View Full Version : หมามีฤทธิ์ตามธรรมชาติ
(หมาหอน) หมาเขาส่งข่าวกัน เขตทางด้านหลังวัดนี้เป็นทางผีผ่าน อยู่ห่างจากตัวสะพานประมาณ ๓๐ เมตร ยังเป็นทางเดินโบร่ำโบราณ เพราะว่าสมัยก่อนนั้นหน้าวัดจะเป็นแม่น้ำ เขาสัญจรทางน้ำกันมากกว่า พอสมัยนี้เขาสร้างถนนขึ้นมา หน้าวัดกลายเป็นด้านถนน ด้านแม่น้ำที่เคยเป็นหน้าวัดก็กลายเป็นหลังวัด แต่พวกผีเขามีนิสัยค่อนข้างอนุรักษ์ เขายังคงใช้เส้นทางเก่า ๆ ของเขาตามเดิม ไป ๆ มา ๆ แต่ละทีหมาก็หอนส่งข่าวกัน
หมามีฤทธิ์ตามธรรมชาติ เขาเรียกว่า กัมมวิปากชาฤทธิ์ หรือฤทธิ์ที่เกิดจากวิบากกรรมส่งผลให้เป็นไปเอง ไม่ต้องฝึกก็เป็น อย่างเช่นว่าทำไมนกบินได้ ทำไมปลาว่ายน้ำได้ ทำไมไส้เดือนดำดินได้ ฉะนั้น...หมาสามารถเห็นผีได้เป็นปกติ เป็นฤทธิ์โดยวิบากกรรมของเขา
ความจริงหมาเก่งกว่าคนมาก แต่หมานิสัยดีเพราะไม่คิดจะครองโลก ลองไปดมกลิ่นแข่งกับหมาดูสิ เราสู้ไม่ได้แน่นอน มองกลางคืนแข่งกับหมาก็สู้หมาไม่ได้อีก วิ่งแข่งกับหมาก็สู้ไม่ได้อีก จับหมาโยนลงน้ำ ลูกหมาเพิ่งเกิดก็ว่ายน้ำเป็น ส่วนลูกคนจะจมตายเอา
เพราะฉะนั้น...ในส่วนนี้บางทีเราก็น่าจะรู้สึกว่า การถือตัวถือตนสักกายทิฐิของเราเป็นการสำคัญผิด คิดว่าตัวเองดีกว่า เก่งกว่า ความจริงแล้วแม้กระทั่งหมาเราก็ยังสู้ไม่ได้
อุ้มหมาไทยไปถึงประเทศอเมริกาแล้วปล่อย ไปเจอหมาอเมริกันก็คุยกันรู้เรื่อง ไปประเทศจีนปล่อยลงไปก็คุยรู้เรื่องทั้ง ๆ ที่เป็นหมาไทย แล้วทำไมเราฝึกภาษาแทบตายกว่าจะคุยกันรู้เรื่อง ? เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้วสัตว์มีภาษาเสียง ภาษากาย ภาษาใจ เขาใช้ได้ ๓ อย่าง พวกเราตอนนี้แทบจะเหลือแต่ภาษาเสียงอย่างเดียวแล้ว
ถ้าอยากดูภาษากายให้ชัด ๆ ต้องไปประเทศอินเดีย ดูแขกเขาทำท่า การแสดงออกจะชัดเจนมากเลย ให้เราอ่านออกเลยว่าตอนนี้แขกอยู่อารมณ์ไหน นั่นคือภาษากาย แบบเดียวกับหมา ถ้าพองขนแยกเขี้ยวเมื่อไรก็แปลว่ากูจะเอาแล้วนะ แต่ถ้านอนหงายตีนชี้ฟ้าแปลว่ายอมแพ้แล้ว เป็นภาษาที่เขาเข้าใจกันทั้งโลก
ส่วนภาษาใจนั้นสัตว์ยังมีอยู่ แต่คนเราร้อยละ ๙๙.๙๙ เสื่อมหมดแล้ว ต้องฝึกฝนกันอย่างหนักกว่าที่จะใช้ภาษาใจได้เหมือนเดิม ภาษาใจเป็นภาษาต้น ภาษาดั้งเดิมของมนุษย์และสัตว์ สามารถสื่อกันได้ทั่วทุกตัวคนและสัตว์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เสียงที่เป็นภาษาพูด
สังเกตว่าส่วนใหญ่แล้วหลวงพ่อที่ท่านธุดงค์ไปตามป่าตามเขา จะมีประสบการณ์ในการสื่อสารกับสัตว์ต่าง ๆ ได้ ก็เพราะว่าทั้งหมดล้วนแล้วแต่รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน ชอบความสบายรังเกียจความลำบากเหมือนกัน ในเมื่อมีสภาพจิตคล้าย ๆ กัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็สามารถสื่อถึงกันได้ แต่ของเราเองอยู่ในเมือง โดนสารพัดกิเลส โดยเฉพาะกระแสบริโภคนิยม ถมทับเสียจนกระทั่งสภาพจิตของเรามืดบอดไป
ลองไปนอนในป่าแบบกะเหรี่ยงดูสิ เขาเอนลงปุ๊บก็หลับปั๊บเลย ส่วนเราฟุ้งซ่านไปสารพัด ผีจะมาหรือเปล่า ? งูจะมาหรือเปล่า ? เสือจะมาหรือเปล่า ? พวกนั้นไม่สนใจหรอก กูหลับอย่างเดียว เสียงรถยนต์วิ่งมา พวก เราตื่นตั้งแต่รถยังอยู่ห่าง ๒ กิโลเมตร ส่วนเขาก็หลับ อะไรที่ไม่มีอันตรายเขาไม่ตื่น แต่ตอนที่งูเลื้อยมา ตะขาบคลานเข้ามา พวกเราไม่ได้ยินเลยแต่เขาดันตื่น มีหน้ามาบอกอีกว่า “อาจารย์นอนแบบนี้ในป่าตายง่าย ๆ เลยนะ” ใครจะไปได้ยินเสียงตะขาบเดินวะ ? ส่วนเขาดันทะลึ่งได้ยิน
เพราะฉะนั้น...สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องบอกว่า ชีวิตในสังคมเมืองทำให้สภาพความแหลมคมของจิตใจเราลดน้อยถอยลง จนกระทั่งแทบไม่มีอะไรเหลือแล้ว เราจึงต้องมาฝึกฝนกันใหม่
ความจริงสภาพจิตของเราเป็นในลักษณะของพุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าอยู่ลักษณะอย่างนั้น เราจะรู้เท่าทันและป้องกันกิเลสได้ แต่เนื่องจากว่าโดนถมทับด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม จนกระทั่งมืดบอดไปหมด เราจึงต้องมาขุด มาขัด มาเกลากันด้วยการฝึกปฏิบัติธรรม ฝึกเพื่อที่จะฟื้นสิ่งเก่า ๆ ของเราคืนมา
ถ้ารู้จักสังเกตจะเห็นว่า เมื่อคืนบางคนนอนไม่ค่อยหลับ แล้วก็ให้เหตุผลว่านอนผิดที่ จะว่าผิดที่ก็ใช่ แต่ความจริงแล้วก็คือสภาพจิตของเรา พอไปอยู่แปลกที่แปลกถิ่นเมื่อไร ก็จะดึงเอาความสามารถเดิม ๆ ที่เคยมีอยู่ขึ้นมา ก็คือตื่นตัวและระมัดระวัง เพียงแต่ว่าของเราเป็นการระวังภัยทางโลก ระวังภัยทางร่างกาย ไม่ได้ระวังกิเลสที่จะเข้ามาในใจ ประโยชน์ก็เลยน้อย
บางทีเครียดนอนไม่หลับอีกต่างหาก เดี๋ยวพรุ่งนี้เพลียไม่มีแรงจะทำอะไร ความจริงนอนภาวนาไปเถอะ ร่างกายเรานอนอยู่ก็ได้พักอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสภาพจิตตื่นตัวเพราะว่าผิดที่ผิดทาง แปลกที่ กลัวอันตราย ก็เลยไม่ยอมหลับ
ลองตั้งใจว่า "เอ็งไม่นอนก็ดี ข้าจะภาวนาให้เยอะเลย" รับรองว่า "พุท" ยังไม่ทัน "โธ" ก็หลับแล้ว กิเลสกลัวเราจะพ้นมือ จึงรีบตัดให้หลับเสียก่อน แต่ถ้าไปพยายามหลับนี่ไม่มีทาง ยิ่งพยายามก็ยิ่งตื่น แล้วสภาพจิตของเราจะไปฟุ้งซ่าน เนื่องจากว่าพยายามจะไปกดให้หลับ
ในส่วนนี้ที่กล่าวมาก็คือ สภาพจิตของทุกคนแต่เดิมมา มีความผ่องใสเทียบเท่ากับพรหมชั้นที่ ๖ คือ อาภัสราพรหม ที่ไปด้วยอำนาจของฌาน ๒ ระดับละเอียด เพราะว่าฌาน ๑, ๒, ๓ มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด แต่ฌาน ๔ มีแค่หยาบกับละเอียดเท่านั้น ในเมื่อสภาพจิตเดิมของเรามีความผ่องใสถึงขนาดนั้น แค่ฝึกฝนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยก็เห็นหน้าเห็นหลังแล้ว
พระท่านถึงได้พยายามไม่ให้ติดที่ติดถิ่น พยายามที่จะเดินทางบ้าง ธุดงค์บ้าง ไปในที่อันตรายบ้าง เพื่อสร้างความตื่นตัวของสภาพจิตของตน ฝึกจิตให้มีความแหลมคมและว่องไว จนรู้เท่าทันกิเลส สาวไปจนถึงสาเหตุแล้วไม่สร้างเหตุนั้น กิเลสเกิดไม่ได้ก็จะดับไปเองโดยปริยาย เรื่องนี้ไกลเกินเดี๋ยวตามกันไม่ไหว ฉะนั้น..วันนี้พอแค่นี้ก่อน
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ก่อนทำวัตรค่ำ
วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.