PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๙


เถรี
12-02-2016, 14:20
ขอให้ทุกท่านตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์วันที่สอง วันนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องของสติสัมปชัญญะ สติ แปลว่า ระลึกได้ สัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัว สติและสัมปชัญญะนี้ เป็นธรรมที่มีอุปการะต่อหลักธรรมอื่น ๆ ทั้งหมด พูดง่าย ๆ ว่า ถ้ามีสติสัปชัญญะสมบูรณ์ หลักธรรมทุกอย่างก็จะเจริญขึ้นโดยง่าย แล้วทำอย่างไรเราถึงจะเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ?

การที่เราจะมีสติสัปชัญญะสมบูรณ์นั้น เราต้องเน้นในเรื่องของสมาธิภาวนา โดยเฉพาะในส่วนของอานาปานสติ ก็คือมีความระลึกรู้ถึงลมหายใจเข้าออก เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับจิตของเรา ถ้าหากว่าสติของเราจดจ่ออยู่เฉพาะลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ไม่ไปคิดเรื่องอื่น สามารถกำหนดคำภาวนาไปพร้อมกันด้วย ก็แปลว่าสมาธิเริ่มเกิดกับเราแล้ว

ขอให้ทุกท่านพากเพียรพยายาม สร้างสมาธิของตนให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป สมาธิยิ่งทรงตัวมากเท่าไร สติสัมปชัญญะของเราก็จะสมบูรณ์บริบูรณ์มากเท่านั้น ในเมื่อสร้างสติสัมปชัญญะได้แล้ว เราจะเอาไว้ทำอะไร ?

การที่เรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีความแหลมคมว่องไว สิ่งหนึ่งประการใดที่ไม่ดีไม่งามเมื่อเกิดขึ้น เราจะมีสติรู้เท่าทันในเวลานั้น ถ้าหากว่าสติสัมปชัญญะสมบูรณ์มาก ๆ ก็จะเป็นปัญญาในส่วนของภาวนามยปัญญา ก็คือสามารถระลึกรู้ถึงตั้งแต่ต้นเหตุว่า รัก โลภ โกรธ หลง ที่จะเกิดแก่เรานั้น เกิดจากสาเหตุใดบ้าง แล้วก็จะเตือนตนเองไม่ให้ไปสร้างสาเหตุทั้งหลายเหล่านั้น ในเมื่อไม่ไปสร้างสาเหตุทั้งหลายเหล่านั้น รัก โลภ โกรธ หลง ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ กิเลสทั้งหลายก็เท่ากับโดนดับไปโดยสิ้นเชิง นั่นคือเข้าถึงความเป็นนิโรธ คือสภาพจิตที่ดับกิเลสได้โดยสนิท เป็นสมุทเฉทปหาน

เถรี
13-02-2016, 16:10
แต่ถ้าไม่ถึงระดับนั้น เมื่อสติรู้ว่าสิ่งที่ไม่ดีเริ่มเข้ามา ก็จะเตือนให้สมาธิทำงาน สมาธิก็จะทำงานในสองลักษณะ ลักษณะแรกจะเหมือนกับเบรกรถ ก็คือหยุดยั้งไม่ให้ตนเองถลำลงไปเกลือกกลั้วกับกองกิเลสเหล่านั้น เหมือนกับเราเบรกรถไม่ให้ถลำลงไปในเหว

อีกรูปแบบหนึ่งของสมาธิ ก็ทำงานในลักษณะของเกราะป้องกัน ก็คือเบรกไม่ทัน กิเลสเกิดขึ้นแล้ว ก็เข้าสู่สมาธิกันไม่ให้ รัก โลภ โกรธ หลง ทำอันตรายจิตใจของเราได้ เมื่อเราสามารถเบรกให้หยุดหรือกันเอาไว้ได้ สภาพจิตของเรายังคงความผ่องใสอยู่ ก็สามารถที่จะใช้ปัญญาในการพินิจพิจารณาว่า ในขณะนี้กิเลสเกิดขึ้นแล้ว ทำอย่างไรที่เราจะหลีกเลี่ยง ทำอย่างไรที่เราจะกดทับ ทำอย่างไรที่เราจะชำระกิเลสให้พ้นไปจากใจของเรา ซึ่งก็เป็นไปตามสภาพ เป็นไปตามกำลังของแต่ละคน ที่จะสามารถเข้าถึงในส่วนของหลักธรรม

ถ้าบุคคลที่เข้าถึงได้มาก ก็สามารถชำระจิตใจของตนเองให้ผ่องใสได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว บุคคลที่เข้าถึงได้ปานกลาง อาจจะต้องอาศัยกำลังของสมาธิกดทับกิเลสไว้ ไม่ให้ทำอันตรายแก่ตนเองได้ บุคคลที่เข้าถึงได้น้อย ก็ต้องหาทางผ่อนหนักเป็นเบา หลีกเลี่ยงให้กิเลสทำอันตรายแก่เราน้อยที่สุด ให้เบาบางที่สุดอย่างนี้ เป็นต้น

ดังนั้น...เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกสติสมาธิของเราให้แหลมคมว่องไว รู้เท่าทันว่ากิเลสจะเกิดขึ้น กิเลสกำลังเกิดขึ้น กิเลสเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ผัดผ่อนแก้ไขกันไปตามสภาพนั้น ๆ จนกระทั่งสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ถึงที่สุด ไม่ไปแตะต้องที่สาเหตุ กิเลสทั้งหลายไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ท่านทั้งหลายก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ตามที่แต่ละคนต้องการ

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๙
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดย คะน้าอ่อน)