PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๘


เถรี
21-11-2015, 20:01
ขอให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจออกมา จะกำหนดเป็นฐานเดียว สามฐาน ห้าฐาน เจ็ดฐาน หรือกำหนดรู้ตลอดกองลมก็ตามแต่เราถนัด คำภาวนาให้ใช้ที่เราถนัดมาแต่ดั้งเดิม อย่าเปลี่ยนคำภาวนาบ่อย ๆ เพราะสภาพจิตจะผูกยึดกับคำภาวนาเก่า ถ้าเราเปลี่ยนคำภาวนาบ่อย ๆ สภาพจิตไม่เกิดความมั่นคง สมาธิก็ทรงตัวได้ยาก

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ เป็นการปฏิบัติธรรมของเดือนพฤศจิกายนวันที่สอง ในช่วงบ่ายได้กล่าวถึงว่า บุคคลที่เข้าวัดแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน แต่ว่าประเภทสุดท้าย ก็คือ ท่านที่ไปปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นประเภทที่น่าสรรเสริญที่สุด เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้ จะอดทนอดกลั้นต่อสิ่งกระทบทุกอย่าง ถือว่าการกระทบนั้นเป็นการฝึกฝนปฏิบัติตนเอง ทำอย่างไรที่จะละ จะวางให้ได้เร็วที่สุด

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านผู้เป็นนักปฏิบัติทุกคน ก็พึงที่จะยึดถือปฏิปทาในลักษณะแบบนั้น ก็คือ ถือเอาสิ่งกระทบรอบข้างที่เข้ามาเป็นครู เพื่อพัฒนาจิตของเราอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้ครูที่ดีที่สุดที่กระทบแล้วก่อให้เกิด รัก โลภ โกรธ หลง ในใจของเรานั้นหลุดมือไปได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าตนเองฝึกปฏิบัติมาแล้วตอนนี้อยู่ในระดับไหน

สิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบนั้น เป็นทั้งสิ่งที่มาตามปกติ แต่ตัวเราไปถือในสักกายทิฐิและมานะ จึงกระทบกระทั่งกัน อีกอย่างหนึ่งก็เป็นการทดสอบกำลังใจโดยเฉพาะ ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านใดเป็นนักปฏิบัติ ย่อมไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงอารมณ์กระทบต่าง ๆ นี้ได้ เพียงแต่ว่าต้องรู้จักควบคุมอารมณ์กระทบนั้น ให้อยู่ในกรอบที่พอเหมาะพอดี หรือถ้าสามารถปล่อยได้ วางได้ โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

เนื่องจากว่า ผู้ใดวางลงได้ก่อน ผู้นั้นย่อมสบายก่อน ไม่ต้องแบกกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ให้หนักอยู่เหมือนกับระยะเวลาที่ผ่านมา

เถรี
22-11-2015, 16:08
ท่านทั้งหลายที่มาฝึกปฏิบัติจึงควรที่จะไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ว่า เราทำตัวสมกับเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสแล้วหรือไม่ ? เราทำตัวสมกับที่เป็นลูกหลานของหลวงพ่อวัดท่าซุงแล้วหรือไม่ ? เราทำตัวสมกับเป็นลูกหลานของหลวงพ่อสายวัดท่าขนุนแล้วหรือไม่ ? เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เราต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณาด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันต้องมีความอดทนอดกลั้นเป็นหลัก เพื่อที่จะได้ช่วยให้การปฏิบัติของเรามีความก้าวหน้า

บุคคลที่หวังความก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างแท้จริง จะหนีจากสังคมไม่ได้ เพราะถ้าหากเราหนีออกไปแล้ว สิ่งทดสอบต่าง ๆ จะไม่มี เราไปภาวนาในป่า ๓ เดือน ๖ เดือนไม่พบไม่เจออะไรเลย บางท่านจิตใจสงบ รัก โลภ โกรธ หลง สงัดไป หายไป คิดว่าตนเองบรรลุอรหัตผลแล้วก็มี

เมื่อเป็นเช่นนั้นจะเห็นได้ว่า การที่เราหลบไปภาวนานั้น ไม่แน่ว่าจะสามารถช่วยให้หมดกิเลสได้ เนื่องเพราะกิเลสกลายเป็นอนุสัยที่นอนนิ่งอยู่ในสันดาน รอเวลาที่จะผุดโผล่ขึ้นมาใหม่เมื่อมีสิ่งกระทบ

เถรี
22-11-2015, 16:54
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงต้องพึงสังวรว่า การปฏิบัติธรรมของเรานั้น ความอดทนอดกลั้นจัดว่าเป็นธรรมที่สำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าทรงตรัสโอวาทปาฏิโมกข์ เริ่มต้นด้วยคำว่า “ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา” ทรงเอาขันติคือความอดทนอดกลั้นนำหน้า ว่าเป็นเครื่องประดับที่งามยิ่งของนักปราชญ์ทั้งหลาย เราเองเมื่อเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ก็พึงที่จะประพฤติปฏิบัติตาม อดทน อดกลั้น อดออมต่อสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ อดทน อดกลั้น อดออมที่จะแสดงออกตอบโต้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

ถ้าหากท่านทั้งหลายสามารถทำได้ ก็ทราบได้ด้วยตนเองว่า เรามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติมากขึ้น ถ้าท่านใดยังไม่สามารถที่จะทำได้ ก็พึงให้รู้ว่าตอนนี้ท่านทั้งหลายเหมือนคนที่ติดคุกอยู่ พึงเร่งขวนขวายหาหนทาง ดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากคุกนี้ให้ได้โดยเร็ว

ลำดับต่อไปก็ให้ท่านทั้งหลายตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)