PDA

View Full Version : เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๒


เถรี
08-06-2009, 17:47
ถาม : การพิจารณา อาหาเรปฏิกูลสัญญา?
ตอบ : ให้เห็นสภาพว่า อาหารมาจากความสกปรก อาหารเติบโตมาจากดินที่ใส่ปุ๋ย ปุ๋ยก็เป็นของสกปรก พอกินเข้ามาอยู่ในร่างกายของเราที่มีความสกปรก ถ่ายออกมามันก็มีลักษณะของความสกปรกตามมาด้วย

บรรดาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่มีเลือดมีคาว มันเน่ามันเหม็นอย่างไรเราก็นำมาพิจารณาดูได้ ถ้าหากพืชผลไม้เราจะดูไม่ออก เพราะมันมาตอนมันดี เราก็นึกถึงตอนมันเน่า ก็จะเห็นสภาพความเป็นจริง ใจจะได้ไม่ยึดติด

บางคนถึงขนาดว่าถ้ามีร้านอาหารดีที่ไหนก็พยายามตะเกียกตะกายไปกินจนได้ อย่างนั้นสมควรน่าจะพิจารณาตรงนี้

ควรสักแต่ว่ากินเพื่ออยู่ไปวัน ๆ หนึ่ง พิจารณาให้รู้เท่าทัน ว่าเรากินเพื่อยังอัตภาพร่างกายนี้ให้อยู่เท่านั้น ส่วนประเภทต้องการอาหารหน้าตาสวย ๆ ต้องการอร่อย ต้องการเชลล์ชวนชิม นั่นคือกิเลสมันต้องการ

ตักอาหารอย่างหนึ่งครั้งแรก เราอาจจะตักตามสภาพร่างกายต้องการ แต่ถ้าตักซ้ำของเดิมให้ระวังไว้ว่า เรากินตามกิเลสหรือเปล่า? กินเพราะรู้สึกว่ามันอร่อยหรือเปล่า? กระทั่งกินต้องระวัง"

เถรี
08-06-2009, 17:50
ถาม : การรับยันต์เกราะเพชร ถ้ารับที่บ้านจะได้หรือไม่?
ตอบ : อยู่ที่ไหนก็รับได้ การสงเคราะห์ของพระท่านไม่จำกัดเขต อย่าว่าแต่ที่นี่หรือต่างประเทศเลย แม้แต่ต่างดาวก็ยังได้

เถรี
08-06-2009, 22:25
พระอาจารย์เล่าว่า "ท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนยูฯ สมัยที่เขายังเตะบอลเอง ฝีมือก็ธรรมดา แต่เขาเข้าใจตัวเอง เขาเข้าใจตรงที่ว่า ถ้าเขาเล่นในสนามแล้วเขาจะควบคุมเพื่อนไม่ได้ เขาควบคุมทีมได้เฉพาะแต่ลูกบอลเท่านั้น แต่ถ้าเขาอยู่นอกสนาม เขาเห็นเพื่อน ๑๑ คนเล่น เขาจะควบคุมเกมส์อย่างไรก็ได้ เขาก็เลยเปลี่ยนไปเป็นผู้จัดการทีม

ลักษณะนี้อยากจะบอกพวกเราว่า บางทีการที่ยืนอยู่ข้างหน้าก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ ยอมถอยไปข้างหลังสักก้าวสองก้าว มันก็อาจจะดีกว่าที่คิด

ตอนดูฟุตบอล คนจะเห็นแต่ผู้เล่น ๑๑ คนในสนาม ไม่มีใครเห็นอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เพราะเขาอยู่ข้างนอก ยกเว้นกล้องจะถ่ายไปตอนที่เขากำลังใส่อารมณ์เต็มที่ เมื่อนักฟุตบอลยิงเข้าประตูจะกี่ลูกก็ตาม เวลาเขาถามว่าทีมนี้ประสบความสำเร็จได้เพราะใคร? เขาชี้มือไปที่คนข้างหลัง ไปที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ถ้าไม่มีคนนี้ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

บางทีเราคิดแต่จะก้าวล้ำไปข้างหน้า โดยที่ไม่ได้คิดว่าข้างหลังยังมีที่ให้ยืนอยู่อีกบานเลย เพราะคนเอาแต่แย่งกันอยู่ข้างหน้า แต่ข้างหลังที่ยังว่าง จนสามารถนอนได้เลย ตั้งวงเตะตะกร้อได้อีกต่างหาก

บอกให้รู้ไว้เผื่อพวกเราไปใช้ประโยชน์ได้ คิดแต่จะอยู่ข้างหน้าก็แย่ ถอยไปข้างหลังสักก้าว พื้นที่มีอีกเยอะมาก"

เถรี
08-06-2009, 22:30
พระอาจารย์กล่าวว่า "บางคนบอกว่าสันโดษ พระพุทธเจ้าสอนให้ขี้เกียจ พวกนี้มันฟังบาลีไม่ออก"

ท่านบอกว่า ยถาพลสันโดษ หามาตามกำลังตนเองที่มีได้ อย่างคุณทักษิณ ชินวัตร หามาตามกำลังของเขา ก็มีเป็นหมื่นล้านพันล้าน คนมีเงินเป็นหมื่นล้านพันล้าน เขาขี้เกียจหรือเปล่า? ก็ไม่ใช่

ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีพอใจตามฐานะของตน พอใจตามฐานะของตน คุณทักษิณจะขี่เฟอร์รารี่ก็ไม่มีใครว่า ก็ตามฐานะของตน อันนั้นสันโดษ แต่ถ้าหากเป็นเราแล้วดันไปขี่เฟอร์รารี่ ก็ไม่สันโดษแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ไขว่คว้าอะไรที่เกินกำลังของตัวเอง ถ้าลองฝืนดูครั้งหนึ่งแล้ว สองครั้งแล้ว สามครั้งแล้ว ยังไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับสภาพ แล้วถอยมายืนอยู่ในจุดของเรา แต่ถ้าฝืนแล้วไปต่อได้ ก็ตะกายต่อไป"

เถรี
08-06-2009, 23:30
"เทคโนโลยี ถ้าให้เข้ากับสันโดษ เราก็ต้องยินดีตามที่ตนมีอยู่"

เราต้องรู้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ จะต้องเจริญไปตามสภาพของโลก แต่ถ้าเราไปวิ่งไล่กวดมัน เราวิ่งไม่ทันมันหรอก กว่ามันจะออกมา ก็ตกรุ่นไปแล้ว

แต่ละบริษัทเขาร้ายกาจมาก สมมติเขาออกรุ่น a มา เขาจะมีรุ่น b c d e รออยู่แล้ว เขาพัฒนาไปแล้วสี่รุ่น แต่เขาเอารุ่นนี้มาให้เราใช้ก่อน ถ้าเอารุ่นที่ห้ามาให้เรา เขาจะขายได้แค่ครั้งเดียว แต่ถ้าเขาเอารุ่นที่หนึ่งมาให้เรา ขายได้อีกตั้งสี่ครั้งกว่าจะไปถึงรุ่นที่ห้า เพราะฉะนั้น..ไม่ต้องไปวิ่งไล่หรอก เหนื่อยเปล่า ๆ มันตกรุ่นตั้งแต่เราซื้อแล้ว

กลายเป็นว่า พวกเทคโนโลยีเราต้องดูว่ามันจำเป็นแค่ไหน แล้วก็ใช้แค่นั้น เราไม่สามารถปฏิเสธความเจริญได้ แต่ก็ต้องอยู่กับมันอย่างมีสติ ใช้แค่ที่จำเป็น อะไรที่ไม่เกินความสามารถของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป ต้องใช้ความสามารถดูก่อน

ปัจจุบันนี้อาตมาซื้อของในตลาดทองผาภูมิ แม่ค้าเขายังถามว่า ราคาเท่าไร? พอเราหยิบสตางค์ให้ เขาจะถามว่าทอนเท่าไร? เพราะเขาใช้เครื่องคิดเลขไม่ทันเราคิด ถ้าเด็กรุ่นใหม่ ๆ นี้ไม่พยายามใช้สมองตัวเองบ้าง คอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตมันล่มไปวันไหน จะกลายเป็นคนที่น่าสงสารมากเพราะไม่มีอะไรเหลืออยู่ในหัวเลย

เพราะฉะนั้น..อย่าอาศัยเทคโนโลยีมาก อาศัยมากเดี๋ยวตาย..! กระดาษกับปากกาดีที่สุด ไม่ว่าจะเอ็มดีหรือไอพ็อด พวกนั้นถ้าถ่านหมดก็เจ๊ง ตอนอยู่วัดท่าซุงหลวงพ่อท่านเตือนตั้งแต่แรก ๆ ว่า กระดาษกับปากกาควรจะอยู่ใกล้มือไว้ เวลาพระหรือพรหม เทวดาหรือผีเขาบอกอะไร ถ้าไม่มั่นใจให้รีบจดไว้ก่อน อย่าให้รอจนสว่าง ถ้ารอสว่างแล้วจะลืม

สมัยที่อยู่วัดท่าซุง เวลาหลวงพ่อลงโบสถ์ท่านก็บันทึกเทป เราก็มีกระดาษไว้จด ซึ่งดีตรงที่ว่า สิ่งที่สะดุดใจเรา คือสิ่งที่ตรงกับอารมณ์ใจของเราตอนนั้น สิ่งที่เราทำหรือเกินมาแล้ว จะไม่สะดุดใจ เพราะฉะนั้น..ที่เราจดคือประโยชน์ล้วน ๆ เลยสำหรับเราที่จะพึงได้ และแล้ววันหนึ่งก็ไฟดับ ปรากฏว่าวันนั้นพอออกจากโบสถ์มีแต่คนมาเดินตอมขอยืมสมุด เพราะฉะนั้น..เชื่อเถอะ ล้าสมัยไว้หน่อยเถอะ

บางคนบอกว่า "อาจารย์จะเอาคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุด ก็ซื้อได้ ทำไมไปซื้อเครื่องพิมพ์ดีดอีแก่เครื่องนี้มา?" อาตมาบอกว่า "ไอ้นั่นไฟดับแล้วทำงานไม่ได้ แต่นี่ดับทั้งชาติข้าก็ทำงานได้" ถ้ามีไฟเราก็ใช้คอมพิวเตอร์ แต่ถ้าไม่มีเราก็ใช้เครื่องพิมพ์ดีดนี้

ซุนวูบอกว่า รุกข้างหน้าหนึ่งศอกต้องเตรียมทางถอยไว้หนึ่งวา"

เถรี
09-06-2009, 08:16
"ญาติโยมทั้งหลายทำธุรกิจ ส่วนใหญ่คิดแค่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง ไม่ได้คิดมากไปกว่านั้น คิดแต่ว่าเราทำงานแค่นี้ วันหนึ่งมีรายได้แค่นี้ เดือนหนึ่งมีแค่นี้ ปีหนึ่งมีรายได้แค่นี้ เราคิดแต่ด้านได้อย่างเดียว ไม่ได้คิดไว้เลยว่าถ้ามันเจ๊งไปแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร?

เราต้องคิดล่วงหน้าไปในด้านที่ร้ายที่สุดว่า ถ้ากิจการตรงนี้ที่เราทำเจ๊งไป เราจะแก้ไขอย่างไร? เราจะเอาตรงไหนมาค้ำจุน? เราจะถอยไปยืนอยู่ตรงจุดไหนที่มันจะไม่บาดเจ็บมาก? ถ้าให้คำตอบตรงนี้ได้ ทำไปเถอะ งานอะไรก็ทำได้

แต่ถ้าให้คำตอบตรงจุดนี้ไม่ได้ อย่าเพิ่งทำเลย โอกาสรอดมีน้อย ถ้ารอดก็แสดงว่าบุญเก่าดีจริง ๆ เพราะฉะนั้น..อย่าคิดด้านได้อย่างเดียว ต้องคิดด้วยว่าถ้าเสียเราจะแก้ไขอย่างไร ถ้าได้คำตอบเรียบร้อยแล้วทำไปเถอะ"

เถรี
09-06-2009, 09:06
"เลี้ยวกลับเข้าหาวัดได้แล้ว ถ้าออกทะเลแล้วจะหาฝั่งยาก แต่ที่บอกให้เลี้ยวกลับวัด ก็คือ ให้ทุกคนพิจารณาที่ตัวเองก่อน ถ้าพระเลี้ยวกลับวัด ก็คือ เลี้ยวกลับไปหาสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยและชิน

ส่วนเราก็ต้องมาพิจารณาตัวเองว่า ตัวเราเองถนัดอะไรมากที่สุด ชอบอะไรมากที่สุด ถ้าสามารถทำในสิ่งนั้นได้ เราจะทำได้ดีที่สุด อย่างอื่นที่เราไม่ถนัด ถ้าทำไปก็ต้องฝืนตัวเองมาก แล้วเราจะไม่มีความสุขในการทำงาน

ภาษิตจีนเขาบอกว่า กระต่ายตัวเดียวอย่างน้อยมีสามโพรง ก็คือ มันไม่ได้ทำทางเข้าออกไว้ทางเดียว มันทำไว้อีกสองทางจากทางปกติ เพราะฉะนั้น..เวลาศัตรูมันเข้าทางนี้ กระต่ายมันจะหนีไปอีกทาง มันอาจจะหนีไปทางที่สามก็ได้ ซึ่งปกติสัตว์นักล่าอย่างเก่งที่สุดมันจะมาสองตัว เพราะถ้ามากกว่านั้นมันจะแย่งกัน ไม่พอกิน

อยากจะบอกพวกเราทุกคนว่า อย่าวางใจในความมั่นคงในอาชีพของตนเอง มีอะไรที่พอเป็นงานเสริมเป็นไซด์ไลน์ไปได้ ทำไปเถอะ ดีไม่ดี..ภายหลังไซด์ไลน์จะดีกว่างานจริง เราต้องเตรียมหาทางถอยไว้กับตัวเอง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่มีผิด ท่านบอกว่า ทุกอย่างอนิจจังไม่เที่ยง แม้แต่หน้าที่การงานก็ยังไม่เที่ยง พอถึงเวลางานนี้มันไปไม่ได้ เราก็มีงานนั้นทำ ไม่เห็นต้องไปร้อนใจ คนอื่นเขาเดือดร้อนก็ช่างเขา เรานั่งกระดิกเท้าสบายใจเฉิบ

ดังนั้น.. พระเลี้ยวกลับวัด โยมก็ต้องเลี้ยวกลับไปพิจารณาตนเอง เราชำนาญอะไร เราชอบอะไร เราก็เลือกทำสิ่งนั้น"

เถรี
09-06-2009, 09:24
"ในเรื่องการทำงานและการปฏิบัติ อย่าเปลี่ยนเป้าหมายบ่อย ๆ หลักการปฏิบัติก็ดี หลักการทำงานก็ดี อย่าเปลี่ยนบ่อย เคยเปรียบไว้ว่ามันเหมือนการขุดบ่อจะเอาน้ำ บางทีเราขุดไปสามเมตรสี่เมตรใกล้จะถึงแล้ว พอเขาบอกว่าตรงนั้นดีกว่า เราก็ขยับไปขุดตรงนั้น พอเขาบอกว่าตรงนี้ดีกว่า ก็ขยับมาขุดตรงนี้ ก็เลยไม่ถึงน้ำเสียที เพราะฉะนั้น..การทำงานเราก็ต้องจับเป้าหมายเดียวจริงจัง มันจะได้เร็ว

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านทรงแสดงธรรมเหมือนราชสีห์จับเหยื่อ ก็คือ ราชสีห์เวลาล่าเหยื่อ ไม่ว่าเหยื่อจะตัวเล็กตัวใหญ่ก็ตาม มันทุ่มเทกำลังในการจับเท่ากันหมด เพราะฉะนั้น..จะไม่มีพลาด และสำคัญที่สุดมันเล็งเหยื่อตัวเดียว ถ้าหากมันไปละล้าละลังล่าตัวอื่นที่อยู่ใกล้ ตัวที่อยู่ข้างหน้ามันวิ่งตรง มันจะหนีไปได้ เพราะฉะนั้น..ราชสีห์มันล่าเหยื่อมันล่าตัวเดียว ตัวอื่นที่อยู่ใกล้มันจะไม่สน

ทำงานอะไรก็ตาม ถ้าเราทุ่มเทให้มันเต็มที่ มันจะไม่มีอะไรยากเกินความสามารถมนุษย์หรอก ถ้าเราทุ่มเทเต็มที่แล้วก็จะเหมือนพระมหาชนก พระมหาชนกว่ายน้ำเจ็ดวันเจ็ดคืนไม่เห็นฝั่ง นางมณีเมขลาก็บอกว่ารู้ว่าว่ายแล้วไม่เห็นฝั่ง จะว่ายไปทำไม? พระมหาชนกก็บอกว่า อย่างน้อยเราได้ทุ่มเทกำลังเต็มที่ เราจะได้ตอบตัวเองได้ว่าเราได้ทำแล้ว

ที่ท่านบอกว่า ยาวเม เถว ปุริโส เกิดเป็นคนต้องมีความพยายามอยู่ร่ำไป ท้อถอยไม่ได้ มันอาจจะเหลืออีกหนึ่งช่วงที่ว่ายน้ำก็ถึงแล้ว

เรื่องของการปฏิบัติก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของการสั่งสม สั่งสมความดีของศีล สมาธิและปัญญาไปทีละเล็กทีละน้อย แรก ๆ มันไม่เห็นหน้าเห็นหลังหรอก แต่ถ้าเราดูย้อนหลังไปว่า ก่อนหน้านี้เรามีศีลห้าครบไหม? ปัจจุบันนี้เราได้กี่ข้อแล้ว? ถ้าเราได้ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ละเมิดด้วยตนเอง แล้วเราไม่ยุผู้อื่นให้ละเมิดหรือเปล่า? เราไม่ยุคนอื่นแล้ว ถ้าคนอื่นทำเรายินดีด้วยหรือเปล่า? เราค่อย ๆ ทบทวนเรื่องศีลไปเรื่อย ๆ ว่าเราทำสมบูรณ์หรือยัง โดยเปรียบย้อนหลังดู จะเห็นความก้าวหน้าของตัวเองไปทีละน้อย

ภาษิตจีนเขาบอกว่า คนอื่นขี่ม้าแต่เรายังขี่ลา ถ้าจะสงสารตัวเองว่าไล่ม้าไม่ทัน ก็ไม่ต้องสงสาร หันกลับไปดูข้างหลัง คนที่ไม่มีอะไรจะขี่ เดินเท้าเปล่าเยอะแยะไป และท้ายที่สุด พวกที่ยังนั่งไม่ได้เริ่มเดิน มีอีกตั้งเท่าไหร่?

ถ้าหากว่ามองให้มองไปข้างหน้า ไม่ใช่มองไปข้างหน้าอย่างทะเยอทะยานอยากได้ แต่มองไปข้างหน้าเพื่อที่จะทำอย่างไรให้ได้เท่าเขาหรือมากกว่าเขา มันเป็นการแสวงหาความก้าวหน้า ถ้าอย่างนี้ทางโลกก็เจริญทางธรรมก็เจริญ

เขาปฏิบัติได้ดีกว่าเรา เราต้องพยายามทำให้ได้เท่าเขา หรือไม่ก็เขาทำมาหากินมีความคล่องตัวกว่าเรา เขาทำอย่างไรเราก็พยายามทำให้ได้อย่างเขา"

เถรี
09-06-2009, 15:59
พระอาจารย์เล่าว่า "เมื่อวันก่อนไปงานแต่งงานของโยม งานแต่งงานนี้เพื่อนเจ้าบ่าวก็ไม่มี เพื่อนเจ้าสาวก็ไม่มี มานึกว่าทำไมเป็นอย่างนั้น นึกมาได้หลายข้อ

ข้อที่หนึ่ง เขาไม่รู้ธรรมเนียม ถ้าเป็นข้อนี้อเนจอนาถมากเลย ธรรมเนียมเก่า ๆ ความสำคัญอยู่ที่เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว แต่เขาไม่รู้จริง ๆ ว่าเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาสภาพเจ้าบ่าวเจ้าสาวให้ดีสุดเท่าที่จะดีได้ เพราะฉะนั้น..เขาต้องเป็นคนที่รู้ธรรมเนียมมากกว่า รู้ว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้าง และขณะเดียวกันถ้าหากว่าจำเป็นก็ต้องแต่งหน้าให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้บ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ออกมาดูดี

ข้อที่สอง เขาหาเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ได้ คนทั้งหมู่บ้านเขาหาเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ได้ ก็อาจแปลว่าเขาไม่มีเพื่อนฝูงเลย หรือการคบหาไม่มีเลย

ส่วนข้อที่สาม อนาถกว่านั้นอีก อาจเป็นเพราะว่า เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวสวยและหล่อกว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาว เลยไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวจะมาขโมยซีน

แปลกดี..หลายต่อหลายเรื่อง เราดูตรงหน้าก็เห็นอะไรไปเรื่อย เห็นไปเรื่อยก็มานึกเปรียบเทียบไปเรื่อยว่า เขาไม่รู้ธรรมเนียมจริง ๆ เป็นที่น่าสงสารมาก เพราะพ่อเจ้าสาวมาสารภาพว่า ไม่รู้หรอกเรื่องนี้ พอถึงเวลางานแต่ง ก็ไปแค่ที่โต๊ะจีน ไม่ได้ดูบ้างเลยว่าเขาทำอย่างไรกันบ้าง

ตัวเองไม่รู้แล้วจะไปบอกลูกได้อย่างไร ในเมื่อปู่ย่าตายายไม่รู้ ไปบอกลูกบอกหลานไม่ได้ ลูกหลานก็ไปบอกลูกหลานของมันไม่ได้...ก็ไปกันใหญ่ ประเพณีไทยก็ถึงกาลวิบัติ..!"

เถรี
09-06-2009, 16:19
"พิธีแต่งงานเสียสตางค์เยอะ ฝ่ายชายก็เรื่องสินสอดทองหมั้น ฝ่ายหญิงก็เรื่องการเลี้ยงแขก เสียไปตั้งเยอะแยะ อันนี้ต้องคิดให้เป็น ดูให้เห็น

ต้องบอกว่าคนโบราณเขาลึกซึ้งมาก การแต่งงานที่เชิญแขกมาเยอะ ๆ นั้น เพื่อเป็นสักขีพยานว่า สองคนนี้เขาเป็นสามีภรรยากันแล้ว เพื่อที่คนอื่นจะได้ไม่ไปละเมิดคนที่มีเจ้าของ ให้รู้กันทั้งหมู่บ้าน ญาติพี่น้องมีกี่คนก็ต้องรู้ ต่างหมู่บ้านก็ต้องรู้ เพราะข่าวมันไปเรื่อย ยิ่งมีการคบหากับคนต่างจังหวัดยิ่งไปไกลใหญ่ คุณจะอ้างว่าไม่รู้ว่าเขาแต่งงานแล้วไม่ได้

โดยเฉพาะสมัยก่อน ก่อนจะแต่งงานเขาต้องสร้างเรือนหอก่อน ต้องพร้อมเป็นในเรื่องของงานฝีมือช่าง ผู้ชายจะน่าสงสารมากเลย กว่าจะเลื่อยไม้ได้แต่ละต้น จะซ่อมบ้านสร้างบ้านได้ แล้วก็ไปขอแรงเพื่อนฝูงมาลงแขกช่วยกัน กว่าจะเสร็จมันเป็นเดือน ๆ แล้วถ้ายิ่งเตรียมการล่วงหน้า บางทีมีการตัดไม้เลื่อยไม้ก็เป็นปี ๆ คนเขาจะรู้กันเยอะว่าคู่นี้เขาหมายหมั้นกันแล้ว เขาจะแต่งกันแล้ว

ถ้าหากว่าเป็นคู่แข่ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนใจอีกฝ่ายให้ทัน ถ้าสร้างเรือนหอเสร็จเมื่อไหร่ ก็แต่งกันร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือเรื่องของความลึกซึ้งในประเพณีของเรา

สมัยใหม่ใจร้อนกัน ไม่ได้จัดงานแต่งเพราะเปลืองเงิน จดทะเบียนกันเฉย ๆ มันเปลืองก็จริง แต่จดทะเบียนเฉย ๆ อย่างเก่งเพื่อนเป็นพยานสักสองคน ไม่มีสภาพกว้างไกลเหมือนสมัยก่อน แล้วสมัยก่อนการจัดงานมันแสดงออกซึ่งความสามัคคี บ้านนั้นก็มาช่วย บ้านนี้ก็มาช่วย ผู้ชายก็มาช่วยเรื่องการแบกการหาม จัดเตรียมสถานที่ ผู้หญิงก็จัดเตรียมข้าวปลา เขาได้ปฏิสัมพันธ์กันในหมู่เพื่อน เกิดความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียวกัน เรื่องพวกนี้มันสร้างความสามัคคี"

เถรี
09-06-2009, 17:27
"พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความสามัคคีในหมู่คณะทำให้เกิดสุข โบราณก็บอกแล้วว่า ทำอะไรถ้าเหลือกำลังลาก ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม

ถ้าไม่มีความสามัคคีในหมู่คณะ ก็จะไม่มีเพื่อนไม่มีฝูง งานใหญ่จะทำไม่สำเร็จ เราก็เลยมานึกถึงปัจจุบัน รัฐนาวา นาวาคือ ประเทศชาติ ประเทศชาติของเราจะล่มแหล่มิล่มแหล่ นอกจากไม่ช่วยกันจ้ำ ไม่ช่วยกันพาย ไม่ช่วยกันวิดน้ำ อุดรูรั่วแล้ว ยังมีแต่ช่วยกันกระทืบซ้ำแล้วเจาะรูเรือให้รั่ว

ทำอย่างไรที่จะทำให้เขาเลิกแบ่งฝ่ายแบ่งสีกันเสียที ทำอย่างไรจะให้เลิกแบ่งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ต้องดูตัวอย่าง แม่แบบประชาธิปไตย คือ ประเทศอังกฤษ

ประเทศอังกฤษจะมีแค่สองพรรค ถึงเวลาพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้นไปเป็นรัฐบาล อีกพรรคหนึ่งจะตั้งรัฐมนตรีเป็นเงาตามเลย แต่เขาไม่ได้ตั้งไว้เฉย ๆ เหมือนอย่างบ้านเราที่คอยจับผิด เขาตั้งมาเพื่อเข้าไปร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย ไปรับรู้การบริหารทั้งหมดด้วย ถ้าหากว่ามีความคิดอะไรที่ดีกว่าตัวจริง เขาจะเสนอความคิดนั้นไป ตัวจริงเอาไปบริหารงานจะต้องให้เครดิตว่า นี่เป็นความคิดของฝ่ายค้าน บ้านเราไม่มีตรงนี้

บ้านเราถึงเวลาถ้าหากกูขึ้นได้ คนอื่นก็อย่าโงหัวมาเลย มันกลายเป็นแย่งชิงกัน ท่านผู้รู้บางท่านบอกว่า "ถ้าผลัดกันเป็นใหญ่จะได้เป็นใหญ่กันทุกคน แต่ถ้าแย่งกันเป็นใหญ่ จะไม่ได้เป็นใหญ่กันสักคน" บ้านเรามันแย่งกันบ่อย ๆ

ต้นแบบประชาธิปไตยคือประเทศอังกฤษ เขาทำงานร่วมกัน ถ้ารัฐบาลล่มเมื่อไหร่ก็ตาม ฝ่ายค้านสามารถบริหารงานต่อได้โดยไม่สะดุด เพราะทุกคนทำงานร่วมกันมา รู้งานอยู่แล้ว

ดังนั้น..ทุกวันนี้ถ้าเรารักและห่วงในหลวงจริง ๆ ต้องรักใคร่สามัคคี ต้องทำงานร่วมกัน ทุกอย่างตั้งเป้าเอาไว้ว่าเพื่อในหลวงและประเทศชาติของเรา ถ้าอย่างนั้นจะไปรอด แต่ถ้ายังทำเพื่อตัวเอง รู้อยู่ว่าเช่ารถเมล์มันแพงกว่าซื้อ แต่ยังจะเช่า เพื่ออะไร? ไม่ต้องคิดก็รู้ คำตอบมันมีอยู่แล้ว

จุดที่แย่ที่สุดก็คือความเสื่อมทรามศีลธรรม ตรงจุดนี้แทบจะไม่มีอยู่ในใจของนักการเมืองเลย นึกถึงเพลโต เขาบอกว่า ความดีของบุคคลเริ่มสูญหายไปทันทีที่ก้าวเข้าไปเล่นการเมือง
เพราะฉะนั้น..ทั้งชีวิตของเพลโต ไม่แตะการเมืองเลย เขามีหน้าที่เป็นนักวิชาการ วิจารณ์อยู่ห่าง ๆ

ดังนั้น..สิ่งสำคัญปัจจุบันของเราคือ เรามีหน้าที่อะไร เราทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของการเสียภาษีอากรเพื่อพัฒนาประเทศชาติ แม้ว่าจะเข้ากระเป๋าใครไปบ้าง แต่อย่างน้อยบางส่วนก็กลับเข้าสู่สังคม และเราก็ได้ชื่อว่า เราทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว อาตมายังเจอภาษีร้อยละ ๑๕ เลย ไม่น่าเชื่อว่าพระจะเจอขนาดนี้ เป็นภาษีเงินฝาก เงินวัดมันยังเอา..!"

เถรี
09-06-2009, 18:03
พระอาจารย์สอนว่า "คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน การแสดงออกของแต่ละคนจะต่างกัน

(ท่านหยิบพวงมาลัยขึ้นมา) นี่ดอกมะลิ นี่ดอกรัก นี่ดอกกุหลาบ คนละเรื่องเลย แต่พอมารวมกันเป็นพวงมาลัย มันแลดูสวย ดอกไม้ที่รวมกันเป็นพวงมาลัยได้สวยอย่างนี้ เกิดจากอะไร? มันต้องมีแก่นแกนของมัน คือ เส้นด้ายใช่ไหม ?

พวกเราร้อยพ่อพันแม่ จะให้นิสัยเหมือนกันดั่งแกะออกมาจากบล็อกเดียวกันก็ไม่ได้ แต่ว่าพวกเรามีเบ้าหลอมคือศีล สมาธิ และปัญญาของพระพุทธเจ้า ถ้ายังมีไตรสิกขาอยู่ อย่างไรก็ไม่ล้นออกจากกรอบ ในเมื่อไม่ล้นออกจากกรอบไป อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ มองอย่างไรมันก็งามจนได้

อย่าง เต้ย(สุรจิตร) นี่ก็งามของเต้ย ลองหามุมให้เจอว่างามตรงไหน อาจจะงามแบบดอกตำแยที่ห้อยอยู่ปลายพวงมาลัยก็ได้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าถึงแม้เป็นดอกตำแย แต่ก็ยังพอดูได้ ถ้าเราเห็นปกติธรรมดาตรงนี้ แก่นความเป็นจริงของบุคคลแล้ว เราจะไม่เสียเวลาไปตั้งความหวังกับใคร เพราะแต่ละคนสร้างกรรมมาไม่เหมือนกัน จะไปให้ออกมาเหมือนบล็อกเดียวกันก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าอย่าล้นกรอบก็พอ"

เถรี
09-06-2009, 18:10
"ถ้าขาดเต้ยไปก็เฉาเลย เราจะเห็นความดีของเขาอยู่อย่างหนึ่ง คือ โดนเท่าไหร่ก็ไม่ยุบ กำลังใจแบบนี้เหมาะสำหรับนักปฏิบัติ แต่ให้ไม่ยุบเพราะคิดได้ ไม่ใช่ไม่ยุบเพราะด้าน

แยกให้ออก คิดได้...คิดเป็น...มีปัญญาก็จะปล่อยวาง โดนแล้ววางมัน ไม่ได้เก็บอารมณ์เอาไว้ ก็ไม่ต้องไปเสียใจ แต่ถ้าหากโดนแล้วมันด้าน ไม่รู้สึกรู้สา อย่างนั้นไม่เข็ด..ไม่ไป ต้องพิจารณาให้ดี ๆ ว่าเกิดจากอะไรแน่?"

เถรี
10-06-2009, 09:54
ถาม : จะประกอบอาชีพร้อยพวงมาลัย ทำอย่างไรจึงจะทำออกมาได้สวย?
ตอบ : ให้ขอท่านปู่พระอินทร์ ไม่ใช่ขอให้สวยนะ แต่ขอให้เกิดความคล่องตัวในงานทุกอย่าง หรือไม่อีกอย่างก็ทำสมาธิให้ดี ๆ แล้วตั้งใจเลย ขอบารมีท่านปู่ท่านย่าช่วยสงเคราะห์ อะไรที่เป็นของเดิม ๆ ที่เคยฝึกขอให้กลับมา เดี๋ยวจับอะไรมันก็คุ้นไปหมด

ถ้าเราจะเอางานแม่บ้านแม่เรือนต้องเก็บความรู้สึกเก่า ๆ รู้สึกว่าควรจะเป็นอย่างไร อย่าไปฝืนมือ ปล่อยมันไหลตามสภาพมัน

ถ้าคุ้นมือของอาตมาคือพวกอาวุธ เนื่องจากเกิดเป็นทหารมาเยอะ พอได้จับก็คุ้น ใช้ได้คล่องทันที

อะไรที่มันตั้งใจมากเกินไปมันจะไม่ได้ดี แต่ขณะเดียวกันอะไรที่ขาดความตั้งใจ ก็ไม่ได้ดี ที่จะได้ดีจริง ๆ เกิดจากความชำนาญ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า skill คนไทยเรียกว่าทักษะ ก็คือ ซ้อมบ่อย ๆ จนเป็นธรรมชาติ

เถรี
10-06-2009, 10:08
"ตั้งแต่สมัยเด็กเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นพวกหนังสติ๊ก มีด ปืน ฯลฯ อาตมาจับมาหมด ตอนเด็ก ๆ เคยใช้หนังสติ๊กยิงดอกหญ้าตรงข้างถนน ดอกหญ้าเล็กนิดเดียวแต่เรายิงได้ขาด

ตรงนี้ก็เหมือนกับการปฏิบัติ ใครซ้อมจนคล่องตัวมันจะเป็นเองโดยธรรมชาติ ทิ้งไปนานแค่ไหนก็ตาม ถ้าคล่องตัวจริง ๆ แค่นึกถึงมันก็กลับ ก็เหมือนกับเล่นหนังสติ๊ก ไม่ได้เล่นมา ๓๐-๔๐ ปี ถึงเวลาจับขึ้นมาก็ใช้ได้

ถ้าเป็นการปฏิบัติเขาบอกว่าเกิดวสี คือความชำนาญที่จะกระทำ ฉะนั้น..ขอให้ชำนาญในด้านดี ถ้าชำนาญในด้านชั่ว แย่แน่ ๆ เพราะพวกชำนาญนี่จะทำได้ดีกว่าคนอื่นเขา"

เถรี
10-06-2009, 10:25
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "มีโยมเขาจัดงานแต่งงาน ทีนี้เขามากราบขอร้องให้อาตมาช่วยห้ามฝนให้เขาสองวัน อาตมาก็บอกว่ามากไป" เขาก็ต่อรองบอกว่า ถ้ามากไป เอาวันที่สามวันเดียวก็ได้ เราก็ตกลง

ปรากฏว่าพอถึงวันที่สี่ เราไปบิณฑบาตตัวเปียกไปหมด จำไว้เลยนะ ถ้าทำให้เขา เราก็ต้องยอมรับซะด้วย

ที่ห้ามฝน ไม่ได้หมายความว่าฝนจะหยุดตกไปเลย แต่มันจะรวบยอดไปตกวันอื่นแทน แล้วมันเล่นงานตอนที่อาตมาบิณฑบาต สมน้ำหน้าตัวเองจริง ๆ เลย เพราะฉะนั้น..เรื่องของธรรมชาติอย่าไปยุ่งกับเขาดีที่สุด"

เถรี
10-06-2009, 14:34
ถาม : มีคนเขาบอกว่า ให้ไปไหว้ขอขมาคนอีกคน เนื่องจากคนนี้เป็นเจ้ากรรมนายเวร กรรมที่ส่งผลอยู่จะหายไป ตรงนี้มันจริงหรือคะ?
ตอบ : บางทีก็จริงบางทีก็มั่ว ต้องถามคนที่ดูให้ว่าเขารู้จริงหรือเปล่า?

ถาม : ก็คือคนนี้เขาเป็นมะเร็ง แล้วมีคนดูให้ บอกว่าให้ไปไหว้ขอขมาคน ๆ นี้ ดิฉันสงสัยว่าเป็นมะเร็งแล้ว ไปไหว้คนที่มีตัวตนอยู่ ตรงนี้มะเร็งมันจะหายไปหรือคะ?
ตอบ : ตรงนี้ในอดีตเขาอาจจะเคยสร้างเวรกรรมกันไว้ เราสงสัยได้แสดงว่า มีปัญญามากกว่าพวกที่ฟังเฉย ๆ

สมมติเราไปฆ่าเขา คนที่เราฆ่านั้นก็ไปเกิดตามเวรตามกรรมของเขา แต่ว่าส่วนที่ตามจองเวรไม่ใช่คน ๆ นั้น แต่มันเป็นการกระทำที่เราทำต่อคน ๆ นั้น เพราะฉะนั้น..จริง ๆ ผลที่เราทำไว้นั่นแหละ มันมาเกิดกับเรา เขาก็เลยเรียกมีเจ้ากรรมนายเวร แต่ถ้าหากจำเป็นอยากจะรู้เหตุตรงนี้ เทวดาเขาก็แสดงให้ดูว่าเหตุมันเกิดมาอย่างนี้ ๆ

บังเอิญเราไปจำหน้าเขาได้ ก็ร้องอ๋อ..คนนี้เป็นเจ้ากรรมนายเวร จริง ๆ ไม่ใช่หรอก เป็นตัวเองทำตัวเองต่างหาก

เถรี
10-06-2009, 14:58
ถาม : แนะนำเรื่องการปฏิบัติให้คนในครอบครัว แล้วเขาไม่เชื่อ
ตอบ : ในเรื่องการปฏิบัติ ถ้าเราทำแล้วเกิดผล มันจะสร้างศรัทธาได้ ทีนี้จะทำอย่างไรให้เกิดผล ก็ลองคาถาเงินล้านดูสิ เอาวันละเยอะ ๆ ถ้าเกิดผลเมื่อไหร่ ค่อยไปยืนยันกับเขา ให้เขาเชื่อ

เรื่องแบบนี้เราต้องเอาตัวเองเป็นตัวอย่าง ทำให้เกิดผล ปริยัติศึกษาตามตำรา ปฏิบัติเอาความรู้ที่ศึกษามากระทำให้เกิดผล ปฏิเวธเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถนำผลเอาไปใช้จริงได้ ต้องครบ ๓ สถาน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเขาเรียกว่ายังศึกษาไม่จบ

เถรี
10-06-2009, 15:19
ถาม : ถ้าในฝันเราละเมิดศีล เราจะผิดศีลจริงหรือไม่ ?
ตอบ : นั่นมันฝัน ไม่ใช่ของจริง แต่ก็บ่งบอกว่าในเมื่อมีโอกาสละเมิดศีล แม้แต่ในฝันยังละเมิด แสดงว่ากำลังใจยังไม่ดีพอ ถ้าแม้นในฝันพยายามต่อต้าน ไม่ยอมละเมิดศีล แสดงว่ากำลังใจใช้ได้

ตัวแสบจำเป็น
10-06-2009, 16:53
ถาม : ตอนที่เราอ่านนิยาย มันจะมีบางตอนที่ตัวละครกินเหล้า แล้วทีนี้มันดันเป็นมุกตลกในวงเหล้า เราเผลอไปขำกับมุกตลกนั้นด้วย แบบนี้จะเหมือนกับเราไปโมทนาบาปของเขาหรือเปล่า? แบบไปยินดี ที่เขาดื่มเหล้าแล้วยิงมุกใส่กัน
ตอบ : อันนั้นมันอยู่ในจินตนาการ กินก็กินในจินตนาการ ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ถือว่าโมทนาในบาปนั้น เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าเป็นเรื่องเหล้าจริง ๆ ล่ะก็ เผลอไปยินดีเข้า ก็ตัวใครตัวมันล่ะ

เถรี
10-06-2009, 18:15
หลังจากที่พระอาจารย์ให้พรญาติโยมที่ทำสังฆทาน ท่านก็พูดขึ้นว่า "พวกเราน่าจะฟังภาษาบาลีออก เวลาที่พระสวดมนต์ เวลาที่พระให้พร จริง ๆ แล้วเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ทีนี้เราฟังไม่ออกก็กลายเป็นว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ ความจริงพรจะขลังและศักดิ์สิทธิ์ก็ต่อเมื่อเราทำตาม

พระองค์ท่านตรัสว่า อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ ผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ทรงศีลนั้น วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ ย่อมเป็นผู้ที่เจริญไปด้วยธรรมะสี่ประการ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ เจริญด้วยอายุ เจริญด้วยวรรณะ เจริญด้วยความสุข เจริญด้วยกำลัง

พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ทั้งนั้น ทีนี้พวกเราฟังไม่ออก ไม่รู้แปลว่าอย่างไร รับไปขลัง ๆ เท่านั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะถ้าฟังออกจะรู้ว่ามีอะไรดี ๆ เยอะมาก

พระพุทธเจ้ากล่าวถึงธรรมะของพระองค์ท่านว่า มีอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว ท่านมาพบเข้าจึง วิวรติ วิภชติ เอามาจำแนก เอามาแยกแยะ อาจิกฺขติ เทเสติ เอามาบอกกล่าว เอามาแสดง ปญฺญเปติ ปฏฺฐเปติ เอามาบัญญัติ เอามาก่อตั้ง อุตฺตานีกโรติ ทำของลึกให้ตื้น (ทำของยากให้ง่าย)

สมัยหลัง ๆ นี่คนเขาชอบสอนของยากให้ยากยิ่งขึ้น คนก็เลยเข้าถึงธรรมได้น้อย ความจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนธรรม ท่านสอนในระดับเด็กอนุบาลเลย ถ้าใครไปอ่านพระไตรปิฎกฉบับเต็ม ๆ อาจจะรำคาญ เพราะพระองค์ท่านย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกในหัวข้อนั้น จริง ๆ ก็คือเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่กำลังใจผู้ฟัง แต่ว่าของเราไปอ่านแล้วรู้สึกว่า อ้าว..ซ้ำอีกแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าย้ำแทบทุกคำ พระองค์ท่านสอนง่ายจริง ๆ เช่น

ตัง กิง มัญญะถะ ภิกขะเว อย่างไรเล่าภิกษุทั้งหลาย ? ภิกษุมีความสำคัญว่า รูปัง นิจจัง วา อะนิจจัง วา รูปนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยงเล่า ? อนิจจัง ภันเต ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ยัมปะนา นิจจัง ทุกขัง วา ตัง สุขัง วาติ ก็ถ้าไม่เที่ยงแล้วเป็นสุขหรือทุกข์เล่า ? ทุกขัง ภันเต ทุกข์พระเจ้าข้า

พระองค์ท่านถามตอบทีละประโยคเหมือนกับถามเด็ก พูดง่าย ๆ ว่าอารมณ์ใจของเราถ้าหากน้อมตามไปทีละขั้นนี่ จะไม่บรรลุก็ไม่ได้แล้ว เพราะว่าง่ายจริง ๆ เพียงแต่ว่าสมัยหลัง ๆ เขาเอาของยากมาสอนให้ยากยิ่งขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าเรียนมาก กลัวเขาจะไม่ชมว่าเก่ง เลยต้องสอนให้ยาก ๆ เข้าไว้ก็เป็นได้"

เถรี
10-06-2009, 22:50
พระอาจารย์กล่าวถึงพระที่วัดท่าขนุนว่า "ไม่แน่ใจว่าพระรุ่นนี้จะเป็นโชคหรือเป็นเคราะห์ของเขา เพราะอาตมาดันมีเวลาว่าง เนื่องจากเรียนจบแล้ว ฉะนั้น..ทุกวันนี้เขาจะได้ยินอาจารย์บ่นวันละสามเวลา

บางทีการที่เราฝึกฝนเขา เขาก็ไม่รู้ว่ากำลังศึกษาอะไรอยู่ จริง ๆ แล้วก็คือหลักมหาสติปัฏฐาน ให้เขาสังเกตการออกบิณฑบาต ถ้าหากเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ในช่วงนั้น จะสามารถคงสภาพจิตของตนเองไม่ให้ยินดียินร้ายได้หรือไม่ ? อย่างเช่นว่าเดินอยู่ท้ายแถว บังเอิญโยมเขามาใส่บาตร แล้วกับข้าวหนักมาก แต่เด็กวัดดันไปเดินอยู่หัวแถว ไม่ได้สนใจที่จะมาเก็บกับข้าวไป เพราะเขาไม่ได้มองกลับหลังมา เราจะถือบาตรเดินไปโดยดีหรือจะด่าพ่อด่าแม่เด็กวัดดี ? ตรงนี้ก็คือพวกจิตในจิต ธรรมในธรรม

มีบ้านของโยมคนหนึ่งที่เขาเป็นอัมพฤกษ์ แล้วเขาลุกนั่งไม่ได้ เวลาไปบิณฑบาตที่บ้านเขา บันไดจะชันมาก ๆ ขึ้นลงต้องระวังมากกว่าปกติหลายเท่า โดยเฉพาะตอนฝนตก ถ้าลื่นนี่เป็นเรื่องแน่นอน อาตมาบอกว่าให้ทุกคนสังเกตตัวเอง ขณะที่เดินอยู่ตามพื้นปกติกับตอนที่เดินขึ้นบันได ความรู้สึกต่างกันแค่ไหน ? ทำอย่างไรที่เราจะรักษาความมีสติรู้ระวัง เหมือนกับตอนขึ้นบันไดตรงนั้นให้ได้ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น..พระรุ่นนี้ถ้าหากเขาทำได้อย่างที่ต้องการ ก็คงจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติมาก แต่ถ้าคนไหนทำไม่ได้ก็จะโดนทิ้งห่างมากเลย ตามพวกไม่ทัน ตอนนี้ก็เลยถือเป็นภาระว่า ตอนอยู่วัดอย่างน้อย ๆ ตอนเช้า ตอนเพล หรือตอนทำวัตรเย็น ต้องมีการพูดคุยอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่พวกเขา

รู้สึกว่าอยากทำ เพราะรุ่นนี้มีพระหลายต่อหลายรูปที่เขาตั้งใจปฏิบัติกันจริง ๆ รุ่นนี้เขายอมลำบาก ถึงเวลาฉันเพลเสร็จ ขออนุญาตเดินทางไปถ้ำทะลุโดยเท้า ระยะทางไม่ไกลเท่าไรหรอก ๒๕ กิโลเมตรเท่านั้น ไปกลับก็ ๕๐ กิโลเมตร บางรูปก็ขออนุญาตไปภาวนาอยู่คนเดียวในป่าที่ลึก ๆ สามวันบ้าง หนึ่งวันบ้างแล้วแต่กำลังใจ อาตมาก็อนุญาตทั้งหมด

แต่เตือนพวกท่านเอาไว้ว่า บวชใหม่ ๆ อย่าเพิ่งห่างครูบาอาจารย์ ตอนที่เป็นฆราวาสเราจะเก่งขนาดไหนก็ตาม อารมณ์ใจในตอนบวชจะไม่ใช่อย่างนั้น และโดยเฉพาะในเรื่องของศีล โอกาสพลาดเรามี พลาดเมื่อไรก็มีโทษเมื่อนั้น

นี่กำลังรอผลอยู่ว่าถ้าออกพรรษารับกฐินแล้ว ถ้าท่านสึกกันเกลี้ยงแสดงว่าทนอาตมาไม่ไหว แต่ถ้าท่านอยู่ต่อได้แสดงว่ามีความก้าวหน้า"

เถรี
10-06-2009, 22:51
แล้วท่านก็พูดถึงเรื่องการฉันข้าวว่า "ช่วงบวชใหม่ ๆ เวลาพระฉันอาหารถ้าขาดสติ ช้อนจะกระทบกับจานเสียงดัง พอเตือนพวกท่านไป เสียงจะเงียบไปอึดใจเดียว แล้วต่อมาเสียงจะดังกว่าเดิม ที่ดังกว่าเดิมเพราะเวลาตั้งใจระวัง จะเกิดอาการเกร็ง เวลาพลาดจึงดังกว่าเดิม

การฝึกสติลักษณะนี้ก็ดีไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะได้ลองกับของจริง ในขณะเดียวกันถ้าเกร็งมาก ๆ ก็เป็นเรื่องเหมือนกัน"

เถรี
11-06-2009, 08:25
พระอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องการถ่ายทอดความรู้ว่า "หลายคนมีความสามารถ เรียนรู้ได้เก่งมาก ผ่านการทดสอบด้วยคะแนนที่น่าเชื่อถือ แต่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ของตนเองให้คนอื่นเขาเข้าใจได้ ตรงนี้ขาดอะไรไปใครรู้บ้าง ?

สมัยก่อนเวลาบรรยายร่วมกับ ดร.โกมล แพรกทอง อาตมาต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที เพราะท่านจะบรรยายในแบบที่ท่านรู้ โดยไม่ได้ดูว่าคนฟังเป็นใคร ท่านขึ้นสูงแล้วลงไม่เป็น ถามว่าดร.โกมล เก่งไหม ? เก่งมาก..ความรู้แน่นเลย ประเภทพูดได้หลาย ๆ ชั่วโมงโดยไม่ต้องเปิดตำราดูแม้แต่นิดเดียว แต่ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยมักจะมีปัญหา

ทำอย่างไรเราจะถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ให้คนอื่นรู้ ในลักษณะที่ว่าง่ายสำหรับเขา ตรงจุดนี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทำของลึกให้ตื้น ทำของยากให้ง่าย ส่วนพวกเรานี่ถนัดในการทำของยากให้ยากยิ่งขึ้น"

เถรี
11-06-2009, 22:37
ถาม : ในกรณีที่พระยืมเงินฆราวาสหรือยืมเงินพระด้วยกัน แล้วมีการรับปากว่าจะใช้หนี้ ปรากฏว่าหายไปไม่ได้ติดต่อกัน ตรงนี้จะเป็นอย่างไร ?

ตอบ : ถ้าหากท่านเจตนาโกง แต่ญาติโยมยังไม่ทอดธุระ คือ ยังติดตามอยู่ ท่านยังไม่โดนอาบัติ แต่ถ้าหากญาติโยมทอดธุระ ตัดใจว่าไม่เอาแล้ว ถ้าเกินแม้แต่หนึ่งบาท ก็ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระไปเลย

จริง ๆ แล้วพระไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินขนาดนั้น แต่ก็แปลกใจที่มีการกู้ยืมอยู่ตลอดมา อาตมาไปอยู่ที่เกาะพระฤๅษีไม่นาน ก็มีคนมาขอกู้เงิน รายแรกเป็นผู้ใหญ่บ้าน รายถัดไปเป็นเจ้าแม่เงินกู้อยู่แถว ๆ นั้น เขาจะเอาเงินไปปล่อยให้ชาวบ้าน เขาบอกไว้เสร็จสรรพเลย จะเอาไปปล่อยร้อยละ ๗ เขาจะให้อาตมาร้อยละ ๓ ก็บอกเขาไปว่าให้กู้ไม่ได้หรอก เป็นพระแล้วมาปล่อยเงินกู้ได้อย่างไร เขาบอกว่าพระนี่แหละที่หนูยืมมาเยอะแล้ว..!

ตั้งแต่นั้นมาใครมาขอกู้เงิน อาตมาไม่เคยปฏิเสธเลย มาเลยจะเอาเท่าไร ทำสัญญามาเลย คิดดอกร้อยละ ๑๒๐ หักดอกไว้เลย ปรากฏว่าไม่เห็นมีใครมาเอาสักคน..! ถ้าเขายืมเราสักหมื่นหนึ่ง เราก็ได้หมื่นสองแถมเขายังต้องติดหนี้เราอีกหมื่นหนึ่งด้วย

ไม่อยากปฏิเสธเดี๋ยวเสียน้ำใจ ยินดีให้กู้ทุกราย"

เถรี
11-06-2009, 22:58
พระอาจารย์ได้บอกว่า "อีกห้าปีข้างหน้าจะมีงานร้อยปีหลวงปู่สาย ครั้งนี้จะมีศิษย์เก่าคืนสู่เหย้า

วันก่อนตอนประชุมคณะกรรมการวัด บอกว่างานร้อยปีหลวงปู่สาย พวกลูกศิษย์เก่าจะแก่แค่ไหนต้องมา ถ้ารวมได้ไม่ถึงร้อยถือว่าไม่รักหลวงปู่จริง เพราะตั้งใจจะบวชพระถวายหลวงปู่สักร้อยรูป"

เถรี
12-06-2009, 03:42
ถาม : มีฌานใช้งานแล้ว มีวิปัสสนาแบบใช้งานหรือไม่คะ?
ตอบ : มี

ถาม : รู้สึกอารมณ์ใจเบากว่าเมื่อก่อน ไม่หนัก..แต่ว่าก็ยังกระเพื่อมอยู่
ตอบ : กระเพื่อมไม่เป็นไร รู้ตัวก็รีบหนี เหมือนกับโผล่หัวออกมาจากรู เห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีก็ผลุบกลับไปใหม่ รู้จักเต่าใช่ไหม ? นั่นเลย โผล่หัวมาเจออันตรายก็ผลุบเข้ากระดองไป ใส่เกราะเอาไว้ก่อน จะได้ไม่เจ็บตัว

เถรี
12-06-2009, 03:51
พระอาจารย์ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติว่า "การปฏิบัติจริง ๆ เขาเอาแค่เพียงอย่างเดียว บางทีเราไปทำหลายอย่างก็ทำให้ช้าได้ ถ้าหากว่าทำอย่างเดียวจนกำลังใจทรงตัวแล้ว เอากำลังนั้นไปใช้ในการพิจารณาตัดกิเลสก็จะง่าย ถ้าทำถึงที่สุดแล้ว วิสัยเดิม ๆ จะกลับมา ไม่ต้องไปเสียเวลาฝึกหลายอย่าง

อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล"

เถรี
12-06-2009, 13:02
พระอาจารย์บอกว่า "เวลาทำอะไรอย่าทำแบบเป็ด เพราะเป็ดทำได้ทุกอย่าง แต่ทำดีได้ยาก โบราณเขาบอกว่า

แม้นจะขันขันได้ไม่เหมือนไก่ บินก็ได้แต่ไม่ทันพรรณปักษา ว่ายน้ำได้ก็ไม่ทันเหล่าพรรณปลา เหมือนวิชารู้หลายสิ่งไม่จริงจัง

เคยได้ยินเป็ดขันไหม ? ขันไม่ได้เรื่องเลยทีเดียว เขาบอกว่า อย่าเอาเป็ดไปขันประชันไก่ เพราะอย่างไรก็สู้ไม่ได้ ก็หมายความว่า อย่าเอาคนที่ไม่ถนัดไปทำงานแข่งกับคนที่ถนัด

ส่วนเป็ดที่บินแต่ก็บินสู้นกไม่ได้ เพราะว่าเป็ดต้องบินเป็นช่วง ๆ แล้วต้องพัก แต่นกนี่บินยาวได้เลย ส่วนเป็ดนี่ดำน้ำได้ แต่มันดำได้ครึ่งค่อนตัวเท่านั้นแหละ เขาถึงได้บอกว่า ทำอะไรอย่าทำแบบเป็ด เพราะเป็ดทำเป็นทุกอย่าง แต่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ในเรื่องกรรมฐานเหมือนกัน เอาให้จริงให้ได้สักกองหนึ่งแล้ว ใช้กำลังนั้นไปตัดกิเลส แต่ถ้าไปหยิบหลาย ๆ กองแล้วจะเป็นแบบเป็ด"

เถรี
12-06-2009, 13:36
พระอาจารย์สอนเรื่องการเลี้ยงลูกว่า "เลี้ยงลูกอย่ารักลูกมาก ปล่อยให้เขาทำอะไรด้วยตัวเองให้เร็วที่สุด ถึงเวลาเกิดปุ๊บปั๊บเขาไม่มีเรา เขาจะได้อยู่ได้ ไปตามปกป้อง ไปตามดูแล ไปตามสงเคราะห์ ถ้าหากเราตายก่อน เขาจะทำอะไรไม่เป็น เราซวยหนักเข้าไปอีก เคยอ่านเรื่องพ่อแม่รังแกฉันบ้างไหม ? ที่เขาว่า...


มีซินแสแก่เฒ่าได้เล่าไข ถึงเรื่องงิ้วว่าเล่นกันเช่นไร

มีข้อใหญ่นั้นก็เป็นเช่นละคร

แต่ข้อหนึ่งแกเล่าเขาประสงค์ มุ่งจำนงในข้างเป็นทางสอน
ชี้ทางธรรม์มรรยาทแก่ราษฎร เหมือนละครสุภาษิตไม่ผิดกัน

เราบวชนาคโกนจุกในยุคก่อน มีกล่าวกลอนเพราะพริ้งทำมิ่งขวัญ
การขันหมากยุคเก่าท่านเล่ากัน มีสวดฉันท์เรียกว่าสวดมาไลย์

เค้าก็คือท่านหวังจะสั่งสอน แต่ผันผ่อนตามนิยมสมสมัย
มีเฮฮาพาสนุกเครื่องปลุกใจ สมกับได้มีงานการมงคล ฯลฯ

ลองไปหาอ่านดู เรื่องพ่อแม่รังแกฉัน ของพระยาอุปกิตศิลปสาร"

เถรี
12-06-2009, 14:24
พระอาจารย์ท่านบอกว่า "ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ต้องวางอารมณ์ให้พอดี ถ้าไม่พอดี เกินหรือขาด โอกาสที่จะเข้าถึงเป้าหมายจะยาก แล้วที่ทุกคนจะต้องเจออยู่จุดหนึ่งก็คือ พอทำ ๆ ไปช่วงหนึ่งแล้วตัน ไปต่อไม่ได้ อันนั้นไม่ได้หมายความว่าเราทำแล้วไม่ได้ผล หากแต่ว่าเกิดจากว่าสติ สมาธิ ปัญญาของเราที่สั่งสมมา ยังไม่พอที่จะก้าวพ้นจุดนั้นได้ ดังนั้น..จึงไม่ใช่เลิกทำ แต่ว่าต้องย้ำแล้วย้ำอีก ทำแล้วทำอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ในลักษณะนั้นจะเบื่อไม่ได้

พอถึงเวลาแล้วไม่ได้อย่างใจ ความต้องการที่จะได้อย่างใจ ก็จะทำให้เราหงุดหงิด เบื่อ เซ็ง บางคนก็ประชดชีวิตเลิกทำไปเลย เราจะเบื่อไม่ได้ ให้รู้ไว้ด้วยว่านั่นเกิดจากการสั่งสมของศีล สมาธิ ปัญญายังไม่ได้ในระดับหนึ่ง ต้องซักซ้อมใหม่ ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตอกหัวตะปูเข้าไป เดี๋ยวก็จมมิดไปเอง ถ้ากำลังพอแล้ว ถึงเวลาเมื่อเราก้าวล่วงไปแล้ว หันไปดู อ้าว...คราวที่แล้วโง่ฉิบหายเลย เสือกโง่เอง

เหมือนกับว่า นักโทษเจาะกำแพง เจาะไป ๆ มุดเข้าไปทั้งตัวแล้วยังไม่ทะลุสักที เบื่อ ถอยกลับ ทั้งที่เหลือกำแพงหนาแค่นิ้วเดียวเท่านั้น แต่หมดกำลังใจ ท้อถอย เลิกทำเสียก่อน น่าเสียดายมาก"

เถรี
12-06-2009, 14:26
พระอาจารย์สอนว่า "กรรมฐานให้เริ่มจากกองที่เราถนัด พอเราทำที่ถนัดจนอารมณ์ใจทรงตัวสูงสุดแล้ว เราค่อยถอยลงมาเริ่มของใหม่ที่เราจะทำ แต่ถ้าเรามาถึงแล้วก็ไปเริ่มใหม่ มาถึงก็ไปเริ่มใหม่ ก็จะ ก.ไก่ ข.ไข่อยู่เรื่อย"

เถรี
12-06-2009, 19:50
พระอาจารย์บอกว่า "ในการจารตระกรุดมหาสะท้อน กำลังใจต้องได้ชนิดที่ว่าจารเสร็จใช้งานได้เลย"

เถรี
13-06-2009, 00:13
พระอาจารย์บอกว่า "ที่เราเจอมา บางทีสิ่งที่เราสอนมันเป็นดาบสองคม ดังนั้น..ในเรื่องการปฏิบัติสำคัญที่สุดก็คือเป้าหมาย เราต้องทบทวนไตร่ตรองอยู่เสมอ ๆ คือ ตัววิมังสาในอิทธิบาท

เราทำเพื่ออะไร? ตอนนี้ทำถึงไหน? ยังตรงเป้าหมายหรือเปล่า? เหลืออีกใกล้ไกลเท่าไหร่? ถ้าหากเราไม่ทวนตรงนี้บ่อย ๆ ก็จะหลุดเป้า แล้วเดี๋ยวจะเตลิดเปิดเปิงไปตามที่เขาหลอก"

เถรี
13-06-2009, 13:13
ในเรื่องความกลัวนั้น พระอาจารย์บอกกับพระลูกศิษย์ว่า "ถ้าหากเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องปกติแล้ว เราจะหมดความกลัวทุกอย่างเลย

ผมตามดูมาเป็นปี ๆ เรื่องกลัวตาย เช่น กลัวผี ผีหลอกแล้วจะทำอย่างไร ? ก็บีบคอเราแล้วเราจะเป็นอย่างไร ? เราก็ตาย หรือเข้าป่ากลัวงูกัด กัดแล้วเป็นอย่างไร ? เดี๋ยวก็ตาย ท้ายสุดมาลงที่ตายหมดเลย เพราะฉะนั้น..ผมเลยมาสรุปว่าความกลัวทั้งหมด ไม่ว่ากลัวจากภายในหรือภายนอกก็คือกลัวตายอย่างเดียว

กลัวแล้วไปปรุงแต่ง ผมไปนั่งกรรมฐานในป่าช้า พอดึก ๆ เสียงอะไรดังจะได้ยินชัดมาก ผมก็ฟัง..เสียงดังขนาดนี้เหมือนเสียงงูตัวเล็กเลื้อย ก็ถือไฟฉายไปส่อง ที่ไหนได้ยังไม่ทันได้ส่องเลย ใจไปแวบว่า "ตัวขนาดนั้น ถ้ามีพิษเราโดนกัดก็ตายนะ" คราวนี้คิดไปใหญ่เลย "ตัวอาจจะใหญ่กว่าขนาดที่เราคิดไว้" คิดไปเรื่อย ประมาณชั่วโมงเดียวงูตัวนั้นใหญ่เท่าเสาเลย..! ก็คือปรุงแต่งเพิ่มขนาดไปเรื่อย

ในสถานการณ์จริงสิ่งที่เราซ้อมมายังใช้ไม่ได้ ยังเป็นแค่เราจำได้ ยังไม่ใช่ทำได้ เพราะฉะนั้น..ทำอย่างไร เราก็สมมติสถานการณ์และก็ไปซ้อมบ่อย ๆ ครูบาอาจารย์ท่านถึงได้บอกว่าต้องออกธุดงค์ ต้องเข้าป่า ต้องนอนป่าช้า ซ้อมให้จิตเคยชินเอาไว้ พอมาเจอสภาพแบบนั้นจริง ๆ จะได้ไม่กลัว

ผมเองก็อยากรู้ที่โบราณเขาบอกว่า เข้าป่าธุดงค์อย่าไปปักกลดขวางทางสัตว์ ผมก็ปักเลย อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คราวนี้ขวางทางเดินประจำของเขา ก็เป็นเรื่องสิครับ เสือจะลงกินน้ำ ผมขวางอยู่เสือก็ไม่กล้าลง เสือก็กลัวนะ ไม่ใช่ไม่กลัว ก็เดินวน ๆ เดี๋ยวก็คำรามไปเรื่อย เมื่อเห็นผมไม่ไปแน่ ก็ตะกุยต้นไม้แคว่ก ๆ รุ่งเช้าไปดู โอ้โห..ต้นไม้แหกอย่างกับซอยมะละกอจะทำส้มตำ..!

ต้องหัดให้ได้อย่างนี้ก็คือ ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ให้สติอยู่ตรงหน้า รู้อยู่ว่าความตายเป็นของธรรมดา ร่างกายที่เรารักนักรักหนานี้ไม่ใช่ของเราหรอก เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง เราเหมือนกับคนขับรถ เวลารถพังถ้าเปิดประตูได้ก็ลงไปหารถคันใหม่ ถ้าเห็นเป็นธรรมดาเราจะไม่กลัวตาย แต่ถ้าเราไปเห็นว่าเราไม่ใช่คนขับรถ ตัวเราเป็นรถยนต์ ที่นี้จะกลัวเป็นบ้าเป็นหลังเลย ใครเข้าใกล้นี่ก็กลัว เดี๋ยวใครเขาจะชนจะเฉี่ยวเอา

ทีนี้กว่าจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา ก็ต้องมานั่งแยกรูปแยกธาตุ กว่าจะเห็นว่าเป็นธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลมได้ ต้องแยกแล้วสลายออก แยกแล้วรวมเข้า แยกแล้วแยกอีก จนในยอมรับจริง ๆ ว่าไม่ใช่ของเรา ความกลัวตายจะลดลงจนหายไปเอง

ก่อนหน้านี้ตอนเด็ก ๆ ผมกลัวผี แล้วห้องน้ำก็ไม่ได้อยู่ข้างในบ้าน ส้วมหลุมอยู่ข้างนอกบ้านไกลมาก ต้องเดินผ่านป่าไปด้วย มืดตื๋อเลย กลัวผีมาก จนต้องอั้นขี้อั้นเยี่ยวอยู่จนสว่าง แต่พอเข้าใจแล้วก็สามารถไปได้ เพราะว่าไม่กลัวแล้ว"

เถรี
13-06-2009, 13:16
พระอาจารย์บอกว่า "ในการปฏิบัติธรรมต้องรู้จักสังเกตอารมณ์ตัวเอง

การสังเกตแยกแยะก็คือ ตัวธัมมวิจยะในสัมโพชฌงค์ ต้องแยกแยะได้ ว่าเกิดจากอะไร ถ้าสิ่งที่ดีเกิดก็พยายามทำต่อไป จะได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าสิ่งที่ไม่ดีเกิด ต้องดูว่าเกิดจากอะไร แล้วพยายามเลิกทำสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น..เราต้องสังเกต สังเกตไปสังเกตมา จะเป็นตัวมหาสติปัฏฐานสูตร จิตในจิต ธรรมในธรรม จะเข้าใจมากขึ้นไปเรื่อย ๆ "

เถรี
13-06-2009, 14:18
ถาม : อารมณ์ปีติ?
ตอบ : ต้องปล่อยให้เต็มที่ ถ้าเกิดขึ้นต้องปล่อยให้เต็มที่ไปทีเดียวเลย อาการจึงจะเลิก แต่ถ้าเราไปรั้งไว้เพราะอายคน เพราะกลัวคน ก็ยังคาอยู่ แต่ถ้าเราสังเกตดู ถึงแม้ว่าจะดิ้นตึงตังโครมคราม น้ำตาไหล หรือลอยไปทั้งตัว อะไรก็ตาม ใจเราก็ยังนิ่งอยู่ข้างใน

ในเมื่อใจนิ่ง ร่างกายอยากดิ้นก็ปล่อยให้ดิ้นไป ถ้าเต็มที่แล้วก็จะเลิกไปเอง แต่ถ้าหากเราไปห้ามไว้ กำลังใจถึงตรงนั้นเมื่อไร กำลังใจลงล็อกเมื่อไร จะเป็นอย่างนั้นทุกที จะเป็นไม่เลิกหรอก เพราะว่าเราไม่ยอมปล่อยจนก้าวผ่าน ฉะนั้น..ถ้าหากเป็นต้องปล่อยให้เต็มที่ ไม่ต้องไปปรุงอะไร แค่เราตามดูเฉย ๆ

อาตมาดิ้นตึงตังโครมครามมาสองเดือนกว่า ก็ตามดูไปเรื่อย อ๋อ "ใจเรานิ่ง" ถ้าใจนิ่งตัวอยากดิ้น..ก็ดิ้นไปเถอะ

เถรี
13-06-2009, 15:12
พระอาจารย์บอกว่า "สำคัญที่สุดก็คือ อย่าทิ้งอานาปานสติ เรื่องของการดูลมหายใจเข้าออก ถ้าหากเราไม่ทิ้งตรงนี้ กำลังใจจะทรงตัวจะมีกำลังพอ ถึงเวลารัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมาจะมีกำลังในการยั้งคิด ในเมื่อยั้งคิดแล้ว แรก ๆ ก็อาจจะอกแตกตาย พอโกรธขึ้นมาก็อยากด่า แต่เราจะมีกำลังพอที่จะห้ามกิเลสได้

หลังจากนั้นพอฝึกซ้อมมากขึ้น ๆ จะเจอวิธีลดความโกรธนั้นลง ลดความโลภลง ลดราคะลง ทำไปท้ายสุดก็จะมีความแตกฉาน แล้วก็จะคว้าขึ้นเอามาใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง ๆ ที่อยู่ตรงหน้า แต่กว่าจะเป็นอย่างนั้นหกล้มหกลุกทุกราย พูดง่าย ๆ ถ้าเป็นนักรบก็แผลทั้งตัว

กิเลสไม่เคยปรานีเราหรอก ถ้าเห็นเราจะหนีก็ตีตายเลย เพราะฉะนั้น..มีทางเดียวคือต้องสู้กันจริง ๆ"

เถรี
13-06-2009, 17:15
พระอาจารย์บอกว่า "จริง ๆ ถ้าทำไปถึงจุดหนึ่งแล้ว หลับกับตื่นจะเท่ากันหมด ถ้าหากหลับกับตื่นอารมณ์ใจเท่ากัน กิเลสจะกินเราไม่ได้ แต่แรก ๆ จิตจะไม่ละเอียดพอ เมื่อสติขาด ก็จะตัดหลับไปเลย

บาลีเขาว่า พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็คือหลับกับตื่นรู้เท่ากัน หลับก็รู้อยู่ว่าหลับ จะตื่นก็บอกตัวเองว่าพร้อมจะตื่นหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วต้องทำอะไรบ้าง จะบอกทีละขั้นเลย บอกทีละขั้นเหมือนกับหุ่นยนต์ เรารู้สึกว่าช้ามาก แต่คนอื่นเขาจะเห็นเราดีดตัวลุกขึ้นยืนเลย แต่ความละเอียดและความไวของจิตจะเห็นตอนนั้นช้ามาก ๆ แล้วถ้าเกิดขั้นตอนไหนผิดพลาดก็จะแก้ไขระหว่างนั้นได้ทัน

ถ้าจิตมีความเร็วขนาดนี้ถึงจะสู้กิเลสได้ ไม่เช่นนั้นกิเลสเกิดเร็วแล้วเราระวังไม่ทัน อาตมาเองทำมายาก แล้วก็รู้ด้วยว่าถ้าเขาทำแบบอาตมา บางทีเขาอาจจะท้อและเลิกไปเลย เพราะฉะนั้น...ใครมาถามอาตมาไม่ปิดไม่บังเลย อาตมาบอกหมด ให้เขาทำได้จริง ๆ เถอะ

ญาติโยมเขามาตรงนี้ เขาถามอะไรอาตมาบอก บางขั้นตอนเป็นปี ๆ ต้องซ้อมแล้วซ้อมอีก ย้ำแล้วย้ำอีก จนกว่าจะเกิดความชำนาญก้าวผ่านไป ถ้าคนถาม..ถามแล้วเอาไปปฏิบัติและมีความเชื่อตามนั้น เดี๋ยวเดียวเขาก็ได้แล้ว ไม่ต้องไปเสียเวลานาน ๆ คนเสียเวลานานมักจะท้อแท้และหมดอารมณ์"

เถรี
13-06-2009, 21:08
พระอาจารย์ได้กล่าวกับพระว่า "จริง ๆ ทุกท่านได้เปรียบคนอื่น เราเรียนบาลี โอกาสที่จะเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ตรงกว่าคนอื่นมันมี เพราะสามารถแปลได้เอง

แต่ว่าการแปลเป็นในส่วนที่เป็นภาษาหนังสือ การปฏิบัติมีส่วนที่เป็นภาษาใจ ส่วนของภาษาใจนี่แหละ ที่เราไม่สามารถจะพูดออกมาได้ เพราะว่าภาษาเขียน ภาษาหนังสือมันหยาบเกินที่จะอธิบายได้ เขาถึงได้ใช้คำว่า ปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน

อย่างเช่นไฟมันร้อน เราก็เขียนคำว่าร้อน ทุกคนก็รู้หมดว่าไฟมันร้อน แต่มันรู้ตามหนังสือ จะรู้จริง ๆ ก็ตอนไหม้แล้วร้องโอ๊ย อ๋อ..ที่เขาบอกว่าร้อนอาการมันเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนหน้านี้เราพูดว่ารู้ตามหนังสือยังไม่ใช่รู้จริง ๆ

เพราะฉะนั้น..สิ่งที่เราศึกษามันเป็นพื้นฐาน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง แปลได้ไม่ผิดพลาด แต่หลังจากนั้นแล้วต้องทำให้เกิด โดยเฉพาะเรียนบาลีอย่าท้อ ถ้าหากว่าทำสมาธิได้ควรจะทำ ถ้าสมาธิไม่ทรงตัว เรียนไปแล้วยาก เราจะท้อหมดกำลังใจ

ถ้าสมาธิทรงตัว จิตที่กระเพื่อมตลอดเวลามันจะนิ่ง เหมือนกับน้ำนิ่ง ตอนน้ำกระเพื่อมมันใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ตอนที่น้ำมันนิ่ง มันสะท้อนเห็นทุกอย่าง

เวลาที่มันนิ่ง สมาธิมันได้ที่ ฟังอาจารย์แค่ครั้งเดียวก็จำได้หมด"

เถรี
13-06-2009, 21:33
พระอาจารย์บอกว่า "เรื่องของสมถะกับวิปัสสนา จริง ๆ เหมือนกับคนผูกขาติดกัน ต้องผลัดกันก้าวทีละขา ถ้าก้าวขาเดียวไปแล้วไม่ก้าวอีกขา พอไปถึงแล้วก็โดนกระตุกกลับเข้ามา

สมถะคือการสร้างกำลัง วิปัสสนาเป็นอาวุธ มีกำลังและอาวุธจะตัดจะฟันอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น..เราภาวนาจนอารมณ์มันทรงตัวเต็มที่ ถ้าสังเกตแล้วจะรู้ว่าพอเต็มที่มันจะถอยของมันมาเอง ตอนที่มันถอยนี่แหละ ถ้าเราไม่หาวิปัสสนาให้มันคิด มันจะฟุ้งซ่านไปในรัก โลภ โกรธ หลงเลย แล้วจะรัก โลภ โกรธ หลงได้ชัดเจนมาก จนกระทั่งเขาบอกว่าอยากรู้ว่ามีกิเลสเท่าไหร่ให้ไปทำกรรมฐาน

นั่นเรื่องจริง เพราะถ้าเราใช้ไม่เป็น ด้วยความที่จิตมันนิ่ง จิตมีกำลัง ในเมื่อมีกำลัง ถ้าเราไม่ใช้ในด้านดีก็เอากำลังไปใช้ในด้านชั่ว รัก โลภ โกรธ หลงจะเด่นชัดมาก ๆ เลย

คราวนี้พอสมาธิเริ่มถอย เราก็หางานให้มันทำ ก็คือ วิปัสสนาญาณเอาให้มันคิด ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ จนยอมรับสภาพจริง ๆ ว่ามันเป็นอย่างนั้น ถ้ามันยังไม่ยอมต้องคิดใหม่

ตอนคิด เราจะคิดไปเรื่อย ๆ จิตมันจะดิ่งลึกไปเรื่อย จะเห็นชัดเจนไปเรื่อย จะกลายเป็นภาวนาอีกรอบหนึ่ง พอมันเข้าไปในการภาวนามันจะเป็นสมถะ เราก็ว่าสมถะไป ก็แปลว่าเมื่อกี้เป็นสมถะหนึ่งก้าว แล้วเรามาวิปัสสนาหนึ่งก้าว พอมันสุดแล้วมันเป็นสมถะอีกก้าวหนึ่ง ก็เลยเป็นภาวนาสลับพิจารณาไปเรื่อย

ไม่ใช่ไปเริ่มต้นใหม่นะ เราทำอย่างนั้นมันจะเข้าหาสมาธิของมันเอง เพียงแต่ว่าการพิจารณาจะดิ่งลึกเข้าไปเรื่อย ทำอันใดอันหนึ่งไม่พอ

สมถะอย่างเดียวมีกำลัง แต่ถ้าหากเผลอหลุดเมื่อไหร่กิเลสก็งอกงามใหม่ วิปัสสนาอย่างเดียวมันเป็นอาวุธก็จริง แต่ถ้ากำลังไม่พอมันก็ตัดอะไรไม่ได้ ต้องทำสองอย่างสลับกัน มันผูกขาติดอยู่ ทิ้งกันไม่ได้หรอก ถ้าทิ้งแล้วไปเอาอันเดียว มันหลุดได้ เพราะว่าเราต้องใช้สมาธิ ใช้ฌานสมาบัติกดรัก โลภ โกรธ หลงให้กิเลสกระดิกไม่ได้ ทับหญ้า ทับนาน ๆ หญ้ามันตาย แต่อย่าให้หลุดนะ ถ้าหลุดนี่มันงอกงามกว่าเดิมปกติหลายเท่าเลย

เรื่องของวิปัสสนาก็เหมือนกัน ถ้าหากเราคิดไป ๆ ก็จะเป็นสมาธิได้ แต่ว่าสมาธิในวิปัสสนากำลังจะน้อย กว่าจะตัดกิเลสได้ต้องสั่งสมไปเรื่อย ที่เขาบอกว่าให้ใช้สมาธิจดจ่อต่อเนื่อง จดจ่อต่อเนื่อง มันจะภาวนาไปเรื่อยตามที่เขาบอก ก็คือขาดไม่ได้ ถ้าทิ้งช่วงเมื่อไหร่ก็เจ๊งเลย

เราจะเห็นว่าต่อให้เป็นอาจารย์ที่มาสอนและสอบอารมณ์กับเราก็ตาม เผลอเมื่อไหร่ก็ไหลตามเรา ตอนสอบอารมณ์พอเขาหลุดจากสมาธิ ก็ไหลตามเราเหมือนกัน"

เถรี
13-06-2009, 21:44
พระอาจารย์บอกว่า "การปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นสายไหนก็ตาม ที่สุดแล้วก็เหมือนกัน แต่สำคัญตอนที่ทำต้องทำให้ต่อเนื่อง ถ้าไม่ต่อเนื่องก็เหมือนกับการที่เราฝืนกระแสว่ายทวนน้ำ

ทีนี้พอเราฝืนไป ๆ ถ้าเราปล่อยก็จะไหลตามน้ำ กลายเป็นว่าขยันทำงานแต่ผลงานไม่มี พอถึงเวลาก็ปล่อยไหลตามน้ำไป แบบนั้นว่ายน้ำเท่าไหร่ก็ได้เท่าเดิม เพราะฉะนั้น..ต้องทำให้ต่อเนื่อง"

เถรี
13-06-2009, 21:52
ถาม : เวลาที่กำลังอยู่ในอารมณ์สมาธิอยู่ ทีนี้พอไปคุยกับคนอื่นแล้วจะมีความรู้สึกว่าเหนื่อย
ตอบ : เรื่องของสมาธิ บางทีเราก็ไม่อยากคุยเลย ถ้าต้องฝืนใจมาคุย ก็ต้องฝืนในลักษณะ"ให้มันหน่อย" คนที่เคยยกข้าวสารเป็นกระสอบ อยู่ ๆ โดนตัดกำลังไป แต่ดันไปยกกระสอบเท่าเดิมก็แย่สิครับ

มีอยู่อย่างเดียวว่าเรารักษาอารมณ์แล้วคลายกำลังออกมาคุยกับเขา ก็จะเป็นปกติ แต่ถ้าเราคลายออกมาไม่หมดไปคุยกับเขาก็จะเหนื่อยแบบนี้

เถรี
13-06-2009, 21:53
ถาม : เวลานอน เมื่อตื่นขึ้นมา หนูจะรู้สึกเหนื่อย เหนื่อยในที่นี้คือเหนื่อยกายในไม่ใช่กายนอก
ตอบ : บางทีสมาธิจิตเราใช้ไปโดยไม่รู้ตัว ใช้ตอนหลับ เราอาจจะพยายามกดกิเลสบางส่วนเอาไว้ไม่ให้มันงอกงามตอนเราหลับอยู่ ตรงที่เราต้องกอดต้องปล้ำกับมันตรงนั้น จะทำให้เราเหนื่อยจนลิ้นห้อย แต่ถ้าทำให้ชำนาญ หลับกับตื่นเท่ากัน คราวนี้จะไม่เหนื่อย

เถรี
13-06-2009, 22:16
พระอาจารย์บอกว่า "ขอยืนยันว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าถ้าเราปฏิบัติเมื่อไหร่ได้ผลเมื่อนั้น อย่าเพิ่งไปท้อว่าไม่ใช่สมัยพุทธกาล ทำแล้วไม่ได้มรรคไม่ได้ผล ไม่จริงครับ อยู่ที่เราทำจริงหรือเปล่า?

เรื่องของการปฏิบัติเป็นการสั่งสม ค่อย ๆ สะสม พอถึงระดับหนึ่งแล้วจะเริ่มงอกเป็นดอกเป็นผลขึ้นมา เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ จะไปเร่งรัดให้มันโตก็ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันหน้าที่บำรุงรักษาก็ขาดไม่ได้ จึงต้องทำอยู่เรื่อย ๆ

ผมนึกถึงหลวงพ่อมหาธนิต ปญฺญาปสุตฺโต ท่านอยู่วัดเทพศิรินทร์ ท่านตั้งใจไว้เลยว่า จะเรียนทางโลกให้จบประโยคเก้า
แล้วหลังจากนั้นท่านจะทุ่มเทให้กับทางธรรม แล้วท่านก็ทำได้อย่างปากว่าจริง ๆ เพราะท่านเป็นคนจริงจัง พอจบประโยคเก้า ท่านขออนุญาตอาจารย์แบกกลดออกธุดงค์เลย ทั้ง ๆ ที่ อาจารย์เสียดายมาก ๆ อยากได้ตัวใช้งาน เพราะท่านเรียนเก่ง แล้วท่านก็อยู่ป่าจนกระทั่งมรณภาพในป่า เป็นพระป่าสมใจเลย ต้องเรียกว่าตายกลางสมรภูมิ กว่าคนจะรู้ศพท่านก็เน่าแล้ว ท่านนั่งสมาธิตาย

อย่างท่านหลวงพ่อมหาธนิต ท่านตั้งใจเรียนเพื่อศึกษาธรรมจริง ๆ จะได้มั่นใจว่าแปลพระไตรปิฎกได้แน่นอน"

เถรี
13-06-2009, 23:03
พระอาจารย์บอกในเรื่องการปฏิบัติว่า "ต้องซ้อมแล้วซ้อมอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ถ้าจิตยอมรับจริง ๆ ก็จะไม่ดิ้นรน ถ้าจิตยอมรับจริง ๆ จะเห็นสภาพธรรมดา จะไม่เบื่อ ไม่หน่าย ไม่ได้อยากตาย แต่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะตาย"

เถรี
14-06-2009, 10:38
ถาม : การปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเสียที
ตอบ : ทำขาด การปฏิบัติของเราขาดความต่อเนื่อง ต้องถามว่า ถ้าเราจะเอาผลภายใน ๒๔ ชั่วโมง แล้วเราให้เวลาในการปฏิบัติกี่ชั่วโมง?

ถ้าจะเอาให้ได้ผลจริง ๆ ต้องทุ่มเทให้กับมัน แต่ว่าการทุ่มเทไม่ได้หมายถึง เราไม่ทำอย่างอื่นเลย หากแต่ว่าเวลาเราทำแล้วให้กำลังใจมันทรงตัว ลุกแล้วอย่าทิ้งเลย ให้รักษากำลังใจนั้นเอาไว้ให้อยู่กับเรา จะพูด นอน เดิน ยืน กิน จะทำอะไรก็ตาม ให้กำลังใจเหมือนกับตอนที่เรานั่งปฏิบัติ

ถ้าสามารถทำอย่างนี้ให้ต่อเนื่องได้ ความก้าวหน้าจะมี ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็อยู่แค่นั้นแหละ

เถรี
14-06-2009, 11:34
พระอาจารย์บอกว่า "ในเรื่องการปฏิบัติต้องทำให้เกิดผล ถ้าเกิดผลแล้วเราจะเริ่มเชื่อ แต่สำคัญที่ว่า ทุกอย่างเริ่มจากศรัทธา แม้ว่าศรัทธายังไม่เต็มร้อย แต่พอปฏิบัติไปแล้วเกิดผลจะมาเอง ถ้าศรัทธาเต็มร้อยเราจะทุ่มให้กับการปฏิบัติ"

เถรี
14-06-2009, 14:39
ถาม : กรรมบถ ๑๐
ตอบ : จริง ๆ แล้วกรรมบถ ๑๐ เป็นของละเอียดมาก การพูดเพ้อเจ้อ ก็คือ การพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ขัดขวางกับการปฏิบัติความดี อันนี้คือเป็นหลัก ๆ

ฉะนั้น..ถ้าหากไม่ได้ชวนกันทำความดี ชวนไปทำความชั่ว หรือไม่ก็ไปพูดไปคุยโดยเสียเวลาการปฏิบัติความดี ตรงนี้ก็เป็นการพูดเพ้อเจ้อ

เถรี
14-06-2009, 15:12
พระอาจารย์บอกว่า "การศรัทธาในพระรัตนตรัย ถ้ายังไม่มั่นคงแน่นแฟ้นจริง การปฏิบัติก็ยังไม่จริงจัง ถ้าหากศรัทธาในพระรัตนตรัยมั่นคงแน่นแฟ้นจริง การปฏิบัติก็จะทุ่มเท"

เถรี
14-06-2009, 15:35
ตอนไปบ้านอนุสาวรีย์ เถรีพกหนังสือเพชรพระอุมาไปอ่านด้วย พออ่านจบไปหนึ่งเล่ม พระอาจารย์ถามว่า "ได้อะไรจากมันตรัยบ้าง?

เราต้องดูไปจุดที่ว่า มันตรัยพยายามทุกอย่างที่จะรักษาคัมภีร์มายาวิน เพราะว่าคัมภีร์นั้นเป็นศูนย์รวมของทุกอย่างที่เขาเสริมสร้างเอาไว้ สูญเสียเมื่อไหร่ก็แปลว่าพังทลาย

ทำอย่างไรเราจะรักษาสภาพจิตใจของเราไม่ให้สูญเสียไปเพราะรัก โลภ โกรธ หลงได้ เพราะถ้าเสียเมื่อไหร่ทุกอย่างก็พังหมด

แม้ว่ามันตรัยมันจะเป็นตัวโกงในสายตาของเรา แต่เขาบอกว่าให้ดูเยี่ยงกา แต่อย่าเอาอย่างกา ดูหนังดูละครให้ย้อนดูตัว คิดให้เป็น ถ้าหากว่าปราศจากจินตนาการ คราวนี้ความดีมันเข้ายาก แต่ว่าจินตนาการให้มันพอเหมาะพอดี ถ้าจินตนาการเตลิด กู่ไม่กลับ ออกทะเลได้อย่างเดียว ไปลิบ ๆ เลย

มันตรัยจะเก่งอย่างนั้นได้ เพราะผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก เราเองถ้าอยากเก่งก็ต้องแบบเดียวกัน ทุ่มเทให้กับการฝึกฝนทุกอย่าง อย่าลืมว่าเขาแยกจิตได้ใช่ไหม? รู้ว่าอันตรายจะเกิดขึ้นกับร่างนี้ก็ทิ้งมันก่อน ไปอยู่อีกร่างหนึ่ง ลักษณะสภาพจิตของเราก็เหมือนกัน รู้ว่าอันตรายจะเกิดขึ้นจากรัก โลภ โกรธ หลง ก็รีบเผ่นไปหาพระ เลียนแบบได้ แต่ไม่ใช่ทำอย่างเขา"

ถาม : แล้วแหม่มมาเรียละคะ?
ตอบ : ตั้งแต่เล่มแรก ๆ จนกระทั่งเล่มท้าย ๆ เราจะเห็นความมุ่งมั่นของแหม่มมาเรีย เขามุ่งมั่นว่าจะปล้ำรพินทร์ให้ได้ ตรงจุดนี้แหละ เราเอาความมุ่งมั่นของเขามาใช้ กรรมฐานกองใดที่เราจะทำ เราต้องทำให้ได้ เหมือนอย่างที่มาเรียเขาตั้งใจจะปล้ำรพินทร์ให้ได้

เถรี
14-06-2009, 15:56
เราจะเห็นว่า จริง ๆ ตัวละครแต่ละตัวเขาจะมีความดีของเขาอยู่ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะเอาไปใช้ผิดด้าน อย่างที่เมื่อครู่ได้บอกกับท่านมหาฯ ว่า เมื่อเราฝึกภาวนาเสร็จแล้ว พอใจคลายออกมาต้องรีบมาพิจารณา ไม่เช่นนั้นจะไปในด้านรัก โลภ โกรธ หลง กลายเป็นเอากำลังในการภาวนาไปใช้ในทางด้านนั้น และกำลังมันจะรุนแรงมาก ต้องรีบดึงมาพิจารณา อย่าใช้ผิดด้าน

ในเรื่องของตัวละครต่าง ๆ หรือความประพฤติของเขา แม้ว่าจะอยู่ในด้านที่ไม่ดี แต่เรามาคิดว่า ถ้าเป็นด้านดีเราจะเอากำลังมาใช้อย่างไร เหมือนกับตอนที่ทิดหนูบวชอยู่ เขาอ่านหนังสืออยู่ เพื่อนจะทำอย่างไรเขาไม่สนใจ เพ่งอยู่กับหนังสือ ฉะนั้น..ทำอย่างไรจะเอากำลังใจที่มุ่งมั่นและเจาะจงอย่างนั้นมาใช้กับการปฏิบัติ

เถรี
15-06-2009, 00:06
พระอาจารย์ได้ยกเรื่องราวของบุคคลสมัยพุทธกาลที่เกี่ยวข้องกับตุ้มหูมาให้ฟัง ดังนี้

"ตุ้มหู บางคนก็เรียกต่างหู แต่ในพระไตรปิฎกถ้ากล่าวถึงตุ้มหูมีคนดังอยู่สองท่าน ท่านแรกเป็นตัวอย่างที่ดีก็คือ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร

มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรเป็นลูกเศรษฐี แต่พ่อขี้เหนียวอย่าบอกใครเลย ในเมื่อพ่อขี้เหนียว แม้แต่เครื่องประดับของลูกก็ไม่ใช้ทองเหมือนบ้านอื่นเขา แกไปเอาไม้มากลึงเป็นตุ้มหูแล้วขัดเสียเงาวับ ให้ลูกใส่ เขาก็เลยเรียก มัฏฐกุณฑลี แปลว่า ผู้มีต่างหูเกลี้ยง

เนื่องจากมัฏฐกุณฑลีเป็นลูกเศรษฐี จึงอาละวาดตามใจชอบ ความชั่วทุกประเภทมีอะไรทำหมด ดูแล้วสมควรลงนรกเป็นอย่างยิ่งแต่กลับไม่ได้ลง ทีนี้ด้วยความที่ตัวเองเที่ยวมาก ก็เลยป่วยหนัก พ่อก็กลัวว่าถ้าญาติมาเยี่ยมแล้วเห็นทรัพย์สินเงินทองจะเอ่ยปากขอ ก็เลยเอาลูกไปวางทิ้งไว้ที่ระเบียงนอกชาน หายารักษาตามมีตามเกิด อาการก็ไม่หายมีแต่หนักขึ้น ๆ

พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปพร้อมกับพระอานนท์ ไปบิณฑบาต เห็นมัฏฐกุณฑลีเข้าก็เลยรู้วิสัยของคน ๆ นี้ อย่างน้อยก็จะได้ประโยชน์จากการปรากฏของท่าน ก็เลยเปล่งฉัพพรรณรังสีไปปรากฏเฉพาะหน้า มัฏฐกุณฑลีก็แปลกใจว่าแสงอะไร ป่วยจนไม่มีแรงก็พยายามเอียงคอมอง เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปก็ทราบว่าพระสมณโคดม รู้จัก...แต่ไม่เคยทำบุญด้วย ทำแต่ความชั่วทุกชนิด

ทีนี้วาระสุดท้าย มัฏฐกุณฑลีก็คิดว่า ใคร ๆ เขาว่าพระสมณโคดมเก่งมาก ถ้าหากว่าได้ท่านมารักษาเราน่าจะหาย คิดอย่างนั้น ก็เลยน้อมจิตนึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใส พอดีตายตอนนั้น ไปเป็นเทวดา

คราวนี้คนเป็นพ่อ อทินนกปุพพกพราหมณ์ พอลูกตายเอาไปป่าช้า ไปร้องไห้เสียดายลูก ส่วนมัฏฐกุณฑลีเทพบุตรขึ้นไปเกิดอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองคำ ก็คิดว่าเราทำความดีอะไรนะ ถึงได้มีสมบัติขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่ตอนมีชีวิตอยู่ไม่เคยทำ ก็เลยรู้ว่าเกิดจากการระลึกถึงพระพุทธเจ้า พุทธานุสติเพียงช่วงไม่กี่วินาทีก่อนตาย

มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรเห็นพ่อร้องไห้ในป่าช้าก็เลยจะไปจัดการเสียหน่อย ว่าแล้วก็แปลงร่างหน้าตาเหมือนเดิมทุกอย่าง มาถึงก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นบ้าง อทินนกปุพพกพราหมณ์คิดถึงลูก อยู่ ๆ ได้ยินเสียงร้องไห้ก็หันไปดูว่าเป็นเสียงใคร เราร้องไห้เพราะลูกตาย ก็เลยถามพ่อหนุ่มร้องไห้ทำไม

พอเจ้าหนุ่มหันหน้ามา ปรากฏว่าหน้าตาเหมือนลูกชายตัวเอง แกก็เลยยิ่งคิดถึงลูกเข้าไปใหญ่ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรบอกว่า "ข้าพเจ้ามีรถอยู่คันหนึ่ง ช่างเขาประกอบได้วิจิตรสวยงามมาก แต่ว่าไม่มีล้อ ตอนนี้อยากได้ล้อรถ" อทินนกปุพพกพราหมณ์ก็เห็นว่า ชายหนุ่มอายุไล่เลี่ยกับลูกตัวเอง หน้าตาคล้ายคลึงมากก็เลยคิดว่า ถ้าหากหนุ่มนี้อยู่ก็เหมือนกับว่าเป็นลูกของเรา ก็บอกว่า "เจ้าอยากได้ล้อรถแบบไหน เราจะให้ จะเป็นล้อทองคำ ล้อแก้วมณีก็จะให้"

มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรเซ็งเลย ตอนมีชีวิตอยู่พ่อขี้เหนียวไปทุกอย่าง ตอนตายใครไม่รู้โผล่มาจะให้แม้กระทั่งแก้วมณี ก็เลยบอกว่า "ล้อรถที่อยากได้ไม่ใช่แก้วมณีหรอกครับ อยากได้พระอาทิตย์กับพระจันทร์มาเป็นล้อรถ" อทินนกปุพพกพราหมณ์ได้ฟังก็ฉุนขึ้นมา บอกว่า "บ้าหรือเปล่า ของมันอยู่บนท้องฟ้า จะเอามาทำล้อรถได้อย่างไร?"

มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรที่แปลงมาเป็นชายหนุ่มบอกว่า "ถ้าผมบ้าลุงก็บ้าด้วย ถึงผมจะเอาพระอาทิตย์พระจันทร์มาเป็นล้อรถ ผมก็ยังมองเห็น แต่ลูกของลุงที่ตายไปแล้ว ลุงอยากให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ ลุงเห็นหรือเปล่าว่าลูกอยู่ไหน?"

เถรี
15-06-2009, 00:06
อทินนกปุพพกพราหมณ์พอได้ยินเข้าก็ได้สติ ยกมือไหว้บอกว่า "พ่อมาณพพูดจาเป็นภาษิตแท้ บ้านช่องอยู่ที่ไหนอยากรู้จัก" มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรก็เลยแสดงให้เห็นเป็นวิมานทองคำของเทวดา แล้วบอกว่าตัวเขาก็คือมัฏฐกุณฑลีลูกชายของท่านเอง แต่ว่าตายแล้วขึ้นไปสวรรค์มีวิมานทองคำอยู่ อานิสงส์เกิดจากการที่ระลึกถึงพระสมณโคดมด้วยความเลื่อมใสก่อนตายเท่านั้นเอง

อทินนกปุพพกพราหมณ์ถามว่าได้ขนาดนั้นจริง ๆ หรือ? มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรก็บอกว่า "ใช่..ขนาดนั้น แล้วถ้าหากพ่ออยากได้อานิสงส์ยิ่งกว่านี้นะ ให้เลิกขี้เหนียว ให้ทำบุญใส่บาตรกับพระในพุทธศาสนาบ้าง"

อทินนกปุพพกพราหมณ์ก็ถามว่า "จะทำได้อย่างไร?" มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรก็บอกว่า "ให้ไปนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมกับพระสงฆ์ที่เชตวันมหาวิหารมาเลี้ยงเพลที่บ้าน จัดอาหารถวายท่าน อานิสงส์ที่ได้จะมหาศาลจนประมาณมิได้"

อทินนกปุพพกพราหมณ์ก็เลยตกลง เพราะเห็นกับตาแล้วว่าลูกแค่นึกถึงยังได้บุญขนาดนี้ ตัวเองอยากได้บุญ ตอนนี้หายขี้เหนียวแล้ว ก็เลยไปนิมนต์พระพุทธเจ้า แต่ก็ยังสงสัยอยู่ ไปนิมนต์พระพุทธเจ้าแล้วก็ทูลถามว่า "ข้าแต่พระสมณโคดม..บุคคลที่เพียงแค่ระลึกถึงนามพระองค์ท่าน ตายแล้วไปสู่สุคติมีหรือไม่"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "พราหมณะ..ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลที่ระลึกถึงนามของตถาคตตายไปแล้วไปสู่สุคตินั้น ไม่ได้มีเป็นร้อยเป็นพัน แต่มีนับโกฏิ เธอก็ได้เห็นตัวอย่างจากมัฏฐกุณฑลีเทพบุตรลูกชายของเธอแล้วไม่ใช่หรือ?"

พระพุทธเจ้าท่านทราบ อทินนกปุพพกพราหมณ์ก็เลยเกิดเลื่อมใสนิมนต์พระพุทธเจ้าไปฉันเพล พระพุทธเจ้าก็เรียกมัฏฐกุณฑลีเทพบุตรมาพร้อมกับวิมานให้เป็นที่ประจักษ์ ตั้งแต่นั้นมาอทินนกปุพพกพราหมณ์คงต้องเปลี่ยนชื่อ เพราะชื่อ อทินนกปุพพกพราหมณ์ แปลว่า ผู้ไม่เคยให้มาในปางก่อน ก่อนหน้านี้ไม่เคยให้ใคร เพิ่งจะมาให้ตอนนี้เท่านั้น

ดังนั้น..พูดถึงเรื่องต่างหู ท่านมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร คือท่านผู้มีต่างหูเกลี้ยงใช่ไหม? ทีนี้พอขึ้นไปข้างบนตุ้มหูไม่ได้เป็นไม้แล้ว แต่เป็นทอง ถ้าพระพุทธเจ้าท่านไม่มาเทศน์โปรด มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรจะมีอายุอยู่แค่ ๗ วันข้างบนเท่านั้น พอพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดท่านก็กลายเป็นพระโสดาบัน ก็เลยอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น..อย่านินทาแรง ท่านได้ยิน..!"

เถรี
15-06-2009, 00:14
"เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสในมหากัมมวิภังคสูตรว่า บุคคลผู้ตั้งใจปฏิบัติภาวนา ทรงฌานสี่ได้ ยังทิพจักขุญาณให้เกิดขึ้น สามารถรู้เห็นนรกสวรรค์ แล้วกล่าวว่าบุคคลทำความดีไปสวรรค์โดยส่วนเดียว บุคคลทำความชั่วไปนรกโดยส่วนเดียว ตถาคตขอกล่าวว่าไม่ใช่

ท่านบอกว่า บุคคลผู้ทำดีในอดีตทำชั่วในปัจจุบัน...ไม่แน่ว่าจะไปชั่ว ตัวอย่างคือมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ในอดีตเคยทำดีมาก่อน เคยสร้างพระพุทธรูป อานิสงส์มาส่งผลในชาติปัจจุบันที่ชั่วแสนชั่ว แต่มาทันในวินาทีสุดท้าย เพราะฉะนั้น

ในอดีตทำดี...ในปัจจุบันทำชั่ว....ไม่แน่ว่าจะไปชั่ว
ในอดีตทำชั่ว....ปัจจุบันทำชั่ว....ไปชั่วแน่นอน
ในอดีตทำดี....ปัจจุบันทำดี......ไปดีแน่นอน
ในอดีตทำชั่ว....ปัจจุบันทำดี......ไม่แน่นักว่าจะไปดี

ตัวอย่างก็คือนางมัลลิกาเทวี ทำความดีมาตลอดชีวิต ก่อนตายจิตเศร้าหมองระลึกถึงกรรมเก่าของตนเอง จึงตกนรกเสีย ๗ วัน ท่านถึงได้บอกว่าเห็นนรกสวรรค์แล้วอย่าได้บอกว่าคนที่ทำดีแล้วไปสวรรค์ คนที่ทำชั่วแล้วไปนรก ไม่แน่
อดีตดี......ปัจจุบันดี..........ถึงจะไปดี
อดีตชั่ว.....ปัจจุบันชั่ว......ถึงจะไปชั่ว
อดีตดี......ปัจจุบันชั่ว......ไม่แน่ว่าจะไปชั่ว
อดีตชั่ว.......ปัจจุบันดี.....ไม่แน่ว่าจะไปดี

เพราะว่าแล้วแต่วาระกรรมมันจะส่งผลเมื่อไหร่"

เถรี
15-06-2009, 15:31
"เรื่องที่สองก็ตุ้มหูอีกเหมือนกัน แต่องค์นี้ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านชื่อ โสณกุฏิกัณณะ แปลว่าผู้มีต่างหูงาม ตุ้มหูนี้สวยจริง ๆ ราคาเป็นโกฏิ ท่านเป็นลูกมหาเศรษฐี เฉพาะตุ้มหูอย่างเดียวราคาแพงขนาดนั้น

ท่านโสณกุฏิกัณณะตั้งใจบวชในพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระอรหันต์ ท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าให้เป็น เอตทัคคะทางพูดแสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะ ใครได้ฟังก็ชอบใจ ดังนั้น..ถ้าหากว่ากล่าวถึงเรื่องตุ้มหู ในพระไตรปิฏกล่าวไว้ชัด ๆ คือ สองท่าน คือ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรและพระโสณกุฏิกัณณะ"

ถาม : แล้วพระนางกุณฑลเกสีเถรีละคะ?
ตอบ : นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ตุ้มหู แต่ผมของท่านขดเป็นวงกลมเหมือนกับแหวน ก็เลยเรียก กุณฑลเกสี แปลว่า ผมขดเหมือนวงแหวน

เถรี
16-06-2009, 14:57
พระอาจารย์บอกว่า "ในเรื่องของการทำบุญ ต้องมีปัญญาประกอบ รู้จักเลือกเนื้อนาบุญ อย่างท่านอังกุระเทพบุตร สร้างโรงทาน ๘๐ โรง เลี้ยงคนทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลาสองหมื่นปี ไปเกิดเป็นเทวดามีบุญน้อยที่สุดในดาวดึงส์ เทวดาองค์ไหนมาก็ต้องหลีกให้เขา เพราะว่าท่านเกิดในช่วงว่างจากพระพุทธศาสนา ช่วงนั้นคนไม่ได้อยู่ในศีลในธรรม

พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา อินทกะเทพบุตรและอังกุระเทพบุตร มากราบพระพุทธเจ้าพร้อมกัน ท่านนั่งอยู่ซ้ายและขวา เมื่อเทวดาที่มีศักดานุภาพใหญ่กว่ามาถึง อังกุระเทพบุตรต้องหลีกให้เขา ท่านก็ถอยไปเรื่อย..ถอยไปเรื่อย แต่อินทกะเทพบุตรนั่งอยู่ที่เดิม

ท้ายสุดพอประชุมเทวดาครบถ้วน อังกุระเทพบุตรอยู่สุดขอบจักรวาลพอดี แต่อินทกะเทพบุตรยังนั่งอยู่ที่เดิม แม้แต่พระอินทร์มา อินทกะเทพบุตรยังไม่ต้องหลีกเลย พระพุทธเจ้าก็เลยถามบุรพกรรม ทั้ง ๆ ที่พระองค์รู้แต่ทรงถามให้เจ้าตัวเล่าเอง

อังกุระเทพบุตรจึงได้เล่าให้ฟังว่าในอดีตชาติ ท่านเกิดมาในช่วงที่มนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ช่วงวาระสุดท้ายบั้นปลายชีวิตตั้งโรงทาน ๘๐ โรง เนื่องจากเป็นมหาเศรษฐี ท่านเลี้ยงคนทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลา ๒๐,๐๐๐ ปี แต่ก็มีบุญอยู่แค่นี้ เพราะอยู่ในช่วงโลกว่างจากศาสนา คนไม่ได้อยู่ในศีลในธรรม

พอพระพุทธเจ้าถามอินทกะเทพบุตร อินทกะเทพบุตรก็เล่าว่าในชีวิตทำบุญครั้งเดียว ท่านเป็นชาวป่ามีอาชีพตัดฟืนขาย อยู่กับแม่และน้องสาว หลังคาบ้านก็รั่ว ผ้าก็ขาด วันหนึ่งมีพระธุดงค์ผ่านไป ๖ องค์ อินทกะเทพบุตรเห็นเข้าก็ดีใจ ได้ข่าวว่ามีพุทธศาสนาเกิดขึ้นมานานแล้ว มีพระสงฆ์มานานแล้ว

อยากทำบุญแต่ติดด้วยเรื่องทำมาหากิน เพราะว่าท่านตัดฟืนขาย กว่าจะได้ฟืนก็หมดไปครึ่งค่อนวัน กว่าจะไปถึงตลาด กว่าจะขายฟืนหมด ไหนจะต้องซื้ออาหารกลับมาเลี้ยงแม่และน้องก็หมดวันพอดี ไม่มีโอกาสไปกราบพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม ไม่มีโอกาสไปกราบพระสงฆ์เพื่อฟังธรรม

พอเห็นพระเข้าก็เลยดีใจ นิมนต์พระขอถวายอาหาร อินทกะเทพบุตรก็เอาอาหารแค่ในส่วนที่มี ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าว กับข้าวก็เป็นพวกผัก ถวายอาหารแด่พระสงฆ์ ๖ รูป ถือเป็นสังฆทานเพราะว่าครบองค์สงฆ์คือเกิน ๔ รูปขึ้นไป

อินทกะเทพบุตรถวายอาหารครั้งเดียวในชีวิต เกิดเป็นเทวดามีศักดานุภาพเกินเจ้านาย (พระอินทร์) เสียอีก เพราะว่าพระทั้ง ๖ องค์นั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย

ดังนั้น..ในเรื่องของการทำบุญ ถ้ารู้จักเลือกเนื้อนาบุญ อานิสงส์บุญก็จะได้มากกว่าปกติ ถ้าถามว่าทำบุญแล้วยังอยากได้บุญอยู่ ก็ถ้าไม่อยากได้แล้วทำไปทำซากอะไร ? เพียงแต่ว่าอย่าหลงในบุญ เรารู้ว่าบุญนั้นดีเราก็ทำ เรารู้ว่าบาปนั้นชั่วเราก็ละ ทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่ยึดเกาะทั้งดีทั้งชั่ว ท้ายสุดจะพ้นบุญพ้นบาปไปเอง อาจจะยากหน่อยแต่ว่าทำได้แน่"

เถรี
16-06-2009, 16:39
ถาม : ถ้าทำบุญกับพระที่ปฏิบัติไม่สมควรแก่ความเป็นพระ อย่างนี้จะได้บุญหรือไม่?

ตอบ : ได้บุญจ้ะ ถ้าตั้งใจถวายเป็นสังฆทาน ต่อให้ท่านเละเทะแค่ไหนก็ตาม อานิสงส์ก็เต็มเหมือนกับถวายแด่พระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพราะว่าสังฆะ หมายถึง หมู่สงฆ์ทั้งหมด ผู้ที่รับเป็นเพียงตัวแทนเท่านั้น

พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ในปฐมสมโพธิกถา บอกว่าท้ายสุดของพระพุทธศาสนา เพศของพระจะเหลือเพียงผ้าเหลืองพันข้อมือ ผ้าเหลืองน้อยห้อยหู พอเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น ศีล ๒๒๗ ข้อ เหลือแค่ ๔ ข้อ ก็คือยังรักษาปาราชิก ๔ ข้อเอาไว้ได้ นอกนั้นขาดเกลี้ยง

ท่านบอกว่าเพศพระและศีลเหลือเพียงนั้นก็ตาม แต่บุคคลตั้งใจถวายเป็นสังฆทาน อานิสงส์เท่าเดิมเพราะว่าคนรับเป็นเพียงตัวแทน

ตัวอย่างในธรรมบทอีกเรื่องก็คือ เศรษฐีเขาถวายทาน นิมนต์พระไปรับที่บ้าน เศรษฐีก็ถวายทานด้วยความเคารพ ด้วยความนอบน้อม ทีนี้ของมันเยอะท่านก็หิ้วไปส่งที่วัด ตอนที่พระท่านจะขึ้นกุฏิท่านต้องล้างเท้าก่อน ก็ขอให้เศรษฐีช่วยส่งขันล้างเท้าให้หน่อย เศรษฐีท่านก็เอาเท้าเขี่ยให้ คนเห็นก็สงสัยมาก ว่าเมื่อครู่ยังถวายด้วยความเคารพนอบน้อมสุดจิตสุดใจ แค่จากบ้านมาวัดดันเปลี่ยนเป็นคนละคน

ทีนี้คนสงสัยเขาดี เขาไม่ได้สงสัยเฉย ๆ แต่เขาถามด้วย เศรษฐีก็บอกว่าโดยส่วนตัวไม่ได้เคารพท่านนี้เลย เพราะสักแต่เป็นนักบวชเท่านั้น แต่เมื่อครู่ที่ถวายสังฆทาน คำว่า สังฆะหมายถึงสงฆ์ทั้งหมด ท่านจึงต้องถวายด้วยความเคารพ แต่เมื่อโดยส่วนตัวไม่ได้เคารพ ในเมื่อท่านขอขันล้างเท้าให้ นี่เขี่ยให้ก็นับว่าเก่งแล้ว ยังดีที่ไม่ขว้างใส่

เถรี
17-06-2009, 00:01
พระอาจารย์กล่าวถึงเรื่องการสวดถอนพัทธสีมาว่า "ส่วนใหญ่เขาจะนิมนต์พระอย่างต่ำสุด ๑๐๘ รูป พระยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะว่าจะต้องยืนให้ได้หัตถบาสตลอดพื้นที่ ฉะนั้น..ในช่วงเสมาทั้งหมด กว้างยาวเท่าไหร่ต้องยืนให้เต็ม ถ้าหากไม่เต็ม ก็ต้องกะระยะเอาว่าแถวสุดท้ายอยู่ตรงไหน

สวดเสร็จแล้วก็ขยับตั้งแต่แถวหน้าลงไป เลื่อนต่อไปอีก แถวสุดท้ายก็จะกลายเป็นแถวหน้า แล้วก็สวดซ้ำไปเรื่อยจนกว่าจะเต็มพื้นที่ เพราะฉะนั้น..วัดไหนนิมนต์พระเยอะ จ่ายเงินเยอะหน่อย งานก็จบเร็ว แต่ถ้านิมนต์พระมาน้อย ก็วนกันหลายรอบหน่อย คนสวดก็สวดจนเหนื่อย

ในช่วงนั้นห้ามแม้กระทั่งพระเข้าออก เพราะถ้ามีการเข้าออกอาจเป็นการคัดค้านสังฆกรรมก็ได้ ในเขตที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาทั้งหมด แม้แต่รถก็ห้ามจอด เพราะเขากลัวในรถอาจจะมีคนเผลอนอนหลับอยู่ ในเขตที่อุปสัมบัน คือ บุคคลที่มีศีล ๒๒๗ ทำสังฆกรรมอยู่ ห้ามมีอนุปสัมบัน (ผู้ที่ศีลน้อยกว่าพระ) อยู่

ที่ขำก็คือหมา ตรงไหนที่ห้ามมันจะมีการเข้าไปยุ่งทุกที่เลย เพราะฉะนั้นต้องมีคนเฝ้าไว้ ขนาดคนทั่ว ๆ ไปเขายังไม่ให้เข้าเพราะกลัวสังฆกรรมจะเสีย แต่หมามันจ้องจะเข้าอย่างเดียว

ถ้าโบสถ์ใหญ่ ๆ อย่างวัดทุ่งกระพังโหม ขนาดนิมนต์พระสามร้อยรูป ยังต้องสวดวนอยู่สามสี่รอบ"

เถรี
17-06-2009, 00:33
ถาม : เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติ
ตอบ : ให้สั่งสมศีล สมาธิ ปัญญา ค่อย ๆ ไล่ไปเรื่อย ๆ รักษาศีลทรงตัว สมาธิก็ตั้งมั่น สมาธิตั้งมั่น ปัญญาก็เกิด ปัญญาเกิดก็จะกลับไปคุมศีลอีกที ความบริสุทธิ์จะค่อย ๆ สั่งสมไปทีละเล็กทีละน้อย

สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย พอถึงเวลามันจะพอของมันเอง ถ้าหากพอเมื่อไหร่ การที่เราละชั่วทำดี ก็จะเหลือสักแต่ว่าทำ อย่างที่บอกว่ารู้ว่าดีก็ทำ รู้ว่าชั่วก็ละ จะค่อยเป็นค่อยไป ยกเว้นใครบ้าดีเดือด ทุบทีเดียวเลยก็ได้ แต่ว่าถ้าหากโลกช้ำธรรมเสีย โอกาสที่จะเจริญจริง ๆ มันน้อย ต้องโลกไม่ช้ำธรรมไม่เสีย

แต่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ชีวิตฆราวาสเป็นทางคับแคบ โอกาสที่กิเลสงอกงามมีมากกว่าที่ความดีจะงอกงาม

เถรี
17-06-2009, 00:51
พระอาจารย์กล่าวว่า "การทำบุญที่จะได้อานิสงส์เต็ม ก็คือ

๑) เจตนาบริสุทธิ์
๒) ผู้ให้บริสุทธิ์
๓) วัตถุทานบริสุทธิ์
๔) ผู้รับบริสุทธิ์

เพราะฉะนั้น..เวลาจิตว่างจากรัก โลภ โกรธ หลงจริง ๆ ก็แปลว่าเป็นผู้ให้ที่บริสุทธิ์จริง ๆ ถ้าอย่างนั้นอานิสงส์ทางด้านนี้เต็ม ๒๕ เปอร์เซ็นต์แน่นอน ยิ่งถ้าบริสุทธิ์ได้ครบ ๔ อย่าง อานิสงส์ยิ่งเยอะ

แต่ปัจจุบันนี้ เจตนาบริสุทธิ์ ผู้ให้บริสุทธิ์ วัตถุทานบริสุทธิ์ แต่ไปสงสัยว่าผู้รับจะบริสุทธิ์หรือเปล่า? เขาจึงต้องเลือกเนื้อนา ถ้าเลือกไม่ได้ก็ถวายเป็นสังฆทานไปเลย

สังฆทานทั้งหมดมี ๗ ประเภทด้วยกัน
สังฆทานประเภทที่ ๑ ถวายต่อหมู่พระภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
สังฆทานประเภทที่ ๒ ถวายต่อหมู่ภิกษุณีสงฆ์ ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
สังฆทานประเภทที่ ๓ ถวายต่อหมู่ภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
สังฆทานประเภทที่ ๔ ถวายต่อหมู่ภิกษุที่นิมนต์มา
สังฆทานประเภทที่ ๕ ถวายต่อหมู่ภิกษุณีที่นิมนต์มา
สังฆทานประเภทที่ ๖ ถวายต่อหมู่ภิกษุและภิกษุณีที่นิมนต์มา
สังฆทานประเภทที่ ๗ ถวายโดยไม่เจาะจงบุคคล ขอให้ครบ ๔ รูปเป็นใช้ได้"

เถรี
17-06-2009, 01:09
ถาม : ผู้ที่กำลังจะหมดอายุขัยแล้วเราไปบอกให้เขานึกถึงพระนิพพานหรือพระพุทธเจ้า?
ตอบ : ถ้าไปนึกเอาตอนที่หมดอายุขัย ไม่ทันรับประทานหรอก ถ้าเป็นไปได้ต้องนึกถึงตั้งแต่ตอนดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนป่วยใกล้ตายแล้วเราไปแนะนำเขา ถ้ากำลังบุญเดิมไม่มีจริง ๆ เขานึกไม่ได้หรอก เพราะมัวแต่ไปโอดโอยอยู่กับความเจ็บความป่วย

เขาถึงได้มีคำพูดว่า จะเดินเข้าวัดเองดี ๆ หรือจะรอเขาหามเข้าวัด ถ้ารอเขาหามเข้ามาโอกาสที่จะทำอะไรก็ไม่มี ยกเว้นรอเผาเท่านั้น..!

ดังนั้น เรื่องของความดีจึงประมาทไม่ได้ ต้องค่อย ๆ ทำสั่งสมไปเรื่อย เพราะฉะนั้น..ใครเขาว่าบ้าหรือเปล่าเข้าวัดตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ไม่บ้าหรอก เดินไปเองดีกว่า ไปรอตอนเขาหามเข้าไปมันไม่ทันแล้ว

เถรี
17-06-2009, 01:23
ถาม : มีหรือไม่ ฆราวาสที่ปกติไม่ได้นึกถึงนิพพาน แต่พอก่อนตายนึกถึงพระนิพพานแล้วเข้าสู่พระนิพพานเลย ?
ตอบ : มีเยอะ ถ้าสิ่งที่สั่งสมมาแต่เดิมมีเพียงพอ เราต้องดูผู้ที่ไปพระนิพพานว่า เป็นผู้ที่มีจิตสะอาดปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง ไม่มีความปรารถนาที่จะเกิดอีก อย่างคนป่วยใกล้ตายจะไปรักใครไหว ถ้าไปโกรธเขา บอกเขาหามไปตีกับเขาที จะไปตีไหวไหม? ป่วยขนาดนั้นย่อมเห็นว่าร่างกายไม่ดี ก็ไม่หลงในร่างกาย ก็แปลว่าจริง ๆ แล้วรัก โลภ โกรธ หลง นั้นขาดไปโดยอัตโนมัติแล้ว

เพียงแต่ว่าคิดให้เป็นว่า สภาพร่างกายที่เต็มไปด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยแบบนี้ เราไม่ต้องการอีก ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาบนโลกนี้หรือเกิดมามีร่างกาย เราไม่ต้องการอีก ถ้าจิตเราตัดออกถอนออกจริง ๆ ไปพระนิพพานได้

กลัวอยู่อย่างเดียว การที่จิตไม่เคยทำความดีมาก่อนก็จะไม่นึกถึงตรงนี้ จะไปเกาะกรรมเก่า ๆ ที่ตนเองเคยทำเอาไว้

หลวงพ่อวัดปากคลอง ท่านเล่าไว้ว่า โยมเขามีอาชีพหาปลามาทั้งชีวิต ถึงเวลาใกล้ตายก็ไปแนะนำเขา ให้ภาวนาว่า อะระหัง ๆ ปรากฏว่าเขาพูดไม่ได้ พูดได้แต่ "ไอ้โด" (ปลาชะโด) ก็บอกอีกว่าถ้าอย่างนั้นพุทโธนะพ่อ เขาก็พูดว่า "ไอ้ช่อน" เขาได้แค่นั้นจริง ๆ ถ้าสภาพอย่างนั้นรับรองว่าไม่พลาดแน่ ต้องบอกว่าเป็นนิยตบุคคล ผู้มีคติอันแน่นอน แต่ไม่ได้แน่นอนข้างบน แน่นอนข้างล่าง..!

เถรี
17-06-2009, 18:10
พระอาจารย์สอนว่า "การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการเรียนรู้ การที่เราเรียนรู้อยู่ในชั้นนี้ เราไม่รู้หรอกว่าดีจริงไหม แต่พอก้าวพ้นไปแล้วมองกลับมา จากประสบการณ์ที่เราเรียนรู้จากชั้นที่สูงกว่า จะทำให้เรารู้ข้อบกพร่อง เราก็สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขใหม่ได้ ถ้าหากจะให้รู้ครบจริง ๆ แน่ใจจริง ๆ นั่นก็ต้องจบไปเลย

แรก ๆ จะไม่มีใครดีพร้อมหมดทุกอย่างหรอก แต่จะค่อย ๆ ปรับไปเอง การปฏิบัติจะช่วยปรับเราไปเรื่อย ๆ จนรู้แจ้งเห็นจริงไปเอง"

ถาม : หลายวันมานี่ หนูทรงอารมณ์ให้ต่อเนื่องติดกัน แต่พอเป็นแบบนี้ทีไรจะต้องมีเรื่องเข้ามากระทบใจทุกที
ตอบ : ตั้งท่าจะดี มารก็จะตีเรา ต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเอง เขามีหน้าที่ขวาง...ก็ขวางไป เรามีหน้าที่หนี...ก็หนีไป ใครทำหน้าที่ตัวเองได้ดีกว่ากันก็ไปเห็นผลตอนท้าย

เถรี
17-06-2009, 18:19
ถาม : เวลาปฏิบัติไปจะมีความรู้สึกอยากผ่อนคลายอารมณ์ของตัวเอง ก็เลยผ่อนคลายด้วยการปล่อยให้ฟุ้ง ให้คิดไปเองแต่ว่าก็พยายามตามดูไปด้วย
ตอบ : เปลี่ยนสภาพแวดล้อมดีกว่า ถ้าหากว่าปล่อยแล้วจะพลาดได้ง่าย ไม่ต้องปล่อยแต่เปลี่ยนสภาพแวดล้อม จิตก็จะคลายลง ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับสะสมความเครียด อย่างพระก็ไปธุดงค์ พอเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เปลี่ยนสภาพจิตก็เหมือนกับว่าเปลี่ยนสิ่งที่เสพเสวยเข้าไป โดยเฉพาะทางตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ ก็จะเกิดความรู้สึกที่ว่า เออ..ไม่ซ้ำเหมือนเดิม แล้วหลังจากนั้นพอได้ผ่อนคลาย อารมณ์ปฏิบัติก็จะดีขึ้น อย่าไปปล่อย ถ้าปล่อยเดี๋ยวหงายท้อง..!

เถรี
17-06-2009, 18:42
ถาม : อารมณ์เกลียดกับอารมณ์กลัว ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร?
ตอบ : ลักษณะอารมณ์คล้ายคลึงกัน แต่ว่าจริง ๆ แล้ว อารมณ์กลัวจะเป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนาม กลัวภัยที่จะมาถึงตัว โดยเฉพาะกลัวตาย อารมณ์กลัวทุกอย่างลงท้ายสุดก็คือกลัวตาย

ส่วนอารมณ์เกลียดจริง ๆ แล้วเป็นพื้นฐานมาจากโทสะ เกิดแรงกระทบแล้วเกิดความรู้สึกว่า เลือกที่จะรัก หรือไม่รัก ? ถ้าหากว่ารักก็มาทางราคะ ถ้าหากไม่รัก ไม่ชอบใจก็มาทางโทสะ แต่ว่าไม่ได้หนักเท่ากับโทสะ

จะว่าไปก็เหมือนกับไฟสุมขอนอย่างหนึ่ง เห็นหน้าก็ไม่สบายใจ เห็นสิ่งนั้นเมื่อไรก็ไม่สบายใจ พูดง่าย ๆ ว่าเก็บไว้เมื่อไรก็เป็นโทษแก่ตัวเอง ให้รีบไล่ออกไปเร็ว ๆ

เถรี
17-06-2009, 19:14
ถาม : สังโยชน์ข้อไหนยากที่สุด?
ตอบ : ความยากง่ายขึ้นอยู่กับว่าใครทำ ถ้าเป็นอาตมาคือข้อต้นกับข้อท้าย สักกายทิฏฐิและอวิชชา สักกายทิฏฐิที่ว่ายากเพราะว่าฝังรากอยู่กับเรา ส่วนอวิชชานั้นเบาบางมาก แต่ว่าเป็นจุดก่อกำเนิดกิเลสตัณหาทุกอย่าง เพราะฉะนั้น..ถ้าเป็นอาตมาเองหัวกับท้ายจะยากที่สุด

เถรี
17-06-2009, 20:09
ถาม : การุณยฆาต คือ ?
ตอบ : คำว่า การุณยฆาต หมายถึง การฆ่าที่มีใจกรุณา เช่น ในกรณีที่คนป่วย อาการอยู่ในขั้นโคม่า แล้วเราไปเอาสายยางออก เพื่อให้เขาตายจะได้ไม่ต้องทรมาน อย่าไปทำเชียวนะ ถ้าคิดจะรักษาก็ให้หาทางรักษาให้หาย แต่ถ้าจะให้ตายก็ปล่อยให้เขาตายของเขาไปเองเลย เราอย่าไปร่วมมือให้เขาตาย

ถาม : ถ้าทำแบบนั้น จะผิดไหม?
ตอบ : ผิดแน่นอน เพราะคำว่าฆ่าสัตว์ คือทำชีวิตให้ตกล่วง แล้วเราไปทำให้เขาตาย แม้กระทั่งการพรรณนาคุณของความตายให้เขาเห็นชอบเพื่อให้เขาฆ่าตัวตาย เรายังมีโทษเลย การุณยฆาตนี่อย่างไรก็ผิดแน่นอน ถ้าเป็นพ่อเป็นแม่มีสิทธิ์อนันตริยกรรม

ถาม : คนที่อยู่ในสภาพที่มีเครื่องหายใจช่วยประคองชีวิตอยู่ สภาพแบบนั้นเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ?
ตอบ : บางคนเขาไปนานแล้ว แต่ว่าร่างกายยังอยู่เพราะสภาพเครื่องมือแพทย์ชะลอไว้ แต่คราวนี้เราไม่ได้รู้ชัดขนาดนั้น อย่าไปแตะ

คนที่ตายในลักษณะอย่างนั้นโอกาสไปดีมีน้อยมาก เพราะว่าถ้าเขาทุกข์ทรมานจากโรคภัยถึงขนาดต้องร้องขอให้ผู้อื่นเขามอบความตายให้ แสดงว่าจิตของเขาประกอบไปด้วยความเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น..วิธีที่ดีที่สุดก็คือแนะนำเขาให้เห็นสภาพเป็นจริงของร่างกายว่ามันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเราคบหาสมาคมกับมันชาตินี้แค่ชาติเดียวเราก็ไม่ต้องไปคบกับมันอีก ชี้ทางออกให้เขา

เมื่อสองปีก่อนได้ทำรายงานวิชาธรรมประยุกต์ เรื่องการุณยฆาต เขาตั้งหัวข้อเอาไว้ว่า "ในความคิดของท่านเห็นว่าสมควรหรือไม่อย่างไร?" ในการสรุปตอนท้ายบอกว่า ถ้าในสภาพของเรา ที่เป็นพระอยู่ อย่างไรก็ต้องคัดค้านสุดชีวิต เพราะว่ามันไม่ถูกต้องทั้งกฎหมายและศีลธรรม กฏหมายบ้านเรายังไม่ได้เปิดกว้างอนุญาตให้ทำอย่างนั้น

ต่อให้ตัวกฎหมายเปิดกว้างให้ทำอย่างนั้นก็ตาม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้นั้นยินดีให้เราทำ ต่อให้ผู้นั้นยินดีให้เราทำอย่างนั้น ถ้าสภาพจิตที่ประกอบไปด้วยความเศร้าหมองตายไปแล้วเขาลงอบายภูมิ ก็เท่ากับว่าเราเองไปซ้ำเติมเขาอีก

และโดยเฉพาะคนเรา ถ้าหากว่ากันโดยธรรมแล้ว ก็คือ คนทุกคนมีสิทธิ์ในการที่จะบรรลุธรรม พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ว่า ถ้าหากฆ่าบุคคลที่มีคุณใหญ่ โทษจะหนักกว่าบุคคลทั่วไป เพราะฉะนั้น..ถ้าบุคคลที่มีโอกาสบรรลุธรรมแล้วเราไปทำให้เขาพลาดจากโอกาสนั้น เท่ากับว่าเราสร้างกรรมใหญ่นั่นเอง

โดยเฉพาะตอนท้าย ๆ ของชีวิต จะให้รักก็ไม่ไหว จะให้โลภก็ไม่ไหว จะให้หลงกับสภาพร่างกายแบบนี้ก็ไม่ไหวแล้วล่ะ ถ้ามีใครไปต่อท้ายไปได้เลย ชี้ทางให้เลย

เถรี
17-06-2009, 20:44
พระอาจารย์ได้อธิบายถึงเรื่องความตายว่า "สภาพร่างกายของเรามันไม่ใช่เราจริง ๆ ยกตัวอย่างว่ามันเหมือนรถยนต์กับคนขับรถ คุณกำลังจะเปลี่ยนรถคันใหม่ ในเมื่อรถคันเก่าของคุณจะพังก็พังไป เราก็เปิดประตูลงไปหารถคันใหม่ ถ้าหากจิตของเราตั้งมั่นอยู่ในศีล สมาธิ และปัญญา เราก็จะได้รถคันใหม่ที่ดีกว่านี้

เพราะฉะนั้น..จริง ๆ ความตายมันไม่ใช่ของน่ากลัว เพียงแต่ว่าความไม่รู้ก็เลยทำให้เรากลัว ถึงได้ชอบใจภาษาจีน คนตายเขาใช้คำว่า "เปลี่ยนร่างหรือข้ามร่าง" เขาไม่ได้บอกว่าตายอย่างบ้านเรา บาลีเขาบอกว่า กาลัง กัตตะวา วาระที่ต้องไป


เหตุที่กลัวตายก็เพราะไม่รู้ ที่ไม่รู้ก็เพราะอวิชชามันบัง ขาดความรู้ ขาดความมั่นใจ ก็ย่อมเกิดความกลัว แม้กระทั่งเราขับรถ ขับอยู่ทุกวันนี่แหละ ลองไปที่ ๆ ไม่เคยรู้จัก เราก็กลัว ท้ายสุดมาลงตรงคำว่าตาย เพียงแต่ว่ามันฝังจนเราไม่รู้

ลองไล่ดูสิ ขับรถไปก็กลัวหลง ถ้าหลงก็กลัวว่าจะนาน ถ้าหากมันนานจนกระทั่งสิ่งสนับสนุนทั้งหมดไม่มีเหลือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน เงิน อาหารการกิน อะไรก็ตามเหล่านี้ ถ้ามันหมดก็คือกลัวว่าจะตาย ไม่ไปไหนหรอกลงตรงตายหมด เพียงแต่ว่ามันไปอ้อม ไกลหน่อย

ตามดูอยู่เป็นปี ๆ คำเดียว ว่ากลัวอะไร? สรุปแล้วมาลงตรงคำว่าตาย

เถรี
17-06-2009, 21:28
พระอาจารย์ได้สอนว่า "ทุกอย่างเวลาประดังเข้ามา ถ้าเรามีสติ เราจะแยกแยะได้ก่อนว่าอันไหนมาก่อน อันไหนมาทีหลัง ถึงแม้ว่าจะมาห่างกันเพียงแค่วินาทีหรือครึ่งวินาที ก็ยังมีความก่อนหลัง

มาก่อนก็แก้ไขก่อน เราค่อย ๆ แก้ไขทีละอย่าง แต่ถ้าหากเราไปปล่อยให้ประดังเข้ามา แล้วขาดสติไปคิดว่ามาพร้อมกัน ก็จะกลายเป็นปัญหาเดียวกัน ซึ่งใหญ่และหนักมาก"

เถรี
17-06-2009, 21:37
ถาม : อารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ ?

ตอบ : ถ้าหากว่าจิตทรงการภาวนาได้อัตโนมัติ พวกนี้จะกระทบไม่ได้ มีมาเหมือนกันแต่ใจไม่รับ ถึงรับก็รับในลักษณะใส่เกราะไว้ แต่ว่าจะให้ดีที่สุด ก็คือไม่มีอะไรเหลือเลย ถ้าหากว่าไม่มีอะไรเหลือเลยก็กระทบไม่ได้หรอก

ให้เห็นว่าทุกอย่างปกติธรรมดา ในเมื่อปกติเป็นอย่างนั้น เราเองรับเข้ามาก็เดือดร้อนเสียเปล่า

เปรียบกับบ้านว่าง ๆ ไม่มีข้างฝา ไม่มีกำแพง ใครขว้างอะไรเข้ามาก็ผ่านเลยไป เพราะเราไม่รับ แต่ว่าถ้าอยู่ในบ้านที่มีข้างฝาก็จะกระทบ ขาดสติโดยอัตโนมัติ ทำอย่างไรจะอยู่ในบ้านว่าง ไร้ข้างฝา ไร้กำแพง

เถรี
17-06-2009, 21:48
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "หลวงปู่สิงห์ตอนก้าวขึ้นบ้าน พอเห็นผู้หญิงเข้า ถึงกับเข่าอ่อนอยู่ตรงบันได ฝ่ายผู้หญิงก็เป็นลม แสดงว่าต่างคนต่างรู้กัน"

ถาม : ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ตอบ : เขาผูกพันกันมานาน บุคคลที่มีความสัมพันธ์เกิดร่วมชาติกันมามากมันจะรู้สึกแรง ถ้าเกิดร่วมกันมาน้อยก็สะกิดสะเกานิดหนึ่ง

เถรี
18-06-2009, 17:20
พระอาจารย์มีคำถามว่า "ถ้าเอ่ยถึงพราหมณ์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่ว น่าจะมีใครบ้าง?

เรื่องของวัสสการพราหมณ์ปรากฏอยู่ในหลายพระสูตรด้วยกัน แต่ว่าเนื้อหาที่พวกเรารู้จักกันดี ก็เป็นตอนที่ทำลายแคว้นวัชชี อยู่ในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งกล่าวถึงช่วงท้ายพระชนม์ชีพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความจริงแคว้นวัชชีกับแคว้นมคธมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่ว่ามันมีหุบเขาเป็นรอยต่อระหว่างสองแคว้น เขาบอกว่าในหุบเขานั้นมีทรัพย์มาก มีเงินทองแก้วแหวนมาก

แคว้นวัชชีกับแคว้นมคธมีระบอบการปกครองต่างกัน แคว้นมคธปกครองโดยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สิทธิ์ขาดทั้งหมดอยู่ที่พระราชา แต่แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม มีตัวแทนเข้าไปอยู่ในสภา ชาวบ้านจะคัดเลือกตัวแทนของตัวเองเจ็ดพันคน ตัวแทนเจ็ดพันคนนั้นจะคัดเลือกผู้ที่มาทำหน้าที่ร่วมกับตนอีกเจ็ดร้อยคน ตัวแทนอีกเจ็ดร้อยคนจะคัดเลือกอีกเจ็ดคน รวมแล้วแคว้นวัชชีจะมีคณะปกครองที่เปรียบเหมือนกษัตริย์เจ็ดพันเจ็ดร้อยกับเจ็ดคน ฟังดูแล้วน่าปวดหัว

ในเมืองรอยต่อชายแดนมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่ง บาลีเขาใช้คำว่ามีทรัพย์ตกลงจากเขามาเนือง ๆ คาดว่าน่าจะเป็นพวกเพชรพวกพลอย เวลาฝนตกหรือดินถล่ม พวกเพชรพวกพลอยก็จะโผล่มา ปรากฏว่าทางแคว้นมคธไม่เคยทันเขาเสียที แคว้นวัชชีกวาดไปหมด เพราะว่าแคว้นวัชชีเขาปฏิบัติตามอปริหานิยธรรมที่พระพุทธเจ้าให้ไว้

อปริหานิยธรรม คือธรรมที่ผู้ปฏิบัติแล้วจะพบกับความเสื่อมได้ยาก หรือพบกับความไม่เสื่อม ท่านบอกว่า
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม
๔. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง
๕. คุ้มครองรักษากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ
๖. เคารพสักการะบูชาเจดีย์ของวัชชีทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป
๗. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก"

เถรี
18-06-2009, 17:37
"คราวนี้เมื่อกษัตริย์แคว้นวัชชีประชุมกันเป็นปกติ ถึงเวลามีข่าวคราวอะไรก็แจ้งกันอย่างรวดเร็ว เวลาไปเก็บกวาดทรัพย์ทั้งหลายบนหุบเขา ก็เลยได้ก่อนพวกแคว้นมคธ ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูโกรธ อยากไปทำลายแคว้นวัชชี อยากไปยึดเมืองเป็นของตัวเอง ถึงแม้แคว้นวัชชีจะเล็กกว่า แต่ผู้ปกครองนอกจากจะสมานสามัคคีกันแล้วยังเป็นสุดยอดฝีมือ เขาบอกว่ากษัตริย์แคว้นวัชชีมีฤทธิ์มาก อาจแผลงศรลอดดาลประตูได้ แสดงว่าแม่นมาก ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ยิงปืนตอกหัวตะปูได้

พระเจ้าอชาตศัตรูไม่รู้จะทำอย่างไร พอดีพระพุทธเจ้าเสด็จมายังที่นั้น พระเจ้าอชาตศัตรูก็เลยใช้วิธีส่งอำมาตย์ผู้ใหญ่ ก็คือวัสสการพราหมณ์ไปถาม ถามคนอื่นไม่ได้เรื่องแน่ ถามพระพุทธเจ้าต้องได้เรื่องแน่นอน วัสสการพราหมณ์พอรับคำสั่งก็ไปกราบพระพุทธเจ้า ปฏิสันถารตามสมควรแล้ว ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ลองทายซิว่าพระพุทธเจ้าท่านบอกหรือไม่บอก? ถ้าเราเป็นพระแล้วลูกศิษย์มาถามถึงวิธีตีเมือง เราจะบอกไหม?

พระพุทธเจ้าท่านไม่บอก แต่หันไปถามพระอานนท์ว่า "เหล่าแคว้นวัชชียังปฏิบัติอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ อยู่หรือไม่?" พระอานนท์ก็บอกว่ายังปฏิบัติอยู่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานันทะ..ดูก่อนอานนท์ ตราบใดที่แคว้นวัชชียังปฏิบัติในอปริหานิยธรรมตามที่ตถาคตกล่าวไว้ ตราบนั้นแคว้นวัชชีจะไม่ประสบกับความเสื่อม"

วัสสการพราหมณ์ก็สงสัย ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าอปริหานิยธรรมมีอะไรบ้าง? พระพุทธเจ้าก็แสดงให้ฟัง ๗ ประการ วัสสการพราหมณ์พอได้ยิน ก็พูดว่า "อย่าว่าแต่ ๗ ประการเลย เพียงประการเดียวก็ไม่มีใครสามารถทำลายแคว้นวัชชีได้" เพราะว่าเขาสามัคคีพร้อมเพรียงกันมาก

บางข้อนี่เรานึกไม่ถึง อย่างเช่นว่าให้คุ้มครองพระอรหันต์ที่มาในแว่นแคว้น เมื่อพระอรหันต์ไปที่ไหนพรหมเทวดาจะตามไปให้การสงเคราะห์ ตราบใดที่พรหมเทวดายังให้การสงเคราะห์ สถานที่นั้นจะไม่ประสบภัยพิบัติ

วัสสการพราหมณ์ก็กราบลาพระุพุทธเจ้ากลับไป แล้วไปกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูถามว่าท่านอาจารย์มีช่องทางใดบ้าง? วัสสการพราหมณ์ก็บอกว่า "มีทางเดียว ต้องทำลายความสามัคคีของแคว้นวัชชีให้ได้" เมื่อเป็นดังนั้น ก็เลยตกลงกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า ถ้าถึงเวลาพระเจ้าอชาตศัตรูเสนอขึ้นกลางที่ประชุมว่าให้ไปตีแคว้นวัชชี วัสสการพราหมณ์จะคัดค้าน พอคัดค้านแล้วให้พระเจ้าอชาตศัตรูลงโทษตนให้หนัก แล้วขับไล่ออกจากแว่นแคว้นไป เพื่อที่ตนจะได้หาทางเข้าไปยังแคว้นวัชชีแล้วจัดการ

พระเจ้าอชาตศัตรูก็ตกลง เป็นอันว่ารู้กันสองคน พอถึงเวลาออกมหาสมาคมประชุมข้าราชการ พระเจ้าอชาตศัตรูก็ปรารภเรื่องนี้ ว่าแคว้นวัชชีมันเอาเปรียบเราทุกที พื้นที่ส่วนเกินเป็นของทั้งสองฝ่าย แต่ทรัพย์เกิดขึ้นเมื่อไรทางแคว้นวัชชีเอาไปหมด ต้องสั่งสอนให้มันรู้เรื่องเสียบ้าง จะยกทัพไปตีมัน วัสสการพราหมณ์ก็ค้านขึ้นกลางที่ประชุม บอกว่าไม่สมควร เพราะว่าแคว้นวัชชีมีความสามัคคีกันมาก มีฤทธิ์มาก เรายกทัพไปไม่แน่ว่าจะชนะ เสียชีวิต สูญเสียทรัพยากรเปล่า ๆ พระเจ้าอชาตศัตรูก็แกล้งทำเป็นโกรธ สั่งราชบุรุษจับวัสสการพราหมณ์โบย

สมัยก่อนการโกนหัวเขาถือเป็นกาลกิณีไม่มีใครคบด้วย พระเจ้าอชาตศัตรูก็ให้จับวัสสการพราหมณ์โกนหัวและเฆี่ยนจนหลังลาย แล้วขับไล่ออกจากเมืองไป"

เถรี
18-06-2009, 17:50
"วัสสการพราหมณ์ก็ข้ามออกไปยังแคว้นวัชชี ข่าวไปถึงแคว้นวัชชีเร็วมาก แสดงว่าเขามีจารบุรุษหรือจารชนอยู่ เมื่อข่าวไปถึง เสียงส่วนใหญ่ก็บอกว่าอาจเป็นกลลวงของแคว้นมคธ แต่ว่าบรรดากษัตริย์แคว้นวัชชีมีความมั่นใจในความสามัคคีของตนเอง ต่อให้เป็นกลลวงก็ไม่น่าจะทำอะไรได้ วัสสการพราหมณ์เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ มีความรู้มาก เรารับเขาไว้ดีกว่า เสียดายความรู้เขา เอามาสอนบรรดาราชกุมารของเราจะดีกว่า

จริง ๆ เขาคิดถูก แต่เขาไม่รู้ฤทธิ์วัสสการพราหมณ์

เมื่อวัสสการพราหมณ์ไปสอนบรรดาราชกุมาร แรก ๆ เขาก็สอนตามปกติ พอผ่านไประยะหนึ่ง เขาเริ่มไว้ใจ แกก็ออกลาย เมื่อเลิกเรียนแล้วก็ปล่อยบรรดาราชกุมารกลับ วัสสการพราหมณ์ก็จะเรียกราชกุมารไว้คนหนึ่ง พาเข้าไปในห้องกันสองต่อสอง หายเงียบไปนานเลย แล้วก็ส่งกลับ เมื่อทำแบบนี้เข้า เพื่อน ๆ ราชกุมารก็ถามว่าอาจารย์เรียกไปสอนอะไร กุมารที่เข้าไปก็บอกไม่มีอะไรนี่ ก็เลยสงสัยกันว่าอาจารย์อาจให้วิชาการอะไรดี ๆ ถ่ายทอดให้อีกคน

วันรุ่งขึ้นก็เรียกไปอีกคนในลักษณะเดียวกัน ท้ายสุดทุกคนก็หวาดระแวงว่าอีกฝ่ายจะได้ความรู้มากกว่า ก็เอาเรื่องไปบอกพ่อของตน บรรดากษัตริย์ทั้งหมดก็ระแวงกัน ว่าลูกคนนี้มันเก่งกว่าลูกเรา เดี๋ยวมันจะได้ครองเมืองคนเดียว ทีนี้ก็ไปกันใหญ่ เมื่อหวาดระแวงถึงที่สุด ไม่อยากจะมองหน้ากัน ก็เริ่มขาดประชุม แรก ๆ ก็ขาดไม่กี่คน หลัง ๆ ก็ขาดเยอะ วัสสการพราหมณ์ใช้เวลาปฏิบัติการนี้อยู่สามปีเต็ม ๆ ท้ายสุดก็ใช้วิธีตีกลองประชุมปรากฏว่าไม่มีกษัตริย์มาเข้าประชุมเลย วัสสการพราหมณ์ก็ส่งข่าวไปบอกพระเจ้าอชาตศัตรูให้ยกทัพมา

ไม่ทราบว่าพระเจ้าอชาตศัตรูแค้นมากหรือกลัวฝีมือแคว้นวัชชี ท่านเล่นยกทัพมาทำลายแคว้นวัชชีจนไม่เหลือซากเลย เรื่องก็จบลงตรงนี้ เรารู้จักวัสสการพราหมณ์ในฐานะตัวแสบที่คอยยุแหย่ให้เขาแตกกัน

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปปลงสังขาร ที่ปาวาลเจดีย์ พระอานนท์ก็กราบทูลถามว่า "วัสสการพราหมณ์เมื่อรู้จุดแข็งจุดอ่อน ย่อมหาทางทำลายแคว้นวัชชีได้ แล้วทำไมพระองค์จึงได้ตรัสบอกไปเช่นนั้น?" พระพุทธเจ้าบอกว่า ที่ท่านตรัสเช่นนั้นด้วยความเมตตาเพราะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าหากว่าไม่กล่าวเช่นนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจะยกทัพไปตีแคว้นวัชชีภายในวันนั้นเลย เมื่อแข็งกับแข็งปะทะกันเลือดก็นองเป็นท้องธาร แต่ถ้าหากว่าบอกแบบนั้นไป วัสสการพราหมณ์จะใช้เวลาถึงสามปี จึงจะสร้างความแตกแยกในหมู่ภายในได้ อย่างน้อยแคว้นวัชชีจะดำรงอยู่ได้ถึงสามปี"

เถรี
18-06-2009, 17:54
"มันน่าแปลก การที่พระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์ไปเป็นไส้ศึกที่แคว้นวัชชี ก็เหมือนกับที่จิวยี่ส่งอุยกายไปเป็นไส้ศึก (ในเรื่องสามก๊ก) ทำในลักษณะเดียวกัน ระยะเวลาใกล้เคียงกัน

ต้องบอกว่า อัจฉริยะมักจะมีความเห็นใกล้เคียง หรือไม่ก็นักปราชญ์ความคิดหรือการกระทำใกล้เคียงกัน อยู่กันคนละประเทศ อยู่คนละวัฒนธรรม แต่กลับมีความประพฤติที่คล้าย ๆ กัน"

เถรี
18-06-2009, 22:10
"มาดูเรื่องของโทณพราหมณ์ เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๗ เมือง มาล้อมกรุงกุสินารา ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ มีคำพูดติดปลายนวมมาว่าถ้าไม่ให้...ก็รบ ยกทัพมาลักษณะนั้นไม่ต้องบอกก็รู้ ยังดีที่ว่าโทณพราหมณ์อยู่ในที่เกิดเหตุ

ชื่อเสียงของโทณพราหมณ์ก็พอเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพของบรรดากษัตริย์ทั้ง ๗ เมือง พอโทณพราหมณ์กล่าวขึ้นทุกคนก็ต้องฟัง ท่านบอกว่าการรบราฆ่าฟันกันไม่ใช่วิสัยของพุทธศาสนิกชน เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนพวกเราไม่ให้ทำปาณาติบาต พระบรมสารีริกธาตุก็มีมากพอที่จะแบ่งปันให้ได้

ทีนี้เขาก็สงสัยอย่างเดียวว่าใครจะเป็นคนแบ่ง ไม่เช่นนั้นเกรงว่าจะไม่ยุติธรรม โทณพราหมณ์ก็เลยรับอาสาเป็นคนแบ่ง ท้ายสุดพระบรมสารีริกธาตุก็กระจายไปทั้ง ๗ เมือง เมื่อแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว โทณพราหมณ์ก็ขอทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุเป็นที่ระลึก ซึ่งคณะมัลลกษัตริย์ของกรุงกุสินาราก็พระราชทานให้ โทณพราหมณ์พอรับทะนานทองไป เขากล่าวว่าเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดตัวเองแล้วก็สร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุทะนานที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเครื่องบูชา

มันน่าแปลกที่ว่าประวัติศาสตร์มาอยู่ที่เมืองไทย พระประโทณเจดีย์ในเขตนครปฐม เขาเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่โทณพราหมณ์บรรจุทะนานทองเอาไว้ ถ้าถามว่ามีเค้าความจริงที่พอเป็นไปได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้อยู่ เพราะสมัยนั้นทางด้านชมพูทวีปก็ค้าขายกับทางสุวรรณภูมิเป็นปกติ ค้าขายมาก่อนสมัยพุทธกาลอีก

อย่างเช่นยุคพระมหาชนก ซึ่งเป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า มีมาก่อนพระพุทธเจ้านานมาก สมัยนั้นมีการค้าขายกับสุวรรณภูมิแล้ว แสดงว่ามีการติดต่อเป็นปกติ โดยเฉพาะทางเรือ สมัยนั้นนครปฐมติดชายทะเล พอมาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระโสณะเถระและพระอุตตระเถระที่เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิก็มาขึ้นที่นครปฐมเช่นกัน"

เถรี
20-06-2009, 09:06
ถาม : ในกรณีที่เอาของ ๆ วัดมา ถ้านำไปคืนวัดจะได้หรือไม่?
ตอบ : ถ้าคืนไม่เป็นไร หยิบจากไหนให้กลับไปคืนที่ตรงนั้น หมายความว่าถ้าหยิบออกจากวัดไหนให้คืนวัดนั้น อย่าไปคืนคนละวัด แต่ถ้าหากเราชำระเป็นหนี้สงฆ์ ชำระวัดไหนก็ได้ ดังนั้นจะคืนของ ให้คืนวัดเดิม

เถรี
20-06-2009, 09:23
พระอาจารย์ให้โอวาทแก่คนเป็นพ่อแม่ว่า "เคยสังเกตไหมตั้งแต่เช้าจนค่ำ รักษาอารมณ์ไม่ให้โกรธลูกได้นานสักกี่ชั่วโมง ?

ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าดูอารมณ์ตัวเองไม่เป็น รู้อารมณ์ตัวเองไม่ได้ ก็แก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนของการปฏิบัติ ท้ายสุดก็จะเป็นมหาสติปัฏฐาน ในส่วนของจิตในจิต ธรรมในธรรม ถ้าเราดูไม่เป็น ดูไม่รู้ เราก็แก้ไขไม่ได้

ต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ใจ เมื่อสังเกตแล้วก็มีวิธีเดียว ก็คือว่าทำอย่างไรที่เราจะยืนระยะได้นาน? คราวนี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่สมาธิ ถ้าสมาธิทรงตัวดี รู้ระมัดระวัง ก็ยืนระยะได้นาน ถ้าสมาธิไม่ดี ขาดสติก็พังเร็ว

เพราะฉะนั้น..ต้องพยายามซ้อมให้คล่องตัวและระวังไว้ตลอด โดยเฉพาะคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องมีความมั่นคงในอารมณ์ ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ เวลาโกรธก็อย่าอาละวาด เพราะว่าถ้าโกรธแล้วอาละวาด เด็กก็จะขาดความนับถือเรา ต่อไปเขาก็จะเหมือนกับเราเลย โกรธอย่างไรเราก็ต้องว่าด้วยเหตุผล เช่น อธิบายไปตีไป"

เถรี
20-06-2009, 14:09
พระอาจารย์กล่าวถึงเด็ก ๆ ว่า "อย่าไปตั้งความหวังกับเด็ก ว่าจะต้องนั่ง จะต้องนิ่ง จริง ๆ แล้วเป็นธรรมดาของเด็กที่จะต้องซนแบบนั้น แต่เราไปคาดหวังว่าเด็กจะต้องดี จะต้องเรียบร้อย"

"เด็กเขาก็มีสักกายทิฏฐิและมานะ เขาต้องการให้เราสนใจ นั่นแหละ..ชัดเลย แต่ว่าก็จำเป็น อย่าไปบังคับเขาทีเดียว ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่าเราจะได้ดึงเขาเข้ามาทางดีทีหลังได้ ถ้าไปบังคับแล้วมักจะเตลิดไปเลย"

เถรี
20-06-2009, 15:27
"เมื่อครู่กล่าวถึงวัสสการพราหมณ์และโทณพราหมณ์ แต่พวกเราลืมนึกถึงโกณฑัญญะพราหมณ์

เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติได้ ๗ วัน พระราชบิดาคือ พระเจ้าสุทโธทนะ อัญเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ รูป มารับพระราชทานเลี้ยง และใน ๑๐๘ รูปนั้นคัดเหลือแค่ ๘ รูป เพื่อทำนายลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ

พราหมณ์ ๗ รูปทำนายเป็นสองสถานว่า ถ้าหากเจ้าชายสิทธัตถะครองราชย์อยู่จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ที่หนุ่มที่สุด อายุน้อยที่สุด ทำนายข้อเดียวว่าต้องบวชและเป็นศาสดาเอกของโลก

หลังจากนั้นโกณฑัญญะพราหมณ์ก็เฝ้ารอว่าเมื่อไรเจ้าชายสิทธัตถะจะออกบวช ก็ปรากฏว่ารอจนเจ้าชายสิทธัตถะอายุ ๒๙ ปี จึงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โกณฑัญญะพราหมณ์ก็ตามไปปรนนิบัติรับใช้ และชวนบรรดาลูก ๆ ของพราหมณ์ทั้ง ๘
คนไหนมีลูกก็ชวนไปบวชปรนนิบัติรับใช้อยู่ด้วยกัน รวมได้ ๔ ท่าน คือ ท่านวัปปะ ท่านมหานามะ ท่านภัททิยะ และท่านอัสสชิ

เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณตอนอายุ ๓๕ ปี ท่านไปเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ท่านโกณฑัญญะพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรม อยากจะถามว่าท่านโกณฑัญญะพราหมณ์ท่านบวชตอนอายุเท่าไร?

ถ้าตีเสียว่าโกณฑัญญะพราหมณ์ท่านเป็นอัจฉริยะ เรียนจบไตรเพทตอนอายุ ๑๖ ปี รอพระพุทธเจ้าอีก ๓๕ ปี ก็แปลว่าอายุ ๕๑ ปีจึงได้บวช นี่เป็นการประมาณขั้นต่ำสุดนะ แต่ท่านก็อายุยืน ท่านอยู่จนถึงอายุ ๑๒๐ ปีจึงมรณภาพ ก็แปลว่าท่านอยู่มาอีก ๖๙ ปี ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว บำเพ็ญพุทธกิจอยู่ ๔๕ พรรษา แล้วจึงเสด็จปรินิพพาน แปลว่าท่านโกณฑัญญะพราหมณ์น่าจะมรณภาพหลังพระพุทธเจ้าหลายปี"

เถรี
20-06-2009, 15:35
"พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระอรหันต์องค์แรกของโลก ถ้านับพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์องค์แรกของโลก พระอัญญาโกณฑัญญะท่านก็เป็นองค์ที่สอง ท่านเป็นสักขีพยานในการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้าบรรลุธรรมไม่มีใครเป็นพยานได้ จนกว่าจะมีผู้บรรลุตามและยืนยันความจริงนั้น

พระอัญญาโกณฑัญญะ แรก ๆ ก็ออกประกาศพระศาสนาตามคำสั่งของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าหลังจากโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แล้วก็ไปโปรดพระยสะและสหายอีก ๕๕ คน

พระยสะและสหาย ๕๕ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ พระพุทธเจ้า ๑ รวมเป็น ๖๑ รูป ตรงนี้เป็นกองทัพธรรมกองแรกที่ส่งออกประกาศพระศาสนา

ท่านใช้ จรถ ภิกฺขเว จาริกํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขอจงเดินเที่ยวไป พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย เพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก เพื่อความสุขของชนหมู่มาก โลกานุกมฺปาย เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย นั่นคือท่านออกประกาศศาสนาเป็นครั้งแรก

พอภายหลังมีพระสงฆ์บวชในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากขึ้น มีผู้บรรลุธรรมจำนวนมากขึ้น พระอัญญาโกณฑัญญะท่านก็ชราภาพ ท่านก็ไปอยู่ที่สระฉัททันต์ ในป่าหิมพานต์ มีฝูงช้างคอยปรนนิบัติรับใช้ เวลาที่ท่านคิดถึงพระพุทธเจ้า ท่านก็ออกมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วหลังจากนั้นก็กลับไปที่เดิม

คราวนี้เมื่อท่านมาอยู่ที่สระฉันทันต์ ก็เลยหาต้นไม้ที่มีแก่นมาต้มย้อมน้ำฝาดไม่ได้ มันมีแต่ไม้ชนิดอื่น ท่านก็เลยเอาลูกรังมาต้มแล้วก็ย้อมจีวร จีวรท่านก็เลยออกสีแดงลูกรัง เวลามาเยี่ยมพระพุทธเจ้า บรรดาพระทั้งหลายที่มาทีหลังไม่รู้จัก ก็ปากมาก ว่าหลวงตารูปนั้นใครก็ไม่รู้

พระพุทธเจ้าได้ยิน ก็ถามว่า "ภิกขเว ดูก่อน..ภิกษุทั้งหลาย เธอไม่รู้จักพี่ชายใหญ่ของเธอหรือ?" พระเหล่านั้นก็บอก "ไม่รู้จักพระเจ้าข้า" พระพุทธเจ้าก็บอกว่า "นั่นแหละ พระอัญญาโกณฑัญญะ พี่ชายใหญ่ของเธอ เป็นผู้บรรลุธรรมในศาสนาของตถาคตรูปแรก"

พระอัญญาโกณฑัญญะนี่แหละที่ทำให้พระพุทธเจ้าท่านผ่อนผันให้ภิกษุห่มจีวรสีแดงเจือเหลืองได้ ในท้องถิ่นไม่มีแก่นขนุนสำหรับย้อมจริง ๆ ให้ใช้ลูกรังย้อมได้ เพราะฉะนั้น..จีวรพระสีเหลืองย้อมด้วยขมิ้น สีกรักย้อมด้วยแก่นขนุน สีแดงเข้มย้อมด้วยลูกรัง"

เถรี
20-06-2009, 15:38
"ที่ถามเพราะส่วนใหญ่พอพูดถึงพราหมณ์แล้วเราจะมองข้ามท่านไป ความจริงในสมัยนั้นต้องบอกว่าท่านเป็นพระอัจฉริยะ เรียนจบไตรเพทตั้งแต่อายุยังน้อยมาก และเก่งขนาดเป็นที่ยอมรับของพราหมณ์ทั้งหมด

เขาคัดเลือกไปทั้งหมด ๑๐๘ คน และคัดในจำนวนนั้นเหลือ ๘ คน ก็แปลว่าอีก ๑๐๐ คนที่เป็นหัวกะทิยอมรับว่าพระอัญญาโกณฑัญญะท่านเก่ง เรียนจบตอนอายุ ๑๖ แล้วให้บรรดาพราหมณ์เฒ่าทั้งหลายยอมรับว่าเก่ง แสดงว่าต้องเป็นยอดฝีมือ

ดังนั้น..ถ้านับอย่างต่ำ ท่านต้องบวชอายุอย่างน้อย ๕๑ ปี ถ้าหากต่อไปถามว่าพราหมณ์ในพุทธศาสนาเอ่ยชื่อมาแล้วเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือใคร รับรองว่าชื่อนี้รู้จักมาก แต่เราลืมไปว่าท่านเป็นพราหมณ์"

เถรี
20-06-2009, 15:42
ถาม : พระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะในด้านรัตตัญญู อยากถามว่ารัตตัญญูคืออะไรคะ?
ตอบ : รัตตัญญู แปลตรง ๆ ว่า รู้ราตรีนาน มีประสบการณ์มาก เพราะว่าท่านเป็นพราหมณ์มาก่อน ศึกษาไตรเพทมาก่อน ท่านอยู่ปรนนิบัติรับใช้พระพุทธเจ้าจนอายุมากขนาดนั้น แบบแผนประเพณีทุกอย่าง รู้หมด และบวชเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพุทธศาสนา ไม่มีใครรู้มากกว่าท่านอีกแล้ว

ถาม : ก็แสดงว่าความหมายคนละอย่างกับผู้มีราตรีอันเดียวเจริญ?
ตอบ : ไม่ใช่ ราตรีเดียวอันเจริญ ท่านหมายถึงบุคคลที่ตั้งใจปฏิบัติ คนที่ตั้งใจปฏิบัติจะไม่เห็นแก่นอน
อันนั้นท่านเรียก ภทฺเทกรตฺโต โหมิ ผู้มีราตรีอันเจริญ

เถรี
20-06-2009, 19:08
ถาม : มีผู้หญิงคนหนึ่งมาชอบ เนื่องมาจากการช่วยเหลือสงเคราะห์ระหว่างกัน
ตอบ : การสงเคราะห์กันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ระวังไว้จุดหนึ่ง คือ การคิดเข้าข้างตัวเอง เขาเห็นเราตั้งหน้าตั้งตาสงเคราะห์เขา เขาจะเหมาว่าเรารักเราชอบเขา ถ้าเขาคิดอย่างเดียวไม่เป็นไร ยังไม่อันตราย แต่ถ้าเขามีใจตอบมาด้วยคราวนี้เสร็จ

ถาม : ควรจะทำอย่างไรดี ?
ตอบ : มีทางเดียวคือต้องใจแข็ง อย่าไปยุ่งกับเขา ท่องไว้อย่างเดียว "เมียเขา ๆ" เจอหน้าผู้หญิงที่หน้าตาใช้ได้ ท่องไว้เลย "เมียเขา" แล้วจะปลอดภัย แต่ตอนที่หน้ามืดนี่ เมียเขาก็เมียเขาละวะ..!

ถาม : พยายามจะคุยกับฝ่ายหญิง จะเคลียร์กับเขา
ตอบ : ไม่มีประโยชน์ ถ้าเขาหมายมั่นปั้นมือว่าเราเป็นผู้ชายในฝันร้ายของเขา เขาไม่เลิกง่าย ๆ หรอก ต้องใจแข็งเข้าไว้

ตั้งกำแพงส่วนตัวไว้ อย่าให้เขารุกเข้ามาในเขตเราได้ ถ้าตราบใดที่ยังกั้นเขาอยู่นอกเขตก็ปลอดภัย ถ้าปล่อยให้เขารุกเข้ามาในเขตได้ก็เดือดร้อน

เถรี
20-06-2009, 19:22
ถาม : ถ้าลาพุทธภูมิแล้ว จะทำให้เจ้ากรรมนายเวรเล่นงานมากขึ้นหลายเท่า?
ตอบ : ไม่เกี่ยวหรอก ตอนอยู่ต่อนั่นแหละมันจะมากขึ้น เพราะอย่างน้อย ๆ เราอยู่ชาติหนึ่งเราก็สร้างกรรมไว้ชาติหนึ่ง เกิดชาติหนึ่งก็สร้างกรรมไว้เรื่อย ๆ

ถ้าพุทธภูมิยังกลัวเจ้ากรรมนายเวรอยู่ไม่ใช่ของแท้หรอก พุทธภูมิต้องบ้าเลือดกว่าชาวบ้านเขาหลายเท่า เรื่องความกลัวหรือเรื่องความย่อท้อไม่มี มีแต่มุ่งไปข้างหน้า ถ้าไม่ถึงที่ให้มันตายไปเลย นั่นแหละพุทธภูมิ

เถรี
20-06-2009, 19:36
"ในเรื่องของวัตถุที่ลงอาคมต่าง ๆ เช่น กุมารทอง มันมีอยู่สองอย่าง ถ้าหากสำนักที่เขาทำตามแบบพุทธศาสตร์เขาจะมีเทวดารักษา แต่ถ้าไสยศาสตร์นี่ ถ้าไม่ใช่สัมภเวสีก็เป็นเปรต อสุรกาย "

ทิดตู่
22-06-2009, 12:56
เย็นวันอาทิตย์ มีผู้ถามพระอาจารย์ท่านเกี่ยวกับ"พระปิลินทวัจฉะ"ว่า พระปิลินทวัจฉะ มีปกติชอบเรียกบุคคลอื่นว่า"ไอ้ถ่อย" เหตุใดท่านจึงเป็นเอตทัคคะทาง"เป็นที่รักของเหล่าเทวดาทั้งหลาย" พระอาจารย์ท่านจึงเล่าให้ฟังในเรื่องนี้ว่า

"พระปิลินทวัจฉะ ท่านเคยเกิดในพราหมณ์ตระกูลสูงมาหลายร้อยชาติ เกิดในชาติไหน ๆ ก็มักจะเรียกบุคคลอื่น ๆ ว่า"ไอ้ถ่อย ๆ" มาในชาติสุดท้าย แม้บรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ความเคยชินนิสัยเดิมยังไม่เปลี่ยน จนเกิดเรื่องว่า

วันหนึ่งมีพ่อค้าขนดีปลีขึ้นเกวียนมาแล้วเอาผ้าคลุมไว้ พอเดินผ่านพระปิลินทวัจฉะ พระปิลินทวัจฉะจึงทักว่า"ไอ้ถ่อย นั่นขนอะไรมารึ" พ่อค้าโกรธ จึงตอบกลับไปว่า"ก็ขนขี้หนูมาน่ะสิ สมณะโล้น(ฮั่นแน่!)" ผลปรากฏว่า พอพ่อค้าเข็นของไปถึงตลาด เปิดผ้าออกมา ดีปลีทั้งคันรถกลายเป็นขี้หนูไปหมด ร้อนไปถึงพ่อค้าที่เป็นเพื่อนกัน ถามว่า"ระหว่างทางท่านไปพบกับผู้ใดมาบ้าง" พ่อค้าคนนั้นจึงเล่าให้ฟังว่าพบพระแล้วมีการทักทายกันอย่างนี้ พ่อค้าเพื่อนกันจึงออกอุบายว่า"ท่านจงเอาขี้หนูห่อผ้าไป แล้วไปในทางที่ท่านมา หากพบภิกษุท่านนั้นอีก หากท่านถามว่าขนอะไรมา ให้ตอบกลับไปว่า"ดีปลีขอรับพระคุณเจ้า"แล้วค่อยกลับมาดูผล พ่อค้าคนนั้นก็ปฏิบัติตาม ก็หอบขี้หนูห่อผ้าไป พอไปพบพระปิลินทวัจฉะท่านก็ทักอีก"ไอ้ถ่อย นั่นขนอะไรมา" ทีนี้พ่อค้ารู้แกวแล้วจึงตอบกลับไปว่า"ดีปลีขอรับ พระคุณเจ้า" ท่านรับคำว่า"อ้อ ของนั้นเป็นดีปลี" ก็ปรากฏว่าขี้หนูทั้งหมดก็กลับกลายมาเป็นดีปลีดังเดิม(เป็นผมจะกราบเรียนท่านไปว่า"เป็นเพชร เป็นพลอย เป็นทอง ขอรับพระคุณเจ้า ๕๕๕ สิ้นเรื่องสิ้นราวไม่ต้องไปนั่งขายดีปลี)
พระอาจารย์ท่านเล่าว่า พระปิลินทวัจฉะ ท่านเห็นภัยอันนี้จะเกิดแก่บุคคลอื่น ท่านจึงเข้าไปอยู่ในป่า ปรากฏว่า เหล่าเทวดาที่เคยทำบุญร่วมกับท่านมาในอดีตชาติ แห่กันมาขอฟังธรรมจากท่าน ท่านเทศน์แล้วเป็นที่ชอบใจของเทวดามาก พระปิลินทวัจฉะ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็น"เอตทัคคะทางด้านเป็นที่รักใคร่ของเทวดา"

ทิดตู่
22-06-2009, 13:01
หลังจากนั้น ก็มีผู้ที่ถามถึงเรื่องเกี่ยวกับ"พระควัมปติ"
พระอาจารย์ท่านก็เล่าให้ฟังว่า"พระควัมปติ ท่านเป็นเพื่อนกันกับพระยส ท่านมีปกติชอบเข้านิโรธสมาบัติ ดังนั้น คนจึงนิยมสร้างรูปท่านเป็นพระปิดตา เป็นเครื่องหมายแสดงว่าท่านปิดหมด หมายถึงการเข้านิโรธสมาบัติ เพราะเชื่อกันว่าหากใครบูชาท่านจะมีลาภมาก เพราะท่านเข้านิโรธสมาบัติตลอด

ทิดตู่
22-06-2009, 13:13
ต่อจากนั้น มีน้องผู้หญิงท่านหนึ่ง ถามเกี่ยวกับการ"บูชาชูชก" ถามว่าจะบูชาได้หรือไม่?
พระอาจารย์ก็ให้คำตอบว่า"ที่เขาบูชาชูชก ก็เพราะเขามีความเชื่อกันว่า ชูชกเป็นขอทานที่"ไม่เคยขออะไรแล้วไม่ได้" ขนาดไปขอลูกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของรักที่สุดแล้ว จากพระเวสสันดร ยังได้มาเลย ดังนั้น ที่เขาบูชากันก็เพราะเชื่อว่า บูชาแล้วไปขออะไรจากใครแล้วก็จะได้สิ่งนั้นสมความปรารถนา
แต่ถ้าเราคิดว่าชูชก เป็นชาติหนึ่งของพระเทวทัต หากคิดไปถึงขนาดนั้นก็ไม่ต้องไปเอาแล้ว"

เถรี
22-06-2009, 15:33
ต่อจากนั้น มีน้องผู้หญิงท่านหนึ่ง ถามเกี่ยวกับการ"บูชาชูชก" ถามว่าจะบูชาได้หรือไม่?
พระอาจารย์ก็ให้คำตอบว่า"ที่เขาบูชาชูชก ก็เพราะเขามีความเชื่อกันว่า ชูชกเป็นขอทานที่"ไม่เคยขออะไรแล้วไม่ได้" ขนาดไปขอลูกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของรักที่สุดแล้ว จากพระเวสสันดร ยังได้มาเลย ดังนั้น ที่เขาบูชากันก็เพราะเชื่อว่า บูชาแล้วไปขออะไรจากใครแล้วก็จะได้สิ่งนั้นสมความปรารถนา
แต่ถ้าเราคิดว่าชูชก เป็นชาติหนึ่งของพระเทวทัต หากคิดไปถึงขนาดนั้นก็ไม่ต้องไปเอาแล้ว"

ในเรื่องเกี่ยวกับขอทานนั้น มันจะมีอยู่ฤกษ์หนึ่งชื่อว่า "ทลิทโทฤกษ์" แปลว่า ฤกษ์ขอทาน (ฤกษ์ของชูชก) หลวงพี่ปิงเคยบอกว่าที่วัดสระเกศเวลาทำพิธีหรือจัดงานที่ต้องการให้มีเงินสนับสนุนเข้าวัดเยอะ ๆ จะนิยมใช้ช่วงปลายของทลิทโทฤกษ์แล้วต่อด้วยมหัทธโนฤกษ์ (ฤกษ์เกี่ยวกับเศรษฐีหรือทรัพย์สินเงินทอง)

พูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้ฤกษ์ขอทานก่อนแล้วต่อด้วยฤกษ์ทรัพย์สินเงินทอง ก็กลายเป็นว่า "ขอแล้วได้เงินเลย"

เถรี
24-06-2009, 20:50
ในขณะที่ท่านกำลังพูดคุยเรื่องวัตถุมงคล อย่างเช่นสมเด็จวัดระฆัง ท่านก็บอกว่า "มาสะท้อนใจตรงที่ว่าทุกสิ่งมันมีค่าก็ตอนที่ยังมีชีวิต พอตายแล้วเอาไปไม่ได้สักอย่าง ถึงตอนนั้นที่ติดตัวอยู่เขาก็โละหมด เพราะใคร ๆ เขาก็อยากได้"