งแล้วทุกอย่างนั้น จริงหรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร จริง

ม. ถ้าเช่นนั้น เมื่อพระมาลุงกยะทูลถามปัญหาเรื่องโลกเป็นต้น เหตุใดจึงไม่ตอบพระมาลุงกยะเสียเล่า
น. ขอถวายพระพร อันลักษณะปัญหานั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ
๑. ปัญหาที่ต้องอธิบายให้เด็ดขาดเป็นอย่างเดียว เช่น อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง
๒. ปัญหาที่ต้องตอบแบบแยกแยะ
๓. ปัญหาที่ต้องย้อนถามแล้วจึงจะอธิบายต่อไป และ
๔. ปัญหาซึ่งไม่ควรตอบเพราะตอบไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับผู้ฟัง

ขอถวายพระพรปัญหาที่พระมาลุงกยะทูลถามนั้น มีลักษณะเป็นปัญหาแบบที่ ๔ และการที่พระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงคำตอบนั้น
ก็ด้วยทรงเห็นว่าแม้จะแสดงไป พระมาลุงกยะก็ไม่ได้รับผลคือสันติสุขอะไร กลับจะทำให้ความคิดความเห็นของพระมาลุงกยะห่างออกจากพระอริยมรรคอริยผลไปเสีย
เนื่องจากปัญหาที่ถามเป็นปัญหาที่เดินออกนอกเขตแห่งมรรคผล (ฐปนีพยากรณปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าฉลาดว่า

ป้านุช
21-06-2009, 00:19
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารที่นายจุนท์ถวายแล้วก็ประชวรเสด็จเข้าสู่นิพพานใช่หรือไม่
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังที่พระองค์ตรัสนั้น

ม. ถ้าเช่นนั้น หมายความว่า การถวายอาหารของนายจุนท์เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องปรินิพพานหรือ
น. มิใช่อย่างนั้น เพราะก่อนที่นายจุนท์จะถวายอาหาร พระพุทธองค์ก็ทรงทราบอยู่แล้วว่าจักต้องนิพพานในวันนั้นแน่นอน

ม. ถ้าเช่นนั้น เป็นเพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงตรัสยกย่องทานของนายจุนท์ว่ามีอานิสงส์ล้ำเลิศเทียบเท่ากับผลทานของนางสุชาดาที่ถวายอาหารท่านก่อนตรัสรู้
น. ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยอาหารของนายจุนท์แล้ว ตอนปัจฉิมยามก็เสด็จเข้าสู่อนุปุพพวิหารสมบัติ ๙ ประการ
(ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑) โดยอนุโลมและปฏิโลม ครั้นแล้วก็เสด็จปรินิพพาน (เทวปิณฑปาตมหัปผลภาวปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
22-06-2009, 13:16
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าทรงกระทำกิจเสร็จสิ้นแล้วทุกอย่าง กิจอื่นที่จะต้องกระทำไม่มีอีกแล้วมิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังที่พระองค์ตรัส

ม. ถ้าอย่างนั้น ไฉนพระพุทธองค์ยังทรงเข้าฌานอยู่เป็นนิจเล่า
น. การที่พระพุทธองค์ยังทรงเข้าฌานอยู่ก็เพราะฌานเป็นคุณธรรมที่ให้ประโยชน์แก่พระองค์มามาก ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ทรงเข้าฌานเป็นพื้นฐานก่อนการตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งนั้น ขอถวายพระพร เนื่องด้วยฌานมีคุณเช่นนี้ พระพุทธองค์จึงยังทรงฝักใฝ่ในการเข้าฌานอยู่

ม. พระคุณเจ้าจงหาตัวอย่างมาเปรียบ
น. เหมือนบุคคลผู้หมั่นเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์และพยายามทำความดีความชอบเป็นเหตุให้ได้รับพระราชทานทรัพย์จนสามารถตั้งตัวได้ แต่ถึงจะมั่งคั่งเลี้ยงตัวได้แล้ว บุคคลนั้นก็ยังหมั่นเข้าเฝ้าอยู่เนือง ๆ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์นั้น
ฉันใดก็ฉันนั้น การเข้าฌานเป็นพื้นฐานประการหนึ่งให้พระองค์ตรัสรู้ แม้เมื่อเสร็จกิจนี้แล้ว พระองค์ก็ไม่ทรงทอดทิ้งการเข้าฌาน ขอถวายพระพร อันการเข้าฌานนั้นมีคุณมากประการ เช่น กำจัดความรัก ความโกรธ ความหลง ความถือตัว และความวิตก มีใจเป็นอารมณ์หนึ่งเดียว พิจารณาเห็นความจริงทั้งหลายได้ง่าย ทำให้เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ
ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าทรงเข้าฌานด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ

๑. ฌานเป็นวิหารธรรมอันสำราญ
๒. ฌานเกื้อหนุนคุณธรรมที่มีอยู่
๓. ฌานเป็นวิถีแห่งพระอริยะทั้งหลาย
๔. ฌานเป็นคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญ (ตถาคตอุตตริกรณียาภาวปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
22-06-2009, 13:20
๔.พระเทวทัต

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ความดีกับความชั่วให้ผลเสมอกันไป หรือให้สูงให้ต่ำกว่ากัน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ความดีมีผลเป็นสุขให้เกิดในฐานะสูง ความชั่วมีผลเป็นทุกข์ให้เกิดในฐานะต่ำ

ม. ถ้าอย่างนั้น เหตุใดพระเทวทัตซึ่งจองล้างพระพุทธเจ้ามาโดยตลอด จึงเกิดในตระกูลสูงหรือบางชาติมียศศักดิ์สูงกว่าพระพุทธองค์
น. ขอถวายพระพร พระเทวทัตใช่ว่าจะกระทำแต่ความชั่ว ความดีทั้งหลายก็ได้ทำมาในชาติต่าง ๆ เช่น การสร้างสะพานและโรงทานเป็นต้น
การที่พระเทวทัตมียศศักดิ์ตระกูลและสมบัติก็ด้วยความดีทั้งหลายส่งผล ส่วนความชั่วคือการผูกพยาบาทพระพุทธองค์ นาน ๆ ทีพระเทวทัตจึงมีโอกาสได้กระทำ
เนื่องด้วยมิได้เกิดร่วมกับพระพุทธเจ้าทุกชาติไป (กุสลากุสลการิสสมาสมปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
22-06-2009, 13:26
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระเทวทัตใครบวชให้
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าทรงบวชให้

ม. พระเทวทัตบวชแล้วจึงทำลายสงฆ์มิใช่หรือ
น. ใช่ ขอถวายพระพร ด้วยว่าคนอื่นนอกจากพระภิกษุสงฆ์แล้วทำลายสงฆ์ไม่ได้

ม. อันผู้ทำลายสงฆ์ต้องรับโทษหนักมากมิใช่หรือ
น. ขอถวายพระพร ถูกแล้ว

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงบวชให้พระเทวทัตเล่า พระองค์ไม่ทรงทราบหรือว่า พระเทวทัตจะทำลายสงฆ์
น. ขอถวายพระพร ทรงทราบ

ม. ถ้าทรงทราบ คำที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาเป็นอัธยาศัยก็ผิด เพราะทำให้พระเทวทัตมีโทษหนัก
แต่ถ้าว่าไม่ทรงทราบ ก็ผิดจากคำที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญูหยั่งรู้เหตุผลทุกสิ่งทุกอย่าง
น. อาตมาขอยกตัวอย่างเปรียบถวาย บิดามีบุตรเป็นคนเกกมะเหรกประพฤติเลวทรามต่าง ๆ แม้จะเพียรปลอบโยนชี้แจงแล้วบุตรก็ไม่เชื่อฟัง
ครั้นจะเพิกเฉยก็เกรงว่าบุตรจะได้รับความทุกข์จากความชั่วช้าของตน จึงตัดสินใจลงโทษบุตร
ขอถวายพระพร เช่นนี้แล้วจะว่าบิดาไม่กรุณาบุตร ไม่รู้คุณและโทษแห่งการทรมานบุตรได้หรือ

ม. ไม่ได้สิพระคุณเจ้า เพราะว่าบิดารู้และสงสารบุตร จึงนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องจำใจลงโทษบุตรเพื่อให้สำนึก
น. ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธองค์ก็เช่นบิดา ทรงสงสารและหยั่งรู้คุณและโทษแห่งการบวชให้พระเทวทัต
เพราะทรงทราบว่า ถ้าเพิกเฉยไม่บวชให้ พระเทวทัตก็จะทำชั่วได้แต่เพียงสามัญ ได้รับทุกข์พอประมาณ และไม่มีโอกาสทิ้งนิสัยเลวทรามนั้นได้
ความทุกข์ก็จะตามเผาผลาญได้เรื่อยไป แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าหากเมื่อบวชให้แล้ว พระเทวทัตจะหลาบจำละนิสัยอันชั่ว
และกลับมาประพฤติชอบได้ต่อไป ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงบวชให้พระเทวทัต (เทวทัตตปัพพชิตปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
23-06-2009, 12:10
๕. พระพุทธเจ้าครั้งเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธองค์ตรัสแจงอานิสงส์ของเมตตาพรหมวิหารไว้อย่างไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงตรัสแจงอานิสงส์ของเมตตาพรหมวิหารออกเป็น ๑๑ ประการคือ
๑. นอนเป็นสุข
๒. ตื่นก็เป็นสุข
๓. ฝันดีเป็นมงคล
๔. เป็นที่รักใคร่ของหมู่มนุษย์
๕. เป็นที่รักของเล่าอมนุษย์
๖. เทพยดาย่อมรักษา
๗. เพลิง พิษ และศัสตราวุธย่อมไม่ตกต้อง
๘. จิตย่อมมั่นคง
๙. ผิวหน้าผ่องใส
๑๐. เมื่อจะตายย่อมมีสติ
๑๑. ถ้ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลก็จะไปเกิดในพรหมโลก

ม. ถ้าเช่นนั้น เหตุใดสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาพรหมวิหารอยู่เนือง ๆ จึงถูกศรของปิลิยักษ์ล้มสลบลงเล่า
น. เป็นเพราะในขณะนั้น สุวรรณสามเมื่อยล้าจากการเดินท่องหาผลไม้มาเลี้ยงบิดามารดา จึงเผลอสติมิได้เจริญเมตตาพรหมวิหาร ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้ สุวรรณสามจึงถูกยิง

ม. จงหาตัวอย่างเปรียบเทียบให้ฟัง
น. ขอถวายพระพร อันธรรมดาลูกศรที่ข้าศึกยิงมา จะป้องกันมิให้ถูกตัวได้ก็ต่อเมื่อสวมเกราะไว้ เมตตาพรหมวิหารก็เสมือนเกราะ
จะเกิดผลตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแจงก็ต่อเมื่อเจริญจิตภาวนาอยู่สม่ำเสมอ หากประมาทละเลยเสีย
เมตตาพรหมวิหารก็ไม่มีกระแสพอที่จะต้านทานอันตรายนั้น ๆ ไว้ได้
ขอถวายพระพร ตามเรื่องปรากฏว่า พระเจ้าปิลิยักษ์มีพระอัธยาศัยในการล่าสัตว์ ทรงท่องยิงเนื้ออยู่เนือง ๆ
ครั้นทอดพระเนตรเห็นสุวรรณสามเดินแบกหม้อน้ำท่ามกลางฝูงเนื้อเป็นที่แปลกตา จึงตั้งพระทัยว่าต้องยิงสุวรรณสามมิให้หนี
เพื่อหาโอกาสไถ่ถามความเป็นมา ประจวบกับสุวรรณสามมิได้เจริญเมตตาพรหมวิหารอยู่ในขณะนั้น
เมตตาจิตจึงมีกำลังน้อยไม่พอที่จะทำให้พระอัธยาศัยและความมุ่งมั่นในการล่าของพระปิลิยักษ์จางลงได้
ด้วยเหตุนี้ สุวรรณสามจึงถูกศรสลบนิ่งอยู่กับที่ (เมตตานิสังสปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
23-06-2009, 12:19
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระโพธิสัตว์ เช่น พระเวสสันดร สิ้นความรักใคร่ในบุตรภรรยาแล้วหรือ จึงบริจาคบุตรภรรยาให้เป็นทาน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ความเป็นจริงก็คือ พระโพธิสัตว์ยังรักใคร่เมตตากรุณาบุตรภรรยาเช่นเดียวกับที่ผู้อื่นรักบุตรภรรยาของตน
ดังนั้น เมื่อพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์เฆี่ยนตีพระธิดาและพระโอรส คือ กัณหากับชาลี จึงทรงสลดพระทัยและบันดาลโทสะจะประทุษร้ายต่อพราหมณ์บ้าง
แต่แล้วก็ทรงอดกลั้นความโกรธนั้นเสียได้ ทั้งนี้ก็เพราะ ท่านมีใจผูกพันในพระสัมมาสัมโพธิญาณมากกว่าความรักบุตรภรรยา
เพราะท่านแน่ใจว่า ภายภาคหน้าพระสัมมาสัมโพธิญาณจะเกิดประโยชน์สุขแก่ตนพร้อมด้วยบุตรภรรยาตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ด้วยหลายเท่า
ท่านจึงหักใจทำการบริจาคทานนั้น

ม. แต่ตอนที่พระเวสสันดรทรงบริจาคพระนางมัทรีและกัณหาชาลีนั้น พระชายาตลอดจนพระโอรสและธิดาทรงยินดีในทานนั้นด้วยหรือ
น. พระนางมัทรีนั้นทรงยินดีในทานครั้งนี้ด้วย แต่กัณหาชาลีหาได้ทรงยินดีไม่ ด้วยยังทรงพระเยาว์ไม่รู้เดียงสาอะไร

ม. ถ้าเช่นนั้น การทำทานของพระเวสสันดรก็เท่ากับทำความทุกข์ยากให้สองพี่น้อง เมื่อทานของตนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนแล้วจะเกิดบุญกุศลได้อย่างไรเล่า
น. อาตมภาพขอทูลถามพระองค์ว่า เมื่อพระองค์ทรงบัญชาให้เก็บภาษีจากราษฎรทุกคน เพื่อนำมาสร้างสาธารณประโยชน์นั้น
ราษฎรบางคนก็ฝืนใจถวายเพราะความขัดสนบังคับบ้าง หรือเพราะเหตุอื่นบ้าง แต่สาธารณะประโยชน์ที่พระองค์กระทำขึ้นนั้น สำเร็จลงตามพระราชประสงค์หรือไม่

ม. สำเร็จลง และเป็นประโยชน์แก่ทุกคน
น. ฉันใดก็ฉันนั้น การที่พระเวสสันดรทรงบริจาคพระชายาและพระโอรสธิดานั้น แม้จะทำให้เกิดความทุกข์ใจลำบากกายแก่กัณหาชาลีก็จริง
แต่ทานบารมีที่ได้กระทำนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่แก่พระองค์และบุคคลอื่น ๆ โดยทั่วไปในกาลข้างหน้า
เมื่อเป็นดังนั้น ทานบารมีนั้นต้องจัดเป็นบุญกุศล

ม. แต่คิดดูจะเห็นว่า ทานที่พระเวสสันดรกระทำนั้นเกินสมควร เหมือนคนบริโภคอาหารเกินประมาณ
น. จะจัดว่าเกินสมควรไม่ได้ เพราะทานขนาดนี้จึงเป็นปัจจัยให้พระองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณในกาลต่อมา

ม. มีอะไรกำหนดความสมควรหรือว่าทานขนาดไหนจะให้ผลแค่ไหน ที่จริงใครมีจิตเลื่อมใสเท่าใดก็ควรให้ไปเท่านั้น
น. ขอถวายพระพร เมื่อบิดาเป็นหนี้เขา จะให้บุตรรับใช้หนี้แทนเพื่อเปลื้องตนให้เป็นไทจะได้หรือไม่

ม. ได้สิพระคุณเจ้า
น. ฉันใดก็ฉันนั้น พระเวสสันดรทรงตั้งพระหฤทัยอยู่เสมอว่า จะทรงบำเพ็ญทานบารมีให้เต็มเปี่ยม ยาจกมาขออะไรก็จะทรงบริจาคให้ทั้งนั้น
เมื่อทรงผูกพระราชหฤทัยเป็นหนี้รัดพระองค์ไว้เช่นนั้นแล้ว ครั้นมียาจกมาขอพระชายาและพระโอรสธิดา
ก็ทรงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้นั้น ขอถวายพระพร การกระทำเช่นนี้จึงถือว่าไม่เป็นการเกินควร

ม. เหตุใดพระเวสสันดรไม่ทรงบริจาคตัวเองเป็นทานเสียเล่า จะได้ไม่เดือดร้อนผู้อื่น
น. ขอถวายพระพร เมื่อยาจกมาขอน้ำก็ต้องให้น้ำ ขอข้าวก็ต้องให้ข้าว เมื่อยาจกเจาะจงขอพระชายาและพระโอรสธิดา ก็ต้องมอบให้เขาไป
ขอถวายพระพร แต่ถ้าหากยาจกทูลขอเจาะจงที่ตัวพระเวสสันดร พระองค์ก็ยินดีจะมอบให้ทันที
เพราะพระองค์มีพระหฤทัยผูกพันกับพระสัมมาสัมโพธิญาณยิ่งกว่าสิ่งอื่น ทรงพร้อมและยินดีบริจาคแม้ชีวิตและความสุขของพระองค์
เพื่อแลกกับพระสัมมาสัมโพธิญาณอยู่ทุกขณะ ข้อนี้พึงพิสูจน์ได้จากการกระทำของพระองค์ตั้งแต่ต้นจนตลอด(เวสสันตรปัญหา)

ม. พระคุณเจ้าว่านี้ชอบแล้ว

ป้านุช
24-06-2009, 20:42
บทส่งท้าย

ภายหลังจากที่พระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนเสร็จสิ้นสนทนาการในข้อธรรมต่าง ๆ พื้นแผ่นดิน ท้องฟ้า ท้องทะเลและสายน้ำ
ได้สำแดงอาการสั่นไหวพร้อมส่งเสียงกึกก้องราวกับจะอนุโมทนาในกุศลแห่งการปุจฉา-วิสัชนาธรรมที่พระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนได้กระทำขึ้น ฉะนั้น

สำหรับพระเจ้ามิลินท์ ทรงมีพระราชหฤทัยแจ่มใสเปี่ยมเต็มด้วยปีติ เนื่องจากทรงปราศสิ้นแล้วซึ่งความสงสัยในพระรัตนตรัย
ทรงรับสั่งขอขมาแก่พระนาคเสนในส่วนที่พระองค์อาจล่วงเกินพระเถระเจ้า พร้อมทั้งบัญชาให้ข้าราชบริพารสร้างวิหารชื่อ “มิลินทวิหาร” ถวายพระนาคเสนพร้อมภิกษุอื่น ๆ
แล้วทรงปวารณาตัวเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต โดยได้รับใช้ปรนนิบัติพระภิกษุทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมานับแต่วันนั้น

ครั้นเมื่อศรัทธาของพระองค์สุกงอม พระเจ้ามิลินท์ทรงมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสแล้วทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เจริญวิปัสสนาและสติปัฏฐานจนบรรลุอรหัตตผลในท้ายที่สุด

ป้านุช
24-06-2009, 20:53
ภาคผนวก : พระโรหณะกับพระนาคเสน

ตามความใน “มิลินทปัญหา” สำนวนแปลต่าง ๆ นั้น พระเจ้ามิลินท์ได้เที่ยวท้าทายถามปัญหานักบวชและนักปราชญ์สำนักต่าง ๆ
จนกรุงสาคละของพระองค์ว่างเปล่าจากผู้ทรงปัญญา เนื่องจากสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ไม่สามารถโต้เถียงกับพระองค์ได้
ต่างพากันอพยพออกจากสาคลนครโดยทั่วกัน

เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏแก่ทิพยโสตของพระอัสสคุตตเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้อาศัยอยู่เชิงเขา ณ รักขิตคูหา
พระเถระเกรงว่าหากยังปล่อยให้พระเจ้ามิลินท์มีพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไป พระพุทธศาสนาอาจสิ้นไร้ซึ่งผู้เลื่อมใสศรัทธาและอาจเสื่อมโทรมลงในที่สุด
จึงได้เรียกประชุมพระอรหันต์ทั้งหลายในบริเวณภูเขาเพื่อหาทางแก้ไข ที่ประชุมเห็นชอบให้เชิญมหาเสนเทพบุตรจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
จุติลงมาเป็นผู้แก้ปัญหาพระเจ้ามิลินท์

เมื่อพระอรหันต์ทั้งหลายพากันขึ้นไปพบมหาเสนเทพบุตร พร้อมชี้แจงจุดประสงค์ของคำเชิญให้จุติ มหาเสนเทพบุตรตอบตกลง
และได้ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาของโสณุตรพราหมณ์ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน กชังคลคาม
ในขณะเดียวกัน พระอรหันต์ทั้งหลายได้มอบหมายให้พระโรหณเถระซึ่งมิได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากไปอยู่สุขวิหารด้วยการเข้าฌานที่เขาหิมวันต์
มีหน้าที่รับผิดชอบอบรมมหาเสนเทพบุตรเมื่อมาเกิดในตระกูลพราหมณ์

นับตั้งแต่บัดนั้น พระโรหณะเถระจึงเพียรผ่านหมู่บ้านพราหมณ์ทุกวันเพื่อบิณฑบาต แต่ไม่เคยได้รับอาหารจากบ้านใดเลย นอกจากคำด่าว่าเสียดสี
จนกระทั่ง ๗ ปี ๑๐ เดือนล่วงมา คนในบ้านโสณุตรพราหมณ์จึงกล่าวแก่พระโรหณะว่า “ ขอไปโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด พระคุณท่าน”

เมื่อพระโรหณะเดินผ่านเลยไป ได้เผอิญพบโสณุตรพราหมณ์สวนทางมา โสณุตรพราหมณ์ถามเย้ยว่า “วันนี้ท่านได้อะไรจากบ้านเราหรือไม่”
ซึ่งพระเถระตอบว่า “ได้” พราหมณ์จึงกลับไปถามคนที่บ้านว่าได้ให้อะไรกับพระ ซึ่งคนในบ้านตอบปฏิเสธ
วันต่อไป พราหมณ์จึงรอพบพระโรหณะเพื่อกล่าวหาว่าพระเถรเจ้ามุสา
พระโรหณะตอบกลับด้วยเมตตาว่า
ดูก่อนพราหมณ์ เราไม่เคยได้ยินคำปราศรัย “ขอไปโปรดสัตว์ข้างหน้า”จากบ้านท่านเป็นเวลา ๗ ปี ๑๐ เดือน เพิ่งได้ยินเมื่อวาน จึงกล่าวแก่ท่านว่า เราได้”

ป้านุช
24-06-2009, 21:20
พราหมณ์ได้ยินดังนั้นก็รู้สึกสะเทือนใจว่า แม้คำปราศรัยเล็ก ๆ น้อย ๆ พระเถรเจ้ายังสรรเสริญ
จึงสั่งให้คนในบ้านจัดอาหารถวายและนิมนต์ให้พระโรณะมารับบาตรที่บ้านทุกวัน เมื่อได้พิจารณาเห็นอาการอันสงบและเปี่ยมด้วยเมตตาของพระเถรเจ้า
ก็ยิ่งบังเกิดความเลื่อมใส พราหมณ์จึงได้นิมนต์ให้พระโรหณะฉันอาหารในเรือนของตนอยู่เป็นประจำ

ในเวลาต่อมา ภรรยาของพราหมณ์คลอดบุตรซึ่งได้แก่มหาเสนเทพบุตรจุติลงมา พราหมณ์ให้ชื่อบุตรว่า “นาคเสน”
ซึ่งเมื่อมีอายุ ๗ ขวบ นาคเสนกุมารได้เล่าเรียนศิลปวิทยาของศาสนาพราหมณ์จนแตกฉานจบสิ้น จึงปรารภถึงความไม่ไม่มีแก่นสารของสิ่งที่ตนได้เล่าเรียน
ขณะนั้น พระโรหณะทราบถึงความคิดคำนึงของนาคเสนกุมารจึงมาปรากฏกายที่หน้าบ้านพราหมณ์

นาคเสนกุมารแลเห็นพระเถรเจ้านุ่งห่มแปลกตา จึงคิดว่าบรรพชิตรูปนี้อาจรู้วิชาที่เป็นแก่นสาร จึงเดินเข้าหาแล้วถามว่า
“ท่านเป็นอะไร เหตุใดจึงโกนศีรษะและนุ่งห่มผ้าย้อมฝาดเช่นนี้”
พระโรหณะตอบว่า “เราเป็นบรรพชิต”

น. บรรพชิตเป็นอย่างไร เป็นบรรพชิตเพราะประสงค์อะไร
ร. บรรพชิตคือผู้ปลีกตนออกจากกิจการที่เป็นโลกียะเพื่อขัดเกลาจิตใจให้ปราศจากมลทิน

น. เหตุใดท่านจึงต้องโกนผม
ร. เพราะเราเห็นเป็นเครื่องที่ทำให้ต้องหมกมุ่นกังวล เช่น ต้องกังวลหาเครื่องประดับ ตกแต่งให้เข้ารูป ทาด้วยของหอม สระล้าง หวี สาง รัด เกล้า
และเมื่อผมร่วงบาง เจ้าของย่อมเสียดาย ดูก่อนเด็กน้อย บุคคลใดยังหมกมุ่นกังวลอยู่ในกิจเหล่านี้ย่อมมิสามารถทำสิ่งซึ่งสุขุมให้แจ้งได้

น. เหตุใดท่านจึงนุ่งห่มไม่เหมือนผู้อื่น
ร. เพราะเหตุที่ผ้าโดยทั่วไปเป็นที่อิงอาศัยของกิเลสกามเป็นเครื่องหมายของคฤหัสถ์ ผ้านุ่งห่มของเราจึงไม่เหมือนคนอื่น

นาคเสนกุมารได้ยินดังนั้น ก็เกิดความเลื่อมใสว่าบรรพชิตรูปนี้อาจรู้แจ้งในวิชาที่มีแก่นสาร จึงขออนุญาตบิดามารดาออกบวช
เมื่อได้รับอนุญาต พระโรหณะจึงพานาคเสนกุมารไปยังรักขิตคูหาและบวชนาคเสนกุมารท่ามกลางพระอรหันต์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่บริเวณเขาแห่งนั้น

เมื่อได้บวชแล้ว พระโรหณะพิจารณาว่าสามเณรเป็นผู้มีปัญญา จึงให้เล่าเรียนพระอภิธรรมก่อน
ซึ่งสามเณรนาคเสนก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี สามเณรนาคเสนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

วันรุ่งขึ้นหลังจากอุปสมบท พระนาคเสนเข้าแสดงความเคารพพระโรหณะซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ พลางคิดในใจว่าพระโรหณะคงไม่ใช่อาจารย์ที่สามารถ
เพราะแนะนำให้ตนเรียนพระอภิธรรมก่อนพุทธพจน์หมวดอื่น ผิดกับขั้นตอนการเรียนพระธรรมโดยทั่วไป
พระโรหณะทราบความคิดพระนาคเสนด้วยเจโตปริยญาณ จึงกล่าวว่า
“นาคเสน ท่านคิดอย่างนั้นไม่สมควร”

พระนาคเสนรู้สึกอัศจรรย์ใจและได้ตระหนักถึงปรีชาญาณของพระโรหณะ จึงกราบขอขมาโทษพระอุปัชฌาย์ของตน
ซึ่งพระโรหณะกล่าวว่า จะเว้นโทษให้ก็ต่อเมื่อพระนาคเสนสามารถวิสัชนาปัญหาพระเจ้ามิลินท์ให้มิจฉาทิฏฐิทั้งหลายหายสูญ
เพื่อพระพุทธศาสนาจะได้รุ่งเรืองสืบไป พระนาคเสนกล่าวรับภารกิจดังกล่าว

จากนั้น พระโรหณะได้แนะนำให้พระนาคเสนเดินทางไปเล่าเรียนพระธรรมวินัยเพิ่มเติมกับพระอัสคุตตเถระ จนพระนาคเสนบรรลุโสดาบัน
พระอัสคุตตเถระได้แนะนำให้พระนาคเสนไปเรียนต่อกับพระธรรมรักขิตเถระจนบรรลุอรหัตตผล
จากนั้นพระนาคเสนได้เดินทางไปยังเมืองสาคละของพระเจ้ามิลินท์ โดยได้พำนักอยู่ ณ สังเขยบริเวณเพื่อเผยแพร่พระธรรม.

ป้านุช
24-06-2009, 21:34
:4672615:จบแล้วค่ะ แนะนำมิลินทปัญหา ปัญญาพระนาคเสน ผู้เรียบเรียง วิชชุ เวชชาชีวะ
พิมพ์ครั้งที่ ๕ เดือน กรกฎาคม ๒๕๕๐ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม
ผู้จัดพิมพ์ ศิษย์วัดเวฬุวัน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี:cebollita_onion-17:

:msn_smilies-22::msn_smilies-22::msn_smilies-22: