PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๙


เถรี
15-03-2016, 16:53
ให้ทุกคนนั่งในท่าสบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราไว้เฉพาะที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม อย่าเปลี่ยนคำภาวนาบ่อย เพราะถ้าสภาพจิตเราเคยชินกับคำภาวนาเดิม พอไปเปลี่ยนแล้วจิตยังพะวงกับของเก่าอยู่ สมาธิจะไม่ทรงตัว

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ สำหรับวันนี้อยากจะเตือนญาติโยมทั้งหลายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของเราว่า การปฏิบัติธรรมของเราในระยะแรกเริ่ม หรือถ้ายังไม่สามารถจะก้าวเข้าสู่มรรคผลระดับใดระดับหนึ่ง การปฏิบัติธรรมของเราจะอยู่ในลักษณะเหมือนกับเก็บกด ถ้าอยู่ในลักษณะเก็บกดนี้ เราไม่รู้จักแก้ไข จะเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

การเก็บกดนั้นเกิดจากสาเหตุที่ว่า เมื่อเราพยายามบังคับตนเองให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก สภาพจิตที่เหมือนกับลิง เคยวิ่งพล่านไปได้ทุกทิศทุกทาง เมื่อถูกล่ามเอาไว้ด้วยลมหายใจเข้าออก ไม่สามารถจะไปที่อื่นได้ แรก ๆ ก็จะดิ้นรนกระวนกระวายมาก ซึ่งลักษณะนี้ความจริงแล้วเป็นการปฏิบัติที่ถูกทางแล้ว เพราะการปฏิบัติของเรานั้นจะเกิดตบะ ก็คือความเพียรในการเผากิเลส ทำให้กิเลสร้อนรนกระวนกระวาย พยายามจะดิ้นรนหลีกหนี เพราะรู้ว่าตัวเองจะตาย ระยะแรกก็จะอยู่ในลักษณะของการหงุดหงิด กลัดกลุ้ม โกรธง่าย เป็นต้น

แต่ถ้าเรารู้จักระมัดระวัง ประคับประคองรักษาอารมณ์ไปเรื่อย ๆ ก็จะอยู่ในลักษณะการเก็บกดดังที่ได้ว่ามา ก็คือพอกิเลสมาก็ใช้แรงสมาธิกดทับเอาไว้ มาก็ใช้แรงสมาธิกดทับเอาไว้ จะเป็นราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ใช้กำลังสมาธิกดทับเอาไว้ แต่พอกดนานไป ๆ ก็จะมีลักษณะเหมือนฟางเส้นสุดท้าย ตามภาษิตฝรั่งที่บอกว่า "ฟางเส้นสุดท้ายทำให้อูฐหลังหัก" ก็คืออูฐไม่สามารถที่จะรับน้ำหนักบรรทุกได้อีกแล้ว แค่หย่อนฟางไปเส้นเดียวเท่านั้น ทำให้น้ำหนักเกิน อูฐถึงกับหลังหัก พิการไปเลย

เถรี
15-03-2016, 16:56
ของพวกเราก็เช่นกัน เมื่อเก็บกดไปเรื่อย ๆ จุดอันตรายก็คือว่า คนสุดท้ายที่มาสะกิดจะเป็นคนที่เดือดร้อนที่สุด เพราะเราตอนนั้นเก็บเอาไว้มาก เหมือนกับลูกโป่งอัดแก๊ส ตึงเต็มที่แล้ว แค่โดนปลายเข็มสะกิดนิดเดียวก็ระเบิดตูม คนสุดท้ายที่ทำให้เราเป็นอูฐหลังหักจะเป็นคนที่ซวยมาก เพราะว่าเราจะไประเบิดใส่เขา

ในเมื่อเราไประเบิดใส่เขา เขาก็จะงงว่า "อะไร..? พูดแค่นิดเดียวหรือว่าทำแค่นิดเดียวทำไมต้องโกรธขนาดนี้ด้วย ?" จนกระทั่งกลายเป็นลักษณะคำพูดที่ว่า "วิปัสสนาขี้โกรธ" ซึ่งความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมในระยะข้างต้น หรือต่อให้ระยะปลายก็ตาม ถ้าเราเผลอเมื่อไร อาการที่เราเก็บกดไว้จะถูกกิเลส ก็คือ รัก โลภ โกรธ หลง ตีกลับ เนื่องจากเราเก็บกดมานาน ก็จะแสดงออกรุนแรง

ฝรั่งบางคนถึงกับเขียนตำราว่า "ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองราคะจัดขนาดไหน ให้ไปปฏิบัติธรรม เราจะคิดถึงแต่เรื่องเพศตรงข้ามอยู่ทั้งวัน" นั่นคือฝรั่งเขาเขียนไว้ในงานของเขา แต่ความจริงก็คือ จิตที่เคยดิ้นรนกวัดแกว่งไปได้ตลอด พอโดนบีบบังคับไว้ หาทางออกไม่ได้ ก็พยายามที่จะตะเกียกตะกายไขว่คว้า เมื่อไม่สามารถที่จะไปได้ ก็ใช้วิธีคิดถึง ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า วิตกฺโก คือวิตก ก็คือคำนึงถึงคิดถึง วิจาโร คือ วิจารณ์ คือการครุ่นคิดในลักษณะที่ต้องลงในรายละเอียด

เถรี
17-03-2016, 12:14
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องระมัดระวังว่า การปฏิบัติธรรมของเราอย่าให้อยู่ในลักษณะของการเก็บกด ต้องพยายามใช้กรรมฐานคู่ศึกเอามาปราบปรามกิเลสเหล่านี้ เช่น ขี้โกรธก็ต้องขยันแผ่เมตตา ถ้าแผ่เมตตาเอาไม่อยู่ ก็ต้องพยายามนึกให้ได้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเราโกรธเพราะอะไร ? ถ้าเราโกรธเพราะเป็นความจริง นั่นเราผิด...เพราะว่าเขายอมเป็นกระจกเงาสะท้อนความเป็นจริงว่า เราเป็นบุคคลที่น่าเกลียดน่าชังขนาดไหน แล้วเราไปโกรธกระจกเงาย่อมไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องแน่

แต่ถ้าหากเป็นเรื่องไม่จริงทำให้เราโกรธ ถ้าขนาดเรื่องจริงเป็นอย่างไรบุคคลนั้นยังไม่รู้ เขาก็เป็นคนที่น่าสงสารมากกว่าน่าโกรธ ถ้าเรารู้จักที่จะคิดแบบนี้ ก็สามารถผ่อนคลายอารมณ์ของเราลงไปได้ ทำให้ไม่เก็บกดจนกระทั่งทนไม่ไหว แล้วระเบิดออกไป

ในส่วนของราคะ เอากายคตาสติกับอสุภกรรมฐานขึ้นมาช่วยพิจารณา ให้เห็นว่าสภาพร่างกายแท้จริงทั้งของเราและของคนอื่นมีสภาพเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าเกิดความโลภขึ้นมา ใช้จาคานุสติ คือ การให้ทานเข้ามาช่วย ส่วนถ้าเป็นเรื่องของโมหะ ให้จับอานาปานสติตัวเดียวเลย เพราะถ้าสภาพจิตอยู่กับปัจจุบันตรงหน้า รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้อยู่แล้ว

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ที่ต้องเตือน เพราะว่าเคยเจอกับสภาพอย่างนี้มาก่อน และทำให้หลายท่านที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนมีตำแหน่งหน้าที่สูง ๆ มียศ มีบริวารมาก แต่พอปฏิบัติธรรมแล้วกลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ระเบิดโทสะใส่คนอื่นบ่อย ๆ โดยไม่รู้ว่านี่เป็นผลข้างเคียงของการปฏิบัติธรรมที่ต้องค่อย ๆ แก้ไขกันไป แล้วยังคงระเบิดกันครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้คนอื่นมองในแง่ที่ไม่ดี ทำให้ชื่อเสียงเกียรติภูมิต่าง ๆ เสียหายลงได้

ดังนั้น...ในการที่เราปฏิบัติธรรม จึงพึงระมัดระวังเป็นอย่างสูง อย่าให้อยู่ในลักษณะของการเก็บกดดังที่ได้กล่าวมา

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๙
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)